ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระบรมรูป 4 รัชกาล

คำสำคัญ : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, ปราสาทพระเทพบิดร, พระบรมมหาราชวัง, วังหลวง, พระบรมรูป 4 รัชกาล, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 3, รัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2, พระบรมรูป

ชื่อหลักปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ชื่ออื่นพระบรมมหาราชวัง , วังหลวง
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.751591
Long : 100.492722
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661388.15
N : 1520753.6
ตำแหน่งงานศิลปะภายในปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ประวัติการสร้าง

พ.ศ. 2414 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูป 4 รัชกาลนี้ตามพระราชดำริเดิมของสมเด็จพระบรมชนกนาถที่ตั้งพระราชหฤทัยที่จะทรงประดิษฐานไว้สักการบูชาพระเทพบิดรแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นอกเหนือไปจากการสร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงเริ่มปั้นหุ่นรัชกาลที่ 1 โดยมีพระพุทธรูปฉลองพระองค์เป็นแบบให้วัดขนาดความสูง ส่วนเค้าพระพักตร์และพระวรกายนั้นได้จากคำบอกเล่าของผู้ที่เคยเห็นรัชกาลที่ 1 ซึ่งเท่าที่หาได้ในเวลานั้นมีเพียง 4 ท่าน ได้แก่ พระองค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาในรัชกาลที่ 2, สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง, เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี), และเจ้าพระยาธรรมา (ลมั่ง สนธิรัตน) ส่วนพระบรมรูปรัชกาลอื่นๆ นั้นยังคงมีผู้ที่เคยเห็นพระองค์จริงอยู่มาก

กระบวนการสร้าง/ผลิต

สำริดเคลือบทอง

ลักษณะทางศิลปกรรม

พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3 มีขนาดเท่าพระองค์จริง หล่อด้วยสำริดเคลือบทองในพระราชอิริยาบถยืนตรง ทรงพระภูษาจีน มีสายรัดพระองค์และมีหัวพระปั้นเหน่งทับ ไม่ทรงฉลองพระองค์ ทรงพระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบเวียต และพระแสงดาบญี่ปุ่นตามลำดับ จะเห็นได้ว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงใช้วิธีการผสมผสานรูปลักษณ์ตามคติไทยลงไปในรูปเหมือนตามคติตะวันตก คือเน้นความเหมือนจริงของพระพักตร์ แต่พระวรกายในพระราชอิริยาบถยืนนั้นยังคงความเกลี้ยงเกลากลมกลืนดูสงบนิ่งแต่แฝงความศักดิ์สิทธิ์น่าเลื่อมใสศรัทธาตามแบบพระพุทธรูป

ส่วนพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 นั้นเดิมหลวงเทพรจนา (พลับ) เป็นผู้ปั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ แก้ไขและเพิ่มรายละเอียด เช่น รอยย่นบนพระพักตร์ รอยยับของพระภูษาโจง และลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำให้ดูเหมือนจริงกว่าพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

การสร้างพระบรมรูปเหมือนองค์พระมหากษัตริย์เกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สร้างพระบรมรูปสมเด็จบุรพกษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่เสด็จสวรรคตแล้วในครวเดียวกัน รวม 4 รัชกาล ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนอกเหนือไปจากการสร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์เพื่อสักการบูชา พระบรมรูป 4 รัชกาล จึงเป็นพระบรมรูปเหมือนของพระมหากษัตริย์ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์กลุ่มแรกที่สร้างขึ้นในราชสำนัก ก่อนที่จะมีการสร้างพระบรมรูปเหมือนของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมาเพื่อประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดรอันเป็นราชประเพณีที่สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ยุคประวัติศาสตร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง

ศิลปะในราชสำนัก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2017-08-02
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ความทรงจำ. พระนคร: โรงพิมพ์ของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2509.

วิโชค มุกดามณี. ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-8. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541.