ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

101 แห่ง

ผลการค้นหา : 101 แห่ง

ศาลพ่ออ้น พ่อจันทร์ พ่อจุก อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่ออ้นพ่อจันทร์พ่อจุก ตั้งอยู่ริมคลองเจ็ดริ้ว ในชุมชนชาวมอญ ตัวศาลเป็นอาคารไม้หลังคามุงกระเบื้อง ภายในศาลมีแท่นบูชา มีรูปปั้นฤาษีและตุ๊กตานางรำวางอยู่ มีผ้าสีแดงห้อยอยู่บนคานพร้อมกับพวงมาลัย ในช่วงเดือนสามและเดือนเก้าจะมีการทำบุญบริเวณศาล ช่วงสงกรานต์จะมีการเช่นไหว้เจ้าพ่อ

ศาลพ่อเอี่ยม พ่อทุ่ง อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อเอี่ยม พ่อทุ่ง ตั้งอยู่ริมคลองพาดหมอน ตำบลเจ็ดริ้ว ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญ ตั้งศาลแห่งนี้มามากกว่า 100 ปี แต่เดิมเป็นศาลเล็กๆหลังคามุงด้วยจาก อยู่กลางทุ่งนา มีเจ้าพ่อทุ่งอยู่องค์เดียว ต่อมาปรับปรุงสร้างด้วยไม้หลังคามุงกระเบื้อง ยกพื้นสูงประมาณ 2 ฟุต ภายในศาลจะมีแท่นบูชา แจกันดอกไม้ พวงมาลัย ป้ายชื่อศาลพ่อทุ่งและศาลพ่อเอี่ยมติดอยู่บนเสา และได้เชิญเจ้าพ่อเอี่ยมให้มาอยู่ที่ศาลนี้ด้วย ชาวมอญที่จะบวชจะต้องมาขอขมาเจ้าพ่อ โดยการนำแตรมาเปาที่ศาล 1 เพลง ปัจจุบันร่างทรงพ่อทรงเป็นหญิงวัย 40 ปี ร่างทรงพ่อเอี่ยมเป็นหญิงวัย 70 ปี งานประจำปีของศาลพ่อเอี่ยมพ่อทุ่งจะจัดในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะนิมนต์พระมาสวดมนต์และถวายภัตตาหาร

ศาลพ่อเอี่ยม พ่ออุ่น อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อเอี่ยมพ่ออุ่น เป็นศาลของชาวมอญ อายุกว่า 100 ปี แต่เดิมสร้างกลางทุ่งนา หลังคามุงหญ้าคา ต่อมาได้พัฒนาปรับปรุงเป็นศาลไม้หลังคามุงกระเบื้อง กว้างประมาณ 8 เมตร ภายในศาลมีรูปปั้นพ่อเอี่ยม พ่ออ้น วางอยู่บนแท่นสูงประมาณ 1 ฟุต  ปัจจุบัน ศาลตั้งอยู่ในเข ต.ตลาดจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นรอยต่อติดต่อกับต.เจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

ศาลหลวงตาทอง อำเภอกระทุ่มแบน

ศาลหลวงตาทอง อยู่ในซ.ศรีสุคนธ์ ถ.สุคนธวิท ต.กระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน ประวัติของหลวงตาทอง เป็นพระที่มาจำพรรษาที่วัดใหม่หนองพะอง ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน และย้ายไปที่วัดนางสาว ต.ท่าไม้  เมื่ออายุได้ประมาณ 50 ปีเศษ ได้เดินทางมาถึงกระทุ่มแบนและเห็นว่าเหมาะสมสำหรับการตั้งกุฎินั่งวิปัสสนา เพราะบริเวณนี้เป็นป่าที่สงบเงียบเปลี่ยว วังเวง มีแต่หลุมฝังศพของคนตาย ปราศจากผู้คน หลวงตาทองจึงสร้างกุฏิขึ้น และจำพรรษาอยู่ที่นี้จนมรณภาพเมื่ออายุราว 70 ปีเศษ ผู้ดูแลศาลเล่าว่า “สมัยก่อนแถวนี้เป็นป่า หลวงตาทองมาจากวัดใหม่หนองพะอง ท่านก็ธุงดงค์มา แล้วก็มาอยู่ที่นี่ อยู่จนท่านเสียที่นี่ เมื่อก่อนที่นี่มันเป็นวัดร้าง ท่านก็มาธุดงค์อยู่วัดร้าง ชาวบ้านก็เลยสร้างกุฏิไว้ให้หลังหนึ่งจนท่านเสีย คนเขานับถือกัน ท่านรักษาก็ได้ มีเรื่องทุกข์ร้อนอะไรก็มาหา ท่านมีคาถาอาคม พอท่านเสียไปก็เลยสร้างเป็นศาลเล็ก ๆ แล้วก็จนใหญ่ขึ้นมาถึงทุกวันนี้ ปีหน้า (พ.ศ.2560) ก็ว่าจะจัดฉลองครบ 130 ปี” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)หลวงตาทองเป็นพระที่สูญเสียการมองเห็น แม้ท่านจะมองไม่เห็นแต่ก็สามารถเดินไปไหนมาไหนได้คล่องแคล่ว ท่านยังเคร่งครัดในธรรมะ มีความสามารถในการสวดพระปาฏิโมกข์  มีความรู้ในเวทมนตร์คาถาที่ช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน และเรื่องเมตตามหานิยม ชาวบ้านในตลาดกระทุ่มแบนจึงเลื่อมใสศรัทธาและเคารพนับถือมาก เมื่อมีคนเจ็บป่วยก็จะมาหาหลวงตาทองเพื่อให้ช่วยรักษาโรค ชาวบ้านที่เคารพท่านมักจะสร้างศาลเล็กๆไว้ในบ้านของตัวเองและกราบไหว้บูชาเพื่อให้หลวงตาทองช่วยคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขและเจริญรุ่งเรืองผู้เริ่มก่อตั้งศาลหลวงตาทอง คือ นายศิริ เติมประยูร  โดยในปี พ.ศ.2499 ได้หารือกับชาวบ้าน ได้แก่ นายลิมฮ้อ แซ่แต้  นายเทียมอี แซ่เจ็ง นายบันเบ้ง แซ่ลิ้ม นายตั๊งกัง แซ่เตาะ นายสันุนท์ อังศิรานนท์ และนายโซวบั๊ก แซ่โคว้  ทุกคนเห็นว่าควรสร้างศาลโดยจัดงาน 4 วัน 4 คืน และรับบริจาคเงินจากชาวบ้าน เมื่อได้เงินก็นำไปสร้างศาล ศาลรุ่นแรกเป็นศาลไม้กว้างประมาณ 2 เมตร  ยาว 1.5 เมตร  หลังคามุงสังกะสี ภายในมีรูปปั้นของหลวงตาทอง 1 องค์ ซึ่งนายศิรินำมาจากร้านค้าแถวสะพานหัน กรุงเทพฯ เป็นรูปปั้นสมเด็จพุฒาจารย์(โต) พรหมรังษี วัดระฆัง หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ราคาเช่า 100 บาท เมื่อสร้างศาลเสร็จได้จัดพิธีฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูปมาเจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเช้า จากนั้นจึงเชิญรูปปั้นของหลวงตาทองแห่ไปรอบตลาดกระทุ่มแบน ตอนกลางคืนมีการแสดงงิ้วและลิเก เป็นเวลา 4 คืน เมื่อถึงเทศกาลสำคัญ เช่น ตรุษจีน สารทจีน ชาวบ้านจะนิยมนำเครื่องเซ่นมาไหว้ที่ศาลหลวงตาทองรูปปั้นหลวงตาทองเคยมีคนขโมยไป นายศิริ เติมประยูร จึงออกติดตามหาไปที่ ต.ท่าเสา อ.กระทุ่มแบน และก็พบที่บ้านของชายชราคนหนึ่งซึ่งไปเจอรูปปั้นหลวงตาทองที่วัด และนำบูชาที่บ้าน นายศิริจึงขอคืนและนำไปไว้ที่ศาลเหมือนเดิม ต่อมาในปี พ.ศ.2504 มีการปรับปรุงศาลให้ใหญ่กว่าเดิมมีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร ผนังคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้อง พลเรือตรีชัชวาลย์ ศรีสุวรรณ ได้มอบที่ดินให้สำหรับสร้างศาลใหม่ และยังช่วยออกแบบศาล  มีประชาชนร่วมบริจาคเงินและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆเพื่อสร้างศาล ในวันเปิดศาลวันที่ 26 มีนาคม 2504 นายอำเภอกระทุ่มแบนได้มาเป็นประธาน นอกจากนั้น ยังได้สร้างรูปจำลองของหลวงตาทองเท่าองค์จริง ออกแบบโดยมหาเงิน แช้มสาครและนายศิริ เติมประยูร จ้างช่างจากกรุงเทพฯมาทำการหล่อ พร้อมกับจัดพิธีกรรมเชิญดวงวิญญาณของหลวงตาทองมาสิงสถิตย์ในรูปหล่อนี้ด้วย  โดยเชิญพระญวณจากวัดหลวงพ่อบ๋าวเอิงสะพานขาวมาทำพิธีในเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีการจัดงานประจำปีขึ้น พร้อมทั้งมีการแสดงมหรสพและการละเล่น โดยเฉพาะการประชันงิ้วแต้จิ๋วและงิ้วไหหลำจะขาดไม่ได้ ที่ศาลหลวงตาทอง ไม่มีการเข้าทรง ผู้ดูแลศาลอธิบายว่า “ไม่ให้ทรง เพราะว่าทรงแล้วจะยุ่ง จริงไม่จริงเราก็ไม่แน่ใจ ก็มีมาขอกัน  เราก็ไม่ให้มายุ่งตรงนี้  เมื่อก่อนเขามาทรงข้างหลังนี้ ผมก็บอกว่าเลิกเถอะ อย่าทำเลย” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)ในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ดูแลศาลเล่าว่า “ขออะไรได้หมด รถไม่มีก็ขอได้ ผมขอออกรถมาใช้ในงานแห่หลวงตา เพราะเราต้องใช้รถในการแห่  เมื่อก่อนเราก็ต้องยืมชาวบ้าน แต่เขาก็เต็มใจให้ยืม  แต่เราก็ต้องรอเวลา ก็เลยซื้อ แต่ผมก็ไปวางดาวน์แล้วล่ะ แล้วก็มาบอกท่าน ท่านก็เลยให้ ผมก็บอกท่านว่าเวลาจะแห่ก็ลำบาก ตอนกลางคืนท่านก็เลยมาให้ ผมแทงไปเลย 2000 บาท ได้ ล้านนึงเลย” (สัมภาษณ์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559)

ศาลหลวงพ่อก้อนทอง อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลเจ้าพ่อก้อนทอง ตั้งอยู่ในวัดดอนโฆสิตาราม ริมคลองดอนวัว เป็นศาลไม้ขนาดเล็ก ภายในศาลมีรูปปั้นชายชราไว้หนวดเครา

ศาลเจ้ากิ๊วเทียนเนี่ยเนี้ย อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลเจ้าแม่กิ๊วเทียนเนี่ยเนี้ย ตั้งอยู่ในตำบลบางหญ้าแพรก ใกล้กับวัดบางหญ้าแพรก สร้างในปี พ.ศ.2541 ตัวศาลเป็นอาคารปูนหันหน้าออกแม่น้ำท่าจีน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลประกอบด้วย เจ้าแม่กิ๊วเทียนเนี่ยเนี้ย หรืออาเนี้ย(องค์ประธาน) หลวง เจ้าแม่กวนอิม เจ้าพ่อเสือ อาม้า และหลวงพ่อโสธร ตามความเชื่อของศาสนาเต๋า เชื่อว่าเจ้าแม่กิ๊วเทียนเนี่ยเนี้ยคือเทพสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ในสวรรค์ทั้ง 9 ชั้น ช่วยคุ้มครองให้ประเทศเกิดความร่มเย็นและปราศจากศัตรู

ศาลเจ้าจุ๊ยบ๋วยเนี้ย (เจ้าแม่ทับทิม) ท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลเจ้าแม่จุ๋ยบ๋วยเนี้ย หรือศาลเจ้าแม่ทับทิม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน เขตตำบลท่าฉลอม ไม่ปรากฏว่าก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยใด การนับถือเจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ยมาจากความเชื่อของชาวจีนไหหลำซึ่งเชื่อว่าเจ้าแม่เป็นเทพธิดาแห่งท้องทะเล หรือ “เจ้าแม่ชายน้ำ” ช่วยคุ้มครองผู้เดินทางเรือ ชาวประมงจึงให้การเคารพนับถือมาก สำหรับชาวจีนที่มาอยู่ในไทยได้สร้างรูปปั้นเจ้าแม่และใส่เครื่องประดับเป็นพลอยสีแดง ชาวบ้านจึงเรียกว่า “เจ้าแม่ทับทิม” พิธีกรรมของศาลเจ้าที่สำคัญคือ พิธีลุยไฟ จะทำเฉพาะเมื่อเจ้าแม่ประทับร่างทรงและทำนายทายทักว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น โดยเฉพาะเด็กจมน้ำเสียชีวิตและอุบัติเหตุทางน้ำ ร่างทรงจะจัดให้มีพิธีลุยไฟเพื่อปัดเป่าโชคร้ายให้หายไป รวมทั้งมีพิธีแห่เจ้าแม่รอบเมืองทั้งทางบกและทางน้ำ แห่งไปในย่านท่าฉลอมและมหาชัย พิธีทั้งสองนี้จะจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นงานประจำปีของศาลเจ้า นอกจากนั้น จะมีพิธีฉลองวันเกิดเจ้าแม่ในวันที่ 26 พฤศจิกายนของทุกปี ชาวไทยเชื้อสายจีนและผู้เคารพนับถือจะเชิญพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ และมีการแสดงงิ้วสมโภช สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้าแม่ทับทิม นอกจากเจ้าแม่จุ๋ยบ๋วยเนี้ยแล้วยังมี เจ้าพ่อกวนอู จือชาง(เตียวหุย) และปุนเถ้ากง คนในพื้นที่เชื่อว่าถ้าห้อยรูปเจ้าแม่ทับทิมไว้ติดตัวจะทำให้เกิดความกล้าหาญ เมื่อมีพิธีลุยไฟ ลูกศิษย์เจ้าแม่ที่เป็นผู้ชายวัยรุ่นจะมารวมตัวกันเพื่อทำแสดงความกล้าโดยการเดินบนถ่านที่ติดไฟ เชื่อว่าเจ้าแม่จะช่วยคุ้มครองไม่ให้ถูกไฟไหม้และปลอดภัย

ศาลเจ้าที่วัดเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว

ตั้งอยู่ภายในวัดเจ็ดริ้ว ริมคลองเจ็ดริ้ว เป็นศาลไม้แบบเรือนพื้นถิ่น ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด มีเพียงเรื่องเล่าว่ามีศาลบริเวณนี้มาแล้วมากกว่า 100 ปี 

ศาลเจ้าปุนเถ้ากง ท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลเจ้าปุนเถ้ากง หรือ ศาลเจ้ากลาง เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในสมุทรสาคร เดิมตั้งอยู่ข้างวัดใหญ่จอมปราสาทหรือบ้านท่าจีน ต่อมาย้ายมาสร้างที่ริมแม่น้ำท่าจีน เขตตำบลท่าฉลอม สร้างเป็นศาลไม้สักหลังคามุงจากในปี พ.ศ.2382 แต่สันนิษฐานว่าศาลเดิมอาจจะสร้างมาก่อนหน้านั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2456 ปรับปรุงเป็นศาลปูน หลังคามุงกระเบื้อง เสา ขื่อแปด้วยด้วยไม้สัก มีการซ่อแซมในปี พ.ศ.2515 และมีการสร้างรั้วและซุ้มประตูเพิ่มในปี พ.ศ.2528 ศาลเจ้าแห่งนี้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แรกๆของชาวจีนโพ้นทะเลในท่าฉลอม เทพเจ้าสำคัญในศาลประกอบด้วย เจ้าพ่อปุนเถ้ากง (องค์ประธาน) ชาวจีนแต้จิ๋วในไทยเชื่อว่าเจ้าพ่อปุนเถ้ากงเป็นเจ้าที่และเทพแห่งการเดินเรือ นอกจากนั้นยังมี เจ้าพ่อเจ้งอุ่ยจูซิ๊ง เจ้าพ่อหน่ำซิ๊งปักเต้า เจ้าพ่อช่างตายี่กง เจ้าแม่ทับทิม และรูปจำลองเจ้าพ่อหลักเมือง ภายในศาลจะมีภาพเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จมาเยือนท่าฉลอมและเปิดถนนถวายในปี พ.ศ.2448 วันเกิดเจ้าพ่อปุนเถ้ากงคือวันที่ 26 กุมภาพันธ์ จะมีการแสดงงิ้วถวายเจ้าพ่อ รวมทั้งในช่วงเทศกาลกินเจจะมีการจัดงานเทกระจาดในช่วงเดือนตุลาคม แจกข้าวสารอาหารแห้งให้กับคนยากจน

close