ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

101 แห่ง

ผลการค้นหา : 101 แห่ง

ศาลพันท้ายนรสิงห์ (ศาลใหญ่) อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลพันท้ายนรสิงห์ ตั้งอยู่บริเวณปากคลองโคกขาม ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร  ศาลพันท้ายนรสิงห์แห่งนี้เป็นแห่งแรก สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความซื่อสัตย์แก่พันท้ายนรสิงห์ผู้ซึ่งเป็นนายท้ายเรือที่จงรักภักดีผู้ที่ยอมรับโทษประหารชีวิตเพื่อรักษาระเบียบแบบแผนราชประเพณีตามกฏมณเฑียรบาลในสมัยอยุธยา เชื่อว่าเป็นศาลพันท้ายนรสิงห์ที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นจุดที่เชื่อว่าพันท้ายนรสิงห์ถูกประหารชีวิต ตัวศาลเดิมนั้นได้ผุพังไปตามกาลเวลาและถูกน้ำกัดเซาะตลิ่ง จึงได้มีการสร้างใหม่ และมีศาลในลักษณะศาลเพียงตาที่มี 6 เสา ที่ตั้งอยู่หน้าตัวศาลใหญ่ สร้างโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เมื่อปี พ.ศ. 2493 จากการที่ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องพันท้ายนรสิงห์ในปีเดียวกัน รูปเคารพพันท้ายนรสิงห์ในศาลแห่งนี้ สร้างขึ้นจากไม้จันทร์หอม ขนาดเท่าคนจริงอยู่ในท่าถือท้ายคัดเรือ เป็นที่พึ่งทางใจและเป็นที่นับถือของชาวบ้านอย่างมาก ชาวบ้านนิยมมาขอพรแล้วเมื่อสำเร็จ ก็แก้บนด้วยนวมชกมวย ไม้พายเรือ หรือรูปปั้นไก่แก้ว เพราะตามประวัติแล้ว ท่านชอบชกมวยและตีไก่ (https://www.paiduaykan.com/travel/ศาลพันท้ายนรสิงห์)

ศาลพันท้ายนรสิงห์ วัดโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ตั้งอยู่บริเวณหน้าโบสถ์เก่าของวัดโคกขาม ภายในศาลมีรูปปั้นพันท้ายนรสิงห์และพระบรมรูปพระเจ้าเสือ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะมีการจัดงานประจำปีของวัดโคกขาม ถือเป็นช่วงบูชาเจ้าพ่อพันท้ายนรสิงห์ ชาวบ้านละแวกวัดโคกขามจะมากราบไหว้บูชาบนบานศาลกล่าวในทุก ๆ เรื่อง ยกเว้นเรื่อการขอให้ไม่ติดทหาร  

ศาลพ่อปู่กัณฑ์ยา อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อปู่กัณฑ์ยา ตั้งอยู่ริมคลองฮงฮวด ตัดกับคลองชัยแสง บนถนนสองห้อง-หลักห้า ซอย 8 ในชุมชนชาวไทดำ ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า ศาลแห่งนี้ตั้งมาไม่น้อยกว่า 100 ปี ปัจจุบันศาลตั้งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ สร้างด้วยไม้ศาลาทรงไทยหน้าจั่ว ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร ภายในศาลมีรูปปั้นชายชรา และมีของเซ่นไหว้เป็นไหเหล้า ชาวบ้านที่มาขอให้พ่อปู่ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ เมื่อได้ตามคำขอจะมาแก้บนด้วยการถวายเหล้า 1 ไห ส่วนงานสักการะปะจำปี จะจัดขึ้นวันที่ 14 เมษายนศาลพ่อปู่กัณฑ์ยา เป็นศาลในท้องถิ่นของชาวไทดำ คู่กับศาลพ่อปู่วรรณา และศาลพ่อปู่นาคา (ถมยา) (ดูข้อมูลการสัมภาษณ์เพิ่มเติมของทั้ง 3 ศาลได้ใน ศาลพ่อปู่นาคา (ถมยา))

ศาลพ่อปู่คลองตาปลั่ง อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อปู่คลองตาปลั่ง ตั้งอยู่ริมคลองตาปลั่ง ต.บ้านแพ้ว ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญ เป็นศาลสองศาลอยู่คู่กัน สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏ ลักษณะศาลเป็นศาลาทรงไทยหน้าจั่ว แต่ละศาลกว้างประมาณ 1 เมตร สภาพปัจจุบันค่อนข้างรกไม่เป็นระเบียบ ภายในศาลมีพระพุทธรูป รูปปั้นช้าง รูปปั้นรัชกาลที่ 5 รูปปั้นงู

ศาลพ่อปู่ทะเล อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ศาลเจ้าปู่ทะเล ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านประมง หมู่ 4 ต.พันท้ายนรสิงห์ สร้างมาประมาณ 30 ปี โดยเริ่มนายเปี๊ยก เงินเจริญฝันว่าเจ้าพ่อปู่ทะเลมาดลใจให้เป็นร่างทรงและสร้างศาลขึ้น จนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวประมงที่จะมาขอพรให้เจ้าปู่ช่วยให้ปลอดภัยในการออกเรือไปหาปลาในทะเล เดิมทีศาลจะตั้งอยู่ชายฝั่ง แต่ถูกคลื่นซัด จึงย้ายเข้ามาข้างในประมาณ 1 กิโลเมตร ปัจจุบัน ตัวศาลสร้างเป็นศาลาไม้ทรงไทย ฝาผนังด้านนอกทาสีแดง ฝาผนังด้านในทาสีเขียว ศาลายกพื้นสูงประมาณ 1 เมตรครึ่ง บนหน้าจั่วหลังคามีรูปวาดพระพุทธเจ้า ด้านหน้าศาลมีแท่นปูนยาวประมาณ 5 เมตร สูง 1 เมตรและมีรูปปั้นเสือ 2 ตัวตั้งอยู่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาล ประกอบด้วย เจ้าปู่ทะเล(องค์ประธาน) รูปปั้นเจ้าปู่ทะเลเป็นรูปชายชรา กำลังยืน มือซ้ายถือมีดและลูกประคำ มือขวาถือไม้ตะพด สวมแว่นดำ ไว้หนวดเครายาว สิ่งศักด์สิทธิ์อื่นได้แก่ เจ้าพ่อโกเมศ เจ้าพ่อเขาตก เจ้าแม่กวนอิม ฤาษี กุมารทอง พระแก้วมรกต รูปรัชกาลที่ 5 รูปกรมหลวงชุมพรฯ เครื่องเซ่นไหว้เจ้าปู่ทะเล ได้แก่ หัวหมู ไก่ต้ม ผลทับทิม กล้วย ส้มโอ สับปะรด องุ่น ขนุน น้ำชา ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ซาลาเปา ขนมเปี๊ยะ เผือกต้ม มันต้ม และอาหารทะเลกุ้ง หอย ปู ปลา ชาวบ้านจะจัดพิธีเซ่นไหว้บวงสรวงเจ้าพ่อปู่ทะเลในช่วงเดือนมกราคมพร้อมกับการถือศีลกินเจ การแสดงลิเก ตะกร้อและดนตรี ในงานบวงสรวงจะมีการเข้าทรงเจ้าพ่อ ชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นมาถวายพร้อมกับให้เจ้าปู่พรมน้ำมนต์ และขอคำปรึกษาปัญหาต่างๆ หลังเสร็จพิธีบวงสรวง จะมีการประมูลเครื่องเซ่น ชาวบ้านที่ต้องการนำเครื่องเซ่นไปรับประทานก็จะเสนอราคา คนใดให้ราคาดีที่สุดก็จะได้ไป

ศาลพ่อปู่นาคา อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อปู่นาคา (ถมยา) เป็นศาลในท้องถิ่นของชาวไทดำ คู่กับศาลพ่อปู่วรรณา และศาลพ่อปู่กัณฑ์ยาศาลพ่อปู่นาคา หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่าศาลปู่ถมยา เป็นศาลเก่าแก่ในชุมชนชาวไทดำ ตั้งอยู่ใกล้วัดหนองสองห้อง อยู่ริมถนน อยู่ห่างจากคลองสองห้องและคลองรางห้วยชัน ประมาณ 50 เมตร และยังอยู่ใกล้กับจุดบรรจบของคลองทั้งสอง ศาลพ่อปู่นี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวบ้านระบุว่าตั้งมามากกว่า 100 ปี แต่เดิมเป็นศาลเล็กๆ ต่อมาได้ปรับปรุงจนใหญ่ขึ้น ศาลกว้างประมาณ 6 เมตร ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตรครึ่ง บนศาลมีรูปปั้นปู่นาคา รูปปั้นนางกวักและรูปเคารพต่างๆ จากการสัมภาษณ์ชาวไทดำหรือลาวโซ่งที่อาศัยอยู่ใกล้กับศาลปู่นาคา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อและการเคารพบูชาพ่อปู่นาคา (ถมยา) พ่อปู่กัณฑ์ยา และพ่อปู่วรรณา ว่า “ศาลพ่อปู่ถมยานี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ  ศาลเดิมเป็นศาลเตี้ยๆ เล็กๆ เป็นสังกะสี เมื่อก่อนที่ตรงนี้เป็นแอ่ง ต่อมาทำถนนให้สูง ชาวบ้านก็มาช่วยกันสร้าง สมทบทุน สร้างเป็นหลังนี้ขึ้นมา ยกขึ้นให้สูงแบบนี้ รูปปั้นพ่อปู่ก็ทำกันมาในช่วงเวลานี้ สมัยก่อนไม่มีรูปปั้น คนส่วนมากเขาจะนับถือ แม่ค้ามีขายของที่ตลาดนัดเช้าก็จะเอาพวงมาลัยมาถวาย ส่วนงานปีจะมีเลี้ยง จัดเป็นสำรับกับข้าว จัดวันที่ 13 เมษายน ศาลพ่อปู่กัณฑ์ยาและพ่อปู่วรรณาจัดวันที่ 14 เมษายน เช้าจะไหว้แล้วก็สรงน้ำพ่อปู่ ไม่มีอะไรมาก มีขนมต้มแดง ต้มขาว มะพร้าวอ่อน ไก่ เหล้า ก็จะมาเซ่นไหว้ พอเลี้ยงเสร็จแล้วก็จะมีหัวหน้าพาจุดธูปบอก ไม่มีร่างทรง แต่ถ้าตรุษจีน สารทจีนของไหว้จะเยอะเลย ไก่ เป็ด คนจีนเขาก็นับถือนะ ทุกวันนี่ก็มีมาเรื่อยๆ ของทะเลก็มี มีกุ้งต้ม หอยแครง หอยแมลงภู่ ไม่ได้ขาดเลย แต่ศาลนี้ (พ่อปู่ถมยา) ถ้าบนทหารจะไม่ติดนะ ศาลถมยาและศาลกัณฑ์ยา ต้องมาบนตอนกลางคืน ตี 2-3 บนแล้วก็ไปเลยไม่ต้องเข้าบ้าน จะไม่ติดทหาร แล้วถ้าไปศาลวรรณา บนไม่ได้ ติดทหารเลย  ปู่วรรณาชอบทหาร เพราะว่ากลางคืนสมัยปู่ย่าตายายเขาเล่าให้ฟังว่าจะมีเสียงม้า เสียงควบม้า ตอนกลางคืนจะมีเสียงม้าวิ่ง นั่นชอบทหาร แต่สองศาลนี้ไม่ชอบ คนกรุงเทพฯเนี่ยผ่านมาเขาก็ยกมือไหว้ บนเอาไว้ ขอให้ได้อะไรก็ไม่รู้นะ เนี่ยพอครบทุกเดือนเขาจะมาไหว้ สำรับกับข้าวของหวาน ของคาว ผลไม้ เขาบอกว่าเคยบอกแกเอาไว้แล้วได้อย่างที่ว่า ก็เลยต้องมาเลี้ยงแกทุกเดือน เดือนละครั้ง  ถวายไก่ต้ม 1 ตัว เหล้า 1 ไห ไหหนึ่งนี่จะเท่าไหร่ก็ได้ จะขวดหนึ่งก็ได้  แต่ต้องเทใส่ไห   ส่วนมากคนแถวนี้เขาจะบนค้าขาย เขาก็จะมาทำน้ำมนต์    เวลาเขาจะปลูกมะม่วง ฉีดมะม่วง เขาก็จะเอาขันน้ำมนต์มา แล้วเขาก็จุดธูปบอก เอาเทียนวางบนปากแก้ว ให้หยดลงขัน แล้วเขาก็บอกกับปู่ว่าให้ทำน้ำมนต์ให้ที เขาก็จะเอาน้ำมนต์ไปผสมกับยาฉีด คือความนับถือของเขา แล้วมะม่วงเขาก็จะติดแล้วก็จะได้กำไรทุกงวด สมัยก่อนเขาก็เล่ากันมาอีกแหละ เขาจะไปเล่นไฮโลแล้วต้องเดินผ่านแถวนี้ เพราะแถวนี้ที่เป็นคันนา เขาก็บอกว่า “ปู่คืนนี้ขอให้รวยไฮโลหน่อยนะ” แล้วเขาก็ได้จริงๆ เขาก็เลยนับถือกัน ” (สัมภาษณ์วันที่ 18 ตุลาคม 2559)

ศาลพ่อปู่วรรณา อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อปู่วรรณา เป็นศาลในท้องถิ่นของชาวไทดำ คู่กับศาลพ่อปูนาคา (ถมยา) และศาลพ่อปู่กัณฑ์ยาศาลพ่อปู่วรรณา ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สถานีอนามัยบ้านกลางนา ในชุมชนชาวไทดำ ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงปู่บ้านกลาง" ศาลตั้งอยู่ริมคลองโรงเรียนยง เป็นศาลไม้ กว้างประมาณ 1 เมตร ภายในศาลมีรูปปั้นชายชรา ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า "ปู่วรรณาชอบทหาร เพราะว่ากลางคืนสมัยปู่ย่าตายายเขาเล่าให้ฟังว่าจะมีเสียงม้า เสียงควบม้า ตอนกลางคืนจะมีเสียงม้าวิ่ง นั่นชอบทหาร" ไม่เหมาะกับการบนบานให้ไม่ติดทหาร ส่วนงานสักการะประจำปีจะจัดขึ้นวันที่ 14 เมษายน (สัมภาษณ์วันที่ 18 ตุลาคม 2559) (ดูคำสัมภาษณ์เพิ่มเติมใน ศาลพ่อปู่นาคา (ถมยา))

ศาลพ่อปู่เทพา อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อปู่เทพาตั้งอยู่ในวัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม ตำบลหลักสาม ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญ ลักษณะศาลสร้างด้วยไม้สักทรงไทย ยกพื้นสูงประมาณ 2 เมตร มีบันไดพาดด้านหน้า บนศาลมีรูปปั้นพ่อปู่โพกผ้าสีแดง วางอยู่บนแท่นบูชา รวมทั้งรูปเคารพอื่นๆ เช่น รูปปั้นเทวดา พระพิฆเนศ พระพรหม กุมารทอง ฯลฯ ชาวบ้านมักจะมากราบไหว้เพื่อขอโชคลาภแต่เดิมศาลพ่อปู่เทพาตั้งที่อยู่ริมคลองดำเนินสะดวก แล้วย้ายมาสร้างใหม่ข้างโบสถ์เก่าของวัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม มีเรื่องเล่าว่า เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ศรัทธากะยารามองค์เก่าไม่ค่อยเชื่อเรื่องผีสางเทวดา จึงสั่งให้เผาศาลทิ้ง จนทำให้เจ้าอาวาสมีอันเป็นไปและมรณภาพลง  เจ้าอาวาสองค์ใหม่จึงสร้างศาลขึ้นมาใหม่ (หลังปัจจุบัน) ในปี พ.ศ.2545  อยู่บริเวณข้างเมรุเผาศพ  เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม เล่าประวัติของศาลพ่อปู่เทพาว่า “ตอนนั้นฉันซ่อมโบถส์เก่า เป็นไม้สักทั้งหมดเลย จะทำใหม่แล้วยกดีดขึ้นมาเป็นสองชั้น เผอิญว่าศาลมันอยู่ข้างๆโบถส์เก่า มันเกิดที่เขา เราก็จะขยายทำบ่อล้อมรอบ ศาลดั้งเดิมก็เป็นศาลไม้เล็กไม่ใหญ่ ทีนี้เขาก็รู้เข้า ก็เข้าร่างโยม ก็มาเรียกเราไป ก็ปูอาสนะให้เรานั่ง เราก็ถามว่า ปะโหนก ฉันจะทำโบถส์ให้ดีขึ้น ซ่อมให้ดีขึ้น แล้วก็เป็นสองชั้น เขาก็บอกว่า ท่านย้ายฉันมา 5 ครั้งแล้ว เผามาแล้ว 1 ครั้ง เราก็บอกว่าย้ายมาตั้งแต่รุ่นไหน ฉันไม่ได้เป็นคนย้าย เพราะแต่ก่อนเขาอยู่ริมคลอง แล้วมัคทายกเก่าๆก็ย้ายมา แล้วมีเจ้าอาวาสองค์ที่ 4 หลวงพ่อต่วน เจอศาลเจ้าที่ไหนเฮี้ยนๆ ท่านให้ลูกศิษย์ประชุมเพลิงซะ เผาเลย สมาธิท่านแกร่งกล้า ไม่มีปัญหา ทีนี้มันมีปัญหาคือที่วัด คงจะให้ลูกศิษย์ไปเผา มันมีหมูตายอยู่ตัวหนึ่ง ฉันก็ยังเกิดไม่ทันนะ ก่อนปี 2500  ก็หมูมันหล่นมาเจอเรือโยงก็เอามาเลี้ยง ตอนหลังมันตาย หลวงพ่อก็เลยให้เผาหมูด้วย เผาศาลด้วย ลูกศิษย์ตายไป 2 คน แล้วตอนหลังท่านก็พลาดพลั้งป่วย เขาก็เล่นงาน  พ่อปู่ก็เอาจนตายเหมือนกัน  ร่างทรงก็บอกว่า เนี่ยเผาชั้นมาแล้วครั้งหนึ่ง เราก็บอกว่าเราไม่ได้เป็นคนเผา คนที่เผาเขาตายไปหมดแล้ว ยังจะมาเอาเวรเอากรรมกันอีกหรือ เขาบอกว่าเขาไม่ยอม เขาอยู่มาเป็นพันปี   เราก็ถามว่าอยู่เป็นพันปีนี่อยู่ที่ไหน เขาก็บอกว่าอยู่บนยอดหญ้า มันก็มีเทวดาบนยอดหญ้า พระอานนท์เกิดเป็นเทวดาบนยอดหญ้า อยู่วิมานบนยอดหญ้า ก็ตรงกับพระสูติ ฉันก็เลยบอกว่าเดี๋ยวจะทำการย้ายให้ใหม่ จะขอใช้ที่ เขาก็บอกว่าไม่ว่าหรอกนะถ้าย้ายใหม่ แต่ขอเป็นไม้สักทั้งหลัง เราก็ทำให้ละกัน คนเขามาขอหวยกันบ่อย ถึงเราเชื่อยากแต่ก็ไม่ลบหลู่ ต่างคนต่างอยู่ แผ่เมตตาให้ ก็เคยนะมีพระที่วัดสวดปาติโมกข์ บางทีก็มากระตุกขาหลวงตา ก็มีการเข้าทรงถามว่ามากระตุกขาทำไม เขาก็บอกว่าท่านสวดปาติโมกข์ได้บุญเยอะ ท่านไม่แผ่เมตตาให้เราหน่อยเหรอ ทวงบุญคุณกันอีก มาขอบุญกุศล คนผ่านไปผ่านมาก็บีบแตรข้างถนน พวกนาคมาบวชก็ต้องมาขอขมาเขา แล้วโยมเวลาเขามาเลี้ยงก็จะให้สำหรับหนึ่ง คาว หวาน” (สัมภาษณ์ 14 ธันวาคม 2559)

ศาลพ่อปู่โคกหลวง อำเภอบ้านแพ้ว

ศาลพ่อปู่โคกหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนดอนราว-หลักห้า ซอย 1 (โคกหลวง ซอย 1) มีอายุเก่าแก่เกิน 100 ปี ชุมชนไทดำบริเวณนี้อพยพมาจากเพชรบุรี เข้ามาตั้งรกรากถางป่าและทำนาแต่เดิมศาลสร้างอยู่บนโคกที่มีป่าไผ่ปกคลุม เรียกว่าโคกไผ่ ต่อมาเมื่อเจ้าของที่ดินได้ปรับปรุงที่ดิน จึงได้ย้ายมาสร้างบนที่ราบ ศาลสร้างเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงประมาณ 2 เมตร บนศาลมีแผ่นไม้เจว็ดและมีพระพุทธรูป เนื่องจากเป็นศาลที่ตั้งอยู่ในเขตชุมชนจีน จึงมีชาวจีนนิยมมากราบไหว้เสมอๆ ในช่วงเทศกาลของชาวจีนจะมีเครื่องเซ่นไหว้มาถวายพ่อปู่ ชาวบ้านนิยมมาขอโชคลาภ วันที่ 14 เมษายนของทุกปีจะมีพิธีไหว้พ่อปู่ประจำปี  ชาวไทดำจะมาบนขอในสิ่งต่างๆ เมื่อได้ตามคำขอก็จะมาแก้บนด้วยการนำหนังตะลุงมาแสดง

close