ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

101 แห่ง

ผลการค้นหา : 101 แห่ง

วัดสามัคคีศรัทธาราม อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ต.บางหญ้าแพรก อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ตั้งเมื่อ พ.ศ.2435 โดยมีนายเฉย เป็นผู้ถวายที่ดิน ตั้งเป็นสำนักสงฆ์อยู่ได้ประมาณ 20 ปี ก็ร้างไป ต่อมาในปี พ.ศ.2464 ได้มีนายศุกร์-นางเรียง ช้างสีนวล ได้สร้างอาคารเสนาสนะขึ้นใหม่ และนิมนต์พระปูมาเป็นเจ้าอาวาส

วัดอุทยาราม อำเภอบ้านแพ้ว

เริ่มสร้างวัดเมื่อ พ.ศ.2525  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2544 พระพุทธรูปสำคัญคือพระพุทธอุทัยรัศมี พระประธานในอุโบสถ 

วัดอ่างทอง อำเภอกระทุ่มแบน

สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2404 ไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้างและผู้บริจาคถวายที่ดินเพื่อสร้างวัด ที่มาของชื่อวัดมีตำนานกล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวมีต้นไม้ใหญ่ จำเป็นต้องโค่นเพื่อใช้สถานที่สร้างวัด ในยามค่ำคืนก่อนที่จะทำการโค่นต้นไม้นี้ ได้เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ มีแสงประหลาดพวยพุ่งขึ้นมาจากพื้นดิน สูงคล้ายดอกไม้เพลิงสว่างโชติช่วง ตามโบราณกล่าวว่าทรัพย์แผ่นดินเคลื่อนที่ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นทอง

วัดอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน

วัดอ้อมน้อยตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2410 โดยนายอ่วม นางฉิม(เสม) เกิดเจริญ มีหลวงพ่อเพ็ง ประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ

วัดเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดเกาะนับเป็นวัดมอญที่เก่าแก่ที่สุดในอำเภอเมือง ซึ่งชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ท่าจีนในสมัยอยุธยาตอนปลาย-ธนบุรี ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยธนบุรี

วัดเจษฎาราม อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดเจษฎารามเป็นสถานที่ประกอบพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ มณฑลพระราชพิธีที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในอดีตทางราชการได้ใช้สถานที่วัดนี้หล่อรูปพันท้ายนรสิงห์ และได้เชิญไปประดิษฐาน ณ ที่ตั้งศาลที่ตำบลโคกขามเดิมวัดเจษฎาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เดิมเคยเป็นพื้นที่วัดร้างมาก่อน โดยมีเนินดินอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของอุโบสถเก่า ปัจจุบันได้ปรับพื้นเป็นที่ราบไปหมดแล้ว ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2401 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอาจารย์น่วม พระภิกษุจากวัดแสมดำ พร้อมด้วยคหบดีตำบลมหาชัยซึ่งเป็นพี่น้องกัน คือนายแฟบ นางน้อย และนางอิ่ม และชาวบ้านได้ร่วมใจกันทำการก่อสร้างวัดขึ้นใหม่ มีพระสงฆ์จำพรรษาตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 140 ปี และได้ขนานนามว่า “วัดธรรมสังเวช” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “วัดกระเจ็ด” ตามชื่อคลองกระเจ็ด ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัด ในราวปีวอก พ.ศ.2439 เจ้าจอมมารดาโหมด (เจ้าจอมมารดาของ(พระมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระองค์เจ้าหญิงอรอนงค์อรรถยุพา และกรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส) ในรัชกาลที่ 5 ได้เดินทางมายังตำบลมหาชัย และพักแรมอยู่บริเวณวัดนี้ ท่านเจ้าจอมมารดาโหมดได้ขนานนามวัดให้ใหม่จาก “วัดธรรมสังเวช” ให้มีนามว่า “วัดเจษฎาราม” (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 14-15) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพ.ศ. 2480 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ได้รับพระราชทานยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2531วัดเจษฎาราม เป็นวัดที่ราษฎรสร้างขึ้นแต่มีความสำคัญด้วยเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาของทางราชการจังหวัดสมุทรสาคร มีโอกาสรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช และพระมหาเถระหลายรูป นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นสนามสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลีประจำจังหวัดสมุทรสาคร ดำเนินกิจกรรมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์และสังคมสงเคราะห์หลายประการ ด้วยคุณสมบัติของการเป็นวัดที่ช่วยเชิดชูพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสมควรได้รับเกียรติยกย่องเป็นพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการจึงขอพระราชทานยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดเจษฎารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2531 เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างประจำปี 2516เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดเจษฎารามมีรายนามดังต่อไปนี้     รูปที่ 1 พระอธิการน่วม ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2401-2418     รูปที่ 2 พระอธิการยา ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2424-2449     รูปที่ 3 พระอธิการบัว จงทรงสี ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2450-2462 และเป็นเจ้าคณะหมวด (เจ้าคณะตำบล) มหาชัย     รูปที่ 4 พระครูมหาชัยบริรักษ์ (เชย ญาณวฑฒโน) ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2462-2500 เป็นเจ้าคณะตำบลมหาชัย และเจ้าคณะอำเภอเมืองสมุทรสาคร (ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมื่อ พ.ศ.2484 เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง)     รูปที่ 5 พระราชสาครมุนี (ชะวร โอภาโส ป.ธ.4 น.ธ.เอก) ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2501-2535 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครเมื่อ พ.ศ.2521 และเป็นเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครเมื่อ พ.ศ.2527 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชสาครมุณี ศรีกิจจานุกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี เมื่อ พ.ศ.2530     รูปที่ 6 พระครูสาครเจษฎานุยุต (พิเชษฐ ธมมธโร) ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2536 จนถึงปัจจุบันด้านการศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.2480 โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.2503 และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.2530ภายในวัดมีสิ่งสำคัญได้แก่ พระประธานในพระอุโบสถปางมารวิชัย  พระพุทธรูปยืนปางถวายเนตรหน้าพระอุโบสถ รอยพระพุทธบาทจำลอง ต้นศรีมหาโพธิ์ และรูปหล่อพระครูชัยบริรักษ์ (หลวงปู่เชย) อดีตเจ้าอาวาสซึ่งเป็นที่เคารพของชาวมหาชัยและตำบลใกล้เคียงแผนผังโดยรวมและอาคารสำคัญต่างๆ ภายในวัด เช่น พระอุโบสถและวิหาร หันไปทางคลองมหาชัยหรือหันไปทางทิศเหนือ (เอียงไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย)อาคารสิ่งก่อสร้างภายในวัดล้วนแล้วแต่เป็นอาคารใหม่ ส่วนพระอุโบสถปี 2559 อยู่ในระหว่างการก่อสร้างใหม่ โดยสร้างในตำแหน่งพระอุโบสถหลังเดิมที่ทุบทิ้ง (พระอุโบสถหลังเดิมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตามประวัติระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.2440) ด้านหน้าสถานที่ก่อสร้างพระอุโบสถก่อสร้างเป็นศาลาชั่วคราวประดิษฐานพระพุทธรูปจากพระอุโบสถหลังเดิม (รออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระอุโบสถหลังใหม่) พระพุทธรูปที่สำคัญ ได้แก่1. พระประธานของพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอกเศษ ลงรักปิดทอง ลักษณะศิลปกรรมมีอิทธิพลศิลปะจีน ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อโต” ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2439 โดยมีพระอธิการยาเป็นประธานจัดสร้าง และมีพระโมคคัลลาน์ – พระสารีบุตร ประดิษฐานอยู่เบื้องซ้าย-ขวา2. พระพุทธรูปยืนปางถวายเนตร ลงรักปิดทอง สูง 6 ศอก เดิมประดิษฐานอยู่หน้าพระอุโบสถ พระครูมหาชัยบุรีรักษ์ เป็นประธานจัดสร้างเมื่อ พ.ศ.24883. รอยพระพุทธบาทจำลอง ขนาดกว้าง 1.5 เมตร ยาว 4 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.24944. รูปหล่อพระครูมหาชัยบริรักษ์ (เชย ญาณวฑฒโน) อดีตเจ้าอาวาสวัด ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารหลวงพ่อเชย ทางวัดจัดให้มีงานบำเพ็ญกุศลถวายในวันแรม 11 ค่ำ เดือน 5 เป็นประจำทุกปี5. ต้นพระศรีมหาโพธิ เป็นต้นที่สืบเนื่องมาจากต้นพระศรีมหาโพธิตรัสรู้ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) วัดพระเชตุพนฯ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัตเป็นประธานปลูก เมื่อ พ.ศ.2514

วัดโกรกกราก อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ชุมชนโกรกกรากนั้น มีบริเวณตั้งแต่ชุมชนคลองกระโจน ไปจนถึงชุมชนเรือนจำในปัจจุบัน และครอบคลุมบริเวณชุมชนศาลเจ้ากลาง และชุมชนศาลเจ้าแม่ฯ ในตำบลท่าฉลอมปัจจุบันอีกด้วยสถานที่สำคัญภายในวัดโกรกกราก ได้แก่   - พระอุโบสถ ลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทย หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องสีมีชายคาปีกนกคลุมโดยรอบทั้งสี่ด้าน รองรับโครงหลังคาด้วยเสาไม้กลม ช่อฟ้าใบระกาไม้ประดับกระจกภายในพระอุโบสถมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ด้านหลังพระประธานมีตู้ขนาดใหญ่ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปปัจจุบันด้านหน้าตู้มีทองปิดทับเต็มหมด ไม่สามารถมองเห็นภายในได้   - เจดีย์รายตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับพระอุโบสถ มีจำนวน 2 องค์ องค์แรกเป็นเจดีย์มุมตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้สิบสองตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมมีกำแพงแก้วขนาดเล็กล้อมรอบองค์ที่สองเป็นพระปรางค์สำหรับบรรจุอัฐิขนาดเล็ก ก่ออิฐถือปูน

วัดโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดโคกขามปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ.2222 สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 11)  มีหลักฐานสิ่งก่อสร้างที่สำคัญประกอบด้วยพระอุโบสถ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ลดชั้น 2 ชั้น มุงกระเบื้องสีชั้นละ 2 ตับ มีช่อฟ้าใบระกาไม้แกะสลัก ด้านหน้าพระอุโบสถซ่อมแซมต่อเติมขึ้นในภายหลังโดยพระครูมหาชัยบริรักษ์ เจ้าคณะแขวงเมืองสมุทรสาคร ทำเป็นมุขยื่นออกมา 1 ห้อง มีเสาปูนสี่เหลี่ยม 2 ต้น รองรับโครงหลังคา หน้าบันของมุขด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักรูปนก ค้างคาว และมังกรสองตัวเกาะและเลื้อยอยู่ในหมู่ต้นไม้ ด้านล่างเป็นไม้ฉลุลายทรงสี่เหลี่ยม ลวดลายของหน้าบันนี้ได้รับอิทธิพลของศิลปะจีน  ด้านหน้ามีประตูทางเข้า 2 ประตู ด้านหลังทึบ  ผนังด้านข้างทั้งสองด้านมีช่องหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง บานประตูหน้าต่างทาสีแดง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย พระพุทธรูปประทับยืน และนั่ง แสดงปางต่างๆ ศิลปะอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยรอบพระอุโบสถมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนล้อมรอบ ด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงระฆังกลม 2 องค์ สภาพชำรุดยอดหักหาย ภายในเขตกำแพงแก้วมีใบเสมาหินทรายแดงตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูน พระอุโบสถนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย และได้รับการบูรณะซ่อมแซมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 56-57)พระพุทธรูป ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อสัมฤทธิ์” เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์คล้ายกับพระพุทธสิหิงค์ ที่ฐานมีจารึกซึ่งได้มีผู้ทรงคุณวุฒิอ่านไว้ มีใจความว่า “พุทธศักราช 2232 พระสา กับเดือน 1 กับ 25 วันพฤหัสบดี ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย โทศก พระยาเมชัยก็ได้สถาปนาพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ เป็นทอง 37 ชั่ง จงเป็นปัจจัยแก่นิพพานฯ” ซึ่งปีพุทธศักราช 2232 นั้นตรงกับรัชสมัยของพระเพทราชา (พ.ศ. 2231-2246) (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 57) มีการจัดงานปิดทองประจำปีช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี ศาลาการเปรียญ  ลักษณะเป็นศาลาการเปรียญไม้ยกพื้นสูง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาสี บันไดทางขึ้นก่ออิฐถือปูน มีอาคารขนาดเล็กสร้างขวางทางด้านทิศตะวันออก ศาลาการเปรียญหลังนี้ พระสุนทรศีลสมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหนัง ธนบุรี เป็นผู้ทำการก่อสร้างไว้(สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 57)

วัดโพธิ์แจ้ อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดโพธิ์แจ้ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ.2456 เดิมเป็นสำนักสงฆ์ ชาวบ้านเรียกวัดตายิ้ม โดยมีนายยิ้ม-นายแดง จูพราย และนายทับ มุขจั่น เป็นผู้ถวายที่ดินให้สร้างวัด เนื่องจากตำบลนี้ยังไม่มีวัด (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 57) อาคารเสนาสนะ ต่างๆ ประกอบด้วย พระอุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างเมื่อ พ.ศ.2466 ผู้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างวัดคือ พระภาวนาโกศลเถระ (เอี่ยม สุวณฺณสโร) หรือหลวงปู่เฒ่าวัดหนัง ผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ.2471 บริเวณหน้าบันพระอุโบสถ มีการเขียนบอกไว้ว่า “พระอุโบสถ วัดโพธิ์สิริราช บำรุงด้วยความสามัคคี สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2466” ลักษณะตัวอาคารไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าทาสีเหลืองอ่อน หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าวสีแดง ปั้นปูนทับสันหลังคา ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นทำเป็นรูปเศียรนาค ต่อชายคาปีกนกยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน รองรับโครงหลังคาด้วยเสาไม้กลมทาสีเหลือง มีประตูทางเข้าทั้งสองด้านด้านละ 2 ประตู ปัจจุบันประตูด้านหลังถูกปิดสามารถเข้าได้ทางเดียวคือด้านทิศตะวันออก บานประตูไม้เรียบไม่มีลวดลายแกะสลักทาสีเหลือง ผนังด้านข้างทำเป็นช่องหน้าต่าง ด้านละ 3 ช่อง บานหน้าต่างทาสีเหลือง ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อโต”

close