ศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

101 แห่ง

ผลการค้นหา : 101 แห่ง

วัดนาขวาง อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดนาขวาง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่ทราบประวัติ และผู้สร้างที่ชัดเจน ในเอกสารประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ระบุว่าตั้งเมื่อ พ.ศ.2315 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2465 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 9 เมตร ยาว 18.5 เมตร (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 33) และในเอกสาร “ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด” ระบุว่า สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าเสือ โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า “พระเจ้าเสือเสด็จประพาสทางชลมารค ผ่านทางหมู่บ้านนาขวาง พบต้นไม้ใหญ่ขึ้นตามริมคลองกิ่งทอดก่ายกันเกะกะมองดูเหมือนถ้ำ จึงทรงตั้งชื่อให้ว่า “วัดคูหาสวรรค์” และได้มีการเปลี่ยนชื่อจากวัดคูหาสวรรค์มาเป็นชื่อ “วัดนาขวาง” ตามชื่อหมู่บ้านสมัยสุนทรภู่ได้เดินทางไปเมืองเพชรบุรี ซึ่งได้แต่งนิราศเมืองเพชรซึ่งเป็นหลักฐานที่บ่งบอกความเป็นมาพระอุโบสถ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ลดชั้น 3 ชั้น มุงกระเบื้องสีชั้นละ 3 ตับ มีช่อฟ้าใบระกาไม้แกะสลัก ด้านหน้าพระอุโบสถซ่อมแซมต่อเติมขึ้นในภายหลัง ทำเป็นชายคายื่นลาดต่ำออกมา 1  มีเสาปูนสี่เหลี่ยม 2 ต้น กลม 2 ต้น รองรับโครงหลังคา ช่อฟ้าใบระกาไม้ประดับกระจก หน้าบันด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักรูปเทพพนม และกนกเป็นลำตัวนาคและเศียรนาค  ด้านหน้ามีประตูทางเข้า 2 ประตู ด้านหลัง 2 ประตู ประตูไม้ทาสีแดงไม่มีลวดลายแกะสลัก  ผนังด้านข้างทั้งสองด้านมีช่องหน้าต่างด้านละ 5 ช่อง บานประตูหน้าต่างทาสีแดง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย พระพุทธรูปประทับยืน และนั่ง แสดงปางต่างๆ ศิลปะอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงระฆังกลม 2 องค์ สภาพชำรุดยอดหักหาย พระอุโบสถนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น และได้รับการบูรณะซ่อมแซมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

วัดนางสาว อำเภอกระทุ่มแบน

วัดนางสาวเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย จากตำนานและคำบอกเล่าของชาวบ้าน กล่าวว่าในสมัยอยุธยาตอนปลายได้เกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่า กองทัพพม่ายกเข้ามารุกรานจนถึงบ้านบางท่าไม้ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน พวกผู้ชายออกไปรบเพื่อป้องกันบ้านเมืองกันหมด เหลือแต่ผู้หญิง เด็ก และคนชรา จึงพากันอพยพหลบหนีภัยสงคราม ในระหว่างทางได้ไปพบกับกองลาดตะเวนของทหารพม่า จึงได้พากันไปหลบซ่อนตัวในโบสถ์ของวัดร้างแห่งหนึ่ง ในจำนวนของผู้หนีภัยสงครามทั้งหมดมีพี่น้องสองสาวคู่หนึ่งได้อธิษฐานกับพระประธานว่า ถ้าพวกตนสามารถรอดพ้นจากเงื้อมมือของทหารพม่าไปได้จะกลับมาบูรณะซ่อมแซมวัดแห่งนี้ หลังจากเหตุการณ์สงครามสงบ พี่น้องทั้งสองคนก็ได้กลับมายังวัดแห่งนี้ พี่สาวเห็นว่าสภาพของวัดทรุดโทรมมากควรจะสร้างวัดขึ้นใหม่ จึงได้ไปสร้างวัดใหม่ขึ้นเรียกชื่อว่า “วัดกกเตย” (ปัจจุบันวัดแห่งนี้ล่มลงในแม่น้ำหมดแล้ว) แต่น้องสาวต้องการกระทำตามสัจจาธิษฐาน จึงได้ดำเนินการบูรณะจนแล้วเสร็จ และตั้งชื่อว่า “วัดพรหมจารีย์ราม” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดน้องสาว” และได้เพี้ยนมาเป็น “วัดนางสาว” ในปัจจุบัน (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 130)พระอุโบสถ มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังคาเครื่องไม้ทรงจั่วมุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีพาไลยื่นออกมา 1 ห้อง มีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคาจำนวน 4 ต้น ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก (แต่เดิมช่อฟ้าใบระกาเป็นไม้ หน้าบันเป็นไม้ประจุเรียบ ต่อมาวัดได้ดำเนินการซ่อมแซมขึ้นใหม่) ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงประตูเดียว ด้านอื่นๆปิดทึบไม่มีหน้าต่าง แบบ “โบสถ์มหาอุด” ปัจจุบันโบสถ์หลังนี้ได้รับการซ่อมแซมใหม่ (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 130)เจดีย์ ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างศาลาการเปรียญ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ย่อมุมไม้สิบสองทรงระฆัง องค์ระฆังมีการตกแต่งด้วยลวดลายดอกไม้และพวงอุบะ ส่วนยอดเป็นบัวคลุ่มเถาและปลียอด (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 130)

วัดนาโคก อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดนาโคก เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่มีประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2420 (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 34) แต่เดิมสภาพเหมือนกุฏิสงฆ์ที่มุงด้วยใบจาก ต่อมาเมื่อสมัยพระครูสาครธรรมคุณ เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดในช่วง พ.ศ.2492-2539 ท่านได้พัฒนาปรับปรุงก่อสร้างอาคารเสนาสนะต่างๆ ขึ้นมาใหม่จำนวนหลายสิ่ง เช่น ศาลาการเปรียญ ศาลาอเนกประสงค์พระอุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2460 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระประธานอุโบสถ และพระพุทธรูปยืนสำริดปางห้ามสมุทร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านบริเวณให้ความเคารพนับถือกราบไว้เป็นอย่างมาก ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ทางวัดจะมีงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อสัมฤทธิ์ 

วัดน่วมกานนท์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดน่วมกานนท์ เดิมเรียกว่าวัดท่าหิน ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างที่แน่ชัดว่าสร้างสมัยใด ตามเอกสารประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ระบุว่าตั้งเมื่อ พ.ศ.2460 (รัชกาลที่ 6) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2510 (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 31) เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีถนน เวลาปลูกบ้านชาวบ้านจะบรรทุกหินทรายมาไว้ที่หน้าวัด แล้วจึงค่อยทยอยขนไป ชาวบ้านเลยเรียกวัดนี้ว่า “วัดท่าหิน” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดน่วมกานนท์ ตามชื่อและนามสกุลของผู้ถวายที่ดินให้วัด คือ นายตั๋ง(น่วม) กานนท์ เดิมเป็นวัดเล็กๆ ชำรุดทรุดโทรม หลังคามุงจาก ปัจจุบันวัดได้รับการบูรณะและสร้างเสนาสนะขึ้นมาใหม่แทบทั้งสิ้นวัดได้พัฒนาเจริญรุ่งเรืองในสมัยพระครูสาครพัฒนวิธาน (ต่วน เตชธโร) หรือหลวงพ่อต่วน ท่านเรียนวิชาความรู้จากหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน หลวงปู่ต่วนสร้างวัตถุมงคลหลายชนิด ได้แก่ ตะกรุดคู่ชีวิต และ ยันต์ 3 หัวใจ ปูชนียสถานวัตถุสำคัญของทางวัดคือ "หลวงพ่อหาย" และ "พระพุทธชัยมงคล" พระนอนองค์ใหญ่ที่สุดในสมุทรสาคร   หลวงพ่อหาย มีประวัติความเป็นมาคือเมื่อประมาณ พ.ศ. 2548 มีสามีภรรยาคู่หนึ่งได้นำเอาพระพระพุทธรูปยืนองค์หนึ่งเป็นไม้แกะยืนเท่าคนจริงมาฝากพระครูสาครพัฒนกิจ เจ้าอาวาสวัดน่วมกานนท์ เนื่องจากกำลังปลูกบ้าน เมื่อบ้านเสร็จก็จะมารับคืน ด้วยความคุ้นเคยกันพระครูจึงรับฝากไว้ แต่หลังจากนั้น 2 เดือนเศษ ตัวสามีได้ป่วยหนัก พระครูจึงได้แนะนำให้ถวายพระองค์ที่ฝากไว้แก่วัด เนื่องจากพระครูเห็นว่าพระองค์นี้มีขนาดใหญ่เท่าคนจริง ประทับยืนปางเปิดโลก แกะด้วยไม้มงคลเก่าแก่อายุประมาณ 200 กว่าปีในความเห็นของพระครู ซึ่งตามโบราณว่าพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณนั้น คนที่มีบุญบารมีวาสนาเท่านั้นถึงจะครอบครองได้และต้องเป็นในลักษณะให้คนได้กราบไหว้ได้ด้วย ด้วยเหตุนี้สามีภรรยาคู่นั้นจึงถวายพระพุทธรูปองค์นี้ให้กับทางวัด วันรุ่งขึ้นอาการป่วยหนักก็ดีขึ้นตามลำดับหลังจากนั้นก็เป็นที่ทราบกันปากต่อปาก ชาวบ้านมากราบไหว้ขอพร โดยเฉพาะให้หายจากป่วยไข้ เมื่อสมหวังสมปรารถนาก็จะนำของมาถวาย เช่น ไข่ต้ม กล้วย และผลไม้ต่างๆ

วัดน้อยนางหงษ์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดน้อยนางหงส์ ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่ม ทางด้านตะวันออกติดกับคลองสุนัขหอน มีเนื้อที่ตั้งวัดประมาณ 25 ไร่ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย วัดน้อยนางหงษ์ เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2323 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2560) หรือสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อ "วัดตากแดด" ต่อมาในสมัยพระปลัดเซ่ง เจ้าอาวาสรูปที่ 2 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดน้อยนางหงส์" และในสมัยพระอธิการชุ่ม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดหงส์อรุณรัศมี" แต่ชาวบ้านยังคงนิยมเรียกวัดน้อยนางหงส์อยู่ (สุริยา สุดสวาท และเดชา สุดสวาท 2553 : 65) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2429 ผูกพัทธสีมาหลังใหม่ พ.ศ. 2559สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่  อุโบสถ อุโบสถหลังปัจจุบันเป็นอุโบสถใหม่ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. 2559 โดยได้รื้ออุโบสถหลังเก่าออกเพื่อก่อสร้างอุโบสถหลังปัจจุบันนี้ อุโบสถหลังใหม่อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่บนยกพื้นสูง 2 ชั้น ชั้นล่างลักษณะเป็นใต้ถุน มีพื้นที่ใช้สอย ทางขึ้นสู่ชั้นบนที่เป็นที่ตั้งของตัวอาคารอุโบสถอยยู่ทางด้านหน้า หรือทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือหันหน้าออกสู่คลองสุนัขหอน อุโบสถเป็นสีขาวทั้งหลัง ศิลปะไทยประเพณีประยุกต์ หลังคาทรงจั่วลดชั้น 2 ชั้น มุงกระเบื้องซ้อนกัน 2 ตับ มีช่อฟ้าและหางหงส์ หน้าบันด้านหน้าเป็นปูนปั้นลวดลายพระพุทธรูปใต้ต้นโพธิ์ ล้มอรอบด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษา หน้าบันด้านหลังเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา เสารองรับหลังคาเป็นเสาสี่เหลี่ยม มีบัวหัวเสา ประตูทางเข้าอยู่ทางด้านหน้าช่องทางเดียว ช่องหน้าต่างที่ด้านข้างทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 5 ช่อง ด้านนอกประดิษฐานเสมา และมีลานประทักษิณโดยรอบ เหนือกำแพงแก้วล้อมรอบลานประทักษิณทำเป็นลวดลายพญานาค  อุโบสถหลังเก่าลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงจั่วเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีชายคาปีกนกคลุมโดยรอบทั้ง สี่ด้าน มีเสาคอนกรีตสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคา ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ปูนปั้น ช่อฟ้าและหางหงส์ป็นรูปเศียรนาค หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังป็นปูนปั้นระบายสีลายพันธุ์พฤกษา ประกอบด้วย ดอกไม้และใบไม้ ในส่วนของดอกไม้และกรอบหน้าจั่วประดับด้วยเครื่องถ้วยลายครามและจาน ชามเบญจรงค์ ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูนมีประตูทางเข้าออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 2 ประตู ลานประตูเป็นไม้มีภาพจิตรกรรมเป็นรูปทวารบาลแบบไทย ผนังด้านหน้ามีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ปางประทานอภัย ซึ่งสันนิษฐานว่าคงมีการสร้างต่อเติมขึ้นใหม่ในภายหลัง เหนือซุ้มพระพุทธรูปมีอักษรสลักในแผ่นหินติดอยู่ที่ผนัง คำว่า "วัดรัศมี" และ "WAT RASMI" ผนังอุโบสถด้านข้างมีช่องหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง บานหน้าต่างเป็นไม้มีภาพจิตรกรรมรูปเทวดายืนพนมมือ ภายนอกอุโบสถมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนเตี้ยๆ ล้อมรอบ ในเขตกำแพงแก้ว มีซุ้มเสมาทรงปราสาทก่ออิฐถือปูนประดิษฐานใบเสมาซึ่งทำมาจากหินแกรนิต (สุริยา สุดสวาท และเดชา สุดสวาท 2553 : 66)เจดีย์บรรจุอัฐิ ตั้งอยู่ด้านหน้าของอุโบสถ ติดกับคลองสุนับหอน สร้างเป็นรูปเรือสำเภา โดยมีเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังขนาดเล็กอยู่ภายในลำเรือจำนวน 3 องค์ แลละเจดีย์ก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้สิบสองตั้งอยู่ที่มุมอุโบสถด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้หอระฆัง ลักษณะเป็นสถานปัตกรรมผสมผสานนกันระหว่างไทยและยุโรป เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กสองชั้น ชั้นล่างเป็นห้องขนาดเล็ก มีประตูทางเข้ารูปทรงโค้ง มีบันไดทางขึ้นลงก่ออกมาจากตัวอาคารทางด้านข้าง ชั้นเป็นอาคารโปร่งมีระเบียงขนาดเล็กโดยรอบ ผนังด้านข้างเป็นช่องโปร่ง ลักษณะคล้ายซุ้มส่วนยอดโค้งแหลมแบบศิลปะกอธิค หลังคาของหอระฆังก่ออิฐถือปูนซ้อนกันเป็นชั้นๆ ส่วนบนสุดคล้ายปล้องไฉน ผู้ก่อสร้างคงจะออกแบบใหคล้ายเป็นยอดเจดีย์ ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (สุริยา สุดสวาท และเดชา สุดสวาท 2553 : 66)อนุสรณ์สถานท่านลี เป็นสถานที่ฝังศพ ก่อสร้างแบบสถานปัตยกรรมยุโรป มระเบียงล้อมรอบ และทางเข้าทั้งสี่ด้าน ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนสองงชั้น ชั้นล่างตกแต่งด้วยซุ้มโค้ง ภายในที่ฝังศพเป็นหีบก่ออิฐถือปูน ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนเป็นทรงสามเหลี่ยม ชั้นบนตกแต่งด้วยซุ้มโค้งแบบยุโรป ส่วนยอดเป็นยอดแหลมมีทั้งหมด 5 ยอด ยอดตรงกลางมีขนาดใหญ่ที่สุด พื้นที่ใกล้เคียงกันพบที่ฝังศพอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ ลักษณะเป็นแท่นก่ออิฐถือปูนมีระเบียงล้อมรอบ และมีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ในแต่ละด้านจะมีซุ้มโค้งด้านบนมีลวดลายปูนปั้นเป็นตราสัญลักษณ์แบบยุโรป บนแท่นตรงกลางมีปีบศพก่ออิฐถือืปูนแปดเหลี่ยมประดับด้วยลวดลายปูนปั้นรูปใบไม้ และงูหรือพญานาคแบบศิลปะยุโรป นอกจากนั้น เสนาสนะสำคัญอื่นๆ ภายในวัด ได้แก่   - ศาลาการเปรียญหลังเก่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2516    - อาคารไม้ทรงไทย หลังใหม่สร้าง พ.ศ. 2556-2560         - กุฏิสงฆ์เป็นอาคารไม้         - วิหารเป็นทรงไทยมะลิลาสร้าง พ.ศ.2544         - ศาลาอเนกประสงค์ อาคารไม้ทรงไทย สร้าง พ.ศ.2534         - ศาลาบำเพ็ญกุศล คอนกรีตเสริมเหล็ก         - เจดีย์รามัญ สร้างเมื่อ พ.ศ.2549         - ศาลาฉันและหอสวดมนต์จากหลักฐานทางสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างที่ยังคงปรากฏอยู่ในวัด สันนิษฐานในเบื้องต้นว่า วัดยน้อยนางหงส์ น่าจะเริ่มก่อสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นลำดับเจ้าอาวาส  1.พระน้อย 2.พระปลัดเซ่ง 3.พระทับ 4.พระชุ่ม 5.พระบาง 6.พระครูสาครธรรมกิจ 7.พระมหาชาญณรงค์ นรปญฺโญ เจ้าอาวาสปัจจุบันพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ คือ พระประธานประจำอุโบสถ                     พระเกจิอาจารย์สำคัญ คือ หลวงปู่เซ่ง           ประเพณี/งานประจำปี ได้แก่ วันที่ 13-15 เมษายน    ทำบุญ ตักบาตร วันสงกรานต์ และวันสำคัญทางศาสนา

วัดบางกระเจ้า อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2338 อาคารเสนาสนะสำคัญคือ อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.2467

วัดบางน้ำวน อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดบางน้ำวน เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่มีประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด เรื่องประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร (ม.ป.ป. : 5) ระบุว่าเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2357 ตามประวัติกล่าวว่า มีชาวรามัญได้โยกย้ายมาอยู่ตำบลนี้ ได้สร้างวัดขึ้นเป็นที่บำเพ็ญกุศล เจ้าอาวาสองค์แรกคือ หลวงพ่อแค เจ้าอาวาสองค์ต่อมาคือ หลวงพ่อรอด พุทธสฺณโท กล่าวกันว่าบรรดาถาวรวัตถุทั้งหลายทั้งปวงที่สร้างขึ้นในวัด สร้างในสมัยหลวงพ่อรอดทั้งสิ้น เช่น พ.ศ.2461 สร้างพระอุโบสถ พ.ศ.2464 สร้างศาลาการเปรียญ พ.ศ.2473 สร้างศาลาปูนหน้าวัด พ.ศ.2478 สร้างมณฑปพระบาท (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 125)พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคามุงเครื่องไม้กระเบื้องซีเมนต์ ซ้อนกัน 3 ตับ เครื่องลำยองช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ไม้แกะสลักประดับกระจก หน้าบันทั้งสองด้านเป็นรูปเทพพนม ประดับตกแต่งด้วยลายก้านขด ปิดทองประดับกระจก ด้านล่างมีลายกระจังและประจำยามรองรับ หน้าบันปีกนกเป็นรูปลายก้านขด มีสาหร่ายรวงผึ้งด้านล่าง เสาที่รองรับโครงหลังคา เป็นเสาก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีบัวหัวเสาปูนปั้นทาสีประดับ มีประตูทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 2 ประตู บานประตูเป็นไม้แกะสลักลายก้านขด ตรงกลางเป็นลายเทพพนม แทรกภาพสัตว์ต่างๆ ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย บนเพดานมีไม้แกะสลักทาสีเป็นรูปดาวเพดานติดประดับไว้ (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 126) บริเวณลานรอบอุโบสถมีใบเสมาปักอยู่บนแท่นฐาน ลักษณะเป็นหินทรายแดงขนาดเล็ก ถัดออกมามีกำแพงแก้วล้อมรอบ ทำเป็นซุ้มประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน ลักษณะเป็นซุ้มยอดคล้ายยอดเจดีย์ จำนวน 3 ยอด ตั้งเรียงกัน ยอดตรงกลางมีขนาดสูงสุด ซุ้มด้านหน้าพระอุโบสถมีตัวอักษร “พ.ศ. 2461” ซึ่งตรงกับปีที่สร้างพระอุโบสถนี้กลุ่มเจดีย์  ตั้งอยู่ทางด้านหน้าวัด ประกอบด้วยเจดีย์ทรงรามัญ 2 องค์ และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็กจำนวน 2 องค์ และเสาหงส์ อันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นวัดของชุมชนชาวรามัญ เสาหงส์ที่วัดบางน้ำวนนี้เป็นเสาหงส์ไม้ ตัวหงส์บนยอดเสาเป็นหงส์แกะจากไม้ประดับกระจกสี (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 126)

วัดบางปิ้ง อำเภอเมืองสมุทรสาคร

วัดบางปิ้ง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ.2414 เดิมชื่อ "วัดหัวป่า" ในสมัยนั้นบริเวณรอบวัดเป็นป่า ส่วนมากจะมีต้นปิ้งจำนวนมาก ใช้ทำประโยชน์ได้ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดบางปิ้ง เดิมมีพระอุโบสถหลังแรก ผู้สร้างคือ เถ้าแก่หวานและนางจันทร์ ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถ ต่อมาพระอุโบสถหลังเดิมทรุดโทรมจนใช้การไม่ได้ นายพุ่ม-นางรอด จันจู ได้บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เป็นเงินหนึ่งแสนสามหมื่นบาทถ้วน วัดได้รับการบูรณะและพัฒนามาโดยตลอด (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 42) อุโบสถหลังปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2536 พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อปู่ทองคำ” เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่และพุทธลักษณะสวยงามมาก ประวัติความเป็นมาของพระประธานในอุโบสถ ผู้แก่ผู้เฒ่าเล่าว่า “มีนายโต๊ะ นายยัง แจวเรือไปขายของที่บางกอก กรุงเทพฯ แถวบางกอกน้อย สมัยที่ยังไม่เจริญ ไปพบพระพุทธรูปตั้งอยู่กลางป่าเป็นวัดร้างสมัยนั้น ปัจจุบันนี้คือวัดสังข์กระจายในสมัยปัจจุบัน นายโต๊ะและนายยัง จึงขอชาวบ้านมา โดยการใช้กระดานท้องเรือรองใต้ฐานและเอาเชือกขว้างแล้วล่มเรือให้น้ำเข้า เอาพระลงเรือ แล้วก็วิดน้ำออก แล้วก็แจวเรือกลับมายังบางปิ้ง ที่ฐานพระมีชื่อพรหมมาทองคำ จึงเรียกติดปากกันมาว่า “‘หลวงปู่ทองคำ’ อายุราว 300 ปี สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย”วิหารหลวงปู่ชิต เป็นวิหารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ปูนปั้นทับสันหลังคา มีประตูทางเข้าด้านหน้าด้านเดียว ผนังด้านข้างเจาะช่องหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง ภายในวิหารประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่ชิต หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หลวงปู่ชิตเป็นหลวงพ่อที่เคารพนับถือกันมาก เพราะเมื่อตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านเป็นอาจารย์ที่โด่งดังในการสักยันต์ มีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นทหารจำนวนมาก และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยาแผนโบราณ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยสมัยนั้นมักจะมาให้หลวงพ่อรักษาอยู่เป็นประจำ

วัดบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน

วัดบางยางเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ในรายงานทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า สร้างวัดเมื่อ พ.ศ.2364 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งล่าสุด วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พระครูสาครธรรมโกศล (คุณ เมตฺติโก)ลำดับเจ้าอาวาส 1. พระเยิ้ม 2. พระพ่วง 3. พระวัด 4. พระชื้น 5. พระช้าง 6. พระแหยม 7. พระหวาย 8. พระอธิการผ่อง สุขปุญฺโญ 9. พระอธิการกุศล กุสีโล 10. พระครูสาครธรรมประสาท 11. พระครูศรีธวัช 12. พระครูสาครธรรมโกศล ดำรงตำแหน่งเมื่อประมาณปี 2540 - ปัจจุบัน อาคารเสนาสนะในวัด - อุโบสถเก่า สร้างเมื่อ พ.ศ.2440 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์ ภายในประดิษฐานหลวงพ่อแดง เป็นประธาน  - ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นอาคารไม้ทรงไทย ส่วนฐานมีการปรับปรุงโดยก่อคอนกรีตเสริมเหล็ก - อุโบสถใหม่ สร้างเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2557 ปิดทองฝังลูกนิมิตปีพ.ศ.2559 - กุฏิสงฆ์ไม้เรือนไทย ไม่ระบุปีพ.ศ.ที่สร้าง เป็นอาคารไม้ทรงไทย - กุฏิธรรมกิจกุศล สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2552 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น - ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 3 หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก - เมรุ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก - วิหารหลวงพ่อศรีธรรมราช เป็นอาคารจัตุรมุข สร้างเมื่อปีพ.ศ.2534 เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในประดิษฐานหลวงพ่อศรีธรรมราช พระพุทธรูปปางสมาธิ บริเวณพื้นที่เสาและหน้าอุดปีกนกด้านในมีการวาดภาพจิตกรรมลวดลายเทพนม และลวดลายพันธุ์พฤกษา - วิหารหลวงพ่อสังกัจจายย์ สร้างเมื่อ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2527 เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก - วิหารหลวงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)สร้างเมื่อปีพ.ศ.2537 เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก - ศาลาท่าน้ำ มีจำนวน 4 หลัง ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าวัด ริมคลองดำเนินสะดวก อาคารไม้ทรงไทย 2 หลัง ระบุปีพ.ศ.สร้างเมื่อ พ.ศ. 2508 และพ.ศ.2510 อีก 2 หลังเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องดินเผา 1 หลัง ไม่ระบุปีพ.ศ.ที่สร้าง ส่วนอีกหนึ่งหลังมุงหลังคาด้วยกระเบื้องซีเมนต์ลอน ระบุสร้างปีพ.ศ.2535 - โรงเรียนในเขตวัด 1. โรงเรียนบางยางวิทยาคาร 2. โรงเรียนกุศลวิทยา พระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ - หลวงพ่อศรีธรรมราช ภายในวิหารหลวงพ่อศรีธรรมราช พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา กราบไหว้ขอพร - หลวงพ่อแดง พระประธานประจำอุโบสถหลังเก่า เกจิอาจารย์ ประเพณี/งานประจำปี - ทุกวันที่ 1 มกราคม ทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 วันมาฆบูชา ทำบุญ เวียนเทียน - ทำบุญตักบาตรทุกวันตรุษไทย - วันที่ 13-15 เมษายน ทำบุญ ตักบาตร วันสงกรานต์ - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชา ทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียน - ขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 6 งานประจำปีปิดทองหลวงพ่อศรีธรรมราช - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชา ทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียน - แรม 1 ค่ำ เดือน 8 วันเข้าพรรษา ทำบุญ ตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน - 12 สิงหาคม ทำบุญวันแม่แห่งชาติ - ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ทำบุญวันมหาปวารณาออกพรรษา - ทุกแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ตักบาตรเทโวโรหณะ - 5 ธันวาคม ทำบุญวันพ่อแห่งชาติ - 31 ธันวาคม สวดมนต์ข้ามปี

close