บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 82 บทความ

พิพิธภัณฑ์เซ็กซ์ในจีน

25 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเพศ อาทิเรื่องเพศที่ปรากฏอยู่บนสิ่งของเครื่องใช้ไม่ว่าจะเป็นพัด เครื่องสัมฤทธิ์ และเซรามิกที่วิจิตรงดงาม นอกจากนี้ยังมีลึงค์ที่แกะสลักบนแท่งหินและหยก สถานที่แห่งนี้แสดงเรื่องเพศวิถีที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 6 ,000 ปี ของประเทศที่ได้ชื่อว่ามีประชากรมากที่สุดในโลก หลิว ต้าหลิน อายุ 71 ปี ผู้ก่อตั้งและภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมทางเพศของจีน บอกว่าเขาต้องการนำเสนอ วัฒนธรรมที่เก่าแก่ของประเทศเกี่ยวกับเพศให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ในห้วงเวลาที่จีนอยู่ภายใต้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่เข้มงวด หลังจากที่หลิวได้ต่อสู้เป็นแรมปีเพื่อให้พิพิธภัณฑ์เอกชนของเขาอยู่รอด หลิวจำต้องเก็บคอลเล็กชั่นของเขาทั้งหมด กว่า 3,700 ชิ้น ทั้งตุ๊กตาอีโรติก รูปภาพ และของกระจุกระจิกต่าง ๆ และย้ายตัวเองออกไปนอกเมือง หลิว เป็นนักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง และเกษียณอายุจากการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เขากล่าวว่า สิ่งที่เขาทำไปทั้งหมดนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเลย "กว่า 15 ปีที่ผ่านมา เรามีผู้เข้าชมกว่า 100,000 คน ไม่เคยมีผู้ชมคนใดบอกว่ามันเลวร้าย ไม่มีใครเลยจริง ๆ พวกเขาเห็นว่ามันน่าภาคภูมิใจและยอมรับมัน แต่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนกลัวว่าเรื่องเพศเป็นสิ่งอันตราย" หลิวให้สัมภาษณ์ในพิพิธภัณฑ์ของเขา ที่ตั้งอยู่ห่างไกลแหล่งท่องเที่ยวและช๊อปปิ้งนอกเมืองเซี่ยงไฮ้ แม้เซี่ยงไฮ้จะขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นเมืองแห่งแสงสีและชีวิตกลางคืน เรื่องโป้เปลือยออนไลน์ สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ยากเย็นอะไร แต่จินตนาการเรื่องการมีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเซ็กซ์กลับดูเป็นสิ่งแปลกปลอม หรือช็อคระบบคุณค่าของที่นี่ ทั้ง ๆ ที่เรื่องเซ็กซ์เห็นได้ทั่วไปในเมืองนี้ เช่น แผ่นป้ายโฆษณาของเสื้อผ้ายี่ห้อดังบนถนนนานจิง เป็นภาพวัยรุ่นสองคนใส่เสื้อผ้าโชว์เนื้อหนังมังสาและทำกริยาสวมกอดที่ดูเร่าร้อน หรือร้านเซ็กซ์ช๊อปที่เรียงรายไปด้วยผลิตภัณฑ์อย่างว่าบนถนนชานสี กล่าวได้ว่าเพียงแค่เดินบนถนนก็สามารถเรียนรู้เรื่องเซ็กซ์ได้แล้ว และเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาสถานีโทรทัศน์ในเซี่ยงไฮ้ก็ยังออกอากาศภาพยนตร์ซี่รี่ส์ที่เลียนแบบ "เซ็กซ์และเดอะซิตี้" ซี่รี่ส์ยอดฮิตของอเมริกา ธุรกิจการค้าบริการทางเพศในจีนรุ่งเรืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชีย การที่พวกผู้ชายมองหาร้านตัดผมเพียงเพื่อต้องการจะตัดผมจริง ๆ เพียงอย่างเดียว มากกว่าจะสนใจเรื่องการให้บริการเรื่องอย่างอื่นควบคู่กันไปด้วยคงเป็นเรื่องที่หาได้ยากไปซะแล้ว ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร รวมถึงการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ จึงเพิ่มขึ้นตามมาเช่นเดียวกัน เพศวิถี : ทั้งรักทั้งชัง แม้การรณรงค์ต่อต้านเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ หรือการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเพศ เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ปัจจุบันเรื่องเพศวิถีในจีนยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างกว้างขวางในเรื่องนี้ เดือนที่ผ่านมานิทรรศการ "วัฒนธรรมทางเพศ" จัดขึ้นครั้งแรกที่ปักกิ่งถูกสั่งปิดหลังจากเปิดการแสดงได้เพียงวันเดียว เจ้าหน้าที่รัฐบอกให้ผู้จัดคือ หม่า เซี่ยวเหนี่ยน (Ma Xiaonian) ซึ่งเป็นนักบำบัดทางเพศ(sexual therapist) ให้นำวัตถุที่แสดงออกในเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้ง ออกไปจากนิทรรศการและห้ามไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าชม เจ้าหน้าที่รัฐให้เหตุผลในเชิงความปลอดภัย โดยบอกว่าอาจเกิดสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง หากผู้เข้าชมมีจำนวนมาก แต่สื่อของรัฐได้อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานการวางแผนครอบครัวของรัฐบาลที่บอกว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงเกรงว่าผู้ชมบางคนอาจจะ "เข้าใจผิด" ต่อการจัดการแสดงแบบนั้น "ในจีน เซ็กซ์ยังคงถูกมองว่าเป็นเรื่องลามกสกปรก" นี่เป็นข้อเขียนในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์พีเพิ่ลเดลี่ส์ หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน สำหรับหลิว การเคลื่อนไหวของเขาครั้งนี้เป็นครั้งที่สองแล้ว เขาเคยตั้งพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเพศขึ้นในปี 1999 บริเวณย่านการค้าสำคัญบนนถนนนานจิง ซึ่งถือเป็นตลาดระดับบนในเซี่ยงไฮ้ แต่เขาต้องย้ายออกไปในสองปีต่อมา เมื่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นห้ามไม่ให้เขาใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับเรื่อง "เพศ" "พวกเขาบอกว่าสัญลักษณ์ที่ปรากฏเกี่ยวกับเพศมันน่าเกลียด" หลิวกล่าว ปัจจุบันในสถานที่แห่งใหม่ที่อยู่ห่างไกลออกไปนอกเมือง หลิวสามารถใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับเพศได้ โดยเขานำคำว่า "ซิ่ง" (xing) ที่หมายถึง "เซ็กซ์" ในภาษาจีนมาใช้ โดยความหมายของคำนี้ลึกซึ้งมาก ซิ่งหมายความถึงการประสานกันระหว่าง "หัวใจ" และ "ชีวิต" เข้าไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ดี ในที่ใหม่มีผู้เข้าชมเพียงไม่กี่สิบคนเท่านั้นในแต่ละวัน ในขณะที่หลิวต้องจ่ายค่าเช่าเดือนละกว่า 4,000 เหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้หลิวยังบอกอีกว่า เจ้าหน้าที่รัฐนอกจากจะไม่ช่วยเหลือแล้ว ยังขัดขวางไม่ให้พิพิธภัณฑ์ของเขาได้รับการรับรองให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย เจ้าหน้าที่ของเมืองได้ปฏิเสธคำขอของหลิว โดยให้เหตุผลว่าพิพิธภัณฑ์นี้เป็นเรื่องของ "ปัจเจกบุคคล" ก้าวใหม่ที่สดใส? หลิวใช้ชีวิตกว่า 20 ปี ในกองทัพจีน และอีก 12 ปี ในฐานะคนงานในโรงงาน ก่อนที่จะกลายเป็น นักสะสมและนักวิจัยเรื่องเพศ เขากล่าวว่าเขามองไปถึงการเริ่มต้นใหม่ที่สดใสเมื่อพิพิธภัณฑ์ของเขาจะเปิดตัวอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้ในเมืองถงลี่(Tongli) เมืองที่มีแม่น้ำลำคลองและทิวทัศน์ที่งดงาม ห่างจากเซี่ยงไฮ้ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 60 ไมล์ รัฐบาลท้องถิ่นได้ให้พื้นที่จัดแสดงแก่เขาในอาคารเก่าอายุกว่าร้อยปีที่ประกอบไปด้วย ลานโล่งเพื่อการจัดแสดงอีกด้วย ซึ่งต้องใช้เงินหลายพันเหรียญสหรัฐฯในการบูรณะ "ผมจะไม่ต้องอยู่อย่างลำบากอีกต่อไป จากนี้ไปจะต้องเป็นการปลดเปลื้องที่ยิ่งใหญ่" หลิวกล่าว "ผมจะสามารถแสดงคอลเล็กชั่นทั้งหมดของผมได้ และยังมีสวนที่จะ ใช้เป็นพื้นที่แสดงปฏิมากรรมต่าง ๆ ด้วย" หลิวบอกว่าทางเมืองคาดหวังให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่เจ้าหน้าที่เมืองถงลี่ ดูจะอึดอัด เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ "พิพิธภัณฑ์ก็คือพิพิธภัณฑ์ ทิวทัศน์ที่งดงามก็คือทิวทัศน์ที่งดวาม" เลขาธิการนายกเทศมนตรีที่บอกเพียงว่าแซ่ลี่ กล่าวว่า "เมืองถงลี่ไม่ต้องการให้พิพิธภัณฑ์เซ็กซ์เป็นสถานที่ดึงดูด นักท่องเที่ยวให้มาเมืองถงลี่อย่างแน่นอน" แปลและเรียบเรียง และภาพถ่าย จาก "6,000 Years of Sex at Chinese Museum" ใน http://msnbc.msn.com/id/3717283/

การสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรณีศึกษา พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี

19 กุมภาพันธ์ 2564

การสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรณีศึกษา พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี[1] จิราวรรณ ศิริวานิชกุล[2]   บทคัดย่อ           การศึกษาการสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นผ่านกรณีศึกษา พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการการสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น การเก็บข้อมูลการสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ผู้วิจัยได้เลือกผู้ให้ข้อมูลหลัก ( Key informants)  โดยการสัมภาษณ์ผู้นำหลักของคนทำพิพิธภัณฑ์ และในส่วนการศึกษาผลของการสื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์ที่มีต่อคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ผู้วิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างของคนภายในท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการทำงานพิพิธภัณฑ์ จำนวน 19 คน โดยเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ใช้แบบสัมภาษณ์ โดยการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ (Informal interview ) โดยใช้ควบคู่กับการสังเกต ซึ่งเป็นแบบสัมภาษณ์ชนิดกึ่งมีโครงสร้าง (Semi structural interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่นักวิจัยมีแนวคำถามโดยกำหนดประเด็นที่ศึกษา สร้างขึ้นจากกรอบแนวความคิดในการวิจัย ที่ได้จากแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง บทความนี้เริ่มต้นด้วยการนำเสนอระบบการสื่อความหมาย จากคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เฉพาะคนภายในชุมชนที่มีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์ โดยการสื่อความหมายนั้น ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ โดยมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นจุดมุ่งหมายในการดำเนินงาน การให้ความสำคัญกับพื้นที่การเรียนรู้ทั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนกลาง และแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชนท้องถิ่น  และการให้ความสำคัญกับ “ของ” แหล่งข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์นำมาสื่อความหมายและการนำเสนอ ซึ่งผลจากการที่คนทำพิพิธภัณฑ์ได้ร่วมใจ สามัคคีกันทำพิพิธภัณฑ์อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้วิจัยได้นำเสนอถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์ , การตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์, การที่ยังทำพิพิธภัณฑ์อยู่จนถึงปัจจุบัน, สิ่งที่ได้รับจากพิพิธภัณฑ์ “แรงบันดาลใจ” ที่ได้รับจากการทำงานพิพิธภัณฑ์, การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  และ“ความสุข” ของคนทำพิพิธภัณฑ์ ในการมาทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของการสื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์ ที่มีผลต่อคนทำพิพิธภัณฑ์ที่ยังดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน   คำค้น:การสื่อความหมาย  พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุงคนทำพิพิธภัณฑ์   1. บทนำ ในชุมชนท้องถิ่นของประเทศไทยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นถือเป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นมา รากเหง้า และตัวตนทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ทั้งยังช่วยเสริมสร้าง และรักษาความเป็นชุมชนของแต่ละท้องถิ่น โดยมีจุดเริ่มต้นจากผลกระทบของกระแสการพัฒนาโลกาภิวัฒน์ (globalization) ที่ผ่านมา ที่มีแนวคิดในการมุ่งเชื่อมโยง หลอมรวมสังคม ด้วยความหวังในการเชื่อมโลกให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ก็มีผลเสียในทางตรงข้าม ที่ได้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ให้ถูกกลืนหายไป ก่อให้เกิดวิฤตการณ์กลายเป็นสังคม ไม่มีอัตลักษณ์ (Identity) บั่นทอนความเข้มแข็งของชุมชน ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง ความพยายามรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดกระแสการสนับสนุนเรื่องความเป็นชุมชน (localization) ที่ริเริ่มโดยชุมชนเพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น  และมีบทบาทอย่างมากในการพิจารณาเพื่อแสวงหาทางเลือกใหม่ในการพัฒนา ที่ตั้งอยู่บนฐานของการมีส่วนร่วม และการพึ่งพาตนเอง (ธีระภัทรา เอกผาชัยสวัสดิ์, 2554 ) โดยในด้านภาครัฐเอง ก็มีการปฏิรูปกฎหมายที่ยอมรับสิทธิของชุมชน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจึงกลายเป็นองค์กรที่ต้องเกิดขึ้นตามเงื่อนไขและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อช่วยปลุกความพยายามของคนในท้องถิ่น ให้หันมาให้ความสำคัญกับท้องถิ่นของตน หลายท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ต่างพยายามริเริ่มสร้างพิพิธภัณฑ์ของท้องถิ่นของตนเพื่อรักษาตัวตน และความสำนึกร่วมของชุมชนที่อยากเป็นตัวของตัวเองที่มีมากขึ้น จนกลายเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของสังคมไทยที่มีการเพิ่มจำนวนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งที่เกิดจากความต้องการที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรม รักษาตัวตนของชุมชนเอง และเพื่อตอบสนองปัจจัยด้านการท่องเที่ยวที่เริ่มขยายตัว เพื่อแสดงเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากท้องถิ่นทั่วๆ ไป เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งจากการสำรวจในฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พบว่าพิพิธภัณฑ์ที่บริหารจัดการโดยชุมชนมีจำนวน 101 แห่ง (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2563) และสามารถสรุปแยกเป็นปัจจัยการเกิดของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่บริหารจัดการโดยชุมชนได้ 6 ด้าน ดังนี้ “1.การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมบ้านเมือง 2. การเกิดผลกระทบในพื้นที่ของชุมชนหรือท้องถิ่น 3. การค้นพบโบราณวัตถุในพื้นที่ 4. การรำลึกถึงคุณงามความดีของบุคคลสำคัญ 5. ความสนใจในการสร้างความสัมพันธ์ของคนภายในท้องถิ่น 6. การสะสม สิ่งของที่มีคุณค่าในท้องถิ่น”  (Sirivanichkul, Jirawan; Saengratwatchara, Supornchai & Damrongsakul, Weeranan, 2017, p.1648). แต่จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังกลับพบว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจำนวนมากดังกล่าว หลายแห่งกลับทยอยปิดตัวลง หรืออยู่ในสถานะเงียบเหงาไม่สอดคล้องกับแนวคิดที่จะเป็นตัวกระตุ้น สร้างความรักและหวงแหนในท้องถิ่นตน ซึ่งเมื่อสำรวจลึกลงไป จะพบประเด็นปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ ประเด็นที่ 1 ปัญหาการวางแผนระบบการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนั้นขาดการจัดระบบเรื่องคนทำพิพิธภัณฑ์ การไม่มีส่วนร่วมของคนในชุมชนหรือท้องถิ่น, ขาดการวางแผนการจัดระบบการสื่อความหมาย ,การจัดระบบเงินทุนหรืองบประมาณในการทำกิจกรรมต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์, ขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะดูแลเนื้อหาทางด้านวัตถุโบราณที่ขุดค้นพบในพื้นที่,  ขาดความร่วมมือจากเครือข่ายมาช่วยเหลือ สนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การสนับสนุนทางด้านวิชาการ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านโบราณคดี ด้านการออกแบบ) การสนับสนุนด้านงบประมาณจากหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานต่างๆ,  ขาดความต่อเนื่องของการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น,  ขาดการดูแลพิพิธภัณฑ์ ทำให้พิพิธภัณฑ์ปล่อยทิ้งร้าง, การเปิดและปิดของพิพิธภัณฑ์ไม่เป็นเวลา ประเด็นที่ 2 ปัญหาการจัดระบบการสื่อความหมายของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น คือ ความไม่ต่อเนื่องของการทำกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น,  ขาดผู้นำชม หรือผู้ให้ข้อมูล เพื่อสื่อความหมายเรื่องราวในท้องถิ่น,  การลำดับเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น, ขาดเนื้อหา เรื่องราว จึงยากต่อการเข้าใจ และขาดการนำเสนอที่น่าสนใจ (Sirivanichkul, Jirawan; Saengratwatchara, Supornchai & Damrongsakul, Weeranan, 2017, p.1667). จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ผู้วิจัยทำการศึกษาการสื่อความหมายของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีผลต่อคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟู และพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอื่นๆ โดยผู้วิจัยได้ทำการศึกษาผ่านพื้นที่ศึกษา “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี” ที่เป็นตัวแทนของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่พัฒนาและบริหารจัดการโดยชุมชน มีการจัดการที่เป็นระบบ มีกระบวนการมีส่วนร่วม และมีความเข้มแข็งของชุมชน คนทำพิพิธภัณฑ์สามารถจัดการด้วยตนเอง และมีเครือข่ายเข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษากระบวนการการสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยใช้การเก็บข้อมูลการสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ผู้วิจัยได้เลือกผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key informants)  โดยการสัมภาษณ์ผู้นำหลักของคนทำพิพิธภัณฑ์ จำนวน 4 คน และในส่วนการศึกษาผลของการสื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์ที่มีต่อคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ผู้วิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างของคนภายในท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการทำงานพิพิธภัณฑ์ จำนวน 19 คน โดยเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ใช้แบบสัมภาษณ์ โดยการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ (Informal interview ) โดยใช้ควบคู่กับการสังเกต ซึ่งเป็นแบบสัมภาษณ์ชนิดกึ่งมีโครงสร้าง (Semi structural interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่นักวิจัยมีแนวคำถามโดยกำหนดประเด็นที่ศึกษา สร้างขึ้นจากกรอบแนวความคิดในการวิจัย ที่ได้จากแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง   2. กระบวนการการสื่อความหมายคนทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง การสื่อความหมาย (Interpretation) หมายถึง กิจกรรมเพื่อการศึกษา มีเป้าหมายที่จะแสดงให้เห็นถึงความหมาย และความสัมพันธ์ผ่านสื่อกลางไม่ว่าจะเป็นตัววัตถุ บุคคล สภาพแวดล้อม เพื่อการสื่อสารให้ผู้คนเข้าใจ เรียนรู้สิ่งต่างๆ ในสังคม มีเป้าหมายให้เห็นถึงความหมาย และความสัมพันธ์ โดยอาศัยประสบการณ์ตรง และโดยการใช้สื่อกลางที่จะช่วยในการอธิบาย จะสื่อผ่านนิทรรศการ การบอกเล่าจากครูภูมิปัญญา ผู้สูงอายุ คนในชุมชนท้องถิ่น และอื่นๆ โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างคน สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ ภายในท้องถิ่น การสื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง เกิดจากการที่ “คนทำพิพิธภัณฑ์” โดยคนภายในชุมชนมีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์และสื่อความหมายความรู้ในความเป็นท้องถิ่นของตนไปยังกลุ่มคนในชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มคนภายนอกชุมชนท้องถิ่น การสื่อความหมายนั้นให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ โดยมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นจุดมุ่งหมายในการดำเนินงาน การให้ความสำคัญกับพื้นที่การเรียนรู้ทั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนกลาง และแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชนท้องถิ่น  และให้ความสำคัญกับ “ของ” แหล่งข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์นำมาสื่อความหมายและการนำเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 2.1 ด้านการวางแผนงานการสื่อความหมายของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 2.1.1 “คน” คนทำพิพิธภัณฑ์ การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ บริหารจัดการโดยคนในชุมชนท้องถิ่น กรรมสิทธิ์ในพื้นที่ตั้ง และอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง เป็นของชุมชน คนทำพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย 1.กลุ่มแกนนำ หรือ กลุ่มคณะทำงานยุทธศาสตร์ 2.กลุ่มครูภูมิปัญญา 3.กลุ่มอาชีพ 4. กลุ่มเมล็ดข้าวเปลือกไทยเบิ้ง (กลุ่มเด็กและเยาวชน) 2.1.2 วิสัยทัศน์ แผนงานยุทธศาสตร์ และหลักการทำงาน ของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ในการทำเรื่องของวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ คนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานต้องช่วยกันคิด และต้องเข้าใจ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มแกนนำชุมชนท้องถิ่นเพียงกลุ่มเดียว แต่กลุ่มชาวบ้านที่ทำหน้าที่ในส่วนอื่นๆ  นั้นต้องมีความรู้เรื่องนี้ และต้องเข้าใจ เห็นคุณค่าและความสำคัญของกระบวนการ วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์นี้ ว่าถ้าทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น มีความสำคัญอย่างไร มีกระบวนการอย่างไร เป็นต้น และวิสัยทัศน์  แผนงานยุทธศาสตร์ ของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง มีดังนี้ 1) วิสัยทัศน์ “โคกสลุงน่าอยู่ ผู้คนมีสุขภาวะบนรากเหง้าของศิลปวัฒนธรรมไทยเบิ้ง” (จุดหมายปลายทาง คือ ความสุขร่วมกันของคนในชุมชน) 2) ยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ที่ทางกลุ่มของ “คนทำพิพิธภัณฑ์” ใช้เป็นหลักในการทำงาน มีดังนี้ ยุทธศาสตร์ด้านที่ 1 พัฒนาคน/กระบวนการเรียนรู้ โดยการพัฒนาศักยภาพเด็ก เยาวชน แกนนำชุมชน กลุ่ม องค์กร ให้มีความเข้มแข็ง, สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน, สร้างคุณค่า ความภาคภูมิใจให้กับผู้สูงอายุ ให้มีความสุข แข็งแรงทั้งกายและจิตใจ  และประเมิน ติดตาม กระบวนการทำงานของชุมชน ยุทธศาสตร์ด้านที่ 2 อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน พัฒนา ภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณี และพัฒนาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาในชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิต “Living Museum” ยุทธศาสตร์ด้านที่ 3 สร้างสรรค์คุณค่าทางวัฒนธรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดย พัฒนาการดำเนินงานชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง, พัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพ กลุ่มโฮมสเตย์ ให้มีความเข้มแข็ง และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ที่หลากหลาย ยุทธศาสตร์ด้านที่ 4 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดย พัฒนาแหล่งอาหารของชุมชนให้มีความมั่นคงและยั่งยืน, ติดตามความเคลื่อนไหวและร่วมจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดลพบุรีและผังเมืองรวมตำบลโคกสลุงอย่างต่อเนื่อง, เฝ้าระวังการรุกคืบของกลุ่มทุนที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่ตำบลโคกสลุง ยุทธศาสตร์ด้านที่ 5 การจัดการความรู้ชุมชนสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม โดย ตั้งสถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนา ยุทธศาสตร์ด้านที่ 6 การจัดสวัสดิการสู่ชุมชน โดย พัฒนาระบบสวัสดิการชุมชน   2.1.3 ลักษณะทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ลักษณะทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน มีดังนี้ 1) ลักษณะทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์ส่วนกลาง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อจำลองสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของชุมชน เรียกว่า เรือนฝาค้อ และผสมผสานกับการสร้างใหม่เพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำพิพิธภัณฑ์ ลักษณะของชุมชนท้องถิ่น เป็นชุมชนเก่าดั้งเดิมที่มีการขุดค้นพบแหล่งโบราณคดีได้ภายในพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่น ในอาณาบริเวณของพิพิธภัณฑ์ส่วนกลางประกอบด้วย (1) อาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นส่วนของการจัดนิทรรศการ   นิทรรศการชั้นที่ 1 ประกอบด้วย ส่วนจัดแสดงเป็นข้อมูลในลักษณะแผ่นป้ายแสดงในเรื่องของ ไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง ประวัติศาสตร์ตามตำนาน ประวัติศาสตร์ตามหลักฐานและคำบอกเล่า, การแต่งกายของชาวไทยเบิ้ง, อาชีพของชาวไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง, ผักพื้นบ้าน, เครื่องมือดำรงชีพ, “กี่มือ” กี่ทอผ้าโบราณของชาวไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง, อุปกรณ์ทอผ้า, อาหารพื้นบ้าน และยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ ฐานการเรียนรู้ภูมิปัญญาต่างๆ เช่น ฐานการเรียนรู้การทำของเล่นพื้นบ้านจากใบตาล, การตัดพวงมโหตร, การทำพริกกะเกลือ และหมกเห็ด, การทำขนมเบื้อง เป็นต้น และยังเป็นลานเอนกประสงค์สามารถประกอบกิจกรรมอื่นๆ ได้ เช่น สถานที่รับประทานอาหาร  การจัดกิจกรรมการประชุม และอื่นๆ    นิทรรศการชั้นที่ 2 จัดแสดงเพื่อจำลองถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนฝาค้อประกอบด้วย ห้องนอน ห้องเอนกประสงค์ ส่วนทำงาน ครัว ชานบ้าน  (2) ส่วนห้องประชุม เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมต่างๆ  (3) ส่วนลานวัฒนธรรม เป็นเวทีที่จัดกิจกรรมวัฒนธรรมต่างๆ ของคนในชุมชน (4) ร้านขายของที่ระลึก ขายของผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เช่น ย่าม ผ้าพันคอ ผ้าขาวม้า พวงกุญแจที่ทำมาจากผ้าทอของคนในชุมชน เป็นต้น (5) อาคารส่วนแปรรูปผ้าทอ และ ส่วนทำงานของคณะทำงานพิพิธภัณฑ์  ภายในยังประกอบด้วยพื้นที่เตรียมงานของกิจกรรมต่างๆ ส่วนที่พักของผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ส่วนที่พักสำหรับคนที่เข้าพัก เช่น อาจารย์ นักวิจัย หรือ นักศึกษาฝึกงาน เป็นต้น ภายในส่วนนี้ มีห้องน้ำภายในอาคาร (6) ส่วนครัว  (7) ส่วนห้องน้ำด้านนอกอาคาร 2) ลักษณะทางกายภาพของแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชนท้องถิ่น ลักษณะทางกายภาพของแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชนท้องถิ่น แบ่งพื้นที่การเรียนรู้เป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 “บ้านครูภูมิปัญญา” ได้แก่ บ้านลุงเชาว์ สอนการตีเหล็ก ผลิตภัณฑ์ที่คุณลุงเชาว์ทำนั้น ได้แก่ มีดเหน็บ มีดขอ มีดพร้า มีดหวด มีดอีโต้ เสียม ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนในหมู่บ้าน มีดส่วนใหญ่ที่ตีเอาไปใช้ได้อเนกประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นฟันไม้ สับเนื้อ เพื่อทำอาหารในครัวเรือน เป็นต้น, บ้านแม่บำรุง ยายเที่ยว ยายรถ ตาหลิ สอนการทอผ้าพื้นบ้าน (งานทอผ้าชาวบ้านจะทอออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ย่าม ผ้าขาว), บ้านลุงกะ สอนการทำของเล่นพื้นบ้านที่ทำจากใบตาล เช่น การสานปลาตะเพียน, ตั๊กแตน, นก บ้านลุงสุข สอนงานแกะสลักไม้ และแกะสลักกะลาตาเดียว และการสอนทำพวงมะโหตร (พวงมะโหรตจะใช้ประดับตกแต่งในงานบุญ เช่น งานบวช งานแต่ง), บ้านคุณยายเอ้บ สอนการร้องเพลงพื้นบ้าน การรำโทน และการตัดกระดาษ , บ้านลุงยง สอนการจักสาน ได้แก่ กระบุง เป็นภาชนะใส่สิ่งของและพืชพันธุ์ต่างๆ ตะกร้า ชาวบ้านใช้ใส่สิ่งของไปวัดเพื่อทำบุญ หรือใส่สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว กระด้ง ใช้ทำหรับตากสิ่งของ เช่น พริก ถั่วกล้วย สุ่มไก่ ไซ เป็นต้น ตะแกรง, ยายหรึ่ม การบูนตะไกร เป็นพิธีเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ มีตะไกรสื่อในการบูน เหตุที่ต้องมีการบูน อาจเพราะคนในชุมชนอาจเกิดเหตุไม่สบายใจ เช่น การเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัวเป็นแล้วไม่หาย จึงต้องมาหาหมอบูน เพื่อให้บูนดูว่ามีเหตุอันใดและต้องแก้อย่างไรจึงจะดีขึ้น , บ้านตาหมั่น หมอยาพื้นบ้าน รักษากระดูกหัก ข้อซ้น เป็นต้น ส่วนที่ 2 “สถานที่สำคัญที่เป็นแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชน”  ได้แก่ วัดโคกสำราญ, สถานีรถไฟโคกสลุง, พนังกั้นน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์, ศาลพ่อหลวงเพชร เรียนรู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าชุมชน ทั้งความเป็นอดีตและปัจจุบัน, บ้านพักของชาวบ้าน และตลาดในชุมชน เรียนรู้ในเรื่องวิถีชีวิตของคนในชุมชน และในระหว่างทางที่ต้องเดินทางไปยังฐานการเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์ได้กำหนดไว้ ผู้เข้าชมจะได้รับประสบการณ์ภายในแหล่งเรียนรู้ในชุมชนท้องถิ่น 2.2 ด้านการดำเนินเรื่องราวในการสื่อความหมาย (Message) 2.2.1 ระบบการสื่อความหมายของ “คนทำพิพิธภัณฑ์” คนทำพิพิธภัณฑ์ หรือคณะทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง หมายถึงคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์ ในการช่วยคิด วางแผน และทำกิจกรรมกับพิพิธภัณฑ์ “คนทำพิพิธภัณฑ์”มีความใกล้ชิดกับระบบ พิพิธภัณฑ์มากที่สุด (เป็นทั้งผู้ส่ง และผู้รับ รับผลตอบรับจากคนที่เข้ามาชม และรับความรู้) 2.2.2 การจัดการระบบการสื่อความหมาย ระบบการจัดการการสื่อความหมายของพิพิธภัณฑ์ที่ส่งไปยังกลุ่มของคณะทำงานพิพิธภัณฑ์หรือคนภายในชุมชนที่มีกระบวนการมีส่วนร่วมภายในชุมชน นั้น พิพิธภัณฑ์มีระบบการจัดการโดย 1. พิพิธภัณฑ์สามารถวางแผนจัดระบบการสื่อความหมายด้วยพิพิธภัณฑ์เอง 2.พิพิธภัณฑ์มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายภายนอก 3. พิพิธภัณฑ์มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายภายนอกชุมชนท้องถิ่น และเครือข่ายภายในท้องถิ่น 1) ขั้นการเตรียมงาน การให้ความสำคัญกับการเตรียมงาน เพื่อจัดการระบบการสื่อความหมาย โดยพิพิธภัณฑ์จะให้ความสำคัญกับการวางแผนและการประชุมเตรียมงานเพื่อจะจัดใน 1 ครั้ง ซึ่งจะมีการเตรียม และประชุมในหลายครั้งด้วยกัน การประชุมจะให้คณะทำงานพิพิธภัณฑ์ ได้เห็นถึงภาพรวมทั้งหมดของงาน โดยการประชุมและเตรียมงาน คือ เป็น 50% ของงานทั้งหมดที่ทำ โดยคณะทำงานพิพิธภัณฑ์มีแนวคิดว่า “ถ้าเราเตรียมการดี กระบวนการดี ผลมันย่อมดีเสมอ” (ประทีป อ่อนสลุง, 2561) 2) ขั้นการนำเสนอ สำหรับกระบวนการการนำเสนอกิจกรรม เช่น การจัดกิจกรรมให้กับคนที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ และทำกิจกรรมการเรียนรู้กับพิพิธภัณฑ์, งานเทศการประจำปี เป็นต้น คณะทำงานให้คะแนน 30% ของทั้งหมด 3) ขั้นการสรุปงาน การประเมินผล สำหรับ 20% สุดท้าย เป็นการประชุมหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review) ชื่อย่อ AAR  ซึ่งคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก และต้องทำทันทีหลังจากเสร็จจากกิจกรรมต่างๆ ที่นำเสนอแล้วทุกครั้ง และไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง หลังเสร็จงานจากกิจกรรมหนึ่งๆ ที่พิพิธภัณฑ์จัด  และวิธีการคุย จะใช้วิธีการกระบวนการสุนทรียสนทนา (Dialogue) มาผสมผสานวิธีการในการพูดคุยด้วย คือการฟังอย่างมีสิติ และให้พูดทีละคนภายในกลุ่ม 4) กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มคณะทำงานการขับเคลื่อนพิพิธภัณฑ์ “คนทำพิพิธภัณฑ์” ซึ่งเป็นคนภายในชุมชนท้องถิ่น คน 3 วัย ได้แก่ 1.วัยเด็กและเยาวชน  2.วัยผู้ใหญ่ (คนทำงาน) 3.ผู้สูงอายุ 5) ระยะเวลา การเรียนรู้ตลอดชีวิต   2.2.3 กระบวนการทำงานพิพิธภัณฑ์และชุมชน 1) การทำกระบวนการสุนทรียสนทนา (Dialogue)  “ในปัจจุบันความวุ่นวายของสังคมทุกวันนี้คนส่วนใหญ่พูดแต่ไม่ฟังกัน พอไม่ฟังเราก็จะไม่รู้ว่าคนที่เรากำลังสนทนาด้วยหรือคุยด้วย เขาต้องการสื่อสารอะไรให้กับเรา แต่ถ้าเรามีโอกาสได้ตั้งใจฟัง ทีนี้เราก็จะรู้ว่าเขากำลังจะสื่อสารอะไรให้กับเรา” (ประทีป อ่อนสลุง, 2561) จากสาเหตุข้างต้นนี้ คนทำพิพิธภัณฑ์จึงนำกระบวนการสุนทรียสนทนามาใช้เป็นเครื่องมือในการพูดคุยกันไม่ว่าจะเป็นการประชุมวางแผน การประชุมสรุปงานที่ทำ โดยประทีป อ่อนสลุง กล่าวว่า กระบวนการสุนทรียสนทนา (Dialogue)คือการฟังอย่างมีสติ เป็นการตั้งใจฟังที่อีกฝ่ายพูดออกมา เพื่อรับฟังวิธีคิด และความหมายของคนอื่นต่อสิ่งที่พูด เพื่อการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และ เป็นกระบวนการสนทนาอย่างมีสติ  ก่อนที่จะพูดอะไรออกมาก็ใคร่ครวญ ครุ่นคิดให้ดีก่อน “ถ้าเราตั้งใจฟังในสิ่งที่เพื่อนกำลังสื่อสารกับเรา เราก็จะได้ยินในสิ่งที่เขาไม่ได้พูดเพราะบางอย่างนี่เขาไม่ได้พูดออกมาโดยตรง แต่เรารู้เลยว่าสิ่งที่เขาบอกทั้งหมดเนี่ยเขาต้องการอะไร จริงๆ บางทีอาจจะเป็นแค่ประโยคเดียวสั้นๆ   แต่มันคือสิ่งที่มันบอกเราจริงๆ  แต่มันไม่ได้ออกมาเป็นคำพูดแบบที่เราพูดหรอก” (ประทีป อ่อนสลุง, 2561 )                     2) วิธีคิดกระบวนระบบ (System Thinking) มุ่งเน้นในการมองภาพรวมมองให้เห็นความสัมพันธ์ และความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ แทนที่จะมองแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งมองให้เห็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงแทนที่จะมองเฉพาะจุด เช่น ในการทำงานที่พิพิธภัณฑ์ไทยเบิ้งโคกสลุง  ในการทำงานจะต้องไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานไหน มีใครเข้ามาเกี่ยวข้อง และจะต้องไปทำงานกับใคร เป็นต้น หรือ เรื่องการทอผ้า ให้ดูว่ากลุ่มชาวบ้านมีใครทำบ้าง และมีหน่วยงานไหนมาสนับสนุนทั้งภายในชุมชน และภายนอกชุมชน เป็นการสอนให้มอบให้เป็นระบบ ความเชื่อมโยง และความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆ                     3) การประชุมหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review) กระบวนการของมันจริงๆ ก็คือการมองตัวเอง ผ่านงานที่คณะทำงานช่วยกันทำพิพิธภัณฑ์ทำ ดังที่ ประทีป อ่อนสลุง กล่าวว่า “วิธีการประชุมกลุ่มหลังจากปฏิบัติการ (After Action Review)  กติกาในการพูดคุยจะต้องไม่พาดพิงใคร ไม่ไปมองคนอื่น ให้มองตัวเองผ่านงานที่เราทำ คือถ้างานสำเร็จก็จะมานั่งร่วมภาคภูมิใจด้วยกัน แล้วก็ให้กำลังใจกัน ถ้ามันล้มเหลวก็ดูว่าส่วนไหนที่มันล้มเหลว และก็คิดแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อถูกนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป” ประทีป อ่อนสลุง (สัมภาษณ์, 18 พฤษภาคม 2561) หมายเหตุ ในการพูดคุยหรือสอนกระบวนการทำงานให้กับชาวบ้าน ต้องใช้ภาษาที่ง่าย และทำให้เรื่องราวที่เป็นวิชาการที่ฟังยาก ทำให้เข้าใจง่ายขึ้น                     4) การเรียนรู้งานในหน้าที่อื่นๆ นอกเหนืองานที่ทำของตนเอง เช่น การฝึกเป็นผู้นำชมหรือนักสื่อความหมาย คณะทำงานจะฝึกการเรียนรู้ในเรื่อง วิธีการเล่าเรื่องเพื่อสื่อความหมายสื่อเรื่องราวของบ้านตัวเองให้กับคนอื่นได้เห็นในมุมสำคัญ การเรียนรู้ลักษณะท่าทางของผู้เล่าเรื่อง ข้อมูลหรือเนื้อหา  การลำดับเรื่องราวของเรื่องที่จะเล่า  การตั้งคำถาม การตอบคำถามกับผู้เข้าชม และความสำคัญ เป็นต้น และจากนั้นผู้ที่เรียนรู้จะนำไปประยุกต์ใช้กับตนเอง เป็นผู้นำชมหรือนักสื่อความหมายที่มีความเฉพาะตัวของเขาเอง หรือ การฝึกเป็นครูภูมิปัญญาในด้านอื่นๆ นอกจากภูมิปัญญาที่ตนเองถนัด เช่น การฝึกที่จะเรียนรู้ในด้านการทำของเล่นจากใบตาล ก็ต้องไปฝึกทำฝึกปฏิบัติเพื่อจะเรียนรู้กับครูภูมิปัญญาท่านอื่นๆ ดูทั้ง ลักษณะวิธีการสอนของครู ดูวิธีการทำ ชื่อเรียกของเล่นในแบบต่างๆ ความเป็นมาของการทำของเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น                     5) ผังมโนภาพ (mind map) เป็นเครื่องมือในการช่วยบันทึกความคิดที่ถ่ายทอดในหลากหลายมุมมองของคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ลงในกระดาษ พิพิธภัณฑ์ใช้เครื่องมือ ผังมโนภาพ (mind map) ในการวางแผนงาน และการสรุปงาน การทำผังมโนภาพ (mind map) จะทำให้คณะทำงานเข้าใจ และเห็นภาพตรงกันในแผนงานที่วางแผนไว้                    6) การเรียนรู้ในการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การช่วยเหลือกัน ร่วมแรงร่วมใจทำให้งานนั้นสำเร็จลุล่วง คณะทำงานพิพิธภัณฑ์จะเรียนรู้ในกระบวนการมีส่วนร่วม และประโยชน์ของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน 2.3 ด้านเทคนิคและวิธีการในการสื่อความหมายไปยังกลุ่มเป้าหมายกลุ่มคนภายในท้องถิ่น (CHANNEL) การสื่อความหมายผ่านช่องทาง 1.กระบวนการทำกิจกรรม และการทำงานจริง (การปฏิบัติจริง)  2.การอบรม การศึกษาดูงานจากภายนอก  3.การเรียนรู้จากการดูจากผู้รู้  4.การเรียนรู้จากการสังเกตด้วยตนเอง   5.การฝึกฝนตนเอง เช่น ฝึกพูดในที่ประชุม ฝึกการแลกเปลี่ยนความคิด เป็นต้น 2.4 การตอบกลับของผู้รับ (RECEIVER RESPONCE ) โดยวิธีการประเมินดังนี้ 1) การพูดคุยกันแบบการสนทนากลุ่ม (focus group) 2) กระบวนการสุนทรียสนทนา (Dialogue) 3) การคิดเชิงระบบ (system thinking ) 4) วิธีการสังเกต 5) การทบทวนหลังทำงาน หรือหลังปฏิบัติ หรือหลังกิจกรรม (After Action Review) ชื่อย่อ AAR 6) การเขียนผังมโนภาพ Mind map เพื่อความเข้าใจร่วมกัน ส่วนนี้เป็นการประเมินในทุกๆ กิจกรรม การพัฒนาปรับปรุงตาม สิ่งที่ตอบกลับมาจากผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ การพัฒนาตนเองและและกระบวนการทำงานที่ทำ   3. การสะท้อนย้อนคิดของคนทำพิพิธภัณฑ์ 3.1 จุดเริ่มต้นของการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์           การที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง  มีที่มาของความเข้มแข็งอันเกิดจากความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันของกลุ่มแกนนำ และชาวชุมชน ซึ่งต่างมีจุดเริ่มต้นของการเข้ามาร่วมทำงานที่มีเหตุผลที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ดังรายละเอียดต่อไปนี้ ประเด็นที่ 1 เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ทำงานวิจัยชุมชนและหน่วยงานราชการ (ผู้ที่มีจิตสาธารณะ) ที่เห็นปัญหาและคุณค่าของท้องถิ่น เกิดจากพื้นฐานความร่วมมือในการทํางาน “เดิม” ที่มีอยู่ ทั้งของกลุ่มคนที่เคยทำการศึกษา ทำงานวิจัย หรือกลุ่มคนทำงานภาคราชการ-ท้องถิ่นในพื้นที่ ที่เคยมีบทบาท มีหน้าที่มีความรับผิดชอบหรือมีประสบการณ์ในงานด้านวัฒนธรรม หรือมีประสบการณ์เห็นความทุกข์ร้อนความจำเป็นของงานอนุรักษ์ในท้องถิ่น ประเด็นที่ 2 การชักชวนคนในครอบครัว และคนสนิท ถือเป็นการเริ่มต้นจากภายในจริงๆ ก่อนขยายสู่ภายนอก ด้วยเหตุผลที่ตอนริเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ฯนั้นยังเป็นไปด้วยการขาดความพร้อม ทั้งของกำลังคนทำงาน และงานเฉพาะด้านที่ต้องทำ การหาคนทำงานเพื่อมาช่วยจึงเป็นการเริ่มต้นเฟ้นหาจากประสบการณ์ของคนใกล้ชิด ญาติพี่น้อง ที่เคยเห็นว่าทำงานนี้ได้ รับผิดชอบได้และไว้ใจได้ และคนกลุ่มนี้ จะมีความเป็นกันเองเข้าใจสถานการณ์ความเป็นไป ว่างานอาจจะมีไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นทางการ ยังไม่มีระบบที่แน่นอน ประเด็นที่ 3 การที่คนทำพิพิธภัณฑ์ค้นหาคนที่มีความสามารถเฉพาะด้าน ทางด้านภูมิปัญญา ภายในชุมชน เป็นไปเพื่อการช่วยพัฒนาเนื้อหาการนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อสร้างความน่าสนใจ และช่วยสื่อความหมายความเป็นไทยเบิ้งโคกสลุง ผ่านคนที่มีความสามารถเฉพาะด้าน ทางด้านภูมิปัญญา ภายในชุมชน โดยริเริ่มจากประสบการณ์ความสนิทสนมเดิม ที่เคยเห็นว่าทำได้ หรือมีความชำนาญในเรื่องนี้เช่นที่ “ลุงกะ”ครูภูมิปัญญาด้านของเล่นพื้นบ้าน กล่าวถึงตอนที่เริ่มเข้ามาสอนทำของเล่นพื้นบ้าน และนอกจากการสืบหาจากความสัมพันธ์เดิมแล้ว ยังมีการค้นหาต่อแบบขยายผลเพื่อเฟ้นหาผู้รู้ผู้ชำนาญ ประเด็นที่ 4 เกิดจากการตามคนในครอบครัว หรือคนรู้จักมาพิพิธภัณฑ์ เป็นไปในลักษณะเกิดจากการติดตามคนในครอบครัว หรือคนรู้จักมาพิพิธภัณฑ์ แต่ต่อมาเมื่อได้รู้ ได้เห็น ได้ทำกิจกรรมกับทางพิพิธภัณฑ์ฯ จึงเกิดความสนใจ ความผูกพัน และความชอบ จึงติดตามเข้ามาจนกลายเป็นคนทำงานของพิพิธภัณฑ์ฯ ประเด็นที่ 5 เกิดจากการเข้าค่ายที่จัดร่วมกันระหว่างพิพิธภัณฑ์ และหน่วยงานภายในชุมชน  เป็นไปในลักษณะที่เกิดจากการได้มาร่วมกิจกรรมเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์ โดยทางโรงเรียนพามาจัดทำค่ายร่วมกันกับพิพิธภัณฑ์ จากนั้นคนกลุ่มนี้จึงเกิดความสนใจ และต่อมาจึงได้มาร่วมทำกิจกรรมด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ประเด็นที่ 6 เกิดจากการเข้ามาร่วมกิจกรรมกับพิพิธภัณฑ์ด้วยตนเอง เกิดจากความสนใจของผู้เข้าร่วมเองที่อยากเข้ามารู้ อยากเข้ามาดู และเมื่อได้เข้ามาก็เกิดความสนใจเข้ามาร่วมกิจกรรม และต่อมาก็พัฒนารวมเป็นคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ฯ 3.2 การตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์ จากจุดเริ่มต้น ของการตัดสินใจเข้ามาพิพิธภัณฑ์ไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง จนพัฒนาและตัดสินใจเปลี่ยนสถานะจากผู้เข้ามา กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์ กลายเป็นกำลังหลักคนทำงานที่เป็นส่วนสำคัญของความเข้มแข็งของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งบ้านโคกสลุงแห่งนี้ โดยสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้ ประเด็นที่ 1 อุดมการณ์มีจิตสาธารณะที่อยากช่วยส่วนรวม เกิดจากการมีอุดมการณ์ และจิตสำนึกของผู้เข้าร่วม เมื่อมามีโอกาสทำงาน มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือได้ทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่แล้วเห็นประเด็นสำคัญเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์ ที่ควรรักษาไว้ เมื่อเห็นดังนั้นก็ใส่ใจ นำมาเป็นประเด็นสำคัญและพัฒนาเป็นแนวทางการอนุรักษ์ จนเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุงในปัจจุบัน  คณะทำงานบางคน ก็เริ่มจากความคิดว่าเป็นความรับผิดชอบ ต่อส่วนรวม หรือต่อครอบครัวบุตรหลาน ที่ต้องดูแลรักษาท้องถิ่นบ้านเกิด รักษาวัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาความรู้ของบรรพบุรุษไว้ เพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไปดังเช่นที่ กลุ่มคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ได้เล่าถึงความตั้งใจในการเข้ามาทำงานพิพิธภัณฑ์ว่ามาจากอุดมการณ์ และจิตสาธารณะที่อยากช่วยส่วนรวม รวมถึงความห่วงใยในอนาคตของลูกหลาน  และความรับผิดชอบต่องานที่ได้ริเริ่มทำไว้ ประเด็นที่ 2 ความรู้สึกชอบ ผูกพัน แล้วก็ทำแล้วมันมีความสุข เริ่มจากความรู้สึกส่วนตัว จากการที่เข้ามาร่วมทำงานพิพิธภัณฑ์ฯ กับเพื่อนฝูงลูกหลาน ผู้คนที่หลากหลายแล้วมีความสุข ได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นมีกิจกรรม ที่แปลกใหม่ ครึกครื้นสนุก ไม่เหงา ต่อมาเมื่อทำไปสักพักก็เกิดกลายเป็นความผูกพัน อยากมาหาอยากมาพบ อยากมาร่วมกิจกรรมที่พิพิธภัณฑ์ ประเด็นที่ 3 ความรู้ เกิดจากประเด็นด้านความรู้ ทั้งความหวงแหน และอยากถ่ายทอดความรู้ในวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะสูญหายไป และความสนใจ ที่เมื่อได้มาร่วมกิจกรรมในพิพิธภัณฑ์ฯ แล้วพบว่ามีความรู้ในวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ตนไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น ก็เกิดความสนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติม ต่อมาก็กลายเป็นความผูกพัน และอยากมาร่วมกิจกรรมต่อไปเรื่อยๆ ประเด็นที่ 4 สร้างรายได้เสริม เป็นเรื่องของโอกาสในชีวิตที่มีเพิ่มมากขึ้น ในการสร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ที่ไม่ได้รบกวนภาระงานประจำที่ต้องทำอยู่ กลุ่มนี้เมื่อภายหลังได้มาร่วมงานนานวันเข้า ก็เกิดกลายเป็นความผูกพันเพิ่มเติมเข้าไป ดังเช่น ที่คณะทำงานพิพิธภัณฑ์ได้กล่าวถึง การมาร่วมงานกิจกรรมพิพิธภัณฑ์ฯ ที่ได้ทั้งความรู้ และเกิดกลายเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว 3.3 ณ ปัจจุบัน คนทำพิพิธภัณฑ์ยังดำเนินการอยู่ จากการเข้ามา และการคงอยู่ในการทำงานที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งบ้านโคกสลุงนั้น เหตุผลของความยั่งยืนของการทำงานที่นี่ย่อมขึ้นกับความคาดหวังในใจของคณะทำงานที่มีอยู่ ที่ส่งผลทำให้สามารถทำงานร่วมกัน มาได้ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ร่วมฝ่าฟันทั้งปัญหา และอุปสรรค ร่วมสุข ร่วมทุกข์ ไปด้วยกัน ทำงานร่วมกัน ซึ่งส่วนสำคัญของเหตุผลการที่คนทำพิพิธภัณฑ์ยังทำพิพิธภัณฑ์อยู่จนถึงปัจจุบัน สามารถจำแนกเหตุผลออกเป็นกลุ่มประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้ ประเด็นที่ 1 ความรัก  ความเข้าใจ ความสุขความผูกพัน ของการทำงานเป็นทีม ของกลุ่มคนทำพิพิธภัณฑ์ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกัน จากการร่วมทุกข์ ร่วมสุข ฟันฝ่าอุปสรรคมาด้วยกัน เป็นความรัก ที่เหมือนญาติสนิท เหมือนเพื่อนสนิท สร้างความรู้สึกอบอุ่นทุกครั้งเมื่อได้เจอ ดังเช่นที่คณะทำงานพิพิธภัณฑ์เล่าไว้ ถึงความรู้สึกผูกพัน ความรัก และห่วงใยซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการทำงานทำงานร่วมกัน และส่งผลต่อความยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์ ประเด็นที่ 2 การได้เรียนรู้ และเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และมีความหวัง ที่เมื่อได้เข้ามาร่วมกิจกรรมในขณะทำงานแล้ว ได้รับรู้ ได้เข้าใจ ได้เห็นความคิดแปลกใหม่ ก็เกิดความสนใจอยากเรียนอยากรู้เพิ่ม อยากถ่ายทอด แลกเปลี่ยนสิ่งที่รู้สิ่งที่คิดได้ และเมื่อเห็นผลของงานที่ทำ ว่าผลนั้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ก็มีความหวังมีเป้าหมายต่อ มีความสุขที่ได้เห็นสิ่งที่ตัวเองทำ จึงอยากทำงานพิพิธภัณฑ์ต่อไปเรื่อยๆ ประเด็นที่ 3 ความต้องการให้มีคนสืบทอดต่อ อยากรักษา ความรู้ภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ เกิดจากเหตุผล จากการเห็นคุณค่าในวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เคยมีอยู่ ไม่อยากให้สูญหายไป จึงออกมาร่วมทำงานด้วยความหวังที่จะเก็บรักษาความรู้ภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ เพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นหลัง และ เมื่อได้ร่วมทำงานด้วย กับคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ ก็เห็นความตั้งใจในการทำงาน จึงเกิดความเชื่อมั่นมั่นใจว่า จะสามารถรักษาความรู้ภูมิปัญญาเหล่านี้สืบต่อไปได้ ประเด็นที่ 4 ต้องการพัฒนาบ้านเกิดของตน เป็นหน้าที่ของคนในชุมชน และหน้าที่ของความเป็นคนไทย เกิดจากเหตุผล ในความรัก และห่วงแหนในวัฒนธรรม คุณค่าของชุมชนท้องถิ่น อยากเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ไม่สูญหายไป และคิดว่าเป็นหน้าที่ ของคน ไทย ที่จะรักษา คุณค่าเหล่านี้ไว้ ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักได้ชื่นชมกับสิ่งเหล่านี้ที่ยังรักษาไว้ได้ ดังเช่นที่ แกนนำคณะทำงาน เล่าไว้ว่า ที่มาทำงานพิพิธภัณฑ์ฯ อยู่ก็เพราะความรัก ความชอบเห็นในคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ รวมถึงคิดว่าเป็นหน้าที่ ที่คนรุ่นนี้ต้องทำเพื่อรักษา คุณค่าทั้งหลาย ให้คนรุ่นต่อไป ถือเป็นหน้าที่ของคนไทย ทุกคนที่ต้องทำ 3.4 ผลลัพธ์การเข้าร่วมทำพิพิธภัณฑ์ การทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุงร่วมกันนั้น ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คณะทำงานอยู่ร่วมทำงานกันมาได้ต่อเนื่องยาวนานนั้นคือสิ่งที่ คณะทำงานได้รับจากการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาตนเอง ครอบครัวและสังคมโดยรอบ เป็นผลที่มีต่อทั้งความรู้ ความคิด ได้มีประสบการณ์ ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง สร้างรายได้เสริม และทำให้ได้รับโอกาสใหม่ๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้นั้นจึงช่วยดึงดูด ให้คณะทำงานพิพิธภัณฑ์ฯร่วมทำงานต่อเนื่องกันมาได้ยาวนาน โดยได้ระบุแยกไว้เป็นประเด็นๆดังนี้ ประเด็นที่ 1 การได้รับความรู้ และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ จนก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม ซึ่งผลที่ได้รับจากการทำงานพิพิธภัณฑ์ ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆได้รับความคิดใหม่ๆ ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และได้มีการฝึกฝนทำงานร่วมกัน มีประสบการณ์จากงานจริง ซึ่งสามารถ นำกลับไปพัฒนาตนเองต่อไปได้ “มันมากมาย มันทั้งความรู้ ประสบการณ์ในชีวิต ความสุข มันอธิบายมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะมันได้แทบทุกอย่าง ทุกๆ ครั้ง บางทีที่มันเป็นปัญหามันก็จะได้รับเหมือนกันนะ รับว่าเราควรแก้ปัญหาอย่างไร ถ้ามันแก้แบบนี้ไม่ได้จะทำอย่างไร ถ้ามันหนักกว่านี้ล่ะ มันจะมีสิ่งให้เราคิดตลอดเวลา พยายามแก้ปัญหาตลอดเวลา ชีวิตมันเปลี่ยนผันได้ตลอดเวลา ความคิด อะไรแบบบางทีเหตุเกิดไม่คาดฝัน มันมีเรื่องให้คิดตลอดเวลาค่ะ” กนกวรรณ ยาบ้านแป้ง  (สัมภาษณ์, 8 พฤษภาคม 2561)    ประเด็นที่ 2 การได้เรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกัน และความเข้าใจซึ่งกันและกัน คือเหตุผลทางจิตใจ จากความสุขที่ได้รับจากการทำงาน ร่วมกัน เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ที่ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรค และเมื่อประสบความสำเร็จก็มีความสุขร่วมกัน มีความเข้าใจซึ่งกัน และกันเมื่อใครประสบความทุกข์หรืออุปสรรคก็ร่วมช่วยเหลือแบ่งเบา ประเด็นที่ 3 การได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง การเห็นคุณค่าในตัวเอง ความภูมิใจในความเป็นคนบ้านโคกสลุง  ที่คนทำพิพิธภัณฑ์ทำแล้วได้เห็นคุณค่าของตนเองและสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง เพราะตัวเองกำลังทำเรื่องที่ดีและทำเพื่อชุมชน เขาเลยมีความมั่นใจที่จะบอกกับคนอื่นๆ ได้ เกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำที่จะบอกเล่าเรื่องราวให้ลูกหลานได้ร่วมภาคภูมิใจ ประเด็นที่ 4 การสร้างอาชีพเสริม ที่ก่อเกิดรายได้ คือการสร้างประสบการณ์การทำงาน เป็นอาชีพเสริม ที่ช่วยสร้างรายได้ในการดูแลตนเองและครอบครัว ซึ่งจะช่วยหล่อเลี้ยงคนทำงาน ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ประเด็นที่ 5 การได้รับโอกาส และการส่งต่อ โอกาสที่ได้รับ จากสังคมภายนอก จากสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และจากบุคคลผู้มีเกียรติอื่นๆ การทำงานพิพิธภัณฑ์นั้นทำให้ได้รับการยอมรับ และได้รับโอกาสที่ดีต่างๆ ให้กับคนทำงานที่นี่ไม่ว่าจะเป็นการได้รับการอบรมการถ่ายทอดความรู้ หรือการสนับสนุนด้านอื่นๆ ซึ่งถือเป็นสิทธิพิเศษที่ได้รับ ซึ่งถ้าหากไม่ได้ทำงานที่นี่นั้นก็คงไม่ได้ และการทำให้มีโอกาสที่สามารถส่งต่อความรู้ ความคิดและอุดมการณ์ ให้กับคนรุ่นต่อไป ให้กับเยาวชน เป็นเหมือนวงจรการได้รับ และส่งต่อเพื่อสร้างความยั่งยืนในการทำพิพิธภัณฑ์ 3.5 “แรงบันดาลใจ” ที่ได้รับจากการทำงานพิพิธภัณฑ์ ในการทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง นั้น จากการทำงานร่วมกันมายาวนานผ่านทั้งความทุกข์ความสุข โอกาสและอุปสรรคมากมาย กลุ่มคณะทำงาน ต่างก็ได้ประสบการณ์เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น และเกิดเป็นแรงบันดาลใจ ที่มีผลต่อการดำรงชีวิต และอนาคตของตนเอง ครอบครัว และส่วนรวม ทั้งจากการเรียนรู้ และการต่อยอดสิ่งที่ได้ทำ ความยึดมั่นในอุดมการณ์จากประสบการณ์จากงานที่ทำมา การเป็นต้นแบบให้กับผู้อื่น แนวความคิดการทำวันนี้ให้ดีที่สุด หรือการยึดมั่นผู้นำที่เป็นแบบอย่างที่จะเจริญรอยตาม รวมถึงความคิดใหม่ๆในการสร้างเสริมอาชีพของตนเองพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นสิ่งเหล่านี้นั้น คือแรงบันดาลใจ ที่เกิดขึ้นหลังจากร่วมทำงานพิพิธภัณฑ์ฯโดยสามารถแยกออกเป็นประเด็นต่างๆได้ดังนี้ ประเด็นที่ 1 การเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ และการนำความรู้ที่เรียนมา มาต่อยอด จากประสบการณ์การทำงานพิพิธภัณฑ์ร่วมกัน ทำให้เกิดโอกาสต่างๆ ที่ทำให้คณะทำงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้พบได้เจอกับผู้มีประสบการณ์ความรู้ ได้รู้สิ่งที่ตนเองไม่เคยรู้ สิ่งเหล่านี้นั้น ได้ทำเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวของคณะทำงานให้กลายเป็นผู้สนใจในการเรียนรู้ อยากเรียนอยากรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ และยังสามารถปรับเอาความรู้ที่ได้นั้นมาต่อยอดเกิดเป็นประโยชน์ขึ้น ประเด็นที่ 2 สิ่งที่ทำต่อได้ การยึดมั่นในอุดมการณ์ เกิดจากประสบการณ์การทำงานพิพิธภัณฑ์ร่วมกัน เกิดการตกลงพูดคุยกันในกลุ่ม ถึงความร่วมมือในการทำงาน การต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว บุตรหลานและสังคมสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนพันธสัญญา ซึ่งสร้างอุดมการณ์ให้ให้คณะทำงานยึดถือเป็นแรงบันดาลใจในการดำรงชีวิตและการทำงานต่อไป ประเด็นที่ 3 การเป็นต้นแบบ และการทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง เกิดจากเป็นต้นแบบการเปลี่ยนแปลง ที่สร้างแรงบันดาลใจ และความท้าทายในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ด้วยแรงบันดาลใจที่ “เราอยากจะหาเส้นทางให้คนรุ่นใหม่กลับบ้าน” สร้างการยอมรับจากสังคม ดังเช่นที่แกนนำชุมชนกล่าวไว้ถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจากการทำงานที่เกิดกับตนเองไว้ว่า “สิ่งที่ท้าทายที่สุดก็คือ คนธรรมดา แต่เราทำให้มันเห็นการเปลี่ยนแปลง แล้วก็เราสามารถที่จะเป็นต้นแบบของอีกหนึ่งต้นแบบ ที่จะเป็นทางเลือกในการทำงานพัฒนา ผมว่านี่ มันเป็นแรงบันดาลใจ และความท้าทายที่มันทำให้เราเดินเข้ามาในจุดนี้ ถึงตอนนี้ จุดนี้ แล้วก็ที่จะเดินต่อ เพราะว่าตรงนี้เราไม่ได้ต้องการแค่เรื่องของการยอมรับ แต่ว่านี่มันหมายถึงโอกาสของชุมชนเราที่มันจะได้รับ อย่างเช่น หลายเรื่องที่เรากำลังบอกอยู่ว่าเราอยากจะหาเส้นทางให้คนรุ่นใหม่กลับบ้าน อย่างถ้าเขากลับบ้าน ถ้าเขามาอยู่บ้าน งานที่เขาทำมันจะต้องมีศักดิ์ศรี มีคุณค่า มีมูลค่าที่จะหล่อเลี้ยงเขาได้ แต่ทั้งหมดนี้เราไม่ได้พูดว่าเราต้องร่ำรวย จะต้องเป็นอะไร แต่ว่าถ้ามาอยู่ตรงนี้ เราไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง แต่เราจะร่ำรวยเพื่อน ร่ำรวยเครือข่าย เราจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อยู่ในคนดีๆ ทั้งนั้นเลย คนไม่ดีก็อาจจะมีมาประปราย แต่พวกนี้อยู่ไม่นานเดี๋ยวก็ไป แต่รังสีของคนดีที่เรามีโอกาสได้พบปะ เจอทุกระดับไม่เคยมีใครเป็นคนรังเกียจเราเลย เราเป็นชาวบ้าน ตั้งแต่ระดับ อธิการบดี ระดับคณบดี อาจารย์นักวิชาการ ที่เทียบเท่ากับปลัด ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง เขาก็ไม่เคยรังเกียจเรา  เพราะว่านี่มันคือสิ่งที่หล่อหลอมความเป็นตัวเรากับประสบการณ์ที่เราได้ทำ อันนี้ผมว่ามันมากกว่าอุดมการณ์ด้วยซ้ำไป ก็คือ มันเป็นคุณค่า ที่มันอยู่ในตัวเรา แล้วเราก็อยากจะแบ่งปันให้กับลูกหลาน ให้กับเพื่อน ให้กับคนที่เรารักนะ เรื่องพวกนี้ คือว่าถ้าเราเชื่อในเรื่องของการให้ เราจะได้ไม่รู้จบ เรื่องพวกนี้มันสอนเราอยู่ตลอดนะว่า ว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกมากมาย มันไม่ใช่แค่อุดมการณ์ แต่มันคือ คุณค่า แต่ทั้งหมดนี่ มันคือ เรื่องเดียวกันนะ”  ประทีป อ่อนสลุง (สัมภาษณ์, 18 พฤษภาคม 2561)            ประเด็นที่ 4 การทำวันนี้ให้ดีที่สุด คือผลจากประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานพิพิธภัณฑ์ฯ ในการที่ต้องใส่ใจ และตั้งใจ กับการทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ให้ได้ผลที่มีคุณประโยชน์สูงสุด แก่ตนเองและส่วนรวม ในทุกครั้งที่ทำ ประเด็นที่ 5 การได้รับแรงบันดาลใจ ที่เห็นผู้นำชุมชนเป็นแบบอย่าง และอยากเจริญรอยตาม  จากการเห็น ผู้นำ ในการทำงาน ที่มีการพัฒนาตนเอง มีความตั้งใจ ความเชี่ยวชาญ เป็นผู้นำที่เข้าใจพูดตามทั้งผู้ใหญ่ และเยาวชน ให้คำปรึกษาได้ในทุกเรื่อง เห็น ทุกคนเป็นพี่น้องเป็นลูกหลานมากกว่าคนทำงาน สอนและถ่ายทอดกระบวนการ รวมถึงให้การดูแลทางจิตใจ สิ่งเหล่านี้นั้นเป็นสิ่งที่ สร้างเสริมแรงบันดาลใจให้กับผู้ตามซึ่งเป็นคณะทำงาน ในการที่ทำงานอนุรักษ์พิพิธภัณฑ์ฯ ต่อไปดังเช่นที่คณะทำงานพิพิธภัณฑ์ ได้กล่าวถึงบุคคลตัวอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานไว้ดังนี้ “แรงบันดาลใจหลักๆ ป้ามุ่ย ป้ามุ่ยเป็นแรงบันดาลใจ เขาต้องทำงานมาหนักแค่ไหน ถึงจะต้องมาอยู่ ณ จุดๆนี้ได้ เขาต้องพัฒนาตัวเองหนักแค่ไหนถึงจะมาพัฒนาพวกหนูได้ หนูก็คิดเหมือนกันว่า การที่เขาพัฒนาพวกหนู เขาพัฒนาพวกหนูไปในทางที่ดีขึ้น เพราะอย่างนั้นเขาก็ต้องมีความภูมิใจกับเด็กที่เขาพัฒนามาจุดๆนี้ได้ ฉะนั้น หนูเลยคิดว่า แล้วเราล่ะ ต้องทำ ต้องเป็นอย่างเขาให้ได้ โดยที่ว่าเราจะใช้วิธีการไหนไปถึงที่นั้นแบบเขาบ้าง ก็ชอบ ชอบป้ามุ่ยตรงที่เขาเอาใจใส่พวกหนูมาก มีปัญหาอะไร ปรึกษาได้ทุกเรื่อง” วรรณิศา สำราญสลุง (สัมภาษณ์, 13 พฤษภาคม 2561)    ประเด็นที่ 6 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง และการต่อยอดด้วยการขายสินค้า เกิดจากประสบการณ์การทำงาน การศึกษาดูงาน และการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญต่างๆที่ได้เข้ามาในชุมชน ทำให้ได้เกิดการพัฒนา เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆสร้างมุมมองแนวคิดในการพัฒนาชีวิต และอาชีพของตนเอง ในวิถีทางใหม่ๆ ก่อให้เกิดรายได้เสริมให้กับตนเองรวมถึงเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น 3.6 การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จากการที่ คณะทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ได้ร่วมกันทำงานยาวนานตั้งแต่การเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกัน ทั้งกับภายในคณะทำงาน และภายนอก ได้พบผู้มีประสบการณ์ความรู้ ได้อบรมในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงสิ่งเหล่านี้นั้นได้เพิ่มพูน ทั้งความรู้ ความคิด และความเข้าใจในการดำรงชีวิต ให้เปลี่ยนแปลงไป เกิดการพัฒนาที่เริ่มต้นจากตนเอง ให้นำเอาทั้งความรู้ และความคิดเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งกับครอบครัว กับการทำงานในอาชีพที่ตนทำประจำ และสำหรับเด็กเยาวชนก็นำมาใช้กับการเรียน ส่งผลให้ทั้งการดำรงชีวิตของตนเองการอยู่ร่วมกับครอบครัวและการเรียน ยกระดับขึ้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มีความกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก มีทัศนคติมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ดังเช่นที่คณะทำงานพิพิธภัณฑ์ฯ ได้เล่าไว้แยกเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องต่างๆดังนี้ 3.6.1 การนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับครอบครัว ประสบการณ์การทำงานร่วมกันของคณะทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อคณะทำงานทั้งวิธีคิด และทัศนคติในการดำรงชีวิตในทางที่ดีขึ้น จากการทำงานร่วมกัน กระบวนการกลุ่ม และการได้มีประสบการณ์เรียนรู้จากภายนอก เหล่านี้นั้นส่งผลโดยตรงต่อชีวิตของทุกคนในขณะทำงาน และขยายผลต่อไปยังครอบครัวของคณะทำงาน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการรับฟัง มีความกล้าคิดกล้าทำ มีการออกแบบวางแผนชีวิตในอนาคต ดังเช่นที่แบ่งเป็นประเด็นไว้ดังนี้ ประเด็นที่ 1 การปรับเปลี่ยนทัศนคติ ให้มีการหันมาคุยกันมากขึ้น มีการรับฟังซึ่งกันและกัน รู้จักการคิดก่อนพูด รู้จักพูดในสิ่งที่ควรพูด เข้าใจเหตุผลต่อส่วนรวม และส่งผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความเข้าใจ ซึ่งกันและกันมากขึ้น ดังเช่นที่ คณะทำงานได้เล่าถึงประสบการณ์การดำรงชีวิตต่อตนเอง และครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อได้มาทำงานพิพิธภัณฑ์ ประเด็นที่ 2 การออกแบบชีวิต และการวางแผนครอบครัว จากบทเรียนการทำงานที่ร่วมกันฝ่าฟันมา ความเข้าใจในข้อดี-ข้อเสียในกระบวนการทำงาน ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการดำรงชีวิต และครอบครัว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีการจัดการ มีการวางแผนในการใช้ชีวิตครอบครัวอย่างมีทิศทาง ร่วมกันคิดร่วมกันทำ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประเด็นที่ 3 การนำสิ่งที่เรียนรู้มาสอนลูกหลานในเรื่องของการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน การทำงานร่วมกันเป็นหมู่เหล่า มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้มีความรู้ และผู้มีประสบการณ์ เกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เป็นบทเรียนการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับครอบครัว กับการดำรงชีวิต และถ่ายทอดให้ลูกหลานได้เข้าใจ 3.6.2 การนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับที่ทำงาน ประสบการณ์การทำงานร่วมกันของคณะทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อคณะทำงานทั้งวิธีคิด และทัศนคติในการดำรงชีวิต และยังขยายผลต่อไปยังการประกอบอาชีพที่ตนทำเป็นหลักอยู่ ทั้งกระบวนการคิด และวิธีการงานร่วมกัน อีกทั้งยังสามารถนำเอาความรู้ต่างๆที่ได้ มาพัฒนาอาชีพได้อีกด้วย ดังเช่นที่แบ่งเป็นประเด็นไว้ดังนี้ ประเด็นที่ 1 การนำกระบวนการ “สุนทรียสนทนา” ไปปรับใช้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนจากประสบการณ์การทำงานพิพิธภัณฑ์ฯ ทำให้ได้รับการพัฒนา และเรียนรู้ จากผู้มีประสบการณ์ และสถาบันการศึกษา การพัฒนาประสบการณ์การเรียนรู้ เทคนิคการทำงานร่วมกัน เช่นกระบวนการสุนทรียสนทนา ซึ่งเป็นกระบวนการล้อมวง แลกเปลี่ยนพูดคุยซึ่งกันและกัน อย่างมีระบบ ส่งผลก่อให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนาความคิด และยกระดับจิตใจของผู้ทำ กระบวนการเหล่านี้ มีผลอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คน ประกอบกับคณะทำงานพิพิธภัณฑ์บางท่านซึ่ง มีสถานะเป็นครู จึงมีแนวความคิด อยากนำกระบวนการ เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อหวังขยายผลในภาคการศึกษาไปยังเด็ก และเยาวชนอื่นๆ “กระบวนการสุนทรียสนทนา ผมเคยเอาไปใช้ทดลองกับเด็ก ดีมาก ผมสอนเรื่องภาพไทย จิตกรรมไทย ป.5 เด็กได้เยอะและเด็กก็รู้ เพราะว่าเขาเคยอ่านหนังสือ เขาก็เคยดู แล้วเด็กที่เคยซนก็เสนอความคิด คนเก่งๆ อยู่แล้ว ก็ยิ่งเสนออะไรเยอะแยะ และเขาก็จะเคารพกติกาว่า ถ้าคนหนึ่งพูด คนที่สอง ต้องฟังนะ ถ้าใช้เป็นประจำ ผมว่าเด็กน่าจะมีวินัย มีความกล้า”  ครูสุรชัย เสือสูงเนิน (สัมภาษณ์, 10 พฤษภาคม 2561)    ประเด็นที่ 2 การนำกระบวนการเรื่องของ  “การคิดร่วม นำร่วม” ไปปรับใช้ในการทำงาน การทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ มีการร่วมกันคิดร่วมกันทำ แบ่งปันแนวคิด ช่วยเหลือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ในขณะทำงาน ซึ่งทำให้ฝ่าฟันปัญหาและดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงทุกวันนี้ บทเรียนเหล่านี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานในอนาคตทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น สามารถช่วยยกระดับการทำงานเป็นภาพรวมในทุกองค์กร และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาองค์กร ในวิชาชีพของตนเอง ประเด็นที่ 3 การประยุกต์ใช้กับการทำพิพิธภัณฑ์ ในเรื่องการต้อนรับ และครูภูมิปัญญา การผ่านการอบรม การร่วมกิจกรรมมีผู้เข้ามาชมการบรรยายถ่ายทอดที่หลากหลาย ทั้งรับความรู้ไป และยังถ่ายทอดประสบการณ์กลับมายังคณะทำงานฯ บทเรียนเหล่านี้นั้นส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดการถ่ายทอดความรู้ และยังรวมถึงการพัฒนารูปแบบภูมิปัญญาต่างๆ ให้ยกระดับขึ้น 3.6.3 การนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับการเรียน ประสบการณ์การทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ร่วมกันของกลุ่มเยาวชน ทำให้ได้เรียนรู้ ได้เห็นแบบอย่างการทำงานร่วมกัน และได้พบผู้นำให้เป็นแบบอย่าง ส่งผลให้เปลี่ยนแปลงวิธีคิด และการดำรงชีวิตของกลุ่มเยาวชนเหล่านั้น ให้เกิดความกล้า คิดกล้าแสดงออก มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และยังนำกระบวนการเรียนรู้การทำงานพิพิธภัณฑ์ ไปใช้ในการทำงานร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียนพัฒนาทั้งตัวเอง และหมู่เหล่าที่ตนเองเข้าไปอยู่ 3.7 “ความสุข” ของคนทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง การร่วมทำงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุงของคณะทำงาน มีเป้าหมายสำคัญคือ “ความสุข” ซึ่งเป็นเป้าหมายทางจิตใจ เป็นอุดมคติร่วม ในการอยู่ร่วมกัน เป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ทั้งยังเป็นพลังในการขับดันเพื่อสร้างสรรค์งานพิพิธภัณฑ์ ความสุขที่เกิดขึ้นได้นั้นเป็นความรู้สึกภายใน ทั้งความสุขที่เกิดจากความรู้สึกได้แบ่งปันให้ผู้อื่น การทำงานร่วมกับครอบครัว และเพื่อนฝูงที่ผูกพัน การได้ช่วยเหลือองค์กรหน่วยงานที่ตัวเองยึดถือ การได้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น สิ่งเหล่านี้นั้นคือแรงผลักดันของคณะทำงาน ตั้งแต่วันเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน โดยได้แบ่งเป็นประเด็น ไว้ดังนี้ ประเด็นที่ 1 ความสุข “อยู่ที่ใจ” เป็นความสุขเกิดจากความรู้สึกที่มาจากใจ เป็นความสุขที่ถูกกำหนดโดยความคิดของตนเอง ดังเช่นที่คณะทำงานฯ กล่าวถึงประสบการณ์ความสุขที่ได้รับจากการทำงานพิพิธภัณฑ์ เมื่อการทำงานสำเร็จตามเป้าหมาย หรือสิ่งที่วางแผนไว้  หรือการได้ทำสิ่งที่ตนรัก และอยากทำ,  การได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น, การสามารถแก้ปัญหาได้ หรือความสุขที่เป็นความสบายใจที่เห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของพิพิธภัณฑ์และชุมชนไปในทางที่ดีขึ้น “ความสุขก็คือ “ใจ” ใจเราอยากจะไป ที่เราไปเนี่ยไปด้วยความสุข ความชอบ ถ้าเราไม่ชอบเราไม่พอใจแบบนี้ ที่ไหนเราก็จะไม่อยากไป ถ้าเราไม่ร้อนใจ ถ้าใจเราไม่มีความสุข เราก็ไม่อยากไป ถึงดีกว่าไทยเบิ้งเราก็ไม่ไปเพราะเราไม่ชอบนะ แต่นี่เราก็ชอบในกระบวนการที่เขาสอน เขาอบรม เรารู้อะไรเพิ่มเติมบางทีว่าจะไม่ไปแล้ว ก็เผื่อเขาสอนอะไรเราก็จะได้รู้เพิ่มอีก ก็เลยเอ้าไม่หยุดได้ด๊อกก็ต้องไป แล้วเราก็อยากรู้ทุกเรื่องที่เขาจะมาสอน จะมาอบรม” บำรุง บุญมา (สิริสลุง นามสกุลเดิม) (สัมภาษณ์, 14 พฤษภาคม 2561)    “ความสุขอยู่ที่ใจ พอเราได้เห็นคนมา พอเสร็จงานเรามีความสุขแล้ว คนมาบอกว่าวันนี้เขาได้ประโยชน์อะไร เราก็มีความรู้สึกอิ่มเอมในใจเราแล้ว แสดงว่าใจเราสัมผัสได้กับความรู้สึกของเขา ความสุขของเรามันอยู่ที่ใจ ความสุขเกิดจากการกระทำ ถ้าเรารู้สึกแบบนี้ได้ เราต้องลงมือทำอะไรบางอย่างที่เราคิดว่า มันก็ต้องมีทั้งสิ่งที่เราอยากทำ แล้วก็สิ่งที่เราทำแล้วมันมีประโยชน์มันถึงจะรู้สึกอิ่มเอมได้ คือ ถ้าเราไม่ลงมือทำ มันก็คงรู้สึกแบบนั้นไม่ได้หรอก หรือในสภาวะ ที่เรารู้สึกว่าเราสบาย นั่นเราก็จะมีความสุข กับสภาวะที่เราทำงานแล้วสำเร็จ เราก็จะมีความสุข เกิดจากการที่เราปฏิบัติ ทุกอย่างมันประกอบกัน เราวางแผน เราออกแบบ แล้วเราก็ลงมือทำ พอสุดท้ายแล้ว มันเป็นสิ่งที่เราคาดหวังว่ามันจะต้องเกิดเราถึงจะเกิดความสุข ความสุขมีมากน้อยไม่เท่ากัน” พยอม  อ่อนสลุง (สัมภาษณ์, 9 พฤษภาคม 2561)    “เกิดความสบายใจขึ้น เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มันก็ทำให้เราดีใจขึ้นว่า งานที่เราทำนี่มันส่งผลไปในทางที่ดี มันมีความสบายใจขึ้น ก็เหมือนกับมีความสุขขึ้น” จิตติ อนันสลุง (สัมภาษณ์, 8 พฤษภาคม 2561)              ประเด็นที่ 2 ความสุขคือ “การให้” เป็นความสุขที่เกิดจากการให้ และการแบ่งปันซึ่งกันและกัน การได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่น และมีความสุขที่เห็นผู้อื่นสนใจและตั้งใจกับสิ่งที่ตนเองมอบให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้ฟัง รู้มากขึ้นเข้าใจมากขึ้นเมื่อเห็นอย่างนี้ก็เกิดความสุข “ความสุขเนาะ ที่ทำให้อยู่ได้น่ะ ที่ทำงานอยู่ตรงนี้ ถ้าเกิดทุกข์มันน่าจะออกไปแล้วหนอ คือ ทำที่มีความสุขอยู่กันก็พูดคุยกัน ก็สั่งมา ป้าเที่ยวแกผัดบอนมาเด้อ ไม่มีงบประมาณกินข้าวเด้อ เอ้ออ ไปกินด้วยกัน ไปก็ห่อข้าว ผัดกฐิน แกงบอน แล้วก็น้ำพริกตาแดงใส่มะขาม กินคุยกันตอนเย็นน่ะ ความสุขเกิดที่ใจ เหมือนคนอยากให้แล้วมีสุขใจ การให้นี่มีความสุข ถ้าคนเกิดมาไม่รู้จักให้กันนี่ อะไรก็ไม่ให้ใคร ถ้ายายนี่ยายไม่มีความสุข ถ้าเปรียบตัวยายนะ ลูกหลานน่ะถ้าอยู่กันดีก็สบายใจ ความสุขที่ให้มันไม่หมดหรอกที่เราให้น่ะ เราก็จะมีของเราไว้อีก สิ่งที่เราทำไปน่ะ มันจะได้เข้ามาเอง ได้เองโดยเราไม่คิดว่ามันจะได้ มันจะมีมาเอง ไม่ต้องไปคิดมากหรอก คิดน้อยๆ ไว้” ป้าเที่ยว  สลุงอยู่  (สัมภาษณ์, 14 พฤษภาคม 2561)    “ความสุขก็คือ ได้ไปถ่ายทอดให้เขา ถ่ายทอดความรู้ให้เขา และถ้าเขาได้ตั้งใจเรียนก็มีความสุข ว่าเขาสนใจในงานของเรา ถึงเหนื่อยก็มีความสุขและก็อดทนได้” ลุงกะ ลำไยจร (สัมภาษณ์, 12 พฤษภาคม 2561)             ประเด็นที่ 3 ความสุข คือ ความเป็นครอบครัว และการทำทุกอย่างที่ร่วมกัน เป็นความสุขที่เกิดจากการได้ทำงานร่วมกับครอบครัว และผู้คนที่ผูกพันใกล้ชิดกัน ที่คอยทะนุถนอมดูแลน้ำใจซึ่งกันและกัน ร่วมทุกข์ ร่วมสุข เป็นกำลังใจช่วยเหลือ ดูแลเกื้อกูลกัน และในการทำงานก็ทำให้ได้พบปะกัน ได้แบ่งปันประสบการณ์ ได้ฟังเรื่องเล่าเก่าๆ ของชุมชนจากปู่ย่าที่มาทำงานด้วยกัน   ได้นั่งล้องวงกินข้าวร่วมกัน ความรู้สึกความสุขแบบนี้เกิดขึ้นในใจกับคนที่ได้ร่วมทำงานและมีความผูกพันซึ่งกันและกัน “เราได้เห็นครอบครัวที่มันใหญ่เข้ามาอีกหน่อย นั่นคือ กลุ่มคนทำงานด้วยกัน ใกล้ชิดกันแบบนี้ อันนี้มันก็คือ ครอบครัว คือ มันจะทะนุถนอมน้ำใจกันยังไง จะเชื่อมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างการทำงานร่วมกันตรงนี้อย่างไร ตรงนี้ก็คือ ครอบครัว เพราะว่าเรามองว่ากลุ่มคนที่ทำงานด้วยกันนี่ มันคือ ครอบครัว มันก็เหมือนครอบครัว ครอบครัวหนึ่งที่เป็นครอบครัวใหญ่ ครอบครัวคือการเคารพกัน การยอมรับกัน มันไม่จำเป็นจะต้องมีวุฒิภาวะขนาดไหน  ต้องอายุมาก เรียนจบสูง เป็นหัวหน้าเขา นี่ไม่ใช่ แต่ครอบครัวมันจะเกิดการยอมรับ และเคารพกัน และทำให้เราได้อิ่มใจในหลายๆ เรื่อง เป็นความภาคภูมิใจที่เราได้ร่วมกันสะสมมา” ประทีป อ่อนสลุง (สัมภาษณ์, 18 พฤษภาคม 2561)    “การที่เราได้มาอยู่กับเพื่อนๆ ได้มาทำอะไรด้วยกัน อย่างน้อยเราก็รู้สึกว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียว เรายังมีเพื่อน เรายังมีทุกคนที่คอยให้คำปรึกษาเราได้ทุกอย่าง คือ ที่นี่มันจุดประกายให้เราได้รู้ว่า  สิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ใช่แค่ตัวเราเอง แต่เราทำเพื่อชุมชน เราทำให้สิ่งที่มีในชุมชนยังอยู่ โดยการใช้ใจของแต่ละคนมาทำให้เกิดความสุขโดยไม่ได้เกิดจากการบังคับ เราไม่ได้ทำงานแบบผู้ใหญ่มาสั่งเด็ก คือผู้ใหญ่จะเปิดโอกาสให้เด็กได้เสนอความคิดเห็น เขาจะให้เราได้เรียนรู้ คือทุกคนเท่าเทียมกันหมด เราก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้กดดันที่เราจะมาแลกเปลี่ยนกับอะไรตรงนี้ ความรู้สึกตรงนี้ มันหาจากที่ไหนไม่ได้แล้ว เพราะมันเกิดจากเวลา” ธราเทพ อนันสลุง (สัมภาษณ์, 13 พฤษภาคม 2561)    กลอน “ความสุขในไทยเบิ้ง” “ฉันนุ่งโจงพร้อมสไบ ไคว้พาดบ่า             สองมือคว้าถุงย่าม ด้วยใจหมาย อุปกรณ์พร้อมใส่ย่าม พร้อมสะพาย          นัดกันไว้ที่ไทยเบิ้ง มีกิจกรรม นักท่องเที่ยวมาเยือน เหมือนพี่น้อง          เราเพรียกพร้อมต้อนรับ สนุกสนาน ทั้งรำโทนครูภูมิปัญญา มารอนาน            ความสุขฉันและเธอ เราแบ่งกัน มีสินค้าพร้อมขาย ด้วยใจค่ะ                  ถุงย่ามจ๊ะผ้าขาวม้า ช่วยเกื้อหนุน ข้าวเพื่อสุขภาพก็มีนะ ช่วยเจือจุน           ช่วยอุดหนุนคนไทยเบิ้ง มีงานทำ” เสนาะ โชคมหาชัย (ยอดสลุง) (สัมภาษณ์, 7 พฤษภาคม 2561)                 ประเด็นที่ 4 “ความสุข” เกิดจาก การหาจุดร่วมกันทำงาน ระหว่างคนในชุมชน และเครือข่ายคณะทำงาน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่น เป็นความสุขที่เกิดจากความรู้สึกที่ได้ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ได้สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน โดยในการทำงานพิพิธภัณฑ์ต้องมีกระบวนการทำงานมากมาย ต้องตรียมการต้องสรุปผล แต่เมื่อผลตอบรับที่ออกมาจากการทำงานได้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม ก็สร้างความสุขให้กับคณะทำงาน           ประเด็นที่ 5 ความสุขเกิดจากการได้รับการยอมรับ และความชื่นชม เป็นความสุขที่เกิดจากการได้รับการยอมรับ การได้เห็นคนภายนอกเห็นถึงคุณค่าของเรา และวัฒนธรรมของเรา ว่าเราสามารถยืนด้วยตัวของเราเอง มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าที่ควรต้องรักษาไว้ “เราสุขทุกครั้งที่คนมาแล้วชื่นชมเรา นั่นคือความสุข ชื่นชมแบบจริงใจ ความสุขด้วยความที่ว่าเราทำด้วยตัวเราเอง เราสามารถยืนด้วยตัวเราเอง คนข้างนอกเห็นคุณค่าเรา เรามีความสุขทุกครั้งที่เขาพูดถึงวัฒนธรรมแล้วก็คุณค่า ส่วนมูลค่ามันตามมาทีหลัง” อุทัย อ่อนสลุง (สัมภาษณ์, 11 พฤษภาคม 2561)    4. บทสรุป การศึกษาการสื่อความหมายของคนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นผ่านกรณีศึกษา พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี ทำการศึกษาจากกระบวนการที่ทำให้ได้ทราบถึงความเป็นจริงของการสื่อความหมายผ่าน “คนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” จากการที่คนภายในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์และสื่อความหมาย ความรู้ในความเป็นท้องถิ่นของตนไปยังกลุ่มคนในชุมชน และกลุ่มคนภายนอกชุมชน การสื่อความหมายนั้นยังให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ โดยมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นจุดมุ่งหมายในการดำเนินงานร่วมกันที่คนทำพิพิธภัณฑ์ทุกคนต้องรับรู้และเข้าใจ และยังให้ความสำคัญกับพื้นที่การเรียนรู้ทั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนกลางที่ชุมชนร่วมกันก่อร่างสร้างมา และแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชนท้องถิ่น ที่เป็นศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจที่เชื่อมร้อยเป็นสายใยทั้งระหว่างคนในชุมชน และคนภายนอกชุมชนเข้าด้วยกัน และการให้ความสำคัญกับ “ของ” ทั้งที่เป็นวัตถุ และเน้นหนักให้คุณค่ากับ “ของ” ที่แทน “ตัวตน” คนทำพิพิธภัณฑ์ที่แตกต่างอันเป็นผลจากกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการพัฒนาที่สั่งสมมา ซึ่งเมื่อสังเคราะห์ถอดให้เห็นถึงพัฒนาการที่เป็นรากฐานของความเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจากคนทำพิพิธภัณฑ์ที่มาร่วมแรง ก่อร่างกันจนเป็นพิพิธภัณฑ์ จากจุดเริ่มต้นของการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์ ด้วยความสามัคคีที่จะริเริ่มร่วมแรงร่วมใจกันของกลุ่มแกนนำ และชาวชุมชน จนถึงการตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมในการทำพิพิธภัณฑ์ ร่วมลงแรงฝ่าฟันเพื่อสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น และเหตุผลอันเป็นที่มาของความรักและผูกพันในกลุ่มคนทำงานร่วมกัน จากการได้เรียนรู้ได้เห็นคุณค่า และความต้องการรักษาสิ่งดีงามที่เกิดขึ้นให้มีสืบต่อไป ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้คนเหล่านี้ยังทำงานพิพิธภัณฑ์อยู่จนถึงปัจจุบันซึ่งผลที่ได้รับจากการทำพิพิธภัณฑ์ ก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง ให้ความรู้ และทำให้คนทำงานพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง สร้างอาชีพ สร้างโอกาสของชีวิตในอนาคต และสร้าง “แรงบันดาลใจ” ในการใฝ่เรียนรู้พัฒนาตนเอง และความยึดมั่นในอุดมการณ์ การเป็นต้นแบบในการพัฒนาท้องถิ่นตนเอง ที่จะส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังต่อไปและยังสามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์เพื่อพัฒนาชีวิต สร้างทัศนคติที่ดีของตนเอง และครอบครัว ทั้งยังได้สร้างผลต่อจิตใจ ที่เกิดจากความสุขต่อกลุ่มคนที่มาทำงานพิพิธภัณฑ์ร่วมกัน เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกได้แบ่งปันให้ผู้อื่น การได้ทำงานร่วมกับครอบครัว และเพื่อนฝูงที่ผูกพัน ได้ช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น สิ่งเหล่านี้นั้นคือแรงผลักดันของคณะทำงานในการทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งเมื่อประมวลผลของการสื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง แล้วทำให้ได้พบถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีต่อพิพิธภัณฑ์ ชุมชน และคนทำงานพิพิธภัณฑ์ ที่ส่งผลพัฒนาให้เกิด “การร่วมเป็นพลังในการรักษาคุณค่า”ความเป็นท้องถิ่นผ่านพิพิธภัณฑ์ที่จะมีความต่อเนื่องตลอดไป   เอกสารอ้างอิง   ธีระภัทรา เอกผาชัยสวัสดิ์. (2554). ชุมชนศึกษา (Community Study). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุภางค์ จันทวานิช. (2557). วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 22. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย, สืบค้น 19 เมษายน 2563. จากhttps://db.sac.or.th/museum/ Sirivanichkul, Jirawan; Saengratwatchara, Supornchai & Damrongsakul, Weeranan. (2017).The Emerging Local Museum and Its Meaning through Local People. 13thINTERNATIONAL CONFERENCE ON THAI STUDIES GLOBALIZED THAILAND? CONNECTIVITY, CONFLCT, AND CONUNDRUMS OF THAI STUDIES 15-18 JULY 2017 CHING MAI, THAILAND PROCEEDINGS,1648-1666. Retrieved fromhttps://icts13.chiangmai.cmu.ac.th/documents/FIINAL_R -SRI_NEW_MARCH_2019.pdf Sirivanichkul, Jirawan; Saengratwatchara, Supornchai & Damrongsakul, Weeranan. (2017).The Existence of Local Museum in Thailand: A Case Study of 14 Local Museums in Central Region. 13thINTERNATIONALCONFERENCE ON THAI STUDIES GLOBALIZED THAILAND? CONNECTIVITY, CONFLCT, AND CONUNDRUMS OF THAI STUDIES 15-18 JULY 2017 CHING MAI, THAILAND PROCEEDINGS, 1667 -1690. Retrieved from https://icts13.chiangmai.cmu.ac.th/documents /FIINAL_R-SRI_NEW_MARCH_2019.pdf   สัมภาษณ์ ประทีป อ่อนสลุง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (18 พฤษภาคม 2561). พยอม  อ่อนสลุง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (9 พฤษภาคม 2561). จิตติ อนันสลุง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (8 พฤษภาคม 2561). วิเชียร ยอดสลุง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (18 พฤษภาคม 2561). บำรุง บุญมา. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (14 พฤษภาคม 2561). เที่ยว  สลุงอยู่. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (14 พฤษภาคม 2561). อุทัย อ่อนสลุง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (11 พฤษภาคม 2561). สุรชัย เสือสูงเนิน. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (10 พฤษภาคม 2561). เสนาะ โชคมหาชัย. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (7 พฤษภาคม 2561). กนกวรรณ ยาบ้านแป้ง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (8 พฤษภาคม 2561). ธราเทพ อนันสลุง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (13 พฤษภาคม 2561). กะ ลำไยจร. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (12 พฤษภาคม 2561). วรรณิศา สำราญสลุง. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง. (13 พฤษภาคม 2561). [1]บทความนี้ได้รับการคัดเลือกจากการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) [2]สาขาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี E-mail: nanny_5@hotmail.com

บาหลี: พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

22 มีนาคม 2556

ฮุตแมน (Houtman) ไม่ใช่ชาวยุโรปคนแรกที่เข้ามาติดต่อกับชาวบาหลี แต่บันทึกของเขาที่เกี่ยวกับบาหลีในปี ค.ศ. 1597 ทิ้งไว้ซึ่งความทรงจำที่ติดแน่นในสำนึกเกี่ยวกับบาหลีของชาวตะวันตก ในบันทึกได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับลูกเรือสองคนของฮุตแมนที่ละทิ้งภาระกิจไป เนื่องจากไม่อาจต้านทานเสน่ห์ของสาวบาหลีได้ แต่เหตุผลที่แท้จริงก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก ในบันทึกนั้นบรรยายถึงสภาพลูกเรือของฮุตแมนที่อ่อนล้าจากการใช้ชีวิตที่ยาก ลำบากในชวาและประสบความล้มเหลวในการเจรจาการค้าในชวา เมื่อได้มาพักฟื้นที่บาหลีก่อนจะเดินทางยาวไกลกลับบ้าน ภาพของบาหลีจึงมีแต่ด้านที่สวยงาม ภาพ "บาหลีน้อยอันเป็นที่รัก" จึงแพร่กระจายออกไป   งานเขียนของฮุตแมนชิ้นนี้มีอิทธิพลต่องานเขียนอื่น ๆ ต่อมา เช่นงานของจาร์คอบีน แซมมวล เพอร์แชส (Jacobean Samuel Purchas) เพอร์แชสใช้บันทึกการเดินทางของฮุตแมนและนักเดินเรือชาวดัตช์คนอื่น ๆ ในการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับบาหลีโดยมีจุดมุ่งหมายในด้านการค้าเป็นหลัก เขาจึงมีอิสระที่จะเขียนเน้นถึงความน่าตื่นตาตื่นใจของบาหลี เมื่อเขาอธิบายถึงกษัตริย์บาหลีและบริวาร การนับถือศาสนาฮินดูของชาวเกาะ และประเพณีการเผาแม่ม่ายบนกองฟืน   บาหลีไม่เพียงแค่ถูกเขียนบรรยายว่าเป็นเกาะที่มีเสน่ห์ แต่ยังถูกแสดงผ่านสื่อทางภาพด้วย เช่น หนังสือของฮุตแมนที่ตีพิมพ์ในปี 1598 ประกอบไปด้วยภาพทาสแบกเสลี่ยงขุนนาง ภาพกษัตริย์ภายใต้เศวตฉัตรที่ประทับบนเกวียน และภาพหญิงพื้นเมืองกับนักดนตรีในพิธีศพของสามี ภาพทั้งสามในหนังสือของฮุตแมนนี้แพร่หลายมากและถูกใช้ประกอบในหนังสือเล่ม อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับบาหลี   ภาพลักษณ์ดั้งเดิมที่มีต่อบาหลีของพวกยุโรปส่วนใหญ่จะเป็นภาพแบบ ฉบับ(stereotype)ในแบบวัฒนธรรมอินเดีย ดังนั้นการบรรยายถึงขนบประเพณีของพิธีสะตี(การเผ่าแม่ม่าย)ในบาหลี บันทึกจึงมักอ้างว่าคล้ายกับที่อินเดีย ในศตวรรษที่ 16 - 17 แม้บาหลีจะเป็นที่รู้จักของชาวยุโรปแล้ว แต่บันทึกของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดียไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับราชประเพณี บาหลีเลย ดัตช์ทำสัญญากับผู้ปกครองบาหลีในเรื่องการค้าทาส และมีการตั้งสถานีการค้าบนเกาะด้วย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างดัตช์กับชาวบาหลีไม่สู้จะดีนัก ชาวบาหลีรู้สึกว่าตนเองถูกคุกคามอิสรภาพ   ประเพณีฮินดูของบาหลีเช่น การเผาแม่ม่าย เป็นสิ่งที่ดึงดูดใจอย่างต่อเนื่องกับชาวยุโรป และยังเป็นแนวคิดสำคัญที่แพร่หลายจนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 20 ภาพประกอบเกี่ยวกับพิธีสะตีในบาหลีในบันทึกของชาวยุโรปใช้ภาพจากอินเดีย โดยที่ข้อเขียนที่บรรยายถึงพิธีกลับแตกต่างและไม่ได้ไปด้วยกันกับภาพ ตัวอย่างแรก ๆ ของงานเขียนในลักษณะนี้เช่น Jan Oosterwijk ที่อธิบายพิธีกรรมเผาตัวเองของราชินีบาหลีและการสังเวยชีวิตของทาสผู้หญิง อีก 22 คน ในปี 1633 ตามด้วยพิธีกรรมที่ข้าทาสผู้ซึ่งสวมชุดขาวเตรียมตัวสำหรับการถูกประหารด้วย กริช ผู้เขียนกล่าวถึงแต่ในแง่ที่เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือดของพิธีกรรม และบรรยายถึงความกล้าหาญของหญิงสาวที่เชือดตัวเองด้วยกริช พิธีกรรมนี้ยิ่งเพิ่มความน่าตื่นตาตื่นใจของบาหลีมากยิ่งขึ้นไปอีก   นอกจากนี้ยังเป็นที่เลื่องลือกันว่าชาวบาหลีเป็นพวกดุร้ายป่าเถื่อน ภาพลักษณ์ของบาหลีในฐานะดินแดนแห่งความป่าเถื่อนเกิดขึ้นจากจดหมายและรายงาน ของพ่อค้าชาวดัตช์ Jan Troet พ่อค้าดัตช์ที่มีชื่อเสียงในแถบนี้เป็นผู้มีอิทธิพลต่อความคิดนี้ เขาร้องเรียนกับบริษัทดัตช์อีสต์อินเดียเกี่ยวกับทาสชาวบาหลีที่ไม่เชื่อฟัง ในจดหมายปี 1661 Troet อธิบายถึงการที่พวกทาสบาหลีก่อการจลาจลและยึดเรือของเขา จากนั้นปี 1665 บริษัทได้รับข้อร้องทุกข์ต่าง ๆ เรื่องทาสบาหลี มีการห้ามค้าทาสชาวบาหลีแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ   สงครามนโปเลียนฟื้นความสนใจใหม่อีกครั้งต่อบาหลีของชาวยุโรป เริ่มจากอังกฤษ และดัตช์ในเวลาต่อมา บาหลีดึงดูดความสนใจอังกฤษเพราะยุทธศาสตร์ที่ตั้งที่อยู่ติดกับชวา และอังกฤษต้องการสานสัมพันธ์กับบาหลี และต้องการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับอารยธรรมเก่าแก่ของบาหลี สงครามในยุโรปขณะนั้นที่ฝรั่งเศสเข้ายึดเนเธอร์แลนด์ แล้วอังกฤษได้อำนาจปกครองเหนือเกาะชวาแทนรัฐบาลดัตช์ที่ถูกขับออกมาในกรุง ลอนดอน ตั้งแต่ปี 1811-1816 เซอร์ธอมัส แสตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Sir Thomas Stamford Raffles) ที่ต่อมาเป็นผู้ก่อรากสร้างฐานเกาะสิงคโปร์และปกครองหมู่เกาะที่อยู่ในการ ครอบครองของดัตช์ในฐานะตัวแทนข้าหลวงใหญ่ในปัตตาเวีย แรฟเฟิลส์เน้นสร้างความสัมพันธ์กับผู้ปกครองบาหลี และมองว่าเกาะบาหลีเป็นกุญแจสำคัญในแผนการของเขา ที่ต้องการลบล้างอำนาจดัตช์เหนือหมู่เกาะอินดีส์   การเข้ามาปกครองหมู่เกาะอินดีส์ของแรฟเฟิลส์ เป็นเสมือนผลผลิตของยุคแสงสว่างทางความคิดในยุโรป(Europe Enlightenment) และเป็นการนำทฤษฎีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ แรฟเฟิลส์มองคนพื้นเมืองในฐานะผู้ประกอบการค้าที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ "พวกคนพื้นเมืองที่ขี้เกียจ" ไม่เหมือนกับที่คนดัตช์และอังกฤษในมลายามอง นักคิดที่มีอิทธิพลต่อแรฟเฟิลส์คือ อดัม สมิธ (Adam Smith/ 1723-1790) และ ฌอง ฌากส์ รุสโซ่ (Jean-Jacques Rousseau/ 1712-1778) แรฟเฟิลส์ให้ความสำคัญต่อแรงงานชาวนาในชวา มีการเปลี่ยนรูปแบบการเก็บภาษี และการให้เช่าที่ดิน   เขาพบว่าวัฒนธรรมบาหลีเต็มไปด้วยวัตถุดิบมากมายสำหรับนำทฤษฎีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์การเมือง เขาพอใจที่พบว่าชาวบาหลีไม่ใช่พวกเซื่องซึมแบบคนชวา และเขาสรรเสริญความเป็นลูกผู้ชาย และประทับใจความเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนของบาหลี ในฐานะผู้ที่สมาทานแนวคิดของรุสโซ่ แรฟเฟิลส์ยังมองชาวบาหลีในฐานะเป็น"ความป่าเถื่อนที่ดีงาม" (noble savages) เขารู้สึกว่าผู้ปกครองของบาหลีไม่ได้กดขี่เหมือนกับที่ชวา สำหรับเขาแล้ว ชนพื้นเมืองบาหลีไม่เพียงไม่ได้ถูกกดขี่ แต่ยังไม่ได้เป็นคนเกียจคร้านด้วย ชาวบาหลีแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่มีมากกว่าเพื่อนบ้านในเรื่องของอารยธรรม และความพร้อมในการพัฒนา   มุมมองของแรฟเฟิลส์คล้ายกับนักคิดด้านตะวันออกศึกษาหลายคน บาหลีถูกมองว่าเป็น"จุดเริ่มต้นของอารยธรรมโบราณของชาวพื้นเมืองชวา" แม้แรฟเฟิลส์จะเน้นย้ำถึงภาพลักษณ์ของการเผาแม่ม่าย แต่เขาก็ปฏิเสธว่าพิธีดังกล่าวไม่ใช่หัวใจสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ที่มีคุณค่า ของบาหลี บาหลีแสดงถึงความรุ่งโรจน์ของอารายธรรมที่มีมายาวนานอย่างต่อเนื่องอย่างที่ ชวาไม่มี บาหลีเป็นพิพิธภัณฑ์ของมรดกอารยธรรมฮินดูที่รุ่งโรจน์ แรฟเฟิลส์เห็นว่าอารยธรรมโบราณที่สั่งสมของบาหลีกับศักยภาพในการพัฒนาให้ เป็นสมัยใหม่จะเดินคู่กันไปได้ด้วยดี   มุมมองด้านบวกของแรฟเฟิลส์ต่อบาหลีไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางนัก หลังจากที่ดัตช์เข้าไปมีอำนาจปกครองอีกครั้งเหนือชวา ภาพลักษณ์เก่าของบาหลีที่เป็นดินแดนป่าเถื่อนถูกปลุกขึ้นอีกครั้งในงานของH.A. Van der Broek ข้าราชการที่ถูกส่งมาในฐานะทูตของเกาะ Van der Broek มีทัศนะในด้านลบต่อบาหลี อาจเพราะกษัตริย์บาหลีขัดขวางและเพิกเฉยต่อข้อเสนอทางการเมืองของเขา เขาดำเนินการสร้างภาพแบบฉบับเก่า ๆ ขึ้นมา แม้ว่างานเขียนของเขามีแรงจูงใจจากทางการเมืองก็ตาม แต่ก็น่าสนใจตรงที่เนื้อหาที่เขาเขียนเต็มไปด้วยข้อมูลด้านชาติพันธุ์ Van der Broek เห็นว่าทางเดียวที่บาหลีจะพัฒนาได้คืออยู่ใต้การปกครองของดัตช์   ภาพลักษณ์ด้านลบของบาหลียังถูกตอกย้ำจากการที่ชาวบาหลียึดมั่นในศาสนาฮินดูและ ไม่ยอมรับ "ความปรารถนาดี" ของหมอสอนศาสนา นำมาซึ่งความไม่พอใจมาสู่พวกหมอสอนศาสนา นอกจากนี้งานของJ.H. Moor บรรณาธิการ Malacca Observer and Singapore Chronocle ที่มีบทล้อเลียนและดูถูกชาวเกาะ โดยมีทัศนะว่าชาวบาหลีผิดที่ไม่ให้ความเคารพคนยุโรป โดยมองว่าที่ยุโรปเข้าไปแทรกแซงบาหลีก็เพื่อจะสอนมารยาทให้ชนพื้นเมือง และทำให้พวกเขาว่านอนสอนง่ายตามความต้องการของบรรดาหมอสอนศาสนาและพ่อค้า   อังกฤษเริ่มมีบทบาทการค้ากับบาหลีมากขึ้นในทศวรรษที่ 1820 และ 1830 นำมาซึ่งความกลัวของดัตช์ต่อการขยายอิทธิพลมาสู่บาหลีของจักรวรรดินิยม อังกฤษ ความทุกข์ร้อนของดัตช์ยิ่งทวีขึ้นอีกเมื่อพ่อค้ายุโรปที่ประสบความสำเร็จที่ สุดในการค้ากับบาหลีคือ ชาวเดนมาร์ก นาม Mads Johansen Lange(1806-1856) ดัตช์จึงต้องการพิชิตเกาะบาหลีให้เบ็ดเสร็จ ภาพลักษณ์การชวนทะเลาะของผู้ปกครองบาหลีจึงถูกขยายมากขึ้น สงครามเพื่อพิชิตบาหลีของดัตช์เริ่มขึ้นในปี 1846 แต่ก็ยังไม่สำเร็จ รายงานของดัตช์มักจะเขียนให้ผู้ปกครองชาวพื้นเมืองเป็นพวกป่าเถื่อนและหลอก หลวง และเขียนถึงอุปนิสัยของชาวบาหลีที่ชอบทะเลาะอาละวาด สงครามครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลงในปี 1906-8 เมื่อราชสำนักและชาวบาหลีต่อสู้แบบยอมตาย ซึ่งเรียกวีรกรรมที่กล้าหาญนี้ว่า "ปูปูตัน" (puputan)   ในวีรกรรมปูปูตันนั้นบรรดาคนในราชสำนักจะสวมเครื่องแต่งกายเต็มยศ แล้วเดินอย่างอาจหาญเข้าไปเผชิญหน้ากับศัตรูแบบยอมตายมากกว่ามีชีวิตอยู่แบบ ไร้ศักดิ์ศรี กัปตัน W.Cool ผู้เห็นเหตุการณ์ ได้บรรยายถึงสถานการณ์ที่น่าสะพรึงกลัว และยังให้ภาพที่เป็นจริงของการโต้ตอบของดัตช์   "พวกนี้เป็นสมาชิกของราชวงศ์ที่เหลือพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก พวกเขาพร้อมจะตายและเดินแถวในชุดที่สง่างามประดับด้วยเพชรนิลจินดา ในมือถือกริชและหอกด้วยท่าเตรียมพร้อม พวกเขาเตรียมตัวด้วยความแข็งแกร่งพร้อมเผชิญหน้ากับทหารของเรา นี่คือปูปูตันที่เลื่องชื่อ! ทหารของเราไม่ได้รับการระคายเคืองสักนิด ฝ่ายตรงข้ามถูกฆ่าตายดั่งใบไม้ร่วง มีเล็ดลอดเพียงไม่กี่คนที่สามารถเข้าประชิดดาบปลายปืนเราได้ แต่พวกนั้นก็ไม่ได้ถูกยิง พวกเราจัดการพวกนั้นด้วยสองมือของเรา"   ปูปูตันมีความหมายว่า "อวสาน" เป็นสัญลักษณ์ประเพณีของการสิ้นสุดลงของอาณาจักร เชื่อกันว่าวิญญาณจะไปสู่สุขคติผ่านการตายในสนามรบ ดั้งนั้นจำเป็นสำหรับชนชั้นปกครองที่ต้องตายอย่างสมเกียรติ ดัตช์เผชิญหน้ากับปูปูตันในการทำสงครามกับบาหลีและตกตะลึงต่อพิธีการฆ่าตัว ตายแบบนี้ ในสายตาของดัตช์ปูปูตันถูกผนวกเข้าไปเป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ความล้าหลังป่า เถื่อนของบาหลี อันประกอบไปด้วยเรื่องการค้าทาส การเผาแม่ม่าย และอุทิศชีวิตในสนามรบ   ปูปูตันเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองในเมือง Klungkung ในปี 1908 แทนที่จะยอมรับอำนาจต่างชาติ ราชวงศ์บาหลีเลือกที่จะตายอย่างมีเกียรติผ่านปูปูตัน อย่างไรก็ดีการที่ดัตช์พยายามแสดงให้ว่าการเข้าครอบครองบาหลีเป็นเรื่องของ ศีลธรรมของผู้มีอารยธรรมสูงส่งมาปลดปล่อยความล้าหลัง การพลีชีพของชาวบาหลีจึงกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ ดัตช์อ้างว่าไม่คาดคิดมาก่อนว่าชาวบาหลีจะตอบโต้ด้วยวิธีการฆ่าตัวตายแบบ นั้น และไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับปูปูตัน ดังนั้นเพื่อที่จะชดเชยการนองเลือดครั้งนั้น และแสดงถึงภาพลักษณ์ที่น่าสรรเสริญของเจ้าอาณานิคม ดัตช์จึงสนับสนุนแนวคิด "พิพิธภัณฑ์มีชีวิต" (Living Museum) ในบาหลีขึ้น ภาพลักษณ์ใหม่นี้มีพื้นฐานอยู่บนการอนุรักษ์วัฒนธรรมของบาหลีและส่งเสริม เกาะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว   นักวิชาการยุโรปด้านตะวันออกศึกษา มีทัศนะมานานแล้วว่า บาหลีเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ของวัฒนธรรมชวาฮินดู มุมมองที่ว่านี้มีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์ในอนาคตของบาหลี ผู้ปกครองชาวดัตช์อาจไม่มีภาพที่ถูกต้องของสิ่งที่เรียกว่าความเป็นบาหลีที่ แท้จริง แต่อย่างน้อยพวกดัตช์มีแนวคิดบางอย่างที่จะบอกว่าความเป็นบาหลีควรจะเป็น อย่างไร ในสายตาของดัตช์ศาสนาฮินดูเป็นรากฐานสำคัญของสังคมบาหลี รวมถึงเป็นรากฐานของการประสานรวมวัฒนธรรมและศิลปะของบาหลี   มรดกอันล้ำค่าเหล่านี้กลายเป็นเครื่องป้องกันการถูกรุกไล่ของโลกสมัยใหม่และได้ รับการบูรณะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ให้อยู่ในสภาพดั้งเดิม บาหลีอวดโฉมต่อชาวโลกด้วยความชื่นชม ในต้นทศวรรษที่ 1930 ดัตช์พยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้กับบาหลี โดยมีนโยบายวัฒนธรรมที่รู้จักกันในนามว่ากระบวนการสร้างความเป็น บาหลี(Balinization) ไม่เพียงแต่วัฒนธรรมบาหลีจะถูกรักษาไว้สำหรับนักท่องเที่ยวได้ชื่นชม ชาวบาหลียังถูกสอนโดยเจ้าอาณานิคมดัตช์ถึงวิธีการที่จะเป็นชาวบาหลีที่แท้ จริง! กล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งนี้เกิดขึ้นจากกระบวนการสร้างความเป็น บาหลีของเจ้าอาณานิคมนั่นเอง   แปลและเรียบเรียงจาก Hitchcock, Michael and Norris, Lucy. 1995. "Bali: The Living Museum." in Bali the Imaginary Museum. Kuala Lumpur: Oxford University Press, pp. 11-24.  

พิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอ โดย Michael M. Ames

22 มีนาคม 2556

แนวคิดของพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์เมือง และความหมายของพิพิธภัณฑ์ที่ไอคอม (ICOM)นิยาม มีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทศแถบตะวันตกในเรื่องการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม แนวคิดดังกล่าวมีนัยยะสองประการ ประการแรกคือมองว่าคอลเล็กชั่นเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องมรดกวัฒนธรรม ดังนั้นประชาชนจะต้องให้ความสนใจต่องานพิพิธภัณฑ์ ประการที่สอง งานพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งดีงามที่ทุกชุมชนควรยอมรับและปรารถนาจะได้มา บทความนี้พยายามจะแสดงให้เห็นว่า เมื่อฐานคิดสองประการดังกล่าวถูกนำไปใช้กับชุมชนท้องถิ่น จะก่อให้เกิดทัศนคติและผลที่ตามมาภายหลังอย่างไร และสนใจว่าอะไรที่ได้รับพิจารณาว่าเป็นมรดกอันทรงคุณค่า และอะไรคือบทบาทที่เหมาะสมของพิพิธภัณฑ์ โดยทั่วไปแล้วผู้ชมกลุ่มหลักของพิพิธภัณฑ์คือ คนชนชั้นกลางและชนชั้นสูง คำถามต่อมาคือ แล้วกลุ่มคนที่พิพิธภัณฑ์ไม่เคยสนใจมาก่อน พิพิธภัณฑ์ควรจะให้อะไรบ้างหรือไม่แก่คนในสังคมที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ คนชายชอบ พิพิธภัณฑ์กระแสหลักจะช่วยพัฒนาวัฒนธรรมคนกลุ่มน้อย คนยากจน หรือคนที่ถูกเลือกปฏิบัติได้อย่างไร? หลายคนกล่าวว่านักพิพิธภัณฑ์วิทยาเป็นเรื่องของคอลเล็กชั่นมากกว่าชุมชน ดังนั้นการที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาให้ชุมชนสนใจงานวัฒนธรรมด้วยตนเองนั้น จำเป็นต้องมีฐานคิดและความชำนาญอีกอย่างหนึ่ง แม้ด้วยเจตนารมณ์อันดีของผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์ ที่รับเอาแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ อาจทำให้การทำงานกับชุมชนมีแนวโน้มที่จะปลอมแปลงข้อเท็จจริงของชุมชนด้วยการผลิตสร้างความคิดที่ว่า ชุมชนต้องพึ่งพาบริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ยิ่งผู้คนถูกกระตุ้นให้พึ่งพาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากเท่าใด พวกเขาก็จะยิ่งพัฒนาความคิดริเริ่มของตนเองได้น้อยลงเท่านั้น ดังนั้นการนำแนวคิดพิพิธภัณฑ์มาใช้กับชุมชนท้องถิ่นโดยปราศจากการปรึกษาหารือกันอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดภาวะพิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอได้ จากนี้ต่อไปบทความนี้จะพิจารณาถึงรูปแบบที่ผิดปกติของการสร้างภาพตัวแทนด้วยตนเอง (self- representation) ในบทความได้นำเสนอตัวอย่าง โครงการ Clemente Humanities Programme ของ Earl Shorris นักวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ โครงการดังกล่าวเป็นการให้การศึกษาด้านมนุษยศาสตร์แก่ผู้ยากจนในเมือง โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการที่เขาได้สัมภาษณ์ผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยติดคุกและติดเชื้อเอชไอวี ทำให้เขาสะดุดคิดกับคำตอบของผู้หญิงคนนี้ที่พูดถึงโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและระดับชั้นทางสังคมมีผลต่อความยากจน การจะขจัดความยากจนได้ จะต้องสอนให้คนเหล่านั้นมีความรู้เกี่ยวกับหลักประพฤติสำหรับการใช้ชีวิตในเมือง (moral life of downtown) และวิธีหนึ่งที่จะให้ความรู้คือ พาไปชมการแสดงละคร พิพิธภัณฑ์ คอนเสิร์ต ฟังบรรยายทางวิชาการ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการคิดตรึกตรอง เกิดบทสนทนา และการอภิปรายอย่างมีเหตุผล จากเรื่องราวดังกล่าว ทำให้ Shorris เริ่มโครงการ Clemente Humanities Programme ขึ้นในปี 1995 โดยสอนวิชาด้านมนุษยศาสตร์แก่เด็กวัยรุ่นผู้ยากไร้ในนิวยอร์ก 30 คน หลักการของโครงการดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กว้างขวางรวมถึงงานพิพิธภัณฑ์ ที่ปรารถนาจะทำงานกับคนกลุ่มน้อย ผู้อ่อนแอ ผู้เสียเปรียบหรือไม่มีเสียงในสังคม เพราะการทำให้เกิดความตระหนักรู้เชิงวิพากษ์หรือกระบวนการสร้างมโนสำนึก (conscientization) เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถมีพื้นที่ในประวัติศาสตร์ของพวกเขาเอง และแสดงตัวตนต่อผู้ที่มาครอบงำหรือกดบังคับ เอารัดเอาเปรียบ หรือมาครอบครองสิ่งที่เป็นภาพตัวแทนทางวัฒนธรรมของพวกเขา การมีโอกาสได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ การแสดงโอเปร่า และงานศิลปะ เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การสร้างมโนสำนึก การมีจิตสำนึกและการสร้างภาพแทนของตนเอง สามารถเพิ่มอำนาจให้คนแสดงตัวตนในฐานะเป็นผู้กระทำ(agents) ต่อสู้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับตนเอง ผลจากโครงการ Clemente Humanities Programme กลายเป็นตัวแบบก่อให้เกิดโครงการอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ โครงการทดลอง Humanities 2 โครงการ ในเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา โครงการแรกเกิดในมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ที่เปิดที่ให้คนที่ไม่ได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยสามารถเข้าเรียนวิชาเรียนมนุษยศาสตร์เบื้องต้น 101 วิชานี้เปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้น้อยหลายร้อยคนได้เรียนรู้ผลงานระดับคลาสสิกในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ แม้วิชาดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในแง่จำนวนผู้ลงทะเบียนเรียน แต่มันกลับมีผลเพียงเล็กน้อยต่อปัญหาทางสังคมโดยรวมของชุมชน อาทิ ความยากจน การติดยาเสพติด การไร้ที่อยู่ เป้าหมายโครงการที่ต้องการก่อให้เกิด การตระหนักรู้ด้วยตนเองและการสร้างภาพแทนด้วยตนเองจึงยังอยู่ห่างไกลมาก มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดั้งเดิมของชาว Musqueam คนพื้นเมืองของแคนาดา มหาวิทยาลัยจึงพยายามสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับคนพื้นเมืองนี้ขึ้น ก่อให้เกิดอีกหนึ่งโครงการ ซึ่งเป็นการเปิดวิชา Musqueam เบื้องต้น 101 ที่เปิดกว้างให้ทุกคนที่สนใจเข้าเรียน โดยเรียนกันที่ชุมชน Musqueam และมีชาว Musqueam เป็นผู้ประสานงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยด้วย ภายใต้หลักสูตรดังกล่าวทำให้ชาว Musqueam สนใจในประวัติศาสตร์ของพวกเขาเองมากเสียยิ่งกว่าการเรียนวิชาด้านสังคมศาสตร์ทั่วไป เพราะพวกเขามีเรื่องราวประวัติศาสตร์ของตนเองที่จะเล่ามากมาย นักวิชาการที่เป็นชนพื้นเมืองจากทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยต่างสละเวลาให้กับการทำวิจัยเกี่ยวกับชุมชน มีการสัมมนานำเสนอผลงานวิจัย และเปิดงานด้วยการให้ลิ้มรสอาหารพื้นเมือง เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี มีผู้เข้าเรียนมีความกล้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะพูดถึงประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัวของพวกเขาว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองอย่างไร สภาปกครองท้องถิ่นและสมาชิกในชุมชนต่างให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มกำลัง วิชาMusqueam เบื้องต้น 101 ก่อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนตามมามากมาย อาทิ โครงการฝึกการเขียนอย่างสร้างสรรค์ งานเทศกาลปลูกฝังความเป็นผู้นำแก่เยาวชนพื้นเมือง เป็นต้น อย่างไรก็ดีกล่าวได้ว่าวิชา Musqueam เบื้องต้น 101 ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับวิชามนุษยศาสตร์เบื้องต้น 101 แต่วิชาดังกล่าวส่งผลกระทบที่เป็นรูปธรรมเพียงเล็กน้อยต่อสวัสดิการโดยรวมของชุมชน ดังนั้นจะเห็นถึงขีดจำกัดของหลักสูตรที่ให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมว่า การได้มาซึ่งทุนทางวัฒนธรรมโดยผ่านการร่ำเรียนจากตำรา อาจเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างความตระหนักรู้เชิงวิพากษ์และการสร้างภาพแทนตนเอง แต่ยังไม่เพียงพอ และการตระหนักรู้อย่างเดียวก็ไม่พอที่จะทำให้คนมีอิสรภาพ มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความสุขุม แต่ปฏิบัติการทางการเมืองในสังคมเท่านั้นที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ มิใช่แค่การศึกษาเชิงวิพากษ์ในห้องเรียน Shorris ผู้ริเริ่มโครงการ Humanities Programme บอกว่าจริง ๆ แล้วจุดประสงค์หลักของโครงการนี้ไม่ได้อยู่ที่การชี้นำประชาชน หากอยู่ที่การให้อำนาจแก่พวกเขา พวกเขาจะใช้อำนาจอย่างไร ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเขา ซึ่งฐานคิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นน้อยมากในงานพิพิธภัณฑ์ เขายังบอกอีกว่าคนชายขอบเหล่านี้ถูกห้อมล้อมด้วย "แรงกดดัน" (surround of force) เช่น การโดนกีดกัน ความยากจน ความหิวโหย อาชญากรรม นโยบายรัฐ ฯลฯ คนเหล่านี้มีโอกาสจำกัดมากที่จะได้เข้าไปเรียนรู้การมีส่วนร่วมทางการเมือง และยากที่จะมีหนทางในการเอาชนะแรงกดดันรอบตัวเหล่านี้ Jane และ Conaty ได้บอกไว้ว่า บทบาทของพิพิธภัณฑ์ที่มีต่อสังคม คือ การเข้าไปมีส่วนช่วยในการคลี่คลายสถานการณ์การถูกเอารัดเอาเปรียบและจัดการกับแรงกดดันที่แวดล้อมของคนชายขอบเหล่านั้น ทั้งนี้มิได้หมายความว่าละทิ้งหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่เคยมีมา ซึ่งในบทความได้เสนอ 2 ตัวแบบ ให้พิพิธภัณฑ์พิจารณาเพื่อนำไปใช้ด้วยวิธีการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างพิพิธภัณฑ์กับชุมชน ตัวแบบแรกเป็นการทำงานร่วมกันอย่างเสมอภาพ และการให้ความเคารพต่อความรู้พื้นถิ่น ตัวแบบที่สองเป็นความสัมพันธ์กันลักษณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกับลูกค้า (professional-client relationship) ลูกค้าก็คือชุมชน ที่อาจขอให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยวางแผนออกแบบและจัดทำนิทรรศการ งานสำคัญอันดับแรกสำหรับการที่พิพิธภัณฑ์จะทำงานร่วมกับชุมชนคือ จะต้องพยายามให้ชุมชนเรียนรู้ถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ในเมืองที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาทั้งเรื่อง การกีดกันทางเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติ และสภาวะการเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม ส่วนงานที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การเสนอความช่วยเหลือให้แก่ชุมชนในการพัฒนาสิ่งที่ชุมชนระบุเองว่ามีความสำคัญต่อพวกเขา ท้ายที่สุดแล้วไม่ได้หมายความว่าให้นักพิพิธภัณฑ์วิทยาเลิกปฏิบัติสิ่งที่เคยทำกันมา ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการคอลเล็กชัน การตีความวัตถุ แต่ต้องการเรียกร้องให้บรรดานักพิพิธภัณฑ์วิทยาหยุดฟังเสียงของคนที่เราปรารถนาจะให้ความช่วยเหลือแก่เขา นี่อาจจะช่วยเปิดมุมมองให้แก่แนวคิดของพิพิธภัณฑ์ตะวันตกแบบดั้งเดิมได้ สรุปความจากบทความพิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอ โดย Michael M. Ames ในการประชุมเรื่อง พิพิธภัณฑ์กับชุมชน: มุมมองเปรียบเทียบข้ามพรมแดนวัฒนธรรม ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ วันที่ 28-29 กันยายน 2548.

ทำสิ่งที่ยากให้ง่ายได้หรือไม่ การให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ด้วยวัตถุพิพิธภัณฑ์

17 เมษายน 2557

ความสนใจต่อสาธารณชนในประเด็นกระบวนการและหลักการอนุรักษ์ที่เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่โครงการนการให้ความรู้จำนวนมาก ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานของนักอนุรักษ์ รวมถึงสถาบันและองค์กรในสายงานการอนุรักษ์ เช่น สถาบันเพื่อการอนุรักษ์งานศิลปกรรมและประวัติศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา(American Institute for Conservation of Historic and Artistic Works - AIC) จากความสนใจดังกล่าวนี้ พิพิธภัณฑ์ เจ. พอล เกตตี้ (J. Paul Getty Museum) จัดนิทรรศการแบบโต้ตอบ (interactive exhibition) ภายใต้ชื่อ “สงวนไว้ซึ่งอดีต” (Preserving the Past) นิทรรศการมาจากความร่วมมือระหว่างส่วนงานงานต่างๆ ทั้งส่วนการอนุรักษ์ของโบราณ (Antiquities Conservation) ส่วนงานการศึกษาและวิชาการ (Education and Academic Affairs) และส่วนงานภัณฑารักษ์ (Antiquities Curatorial departments) จากวัตถุประสงค์หลักของนิทรรศการในการให้ความรู้เบื้องต้นกับผู้เข้าชมในเรื่องหลัก กิจกรรม และแผนการอนุรักษ์ “สงวนไว้ซึ่งอดีต” แสดงให้เห็นการดำเนินงานต่างๆ ในด้านการอนุรักษ์งานสะสมของพิพิธภัณฑ์และวัตถุโบราณ นิทรรศการแบ่งเป็นประเด็นได้แก่ จริยธรรมและหลักการอนุรักษ์ การตรวจสอบและวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ปฏิบัติการต่อวัตถุ และการควบคุมสิ่งแวดล้อม (รวมถึงการเตรียมการการจัดแสดงวัตถุภายใต้สภาวะของแผ่นดินไหวจากแบบจำลอง) ห้องนิทรรศการมีเจ้าหน้าที่ประจำทุกส่วน ซึ่งได้รับการอบรมเป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่การศึกษาของพิพิธภัณฑ์ เราเรียกพวกเขาเหล่านั้นว่า “เจ้าหน้าที่ให้ความรู้” (Facilitators) ผู้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากที่คำอธิบายในนิทรรศการ ผู้ดำเนินการกิจกรรม และให้คำแนะนำผ่านสิ่งจัดแสดง เมื่อจบนิทรรศการที่จัดแสดง 7 เดือน มีจำนวนผู้ชมประมาณ 12,000 คน บทความนี้อธิบายการทำงานในการวางหลัก และแนวทางที่เป็นจริงและเป็นไปได้ในการนำเสนอหัวข้อที่ดูซับซ้อน เช่น การอนุรักษ์ สำหรับผู้ชมที่มีความรู้ ความสนใจ แต่ถูกจำกัดด้วยเวลา ด้วยเหตุนี้ ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การวางแผนนิทรรศการ แนวคิด การออกแบบและติดตั้ง การประเมินรูปแบบนิทรรศการท้ายสุด และผลกระทบที่ส่งต่อผู้ชม เกริ่นนำในช่วงที่ผ่านมา ความสนใจของผู้คนต่อการอนุรักษ์ทั้งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมมีเพิ่มมากขึ้น นักอนุรักษ์ทำงานสนองตอบต่อความต้องการดังกล่าว และถือเป็นโอกาสในการให้ความกระจ่างต่อผู้คนในเรื่องงาน และหลักการทำงานของสาขาอาชีพ ดังนั้น ข้อคำนึงหลักของสถาบันการอนุรักษ์ผลงานศิลปกรรมและประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ในปัจจุบันได้แก่ การเพิ่มความสนใจของสาธารณชนต่อประเด็นการอนุรักษ์และประโยชน์ที่พึงได้รับ การดำเนินการไม่ใช่เพียงการให้ความรู้ต่อบุคคลทั่วไป หากแต่เป็นการเพิ่มจำนวนผู้ที่สนใจการอนุรักษ์มากขึ้น ทั้งในภาครัฐแลเอกชน คนเหล่านี้ย่อมมีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนด้านการเงินมากขึ้นเช่นกัน และเมื่อสาธารณชนในระดับกว้างมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ งานสะสมไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนย่อมได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น แน่นอนว่า งานอนุรักษ์สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้บางคนก้าวเข้าสู่อาชีพต่อไปในอนาคตอีกด้วย จากความพยายามในการสร้างให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ ส่วนการอนุรักษ์โบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ เจ. พอล เกตตี้ ด้วยความร่วมมือของส่วนงานการศึกษาและวิชาการ และส่วนงานภัณฑารักษ์ สร้างสรรค์งานนิทรรศการเรื่อง สงวนไว้ซึ่งอดีต ที่มีเนื้อหาแสดงหลักการอนุรักษ์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสะสมศิลปโบราณของพิพิธภัณฑ์ การทำงานของพิพิธภัณฑ์ไม่มีทางสำเร็จได้บุคคลคนเดียว รวมทั้งนิทรรศการที่จะต้องมาจากพรสวรรค์และความสามารถที่หลากหลาย จึงผลักดันให้การเตรียมงานนิทรรศการมาจากการวางแผนของคณะทำงานจากส่วนงานต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์   เพื่อวางเป้าหมายและส่วนประกอบของนิทรรศการ อนึ่ง การทำงานยังได้รับความร่วมมือของส่วนงานโสตทัศนศึกษา งานเตรียมการ งานพิมพ์ และงานภาพถ่าย จากจุดเริ่มต้นสู่การเปิดนิทรรศการต่อสาธารณชนเป็นการดำเนินงานเบ็ดเสร็จหนึ่งปี งบประมาณมาจากส่วนงานการศึกษาและวิชาการ หน้าที่เริ่มแรกของคณะทำงานคือ การแปลหลักพื้นฐานของงานอนุรักษ์ และเลือกสิ่งที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นสำหรับการดำเนินการ คำถามหลักได้แก่ สิ่งใดที่ผู้คนต้องการรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ สิ่งใดที่คณะทำงานปรารถนาที่จะบอกกล่าวกับผู้คน และจัดลำดับประเด็นต่างๆ ตามความสำคัญ แผนงานขยายออกไปอย่างรวดเร็วและความซับซ้อนของเนื้อหาเพิ่มมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขของพื้นที่และเวลาที่จำกัด การนำเสนอขบวนการทำงานของนักอนุรักษ์ในลักษณะที่ให้ความรู้และเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายเป็นสิ่งที่ยากและมีความเสี่ยง ความท้าทายจึงเป็นการสร้างสรรค์การจัดแสดงที่เป็นมากกว่าการบอกเล่างานที่นักอนุรักษ์ทำทุกวัน (เพราะคงต้องเป็นเรื่องน่าเบื่อ) กับผู้ชมหลากหลายประเภท ดังนั้น คณะทำงานจึงตัดสินใจทำให้ผู้ชมตระหนักในสิ่งที่เขากำลังพินิจมอง หรือสิ่งที่เขาไม่เคยนึกถึงมาก่อน จากการสำรวจของพิพิธภัณฑ์เกตตี้ โดยทั่วไป ผู้ชมใช้เวลาเฉลี่ย 2-3นาทีในแต่ละห้องจัดแสดง ด้วยข้อมูลเบื้องต้นเช่นนี้ คณะทำงานวางแผนว่าการจัดแสดงในครั้งนี้จะต้องสร้างความสนใจ และตรึงผู้ชมให้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับส่วนงานอนุรักษ์โดยสังเขป จึงนำไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบโต้ตอบ พร้อมไปกับการคงแนวทางการตีความแบบเดิม เช่น ป้ายคำอธิบาย ทั้งนี้ คณะทำงานระลึกเสมอว่า การถ่ายทอดความรู้สามารถทำได้หลายวิธี เมื่อพิจารณานิทรรศการโดยภาพรวม ข้อมูลจัดแบ่งออกเป็นหลายส่วน ท่วงทีและรูปแบบสื่อความรู้มีลักษณะที่ไม่เป็นทางการ ผู้ชมสามารถเข้าชมนิทรรศการได้อย่างเป็นอิสระในแต่ละประเด็นที่ตนสนใจ นอกจากวิธีการการสร้างชิ้นงานแบบโต้ตอบแล้ว วิธีการหนึ่งในการสร้างความน่าสนใจให้กับนิทรรศการคือ   การอบรมเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากส่วนงานการศึกษาและวิชาการ เจ้าหน้าที่นำชมประจำ อยู่ในแต่ละส่วนของนิทรรศการ พวกเขามีหน้าที่หลักในการปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ทั้งการอธิบายให้ผู้ชมเข้าใจการเรียนรู้จากชิ้นงานแบบโต้ตอบ การตอบคำถามหรือให้ความรู้เพิ่มเติมต่อผู้ชม รวมทั้งการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของชิ้นงาน เจ้าหน้าที่ให้ความรู้เข้าฟังบรรยายหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ โดยมีเจ้าหน้าที่จากส่วนงานการอนุรักษ์เป็นผู้บรรยาย การบรรยายเป็นการให้ความรู้พื้นฐาน วัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้ความรู้จึงสามารถตอบคำถามเบื้องต้นเกี่ยวกับงานอนุรักษ์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ให้ความรู้จึงทำให้ข้อมูลที่ซับซ้อนสามารถเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น พวกเขายังได้รับรายนามหนังสือ สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้อง และสามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายหนังสือของพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งรายชื่อหลักสูตรการศึกษาที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ ผู้ชมสามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมต่างๆ เหล่านี้ได้ หากมีความสนใจเป็นพิเศษ ประโยชน์ของการเน้นถึงการอนุรักษ์วัตถุโบราณตามเนื้อหานิทรรศการคือ การสร้างความเข้าใจทั้งเรื่องหลักปรัชญาพื้นฐานการทำงานและเทคนิคการอนุรักษ์ และสร้างประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับงานอนุรักษ์ ที่เป็นการสร้างความชัดเจนว่า งานอนุรักษ์เป็นการพยายามสงวนสภาพที่เป็นของสิ่งต่างๆ   มากกว่าการเข้าไปจัดการ ซ่อมแซม เรียกได้ว่าเป็นการ “เข้าไปสอดแทรกให้น้อยที่สุด” เท่าที่จะทำได้ นิทรรศการ สงวนไว้ซึ่งอดีต จัดแสดงในห้องนิทรรศการที่เชื่อมต่อกับห้องจัดแสดงของโบราณ พื้นที่จัดแสดงดังกล่าวย่อมกระตุ้นให้ผู้ชมนำสิ่งที่เพิ่งได้ชมไปใช้ จากนี้จะเป็นการกล่าวถึงนิทรรศการส่วนต่างๆ อันได้แก่ เกริ่นนำ การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ การปฏิบัติการ และสภาพแวดล้อม เกริ่นนำในนิทรรศการส่วนเกริ่นนำของนิทรรศการอธิบายถึงวิชาชีพงานอนุรักษ์ เนื้อหาดังกล่าวสร้างกรอบแนวคิดและให้ความรู้พื้นฐาน เพื่อทำความเข้าใจกับส่วนที่เหลือของนิทรรศการ ข้อพิจารณาและข้อท้าทายในจรรยาบรรณของนักอนุรักษ์ปรากฏทั้งในส่วนนี้และส่วนอื่นของนิทรรศการเช่นกัน จุดหลักของนิทรรศการส่วนนี้ ในฐานะเป็นประเด็นหลักของนิทรรศการทั้งหมดคือ วีดิทัศน์ความยาว 6 นาทีในชื่อ “เบื้องหลังฉาก” วีดิทัศน์ดังกล่าวจัดทำโดยส่วนงานโสตทัศนศึกษา และใช้เวลาร่วมปีในการผลิต ภัณฑารักษ์ส่วนงานสะสมโบราณวัตถุ เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปกรรม และเจ้าหน้าที่ฝึกงานของพิพิธภัณฑ์ แสดงงานปฏิบัติการที่หลากหลาย ทั้งการอุดช่องว่าง การเติมสี การทำความสะอาดหิน สำริด และเครื่องกระเบื้อง ส่วนนิทรรศการฉากจำลองแผ่นดินไหวเป็นการทดสอบให้เห็นวิธีปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว วีดิทัศน์แสดงให้เห็นการทดสอบโดยใช้วัตถุจำลองประติมากรรมกรีกในศตวรรษที่ 5 ทั้งนี้ ระดับแรงสั่นสะเทือนเทียบเท่ากับแผ่นดินไหวที่เกิดทางใต้ของแคลิฟอร์เนีย ในการจัดทำวีดิทัศน์ คณะทำงานยังคำนึงถึงผู้ชมที่ใช้ภาษาสเปนในการสื่อสาร ดังนั้นวีดิทัศน์จึงปรากฏบทบรรยายที่เป็นภาษาสเปนด้วย ท้ายที่สุด เมื่อคณะทำงานศึกษาปฏิกิริยาของกลุ่มผู้ชม วีดิทัศน์สามารถตรึงและดึงดูดให้ผู้ชมสนใจเนื้อหา และเป็นโอกาสที่ผู้เข้าชมได้มองเห็นการทำงานของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเขาไม่เคยเห็นมาก่อน การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ส่วนที่สองของนิทรรศการกล่าวถึงความสำคัญของการตรวจสอบวัตถุทางวิทยาศาสตร์ ก่อนการลงมือปฏิบัติการใดๆ นิทรรศการต้องการให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและได้ลงมือปฏิบัติการพอเป็นสังเขป เพื่อเพิ่มประสบการณ์ ภาพขยายจากกล้องจุลทัศน์ (Wentzscope) เป็นสิ่งจัดแสดงที่ผู้ชมสามารถทดลอง และสังเกตภาพที่ปรากฏ ทั้งตัวสีและองค์ประกอบวัสดุของวัตถุสะสม (ภาพที่ 1) ตัวอย่างอื่นๆ เกี่ยวกับการใช้สื่อภาพและการตรวจสอบในระดับจุลภาคในรูปแบบสไลด์ ยังปรากฏภาพถ่ายขยายใหญ่ที่จัดแสดงบนผนังแสดงให้เห็นการทำงาน ของนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ในการตรวจสอบอิเลกตรอน เรียกว่าเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นเครื่องมือ ที่ซับซ้อนในงานวิเคราะห์วัตถุ ทั้งนี้ สมุดบันทึกประกอบการชมจะให้รายละเอียดและภาพแสดงเกี่ยวกับการ ตรวจสอบเครื่องประดับทองโบราณ ควบคู่ไปกับการชมนิทรรศการ   1) ผู้ชมมีโอกาสในการชม ภาพขยาย จากกล้องจุลทัศน์                                        ในส่วนนิทรรศการการ   ตรวจสอบ ทางวิทยาศาสตร์ปัญหาการตรวจสอบความจริงแท้ของวัตถุเป็นประเด็นที่ทั้งสื่อมวลชนและผู้คนทั่วไปให้ความสนใจ โดยที่การทำงานเป็นการบอกรูปพรรณและที่มาของวัตถุ ดังนั้น นิทรรศการเปิดโอกาสให้ผู้ชมทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสามารถและข้อจำกัดของการสืบสวน ทั้งทางวิทยาศาสตร์และเทคนิค การจัดแสดงเป็นการใช้แจกันเครื่องเคลือบดินเผา 2 ใบ ใบหนึ่งเป็นแจกันโบราณ และอีกใบหนึ่งเป็นแจกันที่ผลิตขึ้นใหม่ ประกอบการตั้งคำถามต่อผู้ชมในสิ่งที่พวกเขาเห็นและสังเกตได้ โดยเชื่อมโยงว่ามีสิ่งที่บ่งชี้ว่าชิ้นใดเป็นของจริง และชิ้นใดที่ลอกเลียนแบบ ในการนี้ สมุดบันทึกประกอบการชมให้คำตอบต่อคำถามและคำอธิบายเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายเทคนิค thermoluminescence รังสีอุลตราไวโอเลต และเครื่องฉายรังสีเอกซ์-เรย์ในการตรวจสอบเช่นกัน การปฏิบัติการอนุรักษ์ ส่วนที่ว่าด้วยการปฏิบัติการเริ่มต้นด้วยการเชื้อเชิญให้ผู้ชมประกอบภาชนะดินเผาที่แตกหัก และให้ชื่อแจกันตามแผนภาพแสดงรูปทรงแจกันสมัยกรีก คณะทำงานเห็นว่ากิจกรรมการมีส่วนร่วมเช่นนี้จะทำให้ผู้เข้าชมเข้าใจถึง ความอดทนพากเพียรที่นักอนุรักษ์ต้องมีในการปฏิบัติงาน แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การเชื่อมโยงแง่มุมทั้งหมดของสิ่งจัดแสดง กิจกรรมไม่ใช่เพียงการทำให้ผู้ชมตระหนักถึงวิธีการอนุรักษ์หม้อเก่าใบหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นวิธีการที่จะทำให้ผู้ชมสนใจในเนื้อหาวิชาการของนิทรรศการโดยภาพรวมด้วย กิจกรรมอนุรักษ์แจกันเกริ่นนำการจัดแสดงเกี่ยวกับการอนุรักษ์เครื่องเคลือบ ซึ่งเป็นการอธิบายกระบวนการทำงานของนักอนุรักษ์ในการประกอบแก้วดื่มไวน์สมัยกรีกที่แตกหักเป็นลำดับ ขั้นตอนการทำงานประกอบเรียงตามลำดับในแนวนอน เริ่มต้นด้วยการที่ผู้ชมสังเกตชิ้นส่วนของแก้วไวน์บนแผ่นกระดาษตีตาราง จากนั้น แก้วในกระบะทรายได้รับการประกอบด้วยตัวเชื่อมที่สามารถชะล้างออกได้ เพื่อเป็นการย้ำว่างานซ่อมแซมทั้งหลายจะต้องสามารถแก้ไขได้ในอนาคต ชิ้นงานยังประกอบด้วยส่วนของหูจับและขาที่ทำมาจากวัสดุทดแทน ทำให้ชิ้นส่วนมีความสมบูรณ์ และขณะเดียวกันเป็นการแสดงให้เห็นชิ้นส่วนที่หายไป การประกอบชิ้นส่วนเพิ่มเติม กระทำได้ต่อเมื่อมีหลักฐานประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ การจัดแสดงจบลงที่ถ้วยไวน์ที่มีสมบูรณ์แบบ แม้ว่าส่วนที่เติมเต็มจะมีการระบายสีให้ใกล้เคียงกับสีผิวภาชนะ แต่ยังสามารถแยกความแตกต่างจากผิวเดิมได้ นักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์จะจดบันทึก ขั้นตอนการอนุรักษ์ สำหรับการประเมินผลและการศึกษาในอนาคต เนื้อหาและแนวคิดในการจัดแสดงส่วนดังกล่าวสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก  2) ผู้ชมจับต้อง ทดลอง สร้างประสบการณ์ด้วยตนเอง                                                    ในส่วนนิทรรศการ งานปฏิบัติการอนุรักษ์ การปฎิบัติการอนุรักษ์เครื่องสำริดและหินอ่อนโบราณนำเสนอด้วยภาพเปรียบเทียบ ก่อนและหลังการปฏิบัติการ พร้อมคำอธิบายที่กล่าวถึงแนวคิดและกระบวนการอนุรักษ์ คำอธิบายและภาพเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการทำความสะอาดสามารถ อ่านได้จากสมุดบันทึกประกอบการชม ที่วางใต้ชั้นที่จัดแสดงตัวอย่างการอนุรักษ์วัตถุ (ภาพที่ 2)     ผู้คนทั่วไปสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์จากการแสดงภาพก่อนและหลังการปฏิบัติการ วิธีการสื่อสารดังกล่าวสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชม แต่กลับไม่สามารถทำให้ความรู้นั้นๆ คงอยู่กับผู้เข้าชมได้ หากเปรียบไปแล้วความสัมพันธ์ระหว่างนักอนุรักษ์กับวัตถุก็ไม่ต่างไปจาก ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ การตัดสินใจลงมือแก้ไขแล้วทำให้สิ่งที่ “ป่วยไข้” ฟื้นกลับดีขึ้นคงเหมาะกับการเขียนเป็นนิยายมากกว่า เพราะการปฏิบัติการที่ควรเป็นไปน่าจะเป็นให้คำแนะนำในเรื่องอาหารและสุขภาพ โลกในปัจจุบัน การป้องกันดูจะเป็นวัคซีนที่น่าสนใจกว่าการแก้ไขในภายหลังทั้งในทางการแพทย์และทางศิลปะ ด้วยเหตุนี้ ในนิทรรศการ คณะทำงานจึงพยายามลดการให้ความสำคัญของบทบาทแพทย์-นักอนุรักษ์ และเพิ่มสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการสงวนป้องกันที่ทันสมัย สภาพแวดล้อม การจัดแสดงตัวอย่างการควบคุมบรรยากาศของนิทรรศการด้วยการใช้ประติมากรรมขนาดย่อม เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม (ภาพที่ 3) ตัวอย่างแสดงให้เห็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน-การสงวนรักษาหลายปัจจัย ที่ช่วยให้สิ่งแวดล้อมคงที่และอยู่ภายใต้การควบคุม แท่นรองแสดงให้เห็นว่าประติมากรรมได้รับการจัดวางอย่างไร ถาดวัสดุดูดความชื้น (Celica gel) และเครื่องวัดความชื้นในระบบดิจิตอลแสดงให้เห็นการทำงาน สมุดบันทึกประกอบอธิบายรายละเอียดความสำคัญของการติดตั้งเครื่องมือควบคุมความชื้น ระดับความเข้มของแสง และระดับรังสีอัลตร้าไวโอเลต ตัวอย่างแสดงไม่สามารถสร้างความสนใจต่อผู้ชมได้มาก เท่ากับวีดิทัศน์ และแบบทดลองการประกอบแจกัน แต่ผู้ชมใช้เวลาไม่น้อยในการพิจารณาเนื้อหาเกี่ยวกับการสงวนรักษา และการทำงานที่ต่อเนื่องในการดูแลงานผลงานศิลปะในการจัดแสดงและในคลังวัตถุ การจัดแสดงดังกล่าวนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ เช่นกัน  3) สิ่งจัดแสดงสาธิตตัวอย่าง การควบคุมสิ่งแวดล้อม ของนิทรรศการ                                                    ในส่วนที่ว่าด้วย สภาพแวดล้อม ในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องของไขมันและฝุ่นสะสม การจัดแสดงนำเสนอชิ้นหินอ่อนสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 4 นิ้ว ซึ่งคณะทำงานได้นำชิ้นวัตถุให้คนทั่วไปสัมผัสเป็นเวลา 1 ปีก่อนการเปิดนิทรรศการ ตัวอย่างแสดงให้ผู้ชมเข้าใจว่าด้วยเหตุใดผู้ชมจึงไม่ควรสัมผัสงานสะสมที่จัดแสดงอีกต่อไป วิธีการนำเสนอเป็นการเปรียบเทียบส่วนของวัตถุที่มีการป้องกันตรงกลางชิ้นวัตถุ และส่วนรอบๆ ที่ไม่ได้รับการป้องกันและมีการสัมผัสชิ้นงานหินอ่อน  4) “โต๊ะสะเทือน” แสดงในส่วนนิทรรศการ เรื่องสภาพแวดล้อม การจัดแสดงอื่นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกับการอนุรักษ์วัตถุ เป็นการยกตัวอย่างอันตรายที่สามารถเกิดกับงานศิลปะจากแรงสั่นสะเทือน ของแผ่นดินไหวของแคลิฟอร์เนีย แจกัน 2 ใบบนโต๊ะที่สั่นสะเทือน “เล็กน้อย” จัดแสดงในตู้ครอบแก้ว ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมจากฝ่ายศิลปกรรมของพิพิธภัณฑ์ แจกันใบหนึ่งจัดแสดงแบบชิ้นงานเดี่ยว และติดตั้งระบบการป้องกันเฉพาะ เมื่อผู้ชมกดปุ่มเครื่องกล โต๊ะจะสั่นไหว แจกันที่ติดตั้งระบบการป้องกันไม่ได้รับอันตราย ในขณะที่แจกันอีกใบได้รับความเสียหาย ตัวอย่างของแจกันในระบบรักษาความปลอดภัย เช่น การใช้ขี้ผึ้งที่ทันตแพทย์ใช้ในการรักษายึดกับแท่นแก้ว ในการจัดแสดงแจกันในห้องนิทรรศการ ผลการสำรวจ ในระหว่างช่วงอาทิตย์สุดท้ายของนิทรรศการ ส่วนงานการศึกษาและวิชาการสำรวจ ความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการของผู้เข้าชม จำนวน 125 คน ในขณะที่พวกเขาออกจากพิพิธภัณฑ์ และสัมภาษณ์ผู้ชมในเชิงลึก จำนวน 38 คน ในขณะออกจากนิทรรศการ สงวนไว้ซึ่งอดีต นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ให้ความรู้บันทึกปฏิกริยาต่างๆ ของผู้ชมนิทรรศการ ข้อมูลแสดงให้เห็นสิ่งที่สร้างความสนใจให้กับผู้ชม (ตามลำดับ) ดังนี้ วีดิทัศน์ แบบฝึกการประกอบแจกัน โต๊ะแผ่นดินไหว กล้องจุลทัศน์ การจัดแสดงแก้วไวน์ที่ได้รับการซ่อมแซม การทำความสะอาดวัตถุสำริดและหิน และการตรวจสอบความจริงแท้ของแจกัน แต่มีผู้ชมอีกจำนวนไม่น้อยที่ชอบภาพรวมนิทรรศการ โดยไม่มีข้อแตกต่างระหว่างสิ่งจัดแสดง เวลาที่ใช้ในแต่ละจุด ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคน ผู้ชมคนหนึ่งใช้เวลามากที่สุดประมาณ 10 นาที ณ จุดการประกอบแจกัน แต่หากพิจารณาในภาพรวม ผู้ชมบางคนใช้เวลามากกว่า 20 นาทีในการชมนิทรรศการทั้งหมด ทั้งการหยุดอ่าน มอง วิเคราะห์ ปฏิบัติ อย่างไรก็ดี ผู้ชมบางคนเห็นว่านิทรรศการยังไม่พูดถึงเรื่องการปฏิบัติการเชิงเทคนิคเพียงพอ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งกลับเห็นว่า นิทรรศการมีลักษณะที่เป็นเทคนิคมากเกินไป ผู้ใหญ่เป็นกลุ่มเป้าหมายของนิทรรศการตามความตั้งใจของคณะทำงาน แต่กลับมีคนเห็นว่า นิทรรศการดูตอบสนองต่อกลุ่มเด็กมากกว่า เด็กเล็กๆ ชอบจุดประกอบแจกันและโต๊ะแผ่นดินไหว ส่วนเด็กโตและเด็กวัยรุ่นเข้าถึงนิทรรศการด้วยความอยากรู้อยากเห็นและกระตือรือร้น ผู้ชมที่มีส่วนร่วมในการการสัมภาษณ์เชิงลึก 38 คน สามารถอภิปรายเกี่ยวกับหลักการอนุรักษ์สำคัญๆ อย่างน้อยหนึ่งประเด็นที่นิทรรศการได้หยิบยกขึ้นมา ขณะเดียวกัน ผู้ร่วมการประเมินผลทั้งหมดแสดงความเห็นว่าต้องการจะเห็นนิทรรศการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอนุรักษ์เช่นนี้อีก บทสรุป นิทรรศการ สงวนไว้ซึ่งอดีต นำมาซึ่งประเด็นถกเถียงและข้อมูล รวมทั้งสร้างความตระหนักในงานอนุรักษ์ให้กับผู้ชมในระดับที่กว้างและหลากหลายมากขึ้น คณะทำงานหวังว่าผู้ชมกว่า 12,000 คน รวมทั้งนักเรียน จะมีโอกาสกลับมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของเรา และพิพิธภัณฑ์อื่นในอนาคตด้วยมุมมองใหม่ๆ นิทรรศการเช่นนี้เปิดให้ผู้ชมมีมุมมองใหม่ให้เห็นความซับซ้อนของการทำงาน การชั่งน้ำหนักในการตัดสินใจ และการพัฒนาทางออกสำหรับปัญหาที่รอเราอยู่ข้างหน้า คณะทำงานเห็นว่า ด้วยการวางแผนที่รอบคอบและตรึกตรอง นิทรรศการเปิดโลกของงานอนุรักษ์สู่ความเข้าใจของคนโดยทั่วไปได้เป็นอย่างดี แปลและเรียบเรียงจากJerry C. Podany and Susan Lansing Maish“Can the complex be made simple? Informing the public about conservation through museum exhibits”.Journal of the American Institute for Conservation (1993, Vol. 32, No. 2) pp. 101 - 108.

สรุปงานสัมมนา “คลังโบราณวัตถุ: เบื้องหลังที่ถูกลืม”

20 มีนาคม 2556

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดโครงการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการจัดทำพิพิธภัณฑสถาน “โครงการจัดสัมมนา เรื่อง คลังโบราณวัตถุ: เบื้องหลังที่ถูกลืม” ขึ้น ที่ห้องประชุม 304 มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เนื่องจากการจัดเก็บโบราณวัตถุในคลัง เปรียบเสมือนหลังบ้านที่คอยดูแลวัตถุพิพิธภัณฑ์ เพื่อใช้หมุนเวียนในการจัดนิทรรศการ และใช้ในการศึกษาค้นคว้าด้านต่างๆ จึงได้เห็นความสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ และสร้างเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของบุคลากรที่ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ให้แก่สาธารณชนทั่วไป   การสัมมนาในครั้งนี้ ได้แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ ดังนี้ 1.   “ความสำคัญของการจัดการคลังวัตถุพิพิธภัณฑ์” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เพ็ญพรรณ เจริญพร 2.   “ระบบฐานข้อมูลดิจิตอลเพื่อการจัดเก็บและสืบค้นข้อมูลภายในพิพิธภัณฑ์” โดย คุณพัชรินทร์ ศุขประมูลภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มทะเบียนโบราณวัตถุศิลปวัตถุ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ คุณวัญญา ประคำ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ 3.   “คลังโบราณวัตถุ: มุมมองจากต่างแดน” โดย ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันกูล นักวิชาการอิสระ และ คุณประภัสสร โพธิ์สีทอง นักวิชาการอิสระ   “ความสำคัญของการจัดการคลังวัตถุพิพิธภัณฑ์” “คลังพิพิธภัณฑ์” เป็นที่เก็บวัตถุสะสมที่ไม่อยู่ระหว่างในการจัดแสดง ซึ่งอาจอยู่ระหว่างรอการจัดแสดง หรือเหลือจากการจัดแสดง หรือที่ไม่ได้มีไว้จัดแสดง   อ.เพ็ญพรรณ กล่าวว่า ในสมัยก่อน การเก็บสะสมของพิพิธภัณฑ์หลายๆแห่งยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน มีการรับรับวัตถุเข้ามาเก็บอย่างหลากหลาย และสะสมอยู่ในความครอบครองเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ถูกปล่อยให้รกและเต็มไปด้วยฝุ่น ทำให้ไม่สามารถนำมาจัดแสดงได้ทั้งหมด สภาพของคลังพิพิธภัณฑ์จึงไม่ได้สะท้อนให้เห็นความเป็นคลัง   แต่ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เห็นความสำคัญของคลังวัตถุมากขึ้น วัตถุที่หลากหลายนั้นก็มีการจัดการที่เป็นระเบียบ ปลอดภัย สามารถค้นหาและจัดเก็บได้ง่าย เช่น นำชั้น/ตู้หมุนมาใช้สำหรับเก็บวัตถุที่หลากหลาย ให้เหมาะสำหรับวัตถุแต่ละประเภท มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นตลอด 24 ชั่วโมง มีอุปกรณ์ควบคุมอัตโนมัติ และการเก็บวัตถุต้องเก็บไว้อย่างปลอดภัยในสภาพที่เป็นธรรมชาติของวัตถุ เนื่องจากเป็นการเก็บที่อาจใช้ระยะเวลานาน นอกจากนี้ ควรมีระบบรักษาความปลอดภัย ที่จำกัดจำนวนผู้เข้าถึงในคลัง มีระบบควบคุมการรับเข้าและนำออก มีอุปกรณ์เตือนและป้องกันภัยทั้งโจรภัย อัคคีภัย รวมถึงแผนการป้องกันและรับมือกับภัยที่เกิดขึ้น   “คลังพิพิธภัณฑ์” เป็นที่สำหรับศึกาษค้นคว้า คลังที่เป็นระบบจึงทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สมบูรณ์ คลังที่สามารถเปิดให้เข้าไปค้นคว้าได้ เรียกว่า “คลังเปิด” (open storage) คลังบางส่วนอาจจัดไว้ เพื่อการค้นคว้าโดยเฉพาะ เรียกว่า “ของสะสมเพื่อการค้นคว้า”(Study collection) คลังบางแห่งเปิดให้เข้าชม เหมือนห้องจัดแสดง เรียกว่า “คลังที่มองเห็นได้” (Visible storage) ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับพิพิธภัณฑ์   สุดท้าย อ.เพ็ญพรรณ ได้ทิ้งท้ายว่า “คลังที่เป็นระบบจะช่วยปกป้องรักษา (Protect and Preserve) ที่เป็นเป็นสมบัติอันล้ำค่าของพิพิธภัณฑ์(Museum treasure) ให้เป็นมรดกตกทอดให้กับคนรุ่นหลังต่อไป (as heritage for our younger generations)”   “ระบบฐานข้อมูลดิจิตอลเพื่อการจัดเก็บและสืบค้นข้อมูลภายในพิพิธภัณฑ์” คุณพัชรินทร์ได้เริ่มการบรรยายถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นสถานที่จัดเก็บแสดงโบราณสถาน โบราณวัตถุ ซึ่งมีคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (คลังกลาง) เป็นศูนย์กลางเก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ไม่ได้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างมาสงวนรักษา จัดเก็บโดยยึดหลักการจำแนกตามประเภทของวัตถึ และแสดงไว้ในลักษณะ “คลังเปิด” (Visible storage) สามารถให้บริการความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายได้ ซึ่งวัตถุที่จัดเก็บในคลังกลางได้มาจาก การสำรวจและการขุดค้นทางโบราณคดี การรับมอบจากหน่วยงานราชการและเอกชน และสิ่งเทียมโบราณวัตถุและสิ่งเทียมศิลปวัตถุ อายัดและยึด ในคดีลักลอบค้าและลักลอบนำเข้าหรือส่งออก   และคุณพัชรินทร์ได้เล่าถึงการจัดองค์ความรู้ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติว่า มีหน้าที่การรับวัตถุ การศึกษาจำแนกประเภท การบันทึกข้อมูลวัตถุ/การจัดทำทะเบียนวัตถุพิพิธภัณฑ์ การสงวนรักษา การจัดเก็บวัตถุในคลังที่แบ่งตามประเภท การดูแลรักษาความปลอดภัย และการให้บริการ การบริการแบ่งได้ 3 ประเภท   การศึกษาค้นคว้าทั่วไป เช่น ใช้บริการสืบค้นข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาในการค้นคว้า ศึกษาหรือชมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากมุมมองภายนอกห้องคลังต่างๆ การศึกษาค้นคว้าเฉพาะเรื่อง เช่น ขอศึกษารายละเอียดโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ต้องการได้ โดยแจ้งความประสงค์และขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ในห้องให้บริการที่จัดไว้โดยเฉพาะ และให้คำปรึกษาในด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง การให้ยืมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชั่วคราว เพื่อนำไปจัดแสดง ในอนาคต คุณพัชรินทร์กล่าวว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะสร้างศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งติดตามได้ที่www.nationalmuseums.finearts.go.th   ต่อมา คุณวัญญา ได้บรรยายถึงเรื่องฐานข้อมูลว่า ฐานข้อมูล คือ การรวบรวมข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กัน มีการกำหนดรูปแบบ การจัดเก็บอย่างเป็นระบบเก็บรวมไว้ด้วย   เราจำเป็นต้องจัดเก็บข้อมูลในระบบฐานข้อมูล เพราะลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล หลีกเหลี่ยงความขัดแย้ง สามารถใช้ข้อมูลร่วมกัน รักษาความถูกต้องเชื่อถือได้ กำหนดความเป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถกำหนดระบบความปลอดภัยและความเป็นอิสระของข้อมูลและโปรแกรม   และควรพิจารณาถึงการจัดเก็บข้อมูลว่า ประเภทของข้อมูล ที่ประกอบไปด้วย อักขระ/ข้อความ เชิงจำนวน กราฟฟิก ภาพลักษณ์ เสียง นั้นเป็นแบบไหน ส่วนโปรแกรมที่ใช้ในระบบฐานข้อมูลดิจิตอลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คือ   โปรแกรมประยุกต์ (Application Program) เช่น โปรแกรมCOBOL, Cเป็นต้น เป็นโปรแกรมที่เขียนขึ้นมาโดยใช้ภาษาระดับสูง เพื่อทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ   และโปรแกรมจัดการฐานข้อมูล (Database Management System) เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ให้บริการแก่ผู้ใช้งานฐานข้อมูล และผู้เขียนโปรแกรมในการจัดการข้อมูลใดๆในฐานข้อมูล เช่น โปรแกรม MS, ACCESS, ORACLE, MySQL เป็นต้น   “คลังโบราณวัตถุ: มุมมองจากต่างแดน” เสวนาในช่วงนี้ เริ่มต้นด้วย อ.ปริตตา และได้ขอใช้ชื่อเรื่องว่า “คลังโบราณวัตถุและวัตถุสะสมที่มีชีวิตและมีคน” โดยใช้การเล่าเรื่องพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกาแห่งหนึ่งที่อาจารย์ชื่นชอบ ยกตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยที่สามารถทำตามกำลังและบริบท และทำอย่างไรให้วัตถุในพิพิธภัณฑ์มีความสัมพันธ์กับคน อ.ปริตตา เล่าว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ เดิมรัฐ/หน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของ ที่เน้นการแสดงวัตถุและศิลปะเป็นหลัก มีหน้าที่หลัก คือ การจัดเก็บทำประเภท การทำทะเบียน การเผยแพร่ และการให้การศึกษา โดยอาศัยความรู้จากผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการ นักพิพิธภัณฑ์ แต่ในปัจจุบันเจ้าของพิพิธภัณฑ์นั้นล้วนมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น บุคคล คณะบุคคล โรงเรียน วัด ชุมชน เอกชน เน้นเรื่องที่หลากหลายและร่วมสมัยมากขึ้น บางแห่งทำเป็นเว็บไซต์ เช่น วัดประตูป่า จ.ลำพูน นอกจากนี้ชาวบ้าน/ชุมชนที่เป็นเจ้าของวัตถุได้เข้ามามีส่วนร่วม และทางพิพิธภัณฑ์ได้อาศัยความรู้ต่างๆจากคนเหล่านี้   ส่วนพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกาอาจารย์ชื่นชอบนั้น คือ พิพิธภัณฑ์อเมริกันอินเดียนแห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียน สหรัฐอเมริกา ได้เปิดทำการมา5 ปีแล้ว โดย Gustav Hayeมีดูและสะสมของวัตถุของชาวอเมริกันอินเดียนตั้งแต่คริสตวรรษที่ 19 จำนวนประมาณ 800,000 ชิ้น ซึ่งเป็นวัตถุที่กำลังสูญหายไปจากสหรัฐอเมริกา พิพิธภัณฑ์นี้ต้องการให้เกียรติและให้เจ้าของวัฒนธรรมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกระบวนการตามแนวคิดสิทธิของชนพื้นเมือง และมีรูปแบบสถาปัตยกรรมของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้สื่อถึงสายลมและสายน้ำ อันเป็นธรรมชาติที่ผูกพันกับชีวิตของชาวอเมริกันอินเดียน มีการจัดแสดงตามแนวเรื่องที่ชุมชนอเมริกันอินเดียนต้องการ และมีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกันอินเดียน   อ.ปริตตาเล่าต่ออีกว่า พิพิธภัณฑ์อเมริกันอินเดียนมีศูนย์ทรัพยากรวัฒนธรรม ชื่อว่า “The cultural Resource Center, Maryland” ทำหน้าที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุจากชาวอเมริกันอินเดียน โดยชุมชนอเมริกันอินเดียนจะมีส่วนร่วมตัดสินใจในทุกขั้นตอน ศูนย์แห่งนี้เป็นคลังเก็บวัตถุที่ไม่ได้ใช้ในการจัดแสดง มีการดูแลรักษา ซ่อมแซม และเป็นคลังเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาค้นคว้าได้ นอกจากนี้ มีพื้นที่ให้เจ้าของวัฒนธรรมเข้ามาใช้ประโยชน์จากวัตถุที่สะสมไว้ โดยมีการจัดเนื้อที่ไว้เป็นห้องทำพิธีของชนพื้นเมืองที่ใช้วัตถุจากคลัง และยังคืนวัตถุบางส่วนให้ชุมชนที่เป็นเจ้าของ   “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จ.นครปฐม” เป็นพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยที่อ.ปริตตาได้ยกตัวอย่างขึ้นมา เนื่องจากมีการทำคลังวัตถุอย่างง่ายๆ โดยใช้เหล็กฉาบมาทำเป็นหิ้งในการเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์ และมีการเชิญชวนเด็กๆในชุมชนมาช่วยทำทะเบียนวัตถุ ซึ่งทำให้เด็กๆ ได้รู้จักวัตถุสิ่งของเหล่านั้นไปด้วย และสอนเด็กๆเก็บข้อมูลจากผู้อาวุโส ผลลัพธ์ในทางอ้อมก็คือ ทางวัดได้มีทะเบียนวัตถุเก็บไว้ด้วย   คลังวัตถุจะมีชีวิตได้อย่างไร เป็นประเด็นสุดท้าย ที่อ.ปริตตาได้กล่าวไว้ ซึ่งเราควรให้พื้นที่และการดูแล เพื่อให้คนภายนอกสามารถเข้าไปใช้ได้ ให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวก ให้ข้อมูลเพิ่มเติม แก่นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจศึกษา ในกรณีที่เป็นวัตถุวัฒนธรรม ควรให้เจ้าของวัฒนธรรมได้มาร่วมตัดสินใจ ร่วมช่วยงาน และร่วมเป็นเจ้าของ และควรให้พื้นที่สำหรับความรู้และประสบการณ์ของเจ้าของวัฒนธรรม ชุมชน หรือผู้อื่นที่มีประสบการณ์กับวัตถุสะสม โดยให้ชุมชนสามารถเข้าถึงวัตถุสะสม และใช้ประโยชน์ได้ตามสมควร ช่วงต่อมา อ.ประภัสสรนั้น เปิดประเด็นมาพร้อมกับความรู้สึกหนักใจเรื่องคลังวัตถุในประเทศไทย แต่อ.ประภัสสรได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยก็มีคลังที่ใช้ได้ และสามารถเติบโตได้ ถ้าจัดการทำทะเบียนให้เป็นระบบและตรงประเด็น   “คลัง” งานเก็บรวบรวมหรือจัดหาวัตถุต่างๆ (collection acquisition) ซึ่งอาจจะการการสำรวจภาคสนาม การขุดค้นทางโบราณคดี การรับบริจาค การจัดซื้อ การแลกเปลี่ยน การยืม แต่คลังมักมีไม่มีนโยบายในการจัดเก็บที่ถูกต้อง เนื่องจากเก็บวัตถุทุกอย่าง จึงทำให้ประเทศไทยไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอะไร เก็บอย่างไร และมีพื้นที่ในการจัดเก็บพอไหม หลักการง่ายๆในการจัดเก็บ ถ้ามีของซ้ำๆกันมากๆ อาจจะต้องเลือกเก็บ เพื่อให้มีการจัดการคลังที่ง่ายขึ้น แต่พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าจัดการ การเก็บวัตถุแบบนั้น   และ อ.ประภัสสร ได้ยกตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศที่มีระดับใกล้เคียงกับพิพิธภัณฑ์ของไทย ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ซานตาบาร์บารา รัฐแคลิฟอเนียร์ พิพิธภัณฑ์นี้มีระบบคลังที่มาตรฐาน มีความยืดหยุ่นในการออกแบบเรื่องการจัดเก็บของขนาดวัตถุที่มีความหลากหลาย โดยสามารถปรับระดับชั้นต่างๆได้ มีเจ้าหน้าที่จัดทำฐานข้อมูลทะเบียนในคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ มีตู้เก็บแฟ้มบันทึกรายงานการสำรวจ มีระบบทะเบียนหรือระบบคลังที่ดี ซึ่งทั้งหมดล้วนทำให้คนในพิพิธภัณฑ์ทำงานง่ายขึ้น ฉะนั้น สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงระบบคลัง คือ พื้นที่ภาพรวม สามารถขยายหรือยืดหยุ่นได้ไหม และคลังที่ดี ควรต้องควบคู่ไปกับการดูแลรักษาและการอนุรักษ์ ตู้ที่ใช้ควรไม่ติดพื้น เพราะฝุ่นอาจจะเข้าไปได้ง่าย ส่วนการจัดแสดงแบบคลังเพื่อการเรียนรู้ (Study Collection) นั้น ควรมีชั้นกั้นไม่ให้ผู้ชมเข้าใกล้วัตถุมากเกินไป   นอกจากนี้ มีตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศอื่นๆที่น่าสนใจที่ประเทศไทยสามารถนำไปปรับใช้ได้ เช่น San Diego Museum of Arts มีห้องให้บริการภาพถ่ายงานศิลปะของพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบของ Photo Bank พิพิธภัณฑ์ในเมือง Christchurch, New Zealandมีห้องสมุดเพื่อการค้นคว้าข้อมูลวัตุพิพิธภัณฑ์ Australia Museum, Sydney มีมุมเรียนรู้สำหรับเด็ก   ส่วนตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้น อ.ประภัสสรยกตัวอย่าง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม จ.ราชบุรี ที่ได้ลงพื้นที่ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร อ.ประภัสสรเล่าถึง วิธีการทำคลังผ้าแบบง่ายและประหยัด โดยใช้อุปกรณ์ที่สามารถหาได้ทั่วไปตามท้องตลาด   ก่อนปิดท้ายสัมมนาในครั้งนี้ อ.ประภัสสรได้ฝาก “เวทีพิพิธภัณฑ์” ในเฟชบุ๊ก Social network ที่ได้รับกระแสนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพื่อไว้เป็นการรวมตัวแลกเปลี่ยนข่าวสารและความคิดเห็นของชาวพิพิธภัณฑ์และผู้ที่สนใจ ซึ่งในอนาคตอาจสามารถสร้างอำนาจต่อรองเรื่องพิพิธภัณฑ์ในสังคมไทยได้ และอ.ปริตตาได้ให้ความหวังกับพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ที่มีก้าวหน้าขึ้น จากสมัยที่อ.ปริตตาทำงานอยู่ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรช่วงแรก พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 300-400 แห่ง แต่ปัจจุบันในฐานข้อมูลของศูนย์ฯมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 1,200 กว่าแห่ง ฉะนั้นเราควรมีพัฒนาการหลายๆด้าน เพราะการพัฒนาทำให้พิพิธภัณฑ์ต่างๆสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ในสังคม    

การตอบโต้ของโลกตะวันออก การท่องเที่ยว เสน่ห์ตะวันออก และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สิงคโปร์

20 มีนาคม 2556

บทคัดย่อ บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาการท่องเที่ยวเชิงวิพากษ์ ด้วยการใช้แนวคิด “แนวคิดนิยมตะวันออก” (Orientalism)1 ของ Edward Said บทความจะวิเคราะห์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สิงคโปร์ 3 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย ที่เชื่อมโยงกับตัวตนของความเป็นเอเชียนสิงคโปร์ สิงคโปร์กลายเป็นเมืองที่มีความทันสมัยและเป็นตะวันตกมากเกินไปสำหรับนัก ท่องเที่ยวชาวตะวันตกหลายๆ คน และทางการกำลังพัฒนาให้ประเทศมีความเป็นเอเชียมากขึ้น ในขณะที่งานการศึกษาจำนวนมากที่ใช้แนวคิดของซาอิดพยายามกล่าวถึงอิทธิพลของ ตะวันตกต่อตะวันออก แต่บทความนี้แย้งว่าโลกตะวันออกนั้นสามารถจะตอบโต้การมองอย่างผิวเผินของโลก ตะวันตกที่มีต่อพวกเขาได้ ในกรณีศึกษานี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งสามแห่งได้ปรับตัว เลือกรับ และสร้างความเป็นตะวันออก เพื่อสร้างลักษณะเฉพาะและความเหนือกว่าของสิงคโปร์ในฐานะเมืองท่องเที่ยวและ ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมเอเชีย วิธีการต่างๆ ที่สิงคโปร์เลือกใช้ในการสร้างตัวตนความเป็นเอเชีย ได้ตอบสนองต่อจุดมุ่งหมายในการสร้างชาติด้วยเช่นกัน   คำสำคัญ: การศึกษาการท่องเที่ยวเชิงวิพากษ์, มรดก,การสร้างชาติ,เสน่ห์ตะวันออก,วิศวกรรมทางสังคม   เกริ่นนำ นักวิจัยจำนวนมากให้ความสนใจกับผลกระทบทางสังคมของการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ประกอบด้วยแนวทางการสิวิจัยกระแสหลักๆ มีอย่างน้อย3 แนว ได้แก่ แนวแรกซึ่งพบมากจะกล่าวถึงประเด็นที่สัมพันธ์กับปัญหาต่างๆ เช่น ปริมาณความหนาแน่นของแหล่งมรดก การลดคุณค่าของงานหัตถกรรมท้องถิ่น การขายวัฒนธรรมพื้นถิ่น การสร้างให้คติชนของชนพื้นถิ่นเป็นเรื่องน่าพิศมัย ไปจนถึงภาวะเงินเฟ้อและปัญหาการลักลอบขนถ่ายวัตถุวัฒนธรรม (Cohen 1988; Philo and Kearns 1993; Van der Borg, Costa and Gotti 1996; Watson and Kropachevsky 1994) หรือนักวิชาการบางคนถึงขนาดมองการท่องเที่ยวเป็นรูปแบบหนึ่งของการล่าอาณานิคมและ “การขายตัว” (Mathews 1975: 201)   แต่ใช่ว่าผลกระทบทางสังคมของการท่องเที่ยวจะเป็นไปในเชิงลบเสียทั้งหมด การศึกษาจำนวนหนึ่งแสดงให้เห็นว่าผลกระทบเชิงวัฒนธรรมที่เกิดจากการท่อง เที่ยวกลับได้รับความชื่นชมและการต้อนรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจุดหมายปลาย ทาง(Boissevain 1996; Erb 2000; Martinez 1996; Picard 1995) และนักวิจัยอีกหลายคนพยายามสร้างสรรค์แนวทางการจัดการที่สมดุลย์ในการพัฒนาการท่องเที่ยว (Chang 1997; Jenkins 1997; Newby 1994; Teo and Yeoh 1997)   งานวิจัยกระแสที่สองมองไปที่มิติทางการเมืองในการนิยามและจัดการสิ่งที่เรียก ว่าเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สมดุลย์และให้ความเป็นธรรม ในขณะที่นักวิจัยและผู้ปฏิบัติบางคนกลับไม่เห็นด้วยกับความต้องการที่จะ พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสมดุลย์ เพราะคำถามอยู่ที่ว่าแล้วจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร ตัวอย่างเช่นการใช้แนวคิด “ทางเลือกที่สาม” ของกิดเดน ในงานเขียนของเบิร์น (2004) ได้กล่าวถึงมุมมองแบบแยกขั้วของการท่องเที่ยว ในมุมมองหนึ่ง หากมองแบบ “ซ้ายจัด” การพัฒนาต้องมาก่อน (leftist development first) นั่น หมายความว่า “การพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยจะต้องมาจากคนในท้องถิ่นและความรู้จากถิ่นที่นั้น” คำถามหลักของการพัฒนาต้องมองว่า “สิ่งใดบ้างที่การท่องเที่ยวให้กับเราได้โดยไม่ทำร้ายเรา” (Burn 2004: 6) ส่วนมุมมองที่สองมองจาก “ขวาจัด” ที่การท่องเที่ยวต้องมาก่อน (rightist tourism first) มุม มองที่เน้นว่าการตลาดต้องได้ผลประโยชน์อย่างสูงสุด และทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุด ผลิตภัณฑ์จากทุกแหล่งทุกลักษณะขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งกำหนดโดยนักวางแผนภายนอกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ (Burns 2004: 26)   ทางเลือกที่สามได้หาทางออกให้กับผลประโยชน์และเป้าหมายที่ต่างกันให้เป็น ฉันทามติร่วมกัน ทางเลือกที่สามของเบิร์นส์ยังคงเป็นแนวคิดที่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ สังคมที่เป็นเจ้าบ้านที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว(host society) แต่ละแห่งได้พบทางออกของตนเองในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างเดนมาร์กกับสิงคโปร์ กลยุทธ์การพัฒนาการท่องเที่ยวของเดนมาร์กเน้นไปที่การป้องกันผลกระทบทาง สังคมอันเกิดจากการท่องเที่ยว ในขณะที่ สิงคโปร์กลับซึมซับผลกระทบและจัดการสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยโครงการวิศวกรรมทาง สังคม2 (Ooi 2002a) ทั้งทางการสิงคโปร์และเดนมาร์กกล่าวอ้างถึงโครงการต่างๆ ของตนว่าได้สร้างความสมดุลย์ ระหว่างการท่องเที่ยวและความต้องการของท้องถิ่น (Ooi 2002a) วิถี ทางที่สมดุลย์ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและการเมืองของสังคมที่เป็นเจ้าบ้าน กระบวนการทางการเมืองเข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดผลประโยชน์ว่าจะตกแก่กลุ่ม ใด   กระแสการวิจัยที่สามที่ศึกษาผลกระทบของการท่องเที่ยวมองไปที่ว่า “ตะวันตก” จินตนาการอย่างไรถึงภาพของแหล่งการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ตะวันตกและที่มีว่า สภาพพัฒนาน้อยกว่า จินตนาการของสังคมตะวันตกส่งผลต่อสังคมเจ้าบ้านและกลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง การล่าอาณานิคม นอกไปจากงานเขียนจำนวนน้อยนิด เช่นงานของมอร์แกนและพริตชาร์ด (1998) อุย, คริสเตนเซน และพีเดอเซน (2004) เซวีน (1993) และซิลเวอร์ (1993) แนวทางการวิจัยแนวนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างจำกัด บทความนี้จัดวางตัวเองอยู่ในกระแสการวิจัยสายนี้ด้วยเช่นกัน   การศึกษาในกระแสดังกล่าวสนใจศึกษาผลกระทบที่ซับซ้อนของภาพลักษณ์แหล่งท่อง เที่ยวของสังคมเจ้าบ้าน ไม่ใช่เพียงภาพตื้นๆ และภาพที่มองอย่างล้อเล่น แต่เป็นภาพส่งอิทธิพลต่อสังคมเจ้าบ้าน และได้รับผลจากสิ่งที่เรียกว่าอิทธิพลตะวันตกต่อชุมชนเจ้าบ้านที่พัฒนาน้อย กว่า การศึกษาดังกล่าวนี้มาจากมุมมองเชิงวิพากษ์ของเอดเวิร์ด ดับเบิลยู. ซาอิด ที่กล่าวถึงแนวคิดนิยมตะวันออก (Orientalism) (Said 1979)   บทความชิ้นนี้จะเปรียบเทียบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์3 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ (SHM) พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ (SAM) และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย (ACM) ทั้ง สามแห่งนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นเอเชียและแตกต่างกันไปในแต่ละทิศทาง ผู้เขียนขอกล่าวว่ากระบวนการนี้เป็นการสร้างภาพของความเป็นตะวันออกด้วยตนเอง (self-Orientalization) ใน สิงคโปร์ บทความจะแสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวชาวตะวันตกเรียกร้องอย่างไรต่อแหล่ง ท่องเที่ยวอย่างสิงคโปร์ให้เป็นมากกว่าเอเชีย จุดเน้นของบทความจะอยู่ที่การพิจารณาว่าหน่วยงานการท่องเที่ยวสิงคโปร์และ รัฐบาลสร้างภาพความเป็นตะวันออกของสิงคโปร์ผ่านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง สามแห่งอย่างไร เพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวและการสร้างชาติสิงคโปร์ บทความจะย้อนกลับไปตั้งคำถามตามมุมมองของซาอิดเกี่ยวกับอิทธิพลตะวันตกต่อ ตะวันออกในประเด็นที่ว่า สังคมเจ้าบ้านได้ยอมรับและประดิษฐ์สร้างภาพความเป็นตะวันออกในโครงการสร้าง อัตลักษณ์ของตนเองอย่างไร การอภิปรายแนวคิดนิยมตะวันออกไม่ควรจำกัดอยู่เพียงการมองว่าตะวันตกส่ง อิทธิพลต่อตะวันออกที่ “อยู่ใต้อาณัติ” อย่างไร กลุ่มอำนาจในสังคมแหล่งท่องเที่ยวได้เลือกรับและปรับใช้ภาพความเป็นตะวันออก ที่จะยังประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการสร้างภาพอัตลักษณ์ท้อง ถิ่นขึ้นใหม่อย่างไร การสร้างภาพของความเป็นตะวันออกของสังคมเจ้าบ้านจะต้องได้รับการศึกษาและทำ ความเข้าใจจากบริบททางสังคมและการเมืองของท้องถิ่นแห่งนั้น   ในลำดับถัดไป ผู้เขียนจะกล่าวถึงการท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นรูปแบบของอิทธิพลภายในกรอบการ มองของซาอิด ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอกรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์3 แห่งของสิงคโปร์ พิพิธภัณฑสถานสามแห่งนี้จัดตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (STB) เพื่อ สร้างสิงคโปร์ให้เป็นเอเชียมากขึ้น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ได้สร้างให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความโดน เด่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ผลักดันให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านศิลปะของเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียได้ขุดรากเหง้าของบรรพชนสิงคโปร์ที่เชื่อมโยง กับจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง   จากนั้น เป็นการสำรวจว่าพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งสร้างภาพความเป็นตะวันออกของสิงคโปร์ อย่างไร และแต่ละแห่งสร้างเรื่องเล่าใหม่เพื่อปั้นแต่งจินตนาการสนองการท่องเที่ยว และท้องถิ่นอย่างไร ในทำนองเดียวกัน การจะเข้าใจเรื่องเล่าเหล่านี้จะต้องคำนึงสภาพและเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของสิงคโปร์ ส่วนสุดท้ายจะสรุปข้อโต้แย้งและข้อสนับสนุนความเข้าใจที่คลุมเครือของการ ท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นรูปแบบทรงอิทธิพลในการศึกษาการท่องเที่ยวเชิง วิพากษ์   การท่องเที่ยวและแนวคิดนิยมตะวันออก จากแนวทางการวิพากษ์ของฟูโกต์ ซาอิด(1979) ได้ ตั้งคำถามและท้าทายแนวคิดนิยมตะวันออก ซาอิดได้ควบเกลียวของจักรวรรดินิยมทั้งทางวัฒนธรรมและการเมืองเข้าด้วยกัน และได้กล่าวว่า ผู้ที่สร้างภาพของความเป็นตะวันออก ทั้งนักเขียนและนักวิชาการ ‘ตะวันตก’ ผู้ที่ศึกษาความเป็นตะวันออก ได้เคยเสนอภาพที่ผิดพลาด และยังคงนำเสนอภาพที่ผิดพลาดของโลกอิสลามในตะวันออกกลางในลักษณะที่ดูเหมือน ว่าตะวันตกจะครอบงำความเป็นตะวันออกได้ง่ายดาย ซาอิดเชื่อว่าความเป็นตะวันออกไม่ใช่เพียงสาขาวิชา แต่เป็นวาทกรรมเชิงอุดมการณ์ที่ยังคงพันเกี่ยวกับอำนาจของโลกตะวันตกอย่าง ไม่สิ้นสุด ซาอิดให้เหตุผลว่า นักวิชาการตะวันตกที่ศึกษาตะวันออกได้นำเสนอและแพร่ขยายภาพเฉพาะบางอย่างของ โลกตะวันออก โดยเน้นที่ความแตกต่างของจิตวิญญาณของโลกตะวันออกที่ต่างออกไปจากsinvตรง ข้ามกับจิตวิญญาณของโลกตะวันตก ภาพเช่นนั้นได้สร้าง คัดสรร และกล่าวถึงโลกตะวันออกในลักษณะที่เกินจริง และภาพต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามความจริงเชิงประจักษ์ และลดทอนความสำคัญของความหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรม รูปแบบสังคม และโครงสร้างการเมืองในสิ่งที่เรียกว่าเป็นตะวันออก แนวคิดที่ซ่อนไว้เมื่อกล่าวถึงความเป็นตะวันออก จึงเป็นภาพของความต่ำต้อย การแสดงอำนาจบาทใหญ่ และไร้ซึ่งอารยธรรม   ตรรกะและหลักการที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีของซาอิดเกี่ยวกับความเป็นตะวันออก บันดาลใจให้นักวิชาการหลายคนได้ขบคิดเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับการที่ผู้คนคิดกับ สังคมอื่นอย่างไร และผู้คนเหล่านั้นจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างไรในกิจกรรมต่างๆ การอภิปรายด้วยแนวคิดนิยมตะวันออกได้จับประเด็นการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ แอฟริกา(Jeyifo 2000; Mazuri 2000) เอเชียตะวันออก (Clarke 1997; Dirlik 1996; Hill 2000; Hung 2003) และยุโรปตะวันออก (Ash 1989; Kumar 1992; Ooi et al. 2004) การ วิเคราะห์ด้วยมุมมองนิยมตะวันออกยังผลักดันให้นักวิชาการกำหนดกรอบการนำเสนอ ความเป็นอื่นอย่างผิดพลาดและกล่าวอย่างกวาดรวมๆ ไป ทั้งเรื่องเพศและเพศสภาพ (ในงานของ Albet-Mas and Nogue-Font 1998; Lewis 1996; Mann 1997; Prasch 1996) เชื้อชาติและสำนึกชาติพันธุ์ (Jeyifo 2000; Mazrui 2000) และศาสนา (Amstutz 1997; Burke III 1998; Kahani-Hopkins and Hopkins 2002; Zubaida 1995) การ จัดแบ่งระหว่างความเป็นตะวันตกและตะวันออกไม่ได้แตกต่างไปจากการแยกขั้ว ระหว่างเหนือกับใต้และความจนกับความรวย ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการตอบโต้ต่อโลกาภิวัตน์ ทั้งอิทธิพลทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของโลกตะวันตก (Chua 2003; Klein 2000; Shipman 2002) นักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเช่น Clifford (1997) Echtner และ Prasad (2003) Morgan และ Pritchard (1998) Ooi และคณะ (2004) และ Silver (1993) ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิดของซาอิดทั้งสิ้น   ข้อท้าทายของซาอิดต่อแนวคิดนิยมตะวันออกมีความสำคัญและมีนัยทางการเมือง มุมมองเชิงวิพากษ์แสดงให้เห็นว่าใครได้ประโยชน์ ใครถูกทำลาย ใครเป็นผู้แพร่ภาพ/ แนว คิดเกี่ยวกับตะวันตก และผลจากการรับภาพนั้น แนวทางในการวิเคราะห์จึงเป็นการมองหาสารที่อยู่ในภาพจากการเผยแพร่และความ หมายเชิงอุดมการณ์ที่อยู่ในสารดังกล่าว สารทั้งหมดถูกพิจารณาในฐานะของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างกลุ่มที่นำเสนอภาพความเป็นอื่นอย่างผิดพลาดและตัวผู้ที่ “เป็นอื่น” นั้นเอง คำบางคำจะถูกเลือกเพื่อนำเสนอในสาร ความหมายถูกทำให้เข้มข้นขึ้น แต่ขณะเดียวกันมีความหมายหลายอย่างที่ถูกเลือกทิ้งไป อย่างเช่นภาพของสิงคโปร์ที่ถูกกล่าวถึงในสถานีวิทยุอังกฤษเกี่ยวกับรายการ ท่องเที่ยวพักร้อน งานเขียนของ Morgan และ Pritchard (1998: 225-228) แสดงให้เห็นความน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับว่าสิงคโปร์ถูกสร้างขึ้นอย่างไร ภาพอดีตอาณานิคม ยาแผนจีน (สัตว์เลื้อยคลาน ม้าน้ำ และแมงป่องตากแห้ง) และ กฎเกณฑ์ที่เด็ดขาดเข้มงวด วิทยุไม่ได้พูดถึงว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ขับไล่เจ้า อาณานิคมอังกฤษออกไปในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ มีคนสิงคโปร์จำนวนน้อยมากที่ใช้แพทย์แผนจีนเพื่อการรักษาเป็นทางเลือกแรกใน ปัจจุบัน ส่วนกฎและระเบียบต่างๆ ที่เข้มงวดก็ปรากฏในทุกประเทศรวมทั้งอังกฤษด้วย ฉะนั้น ภาพที่ปรากฏในสื่อจึงเป็นการเสนอว่า สิงคโปร์คือความสำเร็จของอาณานิคมที่ชอบธรรม (ขอบคุณอังกฤษ) สิงคโปร์ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่เปี่ยมด้วยเสนอเอเชียอย่างไม่เสื่อมคลาย และสิงคโปร์ไม่เป็นประชาธิปไตย คนที่มองภาพของสิงคโปร์จะเห็นถึงประสบการณ์ของมรดกอาณานิคมอังกฤษในสิงคโปร์ ได้มองเห็นการเยียวยารักษาของคนเอเชีย และชีวิตที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ภาพและสารประเภทนี้จะเร้าผู้ชม ขายจุดมุ่งหมายการท่องเที่ยว และให้ภาพของสังคมเจ้าบ้านอย่างดาดๆ   ภาพเช่นว่านี้มีลักษณะที่เป็นแนวคิดนิยมตะวันออก(การสร้างภาพของเสน่ห์ตะวันออก) ประการ แรกภาพดังกล่าวมีลักษณะที่ผิวเผินและมาจากการนำเสนอภาพที่ผิดพลาด แต่กลับถูกนำเสนอด้วยสื่อที่น่าเชื่อถือและปรากฏในลักษณะที่เป็นข้อเท็จจริง ประการที่สอง ภาพดาดๆ ดังกล่าวมุ่งหมายในการย้ำภาพกว้างๆ ของ “ความเป็นอื่น” อยู่แล้ว ในกรณีของสิงคโปร์ก็คือเป็นมรดกอาณานิคมที่ยังคงมีความเคลื่อนไหว ชาวสิงคโปร์ชอบการรักษา “แปลกๆ” และสิงคโปร์ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเสียทีเดียว ประการที่สาม การนำเสนอภาพที่ผิดพลาดกลับได้รับการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางและผ่านสถาบัน ต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชน กิจกรรมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว และสิ่งที่ได้ยินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ประการที่สี่ สารที่สร้างความเป็นอื่นถูกสร้างผ่านมุมมองของสังคมตะวันตกสมัยใหม่ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นการตัดสินคนอื่นจากสายตาของโลกตะวันตก ผู้เขียนขอชี้แจงดังนี้   สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศแล้ว การได้รู้จักกับสังคมที่พวกเขาจะเดินทางไปนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย ทั้งนี้เพราะการเดินทางมีระยะสั้น พวกเขาขาดความรู้ท้องถิ่น และได้รับข้อมูลที่ผ่านการกรองแล้วจากสื่อการท่องเที่ยวต่างๆ(Ooi 2002b) นัก ท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีภาพที่ฉาบฉวย ซ้ำซาก และคัดสรรมาแล้วเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศ เพราะภาพเหล่านั้นสร้างขึ้นจากแหล่งข้อมูลจำเพาะ จากบทความแนะนำการท่องเที่ยว เรื่องในข่าว หนังสือท่องเที่ยว และเรื่องเล่าจากครอบครัวและเพื่อน แหล่งข้อมูลเหล่านี้จำนวนมากไม่น่าเชื่อถือ เช่น ภาพยนตร์ที่สร้างความน่าสนใจและสร้างเรื่องเล่าต่างๆ เพื่อกระตุ้นความปรารถนาที่จะไปยังสถานที่นั้นๆ ภาพยนตร์อย่างเรื่อง Braveheart และ Lord of the Ring ทำ ให้สก็อตแลนด์และนิวซีแลนด์กลายเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยว แต่ใช่ว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องจะสร้างเรื่องและภาพในเชิงบวกและถูกต้องตามที่ เป็นจริง ภาพยนตร์ทำเงินของฮอลลีวูด เช่น Tomb Raider ได้ใช้สถานที่บางส่วนของนครวัด (กัมพูชา) และนำไปเชื่อมโยงสถานที่ลึกลับ (ที่ไม่มีจริง) แต่กลับปรากฏอักษรภาพอียิปต์ (ในศาสนสถานทางพุทธศาสนา!) และเป็นสถานที่ของคนพื้นถิ่น (ที่ไปสัมพันธ์กับคนเลว) สำหรับ นักอนุรักษ์ การอ้างอิงเช่นนี้สร้างเรื่องเล่าใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งความพยายามในการอนุรักษ์ศาสนสถานทางพุทธศาสนา และเป็นวิถีทางที่จะชักนำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Winter 2003)   ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกมุ่งมองหาภาพเสน่ห์ตะวันออก ภาพเหล่านี้ก็ได้การสร้างอย่างเป็นทางการและส่งเสริมโดยองค์กรในประเทศนั้นๆ เอง ส่วนหนึ่งเพราะจำนวนของนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวยมีบทบาทสำคัญยิ่งกับ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในท้องถิ่น และการที่นักท่องเที่ยวมีภาพฝังใจเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวเป็นดังที่ว่านี้ จึงกลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นไปในทิศทางดัง กล่าว เช่น สิงคโปร์มีความสะอาด ได้รับการพัฒนา และพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่การโฆษณาที่พูดถึงเฉพาะความทันสมัยกลับไม่เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ มาเยือนสิงคโปร์(Ooi 2002b) ทั้ง ที่ความสะดวกสบายทันสมัยเยี่ยงในทุกวันนี้ ยังมีความสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย คือ ภาพความเป็นเอเชียยังเป็นส่วนหนึ่งของการเสนอขายการท่องเที่ยวให้กับนักท่อง เที่ยวชาวตะวันตก แน่นอนว่าความทันเสมัยและความสะดวกสบายเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว (Ooi 2002b: 127) นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกจำนวนมากที่สนใจไปเยือนสถานที่ที่แตกต่างและไม่ถูกปรับเปลี่ยนไปกับความเป็นสมัยใหม่ (Errington and Gewertz 1989; Jacobsen 2000; MacCannell 1976; Silver 1993; Srrensen 2003) และภาพที่ได้รับการเผยแพร่ยิ่งย้ำเข้าไปใน “ความสำนึกของตะวันตก” (Silver 1993:303)   นอกไปจากภาพนำเสนอตามที่นักท่องเที่ยวต้องการ ตัวแทนส่งเสริมการท่องเที่ยวเรียนรู้ภาพที่ตรึงอยู่ในความคิดของนักท่อง เที่ยวว่าส่งผลต่อประสบการณ์ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมองหาภาพในจินตนาการระหว่างการท่องเที่ยวของเขา(McLean and Cooke 2003; Prentice 2004; Prentice and Andersen 2000; Waller and Lea 1999) แต่ ภาพในจินตนาการของนักท่องเที่ยวไม่ได้เป็นไปแบบเดี่ยวหรือแข็งทื่อ ตัวแทนส่งเสริมการท่องเที่ยวจึงพยายามมองหาภาพในจินตนาการที่ชาวตะวันตกหวัง จากแหล่งท่องเที่ยวนั้น ตัวแทนเหล่านี้อาศัยความช่วยเหลือของบริษัทโฆษณาที่มีฐานอยู่ในประเทศตะวัน ตก ดังที่ Pritchard และ Morgan (2000) ได้สำรวจความต้องการที่หลากหลายของนักท่องเที่ยวตะวันตก (และมิใช่ตะวันตก) ตัว แทนเหล่านี้ไม่เพียงนำเสนอภาพของเสน่ห์ตะวันออก แต่ยังทำภาพเหล่านั้นให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น นั่นคือการสร้างผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็น “ความจริงแท้” เพื่อนักท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีตั้งแต่การแสดง “วูดู” ในไฮติ (Goldberg 1983) จนถึงการขายวัตถุ “ทางศาสนา” ของยิว (เช่น หมวกครอบศีรษะและเทียน) ในอิสราเอล (Shenhav-Keller 1995) และการเยี่ยมเยือนหมู่บ้านมังกาไร “ดั้งเดิม” ในอินโดนีเซีย (Allerton 2003) ภาพลึกลับและน่าพิศมัย (exotic images) แช่ แข็งสังคมที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวไว้กับอดีต และไม่ได้สนใจความเปลี่ยนแปลงและสังคมที่เคลื่อนไปสู่การพัฒนา ภาพและการสร้างให้เป็นรูปธรรมเช่นนี้ได้ย้ำจินตนาการของนักท่องเที่ยวที่ใฝ่ หาเสน่ห์ตะวันออก ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยอย่าง Echter และ Prasad (2003) และ Silver (1993) วิเคราะห์ ให้เห็นว่าภาพตัวแทนที่นำเสนอเกี่ยวกับโลกที่สามในการท่องเที่ยวจัดช่วงชั้น ความสัมพันธ์ของประเทศกำลังพัฒนาไว้ในลักษณะที่ด้อยกว่า สถานที่ต่างๆ มีสภาพที่ล้าหลัง ผู้คนกระตือรือร้นที่จะให้บริการ และแหล่งท่องเที่ยวเช่นนั้นก็เป็นเพียงสนามเด็กเล่นทางวัฒนธรรม   แม้กระทั่งพิพิธภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือและความเป็นวิชาการ ยังคงตอกย้ำกับภาพจินตนาการเสน่ห์ตะวันออก พิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่เป็น“บริเวณสัมพันธ์” (contact zones) (Clifford 1997: 188-219) บริเวณสัมพันธ์คือสถานที่ที่ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของกลุ่มถูกแยกออกไปจากกัน ทั้งๆ ที่ยังคงมีความสัมพันธ์กันต่อเนื่อง Clifford (1997) ได้ กล่าวถึงสังคม “ดั้งเดิม” ที่ถูกนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ “อารยะ” การจัดแสดงได้ผลิตซ้ำภาพของชนเผ่า “ดั้งเดิม” ตามที่คนในสังคม “อารยะ” รับรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สร้างภาพของความเป็นอื่นด้วยข้อสมมติฐานและโลกทัศน์ของตนเอง และความเป็นอื่นกลับสร้างภาพของตนเองตามสิ่งจัดแสดงนั้น และสนองตอบต่อการจัดแสดงเช่นนั้น พิพิธภัณฑ์กลายสภาพเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสร้างจินตนาการว่าเขาเป็นใคร และแม่พิมพ์ที่อยู่เบื้องหลังตัวตนที่จัดแสดงนั้นมาจากจินตนาการที่มีต่อผู้ อื่น   โดยสรุปแล้ว นักวิจัยแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวเป็นรูปแบบของอิทธิพล ไม่ใช่เพียงแค่การปรากฏตัวของนักท่องเที่ยวหรือความต้องการต่างๆ แต่การท่องเที่ยวยังได้สืบทอดวาทกรรมที่ไม่เที่ยงตรงและการนำเสนอภาพที่ผิด เพี้ยนของประเทศด้อยพัฒนาและไม่ใช่ตะวันตก(Morgan and Pritchard 1998; Ooi et al. 2004; Selwyn 1993; Silver 1993)   ผลลัพธ์หนึ่งคือ“ตลาดการท่องเที่ยวกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการนำเสนอภาพของโลกที่สาม ซึ่งในบางครั้งเป็นไปอย่างซับซ้อน แต่ไม่จริงจัง ภาพที่สืบทอดและย้ำเน้นภาวะอาณานิคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” (Echtner and Prasad 2003: 672) ไม่ ทางใดก็ทางหนึ่ง ภาพที่นำเสนออย่างหยาบๆ สร้างแหล่งข้อมูลพื้นฐานให้แหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ตะวันตกได้จินตนาการ ประดิษฐ์สร้าง และเปลี่ยนแปรตัวพวกเขาเอง (Morgan and Pritchard 1998; Ooi et al. 2004)   เมื่อพิจารณาการท่องเที่ยวในรูปแบบของจักรวรรดินิยม แนวโน้มของการวิเคราะห์มักมองอิทธิพลของนักท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อแหล่งท่อง เที่ยว ประหนึ่งว่าสังคมที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นฝ่ายตั้งรับและยอมจำนนแต่เพียง แง่เดียว การมองสังคมต้อนรับในลักษณะของฝ่ายตั้งรับและยอมจำนนอาจไม่ถูกต้องนัก ดังที่จะได้แสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในสิงคโปร์ได้สร้างเสน่ห์ ตะวันออกให้กับรัฐเมือง(city-state) อย่างไร โลกตะวันออกตอบโต้ในเชิงรุกและเป็นไปอย่างสร้างสรรค์   การสร้างความเป็นเอเชียให้กับสิงคโปร์อย่างเป็นรูปธรรม ในปี1995 ขณะที่สิงคโปร์เผชิญหน้ากับการแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว3 คณะกรรมการสนับสนุนการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourist Promotion Board – STPB)4 และกระทรวงข่าวสารและศิลปะ (Ministry of Information and the Arts – MITA) แถลงแบบโครงร่างการพัฒนาสิงคโปร์ให้เป็น “นครแห่งศิลปะ” (Global City for the Arts) หนึ่งในโครงการต่างๆ คือ สิงคโปร์จะมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์5 พิพิธภัณฑ์ศิลปะ สิงคโปร์6 และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย7 (Chang 2000; Chang and Lee 2003; STPB and MITA 1995; STPB 1996) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งสามแห่งจะแสดงอัตลักษณ์จำเพาะของรัฐเมืองที่ตั้งอยู่บนเกาะ ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 สิงคโปร์ ค้นพบว่าภาพของความทันสมัยลดความดึงดูดลง นักท่องเที่ยวกลับเดินทางไปดินแดนที่มีความน่าตื่นตาตื่นใจอื่นๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์ (National Tourism Plan Committees 1996) สิงคโปร์จึงกลายเป็นดินแดนที่เคยถูกมองและยังคงได้รับการพิจารณาว่าเป็นเมืองที่ทันสมัยเมืองหนึ่งเท่านั้น   แรงผลักของกลยุทธ์การท่องเที่ยวตั้งแต่กลางทศวรรษที่1990 คือการสื่อสารภาพของสิงคโปร์ในฐานะของแหล่งท่องเที่ยวที่ความทันสมัยคลุกเคล้าไปกับความเก่าแก่ ตะวันออกกลั้วไปกับตะวันตก (Ooi 2004) แม้ จะพบเห็นความทันสมัยอย่างดาดดื่นทั่วสิงคโปร์ แต่คณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์พยายามสร้างภาพของโลกตะวันออกที่น่าพิศ มัยและฝังอยู่ในการพัฒนาและความก้าวหน้าของสิงคโปร์ ตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวจะได้รับการบอกเล่าถึงตึกระฟ้าในสิงคโปร์ในทำนองของการสร้าง ตามหลักฮวงจุ้ยของจีนโบราณ ร้านค้ามากมายที่ให้บริการอาหารตะวันตกกับเครื่องเทศเอเชีย และชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษในแบบฉบับของตนเอง (อย่างที่รู้จักกันว่า Singlish) นอกไปจากภาษาอังกฤษแบบมาตรฐาน ความพยายามอื่นๆ ที่ทำให้สิงคโปร์มีความเป็นเอเชียมากขึ้น ด้วยการอนุรักษ์และส่งเสริมเขตจีน (Chinatown) อินเดียน้อย (Little India) และ หมู่บ้านมาเลย์ รวมไปถึงการขายทัวร์นำเที่ยวไปสัมผัสกับวิญญาณเอเชียท่ามกลางเมืองที่ทัน สมัย รวมไปถึงการผลิตของที่ระลึกซึ่งตอกย้ำความเป็นเอเชีย (Chang and Teo 2001; Leong 1997; Ooi 2002b) การ สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสามแห่งยังเป็นความพยายามในการสร้างสิงคโปร์ที่ มีความเฉพาะตัวและเป็นเอเชียมากขึ้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งสามแห่งได้รับการจัดการโดยคณะกรรมการมรดกแห่งชาติ (National Heritage Board) พิพิธภัณฑ์ เหล่านี้จะกล่าวถึงคนท้องถิ่นและชาวต่างประเทศเกี่ยวกับ “ความเป็นเอเชีย” แบบสิงคโปร์ แต่ละพิพิธภัณฑ์ก่อร่าง ตีความ และสร้างความเฉพาะตัวของความเป็นเอเชียที่แตกต่างกันไปสำหรับสิงคโปร์   อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อคณะกรรมการมรดกแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของคณะกรรมการมรดกแห่งชาติLim Siok Peng กล่าวในรายงานประจำปีขององค์กรของเธอ ดังนี้   ในเดือนพฤษภาคม2003 มีโรคซาร์ (Severe Acute Respiratory Syndrome) ระบาด จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถึง 177,808 คน หรือมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนในปี 2002 สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มีจำนวนลดลงตามไปด้วย คือมีจำนวนผู้เข้าชมเพียง 17,073 คนในเดือนพฤษภาคม จำนวนดังกล่าวน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เข้าชมโดยเฉลี่ยต่อเดือน (NHB 2004: 4)   เธอยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการตลาดของคณะกรรมการมรดกแห่งชาติและการประสานงาน กับกรมการคมนาคมสื่อสารที่ร่วมมือกับหน่วยงานการท่องเที่ยวอื่น ได้พยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้นในช่วงวิกฤต   เราได้ร่วมมือกับคณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ด้วยโปรแกรม ก้าวสู่! สิงคโปร์ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากองค์กรต่างๆ สายการบินสิงคโปร์มีข้อเสนอพิเศษสำหรับเที่ยวบิน เทศกาลสินค้าลดราคา และโปรแกรมการท่องเที่ยวต่างๆโดยสมาคมแหล่งท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Association of Singapore Attractions - ASA) (NHB 2004: 4)   และนอกไปจากนี้คณะกรรมการมรดกแห่งชาติยังพยายามตอบสนองต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ เช่น ตลาดนักท่องเที่ยวจากเมืองจีน   เพื่อการทำตลาดกับนักท่องเที่ยวชาวจีน เราได้ผลิตแผ่นพับทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เอกสารหนึ่งแสนชุดได้รับการจัดพิมพ์และแจกไปยังสมาคมแหล่งท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม แหล่งท่องเที่ยวประเภทต่างๆ และศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ตามจุดต่างๆ แผ่นพับยังส่งไปยังศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวสิงคโปร์ทั่วทั้งทวีปเอเชีย(NHB 2004:4)   บททบทวนในรายงานประจำปีที่เขียนโดยเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงท่านนั้นยังเน้นถึงการท่องเที่ยวอย่างมาก(NHB 2004: 4-5) นอกจากนี้ยังมีเงินทุนสนับสนุนองค์กรต่างๆ สำหรับการจัดนิทรรศการด้วย   พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์เป็นอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแบบนีโอ-คลาสสิค พิพิธภัณฑ์มีประวัติที่ยาวนานต่อเนื่องตั้งแต่การเริ่มตั้งเมื่อปี 1887 และเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายใต้ชื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อปี 1965 ภายหลังจากที่สิงคโปร์ได้รับอิสรภาพ ต่อมาจึงปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ในปี 1996 และในปี 2006 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการขนานนามอีกครั้งว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สิงคโปร์ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนและขยายรูปทรงอาคาร (SHM 2005)   พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ตอบโต้ต่อภาพที่ผู้คนมักคิดถึงสิงคโปร์ในลักษณะที่ เหมือนๆ กับประเทศอื่นในเอเชีย พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์แสดงแนวโน้มและพัฒนาการสร้างบุคลิกภาพและ ส่งอิทธิพลต่อความเป็นสิงคโปร์ ด้วยการเน้นย้ำถึงสิงคโปร์ร่วมสมัย(STPB and MITA 1995: 17) อดีตอาณานิคมของสิงคโปร์ (ค.ศ. 1819 – ค.ศ. 1963) สงครามโลกครั้งที่ 2 และ การต่อสู้เพื่อการปกครองตนเองจากเจ้าปกครองอาณานิคมอังกฤษ ประวัติศาสตร์ที่ผันผวนกับประเทศมาเลเซียและการเรียกร้องอิสรภาพของสิงคโปร์ เมื่อปี 1965 เรื่อง ราวเหล่านี้เป็นจุดเน้นของพิพิธภัณฑ์ เมื่อเปรียบเทียบกับพิพิธภัณฑ์อีกสองแห่ง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์มีส่วนร่วมในโปรแกรมการศึกษาแห่งชาติมากที่ สุด พิพิธภัณฑ์ได้ต้อนรับกลุ่มนักเรียนจำนวนมาก นิทรรศการทำหน้าที่เป็นบทเรียนเสริมประวัติศาสตร์ที่สอนกันในโรงเรียน   อัตลักษณ์เฉพาะของสิงคโปร์ถูกไล่เรียงไปตามลำดับ ดังนี้ สิงคโปร์ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่อังกฤษไม่สามารถปกป้องสิงคโปร์ได้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่2 สิงคโปร์ ตกอยู่ในสภาพที่หดหู่ระหว่างการครอบงำของญี่ปุ่น และดิ้นรนเพื่อให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของอังกฤษ จนเปลี่ยนสถานภาพของตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์รัฐมาเลเซีย (1963-1965) แต่ การณ์กลับไม่ดีขึ้น ในท้ายที่สุด แนวคิดของการเป็นรัฐสิงคโปร์เบิกบาน และนำไปสู่การสร้างประเทศให้มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง นี่เองแสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์ไม่ใช่ทั้งของอังก

โศกนาฏกรรมกับความทรงจำที่บันทึกในพิพิธภัณฑสถาน - กรณี 11 กันยายน

30 มีนาคม 2558

Yahrzeit: September 11 ObservedMuseum of Jewish Heritage – A Living Memorial to the Holocaust, New York.August 29, 2002 – January 5, 2003A Shared Experience: 04.19.95 – 09.11.01National Memorial Center Museum, Oklahoma City.April 19,2002 – September 1, 2003A Day of Reflection and RemembranceUnited States Holocaust Memorial Museum, Washington, D.C.September 11, 2002           ในวันที่ 11 กันยายน 2002 รายการโทรทัศน์ “ช่องประวัติศาสตร์” (History Channel) ออกอากาศสารคดีเรื่อง “สิ่งหลงเหลือจากซาก-ธุลี” (Relics from the rubble) ซึ่งเป็นครั้งแรกในการนำเรื่องราวกราวด์ ซีโร (Ground Zero – กรณีการก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน 2001 - ผู้แปล) เข้าไปบอกเล่าในบริบทพิพิธภัณฑ์ ภาพยนตร์สารคดีลำดับการทำงานของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ในการสำรวจรถพยาบาลที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ และเศษซากเครื่องเรือนที่มาจากการโจมตีตึกเวิร์ลเทรด เซ็นเตอร์ จากที่ภัณฑารักษ์และผู้จัดการงานสะสมบันทึกรายละเอียดต่างๆ พวกเขาพูดคุยกันว่า วัตถุเหล่านี้เหมาะสมกับการจัดนิทรรศการว่าด้วยเรื่องของอดีตในอนาคต สารคดี “สิ่งหลงเหลือจากซาก-ธุลี” ที่ใช้การบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองในความตื่นตระหนกต่อวิกฤตระดับชาติ ได้เปล่งเสียงแห่งความรำลึกถึงหนึ่งในเสียงที่เซ็งแซ่อยู่ทั่วสหรัฐอเมริกาตั้งแต่มีการโจมตีจากเครื่องบินพาณิชย์ที่ตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์ร่วมรำลึกถึงโศกนาฏกรรมด้วยการเก็บและจัดแสดงซากเหล่านั้น          ในความเรียงฉบับนี้ ข้าพเจ้าจะพิจารณาพื้นที่ของกิจกรรมการไว้อาลัยที่สนับสนุนโดยพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2001 ข้าพเจ้ามิเพียงพิจารณาพิพิธภัณฑ์อย่างง่ายๆ ในฐานะที่เป็นสถานเก็บกักวัตถุแห่ง ความทรงจำ หากแต่เป็นกระบวนการทางวัฒนธรรม ที่ทำให้ข้อเท็จจริงทางสังคมเนื่องด้วยเหตุการณ์ 11 กันยายน สร้างความหมายสำคัญยิ่งขึ้น ดังที่ เจมส์ ยัง (James Young) ได้กล่าวไปแล้วว่า “การระลึกถึงอาจจะเป็นการกำหนดวันสำคัญการจัดประชุมหรือการจัดสรรพื้นที่ แต่ไม่จำเป็นต้องสร้างอนุสาวรีย์” ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงพิจารณากิจกรรมการรำลึกถึง 3 เหตุการณ์ ซึ่งจัดขึ้นในพิพิธภัณฑสถานในช่วงปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการโจมตี อันได้แก่ นิทรรศการร่วม รำลึก 2 แห่ง และพิธีกรรมความทรงจำ แต่ละที่แต่ละเหตุการณ์เชื่อมโยงกับการครบรอบ 1 ปีการโจมตีที่เกิดขึ้นในนิวยอร์ก เพนซิลเวเนีย และเวอร์จิเนีย กรณีศึกษาเหล่านี้นำไปสู่ประเด็นทางทฤษฎีและภาพกว้างในแง่ข้อมูลทั่วไป          เมื่อย้อนกลับไปมองหลักทฤษฎีภาษาของเอดเวิร์ด ซาเพีย (Edward Sapir) ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การนำเสนอ ประเด็นเหตุการณ์ 11 กันยายนในพิพิธภัณฑ์แสดง “การบิดพลิ้วของการใช้” (tyranny of usage) (Sapir 1921: 98) การรำลึกถึงโศกนาฏกรรม เพราะเนื้อหาแสดงผ่านโครงสร้างและหลักการจากเหตุการณ์ความทรงจำ/การรำลึกถึงที่มีมาก่อนหน้านั้น (Halbwachs 1980; Zelier 1998) การวิพากษ์ต่อรูปแบบ (form) และเนื้อหา (content) ในนิทรรศการของพิพิธภัณฑสถานว่ามีความแตกต่าง อย่างไร และความเชื่อมโยงของการรำลึกอดีตกับแนวคิดของพิพิธภัณฑ์เป็นไปในลักษณะใด นักมานุษยวิทยาต้องวิจารณ์ตรรกะเศรษฐกิจของวัฒนธรรมอุตสาหกรรมในภาพกว้าง เพื่อปูทางการอภิปรายต่อภาพที่นำเสนอ          คลื่นแรกของการรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายนในบริบทพิพิธภัณฑสถานมีรูปโฉมจากการหล่อมรวมระหว่างตรรกะ พิธีกรรม และหน้าที่ในการระลึกถึงที่มีอยู่ เข้ากับเศษส่วนเหตุการณ์โศกนาฏกรรมจำนวนมากมายจากความหายนะในครั้งใหม่ กิจกรรมเฉพาะกาลในพิพิธภัณฑ์ที่ข้าพเจ้าใช้พิจารณาเชื่อมต่อเหตุการณ์ 11 กันยายน เพื่อสร้างความหลากหลายที่อยู่บนชุดความคิดการรำลึกถึง หรือจะให้พูดอีกที กราวด์ ซีโร่ สร้างความหมายผ่านเหตุการณ์ ที่เป็นการฆ่าหมู่และการวางระเบิดที่โอกลาโฮมา ซิตี้ (Oklahoma City) ความหมายของเหตุการณ์ 11 กันยายน จึงไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ที่ตรึงติดกับสถานที่ที่เกิดเหตุ หากแต่พัฒนาผ่านแนวคิดซึ่งมีโครงสร้างจากกิจกรรมที่ทำมาก่อนหน้าในแต่ละพิพิธภัณฑ์YAHRZEIT ณ พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว (the Museum of Jewish Heritage)           นิทรรศการ “Yahrzeit: September 11 Observed” หรือ “ครบรอบวันตาย: พินิจ 11กันยายน” เปิดฉากด้วยภาพถ่าย  2 ภาพ ภาพหนึ่งเป็นภาพขาวดำที่แสดงให้เห็นส่วนยอดของอาคารแฝด เวิร์ล เทรด เซ็นเตอร์ ปรากฏอยู่บนพื้นหลังของภาพรูปทรงลักษณะเดียวกับหลังคาพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว และอีกภาพหนึ่ง ภาพเล็กแสดงเหตุการณ์การไว้อาลัยของผู้คนที่จุดเทียนในท้องถนน เพื่อรำลึกถึงเหยื่อของเหตุการณ์ 11กันยายน (ภาพที่ 1)ภาพที่ 1  ภาพโดย Jake Price          จริง ๆ แล้ว Yahrzeit คำภาษายิวหมายถึง “ช่วงปี” Yahrzeit เป็นคำสามัญที่ใช้ในกลุ่มยิวอาชกินาซี (Ashkenazi Jews) เพื่อบ่งถึงวาระครบรอบ 12 เดือนของการจากไป ตามประเพณีจะมีการสวดและการจุดเทียนซึ่งเรียกว่า “Yahrzeit Candle” (Heilman 2001:183) นอกเหนือจากการไว้อาลัย ประเด็นที่โดดเด่นของนิทรรศการ Yahrzeit คือ สถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิวที่ใกล้กับอาคารเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ภาพถ่าย ข้อความ และสิ่งจัดแสดงในนิทรรศการล้วนบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาคารและเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ เนื้อหาสะท้อนให้เห็นภาพโดยรวมของประสบการณ์ที่ชาวพิพิธภัณฑ์ประสบทั้งการสูญเสีย การให้ความช่วยเหลือ และการฟื้นสภาพภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน           ด้วยการออกแบบของ เอมี่ ฟอร์แมน (Amy Forman) ซึ่งใช้ผนังดำเป็นพื้นของข้อความที่ปรากฏในนิทรรศการ และจัดแสดงคู่ไปกับภาพถ่ายและวัตถุจัดแสดงนิทรรศการ Yahrzeit ร่ำรายกลิ่นอายของห้องจัดแสดงเช่นเดียวกับ เทียนที่ส่องสว่าง เนื้อหาเล่าถ้อยความตามเหตุการณ์ลำดับเวลา นิทรรศการจึงเป็นดั่งการผจญภัยของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์อย่างที่พวกเขาได้เห็นควันไฟและเศษวัตถุที่มาจากตึกแฝด ได้จ้องมองโศกนาฏกรรมที่มิอาจยับยั้งได้          ภาพร่างชาวนิวยอร์กที่ฉาบเคลือบด้วยเถ้าผง เรื่องราวจึงกลายเป็นจุดเชื่อมในนิทรรศการระหว่างพิพิธภัณฑ์กับความเจ็บปวดของนครแห่งนี้ ตัวอย่างฉากแสดง อีกชุดหนึ่ง เป็นการแสดงหน้ากากอนามัยของแพทย์ที่ผู้ช่วยของผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คนหนึ่งใช้ในระหว่างให้ความช่วยเหลืออยู่ในฝุ่นผงและเศษซาก อีกฉากหนึ่งแสดงประสบการณ์เฉพาะบุคคล ของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ในระหว่างเหตุการณ์ 11 กันยายน ภาพถ่ายหนึ่งบอกเล่าถึงคนครัวชาวอิสราเอล ผู้เดินทางมานิวยอร์กเพื่อปรุงอาหารให้คณะทำงานช่วยเหลือ และหมวกหน่วยกู้ภัยจัดแสดง ณ กลางตู้ พร้อมทั้งรายละเอียดส่วนบุคคลที่กล่าวถึงเรื่องราวของเจ้าหน้าที่กู้ภัยชาวยิวที่ตายระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ (ภาพที่ 2)ภาพที่ 2 นิทรรศการ Yahrzeit สมุดบันทึกและหมวกหน่วยกู้ภัยให้ยืมจาก Michael Weiss and Alissa Weiss บุตรและธิดาของนักผจญเพลิง David Weiss หนึ่งในบรรดานักผจญเพลิง 343 คน และ เสียชีวิตในวันที่ 11 กันยายน 2001 (ภาพโดย Jake Price)หากพิจารณาแนวคิดการวางแบบนิทรรศการ Yahrzeit นักมานุษยวิทยาหลายท่าน และภัณฑารักษ์รับเชิญ จิล เวกซ์เลอร์ (Jill Vexler) ได้บันทึกไว้ว่า          นิทรรศการไม่ใช่เพียงการนับย้อนเรื่องราวในฐานะประวัติศาสตร์สังคม ด้วยการจัดแสดงวัตถุต่างๆไม่ใช่เช่นนั้น… นิทรรศการ Yahrzeit กอปรด้วยแนวคิดรวบยอดและปรัชญา นอกจากนี้ ในบริบทของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยิว สิ่งที่บอกเล่าสัมพันธ์กับพื้นฐานของชีวิต การสูญเสีย การพินิจซ้ำ การตอบโต้ การกระทำ และการสร้างใหม่ (หรือตามรูปศัพท์ที่พิพิธภัณฑ์เรียกว่า “การฟื้นคืนชีวิต”) [2002:4-5]                  ฉะนั้น ตรรกะของความทรงจำจึงปรากฏในบริบทของการสอดประสานกับกุศโลบายของนิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำลายยิวในยุโรป แล้วนำมาสู่ความสนใจวัฒนธรรมยิวในสหรัฐอเมริกา สิ่งที่สะท้อนในนิทรรศการ Yahrzeit จึงวางแนวคิดเหตุการณ์ 11กันยายน ในฐานะที่มีเนื้อหาใกล้กับวาทกรรมการระลึกถึงของพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิวในสามระดับ ได้แก่ สิ่งปรากฏ ต่อสายตา ประสบการณ์ และ วิญญาณ                 แนวคิดการรำลึกถึงในนิทรรศการนำเสนอบางสิ่งที่พ้องกับทัศน์ส่วนน้อยหรือทัศน์ทางเลือกของโศกนาฏกรรม แต่มิได้หมายความว่านิทรรศการสร้างเหตุการณ์ 11 กันยายน “แบบยิว“ และไม่ใช่การนำไปเปรียบเทียบกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการไม่ได้นำเสนอเหตุการณ์ 11 กันยายน ภายใต้มุมมองของ ทอม สตอปปาร์ด (Tom Stoppard) ) ของเฮมเลตในเรื่อง Rosencrantz and Guidenstern Are Dead? เรื่องราวที่คุ้นเคยจากมุมมองของคนเล็กๆ นิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติโอกลาโฮมา (the Oklahoma National Memorial Center)          เช่นเดียวกับนิทรรศการ Yahrzeit นิทรรศการเคลื่อนที่เรื่อง “ประสบการณ์ร่วม จาก 04.19.95 ถึง 09.11.01” (A Shared Experience: 04.19.95 – 09.11.01) ใช้แนวคิดของความใกล้ชิดกับเหตุการณ์ 11 กันยายน แม้จะมีวิธีในการถ่ายทอดเนื้อหาแตกต่างออกไป นิทรรศการมุมมองร่วม (A Shared Perspective) เปิดในวาระครบ 7 ปีของการพังทลายของตึก อัลเฟรด พี. มูรราห์ (Alfred M. Murrah Building)  ในโอกลาโฮมา ซิตี้ นิทรรศการเริ่มต้นด้วยเงื่อนไขสภาพพื้นฐานที่เหมือนกันของวันแห่งความวินาศทั้ง 2 วัน แม้ว่าเหตุการณ์ทั้งสองมีความแตกต่างในเรื่องของเวลา ที่ตั้ง และเหตุผลทางการเมือง นิทรรศการนำไปสู่สิ่งที่เหมือนกัน ในการจัดแสดงระหว่างภาพและสิ่งของจากเหตุการณ์ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมของโศกนาฏกรรมทั้ง 2 เหตุการณ์ และเป้าหมายในการรำลึกถึงที่มีอยู่ร่วมกัน แนวคิดหลักโดยกว้างที่มีจุดร่วมปรากฏใน 5 ลักษณะ  คือ การก่อการร้ายเช่นเดียวกัน ความกล้าหาญที่เหมือนกัน การตอบสนองในทิศทางเดียวกัน ประสบการณ์และบทเรียนร่วมกัน จากที่กล่าวมา นิทรรศการพยายามนิยามเหตุการณ์ 11 กันยายน ด้วยการใช้ภาษาและสัญลักษณ์ร่วมของความเจ็บปวดที่คนอเมริกันมีร่วมกัน ซึ่งเกิดจากการโจมตี บนแผ่นดินใหญ่ เฉกเช่นเรื่องราวของวีรบุรุษในการกู้ภัย และการฟื้นฟูภายหลังการโจมตี วัตถุเป็นกุญแจสำคัญในการค้นพบบทเรียนทางศีลธรรมและจิตวิญญาณในการฟื้นฟูชีวิตและจิตใจของประชาชนอเมริกัน          ด้วยจุดสำคัญของลักษณะร่วมระหว่างอาคารมูรราห์ (The Murrah Building) และตึกแฝด (the Twin Towers) นิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” ดึงเหตุการณ์ 11 กันยายนสู่การฟื้นคืน เมื่ออาคารพังถล่มลงจากระเบิด ชุมชนหลายชุมชนรวมตัวขึ้น ดังนั้น การออกแบบนิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” เน้นการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจนจากการพังทลายของ สถาปัตยกรรมไปสู่การฟื้นคืนของชุมชน ดังเช่นฉากเปิดของนิทรรศการแสดงภาพถ่ายจากสถานที่เกิดเหตุ 4 แห่ง และการกู้ภัยจากหน่วยงานต่างๆ ฉากและสิ่งจัดแสดงแสดงภาพซ้ำๆ ของกองซากใกล้กับภาพของนักดับเพลิงกู้ภัยจากที่เกิดเหตุในโอกลาโฮมา และนิวยอร์ก ซิตี้ จุดแสดงนี้ ปรากฏหมวกของหน่วยกู้ภัย อันเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าหน้าที่กู้ภัยในลักษณะที่ใส่ระหว่างปฏิบัติงานจริง (ภาพที่ 3)ภาพที่ 3 นิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม : 04.19.95 - 09.11.01” ฉากเปิดของนิทรรศการและส่วนการจัดแสดงกลางห้องนิทรรศการที่จัดแสดงหมวกกู้ภัยจากเมืองต่างๆ และลงนามผู้ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ (G. Jill Evans)           จากนั้นมีฉากแสดงที่น่าหดหู่คือ พาหนะของหน่วยกู้ภัยที่บุบพัง ภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ที่ถูกทำลายอยู่หน้าฉากผืนธงอเมริกันขนาดใหญ่ การไว้อาลัยขนาดใหญ่ ด้านหนึ่งเป็นฉากรับวีดิทัศน์กล่าวถึงการไว้อาลัยในโอกลาโฮมา ซิตี้ และนิวยอร์ก          ซึ่งจูงให้ผู้ชมเห็นความคล้ายคลึงของการแสดงออกหวน ให้ต่อเหตุการณ์ทั้งสองแห่งสื่อเพื่อการศึกษา “หนังสือพิมพ์เล็ก” แจกให้กับเยาวชนที่เข้ามาชมได้ตั้งคำถามต่อพวกเขา “อะไรคือความคล้ายคลึงที่เราพบเห็นได้อนุสรณ์ทั้งสองแห่งนี้… สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับชีวิตเราอย่างไร” โศกนาฏกรรมนำไปสู่การกู้ภัยที่ไปสู่ร่วมบางประการ          ถ้าหากพูดอีกนัยหนึ่ง ข้าวของที่มาจากเหตุการณ์ 11 กันยายนมิได้มีความหมายเฉพาะในนิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” ที่เชื่อมโยงกับสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น แต่ความคล้ายคลึงยังเป็นคุณค่าเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในโอกลาโอมา เหตุการณ์ 11  กันยายน มีความหมายในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมการสร้างชุมชนร่วมชาติ ซึ่งไม่ได้ย้ำเน้นเฉพาะความเจ็บปวด แต่ยังย้ำกระบวรการสร้างอารมณ์ร่วมของความเจ็บปวดร่วม          เอดเวิร์ด ลิเนนธอล (Edward Linenthal) อธิบาย “กระบวนการตีคลุม” ในคำบรรยายของเขาเกี่ยวกับโอกลาโฮมา ซิตี้ (2001) การปลดปล่อยจากความเจ็บปวดของบุคคล ด้วยการสร้างอารมณ์ร่วมระหว่างเหยื่อและผู้รอดชีวิต ภายใต้ความสัมพันธ์กับสถาบันอนุสรณ์สถานและพิธีการ สาธารณะ ดังนั้น การสร้างนิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” เกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุการณ์ 11 กันยายนทั้ง  3 แห่ง ที่เคลื่อนที่ไปตามสถานที่ต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์นำสารัตถะ ของ ศูนย์อนุสรณ์สถาน โอกลาโฮมา และการระเบิดในโอกลาโฮมา ซิตี้ไปสู่โศกนาฏกรรมระดับชาติ จุดเชื่อมที่ร่วมกันด้วยการ นำเสนอเอกสารเหตุการณ์ 11 กันยายน กับ “4/19” (หรือ เป็นวันที่เกิดระเบิดในโอกลาโอมา วันที่ 19 เมษายน 1995) ที่เชื่อมต่อกันหนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้ (A Day of Reflection and remembrance) ณ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สหรัฐอเมริกา (The United States Holocaust Memorial Museum)          เริ่มต้นจากแนวคิดที่ใช้นิทรรศการเป็นการนำเสนอเหตุการณ์ 11 กันยายน พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกาลงเอย ด้วยการจัดทำรายนามเหยื่อจากเหตุการณ์ 11กันยายน  จำนวน  3,000 รายนาม และผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสมาชิกของพิพิธภัณฑ์ได้อ่านด้วยการยืน หลังแท่น ประกาศไม้ใน “กำแพงแห่งพยาน” ของพิพิธภัณฑ์ ผู้คนจะเวียนมาเอ่ยนาม อายุ เมือง และสถานที่ของเหยื่อแต่ละคนอย่างเงียบเฉียบและต่อเนื่อง (ภาพที่ 4)ภาพที่ 4 พิธีกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ภาพแสดงพิธีเอ่ยนามผู้เสียชีวิตโดยผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาสาสมัคร Charlene Schiff (ภาพโดย Andy Hollinger)          หลังจากที่อ่านซักระยะหนึ่ง คนอ่านถัดไปจะเวียนกันขึ้นมาที่แท่นประกาศไม้และอ่านต่อไป กิจกรรมดำเนินไปตลอด 4 ชั่วโมงและดึงดูดผู้ชมที่หลากหลาย ผู้คนที่ยืนห่างจากแท่นประกาศในระยะไกลใกล้ต่างกัน หรืออยู่บนม้านั่งใน บริเวณใกล้เคียง          กิจกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายน ด้วยการใช้รูปแบบพิธีกรรม ของความทรงจำ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวแพร่หลายอย่างมากในธรรมเนียมการรำลึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 พิธีกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและการหวนให้” ต่างไปจากรูปแบบพิธีการอ่านรายนามเหยื่อจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั่วไป เพราะการลำดับนามไม่ได้เป็นไปตามโครงสร้างแต่เป็นเนื้อหา นั่นคือ จากเหตุการณ์ 11 กันยายน ชื่อของเหยื่อจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถูกแทนที่ด้วยเหยื่อจากนิยอร์ก เวอร์จิเนีย และเพนซิลเวเนีย หากปราศจากความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการไว้อาลัยเหตุการณ์ 11 กันยายนแล้ว คงเป็นการยากที่จะแยกวาระเฉพาะนี้จากพิธีการไว้อาลัยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์           นวตกรรมสำคัญใน “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” เป็นการตัดสินใจของพิพิธภัณฑ์ด้วยการเลือก ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และไม่ใช่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 11 กันยายน กรอบความทรงจำของเหยื่อ 11 กันยายนสร้างผ่านแนวคิดหลัก 2 ประการคือ “ผู้รอดชีวิต” และ “ความทรงจำ” ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อเหตุการณ์ 11 กันยายน ผู้ไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของตนเองได้อีกต่อไป ส่วนผู้รอดชีวิตการการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผู้ได้รับบทเรียนศีลธรรมที่มากกว่าเกี่ยวกับเหยื่อสภาพจากสถาบันต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกา         เลขาธิการสภาบริหารพิพิธภัณฑ์ เฟรด ไซด์แมน (Fred Zeidman) ให้ความเห็นต่อความสัมพันธ์ที่เคลื่อนไหวระหว่างเหยื่อและผู้เหลือรอดที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์          “ความยอกย้อนในการพินิจมองผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมยิ่งใหญ่ของศตวรรษนี้ ด้วยการเอ่ยรายนามของพวกเขาเหล่านั้น ผู้ที่มิอาจรอดพ้นจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้… ของศตวรรษที่กำลังมาถึง… ทำให้ข้าพเจ้าย้อนนึกถึงสิ่งที่พวกเราทำที่พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ เหตุใดพวกเราจึงรวมตัว ณ ที่นี้ และสิ่งใดเป็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของพวกเรา พวกเราทั้งหมดคือผู้ที่เหลือรอด และภารกิจหนึ่งที่พวกเราต้องปฏิบัติประจำ คือต้องพึงระลึกว่าสิ่งชั่วร้ายใดที่สามารถเกิดกับเราได้บ้างในทุกเมื่อเชื่อวัน [พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 2002]”          ในกระบวนพิธี ผู้ที่รอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นสิ่งที่สร้างความเข้าอกเข้าใจและความเป็นจริงต่อเหตุการณ์ 11 กันยายน นั่นคือการอาศัยเงื่อนไขสภาพ (habitus) ของการระลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้ การกล่าวถึงเหยื่อจากโศกนาฏกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้น ทำให้เหตุการณ์ 11 กันยายนและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จัดอยู่ในโศกนาฏกรรมโลกประเภทเดียวกัน แม้จะเป็นสัญลักษณ์ต่างศตวรรษกัน          ขบวนการการสร้างความชอบธรรมของการระลึกถึงที่เกิดในพิธี “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ด้วยการเปล่งถ้อยนามของเหยื่อเหตุการณ์ 11 กันยายน ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผลักให้เหตุการณ์ 11 กันยายนเข้าอยู่ในกระบวนการจัดแบ่งประเภทการทำลายล้างชาวยิวในยุโรป ว่าเป็นโศกนาฏกรรมหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ผู้รอดชีวิตรายหนึ่งที่ร่วมในพิธี “วันแห่งการหวนให้” กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความภูมิใจที่เป็นพลเมืองอเมริกา” พวกเราสามารถ มั่นใจได้ว่า ในอนาคตจะไม่มีการข่มเหงทรมานใดเกิดขึ้นในโลกและในประเทศที่สวยงามของเรา ขอพระเจ้าอำนวยพรให้อเมริกา” (พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สหรัฐอเมริกา 2002) ความเป็นไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ 11 กันยายน ในงานวัฒนธรรม          ในเวลา 2 ปีจากเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน 2001 สภาพประสบการณ์เปลี่ยนจากสถานะแห่งความหายนะสู่สื่อโทรทัศน์ และส่งผลต่อเหตุการณ์การรำลึกถึงที่จัดในพิพิธภัณฑสถาน ปัจจุบันทิศทางในอนาคตของกิจกรรมการรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายนในพิพิธภัณฑสถานเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิวไม่มีแผนงานสร้างนิทรรศการเช่น Yahrzeit แม้ว่าพิพิธภัณฑ์มองการจัดแสดงป้ายสลักพร้อมจุดเทียนเป็นกิจกรรมการรำลึกในแต่ละปี เมื่อพิจารณากรณีนิทรรศการเคลื่อนที่ “ประสบการณ์ร่วม” พิพิธภัณฑ์ไม่มีแนวโน้มที่จะจัดแสดงในศูนย์อนุสรณ์สถาน โอกลาโฮมา ซิตี้ อีกครั้ง นอกจากว่าพิพิธภัณฑ์ใดสนใจสามารถยืมนิทรรศการดังกล่าวไปจัดแสดง เช่นเดียวกับการ จัดกิจกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ก็ไม่ได้มีแผนอย่างเป็นทางการที่จะกำหนดเหตุการณ์ 11 กันยายน บนปฏิทินการรำลึกของพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกา          อย่างที่ได้เห็นกันในกรณีโศกนาฏกรรมอื่นและจุดเปลี่ยนในความเป็นไปในสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ 11 กันยายน ยังถูกทำให้เป็นสินค้าในตลาดในฐานะของชิ้นงานมรดกและสินค้าวัฒนธรรม (Kirshenblatt-Gimblett 1998:177) มานุษยวิทยาในฐานะที่เป็นการวิพากษ์วัฒนธรรมสามารถปรับใช้มุมมองทั้งวิชาการทางทฤษฎีและเชิงประจักษ์ตอบต่อ ความพยายามทั้งหลายเหล่านี้ในการปรับเปลี่ยนโศกนาฏกรรมสู่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง (Marcus and Fisher 1986) แม้ว่านักมานุษยวิทยามุ่งประเด็นไปที่เศรษฐศาสตร์การเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับโศกนาฏกรรม 11 กันยายน แต่ควรให้ความสนใจวิพากษ์เชิงชาติพันธุ์วรรณาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางสังคมของเหตุการณ์ 11 กันยายนในลักษณะที่เกิดขึ้นมาเช่นกัน มานุษยวิทยาของเหตุการณ์ 11 กันยายนจะเป็นชาติพันธุ์วรรณนาของพิพิธภัณฑ์ ด้วยระยะเวลาที่ห่างจากการเกิดขึ้นของเหตุการณ์มากขึ้น ชั้นการวิเคราะห์ของทฤษฎีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ประเด็นการวิพากษ์เริ่มต้นจากความกดดันระหว่างตรรกะเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของเหตุการณ์  11 กันยายน เช่นที่เกิดในภาพยนตร์สารคดี “สิ่งหลงเหลือจากซาก-ธุลี” และขยายออกสู่ตรรกะของการจัดแสดง ซึ่งพินิจความทรงจำเป็นเช่นละครสังคมที่เกิดขึ้นในบริบทของสถาบันและวัฒนธรรม อย่างที่ข้าพเจ้ายกตัวอย่างงานวัฒนธรรมมาทั้งหมดกับสิ่งที่เกิดขึ้นหนึ่งปีให้หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน งานสะสมและการอนุรักษ์สร้างชุดความทรงจำด้วยความบังเอิญและแนวคิดที่ก่อร่างจากเรื่องราวที่อาศัยความใกล้ชิด การเอ่ยนาม และการช่วยชีวิต          สิ่งที่ตรงข้ามกับการนำเสนอที่ตีตราของทฤษฎีวิจารณ์ ซึ่ง “อดีตในฐานะที่ก่อร่างพิพิธภัณฑสถาน… ย่อมเป็นผลิตผลของปัจจุบันที่สร้างสิ่งนั้นขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” (Bennett 1995:129) ชาติพันธุ์วรรณนาของเหตุการณ์ 11 กันยายนแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่คลุมเครือระหว่างอดีต ปัจจุบัน และภาพแทนของอดีต ในกรณี Yahrzeit การปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์และทางการสร้างประวัติศาสตร์ของการสร้างความหมายแสงเทียนในพิธีกรรมชาวยิว ที่เชื่อมโยงกับความทรงจำของเหตุการณ์ 11 กันยายน อันถือเป็นการนำเสนอภาพของกราวด์ ซีโร่ เสมือนเป็นการจัดที่ทางของพิธีกรรมชาวยิวในวัฒนธรรมอเมริกาหันมาพิจารณานิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ทั้งภาพและเศษซากจากเหตุการณ์ 11 กันยายนย้ำเน้นบทเรียนหัวใจของการช่วยเหลือและการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันทางสังคมอีกครั้งในโอกลาโฮมา และอีกเช่นกันในกิจกรรม “หนึ่งวันแห่งการ ทบทวนและหวนให้” ที่เป็นการเอ่ยนามผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 11 กันยายนเป็นพิธีการที่แสดงออกด้วยผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ละกรณีมีสิ่งที่ร่วมกันคือ การไม่สามารถแบ่งแยกการรำลึกถึงโศกนาฏกรรมหนึ่งจากการอ้างอิงถึงอีกเหตุการณ์หนึ่ง และการใช้ความชอบธรรมชุดภาพแทนหนึ่งส่งอิทธิพลต่ออีกชุดหนึ่ง (the hegemony of one set of representational practices over another)          สิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาคือ กิจกรรมในพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 11 กันยายน ไม่ใช่เพียงการรำลึกถึง โศกนาฏกรรม หากเป็นการจัดตั้งชุด “กฎ” การรำลึกถึงอย่างเป็นพื้นฐานและอย่างเป็นหลักใหญ่ (Bourdieu 1972:22) ความหลากหลายของแนวทางการรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายนยังเป็นเพียงลักษณะชาติพันธุ์วรรณนาขั้นต้น ของเหตุการณ์ 11 กันยายนในฐานะที่เป็นข้อเท็จจริงทางสังคม นอกจากนี้ ขณะที่เหตุการณ์ 11 กันยายนสร้างพันธะหน้าที่การรำลึกทั้งเก่าและใหม่ แต่ทำให้เกิดการสั่นคลอนของภูมิทัศน์ความทรงจำ กิจกรรมการระลึกทั้งหมดในขณะนี้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 11 กันยายน และพลวัตทั้งหมดนี้เริ่มสร้างความหมาย ความหลากหลายในการรำลึกถึงที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นไปในลักษณะใดและอยู่ภายใต้เงื่อนไขใด นี่เองที่เป็นคำถามของงานชาติพันธุ์วิทยาในอนาคต ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ในฐานะสิ่งสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 11 กันยายน ยังคงมีบทบาทจัดกิจกรรมการรำลึกถึงในบริบททางสังคม และเป็นพื้นที่ที่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับทฤษฎีทางมานุษยวิทยาบันทึก                 กิตติกรรมประกาศ – ผู้เขียนขอขอบคุณพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว อนุสรณ์สถานเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกา และศูนย์อนุสรณ์สถานแห่งชาติ โอกลาโฮมา ซิตี้ สำหรับความร่วมมือในการวิจัย และการเขียนบทความ ข้าพเจ้าขอขอบคุณบุคคลต่างๆ ที่ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือ Ivy Barsky, Andy Hollingger, Julie Joseph, Debora Hoehne, Joanne Riley, Abby Spilka, Jeremy Thorn และ Jill Vexler ข้าพเจ้าขอขอบคุณ Richard Handler สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับทฤษฎี Sapir และการทบทวนร่างบทความ ท้ายนี้ ข้าพเจ้าขออ้างถึงนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในการสัมมนาของข้าพเจ้า “มรดกและความทรงจำในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์” (New York University, fall 2002) ที่วิเคราะห์มองสัมพันธภาพระหว่างพิพิธภัณฑ์และเหตุการณ์ 11 กันยายนที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ใน การเขียนบทความชิ้นนี้เอกสาร/หนังสืออ้างอิงBennett, Tony1995 The Birth of the Museum: History, Theory, Politics. London: Routledge.Bourdieu, Pierre1977 Outline of a Theory of Practice. Cambridge: Cambridge University Press.Halbwachs, Maurice1980 The Collective Memory. New York: Harper and Row.Heilman, Samuel C.2001 When a Jew Dies. Berkeley: University of California Press.Kirshenblatt-Gimblett, Barbara1998 Destination Culture: Tourism, Museums and Heritage. Berkeley: University of California Press.Linenthal, Edward T.2001 The Unfinished Bombing: Oklahoma City in America Memory. New York: Oxford University Press.Relic from the Rubble2002 Narrated by Josh Binswanger. This Week in History. 50 min. The History Channel, September 3 (video recording).United States Holocaust Memorial Museum2002 Holocaust Survivors Read the Names of Those Who Died in the Terrorist Attacks on September 11, 2001. Electronic document, http:/www.ushmm.gov/museum/exhibit/focus/911_02, accessed May 1, 2003.Marcus, George E. and Michael M. J. Fisher1986 Anthropology as Cultural Critique: an Experimental Moment in the Human Sciences. Chicago: University of Chicago Press.Sapir, Edward1921 Language: An Introduction to the Study of Speech. San Diego: Harcourt Brace and Company.Vexler, Jill2002 Guest Curator’s Essay. 18 First Place: Museum of Jewish Heritage Quarterly Magazine. Fall: 4 – 5.Young, James E.1993 The Texture of Memory. New Haven, CT: Yale University Press.Zelier, Barbie1998 Remembering to Forget: Holocaust Memory through the Camera’s Eye. Chicago: University of Chicago Press. แปลและเรียบเรียงจากFeldman, Jeffrey D. (New York University), “One tragedy in Reference to Another: September 11 and the Obligations of Museum Commemoration”, American Anthropologist 105 (4): 839 - 843.

ข้อสังเกตเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร

21 มีนาคม 2556

ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าไปนั่งสังเกตการณ์การนำเสนอแนวทางการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2547 จัดโดยบริษัท เฟรนด์ส ฟอร์ แฟมิลี่ จำกัด ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร การนำเสนองานในครั้งนี้เป็นการนำเสนอแนวทางการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ จำนวน 7 แห่ง ใน 7 เขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ได้แก่ เขตทวีวัฒนา เขตราษฎร์บูรณะ เขตคลองสาน เขตหนองแขม เขตบางกอกใหญ่ และเขตธนบุรี เสนอต่อตัวแทนของเขตต่างๆ อันประกอบด้วย ประธานชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน คณะครูอาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา สภาวัฒนธรรม ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวเหล่านั้นได้รับทราบและถือเป็นโอกาสในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลไปด้วยหลังจากทีมงานของบริษัทฯ ได้ทำงานสนามศึกษาข้อมูล รูปแบบเนื้อหาการจัดแสดงกันมาระยะหนึ่งแล้ว   การนำเสนองานแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกว่าด้วยเรื่องข้อมูลเนื้อหาที่นำมาใช้จัดแสดง ซึ่งทั้ง 7 เขตเปิดเรื่องโดยให้เห็นภาพกว้างของกรุงเทพฯ เหมือนกันในหัวข้อ "กว่าจะมาเป็นกรุงเทพมหานคร" เท้าความมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ลำดับต่อมาเป็นเรื่องพัฒนาการทางการปกครองของกรุงเทพฯ จากนั้นจึงเข้าสู่ข้อมูลเบื้องต้นของเขตต่างๆ เพื่อปูเรื่องเข้าสู่เนื้อหาของแต่ละเขตพื้นที่ (ให้เป็นที่สงกาว่าจะเอาเขตการปกครองมาขีดคั้นพรมแดนวิถีชีวิตวัฒนธรรมกันได้อย่างไร ช่างกล้าหาญชาญชัยเสียหรือเกินที่กักขังความเป็น "ท้องถิ่น" ไว้ใต้เส้นแบ่งเขตปกครอง)   เมื่อเข้าสู่เนื้อหาของท้องถิ่นแต่ละเขตพื้นที่ซึ่งจะแตกต่างกันไป โดยจัดแบ่งรูปแบบการจัดแสดงเป็นโซน อย่างในกรณีเขตหนองแขม โซน A ว่าด้วยเรื่องพัฒนาการของเขตหนองแขม โซน B เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวหนองแขม โซน C เรื่องหนองแขมกับการเปลี่ยนแปลง โซน D เป็นเรื่องสถานที่สำคัญ บุคคลสำคัญ และของดีหนองแขม สำหรับในสองโซนสุดท้ายนี้จะเหมือนกันทั้ง 7 เขตพื้นที่คือ โซนที่จัดแสดงแผนที่เส้นทางการท่องเที่ยวของแต่ละเขต และชุดสืบค้นข้อมูลท้องถิ่น ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ทัชสกรีนสำหรับสืบค้นข้อมูลท้องถิ่นและเอกสารข้อมูลของท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนที่สองเป็นการนำเสนอรูปแบบการจัดแสดงโดยอิงกับสถานที่จริงว่าควรจะมีหน้าตาอย่างไร ทางบริษัทก็นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เห็นรูปแบบการจัดแสดงว่าจะมีหน้าตาอย่างไร ในช่วงท้ายของการประชุม เมื่อซักถามทำความเข้าใจตกลงใจในเนื้อหาเรื่องราวถ้อยคำที่จะใช้ในการจัดแสดงแล้ว ทางบริษัทก็เสนอให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้เลือกคณะที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานจัดสร้างพิพิธภัณฑ์จำนวน 5 ท่านโดยมีหน้าที่   หน้าที่ 1. ตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลเนื้อหา 2. พิจารณาแบบก่อสร้าง 3. แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินงานให้ชุมชนรับทราบ ผู้เขียนให้นึกฉงนนี่จะเป็นองค์กรทางวัฒนรรมทั้งรูปธรรมนามธรรมเพื่อชุมชนโดยชุมชนแล้ว กทม.จัดที่ทางวางคนวางชุมชนไว้ตรงไหน ถึงได้มาอุปโลกน์ที่ปรึกษาจากคนในชุมชนเจ้าของเรื่องเจ้าของพื้นที่กันเมื่อโค้งสุดท้าย แล้วกระบวนการดำเนินงานเป็นอย่างไรหนอ?   กรอบแนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครa ระบุว่าการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ มาจากมติของที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในการประชุมสามัญที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2544 ให้ความเห็นชอบดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครในแต่ละเขตปกครอง โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายพัฒนาเยาวชน 2 กองสันทนาการ สำนักสวัสดิการสังคม เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบดำเนินการจัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2546-2550 จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครจำนวน 50 แห่ง ใน 50 เขต ดังนี้   ปีงบประมาณ 2546 ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ นำร่อง จำนวน 4 แห่งb ปีงบประมาณ 2547 ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ แห่งใหม่จำนวน 23 แห่ง พร้อมๆ ไปกับบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ฯ นำร่อง 4 แห่งดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ปีงบประมาณ 2549 ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ แห่งใหม่จำนวน 23 แห่งc และบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ จำนวน 27 แห่ง ปีงบประมาณ 2550 บริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ จำนวน 50 แห่ง   นายนิคม ไวรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กทม. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ ไว้ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2547 ว่า   "โครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครถือเป็น อีกความพยายามหนึ่งในการเก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตของชาวบ้านในแต่ละเขตเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนรวมทั้งทำหน้าที่ บอกเล่าเรื่องราวของท้องถิ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเชื่อมโยงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ กลุ่มคนในสังคมประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น"   ด้วยตระหนักถึงความแตกต่างความมีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบางแห่งจะทำหน้าที่เพียงบอกเล่าเรื่องราวในอดีตและเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นมาจนถึงปัจจุบันแล้วเชิญชวนให้ศึกษาวิถีชีวิตจริงที่ยังดำรงอยู่ในพื้นที่ ในเรื่องขั้นตอนการดำเนินงานนั้น สำนักงานเขตรับผิดชอบพิจารณาสถานที่จัดตั้งโดยอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าควรมีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่นที่จะดึงดูดความสนใจแก่ผู้มาเยี่ยมชมได้ และเจ้าของพื้นที่ยินยอมให้เข้าไปใช้พื้นที่นั้น นอกเหนือจากการหาสถานที่เป็นการจ้างเหมาเอกชนดำเนินการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพื้นที่ รูปแบบของพิพิธภัณฑ์ในแต่ละเขต การปรับปรุงภูมิทัศน์ การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดทำคู่มือนำชม ฯลฯ   ทีนี้กลับมาหาชุมชนกันบ้าง ชุมชนรู้อะไร พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครคืออะไร ทำพิพิธภัณฑ์ฯ ไปทำไม กทม. ทำความเข้าใจกับคนกรุงเทพฯ เพียงพอแล้วหรือ คนกรุงเทพฯ มีความเข้าใจรับรู้แล้วหรือที่จะมีพิพิธภัณฑ์ไปตั้งอยู่ในพื้นที่ของตน หาก กทม.จะใช้เวลาทำความเข้าใจและทบทวนเรื่องนี้สักหน่อย เราคงจะไม่ได้ยินคำพูดเหล่านี้หรอกว่า   "กทม.สรุปเรื่องที่ตั้ง ทำไมไม่ถามคนหนองแขม แล้วเชิญมาทำไม"   "พิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องเริ่มในวันนี้พรุ่งนี้ เราอยู่กันมาได้ 100 ปี ไม่เห็นเป็นไร เรื่องวันนี้พรุ่งนี้เป็นเรื่องของพวกคุณ"   "บริษัทฯ ไม่ถามชุมชน ชุมชนไม่เคยรู้เลยว่างบประมาณเท่าไหร่ จะทำอะไรต่อไป ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร คณะกรรมการไม่ทราบเรื่องเลย"   "คนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วม รัฐให้งบมา เรามาคิดกันเองก็ได้ ประสานงานให้มีคณะทำงาน คนหนองแขมต้องรู้"   เพราะนั่นหมายถึงความรับผิดชอบที่จะตามมาจากการบริหารจัดการที่ กทม.จะมอบให้กับสำนักงานเขต สำนักงานเขตมอบให้กับชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการกันต่อ งานนี้ยากยิ่งกว่าที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เสียอีก เพราะเราไม่ต้องการเห็นพิพิธภัณฑ์ที่ไหนเป็นขยะทางวัฒนธรรมที่ถูกทิ้งร้างอย่างไร้ผู้เหลียวแลอีก…   ----------------------- a กรอบแนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร.เอกสารอัดสำเนา. ฝ่ายพัฒนาเยาวชน 2 กองสันทนาการ สำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร b พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ตั้งอยู่ในโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม ซอยจรัลสนิทวงศ์ 32 พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ตั้งอยู่ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม ใกล้ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก จัดตั้งที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ซอยเจริญกรุง 43 และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน ตั้งอยู่ที่โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ สุดสายถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล c ได้รับการบอกกล่าวมาอีกทีว่าได้งบประมาณมาที่ละ 3 ล้านบาท ** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในจุลสารก้าวไปด้วยกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (มกราคม - มีนาคม 2548). * สรินยา คำเมือง นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

เด็ก ๆ เพลินใจในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร?

15 พฤษภาคม 2556

พิพิธภัณฑ์ ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง "สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมหรือวิทยาศาสตร์โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ" จากความหมายที่บัญญัติ พิพิธภัณฑ์จึงน่าจะเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเยาวชนจะได้รับความรู้จากพิพิธภัณฑ์แล้ว พวกเขาควรจะได้รับความเพลิดเพลินใจจากการชมพิพิธภัณฑ์กลับไปด้วย แต่สิ่งที่ปรากฏในความเป็นจริง โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย ได้ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่เยาวชนอย่างสมบูรณ์ แต่สำหรับความเพลิดเพลินใจ พิพิธภัณฑ์ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่? ความหมายของพิพิธภัณฑ์ อาจเป็นแนวทางให้พิพิธภัณฑ์โดยทั่วไปได้คิด และทบทวนว่า พิพิธภัณฑ์ได้ทำหน้าของตนเองดีแล้วหรือยัง ภัณฑารักษ์ อาจกำลังคิด และหาแนวทางสำหรับการนำเสนอวัตถุทางวัฒนธรรมที่แปลกใหม่ หรือกำลังคิดจัดทำนิทรรศการชั่วคราวในเรื่องต่อไป แต่ความเพลิดเพลินใจที่เยาวชนควรได้รับก็น่าจะเป็นหน้าที่ที่ภัณฑารักษ์ควรพัฒนาด้วยเช่นกัน ในพิพิธภัณฑ์ Australian Museum ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ทางด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และการศึกษาเรื่องคนพื้นถิ่นที่มีชื่อเสียงของประเทศออสเตรเลีย ได้จัดให้มีโปรแกรมการเรียนรู้สำหรับเด็กขึ้นในทุกๆ สุดสัปดาห์และในทุกๆวันหยุด โดยจัดเป็นเหตุการณ์พิเศษ กิจกรรมพิเศษ และ กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เช่นกิจกรรมในวันครอบครัว (Family Day) ที่พิพิธภัณฑ์เป็นผู้จัด เป็นกิจกรรมฝึกการทำผลงานหัตถกรรม เกมปริศนา และการเล่นเกม โดยกิจกรรมดังกล่าวจะมีความแตกต่างกันตามส่วนต่างๆของพิพิธภัณฑ์ และ Theme เนื้อเรื่องของพิพิธภัณฑ์ การดำเนินกิจกรรม Family Day ของพิพิธภัณฑ์ Australian Museum ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมในการเข้าร่วมกิจกรรม แต่อาศัยลักษณะการเข้าร่วมกิจกรรมแบบ "ใครมาก่อนได้ก่อน" และมีการกำหนดอายุเยาวชนในการเข้าร่วมกิจกรรม คืออายุไม่เกิน 5ปี อีกตัวอย่างสำหรับ พิพิธภัณฑ์ Australian Museum คือ การสร้าง "เกาะสวรรค์ของเด็กๆ" (Kids Island) สำหรับเด็กที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี ซึ่งเปิดเมื่อกลางปี ค.ศ.1999 "เกาะสวรรค์ของเด็กๆ" เป็นสวนสนุกแห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แบบ Interactive ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ทุกอย่างจากการปฏิบัติ การก่อสร้าง "เกาะสวรรค์ของเด็กๆ" นี้ เป็นการระดมความคิดจากทีมงานพิพิธภัณฑ์ นักการศึกษา นักนิเวศวิทยา และสถาปนิก ทั้งหมดได้ประชุมและหารือเพื่อสร้างและออกแบบ ภายใน "เกาะสวรรค์ของเด็กๆ" เด็กๆ จะได้ทำกิจกรรมมากมาย เช่นการล่องเรือจำลองเพื่อใช้เครื่องมือจำลองในการจับปลาของเล่น การไต่ ขึ้นลงทางลัดชันภายในบอลลูนจำลอง กิจกรรมการสำรวจชีวิตของตัววอมแบท (Wombat) ในโพรงไม้ เป็นต้น ความรู้ที่เด็กได้รับจากสถานที่นี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม และเปิดโอกาสแห่งความสนุกสนานให้กับเด็กไปพร้อมกัน กิจกรรมตัวอย่างที่กล่าวมานี้ สามารถตอบโจทย์ของงานพิพิธภัณฑ์ได้อย่างดีว่า พิพิธภัณฑ์สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจได้อย่างไร การกำหนดกรอบเนื้อเรื่อง และเนื้อหาคือสิ่งแรกที่พิพิธภัณฑ์ต้องคิดออกมาให้ได้ว่าจะนำเสนอเรื่องใดที่เหมาะสมกับเด็ก เช่นเดียวกับที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ท (Victoria and Albert Museum) ประเทศอังกฤษ โปรแกรมสำหรับกิจกรรมเยาวชนเริ่มต้นที่ช่วงอายุ 11-18 ปี โดยแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นการสร้างสรรค์ (Create Workshop) และส่วนที่เป็นการแข่งขัน (Competitions) ส่วนที่เป็นการสร้างสรรค์จะจัดเป็นกิจกรรม Workshop ในช่วงเวลาประมาณ 3 เดือน โดยในช่วงเวลานี้พิพิธภัณฑ์จะกำหนดโปรแกรมกิจกรรมภายใต้หัวเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ หรืออาจจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงไปสู่นิทรรศการที่จัดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ เช่นในช่วงตุลาคม - ธันวาคม 2006 พิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ท ได้จัดนิทรรศการ ลีโอนาโด ดาร์วินชี : การทดลอง และประสบการณ์จากการออกแบบ (Leonardo da Vinci : Experience, Eeperiment and Design) การจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก จึงมีการเชื่อมโยงเนื้อหาจากนิทรรศการออกมาดังนี้     กิจกรรมช่างคิดช่างประดิษฐ์ เป็นกิจกรรมที่ประยุกต์เทคโนโลยีมาผสานกับเนื้อหาที่ต้องการถ่ายทอดให้กับเด็ก โดยให้เด็กได้ออกแบบประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ โดยให้ได้แรงบันดาลใจจาก ลีโอนาร์โด ดาร์วินชี เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ เมื่อออกแบบได้แล้วเด็กๆจะนำผลงานนั้นสแกนลงเครื่องคอมพิวเตอร์และออกแบบอีกครั้งด้วยโปรแกรม Phototoshop เมื่อได้ผลงานมาแล้วจะนำผลงานนั้นสกรีนลงเสื้อยืด หรือสิ่งของอื่นๆ เช่นแก้วน้ำ กล่องดินสอ เป็นต้น     - กิจกรรมสร้างการ์ตูนลีโอนาร์โด ดาร์วินชี โดยเด็กจะสร้างตัวการ์ตูนโดยเรียนรู้ลักษณะนิสัย การดำเนินชีวิตของ ลีโอนาร์โด ดาร์วินชี เพื่อสร้างเป็นตัวการ์ตูน ตามจินตนาการของเด็กแต่ละคน โดยการวาดลงบนกระดาษแล้วจึงเปลี่ยนภาพที่ได้ให้อยู่ในรูปแบบดิจิตัล และตกแต่งด้วยโปรแกรม Photoshop อีกครั้ง กิจกรรมดังกล่าว ได้เชื่อมโยงเนื้อหาที่พิพิธภัณฑ์ต้องการถ่ายทอดไปสู่เด็ก ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย และน่าสังเกตว่ากิจกรรมทั้งหลายได้ผสมผสานระหว่างการทำงานด้วยมือ และกิจกรรมที่ทำด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เข้ากันอย่างลงตัวและ ผลงานที่ได้จากกิจกรรมยังสามารถนำไปแสดงในนิทรรศการดังกล่าวได้อีกด้วย สำหรับในส่วนของการแข่งขัน พิพิธภัณฑ์อาจกำหนดหัวข้อในการแข่งขัน เพื่อให้เด็กได้ลงมือทำกิจกรรมสร้างผลงาน และการแข่งขัน จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ เกิดความตื่นตัวที่จะสร้างผลงานให้ออกมาดีที่สุด เช่นการแข่งขันการออกแบบเสื้อผ้า ที่ให้เด็กวัยรุ่นอายุระหว่าง 11 - 18 ปี มาแข่งขันออกแบบเสื้อผ้า และผู้ชนะเลิศยังสามารถตัดเย็บและจัดงานแฟชั่นที่เป็น Collection ของตัวเองได้อีกด้วย การแข่งขันอาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องนักในทางมานุษยวิทยา เพราะการแข่งขันทำให้เกิดการเอาชนะ และเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก แต่ในชีวิตจริงเด็กๆเหล่านี้ก็ต้องพบกับสภาพการแข่งขันที่รุนแรงกว่ากิจกรรมในพิพิธภัณฑ์หลายเท่านัก การเลือกเอาส่วนดีของกิจกรรมการแข่งขันมาใช้จึงน่าจะเกิดประโยชน์ต่อเด็กบ้างไม่มากก็น้อย สำหรับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (Science Museum) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงผลงานและเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ มีโปรแกรมสำหรับเด็กและเยาวชนมากมาย นอกเหนือจากกิจกรรมในรูปแบบครอบครัวซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ให้ความสำคัญเป็นตัวหลักในการจัดกิจกรรมแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดโปรแกรม "ค่ำคืนแห่งวิทยาศาสตร์" (Science Night) ซึ่งเป็นกิจกรรมเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กอายุ 8 - 11 ปี โดยใช้เวลา1วัน1 คืนที่พิพิธภัณฑ์ เพื่อเรียนรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ด้วยกิจกรรมที่สนุกสนาน เช่นกิจกรรม Workshop การสาธิตทางวิทยาศาสตร์ การสะกดรอยแนวทางนักสืบภายในพิพิธภัณฑ์ตอนกลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆไม่เคยได้พบเห็นในเวลากลางวัน การอยู่รวมกัน และการได้พบเห็นสิ่งที่แปลกใหม่ทั้งเพื่อน และสิ่งรอบกาย จะช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมากมายแก่เด็ก เพียงหนึ่งคืนสำหรับกิจกรรม "ค่ำคืนแห่งวิทยาศาสตร์" จึงเป็นค่ำคืนที่น่าประทับใจไม่น้อย ไม่เพียงแค่ที่พิพิธภัณฑ์เท่านั้นที่เด็กๆจะสามารถทำกิจกรรมได้ การให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์ แล้วกลับไปทำแบบฝึกที่บ้านผ่านทางเทคโนโลยีเครือข่าย ก็เป็นแนวทางกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่นเดียวกับที่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (Science Museum) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็ได้ดำเนินกิจกรรมนี้เช่นกัน โดยเนื้อหาภายในเวบไซต์ ของ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (www.sciencemuseum.org.uk/education) จะมีส่วนของกิจกรรมที่ให้เด็กทำที่บ้าน จากตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมที่ให้เด็กได้ทำคือการเป็นนักสืบโดยดูวัตถุสิ่งของในเวบไซต์ แล้วเขียนบอกรายละเอียด โดยวัตถุเหล่านี้ล้วนปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์แล้วทั้งสิ้น การดำเนินการเช่นนี้อาจมีการเตรียมตัวจากผู้ปกครอง หรือ ครู ไว้ก่อนว่าเด็กควรจะสนใจในเรื่องใดเป็นพิเศษ เพราะจะมีแบบฝึกหัดให้เด็กๆ ได้ทำในเวบไซต์ หรืออาจให้เด็กได้ดูภาพจากเวบไซต์ก่อน แล้วจึงให้เด็กไปค้นคว้ารายละเอียดเพิ่มตามจากพิพิธภัณฑ์อีกทีก็ได้ กิจกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เกิดขึ้นและสามารถทำได้ในพิพิธภัณฑ์ การศึกษาเรียนรู้กิจกรรมจากพิพิธภัณฑ์อื่นๆ จึงเป็นแนวทางให้ภัณฑารักษ์ และผู้ที่ทำกิจกรรมสำหรับเด็กพัฒนากิจกรรมให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ และระดับอายุของเด็ก เพราะถึงอย่างไร การเรียนรู้สำหรับเด็กที่ดีที่สุดก็คือ การปฏิบัติกับสิ่งของที่อยู่รอบตัว สิ่งที่ผู้ใหญ่จะทำได้ก็คือ การกำหนดกรอบ ขอบเขต และเนื้อหาของกิจกรรมเพื่อเป็นตัวจุดประกายให้กับเด็กในการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองต่อไป แล้วพิพิธภัณฑ์ก็สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ข้อมูลประกอบการเขียน www.austmus.gov.au www.vam.ac.uk และ http://www.sciencemuseum.org.uk