บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 82 บทความ

บันทึกการเดินทาง: หลวงพระบาง ผู้คน ชีวิต และพิพิธภัณฑ์

22 กันยายน 2558

        ข้อเขียนนี้พัฒนามาจากบันทึกภาคสนามของผู้เขียน เมื่อครั้งไปเยือนเมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. 2552  แม้จุดหมายปลายทางของการเดินทางในครั้งนั้นคือ การสัมภาษณ์ Tara Gudjadhur และทองคูน  สุดทิวิไล สองผู้อำนวยการหญิงของ “ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา”  (Traditional Arts and Ethnology Centre) แต่การได้เดินท่องไปตามตรอกซอกซอย  พบปะพูดคุยกับผู้คนต่างๆ ทำให้เห็นชีวิตและได้ย้อนคิดกับความเป็นไปของเมืองและผู้คน   - ปฐมบทของการเดินทาง -         แม้การเดินทางมาหลวงพระบางครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก  แต่เป็นครั้งแรกในรอบ 6-7 ปีที่ผ่านมา จึงอดตื่นเต้นไม่ได้ เหมือนจะได้ไปเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบกันมาหลายปี  ก่อนหน้านี้ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางเข้าออกหลวงพระบางและประเทศลาวหลายครั้ง เพราะความจำเป็นอันเกี่ยวเนื่องกับการเรียน หลังจากเรียนจบแล้วยังไม่ได้มีโอกาสไปเมืองหลวงพระบางอีก เพียงแต่ได้ยินคำบอกเล่าจากหลายทางเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเมือง         ก่อนเดินทางทั้งเตรียมคำถามการสัมภาษณ์  หาข้อมูลเรื่องที่พัก แต่โชคดีที่ตอนนั้น “กฎ” เพื่อนร่วมงานในตอนนั้น กำลังทำวิจัยร่วมกับทีมนักโบราณคดีต่างประเทศที่หลวงพระบาง จึงไหว้วานให้ช่วยจองที่พักให้ ไม่ไกลจากศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา ที่จะไปเก็บข้อมูล         วันวาเลนไทน์ ปี พ.ศ. 2552 ผู้เขียนและอาจารย์สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์ เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิด้วยสายการบินแห่งชาติลาว  ผู้โดยสารบนเที่ยวบินส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  เครื่องบินที่นำเราสู่เมืองหลวงพระบางเป็นเครื่องบินใบพัดขนาดเล็ก หลังจากที่เครื่องบินอยู่บนน่านฟ้าราวหนึ่งชั่วโมง  ผู้บัญชาการบิน(ตามภาษาลาว) ที่ผู้เขียนยังจำชื่อได้คือ “กัปตันสมนึก” เดินออกมาจากห้องนักบิน  เพื่อไปเข้าห้องน้ำที่ด้านหลังตัวเครื่อง  ผู้โดยสารฝรั่งด้านหน้าทำท่าทางตกใจและเอ่ยปากถามกัปตัน  ผู้เขียนไม่ได้ยินคำถามถนัดนัก  เพียงแต่ได้ยินคำตอบจากกัปตันชัดเจนว่า “no problem”  พร้อมกับสีหน้ายิ้มแย้ม  ผู้โดยสารบางคนอาจไม่ค่อยมั่นใจในประสิทธิภาพการบินของประเทศเล็กๆ ในแถบเอเชีย บางครั้งข้อมูลที่อ่านมาจากคู่มือนักท่องเที่ยว ก็เล่าแบบชวนน่าหวาดเสียว จนดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็ไม่ปลอดภัยไปเสียทั้งหมด  เมื่อล้อแตะรันเวย์สนามบินหลวงพระบาง เสียงปรบมือจากผู้โดยสารต่างชาติดังลั่นโดยพร้อมเพรียงกัน         รถโดยสารเคลื่อนออกจากสนามบินราวเที่ยงเศษเข้าสู่ตัวเมืองหลวงพระบาง มุ่งหน้าไปยัง เรือนพักในซอยข้างไปรษณีย์หลวงพระบาง  เรือนพักดังกล่าวเป็นเรือนครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่ถึงปี  ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบหลวงพระบางคือหลังคาทรงจั่ว ป้านหน่อยๆ   สังเกตว่าเกสเฮ้าส์ที่สร้างใหม่ในเขตเมืองหลวงพระบางล้วนเป็นรูปทรงนี้ทั้งสิ้น  ในซอยนี้มีเกสเฮ้าส์ไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง    ในขณะที่ซอยข้างๆ  สามารถเดินทะลุถึงกันก็มีอีกจำนวนไม่น้อย           เราเดินไปแลกเงินที่บู๊ทแลกเงินของธนาคาร อัตราแลกคือ 1 บาทเท่ากับ 241 กีบ  แล้วจึงเดินฝ่าไอแดดและอากาศที่ร้อนอบอ้าวไปยังหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง  วันนี้เป็นวันเสาร์นักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ  ทราบทีหลังว่านักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งกลับมาจากการเที่ยวงานบุญช้าง ที่แขวงไชยะบุรี  ซึ่งใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 2 ชม.จากหลวงพระบาง   - หอคำหลวง พิพิธภัณฑ์เจ้ามหาชีวิต -            ก่อนเข้าชม เราเดินไปปีกขวาของหอคำเพื่อไปสักการะพระบาง  พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของลาวก่อน เล่าต่อมากันว่าที่จริงพระบางที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่ไม่ใช่องค์จริง  ส่วนองค์จริงนั้นว่ากันว่าถูกเก็บไว้ยังสถานที่ปลอดภัย แต่ไม่รู้ว่าคือที่ไหน ซึ่งเรื่องเล่านี้ไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร   จากนั้นเราจ่ายค่าตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์คนละ 30,000 กีบ ราคาเท่าๆ กับดูหนังในเมืองไทย 1 เรื่อง ในขณะที่คนลาวเสียค่าเข้าชมประมาณ 5,000 กีบ ซึ่งราคาเท่าๆ กับที่คนไทยจ่ายเงินเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย                  ผู้เขียนมาหลวงพระบางครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2542 เคยเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้ว แต่จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ว่าข้างในจัดแสดงอะไร  การมาเยี่ยมชมครั้งนี้จึงรู้สึกเหมือนกับว่าได้มาชมครั้งแรก   ในวังเจ้ามหาชีวิตหรือหอพิพิธภัณฑ์ อากาศเย็นสบายผิดกับด้านนอก  น่าเสียดายที่ห้ามถ่ายภาพ  ภาพโดย ปณิตา  สระวาสี                   ห้องแรกคือห้องท้องพระโรง เป็นห้องที่สวยงาม ฝาผนังติดกระจกสีโดยรอบเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและนิทานพื้นเมืองของชาวลาว  ถัดมาด้านขวาเป็นห้องรับรอง ภาพวาดขนาดใหญ่เต็มฝาผนังของจิตรกรชาวฝรั่งเศสทำให้ห้องนี้ดูแปลกตา  แม้ภาพเขียนจะเล่าเรื่องวิถีชีวิตคนลาว  ผู้เขียนสังเกตว่าอากัปกิริยาบางอย่าง หรือรูปหน้าคนบางคนกระเดียดไปทางฝรั่ง โดยเฉพาะเด็กน้อยชาวลาวคนหนึ่ง  ตามรายทางรอบระเบียงมีกลองมโหระทึกจัดแสดงไว้อยู่หลายใบ           ห้องบรรทม  มีเครื่องเรือนไม่กี่ชิ้น อาทิ เตียง  โต๊ะ ตู้เสื้อผ้า  เครื่องเรือนแต่ละชิ้นเป็นไม้อย่างดี  ดูบึกบึนเพราะใช้ไม้ชิ้นใหญ่ทำ แต่ก็ดูอ่อนช้อยด้วยลวดลายแกะสลัก  ในหนังสือของอาจารย์  Grant  Evans  เรื่อง The Last Century of Lao Royalty: a Documentary History, 2009. ตีพิมพ์ภาพเก่าของห้องบรรทมและเฟอร์นิเจอร์  ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์          ฝาผนังแขวนภาพถ่ายขาวดำของเจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้ายและพระบรมวงศานุวงศ์  ภาพเจ้าสะหว่างวัดทะนา เจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้าย  ผู้เขียนเคยเห็นภาพของพระองค์ในหนังสืออื่นมาบ้างแล้ว    แต่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นภาพของพระชายา พระโอรส และพระธิดาทุกพระองค์     ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าว่า ภาพถ่ายราชวงศ์นี้แววตาทุกคนดูเศร้าสร้อย  ผู้ชมส่วนใหญ่คงจะทราบกันดีกว่าทุกพระองค์สวรรคตเมื่อครั้งถูกส่งตัวไป “สัมมนา”ณ แขวงทางเหนือ  แน่นอนว่าเรื่องราวแบบนี้ไม่ได้ถูกบอกเล่าในพิพิธภัณฑ์    ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ห้องบรรทมไม่มีห้องน้ำในตัว (น่าสนใจที่จะศึกษาต่อไปถึง เรื่องความเป็นส่วนตัวและส่วนรวมเรื่องห้องน้ำในสังคมคนเอเชีย)          ว่าไปแล้วเมื่อพระราชวังเก่าถูกแปรเป็นพิพิธภัณฑ์   พฤติกรรมของคนดูค่อนข้างแตกต่างกับเมื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ปกติธรรมดาทั่วไป  คือวังเก่าเป็นส่วนผสมของความเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวและข้าวของในฐานะพิพิธภัณฑ์กับความเป็นพื้นที่ที่ไม่ปกติธรรมดา นำไปสู่การกำหนดพฤติกรรมการเข้าชมบางอย่างแก่ผู้ชมหรือไม่ผู้ชมก็กำหนดพฤติกรรมการเข้าชมด้วยตัวเอง จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เช่น การเดินชมด้วยความสำรวมเป็นพิเศษ เอาเข้าจริงการชมพิพิธภัณฑ์ไม่ว่าที่ไหน นอกเหนือจากสิ่งที่เขาตั้งใจจัดแสดงที่เราชมแล้ว   เรายังใช้เรื่องราวหรือประสบการณ์ที่เรารับรู้มาก่อนหน้า มาเป็นส่วนหนึ่งของพฤติการการดูด้วย ยกตัวอย่างที่ผู้เขียนรู้ว่าที่นี่เป็นพระราชวังเก่าของเจ้ามหาชีวิต กอรปกับเคยอ่านประวัติชีวิตและชะตากรรมของราชวงศ์ที่ประทับในวังแห่งนี้  จึงสนใจใคร่รู้เป็นพิเศษต่อภาพถ่ายเก่าของเจ้ามหาชีวิตและราชวงศ์  ขนาดคิดไปได้ว่าคนในภาพมีสายตาเศร้าสร้อย            นอกจากเครื่องเรือนและการประดับประดาหรูหรากว่าปกติสามัญ ตามแบบฉบับวิถีของผู้ปกครอง    สังเกตว่าพื้นที่ของพระราชวังหรือพิพิธภัณฑ์  สะท้อนการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกับความเป็นลาว  เช่น สถาปัตยกรรมและภาพวาดบนฝนังที่วาดโดยศิลปินฝรั่งเศส  อยู่ไม่ไกลจากภาพประดับกระจก(แบบเดียวกับที่วัดเชียงทอง)ที่ห้องท้องพระโรง  รวมถึงโบราณวัตถุที่ล้ำค่า  ที่เป็นวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา           วัตถุที่จัดแสดง อาทิ  พระพุทธรูปที่ส่วนใหญ่ได้มาจากวัดวิชุน กลองมโหระทึก ฉลองพระองค์  เอกสาร หนังสือ   ล้วนจัดแสดงตามวิธีการอนุรักษ์ เช่น  จารึกวางอยู่ในกล่องพลาสติกใสเพื่อป้องกันการสัมผัส  เครื่องแต่งกายแขวนไว้บนไม้ที่หุ้มนวมและผ้าดิบ เพื่อป้องกับการเป็นรอยพับ   เอกสารที่เป็นกระดาษจัดแสดงบนชั้นไม้ที่วางรองด้วยกระดาษไร้กรด เป็นต้น  ทราบภายหลังว่าทองคูน  ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา เป็นภัณฑารักษ์ของที่นี่ด้วย  เธอได้รับการอบรมเรื่องการอนุรักษ์วัตถุและการจัดแสดงจากหลายสถาบัน อาทิ สมิธโซเนียน และที่ญี่ปุ่น         ห้องสุดท้าย จัดแสดงของที่ระลึกที่ผู้นำประเทศต่างๆ มอบให้เจ้ามหาชีวิตของลาวและผู้นำประเทศลาว  ผู้เขียนอยากดูของที่ระลึกที่สหรัฐมอบให้ลาว เพราะเคยอ่านหนังสือมาว่าสหรัฐมอบเศษหินบนดวงจันทร์ให้ลาว   ใครๆ ก็รู้ว่าช่วงนั้นลาวเป็นประเทศหนึ่งที่ตกอยู่ในวงล้อมของคอมมิวนิสต์  คำหวานที่ประธานาธิบดีสหรัฐเขียนมาพร้อมๆ กับของที่ระลึกที่มอบให้ลาวน่าสนใจ  ในตู้กระจกในส่วนจัดแสดงของที่ระลึกจากสหรัฐฯ  จัดแสดงสะเก็ดหินจากดวงจันทร์ ที่ยานอพอลโลไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกพร้อมกับธงชาติลาวอันจิ๋ว   พร้อมจดหมายน้อยที่ผู้นำสหรัฐเขียนมาว่า  ธงชาตินี้ถูกนำขึ้นไปพร้อมกับยานอพอลโล เมื่อยานจอดบนดวงจันทร์ นักบินก็ได้นำธงชาติผืนนี้ลงไปด้วย!     - เมืองหลวง ชีวิต  ผู้คน ในกระแสความเปลี่ยนแปลง -         คนลาวมักเรียกเมืองหลวงพระบางสั้นๆ ว่า “เมืองหลวง” หลวงพระบางตั้งอยูทางตอนเหนือของประเทศ เป็นเมืองเก่าแก่ริมน้ำโขงสบน้ำคาน  เคยเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตของลาวมาหลายยุคสมัย เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่โดดเด่น ด้วยมรดกสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนยังคงพยายามรักษาและสืบทอดจากรุ่นสู่สู่ จนยูเนสโกประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ.1995            กาลเวลาผ่านเลย กระแสการท่องเที่ยวที่ถาโถม เป็นธรรมดาที่บางอย่างต้องเปลี่ยนไป ร้านรวงเก๋ๆ  มีอยู่ทั่วไปทุกตรอกซอย  ให้บรรยากาศคล้ายร้านที่เชียงใหม่   ตามฮอม(ซอย) ที่เคยเป็นดินลูกรังถูกปูด้วยอิฐดินเผาสวยงาม   เดินสบายไม่ต้องกลัวเปื้อนน้ำขี้เลนเหมือนแต่ก่อน เมืองดูสะอาดมากขึ้นโข   ขณะเดียวกันก็มองเห็นและรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ  คือพื้นที่ศูนย์กลางเมืองไม่ได้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนหลวงพระบางอีกต่อไป  แต่เป็นเมืองแห่งเกสเฮ้าส์และร้านรวงที่ออกแบบชิคๆ คนฮิปๆ นั่งจิบกาแฟแคมทาง  โดยเฉพาะถนนเส้นหลักที่ผ่ากลางเมือง  เจ้าของเกสเฮ้าส์และร้านรวงส่วนใหญ่บนถนนเส้นนี้ล้วนเปลี่ยนมือไปเกือบหมดแล้ว  เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ใช่คนหลวงพระบาง ร้านขายผ้าพื้นเมืองบางร้านเป็นของฝรั่ง  เกสเฮ้าส์ 2-3 แห่ง เจ้าของก็เป็นนักธุรกิจไทย             ตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือบ้านของเพื่อนคนลาว  บ้านหลังนี้เป็นตึกแถวไม้สองชั้น อยู่ในเขตบ้านวัดแสน  ริมถนนสีสะหว่างวง  ถนนสายหลักของเมือง  เรียกว่าเป็นทำเลทอง  บัดนี้เจ้าของให้บริษัททัวร์เช่าระยะยาวไปแล้ว  ส่วนตัวเขาเองและครอบครัวเลือกที่จะย้ายไปปลูกบ้านหลังใหม่นอกเมืองแทน           การที่คนดั้งเดิมย้ายออกจากเมือง มีผลกระทบต่อประเพณีทางศาสนาในวัดพื้นที่ชั้นในของเมือง  ผู้คนที่เข้ามาทำกิจกรรมทางศาสนาในช่วงเทศกาลสำคัญๆ บางตาลงมาก เพราะศรัทธาวัดเดิมต่างย้ายถิ่นอาศัยไปนอกเมืองเกือบหมด          การซ่อมแซมและสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่ชั้นในของเมืองหลวงพระบาง  แปลนก่อสร้างและวัสดุที่ใช้จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ทางยูเนสโกวางไว้  เราจึงเห็นเกสเฮ้าส์ที่สร้างใหม่หลายแห่งหน้าตาและแบบแปลนดูคล้ายๆ กันไปหมดคือ แบบที่เรียกว่าเรือนพื้นถิ่นหลวงพระบาง             การเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะเมืองท่องเที่ยวพร้อมๆ กับการเป็นเมืองมรดกโลก  ล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ชาวเมืองต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น   คนนอกอย่างผู้เขียนตื่นเต้นมากที่พบว่าตลาดดาลา  ตลาดที่อยู่กลางเมืองหลวงพระบางได้รับการปรับโฉมใหม่  ออกแบบสวยงาม สะอาด   มีที่จอดรถ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ ตลาดไม่คึกคักเหมือนเก่า ตลาดใหม่นี้เปิดมาได้ปีนึงแล้ว  ร้านค้ายังเปิดไม่เต็ม  บางล็อกจึงดูหงอยเหงา  แม่ค้าร้านขายผ้าบอกว่าค่าเช่าแพงขึ้น  ผู้เขียนไม่ค่อยเห็นนักท่องเที่ยวหรือคนลาวไปเดินเหมือนกับแต่ก่อน   ร้านขายผ้าทอพื้นเมืองร้านหนึ่งอ้างว่าของที่เขาขายไม่เหมือนของในตลาดมืด  แสดงว่าคู่แข่งสำคัญของตลาดดาลาคือตลาดมืด หรือตลาดกลางคืน   นอกจากนี้ยังมีร้านขายเสื้อผ้ายี่ห้อแบรนด์เนม  ร้านขายเสื้อผ้าพื้นเมือง  ร้านขายเครื่องเงิน  ร้านขายทอง  ร้านขายแบบเรียนและเครื่องเขียน ผู้เขียนจำร้านนี้ได้เพราะเคยอุดหนุนหลายครั้งเมื่อหลายปีก่อน   ร้านขายมือถือ MP3    ร้านกาแฟ          เดินไปตามถนนเห็นชื่อร้านหรือเกสเฮ้าส์ เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อยู่หลายร้าน เช่น บ้านพักชื่อบ้านไทลื้อ  ร้านอาหารขมุ  สปาขมุ  ทราบมาว่าพนักงานนวดตัวนวดเท้าส่วนใหญ่เป็นขมุ  บางร้านเขียนป้ายไว้ว่า “นวดแผนลาว”  ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกเปรียบเทียบคำคล้ายๆ กันที่เรียกว่า “นวดแผนไทย”    ซึ่งคำว่านวดแผนลาวก็ไม่น่าจะใช่ศัพท์ภาษาลาว  ปัจจุบันศัพท์ในภาษาลาวได้รับอิทธิพลทางภาษาไทยจากสื่อไทย  โดยปัจจุบันลาวนิยมใช้ทับศัพท์ภาษาไทยและแปลงเสียงให้เป็นลาวอยู่หลายคำ  ถ้าฟังเพลงสมัยใหม่ของลาวจะเห็นได้ชัด         กิจกรรมความบันเทิงในเมืองหลวงพระบางสำหรับการท่องเที่ยวดูจะมีมากขึ้น   เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอาจจะมีเพียงการแสดงโขนพระลักษณ์ พระราม  ขับทุ้มหลวงพระบาง  แสดงรอบค่ำที่หอประชุมด้านหน้าวังเจ้ามหาชีวิต  ปัจจุบันมีกิจกรรมน่าสนใจหลากหลาย อาทิ  ทุกเย็นวันเสาร์และวันพฤหัสบดี  หน้าศูนย์วัฒนธรรมเด็ก ใกล้ตลาดดาลา จะมีเด็กนักเรียนมายืนแจกแผ่นโฆษณาการแสดงหุ่นอีป๊อก(หุ่นกระบอก) ที่แสดงโดยนักแสดงเด็กที่ได้รับการฝึกสอนจากคณะหุ่นอีป๊อกรุ่นใหญ่  การขับร้องดนตรีพื้นเมือง  และการเต้นรำของชนเผ่าต่างๆ  การบายศรีสู่ขวัญ และเสริฟของว่างและน้ำชาระหว่างชมการแสดง  เริ่มแสดงตั้งแต่ 18.00 –19.30 น. ราคาบัตรเข้าชมคนละ 50,000 กีบ  เย็นวันแรกที่เราไปถึง เราก็ได้ใบปลิวโฆษณามา แต่ไม่ได้เข้าไปชม         กิจกรรมบันเทิงยามค่ำคืนที่ขาดไม่ได้ในหลวงพระบางยามนี้คือ  การช็อปปิ้งในตลาดมืด  ราว 4 โมงเย็น พ่อค้าแม่ขายจะเริ่มกางเต้นท์และนำข้าวของมาจัดเรียงในล็อกของตนบนถนนศรีสะหว่างวง ตั้งแต่หน้าน้ำพุข้างหน้าการท่องเที่ยวลาว ไปจนสุดกำแพงด้านตะวันออกของวังเจ้ามหาชีวิต  ระยะทางราว 500 เมตร   และซอยด้านข้างวังอีกราว 100 เมตร            ข้าวของที่ขายจะจัดเป็นโซน อย่างน้อย 2 โซนคือ  อาหารอยู่บริเวณต้นถนนติดกับน้ำพุ  หลังจากนั้นจะเป็นของที่ระลึก ร้านส่วนใหญ่จะขายเหมือนๆ กัน อาทิ  ผ้าทอพื้นเมือง  ผ้าเย็บมือของม้ง(ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง  ย่าม ผ้ากันเปื้อน  รองเท้าแตะ  กระเป๋าใส่สตางค์) ลวดลายผ้าม้งหลากหลายมากขึ้น  ลายที่เห็นบ่อยที่สุดคือ ช้าง นอกจากนี้ยังมี ผ้าจากจีน เครื่องเงิน  โคมไฟกระดาษสา  ภาพวาด  ภาพพิมพ์ลายพื้นเมือง  หนังสือ ภาพโดย ปณิตา  สระวาสี         ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับแม่ค้าที่มาขาย 4-5 คน ทุกคนมาจากนอกเมืองทั้งหมด พอตกเย็นจึงจะเข้ามาตั้งร้านขายของ  “นางวอน” เป็นคนไทลื้อ บ้านผานม กลางวันทอผ้า ตอนเย็นจึงเอาผ้าออกมาขาย  บ้านผานมเป็นตลาดขายผ้าใหญ่และมีชื่อของเมืองหลวงพระบาง  แต่นางวอนไม่มีแผงขายผ้าที่ผานม เธอบอกว่าตลาดขายผ้าที่นั่นค่าเช่าแผงแพงและตลาดก็เต็ม  ส่วนที่นี่เก็บค่าเช่าเดือนละ 4,000 กีบ แบ่งเป็นค่าแผง 2,000 และค่าไฟ 2,000 กีบ แต่ต้องจ่ายล่วงหน้าเป็นรายปี   ที่น่าสนใจคือ แผงของเธอมีผ้าเปียวไทดำขายด้วย ซึ่งเธอบอกว่าทอลายเองและเย็บเองโดยจำและประยุกต์ลวดลายเอาเอง  ในที่สุดผ้าเปียวผืนงามนี้ก็ถูกจับจองโดยผู้ร่วมทริปของผู้เขียน ซึ่งได้สำทับว่าเป็น “ผ้าไทดำ ตำ(ทอ)โดยไทลื้อ”         “นางใจ”  เป็นไทลื้อบ้านผานม  ตอนกลางวันเธอเป็นพนักงานร้านอาหาร ตอนเย็นนำผ้าจากบ้านตัวเองและรับมาจากที่อื่นเพื่อมาขายที่ตลาด  นางใจเล่าว่า บ้านเธอมีแม่เฒ่าที่ยังทอผ้าอยู่  ในอนาคตเธอวางแผนว่าจะเปิดร้านขายผ้า และโรงเรียนสอนตำแผ่น(ทอผ้า) ริมน้ำคาน ที่บ้านของเธอเอง         ผู้หญิงไทดำอีกคนหนึ่งที่มีแผงขายกางเกงผ้าฝ้าย  เธอเล่าว่าอพยพทั้งครอบครัวมาจากแขวงพงสาลี เพื่อมาค้าขายอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง  รวมถึงเด็กๆ ชาวม้งอีก 2-3 ที่คุยด้วย พวกเธอเล่าให้ฟังว่า อาศัยอยู่นอกเมืองไม่ไกลจากสนามบิน ผ้าที่มาขายเป็นฝีมือการเย็บของพวกเธอเอง  พอเราซื้อคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งที่นั่งขายอยู่ติดกันก็มักจะบอกให้ช่วยซื้อผ้าของเธอบ้าง  เมื่อวิญญาณนักช็อปเข้าสิง จึงอดไม่ได้ที่ต้องอุดหนุนทั้งสองร้าน    - ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา -         ผู้เขียนไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา 2 ครั้ง ครั้งแรกอยากจะไปเดินชมนิทรรศการเสียก่อน เพื่อเวลาไปสัมภาษณ์จะได้มีประเด็นซักถาม  ที่นี่เปิดตั้งแต่ 9.00 –18.00 น.  เสียค่าเข้าคนละ 40,000 กีบ การจัดแสดงเริ่มด้วยนิทรรศการที่อธิบายข้อมูลทั่วไปของประเทศลาว  ข้อมูลชนเผ่า เช่น ตระกูลภาษา ข้อความที่อธิบายมี 2 ภาษา คือ ลาวและอังกฤษ  หลังจากนั้นการจัดแสดงจะแบ่งมุมต่างๆ รวมทั้งหมด 7 ชนเผ่า คือ อาข่า ม้ง ไทลื้อ เมี่ยนเย้า มุนเย้า(แลนแตน) ไทดำ และขมุ  ซึ่งชนเผ่าที่จัดแสดงในชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในแขวงหลวงพระบางและแขวงทางเหนือของประเทศ  โดยแต่ละเผ่าจะมีธีม(theme) หลักของตัวเอง              อาข่า         ความหลากหลายของชาติพันธุ์              ม้ง             ปีใหม่ม้ง              ไทลื้อ         จากฝ้ายกลายเป็นเสื้อผ้า              เมี่ยนเย้า     ศิลปะการปักผ้าและลวดลาย              มุนเย้า         พิธีกรรมความเชื่อลัทธิเต๋า              ไทดำ         การทำเตียงนอน              ขมุ            การจักสานและทอผ้ากี่เอว                  การจัดแสดงแต่ละเผ่า ประกอบด้วยวัตถุ ภาพถ่าย  ป้ายคำอธิบายธีม ป้ายคำอธิบายวัตถุ  สิ่งที่น่าสนใจคือ ป้ายคำอธิบายธีมของทุกเผ่าล้วนขึ้นต้นด้วยการ ยกคำพูดของสมาชิกชนเผ่านั้นขึ้นมา(quotation) เป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเองหรือของสังคมในกลุ่มชาติพันธุ์ของตน           เช่น  มุมจัดแสดงของเผ่ามุนเย้า  มีคำพูดหมอผีประจำเผ่าคนหนึ่งบอกว่า “...ตัวเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอผีตั้งแต่ปี 1961 แต่มีโอกาสจัดพิธีกรรมเพียง 2 ครั้งเท่านั้น  คนสมัยนี้ไม่ได้สนใจการใช้หมอผีรักษา ส่วนใหญ่ไปโรงหมอกันหมด...”    ป้ายคำบรรยายวัตถุบางชิ้นค่อนข้างอ่านยากเพราะติดอยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาเกินไป  บางชิ้นต้องนั่งยองๆ อ่าน         การจัดแสดงมีพื้นฐานมาจากการวิจัยและเก็บข้อมูลภาคสนามของพิพิธภัณฑ์  เทคนิคการจัดแสดงไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้าไปมาใช้  ส่วนใหญ่ยังเป็นการอธิบายผ่านตัวอักษรและภาพประกอบกับคอลเล็กชั่น   มีป้ายห้ามจับสิ่งของที่จัดแสดง  ของส่วนใหญ่เป็นการทำเลียนแบบขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นนโยบายของพิพิธภัณฑ์ ที่จะไม่ซื้อของจากชาวบ้าน   ของบางชิ้นเช่น คอลเล็กชั่นเกี่ยวกับพิธีกรรมเต๋าที่เป็นเสื้อผ้าและภาพวาด  หยิบยืมมาจากนักสะสมต่างชาติ ซึ่งเขียนระบุไว้ในป้ายคำอธิบาย   ภาพโดย ปณิตา  สระวาสี         หลังจากที่ได้สัมภาษณ์ผู้อำนวยการทั้งสองคน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งคู่ ที่อายุเพียง 30 ปีเศษ  Taraเป็นคนสัญชาติอเมริกัน จบการศึกษาจากสหรัฐฯ ด้านมานุษยวิทยาและการท่องเที่ยว  เข้ามาทำงานเป็นเอ็นจีโอในลาวด้านการท่องเที่ยว สามารถพูดภาษาลาวได้  และสนใจเรื่องวัฒนธรรมชนเผ่าของลาวมาก  จากนั้นจึงคิดก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรม/พิพิธภัณฑ์ ที่ให้ความรู้ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเธอเห็นว่ายังไม่มีในเมืองหลวงพระบาง   โดยควักทุนส่วนตัวร่วมกับเพื่อนคนลาว คือ ทองคูน ภัณฑารักษ์ประจำหอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง  เธอจะเข้ามาดูแลที่นี่เฉพาะตอนพักกลางวันและหลังเลิกงานประจำเท่านั้น           ที่นี่จดทะเบียนก่อตั้งเป็นองค์กรธุรกิจ ซึ่ง TARAบอกว่าง่ายกว่าการจัดตั้งเป็นองค์กรทางวัฒนธรรมหรือองค์กรพัฒนาเอกชน เพราะทางการลาวค่อนข้างเข้มงวดและใช้เอกสารรับรองเยอะ  ทุนประเดินคือเงินส่วนตัว  ต่อมาขอทุนสนับสนุนจากองค์กรอื่นๆ  ขณะที่คุยกันเธอเล่าว่าเพิ่งได้รับทุนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาในการทำนิทรรศการชั่วคราวตัวใหม่  นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังหารายได้จากการทำร้านขายของที่ระลึก และร้านกาแฟ ที่อยู่บริเวณด้านหลังพิพิธภัณฑ์          ของที่ระลึกในพิพิธภัณฑ์  ค่อนข้างแตกต่างจากของที่วางขายทั่วไปในเมือง เพราะที่นี่จะออกแบบแล้วสั่งให้ชาวบ้านทำโดยเฉพาะ  ของส่วนใหญ่มีดีไซน์ที่ทันสมัย สีสันสดใส เช่น กระเป๋าสะพาย  ตุ๊กตา  พวงกุญแจ  เครื่องจักสาน ผ้าพันคอ  ผ้าทอพื้นเมืองของชนเผ่าต่างๆ  หมวก เสื้อผ้าชาติพันธุ์  หนังสือ ซีดี   ทุกชิ้นติดป้ายราคาของเป็นยูเอสดอลล่าร์          ในขณะที่เราสัมภาษณ์สลับไปมาระหว่างภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาลาว สังเกตว่าทั้งคู่ดูยุ่งอยู่มาก  มีเจ้าหน้าที่เข้ามาถามอยู่ไม่ได้ขาด  ในห้องทำงานที่เราสัมภาษณ์มีอาสาสมัครช่วยงานเป็นชาวต่างชาตินั่งทำงานอยู่ด้วย  ทั้งสองบอกว่ายังขาดผู้ช่วยทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์  อาสาสมัครหาไม่ยากแต่สิ่งที่ยากคือ รัฐบาลลาวค่อนข้างเข้มงวดเรื่องนักวิจัยต่างชาติที่จะทำวิจัยเรื่องชาติพันธุ์ในลาว  รวมถึงเรื่องการจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ต้องส่งเนื้อหาไปให้ทางการอนุมัติก่อน จึงจะจัดแสดงได้  การจัดทำนิทรรศการในช่วงการก่อตั้งไม่เป็นปัญหา เพียงแต่ว่าต้องไม่จัดแสดงในประเด็นที่อ่อนไหว         ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ  ในวันที่เราไปชมมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมไม่ขาดสาย ในสมุดเยี่ยมชม ข้อเขียนส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ  Taraบอกว่ามีคนลาวมาดูบ้าง แต่ไม่มาก    - นิทรรศการง่ายงามในร้านค้า -         ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอย่างน้อย 2 แห่งในหลวงพระบาง ที่ทำโดยองค์กรธุรกิจในเมืองหลวงพระบาง คือ ร้านออกพบตก และร้านกบน้อย  ทั้งสองร้านมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติที่หลงใหลในวัฒนธรรมลาว          “ร้านออกพบตก” ร้านขายผ้าพื้นเมือง ทั้งผ้าเก่า ผ้าใหม่ ผ้าดีไซน์ร่วมสมัย นอกจากขายผ้าแล้ว ยังจัดสัมมนาและทำเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการทอผ้า เจ้าของเป็นผู้หญิงชาวอังกฤษร่วมทุนกับคนลาว  นิทรรศการของร้านออกพบตกจัดแสดงอยู่ที่ “Fibre2Fabril Gallery” ซึ่งเป็นห้องแถว 1 ห้องติดกับร้านออกพบตก สาขาบ้านวัดหนอง (มีทั้งหมด 3 ร้าน)  ช่วงที่เราไปเป็นนิทรรศการชื่อว่า Same Same But Different  เป็นการนำเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของชนเผ่ามานำเสนอ ได้แก่ ไทลื้อ ไทแดง ไทเหมย ม้ง ขมุ   การจัดแสดงมีป้ายคำอธิบายหลัก บอกถึงความหลากหลายของผ้าทอในลาว  การจัดแสดงพยายามนำตัวอย่างเครื่องแต่งกายจากเผ่าต่างๆ  มาแบ่งประเภทให้เห็นวัสดุธรรมชาติที่ถักทอที่หลากหลาย เช่น ฝ้าย ไหม ใยกัญชง ภาพโดยปณิตา  สระวาสี           พนักงานของร้านออกพบตกเป็นชายชาวขมุ  ชื่อคูน อายุ 24 ปี บ้านเกิดอยู่ในพงสาลี เข้ามาบวชเณรเพื่อเรียนหนังสือในวัดที่หลวงพระบาง  นานๆ ครั้งจึงจะมีโอกาสกลับบ้านเกิด ชีวิตส่วนใหญ่คือตั้งใจเรียนและทำงานหาเงินที่เมืองหลวง  เมื่อเราถามถึงย่ามที่ทอจากใยพืชชนิดหนึ่งของขมุที่จัดแสดงอยู่   เขาเล่าว่าแม่เขายังทำอยู่และเคยทำให้เขาด้วย สีหน้าดูแช่มชื่นเมื่อพูดถึงครอบครัวและบ้านเกิด และยังเชิญชวนให้ไปเที่ยวบ้านเขาที่พงสาลี         “ร้านกบน้อย”  ร้านขายเครื่องแต่งกายและผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ  เจ้าของเป็นชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส ชั้นล่างเป็นร้านขายของ ส่วนชั้นบนเป็นนิทรรศการที่ชื่อว่า “Stay Another Day” นิทรรศการนี้ทำโดยลูกสาวเจ้าของร้านร่วมกับเพื่อน  โดยได้ทุนสนับสนุนจาก IFC (International Finance Corporation: World Bank Group) และการท่องเที่ยวประเทศลาว เป็นความพยายามสนับสนุนข้อมูลการท่องเที่ยวในอีกมุมมอง ที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์และสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวบ้านและชุมชนก็ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว  โดยให้ช่วยกันเที่ยวในลาวยาวนานอีกนิด  อุดหนุนสินค้าของคนพื้นเมือง  แล้วจะภาคภูมิใจว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนและประโยชน์แก่ท้องถิ่นในวงกว้าง            นิทรรศการผสมผสานระหว่างวัตถุ  ป้ายคำอธิบาย  วิดีโอ  Hand-onและเกมส์ต่างๆ เช่น เกมส์  tic tac toe  ที่ให้ผู้ชมลองใช้ความคิด เลือกเปิดแผ่นกระดานว่า 3 ใน 9 ภาพของที่ระลึกบนแผ่นกระดานอันไหน ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากประเทศลาว              มีนิทรรศการหนึ่งที่พูดถึงหมู่บ้านหัตถกรรม ตั้งชื่อบนป้ายนิทรรศการว่า “กรรไกรเล่มสุดท้ายในหลวงพระบาง”  โดยนำกรรไกรเหล็กเพียงอันเดียวมาติดบนแผ่นอิงค์เจ็ท  มีคำอธิบายที่น่าสนใจว่า  กรรไกรเล่มนี้ทำโดยลุงคนหนึ่ง ที่เป็นช่างคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในบ้านหาดเหี้ยน  เนื่องจากลูกหลานไม่สนใจสืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้ต่อ  ลุงคนนี้อาจจะหยุดตีกรรไกรในที่สุด  แต่ถ้านักท่องเที่ยวช่วยกันถามหาหรือให้ความสนใจกับการทำกรรไกร อาจจะช่วยให้ภูมิปัญญาแขนงนี้ยังคงอยู่เมืองหลวงพระบางต่อไป            ที่สุดแล้วระหว่างการพัฒนาและการปกปักรักษามรดกวัฒนธรรม ยังคงปะทะ ต่อรอง และดำเนินไปโดยไม่มีวันจบสิ้น ณ พื้นที่แห่งชีวิตวัฒนธรรม “เมืองหลวงพระบาง”.          

การอนุรักษ์ฟื้นฟูโบราณสถานโดยใช้พิธีกรรม กรณีศึกษาวัดปงสนุก จ.ลำปาง

01 ตุลาคม 2557

ในอดีตวัดปงสนุกเป็นวัดที่ได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้าหลวงเมืองลำปาง แต่เมื่อนานวันความสำคัญของวัดในฐานะวัดเก่าแก่ของเมืองก็ลดลงจนแทบไม่มีใครรู้จักว่า วัดตั้งอยู่ส่วนของเมือง จนปี พ.ศ. 2547 ชาวบ้านต้องการจะบูรณะวิหารเก่าที่ตั้งอยู่บนเนินเขากลางวัด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน จากนั้นวัดปงสนุกก็เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป   เมื่อคุณยายป่วยไข้ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้รู้ที่เข้ามาช่วยทำการบูรณะวิหารเล่าให้ฟังว่า เดิมชาวบ้านอยากจะรื้อหลังคาเก่าของวิหารบนเนินเขา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดบน” ออก โดยไม่มีความรู้ว่า จะนำหลังคาออกอย่างไร ออกมาแล้วจะเอาไปไว้ไหน? แล้วหลังคาใหม่จะออกแบบอย่างไร? อาจารย์ในฐานะที่ปรึกษา จึงอธิบายให้เข้าใจว่า วิหารที่เห็นไม่ใช่เพียงตัวอาคารเท่านั้น แต่อาคารเหล่านี้ก็มีชีวิต มีวัฏจักร มีเกิด มีอยู่ และมีไม่สบาย ขณะนี้อาคารวิหารที่สร้างมานานก็เหมือนกับคุณยายที่กำลังจะไม่สบาย เรา (ชาวบ้าน) อยากจะรักษาให้คุณยายหาย แต่ถ้าไม่ศึกษาเรียนรู้ว่า คุณยายไม่สบายตรงไหน แล้วจะรักษาคุณยายอย่างไร เราอาจทำให้คุณยายบาดเจ็บมากกว่าเดิม การศึกษาอาการเจ็บป่วยของคุณยายจึงเป็นสิ่งจำเป็นสิ่งแรกที่ควรทำ ดังนั้นการสำรวจและศึกษาโครงสร้างอาคาร และรายละเอียดของวิหารจึงเป็นสิ่งที่ทำในลำดับต้นๆ   เปิดขุมทรัพย์คุณยาย เมื่อสำรวจโครงสร้างอาคาร และรายละเอียดของวิหาร ทำให้คณะทำงานซึ่งประกอบด้วยคนในชุมชน และคนนอกชุมชน ทั้งนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัยในหลากหลายสาขา พบว่าภายในอาคารวิหาร  มีข้าวของมีค่ามากมายซุกซ่อนอยู่ อาทิ พระแผงที่อยู่บริเวณคอสอง พระพุทธรูปไม้ ผ้าพระบฏ สัตภัณฑ์  การสำรวจครั้งนั้นนำไปสู่การทำทะเบียนวัตถุอย่างเป็นระบบ การทำความสะอาด และจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้หยิบยืมข้าวของเหล่านั้นไปใช้ได้ เพราะคณะทำงานเชื่อว่า การนำวัตถุสิ่งของไปใช้เท่ากับคืนชีวิตให้กับข้าวของ อีกทั้งยังสร้างการสืบทอดให้ทราบถึงบริบทการใช้ของวัตถุสิ่งของนั้นไปสู่คนรุ่นหลังด้วย การสำรวจข้าวของในวิหารทำให้เกิดโครงการวิจัยย่อยๆ ขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อพบข้าวของแล้ว ไม่รู้จัก ก็ต้องมีการศึกษาเพื่อให้คณะทำงานมีความรู้ที่จะดูแล บูรณะสิ่งของต่างๆ เหล่านั้น ดังนั้นวัตถุที่พบไม่เพียงแต่จะทำให้รู้ว่า วัดปงสนุกมีข้าวของมากมายขนาดไหน แต่ยังทำให้รู้ว่า วัดมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ข้าวของแต่ละชนิดคืออะไร ต้องการการดูแลรักษา บูรณะ หรืออนุรักษ์อย่างไร ทำให้คณะทำงานมีองค์ความรู้เกี่ยวกับวัตถุสิ่งของเป็นจำนวนมาก อาจกล่าวได้ว่า ข้าวของที่พบสร้างทั้งความรู้ ความชำนาญในการดูแลรักษาวัตถุให้กับคนทำงานด้วย   เทวดาคุ้มครองทุกสิ่ง      ก่อนทำงานทุกครั้ง คณะทำงานจะประกอบพิธีกรรมขอขมา บอกกล่าวเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองโบราณสถาน โบราณวัตถุที่อยู่ในวัดทุกครั้ง เพราะคนทำงานเชื่อว่า “ทุกอย่างที่อยู่ในวัด ท่านมีเทวดารักษา เราจะทำอะไร ต้องบอกกล่าว และต้องระวัง” เมื่อมีความเชื่อเช่นนี้ก่อนจะทำงาน ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจวิหาร สำรวจวัตถุ การเคลื่อนย้ายวัตถุ การทำความสะอาดวัตถุ หรือขัดล้างวิหาร ซ่อมแซมต่างๆ ต้องทำพิธีบอกกล่าว ขอขมาให้เทวดาที่ปกปักรักษาวัตถุนั้น หรือสถานที่นั้นได้รับรู้ ในทางกลับกันเมื่อทำการบูรณะหรือซ่อมแซมเสร็จ ก็จะทำพิธีรับขวัญ บอกกล่าวเทวดาที่คุ้มครองวัตถุ หรือสถานที่นั้นอีกครั้ง ทั้งนี้ในแง่จิตใจ สร้างความสบายใจให้กับชาวบ้านและคนทำงาน ขณะที่อีกด้าน พิธีกรรมก็สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วม พื้นที่ของการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ พื้นที่ของความภาคภูมิใจให้กับชาวชุมชนในโครงการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุของวัดด้วย คณะทำงานในโครงการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุของวัดปงสนุก ยังมีแนวคิดว่าเมื่อตนเองมีความรู้เรื่องการอนุรักษ์แล้ว ก็ควรถ่ายทอดความรู้นั้นไปสู่คนอื่น เพื่อให้ความรู้ต่างๆ ได้แตกยอดออกผล เพราะเมื่อคนอื่นรู้ สามารถนำไปใช้และทำได้ ก็เท่ากับการทำงานของคณะฯ ไม่สูญเปล่า ดังที่ รศ.ดร.วรลัญจก์ กล่าวทิ้งท้ายไว้น่าฟังว่า “...ขณะนี้วัดปงสนุกเหมือนพี่ที่พร้อมจะเอาความรู้ (ที่มี) ไปช่วยเหลือน้องๆ (วัดอื่นในลำปาง) เพื่อให้เราสามารถก้าวเดินไปได้พร้อมกัน....” หมายเหตุ: เรียบเรียงมาจากการเสวนาเรื่อง “กระบวนการทำงานอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุภายในวัดปงสนุกโดยใช้พิธีกรรมสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์และสร้างความเข้าใจกับชุมชน” โดยอาจารย์อนุกูล ศิริพันธ์ ตัวแทนจากชุมชนวัดปงสนุก และรศ.วรลัญจก์ บุณสุรัตน์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 ณ เวทีกลางกรุง งานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งที่ 3 ภูมิรู้ สู้วิกฤต  

คนเล็กๆ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

21 มีนาคม 2556

เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ถ้าไม่นับภาพการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างทหารและประชาชนแล้ว คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึงภาพการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองประชาธิปไตยไทย   ว่ากันว่ามีนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชนที่ร่วมกันเดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สู่ท้องถนนราชดำเนินกลางตั้งแต่เที่ยงวันในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 จำนวนมากมายถึง 500,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 6 ของประชากรกรุงเทพฯ ในขณะนั้น   ความใหญ่โตของคลื่นขบวนประชาชนที่อัดแน่นเต็มถนนราชดำเนินในด้านหนึ่งนั้นส่งผลกระทบความรู้สึกอย่างแรงต่อผู้ที่ได้เห็น เป็นภาพที่สร้างทั้งแรงบันดาลใจและจินตนาการไม่รู้จบในกาลต่อมาว่า ปัจเจกบุคคลเมื่อรวมกันเข้าก็สามารถเปลี่ยนแปลงความเลวร้ายที่อยู่รายรอบได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความใหญ่โตเช่นที่ว่าก็กลับกลายเป็นภาพกดทับบดบังบทบาทและเรื่องราวของคนเล็กๆ ธรรมดาสามัญไปเสียสิ้นเช่นกัน   ในหมู่ผู้คนกว่า 5 แสนบนราชดำเนิน โดยไม่นับอีกหลายแสนทั่วประเทศ ซึ่งพร้อมใจกันลุกขึ้นท้าทายอำนาจเผด็จการคณาธิปไตยถนอม-ประภาส-ณรงค์ กระทั่งลุกลามเป็นการลุกขึ้นสู้กับอาวุธสงครามด้วยมือเปล่า กลับหลงเหลือบุคคลให้พึงจดจำในประวัติศาสตร์ได้ไม่กี่สิบราย   แน่นอน-ไม่มีใครตั้งใจลืมคนเล็กคนน้อยเหล่านี้ หรือจงใจจดจำบุคคลที่มีบทบาทเพียงไม่กี่คน   แต่ใช่หรือไม่ว่า เป็นเพราะเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ประกอบกันขึ้นมาจากผู้คนมากมายเหลือคณานับจนยากที่จะจดจำบุคคลที่ไม่มีความสำคัญโดดเด่นความทรงจำ 14 ตุลาจึงมีภาพการเคลื่อนไหวอันใหญ่โตของประชาชนเป็นด้านหลัก แต่กลับไม่มีตัวตนของประชาชน "จริงๆ" อยู่ในความทรงจำนั้น   ถ้าหากเราลองเล่าเรื่อง 14 ตุลา ที่มีชีวิตเลือดเนื้อของคนเล็กๆ คู่ขนานไปกับเรื่องเล่าที่ได้ฟังได้อ่านกันมาตลอด 31 ปีที่เน้นบทบาทของคนสำคัญไม่กี่สิบคน บางทีเราอาจพบแง่มุมตลอดจนความรู้สึกใหม่ซุกซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์สิบสี่ตุลา เรื่องราวเหล่านี้อาจจะเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวาและจับต้องได้เข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น   ไม่ใช่สิบสี่ตุลาฉบับทรราชย์ปวดใจ ที่ยังหมกมุ่นอยู่กับการถูกทรยศหักหลังและอาลัยอาวรณ์กับอำนาจล้นฟ้าที่หลุดลอยหายไปโดยฉับพลัน หรือเป็นสิบสี่ตุลาแบบฉวยโอกาสของวีรชนคนเดือนตุลาจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ว่าตนเองจะมีส่วนเข้าร่วมโดยตรงหรือเลียบเคียงอยู่ห่างๆ แต่ก็สามารถใช้เหตุการณ์สิบสี่ตุลาเป็นบันไดทอดขึ้นสู่อำนาจและผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ได้ในกาลต่อมา   เนื้อหาสิบสี่ตุลาฉบับสามัญชนคนเล็กคนน้อย จึงเป็นเรื่องราวของมนุษย์ปุถุชนที่มาจากหลากความคิดหลายความเชื่อ ซึ่งทุกคนล้วนมีความกล้าหาญ เสียสละต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย มิได้กระทำการลงไปเพราะใฝ่ในอำนาจหรือมุ่งหวังประโยชน์ส่วนตน   คำบอกเล่าจากความทรงจำของสามัญชนคนธรรมดาที่ต้องค้นหาเพิ่มเติมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะถูกนำมาเรียบเรียงและนำเสนอไว้ในนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์ 14 ตุลา ซึ่งมูลนิธิ 14 ตุลาคาดว่าจะดำเนินการจัดสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมปีนี้ โดยการปรับปรุงอาคารอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่   นับตั้งแต่มีการรณรงค์ติดตามบุคคลมาตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม 2547 (เน้นไปที่บุคคลที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายกว่าสองร้อยรูป ซึ่งอัดสำเนามาจากแหล่งต่างๆ) ปรากฏว่ามีผู้ยินดีบอกเล่าเรื่องราวจากความทรงจำเมื่อกว่า 3 ทศวรรษก่อนให้กับทางมูลนิธิไว้บ้างแล้ว บุคคลที่เราพบและเรื่องราวที่พวกเขาบอกเล่าล้วนแล้วแต่มีสีสันน่าตื่นเต้นไม่น้อยไปกว่าเรื่องเล่าหลักที่พวกเราได้ฟังได้อ่านกันจนคุ้นเคยมาก่อนหน้านี้   ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงแถวหน้าผู้เดินนำขบวนนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชน 5 แสนคนบนถนนราชดำเนิน เมื่อเที่ยงวันในวันที่ 13 ตุลาคม 2516, ผู้รอดพ้นจากการถูกจับกุมระหว่างแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญในบ่ายวันที่ 6 ตุลาคม, "กลุ่มผู้ก่อการ 8 ตุลา" และบทบาทของพวกเขาในการชุมนุมที่ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์ รุ่งเช้าวันที่ 9 ตุลาคม, นักเรียนช่างกลที่ยึดรถกระจายเสียงตระเวนประกาศความเลวร้ายรุนแรงที่ทหารกระทำต่อประชาชนไปยังย่านฝั่งธนบุรีในบ่ายวันที่ 14 ตุลาคม, แม่ค้าที่รวมตัวกันส่งเสบียงเลี้ยงมวลชนระหว่างชุมนุมในธรรมศาสตร์ ฯลฯ   คนเหล่านี้มีตัวมีตนจริง และยังใช้ชีวิตเยี่ยงปกติชนคนธรรมดา แต่บุคคลจำนวนไม่กี่สิบคนเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอต่อการเรียบเรียงเนื้อหาให้ปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างสมบูรณ์รอบด้าน เพราะยังมีบุคคลที่น่าสนใจอีกจำนวนมากในพื้นที่จุดต่างๆ ของเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถติดต่อได้ และยังไม่รวมถึงสิ่งของต่างๆ ในเหตุการณ์ หรือที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา อันถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แต่ทว่ามูลนิธิฯ ยังเก็บรวบรวมไว้ได้น้อยมาก   มูลนิธิฯ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจอยากมีส่วนร่วมในการสร้างพิพิธภัณฑ์การเมืองภาคประชาชน โปรดให้ข้อมูล-บริจาคสิ่งของที่มูลนิธิฯ ยังขาดแคลน หรือช่วยแจ้งเบาะแสหรือแนะนำผู้ที่มีข้อมูล-สิ่งของให้แก่มูลนิธิฯ เพื่อช่วยกันคนละมือคนละไม้ สร้างพิพิธภัณฑ์ 14 ตุลา สำหรับอนุชนคนรุ่นหลังใช้เป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สังคมไทย และยังเป็นห้องเรียนนอกโรงเรียนที่มีชีวิตชีวา ด้วยเรื่องราวของสามัญชนคนเล็กๆ ที่รวมตัวกันจนสามารถพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประชาธิปไตยไทยได้สำเร็จ จน 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครลบเลือนได้   -------------------------------------------------- * วัฒนชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตผู้จัดการอนุสรณ์าสถาน 14 ตุลา มูลนิธิ 14 ตุลา ** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน จุสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 9 (มิถุนายน 2548 - พฤษภาคม 2549),9-12.  

"อ่าน" ภาพแทนกลุ่มชาติพันธุ์ ในพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ สปป.ลาว

18 กุมภาพันธ์ 2564

บทความนี้ศึกษาภาพแทนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกสร้างโดยพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในลาว 3 แห่ง คือ หอพิพิธภัณฑ์บรรดาเผ่าแขวงพงสาลี  หอพิพิธภัณฑ์ชนเผ่าเมืองสิง และศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา เมืองหลวงพระบาง ผลการศึกษาพบว่า การให้ความหมายและสร้างภาพแทนกลุ่มชาติพันธุ์ แตกต่างกันตามบริบท ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงอำนาจและทัศนะภัณฑารักษ์... ตีพิมพ์ใน "วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง"  ศูนย์วิจัยพหุลักษ์สังคมลุ่มน้ำโขง  ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2557 คลิกดาวโหลดบทความ PDF

“พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกับเยาวชน” สร้างสำนึกอนุรักษ์ สืบทอด ผ่านกระบวนการสืบค้นด้วยเครื่องมือง่ายๆ

20 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์ ท้องถิ่น เป็นองค์กรทางสังคมวัฒนธรรมระดับชุมชนที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมในแต่ละ ท้องถิ่น รวมทั้งเป็นแหล่งการเรียนรู้นอกโรงเรียนที่สำคัญเพื่อให้เยาวชนได้ศึกษา เรียนรู้ตลอดชีวิต ยังเป็นความภาคภูมิใจให้กับคนในท้องถิ่นรู้สึกเกี่ยวกับรากเหง้าทางวัฒนธรรม ของตนเอง และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพลังชุมชนในด้านการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรม ท้องถิ่นของตนต่อไป โครงการอบรม/สร้างเวทีเพื่อสร้างพลังท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ได้ร่วมมือกับ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ในการจัดกิจกรรมสำหรับเยาวชน เพื่อ ให้เยาวชนได้สืบค้นเรื่องราว เรื่องเล่า ในท้องถิ่นผ่านการบอกเล่าเรื่องราว ข้าวของวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ ความสัมพันธ์ของผ้ากับวิถีชีวิต ด้วยกระบวนการและเครื่องมือง่ายๆ ทางมานุษยวิทยา เช่น การสัมภาษณ์ การลงพื้นที่ การถ่ายภาพ การวาดรูป การทำชุดนิทรรศการ การจัดระบบข้อมูลด้วยแผนที่ความคิด แผนที่ทางวัฒนธรรม ในกิจกรรม “ผ้าของเรา บ้านของเรา” เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา   แผนที่ความคิด : รู้จักชุมชน ปรับกระบวนคิด จัดระบบข้อมูล“เป็นที่อยู่ของคนมอญ” “อยู่ริมแม่น้ำ” “มีเสาหงส์” ฯลฯ กลุ่มเยาวชนคงคาราม เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักชุมชนตนเอง ด้วยการบอกเล่าถึงสิ่งที่ตนเคยได้ยิน เคยรู้ มาจากประสบการณ์ หรือคำบอกเล่าในครอบครัว และนำข้อมูล เหล่านั้นมารวบรวม จัดระบบข้อมูลใหม่ด้วยการสร้างแผนที่ความคิดของข้อมูลชุมชนร่วมกัน โดยแบ่งเป็นกลุ่มเนื้อหาต่างๆ เช่น ประเพณี วิถีชีวิตคนริมน้ำ วิถีเกษตรกรรม นิทานมอญ เป็นต้น น้องเจน เด็กหญิงวิภาวี มินทนนท์ บอกถึงการทำแผนที่ความคิดว่า “การทำแผนที่ความคิดทำให้เรารู้ว่าข้อมูลสำคัญมีอะไรบ้าง อะไรคือหัวข้อใหญ่ และสามารถแตกย่อยเป็นเรื่องราวอะไรที่สำคัญได้อีกบ้าง” ความสำคัญในการจัดระบบข้อมูล จะช่วยให้กลุ่มเยาวชนมีแนวทางในการหาข้อมูลเชิงลึกในแต่ละเรื่องต่อไปได้ การสัมภาษณ์ งานภาคสนาม: ปฏิบัติการนักมานุษยวิทยาน้อย“การบวชของคนมอญต้องทำอะไรบ้างคะ” “แต่ก่อนแม่น้ำแม่กลองเป็นอย่างไรบ้าง” “โต้ง คืออะไร ตระกร้าผี คืออะไรครับ” คำ ถามจากการจัดระบบข้อมูล พร้อมเสียงสัมภาษณ์เจื้อยแจ้วของเยาวชนในการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ ถึงเรื่องราวต่างๆ ของท้องถิ่น เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่มุ่งให้เยาวชนได้รู้จักการเก็บข้อมูลและบันทึก ข้อมูลภาคสนาม เมื่อจัดระบบข้อมูลด้วยแผนที่ความคิดแล้ว กลุ่มเยาวชนได้ลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลท้องถิ่นในแต่ละเรื่อง ที่รับผิดชอบ เทคนิคการสัมภาษณ์ที่กลุ่มเยาวชนได้เรียนรู้ทำให้พวกเขาสามารถตั้งคำถาม เพื่อการสืบค้นข้อมูลท้องถิ่นในเรื่องที่อยากรู้ได้มากขึ้น น้องอ้อแอ้ เด็กหญิงสงกรานต์ ยาสอาดบอกว่า “การสัมภาษณ์ ทำให้เรารู้วิธีการพูดคุย การเก็บข้อมูล รวมทั้งการลงพื้นที่ทำให้เห็นสภาพจริง และข้อมูลที่เป็นจริง”น้องโอ๊ต เด็กชายอิทธิพล แสงดิษฐ์ บอกว่า “การไปสัมภาษณ์ คนเฒ่าคนแก่ ทำให้เราได้รู้จักเรื่องราวเก่าๆ และได้รู้จักภาษามอญด้วย” น้องอู๋ เด็กชายก้องภพ ทรัพย์อนันต์กุล เสริมว่า “สนุก สนานไปกับการลงพื้นที่ การได้ไปพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ในท้องถิ่น ได้ไปเยี่ยมเยียน ทำให้เราได้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ของชุมชนมากมาย” นอกจากกลุ่มเยาวชนจะได้เทคนิคการสัมภาษณ์จากการลงพื้นที่แล้ว เสียงการ นับก้าวอย่างเข้มแข็งตามจังหวะฝีเท้าน้อยๆ ในการลงพื้นที่ภาคสนาม เพื่อทำกิจกรรมการทำแผนที่ทางวัฒนธรรม ฝึกการสังเกตชุมชน สถานที่สำคัญของชุมชน และเพื่อให้เห็นสภาพพื้นที่โดยรวมของชุมชน น้องแทน เด็กชายปรเมศ สรทรง บอกถึงการทำแผนที่วัฒนธรรมว่า “การ ลงพื้นที่ การเดินในชุมชน เพื่อการทำแผนที่ ทำให้เรารู้ว่า ชุมชนเรามีอะไรบ้าง ส่วนไหนที่สำคัญ มีบ้านไหนเป็นบ้านผู้ให้ข้อมูล การทำแผนที่ทำให้เราได้สังเกตชุมชนได้อย่างชัดเจนขึ้น”   ชุดนิทรรศการ หนังสือทำมือ โปสการ์ด ภาพถ่าย ภาพวาด:กระบวนการแปลงข้อมูลเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเมื่อ ได้ข้อมูลในเรื่องราวต่างๆ ของชุมชนอย่างครบถ้วนแล้ว กระบวนการถ่ายทอดข้อมูล เพื่อสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ที่ได้จากการเก็บบันทึกคำสัมภาษณ์ การลงพื้นที่ภาคสนาม ข้อมูลชุมชนที่ถูกจัดระบบความสำคัญด้วยแผนที่ความคิด ได้ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านสื่อกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ ชุดนิทรรศการ “ผ้าของเรา บ้านของเรา” ที่บอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างผ้ากับวิถีชีวิต การแต่งกาย ผ้าในประเพณีต่างๆ ของชุมชนหนังสือทำมือ ที่บอกเล่าเรื่องราวชุมชนเกี่ยวกับ วิถีชีวิตคนริมน้ำ การเกษตรของชุมชน อาหารมอญ นิทานมอญ ประเพณีสิบสองเดือน ศาลปะจุ๊ โปสการ์ด ที่ออกแบบถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนในสายตาของเยาวชน พร้อมด้วยข้อความสั้นๆ สำหรับอธิบายความคิดของตนเอง ทั้งสถานที่สำคัญ สัญลักษณ์ของชุมชน ภาพถ่ายของชุมชน ภาพถ่ายเล่าเรื่อง (Photo Voice)ที่เยาวชนได้ ช่วยกันคิดหาสถานที่ ถ่ายทอดความคิดของตนเอง มาเป็นภาพถ่ายที่เล่าเรื่องตามหัวข้อต่างๆ เช่น คนมอญ คนจีน อาหาร เป็นต้น ภาพวาด เยาวชนได้เลือกวัตถุสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ที่ตนชอบ และวาดรูปพร้อมเขียนคำอธิบายเพื่อ ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวและเรื่องเล่าของสิ่งของนั้น น้องปายด์ เด็กชายสถาพร รอดแจ้ง บอกว่า “การวาดรูป ทำให้ได้รู้ว่าในพิพิธภัณฑ์มีข้าวของอะไรบ้าง มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง”น้องหยี เด็กหญิงณัชชา เทศวงษ์บอกว่า “ชอบการถ่ายภาพ ชอบออกไปถ่ายภาพ และนำมาเขียนเล่าเรื่อง” น้องชมพู่ เด็กหญิงชุตินันท์ ทองกันยาบอกว่า “การทำโปสการ์ด ได้ออกแบบ ได้วาดรูป และที่สำคัญคือได้ส่งไปรษณีย์จริงๆ” น้องการ์ตูน เด็กหญิงนิภาพร ต่วนเครือบอกว่า “การทำหนังสือทำมือ ทำให้ได้รวบรวมความคิดของตัวเอง และเรียบเรียงออกมาเป็นเล่ม เป็นหนังสือ เป็นผลงานตัวเองและกลุ่ม”พร้อมส่งท้ายด้วยว่า “อยากให้เยาวชนลองมาศึกษาให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นตนเอง” ต้นกล้าแห่งการสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นพระอนุวัตร สุจิตตฺโต ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคารามเล่าว่า “การ ร่วมมือจัดกิจกรรมกับศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธรในครั้งนี้ เด็กๆ ในโรงเรียน ให้ความสนใจกันมาก สังเกตจากการทำหนังสือแจ้งไปทางโรงเรียน และ มีเด็กๆ สนใจเข้ามาสมัครอบรมกันมาก ซึ่งเด็กๆ เหล่านี้มีความสำคัญในการต่อยอดเรื่องราวของการสืบทอดข้อมูล ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ต่อยอดเรื่องราวของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัตถุสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของกลุ่มคนมอญ ประเพณีความเชื่อ วิถีชีวิตของชุมชนสืบต่อไปได้เป็นอย่างดี และนอกจากนี้ในกลุ่มผู้ใหญ่ก็จะมีการอบรมในเชิงอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ใน พิพิธภัณฑ์ และเยาวชนกลุ่มนี้ก็จะมีส่วนร่วมในการอบรมครั้งนี้ด้วย”นายพิเชษฐ์ ยานุวิริยะกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดคงคารามกล่าวถึงผลงานของเยาวชนว่า “รู้สึก ภูมิใจที่เด็กตัวน้อยๆ ที่เป็นเยาวชนคงคาราม จะสามารถถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตคนคงคารามทั้งขนบประเพณีให้รับทราบได้ อย่างง่ายๆ และครบถ้วน โดยผ่านการวาดรูป การทำแผนที่ความคิด การทำหนังสือทำมือ” การ ทำงานร่วมกันของศูนย์ฯ ชุมชน เยาวชน และคนในท้องถิ่น โดยใช้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นองค์กรทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงคนในชุมชนและ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเข้าด้วยกัน ผลักดันพลังชุมชนในการสร้างความเคลื่อนไหว เพื่อสืบทอดและจัดการมรดกทางวัฒนธรรมด้วยตนเอง โดยเฉพาะพลังของกลุ่มเยาวชนที่เปรียบเหมือนต้นกล้าทางวัฒนธรรมในการอนุรักษ์ และสืบทอดเรื่องราวและเรื่องเล่าของชุมชนท้องถิ่นตนเองผู้เขียนศิวัช  นนทะวงษ์ประชาสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรemail: siwach.n@sac.or.thผู้เขียน :ศิวัช นนทะวงษ์

โรงเรียนภาคสนาม: แบบฝึกหัดการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

06 มีนาคม 2558

การกำลังเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของประเทศไทย พร้อมๆ กับร่างพระราชบัญญติว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ...... ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคม 2556 โดยมีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ได้รับความสนใจจากแวดวงผู้เกี่ยวข้อง หลักใหญ่ใจความของร่างพรบ.ฉบับนี้ คือ ส่งเสริมและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม หรือคุ้มครองการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยมีหลักการสำคัญคือ ให้มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และกำหนดให้มีการให้เงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รวมถึงมีบทลงโทษหากมีการนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ไปเผยแพร่ในลักษณะเป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนศาสนาและความมั่นคงของประเทศ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ทันทีที่ร่างกฎหมายดังกล่าวออกมา  ก็ถูกวิพากษ์ในหลากหลายแง่มุม หลายคนมองว่าเป็นการ “ควบคุม” มากกว่า “คุ้มครอง” อาทิ การมองวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งตายตัวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้  ขาดการพูดถึงเรื่องสิทธิ หน้าที่ หรือการมีส่วนร่วมของชุมชน  หรือพูดง่ายๆ ว่ามองไม่เห็นหรือไม่เคารพสิทธิของเจ้าของวัฒนธรรมในการใช้และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของพวกเขาเอง  รวมถึงการนำวัฒนธรรมไปผูกโยงกับมาตรา 112 ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่งในการตีความ  การให้อำนาจบุคคลหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาตัดสินคุณค่าทางวัฒนธรรม  และปัญหาหลักเกณฑ์การคัดเลือกในการขึ้นทะเบียนในการวัดความหมายและคุณค่าของวัฒนธรรม ฯลฯ ผู้เขียนมีโอกาสช่วยงานโครงการโรงเรียนภาคสนาม  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ที่นำทีมโดยดร.อเล็กซานดรา เดเนส(Alexandra Denes)  โครงการนี้มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมอบรมทำความรู้จัก เรียนรู้  วิพากษ์ ต่ออนุสัญญามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก รวมถึงการฝึกลงภาคสนามจริงๆ เพื่อจะได้เข้าใจกระบวนการปกป้องและรักษาและมรกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่เน้นเคารพบทบาทและสร้างการมีส่วนร่วมเจ้าของวัฒนธรรม ด้วยรูปแบบและวิธีการทางมานุษยวิทยา แม้โครงการนี้จะยุติไปแล้ว ผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้จากบทเรียนออนไลน์ และarchivesต่างๆ ของโครงการได้ที่ http://www.sac.or.th/databases/ichlearningresources/index.php/home ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามีประโยชน์ทั้งในแง่ด้านการศึกษาทำความเข้าใจ และการนำไปประยุกต์ใช้ ทั้งนี้ผู้เขียน เคยเรียบเรียงช้อเขียนหนึ่งเกี่ยวกับโครงการโรงเรียนภาคสนาม  จึงขอนำส่วนหนึ่งของข้อเขียนดังกล่าวกลับมาเผยแพร่ใหม่  เพื่อให้เห็นตัวอย่างหรือแบบฝึกหัดการเรียนรู้ขั้นตอนบางขั้นของการปกป้องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยใช้วิธีทางมานุษยวิทยา  ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคนนอก(เจ้าหน้าที่รัฐ, ภัณฑารักษ์, นักวิชาการ, องค์การพัฒนาเอกชน) กับคนใน คือเจ้าของวัฒนธรรม  บนพื้นฐานการ “เคารพ” ในสิทธิเจ้าของวัฒนธรรม โรงเรียนภาคสนามที่เมืองลำพูน[1] “ตอนนั้นยายเป็นละอ่อน อายุ 11 ขวบ... ครูบามาถึงทีแรกพักอยู่ได้ไม่กี่วันก็เริ่มสร้างวัด แปงกำแพง ยายยังช่วยหาบน้ำไปตานกลุ่มที่มากับครูบา” เรื่องราวของครูบาเจ้าศรีวิชัยสมัยที่มาสร้างวิหารและบูรณะวัดจามเทวี เมื่อเจ็ดสิบกว่าปีก่อน  ยังแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำของยายน้อย  วิโรรส แม่เฒ่าอายุ 86 ปี แห่งชุมชนวัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน ความเชื่อ ความศรัทธา ที่เชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์บอกเล่าของคนในชุมชนวัดจามเทวีที่มีต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นหนึ่งในมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ของชุมชนจามเทวี ที่กำลังถูกบันทึกและเก็บข้อมูลผ่านกล้องวิดีโอของคณะผู้ปฏิบัติงานด้านวัฒนธรรมจากกว่า 10 ประเทศในอาเซียน รวมทั้งภูฎานและจีนที่เข้ามาอบรมเชิงปฏิบัติการ “โรงเรียนภาคสนาม: พิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage and Museums Field School)  ที่จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ระหว่างวันที่ 8-20 สิงหาคม 2554 ณ จังหวัดลำพูน โครงการโรงเรียนภาคสนาม ยึดเอาพื้นที่เมืองเล็กๆ ที่อุดมไปด้วยประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า ผู้คนหลากชาติพันธุ์ อย่างเมืองลำพูน เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับการอบรม และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ระหว่างผู้ปฏิบัติงานวัฒนธรรม ภัณฑารักษ์ นักวิชาการ และคนในชุมชนเมืองลำพูน คำว่ามรดกโลกอาจจะฮิตติดลมบนไปแล้วในประเทศไทย แต่ “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage) หรือICH อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหู  โรงเรียนภาคสนามเป็นเวทีหนึ่งที่มาช่วยไขข้อข้องใจให้ทราบว่า ที่จริงแล้วแนวคิดเรื่องการปกป้องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มีที่มาที่ไปจากองค์กรยูเนสโกเช่นเดียวกับมรดกโลก  โดยในปี ค.ศ. 2003 ยูเนสโกได้เสนออนุสัญญาว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้  เพราะเห็นว่าการที่จะรักษามรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติไว้ได้ไม่สามารถทำได้แค่การอนุรักษ์สิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม หรือสถานที่ หากต้องรวมถึงการปกป้องชีวิตวัฒนธรรม ภูมิปัญญา องค์ความรู้ต่างๆ ที่อยู่ในตัวผู้คน อาทิ ประวัติศาสตร์คำบอกเล่า  บทกวี นิทาน วรรณกรรม การแสดง  การเล่นดนตรี การร้องเพลง การเต้นรำ การเชิดหุ่น การละคร พิธีกรรม งานเฉลิมฉลอง งานช่าง งานฝีมือ ระบบความรู้พื้นบ้านเกี่ยวกับยารักษาโรค ความรู้ด้านดาราศาสตร์ ฯลฯ ที่รวมแล้วเรียกว่า “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้”  ซึ่งเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับมรดกวัฒนธรรมที่จับต้อง   จนถึงตอนนี้มี 136 ประเทศ ที่เป็นภาคีในอนุสัญญานี้ ส่วนประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี โรงเรียนภาคสนามหรือเรียกสั้นๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า Field School เป็นการอบรมที่ผสมผสานระหว่างการให้ความรู้ด้านแนวคิดทฤษฎีและเครื่องมือด้านมานุษยวิทยา แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านวัฒนธรรมและภัณฑารักษ์ เพื่อทำความรู้จัก เรียนรู้ วิพากษ์ โครงสร้างและกระบวนการปกป้องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Safeguarding  Intangible Cultural Heritage)  พร้อมไปกับการลงมือฝึกการทำงานในสถานการณ์จริงในชุมชน เพื่อฝึกฝนการประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีจากในห้องเรียน ภายใต้การแนะนำของนักวิชาการจากนานาประเทศที่มีประสบการณ์ด้านงานพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม อาทิ  อาจารย์ปีเตอร์ เดวิส (Peter Davis) จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแนวคิด New Museology และ Ecomuseum   ดร.เคท เฮนเนสซี (Kate Hennessy)จากมหาวิทยาลัยไซมอนเฟรเซอร์ ประเทศแคนาดา อาจารย์ที่มีประสบการณ์การใช้สื่อสมัย(New Media) กับงานวัฒนธรรม ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดร.ทิม เคอทิส (Tim Curtis) หัวหน้าหน่วยวัฒนธรรม ของสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ(ณ ขณะนั้น) เป็นต้น ดร.อเล็กซานดรา เดเนส  หัวหน้าโครงการโรงเรียนภาคสนาม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากเรียนภาคทฤษฎีแล้ว นักเรียนจะถูกแบ่งเป็น 4 ทีม เพื่อลงทำงานเก็บข้อมูลภาคสนามใน 4 ชุมชน ปี ค.ศ.2011 นี้จะต่างกับการอบรมปีที่ผ่านมา  โดยจะใช้วิดีโอเป็นเครื่องมือในการวิจัยและเก็บข้อมูล (research and documentation) แน่นอนว่าทุกๆ คนจะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันถึงข้อดีและข้อจำกัดต่างๆ ของการใช้สื่อสมัยใหม่อย่างวิดีโอในการบันทึกและเก็บข้อมูลด้านมรดกวัฒนธรรม สุดท้ายแต่ละทีมต้องตัดต่อสารคดีสั้น ที่ว่าด้วยเรื่องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของแต่ละชุมชน ความยาว 5 นาที นำเสนอต่อชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม ทั้งนี้ในแต่ขั้นตอนการทำงาน  ตัวแทนของชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การบอกเล่าถึงมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่างๆ ที่มีในชุมชน, การประชุมร่วมกันเลือกมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ 1 อย่างเพื่อจะทำหนังสั้น, การร่วมกำหนดเนื้อหา การเล่าเรื่อง และบุคคลให้สัมภาษณ์ จนถึงขั้นตอนการตัดต่อ ข้อจำกัดหรือข้อห้ามต่างๆ ที่ไม่ควรนำเสนอ เป็นต้น  วิสวานี เมลิสสา นักการศึกษาของพิพิธภัณฑ์  Asian Civilization Museum ประเทศสิงคโปร์ นักเรียนหน้าใหม่หากแต่มากประสบการณ์ด้านการคิดโปรแกรมการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในพิพิธภัณฑ์ เธอตื่นเต้นมากที่จะได้เข้ามาเรียนรู้ในครั้งนี้ “ฉันกำลังจะจัดเวิร์คชอปให้ความรู้กับเด็กๆ เรื่องงิ้ว ที่พิพิธภัณฑ์ของฉัน มาอบรมครั้งนี้ ฉันหวังจะได้เรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับชุมชนโดยใช้วิธีทางมานุษยวิทยา โดยเฉพาะการใช้สื่ออย่างกล้องวิดีโอในการบันทึกข้อมูล มีอะไรบ้างที่เราต้องตระหนัก และเรียนรู้ว่าอะไรควรไม่ควร   ฉันว่ามันสำคัญมากที่เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์หรือช่างกล้องวิดีโอ ที่ไปเก็บข้อมูลและบันทึกภาพงานประเพณี พิธีกรรมในชุมชน ควรจะต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ก่อนลงภาคสนาม” ทำความรู้จักมรดกวัฒนธรรมของชุมชน หากจะบอกว่าโรงเรียนภาคสนามมีห้องเรียนที่กว้างกว่าโรงเรียนใดในโลกนี้ก็คงไม่ผิด ห้องเรียนสำคัญของนักเรียนกว่า 40 ชีวิต จากกว่า 10 ประเทศ  คือ ชุมชนเก่าแก่ 4 แห่งในจังหวัดลำพูน ได้แก่ ชุมชนวัดจามเทวี ชุมชนกลางเมืองลำพูนที่ผู้คนยังคงสืบทอดความเชื่อและความศรัทธาในครูบาเจ้าศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา ชุมชนเวียงยองวัดต้นแก้ว ริมฝั่งแม่น้ำกวง ที่มีชื่อเสียงด้านการทอผ้าแบบยองและผ้ายกดอกเมืองลำพูน  ชุมชนบ้านหลุก หมู่บ้านคนไทยเชื้อสายยองที่ใช้พิธีสืบชะตา เป็นกิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาของตนเอง  และชุมชนประตูป่า ชุมชนคนไทยเชื้อสายยองที่พยายามรักษาและรื้อฟื้นอัตลักษณ์ความเป็นยองผ่านภาษาและประเพณีทางศาสนา  “แผนที่เดินดิน” เป็นเครื่องมือแรกๆ ที่นักเรียนแต่ละกลุ่มถูกคุณครูสอนและสั่งให้ทำเป็นการบ้าน ท่ามกลางอากาศร้อนระอุกลางเดือนสิงหาคม ในบ่ายแก่ๆ วันหนึ่ง กลุ่มนักเรียนทั้งไทยและเทศ 5-6 คน เดินสำรวจชุมชนวัดจามเทวีร่วมกับตัวแทนชุมชน ที่พาเดินเข้าวัด ผ่านโรงเรียน เข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้ และชี้ชวนให้ดูสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชุมชน เช่น กู่ครูบาที่เก็บอัฐิของครูบาเจ้าศรีวิชัยในวัดจามเทวี  บ่อน้ำที่ชาวบ้านเคยใช้ตักน้ำเพื่อไปถวายครูบาศรีวิชัย  บ้านยายน้อยผู้ที่เคยมีประสบการณ์ร่วมในยุคสมัยเดียวกับครูบาฯ บ้านยายจันทร์ภรรยาหมอเมืองที่เคยรักษาครูบาศรีวิชัย ฯลฯ แผนที่ที่วาดด้วยมือของนักเรียนโรงเรียนภาคสนาม แม้สัดส่วนจะไม่ถูกต้องเป๊ะ แต่ก็ทำให้นักเรียนกลุ่มชุมชนวัดจามเทวี เริ่มเข้าใจลักษณะกายภาพและบริบทของสังคมชุมชนจามเทวีมากขึ้น ขณะเดียวกันความทรงจำจากผู้เฒ่าผู้แก่เกี่ยวกับพื้นที่ในอดีตของชุมชน เป็นอีกปริมณฑลที่ช่วยทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชนทั้งเชิงกายภาพและวิถีวัฒนธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น  นักเรียนหน้าใหม่เริ่มมองเห็นความเชื่อมโยงของมิติอดีตและปัจจุบันของชุมชนมากขึ้น “แต่ก่อนแถวนี้มีบ้านไม่กี่หลัง  เวลาไปทำบุญไปบวชนาคก็ไปที่วัดมหาวัน เพราะตอนนั้นวัดจามเทวียังร้าง ไม่มีโบสถ์ ไม่มีพระ”  ยายน้อยเล่าถึงความเป็นอยู่ในอดีตของชุมชน “อาตมามาจำพรรษาอยู่วัดนี้เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ตอนนั้นชุมชนไม่แออัดเท่านี้ ด้านใต้มีทุ่งนา มีบ้านไม่กี่หลัง ในวัดก็ยังไม่ค่อยมีสิ่งปลูกสร้างมาก   เมื่อก่อนแถวนี้เรียกบ้านสันมหาพน ที่แปลว่าเนินป่าใหญ่ วัดจามเทวีมีมาก่อนวัดพระธาตุหริภุญไชย แต่ว่าร้างไป ชาวบ้านเรียกว่าวัดกู่กุด เพราะชาวบ้านเห็นว่าเจดีย์ยอดด้วน” พระครูนิวิฐธรรมโชติ  ให้ความรู้แก่บรรดานักเรียนหน้าใหม่ นอกจากความกว้างของห้องเรียนจะมีทั้งมิติพื้นที่และเวลาแล้ว  ความกว้างอีกแบบหนึ่งของห้องเรียนที่ไม่ธรรมดานี้คือ “ใจ” ของคนที่ทำงานร่วมกับชุมชนที่ต้องเปิดกว้าง อาจารย์ปีเตอร์ เดวิส จากประเทศอังกฤษ มอบคาถาสำคัญสำหรับการทำงานร่วมกับคนชุมชนและเจ้าของวัฒนธรรมตั้งแต่แรกเริ่มว่า ว่า “respect  respect  respect ” การเคารพเจ้าของวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญ บันทึกและเรียนรู้การสืบทอดมรดกวัฒนธรรมของชุมชน หลังจากได้เรียนรู้แนวคิดทฤษฎีและการลงภาคสนามสั้นๆ แล้ว นักเรียนกลุ่มวัดจามเทวีเริ่มวางพล็อตเรื่อง เขียนสตอรีบอร์ด(story board)เพื่อจะใช้เป็นแนวทางสำหรับการใช้วิดีโอบันทึกเก็บเกี่ยวข้อมูลชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนที่ผูกโยงอย่างแนบแน่นกับความศรัทธาต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ผลงานวิจัยเล็กๆ ของนักเรียนโรงเรียนภาคสนามกลุ่มชุมชนจามเทวี เผยให้เห็นว่า การสืบทอดและส่งผ่านมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ทำได้หลายทางและหลายรูปแบบ เช่น การเรียนรู้จากชั้นเรียน ที่โรงเรียนวัดจามเทวีบรรจุเรื่องราวของครูบาเจ้าศรีวิชัยลงในหลักสูตรท้องถิ่น  คุณครูกฤษณา ครูสอนวิชาสังคมศึกษาของโรงเรียนวัดจามเทวีเล่าว่า นอกจากจะสอนเด็กๆ เกี่ยวกับประวัติครูบาฯแล้ว ครูยังนำคติและหลักคำสอนจากครูบาฯ เช่น การลงมือทำงานมากกว่าพูด การอยู่อย่างสมถะ  มาบูรณาการกับหลายๆ วิชา เช่น หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  ลุงคำอ้าย ชัยสิทธิ์ คนเก่าแก่ของชุมชนที่อาศัยอยู่ข้างวัดจามเทวี  ที่ในบ้านเต็มไปด้วยภาพถ่ายและหิ้งบูชาครูบาศรีวิชัย ไม่ต้องบอกก็ทราบว่าท่านเป็นคนที่มีความเชื่อและศรัทธาในครูบา และลุงก็เป็นคนหนึ่งที่บอกเล่าอย่างภาคภูมิว่าท่านเคารพและศรัทธาในวัตรปฎิบัติของครูบา จนนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสั่งสอนลูกสอนหลานให้อยู่ในศีลในธรรม  ถือว่าเป็นอีกหนึ่งในวิธีการของการส่งผ่านและสืบทอดมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เกี่ยวกับความศรัทธาต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย “ครูบาท่านเกิดที่บ้านปาง อำเภอลี้ ครับ ในวันเกิดของท่านเป็นวันที่มีฟ้าร้อง พ่อแม่ของท่านก็เลยตั้งชื่อว่า “อ้ายฟ้าฮ้อง...เกศาครูบานี้ ตอนเด็กๆ ตาให้ผมมาครับ ผมคิดว่า มันช่วยปกป้องผมได้ครับ...ถ้าต่อไปนี้ผมมีลูกผมก็อยากเล่าให้ลูกฟัง เพราะว่ามันก็เหมือนเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของที่นี่ไปแล้ว ผมก็อยากจะเล่าฟัง”  คำบอกเล่าของ ด.ช.ภัทรพงษ์ หลานชายลุงคำอ้าย เกี่ยวกับความศรัทธาต่อครูบา แสดงถึงการส่งผ่านและสืบทอดมรดกในระดับปัจเจกของคนในชุมชน ประตูและหน้าต่างวิหารวัดจามเทวี ถูกปิดชั่วคราวราวครึ่งชั่วโมง เพื่อใช้เป็นสถานที่ฉายสารคดีสั้นเรื่อง “Remembering Khruba Srivichai”ผลงานของทีมนักเรียนโรงเรียนภาคสนามที่ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจากชุมชนจามเทวี  และด้วยความเมตตาของท่านพระครูนิวิฐธรรมโชติ ท่านเจ้าอาวาสวัดจามเทวี  พ่ออุ้ยแม่อุ้ย นักเรียน และคนในชุมชนที่มาร่วมวิจารณ์เนื้อหาสารคดีชุดนี้  ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า “ทำไมหนังสั้นจัง กำลังดูสนุกอยู่ทีเดียว จบซะแล้ว...น่าจะเล่าผลงานครูบาให้มากกว่านี้หน่อย... ชอบฉากนักเรียนที่แย่งกันบอกว่ารู้จักครูบา” สารคดีสั้นเรื่องนี้แม้ไม่ได้ยิ่งใหญ่ เป็นเพียงงานทดลองหรือฝึกปฏิบัติทำวิจัยและเก็บข้อมูลชุมชนของนักเรียนโรงเรียนภาคสนาม แต่ก็เป็นเครื่องมือเล็กๆ หนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญมรดกวัฒนธรรมที่ตนเองภาคภูมิใจ และนำไปสู่การร่วมมือกันปกป้องมรดกความทรงจำดังกล่าวต่อไป ปีนี้โรงเรียนภาคสนามปิดภาคเรียนไปแล้ว แต่ภาพวิถีการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของคนในชุมชนวัดจามเทวี ถูกบันทึกไว้แล้วในหนังสารคดี และประทับอยู่ในใจของคนในชุมชนและคนนอกชุมชน จาง เซี่ยวหยาง  นักเรียนจากประเทศจีน  ที่มาคลุกคลีและทำงานอยู่ในชุมชนจามเทวี ทิ้งท้ายความรู้สึกของเธอที่มีต่อมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชุมชนจามเทวี “ตอนแรกที่ฉันมาที่นี่ ฉันเห็นรูปปั้นและกู่ครูบาและรู้สึกว่าท่านอยู่ห่างไกลจากตัวเราเหลือเกิน แต่หลังจากที่ฉันมาทำวิจัยและเก็บข้อมูลกับคนในชุมชน ฉันรู้สึกว่าฉันได้เข้าใกล้และเข้าใจความศรัทธาของคนในชุมชนที่มีต่อครูบามากขึ้นเรื่อยๆ รูปปั้นครูบาไม่ใช่แค่เพื่อให้คนมาเคารพกราบไหว้ แต่ความศรัทธาที่อยู่ในใจผู้คน ทำให้ผู้คนปฏิบัติตนเป็นคนดี ครูบาเป็นแบบอย่างให้คนทำสิ่งดีๆ”   หมายเหตุ: ชมสารคดีสั้นจากโรงเรียนภาคสนาม ทั้ง 4 เรื่อง  Remembering Khruba Srivichai, Weaving Together, Because We Are Yong, Cherishing Our Tradition: The Seup Chata Ceremonyin the Banluk Community ได้ในเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร http://www.sac.or.th/databases/ichlearningresources/index.php/video     [1] เนื้อหาบางส่วนดัดแปลงจาก ปณิตา สระวาสี.“พิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้.” ใน สกุลไทยรายสัปดาห์. ฉบับที่ 2974(18 ต.ค. 2554), 32-35.  

คืนชีวิตซากปรักหักพัง...ภูมิใจเช่นฉะนี้

08 เมษายน 2557

สิ่งที่หลงเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันในภูมิภาครัวร์ (Ruhr) คือ แหล่งอุตสาหกรรมและแหล่งแร่ที่ทิ้งร้างในมุมมืดของวันวาน สถานที่เหล่านี้กลายมาเป็นบทเรียนในการฟื้นวิญญาณของสถานที่ ความร่วมมือระหว่างประเทศในโครงการ International Bauausstellung Emscher Park (IBA) เกิดจากความร่วมมือของชุมชน 17 แห่งบนเส้นทางของแหล่งอุตสาหกรรมที่ลากผ่านพื้นที่ดังกล่าว และกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและงานวัฒนธรรม  1) รูหร์ ลุ่มน้ำของเยอรมนีตะวันออก มีชื่อเสียงในการเป็นแหล่งแร่ของเยอรมนีและอยู่ใจกลางดินแดน Rhenanie-Westphalie ถ้าต้องกำหนดสีที่เป็นภาพแทนของแคว้นรัวร์ คงจะไม่พ้นสีเทาเข้มที่เชื่อมโยงกับชีวิตลำเข็ญของชาวเหมือง การใช้ การทำลาย และการสร้างมลพิษต่อธรรมชาติ รวมถึงความสิ้นอาลัยต่อการล่มสลายของงานอุตสาหกรรม สตรีสองท่าน ผู้เติบโตมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นเพื่อนร่วมเดินทางในการมาเยือนของข้าพเจ้า พวกเธอเป็นเช่นประจักษ์พยานในความเป็นไปของรัวร์ แม้กระทั่งในช่วงความเจริญสูงสุดของแคว้น พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ที่เราท่านจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว หากสามารถปิดหู ปิดตา ปิดปากได้ เราคงจะต้องทำอย่างแน่นอน รัวร์กลายเป็นแดนดินที่บอบช้ำและว่างเปล่า ที่ที่เราจะไม่มีวันหยุดหันหลังมามอง รัวร์เปรียบเหมือนกับคำพ้องของการใช้ทรัพยากรอย่างหนักหน่วงที่ยาวนานถึง 150 ปี การใช้ทรัพยากรดังกล่าวส่งผลให้แม่น้ำเอมเชอร์กลายเป็นสายน้ำที่เน่าเหม็นของนรกภูมิ หากถามว่าสิ่งใดที่เป็นตัวการ คำตอบคือ อุตสาหกรรมถลุงถ่านหินและแร่เหล็กเช่นนั้นหรือ ตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา คำที่สร้างความหวังสู่อนาคตได้ถือกำเนิดขึ้น ไอ บี เอ (IBA - Internationale Bauausstellung Emscher Park) เป็นคำที่ยิ่งใหญ่ “สร้างความหวัง” สิ่งที่โครงการดำเนินการเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และเป็นหนึ่งในโลกก็ว่าได้ ข้าพเจ้าจะไม่แสดงความเห็นต่อผลพวงจากการดำเนินงาน ข้าพเจ้าไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับอุปสรรคในการดำเนินการ ความไม่พึ่งพอใจของผู้คนบางหมู่เหล่า ความสำเร็จทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง ปัญหาและอุปสรรค ผู้ได้และผู้เสียผลประโยชน์ หากแต่ว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าจะนำเสนอต่อไปนี้มาจากสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน และได้อ่าน ด้วยความยินดีและตื้นตันต่อสิ่งที่ ไอ บี เอ ได้สรรค์สร้าง กล่าวได้ว่ามันสร้างความประทับใจ และเป็นเสน่ห์ของพื้นที่แห่งร่องรอยของการทำลาย โครงการสร้างความภูมิใจเช่นฉะนี้       2) และ 3) ภาพในอาคารสองหลังของ เหมืองนอร์ดชเตร์นที่ติดตั้งผลงานศิลปะเพื่อการรำลึกถึงคนงานเหมืองแร่ รวมทั้งการคงวิญญาณของอาคารในรูปแบบโบเฮาส์ เหมืองไรน์เอลเบที่เกลเซนเคียร์เช่น (la mine Rheinelbe a Gelsenkirchen)5 นาทีจากสถานีรถไฟหลัก ภาพที่ปรากฎคือ สวนสาธารณะ บ่อน้ำขุดที่เก็บกักน้ำฝน ไม้ป่า และเป็ด หากมองให้ดีจะเห็นหน้าอาคารที่ออกแบบอย่างทันสมัย ประกอบด้วยแก้ว อาคารมีความยาวกว่า 300 เมตรในสวนวิทยาศาสตร์ (Wissenchaftspark) นับได้ว่าเป็นตัวอย่างการออกแบบสถาปัตยกรรมเชิงนิเวศ พลังงานไฟฟ้าในอาคารมาจากแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่บนหลังคา สวนวิทยาศาสตร์กอปรขึ้นจากเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องใช้ ที่เป็นนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของวันพรุ่งนี้ ลึกเข้าไปในสวนยังปรากฎอาคารหลายหลังของเหมืองแร่ไรน์เอลเบ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์และซ่อมแซมตามหลักของการก่อสร้างเชิงนิเวศ (la construction ecologique) และการติดตั้งอุปกรณ์เก็บรวมน้ำฝน อาคารเหล่านั้นในวันนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงาน ไอ บี เอ ศูนย์การอบรม ศูนย์การเรียนรู้ในสำนักงานของเจ้าหน้าที่จัดการป่าไม้ ที่ทำหน้าที่ในการดูแล “ป่ามหัศจรรย์” แห่งนี้ โดยชื่อที่เจ้าหน้าที่เรียกขานกันคือ “เถื่อนไพรอุตสาหกรรม” ต้นบูโล (bouleau) ขึ้นในช่วงแรก จากนั้นพืชพรรณอื่นผลิดอกใบออกมากลายเป็น “ความต่อเนื่องของธรรมชาติ” เราสามารถพบพืชและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เรียกได้ว่าเป็น “ธรรมชาติเขมือบอารยธรรม” ธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญของสถานที่แห่งนี้ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ร่องรอยของเหมืองค่อยๆ เลือนหาย คงกล่าวได้ว่า สำหรับมนุษย์ในอรุณรุ่งของศตวรรษที่ 21 ป่าจะกลายเป็นสิ่งที่สัมพัทธ์ต่อสิ่งต่างๆ ผลงานศิลปกรรมของแฮร์มันน์ ปริกานน์ (Hermann Prigann) สะท้อนให้เห็นยุคสมัยหนึ่งของรอยทางงานอุตสาหกรรม ศิลปะติดตั้งขนาดใหญ่ที่มาจากส่วนประกอบของธรรมชาติและเศษชิ้นส่วนของแหล่งอุตสาหกรรม ผลงานยังประกอบด้วยแหล่งขุดค้นโบราณคดี จัตุรัสพรรณไม้ และบันไดแห่งสวรรค์ เรียกได้ว่าเป็นความลงตัวอย่างที่ศิลปะควรจะเป็น ผู้คนที่พำนักในบริเวณใกล้เคียงเข้ามาใช้พื้นที่แห่งนี้ ทั้งในฐานะที่เป็นแหล่งธรรมชาติและวัฒนธรรม เป็นพื้นที่ของการพักผ่อนหย่อนใจ และสถานที่เพื่อการเรียนรู้ธรรมชาติไปพร้อมกัน เหมืองนอร์สแตร์นที่เกลเซนเคียร์เช่น (la mine Nordstern a Gelsenkirchen)ด้วยลักษณะการจัดการพื้นที่ สวนสาธารณะนอร์สแตร์นก่อตัวจากความงามที่ตรงข้ามและป่าที่คงความดิบของไรน์เอลเบ ในปี 1997 การจัดนิทรรศการระดับชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการภูมิทัศน์ในแหล่งอุตสาหกรรมเดิม หรือเหมืองนอร์สแตร์นที่เกลเซนเคียร์เช่น ในวันนี้ทุ่งดอกไม้หายไป แต่กลับปรากฏพื้นที่สีเขียวที่งดงาม เส้นทางเชื่อมต่อจากสะพานถึงน้ำพุ จากน้ำพุสู่พื้นที่ของการละเล่น สถาบันผลิตภัณฑ์ความงามจัดตั้งขึ้นในบริเวณดังกล่าว สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นใหม่มีความงดงาม สอดรับกับพื้นที่ของบริการเครื่องดื่มในร้านอาหาร ผลงานการออกแบบดังกล่าวแสดงให้เห็นแนวคิด “การทำงานในสวน” อันเป็นแนวคิดหลักของ ไอ บี เอ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานเหมืองแร่เป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการออกแบบใหม่โดยสถาปนิกนามชุปป์ (Schupp) และเครมเมอร์ (Kremmer) ในรูปแบบของเบาเฮาส์ (Bauhaus) อาคารสองหลังของ “อดีตนครต้องห้าม” กลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้บริการ เข้าไปเยี่ยมชม อาคารดังกล่าวเป็นโรงละครกูนส์ทกลางรูม (KunstKlangRaum) และเป็นผลงานที่สร้างสรรค์โดยดานี คาราวาน (Dani Karavan) และฮันส์ อุลริคช์ ฮุมแปร์ต (Hans Ulrich Humpert) แนวคิดในการสร้างอาคารเป็นการร้อยรัดสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และการจัดแสดงวัตถุที่ค้นพบและประติมากรรมเสียง เพื่อเป็นการไว้อาลัยต่อ “ชาวเหมืองถ่านหิน” สถานที่แห่งนี้จึงเป็นทั้งอนุสรณ์สถานของอดีต และเชื่อมโยงต่อปัจจุบันด้วยงานสร้างสรรค์ทางศิลปกรรม…  เหมืองซอลล์แฟไรน์ที่เอสเซ่น (la mine Zollverine a Essen)เหมืองซอลล์แฟไรน์เคยเป็นแหล่งแร่ที่มีความสมบูรณ์ของเขตแคว้น และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ในปี 1986 ด้วยความยิ่งใหญ่ เหมืองจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “วิหารแห่งงาน” แต่ทุกวันนี้เหมืองมิได้มีความหมายพ้องกับมลพิษทางเสียง อากาศ และความป่วยไข้อีกต่อไป “สัตว์ร้าย” กลายร่างเป็น “ราชันย์” เหมืองกลายเป็นเหมืองที่ “งามสุดของโลก” ประโยชน์ใช้สอยมิได้มีเพียงความงามเชิงสถาปัตยกรรม ชุปป์และเครมเมอร์ ออกแบบซอลล์แฟไรน์ในรูปแบบเบาเฮาส์ จนกลายเป็นศูนย์รวมของความเป็น “หลังอุตสาหกรรม” (post-industrial) เป็นทั้งศูนย์กลางการออกแบบในระดับภูมิภาค ภัตตาคารชั้นนำ หอศิลป์ร่วมสมัย แหล่งประวัติศาสตร์ สวนธรรมชาติ สวนการฝึกอาชีพ สนามประสบการณ์ นิทรรศการขนาดใหญ่ที่ว่าด้วยเรื่องของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของพลังงาน สถานปฏิบัติการของศิลปิน โรงละครนาฏศิลป์ และ “ศิลปกรรมพื้นที่” (l’art “landmark”) ณ ศูนย์การออกแบบ การจัดตกแต่งภายในเป็นการอนุรักษ์เครื่องจักรที่เคยใช้งานและสิ่งที่ติดตั้งในอาคารเช่นที่เคยเป็น ผสานกับงานออกแบบใหม่ เรียกว่าเป็นจุดรวมของสิ่งที่สร้างความอยากรู้อยากเห็น ประหลาดใจ และก่อเกิดความหมาย นอกจากนี้ ในวันที่ข้าพเจ้าเข้าชมศูนย์ฯ มีการจัดเลี้ยงที่ครบครันไปด้วยผ้าเช็ดปากสีขาว ภาชนะเครื่องเคลือบ แก้วเจียระไนอย่างดี ขาดก็เพียงบรรดาแขก “เลิศหรู” ที่ยังมาไม่ถึง แน่นอนว่า บรรยากาศดังกล่าวทำให้ข้าพเจ้าถึงกับมึนงงไปได้เหมือนกัน เหมืองที่ได้รับการจัดการใหม่นี้ยังเปิดให้เป็นสถานที่จัดเลี้ยง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหารายได้เข้าองค์กร คนทั่วไปสามารถลิ้มรสอาหารในบรรยากาศโรงงานที่หรูหราในขณะที่รอชมนิทรรศการ “อาทิตย์ จันทร์ และดารา” ในช่วงตะวันยอแสง ต่อช่วงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าไป นิทรรศการดังกล่าวนำเสนอในบรรยากาศที่น่าตื่นตาตื่นใจ โรงงานถ่านหินที่มีความยาว 600 เมตร เตาเผา 304 แห่ง และท่อนำไอร้อนสูง 100 เมตร จำนวน 6 ท่อ ทั้งนี้ โรงงานยังคงสภาพเช่นเดิม สิ่งอำนวยความสะดวกติดตั้ง เท่าที่จำเป็น (ไฟฟ้า แสงสว่าง บันได ทางออกฉุกเฉิน ห้องน้ำ) สำหรับเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการและต้อนรับกลุ่มผู้ชมจำนวนมาก เริ่มต้นจากรถไฟขบวนเล็กที่จะนำผู้ชมยังสะพานที่มีหลังคาคลุมอยู่ชั้นเหนือสุดของโรงงาน จากนั้น เป็นทางลงสู่ชั้นใต้ดินจำนวน 7 ชั้น ตลอดเส้นทางผู้ชมจะพบเครื่องจักร และร่องรอยของถ่านหิน นิทรรศการมีประเด็นที่น่าสนใจ โดยใช้แนวทางจัดแสดงศิลปะที่ศิลปินหลายคนเข้ามาตีความ และสร้างสรรค์ชิ้นงานที่แตกต่างกันไป ชั้นบนสุดเป็นส่วนที่ว่าด้วยเรื่องของความฝัน อุดมคติ และเรื่องเล่าปรัมปราที่เกี่ยวข้องกับจักรวาล อาทิตย์ในฐานะของแหล่งกำเนิดพลังงาน ส่วนอื่นๆ อธิบายการสังเคราะห์แสงและชีวิตของพืช ที่ผ่านกาลเวลานับแสนนับล้านปีจนกลายตัวเป็นถ่านหิน นิทรรศการนำเสนอถ่านหินในภาพของสิ่งสั่งสมพลังงาน เป็นสายสัมพันธ์ของพลังจักรวาล ตลอดจนอธิบายเงื่อนไขสภาพวัฒนธรรมการใช้งาน ในท้ายที่สุด อาทิตย์ จันทร์ และดารา เล่าเรียงเรื่องถ่านหินสู่วิถีทางข้างหน้า พลังงานทดแทนในอนาคต อันได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ (ด้วยค่าเข้าชมประมาณ 15 มาร์คเยอรมัน หรือ 7.70 ยูโร ผู้เข้าชมจะมีส่วนเป็นเจ้าของร่วม แต่ละเซลล์ของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารโรงงาน) จากการชมนิทรรศการทางเดินภายนอก ผู้ชมสามารถเข้าชมภายในผ่านเส้นทางของเตาเผาสู่ปล่องนำควัน ในตอนเย็น แสงประดับอาคารสีแดงเรืองสะท้อนภายนอก ทำให้ผู้ชมย้อนนึกถึงการเผาถ่านหินในอดีต เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์ด้วยแสงที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ผลงานดังกล่าวเป็นของ “สถาปนิกประดับไฟ” ชาวอังกฤษ โจนาทาน สเปียร์ และ มาร์ค เมเจอร์ (Jonathan Speirs & Mark Major)               4) และ 5) ภาพในอาคารเหมืองโซลเวอรายที่แสดงให้เห็นเครื่องมืออุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้งานซึ่งกลายมาเป็นศูนย์การออกแบบและที่จัดแสดงนิทรรศการ ภายในโรงงานถลุงแร่       6) และ 7) ภาพแสดงโรงงานถลุงแร่เหล็กและถ่านหิน(7) ในปัจจุบันสร้างเป็นสวนเพื่อการพักผ่อนตามอัธยาศัย ในภาพแสดงกิจกรรมของนักปีนเขาที่ปีนกำแพงจากถ่านหิน แหล่งผลิตก๊าซของโอเบอร์เฮาร์เซ่น (Gasometer Oberhausen)แหล่งผลิตก๊าซที่เมืองโอเบอร์เฮาร์เซ่น เป็นแหล่งผลิตก๊าซเก่า และเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอุตสาหกรรมของเยอรมัน รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของสมัยฟื้นฟูวัฒนธรรมของรัวร์ จากแหล่งที่ถูกทิ้งร้างและอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม แหล่งผลิตก๊าซได้รับเยียวยาไว้ได้ในวินาทีสุดท้าย ในปี 1993 พื้นที่ขนาด 3,500 ตารางเมตรต้อนรับงานนิทรรศการในปี 1994 - 1995 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “Feuer und Flamme” (ไฟและเปลวเพลิง) นิทรรศการเรื่องแรกของ ไอ บี เอ ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์สังคมและอุตสาหกรรมของรัวร์ จากนั้น ยังมีนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง และการติดตั้งผลงาน “The Wall” กำแพงอันกอปรขึ้นด้วยน้ำมัน 13,000 ตัน งานติดตั้งดังกล่าวเป็นการดึงจุดเด่นคือ ความยิ่งใหญ่ของอาคารให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน แต่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์และสังคมน้อยกว่า “Feuer und Flamme” ด้วยเหตุนี้ หากพิจารณาภาพทั้งหมดของ ไอ บี เอ จะเห็นว่า ยังขาดการเสนอภาพรวมทางประวัติศาสตร์ ที่กล่าวถึงบริบทของการสร้างอีกครั้งใหม่ๆ ในท้องถิ่น (le contexte a la restructuration recente) แม้ว่าเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่นำเสนอ สะท้อนภาพวัฒนธรรมอุตสาหกรรมไว้หลายแห่ง แต่ยังคงปราศจากการนำเสนอความเป็นไปของ ไอ บี เอ โรงงานเหล็กและถ่านหินธูสเซ่นในดุยส์บวร์ก-ไมเดอริคช์ (l’usine d’acier Thyssen ? Duisburg-Meiderich)“Landschaftspark” (อุทยานภูมิภาค) ขนาด 200 เฮคเตอร์ ทางเหนือของดุยส์บวร์ก ล้อมรอบโรงงานเหล็กและถ่านหินธีสเซน (ณ เมืองไมเดอริคช์) ซึ่งปิดตัวลงในปี 1985 พื้นที่นี้กลายเป็นแหล่งการเรียนรู้เพื่อการสำรวจที่สมบูรณ์แบบ อุทยานประกอบด้วยพื้นที่งานอุตสาหกรรม สนามการละเล่น ห้องอาหาร พื้นที่เพื่อการแสดง หนังกลางแปลง ผลงานศิลปกรรมพื้นที่ โถงจัดแสดงนิทรรศการ “ซากปรักเพื่อการเช่า” ฯลฯ ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้สามารถพบได้บนธูสเซ่น แต่เมื่อพินิจมองอีกครั้งคงต้องรู้สึกแปลกใจ เมื่อมีนักกีฬาปีนเขาใช้กำแพงจากปล่องเตาถ่านหินเดิม และนักประดาน้ำที่ดำดิ่งในแอ่งก๊าซเดิม ภายในศูนย์การเรียนรู้ตามอัธยาศัยแห่งนี้ ผู้ชมจะได้ชมเตาเผาขนาดมหึมาของโรงงานถลุงถ่านหินและเหล็กธูสเซ่นในอดีต ด้วยโครงสร้างทางวิศวกรรมของทางเดิน ผู้ชมสามารถเดินชมภายในและรอบเตาเผาเฉกเช่นเขาวงกตเมื่อใดที่สายันต์ได้ย่างเข้าสู่บริเวณโรงงาน ไฟประดับอาคาร ซึ่งออกแบบโดยโจนาธาน ปาร์ค ผู้สร้างสรรค์งานชาวอังกฤษ จะสะท้อนความงามของอาคารเสมือนประติมากรรมยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมอุตสาหกรรม เหมือนกับอาคารหลายหลังของเหมืองโซลเวอราย (Zollverein) ที่ถูกทิ้งร้าง ด้วยเหตุนี้ หากต้องเข้าไปจัดการกับพื้นที่ทิ้งร้าง ควรเป็นการดำเนินการที่ไม่ใช่การบูรณะปรับปรุงทั้งหมด แต่เป็นการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้สาธารณชนสามารถเข้าไปชมสถานที่ที่น่าฉงนใจ ศิลปกรรมพื้นที่ (Art “Landmark”)จาก “อุทยานมหัศจรรย์” และ “วิหารแห่งงาน” จนถึง “พีระมิด” รวมทั้ง “ศิลปกรรมพื้นที่” ผลงานเหล่านี้สร้างจุดเด่นให้กับพื้นที่เช่นอุทยานเอมเชอร์ (Emscher Park) โครงการของ ไอ บี เอ มาจากการสร้างสรรค์งานจากศิลปินหลายประเภท ในการรังสรรค์งานให้เป็นมรดกของยุคอุตสาหกรรม และภูมิประเทศบริเวณนี้กลับเป็นจุดสนใจอีกครั้งหนึ่ง ผลลัพธ์ของโครงการที่สร้างมาจากความร่วมมือในระดับภูมิภาค ทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นสายใยสัมพันธ์ความภาคภูมิใจจากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต ซากปรักหักพังที่ทับถมปรับเปลี่ยนสู่สัญลักษณ์ใหม่ในการสร้างอัตลักษณ์ แม้ว่าเนื้อหาที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงประสบการณ์ตัวอย่าง แต่ยังพอสะท้อนให้เห็นภาพของความยิ่งใหญ่ของโครงการ ไอ บี เอ คำถามที่ตามมาคือว่า ทุกอย่างดำเนินการได้อย่างไร และการจัดการเรื่องงบประมาณเป็นไปในลักษณะไหน ตอบต่อคำถามแรกคือ โครงการ ไอ บี เอ กำเนิดมาจากความต้องการของคนในท้องถิ่น และกลายมาเป็นโครงการความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ในเขตนอร์ไฮน์-เวสท์ฟาเลน (Nordrhein-Westfalen) และโครงการต่างๆ ดำเนินการด้วยงบประมาณประจำปี คำถามที่ตามมาคือ แล้วเอาแรงกำลังจากไหนมาสร้างโครงการใหญ่เช่นนี้ คำตอบที่ได้กลับเป็นคำตอบที่คุ้นเคยคือ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความสนใจ คาร์ล กานเซอร์ (Karl Ganser) นักภูมิศาสตร์และข้ารัฐการชั้นสูง คนหัวแข็งและมองไปข้างหน้า พวกยืนหยัดและเป็นวิญญาณของอุทยานเอมเชอร์ กานเซอร์มีความรู้เป็นอย่างดีกับระบบงบประมาณทั้งหมด เงื่อนไขในการจัดการ และความซับซ้อนของงานบริหารรัฐกิจ และยังด้วยความที่เป็นคนประสานสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างลงตัว รวมถึงเสน่ห์ ความหลงใหล ความกระตือรือร้น… ด้วยทีมงาน 30 ชีวิต ภายใต้ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงท้องถิ่น สร้างชีวิตให้กับภูมิทัศน์ ชะเอาความแห้งแล้งของอุตสาหกรรม สร้างอัตลักษณ์ใหม่ สร้างความหวัง และพัฒนาอย่างยิ่งยืน เพื่อทำให้พื้นที่เอมเชอร์เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง องค์กร ไอ บี เอ มิได้มีโครงการของตนเอง แต่กลับทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจ ริเริ่ม กระตุ้น อำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษา สิ่งที่ ไอ บี เอ ให้เอาไว้ในโครงการคือ การประสานแผนการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาภูมิภาค ด้วยสถานภาพที่เป็นอิสระจากโครงสร้างการบริหารที่มีอยู่ ไอ บี เอ นำชุมชน 17 แห่งตามลำน้ำเอมเชอร์ มาร่วมโครงการ ผู้คนประมาณ 2 ล้านคนที่อาศัยในพื้นที่ 784 ตารางกิโลเมตร หมู่บ้านที่เกี่ยวข้องได้แก่ แบร์กคาเม่น (Bergkamen) โบคุ่ม (Bochum) บ็อทท์ร็อบ (Bottrop) คาสทร็อป-เราเซล (Castrop-Rauxel) ดอร์ทมุนด์ (Dortmund) ดุยส์บวร์ก (Duisburg) เอสเซ่น (Essen) เกลเซนเคียร์ชเช่น (Gelsenkierchen) กลัดเบ็ค (Gladbeck) แฮร์เนอ (Herne) แฮร์เท่น (Herten) คาเม่น (Kamen) ลือเน่น (L?nen) มึห์ลไฮม์ (M?hlheim) โอเบอร์เฮาร์เซ่น(Obserhausen) เร็คลิงเฮาเซ่น (Recklinghausen) และ วัลโทรป (Waltrop) ชื่อที่ปรากฎเหล่านี้เป็นกลุ่มบ้านอุตสาหกรรมที่กอปรขึ้นเป็นเขตเมืองในวันข้างหน้า ซึ่งในอดีตเขตเหล่านี้ไม่เคยมีการพัฒนาเมืองอย่างแท้จริง โครงการครอบคลุมพื้นที่ทางเหนือของภูมิภาครัวร์ ซึ่งส่วนพื้นที่ที่มีการปิดตังลงของโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษที่ 1960 ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา แหล่งอุตสาหกรรมดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญ โครงการทั้งหมดของ ไอ บี เอ ใช้เงินประมาณ 5 พันล้านมาร์ค (หรือประมาณ 2.5 พันล้านยูโร) 3 พันล้านเป็นงบประมาณแผ่นดิน (60% มาจากท้องถิ่น 20% มาจากสหภาพยุโรป 20 % มาจากเทศบาลต่างๆ) 2 พันล้านมาจากเอกชน (ส่วนใหญ่มาจากบริษัทรายใหญ่) งบประมาณแผ่นดินมาจากเงินที่คงอยู่ประจำ ด้วยเหตุนี้ ตามความเห็นของกานเซอร์ ไอ บี เอ จึงเป็นเช่น “เครื่องจักรมหึมาที่ดึงงบประมาณ” นอกจากโครงการระยะยาวที่อ้างถึง ไอ บี เอ มีโครงการขนาดย่อม ที่เป็นการจัดกิจกรรมหมุนเวียน 120 โครงการ เป็นทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิเวศวิทยาและสังคม รวมทั้งมีโครงการย่อยที่ไม่เป็นทางการเพื่อฟื้นคืนชีวิตให้กับภูมิภาค ที่ไม่ได้อยู่ใน ไอ บี เอ แน่นอนว่างานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา กิจกรรมเฉพาะกาลสร้างความตื่นตัวเคลื่อนไหว แต่สิ่งใดเล่าที่ทิ้งไว้ให้กับผู้อาศัย นั่นคือ อุทยานต่างรูปแบบ สำหรับพักผ่อน พักอาศัย ทำงาน และหย่อนใจ เป็นแนวคิดของการ “ใช้ชีวิตในอุทยาน”อุทยานธรรมชาติ :จัดการระบบน้ำของเอมเชอร์และลำน้ำสาขา“นำธรรมชาติคืน” สู่พื้นที่อุตสาหกรรมเดิมจัดการท้องถิ่นและภูมิทัศน์พัฒนาการท่องเที่ยว อุทยานพักอาศัย :ก่อสร้างที่พักอาศัยบนผิวพื้นรีไซเคิลสถาปัตยกรรมเชิงนิเวศที่พักอาศัยราคาถูกสำหรับลูกค้าที่ไม่มีทุนมากนักสงวนรักษาและอนุรักษ์ย่านเก่าของกรรมกร อุทยานที่ตั้งหน่วยงาน :หน่วยงานเทคโนโลยีชั้นสูงและงานบริการหน่วยงานทางวัฒนธรรมที่ปรึกษาการจัดตั้งหน่วยงานพัฒนาการเศรษฐกิจ อุทยานประวัติศาสตร์ :สงวนรักษาสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมนำแหล่งอุตสาหรรกรรมเหล่านั้นมาสร้างกิจกรรมทางวัฒนธรรมพัฒนาการท่องเที่ยว ถ้า ไอ บี เอ เปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ คงต้องถามต่อไปว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้แปลเปลี่ยนฐานคิดของนักบริหาร นักการเมืองหรือไม่ ในความเห็นของ คาร์ล กานเซอร์ หลังจากการลงทุน 5 พันล้านมาร์ค และ 10 ปีของการดำเนินงาน บุคคลากรกว่า 10,000 คน โครงการ 120 โครงการ คำตอบต่อคำถามมิได้เป็นไปในทางบวกแต่อย่างใด ไอ บี เอ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา แต่องค์กรยังพยายามหาทางให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นจริงได้มากที่สุด สิ่งที่เป็นไปได้คือ การจัดการและคืนชีวิตแก่สายน้ำที่เป็นพิษ ไม่ว่าจะย่ำแย่สักเพียงใดสิ่งที่เป็นไปได้คือ การเปลี่ยนแหล่งอุตสาหกรรมให้เป็นอุทยานสิ่งที่เป็นไปได้คือ การเปลี่ยนเตาเผาและอาคารอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสิ่งที่เป็นไปได้คือ การก่อสร้างที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไอ บี เอ แสดงให้เห็นว่า อนาคต “หลังยุคถ่านหินและเหล็ก” สามารถเกิดขึ้นได้ วันนี้สีสันแห่งพื้นที่เอมเชอร์ส่องสว่างขึ้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผลงานการประดับไฟของโจนาธาน พาร์ค หรืออย่างไร (!) แปลและเรียบเรียงจากAndrea Hauenchild, “En ruine . . . et fiere de l’etre”,la Lettre de l’OCIM, No. 73, 2001. หมายเหตุ ผู้เขียนขอขอบคุณผู้ร่วมเส้นทางวิชาการที่กำลังศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ในการแก้ไขการการถอดเสียงนามต่างๆ ในภาษาเยอรมัน เพื่อการออกเสียงให้ใกล้เคียงมากที่สุดผู้เขียน :ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

รัฐ กับ สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในงานพิพิธภัณฑสถานไทย

31 มกราคม 2556

งาน พิพิธภัณฑสถานที่เริ่มต้นมายาวนานกว่าศตวรรษ ได้ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่ประเทศไทยมีพิพิธภัณฑสถานที่ดำเนินงาน โดยรัฐ โดยชุมชน และโดยบุคคล จำนวนหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ แต่ขณะที่ปริมาณของพิพิธภัณฑสถานมีมากขึ้นและจะมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนใน อนาคต คำถามถึงการอยู่รอด การพัฒนาเชิงคุณภาพ และการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทยก็มีมากขึ้นตามลำดับ คำตอบหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญให้กับคำถามดังกล่าวก็คือ รัฐ รัฐ มีความเข้าใจในงานพิพิธภัณฑสถาน และ สถานการณ์ที่พิพิธภัณฑสถานในชาติ กำลังเผชิญอยู่มากน้อยแค่ไหน? หรือ ยังคงมองว่ามีหน้าที่ในการเก็บของเก่า หรือ แสดงงานศิลปะ? แนว ความคิดใหม่ ๆ ในการใช้ประโยชน์พิพิธภัณฑสถานให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และเสริมสร้างคุณค่า ทางจิตใจของคนในชาติ ถูกส่งผ่านไปถึงรัฐ หรือ ได้รับการยอมรับจนพัฒนาไปสู่การนำไปปฏิบัติจากรัฐมากน้อยแค่ไหน ?นโยบายของ รัฐ ต่องานวัฒนธรรม และต่องานพิพิธภัณฑสถาน คืออะไร? นอก เหนือจากภาระหน้าที่ตามกฎหมายในการเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเปิดให้ประชาชนเข้าชมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ กฎหมายใหม่ที่ให้ท้องถิ่นสามารถจัดการแหล่งการเรียนรู้ของตนเองได้ที่ถูก หยิบยกมาอ้างถึงกันอยู่บ่อย ๆ แล้ว รัฐมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการเพิ่มศักยภาพของการเป็นแหล่งการเรียน รู้ของพิพิธภัณฑสถานของรัฐเอง และสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายหรือเงื่อนไขปัจจุบัน เพื่อช่วยสนับสนุนพิพิธภัณฑสถานในท้องถิ่นอีกจำนวนมากอย่างไรได้บ้าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ดำเนินงานโดย รัฐ ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุมาแต่เดิมและถูกผูกติดกับภาระหลักนี้มาจนปัจจุบัน เป็นที่มาของกรอบคิดในการเก็บรวบรวมและจัดแสดงที่ให้ความสำคัญต่อโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และนำเสนอประวัติศาสตร์การปกครอง หรือ รูปแบบทางศิลปะ เป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันที่แนวคิดเรื่อง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้พัฒนากรอบคิดในสู่การเก็บรวบรวม สิ่งที่มีคุณค่าของชาติ(objects of national significance ) ซึ่ง หมายถึง สิ่งที่สะท้อนประวัติศาสตร์สังคมของชาติในช่วงเวลาต่าง ๆ สิ่งที่แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาติ และวัตถุร่วมสมัยที่สะท้อนความเป็นปัจจุบันของชาติ รวมไปถึงการพัฒนาเนื้อหาเรื่องราวใหม่ ๆ ในการจัดแสดง ที่นำเสนอบทเรียนในอดีต และสะท้อนปัญหาสังคมในปัจจุบัน กำลังเป็นทิศทางที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อสร้างการเรียนรู้ ความตระหนักรู้ และความสมานฉันท์ของคนในชาติ จึงเกิดเป็นคำถามที่ท้าทายว่า รัฐ จะปรับเปลี่ยนทิศทางและขยายขอบข่ายการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาคนในชาติผ่านงานพิพิธภัณฑฯต่อไปอย่างไร สถานการณ์ ของพิพิธภัณฑสถานภายใต้การดำเนินงานของรัฐในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนมองว่า หยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว หรือ แม้กระทั่ง ตายซาก ได้กลายมาเป็นเครื่องมือที่รัฐเองใช้เป็นโอกาสในการสร้างผลงานโดยไม่ใส่ใจ ศึกษาปัญหาที่มีอยู่เดิม ด้วยการประกาศจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งใหม่ ๆ ที่มุ่งมาดว่าจะต้องดีกว่าพิพิธภัณฑฯที่มีอยู่แล้ว รัฐ กำลังพัฒนาพิพิธภัณฑสถานในแบบ ชั่วข้ามคืน อย่างไร และมีมุมมองอย่างไรในการจัดการงานพิพิธภัณฑสถานของชาติ ปัญหา ในงานพิพิธภัณฑสถานของไทยที่มี รัฐ เป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยแก้ไขหรือทุเลาปัญหาเป็นสิ่งที่อยู่ในใจคนทำงาน พิพิธภัณฑสถาน และประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑสถานมาโดยตลอด หากแต่ที่ผ่านมามีเพียงการปรารภปัญหาในวงเล็ก ๆ ระหว่างคนทำงานพิพิธภัณฑฯและคนใช้พิพิธภัณฑฯ ที่มักนำไปสู่ข้อสรุปของการยอมจำนนและยอมรับในชะตากรรมที่เป็นอยู่ ซึ่งก็คงไม่มีใครที่อยากให้สถานการณ์เป็นอยู่เช่นนี้ตลอดไป จะมีวิธีการใดที่จะทำให้ รัฐ เห็นความสำคัญและใส่ใจที่จะพัฒนางานพิพิธภัณฑสถานอย่างจริงจัง เพื่อที่วันหนึ่งพิพิธภัณฑฯไทยจะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนา ชาติ เช่นที่เป็นอยู่ในหลาย ๆประเทศทั่วโลก

ความหมายและความยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์บ้านประวัติศาสตร์

24 ตุลาคม 2560

พระราชวังไป วังเจ้านาย บ้านบุคคลที่มีชื่อเสียง สตูดิโอศิลปิน บ้านคหบดี บ้านคนธรรมดาทั่วไป ไม่ว่าเคหสถานนั้นจะหรูหราอลังการหรือเป็นเพียงกระท่อมมุงจาก หากได้รับการอนุรักษ์และเปลี่ยนแปลงหน้าที่การใช้งานจากที่พักอาศัยไปสู่แหล่งเรียนรู้ อย่างง่ายที่สุดเรียกได้ว่าสถานที่แห่งนั้นคือพิพิธภัณฑ์บ้านหรือพิพิธภัณฑ์บ้านประวัติศาสตร์ (historic house museum) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ประเภทหนึ่งที่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ประเภทอื่น โดยเฉพาะในประเด็นการอนุรักษ์ตัวเรือนหรือสถานที่ เครื่องเรือน เครื่องใช้ การสร้างบรรยากาศ และการนำเสนอ

มองหาการเรียนรู้จากบทสนทนาของผู้เยี่ยมชม : การสำรวจอย่างเป็นกระบวนการ

20 มีนาคม 2556

เมื่อศูนย์แห่งการสำรวจ(Exploratorium) มอบหมายการศึกษาการนำไปสู่การสร้างความร่วมมือในการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ (Leinhart & Crowley, 1998) ข้าพเจ้ามองว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยากในการจะทำวิจัยแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนวิชาชีพที่ข้าพเจ้าให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้   ในฐานะที่เป็นนักวิจัยด้านการศึกษา ข้าพเจ้าใช้โอกาสของการศึกษาอย่างลึกเกี่ยวกับการเรียนรู้ในพื้นที่สาธารณะ ของศูนย์แห่งการสำรวจ เป้าหมายหนึ่งที่ข้าพเจ้าดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือ การค้นหาและปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมหนึ่ง ซึ่งเรียกได้ว่ามีความท้าทายมากจากมุมมองของการวิจัย นอกจากนี้ ข้าพเจ้าต้องการใช้การวิเคราะห์บทสนทนาของผู้เข้าชมเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ชม ได้เรียนรู้ในระหว่างการเยี่ยมชมนิทรรศการสักชุดหนึ่งของศูนย์แห่งการสำรวจ ในขณะนี้มีนิทรรศการเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ใช้วิธีการศึกษาดังที่ กล่าวมา และนิทรรศการใหม่ของศูนย์ฯ มีความน่าสนใจอย่างมากในการพัฒนาทฤษฎี เพราะนิทรรศการได้ปรับใช้วิธีการต่างๆ จากการนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ที่ผ่านมา เช่น นิทรรศการเรื่อง กบ ใช้กระบวนการ"ลงมือทำ" เช่น เดียวกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ การนำเสนอสิ่งมีชีวิตเช่นในสวนสัตว์ และการนำเสนอวัตถุทางวัฒนธรรม อาทิ เครื่องในแบบของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และสิ่งจัดแสดงประเภทสองมิติเพื่อการอ่านหรือการพินิจเช่นแผนที่และตัวอย่าง คติที่เกี่ยวข้องกับกบ ความหลากหลายเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่ายนักในงานพิพิธภัณฑ์ และแน่นอนยังเป็นโอกาสสำหรับการศึกษาเชิงเปรียบเทียบประสบการณ์เรียนรู้ที่ แตกต่างกันไปตามประเภทของสิ่งจัดแสดง ในฐานะที่เป็นผู้ประเมินนิทรรศการในการศึกษาผู้ชม ข้าพเจ้ามีเป้าหมายเพิ่มเติมมากขึ้น เป็นการพยายามสำรวจวิธีการในการเก็บข้อมูลเพื่อวัดผลการเรียนรู้ในฐานะที่ เป็นสถาบันทางการศึกษา ในทุกวันนี้การประเมินที่เป็นsummative ปฏิบัติ กันมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งของการประมินจะเกี่ยวข้องกับการเดินตามและศึกษาการใช้เวลาจาก พฤติกรรมของผู้ชม จากนั้น เป็นการสัมภาษณ์หรือใช้แบบสอบถามเมื่อเดินออกจากนิทรรศการ แต่การประเมินผลในระหว่างการชมน่าจะให้ประโยชน์มากกว่า และข้อมูลจากการวิจัยสามารถนำไปสู่แนวทางการประเมินเพื่อเข้าใจเงื่อนไขทาง สังคมวัฒนธรรมของการเรียนรู้ ความเป็นมา ในปัจจุบัน ผู้ประเมินมักจะมีพื้นความรู้ทางการศึกษาในโรงเรียน และอาจจะไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของสถาบันการศึกษาในแบบไม่เป็นทางการ นอกจากนี้ ในพิพิธภัณฑ์ยังเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ที่อิงกับความเป็นกลุ่มสังคม ดังนั้นการประเมินจึงประยุกต์ใช้มุมมองเชิงสังคมวัฒนธรรมเข้ามาเป็นปัจจัยในการอธิบายการเรียนรู้ อย่างไรก็ดี วิธีการทำงานในขณะนี้กลับเน้นที่การประเมินปัจเจกบุคคลมากกว่ากลุ่ม ภายหลังการชมนิทรรศการ แต่จริงแล้วๆ วิธีการหนึ่งคือ การวิเคราะห์บทสนทนาตลอดการชมพิพิธภัณฑ์ แต่วิธีการดังกล่าวมักจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินดังที่ปฏิบัติกัน อยู่ในปัจจุบัน  นอกจากนี้ การศึกษานิทรรศการเป็นส่วนสำคัญในการเข้าใจกรอบการทำงานของภัณฑารักษ์ที่จะ สัมพันธ์กับการทำงานของผู้เข้าชม ด้วยเหตุนี้ การศึกษาบทสนทนาในนิทรรศการจึงมีความน่าสนใจ เพราะจะมีพฤติกรรมของผู้ชมเกิดซ้ำๆ ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องทุ่มเวลาทั้งวันกับการศึกษาครอบครัวๆ เดียว ดังที่มักปฏิบัติกันในการศึกษาตลอดการชม ในท้ายที่สุด มักมีโครงการพัฒนาการจัดแสดงที่จะต้องดำเนินการในลักษณะsummative ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถอาศัยโอกาสดังกล่าวในการทำวิจัยและการประเมินผลไปพร้อมๆ กัน  การวิเคราะห์บทสนทนาเป็นการพยายามทำความเข้าใจวาทกรรมและการกระทำทางสังคม ในความเห็นของผู้เขียน บทสนทนามีความซับซ้อน เพราะเนื้อหาเป็นสิ่งที่ครอบคลุมสถานการณ์ ความรู้ การกระทำ และภาษา ทั้งนี้Stubbs จัดแบ่งการกระทำในสองลักษณะคือ  Stubbs (1980) ได้กล่าวถึงการวิเคราะห์วาทกรรมที่จะต้องไปสัมพันธ์กับทฤษฎีทางสังคม บทสนทนาสะท้อนให้เห็นปัจจัยที่ซับซ้อนแต่มีความสัมพันธ์กัน ทั้งสถานการณ์ ความรู้ การกระทำ และภาษา ดังนั้น ผู้วิจัยจึงต้องทำความเข้าใจสิ่งที่ปรากฏและวัตถุประสงค์ที่อยู่เบื้องหลัง เช่น ความแตกต่างระหว่างหน้าที่ของ discourse act ที่หมายถึงหน้าที่ในตัวเองการสร้าง สืบต่อ และสิ้นสุดการแลกเปลี่ยน ในขณะที่ speech acts สัมพันธ์กับหน้าที่ทางจิตวิทยาและสังคม เช่น การเรียกนาม ขอบคุณ สัญญา แต่ในงานวิจัยนี้จะเน้นที่ speech acts ที่ผลักดันไปสู่การเรียนรู้ของผู้ชม ผู้วิจัยยังมองต่อไปอีกว่า ผู้ชมแต่ละคนในกลุ่มมีลักษณะส่งเสริมการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  กรอบการทำงานและคำถามของการวิจัย เป้าหมายการทำงานอยู่ที่การค้นหาหลักฐานที่แสดงให้เห็นการเรียนรู้จากการสนทนา ที่เกิดขึ้นระหว่างการชมนิทรรศการ นอกจากนี้ การพูดคุยที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้จากสิ่งจัดแสดงที่แตกต่างกันมีลักษณะที่ หลากหลายไปด้วยเช่นกัน หรือการสนทนาในลักษณะใดที่จะสร้างการมีส่วนร่วมหรือแยกเด็กออกไป คราวนี้ ลองมานิยาม 1. เราสามารจัดแบ่งประเภทการเรียนรู้ได้ในสามระดับได้แก่ สะเทือนอารมณ์ (affective) ระลึกรู้ (cognitive) และการสั่งการ (psychomotor) ซึ่งสัมพันธ์กับประสบการณ์ของผู้ชมในพิพิธภัณฑ์ คิด รู้สึก และปฏิสัมพันธ์กับวัตถุ 2. ปัจจัย ทางสังคมวัฒนธรรมเข้ามามีส่วนอย่างมากในการวิเคราะห์ และหมายถึงการสร้างความหมายในระดับของกลุ่ม การวิเคราะห์จึงไม่ได้มองไปที่การเรียนรู้ในระดับปัจเจก หากแต่เป็นการเรียนรู้โดยกลุ่ม 3. การ วิเคราะห์และพิจารณาว่า สิ่งใดคือการเรียนรู้ ไม่ได้พิจารณาในกรอบการเรียนรู้อย่างเป็นทางการ แต่จะรวมเอาความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ในระดับของอารมณ์ ส่วนบุคคล สิ่งที่เกิดขึ้นชั่วครั้ง และรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม และมีลักษณะที่สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ มากกว่าตีคลุม 4. เน้นการสนทนาที่เกิดขึ้นในนิทรรศการและสัมพันธ์กับสิ่งจัดแสดง การ เรียนรู้ที่นิยามนี้ไม่ได้พิจารณาไปถึงความตั้งใจไม่ว่าจะมาจากผู้พูดหรือ ผู้เรียน แต่กลับพิจารณาว่า คำพูดเช่นนี้สามารถเป็นหลักฐานของการเรียนรู้ได้หรือไม่ เขาได้ความรู้ใหม่อย่างไรหรือไม่จากสิ่งที่เขาพูด กรอบในการสร้างความหมายร่วมระหว่างสมาชิกที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์ ภาพโดยรวมของนิทรรศการ"กบ" นิทรรศการชั่วคราวจัดแสดงที่ Exploratorium ค.ศ. 1999 - 2000 ใน ระหว่างการพัฒนานิทรรศการ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ชมเกี่ยวกับกบ หลายคนเคยเรียนรู้เกี่ยวกับกบจากชั้นเรียน กบร้องในระหว่างใบไม้ผลิตและฤดูร้อน ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจนำไปสู่การวางโครงนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับ (ก) การนำเสนอความรู้เกี่ยวกับกบในทางวิทยาศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับมนุษย์ (ข) การสร้างความเข้าใจและความเคารพต่อสัตว์ในกลุ่มผู้ชม (ค) สร้างสรรค์บางอย่างที่งดงาม ดึงดูด และตอบสนองต่อการให้ข้อมูลกับผู้ชมต่างวัย  เนื้อหาของนิทรรศการแยกย่อยดังนี้ การนิยามความหมายของกบ คางคก และพัฒนาการของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ การกินและการเป็นเหยื่อ กบและคางคกร้อง การจัดแสดงร่างกายภายใน การสังเกตอย่างใกล้ชิด"การปรับตัวที่น่าประหลาดใจ" สถานภาพ ของกบจากทั่วโลก และการเคลื่อนที่ของกบ สิ่งที่พิเศษของนิทรรศการคือ การพยายามเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของกบและคน และการสร้างสื่อที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย o สิ่งจัดแสดงที่ทดลองได้ 10 จุด o บ่อ/ตู้จัดแสดงกบและคางคกที่มีชีวิต 23 จุด o วัตถุทางวัฒนธรรม 5 กลุ่ม o วัตถุ 2 มิติในการอ่านหรือมอง 18 ชิ้น เช่น แผนที่ หนังสือเด็ก และเรื่องเล่าเกี่ยวกับกบจากวัฒนธรรมต่างๆ  o สิ่งจัดแสดงที่เป็นอินทรีย์ เช่น กบสต๊าฟ และอาหารกบ o วีดิทัศน์ 3 จุดที่ว่าด้วยกิจกรรมของกบ และหน้าต่างสังเกตการณ์พฤติกรรมของกบในระหว่างที่พักผ่อน 2 จุด o สะพานทางเข้านิทรรศการ o ห้องจำลองสถานการณ์ฟังเสียงกบยามค่ำ ข้อท้าทายของการทำงานวิจัย การศึกษาบทสนทนาของExploratorium ต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการ ประการแรก ลักษณะของพิพิธภัณฑ์มีองค์ประกอบของการจัดแสดงที่ใช้เทคโนโลยีเสียงและภาพที่จะ เข้ามารบกวนในการสังเกต และกลุ่มผู้ชมที่หลากหลาย เสียงเด็กที่ตื่นเต้น ประการที่สอง กลุ่มผู้ชมในพิพิธภัณฑ์แบบดังกล่าวจะเลื่อนไหลไปตลอดเวลา การบันทึกบทสนทนาจะต้องอาศัยไมโครโฟนไร้สาย แต่ทั้งนี้ สมาชิกในกลุ่มจะปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา เนื่องจากความสนใจของกลุ่มที่แตกต่างกันไปในแต่ละจังหวะของการชม   ประการที่สาม เมื่อใดก็ตามที่ผู้ชมปฏิสัมพันธ์กับสิ่งจัดแสดงใด คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเลยหากไม่มีการติดตั้งเครื่องบันทึกภาพ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์  จาก นั้น การถอดเทปมีค่าใช้จ่ายที่สูง และต้องอาศัยความชำนาญมากขึ้น เพราะผู้ชมแต่ละคนมีวิธีการพูดที่แตกต่างกัน แม้คำพูดที่บันทึกจะชัดเจน แต่การเข้าใจในความหมายของการกระทำซับซ้อน เพราะหลายๆ ครั้งความไม่ต่อเนื่องของกรอบการกระทำเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น นอกจากนี้ ความซับซ้อนในบริบทต่างๆ ตัวแปรของผู้ชม(ลักษณะประชากร จิตวิทยา ประสบการณ์ก่อนหน้า ความสนใจ ทัศนคติ ความคาดหวัง ความเคลื่อนไหวกลุ่ม และปัจจุบันขณะของความสบายและ "แรง") ตัวแปรของนิทรรศการ (สถานที่ต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ เสียงที่เซ็งแซ่ และความหนาแน่นของกลุ่มผู้ชม) และตัวแปรอื่นๆ ในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งจัดแสดงแต่ละชิ้น (ความสูง สีสัน ตำแหน่งที่ตั้งและการเข้าถึง ลักษณะที่ปรากฏต่อสายตา รูปแบบการจัดแสดง เนื้อหาในป้ายคำบรรยาย และเสียง) ดังนั้น สิ่งที่สามารถทำได้คือ การมองหาความสัมพันธ์ของสิ่งจัดแสดงแบบใดที่นำมาซึ่งบทสนทนาแบบนั้นๆ การใช้เครื่องมือบันทึกเสียง ในปัจจุบันมีเครื่องมือในการบันทึกเสียงด้วยไมโครโฟนไร้สายที่มีคุณภาพและราคา สมเหตุผล ฉะนั้น ปัญหาของคุณภาพเสียงที่มาจากเสียงสภาพแวดล้อมลดน้อยลงได้  การเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของผู้ชม การบันทึกภาพเคลื่อนไหวมีความสัมพันธ์กับบทสนทนา แต่เราไม่สามารถติดตั้งกล้องบันทึกมุมได้ทั้งพื้นที่นิทรรศการ ฉะนั้น การใช้ผู้บันทึกภาพติดตามกลุ่มเป็นสิ่งที่ทำได้ ทั้งนี้ อาจไม่จำเป็นต้องบันทึกตลอดเวลา หากแต่สังเกตพฤติกรรมและบันทึกจังหวะนั้นๆ บนแผนผังนิทรรศการ เราอาจต้องใช้ไมโครโฟนถึง 3 ตัว เพื่อกั้นความผิดพลาดของเสียงที่นอกเหนือไปจากไมโครโฟนที่ติดตัวผู้ชม การเลือกผู้ชม การเลือกกลุ่มตัวอย่างจะใช้ผู้ชมที่มาเป็นคู่ หรือที่เรียกว่าdyads เพราะ การตามของผู้ที่บันทึกภาพหรือสังเกตการใช้พื้นที่ในนิทรรศการไม่สามารถทำได้ ในกรณีที่ผู้ชมเป็นกลุ่มใหญ่ การรวมตัวและการแยกตัวเกิดขึ้นง่าย ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องยากในการตามบทสนทนา นอกจากนี้ ผู้ชมที่เป็นกลุ่มมักจะสนทนาเกี่ยวกับสิ่งที่พบเห็นไปก่อนหน้า ประเด็นของการพูดคุยอาจสัมพันธ์กับการหยุดดูหรืออ่านวัตถุจัดแสดงที่อยู่ตรง หน้า  ลักษณะของการเลือกประชาการกลุ่มตัวอย่าง 1. ผู้ชมมาเป็นคู่ 2. ทั้งคู่พูดภาษาอังกฤษในฐานะภาษาแม่ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่ถอดความสามารถทำได้สะดวก 3. เราสนใจประสบการณ์ตรงในการเยี่ยมชมสำหรับผู้ที่มาชมนิทรรศการครั้งแรก มากกว่าการวิเคราะห์ที่ซับซ้อนในการคิดวิพากษ์ของผู้เข้าชม 4. ไม่ว่าจะเป็นผู้ชมที่อายุ 18 ปีขึ้นไป หรือเด็กที่มากับผู้ดูแล พวกเขาจะต้องอนุญาตให้มีการบันทึก   เราลองติดต่อผู้เข้าชม118 คู่ แต่ 38% กลับ ปฏิเสธ โดยเราไม่พยายามให้เขาอธิบายเหตุผล แต่ส่วนหนึ่งมาจากการมีเวลาที่จำกัด การนัดหมาย และการเข้าชมที่มาพร้อมกับเด็กเล็กๆ แต่เราเองก็ปฏิเสธผู้ชมบางกลุ่มเช่นกัน สาเหตุหนึ่งมาจากการที่คนกลุ่มนี้เคยมาชมนิทรรศการแล้ว ดังนั้น 49 คู่ (42%) ที่มีคุณสมบัติและยินดีร่วมในการศึกษา จากที่กล่าวมาเวลาโดยส่วนใหญ่ใช้ไปกับการหากลุ่มประชากรที่เหมาะสม ในจำนวน 49 คู่ เฉลี่ยแล้วเราเก็บข้อมูลจากผู้ชม 3-5 คู่ในวันหยุดสุดสัปดาห์ และ 0-2 คู่ ในวันธรรมดา นอกจากนี้ ปัจจัยที่ตั้งของนิทรรศการเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องใช้เวลามากในการศึกษา เพราะเมื่อผู้ชมดูนิทรรศการมาเป็นเวลาเกือบชั่วโมงจากทางเข้า ผู้ชมเองไม่อยากที่จะใช้เวลามากในการดูนิทรรศการ นอกจากนี้ เราได้ลองให้ผู้ชมที่เป็นกลุ่มครอบครัวร่วมในการศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม และให้แต่ละกลุ่มถือไมโครโฟนแยกกันอย่างเป็นอิสระ แต่กลับมีข้อจำกัดไม่น้อยเนื่องจากนิทรรศการมีความน่าตื่นตาตื่นใจ และนำไสู่การพูดคุยความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เห็นหรือยังไม่ได้เห็น การทบทวนดังกล่าวจึงไม่ใช่ประสบการณ์ในบัดนั้น การทำความเข้าใจและแยกกรอบความคิดที่เป็นประสบการณ์แรกกับความคิดเห็น จึงต้องกินเวลาเพิ่มมากขึ้น เราแนะนำว่าผู้ทีต้องการใช้วิธีการดังกล่าวจะต้องมีเวลาการทำงานที่มากพอ การยินยอมเข้าร่วมการศึกษา เรา เลือกกลุ่มประชากรตัวอย่างและแจ้งให้ทราบว่า การศึกษาของเราเพื่อความเข้าใจประสบการณ์ของผู้ชม และมีการบันทึกเสียงสนทนา ทั้งนี้ เราไม่ได้ให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกลงนามในหนังสือยินยอม ประการแรก ผู้ชมจะรู้สึกสบายๆ ในการชมมากกว่า และจุดของการคัดเลือกเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้ชมสนใจต่อการเข้าชมนิทรรศการ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเด็กรวมอยู่ด้วย ประการที่สอง ในช่วงท้ายของนิทรรศการ ผู้ชมจะรู้สึกสบายมากกว่ากับสิ่งที่ตนเองได้พูดไปในนิทรรศการ เรายังได้ขออนุญาตใช้บทสนทนาในการประชุมหรือเพื่อการศึกษาวิจัยที่ใหญ่ไป กว่านั้น แต่มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ไม่ยินยอม ผู้ชมยังได้เทปบันทึกบทสนทนาของตนเองกลับไปบ้านอีกด้วย การติดตามผู้ร่วมการศึกษา เราได้ให้ข้อมูลแก่ผู้ชมแล้วว่า จะมีผู้ติดตามผู้ชมในระหว่างการชม ทั้งนี้ ผู้ติดตามจะอยู่ในระยะห่างเพื่อไม่ให้รบกวนผู้ชม โดยผู้ติดตามจะมีไมโครโฟนอยู่ที่คอเสื้อสำหรับการสังเกตและบันทึกสถานที่ที่ ผู้ชมหยุด วิธีการดังกล่าวใช้ได้ผลดียกเว้นในกรณีที่ผู้คนเริ่มร้างลาไปจากนิทรรศการ ผู้เข้าชมอาจสังเกตผู้ติดตาม ในจุดนี้ เราแก้ปัญหาด้วยการทำให้ผู้ติดตามแตกต่างไปจากผู้ชม ??? สิ่ง ที่พึงระลึกไว้สำหรับผู้ติดตามคือ การบันทึกความเคลื่อนไหวทุกอย่าง ทั้งการหยุด การเดินจากไป การเดินเข้ามาหาของคู่เยี่ยมชม และที่ลืมไม่ได้เลยคือ ปฏิสัมพันธ์กับผู้เยี่ยมชมคนอื่นๆ แต่เสียงที่เข้าสนทนากับผู้ชมคนอื่นนั้นก็ยากที่จะบันทึกและนำไปสู่การวิ เคราะห์ หากมีจำนวนผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก บทสนทนาของผู้ชมมีความจริงแท้แค่ไหน เรา เองตั้งข้อสังเกตว่า การใช้ไมโครโฟนในการบันทึกบทสนทนาอาจทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่คาดหวังหรือไม่ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเยี่ยมชมตามปกติ หลายๆ ครั้ง ผู้ร่วมการศึกษากล่าวถึงการมีอยู่ของไมโครโฟน พ่อแม่พยายามยับยั้งไม่ให้เด็กถอดไมโครโฟน แต่บางครั้ง เมื่อเด็กต้องการที่จะทำกิจกรรมที่จะต้องออกแรง การเอาไมโครโฟนออกเกิดขึ้นได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ชมที่ร่วมการศึกษาจะใช้เวลาอันน้อยนิดที่จะคำนึงถึงการมีอยู่ของไมโครโฟน ผู้ชมเองใช้เวลาโดยส่วนมากไปกับการชมนิทรรศการมากกว่า การใช้เวลาโดยเฉลี่ยในการหยุดแต่ละที่ประมาณ9.0 นาที ตรงข้ามกับการสนทนาที่ใช้มากถึง 25 นาที พฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติหรือไม่ จริงๆ แล้ว ผู้ชมอาจต้องการเลือกดูเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น บางทีการสังเกตพฤติกรรมของผู้ชมโดยปกติจะต้องเข้ามาในจุดนี้ นั่นคือ การรักษาระยะห่างระหว่างผู้ศึกษาและผู้ถูกศึกษา แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเข้าเรียนรู้อะไร ฉะนั้น บทสนทนาดูจะเป็นคำตอบที่น่าสนใจมากกว่า หรือหากใช้การสนทนาไปตลอดการชมนิทรรศการ สถานการณ์ดังกล่าวอาจสร้างให้ผู้ชมระหว่างตัวตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ เราจึงคิดว่าการศึกษาบทสนทนาน่าจะเป็นช่องทาง "ที่ดีที่สุด" สำหรับการศึกษากระบวนการเรียนรู้ การถอดเทป จากการทำงานที่ผ่านมา เราใช้งบประมาณที่จำกัดในการถอดจำนวน15 บท และขอความช่วยเหลือจากอาสาสมัครของพิพิธภัณฑ์ ในท้ายที่สุด ได้ทั้งสิ้น 30 บท แต่เรากลับต้องผิดหวังจากบทถอดเทป เพราะความไม่คุ้นชินกับนิทรรศการ เราเองจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบใหม่หมด ฉะนั้น ปัจจัยที่สำคัญของการถอดเทปที่ดีคือ ความคุ้นชินกับนิทรรศการ สำหรับกรณีของเราแล้ว บทบรรยายทั้งหมดในนิทรรศการเป็นส่วนประกอบสำคัญของการวิเคราะห์ และยังเป็นปัจจัยที่ช่วยให้การได้ยิบบทสนทนาของเราสมบูรณ์ขึ้นด้วย ข้อแนะนำของการบันทึกเสียงที่มีคุณภาพ หากไม่มีเครื่องบันทึกวิดีโอ ใช้ไมโครโฟนอย่างน้อย3 ตัว และทดสอบการส่งสัญญาณทั่วทั้งอาคาร เชิญให้คนร่วมโครงการที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ และอย่างน้อยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า4 ปี ทำ ความเข้าใจและพรรณนานิทรรศการอย่างละเอียดในเอกสาร เพื่อการอ้างอิงป้ายอธิบายและวัตถุจัดแสดงในภายหลัง คำถามต่างๆ จะเข้ามาเกี่ยวข้อในขั้นตอนการวิเคราะห์ ใช้คนที่ถอดเทปที่มีความคุ้นชินกับนิทรรศการ ปัจจัย หนึ่งที่ทำให้การวิจัยครั้งนี้สำเร็จได้มาจากลักษณะของนิทรรศการที่เป็นการ จัดแสดงสิ่งมีชีวิต มากกว่าจะเป็นสิ่งจัดแสดงที่เน้นการทดลอง ด้วยเหตุนี้ ผู้ชมจึงใช้การสนทนาในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มากกว่าการลงมือทดลองอย่างที่พบในนิทรรศการอื่นของExploratorium  การให้รหัสแต่ละตำแหน่งของผู้เข้าชม การ บอกตำแหน่งของผู้ชมมีความสำคัญในการตีความถึงการรับรู้สิ่งจัดแสดง หลายๆ ครั้งผู้ชมกล่าวถึงสิ่งจัดแสดงก่อนที่เขาจะไปหยุดที่นั่น ฉะนั้น ข้อมูลจากการติดตามจะทำให้เราเห็นถึงความดึงดูดใจและการจัดสินใจที่เกิดขึ้น ในกระบวนการเรียนรู้ การให้รหัสที่สัมพันธ์การความสนใจของผู้ชมต่อวัตถุจัดแสดง หรือเรียกว่าobject-related interactions for coding  ราย นามของสิ่งจัดแสดงสำคัญต่อความเข้าใจในการหยุดและการสนทนาในแต่ละช่วงของการ ชม ข้อมูลการติดตามมีความสำคัญอีกประการหนึ่งในการบอกถึงการหยุดที่ไม่ได้มีการ กล่าวออกมา"silent stops" นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้จากการสนทนาของผู้ชมที่เป็น "คู่" แท้ จะไม่ทำให้การวิเคราะห์สับสนในกรณีที่ทั้งคู่ไม่ได้อยู่หน้าสิ่งจัดแสดงที่ กล่าวถึง ซึ่งจะต่างออกไปจากกลุ่มครอบครัวที่ประเด็นของการพูดคุยถึงของที่ไม่ปรากฏ ที่เกิดต่อหน้าอาจจะปรากฎในลักษณะที่ไกลไปจากวัตถุจัดแสดงชิ้นที่กล่าวถึง มากเกินไป   วิธีการสร้างรหัสเฉพาะ วิธี การดังกล่าวเลือกใช้มุมมองของศาสตร์สังคมวัฒนธรรมและการระลึกรู้ เราได้เลือกใช้การจัดแบ่งประเภทโดยการใช้ศัพท์ด้านการระลึกรู้ มากกว่าเป็นการใช้สำนวนการพูด(สังเกต คิด รู้สึก และแสดงออก) การจัดแบ่งด้วย cognitive concepts : attention, memory, declarative knowledge, inference (การอ้างอิงต่อความจริงที่มาก่อน), planning, metacognition (การรับรู้ในชั้นหลังที่สัมพันธ์กับสิ่งที่รับรู้มาก่อน) นอกจากนี้ ยังความรู้สึกทางอารมณ์และกลยุทธ์  ผู้ให้รหัสและผู้เขียนได้แบ่งการรับรู้ออกเป็น5 ลักษณะโดยแต่ละลักษณะมีคุณสมบัติตามแต่ละกลุ่ม  1. Perceptual Talk การพูดทุกชนิดที่แสดงถึงสิ่งที่ดึงดูดความสนใจรอบตัว คำพูดเช่นนี้อยู่ในระดับของการเรียนรู้ เพราะมีการบ่งชี้ให้ห็น่าสิ่งใดสำคัญ การบ่งชี้ การให้ความสนใจต่อวัตถุหรือบางส่วนของนิทรรศการ"นั่น…" การเรียก การให้ชื่อสิ่งของหรือวัตถุนั้นๆ การบอกลักษณะ คุณสมบัติเฉพาะของวัตถุ การสร้างความสนใจกับวัตถุด้วยการอ่านป้ายคำบรรยาย หรือเรียกว่า"text echo", McManus 1989.   2. Conceptual Talk อยู่ ในระดับของการคิดวิเคราะห์อาจจะมีลักษณะที่เล็ก แยกเดี่ยว หรือเป็นชุดความคิด ปฏิกิริยามากไปกว่าเพียงการตอบสนองต่อสิ่งจัดแสดงหรือสภาพแวดล้อมอย่างใน ระดับที่ผ่านมา การอ้างอิงระดับพื้นฐานะ เป็นระดับการตีความต่อชิ้นวัตถุการจัดแสดง การอ้างอิงที่ซับซ้อน เป็นข้อสันนิษฐาน ภาพรวมของข้อมูลในนิทรรศการ หรืออยู่ในระดับการมองหาความสัมพันธ์ของวัตถุ การทำนาย ความคาดหวังในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น Matacognition การย้อนคิดต่อสภาพหรือความรู้ที่มีมาก่อนหน้า   3. Connecting Talk การย้อนคิดต่อข้อมูลที่อยู่นอกเหนือออกไปจากนิทรรศการ เรื่องราวในชีวิต ข้อมูลความรู้ Inter-exhibit connection   4. Strategic Talk การกล่าวถึงวิธีการใช้นิทรรศการ ไม่ใช่เฉพาะวัตถุจัดแสดงที่จับต้องได้ แต่หมายถึงการสำรวจ ดู พิจารณาสิ่งที่จะทำต่อไปในนิทรรศการ การใช้ การประเมินนิทรรศการจากมุมมองของตนเอง   5. Affective Talk จับอยู่ทีอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากการชม ความพอใจ ความไม่พอใจ อาจไม่ได้สัมพันธ์กับการวิจารณ์นิทรรศการเสมอไป แต่เป็นปฏิกิริยากับเนื้อหาของนิทรรศการ อารมณ์ที่เกิดมาจากความตกใจ แปลกใจ ใหล่หลง อย่างไรก็ตาม การให้รหัสสัมพันธ์โดยตรงกับเนื้อหาที่ปรากฏในนิทรรศการ และอาจจะเหมาะสมที่จะใช้กับบางสภาพแวดล้อม  การสำรวจความถี่ของข้อมูลและคำถามที่นำไปสู่การวิเคราะห์ การ วิเคราะห์บทสนทนาโดยการพิจารณาแต่ละคู่บทสนทนามีลักณะที่สอดคล้องกับการแบ่ง ประเภทของปฏิกิริยาอย่างไรตามที่ได้กล่าวมา โดยมีคำถามที่เข้ามาสัมพันธ์ ค่าเฉลี่ยของการสนทนาที่เกิดการเรียนรู้ในแต่ละสถานการณ์ที่ผู้ชมเข้าไปสัมพันธ์แตกต่างกันไปอย่างไร ข้อมูลในแต่ละประเภทของการพูดและลักษณะย่อยปรากฏมากน้อยเพียงใด และสัมพันธ์กันอย่างไร กับสิ่งใด ประเภทของสิ่งจัดแสดงแตกต่างกัน นำไปสู่การสนทนาเรียนรู้ที่แตกต่างกันหรือไม่ คู่สนทนาระหว่างผู้ใหญ่-ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่-เด็ก แตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ในเมื่อนิทรรศการมีวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้มีความเคารพและเข้าใจต่อกบมากขึ้น ผู้ชมได้แสดงออกจากการสทนาหรือไม่   ผลของการศึกษา การหยุดจะแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ของวัตถุจัดแสดง สิ่งมีชีวิต ลงมือปฏิบัติ วัตถุ และป้ายบรรยาย นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาถึงช่วงของการจัดแสดงใดที่เกิดการสนทนา และมีจุดที่หยุดใกล้เคียงกัน แต่ในกรณีของผู้ใหญ่-ผู้ใหญ่การสนทนาเรียนรู้เกิดขึ้นน้อยกว่า เพื่อการหาข้อมูลในการเสริมกระบวนการคิดของตนเอง  ประเภทของการสนทนาจะอยู่ใน3 ลักษณะ perceptual affective conceptual เมื่อเปรียบเทียบคู่ผู้ชมที่แตกต่างประเภทของการสนทนาในลักษณะของ perceptual affective conceptual และ Strategic ในเด็ก-ผู้ใหญ่ สูงกว่าผู้ใหญ่-ผู้ใหญ่   แปลและเรียบเรียงจาก  Sue Allen, "Looking for Learning in Visitor: A Methodological Exploration," Learning Conversations in Museums. Gaea Leinhardt et al. (ed.),London: Lawrence Erlbaum Associates, Publishers, 2002. pp. 259-303.