บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 82 บทความ

บทบาทของยูเนสโกกับการคืนวัตถุทางวัฒนธรรม

21 มีนาคม 2556

ข้าพเจ้าได้อ่านข่าวเกี่ยวกับความต้องการทวงเครื่องประดับพระเศียรสมัยอยุธยาคืนจากพิพิธภัณฑ์เอกชนแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาแล้ว เนื้อหากล่าวถึงอนุสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องนี้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุสัญญาว่าด้วยวิธีห้ามและป้องกันการนำเข้า ส่งออก และโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ. 1970 (The UNESCO Convention on the Means of Prohibiting and Preventing the Illicit Import, Export and Transfer of Ownership of Cultural Property 1970) ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) หรือ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งองค์การสหประชาชาติ   ข้าพเจ้าจึงขอใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาข้างต้น รวมทั้งบทบาทขององค์การยูเนสโกกับการคืนมรดกทางวัฒนธรรม จุดประสงค์ของบทความนั้นเพียงเพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่บุคคลทั่วไปที่สนใจเรื่องนี้ และได้ติดตามข่าวต่างๆทั้งจากผู้เชี่ยวชาญและนักกฎหมาย แต่ยังมองไม่ออกและไม่เข้าใจถึงความเป็นมาและมาตราการต่างๆที่มีอยู่เพื่อการแก้ปัญหาดังกล่าวในระดับนานาชาติ   1.  ความเป็นมา : การขโมย การยึดเอามา การลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมาย   การเคลื่อนย้ายวัตถุทางวัฒนธรรมออกจากประเทศดั้งเดิมสามารถทำได้หลายวิธี เริ่มตั้งแต่ การใช้กฏของผู้ชนะภายหลังการทำสงคราม ผู้ชนะยึดเอาสมบัติของผู้แพ้มาเป็นของตน การปฏิบัติเช่นนี้มีมาควบคู่กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น กรณีของกษัตริย์บาบิโลเนียนที่นำเอาสมบัติจากสุสานกษัตริย์ฟาโรห์ไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของตน กรณีของทหารโรมันที่นำเอาสมบัติจากประเทศผู้แพ้สงครามกลับไปประดับประดาเมืองหลวงของตนหรือ กรณีเจงกีสข่านที่ยึดเอาวัตถุมีค่าต่างๆ จากผู้แพ้ในประเทศจีนและเอเชียกลาง...   อีกวิธีหนึ่งคือ ขบวนการโยกย้ายสมบัติทางวัฒนธรรมในช่วงการล่าอาณานิคม ซึ่งบางครั้งไม่มีการทำสงครามหรือการเข้ายึดครองโดยใช้กำลังทหารแต่อย่างใด แต่กลับมีส่วนที่ทำให้วัตถุทางวัฒนธรรมไหลออกจากประเทศต้นกำเนิดทั้งจากประเทศในเอเชีย อัฟริกาและอเมริกาใต้ไปอยู่ในประเทศเจ้าอาณานิคมตะวันตก การโยกย้ายดำเนินการอย่างเป็นระบบ ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน การใช้กฎผู้ชนะก็ยังมีควบคู่กันไป เช่น กรณีการนำโบราณวัตถุจากที่ต่างๆ เคลื่อนย้ายวัตถุสู่ประเทศฝรั่งเศสโดยกองทัพนโปเลียน หรือการนำประติมากรรมประกอบหน้าบันของวิหารพาร์เทนอนจากกรีกไปยังประเทศอังกฤษโยลอร์ดเอลจิน ซึ่งในปัจจุบันนี้วัตถุเหล่านั้นจัดแสดงใน British Museum ที่กรุงลอนดอน หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของทหารเยอรมันที่ยึดเอาสมบัติต่างๆ ของชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2   อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้แม้วิธีการเคลื่อนย้ายวัตถุแบบเป็นระบบจากเจ้าของเดิมข้างต้นจะลดน้อยลง เนื่องจากการลดจำนวนลงของสงครามระหว่างประเทศ แต่ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ภายในประเทศกลับเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางกฏหมายและการเมืองในการนำวัตถุทางวัฒนธรรมกลับมาประเทศต้นทางมากกว่า นอกจากนี้ในกรณีที่มีสงครามภายใน การเคลื่อนย้ายจะเกิดในลักษณะของพ่อค้าที่ฉวยโอกาสระหว่างที่เหตุการณ์ความไม่สงบดำเนินไป ด้วยการลักลอบเอาวัตถุทางวัฒนธรรมออกไปขาย วิธีการที่พ่อค้าใช้คือ การเสนอซื้อวัตถุดังกล่าวกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งบางครั้งเจ้าของวัตถุยอมขายวัตถุนั้นๆ เพื่อการยังชีพของตน ขณะเดียวกัน ค่านิยมศิลปะจากวัฒนธรรมอื่นของนักสะสมชาวตะวันตก เป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน จนทำให้การลักลอบและการค้ามรดกวัฒนธรรมที่ผิดกฏหมายกลายเป็น "อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ"   เมื่อการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมกลายสภาพสู่ปฎิบัติการไร้พรมแดน องค์การนานาชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยูเนสโก สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศ (ICOM) องค์การศุลกากรโลก (WCO) หรือตำรวจสากล (INTERPOL) ต่างหามาตราการและการทำงานร่วมกัน เพื่อสะกัดกั้นการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมายข้ามชาติและให้ความช่วยเหลือในด้านการส่งคืนวัตถุสู่ประเทศต้นกำเนิด รวมทั้งมีการทำงานร่วมกับประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกองค์กร ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงแต่บทบาทขององค์การยูเนสโก เพราะองค์การนี้เป็นผู้บุกเบิกแนวคิด สรรหามาตรการต่างๆ และเป็นองค์กรสำคัญในการประสานงานและให้ความร่วมมือระหว่างประเทศมาตั้งแต่เริ่มแรก   2.  ด้านกฎหมาย : การจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศ   เมื่อวัตถุทางวัฒนธรรมถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง จากนั้น ประเทศต้นกำเนิดดำเนินการตรวจสอบและยืนยันความเป็นเจ้าของ การเรียกร้องการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศไม่สามารถดำเนินการได้ลุล่วง เนื่องจากอุปสรรคที่สำคัญทางกฎหมายภายในประเทศของผู้ถือครองวัตถุ เช่น การคุ้มครองผู้ซื้อ หรือระยะเวลาที่วัตถุทางวัฒนธรรมนั้นอยู่ในประเทศที่ถือครอง จากสภาพของปัญหาที่กล่าวมา องค์กรกลางระหว่างประเทศอย่างยูเนสโกจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศและจรรยาบรรณเพื่อการสะกัดกันการลักลอบและการส่งออกวัตถุทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการส่งเสริมมาตรการป้องกัน เช่น การจัดทำทะเบียนวัตถุ และในเรื่องการให้ความช่วยเหลือในการส่งคืนวัตถุ   อนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการคืนสมบัติทางวัฒนธรรมสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ   2.1. การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมในกรณีสงคราม   องค์การยูเนสโกได้ออกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมกรณีพิพาททางอาวุธ ค.ศ. 1954 และ พิธีสาร ค.ศ. 1954 และ ค.ศ. 1999 โดยมีเนื้อหาที่สำคัญดังนี้   ในกรณีสงคราม ประเทศที่เป็นภาคีจะต้องสะกัดกั้นการส่งออกวัตถุทางวัฒนธรรมของประเทศที่ตนเข้าไปยึดครอง ประเทศที่เป็นภาคีจะต้องเก็บรักษาและดูแลวัตถุทางวัฒนธรรมที่นำเข้ามาโดยตรงและโดยอ้อมจากประเทศที่ถูกยึดครองใดๆ ก็ตาม ในกรณีที่สงครามสงบแล้ว ประเทศที่เป็นภาคีจะต้องส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมของประเทศที่ถูกยึดครองที่พบในประเทศของตนแก่ทางการของประเทศที่เคยถูกยึดครอง   ข้อบังคับในการส่งคืนนี้จะใช้ทั้งในกรณีที่วัตถุทางวัฒนธรรมของประเทศที่ถูกยึดครองใดๆ ถูกส่งออกนอกประเทศต้นกำเนิดโดยผิดกฎหมาย และในกรณีที่วัตถุทางวัฒนธรรมนั้นอยู่ภายใต้การดูแลรักษาในระหว่างสงครามจากประเทศที่เข้าเป็นภาคี พิธีสารยังเสริมอนุสัญญาระหว่างประเทศ ค.ศ. 1954 ในประเด็นที่สำคัญอีกสองประการคือ วัตถุทางวัฒนธรรมจะไม่สามารถถูกใช้เป็นค่าชดเชยสงคราม และประเทศที่เป็นผู้ยึดครองในฐานะที่ต้องทำหน้าที่ในการสะกัดกั้นการส่งออกวัตถุทางวัฒนธรรมของประเทศที่ตนเข้ายึดครอง จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ถือครองวัตถุที่บริสุทธิ์ใจและนำวัตถุนั้นส่งคืนแก่ประเทศที่ถูกยึดครองด้วย   2.2. การคืนสมบัติทางวัฒนธรรมในยามสงบ   เมื่อภาวะการสงครามระหว่างประเทศมีน้อยลง ประกอบกับปรากฎการณ์ของการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งการขุดค้นและการขโมยวัตถุทางวัฒนธรรมจากแหล่งโบราณคดีและจากสถานที่ทางวัฒนธรรมต่างๆ และนำไปขายเปลี่ยนมือแบบข้ามชาติ องค์การยูเนสโกจึงได้ออกอนุสัญญาว่าด้วยวิธีห้ามและป้องกันการนำเข้า ส่งออก และโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ. 1970 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การร่างอนุสัญญาและภายหลังการประกาศใช้อนุสัญญาฉบับนี้มาใช้ ยูเนสโกต้องประสบปัญหาอย่างหนักทั้งจากการคัดค้านและกดดันจากประเทศมหาอำนาจที่มักจะเป็นประเทศที่มีวัตถุทางวัฒนธรรมจากประเทศอื่นๆ อยู่ในประเทศของตน รวมทั้งการทำความเข้าใจกับประเทศเล็กๆ ที่มักจะเป็นผู้สูญเสียมรดกทางวัฒนธรรม   อนุสัญญาฉบับนี้เป็นอนุสัญญาบุกเบิกในเรื่องการคืนวัตถุทางวัฒนธรรม เพราะเดิมทีการคืนสมบัติทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศมักไม่สามารถปฏิบัติตามมาตราการทางกฎหมายด้วยเหตุผล 2 ประการคือ กฎหมายเอกชนระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของบางประเทศที่มักจะลดสถานะของวัตถุทางวัฒนธรรมลงเป็นเพียงวัตถุธรรมดาที่เคลื่อนที่ได้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เนื้อหาของกฎหมายมักสนับสนุนเสรีภาพของการไหลเวียนของวัตถุและให้การคุ้มครองแก่ผู้ครอบครองที่บริสุทธิ์ใจ   ฉะนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศเป็นไปได้ อนุสัญญา ค.ศ. 1970 มาตรา 7 จึงกล่าวถึง หน้าที่ของรัฐภาคีผู้ครอบครองวัตถุและได้รับการร้องขอในการส่งคืนวัตถุ จะต้องติดต่อและส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมบางประเภทแก่ประเทศต้นกำเนิด ภายหลังการดำเนินการเจรจาทางการฑูตกับประเทศผู้ร้องขอ (รัฐภาคีต้นกำเนิด) และประเทศผู้ร้องขอจะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสมให้แก่ผู้ถือครองที่บริสุทธิ์ใจหรือถูกต้องตามกฎหมาย   ประเด็นเรื่องค่าชดเชยที่เหมาะสมแก่ผู้ถือครองที่บริสุทธ์ใจหรือถูกต้องทางกฎหมายนี้เอง ทำให้เกิดความไม่เห็นด้วยจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหยื่อของการลักลอบการค้าวัตถุทางวัฒนธรรม ทำให้หลายประเทศดังกล่าว รวมทั้งไทย เกิดความลังเลใจในการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญานี้ จุดยืนที่นำมาใช้ในการตอบโต้ต่อเนื้อหาในอนุสัญญาดังกล่าวมีอยู่ว่า ทำไมประเทศที่ยากจนและตกเป็นเหยื่อจะต้องหาเงินไปจ่ายค่าชดเชยเพื่อเป็นการแลกเอาวัตถุทางวัฒนธรรมที่ตนต้องสูญเสียไป นอกจากเงินชดเชยแล้ว การส่งคืนวัตถุทางวัตนธรรมกลับคืนย่อมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย ทั้งค่าขนส่ง ค่าประกัน ตลอดจนการจัดเตรียมสถานที่ จนทำให้มีตัวแทนจากกลุ่มประเทศดังกล่าว เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งเสริมการคืนวัตถุทางวัฒนธรรมคืนแก่ประเทศดั้งเดิม   อนึ่ง แม้ว่า มาตรา 7 ในอนุสัญญาฉบับนี้ จะเปิดโอกาสให้มีการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรม แต่อนุสัญญาจะสามารถปฏิบัติได้จริงต่อเมื่อกฎหมายภายในแต่ละประเทศภาคีนั้นเปิดโอกาสให้กระทำได้ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่บรรจุอยู่ในโครงการการพัฒนากฎหมายของกระทรวงวัฒนธรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน   สำหรับอนุสัญญา ค.ศ. 1970 คำว่า วัตถุทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมาย นั้นหมายรวมถึง   วัตถุที่ไม่มีใบอนุญาตการส่งออกจากประเทศต้นกำเนิด การซื้อหรือการนำเข้าวัตถุที่ถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์ จากสถานที่สาธารณะของพลเรือนและของศาสนา หรือสถาบันอื่นๆ ที่คล้ายคลึงของประเทศภาคี และมีการส่งออกไปอย่างผิดกฎหมาย การส่งออกหรือการเปลี่ยนแปลงการครอบครองวัตถุทางวัฒนธรรมโดยใช้กำลัง อันเป็นผลทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเข้ายึดครองของต่างชาติ   อนุสัญญานี้ไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลังและปัจจุบันนี้มีประเทศที่เป็นภาคีแล้ว 106 ประเทศ ซึ่งรวมประเทศมหาอำนาจใหญ่ๆ ประเทศเหล่านี้มักถูกประนามจากเวทีโลกว่าเป็นประเทศผู้บริโภควัตถุทางวัฒนธรรมจากประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อังกฤษ ในที่นี้มีเพียงฝรั่งเศสเท่านั้นที่ให้สัตยาบัน ซึ่งตอนนี้ทางองค์การยูเนสโกก็กำลังคาดหวังกับการเข้าเป็นภาคีจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเปลี่ยนมือที่สำคัญของขบวนการการค้าวัตถุทางวัฒนธรรมอยู่เช่นกัน   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ยังไม่ให้สัตยาบัน แต่การเข้าเป็นภาคีก็มีส่วนทำให้เกิดกรณีการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมแก่ประเทศต้นกำเนิด ตัวอย่างที่ไม่ไกลตัวและที่เคยเป็นข่าวกันประมาณ 8 ปีมาแล้วคือ กรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาส่งคืนประติมากรรมเศียรนาคแก่ประเทศไทยในปี ค.ศ. 1997 ประติมากรรมนี้เคยเป็นส่วนประดับของปราสาทพนมรุ้ง แต่ถูกนำเอาออกไปนอกประเทศไทยโดยทหารอเมริกันในช่วงที่อเมริกายังมีฐานทัพอยู่ในภูมิภาคราว ค.ศ. 1972 และ 1973 กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐได้สอบสวนจนสามารถสาวถึงผู้ที่ถือครองและทำพิธีส่งมอบคืนแก่ประเทศไทย ในครั้งนั้นเอกอัคราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ให้สัมภาษณ์ว่า การส่งคืนครั้งนี้เป็นผลจากการที่สหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา 1970 ของยูเนสโก ซึ่งประเทศที่เป็นภาคีจะต้องให้ความร่วมมือในการส่งกลับวัตถุทางวัฒนธรรมที่ได้มาโดยมิชอบคืนแก่ประเทศที่มา   2.3. การประสานงานกับสถาบันนานาชาติเพื่อเอกภาพของกฎหมายเอกชน (UNIDROIT)   ยูเนสโกได้ติดต่อยูนิดรัวท์ เพื่อการจัดทำ อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกโจรกรรมหรือส่งออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีผลใช้ตั้งค.ศ. 1995 เรามักเรียกกันสั้นๆว่า อนุสัญญา UNIDROIT อนุสัญญาฉบับนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นอนุสัญญาที่เสริมกันกับอนุสัญญาของยูเนสโก ค.ศ. 1970 นั่นคือ ขณะที่อนุสัญญา ค.ศ. 1970 เป็นอนุสัญญาระหว่างรัฐบาล อนุสัญญา UNIDROIT นั้นเปิดโอกาสให้ทั้งรัฐหรือบุคคลอื่นๆที่เป็นเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกโจรกรรมและส่งออกโดยมิชอบ รัฐและเอกชนสามารถไปร้องเรียนต่อศาลในต่างประเทศได้ อนุสัญญา UNIDROIT จะอุดช่องโหว่ในเรื่องการคืนสมบัติวัฒนธรรม ที่มักจะไม่สามารถดำเนินการได้อันเนื่องจากกฎหมายเอกชนระหว่างประเทศ   อนุสัญญา UNIDROIT จะให้ประโยชน์แก่การคืนสมบัติทางวัฒนธรรมที่ถูกโจรกรรมและส่งออกโดยมิชอบ มากกว่าสิทธิในการถือครอง อย่างไรก็ตาม ผู้ถือครองสามารถได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสมหากสามารถพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ใจในขณะที่เข้าถือครองของวัตถุทางวัฒนธรรมดังกล่าวได้   นอกจากนี้ องค์การยูเนสโกยังได้ขยายบทบาทในฐานะที่เป็นองค์กรเพื่อการต่อสู้กับการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรม โดยมีการออกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ ค.ศ. 2001 ทั้งนี้เนื้อหาของกฎหมายที่สำคัญคือ การให้รัฐภาคีออกมาตราการทางกฎหมายเพื่อการสะกัดกั้นการนำเข้า การค้า และการถือครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้นํ้าที่ถูกส่งออกนอกประเทศโดยมิชอบ เป็นต้น   3. ด้านองค์กร : การจัดคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศต้นกำเนิดหรือส่งกลับในกรณีการถือครองโดยผิดกฎหมาย   การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ก่อนการประกาศอนุสัญญายูเนสโก ค.ศ. 1970 กำเนิดมาจาก การประชุมคณะทำงาน โดยความเห็นชอบขององค์การยูเนสโกที่ กรุงเวนีส ในปี ค.ศ. 1976 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกนำออกไปในช่วงการเข้ายึดครองโดยกำลังของต่างชาติและในช่วงสมัยอาณานิคม กลับคืนสู่ประเทศต้นกำเนิด ข้อสรุปสำคัญจากการประชุมคือ ควรจะมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อการประสานในการเจรจา การหาข้อมูลและให้คำแนะนำ รวมทั้งเสนอทางออกที่เป็นไปได้เพื่อการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรม   องค์การยูเนสโกจึงได้มีมติให้จัดตั้ง การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศต้นกำเนิดหรือส่งกลับในกรณีการถือครองโดยผิดกฎหมาย ขึ้นในปี ค.ศ. 1978 โดยที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ประกอบด้วยสมาชิก 22 คนซึ่งได้รับการคัดเลือกจากประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโก และมีการประชุมเป็นประจำทุกๆ 2 ปี บทบาทของคณะกรรมการนี้ เป็นเสมือนคณะที่ปรึกษา และเป็นตัวกลางให้เกิดการเจรจา แต่มิใช่องค์กรที่มีอำนาจทางกฎหมายในการสั่งบังคับให้คืนวัตถุทางวัฒนธรรม   ในปี ค.ศ. 1981 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ได้จัดทำแบบฟอร์มการร้องเรียนการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการจัดรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นมาตราฐานสำหรับการนำเสนอต่อคณะที่ประชุม และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในกรณีมีการเปิดการเจรจาระหว่างคู่กรณี   ตัวอย่างผลงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ เช่น กรณีการดูแลการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมที่เก็บรักษาอยู่ในสหรัฐอเมริกาแก่พิพิธภัณฑ์ Corinthe ในประเทศกรีก การส่งคืนผ้าโบราณที่มีการนำเข้าโดยผิดกฎหมายในประเทศแคนนาดาคืนแก่ประเทศโบลีเวีย หรือ เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการฯ ก็รับเรื่องคำร้องของตัวแทนจากประเทศกรีกต่อประเทศอังกฤษ ในการส่งคืนประติมากรรมประกอบหน้าบันของวิหารพาร์เทนอนที่ถูกนำเอาไปไว้ที่ประเทศอังกฤษราวต้นคริสตศตวรรษที่ 19 รวมทั้งกรณีคำร้องของประเทศตุรกีในการส่งคืนสฟิงค์ Boguskoy ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งเบอร์ลิน แต่อย่างไรก็ตาม เราคงต้องรอ ผลการเจรจาและติดตามความคืบหน้ากันต่อไป   4. ด้านการเงิน : การจัดตั้งกองทุนเพื่อการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศต้นกำเนิดหรือส่งกลับในกรณีการถือครองโดยผิดกฎหมาย   คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศต้นกำเนิดหรือส่งกลับในกรณีการถือครองโดยผิดกฎหมาย ที่จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1978 ได้เห็นชอบกับผลการศึกษาในเรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีทางในการคืนวัตถุทางวัฒนธรรมเพื่อการรวบรวมมรดกที่กระจัดกระจายโดยสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศจัดทำการศึกษาข้างต้น เพื่อการจัดตั้งกองทุนในการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรม   จนปี คศ. 1999 คณะกรรมการจึงได้จัดตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เงินกองทุนจะมาจากการบริจาคของประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกและภาคเอกชน เป้าหมายของกองทุนนี้ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องการตรวจสอบวัตถุทางวัฒนธรรมจากผู้เชี่ยวชาญ การขนส่ง ค่าประกัน รวมทั้งการติดตั้งที่ได้มาตราฐานเพื่อการจัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรมที่จะส่งคืน รวมทั้งการจัดอบรมเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศต้นกำเนิดด้วย จะสังเกตได้ว่า นโยบายของกองทุนนี้ไม่ใช่กองทุนที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เงินแก่ประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกในการนำไปใช้เพื่อเป็นค่าชดเชยแก่ผู้ครอบครองวัตถุทางวัฒนธรรมที่บริสุทธิ์ใจแต่อย่างใด แต่เป็นกองทุนที่ให้ความช่วยเหลือและให้บริการในด้านเทคนิคและการอบรม รวมทั้งให้การสนับสนุนอื่นๆ อาจจะเป็นในรูปเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ   อนึ่ง หลักเกณฑ์การจัดทำโครงการเพื่อขอการสนับสนุนจากกองทุนฯ คือ ผู้ขอการสนับสนุนจะต้องดำเนินการในนามของรัฐบาล ทั้งนี้วัตถุนั้นอาจจะเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์กรทั้งในภาครัฐและเอกชนก็ได้ วัตถุที่จะเรียกร้องกลับคืนจะต้องเป็นวัตถุที่ได้สูญเสียไปในช่วงอาณานิคม จากการยึดครองจากต่างชาติ หรือ จากการครอบครองอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งยังเป็นวัตถุที่มีความสำคัญอย่างมากในแง่ของมรดกทางวัฒนธรรม และมีความผูกพันทางจิตใจกับประชาชนของประเทศที่ยื่นคำร้อง เป็นวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และเป็นวัตถุที่มีความสำคัญทั้งทางการเมืองและการศึกษาของชาติ   นอกจากนี้ ประเทศที่ยื่นคำร้องในการคืนสมบัติทางวัฒนธรรมจะต้องแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลประเทศนั้นจัดทำมาตราการต่างๆ ที่จริงจังในการต่อสู้กับขบวนการการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรม หรือการวางนโยบายในการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง ส่วนการพิจารณาการขอรับการสนับสนุนจะมีขึ้นในวาระการประชุม แต่ในกรณีเร่งด่วน ประธานคณะกรรมการระหว่างประเทศฯ สามารถอนุมัติเงินสนับสนุนได้ไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์ หรือปฏิเสธการขอการสนับสนุนและเลื่อนการพิจารณาสำหรับการประชุมครั้งถัดไป นอกจากหลักเกณฑ์พื้นฐานข้างต้นแล้ว ลำดับความสำคัญของการคัดเลือกโครงการขอรับการสนับสนุนจะเน้นไปที่ประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกที่มีการสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมของตนอย่างมาก รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนา   บทสรุป   หากเราย้อนไปดูในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยยังมิได้เคยใช้เทคนิคและขบวนการต่างๆ ขององค์การยูเนสโก เพื่อนำเอาวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของหลวงพ่อศิลาและพระนารายณ์บรรธมสินธุ์ ต่างก็เป็นการเจราจาแบบทวิภาคีคือระหว่างไทยกับคู่กรณีโดยตรง หากแต่ในกรณีแรก ฝ่ายไทยได้จ่ายเงินซื้อวัตถุคืนจากผู้ครอบครอง และในกรณีหลัง ฝ่ายไทยใช้แรงกดดันผ่านสื่อและประชาชน จนทำให้สมาคมเอกชนแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาออกเงินซื้อคืนให้ไทย หรือในกรณีการส่งชุดเครื่องสังคโลกคืนไทยโดยสถาบันสมิทโซเนียนนั้น การส่งคืนวัตถุเป็นผลมาจากจรรยาบรรณของคนทำอาชีพพิพิธภัณฑ์   แต่เราคงไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญขององค์การยูเนสโกกับการต่อสู้ขบวนการลักลอบขนย้ายวัตถุทางวัฒนธรรมในเวทีโลก เพราะ องค์การฯ ดำเนินการศึกษาถึงความเป็นมาและปัญหามาช้านาน รวมทั้งการจัดทำมาตราการต่างๆ การจัดตั้งคณะทำงานและกองทุนช่วยเหลือ แต่มาตราการที่มีอยู่มักไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อในประเทศไทยเท่าใดนัก ผู้เรียบเรียงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลข้างต้นจะมีส่วนให้ผู้ที่สนใจทั่วไปได้รับทราบ และเข้าใจถึงปัญหาและมาตราการต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการคืนวัตถุทางวัฒนธรรมในระดับนานาชาติได้ชัดเจนขึ้น   --------------------------- ที่มาของข้อมูลส่วนใหญ่ http://portal.unesco.org/ * จิรศรี บุณยเกียรติ นักวิชาการอิสระด้านพิพิธภัณฑ์วิทยาและการจัดการวัฒนธรรม ** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 9 (มิถุนายน 2548 - พฤษภาคม 2549),38-47.  

พิพิธภัณฑฯไทยกับการไล่ตามความฝัน

21 มีนาคม 2556

การมีอยู่และดำเนินไปของพิพิธภัณฑสถานเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของคนหลายกลุ่มในสังคมไทยนอกเหนือไปจากคนที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑฯโดยตรงaความสนใจต่อพิพิธภัณฑฯของแต่ละคนมีแง่มุมและความเข้มข้นแตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัยหลายประการ บางคนสนใจเพราะชอบของเก่าที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑฯ บางคนเห็นว่างานพิพิธภัณฑฯ เป็นงานที่น่าสนใจ บางคนสนใจเพราะมีเคยประสบการณ์ที่ดีในการเข้าชมพิพิธภัณฑฯ บางคนชอบกิจกรรมที่พิพิธภัณฑฯจัด ในขณะที่บางคนอาจถูกบังคับให้ต้องสนใจเพราะถูกมอบหมายให้ทำพิพิธภัณฑฯ เป็นต้น แต่สิ่งที่ทำให้รู้ว่ามีคนสนใจพิพิธภัณฑฯมากน้อยแค่ไหน ก็คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพิพิธภัณฑฯที่ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอๆ เสียงเหล่านี้บ่งชี้ว่าไม่ว่าการวิจารณ์จะเป็นเชิงบวกหรือลบ อย่างน้อยผู้วิจารณ์ก็ให้ความสนใจกับพิพิธภัณฑฯ   ในความสนใจและการรับรู้เกี่ยวกับงานพิพิธภัณฑฯไทย มีสิ่งหนึ่งที่หลายคนคิดไปในทางเดียวกัน ก็คือ พิพิธภัณฑฯที่มีอยู่แล้วมีแต่ของเก่าและการจัดแสดงล้าสมัย ขาดความเคลื่อนไหว และไร้ชีวิต บางคนมีความเห็นว่าการนำสื่อสมัยใหม่มาใช้ในพิพิธภัณฑฯจะช่วยสร้างชีวิตให้พิพิธภัณฑฯได้ แต่หลายคนไม่รู้ว่ามีพิพิธภัณฑฯหลายแห่งได้ลองนำแนวทางดังกล่าวมาใช้แล้ว กลับพบว่าสื่อทันสมัยอาจช่วยสร้างความเคลื่อนไหวและความน่าตื่นเต้นให้พิพิธภัณฑฯได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่ไม่ใช่ความมีชีวิตชีวาที่ยั่งยืนอย่างที่คาดว่าจะได้เห็น และเมื่อถามว่า อะไรคือสิ่งที่เราฝันอยากจะให้พิพิธภัณฑฯไทยเป็น และเป็นอย่างไร คำตอบหนึ่งที่ได้ยินทั้งจากคนทำงานพิพิธภัณฑฯและผู้ที่สนใจงานพิพิธภัณฑฯในบ้านเรา ก็คือ อยากให้เหมือนอย่างพิพิธภัณฑฯในต่างประเทศ (มีบางคนฝันถึงสมิธโซเนียน ในอเมริกา) และเมื่อถามต่อไปว่าพิพิธภัณฑฯในต่างประเทศเป็นอย่างไรถึงอยากให้พิพิธภัณฑฯไทยเป็นอย่างนั้นบ้าง ก็ได้คำตอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การจัดแสดงดีมีรูปแบบน่าสนใจและทันสมัย ดูแล้วสนุก มีนิทรรศการพิเศษระดับโลก ห้องจัดแสดงติดแอร์ มีกิจกรรมมากมายให้ผู้เข้าชมกลุ่มต่างๆ ได้เข้าร่วม มีร้านอาหาร-ร้านหนังสือ-ร้านขายของที่ระลึก การเดินทางสะดวก เจ้าหน้าที่ต้อนรับดี ฯลฯ รายละเอียดทั้งหลายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑฯในฝันที่หลายคนปรารถนาจะได้เห็น หากแต่เมื่อดูสถานการณ์ปัจจุบันของพิพิธภัณฑฯไทย เราอาจจะต้องยอมรับว่า ความฝันที่หลายคนอยากให้พิพิธภัณฑฯไทยไปให้ถึงนั้น ไม่ได้อยู่ในระยะที่ใกล้นัก และคงต้องใช้เวลามากพอควรที่จะไล่ตามให้ทัน   สถานการณ์ปัจจุบันของพิพิธภัณฑฯไทย   แม้ว่าประเทศไทยมีประวัติการเริ่มต้นของงานพิพิธภัณฑสถานที่เก่าแก่ที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย และอาจกล่าวได้ว่ามีจำนวนพิพิธภัณฑสถานมากที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมื่อมองในแง่ของการพัฒนาให้เป็นไปตามแนวทางที่เป็นมาตรฐานงานพิพิธภัณฑฯแล้ว เราคงต้องยอมรับว่า ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่เริ่มต้นงานพิพิธภัณฑฯช้ากว่าเรา มีการพัฒนาพิพิธภัณฑฯที่รุดหน้าไปอย่างมากในหลายๆด้าน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะหลายประเทศให้ความสำคัญของการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานพร้อมไปกับการพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม และมีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องเพื่อให้พิพิธภัณฑฯเป็นแหล่งพัฒนาความรู้ สร้างความตระหนักคิด และปลูกจิตสำนึกที่ดีด้านต่างๆ แก่ประชาชน   ปัจจุบันพิพิธภัณฑฯไทยอยู่ภายใต้การดำเนินงานของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีความเป็นมา รูปแบบการจัดการ ศักยภาพ และปัญหาที่ต้องเผชิญแตกต่างกัน ในที่นี้จะอาจแบ่งเป็นกลุ่มพิพิธภัณฑฯ ที่อยู่ภายใต้องค์กรของรัฐและกลุ่มที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กลุ่มที่สองเป็นพิพิธภัณฑสถานที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ที่นอกเหนือจากกรมศิลปากร และกลุ่มที่สามเป็นพิพิธภัณฑสถานในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินงานโดยวัด ชุมชนและนักสะสมเอกชนในท้องถิ่น   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 44 แห่งทั่วประเทศ มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในกรุงเทพฯ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกที่มีขนาดพื้นที่และบุคลากรดำเนินงานมากที่สุด และยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในภูมิภาคอีกหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในอดีตเมืองหลวงเก่าหรือในแหล่งโบราณคดีสำคัญ เนื่องจากความเกี่ยวพันกับภารกิจตามกฎหมายของกรมศิลปากรในการปกป้องดูแลโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่มีคุณค่าระดับชาติ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและในจังหวัดสุโขทัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองในจังหวัดสุพรรณบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงในจังหวัดอุดรธานี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายในจังหวัดนครราชสีมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยในจังหวัดลำพูน เป็นต้น   ที่ผ่านมาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีการจัดแสดงด้วยการนำเสนอโบราณวัตถุศิลปวัตถุเป็นหลัก จนถูกมองว่าเป็นคลังเก็บวัตถุ และเกิดกระแสวิจารณ์ว่าการจัดแสดงลักษณะดังกล่าวว่าไม่ได้แสดงบริบททางวัฒนธรรมและสังคมของวัตถุและยังขาดการนำเสนอเรื่องราวของท้องถิ่น จนนำไปสู่การปรับปรุงการจัดแสดงในพิพิธภัณฑฯที่มีอยู่เดิมบางแห่งและพัฒนาการจัดแสดงพิพิธภัณฑฯ ที่ตั้งขึ้นใหม่ให้เป็นรูปแบบที่เรียกว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง ที่มีการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองหรือจังหวัดที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินั้นตั้งอยู่ มีจุดเริ่มต้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่นเป็นแห่งแรก และพัฒนาต่อๆมาที่พิพิธภัณฑแห่งชาติร้อยเอ็ด ชุมพร สุพรรณบุรี เป็นต้น การปรับตัวดังกล่าวได้สร้างความพึงพอใจต่อผู้เข้าชมบางกลุ่มเท่านั้น หลายคนที่เคยเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในแหล่งโบราณคดีของกรมศิลปากรมาก่อน กลับรู้สึกว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เกิดใหม่หลายแห่งมีโบราณวัตถุศิลปวัตถุน้อยเกินไป   เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงความไร้ชีวิตของพิพิธภัณฑฯ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเหล่านี้ก็มักจะเป็นเป้าหมายหลักของการวิจารณ์อยู่เสมอ ทั้งๆ ที่ได้พยายามปรับตัวอย่างมากแล้วตามทรัพยากรและปัจจัยที่มีอยู่ จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น บุคลากรไม่เพียงพอกับภารกิจของงาน งบประมาณสนับสนุนมีจำกัด การขาดการพัฒนาการหาแหล่งเงินอื่นมาสนับสนุนการดำเนินงาน และการขาดการพัฒนาความรู้ที่จำเป็นต่องานพิพิธภัณฑฯ อย่างต่อเนื่องและเท่าทันต่อความต้องการของสังคม หากมีการปรับเปลี่ยนระบบบริหารองค์กรให้ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น ได้รับการสนับสนุนบุคลากรและงบประมาณมากขึ้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะสามารถพัฒนาไปได้อีกมาก เพราะมีศักยภาพในด้านบวกอยู่แล้วหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการมีระบบองค์กรที่มั่นคงและดำเนินงานได้ต่อเนื่อง มีโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่มีคุณค่าจำนวนมาก มีนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและบุคลากรที่สั่งสมประสบการณ์การทำงานพิพิธภัณฑฯ มายาวนาน และมีอาคารพิพิธภัณฑสถานหลายแห่งที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม เป็นต้น   นอกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑฯ อีกหลายแห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานราชการอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว และได้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตของพิพิธภัณฑฯ เหล่านี้ มีปรากฏการณ์บางอย่างที่อาจให้แง่มุมที่พิพิธภัณฑฯ ที่จะก่อตั้งขึ้นใหม่นำไปพิจารณาได้ คือ หน่วยงานราชการ สถานศึกษา และองค์กรส่วนท้องถิ่นหลายแห่งสร้างพิพิธภัณฑฯขึ้น โดยมุ่งหมายที่จะใช้เป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาและภารกิจของหน่วยงาน หรือเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์วัฒนธรรมตามนโยบายการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมขององค์กร หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น บางแห่งได้ปรับใช้พื้นที่อาคารเก่าของหน่วยงานเป็นพิพิธภัณฑฯ บางแห่งสร้างอาคารพิพิธภัณฑฯหลังใหม่ และด้วยเหตุที่พิพิธภัณฑฯ เหล่านี้ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างค่อนข้างสูงและเกิดขึ้นในช่วงที่สื่อการจัดแสดงมีการพัฒนาขึ้นมาก จึงมีรูปแบบการนำเสนอนิทรรศการที่ทันสมัยและดูจะเป็นที่สนใจมากกว่าเมื่อเทียบกับพิพิธภัณฑฯ รุ่นเก่าที่จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุเป็นหลัก แต่ปัญหาหนึ่งที่พบในพิพิธภัณฑฯ เหล่านี้ ก็คือ การไม่มีแผนงานที่ชัดเจนในการก่อตั้งให้เป็นพิพิธภัณฑฯที่ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ากับงบประมาณการก่อสร้างที่ลงทุนไป ดังนั้นเมื่อผ่านพ้นพิธีเปิดไปแล้ว หลายแห่งจึงไม่มีบุคลากรประจำที่จะสร้างกิจกรรมทางวิชาการและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ พิพิธภัณฑฯจึงกลายเป็นเพียงงานฝากที่ขาดผู้รับผิดชอบและไม่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลายแห่งจึงไม่สามารถเปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน เมื่อต้องการชมต้องติดต่อไปล่วงหน้า บางแห่งใช้เป็นเพียงที่รับรองแขกขององค์กร ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้สำหรับประชาชนทั่วไปอย่างที่ควรจะเป็น   การเกิดของพิพิธภัณฑฯ ที่ขาดการวางแผนงานด้านทรัพยากรที่จำเป็น เช่น บุคลากร งบประมาณ และการดำเนินงาน ทำให้พิพิธภัณฑฯ เหล่านี้ขาดความมั่นคงในรูปขององค์กร และดำรงอยู่อย่างไร้ทิศทาง เมื่อประกอบเข้ากับการขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้พิพิธภัณฑฯ หลายแห่งไร้พลังที่จะเติบโตต่อไปได้ในฐานะแหล่งการเรียนรู้และปลูกจิตสำนึกที่ดีแก่คนในชุมชนและสังคม และกำลังอยู่ระหว่างค้นหาทางเลือกว่าจะอยู่นิ่งอย่างไร้เรี่ยวแรงหรือจะลุกขึ้นก้าวต่อไป?   พิพิธภัณฑฯท้องถิ่นเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของพิพิธภัณฑฯไทยซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในประเทศและแสดงบทบาทที่น่าสนใจอย่างยิ่ง พิพิธภัณฑฯเหล่านี้ก่อตั้งขึ้นในหลายลักษณะ เช่น พิพิธภัณฑฯวัด ที่เกิดขึ้นจากพระภิกษุผู้สนใจเก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ที่ตกทอดมาในวัดแล้วจัดตั้งขึ้นเป็นพิพิธภัณฑฯ มีการสะสมเพิ่มเติมโดยการเสาะแสวงหาหรือรับบริจาคจากญาติโยมที่ศรัทธา การสนับสนุนส่วนมากมาในรูปของการบริจาคเงินและสิ่งอำนวยความสะดวกให้พิพิธภัณฑฯจากผู้มีจิตศรัทธา พิพิธภัณฑฯพื้นบ้าน ที่เกิดจากนักสะสมที่เก็บรวบรวมสิ่งของที่ตนสนใจเพื่อตอบสนองความอยากรู้ของตนเอง แล้วขยายมาเป็นพิพิธภัณฑฯ ตามกำลังกายและกำลังทรัพย์ของตนเอง โดยไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นยังเกิดจากกลุ่มชาวบ้าน ที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านที่กำลังจะสูญหายมาจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑฯ เพื่อให้คนท้องถิ่นได้เข้าใจและภูมิใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเอง และเผยแพร่วัฒนธรรมของตนให้คนต่างถิ่นได้เรียนรู้ โดยสิ่งของในพิพิธภัณฑฯพื้นบ้านอาจเป็นของเฉพาะประเภทหรือหลากหลายประเภทที่สะท้อนคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีพิพิธภัณฑฯท้องถิ่นหลายแห่งได้เก็บรักษาสิ่งของที่มีคุณค่ามากทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไว้ด้วยเช่นกัน   พิพิธภัณฑฯท้องถิ่นของไทยมีรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลายต่างกันไป เช่น พิพิธภัณฑฯวัดส่วนใหญ่ดำเนินงานโดยพระสงฆ์และผู้ที่ทำงานให้วัด พิพิธภัณฑฯของนักสะสมเอกชนส่วนมากดำเนินงานด้วยระบบครอบครัว และพิพิธภัณฑฯชุมชนมักมีกรรมการดำเนินงาน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันของพิพิธภัณฑฯเหล่านี้ก็คือ ส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐ และขาดปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ที่จะพัฒนางานให้เป็นไปตามกระบวนการทางพิพิธภัณฑฯ ปัญหาเร่งด่วนที่พิพิธภัณฑฯท้องถิ่นเหล่านี้เผชิญอยู่ก็คือ วัตถุที่มีคุณค่าจำนวนไม่น้อยที่เก็บรวบรวมไว้กำลังอยู่ในสภาวะเสื่อมสภาพ เพราะการจัดเก็บหรือจัดแสดงไม่ถูกวิธีและขาดการดูแลเอาใจใส่ ปัญหาการโจรกรรม และการขาดงบประมาณสนับสนุนและบุคลากรที่จะดูแลและดำเนินงานให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งที่หลายแห่งสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวแก่ท้องถิ่นได้ไม่น้อย   อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑฯท้องถิ่นของไทย มีจุดเด่นอยู่ที่ความอดทน เข้มแข็ง และการทำงานด้วยใจรักของผู้ก่อตั้งและผู้เกี่ยวข้องทำให้หลายแห่งดำรงอยู่ได้ยาวนาน หลายแห่งมีการพัฒนากระบวนการการสั่งสมและถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการบอกเล่าหรือการสาธิตจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ทำให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่แท้จริง อย่างที่พิพิธภัณฑฯซึ่งจัดแสดงอย่างทันสมัยหลายแห่งยังไม่ได้ทำ   พิพิธภัณฑฯไทยกำลังพัฒนาไปทางไหน ?   เมื่อพูดถึงการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานในบ้านเรา ที่ผ่านมาหลายแห่งมักจะให้ความสำคัญไปที่การพัฒนารูปแบบนิทรรศการให้น่าสนใจและทันสมัย โดยการนำสื่อสำเร็จรูปมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นป้ายคำบรรยายประกอบภาพสีสันสดใสสะอาดตา หุ่นจำลองพร้อมฉากเหตุการณ์ วีดิทัศน์ และสื่อคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการในระยะแรกๆ ก็จะสามารถสร้างความตื่นเต้นและดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้มาก แต่เมื่อนานไปพิพิธภัณฑฯหลายแห่งประสบปัญหาสื่อชำรุด และขาดบุคลากรและงบประมาณในการซ่อมบำรุง ทำให้สื่อทันสมัยเหล่านี้ใช้การไม่ได้ ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของเนื้อหานิทรรศการและต่อความพึงพอใจของผู้เข้าชม ดังนั้นหากจะนำสื่อสมัยใหม่มาแก้ไขความไร้ชีวิตของพิพิธภัณฑฯ ก็ควรจะต้องชั่งน้ำหนักกับปัญหาด้านการบำรุงรักษาและการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาวควบคู่กันไปด้วย   นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในส่วนของเนื้อหานิทรรศการพบว่า นิทรรศการในพิพิธภัณฑสถานหลายแห่งเต็มไปด้วยเนื้อหาที่ถ่ายทอดจากมุมมองของนักวิชาการ มีข้อความจำนวนมากเกินกว่าที่ผู้ชมคนหนึ่งจะสามารถอ่านได้ทั้งหมดในการชมพิพิธภัณฑฯในหนึ่งครั้งหรือมากกว่านั้น หรือบางครั้งก็เต็มไปด้วยด้วยศัพท์ทางวิชาการที่ยากต่อความเข้าใจของผู้เข้าชม โดยเฉพาะเยาวชนและผู้ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องราวที่นิทรรศการนั้นนำเสนอมาก่อน สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเพราะกระบวนการจัดนิทรรศการของพิพิธภัณฑฯ ในบ้านเราส่วนใหญ่มีระยะเวลาเตรียมการและดำเนินงานไม่มากนัก เนื่องด้วยปัญหาระบบการจัดสรรงบประมาณ ภาระงานของผู้จัดนิทรรศการ และปัจจัยอื่นๆ ตามบริบทวัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ทำให้นิทรรศการซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้สื่อสารระหว่างพิพิธภัณฑฯและผู้เข้าชมขาดมิติการเรียนรู้ที่ให้ความเพลิดเพลิน การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม การปลูกจิตสำนึกในเชิงศีลธรรม หรือ ความตระหนักคิดเรื่องปัญหาส่วนรวม และอื่นๆ อีกมากมายที่พิพิธภัณฑฯสามารถสื่อกับผู้ชมได้ นิทรรศการในพิพิธภัณฑฯไทยจึงขาดความลุ่มลึกและความน่าสนใจ เมื่อเทียบกับนิทรรศการในพิพิธภัณฑฯของหลายๆ ประเทศที่มีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นเวลานาน มีกระบวนการพัฒนาเนื้อหานิทรรศการ การคัดสรรตัวสาร และเลือกใช้สื่อที่เหมาะสมต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนกลุ่มต่างๆ และมีการประเมินผลนิทรรศการในช่วงต่างๆ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าควรจะต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไรในนิทรรศการเพื่อให้สื่อสารกับคนดูได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในครั้งต่อไป นิทรรศการจึงมีโอกาสที่จะพัฒนาควบคู่ไปกับรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา เราคงได้แต่หวังว่าเมื่อไรที่กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นในพิพิธภัณฑฯไทย เมื่อนั้นการนำสื่อสมัยใหม่ราคาแพงมาใช้ในพิพิธภัณฑฯอย่างไม่คุ้มค่าโดยขาดการพัฒนาเนื้อหาสาระที่เหมาะสมกับการเรียนรู้จะได้รับการทบทวนกันเสียที   นอกจากปัญหาของพิพิธภัณฑฯเองแล้ว เราคงต้องยอมรับว่ามีข้อสังเกตบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้พิพิธภัณฑฯเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเฉพาะการเข้าชมพิพิธภัณฑฯของกลุ่มนักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของพิพิธภัณฑฯหลายแห่ง การเข้าชมโดยส่วนมากมักจะมาเป็นกลุ่มใหญ่และบ่อยครั้งที่มีผู้ชมมากกว่า 100 คนขึ้นไป โดยไม่มีการเตรียมตัวมาล่วงหน้า และมักขอให้พิพิธภัณฑฯจัดวิทยากรนำชมให้นักเรียนเป็นกลุ่ม ครูมักจะมอบหมายงานให้ก่อนเข้าชม นักเรียนจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการจดข้อความที่ฟังจากเจ้าหน้าที่นำชมของพิพิธภัณฑฯหรือจากป้ายคำบรรยายในห้องจัดแสดง รูปแบบการเรียนรู้จึงมีลักษณะกึ่งบังคับและขาดการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัยและตรงกับความสนใจของแต่ละคน   ดังนั้นการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑฯ จึงเป็นสิ่งที่พิพิธภัณฑฯในหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนางานด้านอื่นๆ โดยหลายแห่งใช้วิธีการทำงานร่วมกับครูจากโรงเรียนในชุมชนเพื่อร่วมกันคิดรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับนักเรียนในระดับต่างๆ เช่น การกำหนดกระบวนการเข้าชมพิพิธภัณฑฯโดยให้ครูเป็นผู้ปูพื้นฐานในเรื่องราวที่ต้องการเรียนรู้มาจากโรงเรียน และกำหนดกิจกรรมให้เด็กทำเมื่อมาถึงพิพิธภัณฑฯ เช่น การวาดภาพ ระบายสี การค้นหาคำตอบจากแผ่นคำถามซึ่งครูเป็นผู้ออกแบบหรือบางพิพิธภัณฑฯก็จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการเข้าชมของนักเรียน จากนั้นเมื่อกลับถึงโรงเรียนก็จะให้นักเรียนได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเข้าชมพิพิธภัณฑฯ ระหว่างกันหรือจัดนิทรรศการภาพวาด ภาพระบายสีจากการไปชมพิพิธภัณฑฯ รูปแบบการเรียนรู้เช่นนี้เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑฯในเชิงคุณภาพ มากกว่าการเน้นที่ปริมาณดังที่เป็นอยู่ในบ้านเรา   นอกจากการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายหลักดังกล่าวแล้ว ในปัจจุบันพิพิธภัณฑฯหลายแห่งปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่การให้บริการด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป เช่น การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการใช้เวลาว่างร่วมกันของครอบครัว รวมไปถึงการวางแผนกิจกรรมที่จะดึงดูดให้ผู้ชมกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาร่วมกิจกรรมในพิพิธภัณฑฯมากขึ้น การจะพัฒนาการใช้ประโยชน์พิพิธภัณฑฯได้มากน้อยเพียงใดนั้น พิพิธภัณฑฯควรมีนโยบายและวิสัยทัศน์ด้านการตลาดที่เป็นรูปธรรม และถอดถอนทัศนคติและความเข้าใจผิดที่ว่า พิพิธภัณฑฯเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร (ที่ยึดถือตามนิยามของสภาการพิพิธภัณฑฯระหว่างประเทศ) และจะทำการตลาดไม่ได้ให้หมดสิ้นไป   จะพัฒนาการศึกษาได้อย่างไร ถ้าไม่พัฒนาพิพิธภัณฑฯ ?   นโยบายพัฒนาการศึกษาของรัฐบาลที่เป็นมาและเป็นอยู่ได้ให้ความสำคัญไปที่การพัฒนาการศึกษาในระบบโรงเรียนมาโดยตลอด ในขณะที่แหล่งการเรียนรู้นอกระบบโรงเรียน เช่น พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุด สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ถูกหมายรวมเข้าไว้กับนโยบายการพัฒนาการศึกษาของรัฐ ทั้งที่จริงแล้วในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า การเรียนรู้นอกระบบโรงเรียนมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเรียนรู้ในสถานศึกษา และเป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาที่หลายประเทศนำมาใช้ เพราะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของคนในชาติอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าที่ยั่งยืนของประเทศ   แม้ว่าพิพิธภัณฑฯ เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานกว่าศตวรรษ แต่ที่ผ่านมาการแสดงบทบาทในฐานะแหล่งการเรียนรู้ ยังไม่โดดเด่นมากพอที่จะทำให้คนส่วนใหญ่รวมทั้งรัฐบาลมองเห็นศักยภาพว่าพิพิธภัณฑฯเป็นองค์กรหนึ่งที่สามารถพัฒนาการศึกษานอกระบบให้แก่คนในชาติได้ ทั้งที่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑฯขาดโอกาสในการแสดงบทบาทดังกล่าว ก็คือ การขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาพิพิธภัณฑฯ ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานด้านวัฒนธรรม ไม่ใช่สถาบันที่สร้างการเรียนรู้ (แม้แต่เมื่อครั้งอยู่ใต้ร่มเงากระทรวงศึกษาธิการ) จึงมักถูกจัดอันดับความสำคัญรั้งท้ายในภารกิจของรัฐบาลที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ งบประมาณและบุคลากรที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่พิพิธภัณฑฯในหน่วยงานของรัฐไม่สามารถทำให้พิพิธภัณฑฯเหล่านี้เติบโตเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาชนได้ (นี่ยังไม่รวมถึงพิพิธภัณฑฯท้องถิ่นอีกมากที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ และต้องดำเนินงานตามอัตภาพ ทั้งที่มีศักยภาพหลายด้านที่จะพัฒนาเป็นแหล่งการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาในชุมชนได้)   เราคงต้องยอมรับความจริงว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของพิพิธภัณฑฯไทยในปัจจุบัน ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่คนส่วนใหญ่และรัฐบาลได้ว่าจะพัฒนาให้เป็นอย่างที่ฝันแบบพิพิธภัณฑฯในต่างประเทศได้อย่างไร ดังนั้นการเริ่มต้นใหม่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของรัฐบาล โดยการประกาศจัดตั้งสถาบันพิพิธภัณฑฯการเรียนรู้แห่งชาติ หรือ ที่บางคนเรียกว่า "สมิธโซเนียนไทย" ขึ้น (มีข้อสังเกตจากบางคนว่า มีนัยบางอย่างเหมือนกับจะบอกว่า พิพิธภัณฑฯที่มีอยู่แล้วนั้นไม่มีการเรียนรู้?) โดยทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อหวังจะได้เห็นพิพิธภัณฑฯอย่างที่ฝัน ซึ่งหากเป็นจริงได้ก็คงจะเป็นสิ่งดี แต่ทั้งนี้ผู้มีประสบการณ์ในงานพิพิธภัณฑฯหลายคนให้ความเห็นว่า พิพิธภัณฑฯในต่างประเทศที่เราฝันจะเป็นนั้น ล้วนมีความเป็นมาที่ยาวนานและต้องผ่านกระบวนการการปรับตัวอย่างหนักหน่วงมาแล้วหลายครั้ง ต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองให้เท่าทันความต้องการของคนในสังคม ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ ภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ฯลฯ มากแค่ไหนกว่าจะกลายมาเป็นแบบแผนที่เราพยายามจะทำตาม และที่สำคัญก็คือ การเดินตามรอยใครคงไม่นำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริงได้อย่างยั่งยืน จึงควรหรือไม่ที่เราอาจต้องหันหลังกลับไปมองรอยเท้าเก่าบนถนนที่เราเดินผ่านมานานกว่าศตวรรษ เพื่อดูว่าอะไรที่ทำให้ก้าวย่างของงานพิพิธภัณฑฯไทยไม่มั่นคง และอาจจะทำให้เรารู้ว่าควรจะพัฒนาตัวเองไปในรูปแบบไหนที่จะไม่เป็นแผลกดซ้ำไปบนรอยแผลเดิมตามวัฏจักรที่เป็นอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูกันไปว่า สมิธโซเนียนไทย จะทำให้เราเข้าใกล้ความฝันได้แค่ไหน ?   รวมพลังสานฝันพิพิธภัณฑฯไทย   สิ่งหนึ่งที่จะทำให้พิพิธภัณฑฯไทยก้าวไปสู่ความฝันที่หลายคนคาดหวังได้คือ การสร้างความร่วมมือระหว่างกันของพิพิธภัณฑฯที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ เพื่อช่วยกันนำเสนอคุณค่าของพิพิธภัณฑฯที่มีต่อสังคมและสร้างพลังต่อรองเพื่อการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน การเปิดตัวของสมาคมพิพิธภัณฑฯไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา (หลังจากที่มีความพยายามจัดตั้งมานานกว่าทศวรรษ) ถือเป็นเรื่องน่ายินดี และหลายคนหวังว่าองค์กรดังกล่าวจะได้แสดงบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการพิพิธภัณฑฯไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการให้ความร่วมมือและช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ ระหว่างพิพิธภัณฑฯ การพัฒนาความรู้และทัศนคติต่องานพิพิธภัณฑฯแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑฯในระดับต่างๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง หรืออาจรวมไปถึงการนำพาพิพิธภัณฑฯไทยไปสู่วงการพิพิธภัณฑฯนานาชาติในอนาคต แต่ทั้งนี้พิพิธภัณฑฯเฉพาะด้าน หรือ ในภูมิภาคเดียวกัน ก็ควรจะแสวงหาเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มของตน เพื่อช่วยพัฒนากลุ่มพิพิธภัณฑฯให้เข้มแข็งไปพร้อมกันด้วย พลังของพิพิธภัณฑฯไทยก็จะเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้ตัวตนของพิพิธภัณฑฯเป็นที่รับรู้ในชุมชนและสังคมชัดเจนขึ้น การใช้ประโยชน์และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพิพิธภัณฑฯของคนในสังคมก็จะเพิ่มตามมา ซึ่งหากทำได้เช่นนี้เราอาจจะพบว่า ความฝันที่เราวาดหวังไว้คงจะอยู่ไม่ไกลนัก   อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่เราเอื้อมมือไปไขว่คว้าความฝันมาถึง เราอาจจะพบว่าประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาพิพิธภัณฑฯ ในด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมและสังคม รวมไปถึงศักยภาพที่แท้จริงซึ่งมีอยู่ในตัวเรา ได้ลบเลือนภาพความฝันที่อยากจะเป็นอย่างพิพิธภัณฑฯในต่างประเทศออกไป และเกิดความฝันใหม่ของการเป็นพิพิธภัณฑฯ แบบไทยที่มีคุณค่าต่อสังคมและประเทศชาติมาแทนที่ก็เป็นได้   ------------------------------------ a พิพิธภัณฑฯ เป็นคำย่อมาจาก "พิพิธภัณฑสถาน" โดยผู้เขียนพยายามคงความถูกต้องทางความหมาย เพื่อรักษาการแปลความดั้งเดิมของคำว่า "museum" - บรรณาธิการ * ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 9 (มิถุนายน 2548 - พฤษภาคม 2549),48-55.  

พิพิธภัณฑ์สึนามิ เพื่อใคร เพื่ออะไร ?

21 มีนาคม 2556

ปีใหม่ 2548 นี้เป็นปีที่เริ่มด้วยความตื่นตระหนกและเศร้าสลดจากภัยธรรมชาติ ที่คร่าชีวิตผู้คนทั้งในประเทศไทย และที่อื่นๆตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย รวมแล้วเป็นเรือนแสน เป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะเคยนึกเคยฝันถึงได้ ดิฉันขอร่วมแสดงความเสียใจกับทุกท่านที่ประสบความสูญเสีย และขอร่วมเป็นกำลังใจในการกอบกู้ฟื้นฟูธรรมชาติ และชีวิตครอบครัวการงานของผู้ประสบภัย ให้แข็งแกร่งขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง   ยังมิทันที่คราบน้ำตาจะเลือนหายไปจากใบหน้าของผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมทั้งหลาย เราก็เริ่มได้ยินข่าวถึงโครงการที่จะสร้าง อนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ และถาวรวัตถุอื่นๆ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ โครงการเหล่านี้เป็นการริเริ่มที่ควรได้รับความสนใจ ดิฉันจึงอยากจะเชิญชวนให้ชาวชุมชนพิพิธภัณฑ์ ช่วยกันมีส่วนร่วมออกความคิดว่า เราอยากเห็นพิพิธภัณฑ์แบบใดเกิดขึ้น และพิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้ เกิดขึ้นมาเพื่อใคร หรือเพื่ออะไร   เป็นเรื่องปรกติของสังคม เมื่อผ่านประสบการณ์ร่วมกันที่สร้างความสะเทือนใจอย่างใหญ่หลวง จะพยายามสร้างสัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องเตือนความจำ และสร้างบทเรียนให้แก่คนรุ่นหลัง หน่วยงานของรัฐบาลอาจจะกำลังคิดถึงอนุสรณ์หรือถาวรวัตถุขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางสำหรับบันทึกเรื่องราวฉบับมาตรฐานหรือฉบับทางการ อาจจะต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ไปในการก่อสร้าง จัดแสดง มีระบบมัลติมีเดีย   ล่าสุดแสดงเหตุการณ์อย่างสมจริงสมจัง และมีระบบการดูแลต่อไปในอนาคต แต่ก็คงจะมีประเด็นอีกมากมายหลายเรื่องที่เราจะต้องขบคิดกัน สาระสำคัญก็ดี เป้าหมายและหน้าที่ก็ดี การมีส่วนร่วมของผู้คนกลุ่มต่างๆ ก็ดี บทบาทต่อชุมชนท้องถิ่น ต่อประเทศ หรือต่อนักท่องเที่ยวก็ดี จะมีที่ทางอยู่ด้วยกันได้อย่างไรบ้างจึงจะลงตัวที่สุด   ในฐานะที่สมาชิกของเราจำนวนมาก เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งเรียนรู้ระดับรากหญ้าที่มีส่วนร่วมของชุมชน ย่อมจะมีประสบการณ์ ที่จะนำมาช่วยกันสร้างจินตนาการพิพิธภัณฑ์ ที่มีรูปแบบและเนื้อหาสาระที่แตกต่างออกไปได้อีกมากมาย เช่น เราอาจจะคิดถึงพิพิธภัณฑ์ในระดับชุมชนมากมายหลายแห่ง ไม่ต้องรวมศูนย์อยู่ที่เดียว หรืออาจจะนึกภาพพิพิธภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคาร คิดถึงบริเวณที่ถูกคลื่นยักษ์โถมซัดทั้งหมดในฐานะพิพิธภัณฑ์ เราอาจจะคิดถึงวิธีที่ทำให้ชุมชนต่างๆ ในท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ ร่วมคิดและร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ของเขาจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งนี้ เราอาจจะคิดถึงพิพิธภัณฑ์ที่สร้างความภูมิใจที่คนสามารถร่วมมือกันในสถานการณ์คับขัน หรือพิพิธภัณฑ์ที่กระตุ้นความสำนึกบางประการ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเราเปรียบเทียบพิพิธภัณฑ์เหมือนกับคน ที่เราอยากจะเห็นมีชีวิต เติบใหญ่ มีลูกหลานงอกงาม พิพิธภัณฑ์ก็น่าจะต้องมีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ อาคารและเครื่องมือ วัตถุสิ่งของ อุปกรณ์ต่างๆ นั้น เป็นร่างกาย แต่จิตวิญญาณ คือข้อคำถามต่างๆ ที่เราจะต้องช่วยกันคิดเหล่านี้   ดิฉันเชื่อว่าใครก็ตามที่รอดชีวิตมาจากคลื่นยักษ์ถล่ม ล้วนมีเรื่องราวที่จะเล่าให้คนอื่น หรือลูกหลานฟังไปได้อีกนานแสนนาน หรือหากเจ็บปวดเกินกว่าที่จะเล่าในขณะนี้ เมื่อเวลาผ่านไป บาดแผลทางกายทางใจได้รับการเยียวยาแล้ว ก็อาจจะต้องการถ่ายทอดเป็นบทเรียนให้แก่คนอื่นต่อไปได้ ความทรงจำส่วนตัวของแต่ละคน เรื่องราวของคนเล็กๆ อย่างเราๆ ท่านๆ ที่แสนจะธรรมดาแต่บางครั้งก็ไม่ธรรมดา เป็นบทเรียนที่มีค่ายิ่ง เรื่องราวของความรัก ความผูกพันของพ่อแม่พี่น้องในวาระสุดท้ายของชีวิต ความเอื้ออาทรของคนแปลกหน้า วีรกรรมการท้าทายมัจจุราชเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น ความกล้าหาญ ทรหดอดทนของอาสาสมัครและผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ พิพิธภัณฑ์แบบไหนที่จะทำให้ทุกๆคนได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนภาพความเป็นมนุษย์ในสถานการณ์พิเศษครั้งนี้ ไว้กระตุ้นเตือนมโนธรรมสำนึกของเพื่อนร่วมโลกอื่นๆได้   ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เหลือรอดมาได้ในวันนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บอกเรื่องราว ทั้งที่เป็นส่วนรวม และเรื่องของเฉพาะบุคคล หลายคนอาจจะมีข้าวของเหล่านี้เหมือนๆกันและอาจดูไม่สำคัญนัก แต่ในอีกยี่สิบปีหรือห้าสิบปีข้างหน้า อาจจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือธรรมชาติวิทยาที่มีค่าควรแก่การศึกษาได้ เช่นมีคนเล่าให้ฟังว่า   ทีมนักวิจัยจากญี่ปุ่น มาศึกษารอยกระแทกบนรถยนตร์ที่ถูกคลื่นซัดไปกระแทกสะพาน แล้วสามารถคำนวณได้ว่า คลื่นลูกนั้นวิ่งด้วยอัตราความเร็วกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ตัวอย่างหนึ่ง   แต่พิพิธภัณฑ์สึนามีของชาวบ้าน ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดอยู่แต่เหตุการณ์ของวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เท่านั้น หากยังสามารถเชื่อมโยงไปยังวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนที่อาศัยอยู่กับทะเล และใช้ทรัพยากรจากทะเลในชีวิตประจำวัน เท่าที่อ่านจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ดูจะมีหมู่บ้านบางแห่งที่ชาวบ้านทราบด้วยประสบการณ์ของคนที่รู้จักทะเลหรือภูมิปัญญาใดก็แล้วแต่ สามารถหนีขึ้นไปอยู่บนที่สูงล่วงหน้าได้ทัน รอดชีวิตหมดทั้งหมู่บ้าน กล่าวกันว่า สัตว์บางประเภทมีสัญชาตญานเตือนภัยธรรมชาติ สามารถหลบหนีไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้ หากเป็นจริงเช่นนั้น ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า คนบางกลุ่มที่มีภูมิปัญญาสั่งสมมาพอที่จะรู้ใจธรรมชาติ รู้จักสัตว์ดีพอที่จะอ่านสัญญาณจากอาการของมัน ก็จะเหมือนกับมีระบบเตือนภัยธรรมชาติในตัวอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ใช้พิพิธภัณฑ์เป็นที่ถ่ายทอดเรียนรู้ภูมิปัญญาที่อาจจะ สามารถช่วยชีวิตเราไว้ได้ในราคาที่ไม่แพงเท่ากับระบบไฮเทคหลายพันล้าน   เราอาจจะนึกถึงพิพิธภัณฑ์ในแง่ที่เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ที่มีชีวิตต่อเนื่องยั่งยืน มีการเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ ไม่แห้งตายไปเสียง่ายๆ เพราะเสนอเรื่องราวใหม่ๆได้ตลอดเวลา เราอาจจะต้องคิดถึงบทบาทของพิพิธภัณฑ์ไม่เพียงแต่ การเรียนรู้จากอดีต แต่รวมถึงการศึกษา และคิดค้นสำหรับปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอยู่กับธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทนุถนอม   หรือแม้แต่เรื่องพื้นๆเช่นว่า หากรู้ว่าภัยธรรมชาติกำลังจะมาถึง จะมีวิธีสื่อข่าวกันในชุมชนริมทะเลต่างๆอย่างไร ที่รวดเร็วและได้ผล ในบางประเทศมีการนำธงแดงไปปักชายหาด เป็นสัญญาณอันตรายให้รีบขึ้นบกทันที เราอาจนึกถึงวิธีสื่อสารพื้นบ้านต่างๆ เช่น ตีเกราะเคาะไม้ หรือใช้การลั่นกลองเตือนภัย โดยที่ขอให้ทุกโรงแรม รีสอร์ท หมู่บ้านสร้างหอกลองตามแบบเมืองโบราณไว้ ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ยากและไม่แพง พิพิธภัณฑ์สามารถจะครอบคลุมเรื่องราวเหล่านี้ และสร้างให้คนเกิดสำนึกในเรื่องการอยู่กับธรรมชาติอย่างมีสติ   และท้ายที่สุด ในพิพิธภัณฑ์ที่ต้องการให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วม จึงไม่ควรจะมีเฉพาะเรื่องของนักท่องเที่ยวชาวยุโรป เจ้าของโรงแรม รีสอร์ท ร้านค้า ชาวประมง คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายฝั่งตะวันตกของประเทศไทย เช่นระนอง พังงา คือแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะพม่า ที่อพยพเข้ามาทำงานจำนวนมาก คนเหล่านี้ก็ประสบความสูญเสียไม่น้อยไปกว่าคนอื่น ยิ่งกว่านั้นการเป็นแรงงานต่างชาติอาจทำให้เขาประสบเคราะห์กรรมซ้ำสองซ้ำสามหนักหนาสาหัสไปอีก พิพิธภัณฑ์จะมีที่ทางให้แก่เรื่องราวและประสบการณ์ของคนเหล่านี้อย่างไร เป็นเรื่องที่เราควรจะคำนึงถึงด้วยเป็นอย่างมาก   ทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงจินตนาการเล็กๆของคนคนเดียวซึ่งก็มีความจำกัดในทุกๆทาง ดิฉันจึงอยากจะเชิญชวนให้เราช่วยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้ระหว่างกัน แทนของขวัญที่ให้แก่กันวันปีใหม่ เพื่อให้จินตนาการร่วมเรื่องพิพิธภัณฑ์สึนามิกว้างขวางออกไปอย่างเต็มที่ โดยท่านสามารถเขียนหรือส่งความเห็นของท่านมายังศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และเราจะใช้จดหมายข่าวนี้เป็นเวทีเผยแพร่ต่อไป   ก่อนจบขออนุญาตยกบทกวีของท่านอาจารย์ สุมน อมรวิวัฒน์ ที่ลงในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 15 มกราคม 2548 ว่าด้วยบทเรียนจากคลื่นสึนามิ ฝากมายังชาวชุมชนพิพิธภัณฑ์ทุกท่าน ดังนี้   เมื่อคลื่นคลั่งถั่งโถมมหาศาล ธรรมชาติส่งสัญญาณผ่านความหมาย ว่าความรักความสุขและความตาย เป็นรอยร่วมเรียงรายใกล้ชิดกัน เสี้ยวนาทีที่พบก็พลัดพราก แม้ยามยากมีมิตรจิตปลอบขวัญ เราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์อยู่ทั้งนั้น รู้เท่าทันอย่าท้อก้าวต่อไป   ** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในจุลสารก้าวไปด้วยกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (มกราคม - มีนาคม 2548). * ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  

ข้อสังเกตเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร

21 มีนาคม 2556

ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าไปนั่งสังเกตการณ์การนำเสนอแนวทางการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2547 จัดโดยบริษัท เฟรนด์ส ฟอร์ แฟมิลี่ จำกัด ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร การนำเสนองานในครั้งนี้เป็นการนำเสนอแนวทางการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ จำนวน 7 แห่ง ใน 7 เขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ได้แก่ เขตทวีวัฒนา เขตราษฎร์บูรณะ เขตคลองสาน เขตหนองแขม เขตบางกอกใหญ่ และเขตธนบุรี เสนอต่อตัวแทนของเขตต่างๆ อันประกอบด้วย ประธานชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน คณะครูอาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา สภาวัฒนธรรม ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวเหล่านั้นได้รับทราบและถือเป็นโอกาสในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลไปด้วยหลังจากทีมงานของบริษัทฯ ได้ทำงานสนามศึกษาข้อมูล รูปแบบเนื้อหาการจัดแสดงกันมาระยะหนึ่งแล้ว   การนำเสนองานแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกว่าด้วยเรื่องข้อมูลเนื้อหาที่นำมาใช้จัดแสดง ซึ่งทั้ง 7 เขตเปิดเรื่องโดยให้เห็นภาพกว้างของกรุงเทพฯ เหมือนกันในหัวข้อ "กว่าจะมาเป็นกรุงเทพมหานคร" เท้าความมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ลำดับต่อมาเป็นเรื่องพัฒนาการทางการปกครองของกรุงเทพฯ จากนั้นจึงเข้าสู่ข้อมูลเบื้องต้นของเขตต่างๆ เพื่อปูเรื่องเข้าสู่เนื้อหาของแต่ละเขตพื้นที่ (ให้เป็นที่สงกาว่าจะเอาเขตการปกครองมาขีดคั้นพรมแดนวิถีชีวิตวัฒนธรรมกันได้อย่างไร ช่างกล้าหาญชาญชัยเสียหรือเกินที่กักขังความเป็น "ท้องถิ่น" ไว้ใต้เส้นแบ่งเขตปกครอง)   เมื่อเข้าสู่เนื้อหาของท้องถิ่นแต่ละเขตพื้นที่ซึ่งจะแตกต่างกันไป โดยจัดแบ่งรูปแบบการจัดแสดงเป็นโซน อย่างในกรณีเขตหนองแขม โซน A ว่าด้วยเรื่องพัฒนาการของเขตหนองแขม โซน B เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวหนองแขม โซน C เรื่องหนองแขมกับการเปลี่ยนแปลง โซน D เป็นเรื่องสถานที่สำคัญ บุคคลสำคัญ และของดีหนองแขม สำหรับในสองโซนสุดท้ายนี้จะเหมือนกันทั้ง 7 เขตพื้นที่คือ โซนที่จัดแสดงแผนที่เส้นทางการท่องเที่ยวของแต่ละเขต และชุดสืบค้นข้อมูลท้องถิ่น ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ทัชสกรีนสำหรับสืบค้นข้อมูลท้องถิ่นและเอกสารข้อมูลของท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนที่สองเป็นการนำเสนอรูปแบบการจัดแสดงโดยอิงกับสถานที่จริงว่าควรจะมีหน้าตาอย่างไร ทางบริษัทก็นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เห็นรูปแบบการจัดแสดงว่าจะมีหน้าตาอย่างไร ในช่วงท้ายของการประชุม เมื่อซักถามทำความเข้าใจตกลงใจในเนื้อหาเรื่องราวถ้อยคำที่จะใช้ในการจัดแสดงแล้ว ทางบริษัทก็เสนอให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้เลือกคณะที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานจัดสร้างพิพิธภัณฑ์จำนวน 5 ท่านโดยมีหน้าที่   หน้าที่ 1. ตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลเนื้อหา 2. พิจารณาแบบก่อสร้าง 3. แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินงานให้ชุมชนรับทราบ ผู้เขียนให้นึกฉงนนี่จะเป็นองค์กรทางวัฒนรรมทั้งรูปธรรมนามธรรมเพื่อชุมชนโดยชุมชนแล้ว กทม.จัดที่ทางวางคนวางชุมชนไว้ตรงไหน ถึงได้มาอุปโลกน์ที่ปรึกษาจากคนในชุมชนเจ้าของเรื่องเจ้าของพื้นที่กันเมื่อโค้งสุดท้าย แล้วกระบวนการดำเนินงานเป็นอย่างไรหนอ?   กรอบแนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครa ระบุว่าการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ มาจากมติของที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในการประชุมสามัญที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2544 ให้ความเห็นชอบดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครในแต่ละเขตปกครอง โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายพัฒนาเยาวชน 2 กองสันทนาการ สำนักสวัสดิการสังคม เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบดำเนินการจัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2546-2550 จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครจำนวน 50 แห่ง ใน 50 เขต ดังนี้   ปีงบประมาณ 2546 ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ นำร่อง จำนวน 4 แห่งb ปีงบประมาณ 2547 ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ แห่งใหม่จำนวน 23 แห่ง พร้อมๆ ไปกับบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ฯ นำร่อง 4 แห่งดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ปีงบประมาณ 2549 ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ แห่งใหม่จำนวน 23 แห่งc และบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ จำนวน 27 แห่ง ปีงบประมาณ 2550 บริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ จำนวน 50 แห่ง   นายนิคม ไวรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กทม. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ ไว้ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2547 ว่า   "โครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครถือเป็น อีกความพยายามหนึ่งในการเก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตของชาวบ้านในแต่ละเขตเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนรวมทั้งทำหน้าที่ บอกเล่าเรื่องราวของท้องถิ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเชื่อมโยงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ กลุ่มคนในสังคมประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น"   ด้วยตระหนักถึงความแตกต่างความมีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบางแห่งจะทำหน้าที่เพียงบอกเล่าเรื่องราวในอดีตและเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นมาจนถึงปัจจุบันแล้วเชิญชวนให้ศึกษาวิถีชีวิตจริงที่ยังดำรงอยู่ในพื้นที่ ในเรื่องขั้นตอนการดำเนินงานนั้น สำนักงานเขตรับผิดชอบพิจารณาสถานที่จัดตั้งโดยอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าควรมีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่นที่จะดึงดูดความสนใจแก่ผู้มาเยี่ยมชมได้ และเจ้าของพื้นที่ยินยอมให้เข้าไปใช้พื้นที่นั้น นอกเหนือจากการหาสถานที่เป็นการจ้างเหมาเอกชนดำเนินการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพื้นที่ รูปแบบของพิพิธภัณฑ์ในแต่ละเขต การปรับปรุงภูมิทัศน์ การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดทำคู่มือนำชม ฯลฯ   ทีนี้กลับมาหาชุมชนกันบ้าง ชุมชนรู้อะไร พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครคืออะไร ทำพิพิธภัณฑ์ฯ ไปทำไม กทม. ทำความเข้าใจกับคนกรุงเทพฯ เพียงพอแล้วหรือ คนกรุงเทพฯ มีความเข้าใจรับรู้แล้วหรือที่จะมีพิพิธภัณฑ์ไปตั้งอยู่ในพื้นที่ของตน หาก กทม.จะใช้เวลาทำความเข้าใจและทบทวนเรื่องนี้สักหน่อย เราคงจะไม่ได้ยินคำพูดเหล่านี้หรอกว่า   "กทม.สรุปเรื่องที่ตั้ง ทำไมไม่ถามคนหนองแขม แล้วเชิญมาทำไม"   "พิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องเริ่มในวันนี้พรุ่งนี้ เราอยู่กันมาได้ 100 ปี ไม่เห็นเป็นไร เรื่องวันนี้พรุ่งนี้เป็นเรื่องของพวกคุณ"   "บริษัทฯ ไม่ถามชุมชน ชุมชนไม่เคยรู้เลยว่างบประมาณเท่าไหร่ จะทำอะไรต่อไป ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร คณะกรรมการไม่ทราบเรื่องเลย"   "คนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วม รัฐให้งบมา เรามาคิดกันเองก็ได้ ประสานงานให้มีคณะทำงาน คนหนองแขมต้องรู้"   เพราะนั่นหมายถึงความรับผิดชอบที่จะตามมาจากการบริหารจัดการที่ กทม.จะมอบให้กับสำนักงานเขต สำนักงานเขตมอบให้กับชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการกันต่อ งานนี้ยากยิ่งกว่าที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เสียอีก เพราะเราไม่ต้องการเห็นพิพิธภัณฑ์ที่ไหนเป็นขยะทางวัฒนธรรมที่ถูกทิ้งร้างอย่างไร้ผู้เหลียวแลอีก…   ----------------------- a กรอบแนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร.เอกสารอัดสำเนา. ฝ่ายพัฒนาเยาวชน 2 กองสันทนาการ สำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร b พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ตั้งอยู่ในโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม ซอยจรัลสนิทวงศ์ 32 พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ตั้งอยู่ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม ใกล้ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก จัดตั้งที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ซอยเจริญกรุง 43 และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน ตั้งอยู่ที่โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ สุดสายถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล c ได้รับการบอกกล่าวมาอีกทีว่าได้งบประมาณมาที่ละ 3 ล้านบาท ** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในจุลสารก้าวไปด้วยกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (มกราคม - มีนาคม 2548). * สรินยา คำเมือง นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

พิพิธภัณฑ์ลาว: จินตนาการเรื่องชาติและความทรงจำทางประวัติศาตร์

21 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์เป็นผลผลิตอันเนื่องมาจากจินตนาการชาตินิยมยุคสมัยใหม่และเป็นสถานที่แสดงความทรงจำของชาติ พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นจากสำนึกของมนุษย์ในโลกยุคสมัยใหม่ที่ตระหนักในความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ สิ่งที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนในสำนึกดังกล่าวคือการรักษาไว้ซึ่ง "มรดก" (heritage) แม้บางครั้งมรดกที่ว่านั้นมีอายุเพียงแค่ไม่กี่สิบปี การพยายามอนุรักษ์มรดกที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นดัชนีชี้วัดอย่างดีต่อความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคมและวัฒนธรรมที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่า "มรดก" ของพวกเขานั้นกำลังจะสูญสลายไปในไม่ช้านี้ รัฐเองก็มีจินตนาการเรื่องพิพิธภัณฑ์และให้ความสำคัญในเรื่องของ "มรดก" โดยจินตนาการพิพิธภัณฑ์ของรัฐลาวสมัยใหม่กำเนิดขึ้นในช่วงอยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส เมื่อสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (The Ecole Francaise d’Extreme Orient) ก่อตั้งขึ้นที่ไซ่ง่อน ในปี ค.ศ. 1898 และได้จัดตั้งคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งอินโดจีนขึ้น (Directorate of Museums and Historical Monuments of Indochina) เพื่อปฏิบัติงานในด้านการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์โบราณสถานต่าง ๆ ทั่วอินโดจีน เมื่อสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศเข้ามาตั้งสำนักงานในกรุงเวียงจันทน์ ฝรั่งเศสจึงเริ่มกระบวนการปฏิสังขรณ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันได้แก่ธาตุหลวงและโบราณสถานต่าง ๆ ทั่วประเทศลาว ต่อมาสถานที่ดังกล่าวเหล่านั้นถูกผนึกรวมเป็นชุดภาพสัญลักษณ์อาณานิคมฝรั่งเศส เหมือนว่าถ้าเห็นธาตุหลวงต้องนึกถึงลาว หรือเห็นนครวัดต้องนึกถึงกัมพูชา ต่อมาภายหลังชุดภาพสัญลักษณ์เกิดขึ้นทั่วประเทศลาว อาทิ วัดเชียงทองเป็นตัวแทนของหลวงพระบาง ทุ่งไหหินเป็นตัวแทนของเชียงขวาง ธาตุอิงฮังเป็นตัวแทนของสะหวันนะเขต และวัดพูเป็นตัวแทนของจำปาศักดิ์ ธาตุหลวงเป็นตัวแทนของเวียงจันทน์ หรือในบางครั้งใช้ประตูชัยเป็นตัวแทนของเวียงจันทน์ การให้ความหมายของภาพชุด "มรดก" ลาวดังกล่าวยังพบอยู่ในธนบัตรและแสตมป์ ภาพตัวแทนที่ปรากฏในบริบทต่าง ๆ กลายเป็นภาพที่ทรงอำนาจอย่างมากในการสร้างจินตนาการความเป็นชาติลาว ความเกี่ยวข้องของคนลาวเองในพิพิธภัณฑ์วิทยาเกิดขึ้นก็ เมื่อล่วงเข้าทศวรรษที่ 1930 เมื่อเจ้าสุวันนะพูมา (เจ้าสุวันนะพูมาเป็นโอรสองค์ที่สามของมหาอุปราชบุนคง(วังหน้าของกษัตริย์ ลาว) อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศลาว สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง-ผู้แปล) สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และได้เข้ามารับผิดชอบงานปฏิสังขรณ์หอพระแก้วในปี ค.ศ. 1936 โดยมีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเป็นผู้ช่วย เจ้าสุวันนะพูมาได้เขียนไว้ในรายงานการปฏิสังขรณ์หอพระแก้วว่า "คนลาวแม้จะไม่ได้มั่งมีอะไรแต่เต็มใจที่จะทำบุญและบริจาคเงินเพื่อซ่อมแซม ศาสนสถานที่สำคัญและเก่าแก่ของประเทศของพวกเขา" 30 ปีให้หลังมีงานเขียนเกี่ยวกับประวัติการบูรณะหอพระแก้ว แต่กลับไม่มีการกล่าวถึงการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสแต่อย่างใด "หอพระแก้วได้รับการปฏิสังขรณ์โดยคนลาวเอง และไม่ใช่เป็นความภาคภูมิเพียงเล็กน้อยสำหรับฉัน(เจ้าสุวันนะพูมา-ผู้แปล) ต่อเกียรติภูมิของหอพระแก้วที่เป็นจุดศูนย์รวมใจของเพื่อนรวมชาติ แต่การบูรณะหอพระแก้วถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชาติลาว" (ปัจจุบันหอพระแก้วเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูป กลองสำริด -ผู้แปล) ชัดเจนอยู่แล้วว่าการเลือกเน้นย้ำและตีความเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัย อาณานิคมเสียใหม่เกิดขึ้นเป็นปกติในกลุ่มลัทธิหลังอาณานิคม แม้กระทั่งหลังปี ค.ศ. 1975 ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ลาวหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของธาตุ หลวงที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1985 ก็ไม่กล่าวถึงงานปฏิสังขรณ์ที่ทำโดยรัฐบาลราชอาณาจักรลาว ผลงานที่ระบอบเก่าเคยทำก็ถูกขับออกไปจากประวัติศาสตร์ของรัฐบาลในระบอบใหม่ในปี ค.ศ.1980 พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติลาว(Lao Museum of the Revolution) ก่อตั้งขึ้นภายในอาคารสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลบนถนนสามแสนไท ในกรุงเวียงจันทน์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ทำงานของเจ้าสุวันนะพูมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เล่าเรื่องการต่อสู้ปฏิวัติของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และเส้นทางการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพรรค รวมถึงการสร้างประเทศใหม่ตามแนวทางสังคมนิยม เมื่อนโยบายจินตนาการใหม่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1986 ทำให้สภาพสังคมและเศรษฐกิจของลาวผ่อนคลายจากแนวทางสังคมนิยมมากขึ้น การเล่าเรื่องและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จึงผันแปรไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยเช่นกัน "ห้องเลนิน" ที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตถูกปิดลง การเล่าเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกันมีน้อยลง นิทรรศการแสดงความขัดแย้งทางพรมแดนไทย-ลาวที่เกิดขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1980 เริ่มลดน้อยลง(กรณีบ้านร่มเกล้าและสามหมู่บ้าน-ผู้แปล) คนลาวจำนวนไม่มากนักที่จะเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนดูส่วนหนึ่งคือเด็กนักเรียนและสมาชิกพรรคประชาชนปฏิวัติลาวรุ่นเยาว์ที่ถูกเกณฑ์มาชม กลุ่มผู้ชมที่ดูจะกระตือรือล้นในการเข้าชมดูเหมือนจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย แม้เพียงแค่แม่น้ำโขงกั้น ในสายตาของคนไทยประเทศลาวคือความเป็นอื่น คนไทยต้องการสัมผัสกับคอมมิวนิสต์จริง ๆ หลังจากที่เคยได้ยินแต่การโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับภัยคอมมิวนิสต์ แม้คนไทยจะเห็นว่าวัดวาอารามและโบราณสถานต่าง ๆ ของลาวคล้ายคลึงกับไทยก็ตาม แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประสบความสำเร็จในการทำให้คนไทยเห็นว่าพัฒนาการชาติลาวและการประสานรวมความเป็นชาติลาวแตกต่างจากไทยอย่างไร ในปี ค.ศ. 1997 พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติลาวได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ" (Lao National Museum)ในปี ค.ศ. 1994 พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาวก่อตั้งขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "สวนวัฒนธรรมบรรดาเผ่าแห่งชาติ" ตั้งอยู่ชานกรุงเวียงจันทน์ เพื่อให้เป็นสถานที่ดำรงรักษา ส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปหัตถกรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ในลาว อย่างไรก็ดีเมื่อพิพิธภัณฑ์นี้เปิด มันกลับกลายเป็นสถานที่ปิกนิกและพักผ่อนหย่อนใจของชาวลาวและนักท่องเที่ยวชาวไทยไป ด้านหนึ่งทำเป็นสวนสัตว์ ส่วนพื้นที่ที่เหลือได้จำลองบ้านบรรดาชนเผ่าในลาวมาให้ชมได้แก่ "บ้านลาวสูง" "บ้านลาวเทิง" และ "บ้านลาวลุ่ม" แต่ทั้งที่อ้างตั้งแต่แรกก่อสร้างว่า "วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ก่อสร้างในสวนแห่งนี้จะสะท้อนคุณค่าทางศิลปะ ทักษะ และเทคนิค" ของบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่าบ้านลาวสูงและลาวเทิงกลับมีส่วนที่สร้างด้วยคอนกรีต มีแต่เพียงบ้านของลาวลุ่มเท่านั้นที่ดูจะใกล้เคียงกับความเป็นจริง การจัดแสดงบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ลาวต้องการบอกให้รู้ว่าประเทศลาวมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายเท่านั้น นัยหนึ่งที่สวนแห่งนี้จัดให้มีสวนสัตว์ ศูนย์แสดงรูปจำลองไดโนเสาร์ (เป็นการอ้างถึงว่ามีการขุดพบซากกระดูกไดโนเสาร์ในแขวงสะหวันนะเขต) และบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์เอาไว้ในบริเวณเดียวกัน จึงคล้ายกับเป็นสิ่งยืนยันอคติในส่วนลึกที่มองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นพวกที่ดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม (primitive) และล้าหลัง (backward)กล่าวได้ว่าโครงการพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในลาวเกิด ขึ้นในปี ค.ศ. 1995 เมื่อยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก สถาปัตยกรรมทั้งวัดวาอาราม ที่อยู่อาศัย รวมถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวเมืองได้รับการอนุรักษ์ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมของลาวได้ กล่าวถึงบทบาทของเจ้ามหาชีวิตสีสะหว่างวงว่าเป็นผู้มีส่วนในการปฏิสังขรณ์ โบราณสถานในหลวงพระบางหลังจากถูกทำลายในศตวรรษที่ 19 (จากศึกฮ่อ-ผู้แปล) แม้เป็นการกล่าวถึงอย่างรวบรัด แต่แสดงให้เห็นว่าบทบาทของกษัตริย์กลายเป็นปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของรัฐบาลลาว ในระบอบใหม่ว่าจะมีวิธีการอย่างไรในการเลือกตีความหรือกีดกันบทบาทของ กษัตริย์เมื่อต้องเล่าเรื่องเมืองหลวงพระบางแปลและเรียบเรียงจาก Evans, Grant. 1998. "Statue and Museums." in The Politics of Ritual and Remembrance Laos since 1975. Chiang Mai: Silkworm Books, pp. 114-128.

พบกันครึ่งทาง: ระหว่างวัฒนธรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว

21 มีนาคม 2556

โครงการการจัดการทางวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของสะพานแห่งการ์ด (le Pont du Gard) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการป้องกันตัวถาวรสถาน และสภาพแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าของแหล่งโบราณสถานโดยรวม พื้นที่พิพิธภัณฑ์ที่เป็นสื่อกลางบอกเล่าประวัติศาสตร์ของสะพานและพื้นที่ใกล้เคียงสำหรับการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน เรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นของพื้นที่งานวัฒนธรรมใหม่แห่งนี้ อุปสรรคที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานก็มิอาจจะขวางกั้นประโยชน์จากโครงการ และเส้นทางสู่อนาคตข้อมูลต่อไปนี้มาจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานและบริหารของโบราณสถานสะพานแห่งการ์ด อธิบายถึงประวัติศาสตร์ของสะพานแห่งการ์ดโดยสังเขป   สะพานแห่งการ์ดเป็นส่วนหลักของระบบชลประทานโบราณของนครนีมส์ (Nîmes) ที่ออกแบบและสร้างโดยชาวโรมันประมาณปีที่ 50 ของยุคเรา เพื่อเป็นการนำน้ำมาสู่เมืองนีมส์ การชลประทานสามารถนำน้ำในปริมาณเฉลี่ย 20,000 ลูกบาศก์เมตร ตลอด 24 ชั่วโมง เรียกได้ว่าเป็นน้ำที่บริสุทธิ์และสะอาดสำหรับหล่อเลี้ยง น้ำพุในเมือง ห้องอาบน้ำสาธารณะ และสวนต่างๆ ของนีมส์ หรือมหานครแห่งความอุดมสมบูรณ์ของชาวกาลโล-โรมัน ระบบดังกล่าวใช้งานถึง 450 ปี จนในที่สุดน้ำไม่สามารถใช้งานได้ดังเดิม เนื่องจากการขาดการดูแลรักษาจนปล่อยให้หินปูนเกาะติดทางลำเลียงน้ำ ด้วยเหตุนี้ น้ำจึงไม่สะอาดเพียงพอสำหรับการบริโภคอุปโภค   พยานเทคนิคการจัดการน้ำของวิศวกรชาวโรมันเป็นผลงานที่สร้างความประทับใจให้กับนักเดินทางมาแล้วหลายชั่วศตวรรษ เป็นเส้นทางที่ศิลปินพื้นบ้านแกะสลักหินต้องเดินทางผ่านในเส้นทางการเดินทางทั่วฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี ถาวรสถานถูกทิ้งร้างและมีอินทรีย์พืชที่เจริญเติบโต จนทำให้สภาพทั่วไปเสื่อมโทรม จนในปี 1840 สะพานแห่งการ์ดอยู่ในรายนามของแหล่งโบราณคดีในทำเนียบของ Prosper M?rim?e จากนั้นงานอนุรักษ์ซ่อมแซมจึงได้เริ่มดำเนินการ ในปี 1973 สะพานแห่งการ์ดขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมของกระทรวงสิ่งแวดล้อม และตั้งแต่ปี 1985 ถาวรสถานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประกาศโดยองค์การยูเนสโก   แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า สาเหตุที่โบราณสถานเป็นที่รู้จักมิได้มาจากความเสื่อมโทรมของโบราณสถานที่ผ่านมาในอดีต   พื้นที่ธรรมชาติที่งดงาม ซึ่งตรึงนักท่องเที่ยวและผู้คนที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง นำเอาผู้คนจำนวนมากเข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ในหลายปีที่ผ่านมา (ผู้ชมจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคนต่อปี) ด้วยเหตุที่ว่าส่วนประกอบต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องและเหมาะสมกับแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกเส้นทาง การก่อสร้างเพิ่มเติมที่ไม่เหมาะสม จำนวนพืชพรรณที่ไม่พอเพียง บางครั้งพืชตกอยู่ในอันตรายด้วยขาดการอนุรักษ์ เหล่านี้กลายเป็นภาพลักษณ์ของสะพาน ความทรุดโทรมของภูมิทัศน์เพิ่มมากขึ้น เส้นทางที่ "รกชัฏ" และพื้นที่หินปูนที่มากขึ้น ตลิ่งแม่น้ำที่มีการใช้งานโดยปราศจากการเอาใส่ใจต่อสิ่งมีชีวิตทั่งพืชและสัตว์ที่อาศัยในบริเวณนั้นๆ   แม้ว่าจะมีการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่กลับไม่ได้ช่วยให้มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เข้าเยี่ยมชมประมาณหกพันถึงหมื่นคนต่อวันในช่วงที่ฤดูร้อน เข้ามาในพื้นที่โดยเฉลี่ยไม่มากกว่าหนึ่งชั่วโมง ดังนั้น ความประทับใจเพียงการค้นพบอย่างฉาบฉวย จึงทำให้โบราณสถานเป็นที่ "ไร้เสียง" ที่ผู้ชมไม่ได้สังเกตเลยว่ามันตั้งอยู่ที่ใด   ความเป็นมาในการตระหนักถึงความจำเป็นในการสงวนรักษาและเพิ่มคุณค่าให้กับโบราณสถานเป็นอย่างไร   ตั้งแต่ปี 1985 องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นการ์ดประกาศโครงการการจัดการทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของโบราณสถานแห่งการ์ด เพื่อการสงวนรักษาและเพิ่มคุณค่า และในปี 1995 คณะกรรมการการบริหารงานส่วนจังหวัดนีมส์มอบหมายให้หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งนีมส์จัดการแหล่งประวัติศาสตร์และนิเวศน์ของสะพานแห่งการ์ด ในปี 1997 สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนโครงการ และให้ปรับชื่อเป็นโครงการสำคัญของ ยุโรปอันเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว (le Label Grand Projet Europ?en environmental, culturel et touristique)   ในเดือนพฤษภาคม 2000 สัญญาความร่วมมือพัฒนาแหล่งโบราณสถานสำคัญแห่งนี้ เป็นการลงนามร่วมระหว่างกระทรวงการจัดการท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม ภูมิภาคลองดอก-รูซิออง (Lanquedoc-Roussillon) องค์การบริหารท้องถิ่นการ์ด หน่วยงานรับผิดชอบสะพานแห่งการ์ด และหอการค้าและอุตสาหกรรมของนีมส์   ขั้นตอนหลักในการดำเนินงานเป็นอย่างไร   การดำเนินงานทั้งการป้องกันและการจัดการมีพื้นที่ทั้งหมด 165 เฮคเตอร์ นั่นหมายถึงแหล่งธรรมชาติของถาวรสถานมีพื้นที่อยู่ใน 3 ท้องที่ [คาสตีออง-ดู-การ์ด (Castillon-du-Gard) แวร์ส-ปง-ดู-การ์ด (Vers-Pont-du-Gard) เรอมูแลงส์ (Remulins)] และมีแม่น้ำการ์ดอง (Gardon) ไหล่ผ่าน   การจัดการดำเนินงานภายใต้แนวคิดของการพบกันครึ่งทางระหว่างการใช้พื้นที่และการปฏิบัติตัวของผู้เยี่ยมชมที่แตกต่างหลากหลายต่อแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญ หรือเรียกว่าเป็นการประสานทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม และการพักผ่อนหย่อนใจ การจัดการแนวใหม่เป็นความสอดประสานระหว่างการต้อนรับกลุ่มผู้ชมจำนวนมากและความมหัศจรรย์ของสถานที่ ความมหัศจรรย์ที่มาพร้อมกับหินผาน้ำของการ์ดอง และพรรณพืชในแถบเมดิเตอร์เรเนียน   วัตถุประสงค์พื้นฐานของการดำเนินงานคือ การป้องกันโบราณสถานและสภาพแวดล้อม ขณะเดียวกัน ยังคงให้แหล่งทำหน้าที่ต้อนรับกลุ่มคนที่เข้ามาเยี่ยมชม รวมทั้งให้ความเคารพต่อการใช้พื้นที่ของคนในท้องถิ่น และที่แน่นอนคือ กลุ่มผู้ชมจะต้องได้ "กุญแจ" ในการไขประตูไปสู่ความเข้าใจประวัติศาสตร์ของแหล่งเช่นกัน   การปรับปรุงสะพานแห่งการ์ดเพื่อกลุ่มผู้ชมดำเนินการทุกอย่างในแนวทางที่จะทำให้ภูมิทัศน์ "บริสุทธิ์" จากสิ่งที่บดบังทัศนะวิสัยของโบราณสถานและบริบทแวดล้อม ตั้งแต่ก้าวแรก ผู้เยี่ยมชมจะได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าไปในประวัติศาสตร์ของสะพาน พื้นที่โดยรอบ และท่อลำเลียงน้ำ จากจุดที่ตรึงผู้ชมไว้ชั่วขณะหนึ่ง ณ เบื้องล่างของถาวรสถาน ผู้ชมจะเพิ่มพูนความรู้ และปรารถนาที่จะเยี่ยมชมนานมากขึ้นด้วยการค้นพบสิ่งต่างๆ ที่หลากหลายออกไป   การเข้าเยี่ยมชมสะพานและธารน้ำยังคงเปิดกว้างสำหรับทุกคนอย่างที่เป็นมาในอดีต แต่จากนี้ไปชีวิตที่ถือกำเนิดขึ้นใหม่จะไม่ทำร้ายและทำลายพื้นที่ มันจะกลายเป็นสถานที่ของนักเดินสำรวจทุกคน ในทางกลับกันรอยทางของยวดยานพาหนะทุกประเภทจะต้องถูกลบออกไป ผู้ชมจะต้องจอดรถไว้ในที่ให้บริการด้านใดด้านหนึ่งของลำน้ำ จากนั้น เส้นทางที่ชัดเจนจะนำผู้คนเข้าสู่สะพาน โดยคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกต่อผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็กในรถเข็น   การจัดการแหล่งโบราณสถานและพื้นที่โดยรอบดำเนินการใน 3 จุดใหญ่ คือ พื้นที่ชีวิตชายตลิ่งของสะพานแห่งการ์ด เป็นพื้นที่ใกล้น้ำมีขนาด 43 เฮคเตอร์ ซึ่งรวมสิ่งก่อสร้างต่างๆ พื้นที่ธรรมชาติของการสำรวจร่องรอยท่อส่งน้ำ เป็นพื้นที่มีอาณาบริเวณ 72 เฮคเตอร์ และเป็นเส้นทางเดินเล็กๆ เพื่อการสำรวจ พื้นที่ธรรมชาติสงวน เป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ที่แทบจะไม่สามารถย่างกรายเข้าไปได้ และเป็นผืนดินแบบเมดิเตอร์เรเนียน ขนาด 50 เฮคเตอร์ เปรียบเสมือนกับสิ่งห่อหุ้มโบราณสถาน     โบราณสถานสะพานแห่งการ์ด พื้นที่สำหรับคนเดินสำรวจ จะเป็นสถานที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและเพื่อการสำรวจ ผู้ชมจะสามารถเข้าเยี่ยมสถานที่ได้ตามความต้องการ ตามเวลาที่เปิดทำการในแต่ละช่วงของปี เรียกได้ว่า เป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้เยี่ยมชมในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และความรุ่มรวยของมรดกวัฒนธรรมด้วยความเพลิดเพลิน   แง่มุมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของแหล่งโบราณสถานสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ พื้นที่ที่ได้รับการจัดการใหม่นี้อย่างไร   เพื่อสร้างความพอใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และสร้างสรรค์สื่อกลางทางวัฒนธรรมโดยดำเนินการอย่างเป็นวิชาการและเป็นระบบ ทีมงานที่ประกอบด้วยนักวิชาการที่หลากหลาย (นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ สถาปนิก นักประวัติศาสตร์ภูมิทัศน์ นักชาติพันธุ์วิทยา นักพืชวิทยา นักชลวิทยา) ภายใต้การควบคุมของ ฌอง-ลุค ฟิชส์ (Jean-Luc Fiches) นักโบราณคดีและผู้อำนวยการส่วนวิจัย ศูนย์วิจัยแห่งชาติ ได้กำหนดโครงการงานวัฒนธรรมที่มีชื่อว่า มนุษย์ หินผา และน้ำ ในพื้นที่เมดิเตอร์เรเนียน   โครงการดังกล่าวเกี่ยวข้องประเด็นที่ครอบคุลมและเกี่ยวเนื่องกับแหล่งโบราณสถาน สาระหลักไม่ได้สัมพันธ์เฉพาะสะพานแห่งการ์ด แต่เป็นการชลประทานโบราณของเมืองนีมส์ในบริบทสิ่งแวดล้อม และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับสะพาน สามารถแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ ดังนี้ ศิลปะของการดำเนินชีวิตชาวโรมัน การควบคุมน้ำ ประวัติของท่อส่งน้ำโบราณแห่งนีมส์ ภูมิทัศน์ของเมดิเตอร์เรเนียน     การทำงานเป็นทีมของผู้ชำนาญการข้างต้นก่อให้เกิดการผสมผสาน จนกลายเป็นงานวัฒนธรรมที่หลากหลายและพร้อมที่นำเสนอให้กับแหล่งถาวรสถานสะพานแห่งการ์ด ผู้ชมสามารถสร้างความรู้จากพื้นที่ทางวัฒนธรรม 8 แห่งในระหว่างการเยี่ยมชม นิทรรศการมัลติมีเดียเรื่อง ประวัติศาสตร์ของสะพานแห่งการ์ดและท่อส่งน้ำโรมันแห่งนีมส์ ที่จะนำผู้ชมย้อมเวลากลับไปในโลกของโรมัน หรือเมื่อ 20 ศตวรรษที่แล้ว ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอารยธรรมแห่งน้ำ ตลอดเส้นทางการเดินชมการเดินชมในพื้นที่ 2,500 ตารางเมตร และสื่อการจัดแสดงต่างๆ ที่หลากหลาย (แบบจำลองย่อส่วน วัตถุจัดแสดง ภาพปรากฏบนจอภาพหลายผืน วีดิทัศน์ บรรยากาศเสียง…) ผู้ชมจะได้เอิบอิ่มไปกับสายสัมพันธ์ระหว่างน้ำและชีวิตของชาวโรมัน ความน่าอัศจรรย์ใจในการสร้างท่อส่งน้ำแห่งนีมส์ (วัสดุและเทคนิค การช่าง และองค์ความรู้) หรือในอีกแง่หนึ่ง เป็นภาพสะท้อนของศิลปะและเทคนิคของสะพานที่ได้รับความสนใจจากผู้รู้ วิศวกร และสถาปนิก ตั้งแต่สมัยเรอเนสซอง ภาพยนตร์ที่มีความยาว 23 นาที (จัดฉายในห้องภาพยนตร์และระบบเครื่องเสียงเต็มรูปแบบ) เรื่อง ธารแห่งการ์ดอง (le Vaisseau du Gardon) เป็นเรื่องเล่า (การพบกันระหว่างหนุ่มโรมันและสาวนีมส์ในสมัยปัจจุบัน) ที่ย้อนเวลากลับไปตามสายธารแห่งประวัติศาสตร์ของสะพานแห่งการ์ดและผู้ที่สร้างสรรค์ผลงาน พื้นที่ ลูโด (Ludo) ขนาด 600 ตารางเมตร สำหรับกลุ่มผู้ชมรุ่นเยาว์ (5 -12 ปี) เป็นการนำเสนอเส้นทางสำรวจที่ประกอบด้วย 4 ประเด็น คือ ท่องเที่ยวไปในอดีต การจัดการน้ำ ค้นหาร่องรอยของอดีต และสังเกตการณ์ธรรมชาติ ด้วยการนำเสนอแบบ "ของเล่น" (เกม การสืบสวน) และการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งจัดแสดง (การจับสัมผัส การมีประสบการณ์โดยตรง) เด็กจะกลายเป็นตัวหลักของการสำรวจ ศูนย์ข้อมูล Biblio ที่เปิดบริการสำหรับทุกคน และเป็นการตรึงผู้คนให้เยี่ยมชมแหล่งโบราณสถานนานมากขึ้น เก็บรักษาและให้บริการหนังสือกว่า 600 เรื่อง และวารสารกว่า 100 ชื่อเรื่อง รวมถึงการให้บริการอินเตอร์เนตที่ได้คัดสรรเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ (พื้นที่ในเมดิเตอร์เรเนียน หินผา สะพาน ประวัติศาสตร์…)   นอกจากนี้ ยังมีการแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ งานแสดงที่สะท้อนให้เห็นคุณค่าการทำมาหากินในอดีต และเส้นทางสำรวจเพื่อความเข้าในในภูมิทัศน์เมดิเตอร์เรเนียน ความทรงจำของพื้นที่แบบเมดิเตอร์เรเนียน และในช่วงทุกเย็นค่ำของฤดูร้อน ผู้ชมสามารถชมสะพานที่ประดับแสงไฟอย่างสวยงามโดยศิลปินเจมส์ ตรูเรล (James Turrell)   หนึ่งในวัตถุประสงค์การปรับปรุงแหล่งโบราณสถานสะพานแห่งการ์ด เพื่อเป็นการต้อนรับกลุ่มเด็กเยาวชนที่มากับครอบครัว แต่ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการเป็นแหล่งเรียนรู้ของสถานศึกษาด้วย ในจุดนี้มีการเตรียมการเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายบริการการศึกษาอย่างไร   เรียนรู้ เข้าใจ สนุกสนาน ผ่อนคลาย เหล่านี้เป็นแนวคิดพื้นฐานสำหรับการทำงานของงานบริการการศึกษา (เริ่มต้นในปี 1998) สำหรับเด็กและเยาวชนของสถานศึกษาหรือในหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง ในการทำงานดังกล่าวนี้ หน่วยดำเนินการอย่างครบวงจร ทั้งการศึกษาความต้องการของกลุ่มนักเรียนและเยาวชน การคำนวณอัตราการบริการเฉพาะ การประชาสัมพันธ์ต่อหน่วยงานการศึกษาใกล้เคียง ศูนย์กิจกรรม และองค์กรที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว   การนำเสนอจะเน้นที่ความหลากหลายในบริการต่างๆ ของแหล่ง รวมทั้งเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนของการศึกษาในระบบ อันประกอบด้วยประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม โบราณคดี และอารยธรรมโรมัน ลักษณะเฉพาะของสถานที่สอดคล้องกับกิจกรรมทั้งในร่ม (พื้นที่งานวัฒนธรรม) และกิจกรรมกลางแจ้ง (พื้นที่ของการสำรวจ ขนาด 72 เฮคเตอร์) จากการจัดกิจกรรมการเยี่ยมชมแบบง่ายๆ ที่ใช้เวลาเพียงครึ่งวันหรือหนึ่งวันสู่การสร้างสรรค์กิจกรรมร่วม ผู้สอนที่มากับกลุ่มนักเรียนจะพบกิจกรรมที่มีตัวเลือกหลากหลาย (การเยี่ยมชม-การเดินสำรวจ ซึ่งอาจจะมีการทำกิจกรรมในพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กหรือไม่ก็ได้…) เพื่อทำให้การเยี่ยมชมมีความสมบูรณ์มากขึ้น   ฝ่ายบริการการศึกษาเตรียมการเยี่ยมชมเฉพาะสำหรับผู้สอนที่ต้องการจัดเตรียมเอกสารสำหรับนักเรียนในการเข้าชมสถานที่ กิจกรรม M?mento ที่จัดขึ้นสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น กิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ คือ วัฒนธรรมและมรดก กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เอกสารที่ให้กับผู้สอนที่เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วยประเด็นดังนี้ o    เด็กน้อยชาวโรมัน o    เทคนิคการก่อสร้างในสมัยโรมัน o    การช่างและอาชีพต่างๆ o    ชีวิตของชาวโรมัน   เอกสารเหล่านี้จะทำให้ผู้สอนสามารถเตรียมการเข้าชมพร้อมไปกับนักเรียน ทั้งในลักษณะของการแนะนำเบื้องต้น และจะกลายเป็นการยืดเวลาให้กลุ่มผู้ชมใช้เวลาในพื้นที่มากขึ้นเช่นกัน   หลังจากที่ได้ชมโบราณสถานและแหล่งเรียนรู้ เด็กๆ จะได้รับบันทึกช่วยจำเล่มน้อยที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับการเรียนรู้ในแต่ละวัย (ระดับเริ่มต้นสำหรับเด็กอายุ 5 - 7 ปี ระดับการสำรวจสำหรับเด็กอายุ 8 - 11 ปี ระดับเรียนรู้ลึกซึ้ง สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป) และมีเนื้อหาเฉพาะในแต่ละแบบหัวข้อการเยี่ยมชม เอกสารนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสนใจ ความอยากรู้อยากเห็น การตระหนัก ด้วยกลวิธีเชิงละเล่น และแน่นอนว่า จะเป็นเครื่องมือช่วยในการเยี่ยมชม เอกสารประกอบการทำงานและการศึกษาเพิ่มเติม   เรื่องของความคุ้มทุนในการปรับปรุงแหล่งการเรียนรู้เชิงท่องเที่ยว และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ผู้ดำเนินการโครงการได้ตระหนักหรือไม่   นอกจากมิติงานมรดกและวัฒนธรรมของโครงการ สภาการปกครองท้องถิ่นได้นำมิติเศรษฐกิจรวมเข้าไปในโครงการด้วย ความปรารถนาหนึ่งของโครงการที่ไม่ใช่เพียงเพื่อการพัฒนาในมิติงานวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคือ การพัฒนาให้สะพานแห่งการ์ดเป็นเสมือนบัตรเชิญให้ผู้คนเข้ามาสำรวจภูมิภาคและสิ่งนำเสนออื่นๆ เป็นเฉกเช่นคันฉ่องสะท้อน "ความรุ่มรวยของการ์ด" เพื่อให้เขาและเธอเหล่านั้นปรารถนาในการสำรวจแหล่งอื่นๆ ในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง   เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน พร้อมไปกับการให้ความเคารพต่อประวัติศาสตร์และสถานที่ การดำเนินงานของหอการค้าและอุตสาหกรรมของนีมส์อยู่บนพื้นฐานของการคำนึงต่อผลพวงและผลกระทบทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น การจัดการในครั้งนี้จึงเป็นโครงการที่อยู่ในกรอบของเศรษฐศาสตร์งานมรดก อันนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่สอดประสานกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องภายในท้องถิ่น ทั้งเอกชนที่จัดการการท่องเที่ยวและการพักผ่อน และชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของพื้นที่   แปลและเรียบเรียงจาก Serge Lochot. "Le grand site du Pont du Gard",la Lettre de de l’OCIM, no.81, 2002, pp. 13 - 17.  * ชีวสิทธิ บุณยเกียรติ นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

บาดแผลของสงครามและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

21 มีนาคม 2556

ประวัติอันยาวนาน   ศาสตราจารย์ จอห์น รุซเซล ผู้ช่วยที่ปรึกษาทางวัฒนธรรมอาวุโสขององค์กรความร่วมมือ Coalition Provisional Authority (CPA) พรรณนาถึงประเทศอิรักว่าเป็นประเทศอันดับหนึ่งในหลายอย่าง ทั้งการตั้งสร้างบ้านแปงเมือง วรรณกรรมและภาษา ศาสนาและศาสนสถาน การสงครามและอาวุธ รวมถึงเศรษฐกิจโลกและการแผ่อำนาจ พิพิธภัณฑ์อิรักในกรุงแบคแดดเป็นเสมือนแอ่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายนับหมื่นแสน ขนานไปกับการเป็นดินแดนอิรักยุคใหม่ เป็นพื้นที่วัฒนธรรมเมืองแรกๆ ของโลก มีเมืองหลายแห่งที่ล้อมด้วยป้อมปราการ ราชวังที่ซับซ้อน มหึมา และสิ่งก่อสร้างทางศาสนา ที่ได้พัฒนาและวิวัฒน์ผ่านกาลเวลาหลายศตวรรษ เหล่านี้ได้กลายเป็นถาวรสถานในภูมิทัศน์ของดินแดนระหว่างแม่น้ำ ความรู้มากมายที่เกี่ยวกับดินแดนเมโสโปเตเมียมาจากการค้นคว้าทางโบราณคดี หรือถ้าจะมองให้ดีแล้วอิรักทั้งประเทศเลยกระมังที่เป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี แหล่งที่สำรวจแล้วมีจำนวนมากกว่า 10,000 แห่ง และยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่รอคอยการค้นพบ การวิจัยแหล่งทางโบราณคดีขณะนี้ดำเนินการไปแล้วเพียง 1,500 แห่ง สิ่งที่ขุดค้นพบจากแหล่งโบราณคดีเกือบทั้งหมดเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก ในกรุงแบกแดด จะมีเพียงชิ้นสำคัญบางชิ้นเท่านั้นที่เก็บรักษาและจัดแสดงในสถาบันใหญ่ๆ เช่น บริติช มิวเซียม ประเทศอังกฤษ และพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ประเทศฝรั่งเศส   พิพิธภัณฑ์ในอิรักกำเนิดขึ้นในปี 1923 โดยทำหน้าที่ในการรักษาดูแลโบราณวัตถุที่ได้มาจากแหล่งโบราณคดีอัสซีเรียน (Assyrian Site) บาบิโลเนียน (Babylonian Site) และสุมาเรียน (Sumerian Site) พิพิธภัณฑ์เป็นห้องใหญ่ที่ตั้งอยู่ภายใน al-Qushlah หรือทำเนียบรัฐบาลอิรัก อยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไทกริส เมื่อมีวัตถุจากการขุดค้นจำนวนมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีอาคารที่แยกเป็นอิสระ อาคารใหม่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเดียวกัน ใกล้สะพาน al-Shuhada และได้รับการเรียกขานว่า พิพิธภัณฑ์ อิรัก (Iraq Museum) หญิงสาวอาหรับเชื้อสายอังกฤษ เกอร์ทรูด เบลล์ (Gertrude Bell) ผู้เป็นทั้งนักสำรวจและนักโบราณคดีสมัครเล่น ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ จนกระทั่งการจากไปของเธอในปี 1926   พิพิธภัณฑ์รับวัตถุสะสมอีกจำนวนมาก จนในปี 1966 จึงสร้างอาคารเพิ่มเติมบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ และขนานนามว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก (Iraq National Museum) เป็นอาคารปูนสองชั้น พร้อมด้วยชั้นใต้ดิน ห้องจัดแสดงจำนวนมากมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีความกว้าง 13 - 18 เมตร มีสวนและสนามหญ้าโดยรอบ มีความยาวประมาณ 50 เมตร และยังมีเฉลียงทางเดินที่มีหลังคาคลุมโดยรอบ   20 ปีให้หลัง พิพิธภัณฑ์ก่อสร้างอาคารในลักษณะเดียวกันเพิ่มเติม ทั้งนี้ มีห้องจัดแสดงเพิ่มเติมจำนวน 20 ห้อง เป็นพื้นที่ทั้งหมด 11,000 ตารางเมตร ห้องจัดแสดงจัดแบ่งตามเงื่อนไขของเวลา จากยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสุมาเรียนในชั้นแรก และชั้นใต้ดินจัดแสดงวัตถุที่ได้จากการขุดค้นพบในยุคของอาซิเรียนและอิสลาม ห้องจัดแสดงส่วนที่เกี่ยวข้องกับโบราณสมัยอาซิเรียน สร้างบรรยากาศด้วยการแสดงรูปสลักขนาดใหญ่ ซึ่งมีความยาว 15 เมตร และสูง 5 เมตร รูปสลักบอกเล่าเรื่องราวของพิธีกรรมในอดีตสมัยไนน์เวห์ (Nineveh) และ อเชอร์ (Ashur) รวมทั้งรูปสลักยักษ์ที่มีหัวเป็นมนุษย์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นทวารบาลของอาซิเรียนนครในยุคไนน์เวห์และคอร์ซาแบด (Khorsabad) ตั้งตระหง่านอยู่บนฐานหินในห้องเช่นกัน   ส่วนห้องจัดแสดงที่เหลือนำเสนอวัตถุมากกว่า 10,000 ชิ้น จากตราประทับรูปทรงกระบอกชิ้นเล็กไปจนถึงรูปปั้น รูปสลักขนาดใหญ่ วัตถุต่างๆ เหล่านี้มีทั้งที่ทำด้วยดิน ดินเผา โลหะ กระดูก ผ้า กระ ดาษ แก้ว ไม้ หินปูน พยานวัตถุที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นอารยธรรมของมนุษยชาติกว่า 10,000 ปี จากช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์เข้าสู่สมัยสุมาเรียน บาบิโลเนียน อาซิเรียน ฮาเทรอน์ (Hartrene) พาร์เธียน (Parthian) ซาซ์ซานิด (Sassanid) จนถึงยุคอิสลาม วัตถุที่จัดแสดงเป็นจำนวนเพียง 3 % ของมรดกอิรัก ทั้งอักษรดินปั้นคูนิฟอร์มกว่า 100,000 ชิ้น หมายรวมถึงระบบการเขียนคูนิฟอร์มเดิมจากอูรูค (Uruk) บัญญัติดั้งเดิมของมนุษยชาติ (ศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล) รวมทั้งจดหมายเหตุที่ประเมินค่ามิได้ของซิปปาร์ (Sippar) ซึ่งกอปรด้วยอักษรดินกว่า 800 ชิ้นจากยุคบาร์บิโลเนียนใหม่ (Neo-Babylonian ประมาณ 625 - 539 ปี ก่อนคริสตกาล) ทรัพย์สินทั้งหมดนี้ทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก เป็นแอ่งมรดกทางวัฒนธรรมของตะวันออกใกล้อันเก่าแก่ และเป็นแหล่งที่จะพลาดไม่ได้เลยสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์อันยาวนาน   ในระหว่างที่มีสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1991 กระทรวงการสื่อสาร ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิด และส่งผลกระทบต่อพิพิธภัณฑ์และวัตถุจัดแสดงจำนวนหนึ่ง พิพิธภัณฑ์ปิดตัวลง เจ้าหน้าที่ตัดสินใจเคลื่อนย้ายวัตถุสะสมไปอยู่ในที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันงานสะสมจากการทิ้งระเบิด ด้วยความคิดที่ว่าสงครามจะไม่ยืดเยื้อมากกว่า 2-3 เดือน เจ้าหน้าที่จัดเก็บวัตถุที่มีค่าไม่ว่าจะเป็นเครื่องเคลือบดินเผา งาช้าง อักษรดินเผาคูนิฟอร์ม ไว้ในขนสัตว์และสำลี ส่วนวัตถุที่ทำด้วยโลหะห่อหุ้มด้วยยาง วัตถุทั้งหมดได้รับการบรรจุใส่หีบเหล็กที่มีการลงกุญแจ และนำไปเก็บไว้ที่ชั้นใต้ดินของอาคารคลังเดิมของพิพิธภัณฑ์   เป็นที่น่าเสียดายว่า เหตุการณ์มิได้เป็นอย่างที่คาดหมายไว้ ไม่เพียงแต่การทิ้งระเบิดยังคงดำเนินต่อไป การจ่ายไฟฟ้าเกิดขัดข้องเนื่องด้วยการทำลายแหล่งจ่ายไฟฟ้า จากนั้นเป็นการงดจ่ายไฟฟ้า ทำให้เครื่องปั๊มน้ำที่ติดตั้งไว้ที่ชั้นใต้พื้นดินไม่สามารถทำงานตามปกติ น้ำนองอยู่ที่พื้นชั้นใต้ดิน หีบเหล็กเริ่มเป็นสนิม เป็นเหตุให้ความชื้นแทรกเข้าไปยังหนังสัตว์และยางที่ปกป้องวัตถุที่เคลื่อนย้ายจากที่จัดแสดง ที่สุดกลายเป็นที่เพาะแบคทีเรีย แมลงกินผ้า และจุลินทรีย์อื่นที่เป็นอันตราย วัตถุจำนวนนับร้อยจัดส่งให้นักอนุรักษ์ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เนื่องจากขาดสารเคมีที่จำเป็นต่อการอนุรักษ์ และสารเคมีเหล่านั้นเป็นสิ่งต้องห้าม ตามประกาศคณะกรรมการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในขณะนั้น   ในเดือนเมษายน 2000 หรือ 9 ปีให้หลังจากการปิดให้บริการ พิพิธภัณฑ์เปิดต้อนรับสาธารณชนอีกครั้ง วัตถุนับร้อยที่มีอายุกว่า 2,000 - 3,000 ปี ได้รับความเสียหาย และบ้างมีสภาพไม่สามารถซ่อมแซมได้ในสภาพดังเดิม ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2003 หรือประมาณ 3 ปี หลังจากที่การให้บริการใหม่ พิพิธภัณฑ์กลับตกอยู่ในสภาพที่จะต้องปิดตัวเองอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งการหาสถานที่ปลอดภัยสำหรับวัตถุสะสม ผลกระทบในครั้งนี้สร้างความเสียหายต่องานสะสมมากกว่าครั้งที่แล้ว ภาวะภายหลังสงครามที่ขาดความเป็นระเบียบนำมาซึ่งโจรและการปล้น มิใช่แต่เพียงที่ทำงานของรัฐบาลหรือธุรกิจเอกชนที่เป็นเป้าของการแย่งชิงทรัพย์สิน ทรัพย์สมบัติของพิพิธภัณฑ์กลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่มีคนขโมย บางชิ้นมีอายุเก่าถึง 7,000 ปี วันที่เกิดการขโมยทรัพย์สินมากที่สุด คือ วันพฤหัสบดีที่10 เมษายน พนักงานรักษาความปลอดภัยต้องประจัญหน้ากลุ่มคนที่ต้องการเจ้ามาลักสิ่งของล้อรถไถ เกวียน รูปปั้นรูปหล่อที่ประเมินค่ามิได้ ภาชนะ และอักษรดิน ฯลฯ ห้องจัดแสดงว่างเปล่ายกเว้นเศษกระจกจากตู้จัดแสดง หรือเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่เรียงรายอยู่บนพื้น   วันที่ 3 กรกฎาคม กองกำลังรักษาความมั่นคงชั่วคราวจัดนิทรรศการ 1 วันที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สิ่งที่จัดแสดงเป็นเครื่องทองที่มาจากสุสานของกษัตริย์อูร์ (Ur) รวมทั้งของจำลองเช่นแจกันวาร์กา (Warka Vase) แต่ดาวเด่นของการแสดงครั้งนี้ คือ สมบัติของนิมรูด (Nimrud) เป็นเครื่องทองที่ขุดค้นโดยนักโบราณคดีชาวอิรักที่นิมรูดในช่วงปี 1988 ถึง 1990 ณ นครแห่งวัฒนธรรมอาซิเรียนใหม่นี้ ตั้งอยู่ทางตะวันตออกเฉียงใต้ของโมสุล (Mosul) ปรากฏที่ฝั่งพระศพจำนวน 4 แห่งอยู่ใต้ชั้นของพระราชวังตะวันตกเฉียงเหนือของกษัตริย์อชูร์นาซิปาลที่ 2 (883 - 859 ปีก่อนคริสตกาล) มรดกเหล่านี้ได้รับการดูแลที่ธนาคารกลางของอิรักตั้งแต่เกิดสงครามอ่าวในปี 1991 เมื่อพิพิธภัณฑ์โรมิช-เยอรมนิชในเมนซ์ ประเทศเยอรมนีต้องการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมข้างต้น ไม่มีบริษัทประกันภัยใดรับเป็นนายประกัน เพราะค่าของมันที่สูงเกินไป   นิทรรศการเดือนกรกฎาคมเป็นสิ่งที่กองกำลังรักษาความมั่นคงชั่วคราวต้องการแสดงให้เห็นว่าสภาพสังคมทั่วไปกลับสู่สภาพปกติ แต่เป็นที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งว่าภายหลังจากที่ปิดนิทรรศการประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง ทหารชาวอเมริกาถูกปลิดชีพโดยมือสังหารที่สุ่มยิงจากระยะไกล และ 2 - 3 วันต่อมานักข่าวชาวอังกฤษถูกฆาตกรรมในอีกฝากหนึ่งของถนน   ความสูญเสียของมวลมนุษยชาติทั้งมวล   ในวันนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อิรัก อยู่ภายใต้เงาทะมึนของความรุ่งเรืองในอดีต ตามข้อมูลล่าสุด วัตถุขนาดใหญ่ 30 ชิ้น และวัตถุเล็กจำนวนมากถึง 12,000 ชิ้นหายไป แต่ละชิ้นเป็นชิ้นเอกที่ไม่สามารถหามาทดแทนได้ แต่ละชิ้นมีลักษณะเฉพาะและมีเรื่องราวของมันเอง ประวัติความเป็นมาเหล่านั้นเป็นฐานรากหนึ่งของสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน มรดกโบราณคดีไม่ใช่ทรัพยากรทดแทนได้ และเมื่อส่วนใดถูกทำลายไป ส่วนนั้นก็จะสูญไปชั่วนิรันดร์   การทำงานร่วมกันเพื่อให้แอ่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแห่งนี้กลับมาทำหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิเป็นหน้าที่ของชุมชนโลก และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว องค์การยูเนสโกในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศแห่งเดียวที่มีศักยภาพทำหน้าที่เป็นกองหน้าป้องกันมรดกของมนุษยชาตินี้ ดำเนินงานมากมายทั้งในระหว่างที่มีการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ก่อนการรบครั้งล่าสุด และจวบจนทุกวันนี้ ในปี 1999 องค์การยูเนสโกติดตั้งระบบปรับอากาศและรักษาความปลอดภัยภายในพิพิธภัณฑสถาน และยังจะดำเนินการอื่นๆ เพื่อสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่มหาศาลของอิรักต่อไป   ปัจจุบัน องค์การยูเนสโกดำเนินงานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะซ่อมแซมพิพิธภัณฑ์ในทุกส่วนและทุกด้าน นอกจากส่วนพื้นที่จัดแสดงและสำนักงานที่ได้รับความเสียหายอย่างมากจากการขโมยแล้ว ส่วนห้องปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์ได้รับความเสียหายไม่น้อยไปกว่ากัน ช่วงปีที่เกิดวิกฤตดังกล่าวเป็นเงื่อนไขให้นักอนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในการใช้เครื่องมือและวัสดุที่เหมาะสมในการอนุรักษ์ วัสดุโดยส่วนใหญ่เป็นสารเคมีที่จะต้องนำเข้า แต่กลับเป็นสิ่งต้องห้าม การบุกเข้าปล้นทั้งในระหว่างและภายหลังการต่อสู้ ทำให้สถานการณ์ของห้องปฏิบัติการแย่ลง ซึ่งในขณะนี้ได้มีการปรับปรุงอย่างเต็มกำลัง เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของพิพิธภัณฑ์ ระบบความปลอดภัยได้รับความเสียหายเช่นกัน ความเสียหายที่เกิดกับงานมาตรการพื้นฐานเหล่านี้นำไปสู่การตัดสินในการวางระบบรักษาความปลอดภัยของวัตถุสะสม ทั้งความเสี่ยงต่ออัคคีภัย การลักลอบขโมย โจรผู้ร้าย ฯลฯ การจัดแสดงนิทรรศการถาวรจะได้รับการทบทวนและออกแบบใหม่ โดยคำนึงถึงคุณค่าของงานสะสมที่เฉพาะและมีความพิเศษเช่นนี้   ในขณะนี้ ทรัพยากรบุคคลกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากยิ่งกว่าที่เคยเป็น ผู้ปฏิบัติงานได้อุทิศตนเองเพื่อความปลอดภัยของมรดกทางวัฒนธรรม และเพื่อทำให้สถานการณ์ทุกอย่างเข้าสู่สภาพปกติ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนความชำนาญการต่างๆ ที่เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ศึกษา การสร้างความทันสมัยและการปรับเปลี่ยนการใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม   การปฏิสังขรณ์พิพิธภัณฑ์อิรักและงานสะสมที่ประเมินค่ามิได้จะต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างเร่งด่วน และเป็นความรับผิดชอบของชุมชนนานาชาติทั้งมวล ในปัจจุบัน การดำเนินงานดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีงจากองค์กรชำนาญการต่างๆ สถาบันทางวัฒนธรรม และด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศนี้จะผลักดันให้พิพิธภัณฑ์ของแบคแดดกลับมาตั้งตระหง่าน และเปิดประตูต้อนรับกลุ่มผู้ชมอย่างภาคภูมิทัดเทียมกับพิพิธภัณฑสถานอื่นของโลก   แปลและเรียบเรียงจาก Usam Ghaidan and Anna Paolini, A Short History of the Iraq National Museum. (Museum International. No. 219-220. Vol. 55, 2003), pp. 97-101.   *ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านริมแม่น้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลก: จากของเก่า-ของโบราณสู่การบูรณาการองค์ความรู้เพื่อชุมชน

22 มีนาคม 2556

แม่ น้ำน่านเป็นแม่น้ำสาขาสายสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในเขตจังหวัดน่าน แล้วไหลผ่านจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และไหลมาบรรจบกับแม่น้ำยมและแม่น้ำปิงที่จังหวัดนครสวรรค์จนกลายแม่น้ำเจ้า พระยา สองฝั่งแม่น้ำน่านช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดพิษณุโลกเต็มไปด้วยเรื่องราวทางด้าน ประวัติศาสตร์ การตั้งถิ่นฐาน เศรษฐกิจ ความเชื่อและวัฒนธรรมที่น่าสนใจซ่อนอยู่มากมายอย่างที่เราไม่เคยทราบมาก่อน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้อมูลเบื้องต้นหรือข้อมูลพื้นฐานที่ชุมชนสามารถนำ มาบูรณาการหรือประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์และคุณค่าได้ ตลอด ความยาวกว่า 130 กิโลเมตรที่แม่น้ำน่านในเขตจังหวัดพิษณุโลก พบว่ามีหลายชุมชนที่มีการสร้างสรรค์วัฒนธรรมหรือนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมา ประยุกต์ใช้และสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีตมาจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน การนำเรือเอี่ยมจุ๊นที่เลิกใช้แล้วขึ้นบกมาทำเป็นห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ ของชุมชน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดทางด้านการอนุรักษ์และ บูรณาการองค์ความรู้ท้องถิ่นของผู้คนริมฝั่งแม่น้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลกได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนจึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่มีอยู่ริมฝั่งแม่ น้ำน่านในปัจจุบัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการบูรณาการวัฒนธรรมริมน้ำเพื่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุด นอกเหนือจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พิพิธภัณฑ์เมืองพิษณุโลก ที่ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนวังจันทน์)และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี ซึ่ง รวบรวมโบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ของชาวพิษณุโลกในอดีตมาจัดแสดงแล้ว ในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำน่านยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่ชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน สร้างสรรค์ขึ้นอีกหลายแห่ง ล้วนแล้วแต่มีสิ่งของที่น่าสนใจไม่แพ้พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่เลยทีเดียว 1. พิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียน ตั้ง อยู่ภายในวิหารหลวงพ่อทองสุข วัดท่าตะเคียน ตำบลจอมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก วัดท่าตะเคียนเป็นวัดโบราณแต่ไม่ปรากฏร่องรอยโบราณสถานแล้ว เนื่องจากว่ามีการสร้างโบสถ์หลังใหม่ทับ แต่ยังปรากฏใบเสมาหินชนวนศิลปะอยุธยาตอนกลางหลายใบปักอยู่รอบโบสถ์ วัดนี้ยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นเก่าแก่อยู่ในวิหารชื่อว่าหลวงพ่อทองสุข ภายในวิหารนี้ยังถูกจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นด้วยภายในวิหารมีการจัดแสดง พระพุทธรูปโบราณศิลปะพื้นบ้าน เครื่องถ้วยลายคราม ตู้พระธรรมลายรดน้ำ คัมภีร์ใบลาน สมุดข่อยและผ้าห่อคัมภีร์ ซึ่งเป็นฝีมือของชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งถิ่นฐานในสมัยรัชกาลที่ 3 2. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางทราย ตั้ง อยู่ในวัดบางทราย ตำบลวังน้ำคู้ อำเภอเมืองพิษณุโลก บ้านบางทรายเป็นชุมชนโบราณเก่าแก่ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีว่า เป็นที่ตั้งทัพริมแม่น้ำน่านแห่งหนึ่งของพระเจ้ากรุงธนบุรีคราวศึกอะแซหวุ่น กี้ พ.ศ.2318 ภายในวัดบางทรายยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นเก่าแก่เหลืออยู่เป็นหลัก ฐาน ในอดีตเคยมีใบเสมาเก่าและเครื่องสังคโลกจำนวนมากแต่ถูกโจรกรรมไป ต่อมาจึงได้มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางทรายขึ้นเพื่อเก็บรักษาข้าว ของเครื่องใช้ที่เหลืออยู่โดยได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลบ้านใหม่เมื่อ ปี พ.ศ.2548 เป็นอาคารเรือนไทยสามหลังติดกัน ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่วัดเก็บรักษาไว้ เช่น เครื่องถ้วย พระพุทธรูป ตาลปัตร ถ้วยรางวัลที่ทางวัดได้รับในการแข่งเรือยาวประเพณี 3. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสว่างอารมณ์ ตั้ง อยู่ในวัดสว่างอารมณ์ ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก วัดสว่างอารมณ์เป็นวัดโบราณมีการพบซากโบสถ์ซึ่งเป็นโบราณสถานสมัยอยุธยาตอน ต้น ขณะนี้กำลังได้รับการบูรณะโดยชาวบ้านซึ่งมีการดัดแปลงเพื่อให้ใช้ประโยชน์ ได้ รอบโบสถ์มีใบเสมาหินทรายสมัยอยุธยาปักอยู่หลายใบ ภายในวัดมีการจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตามโครงการศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชนของกระทรวงวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเป็นอาคารสองชั้น ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของชาวบ้านในอดีตและ โบราณวัตถุที่วัดเก็บรักษาไว้ นอกจากนี้ยังมีอาคารจัดแสดงด้านนอกที่จำลองวิธีการทำนาและการเดินทางในอดีต ด้วย 4. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกำแพงมณี ตั้ง อยู่บนศาลาการเปรียญหลังเก่า วัดกำแพงมณี (วัดกำแพงดินนอกเดิม)ตำบลโคกสลุด อำเภอบางกระทุ่ม ซึ่งมีการดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ ภายในจัดแสดงคัมภีร์โบราณ อาวุธ ข้าวของเครื่องใช้และเครื่องมือประกอบอาชีพของชาวบ้านในอดีต ด้านนอกศาลายังมีการจัดแสดงเรือพื้นบ้าน เกวียน และวิธีการทอผ้าด้วย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้เกิดขึ้นจากดำริของพระครูผาสุกิจวิจารณ์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ในภายหลังจึงได้รับการส่งเสริมตามโครงการศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใย ชุมชนของกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนี้ที่ริมแม่น้ำน่านด้านหน้าวัด ยังมีศูนย์การเรียนรู้และห้องสมุดเรือ ซึ่ง เป็นเรือเอี้ยมจุ๊นที่พบจมอยู่ในแม่น้ำยมบริเวณบ้านกำแพงดินห่างจากวัดกำแพง มณีไปทางตะวันตกราว 2 กิโลเมตร ทางวัดจึงได้ให้ช่างไปชักลากขึ้นมาบูรณะแล้วดัดแปลงเป็นห้องสมุด เป็นห้องเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านการศึกษา ของชุมชน   พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่กล่าวมานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมมือกันของชุมชน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา วัดและประชาชนที่ร่วมกันสืบค้นข้อมูลในท้องถิ่น เพื่อความสามัคคีและความภาคภูมิใจของท้องถิ่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำประวัติท้องถิ่น ทำพิพิธภัณฑ์ ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม และสร้างแหล่งท่องเที่ยวภายในชุมชนที่พร้อมจะต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มา เยือนด้วยความภาคภูมิใจ นอกจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านทั้งสี่แห่งที่ผู้เขียนได้นำเสมอมาข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายชุมชนที่กำลังพยายามจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน ตนเอง เช่น การโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไผ่ขอน้ำ โครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหาย โครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์บ้านปากพิงและโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์ พื้นบ้านวัดโพธิญาณ ซึ่งวัดทุกแห่งล้วนแล้วแต่เป็นวัดประจำชุมชนริมแม่น้ำน่านในเขตจังหวัด พิษณุโลกทั้งสิ้น ตลอดสายน้ำน่านที่ไหลผ่านจังหวัดพิษณุโลก จะเห็นได้ว่ามีแหล่งทรัพยากรทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ มากมายที่สามารถบูรณาการเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนริมน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโบราณสถาน การจัดทำพิพิธภัณฑ์ การสืบค้นข้อมูลท้องถิ่น ซึ่งสิ่งที่ชุมชนเหล่านี้กำลังจะดำเนินการก็คือ การส่งเสริมให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทในการเป็นอาสาสมัครยุวมัคคุเทศก์ประจำ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน โดยความร่วมมือกันระหว่างชุมชนกับกลุ่มประวัติศาสตร์สองข้างทาง ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ ดร.จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นประธานที่ปรึกษาในการจัดกิจกรรมต่างๆ กับชุมชน เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังเกิดความรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่น ทั้งนี้ก็เพราะว่า ชุมชนริมแม่น้ำน่านทั้งหมดต่างก็ตระหนักดีว่าการพัฒนาคนนั้นสำคัญกว่าการ พัฒนาสิ่งใด *นัก ศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษากลุ่มประวัติศาสตร์สองข้างทาง ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

บาหลี: พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

22 มีนาคม 2556

ฮุตแมน (Houtman) ไม่ใช่ชาวยุโรปคนแรกที่เข้ามาติดต่อกับชาวบาหลี แต่บันทึกของเขาที่เกี่ยวกับบาหลีในปี ค.ศ. 1597 ทิ้งไว้ซึ่งความทรงจำที่ติดแน่นในสำนึกเกี่ยวกับบาหลีของชาวตะวันตก ในบันทึกได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับลูกเรือสองคนของฮุตแมนที่ละทิ้งภาระกิจไป เนื่องจากไม่อาจต้านทานเสน่ห์ของสาวบาหลีได้ แต่เหตุผลที่แท้จริงก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก ในบันทึกนั้นบรรยายถึงสภาพลูกเรือของฮุตแมนที่อ่อนล้าจากการใช้ชีวิตที่ยาก ลำบากในชวาและประสบความล้มเหลวในการเจรจาการค้าในชวา เมื่อได้มาพักฟื้นที่บาหลีก่อนจะเดินทางยาวไกลกลับบ้าน ภาพของบาหลีจึงมีแต่ด้านที่สวยงาม ภาพ "บาหลีน้อยอันเป็นที่รัก" จึงแพร่กระจายออกไป   งานเขียนของฮุตแมนชิ้นนี้มีอิทธิพลต่องานเขียนอื่น ๆ ต่อมา เช่นงานของจาร์คอบีน แซมมวล เพอร์แชส (Jacobean Samuel Purchas) เพอร์แชสใช้บันทึกการเดินทางของฮุตแมนและนักเดินเรือชาวดัตช์คนอื่น ๆ ในการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับบาหลีโดยมีจุดมุ่งหมายในด้านการค้าเป็นหลัก เขาจึงมีอิสระที่จะเขียนเน้นถึงความน่าตื่นตาตื่นใจของบาหลี เมื่อเขาอธิบายถึงกษัตริย์บาหลีและบริวาร การนับถือศาสนาฮินดูของชาวเกาะ และประเพณีการเผาแม่ม่ายบนกองฟืน   บาหลีไม่เพียงแค่ถูกเขียนบรรยายว่าเป็นเกาะที่มีเสน่ห์ แต่ยังถูกแสดงผ่านสื่อทางภาพด้วย เช่น หนังสือของฮุตแมนที่ตีพิมพ์ในปี 1598 ประกอบไปด้วยภาพทาสแบกเสลี่ยงขุนนาง ภาพกษัตริย์ภายใต้เศวตฉัตรที่ประทับบนเกวียน และภาพหญิงพื้นเมืองกับนักดนตรีในพิธีศพของสามี ภาพทั้งสามในหนังสือของฮุตแมนนี้แพร่หลายมากและถูกใช้ประกอบในหนังสือเล่ม อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับบาหลี   ภาพลักษณ์ดั้งเดิมที่มีต่อบาหลีของพวกยุโรปส่วนใหญ่จะเป็นภาพแบบ ฉบับ(stereotype)ในแบบวัฒนธรรมอินเดีย ดังนั้นการบรรยายถึงขนบประเพณีของพิธีสะตี(การเผ่าแม่ม่าย)ในบาหลี บันทึกจึงมักอ้างว่าคล้ายกับที่อินเดีย ในศตวรรษที่ 16 - 17 แม้บาหลีจะเป็นที่รู้จักของชาวยุโรปแล้ว แต่บันทึกของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดียไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับราชประเพณี บาหลีเลย ดัตช์ทำสัญญากับผู้ปกครองบาหลีในเรื่องการค้าทาส และมีการตั้งสถานีการค้าบนเกาะด้วย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างดัตช์กับชาวบาหลีไม่สู้จะดีนัก ชาวบาหลีรู้สึกว่าตนเองถูกคุกคามอิสรภาพ   ประเพณีฮินดูของบาหลีเช่น การเผาแม่ม่าย เป็นสิ่งที่ดึงดูดใจอย่างต่อเนื่องกับชาวยุโรป และยังเป็นแนวคิดสำคัญที่แพร่หลายจนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 20 ภาพประกอบเกี่ยวกับพิธีสะตีในบาหลีในบันทึกของชาวยุโรปใช้ภาพจากอินเดีย โดยที่ข้อเขียนที่บรรยายถึงพิธีกลับแตกต่างและไม่ได้ไปด้วยกันกับภาพ ตัวอย่างแรก ๆ ของงานเขียนในลักษณะนี้เช่น Jan Oosterwijk ที่อธิบายพิธีกรรมเผาตัวเองของราชินีบาหลีและการสังเวยชีวิตของทาสผู้หญิง อีก 22 คน ในปี 1633 ตามด้วยพิธีกรรมที่ข้าทาสผู้ซึ่งสวมชุดขาวเตรียมตัวสำหรับการถูกประหารด้วย กริช ผู้เขียนกล่าวถึงแต่ในแง่ที่เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือดของพิธีกรรม และบรรยายถึงความกล้าหาญของหญิงสาวที่เชือดตัวเองด้วยกริช พิธีกรรมนี้ยิ่งเพิ่มความน่าตื่นตาตื่นใจของบาหลีมากยิ่งขึ้นไปอีก   นอกจากนี้ยังเป็นที่เลื่องลือกันว่าชาวบาหลีเป็นพวกดุร้ายป่าเถื่อน ภาพลักษณ์ของบาหลีในฐานะดินแดนแห่งความป่าเถื่อนเกิดขึ้นจากจดหมายและรายงาน ของพ่อค้าชาวดัตช์ Jan Troet พ่อค้าดัตช์ที่มีชื่อเสียงในแถบนี้เป็นผู้มีอิทธิพลต่อความคิดนี้ เขาร้องเรียนกับบริษัทดัตช์อีสต์อินเดียเกี่ยวกับทาสชาวบาหลีที่ไม่เชื่อฟัง ในจดหมายปี 1661 Troet อธิบายถึงการที่พวกทาสบาหลีก่อการจลาจลและยึดเรือของเขา จากนั้นปี 1665 บริษัทได้รับข้อร้องทุกข์ต่าง ๆ เรื่องทาสบาหลี มีการห้ามค้าทาสชาวบาหลีแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ   สงครามนโปเลียนฟื้นความสนใจใหม่อีกครั้งต่อบาหลีของชาวยุโรป เริ่มจากอังกฤษ และดัตช์ในเวลาต่อมา บาหลีดึงดูดความสนใจอังกฤษเพราะยุทธศาสตร์ที่ตั้งที่อยู่ติดกับชวา และอังกฤษต้องการสานสัมพันธ์กับบาหลี และต้องการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับอารยธรรมเก่าแก่ของบาหลี สงครามในยุโรปขณะนั้นที่ฝรั่งเศสเข้ายึดเนเธอร์แลนด์ แล้วอังกฤษได้อำนาจปกครองเหนือเกาะชวาแทนรัฐบาลดัตช์ที่ถูกขับออกมาในกรุง ลอนดอน ตั้งแต่ปี 1811-1816 เซอร์ธอมัส แสตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Sir Thomas Stamford Raffles) ที่ต่อมาเป็นผู้ก่อรากสร้างฐานเกาะสิงคโปร์และปกครองหมู่เกาะที่อยู่ในการ ครอบครองของดัตช์ในฐานะตัวแทนข้าหลวงใหญ่ในปัตตาเวีย แรฟเฟิลส์เน้นสร้างความสัมพันธ์กับผู้ปกครองบาหลี และมองว่าเกาะบาหลีเป็นกุญแจสำคัญในแผนการของเขา ที่ต้องการลบล้างอำนาจดัตช์เหนือหมู่เกาะอินดีส์   การเข้ามาปกครองหมู่เกาะอินดีส์ของแรฟเฟิลส์ เป็นเสมือนผลผลิตของยุคแสงสว่างทางความคิดในยุโรป(Europe Enlightenment) และเป็นการนำทฤษฎีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ แรฟเฟิลส์มองคนพื้นเมืองในฐานะผู้ประกอบการค้าที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ "พวกคนพื้นเมืองที่ขี้เกียจ" ไม่เหมือนกับที่คนดัตช์และอังกฤษในมลายามอง นักคิดที่มีอิทธิพลต่อแรฟเฟิลส์คือ อดัม สมิธ (Adam Smith/ 1723-1790) และ ฌอง ฌากส์ รุสโซ่ (Jean-Jacques Rousseau/ 1712-1778) แรฟเฟิลส์ให้ความสำคัญต่อแรงงานชาวนาในชวา มีการเปลี่ยนรูปแบบการเก็บภาษี และการให้เช่าที่ดิน   เขาพบว่าวัฒนธรรมบาหลีเต็มไปด้วยวัตถุดิบมากมายสำหรับนำทฤษฎีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์การเมือง เขาพอใจที่พบว่าชาวบาหลีไม่ใช่พวกเซื่องซึมแบบคนชวา และเขาสรรเสริญความเป็นลูกผู้ชาย และประทับใจความเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนของบาหลี ในฐานะผู้ที่สมาทานแนวคิดของรุสโซ่ แรฟเฟิลส์ยังมองชาวบาหลีในฐานะเป็น"ความป่าเถื่อนที่ดีงาม" (noble savages) เขารู้สึกว่าผู้ปกครองของบาหลีไม่ได้กดขี่เหมือนกับที่ชวา สำหรับเขาแล้ว ชนพื้นเมืองบาหลีไม่เพียงไม่ได้ถูกกดขี่ แต่ยังไม่ได้เป็นคนเกียจคร้านด้วย ชาวบาหลีแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่มีมากกว่าเพื่อนบ้านในเรื่องของอารยธรรม และความพร้อมในการพัฒนา   มุมมองของแรฟเฟิลส์คล้ายกับนักคิดด้านตะวันออกศึกษาหลายคน บาหลีถูกมองว่าเป็น"จุดเริ่มต้นของอารยธรรมโบราณของชาวพื้นเมืองชวา" แม้แรฟเฟิลส์จะเน้นย้ำถึงภาพลักษณ์ของการเผาแม่ม่าย แต่เขาก็ปฏิเสธว่าพิธีดังกล่าวไม่ใช่หัวใจสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ที่มีคุณค่า ของบาหลี บาหลีแสดงถึงความรุ่งโรจน์ของอารายธรรมที่มีมายาวนานอย่างต่อเนื่องอย่างที่ ชวาไม่มี บาหลีเป็นพิพิธภัณฑ์ของมรดกอารยธรรมฮินดูที่รุ่งโรจน์ แรฟเฟิลส์เห็นว่าอารยธรรมโบราณที่สั่งสมของบาหลีกับศักยภาพในการพัฒนาให้ เป็นสมัยใหม่จะเดินคู่กันไปได้ด้วยดี   มุมมองด้านบวกของแรฟเฟิลส์ต่อบาหลีไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางนัก หลังจากที่ดัตช์เข้าไปมีอำนาจปกครองอีกครั้งเหนือชวา ภาพลักษณ์เก่าของบาหลีที่เป็นดินแดนป่าเถื่อนถูกปลุกขึ้นอีกครั้งในงานของH.A. Van der Broek ข้าราชการที่ถูกส่งมาในฐานะทูตของเกาะ Van der Broek มีทัศนะในด้านลบต่อบาหลี อาจเพราะกษัตริย์บาหลีขัดขวางและเพิกเฉยต่อข้อเสนอทางการเมืองของเขา เขาดำเนินการสร้างภาพแบบฉบับเก่า ๆ ขึ้นมา แม้ว่างานเขียนของเขามีแรงจูงใจจากทางการเมืองก็ตาม แต่ก็น่าสนใจตรงที่เนื้อหาที่เขาเขียนเต็มไปด้วยข้อมูลด้านชาติพันธุ์ Van der Broek เห็นว่าทางเดียวที่บาหลีจะพัฒนาได้คืออยู่ใต้การปกครองของดัตช์   ภาพลักษณ์ด้านลบของบาหลียังถูกตอกย้ำจากการที่ชาวบาหลียึดมั่นในศาสนาฮินดูและ ไม่ยอมรับ "ความปรารถนาดี" ของหมอสอนศาสนา นำมาซึ่งความไม่พอใจมาสู่พวกหมอสอนศาสนา นอกจากนี้งานของJ.H. Moor บรรณาธิการ Malacca Observer and Singapore Chronocle ที่มีบทล้อเลียนและดูถูกชาวเกาะ โดยมีทัศนะว่าชาวบาหลีผิดที่ไม่ให้ความเคารพคนยุโรป โดยมองว่าที่ยุโรปเข้าไปแทรกแซงบาหลีก็เพื่อจะสอนมารยาทให้ชนพื้นเมือง และทำให้พวกเขาว่านอนสอนง่ายตามความต้องการของบรรดาหมอสอนศาสนาและพ่อค้า   อังกฤษเริ่มมีบทบาทการค้ากับบาหลีมากขึ้นในทศวรรษที่ 1820 และ 1830 นำมาซึ่งความกลัวของดัตช์ต่อการขยายอิทธิพลมาสู่บาหลีของจักรวรรดินิยม อังกฤษ ความทุกข์ร้อนของดัตช์ยิ่งทวีขึ้นอีกเมื่อพ่อค้ายุโรปที่ประสบความสำเร็จที่ สุดในการค้ากับบาหลีคือ ชาวเดนมาร์ก นาม Mads Johansen Lange(1806-1856) ดัตช์จึงต้องการพิชิตเกาะบาหลีให้เบ็ดเสร็จ ภาพลักษณ์การชวนทะเลาะของผู้ปกครองบาหลีจึงถูกขยายมากขึ้น สงครามเพื่อพิชิตบาหลีของดัตช์เริ่มขึ้นในปี 1846 แต่ก็ยังไม่สำเร็จ รายงานของดัตช์มักจะเขียนให้ผู้ปกครองชาวพื้นเมืองเป็นพวกป่าเถื่อนและหลอก หลวง และเขียนถึงอุปนิสัยของชาวบาหลีที่ชอบทะเลาะอาละวาด สงครามครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลงในปี 1906-8 เมื่อราชสำนักและชาวบาหลีต่อสู้แบบยอมตาย ซึ่งเรียกวีรกรรมที่กล้าหาญนี้ว่า "ปูปูตัน" (puputan)   ในวีรกรรมปูปูตันนั้นบรรดาคนในราชสำนักจะสวมเครื่องแต่งกายเต็มยศ แล้วเดินอย่างอาจหาญเข้าไปเผชิญหน้ากับศัตรูแบบยอมตายมากกว่ามีชีวิตอยู่แบบ ไร้ศักดิ์ศรี กัปตัน W.Cool ผู้เห็นเหตุการณ์ ได้บรรยายถึงสถานการณ์ที่น่าสะพรึงกลัว และยังให้ภาพที่เป็นจริงของการโต้ตอบของดัตช์   "พวกนี้เป็นสมาชิกของราชวงศ์ที่เหลือพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก พวกเขาพร้อมจะตายและเดินแถวในชุดที่สง่างามประดับด้วยเพชรนิลจินดา ในมือถือกริชและหอกด้วยท่าเตรียมพร้อม พวกเขาเตรียมตัวด้วยความแข็งแกร่งพร้อมเผชิญหน้ากับทหารของเรา นี่คือปูปูตันที่เลื่องชื่อ! ทหารของเราไม่ได้รับการระคายเคืองสักนิด ฝ่ายตรงข้ามถูกฆ่าตายดั่งใบไม้ร่วง มีเล็ดลอดเพียงไม่กี่คนที่สามารถเข้าประชิดดาบปลายปืนเราได้ แต่พวกนั้นก็ไม่ได้ถูกยิง พวกเราจัดการพวกนั้นด้วยสองมือของเรา"   ปูปูตันมีความหมายว่า "อวสาน" เป็นสัญลักษณ์ประเพณีของการสิ้นสุดลงของอาณาจักร เชื่อกันว่าวิญญาณจะไปสู่สุขคติผ่านการตายในสนามรบ ดั้งนั้นจำเป็นสำหรับชนชั้นปกครองที่ต้องตายอย่างสมเกียรติ ดัตช์เผชิญหน้ากับปูปูตันในการทำสงครามกับบาหลีและตกตะลึงต่อพิธีการฆ่าตัว ตายแบบนี้ ในสายตาของดัตช์ปูปูตันถูกผนวกเข้าไปเป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ความล้าหลังป่า เถื่อนของบาหลี อันประกอบไปด้วยเรื่องการค้าทาส การเผาแม่ม่าย และอุทิศชีวิตในสนามรบ   ปูปูตันเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองในเมือง Klungkung ในปี 1908 แทนที่จะยอมรับอำนาจต่างชาติ ราชวงศ์บาหลีเลือกที่จะตายอย่างมีเกียรติผ่านปูปูตัน อย่างไรก็ดีการที่ดัตช์พยายามแสดงให้ว่าการเข้าครอบครองบาหลีเป็นเรื่องของ ศีลธรรมของผู้มีอารยธรรมสูงส่งมาปลดปล่อยความล้าหลัง การพลีชีพของชาวบาหลีจึงกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ ดัตช์อ้างว่าไม่คาดคิดมาก่อนว่าชาวบาหลีจะตอบโต้ด้วยวิธีการฆ่าตัวตายแบบ นั้น และไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับปูปูตัน ดังนั้นเพื่อที่จะชดเชยการนองเลือดครั้งนั้น และแสดงถึงภาพลักษณ์ที่น่าสรรเสริญของเจ้าอาณานิคม ดัตช์จึงสนับสนุนแนวคิด "พิพิธภัณฑ์มีชีวิต" (Living Museum) ในบาหลีขึ้น ภาพลักษณ์ใหม่นี้มีพื้นฐานอยู่บนการอนุรักษ์วัฒนธรรมของบาหลีและส่งเสริม เกาะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว   นักวิชาการยุโรปด้านตะวันออกศึกษา มีทัศนะมานานแล้วว่า บาหลีเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ของวัฒนธรรมชวาฮินดู มุมมองที่ว่านี้มีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์ในอนาคตของบาหลี ผู้ปกครองชาวดัตช์อาจไม่มีภาพที่ถูกต้องของสิ่งที่เรียกว่าความเป็นบาหลีที่ แท้จริง แต่อย่างน้อยพวกดัตช์มีแนวคิดบางอย่างที่จะบอกว่าความเป็นบาหลีควรจะเป็น อย่างไร ในสายตาของดัตช์ศาสนาฮินดูเป็นรากฐานสำคัญของสังคมบาหลี รวมถึงเป็นรากฐานของการประสานรวมวัฒนธรรมและศิลปะของบาหลี   มรดกอันล้ำค่าเหล่านี้กลายเป็นเครื่องป้องกันการถูกรุกไล่ของโลกสมัยใหม่และได้ รับการบูรณะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ให้อยู่ในสภาพดั้งเดิม บาหลีอวดโฉมต่อชาวโลกด้วยความชื่นชม ในต้นทศวรรษที่ 1930 ดัตช์พยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้กับบาหลี โดยมีนโยบายวัฒนธรรมที่รู้จักกันในนามว่ากระบวนการสร้างความเป็น บาหลี(Balinization) ไม่เพียงแต่วัฒนธรรมบาหลีจะถูกรักษาไว้สำหรับนักท่องเที่ยวได้ชื่นชม ชาวบาหลียังถูกสอนโดยเจ้าอาณานิคมดัตช์ถึงวิธีการที่จะเป็นชาวบาหลีที่แท้ จริง! กล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งนี้เกิดขึ้นจากกระบวนการสร้างความเป็น บาหลีของเจ้าอาณานิคมนั่นเอง   แปลและเรียบเรียงจาก Hitchcock, Michael and Norris, Lucy. 1995. "Bali: The Living Museum." in Bali the Imaginary Museum. Kuala Lumpur: Oxford University Press, pp. 11-24.  

ประวัติศาสตร์ บ้าน และอัตลักษณ์ภูมิภาค

22 มีนาคม 2556

  รัฐบาลอินโดนีเซียนำเสนอความหลากหลายทางวัฒนธรรมของหมู่เกาะในรูปแบบของการจัดแสดง เพื่อสะท้อนคามเป็นหนึ่งเดียวของชาติ Taman Mini Indonesia Indah เมืองจำลองที่สร้างขึ้นจาร์กาตา ในขณะเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นได้สร้างเมืองจำลองในจังหวัดสุลาเวสีตอนใต้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวดำเนินตามแนวทางของนักวิชาการท้องถิ่น รูปแบบการจัดแสดงไม่แตกต่างไปจากเมืองจำลองที่จาร์กาตา บ้านทำหน้าที่บอกเล่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่พบในพื้นที่จังหวัด บทความจะพยายามแสดงให้เห็นถึงข้อคำนึงทางประวัติศาสตร์ที่จัดแสดงในเมืองจำลอง ทั้งของผู้สร้าง/วางแผน ผู้ที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์ ผู้สร้าง/วางแผนพยายามหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุทดแทน หากกลับเน้น “ความจริงแท้” ทางวัฒนธรรมในการออกแบบ นักวางแผนใช้เมืองจำลองสะท้อนความเป็นภูมิภาคที่ผูกโยงกับความเป็นมาของพื้นที่ และอยู่ในกระแสของโลกสมัยใหม่ การแสดงออกถึงประเพณีในแบบดังกล่าวนี้แตกต่างไปจากการนำเสนอวัฒนธรรมของรัฐที่ไม่ได้ใส่ใจต่อกระบวนการวัฒนธรรมอย่างสิ้นเชิง เกริ่นนำ ในสังคมอินโดนีเซียร่วมสมัย รัฐมองความแตกต่างทางวัฒนธรรมให้อยู่ภายใต้ความสมานฉันท์แห่งชาติ ในขณะที่นโยบายรัฐกลับมีลักษณะของความขัดแย้งระหว่างความต้องการขจัดความแตกต่าง ซึ่งเป็นแนวทางของการรวมรัฐเป็นศูนย์กลาง กับการหาประโยชน์จากความแตกต่างเหล่านั้นภายใต้ความประสงค์ของรัฐ อาทิ การกล่าวถึงความสำคัญของความแตกต่างเพื่อการท่องเที่ยว และรายได้เข้ารัฐที่มาจากต่างประเทศ พิพิธภัณฑ์รัฐ (ซึ่งมีจำนวนประมาณ 140 แห่ง) พยายามแก้ไขความขัดแย้งที่กล่าวถึง เทเลอร์ (Taylor) นิยามแนวคิด nusantaraที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ตามต่างจังหวัด (nusantara หมายถึงหมู่เกาะ แต่บ่อยครั้งใช้ในความหมายของชาติ) …ผู้ชมจะได้ชมลักษณะทางกายภาพ (ภูมิประเทศ) จากนั้นเป็นการเรียนรู้ความหลากหลายของพืชพรรณและสัตว์ในแต่ละเขตภูมิภาค ต่อมาพิพิธภัณฑ์นำเสนอวัตถุทางวัฒนธรรมและประวัติของแต่ละจังหวัด ในส่วนสุดท้าย ส่วนการจัดแสดง nusantaraเปรียบเทียบวัฒนธรรมท้องถิ่นในพื้นที่กับแห่งหนตำบลอื่นในอินโดนีเชีย แต่ความแตกต่างเหล่านี้ไม่ได้สร้างความแตกแยกเพราะอยู่ภายใต้อินโดนีเชียที่เป็นหนึ่ง (Taylor 1994:80-81) ภาพโดยทั่วไปนำเสนอด้วยตุ๊กตาชายและหญิงที่สวมใส่ชุดแต่งงานของวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ แต่ความแตกต่างเช่นนี้ปรากฏอยู่ภายใต้ Taman Mini Indonesia Indah(หรือเรียกได้ว่า “Beautiful Indonesia”) ในจาร์กาตา เพื่อเป็นทางออกให้กับความขัดแย้ง สถานที่ดังกล่าวในรูปแบบของเมืองจำลองจัดแสดง “เผ่าพันธุ์” หลากหลายของอินโดนีเชีย บ้านพื้นถิ่นต่างๆ ได้รับการจำลองและจัดวางอยู่รอบทะเลสาบที่ขุดขึ้นมา เกาะต่างๆ เป็นภาพตัวแทนของเกาะในดินแดนหมู่เกาะของอินโดนีเชีย การจัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรมและการแสดงพื้นบ้านเข้ามาเป็นสิ่งที่สร้างความสมบูรณ์ให้กับการนำเสนอ (Perberton 1994) จังหวัดสุลาเวสีตอนใต้ได้พัฒนาเมืองจำลอง “ขนาดย่อม” ของตนเอง แม้ว่าเมืองจำลองดังกล่าวจะเริ่มต้นด้วยแนวคิดของการสร้าง Taman Mini Sulawesi เนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับเกาะเพียง 4 เกาะ และขาดความสนใจต่อจังหวัดอีก 3 แห่ง จนในที่สุดเกิดเป็น “Sulawesi Selatan Dalam Miniatur” หรือ เมืองจำลองสุลาเวสีใต้ (South Sulawesiin Miniature) โดยการใช้บ้านเป็นตัวแทนชนเผ่า 4 กลุ่มหลัก (etnis) ของจังหวัดสุลาเวสีใต้ นอกจาก “ชนสี่กลุ่ม” (four etnis) ที่ได้วางแผนไว้แต่แรก เมืองจำลองยังจัดแสดงบ้าน ที่ทำหน้าที่เป็นภาพตัวแทนของอำเภออีก 23 แห่งในทำนองของ “Beautiful Indonesia” นโยบายที่มาควบคู่กับการจัดตั้งเมืองจำลองคือ กระแสของการ “สำรวจและขึ้นทะเบียน” จารีตประเพณี (inventarasasi) ด้วยกระบวนการสำรวจใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ภูมิภาคต่างๆ ได้สำรวจและขึ้นทะเบียนความเชื่อและการปฏิบัติในท้องถิ่น ภายใต้โครงการของกระทรงการศึกษาและวัฒนธรรม  การดำเนินงานดังกล่าวได้สร้างชุดแบบแผนทางการของประเพณีวัฒนธรรมที่แท้ ชุดคำอธิบายนี้สร้างความแตกต่างของกลุ่มวัฒนธรรมที่ยังไม่ได้มีการสำรวจมาก่อน ในสุลาเวสีใต้กระบวนการสำรวจและขึ้นทะเบียนประเพณีที่แท้สามารถนิยามด้วย “Lagligologi”อันหมายถึงมหากาพย์ คำว่า I La Goligo อธิบายจุดกำเนิดของผู้ปกครองในยุคก่อนอาณานิคม และยังเป็นคำอธิบายสุวาเวสีตอนใต้ก่อนยุคสมัยใหม่ (นั่นหมายถึงช่วงเวลาก่อนวัฒนธรรมอิสลามและก่อนอาณานิคม) กระบวนการอธิบายประวัติศาสตร์เช่นนี้มาจากความคิดในการจัดวางลำดับเหตุการณ์ไปตามเหตุปัจจัยในแต่ละช่วงเวลา Errington (1989b) กล่าวว่าวิธีการสร้างความรู้ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นพร้อมๆกับพัฒนาการของรัฐ-ชาติ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมไปกับเรื่องราวของการกำเนิดรัฐ เหตุปัจจัยอีกประการหนึ่งของพัฒนาการอุทยานคือ การนำเอาวัฒนธรรมมารับใช้การท่องเที่ยว ปี 1991 ได้รับการประกาศให้เป็น “ปีการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย” นี่เองที่เป็นตัวกระตุ้นสำคัญในการสำรวจและสร้าง “ประเพณี” ดังจะเห็นได้ว่าในปี 1990 ชาวสุลาเวสีตอนใต้เริ่มจัดงานวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ด้วยการจัดแสดงวิถีชีวิตพื้นถิ่น ณ ย่านใจกลางเมือง Ujungpandang (Karabosi) เป็นเวลาแรมสัปดาห์ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น (1990-1991) รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซียสนับสนุนการจัดเทศกาลอินโดนีเซียในสหรัฐอเมริกา นักแสดงและช่างหัตถศิลป์จำนวนมากจากสุลาเวสีตอนใต้เข้าร่วมงานดังกล่าวหลายสัปดาห์ หรือแม้แต่การแสดงงานต่อเรือโบราณ (perahu) ในวอชิงตัน ในปีเดียวกันนั้น อุทยานเมืองจำลองสุลาเวสีใต้เปิดตัวสู่สาธารณชน อิทธิพลการออกแบบ “Beautiful Indonesia” ปรากฏอย่างชัดเจนในรูปลักษณ์ของเมืองจำลอง ทะเลสาปที่เกาะสุลาเวสีปรากฏอยู่ตรงกลาง แผนผังอธิบายเส้นทางของรถเคเบิลให้บริการท่องเที่ยวทั่วพื้นที่ แม้ขนาดของเมืองจะย่อมกว่าก็ตามที แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบอยู่ในทิศทางที่ต่างไปจาก “Beautiful Indonesia” อย่างสิ้นเชิง ความพยายามคำนึงถึงทั้งความเก่าและความทันสมัยในการออกแบบเมืองจำลองสุลาเวสีนี้เองย้ำถึงการสร้างความจริงแท้และความตระหนักเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่กรอบในการทำงานที่ต่างออกไป หากเราจะพูดอย่างรวบรัด อาจกล่าวได้ว่า “Beautiful Indonesia” ในจาการ์ตาคือตัวแทนการรวมอำนาจของรัฐบาลแห่งชาติ หรือการวาดภาพของประเพณีราชสำนักจนถึงการสร้างรูปแบบการแต่งกาย เมืองจำลองสุลาเวสีตอนใต้คือมุมมองที่มาจากปริมณฑล การริเริ่มโครงการมาจากนักวิชาการท้องถิ่น ทั้งนักมานุษยวิทยา นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ที่ต้องการพูดถึงประวัติศาสตร์ภูมิภาคจากมุมมองของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์การต่อต้านลัทธิอาณานิคม มุมมองประวัติศาสตร์ไม่ได้สอดคล้องกับแนวคิดของ Pemberton ดังที่ปรากฏใน “Beautiful Indonesia” การสร้างประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่นนี้เป็นเสมือนการต่อรองกับผู้ที่มีอำนาจจากส่วนกลาง เมืองจำลองสุลาเวสีตอนใต้ เมืองจำลองแห่งนี้ตั้งอยู่บนสันดอนสามเหลี่ยมของแม่น้ำ Jeneberangชานเมือง Ujungpandang(หรือที่เคยรู้จักกันในนาม Macassar) เมืองจำลองดังกล่าวสร้างในพื้นที่ที่เป็นป้อมศตวรรษที่ 17 Benteng Somba Opu ป้อมค่ายดังกล่าวเคยทำหน้าที่พิทักษ์ปากแม่น้ำ Jeneberangในขณะที่ยังคงเป็นศูนย์กลางของราชวงศ์ Goaเรียกได้ว่าเป็นเมืองท่าสำคัญในแผ่นดินตอนใต้ จนกระทั่งชาวดัตช์เข้ามามีอิทธิพลการค้าและยึดเมือง Macassar ได้ในที่สุดเมื่อปี 1669 ด้วยความช่วยเหลือของผู้ปกครองทางเหนือของชาวบูกี (Buginese) แห่งนคร Bone and Soppeng ป้อมค่าย Benteng Somba Opuอันหมายถึง “นครหลวงที่ป้องกันอย่างแน่นหนา” เป็นที่มั่นสุดท้ายในการสู้รบ เมื่อมีการทำสนธิสัญญา ป้อมค่ายนี้ได้รับการตกลงให้คงสภาพไว้ แต่หลังจากนั้นเพียง 2 ปี ป้อมค่ายกลับถูกทำลายด้วยกระบวนการต่อต้านของชาว Macassar และสัมพันธมิตร เลียวนาร์ด อันดายา (Leonard Andaya) บันทึกไว้เมื่อปี 1981 ว่า สงครามในครั้งนั้นยังคงเป็น “ความขื่นขม” สำหรับชาว Macassar เพราะอาณาจักรของอินโดนีเซียแท้กลับถูกทำลายด้วยชนอินโดนีเซียอื่นที่เข้าข้างชาวตัตช์หรือผู้ล่าอาณานิคม (1981:2) ในการประเมินประวัติศาสตร์ภายหลังอิสรภาพ และการเสาะหาวีรบุรุษแห่งชาติ ชาวบันกีและมากาซซาร์ได้โต้เถียงกันมาตลอดว่าระหว่างสุลต่านฮาซานุดดิน(Sultan Hasanuddin) แห่งเกา (Goa)กับ อารุง ปาลักกา (Arung Palakka) แห่งเมืองโบน-โซปเปง (Bone-Soppeng) ใครคือวีรบุรุษที่แท้ของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามนครสุดท้ายฮาซานุดดินได้รับการบูรณะและปรับปรุงเป็นอุทยานวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสุลาเวสีตอนใต้ วิธีการจัดการโบราณสถานแห่งนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย กำแพงเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับการขุดค้นและสร้างขึ้นใหม่ ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ยังคงสภาพตามที่ได้พบครั้งแรก เพื่อสะท้อนให้เห็นความเสียหายจากสงครามกับชาวดัตช์ ลักษณะเช่นนี้ต่างออกไปจากแหล่งประวัติศาสตร์อื่นๆ ของอินโดนีเซียที่เป็นการสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด ดังเช่นบุโรพุทโธ นักโบราณคดีซ่อมแซมโบราณสถานด้วยความระมัดระวังให้สอดคล้องตามงานช่างที่ปรากฏ ป้อมค่ายพยายามสะท้อนวัฒนธรรมดั้งเดิมในรูปแบบของบ้านเรือนและการตีความอื่นๆ ที่ผูกโยงอดีตเข้ากับปัจจุบัน สภาพทั่วไปแสดงนัยของการเข้าสู่ยุคใหม่ของสุลาเวสีตอนใต้ สุลาเวสีจึงไม่ใช่ดินแดนที่เป็นเอกเทศอีกต่อไป แต่เป็นดินแดนที่เป็นอิสระในเครือข่ายการค้าและการพาณิชย์ของโลกสมัยใหม่ นอกจากนี้ อุทยานยังเสริมความรู้เกี่ยวกับอาณานิคมในอดีต พิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์กลางจัดแสดงตึกอาณานิคมที่จำลองอย่างที่เรียกว่า “ทุกกระเบียดนิ้ว” อาคารดังกล่าวเป็นเรือนพักของข้าหลวงชาวดัตช์ เทคนิคการก่อสร้างสะท้อนความเป็นท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ตั้งชื่อตามปราชญ์กาเรียง ปาตติงกาโลงแห่งตาลโล (Karaeng Pattingaloang of Tallo) พันธมิตรหลักของแผ่นดินเกา (Goa) เขามีชื่อเสียง ทั้งการใช้ภาษายุโรปหลายภาษาและการทำสนธิสัญญาระหว่างเกาและพันธมิตรและประเทศมหาอำนาจต่างชาติ ในปัจจุบัน ป้อมค่ายยังคงกำแพงหลักไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายของขอบเขต ส่วนพื้นที่ด้านในอุทยานประกอบด้วยบ้านจำลองตามลักษณะของวัฒนธรรมชนเผ่า 4 กลุ่มใหญ่ (etnis) และพิพิธภัณฑ์กาเรียง ปาตติงกาโลง และหอประชุมใหญ่และพื้นที่สำหรับการแสดง หรือบารุงกา ซอมบา โอปู (Baruga Somba Opu) ทางเข้าอุทยานเป็นสะพานเชื่อมเหนือแม่น้ำเจเนเบรัง (Jeneberang River) ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับพื้นที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวในบริเวญอูจุงปานดัง (Ujungpandang) เมื่อข้ามไปด้านใน คุณจะผ่านพื้นที่นิทรรศการที่ประกอบด้วยกระท่อมเล็กๆ (ที่ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะทางสถาปัตยกรรมมากนัก) กลุ่มเรือนดังกล่าวเป็นส่วนการปกครองของรัฐบาล กองกำลังทหาร มหาวิทยาลัยท้องถิ่น และอื่นๆ จากนั้น ส่วนอยู่รอบนอกแสดงบ้านเรือนดั้งเดิมที่มาจากพื้นที่การปกครองย่อยหลายแห่งในสุลาเวสีตอนใต้ อาคารเหล่านี้นำเสนอความเป็นภูมิภาคมากกว่ากลุ่มทางวัฒนธรรม (etnis) เรือนที่จัดแสดงสะท้อนความหลากหลายของบ้านในพื้นที่อิสลามของสุลาเวสีตอนใต้ บ้านที่คัดเลือกมาจัดแสดงในอุทยานดูจะมีลักษณะเกี่ยวพันกับอำนาจเหนือธรรมชาติที่คล้ายคลึงกัน ส่วนการจัดแสดงดังกล่าวสะท้อนความหลากหลายของลักษณะปลีกย่อยของอาคาร แต่มีโครงสร้างหลักร่วมกัน รวมถึงการสะท้อนความแตกต่างของอาคารที่ตั้งอยู่ใจกลางอุทยานภายในป้อม ความหมายของ “ความเป็นดั้งเดิม” ดูจะไม่ทันสมัย บางสิ่งที่เป็นของหมู่บ้าน แต่ไม่ใช่ศูนย์กลางเมืองสมัยใหม่ ลักษณะเช่นนี้ตรงข้ามกับความจริงแท้ทางประวัติศาสตร์ จากบ้านของส่วนการปกครองย่อย เป็นที่ตั้งของหอศิลป์ที่สร้างขึ้นใหม่ โดยอาศัยคุณลักษณะสมัยใหม่ที่แตกต่างกัน มีส่วนที่เป็นเรือนชานและจตุรัสตรงกลางสำหรับการแสดงทางวัฒนธรรม พื้นที่ภายนอกกำแพงนี้เชื่อมโยงกับพื้นที่ตลาดศิลปะหรือปาซาร์ เสนี (Pasar Seni) เมื่อเดินต่อเข้าไปในป้อม คุณผ่านแถวบ้านที่มีขนาดเล็กและมีลักษณะการก่อสร้างที่เหมือนกัน ผนังรอบไม้ไผ่ ด้านหน้าเป็นไม้ และมุงหลังคาด้วยหญ้า กลุ่มอาคารดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงพัฒนาสังคม และเป็นเรือนพักของชาวบ้านที่ย้ายจากภายนอกป้อม เนื่องจากการเวนคืนที่ดินในการทำทางเข้าสู่อุทยาน ขนาดและรูปแบบบ้านที่ธรรมดานี้เปิดทางให้กับการจัดแสดงหลักของอุทยานที่นำเสนอวัฒนธรรม 4 กลุ่ม (etnis) ส่วนการจัดแสดงจะเน้นขนาดที่ใหญ่และเป็นการจำลองบ้านของผู้ปกครองและพ่อค้า ส่วนในของอุทยานใช้เส้นทางการชมด้วยถนนสายหลักที่มีการปลูกต้นปาล์มสลับกับทุ่งนาที่ยังคงมีการเพาะปลูก สะพานเป็นจุดเชื่อมทางเข้าไปในพื้นที่ส่วนใน และป้ายบอกทางสลักไว้ว่า Kawasan Rumah Adat(ส่วนจัดแสดงบ้านแบบดั้งเดิม/ประเพณี) ประกอบด้วย 4 กลุ่มวัฒนธรรมของสุลาเวสีตอนใต้ มากาสซาร์ (Macassar) บูกิส (Bugis) แมนดาร์ (Mandar) โตรายา (Toraja) Etnisยังคงเป็นคำที่ไม่ได้รับการบัญญัติ แต่เป็นคุณศัพท์ “ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสังคมหรือระบบวัฒนธรรมหรือสังคม ซึ่งมีความหมายหรือสถานภาพที่มาจากการปฏิบัติสืบเนื่อง ศาสนา หรือภาษา” ในอุทยาน Etnisใช้ในลักษณะที่เป็นคำนาม ซึ่งหมายถึงกลุ่มเฉพาะ หรืออย่างที่คาน (Kahn) เอ่ยถึงกรอบความคิดทางมานุษยวิทยาที่ว่าด้วยกลุ่มเฉพาะที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง และแตกต่างไปจากกลุ่มสังคมอื่น ทั้งนี้ มาจาก “หน่วยวัฒนธรรม” (bits of culture) ที่บอกได้อย่างชัดเจน แนวคิดของการแบ่งกลุ่มสังคมวัฒนธรรมทางตอนใต้ของสุลาเวสีเป็น 4 กลุ่มพัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 ตัวอย่างเช่นเอกสารชิ้นหนึ่งที่พิมพ์ขึ้นในทศวรรษ 1970 ของกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม กล่าวถึงกลุ่มต่างๆ ในลักษณะที่พัฒนามาจาก “หน่อ” (rumpan) เดียวกันเฉกเช่นไผ่ แต่ละกลุ่มแยกย่อยออกไปแต่มีหน่วยที่ร่วมกันบางอย่าง อย่างไรก็ตาม เอกสารอีกชิ้นหนึ่งเมื่อปี 1985 จากหน่วยงานเดียวกันกลับกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ 4 กลุ่มหรือ 4 suku bangsa utama ในช่วง 2 – 3 ทศวรรษมานี้ ทางการสร้างชุดอธิบายความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ 4 กลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ตำแหน่งของการจัดวางบ้านจำลองยังสัมพันธ์กับลำดับความสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสี่ เช่น บูกิสหันหน้าชนกับโทรายา เพื่อย้ำความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน แมนดาร์ตั้งใกล้กับมากาสซาร์ เพื่อบ่งบอกความสัมพันธ์ทางการเมืองที่มีมาแต่เดิม และเหนืออื่นใดแมนดาร์และมากาสซาร์ถูกจัดเป็นส่วนย่อยของบูกิสไปในขณะเดียวกัน ภายในส่วน Kawasan Rumah Adatปรากฏรูปแบบบ้านที่แตกต่างตามที่พบได้ในโทราจา“imposing, curving roofs atop an up-swept ridge pole”รวมถึงบ้านหลังคาทรงสูงที่เป็นของมุสลิม ดังที่ปรากฏในบูกิส มาคาสซาร์ และแมนดาร์ แม้ว่า “Beautiful Indonesia” จะเป็นเมืองจำลอง แต่ความยิ่งใหญ่กลับเป็นฉายานามของสุลาเวสีใต้ หรืออย่างน้อยที่สุดคุณศัพท์ดังกล่าวสามารถนิยามส่วนใจกลางของ Kawasan Rumah Adatเปมเบอร์ทัน (Pemberton) กล่าวถึงการจำลอง “BeautifulIndonesia” ไว้ว่า สถานที่แห่งนี้เป็นประหนึ่งอินโดนีเซียในอุดมคติ สถานที่อันสมบูรณ์ของการนำเสนอวัฒนธรรมด้วยการมองจากระยะไกล (1994:153)ในขณะที่สจ๊วร์ต (Stewart) แสดงความเห็นเกี่ยวกับการใช้เมืองจำลองในการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ “สำหรับหน้าที่พื้นฐานของการจำลองคือการนำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์กลับมามีชีวิตโดยปราศจากสื่อกลาง แต่นั่นกลับเป็นการลบประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ และปล่อยเราให้จมอยู่กับสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันขณะ” (Stewart 1993:60) บ้านต่างๆ ใน Kawasan Rumah Adatมาจากความพยายามในการจำลองบ้านแบบเดิมให้ถูกต้องมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านขนาดใหญ่ของผู้ปกครอง คหบดี และพ่อค้า ในสุลาเวสีใต้ บ้านเป็นเครื่องหมายสำคัญของการจดช่วงชั้นและสถานภาพ ขนาดของบ้านเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายอย่างยิ่ง บ้านที่แสดงฐานะทางสังคมที่แตกต่างขึ้นอยู่กับจำนวนเสาเรือน จำนวนฝาเรือน จำนวนของขั้นบันได หรือตำแหน่งของส่วนขยายเรือน (โปรดดู Robinson 1993) ขนาดของบ้านที่ใหญ่โตเมื่อเปรียบเทียบกับชาวบ้านทั่วไปเป็นเครื่องหมายสำคัญที่บ่งบอกฐานะช่วงชั้นทางสังคมในสุลาเวสีตอนใต้ ปราสาทของของชนชั้นสูงประกอบด้วยเครื่องทรงศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งย้อนกลับไปในสมัยก่อนอิสลาม เครื่องทรงเหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์ของราชอำนาจ บ้านกำหนดพฤติกรรมของผู้ที่เข้าหา เพื่อการแสดงออกที่เหมาะสม เช่น จำนวนขั้นบันไดจะเป็นเลขคี่ เพื่อให้ผู้มาเยือนก้าวเท้าที่ถูกต้องเข้าสู่เคหสถาน ครั้นเมื่อเข้าสู่ชายคาเรือน ผู้เยี่ยมเยือนจะนั่งบน tampingเป็นเฉลียงที่อยู่ระดับต่ำกว่าพื้นห้องรับรอง (ชานเรือน – ผู้แปล) ผู้เยือนจะเข้ามาในบริเวณดังกล่าวเมื่อได้รับการเชื้อเชิญ ด้วยเหตุนี้เอง ตำแหน่งของผู้เข้าเยี่ยมจะอยู่ต่ำกว่าผู้ที่เป็นเจ้าของเรือน ผู้วางแผนเมืองจำลองในสุลาเวสีใต้ประกอบด้วยนักวิชาการหลายสาขา นักมานุษยวิทยา นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และสถาปนิก โดยได้รับการแต่งตั้งจากผู้ปกครองเพื่อการสร้างบ้านที่เป็นตัวอย่างของ 4 ชาติพันธุ์ในสุลาเวสีใต้ นักวิชาการพยายามอย่างมากที่จะแสดงความจริงแท้ของวัฒนธรรม ความจริงแท้ที่ปรากฏอยู่ตามอาคาร อย่างไรก็ตาม ปัญหาบางประการเกิดขึ้น เพราะในช่วงปี 1950 – 1965 กบฎอิสลามได้จับกุมชาวบ้านและรื้อหรือเผาทำลายบ้านขนาดใหญ่ของคหบดี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศักดินา ผู้อำนวยการของอุทยาน (ในฐานะนักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์) ได้พยายามซื้อบ้านที่ผุพัง เพื่อย้าย บูรณะใหม่ และนำมาจัดแสดง แต่การเจรจากับเจ้าของกลับไม่ประสบความสำเร็จ เขาได้จ้างให้สถาปนิกคัดลอกทุกรายละเอียดของตัวอาคาร อาทิ บ้านวาโย (Wajo House) ซึ่งเป็นเรือนที่มีความสวยของพ่อค้าชาวบูกิส เจ้าของคนปัจจุบันปฏิเสธที่จะขายบ้านแม้สภาพจะแย่เต็มที เพราะบางบ้านมีผู้พำนัก นั่นคือ วิญญาณของสุนัขที่คุ้มครองครอบครัวของเขา ฉะนั้นหากเราพิจารณาถึงทัศนคติในการทำงานของผู้อำนวยการ เราจะเล็งเห็นต้นขั้วของความพยายามในการพัฒนาอุทยานพิพิธภัณฑ์ที่คงบริบททางประวัติศาสตร์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นทัศนคติในยุคใหม่ต่อการอนุรักษ์อดีต ตามแผนดั้งเดิมในการพัฒนาอุทยาน คณะกรรมการมีทุนในการสร้างบ้านจำนวน 4 หลัง (แต่ละหลังนำเสนอ/เป็นตัวแทนแต่ละกลุ่มหรือ etnis) และส่วนพิพิธภัณฑ์และอาคารขนาดใหญ่เพื่อการประชุมและการแสดง (the Baruga) Macassarese นำเสนอด้วยบ้านขนาดใหญ่ทีสร้างขึ้นโดยช่างจากพื้นที่คายัง[1] (Kajang)บ้านของพ่อค้าวาโย (Wajo) เป็นตัวแทนของชาวบูกิส (Bugis) และชาวโตรายา (Toraja) นำเสนอด้วยบ้านจำลองขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า tongkonanในตำบลตานา โตรายา (Tana Toraja)  ส่วนภูมิภาคมานดาร์ (Mandar) กลับไม่ปรากฏบ้านที่มีลักษณะเฉพาะ เพราะการเกิดจลาจลขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง นักพัฒนาอุทยานแก้ปัญหาด้วยการใช้ Lontara หรือสมุดใบลานที่บันทึกความรู้ต่างๆ ก่อนยุคอาณานิคม สมุดนี้เป็นข้อมูลสาแหรกอ้างอิงอำนาจของชนชั้นปกครอง นักพัฒนาเหล่านั้นนำเอาเนื้อหาภายในมาประยุกต์ใช้ในการสร้างบ้านจำลองของชนชั้นปกครอง[2] ที่พำนักของชนชั้นสูงที่สร้างขึ้นกลายเป็นตัวแทนของศูนย์กลางการจัดช่วงชั้นทางสังคม เครื่องสูงภายในเรือนเป็นศูนย์รวมอำนาจของวิญญาณและพลังจักรวาล ด้วยเหตุนี้ สมุดใบลานจึงเป็นแหล่งอ้างอิงความจริงแท้ในสายสัมพันธ์ต่ออำนาจที่มีมาแต่อดีต และการบอกว่าสิ่งใดเป็นประเพณี การสร้างความชอบธรรมดังกล่าวกลายเป็นวิธีการในการสร้างความจริงแท้ไปกลายๆ บ้านในพื้นที่ คาวาซาน รูมาห์ อาดาท์ (Kawasan Rumah Adat) สร้างขึ้นโดยช่างฝีมือจากภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง ช่างยังคงยึดเทคนิคการก่อสร้างแบบเดิมและยังคงปฏิบัติพิธีกรรมให้ถูกต้องตลอดขบวนการก่อสร้าง สิ่งที่ผิดเพี้ยนไปจากขนบปฏิบัติได้แก่ การสร้างอาคารจากพิมพ์เขียวที่จัดเตรียมโดยสถาปนิก แต่ยังคงยึดความถูกต้องของบ้านที่จำลองมา ดังในกรณีของมานดาร์และโลนตารา ในขณะที่การสร้างปราสาทโซโลของพื้นที่ชวาตอนกลาง ซึ่งถูกเพลิงไหม้เมื่อ 1989 รูปแบบดั้งเดิม (asli) ของอาคารกลับแทนที่ด้วยเทคนิคสมัยใหม่(Pemberton 1994:185) เช่น เสาไม้ถูกแทนที่ด้วยเสาคอนกรีต ในอุทยานสุลาเวสีตอนใต้ เราพยายามใช้เทคนิคดั้งเดิม รวมไปถึงการปฏิบัติพิธีกรรมที่ถูกต้อง การดำเนินการเช่นนี้ช่วยสนองวิญญาณของไม้และ “วิญญาณ” ของเรือน (see Errington 1989a:74-5) ความจริงแท้ : ประเพณีประดิษฐ์ซ้ำ เรือนดั้งเดิม 4 หลังจากพื้นที่คาวาซาน รูมาห์ อเดท์ (Kawasan Rumah Adat) สร้างขึ้นจากกองทุนของรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์และหอประชุม เหล่านักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอุทยานให้สอดคล้องกับแนวคิดที่พวกเขาได้ตั้งไว้ นอกจากนี้ ในขั้นตอนการก่อสร้าง แต่ละตำบลได้รับการร้องขอให้บริจาคบ้านหนึ่งหลังเพื้อเป็นตัวแทนประเพณีของภูมิภาค ด้วยการออกจดหมายถึงรัฐบาลท้องถิ่นในปี 1990 กระทรวงการท่องเที่ยวเสนอแผน ด้วยการให้ภูมิภาคต่างๆ สร้างบ้านตามแบบการก่อสร้างพื้นๆ และใส่รายละเอียดการตกแต่งที่แตกต่าง แผนของกระทรวงการท่องเที่ยวต่างไปจากแนวคิดของผู้ริเริ่มอุทยานโดยสิ้นเชิง ยุทธวิธีการสร้างบ้านตาม “แบบแผน” ของรัฐบาลแห่งชาติแสดงให้เห็นถึงการมองประวัติศาสตร์แบบรวบ มากกว่าการสดุดีความหลากหลาย แต่เพื่อให้การทำงานปราศจากความขัดแย้ง คณะกรรมรับผิดชอบการสร้างอุทยานรวมกลุ่มบ้านประเภทที่ “ไม่จริงแท้” (unauthentic) ไว้ในพื้นที่ที่แยกออกไป โดยให้ชื่อว่า Kawasan Rumah Tradisional(ที่ตั้งของบ้านแบบประเพณี – Location for Traditional Houses)พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ภายนอกกำแพงเบนเตง โซมบา โอปู (Benteng Somba Opu) ตำบลหลายแห่งตอบรับต่อการบิดเบือนข้อกำหนดของกระทรวงการท่องเที่ยว การสร้างความจริงแท้มาจากการจำลองบ้านที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์ เรือนเหล่านั้นจะอยู่ในเขตกำแพงรายล้อมไปกับเรือน 4 หลังที่เป็นตัวแทนของกลุ่มสังคม (etnis) และใช้ชื่อเรียกขานที่ต่างออกไปว่า Kawasan Rumah Adatหรือสถานที่สำหรับบ้าน อาดาท (adat หมายถึงขนบหรือประเพณี) ใน “บิวติฟูล อินโดนีเซีย” ที่จาการ์ตา Rumah Adatหมายถึงเรือนที่เลียนแบบของจริง โดยส่วนมากพบในลักษณะจำลอง ส่วนในสุลาเวสีใต้ กลับหมายถึงบ้านที่จริงแท้มากที่สุดในแง่ของการถอดแบบจากวัตถุที่มีอยู่จริงในอดีต ในขณะที่ Rumah Tradisionalกลับหมายถึงบางสิ่งที่เรียบเคียงอดีตมาใช้ในปัจจุบัน แต่กลับมีลักษณะพื้นๆ (โครงไม้ที่รองรับพื้นและหลังคา ระเบียงด้านหน้า หน้าต่าง 3 บานด้านหน้าพร้อมบานเกล็ดไม้ ความแตกต่างระหว่าง adat (ซึ่งหมายถึงประเพณี – tradition) และ tradisional อยู่ที่การสร้างความเชื่อมโยงกับอดีต ในบริบทของอุทยานสุลาเวสี คำยืม tradisional มีคุณค่าทางวัฒนธรรมน้อยกว่า adat เออริงตัน (Errington) ให้ความเห็นดังนี้ “การคิดค้นรัฐ-ชาติสร้างจุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ของชุมชนกับสิ่งต่างๆ และกับอดีตของตนเอง” (1989b:51) สิ่งต่างๆ ที่หมายถึงในที่นี้เป็นช่องทางให้เราสร้างความสัมพันธ์กับอดีต เรื่องราวชีวิตของวัตถุโดยเฉพาะวัตถุที่เข้าไปเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ สามารถเปลี่ยนแปลงความหมายไปได้อย่างมาก นั่นอาจจะหมายถึงเจ้าของวัฒนธรรมไม่สามารถควบคุมความหมายของสิ่งของนั้น (see Errington 1989b:56) บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางของอุทยานเป็นกลุ่มวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่แปลก บ้านเหล่านั้นยังคงคุณค่าความจริงแท้ (โดยเฉพาะคุณค่าทางวัฒนธรรม) เพราะสภาพของการก่อสร้าง ความถูกต้องในเทคนิคและขบวนพิธี (บ้านขนาดใหญ่คือสินทรัพย์ที่ศักดิ์สิทธิ์) การสร้างบ้านมานดาร์ข้ามเวลามีพลังอย่างมาก แม้ว่าบ้านดังกล่าวจะสูญหายไปจากความทรงจำร่วม แต่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่นี้เผยสิ่งที่ซ่อนเร้นจากสาธารณชน เมื่อบ้านมีตัวตนขึ้นจริง บ้านนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์เหนืออดีตของสิ่งใหม่ที่สร้างขึ้น นั่นคือ ตัวตนของมานดาร์ (Mandar identity) รูมาห์ มานดาร์ (Rumah Mandar) ไม่ได้มีสถานภาพเป็นวัตถุที่นำกลับมาสู่โลกปัจจุบัน หรือหมายถึงวัตถุที่เหลือรอดข้ามกาลเวลา แต่เป็นวัตถุที่อยู่เหนือความทรงจำประวัติศาสตร์ วัตถุที่สร้างขึ้นจากอดีตด้วยภาพที่เกี่ยวข้อง ในกระบวนการสร้างช่างให้ความระมัดระวังกับ “ความจริงแท้” ทั้งการใช้เทคนิคและพิธีกรรมที่เชื่อมโยง เช่น การเลือกตำแหน่งของเสากลาง ซึ่งเปรียบเสมือนจุดยึดเหนี่ยวลำนาวาชีวิตมนุษย์ (see Errington 1989a) หรือการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคการตั้งเสาขนาดใหญ่ของโครงไม้ เพมเบอร์ตัน (Pemberton) อธิบายถึงพิพิธภัณฑ์ที่ “บิวติฟูลอินโดนีเซีย” ในฐานะที่เป็นทางเชื่อมระหว่างอดีตและอนาคตในปัจจุบันด้วยกระบวนการที่แบนราบคือ มีเพียงวัตถุใหม่เท่านั้น (1994:169) ในแนวคิด nusantaraเนื้อหาเริ่มด้วยการนำเราไปรู้จักกับภูมิศาสตร์โดยรวมของอินโดนีเซีย จากนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ และปิดท้ายด้วยสังคม (see Taylor 1994) เรื่องราวเกี่ยวกับสังคมนำเสนอด้วยภาพวาดขนาดใหญ่ของคู่บ่าวสาวที่แต่งกายชุดชวา แต่มีแขกที่มาร่วมจากทั่วทุกภูมิภาค (เราสังเกตจากเครื่องแต่งกายที่แตกต่างกัน) (Pemberton 1994) ในทางตรงข้าม พิพิธภัณฑ์ในเมืองจำลองของสุลาเวสีมีวัตถุที่ได้จากการขุดค้น อิฐจากป้อม โดยมากเคยเป็นส่วนประกอบของสูตรและตัวอย่างของจารึกมากาสารีสช่วงต้น สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันเช่นหม้อทำกับข้าวและหม้อต้มปลา และอาวุธ ลูกปืน และลูกปืนใหญ่ การจัดแสดงยิ่งย้ำถึงความรุนแรงด้วยการแสดงให้เห็นถึงความหายนะของกำแพงป้อมค่าย ภาพวาดที่ห้อยอยู่บนเพดานด้วยการมองภาพจากกระจกเป็นวัตถุชิ้นสำคัญ ภาพดังกล่าวเป็นการสำเนาภาพวาดป้อมค่ายของดัตช์ ฉะนั้น แทนที่พิพิธภัณฑ์จะลบเลือนอดีต หรือทำอดีต ปัจจุบัน และอนาคตให้แบนราบ พิพิธภัณฑ์กลับต้องเคารพต่ออดีตและนำมาสู่ปัจจุบัน จากที่กล่าวมาทั้งหมด อุทยานสุลาเวสีใต้ใช้เวลาเชื่อมต่ออดีตกับปัจจุบัน อุทยานเสนอประวัติศาสตร์จริงแท้ของสุลาเวสีใต้เรื่องหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดของการสร้างความกลมกลืน (homogenising definitions) ด้วยนิยามรัฐชาติ สถาปัตยกรรมของหอประชุม (Baruga) “อ้างอิง” จากรูปแบบดั้งเดิมของวิธีการก่อสร้างและขนาดอันใหญ่โตมโหฬารชวนให้ระลึกถึงปราสาทต่างๆ ในอดีต แม้ว่าสถาปนิกจะถอดแบบมาจากปราสาทด้วยการสร้างจั่ว 5 ตำแหน่งรองรับหลังเส้นหลังคา แต่จั่ว 3 ใน 5 นั้นเปิดรับผู้คนเข้าสู่ตัวอาคารด้วยความสบายใจ คือทำให้เป็นสถานที่เพื่อประชาชนมากขึ้น ขนาดของหอประชุมเป็นที่ประทับใจของผู้ชมชาวอินโดนีเซียอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการถ่ายภาพกับบารูกาเป็นที่ระลึก อุทยานนำเสนอมุมมองเชิงวิชาการที่ไม่ได้ทิ้งมุมมองของคนทั่วไป การสร้างมุมมองประวัติศาสตร์แบบเดี่ยวไม่สามารถคงอยู่ได้เมื่อเผชิญกับมุมมองเชิงแข่งขัน ดังเรื่องราวของการเปรียบเทียบกาวาซา รูมาห์ (Kawasan Rumah) แม้ว่าผู้ที่สร้างอุทยานจะเห็นว่าส่วนสถานที่ตั้งบ้านดั้งเดิม (Kawasan Rumah Adat) เป็นส่วนที่มีแสดงความคิดทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากที่สุด แต่ความผิดเพี้ยนยังคงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ตัวอย่างเช่นบ้านที่เป็นตัวแทนของตำบลลูวู (Luwu) ไม่ได้มาจากการจำลองบ้านของลูวูที่มีอยู่จริง แต่เป็นมุมมองของผู้รู้ชาวลูวูทีทรงอิทธิพลต่อปราสาทลูวูที่ควรเป็น อาคารขนาดใหญ่ 2 หลัง (ครัวและเรือนหลัก) เชื่อมกันด้วยทางเดินที่มีโครงสร้างด้านบนเฉกเช่นสัญลักษณ์ของผู้ปกครองลูวู หรืออาจหมายถึงเขาพระสุเมรุตามตำนานฮินดู อันเป็นที่สถิตย์ของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เอกลักษณ์ของบ้านดังกล่าว หากเปรียบเทียบกับบ้านที่มาจากพื้นที่อื่น จะแสดงให้เห็นความคิดของลูวูที่เน้นความเป็นศูนย์กลาง แนวคิดนี้คือจุดกำเนิดขนบประเพณีสุลาเวสีใต้ที่เฉพาะ (ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดีย) บางทีอาจกล่าวได้ว่า การมองเช่นนี้บ่งชี้ “ความจริงแท้” ได้อีกทางหนึ่ง นั่นคือ อำนาจชอบธรรมของผู้รู้ที่จะนิยามว่าสิ่งใดคือประเพณีที่จริงแท้ การนิยามประเพณีเป็นได้อย่างชัดเจนจากการสร้างแบแผนเดี่ยวใน Kawasan RumahTradisional และกระบวนการสร้างสถาปัตยกรรมด้วยการตกแต่งให้เกิดความแตกต่างของแต่ละภูมิภาค ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงอุทยานหลังจากการเดินทางเยือนเกาะซีเลยาร์ (Selayar) บนเกาะแห่งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นบ้านเก่ามากมายที่เหลือรอดจากยุคจลาจลอิสลามดารูล (Darul Islam Rebellion) อย่างไรก็ตาม บ้านบนเกาะที่ปรากฏใน Kawasan RumahTradisional ไม่มีลักษณะเหมือนกับบ้านที่ข้าพเจ้าได้เห็นเลย หรือไม่เหมือนแม้กระทั่ง “บ้านจำลอง” ที่สร้างขึ้นในพิพิธภัณฑ์โดยรัฐบาลท้องถิ่นบนเกาะนั้น บ้านสร้างขึ้นจากการออกแบบมาตรฐานแต่ตกแต่งด้วยไผ่ ภายใน ห้องด้านหน้าเป็นพื้นที่ขอ