บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 82 บทความ

ความพัวพัน: ประวัติศาสตร์อาณานิคม ศิลปะ และวัตถุชาติพันธุ์ ตัวอย่างจากพิพิธภัณฑ์ในเยอรมนี*

11 เมษายน 2562

*แปลและเรียบเรียงจาก Iris Edenheiser, 2017, ‘Entanglements: colonial history, arts, and “ethnographic object”- examples from German Museums. In Zvjezdana Antos, Annette B. Fromm, Viv Golding (eds), Museum and Innovations. Newcastle-Upon Tyne: Cambridge Scholars Publishing.  โดย ปณิตา สระวาสี นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)--------------------เหมือนกันหรือแตกต่าง? การพัฒนาล่าสุดของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในเยอรมนี                 ในช่วง 10 ปีหลังนี้ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์หลายแห่งในประเทศที่พูดภาษาเยอรมันมีการออกแบบการจัดแสดงใหม่และเปิดให้บริการอีกครั้ง ที่กำลังจะเปิดตัวในไม่ช้านี้และถูกพูดถึงมากที่สุดคือ Humboldt Forum  โครงการด้านวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดและได้รับงบประมาณสนับสนุนมากที่สุดจากรัฐบาลเยอรมนี  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้วางไว้ว่าจะเปิดตัวในปี ค.ศ. 2019 เป็นการนำคอลเล็กชั่นของ Ethnologisches Museum หนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่มีคอลเล็กชั่นทางชาติพันธุ์จากทั่วโลกมากที่สุด มาจัดแสดงกลางเมืองเบอร์ลิน โดยแผนงานของโครงการ จะมีซีรี่ย์ของกลุ่มนิทรรศการชั่วคราวเชิงทดลอง  หลายอันจัดแสดงในเชิงศิลปะที่ได้รับการสร้างสรรรค์ขึ้นเพื่อจะทดลองรูปแบบใหม่ของการนำเสนอวัตถุชาติพันธุ์  อย่างไรก็ดีในส่วนนิทรรศการถาวรจะยังคงนำเสนอวัฒนธรรมที่แบ่งตามภูมิภาคของคอลเล็กชั่นที่มี หลักการคล้ายๆ กันนี้ถูกใช้ต่อมาโดยพิพิธภัณฑ์ Grassi Museum fur Volkerkunde zu Leipzig ที่เพิ่งเปิดบริการส่วนห้องจัดแสดงวัฒนธรรมในภูมิภาคต่างๆ ใหม่อีกครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 2006-2009             แนวโน้มในภาพรวมของการจัดแสดง ที่มีลักษณะการเชิญศิลปินและนักออกแบบมาทำงานกับคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์ เป็นหลักการที่นำโดย Clementine Deliss ผู้อำนวยการคนก่อนของพิพิธภัณฑ์ Frankfurter Weltkulturen ผู้ซึ่งเสนอมุมมองที่ท้าทายของ “พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์” (ethnographic museum) ที่เป็นการวางกรอบใหม่ในฐานะ “พิพิธภัณฑ์หลังชาติพันธุ์” (post-ethnographic museum)  นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ Rautenstrauch-Joest-Musuem-Kulturen der Welt ในเมืองโคโลญจน์ ที่เปิดตัวนิทรรศการถาวรใหม่ ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในปี ค.ศ. 2010 และได้ชื่อว่าว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ยุโรปแห่งปีใน ปี ค.ศ. 2012  สำหรับการจัดแสดงในนิทรรศการถาวร พิพิธภัณฑ์ได้ดำเนินตามแนวทางการทำนิทรรศการของตนเองตั้งแต่ทศวรรษ 1980   โดยมุ่งเน้นการจัดแสดงแบบธีมมากกว่าการแบ่งตามภูมิภาค เช่น “พิธีกรรม” “พื้นที่อยู่อาศัย” “ศาสนา” “ความตายและชีวิตหลังความตาย” ซึ่งนำเสนอด้วยการเน้นวัตถุจัดแสดงที่ดึงดูดสายตาผู้ชมอย่างทรงพลัง  การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Rautenstrauch-Joest-Museum-Kulturen der Welt ที่มาภาพ: www.museenkoeln.de/rautenstrauch-joest-museum             ในสวิตเซอร์แลนด์  พิพิธภัณฑ์ Museum der Kulturen Basel  ทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างเมื่อพิพิธภัณฑ์เปิดตัวอีกครั้งในปี ค.ศ. 2011  โดยใช้แนวคิดมานุษยวิทยาร่วมสมัยเช่น เรื่อง “ผู้กระทำการ” (agency)  “ความรู้” (knowledge) และ “การสร้างความหมาย” (enactment) เป็นตัวร้อยเรียงนิทรรศการ และทำให้วัตถุแลดูพิเศษภายใต้การจัดแสดงในกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว  เป็นการสร้างสรรค์ที่คล้ายคลึงกันอย่างมากในแบบที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะนิยมกระทำกัน ส่วนการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ Volkerkundemuseum der Universitat  Zurich ที่ทำการบูรณะใหม่ในปี ค.ศ. 2004 ได้หันกลับไปสู่รากเดิม คือการวิเคราะห์ชาติพันธุ์จากวัฒนธรรมวัตถุ และเน้นไปที่ทักษะการผลิตและการใช้งานวัตถุ             การพัฒนาล่าสุดดังกล่าวนำไปสู่ความสนใจใหม่ต่อคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ในความรับรู้เชิงสาธารณะของคนเยอรมัน ขอบเขตของบทความนี้จะไม่ได้สำรวจสถานภาพของแนวทางพัฒนาที่หลากหลายทั้งหมดเกี่ยวกับนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องวัตถุชาติพันธุ์ แต่จะเน้นไปที่สองนิทรรศการที่เป็นโครงการโดยตรงของผู้เขียน นิทรรศการแรกจัดแสดงไปแล้ว ส่วนอีกนิทรรศการกำลังจะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งจะแสดงให้เห็นสองธีมหลักของข้อถกเถียงในปัจจุบัน และยังแสดงถึงเป้าหมายสำคัญของการประชุม International Committee for Museums of Ethnography ปี ค.ศ. 2014  โดยในส่วนแรกจะแสดงตัวอย่าง World Cultures Collections ของพิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen ที่เมือง Mannheim ผู้เขียนมีข้อโต้เถียงเรื่องความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์อาณานิคม ปัจจุบันไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดที่อธิบายข้างต้นที่หันความสนใจในประวัติศาสตร์ที่มีปัญหาของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ในการจัดแสดงนิทรรศการถาวรของตนเองยกเว้นพิพิธภัณฑ์ Weltkulturen Museum ที่แฟรงค์เฟิร์ต  คือส่วนใหญ่นิทรรศการพิเศษเหล่านั้นมักที่ให้สุ้มเสียงศิลปินมากกว่าการตีความคอลเล็กชั่นในทางประวัติศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานเชิงวิชาการ  ในส่วนที่สองผู้เขียนจะพลิกกลับแนวโน้มที่มักเชิญชวนศิลปะและศิลปินเข้ามาสู่พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ โดยจะทำให้เห็นมานุษยวิทยาและการอภิปรายทางการเมืองในผลงานศิลปะและนิทรรศการศิลปะ ความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์             คอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อาณานิคม กลายมาเป็นประเด็นที่ถูกเน้นย้ำกันมากเมื่อไม่นานมานี้ในแวดวงวิชาการและการรับรู้สาธารณะของประวัติศาสตร์อาณานิคมเยอรมนี ในเชิงวิชาการและสังคมโดยรวมให้ความสำคัญกับระบอบนาซีและสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสองเรื่องครอบงำวาทกรรมประวัติศาสตร์เยอรมันเป็นอย่างมาก เยอรมนีเรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจอาณานิคมในยุคหลังๆแล้ว และปัจจุบันได้หยิบยกประวัติศาสตร์อาณานิคมขึ้นมาพิจารณากันใหม่  มีการดีเบตสาธารณะเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ โดยเฉพาะตั้งแต่การวางแผนโครงการHumboldt-Forum โดยมีจุดยืนสำคัญที่เป็นแนวโพสต์โคโลเนียล/ถอดรื้อโคโลเนียลในเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของการได้มาและการเมืองในการสร้างภาพตัวแทนในบริบทอาณานิคมระหว่างช่วงเวลาการก่อรูปพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์และหลังจากนั้น การวิพากษ์เหล่านี้ถูกพูดในวงกว้างโดยคนวงการต่างๆ แต่เกือบจะยังไม่มีมาจากคนในวงการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์  ยกเว้นพิพิธภัณฑ์ Weltkulturen Museum ในแฟรงเฟิร์ต             การโต้เถียงในประเด็นนี้ได้เริ่มขึ้นแล้วกับ World Cultures Collection ที่พิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen (REM) เมือง Mannheim ที่กำลังอยู่ในช่วงวางแผนนำคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์กลับมาสู่การรับรู้สาธารณะผ่านการจัดแสดงชุดใหม่หลังจากที่ปิดตัวไปเกือบสิบปี ในกระบวนการดังกล่าว เป้าประสงค์หลักเป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์คอลเล็กชั่นอย่างถี่ถ้วน โดยการเน้นเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันกับอาณานิคมในตัววัตถุและจดหมายหมายเหตุที่เกี่ยวข้อง กรอบคิดใหม่นี้วางบนพื้นฐานการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์มากกว่าการวิจัยหรือปฏิบัติการเชิงศิลปะ ที่นิยมประยุกต์ใช้ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้  ที่ในบางกรณีคนที่บุกเบิกแนวคิดนั้นมาใช้ มองราวกับว่าศิลปะในตัวมันเองไม่มีอคติ เข้าใจ “วัตถุทางชาติพันธุ์” ว่าเป็นสิทธิพิเศษมากกว่าเรื่องเความชอบธรรม             วัตถุและภาพถ่าย รวมถึงจดหมายเหตุของ World Cultures Collection ที่พิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen (REM) พัวพันกับอาณานิคมในหลากหลายระดับ คอลเล็กชั่นพูดถึงผู้กระทำการระดับเมือง Mannheim และเมืองรอบๆ ซึ่งเกี่ยวพันในทางการเมืองและการค้าอาณานิคมระดับโลก เช่น Theodor Bumiller ผู้แทนของกองกำลัง Kaiserliche Schutztruppe อาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก และยังเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับท้องถิ่นใน Mannheim เขาเขียนบันทึกราชการประจำวันเกี่ยวกับกองทัพในอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก ปัจจุบันอยู่ในจดหมายเหตุของ World Cultures Collection ที่ REM พร้อมกับภาพถ่ายจำนวนหนึ่งของ Bumiller ในช่วงที่เขาบังคับการในอาณานิคม นอกจากนี้เขายังนำวัตถุจำนวนมหาศาลจากแอฟริกาตะวันออกกลับมา ซึ่งต่อมาเขาและภรรยาได้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ วัตถุชิ้นหนึ่งคืองาช้างสีขาวใหญ่ยักษ์ที่ยังไม่ได้แกะสลัก ที่สามารถอธิบายอีกแง่มุมของระบอบอาณานิคมนั่นคือ เรื่องของผู้กระทำการที่เป็นชนพื้นเมืองในอาณานิคมและกลยุทธ์ต่างๆ ของพวกเขาที่จะดีลกับอำนาจยุโรปและบรรดาตัวแทน  งาช้างดังกล่าวเป็นของขวัญที่ Bumiller ได้รับจากมือของ Tippu Tip พ่อค้าซื้อขายทาสและงาช้างที่สร้างตัวเองจากการค้าผูกขาดทั่วแอฟริกาตะวันออก เมื่อเกิดสงครามอาณานิคมและเกิดความระส่ำระสายในสถาบันทางสังคมและอำนาจของแอฟริกาตะวันออก เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองในช่วงสุญญากาศ และกลายเป็นผู้มีอิทธิพลสูงที่สุดและร่ำรวยที่สุดในสังคมอาณานิคมแอฟริกาตะวันอก ของขวัญชิ้นล้ำค่า เช่นงาช้าง สื่อถึงความมั่งคั่งและอำนาจ ในเวลาเดียวกันทำให้เข้าใจถึงการกระชับมิตรของผลประโยชน์ของผู้ให้ในความสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคตของเขา Tippu Tip พ่อค้าทาสและงาช้างผู้ร่ำรวยและทรงอิทธิพลในอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก ที่มาภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tippu_Tip_1889.jpg             คอลเล็กชั่นยังประกอบด้วยวัตถุที่หลากหลายจากคณะผู้เดินทางของ Franz และ Pauline Thorbecke ที่เมือง Bamender Grassfields ในแคเมรูน ซึ่งเป็นอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันตก ในปี ค.ศ. 1912-13 รวมถึงคอลเล็กชั่นภาพสีน้ำของ Pauline Thorbecke ที่เป็นภาพกษัตริย์ Njoya แห่งอาณาจักร Bamum และพระมารดา Niapundunke ท่ามกลางสมาชิกสภาขุนนาง และยังมีวัตถุอีกราว 1,300 ขิ้น เช่น หน้ากากหมวกเหล็กจากคลังสมบัติของกษัตริย์  กษัตริย์ Njoya ใช้นโยบายที่เอาอกเอาใจเจ้าอาณานิคมเยอรมัน โดยการยอมรับอำนาจของเจ้าอาณานิคมและยอมรับกฎทางการค้าใหม่ เขาหวังว่าจะสร้างความสัมพันธ์อย่างสันติ ที่จะไม่ทำให้โลกศาสนา การเมือง และสังคมของอาณาจักร Bamum ถูกรบกวน จากการบุกรุกของเจ้าอาณานิคม             เหตุการณ์ต่อต้านเจ้าอาณานิคมในนามิเบีย อดีตอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ ที่รู้จักกันในนาม Herero and Nama uprising นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สองกลุ่มชาติพันธุ์ มีผู้ล้มตายเป็นพันคน  คอลเล็กชั่นของ REM เก็บรักษาลายมือของ Samuel Maharero และจดหมายของ Jacob Morenga ผู้นำของเผ่า Herero และ Nama ระหว่างการลุกฮือต่อต้านเจ้าอาณานิคม และวัตถุทางวัฒนธรรมของชาว Herero ซึ่งได้มาจากทหารเยอรมันที่ตั้งกองทัพระหว่างการทำสงครามในปี ค.ศ. 1904 และ 1908             นอกจากนี้การบอกเล่าเรื่องราวของอาณานิคมเยอรมัน คอลเล็กชั่นและนิทรรศการเผยให้เห็นการพัวพันของเจ้าอาณานิคมเยอรมันและเครือข่ายต่างๆ ที่นอกเหนือจากเขตแดนของประเทศตนเองเช่น การเกี่ยวข้องในการปราบปรามกบฎนักมวยในเมืองจีนระหว่างปี ค.ศ. 1899 และ 1901 ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกบอกเล่าด้วยวัตถุที่มาจากพระราชวังต้องห้ามในปักกิ่งและที่อื่นๆ             ท้ายสุด  กระบวนวิธีในการสะท้อนย้อนตนเองของคอลเล็กชั่นและนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ REM เมือง Mannheim ก็สามารถเริ่มขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การค้นคว้าบันทึกข้อมูลของนิทรรศการเกี่ยวกับอาณานิคมในปี ค.ศ. 1937 เพื่ออธิบายให้เห็นวิธีการที่นิทรรศการสนับสนุนเป้าหมายของการล่าอาณานิคมอย่างไร โดยวิธี “การขุดค้นคอลเล็กชั่น” และการย้อนหาเรื่องราวของสถานการณ์ในอาณานิคมซึ่งผูกติดกับวัตถุต่างๆ ชีวประวัติ และความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ที่สำคัญ  วัตถุจึงมิได้ใช้เป็นเพียงภาพแทนของชาวยุโรปที่เหนือกว่า หรือมีความเป็นวัฒนธรรมที่มีขอบเขตชัดเจนตายตัวและแช่แข็งอยู่ในกาลเวลาอีกต่อไป ความเป็นมานุษยวิทยาของนิทรรศการศิลปะ                 ในปี ค.ศ. 2010 คอลเล็กชั่น Staatliche Ethnographische Sammlungen Sachsena (SES, คอลเล็กชั่นชาติพันธุ์ของเมืองแซกโซนี) กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Staatliche Kunstsammlungen Dresden (SKD) ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างการทำงานกัอย่างในกล้ชิดระหว่างศิลปะและคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ สิ่งหลักที่เป็นผลมาจากการรวมตัวกันดังกล่าวคือ โครงการความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์วาติกันในการทำ “พิพิธภัณฑ์อินเดียน” ของ Ferdinand Pettrich(1798-1872) ศิลปินประติมากรที่กำเนิดในเมืองเดรสเดน ผลงานประติมากรรมของเขาได้รับอิทธิพลนีโอคลาสสิก  ช่วงทศวรรษ 1830  Pettrich อาศัยและทำงานในวอชิงตันดีซีและฟิลาเดลเฟีย เขาผลิตงานปูนปั้นชนพื้นเมืองอเมริกันผู้ซึ่งเป็นตัวแทนเพื่อไปต่อรองสนธิสัญญาเรื่องที่ดินและสันติภาพ พิพิธภัณฑ์วาติกันเป็นเจ้าของผลงานเหล่านี้ โดยจัดแสดงที่ Albertinum ในเมืองเดรสเดน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เก็บรักษาผลงานศิลปะโมเดิร์นและร่วมสมัยและคอลเล็กชั่นรูปปั้นที่มีชื่อเสียง    โดยทำนิทรรศการชื่อ “Tecumseh, Keokuk, Black Hawk: Portrayals of Native American in Times of Treaties and Removal”  จะเห็นได้ว่าการตั้งชื่อลักษณะนี้ ไม่ใคร่จะเกี่ยวกับศิลปะหรือตัวศิลปินแต่อย่างใด             ประติมากรรมชนพื้นเมืองอเมริกันของ Pettrich ถูกตีความว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะสกุลนีโอคลาสสิก เป็นกลาง และแปลกตาในฉบับศิลปะยุคอาณาจักรโรมัน ภัณฑารักษ์ต้องการแสดงถึงบริบททางการเมืองระหว่างที่ Pettrich สร้างผลงานและนำเอาเสียงชนพื้นเมืองอเมริกันในตอนนั้นออกมาให้เห็น  โดยในปี ค.ศ. 1830 กฎหมายการโยกย้ายชนพื้นถิ่นอเมริกันเพิ่งผ่านสภาคองเกรส ตัดสินว่าชนพื้นเมืองที่อาศัยในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของชาติสหรัฐอเมริกา ทำให้พวกเขาต้องย้ายถิ่นไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ นิทรรศการ Cherokee Trail of Tears เป็นผลพวงมาจากการบังคับย้ายถิ่นครั้งนั้นซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของชนพื้นเมือง ผลงานศิลปะในตัวมันเองไม่ได้ส่งผ่านหรือแสดงถึงบริบททางการเมือง ดังนั้นวิธีการที่เราเอามาใช้จัดแสดงคือการให้ผู้ชมเข้าใจบริบทในการสร้างงาน             ทางเข้านิทรรศการนำเสนอตัวบทกฎหมายการโยกย้ายชนพื้นถิ่นอเมริกัน จัดแสดงติดกันต่อจากภาพวาดลายเส้นของ Pettrich ที่วาดชนพื้นเมืองกำลังต่อสู้กับปิศาจแห่งท้องทะเล ทั้งนี้มีมุมมองสองอย่างที่นำเสนอไปพร้อมกันในผลงานศิลปะนี้  คือมองศิลปะในแง่ความเก่าแก่และแปลกตา และความเป็นจริงทางการเมืองไปพร้อมกัน   ส่วนต่อมาเป็นผลงานประติมากรรมที่นำเสนอในโถงนิทรรศการหลัก เน้นรูปแบบความงาม  ผู้ชมสามารถรับรู้ได้ถึงความงดงาม ความแปลกตาต่อชิ้นงาน ขณะที่ฝาผนังโดยรอบจะโค้ดคำพูดของชนพื้นเมืองที่ปรากฏในงานของ Pettrich รวมถึงคำพูดนักการเมืองอเมริกัน-ยุโรปและบรรดาศิลปินด้วย คล้ายกับเป็นแนวนำเรื่องเพื่อให้เห็นบริบทการเมือง ทำให้เห็นวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่ถูกคุกคามของชนพื้นเมืองในตอนนั้นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ป้ายคำอธิบายผลงานรายชิ้นจะสนทนากับข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นแบบปั้น โดยแทบจะไม่ได้พูดเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะเลย             การจัดแสดงในส่วนการดำเนินชีวิตของ Pettrich เป็นรูปปั้นครึ่งตัวเขา หนึ่งในวัตถุส่วนบุคคลที่มีชื่อเสียง บ่งบอกความเป็นชนชั้นกลางไปจนถึงระดับบน แสดงถึงสถานภาพในสังคมและความสำเร็จในชีวิตของเขา คู่ขนานไปความหมายดังกล่าวเป็นการจัดแสดงวัฒนธรรมและศิลปะของชนพื้นเมือง เราเลือกวัตถุจากช่วงเวลาเดียวกันจากชนพื้นเมืองเฉพาะกลุ่มที่สื่อความหมายไปในทางเดียวกัน คือเรื่องของการประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น สถานภาพทางสังคม, อำนาจ, และชื่อเสียงในสังคมของชนพื้นเมือง  นำเสนอวัตถุที่ตกทอดในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกันกับรูปปั้นครึ่งตัวในบริบทสังคมยุโรปที่มักเป็นมรดกในครอบครัว วัตถุพื้นเมืองในนิทรรศการดังกล่าวยังรวมถึงเสื้อคลุมที่ทำจากหนังควายที่บ่งบอกถึงความสำเร็จของเจ้าของและสร้อยคอที่ทำจากอุ้งตีนหมี             ผลงานชิ้นเอกของนิทรรศการนี้คือ งานประติมากรรมที่ชื่อ “Dying Tecumseh”  Shawnee Tecumseh เป็นทั้งผู้นำทางการเมือง นักรบ นักคิด ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชนพื้นเมืองอเมริกัน-ยุโรป เขาพยายามจะรวมกลุ่มพันธมิตรชนพื้นเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วยวิธีการสู้รบ เขาตายในสงครามบริติช-อเมริกันเมื่อปี ค.ศ. 1813  Pettrich ปั้นเขาในฐานะวีรบุรุษที่ต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่ประสบความพ่ายแพ้ในที่สุด  ทั้งนี้การหลอมรวมความเป็นชนพื้นเมืองร่วมสมัยและการให้มุมมองที่ไม่สิ้นหวังของเขาถูกนำเสนอไปพร้อมๆ กันผ่านการนำเสนอหนังเรื่อง “Tecumseh’s Vision”  ซึ่งฉายในห้องแยกต่างหากออกไป ในหนังเล่าถึง Shawnee และนักคิดชนพื้นเมืองอเมริกันคนอื่นๆ ที่กล่าวถึงความหมายของ Tecumseh ที่มีต่ออัตลักษณ์ชนพื้นเมืองอเมริกันในปัจจุบัน             Black Hawk เป็นหัวหน้าอีกชนเผ่าหนึ่งที่ Pettrich ปั้นขึ้น ความทรงจำในชีวิตของเขาถูกเล่าและให้ล่ามบันทึกตามคำพูดของเขา ซึ่งทุกวันนี้บันทึกดังกล่าวถือเป็นอัตชีวประวัติชิ้นแรกของชนพื้นเมืองอเมริกัน คล้ายกับการจัดแสดงของ Tecumseh คือมีการติดตั้งห้องสี่เหลี่ยมดำที่เปิดเสียงของผู้ที่อ่านบันทึกของ Black Hawk ขณะที่เขาเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปยังวอชิงตัน ซึ่งเป็นบริบทสำคัญของชิ้นงานนี้ของ Pettrich ผลงาน Dying Tecumseh ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Ferdinand_Pettrich_-_The_Dying_Tecumseh_-_Smithsonian.jpg             ท้ายสุดคือการนำเสนอผลงานร่วมสมัยชื่อ “Ghost in the machine” เป็นรูปปั้นเทพีอาเธนาของไมรอนที่ถูกผูกติดอยู่กับตู้เย็น โดยศิลปินชื่อ Jimmie Durham ซึ่งตั้งแสดงอยู่บริเวณทางออกนิทรรศการ หากภาพตัวแทนของชนพื้นเมืองโดยผลงานของ Pettrich ได้รับอิทธิพลนีโอคลาสสิกที่หยังรากลึกในประวัติศาสตร์ศิลปะยุโรป ผลงานของ Durham ก็ได้นำเอาพื้นฐานรากศิลปะของยุโรปดังกล่าวมาบิดอย่างเย้ยหยัน             ตลอดข้อเขียนข้างต้น ผู้เขียนมองความพัวพันในสองลักษณะ คือ ทั้ง “วัตถุชาติพันธุ์” และผลงานศิลปะ พัวพันอย่างลึกซึ้งในประวัติศาสตร์อาณานิคมกระแสหลักและประวัติส่วนบุคคล ซึ่งสามารถนำเสนอความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์และมานุษยวิทยาในศิลปะในการจัดแสดงนั้น แต่สิ่งที่เป็นความพัวพันระหว่างกระบวนการวิจัยและการจัดแสดงวัตถุเหล่านี้เป็นมุมมองเชิงหลักวิชาต่างๆ ที่ต้องมองวัตถุด้วยการตั้งคำถาม  ทั้งนี้ด้วยการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานจากหลายสาขาวิชา เราสามารถแสดงให้เห็นความต่าง ทั้งจากมุมผู้สร้างสรรค์ผลงานและจากผู้ใช้งาน.

พิพิธภัณฑ์: เป้าหมายหรือเครื่องมือของนโยบายทางวัฒนธรรม

30 กันยายน 2562

          มากกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้วที่นโยบายทางวัฒนธรรมถือกำเนิดขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรสาธารณะในวงกว้าง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น สภาชุมชน จังหวัด รัฐบาล ไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศในระดับทวีป(สภายุโรป) หรือกระทั่งระดับโลก (ยูเนสโก) จุดเริ่มต้นและทิศทางในปัจจุบัน           ตัวอย่างของนโยบายวัฒนธรรมระดับชาติเช่น การเพิ่มขึ้นของจำนวนประเทศที่เพิ่มเรื่องสิทธิในการเข้าถึงวัฒนธรรมในรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศส  อารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1946 ใส่ประเด็นเรื่องวัฒนธรรมไว้ในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน  “ประเทศชาติรับรองความเสมอภาคแก่เด็กและผู้ใหญ่ในการเข้าถึงการศึกษา การฝึกอาชีพ และวัฒนธรรม” และข้อกำหนดนี้ยังคงรักษาไว้ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับต่อมาที่ปรับปรุงใหม่ในสองปีหลังจากนั้น  คือวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948  และข้อกำหนดเช่นเดียวกันนี้ ได้รับการระบุไว้โดยสมัชชาสหประชาชาติในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในมาตรา 27(1) ที่ว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมโดยอิสระในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชน ที่จะเพลิดเพลินกับศิลปะและมีส่วนในความรุดหน้าและคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์” และข้อกำหนดในลักษณะเดียวกันนี้ยังพบได้ในข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (ค.ศ. 1989)           อย่างไรก็ดีแนวคิดการใช้นโยบายวัฒนธรรมถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมต่อขนบประเพณีเสรีภาพประชาธิปไตยและคุณค่าในบางประเทศ โดยเฉพาะขนบประเพณีของชาติในรัฐบาลขนาดเล็ก หรือประเทศที่ที่ปกครองแบบระบบสหพันธรัฐ ที่มีฉันทามติรัฐธรรมนูญที่เข้มแข็งในการกระจายอำนาจไปสู่รัฐต่างๆ ภายใน เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ในหลายประเทศยังคงมีความทรงจำไม่ค่อยจะดีนักต่อการทำงานแบบสั่งการและระบบการควบคุมของรัฐต่อองค์กรทางวัฒนธรรม หรือการอยู่ภายใต้นโยบายทางวัฒนธรรมของระบบการปกครองแบบเผด็จการในศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าฝั่งซ้ายหรือขวาในทางการเมือง  ทำให้ทั้งนักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องไม่ใคร่เต็มใจที่จะนิยามและสนับสนุนนโยบายทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจนนัก ตัวอย่างเช่น ในต้นทษวรรษที่ 1990 รัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมของอังกฤษได้รายงานในวาระการประชุมรัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมของสหภาพยุโรป เขานำเสนอเหมือนกับรัฐมนตรีจากประเทศอื่นๆ ที่ได้รับการจัดสรรเวลา 20 นาทีในนำเสนอบทสรุปอย่างย่อของนโยบายวัฒนธรรมของประเทศ  อย่างไรก็ตาม สุนทรพจน์ช่วงสุดท้ายไม่ถึงหนึ่งนาทีของเขามีใจความว่า “ประเทศของเราไม่มีนโยบายทางวัฒนธรรม และไม่เคยมี และมันเป็นนโยบายของรัฐบาลของเราที่ว่า เราไม่ควรจะมีนโยบายวัฒนธรรม ขอบคุณครับ” จากนั้นเขาก็นั่งลง           แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะบอกว่าไม่มีการเขียนนโยบายวัฒนธรรมของชาติ  ซึ่งผู้เขียนมีข้อโต้แย้งต่อคำกล่าวนี้อย่างน้อยสามประการ ประการแรกจริงๆ แล้วประเทศอังกฤษตีพิมพ์นโยบายทางวัฒนธรรมในทศวรรษที่ 1960 ภายใต้รัฐบาลผสม   ประการที่สองแม้จะปฏิเสธว่าไม่มีนโยบายวัฒนธรรม แต่ในความเป็นจริง รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น รัฐบาลมองหามาตราการทางการตลาดที่จะจูงใจให้คนทั่วไปสนับสนุนเงินสำหรับการขับเคลื่อนภาควัฒนธรรม   โดยเฉพาะการลดหย่อนภาษีสำหรับองค์กรที่สนับสนุน และการบริจาคเงินของบุคคล เพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ  และเร็วๆ นี้ รัฐบาลยังผ่านกฎหมายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการจัดการภายในของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์แห่งชาติ โดยการเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ภายใต้ดูแลของรัฐบาลกลางไปสู่การออกนอกระบบราชการ มีการบริหารกึ่งอิสระ สามารถจ้างงานและเลิกจ้างได้โดยตรง  นอกจากนี้รัฐบาลยังคงมีความต้องการอย่างแข็งขัน ในการแปรรูปองค์กรรัฐให้ดำเนินงานแบบเอกชน (privatization) อย่างน้อยองค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค การให้บริการ และทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น           ซึ่งนี่ไม่ใช่กรณีเดียว ปัจจุบันส่วนใหญ่ประเทศในยุโรปกำลังเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการขององค์กรให้บริการทางวัฒนธรรมเช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่เคยรับคำสั่งโดยตรงจากส่วนกลางมาสู่การบริหารงานแบบมีคณะกรรมการบริการของตนเองที่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง โดยหวังว่าจะแก้ปัญหาเรื่องงบใช้จ่ายจากส่วนกลางที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี  หรือในบางกรณีมีเป้าหมายในระยะยาวที่ต้องการให้พิพิธภัณฑ์และองค์กรที่ให้บริการด้านมรดกวัฒนธรรม สามารถพึ่งพาตนเองได้ทางการเงิน ด้วยการเปิดโอกาสให้หารายได้ด้วยตนเองในรูปแบบต่างๆ และการระดมทุน ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะได้รับการโปรโมทอย่างชัดแจ้งหรือไม่ก็ตาม ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในโยบายทางวัฒนธรรมของชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้กล่าวตรงๆ แต่นี่ก็ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในนโยบายทางวัฒนธรรม อาณาจักรที่พร่ามัวของนโยบายทางวัฒนธรรม           อย่างไรก็ตามการที่ไม่ได้ตีพิมพ์หรือแถลงการณ์นโยบายทางวัฒนธรรมอย่างที่เป็นการทาง อาจจะดีในแง่ที่เราสามารถอนุมานนโยบายจากการปฏิบัติของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่มีอำนาจ ยกตัวอย่างในช่วงระหว่างสิบปีของการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดสาธารณรัฐประชาชนจีนของเติ้ง เสี่ยวผิง ตั้งแต่ ค.ศ. 1979 – 1989 มีเพียงประโยคเดียวที่เห็นความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรม  มีงานวิจัยที่ศึกษาโดยนักศึกษาปริญญาเอกในความดูแลของผู้เขียนระบุว่า มีความเปลี่ยนแปลงและการพลิกกลับที่สำคัญหลายด้านในการปฏิบัติงานของรัฐบาลและพรรคที่เกี่ยวข้องในแง่มุมต่างๆ ด้านวัฒนธรรม  ซึ่งบ่งชัดถึงความเปลี่ยนแปลงคู่ขนานในนโยบายทางวัฒนธรรมที่ไม่ได้พูดตรงๆ ของผู้นำจีน           อย่างไรก็ตามแม้ที่ๆ มีนโยบายวัฒนธรรมที่ชัดเจนและนำไปใช้ แต่ก็ยังไม่มีความคงเส้นคงวาถึงรูปแบบอย่างที่ควรจะเป็น   สภายุโรปได้รวบรวมทำซีรีย์ชุดการรีวิววัตถุประสงค์ของนโยบายวัฒนธรรมระดับชาติของประเทศในยุโรปตั้งแต่ ค.ศ. 1986  สำหรับการรีวิวนี้ เริ่มจากองค์กรผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องภายในแต่ละประเทศเตรียมการสำรวจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของนโยบายวัฒนธรรมและข้อกำหนดทางวัฒนธรรม พร้อมกับการประเมินตนเอง   จากนั้นมีทีมขนาดเล็กของผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศพิจารณานโยบายทางวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ดังกล่าวที่ส่งเข้ามา  โดยมีการศึกษา เก็บข้อมูล จดบันทึก และเยี่ยมเยือนแต่ละประเทศเพื่อพบปะกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องข้ามหน่วยงานในวงกว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้   ก่อนที่จะเตรียมการรีวิวเอกสารที่มีจำนวนมากพร้อมกับทำข้อเสนอแนะ  นี่คือลำดับการทำงานของการศึกษานโยบายทางวัฒนธรรม ก่อนจะได้เวอร์ชั่นสุดท้ายของการศึกษานโยบายทางวัฒนธรรมทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศที่จะได้รับการเผยแพร่ออกมา   มากกว่ายี่สิบปีแล้วที่นโยบายวัฒนธรรมของ 27 ประเทศจากสมาชิก 46 ประเทศในปัจจุบันได้รับการรีวิวด้วยวิธีการนี้ คุณค่าที่ได้จากงานนี้คือ การได้เห็นความแตกต่างที่สำคัญในสิ่งที่รัฐบาลประเทศทั้งหลายเห็นว่าเป็นนโยบายวัฒนธรรม           ในบางกรณีจะเห็นว่า ในระดับกระทรวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบโดยตรงต่อนโยบายทางวัฒนธรรม ส่วนใหญ่มักใช้คำที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ เรียกว่า “ปัจจัยนำเข้า” (inputs) กับนโยบายทางวัฒนธรรม  ทั้งนี้สิ่งที่รัฐกระทำมีทั้งเชิงของการดูแล  ตั้งกฎระเบียบ การจัดการ และการให้งบประมาณกับสถาบันหรือองค์กรทางวัฒนธรรมต่างๆ  เช่น พิพิธภัณฑ์ โรงอุปรากร โรงภาพยนตร์ วงออเคสตรา อนุสาวรีย์และแหล่งมรดกวัฒนธรรม   ซึ่งมาพร้อมกับเรื่องของการเขียนคำของบประมาณสำหรับการพัฒนาและกิจกรรมใหม่ๆ ด้านศิลปะและมรดกวัฒนธรรม   กรณีดังกล่าวนโยบายทางวัฒนธรรมหมายถึงบทบาทของภาครัฐในการจัดหาบริการทางวัฒนธรรมให้กับประชาชน เช่น ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ หรือการปกป้องมรดกวัฒนธรรม รวมถึงการก่อตั้งสถาบันทางวัฒนธรรมระดับชาติที่รัฐกำกับดูแลหรือให้งบประมาณ   สำหรับกรณีของพิพิธภัณฑ์ นโยบายทางวัฒนธรรมของรัฐบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเน้นการให้บริการไปยังกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือ เช่น ข้อตกลงของรัฐที่จะให้การสนับสนุนสถาบันหรือองค์กรที่ให้บริการทางวัฒนธรรม รวมถึงการให้งบประมาณในการดำเนินงาน การก่อสร้างสร้างอาคารและการจัดหาคอลเล็กชั่น  อย่างไรก็ดีบ่อยครั้งที่รัฐบาลระบุกลุ่มเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน โดยกระทรวงวัฒนธรรมนำเสนอต่อรัฐบาลหรือกระทรวงการคลังก่อน เมื่อมีความชัดเจนแล้ว นโยบายจะถูกส่งผ่านไปยังภาคส่วนวัฒนธรรม นำไปสู่การตัดสินใจของรัฐบาลในการจัดสรรเงินงบประมาณและทรัพยากรเพื่อสนับสนุนต่อไป             โมเดลของการนโยบายทางวัฒนธรรมและการบังคับใช้มีตัวอย่างเกิดขึ้นไม่เกินสิบกว่าปีมานี้เอง อย่างน้อยในระบอบปกครองประชาธิปไตยตะวันตก ซึ่งเป็นตัวอย่างของการฝืนใจที่จะมองวัฒนธรรมมากกว่าไปกว่าสินค้าและบริการสาธารณะที่มีสิทธิในตัวของมันเอง อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้าม ที่ผ่านมาหลายประเทศและหลายระบอบมองว่าสถาบันและการให้บริการทางวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการสร้างชาติมากกว่าแค่เรื่องวัฒนธรรม ข้อบกพร่องและจุดแข็งของนโยบายทางวัฒนธรรม           ระบอบนาซีในเยอรมนีได้กำจัด ทำลาย หรือขายงานศิลปะจำนวนมหาศาลที่ถูกพิจารณาว่าเป็น “ความเสื่อม” หรือไม่ก็เพราะรูปแบบศิลปะแบบโมเดิร์นหรือผลงานเหล่านั้นถูกสร้างสรรค์โดยศิลปินชาวยิว ระหว่างศตวรรษที่ยี่สิบ คอลเล็กชั่น การจัดแสดง และนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ในหลายประเทศทั่วโลกเป็นสิ่งที่ถูกรัฐควบคุมไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม การดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ขึ้นอยู่กับมุมมองทางการเมืองของผู้อำนวยการหรือภัณฑารักษ์ หรืออย่างน้อยที่สุดจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกับนโยบายและวาระของรัฐบาล หรือกระทั่งเกี่ยวพันกับอคติส่วนบุคคลหรือรสนิยมของผู้นำเผด็จการ  แม้กระทั่งในผู้นำประชาธิปไตยเสรีนิยม พิพิธภัณฑ์อาจอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลหรืออย่างน้อยคำขู่เรื่องการลดงบประมาณจากรัฐและการช่วยเหลืออื่นๆ  ในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1990 มีประเด็นร้อนที่ถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์สำคัญๆ รวมถึงประเด็นคำอธิบายในนิทรรศการบทบาทของเครื่องบินทิ้งระเบิด B 29 ที่ชื่อ อิโนลา เกย์ ที่ทิ้งระบิดที่เมืองฮิโรชิมา ขณะที่นิทรรศการงานศิลปะร่วมสมัยหลายแห่งได้รับผลกระทบจากความพยายามที่จะตัดงบสนับสนุนงานพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลและองค์กรศิลปะของรัฐ           ต่อคำถามที่ว่าพิพิธภัณฑ์ควรถูกคาดหวังให้ทำงานที่ก้าวหน้าหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมหรือทางการเมือง  ไม่ว่าคำตอบนี้จะเป็นอะไรก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงในหลายประเทศ พิพิธภัณฑ์ถูกคาดหวังการทำงานที่สำคัญอันดับแรกในเรื่องเศรษฐกิจและนโยบายทางสังคมมากกว่าเรื่องวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ในเกือบทุกประเทศถูกพิจารณาในฐานะ เป็นสิ่งที่มีมูลค่าต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่มากก็น้อย  หลังจากพักผ่อนสนุกสนานจากชายหาด ชนบท และภัตตาคาร การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และสถานที่เชิงมรดกวัฒนธรรมเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก แน่ล่ะว่าพิพิธภัณฑ์ต้องตอบสนองต่อสิ่งนี้และความต้องการต่างๆ ที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ขึ้น  อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหล่านี้ไม่เคยถูกมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายของพิพิธภัณฑ์และเป็นความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรมการทำงานของพิพิธภัณฑ์  นักท่องเที่ยวต่างประเทศกระเป๋าหนักกลายกลุ่มเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์ระดับชาติและท้องถิ่น น่าเศร้าใจที่พบความเป็นจริงที่ว่าในประเทศกำลังพัฒนา พิพิธภัณฑ์ดูเหมือนให้บริการกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มากกว่าประชาชนของประเทศ ซึ่งเป็นเพียงคนส่วนน้อยที่เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์           ในหลายประเทศ ความต้องการของรัฐบาลขยายกว้างออกไปมากขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นว่ารัฐบาลหรือองค์กรทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นที่ให้เงินทุนสนับสนุน จะให้เงินเฉพาะบางรูปแบบของสัญญา  วางอยู่บนข้อเรียกร้องเฉพาะอย่าง สามารถวัดผลได้ในทางปฏิบัติและมีตัวชี้วัดหรือเป้าหมายที่มีปัจจัยที่กว้างมากขึ้น  ซึ่งหลายปัจจัยอาจไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบของพิพิธภัณฑ์เลยก็ได้ ยกตัวอย่างในสหราชอาณาจักร กระทรวงวัฒนธรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาศิลปะ พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ระดับชาติ รวมถึงสถาบันทางวัฒนธรรมที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ   ถูกให้ทำงานภายใต้ขอบเขตของนโยบายที่พัฒนาโดยสำนักนายกรัฐมนตรี   ลำดับความสำคัญจะเขียนไว้ในนโยบายและการให้เงินสนับสนุน  รวมถึงนโยบายของหน่วยบริการและข้อมูลทั้งหมดทั้งของหน่วยงานกลางและท้องถิ่นผ่านแอพลิเคชั่น “ e-government” ในระบบอินเตอร์เน็ต  โดยเน้นแก้ไขปัญหาการกีดกันทางสังคมที่หยั่งรากลึกในกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส   ทั้งนี้ปัญหาการกีดกันทางสังคม ปัจจุบันอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหัวหน้าคณะรัฐมนตรี(senior minister) และส่วนงานอื่นทั้งหมดของการบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้อง ยุทธศาสตร์ใหม่สิบปีเน้นการกำจัดความด้อยโอกาสที่หยั่งรากลึก  กลุ่มเป้าหมายคือคนที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะครอบครัวยากจนที่มีเด็กและคนแก่, ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย, คนที่ผิดปกติทางสมอง และวัยรุ่นในกลุ่มเสี่ยงตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร    ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของสหราชอาณาจักร ได้รับการยอมรับ  แต่การจะทำแบบนี้ได้จะมีต้ององค์กรรองรับนโยบายทางวัฒนธรรม และองคาพยพอย่างเช่นพิพิธภัณฑ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างจริงจังต่อเป้าหมายนี้           ชัดเจนว่าพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกกำลังเกี่ยวข้องกับนโยบายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่เป็นบทแถลงการณ์อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น  ในทางปฏิบัติ การแบ่งว่า ‘เป้าหมายหรือเครื่องมือ’ ของนโยบายวัฒนธรรมตามชื่อบทความคงจะเลือนหายไป เพราะแม้กระทั่งรัฐบาลที่มีการทำงานในเชิงขนบต่อนโยบายทางวัฒนธรรม  ยังเริ่มคาดหวังให้พิพิธภัณฑ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญต่อเป้าหมายในเชิงการศึกษาและสังคมของประเทศชาติ. หมายเหตุ: แปลและเรียบเรียงจาก Patrick J. Boylan, 2006. “Museum: Targets or Instruments of Cultural Policies?” in Museum International. Vol. 58, No.4) โดย ปณิตา สระวาสี.

พิพิธภัณฑ์กับชีวิตของเมือง กลยุทธ์สำหรับการทำงานร่วมกับชุมชนเมือง

22 มีนาคม 2556

(ตอนที่ 1) บทความที่จะปรากฏต่อไปนี้มาจากการเก็บความจากหนังสือ "Museums in the Life of a City" Strategies for community partnerships. Washington D.C.: American Association of Museum, 1995. หนังสือดังกล่าวได้รวบรวมข้อเขียนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ปี 1992 บทเรียนจากความร่วมมือระหว่างชุมชนและพิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานหลายแห่งในประเทศไทยในการริเริ่มโครงการพิพิธภัณฑ์เมือง เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นและทำหน้าที่ต่อสาธารณชนในการให้การศึกษาอย่างแท้จริง มากไปการสร้างห้องนิทรรศการที่มีแต่ภาพ ป้ายบรรยาย หรือวัตถุจัดแสดงเล็กน้อย แล้วกลับนิยามสถานที่ดังกล่าวนั่นว่า "พิพิธภัณฑ์" ปฐมบท การริเริ่มโครงการพิพิธภัณฑ์กับชีวิตของเมืองมิได้ดำเนินการสะดวกและง่ายดายตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น ระยะกลาง จนกระทั่งปิดโครงการ โครงการดังกล่าวเป็นการทดลองหรืออาจจะเรียกว่าการพิสูจน์ให้เห็นถึงบริบทขนาดใหญ่ของความเป็นไปในสังคมอเมริกันและทัศนคติที่เปลี่ยนไป ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 คำว่า "เชื้อชาตินิยม" (racism) ยังเป็นประเด็นเล็กๆ ที่พูดคุยกันในพิพิธภัณฑ์ ฉะนั้นเมื่อเราเริ่มเขียนเค้าโครงการทำงานในปี 1989 เราได้ตั้งเป้าหมายไว้แต่ต้นว่า "โครงการจะพยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น และลดอคติและการเลือกปฏิบัติไปพร้อมกัน" เราได้เน้นย้ำถึง "การสร้างความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์และชุมชนและความภาคภูมิใจในความเป็นพลเมือง รวมไปถึงความเข้าใจเกี่ยวผู้คนและวัฒนธรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น และเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานของพิพิธภัณฑ์เมืองมากยิ่งขึ้น" เอกสารฉบับนี้เป็นการย้อนรอยการทำงานในทุกๆ ขั้นตอนจากแนวคิดจนถึงการประเมินการทำงาน รวมไปถึงข้อคิดเห็นต่างๆ ที่มีต่อการทำงานของเรา โครงการเริ่มต้นมาจากการพูดคุยระหว่างตัวแทนของพิพิธภัณฑ์ในเมืองฟิลาเดลเฟีย เมื่อฤดูร้อนปี 1988 จากการริเริ่มของโจแอล แอน. บลูม (Joel N. Bloom) ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานสมาคมพิพิธภัณฑ์สหรัฐอเมริกาและประธานพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สถาบันแฟรงคลิน ความคิดในขณะนั้นคือการริเริ่มโครงการที่จะเชื่อมโยงพิพิธภัณฑ์กับชุมชนที่รายล้อม ภายใต้ความอุปถัมภ์ของสมาคมพิพิธภัณฑ์อเมริกาและความร่วมมือกับเครือข่ายสถานที่เพื่อการพำนักอาศัย (Partners for Livable Places) คณะทำงานได้รับเงินสนับสนุนเมื่อปี 1990 จาก The Pew Charitable Trusts for Museums in the Life of a City: The Philadelphia Initiative for Cultural Pluralism หรือกองทุนสำหรับการสร้างความเข้าใจ้เกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมในเมืองฟิลาเดลเฟีย การทำงานในโครงการนำร่องมาจากหลายฝ่าย ตั้งแต่สถาบันวัฒนธรรมและองค์กรงานเพื่อสังคมและศิลปะชุมชน โดยมีสำนักงานเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ประสานงานในเมือง ช่วงปีแรกเป็นห้องเวลาของการเก็บข้อมูล พัฒนาโครงสร้างการจัดการ และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในเมืองฟิลาเดลเฟียและองค์กรชุมชน เรานิยาม "ชุมชน" ที่กลุ่มคนที่ไม่ได้จัดว่าเป็นกลุ่มคนหลักตามที่มีการระบุไว้ในการสำรวจสำมโนประชากรสหรัฐอเมริกาปี 1990 (nonmajority categories used in the 1990 U.S. Census) ผู้ที่ถูกกระทำและเลือกปฏิบัติจากชนอเมริกันกระแสหลัก อันได้แก่ แอฟริกันอเมริกัน ลาติโนส์ เอเชียนอเมริกัน และชนพื้นเมืองอเมริกัน ส่วน "พิพิธภัณฑ์" กินความกว้างไปถึงห้องสมุด สวนสัตว์ และองค์กรทางประวัติศาสตร์ ระหว่างสองปีถัดมา เราได้ทำกิจกรรม 11 ครั้งเพื่อการนำร่องในการประสานความร่วมมือ ด้วยการสร้างศูนย์กลางข้อมูลข่าวสาร การนำเสนอกิจกรรมกับสาธารณชน การผลิตจดหมายข่าว และการจัดประชุมความร่วมมือเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมในอนาคต หน่วยงานต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือพันธมิตรเพื่อที่พำนัก (Partners for Livable Places) ได้จัดประชุมระดับชาติในฟิลาเดลเฟียโดยเน้นประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในสหรัฐอเมริกาและที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ จากการเริ่มต้น คณะกรรมการที่ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์และองค์กรชุมชนรวม 14 แห่งได้วางแนวทางปฏิบัติทั่วไป โดยมีโรเบริต์ ซอร์เรลล์ (Robert Sorrell) ประธานสันนิบาตเมืองฟิลาเดลเฟีย และโจแอล บลูม (Joel Bloom) เป็นประธานคณะกรรมการ ในช่วงปลายปี 1994 สองปีหลังจากโครงการนำร่องสำเร็จลง ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของพวกเขาระหว่างที่มีการประชุมร่วมกับสมาคมพิพิธภัณฑ์สหรัฐอเมริกา ข้อคิดแสดงถึงการริเริ่ม ความเสี่ยงและผลที่ได้รับ ความผิดหวังและความพึงพอใจ ความสนุกและความกังวล เพื่อเป็นข้อคิดให้กับองค์กรทางวัฒนธรรมและชุมชนในเมืองอื่นๆ เช่นฟิลาเดลเฟียได้ทดลองลงแรงในทิศทางเดียวกันบ้าง ความคิดริเริ่มของพวกเรางอกเงยมาจากการสนทนา ทั้งการรู้จักที่จะรับฟัง รับผิดชอบ และการโต้ตอบ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามหรือการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้ง นั่นหมายถึง ความเคารพต่อผู้อื่นและการแสดงความคิดเห็นในบรรยากาศที่ไว้ใจซึ่งกัน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการสนทนา ถ้อยคำเหล่านี้มาจากผู้ที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการระหว่างโครงการนำร่องพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมือง เริ่มต้นสำรวจความเป็นไปได้ โดย แอนน์ มินท์ซ (Ann Mintz) พิพิธภัณฑ์สามารถแสดงบทบาทในการเชื่อมสายใยของชุมชนได้อย่างไร? ประเด็นทางสังคมใดที่พิพิธภัณฑ์สามารถช่วยในการเปิดสู่สาธารณะ? โครงการนำร่องพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมืองออกเดินด้วยคำถามข้างต้นนี้ เมื่อตัวแทนของพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในฟิลาเดลเฟียจัดการประชุมในระยะแรกๆ พวกเรามีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่สองประการ ได้แก่ การบ่งบอกถึงปัญหาที่สำคัญที่สุดที่เมืองกำลงเผชิญอยู่ และอภิปรายแนวทางที่พิพิธภัณฑ์สามารถเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาเหล่านั้น ด้วยการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย เราได้พูดคุยกันให้ประเด็นที่หลากหลายแม้จะต้องใช้เวลานาน ทั้งเรื่องของยาเสพติดและอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่อง การเคหะและปัญหาการเร่ร่อน เด็กๆ ที่อยู่ในสภาวะเสี่ยง การตกงาน การแบ่งแยกทางเชื้อชาติและการเมือง ปัญหาความร่ำรวยของเมืองแต่ขาดความใส่ใจต่อลักษณะพหุวัฒนธรรม ทุนสนับสนุนที่ลดลง การให้ความสำคัญกับการศึกษา ซึ่งรวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความรับผิดชอบของพิพิธภัณฑ์ต่อชุมชนและครอบครัว รวมไปถึงการสร้างความตระหนักในความภาคภูมิของการเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อพื้นที่ด้วยการลงมือต่อต้านความยุ่งเหยิง เราได้อภิปรายถึงจุดแข็งของพิพิธภัณฑ์ที่เรามีและเราจะสร้างความแตกต่างอย่างไร "พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่งานสังคมสงเคราะห์" ใครคนหนึ่งในการประชุมกล่าวขึ้นมา เราเห็นด้วย แต่ปัญหาของเมืองอีกจำนวนไม่น้อยที่พิพิธภัณฑ์ไม่สามารถจะช่วยได้ พิพิธภัณฑ์กลับจะต้องผลักดันให้ตนเองเป็นหน่วยงานที่มีบทบาททางสังคม (social agencies) ตัวอย่างเช่น ขอบเขตการทำงานบางประเภทอยู่ในวิสัยที่พิพิธภัณฑ์ชำนาญการ การศึกษาและการสร้างความภาคภูมิใจของชุมชน หรือประเด็นอื่นอย่างการแบ่งแยกเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ที่เราสามารถเข้าไปเล่นบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี ใครอีกคนหนึ่งในที่ประชุมกล่าวว่า "วัฒนธรรมเป็นจุดศูนย์กลางของการเยียวยาประเทศ" เราสำรวจความเป็นไปได้ต่างๆ และสรุปจุดแข็งของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแบบฉบับคือ การจัดแสดง การตีความ และการสดุดีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ฟิลาเดลเฟียอยู่ในข่ายของเมืองที่มีชุมชนหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม แต่ความแตกต่างและหลากหลายเช่นนี้สามารถนำไปสู่การแบ่งแยก และหลายๆ ครั้ง ก็หมายถึงความขัดแย้ง เราจึงตัดสินใจว่า พิพิธภัณฑ์ควรสำรวจตนเองเพราะเหตุใดจึงมีกำแพงระหว่างเราและชุมชน แล้วเราจะสามารถสร้างเชื่อมต่อได้อย่างไร เราควรหาวิธีที่จะสดุดีความหลากหลาย เมื่อเรามองออกไปยังภายนอกคือ ชุมชนต่างๆ ในฟิลาเดลเฟีย แลมองกลับเข้ามาในระบบการทำงานของเรา เราควรพยายามเรียนรู้ว่าเหตุใดพิพิธภัณฑ์ไม่เคยจะสะท้อนความหลากหลายของวัฒนธรรม เราควรที่จะมีโอกาสเรียนรู้กันและกัน และเชื่อมโยงให้พิพิธภัณฑ์ต่างๆ เป็นแหล่งการเรียนรู้อย่างไม่เป็นอย่างทางการ รวมถึงรู้จักใช้ "มนต์มายา" ที่ตนมี สิ่งที่เราเรียนรู้ในเบื้องต้นนี้สามารถสรุปได้ 3 คำ คือ ขบวนการ ความอดทน และการเป็นหุ้นส่วนซึ่งกัน ขบวนการมีความสำคัญ เพราะเราจะต้องทำงานไปด้วยกัน เมื่อเราต้องใช้เวลาและความใส่ใจ ความอดทนก็เป็นสิ่งที่จะต้องมีในลำดับต้นๆ และในแต่ละขั้นตอนของการตัดสินใจ ทั้งเป้าหมาย วัตถุประสงค์ หรือการพัฒนาโครงการ หุ้นส่วนที่แท้จริงก็คือกุญแจสำคัญ เราเริ่มออกเดินทาง โดย พอร์เทีย ฮามิลตัน-สเปียร์ (Portia Hamilton-Sperr) ในการเริ่มต้นโครงการพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมืองเมื่อปี 1990 เรามองไปที่ลักษณะประชากร การเมือง และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของฟิลาเดลเฟีย รวมถึงบริบททางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 เมืองมีแต่ความวุ่นวาย รัฐบาลท้องถิ่นเผชิญกับปัญหาการเงิน ศีลธรรมของพลเมืองตกต่ำจนขีดสุด ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ค่านิยมดั้งเดิมกลายเป็นประเด็นไปทั่วประเทศ ประเด็นพหุนิยม ความหลากหลาย และพหุวัฒนธรรมนิยม และ "จริยธรรมการเมือง" กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อพิจารณาไปที่ประชากรในเมืองของอเมริกา เราไม่แปลกใจเลยที่จะเห็นพหุนิยมที่เพิ่มมากขึ้นในฟิลาเดลเฟีย ตั้งแต่ 1980 ตามข้อมูลการสำรวจล่าสุด กลุ่มประชากรเอเชียที่อยู่ในเมืองมากขึ้นเป็นสองเท่า หรือมากกว่า 43,000 คน และประชากรกลุ่มละตินเพิ่มมากขึ้นมากกว่า 90,000 คน ตามข้อมูลที่อ้างอิงของบทความหนึ่งใน ฟิลาเดลเฟีย อินเควอรี เดือนมีนาคม 1991 "เมื่อต้นศตวรรษนี้ ประชากรในขณะนั้นประมาณ 1.6 ล้านคน ประกอบด้วยคนขาวร้อยละ 54 และคนดำร้อยละ 40 แต่ในยามนี้ 3 ใน 4 คือประชากรคนดำอาศัยในกลุ่มประชากรที่ 9 ใน 10 คนเป็นคนดำ" และอีกบทความหนึ่งพูดไปในทำนองเดียวกัน "ดังจะเห็นได้ว่าการแบ่งแยกมีมากขึ้นในเมืองต่างๆ อย่างฟิลาเดลเฟีย คนดำจำนวนหนึ่งขาดความสัมพันธ์กับคนดำชนชั้นกลางที่ย้ายไปยังชุมชนใหม่… จากเครือญาติระหว่างครอบครัวและเพื่อนที่เคยอยู่ในลักษณะข้อมูลช่องทางการทำงาน หรือวาระโอกาสอื่น กลายมาเป็นทะเลาะแบ่งแยก ชุมชนกลายสภาพเป็นโดดเดี่ยวมากขึ้น" เมื่อพิจารณาถึงบทบาทขอสถาบันทางวัฒนธรรมที่ควรจะมีหรือจะเป็นเพื่อการพัฒนาเมืองในยามที่ปัญหาแย่ลงเรื่อยๆ สถาบันควรคิดที่จะเข้าหามวลชนโดยตรงมากกว่าที่จะตระหนักถึงประเด็นทางสังคมบางประการ นั่นหมายถึง การคำนึงถึงการอยู่รอดทางการเงิน พิพิธภัณฑ์หลายแห่งคิดถึงความต้องการทางสังคมในลักษณะกว้างๆ หลายแห่งสนับสนุนการเข้าชมของเด็กที่มีรายได้ต่ำ หลายแห่งทำงานกับโรงเรียนรัฐหรือมีการจัดรายการท่องเที่ยว ในขณะที่อีกหลายแห่งจัดนิทรรศการที่ดึงดูดกลุ่มคนที่ไม่ใช่ผู้เข้าชมหลักของพิพิธภัณฑ์ แต่มีพิพิธภัณฑ์น้อยแห่งมากที่ใคร่ครวญถึงปัญหาสังคมให้ตรงมากกว่านี้ จากเงื่อนไขที่กล่าวมาทั้งหมด การเริ่มต้นโครงการพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมืองจึงเป็นความกล้าหาญจะทำสิ่งที่ต่าง และด้วยเจตนารมย์ที่ดี ข้าพเจ้าจำได้ดีว่าเมื่อเริ่มต้นการทำงาน ตัวแทนพิพิธภัณฑ์หลายแห่งกลับแสดงทีท่าที่ถ่อมตนหรือแอบระแวงสงสัย บางคนแสดงความไม่กระตือรือร้นแต่เริ่มแรก แล้วกล่าวกับพวกเราว่า "ก็ลองดูเพื่อความอยู่รอด" และอีกหลายคนแสดงความวิตกจริตเมื่อพวกเขาได้รับมอบหมายบางประการ เสมือนว่าเป็นความรับผิดชอบที่เขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกไปจากนี้ เรายังต้องคอยที่จะอธิบายให้เข้าใจถึงผลการทำงานที่จะแตกต่างไปจากกิจกรรมเพิ่มจำนวน "ผู้เข้าชมที่ไม่ใช่กลุ่มผู้ชมหลัก" ในพิพิธภัณฑ์ อย่างไรก็ดี เราคงยืนยันถึงการทำงานแบบเข้าหามวลชนว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมและการศึกษาของชุมชนต่างๆ ในเมือง กุญแจสำคัญคือ พยายามรั้งเด็กๆ ไว้ที่โรงเรียน สอนให้พวกเขาเข้าใจความหมายของการทำงาน กิจกรรมสร้างสรรค์ การต่อสู้กับยาเสพติดและความรุนแรง และการฟันฝ่าเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและบริการสุขภาพ เราจึงเสนอแนะว่าในกระบวนการศึกษา พิพิธภัณฑ์ที่มีส่วนร่วมควรย้อนสำรวจทรัพยากรที่จะเชื้อเชิญให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ในความพยายามครั้งใหม่นี้ คณะกรรมการวางแผนวางเป้าหมายสำหรับโครงการนำร่องไว้ ดังนี้     โครงการจะพัฒนาการสื่อสารระหว่างชุมชนและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในฟิลาเดลเฟีย ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การสร้างความเข้มแข็งในคุณค่าของชุมชน และความต้องการอื่นๆ     โครงการจะสาธิตให้เห็นวิธีการและช่องทางในการรับใช้ต่อพลเมืองซึ่งมีวัฒนธรรมที่ไม่ใช่กระแสหลัก เช่น อเมริกันแอฟริกัน เอเชียนแอฟริกัน ลาติน และชนพื้นถิ่นอเมริกัน     โครงการจะก่อร่างรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างคู่สัมพันธ์ (ชุมชนและพิพิธภัณฑ์) พร้อมไปกับหัวหน้าชุมชนและคนทำงานพิพิธภัณฑ์สามารถตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ร่วมกัน     โครงการจะเพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑ์และชุมชนในการเข้าไปแก้ปัญหาร่วมสมัยด้วยกลยุทธ์แบบมีส่วนร่วม ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่     โครงการจะผลักดันให้ชุมชนเข้ามาร่วมงาน และส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์และกรรมการคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเมือง     โครงการมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นเพียงโครงการนำร่องเท่านั้น     กิจกรรมจำนวน 41 กลุ่มเข้าร่วมในโครงการ 11 กลุ่มได้รับเงินสนับสนุนจากข้อแนะนำของผู้นำต่างๆ ของข่ายงานวัฒนธรรมที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม อันประกอบด้วย     โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ 2 โครงการ ด้านหนึ่งเป็นงานวิทยาศาสตร์และอีกด้านหนึ่งเป็นทัศนศิลป์ โครงการให้เด็กในวัยเรียนเข้ามามีส่วนร่วม     โครงการประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า โครงการหนึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเคหะสาธารณะ และอีกโครงการหนึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของกลุ่มเพื่อนบ้านที่ต่างกันสองกลุ่ม     โครงการวิจัยในการสำรวจแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมกัมพูชา     โครงการสำรวจประเด็นทางวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์การเดินเรือที่จะให้เด็กและครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม     โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับวัฒนธรรมแอฟริกาและกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อนักเรียนระดับประถมศึกษา     โครงการกิจกรรมปฏิบัติการอำนวยความสะดวกในการเข้าใช้ศูนย์บริการชุมชน สวน และห้องสมุด     โครงการปฏิบัติการละครและทัศนศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการภาพวาดโดยศิลปินแอฟริกันอเมริกันที่มีชื่อเสียง รวมถึงการจัดอบรมศิลปะการแสดงให้กับกลุ่มวัยรุ่น     โครงการกิจกรรมครอบครัวเพื่อสร้างความเข้าใจข้ามวัฒนธรรมในกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติที่หลากหลาย (ตอน 2) บทความที่จะปรากฏต่อไปนี้มาจากการเก็บความจากหนังสือ "Museums in the Life of a City" Strategies for community partnerships. Washington D.C.: American Association of Museum, 1995. หนังสือดังกล่าวได้รวบรวมข้อเขียนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ปี 1992 บทเรียนจากความร่วมมือระหว่างชุมชนและพิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานหลายแห่งในประเทศไทยในการริเริ่มโครงการพิพิธภัณฑ์เมือง เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นและทำหน้าที่ต่อสาธารณชนในการให้การศึกษาอย่างแท้จริง มากไปการสร้างห้องนิทรรศการที่มีแต่ภาพ ป้ายบรรยาย หรือวัตถุจัดแสดงเล็กน้อย แล้วกลับนิยามสถานที่ดังกล่าวนั่นว่า "พิพิธภัณฑ์" การสนับสนุนเครือข่าย ซินเธีย พริมาส์ (Cynthia Primas) เมื่อมีการรวมตัวเป็นองค์กรใหม่ๆ องค์กรในเครือข่ายอภิปรายถึงความหวังและความคาดหวัง แน่นอนฟังดูน่าตื่นเต้นและในบางครั้งกลับกระตือรือร้นจนเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการให้ความช่วยเหลือวัยรุ่นให้มีความภูมิใจในตนเองและการฝึกฝนอาชีพ การสร้างเครือข่ายงานพิพิธภัณฑ์ การรณรงค์ค่านิยมของชุมชน การทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมในระดับที่ลึก หรืออะไรก็ตามแต่ จริงๆ แล้วเมื่อเราจะต้องทำงานร่วมกัน ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่บุคลิกภาพส่วนบุคคล และของกลุ่มเอง จากนั้นเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มในระดับต่างๆ กลุ่มที่ทำงานร่วมกันได้ดีย่อมมีวิญญาณเป็นของกลุ่มเอง เมื่อนั้นบรรยากาศของการทำงานจะนำพาให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างแต่ละคนที่เข้ามาทำงาน เราค่อนข้างตื่นเต้นในยาแรกเห็นการแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นระหว่างคนในชุมชนและคนพิพิธภัณฑ์ ประสบการณ์ดังกล่าวไม่เคนเกิดขึ้นมาก่อน ทีมงานไม่ได้กำหนดการทำงานตามที่ได้วางแผนไว้แล้ว หากแต่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างแท้จริง ทั้งทรัพยากรที่มีอยู่และความร่วมมือ สิ่งนี้เองที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ในระยะยาว เราตระหนักได้ถึงอิสระในการลงมือทำและการตั้งคำถามที่มาจากสมาชิกที่เข้าร่วมงาน แม้เราจะเล็งเห็นถึงอุปสรรคที่เกิดมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่เรายังคงยืนยันที่จะไม่ทำงานภายใต้การวางแผน ซึ่งอาจจะทำให้งานลุล่วงไปได้มากกว่า เรากลับใช้ระบบที่เรียกว่า "วิจัยเชิงปฏิบัติการ" (action research) นั่นหมายถึง กระบวนการเก็บข้อมูลที่มาจากมุมมองของสมาชิกในกลุ่มที่เกิดขึ้นภายใต้การทำงานจริง ในกระบวนการเช่นนี้ สมาชิกแต่ละคนสามารถใช้ข้อมูลที่พวกเขาได้สังเคราะห์ด้วยตนเอง เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ตามแนวคิดที่กล่าวไว้นี้ ผลลัพธ์ที่เราปรารถนาคือ กระบวนการมาจากกลุ่มที่ทำงานเอง และจะส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจ ผู้ปฏิบัติงานในขั้นริเริ่มได้ทำหน้าที่ในการผลักดัน แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไปบอกให้สมาชิกในทีมงานทำเช่นนั้นเช่นนี้ ในการทำงาของเรา เราเน้นที่ความเท่าเทียมและนำเอาคนที่มีค่านิยมและการมองโลกที่แตกต่างมาเสริมการทำงานซึ่งกัน ข้าพเจ้ารู้สึกอิ่มใจไม่น้อยเมื่อได้รับข้อความหนึ่งจากผู้ที่เข้าร่วมโครงการ "ขอบคุณสำหรับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และความพยายามในการผลักดันการทำงานไปในกระแสของสายน้ำต่างวัฒนธรรม เพื่อให้กลายเป็นความร่วมมือที่เข้มแข็งและความร่วมมือที่มีพลวัต" คำตอบที่ข้าพเจ้าได้มานี้ย้ำความจริงหนึ่งที่ว่าผลงานและกระบวนการจะต้องดำเนินไปด้วยกัน เพื่อให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จอังที่ตั้งหวังไว้   การทำงานร่วมกัน   โครงการวีดิทัศน์ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของบ้านจอห์นสัน (Johnson Homes Oral History Video Project) โดยสภาผู้อยู่อาศัยในบ้านจอห์นสัน สมาคมเคหะสถานของวาล์เลย์เดอลาแวร์ และห้องสมุดสาธารณะฟิลาเดลเฟีย (Johnson Homes Tenant Council, Housing Association of Delaware Valley, Free Library of Philadelphia) โครงการวีดิทัศน์ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าเป็นกิจกรรมสำคัญของโครงการเคหะสถานเจมส์ เวลดอน จอห์นสัน (James Weldon Johnson Homes) ซึ่งเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการแรกในฟิลาเดลเฟียเมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือจากตัวแทนจากห้องสมุดสาธารณะฟิลาเดลเฟียและสมาคมเคหะสถานของวาล์เลย์เดลลาแวร์ ผู้ที่อาศัยในบ้านจอห์นสันเข้ารับการอบรมการวิจัยประวัติศาสตร์คำบอกเล่า การผลิตวีดิทัศน์ และภาวะผู้นำ ผู้ที่ร่วมโครงการวางแผนการผลิตวีดิทํศน์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวและความทรงจำจากผู้อยู่อาศัยอาวุโสเกี่ยวกับช่วงปีแรกๆ เข้ามาอยู่ในโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งวันหนึ่งข้อมูลเหล่านี้จะสูญหายไป แม้ว่าในช่วงแรกโครงการบ้านจัดสรรจะมีสวัสดิการสังคมและกิจกรรมพักผ่อนไม่น้อย แต่งบประมาณกลับถูกตัดและกิจกรรมหลายอย่างงดไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะผู้นำที่มีพลังจากสมัยของ แนลลี่ เรย์โนลด์ส (Nellie Reynolds) ซึ่งต่อมาประธานได้เป็นประธานสภาผู้อาศัย ทำให้บ้านในโครงการหลีกพ้นหลุมพลางจากโครงการพัฒนาอื่นๆ ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าเป็นเรื่องราวของพวกเขา เรื่องราวที่บ่งบอกความสำเร็จ การต่อสู้กับความขัดแย้ง และความเคลื่อนไหวในสิทธิของการตัดสินใจที่จะจัดการการพำนักอาศัยในสถานที่ดังกล่าวด้วยตนเอง ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการ ลินดา โชเปส (Linda Shopes) นักประวัติศาสตร์คำบอกเล่าจากคณะกรรมการประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์เมืองฟิลาเดลเฟีย ได้จัดการอบรมการสัมภาษณ์ประวัติศาสตร์บอกเล่า และตัวแทนจากศูนย์สคริปววิดีโอ (Scribe Video Center) ได้สอบเทคนิคการผลิต รวมไปถึงความร่วมมือจากตัวแทนของห้องสมุดสาธารณะและที่ปรึกษาจากสาขาต่างๆ ชาวบ้านได้เรียนรู้เทคนิคการทำวิจัยประวัติศาสตร์บอกเล่า เรียกได้ว่าเป็นทักษะที่มีคุณค่าที่เปิดประตูให้พวกเขาได้สร้างสรรค์แผนที่และข้อมูลอื่นๆ ซึ่งได้สร้างความภาคภูมิใจเกี่ยวกับพื้นที่ที่เขาพำนักอาศัย คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เข้าสมุดเลยหลังจากออกจากรั้วโรงเรียนกลับพบความน่าสนใจและส่งผลให้พวกเขากลับไปอีกหลายต่อหลายครั้ง     การเข้าหาชุมชนด้วยมุมมองทางศิลปะและการถ่ายทอดความรู้     โดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย, Taller Puertorriqueno, Congresso de Lqtinos Unidos โครงการนี้ใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนในการทำกิจกรรมกับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 5 คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดย Taller Puertorriqueno และ Congresso de Lqtinos Unidos และนักเรียนในระดับวิทยาลัย ผู้ได้รับการคัดเลือกโดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย การอบรมดังกล่าวมีระยะเวลา 8 สัปดาห์ที่จะจัดกิจกรรมให้กับเด็กจำนวนหลายพันคนตามค่ายในเมืองและศูนย์พักผ่อนและกีฬาต่างๆ ในสามอาทิตย์แรกเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ เข้ารับการอบรม พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าพิพิธภัณฑ์ดำเนินการอย่างไรด้วยการพบปะภัณฑารักษ์และผู้บริหาร ได้สังเกตการการจัดรายการกิจกรรมต่างๆ ได้สำรวจแง่มุมต่างๆ จากงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ และได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นที่ตั้งอยู่ในฟิลาเดลเฟียและนิวยอร์ก เอมมี่ ยาเรด (Amy Jared) และเจ้าหน้าที่ในแผนกการศึกษาบรรยายและสาธิตการใช้ประโยชน์ในห้องจัดแสดงและห้องปฏิบัติงานศิลป์ และบอกเล่าถึงวิธีการวางแผนกิจกรรมเพื่อการศึกษา ในระหว่าง 5 สัปดาห์ที่เหลือ เด็กๆ จะได้รับผิดชอบอยู่ในทีมการสอนอย่างเป็นอิสระ แต่ละคนจะมีโอกาสได้สังเกตการณ์ซึ่งกันและกัน และประเมินผลการทำงาน เด็กมีห้องที่ใช้เตรียมบทเรียนที่จะนำกลับไปยังชุมชนของตนเอง พวกเขาได้จัดอบรมการพิมพ์ให้กับเด็กๆ ในโครงการภาคฤดูร้อนเทเลอร์จำนวน 45 คน ส่วนในช่วงเปิดเทอม เด็กจากโรงเรียนทั้ง 5 แห่งจะพบกันที่ Taller Puertorriqueno เพื่อเตรียมการและสอนกิจกรรมให้กับชุมชน จากนั้นพวกเขาได้เตรียมงานศิลปะบนกำแพงสำหรับฤดูใบไม้ผลิ อัลแบร์โต แบร์เซอรา (Alberto Becerra) ศิลปินเชื้อสายลาตินผู้ที่เป็นที่รู้จัก ทำหน้าที่ผู้ประสานงานของโครงการ เขาได้นำนักเรียนเข้าเยี่ยมชมวิทยาลัยบริน มอร์ และเฮเวอฟอร์ด (Bryn Mawr and Haverford Colleges) ทั้งผลงานศิลปะ การตระเวนในวิทยาเขต และการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับนักเรียนเชื้อสายสเปน จุดประสงค์สำคัญอยู่ที่การเพิ่มความตระหนักของนักเรียนต่อช่องทางการทกำงานในอนาคต เมื่อพิจารณาโครงการในมิติของความร่วมมือ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ได้สร้าง "สะพาน" ที่เชื่อต่อไปยังชุมชนในระดับที่กว้างมากขึ้น โครงการพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมืองผลักดันให้ส่วนงานที่รับผิดชอบกิจกรรมความร่วมมือนอกองค์กรจัดทำโครงการที่หลากหลายมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะสานต่อไปในอนาคต กิจกรรมหนึ่งที่ทำให้พันธกิจเกี่ยวกับการเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นไปได้ดีคือการจัดพิมพ์จดหมายข่าว เนื้อหาสาระที่ปรากฎในจดหมายข่าวเกี่ยวข้องกับการสำรวจศิลปินเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันที่มีงานสะสมในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายชุมชนเพื่อสานสร้างความสัมพันธ์กับองค์ชุมชนแอฟริกัน-อเมริกัน กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาสเปน และเอเชีย     เสียงจากชุมชนพอยต์ บรีซ โดยพิพิธภัณฑ์ แอทวอเตอร์ เคนท์ (Atwater Kent Museum) ศูนย์การเรียนระหว่างชั่วคน มหาวิทยาลัยแทมเปิล สมาพันธ์พอยต์ บรีซ และศูนย์ศิลปะการแสดงพอย์ต บรีซ ความร่วมมือดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากความพยายามในการเก็บรวบรวมประวัติศาสตร์บอกเล่าในย่านพอยต์ บรีซ เมืองฟิลาเดลเฟีย ตั้งแต่ช่วงปี 1920 จนถึงปัจจุบัน ทีมงานที่เป็นคู่จะได้รับการอบรมให้สัมภาษณ์ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ทั้งคนที่เคยอาศัยอยู่และยังที่พำนักอยู่ในปัจจุบัน ผู้คนเหล่านี้มาจากกลุ่มเชื้อสายและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ได้รับการถ่ายทอดในเอกสารเพื่อใช้พัฒนาเป็นดนตรี ละคร และการแสดงสำหรับการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนในอนาคต จุดประสงค์ของโครงการคือ การช่วยให้คนรุ่นใหม่เกิดความภาคภูมิใจในพื้นที่ที่ตนเองอาศัยด้วยการสำรวจเรื่องราวของชุมชนด้วยตนเอง สิ่งที่ผู้จัดโครงการย้ำต่อคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ "พวกเธอทั้งหลายเป็นเจ้าของเรื่องราวของตนเอง ไม่มีใครที่จะแย่งชิงไปได้… สิ่งเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบันทึกและแบ่งปันเรื่องราวให้กับผู้คนรุ่นต่อไปที่จะเกิดขึ้นมา" กลยุทธ์อักประการหนึ่งของโครงการคือ การจับคู่ระหว่างคนรุ่นใหม่และผู้ใหญ่ให้ทำงานเคียงคู่กันไป คนสองชั่วอายุจะเรียนรู้การทำงานซึ่งกันและกัน และพัฒนาความเข้าใจที่ลึกซึ่งมากขึ้นตลอดการทำงาน ตัวอย่างเช่น เราให้ทั้งคู่มาปฏิบัติการร่วมกันในการสร้าง "แผนภาพในจินตนาการ" ของพอย์ต บรสที่แตกต่างไปในแต่ละชั่วอายุคน นั่นหมายความว่าคนในพื้นที่รับรู้ต่อพื้นที่แตกต่างกันไปอย่างไร พวกเขาจะได้เรียนรู้เทคนิคการสัมภาษณ์กับลินดา โชเปส คือผู้ที่เคยดำเนินโครงการในแบบเดียวกันนี้ที่บัลติมอร์ 4 ใน 8 คณะได้เข้าร่วมการอบรมตลอดโครงการ และได้สัมภาษณ์มีจำนวนถึง 45 ชุด เทปจากการสัมภาษณ์ได้รับการถอดเป็นเอกสารการสนทนาเพื่อใช้จัดพิมพ์ต่อไป แม้ว่าคนที่ให้สัมภาษณ์จะมีความแตกต่างในเรื่องขออายุ แต่ผู้จัดก็ดูจะผิดหวังเล็กน้อยกับกลุ่มชาติพันธุ์ของคนที่ให้สัมภาษณ์กลับไม่หลากหลายเท่าไร คนขาวผู้เคยอาศํยในพอย์ต บรีซกลับไม่ยินดีมากนักในการร่วมมือสัมภาษณ์ และผู้ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันที่เป็ยเชื้อสายเอเชียก็ไม่ได้ใส่ใจต่อโครงการมากเช่นกัน แต่งานยังคงดำเนินต่อไป กิจกรรมและความตั้งใจเช่นนี้ต้องการเวลา อย่างน้อยๆ ข่าวคราวที่ได้ยินมาล่าสุดนี้ก็ดูจะพัฒนามาจากการทำงานก่อนหน้านั้น ผู้คนในย่านดังกล่าวเริ่มเคลื่อนไหวจะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชุมชนเล็กๆ ของตนเอง     เราเคยเป็นใคร เราคือใครในปัจจุบัน โครงการฝึกปฏิบัติงานนี้พัฒนาขึ้นเพื่อจุดประสงค์หลายประการ ทั้งการสร้างฐานความร่วมมือสำหรับการวิจัยระหว่างองค์กรที่เข้าร่วมการทำงาน การจัดอบรมให้กับนักเรียนในระดับมัธยมปลายในการเขียนและการตรวจแก้ไข รวมไปถึงทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และการเริ่มต้นสำรวจประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้เคยมีการเก็บรวบรวมมาก่อนในย่านเยอรมันทาวน์-ลีไฮในตอนเหนือของกลางฟิลาเดลเฟียกลาง ข้อมูลจากการสำรวจและบันทึกเน้นไปที่พื้นที่โรงเรียน ย่านธุรกิจ และโครงการบ้านจัดสรร ผู้ที่อาศัยมาเป็นเวลานานจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับกลุ่มเชื้อสายต่างๆ โรงเรียน ก๊วน และความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงระหว่างอเมริกันเชื้อสายยิวและอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในช่วงทศวรรษที่ 1960 ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะเขียนบทความและจัดพิมพ์ในจดหมายข่าวของชุมชนหรือ Community Messenger พวกเขาจัดเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อการใช้งานของชุมชนในอนาคต เนื้อหาได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปในกระแสความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม เลน เซงวิลล์ (Len Zengwill) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์จัดทำรายชื่อผู้ที่อาศัยในพื้นที่ระยะเวลายาวนานจำนวน 20 คน นอกจากนี้ เขาได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนในพื้นที่อื่นๆ เข้ามาร่วมโครงการด้วย เซงวิลล์และ คาเรน มิทเทลแมน (Karen Mittleman) จากพิพิธภัณฑ์ทำงานร่วมกับเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการในการบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ จับกลุ่มเนื้อหาในประเภทเดียวกัน และเสนอแนะคำถามใหม่ๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเก็บข้อมูล เมื่อเด็กๆ ที่เข้

พิพิธภัณฑ์สึนามิ เพื่อใคร เพื่ออะไร ?

21 มีนาคม 2556

ปีใหม่ 2548 นี้เป็นปีที่เริ่มด้วยความตื่นตระหนกและเศร้าสลดจากภัยธรรมชาติ ที่คร่าชีวิตผู้คนทั้งในประเทศไทย และที่อื่นๆตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย รวมแล้วเป็นเรือนแสน เป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะเคยนึกเคยฝันถึงได้ ดิฉันขอร่วมแสดงความเสียใจกับทุกท่านที่ประสบความสูญเสีย และขอร่วมเป็นกำลังใจในการกอบกู้ฟื้นฟูธรรมชาติ และชีวิตครอบครัวการงานของผู้ประสบภัย ให้แข็งแกร่งขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง   ยังมิทันที่คราบน้ำตาจะเลือนหายไปจากใบหน้าของผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมทั้งหลาย เราก็เริ่มได้ยินข่าวถึงโครงการที่จะสร้าง อนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ และถาวรวัตถุอื่นๆ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ โครงการเหล่านี้เป็นการริเริ่มที่ควรได้รับความสนใจ ดิฉันจึงอยากจะเชิญชวนให้ชาวชุมชนพิพิธภัณฑ์ ช่วยกันมีส่วนร่วมออกความคิดว่า เราอยากเห็นพิพิธภัณฑ์แบบใดเกิดขึ้น และพิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้ เกิดขึ้นมาเพื่อใคร หรือเพื่ออะไร   เป็นเรื่องปรกติของสังคม เมื่อผ่านประสบการณ์ร่วมกันที่สร้างความสะเทือนใจอย่างใหญ่หลวง จะพยายามสร้างสัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องเตือนความจำ และสร้างบทเรียนให้แก่คนรุ่นหลัง หน่วยงานของรัฐบาลอาจจะกำลังคิดถึงอนุสรณ์หรือถาวรวัตถุขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางสำหรับบันทึกเรื่องราวฉบับมาตรฐานหรือฉบับทางการ อาจจะต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ไปในการก่อสร้าง จัดแสดง มีระบบมัลติมีเดีย   ล่าสุดแสดงเหตุการณ์อย่างสมจริงสมจัง และมีระบบการดูแลต่อไปในอนาคต แต่ก็คงจะมีประเด็นอีกมากมายหลายเรื่องที่เราจะต้องขบคิดกัน สาระสำคัญก็ดี เป้าหมายและหน้าที่ก็ดี การมีส่วนร่วมของผู้คนกลุ่มต่างๆ ก็ดี บทบาทต่อชุมชนท้องถิ่น ต่อประเทศ หรือต่อนักท่องเที่ยวก็ดี จะมีที่ทางอยู่ด้วยกันได้อย่างไรบ้างจึงจะลงตัวที่สุด   ในฐานะที่สมาชิกของเราจำนวนมาก เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งเรียนรู้ระดับรากหญ้าที่มีส่วนร่วมของชุมชน ย่อมจะมีประสบการณ์ ที่จะนำมาช่วยกันสร้างจินตนาการพิพิธภัณฑ์ ที่มีรูปแบบและเนื้อหาสาระที่แตกต่างออกไปได้อีกมากมาย เช่น เราอาจจะคิดถึงพิพิธภัณฑ์ในระดับชุมชนมากมายหลายแห่ง ไม่ต้องรวมศูนย์อยู่ที่เดียว หรืออาจจะนึกภาพพิพิธภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคาร คิดถึงบริเวณที่ถูกคลื่นยักษ์โถมซัดทั้งหมดในฐานะพิพิธภัณฑ์ เราอาจจะคิดถึงวิธีที่ทำให้ชุมชนต่างๆ ในท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ ร่วมคิดและร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ของเขาจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งนี้ เราอาจจะคิดถึงพิพิธภัณฑ์ที่สร้างความภูมิใจที่คนสามารถร่วมมือกันในสถานการณ์คับขัน หรือพิพิธภัณฑ์ที่กระตุ้นความสำนึกบางประการ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเราเปรียบเทียบพิพิธภัณฑ์เหมือนกับคน ที่เราอยากจะเห็นมีชีวิต เติบใหญ่ มีลูกหลานงอกงาม พิพิธภัณฑ์ก็น่าจะต้องมีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ อาคารและเครื่องมือ วัตถุสิ่งของ อุปกรณ์ต่างๆ นั้น เป็นร่างกาย แต่จิตวิญญาณ คือข้อคำถามต่างๆ ที่เราจะต้องช่วยกันคิดเหล่านี้   ดิฉันเชื่อว่าใครก็ตามที่รอดชีวิตมาจากคลื่นยักษ์ถล่ม ล้วนมีเรื่องราวที่จะเล่าให้คนอื่น หรือลูกหลานฟังไปได้อีกนานแสนนาน หรือหากเจ็บปวดเกินกว่าที่จะเล่าในขณะนี้ เมื่อเวลาผ่านไป บาดแผลทางกายทางใจได้รับการเยียวยาแล้ว ก็อาจจะต้องการถ่ายทอดเป็นบทเรียนให้แก่คนอื่นต่อไปได้ ความทรงจำส่วนตัวของแต่ละคน เรื่องราวของคนเล็กๆ อย่างเราๆ ท่านๆ ที่แสนจะธรรมดาแต่บางครั้งก็ไม่ธรรมดา เป็นบทเรียนที่มีค่ายิ่ง เรื่องราวของความรัก ความผูกพันของพ่อแม่พี่น้องในวาระสุดท้ายของชีวิต ความเอื้ออาทรของคนแปลกหน้า วีรกรรมการท้าทายมัจจุราชเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น ความกล้าหาญ ทรหดอดทนของอาสาสมัครและผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ พิพิธภัณฑ์แบบไหนที่จะทำให้ทุกๆคนได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนภาพความเป็นมนุษย์ในสถานการณ์พิเศษครั้งนี้ ไว้กระตุ้นเตือนมโนธรรมสำนึกของเพื่อนร่วมโลกอื่นๆได้   ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เหลือรอดมาได้ในวันนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บอกเรื่องราว ทั้งที่เป็นส่วนรวม และเรื่องของเฉพาะบุคคล หลายคนอาจจะมีข้าวของเหล่านี้เหมือนๆกันและอาจดูไม่สำคัญนัก แต่ในอีกยี่สิบปีหรือห้าสิบปีข้างหน้า อาจจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือธรรมชาติวิทยาที่มีค่าควรแก่การศึกษาได้ เช่นมีคนเล่าให้ฟังว่า   ทีมนักวิจัยจากญี่ปุ่น มาศึกษารอยกระแทกบนรถยนตร์ที่ถูกคลื่นซัดไปกระแทกสะพาน แล้วสามารถคำนวณได้ว่า คลื่นลูกนั้นวิ่งด้วยอัตราความเร็วกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ตัวอย่างหนึ่ง   แต่พิพิธภัณฑ์สึนามีของชาวบ้าน ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดอยู่แต่เหตุการณ์ของวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เท่านั้น หากยังสามารถเชื่อมโยงไปยังวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนที่อาศัยอยู่กับทะเล และใช้ทรัพยากรจากทะเลในชีวิตประจำวัน เท่าที่อ่านจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ดูจะมีหมู่บ้านบางแห่งที่ชาวบ้านทราบด้วยประสบการณ์ของคนที่รู้จักทะเลหรือภูมิปัญญาใดก็แล้วแต่ สามารถหนีขึ้นไปอยู่บนที่สูงล่วงหน้าได้ทัน รอดชีวิตหมดทั้งหมู่บ้าน กล่าวกันว่า สัตว์บางประเภทมีสัญชาตญานเตือนภัยธรรมชาติ สามารถหลบหนีไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้ หากเป็นจริงเช่นนั้น ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า คนบางกลุ่มที่มีภูมิปัญญาสั่งสมมาพอที่จะรู้ใจธรรมชาติ รู้จักสัตว์ดีพอที่จะอ่านสัญญาณจากอาการของมัน ก็จะเหมือนกับมีระบบเตือนภัยธรรมชาติในตัวอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ใช้พิพิธภัณฑ์เป็นที่ถ่ายทอดเรียนรู้ภูมิปัญญาที่อาจจะ สามารถช่วยชีวิตเราไว้ได้ในราคาที่ไม่แพงเท่ากับระบบไฮเทคหลายพันล้าน   เราอาจจะนึกถึงพิพิธภัณฑ์ในแง่ที่เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ที่มีชีวิตต่อเนื่องยั่งยืน มีการเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ ไม่แห้งตายไปเสียง่ายๆ เพราะเสนอเรื่องราวใหม่ๆได้ตลอดเวลา เราอาจจะต้องคิดถึงบทบาทของพิพิธภัณฑ์ไม่เพียงแต่ การเรียนรู้จากอดีต แต่รวมถึงการศึกษา และคิดค้นสำหรับปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอยู่กับธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทนุถนอม   หรือแม้แต่เรื่องพื้นๆเช่นว่า หากรู้ว่าภัยธรรมชาติกำลังจะมาถึง จะมีวิธีสื่อข่าวกันในชุมชนริมทะเลต่างๆอย่างไร ที่รวดเร็วและได้ผล ในบางประเทศมีการนำธงแดงไปปักชายหาด เป็นสัญญาณอันตรายให้รีบขึ้นบกทันที เราอาจนึกถึงวิธีสื่อสารพื้นบ้านต่างๆ เช่น ตีเกราะเคาะไม้ หรือใช้การลั่นกลองเตือนภัย โดยที่ขอให้ทุกโรงแรม รีสอร์ท หมู่บ้านสร้างหอกลองตามแบบเมืองโบราณไว้ ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ยากและไม่แพง พิพิธภัณฑ์สามารถจะครอบคลุมเรื่องราวเหล่านี้ และสร้างให้คนเกิดสำนึกในเรื่องการอยู่กับธรรมชาติอย่างมีสติ   และท้ายที่สุด ในพิพิธภัณฑ์ที่ต้องการให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วม จึงไม่ควรจะมีเฉพาะเรื่องของนักท่องเที่ยวชาวยุโรป เจ้าของโรงแรม รีสอร์ท ร้านค้า ชาวประมง คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายฝั่งตะวันตกของประเทศไทย เช่นระนอง พังงา คือแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะพม่า ที่อพยพเข้ามาทำงานจำนวนมาก คนเหล่านี้ก็ประสบความสูญเสียไม่น้อยไปกว่าคนอื่น ยิ่งกว่านั้นการเป็นแรงงานต่างชาติอาจทำให้เขาประสบเคราะห์กรรมซ้ำสองซ้ำสามหนักหนาสาหัสไปอีก พิพิธภัณฑ์จะมีที่ทางให้แก่เรื่องราวและประสบการณ์ของคนเหล่านี้อย่างไร เป็นเรื่องที่เราควรจะคำนึงถึงด้วยเป็นอย่างมาก   ทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงจินตนาการเล็กๆของคนคนเดียวซึ่งก็มีความจำกัดในทุกๆทาง ดิฉันจึงอยากจะเชิญชวนให้เราช่วยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้ระหว่างกัน แทนของขวัญที่ให้แก่กันวันปีใหม่ เพื่อให้จินตนาการร่วมเรื่องพิพิธภัณฑ์สึนามิกว้างขวางออกไปอย่างเต็มที่ โดยท่านสามารถเขียนหรือส่งความเห็นของท่านมายังศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และเราจะใช้จดหมายข่าวนี้เป็นเวทีเผยแพร่ต่อไป   ก่อนจบขออนุญาตยกบทกวีของท่านอาจารย์ สุมน อมรวิวัฒน์ ที่ลงในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 15 มกราคม 2548 ว่าด้วยบทเรียนจากคลื่นสึนามิ ฝากมายังชาวชุมชนพิพิธภัณฑ์ทุกท่าน ดังนี้   เมื่อคลื่นคลั่งถั่งโถมมหาศาล ธรรมชาติส่งสัญญาณผ่านความหมาย ว่าความรักความสุขและความตาย เป็นรอยร่วมเรียงรายใกล้ชิดกัน เสี้ยวนาทีที่พบก็พลัดพราก แม้ยามยากมีมิตรจิตปลอบขวัญ เราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์อยู่ทั้งนั้น รู้เท่าทันอย่าท้อก้าวต่อไป   ** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในจุลสารก้าวไปด้วยกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (มกราคม - มีนาคม 2548). * ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  

นิทรรศการที่บอกเล่าด้วยตนเอง ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าและพิพิธภัณฑ์

20 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสะสมและนำเสนอคำพยานของบุคคลมากว่า20 ปี และพิพิธภัณฑ์บางแห่งได้วางนโยบายการจัดเก็บและกลยุทธ์นิทรรศการแห่งประวัติศาสตร์คำบอกเล่าอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัตถุจัดแสดงนั้นขาดไปหรือเมื่อต้องการสร้างภาพที่ยุติธรรมในประวัติศาสตร์ของสาธารณชน ที่มักถูกบิดพลิ้วไปด้วยเรื่องของการก่อการร้ายและการกดดันจากรัฐ เรื่องราวในบทความนี้เกี่ยวข้องกับนิทรรศการที่มาจากการทำงานของชุมชน และจะแสดงให้เห็นอย่างกระชับและชัดเจนถึงผลกระทบของประวัติศาสตร์คำบอกเล่า Anna Green เป็นหัวหน้าสำนักสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ผู้เขียนเคยเสนอบทความนี้ในงานประชุมสมาคมประวัติศาสตร์คำบอกเล่า สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนตุลาคม 1996 และเคยตีพิมพ์ในวารสาร Oral History Review, Winter 1997, vol. 24, no. 2, pp. 53-72.   เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะสร้างนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ด้วยเสียงและการเล่าเรื่อง? นี่เป็นคำถามที่เราเผชิญในช่วงต้นปี 1995 ภายหลังจากที่โครงการขนาดใหญ่ว่าด้วยประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของชุมชนที่ชุมทางรถไฟแฟรงก์ตัน (Frankton Junction) ประเทศนิวซีแลนด์เสร็จสิ้นลง ตลอดเวลากว่าสิบแปดเดือนก่อนหน้านั้น นักศึกษาของผู้เขียนในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ระดับบัณฑิตศึกษาได้บันทึก เรื่องราวของชายและหญิงกว่าสองร้อยชีวิต ผู้เคยอาศัยและทำงานในชุมชนทางรถไฟ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นชุมชนรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในนิวซีแลนด์ นอกเหนือไปจากการสัมภาษณ์ เรายังได้รับอนุญาตให้ยืมและสำเนารูปถ่ายที่แสดงให้เห็นชีวิตประจำวันจาก อัลบั้มรูปถ่ายของครอบครัว แม้ว่ากลุ่มแรงงานสร้างทางรถไฟจะค่อยๆ แยกย้ายกันไปในหลายทศวรรษที่ผ่านไป แต่โครงการกลับได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น และเมื่อนำคำพยานกับภาพถ่ายมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน เรื่องราวชีวิตชนชั้นแรงงานของชุมชนทางรถไฟในช่วงทศวรรษที่ 1920 ถึง 1970 ก็ กลับมาได้อย่างสมบูรณ์ ทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมและมรดกของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลนิวซีแลนด์ ทำให้เรื่องราวของชุมชนกลับมาอีกครั้งในรูปของนิทรรศการ   ตามที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการนิทรรศการจากประวัติศาสตร์คำบอกเล่า แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานในพิพิธภัณฑ์มาก่อน ผู้เขียนเริ่มต้นวิจัยด้วยกลุ่มทำงานเล็กๆ ที่ประกอบด้วยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เราเริ่มต้นด้วยการสำรวจวารสารและคู่มือต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมในพิพิธภัณฑ์ มีนิทรรศการสักกี่มากน้อยที่ก่อร่างสร้างขึ้นจากคำพยานที่เป็นเสียงโดยตรง ไม่ใช่การถอดความจากเสียง? แต่เราไม่พบข้อมูลใดเลยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ความคิดเห็นของ Stuart Davie เมื่อปี 1994 ที่ว่า ‘ในพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์คำบอกเล่ามีสถานภาพที่คลุมเครือ อึดอัด และเปราะบาง’ ดูจะเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงนัก1 ตัวอย่าง เช่น หนังสือคู่มือสำหรับวิชาชีพพิพิธภัณฑ์ที่มักอ้างอิงงานเขียนจากอังกฤษและ นิวซีแลนด์ ส่วนมากจะมีเนื้อหาเพียงสั้นๆ ในส่วนที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์คำบอกเล่า และสองในสามของเนื้อหาส่วนนี้กลับกล่าวถึงธรรมชาติของความทรงจำที่บกพร่อง และไม่น่าเชื่อถือ และท้ายที่สุดคู่มือมักสรุปว่า ประวัติศาสตร์คำบอกเล่ามีคุณค่าที่จำกัด และควรที่จะได้รับการนำเสนอโดยกำหนดเนื้อหาอย่างเข้มงวดในพื้นที่ “ห้องสมุด” ที่แยกเฉพาะ2   บทความต่างๆ ในวารสารแสดงให้เห็นว่าภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑ์ที่ทำงานเกี่ยวกับประวัติ ศาสตร์สังคมใช้ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าอย่างมากที่สุดก็เพียงในฐานะที่เป็น ข้อมูลเพิ่มเติมให้กับวัตถุพิพิธภัณฑ์‘สภาพการณ์ของประวัติศาสตร์ที่ปราศจากวัตถุนั้น อาจเป็นและยังคงเป็นสิ่งอื่น…วัตถุสร้างพิพิธภัณฑ์’ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งได้เขียนไว้เช่นนั้นเมื่อปี 19933 บทบาทของวัตถุในการกระตุ้นความหวนคำนึงของผู้ชมส่วนใหญ่ได้รับความชื่นชม4 แต่ เมื่อประวัติศาสตร์คำบอกเล่าถูกนำไปใช้ในนิทรรศการ ถ้อยคำที่มาจากคำพูดมักได้รับการถ่ายทอดในรูปของบทเขียนบนผนัง และยังผลให้คำพูดสูญเสียความซับซ้อนในมิติต่างๆ รวมถึงความมีชีวิตชีวาของการบอกเล่า ในอีกหลายวาระมีการใช้ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าด้วยเสียงจากการสัมภาษณ์ ในนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตสังคมและการทำงาน แต่เสียงกลับถูกกดทับด้วยสิ่งจัดแสดงจำนวนมากๆ แล้วกลายเป็นเสียงจอแจอยู่เบื้องหลัง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เสริมสถานภาพของประวัติศาสตร์คำบอกเล่า และไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความทรงจำในฐานะตัวเชื่อมอดีตและ ปัจจุบันอย่างมีชีวิตชีวา ความทรงจำไม่ใช่เขม่าติดก้นหม้อหรือเศษเสี้ยวของอดีตที่ตายไปนานแล้ว อย่างที่ Michael Frisch ได้ แนะนำไว้ว่า เราต้องการ ‘ดึงให้ผู้คนเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบว่าสิ่งใดที่มีความหมายต่อการจดจำ และสิ่งใดที่จะเสริมให้ความทรงจำนั้นมีชีวิตและยังดำรงชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นสภาวะที่ตรงข้ามกับวัตถุสะสม’5   เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ความทรงจำจักต้องเป็นแก่นแกนของนิทรรศการ ทีมงานนิทรรศการแฟรงก์ตันตัดสินใจใช้คำพยานในฐานะทรัพยากรคำบอกเล่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เสียงและการฟังต้องมีบทบาทนำหน้าสายตาและการมอง เราเห็นพ้องต้องกันว่าการจัดแสดงที่ประกอบด้วยรายละเอียดมากๆ จะทำให้ผู้ชมไม่สนใจฟังคำพยาน นอกจากนี้ เราไม่ต้องการให้วัตถุที่ตกทอดหรือภาพถ่าย มากำหนดทิศทางและเนื้อหาของนิทรรศการ คำพยานเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เพื่อวาดให้เห็นประสบการณ์ของผู้คนโดยรวม ในทางตรงข้าม ภาพถ่ายมักบันทึกโอกาสพิเศษหรือความสุขสันต์ของครอบครัว การทำงานของเพศชายหรือวัฒนธรรมกีฬา มีภาพเพียงชุดเดียวที่ช่างภาพมืออาชีพถ่ายภรรยาของตนเอง ได้บันทึกประสบการณ์ของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ซึ่งสัมพันธ์กับงานบ้าน ภาพถ่ายจึงมีลักษณะตรงข้ามกับพลังของความทรงจำจากคำบอกเล่า ในขณะที่มีภาพเด็กๆ กำลังเล่น เรากลับไม่เห็นภาพของการลงโทษ หรือ “การแซว” ระหว่างการเดินทางไปโรงเรียนของกลุ่มนักเรียนที่นับถือคาทอลิกและโปรแตส เตนท์ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ประเด็นต่างๆ ในนิทรรศการจึงมาจากคำบอกเล่า และมีคำอธิบายสั้นๆ ในคู่มือนำชมนิทรรศการ ที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ได้ยินกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทางสายตา ในแต่ละส่วนของการจัดแสดง   นิทรรศการประวัติศาสตร์คำบอกเล่า นิทรรศการเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มทำงานของพิพิธภัณฑ์ศิลปะและประวัติศาสตร์ไวกาโต(Waikato Museum of Art and History) การออกแบบ ภาพถ่าย และเทคนิคต่างๆ ของพวกเขาเป็นสิ่งที่ประเมินค่ามิได้6 ผู้ เขียนขอขอบคุณนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษากลุ่มหนึ่งในการจัดทำนิทรรศการร่วมกับผู้เขียน บทบาทของพวกเขาในการทำงานของแต่ละคนและของกลุ่มต่อโครงการนั้นเป็นสิ่งที่มี ค่ายิ่ง7 ลักษณะของพื้นที่นิทรรศการ และการจัดแบ่งส่วนนิทรรศการต่างๆ ออกเป็น5 ส่วน ได้กำหนดแผนการดำเนินงานท้ายสุด ดังแสดงไว้ในแผนภาพที่ 1  ปัญหาเชิงเทคนิคปัญหา หลักเชิงเทคนิคที่เราต้องเผชิญคือ การทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงและได้ยินประวัติศาสตร์คำบอกเล่า ในขณะที่เสียงจะต้องไม่เล็ดลอดไปรบกวนบรรยากาศโดยรวมของนิทรรศการ และเราก็ไม่ต้องการให้อุปกรณ์อื่นใด เช่น หูฟัง มาขวางกั้นระหว่างผู้ชมและประวัติศาสตร์คำบอกเล่า ยิ่งกว่านั้น ผู้ชมควรรู้สึกผ่อนคลายในขณะฟัง เงื่อนไขที่กล่าวมานี้กำหนดให้นิทรรศการต้องมีพื้นที่สำหรับนั่ง เราโชคดีที่มีโอกาสยืมที่นั่งในรถไฟเก่าสีแดงจากสมาคมการรถไฟและรถจักรแห่ง นิวซีแลนด์ สาขาไวกาโต ซึ่งในขณะนั้น ที่นั่งถูกเคลื่อนย้ายเป็นการชั่วคราวจากตู้รถไฟเพื่อการซ่อมแซม เราได้ติดตั้งเครื่องเล่นซีดีไว้ใต้ที่นั่งแต่ละตัว เรื่องราวคำบอกเล่าได้รับการถ่ายทอดผ่านลำโพงที่มีเครื่องขยายเสียงภายใน เสียงจะดังในระดับของหูจากด้านหลังพนักที่นั่ง การวางตำแหน่งของลำโพงไว้ในบริเวณดังกล่าวช่วยลดระดับเสียงให้พอดีกับการฟัง อย่างสบายๆ และเสียงจะไม่ไปรบกวนส่วนอื่นของนิทรรศการ เพื่อเน้นเสียงบอกเล่า การจัดแสงจึงอยู่ในระดับจำกัด ผนังทาสีเขียวเข้ม และมีเพียงดวงไฟส่องเฉพาะจุดที่นั่งรถไฟและภาพถ่ายที่รายล้อม เป้าหมายของนิทรรศการเราเริ่มจากเป้าหมายสามประการสำหรับการทำนิทรรศการประวัติศาสตร์คำบอกเล่าเพื่อนำเสนอคำพยานให้หลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อผลักดันให้ผู้ชมย้อนกลับไประลึกถึงความทรงจำของตนเองเพื่อให้ผู้ชมบอกกล่าวถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นและความทรงจำของตนเองแต่ การที่จะไปถึงเป้าหมายเหล่านี้ได้ ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ รวมถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก การตัดต่อ และการจัดวางลำดับ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานกับคำบอกเล่าที่บันทึกในแถบบันทึก เสียง และจากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ เราได้ตกลงร่วมกันว่านิทรรศการควรใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงในการเยี่ยมชม นิทรรศการแต่ละส่วนจึงควรมีเสียงคำบอกเล่ายาวไม่เกินสิบนาที โดยสรุปแล้วเราต้องคัดเลือกประวัติศาสตร์คำบอกเล่าให้เหลือเพียงหกสิบนาที จากปริมาณคำสัมภาษณ์มากกว่าสามร้อยชั่วโมง! สำหรับ สี่ส่วนแรกของนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องเด็ก วัยรุ่น ผู้หญิง ผู้ชาย เราตัดสินใจวางกรอบของเนื้อหาให้อยู่ในสามประเด็นกว้างๆ คือ ชีวิตครอบครัว การทำงาน และการพักผ่อน ด้วยเงื่อนไขเวลาเพียงสิบนาทีของเสียงในแต่ละส่วน จึงมีการอ้างอิงคำพูดเพียง 2 – 3 ชุด ในแต่ละหัวข้อ ตัวอย่างเช่นในส่วนที่ว่าด้วยเรื่องเด็ก ประกอบด้วยคำพูดจากคำบอกเล่าชุดย่อยยี่สิบชุด นั่นหมายถึงการได้ฟังเพียงครึ่งนาทีในแต่ละชุด การคัดเลือกความต้องการนำเสนอประสบการณ์จากประวัติศาสตร์คำบอกเล่าที่หลากหลายเป็นข้อปัญหา ใหญ่หลวงตั้งแต่เริ่มแรก ในเบื้องต้นเรากำหนดว่าจะรวบรวมประสบการณ์ตรงให้ได้มากที่สุด เงื่อนไขนี้จำกัดวงของข้อมูลให้แคบลงมาที่ประเภทของข้อมูลที่จัดการได้ คุณภาพของเสียงทำให้เราสามารถเลือกใช้เฉพาะแถบบันทึกเสียงบางส่วน และคุณภาพเสียงกลับเล่นบทบาทสำคัญในการคัดเลือกมากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ เรายังพบด้วยว่าเสียงรบกวนจากภายนอกทำให้เรื่องราวจากการบันทึกบางส่วนไม่ สามารถนำมาใช้ได้ในนิทรรศการ เป็นต้นว่าเสียงหอบของสุนัข เสียงตีบอกเวลาของนาฬิกา และเสียงแทรกอื่นๆ ของผู้ให้สัมภาษณ์ แต่เรายังมีเรื่องราวอีกจำนวนมากพอที่จะนำมาใช้ในนิทรรศการ เรากำหนดเกณฑ์การเลือกเรื่องเล่าออกเป็นสองประเภท เกณฑ์แรกคือความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในการจัดแสดงหรือนิทรรศการ และเป็นเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจของผู้คน เราพยายามเลือกเนื้อหาที่อยู่ในความสนใจของผู้เข้าเยี่ยมชม ด้วยเหตุนี้ เราจึงลงความเห็นร่วมกันในการใช้ประเด็นกว้างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ชีวิตครอบครัว และกิจกรรมการละเล่น/ ชุมชน เป็นแกนหลักของเนื้อหาในสี่ส่วนแรกของนิทรรศการ อย่างไรก็ดี เราต้องยอมรับว่ามีแง่มุมอื่นที่แตกต่างจากสิ่งที่เราเลือก การคัดเลือกเรื่องราวที่นำเสนอเหล่านี้มุ่งหมายให้เกิดความสัมพันธ์กับกลุ่ม ผู้เยี่ยมชมในปัจจุบันมากที่สุด นั่นคือเรื่องเล่าที่มีชีวิตชีวา ที่แสดงอารมณ์และความรู้สึก เกณฑ์ ที่สองของการเลือกเนื้อหาขึ้นอยู่กับน้ำหนักของหลักฐานเรื่องราวคำบอกเล่า เราตัดสินใจที่จะใช้เนื้อหาที่สามารถเป็นตัวแทนโดยรวมได้ เนื้อหาและมุมมองจากคำพยานได้รับการคัดเลือก(เชื่อมโยงด้วยการใช้คำบรรยายน้อยที่สุดที่ช่วยให้หัวข้อแต่ละประเด็นเกี่ยวเนื่องกันอย่างราบรื่น) แต่ การคัดเลือกแบบนี้ก็อาจเป็นที่กังขาได้ในโลกหลังสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม การทำงานเช่นนี้มีข้อดีอยู่ไม่น้อย ตัวเลือกของเรื่องราวที่จะเป็นภาพตัวแทนเสริมแกนหลักของนิทรรศการได้ดีขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ในส่วนนิทรรศการวัยเด็ก การสัมภาษณ์เกือบทุกชุดจะกล่าวถึงการลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรง ไม่ที่โรงเรียนก็ที่บ้าน เนื้อหาเหล่านี้สะเทือนใจลึกซึ้ง และบ่งชี้ให้เห็นประสบการณ์ของความรุนแรงทางร่างกายที่เป็นความทุกข์ที่ฝัง ใจลึกไปชั่วชีวิต แต่ก่อนผู้คนมักลงโทษทุบตีลูกๆ ของตนเอง ฉันหมายถึง...พระเจ้าช่วย...แม่ของฉันตีฉันจนได้เลือดและชีวิตของฉันเหมือนตกนรกทั้งเป็น ฉันหมายถึงอย่างนั้นจริงๆ... เพียงเพราะฉันไปเซ้าซี้กวนใจท่าน คุณก็คงรู้ แต่นั่นแหละคือสิ่งที่เกิดขึ้น8ฉันคิดว่าฉันเป็นคนหนึ่งที่ต้องคอยหาที่ซ่อน เพียงเพราะฉันเคยเถียงย้อนเขากลับไป...ฉันจำได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อฉันเล่นอยู่บนถนนที่เคยเล่นอยู่เป็นประจำในเลคโรด (Lake Road) ที่ อยู่ไม่ไกลบ้านเท่าไหร่ พอกลับมาบ้าน ตอนนั้นก็มืดแล้วละ พ่อเอ็ดตะโรฉันใหญ่เลย “เร็วๆ เข้า” ฉันก็ตอบกลับไปว่า “ก็มาแล้วนี่ไง” เมื่อฉันมาถึงประตูหลังบ้าน เขาก็รออยู่หลังประตู แล้วก็กระแทกบานประตูใส่ฉัน ฉันช้ำไปหมดทั้งตัวเลย9 ข้อด้อยของการเลือกเรื่องราวที่เป็นภาพตัวแทนอยู่ที่ว่าอาจกลายเป็นการสร้างภาพ ประสบการณ์ที่ตายตัว ประเด็นนี้เป็นข้อถกเถียงอย่างมากในส่วนที่ว่าด้วยผู้หญิง ซึ่งเนื้อหาที่พูดถึงงานบ้านและความเป็นแม่กลบประเด็นอื่นๆ ไปหมดGaby Porter เตือนเราได้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับข้อเสี่ยงที่จะนำเสนอภาพแคบๆ ของผู้หญิงเฉพาะในครัวเรือน10 อัน ที่จริงนั้น เราไม่ต้องการที่จะย้ำความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าสถานที่ของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วก็มีเพียงบ้าน แต่เราก็ต้องรักษาความสัตย์ตรงต่อข้อมูลประสบการณ์ที่กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากคำบอกเล่า ซึ่งพรรณนาถึงงานหนักแรงเกี่ยวกับการดูแลบ้านและครอบครัวที่มีเด็กๆ ห้าถึงหกคน ก่อนที่จะเริ่มมีการได้ครอบครองตู้เย็น เตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้า และเครื่องซักผ้า เรื่องราวเช่นนี้เป็นกิจกรรมเศรษฐกิจของครัวเรือนที่ขาดเสียมิได้ของกลุ่ม ผู้หญิงชนชั้นแรงงานที่ต้องหลอมทองแดงและซักล้างทุกอย่างด้วยมือ รวมทั้งงานขัดถูพื้นและทำอาหารด้วยเตาฟืนหรือเตาถ่านในยามวิกาลสำหรับสมาชิก ในครัวเรือน ล้วนเป็นงานบ้านที่ต้องใช้ทั้งเวลาและแรงกาย นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ผ่านมา11 และเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับงานบ้านในสังคมร่วมสมัย คำบอกเล่าเช่นนี้ท้าทายให้เกิดการเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน การตัดต่อการตัดต่อคำพยานต่างๆ จากแถบบันทึกเสียงเพื่อนำไปใช้ในนิทรรศการ เข้าไปสัมพันธ์กับเรื่องที่ต้องพิจารณาทั้งเชิงเทคนิคและเชิงจริยธรรม เราโชคดีที่ได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์Pro-Tools ในการตัดต่อบันทึกคำสัมภาษณ์ แต่กระบวนการนี้ใช้เวลามากและค่าใช้จ่ายสูงมากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ เราใช้เวลาประมาณ 5 วัน ในการแปลงสัญญาณจากระบบอนาล็อกไปเป็นดิจิตอล และจะต้องตัดต่อคำสัมภาษณ์ทุกชุด ทั้งๆ ที่งบประมาณมีให้เพียง 5 ชั่วโมง การสัมภาษณ์ดำเนินไปภายในบ้านของผู้ให้สัมภาษณ์ โดยทั่วไปแล้วคุณภาพของเสียงใช้ได้ทีเดียว แต่ระดับเสียงของผู้ให้สัมภาษณ์แต่ละคนแตกต่างกันมาก เราจึงพยายามทำให้เสียงมีระดับใกล้เคียงกัน เพื่อให้ผู้ฟังนิทรรศการไม่ลำบากมากนักในการฟังเสียงดังและค่อย แต่ทำได้ในระดับที่จำกัดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นจะต้องตัดเสียงแทรกบางอย่างออกไป เสียงหัวเราะที่ดังหนวกหูและเสียงรบกวนอื่นๆ โดยระวังไม่ไปก้าวก่ายกับเสียงของผู้ให้สัมภาษณ์ ในขณะเดียวกันเราได้ขอให้นักศึกษาจำกัดการแสดงออกในการโต้ตอบกับผู้ให้ สัมภาษณ์ (หัวเราะ ผงกศีรษะ) แต่ บางคนไม่ได้ระวังในเรื่องนี้ นอกจากนี้ มีนักศึกษาบางคนร่วมสนทนาอย่างถึงอกถึงใจ ทั้งการแสดงอารมณ์และความสนใจร่วม ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศการบอกเล่าเรื่องราวที่มีชีวิตชีวามากขึ้น ดังนั้น แม้เรื่องเล่าจะผ่านการตัดต่อมากมาย แต่กลายเป็นแก่นแกนหลักของนิทรรศการได้ในที่สุดขณะที่เราต้องใช้เสียงบันทึกในการจัดแสดง เราก็จำเป็นต้องคำนึงถึงการปกป้องความเป็นจริงส่วนบุคคลของความทรงจำของผู้ คน สิ่งสำคัญคือการไม่บิดเบือนความตั้งใจต่างๆ ของผู้ให้สัมภาษณ์และไม่ทำให้คำพยานผิดเพี้ยนไป การตัดต่อคำสัมภาษณ์เพื่อนำมาจัดแสดงกลายเป็นเรื่องของการสร้างความสมดุลย์ ระหว่างคำสัมภาษณ์ที่สั้น แต่สร้างความรู้สึกหรือส่งผลกระทบทางอารมณ์บางอย่าง กับความตั้งใจของผู้เล่าที่ต้องการอธิบายหรือสร้างข้อสรุปที่คลุมเครือของ เรื่องราวเหล่านั้น ตัวอย่างที่จะแสดงต่อไปนี้สะท้อนความคลุมเครือดังกล่าว คำพยานนี้เป็นส่วนหนึ่งของส่วนจัดแสดงเรื่องของผู้ชายMatt Andrew แสดงให้เห็นว่าแม้ผู้คนจำนวนหนึ่งจะยกย่องสรรเสริญวัฒนธรรมการทำงานของเพศชาย ขณะเดียวกันก็มีคนไม่ได้เห็นเป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว แต่อีกนั่นแหละ มันถูกรวมเข้าไปในงานที่คุณทำอยู่ และขณะเดียวกัน ก็บอกถึงความโดดเดี่ยวของคุณในครอบครัว ในคืนหนึ่ง ผมนั่งทำเอกสารบางอย่างในห้องนั่งเล่น และได้ยินเสียงคุยดังมาจากห้องครัว ทั้งลูกชายลูกสาวและภรรยาของผม และผมได้ยินเรื่องราวอย่างชัดเจน ผมคิดว่าในขณะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมาน่าจะเป็นว่า เดี๋ยวต้องคุยกับพ่อด้วย แต่แล้วการพูดคุยถกเถียงก็ยังคงดำเนินต่อไปและลงเอยไปในที่สุด ทั้งๆ ที่ผมเองยังคงนั่งอยู่ตรงนั้น ผมตระหนักขึ้นมาทันทีว่าผมได้กลายเป็นส่วนเกินของครอบครัวไปแล้ว ผมไม่มีโอกาสเข้าร่วมตัดสินใจใดๆ อีกต่อไป ผมจะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในโอกาสเช่นนั้นอีกต่อไป การตัดต่อคำสัมภาษณ์ในครั้งแรกจบลงตรงนี้ และเนื้อความของเรื่องราวก็ชัดเจน อย่างไรก็ตามผู้ให้สัมภาษณ์ได้กล่าวต่อว่าบางคนอาจไม่คิดอะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่สิ่งนั้นกลับกวนใจผมจนกระทั่งผมตัดสินใจที่จะลาออก ผมจะไม่รอจนกระทั่งถึงการเลือกตั้งที่ปรึกษาระดับประเทศครั้งต่อไป12 ส่วนท้ายของคำพยานอาจทำให้ไขว้เขวไปจากผลกระทบของเรื่อง แต่ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดผู้เล่าจึงเลือกกล่าวถึงประสบการณ์นี้โดยเฉพาะ เจาะจง เขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในสหพันธ์การรถไฟ เนื้อหาที่เพิ่มเข้าไปตรงนี้ส่งผลให้ผู้ฟังเข้าใจจุดประสงค์ของการบอกเล่า ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการย้ำทวนเรื่องราวในอดีต การจัดลำดับการจัดลำดับบันทึกคำสัมภาษณ์แสดงถึงอิทธิพลการทำงานของภัณฑารักษ์ต่อการใช้ ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าในอีกแง่มุมหนึ่ง การจัดลำดับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในส่วนสุดท้ายของนิทรรศการ – เรื่องเล่าและตำนาน – ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างมิติเชิงจินตนาการและอารมณ์ร่วมให้กับความทรงจำ หนึ่งในตำนานเกี่ยวข้องกับพายุทอร์นาโดในปี 1948 พายุครั้ง นั้นก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง รวมถึงคนตายจำนวนสามคน เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คน เรื่องราวเหล่านั้นผสมปนเประหว่างประสบการณ์ตรง สิ่งที่ได้ยินมา และจินตนาการ Jane Moodie ปรารถนา จะแสดงให้เห็นตำนานของชุมชนที่วิวัฒนาการไปตามช่วงเวลา ผ่านรายละเอียดเกี่ยวกับทอร์นาโดที่มีทั้งการเล่าซ้ำย้ำทวน ประกอบด้วยอารมณ์ขันและเนื้อหาที่ขยายเกินจริง จากเรื่องราวที่มีอยู่มากมาย เธอเลือกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการจากเรื่องเล่าธรรมดาไปสู่เรื่อง ราวที่ผสมจินตนาการ เมื่อทอร์นาโดถล่ม เราตกอยู่ท่ามกลางพายุ หลังคาบ้านทั้งหลัง แม้แต่เพดานก็หลุดล่อนไปด้วย บ้านกลับปกคลุมไปด้วยเถ้าถ่านรถไฟหนาสี่ถึงห้านิ้ว แล้วฝนตกอย่างหนักตามมาเมื่อทอร์นาโดผ่านไป ฝนได้ชะล้างเถ้าถ่านที่หนาและสกปรกลงมาที่ผนังและเปรอะไปทั่วบ้าน ช่างไม่น่าเชื่อเลยจริงๆ13แต่คุณนายฮิลลงไปที่ถนน พวกเขามีราวเสื้อผ้าที่ม้วนได้ และสามีของเธอเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยทางรถไฟในขณะนั้น เธอได้ยินเสียงที่น่าสะพรึงกลัว เธอวิ่งออกไปข้างนอก และเห็น ราวเสื้อยาวกว่า50 ฟุต ลอยไปในอากาศ แล้วก็หมุนคว้างกลางอากาศ หมุนแล้วหมุนอีก เธอมีชุดฟอร์มการรถไฟติดไปกับราวตากเสื้อนั้น มันหมุนแล้วหมุนเล่า ชุดเหล่านั้นยืดตรงแน่วเลย14ใช่แล้ว ฉันอยู่ที่นั่น ตรงนั้น เรากำลังเล่นอยู่ที่สวนเซดดอน และเราลงไปที่แฟรงก์ตัน และมองดูบ้านที่ตั้งอยู่ใกล้ทางรถไฟตรงที่ตัดกับถนนเลค ทั้งน้องสาวและฉัน เราเห็นบ้านที่ถูกยกขึ้นมาลอยข้ามทางรถไฟ ทั้งๆ ที่คนยังนั่งดื่มชาอยู่ที่โต๊ะ15 ปฏิกิริยาในท้ายที่สุด เราหวังว่านิทรรศการทั้งชุดจะผลักดันให้ผู้ชมสะท้อนชีวิตและความทรงจำของตน เอง และเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เรายังสงสัยอยู่เสมอว่าคนรุ่นใหม่จะเปรียบเทียบประสบการณ์ของพวกเขากับความ ทรงจำของคนรุ่นก่อนๆ หรือไม่ รวมทั้งบัญญัติทางศาสนาที่เกี่ยวกับครอบครัวและชีวิตการทำงาน การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับงานที่ต้องโยกย้ายเปลี่ยนที่ในยุคนี้มีส่วนที่คล้าย คลึงกับสถานการณ์ในอดีต นั่นคือ เพศชายมีบทบาทสำคัญในชีวิตครอบครัว คำถามทำนองนี้จะปรากฏอยู่ในคู่มือนำชมนิทรรศการ ซึ่งประกอบด้วยบทสรุปย่อของการจัดแสดงแต่ละส่วน พร้อมด้วยคำถามที่มุ่งหมายให้ผู้ชมได้คิดเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของตนเอง ตัวอย่างเช่นในส่วนจัดแสดงเรื่องของผู้ชาย งานที่ต้องเข้าเป็นกะส่งอิทธิพลต่อประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของผู้ชายที่เคยทำ งานกับการรถไฟนิวซีแลนด์ ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและไม่สม่ำเสมอส่งผลต่อชีวิตครอบครัวของพวกเขา อย่างไรก็ตาม การทำงานกับการรถไฟยังคงเป็นสิ่งพึงปรารถนา เพราะความมั่นคงในการจ้างงานและโอกาสความก้าวหน้าในการทำงาน ระดับชั้นงานที่จัดตามทักษะความสามารถทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มคนทำงาน ขณะเดียวกันความเป็นสหายสนิทมิตรรักระหว่างเพื่อนร่วมงานยังดำรงอยู่เหนียว แน่น o    คุณจะให้นิยามบทบาทของสามีและพ่ออย่างไรในทุกวันนี้? บทบาทเหล่านั้นแตกต่างไปจากความทรงจำที่ปรากฏ ณ ที่นี้หรือไม่o    ชั่วโมงการทำงานที่ไม่สม่ำเสมอส่งผลต่อครอบครัวอย่างไร?เราคิดถึงคำถามที่จะกระตุ้นให้คนแสดงความคิดเห็นต่อนิทรรศการ แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เราจึงไม่สามารถบันทึกเรื่องราวคำบอกเล่าในพิพิธภัณฑ์ ดังนั้นเราจึงเลือกใช้สมุดสำหรับแสดงความคิดเห็นวางไว้ที่ส่วนสุดท้ายของ นิทรรศการ สมุดได้บันทึกทั้งความคิดเห็นและความทรงจำจากหน้าต่อหน้า จากผู้ชมรุ่นใหญ่สู่ผู้ชมวัยเยาว์ ความเห็นที่ปรากฏในสมุดไม่ได้ตอบคำถามที่เกริ่นไว้ในแต่ช่วงนิทรรศการ ตรงนี้อาจจะเป็นบทเรียนให้กับภัณฑารักษ์ที่มองทุกอย่างเป็นการถาม-ตอบ ข้อความในสมุดมักเริ่มต้นด้วย “ฉันจำได้ว่า” ซึ่งบอกเป็นนัยว่านิทรรศการได้กระตุ้นให้ผู้ชมสะท้อนความทรงจำของตนเองหรือ ความทรงจำของของพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย ผู้ชมบางคนอธิบายถึงเนื้อหาที่สังเกตได้มาจากพื้นที่นิทรรศการ ความทรงจำร่วมกันระหว่างชายและหญิง หรือการนั่งฟังคำบอกเล่าบนที่นั่งรถไฟและได้ฟังคำบอกเล่าจากด้านเดียว บางคนเห็นว่านิทรรศการกระทบอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้ง อย่างที่ผู้ชมคนหนึ่งได้เขียนประโยคง่ายๆ “ฉันร้องไห้ ความทรงจำของความรู้สึก” ในหน้าสมุดบันทึกมีความเห็นเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่กล่าวถึงความรู้สึกอึด อัดของการไม่มีวัตถุจัดแสดง ในขณะที่มีความเห็นอีกมากมายที่ยินดีต่อการจัดนิทรรศการด้วยวิธีการดังกล่าว “เรื่องราวจริงๆ ดีใจที่ได้ฟังผู้คนบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาด้วยตัวของเขาเอง” และ “นิทรรศการน่าสนใจอย่างมหัศจรรย์ ควรจะทำเรื่องราวประวัติศาสตร์คำบอกเล่าอย่างนี้ ให้มากขึ้นอีก” บทสรุปเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะสร้างนิทรรศการจากประวัติศาสตร์คำบอกเล่าในลักษณะของเสียง? นิทรรศการ ชุมทางรถไฟแฟรงก์ตันได้ให้คำตอบในทิศทางที่เห็นพ้องด้วย คำพยานได้สื่อสารกับผู้เข้าชมแต่ละคนโดยตรง และน้อมนำประสบการณ์อันมั่งคั่งและจินตนาการที่เพียบพร้อมมาตรึงความสนใจของ ผู้คน ประเด็นในนิทรรศการอันได้แก่ ชีวิตครอบครัว วัยเด็กและการทำงาน สะท้อนมาถึงพวกเราทั้งมวล ผู้คนจะนั่งและฟัง หากเรื่องราวเหล่านั้นน่าสนใจ และบรรยากาศโดยรอบสร้างความรู้สึกสบายและเชื้อเชิญ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะกีดกั้นให้ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าต้องไปประดับอยู่ที่ผนัง หรือจุดฟังเสียง แผงจัดแสดง หูฟัง หรือร้ายกว่านั้น คือ ในห้องสมุด!สำหรับพิพิธภัณฑ์เองนั้น นิทรรศการดึงดูดความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และชักจูงใจผู้ชมที่ไม่เคยเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม บุคลากรที่จะพัฒนานิทรรศการที่จะต้องใช้เวลาในการทำงานมากเช่นนี้เป็นเรื่อง ที่เป็นไปได้ยากสำหรับพิพิธภัณฑ์ การประสานโครงการดังกล่าวเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา และการหาทุนภายนอกมาสนับสนุน ได้ทำให้โครงการที่ต้องใช้ทั้งคน การลงแรงสัมภาษณ์และบันทึกคำบอกเล่า และสร้างนิทรรศการ ที่ใช้เวลาเบ็ดเสร็จถึงสองปีครึ่งนั้นเป็นไปได้ การนำเอาเรื่องราวประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปสู่ชุมชน จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้ให้สัมภาษณ์ยังคงมีชีวิตอยู่ที่จะฟังเรื่องเหล่านั้น ความรัก แรงงาน และตำนาน(Love, Labour and Legend) เป็น รางวัลจากความร่วมมือระหว่างนักวิชาการประวัติศาสตร์และเจ้าหน้าที่ พิพิธภัณฑ์ ในปริมณฑลแห่งประวัติศาสตร์ของสาธารณชน ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีนิทรรศการที่บอกเล่าด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้นในอนาคต เชิงอรรถ1 S. Davies, ‘Falling on deaf ears? Oral history and strategy in Museums’, Oral History, Autumn 1994, vol. 22, no. 2, p. 74.2 G. Griffiths, ‘Oral History’, in D. Fleming, C. Paine and J. Rhodes (eds.), Social History in Museums: A Hand Book for Professionals, London: HMSO, 1993, pp. 111-116.3 G. Cavanagh, ‘The future of Museum social history collecting’, Social History in Museums, 1993 vol. 20, p.61.4 J. Urry, ‘How Societies remember the past’, in S. Macdonald and G. Fyfe (eds.), Theorizing Museums, Oxford: Blackwell/The Sociological Review, 1996, p. 50.5 M. Frisch, A Shared Authority: Essays on the Craft and Meaning of Oral and Public History, New York: State University of New York Press, 1990, p. 27.6 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sally Parker (Senior Curator), Michele Orgad (Exhibitions Manager), Max Riksen (Designer), Stephie Leeves (Photographer), Kent Eriksen (Exhibition Preparator).7 สมาชิกของกลุ่มนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่ร่วมจัดนิทรรศการ ได้แก่Matt Andrew, Chanel Clarke, Sue Garmonsway และ Jane Moodie.8 Frankton Oral History Project (FOHP) การสัมภาษณ์ 172, เทป 1, ด้าน บี, 39.4 นาที9 FOHP, การสัมภาษณ์ 157, เทป 1, ด้าน บี, 18.6 นาที.10 G. Porter, ‘Putting your house in order: representations of women and domestic life’, in R. Lumley (ed.), The Museum Time Machine, London: Routledge, 1988, pp. 102-127.11 See S. Garmonsway, ‘Just a wife and mother: the experiences of Frankton women, 1940-1960’, unpublished MA thesis, University of Waikato, 1996.12 FOHP, การสัมภาษณ์ 022, เทป 1, หน้า บี, 7.1 นาที.13 FOHP, การสัมภาษณ์ 014, เทป 1, หน้า บี, 17.6 นาที.14 FOHP, การสัมภาษณ์ 172, เทป 1, หน้า บี, 28.2 นาที.15 FOHP, การสัมภาษณ์ 187, เทป 1, หน้า บี, 6.0 นาที.แปลและเรียบเรียงจากAnna Green, “the Exhibition that Speaks for Itself”: Oral History and Museums. Robert Perks and Alistair Thompson (eds.), The Oral History Reader, 2nd edition, London; New York: Routledge, 2006, pp.416-424.

ความหมายของสิ่งของ จากการสะสมถึงพิพิธภัณฑสถานในยุโรป

22 มีนาคม 2556

การสะสมสิ่งของ เป็นกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการสั่งสมทางวัฒนธรรมของมนุษย์ พัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ มีฐานมาจากการถ่ายทอดความรู้ ผ่านการอบรมเลี้ยงดู ทั้งจากบรรพบุรุษที่มีตัวตนจริง และที่เป็นเรื่องเล่า ตำนาน ทั้งภายในบริบทครอบครัวและการศึกษาอย่างเป็นทางการ ในสังคมก่อนสมัยใหม่ องค์ความรู้ส่วนหนึ่งถ่ายทอดโดยผ่านมุขปาฐะ ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ และอีกส่วนหนึ่งคือการส่งผ่านความรู้โดยวัตถุที่สั่งสม ฉะนั้นในฐานะหนึ่ง วัตถุย่อมแสดงถึงความมีตัวตนของสังคมมนุษย์ในวัฒนธรรมหนึ่ง และเป็นสิ่งที่บอกการเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่มีเทคนิควิทยาที่มีความเรียบง่าย ไปสู่สังคมที่มีการผลิตด้วยเทคนิคที่ซับซ้อนมากขึ้น ขณะเดียวกัน การสะสมเป็นการปฏิเสธจุดจบหรือความตายของสิ่งที่เคยคงอยู่ และสืบทอดการดำรงอยู่ในอดีตมายังปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ การสะสมจึงปฏิเสธและเก็บกัก "เวลา" ไปพร้อม ๆ กัน วัตถุประสงค์ของการสะสมสิ่งของยังเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพัฒนาการความรู้ วัตถุกลายเป็นเครื่องมือและ หลักฐานประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต และนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้น ถ้าให้ยกตัวอย่างของวัตถุที่บรรจุความรู้ไว้สำหรับเป็นรากฐานในการคิด แล้วเชื่อมโยงไปสู่การสรรค์สร้างสิ่งต่าง ๆ ในอนาคต เห็นจะไม่พ้นหนังสือที่สามารถส่งผ่านสาระความรู้ได้อย่างชัดเจนที่สุด นอกจากนี้ วัตถุประสงค์ของการเก็บสะสมวัตถุเพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดแบ่งประเภทสิ่งของ และเป็นตัวแทนศัพท์แสงทางวิชาการ วัตถุประสงค์สองประการนี้แสดงให้เห็นฐานรากของหน้าที่พิพิธภัณฑ์ อันกอปรด้วยการอนุรักษ์ (รวบรวม สงวน ป้องกัน) และการศึกษา (จัดแสดง สังเกต วิเคราะห์) หรือการตีความและสื่อสารกับบุคคลทั่วไป จากช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์มนุษย์เริ่มการสะสมวัตถุ โดยจะเห็นได้จากการพบวัตถุในหลุมศพ แน่นอนว่าความคิดของการสะสมในช่วงเวลานั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์ อย่างไรก็ดี การสะสมยังคงดำเนินต่อมา ในสมัยประวัติศาสตร์ แม้ว่าการสั่งสมวัตถุจะมิได้เป็นไปเพื่อการศึกษา แต่การสะสมย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ครอบครองให้ความสำคัญต่อการเก็บและอนุรักษ์วัตถุอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างของการสะสมภายใต้แนวคิดดังกล่าว เช่น Tuthmois III แห่งราชวงศ์อียิปต์โบราณ (1504 - 1450 ก่อนคริสตกาล) วัตถุสะสมเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ ที่นำกลับมาพร้อมกับกองทัพภายหลังการรบ และอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการสะสมวัตถุที่มิใช่เพียงการนำเอาวัตถุที่ "แปลกปลอม" มาจากภายนอก ได้แก่ กษัตริย์ Nebuchadrezzer (605 - 562 ก่อนคริสตกาล) และ Nabonidur แห่งจักรวรรดิ์บาบิโลเนียน ผู้สะสมโบราณวัตถุ และขุดค้น บูรณะ บางส่วนของนครอูร์ (Ur) จนถึงยุคกรีกโบราณ การสะสมได้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ไป วัตถุกลายเป็นพยานสำคัญของสังคมวัฒนธรรมในอดีต เราสามารถเรียนรู้ถึงกระบวนการคิดและวิวัฒนาการของมนุษย์ในสังคม ข้อสันนิษฐานที่แสดงให้เห็นถึงการสะสมภายใต้แนวคิดเช่นนี้ ได้แก่ การถ่ายทอดความรู้ของอริสโตเติล (384 - 322 ก่อนคริสตกาล) ต่อศิษยานุศิษย์ที่ Lyceum ในกรุงเอเธนส์ ในกาลต่อมาศิษย์ของอริสโตเติล Demetrins of Phaleron เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการสร้างพิพิธภัณฑสถานที่เมืองอเล็กซานเดรีย ซึ่งสร้างขึ้นโดยการสนับสนุนของ Ptolemy Sotor และกลายเป็นพิพิธภัณฑสถานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเวลานั้น สิ่งสะสมของพิพิธภัณฑ์อเล็กซานเดรียเกี่ยวข้องกับธรรมชาติวิทยา ทั้งพืชและสัตว์ อย่างไรก็ดี วัตถุเหล่านั้นยังคงเป็นวัตถุสำหรับการศึกษาทางวิชาการของสถาบันมากกว่าเป็นการจัดแสดงเพื่อให้สาธารณชนทั่วไปเข้าไปหาความรู้อย่างพิพิธภัณฑสถานในปัจจุบัน นอกจากนี้ การจัดแสดงจิตรกรรมในปีกด้านหนึ่งของวิหาร Propylea ณ Acropolis ในกรุงเอเธนส์เป็นการจัดแสดงในที่สาธารณะเช่นกัน ในยุคต่อมา สังคมโรมันยังคงให้ความสำคัญกับการสะสมวัตถุในแง่ที่วัตถุอันถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าประวัติศาสตร์ ความงาม และมูลค่า การสะสมจึงเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสงครามการยึดครองดินแดน วัตถุกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการมีอำนาจเหนือพื้นที่ที่ได้จากการรุกราน แต่ในขณะเดียวกัน วัตถุของวัฒนธรรมผู้ถูกครอบครองกลายเป็นสิ่งที่ต้องอนุรักษ์หวงแหน ถึงขนาดชาวโรมันทำวัตถุจำลองที่ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ ศาสนาสถานของชาวโรมันมิได้รวบรวมเพียงผลงานศิลปกรรม ยังเป็นสถานที่ของการนำเสนอ "ของแปลก" ที่มาจากสังคมวัฒนธรรมอื่น วัตถุเหล่านั้นเป็นสิ่งของที่เข้ามาพร้อมกับนักเดินทางและทหารที่ผ่านการรบทัพ อย่างที่ Hierapolis ที่มีวัตถุสะสมเป็นเครื่องประดับของชาวอินเดียน ขากรรไกรปลาฉลาม งาช้าง หรืออย่างวิหาร Herculis ในกรุงโรมที่ปรากฏหนังสัตว์ พืชหายาก และอาวุธจากต่างแดน จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่า งานสะสมไม่ใช่เป็นเพียงวัตถุที่พึงมีไว้เพื่อศึกษาและสัมผัสความงาม หากแต่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ สงวน ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญของรูปแบบงานพิพิธภัณฑ์ในวัฒนธรรมโลกตะวันตก1 จากภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน อันถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดอารยธรรมโบราณ สถาบันทางศาสนาเข้ามามีบทบาทอย่างมากในอำนาจของอาณาจักร และยังมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์วัตถุทางวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ โบสถ์หรือสถิตย์สถานแห่งอำนาจในยุคกลาง (ควบคู่ไปกับชนชั้นการปกครอง) ทำหน้าที่เสมือนกับพิพิธภัณฑ์ศาสนศิลป์ แต่แน่นอนว่าศาสนสมบัติที่ปรากฏมิได้เป็นวัตถุศิลปะตามความคิดของพิพิธภัณฑสถานในปัจจุบัน เพราะสิ่งของเหล่านั้นย่อมปรากฏร่างในบริบทของศาสนสถาน มิใช่อาคารในชีวิตโลก2 และเมื่อศาสนจักรลดบทบาททางการเมืองในยุคต่อมา การสะสมวัตถุกลายเป็นความนิยมในราชสำนักและคหบดี เนื่องจากสังคมในขณะนั้นหันมาให้ความสนใจต่อศิลปะและการอักษร วัตถุจากอดีตสมัยในฐานะเครื่องบ่งชี้คุณค่าของโบราณกาลกลายเป็นสัญลักษณ์สถานะภาพสังคมชั้นสูง อาทิ การสะสมศาสนวัตถุของ Abbot Bernard Suger (AD 1081 - 1151) ณ The Royal Abbey of St. Denis ในฝรั่งเศส หรืองานสะสมของ Henry of Blois ซึ่งเป็น Bishop of Winchester and Abbot of Glastonbury (AD 1099 – 1171) แรกสมัย (ศตวรรษที่ 15 - 18): พิพิธภัณฑสถานเพื่อการชื่นชมในวัฒนธรรมชนชั้นสูง และพิพิธภัณฑสถานของนักธรรมชาติศึกษา ศตวรรษที่ 12 ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และปรัชญาการหาความรู้เน้นลักษณะเชิงประจักษ์ หรืออย่างที่ขนานนามยุคสมัยว่า ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เป็นช่วงสมัยของการให้คุณค่ากับการศึกษาทางประวัติศาสตร์ และการสร้างความรู้ด้วยการพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานจากอดีต และสรรพสิ่งร่วมสมัย การถือกำเนิดของพิพิธภัณฑสถาน (ตามความหมายในปัจจุบัน) จึงเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเช่นว่านี้ การสะสมมีความหมายทั้งนัยที่เป็นงานสะสมส่วนบุคคลเพื่อการศึกษา เป็นรสนิยมร่วมสมัยของชนชั้น และเป็นพยานหลักฐานของการจาริกไปยังแผ่นดินอันไกลโพ้น ฉะนั้น หากจะสรุปรูปลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ที่ปรากฎในช่วงเวลาดังกล่าว ก็จะเป็นไปใน 2 ลักษณะ คือ (1) พิพิธภัณฑสถานเพื่อการชื่นชมในวัฒนธรรมชนชั้นสูง และ (2) พิพิธภัณฑสถานของนักธรรมชาติศึกษา พิพิธภัณฑสถานเพื่อการชื่นชมของวัฒนธรรมชนชั้นสูง งานสะสมของตระกูลการค้าบางตระกูล กลุ่มปกครองบางกลุ่มจัดแสดงในพื้นที่เฉพาะ Cosimo de Medici สมาชิกของตระกูลเมดีชี ซึ่งรุ่งเรืองขึ้นมาจากการค้าและการธนาคาร และเป็นผู้ปกครองนครฟลอเรนซ์ในอิตาลี ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 และ Lorenzo the Magnificent มีงานสะสมเป็นพวกหนังสือ ตราประทับ หินมีค่า เหรียญตรา พรม วัตถุในยุคไบแซนไทน์ จิตรกรรม และประติมากรรมร่วมสมัยอื่น ๆ คำว่า "museum" ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ดี คำเรียกอื่นกลับเป็นที่นิยมมากกว่า "gallery"3 ที่อธิบายถึงที่จัดแสดงจิตรกรรมและประติมากรรม "cabinet" ใช้ในการอธิบายคลังเก็บของแปลก ของหายาก หรือสถานที่เก็บศิลปวัตถุ คำตามนิยามทั้งสองใช้อย่างแพร่หลายทั้งในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส4 รูปแบบของการสะสมและการจัดแสดงแพร่หลายทั่วไปในยุโรป5 ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 และ 17 พร้อมกับขั้วอำนาจในยุโรปที่เปลี่ยนจากอิตาลีมาสู่ฝรั่งเศส สเปน ปรัสเซีย และออสเตรีย ในยุโรปตอนกลาง Wilhelm II และ Albrecht V ดุคส์แห่งบาวาเรียเก็บสะสมงานศิลปะในช่วงปี ค.ศ. 1563 - 1567 ณ เมืองมิวนิค Albrecht ยังได้สร้าง Antiquarium เพื่อเก็บงานสะสมที่เกี่ยวกับอารยธรรมโรมันในช่วงปี ค.ศ. 1580 - 15846 อย่างไรก็ดี ลักษณะของงานสะสมที่พัฒนาไปพร้อมกันคือ การสั่งสมวัตถุที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของนักธรรมชาติศึกษา ไม่ว่าจะเป็น herbarium ที่เก็บตัวอย่างพืชของ Luca Ghini (1490 - 1556), Historiae animalium ของ Konrad von Gesner ผู้สะสมวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นงานสะสมที่สำคัญในช่วงเวลานั้น หรือตัวอย่างพืช สัตว์ และแร่ธาตุ ของ Ulisse Aldovandi (1522 - 1614) ในการเตรียมข้อมูลเพื่อจัดทำสารานุกรมประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ซึ่งต่อมางานสะสมดังกล่าวได้พัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยโบลอนนาในปี ค.ศ. 1743 อย่างไรก็ตาม การสะสมวัตถุทางวัฒนธรรมทุกประเภทและทุกยุคสมัย7 เป็นความนิยมของยุคสมัยและกลายเป็นสัญลักษณ์ของลำดับชั้นอำนาจ8 ความยิ่งใหญ่ และความรุ่มรวยของเจ้าของวัตถุ ผู้กุมอำนาจปกครองหรืออยู่ในชนชั้นดังกล่าว นอกจากนี้ ยังเป็นสัญลักษณ์ของการรวมศูนย์กลางอำนาจไว้ที่ราชสำนัก ตัวอย่างงานสะสมและการจัดแสดงที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ของราชสำนักได้แก่ พระราชวังแวร์ซายส์ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และ 14 ทั้งการตกแต่ง ผลงานศิลปกรรม และการจัดสวน หรือ "พื้นที่แสดง" ที่ปรากฏในความสัมพันธ์ระหว่างตัวปราสาท (เมือง - ศูนย์กลาง) และที่พำนักนอกเมือง (สวน Tuileries ด้านหน้า) ของพระราชวัง Louvre เป็นลักษณะการแสดงความยิ่งใหญ่ของราชสำนักในศตวรรษที่ 17 และต้นศตวรรษที่ 18 พื้นที่แสดงงานสะสมเช่นที่กล่าวมาเปิดให้คนทั่วไปเข้าชม แม้ในบางที่จะต้องมีการเสียเงินหรือต้องมีกฎ มีการนัดหมายที่ครัดเคร่งต่อผู้ที่สามารถเข้าชมห้องแสดงหรือห้องเก็บของแปลกและหายาก (cabinet, closet of curiosities) แต่ส่วนมากผู้เข้าชมมักเป็นแขกเชิญของผู้เป็นเจ้าของ ดังนั้น ความคิดของการเปิดให้สาธารณชมเข้าชมอย่างเป็นอิสระ (accessibility) ยังมิใช่เรื่องหลักของการจัดแสดงในยุคนั้น การนำเสนองานสะสม ผลงานศิลปะ เป็นการเสนอปริมาณของวัตถุที่อยู่ในงานสะสม (spectacle of abundance) ผู้ที่เข้าชมสมบัติหรืองานสะสมย่อมรับรู้ถึงความมั่งมีผู้เป็นเจ้าของ และซึมซับความหมายของวัตถุไปตามความรู้สึกของการครอบครองทรัพย์ศฤงคาร มากกว่าเป็นการพินิจพิเคราะห์รูปทรงและเนื้อหาความหมายของวัตถุ การนำเสนอที่นำสิ่งของมากองหรือจัดแสดงทั้งหมด จึงเป็นประหนึ่งการเข้าไปชมคลังวัตถุ ฉะนั้น หากพิจารณาจากมุมมองของวัฒนธรรมปัจจุบัน ย่อมเป็นตัดสินว่าการนำเสนอเป็นเรื่อง "สัพเพเหระและไร้ระเบียบ"9 แต่เมื่อพินิจมองอีกมุมหนึ่งรูปแบบดังกล่าวกลับสะท้อนโลกทัศน์ ตัวตน สิ่งแวดล้อม โลกจักรวาล ความสนใจในสิ่งที่ใกล้และไกลตัว10 ของผู้ครอบครอง สมบัติจากการสั่งสมและการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินในอุปถัมภ์ หรืองานวัฒนธรรมในยุคสมัยนั้น รับใช้ต่ออำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ แสดงออกถึงความมั่งคั่งเช่นที่กล่าวมา อย่างไรก็ตาม งานสะสมของราชวงศ์กลายเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ที่เกิดอย่างเป็นทางการในระยะต่อมา อันได้แก่ Galerie des Offices ณ เมืองฟลอเรนซ์, พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ณ กรุงปารีส, พิพิธภัณฑ์ปราโด ณ เมืองแมดริด, Neue Pinakothek ณ กรุงมิวนิค, Hermitage Museum ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบริก์ รวมทั้งการเกิดขึ้นของการจัดแสดงที่ "ทันสมัย" และพิพิธภัณฑสถานที่ดำเนินการ "เพื่อมวลชน" สถาปนาขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ยุคสิ้นสุด "การปกครองเดิม" (ปลายศตวรรษที่ 18 - ปลายศตวรรษที่ 19) : พิพิธภัณฑสถานเพื่อมวลชนในฐานะเครื่องมือของการส่งผ่านความรู้ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ด้วยการยึดอุดมการณ์ของความก้าวหน้า สิทธิมนุษยชนสากล และเหตุผลนิยม สังคมยุโรปเคลื่อนเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม การปฏิวัติฝรั่งเศสในฐานะที่เป็นจุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม ปรัชญาการดำเนินชีวิต การแสวงหาความรู้ นำพาสังคมไปสู่ยุคสมัยใหม่ ประชาชนเป็นผู้สร้างความชอบธรรมในกระบวนการปกครอง รัฐรวมอำนาจไว้ศูนย์กลางภายใต้แนวคิดชาตินิยม อำนาจทางเศรษฐกิจตกสู่ประชาชนทั่วไป แต่ในความเป็นจริงกลับตกอยู่ในมือของคนเฉพาะกลุ่มที่สามารถเข้าถึงทรัพยากร ความมั่งคั่งและอิทธิพลทางสังคมจึงตกอยู่ที่พวกกระฎุมพี อย่างไรก็ดี ตัวแบบของนโยบายการปกครองจึงเปลี่ยนไปสู่ความสนใจต่อสาธารณสุข ความมั่งคั่ง และการศึกษาในระดับกว้าง ประชาชนทั่วไปมีอิสระมากขึ้น และหันมาให้ความสนใจกับการศึกษา รวมทั้งมรดกของตนเองในระดับที่กว้างขวางขึ้น ปรัชญาการแสวงหาความรู้ที่พัฒนาเรื่อยมาจากยุค Enlightenment เมื่อประมาณศตวรรษก่อนหน้านั้น ที่เน้นกระบวนการคิดที่เป็นความถูกต้องลงตัวดังเช่นสมการคณิตศาสตร์ การตัดทอนสรรพสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสิ่งย่อยที่สุดเพื่อทำความเข้าใจในธรรมชาติของสิ่งนั้น ๆ รวมทั้งการเข้าไปจัดแบ่ง ควบคุม และจัดลำดับ11เหล่านี้ทำให้ขบวนการทำงานวิเคราะห์วิจัยต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑสถาน และการสร้างเนื้อหาสาระการจัดแสดงเชื่อมโยงกับโดยตรงกับโลกทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญคือ พิพิธภัณฑสถานในช่วงสมัยกลายเป็นเครื่องมือของการถ่ายทอด หรือส่งผ่านความรู้ที่เห็นว่าความเป็น "ความรู้สาธารณะ" การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมที่เชื่อมั่นในลัทธิของความเท่าเทียมกัน หรือที่เรียกขานกันว่า ประชาธิปไตย รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของการแสวงหาความรู้ที่ปฏิเสธโลกทัศน์แบบความเชื่อและศาสนา ส่งผลต่อการแปรเปลี่ยนรูปลักษณ์พิพิธภัณฑสถานจากพิพิธภัณฑ์ "คลังสมบัติ" สู่พิพิธภัณฑสถานในฐานะแหล่งเรียนรู้ที่เปิดประตูต้อนรับสาธารณชน ในประเทศอังกฤษพิพิธภัณฑ์แอชโมเลียน หรือ Ashmolean Museum of Oxford (1677) กำเนิดจากงานสะสมของ John Tradescent และบุตรชายที่เกี่ยวกับพฤกษศาสตร์ ณ เมือง Lembeth ซึ่งเปิดให้คนเข้าเยี่ยมชมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1623 ต่อมางานสะสมดังกล่าว รวมทั้งวัตถุสะสมเพิ่มเติมของ Eilas Ashmole อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในอังกฤษขณะนั้น ได้พัฒนาสู่การจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานของมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้าชมในปี ค.ศ. 1683 British Museum of London (1759) งานสะสมของพิพิธภัณฑ์พัฒนามาจากวัตถุสะสมของเอกชน Sir Hans Sloane ซึ่งพระราชบัญญัติของสภาได้ตัดสินให้ถ่ายโอนงานสะสมไปสู่การจัดตั้งขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน12 ในฝรั่งเศส การปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 ส่งผลต่อการสร้างอุดมการณ์รัฐที่เรียกว่า "?duquer la Nation" (การให้ศึกษาแก่ชาติ) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1790 พระราชบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกับมรดกของชาติได้ในฐานะที่เป็นสมบัติของสาธารณชนได้รับการประกาศใช้ เรียกได้ว่าเป็นการต่อต้านต่ออำนาจเดิม เนื่องเพราะพระราชวัง ปราสาท และมรดกสถานหลายแห่งเป็นสัญลักษณ์ของการรวมศูนย์อำนาจ ในระหว่างปี ค.ศ. 1793 - 1795 พิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ถือกำเนิดขึ้นในนครหลวง ได้แก่ (1) le Museum central des Arts - le Louvre (พิพิธภัณฑ์ศิลปะ) (1793) (2) le Museum d’histoire naturelle (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา) ซึ่งสร้างมาจาก "สวนหลวง" (Jardin du Roi) (1793) (3) le Conservatoire national des Arts et metiers (พิพิธภัณฑ์ประดิษฐกรรมและวิศวกรรม) (1794)13 ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็สร้างพิพิธภัณฑ์สาธารณะขึ้นเช่นกัน Schloss Belvere กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เปิดในปี ค.ศ. 1784 ซึ่งแสดงจิตรกรรมของราชสำนักต่อสาธารณชน ในสเปน แม้ว่างานสะสมในราชสำนักของพระราชวัง Escorial เปิดให้ประชาชนเข้าชมตามความจำนงค์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แต่งานสะสมดังกล่าวพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณะในปี ค.ศ. 1785 ในรูปโฉมของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในโปรตุเกสที่เป็นสู่สาธารณชนในปี ค.ศ. 1772 ในเยอรมนี Altes Museum โดยความประสงค์ของ Frederick William III ซึ่งมีรากฐานงานสะสมจาก Unter den Linden Academy และเปิดให้ประชาชนเข้าชมในปี ค.ศ. 1830 ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 กระบวนการทำงานจึงประยุกต์วิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาสู่การศึกษาวัตถุ และการให้ความรู้ต่อสาธารณชน ในเรื่องของวัตถุ การจัดแบ่งประเภทเข้ามาสู่ระบบงานพิพิธภัณฑ์ งานสะสมจึงมิใช่เพียงกองกรุวัตถุที่ทับถมรวมกัน งานเขียนสามารถเป็นตัวแทนของกระบวนการทำงานดังกล่าวคือ Museographia ของ Casper F.Neikel ซึ่งพิมพ์ในปี ค.ศ. 1727 ที่ Leipzig14 และในระยะต่อมา ปรากฏงานการจัดแบ่งประเภทวัตถุธรรมชาติศึกษาและโบราณศึกษาที่ทันสมัย ได้แก่ งานของ Linnaeus (พิมพ์ในปี ค.ศ. 1735) Thomsen (พิมพ์ในปี ค.ศ. 1836) ส่วนการจัดแสดง หรือการให้ความรู้ต่อสาธารณชนนั้น กระบวนการส่งผ่านความรู้แบบ didactique15 เป็นฐานรากของการทำงาน นั่นหมายความว่า พิพิธภัณฑสถานเป็นผู้กุมอำนาจในการอธิบายและแสดงให้เห็น เพื่อเป็นการสอนสั่งกลุ่มผู้ชมเกี่ยวกับวัตถุที่จัดแสดง การทำงานพิพิธภัณฑ์เช่นนี้เอง ที่ก่อให้เกิดการจัดแบ่งพื้นที่ในพิพิธภัณฑ์ที่เป็นส่วนของคลังและส่วนของการจัดแสดง ตัวอย่างงานพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยาและโบราณคดีสามารถสะท้อนให้เห็นแนวทางการทำงานดังกล่าวได้เป็นอย่างดี วัตถุได้รับการจัดแบ่งตามประเภทความซับซ้อนทางเทคนิคและแหล่งที่มา และจัดแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของการผลิตตามแนวคิดวิวัฒนาการนิยม และที่สำคัญคือ เป็นการนำเสนอสิ่งที่แปลกแยกจากสังคมยุโรปและนำเสนอวัฒนธรรมของสังคมที่อยู่ในขั้นต้นของการพัฒนาความเป็นมนุษย์ (กรณีตัวอย่าง Mus?e de l’Homme, กรุงปารีส)16 ในกรณีของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ การนำเสนอต่อสาธารณชนเป็นการนำเสนอตามลำดับเวลา และแบ่งแยกตามสำนักศิลป์ต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นกระบวนการทำงานที่เป็นการจัดแบ่งประเภทตามกระบวนการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ ดังกรณีพิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert ในกรุงลอนดอน การเสนอชุดความรู้ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นการพยายามให้สาธารณชนรู้อย่างเช่นที่ผู้ศึกษาวิจัยได้รู้ ปรัชญาของการทำงานเป็นการให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชม พยายามที่จะ "สอนสั่ง" ผู้ชม แนวทางการทำงานกินเวลานานเป็นศตวรรษ และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนทัศน์ในการสื่อสารความรู้สู่สาธารณชนจวบจนปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อกระบวนการสร้างและสื่อสารความรู้ในบริบทของพิพิธภัณฑสถานเช่นกัน สังคมร่วมสมัย : พิพิธภัณฑสถานเพื่อการศึกษาและเพื่อสังคม ในอดีต พิพิธภัณฑ์เคยอยู่ภายใต้การทำงานที่ใช้งานสะสมเป็นฐานรากของกระบวนการคิดในการทำงาน นิทรรศการทำหน้าที่ในการรวบรวมและจัดแสดงงานสะสม เอกสารการเผยแพร่ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ความรู้จากงานวิจัยเกี่ยวกับวัตถุ ผู้ปฏิบัติงานหลักของพิพิธภัณฑ์เป็นภัณฑารักษ์ที่ทำหน้าที่ในการดูแลสงวนรักษา และจัดแบ่งประเภทตามธรรมชาติของงานสะสมที่สอดคล้องกับสาขาวิชาต่าง ๆ หากแต่ว่าตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 พิพิธภัณฑ์ให้ความใส่ใจต่อกลุ่มผู้ชม หรือเรียกได้ว่า เป็นฐานรากของกระบวนการคิดในการทำงานพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการมาจากการทำวิจัยเฉพาะเรื่องเฉพาะอย่างที่ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่ม เอกสารงานพิมพ์เผยแพร่เชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ กัน และงานวิจัยเองขยายขอบเขตมาสู่ผู้ชมศึกษา17 เช่นเดียวกับงานที่วิจัยวัตถุสะสมที่ยังคงดำเนินต่อไป ในปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ไม่ได้ทำหน้าที่ในการกำหนดข้อสรุป ผู้ชมกลับทำหน้าที่ในการตัดสิน พิพิธภัณฑ์เป็นเพียงผู้เตรียมข้อมูลหรือสิ่งของต่าง ๆ สำหรับให้ผู้ชมได้ศึกษา การเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์จึงเป็นการพยายามทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมต่าง ๆ กับคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมด้วยตัวผู้ชมเอง การเรียนรู้เช่นนี้อยู่เหนือกฎระเบียบทุกอย่างทั้งสิ้น ไม่มีการสอบ ไม่มีการเรียนแบบ ไม่มีการเรียนการสอน หากแต่อยู่กับผู้ที่ต้องการอยากจะเรียนรู้เท่านั้น เพราะเขาจะเข้ามาพิพิธภัณฑ์เมื่อรู้สึกอยากมาเท่านั้น ไม่มีการบังคับ การถ่ายทอดความรู้ระหว่างพิพิธภัณฑสถานและกลุ่มผู้ชมเปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่ขบวนการทำงานถ่ายทอดความรู้อยู่บนระบบคิดที่เป็น didactique ซึ่งเน้นการทำให้ผู้ชมเชื่อตามกับเนื้อหาหรือข้อสรุปบางที่พิพิธภัณฑ์ส่งผ่านสื่อต่าง ๆ ไปสู่การส่งผ่านความรู้ที่ในแนวทาง p?dagogique18 ซึ่งเป็นการพยายามสร้างหนทางไปสู่ความรู้นั้น ด้วยเหตุนี้ การส่งผ่านความรู้ภายใต้ระบบคิดดังกล่าว จึงไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้แบบเบ็ดเสร็จ หากแต่เป็นการพยายามสร้างให้ผู้ชมปรารถนาที่จะเรียนรู้ และนำไปสู่การสร้างความรู้ด้วยตนเอง กระบวนการส่งผ่านความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงถือได้ว่าเป็นการให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในการเรียนรู้ในบริบทของการจัดแสดงที่การนำเสนอจะเป็นทั้งการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ การสร้างสถานการณ์หรือบรรยากาศให้เกิดกระบวนการคิด การสามารถจับต้อง สัมผัส และการสร้างปัญหา คำถาม โดยคำตอบจะต้องมาจากการเข้าไปมี ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งจัดแสดง การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ชมมิได้มีลักษณะเป็นฝ่ายที่รับสาร ความรู้ แต่โสตเดียวอีกต่อไปหากแต่ว่าผู้ชมเข้ามามีบทบาทในการกำหนดความต้องการ เนื้อหาจัดแสดง ดังจะเห็นได้จากแนวโน้มในการเกิดการศึกษาผู้ชม ขบวนการคิดและการทำงานดังกล่าวนี้เองสะท้อนให้เห็นว่า พิพิธภัณฑ์ได้ตระหนักถึงบทบาทของตนเองต่อชุมชนและสังคมมากยิ่งขึ้น19 การตระหนักถึงผู้ชมพิพิธภัณฑ์ยังรวมถึงการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งในที่นี้หมายถึง พิพิธภัณฑสถาน จากอดีตผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เป็นเพียงคนบางกลุ่มของสังคม ซึ่งเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่เกิดจากช่องว่างทางเศรษฐกิจและการศึกษา รวมทั้งช่องว่างทางสังคมเช่นกัน พิพิธภัณฑ์เคยเป็นคลัง หรือกรุสมบัติของชนชั้นสูงที่มีคนเข้ามาชื่นชมวัตถุเฉพาะคนในชนชั้นเดียวกันกับเจ้าของงานสะสม และพิพิธภัณฑ์เปิดประตูต้อนรับสาธารณชนในที่สุด แม้ว่ากลุ่มผู้ชมขยายตัวมากขึ้น แต่มีเพียงกลุ่มคนที่มีการศึกษาและชนชั้นกลางที่เป็นเข้ามาในพิพิธภัณฑสถาน คนเหล่านั้นพิจารณาว่า พิพิธภัณฑ์เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยของผู้ใหญ่ จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 ที่กลุ่มเด็ก เยาวชน และนักเรียนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์งานในพิพิธภัณฑสถาน นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ยังเริ่มที่จะหันมาให้ความสนใจ "สาธารณชนชายขอบ" ที่ไม่ใช่กลุ่มผู้ชมของพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้เป็นการเข้าใจธรรมชาติระยะห่างระหว่างกลุ่มคนดังกล่าวกับพิพิธภัณฑสถาน และสร้างสรรค์กิจกรรมที่สามารถสร้างความสนใจ และ/หรือ ความต้องการเข้าชม พิพิธภัณฑ์ย่อมได้กลุ่มผู้ชมทุกประเภทมากยิ่งขึ้น (democratic audience) ด้วยการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว -------------------------------------------- ** บทความนี้ตีพิมพ์ใน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ วิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ระยะที่ 1 สร้างเครือข่ายและสำรวจสภาพพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2547. 1 ในสมัยโรมัน พระราชวังของพระเจ้าเฮเดรียนมีห้องแสดงภาพเขียน และจัดห้องเพื่อแสดงภาพ พระองค์ยังโปรดให้จำลองสถานที่มีชื่อเสียงของกรีกโบราณ มาสร้างไว้ที่เมืองทริบูร ซึ่งถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง รวมทั้งการปรากฏ "ผู้รักษาความปลอดภัย" (l’aeditumus) ที่หน้าที่เฉกเช่นเจ้าหน้าที่รักษางานสะสมของพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน (Claude Pecquet, 1992: 14) 2 Nick Prior, Museums and Modernity: Art Galleries and the Making of Modern Culture (Oxford; New York: Berg, 2002), pp. 14. 3 ชื่อเรียกในภาษาอิตาลีใช้คำว่า galleria 4 ในภาษาเยอรมันใช้คำว่า Kabinett และ Kammer และโดยมากจะใช้การชี้เฉพาะธรรมชาติของวัตถุสะสม เช่น Naturalienkabinett (Natural science collections), Wunderkammer 5 ตระกูล Bourbon-Parme เมืองเนเปิล, ตระกูล Habsbourg เมืองแมดริด, ตระกูล Wittelscach เมืองมิวนิค, ตระกูล Hohenzollern เมืองเบอร์ลิน, ตระกูล Valois และ Bourbon เมืองปารีส, ตระกูล Romanov เมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบริก์ 6 John M.A. Thomas, Manual of Curatorship, (Oxford: Butterworth-Heinemann Ltd., 1992), pp. 8. 7 ด้วยความนิยมเช่นนี้จึงทำให้วัตถุหายาก โบราณ กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่า และถูกส่งออกจากอิตาลีไปสู่ต่างประเทศ (Thomas, 1992: 7) และยังเกิดระบบอุปถัมภ์ศิลปินในการผลิตงานศิลปะรับใช้ต่อผู้ให้การอุปถัมภ์ (Prior, 2002: 17) 8 ในศตวรรษที่ 17 คำเรียกขานสถาปัตยกรรมของชนชั้นสูงเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงอำนาจ la maison : ที่พำนักสำหรับคหบดี, l’h?tel: ที่อาศัยของราชนิกุล และ le palais: ราชวัง พระราชวัง สำหรับราชวงศ์ พระมหากษัตริย์ 9 Bazin ยกคำพรรณาของผู้เยี่ยม Paolozzo ในอิตาลีว่า "The entire decoration of a room consists in covering its four walls, from ceiling to floor with painting in such profusion and with so little space between them that in truth, the eye is often fatigued as amused (cited in Bazin, 1967: 192)" (Prior, 2002: 19) 10 นอกจากผลงานศิลปะแล้ว ยังมีสิ่งของหายากที่มาจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เป็นงานสะสมด้วย วัตถุเหล่านี้เป็นสิ่งของนำกลับมาพร้อมกับนักเดินทางสำรวจ หมอสอนศาสนา และพ่อค้าวาณิชย์ต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็น "ทูตทางวัฒนธรรม" เป็นทั้งผู้ที่นำวัฒนธรรมของประเทศบ้านเกิดไปสู่ที่ซึ่งตนเองได้เดินทางไปถึง และในทางกลับกันทำหน้าที่เป็น "พาหะ" นำเอาวัตถุทางวัฒนธรรมต่างแดนที่ตนเองได้ประสบกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอน แม้ว่าการนำเอาวัตถุที่นักเดินทางสำรวจได้พบกลับมายังบ้านเกิด ในหลายกรณี ลักษณะของอคติที่เกิดขึ้น จากการจัดแสดงคือ การนำเอา "ความไร้อารยะธรรม" กลับมาแสดงให้คนในบ้านเดียวกับตนเองได้เห็น 11 ตามทัศนะของ Foucault ซึ่งปรากฏใน Eilean Hooper-GreenHill, Museums and the Shaping of Knowledge, (London; New York: Routledge, 1993), pp. 168 - 170. 12 Thompson, John M. A., Manual of Curatorship: a guide to museum practice, pp. 10. 13 Claude Badet (ed.), Mus?es et Patrimoine (Nancy: Bialec, S.A., 1997), pp. 22. 14 แต่แนวคิดในการจัดประเภทวัตถุมีมาตั้งแต่ในปี 1565 Samuel van Quiccheberg แพทย์ชาวแฟลมิชได้เสนอว่า งานสะสมควรเป็นตัวแทนการจัดแบ่งสรรพสิ่งต่างๆในสากลโลก 15 คำว่า didactique มาจากภาษากรีก didacktikos อันหมายถึง "อันเหมาะแก่การสอนสั่ง" (propre ? instruire) ขณะเดียวกันคำว่า "instruire" มาจากภาษาลาติน instruere อันหมายถึง "นำเสนอความรู้อันเป็นประโยชน์, ให้ข้อมูล (munir de connaissances, informer) 16 Jaques Galinier et Antoinette Molini?, ? Le cr?puscule des lieux : Mort et renaissance du Mus?e d’Anthropologie ?, Gradhiva (No. 24, 1998). 17 ทฤษฎีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการศึกษาของกลุ่มผู้ชมมีทั้งสำนักพฤติกรรมศาสตร์ จิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา สุนทรียศาสตร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่พิจารณาถึงพฤติกรรม ทัศนคติ การรับรู้ ฯลฯ ของกลุ่มผู้ชมที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดสัมพันธภาพกับพิพิธภัณฑ์ โดยมิได้จำกัดการวิเคราะห์เพียงการสื่อสารที่เกิดขึ้นในบริบทของนิทรรศการ หากแต่รวมไปถึงความสัมพันธ์กับพิพิธภัณฑสถานในฐานะที่เป็นองค์กร หน่วยงาน สถาบันทางสังคม และที่สำคัญคือ เป็นส่วนหนึ่งของสังคม 18 คำว่า "p?dagogique" มาจากภาษากรีก "paidos" แปลว่า เด็ก และ "paideia" แปลว่า การศึกษา และแต่เดิม paidag?gos ในภาษากรีก หมายถึง ทาสที่ทำหน้าที่นำเด็กๆ ไปโรงเรียน 19 Roger Miles and Lauro Zavala, Towards the Museum of the Future: new European perspectives (New York; London: Routledge, 1994), pp. 140 - 144.

พบกันครึ่งทาง: ระหว่างวัฒนธรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว

21 มีนาคม 2556

โครงการการจัดการทางวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของสะพานแห่งการ์ด (le Pont du Gard) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการป้องกันตัวถาวรสถาน และสภาพแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าของแหล่งโบราณสถานโดยรวม พื้นที่พิพิธภัณฑ์ที่เป็นสื่อกลางบอกเล่าประวัติศาสตร์ของสะพานและพื้นที่ใกล้เคียงสำหรับการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน เรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นของพื้นที่งานวัฒนธรรมใหม่แห่งนี้ อุปสรรคที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานก็มิอาจจะขวางกั้นประโยชน์จากโครงการ และเส้นทางสู่อนาคตข้อมูลต่อไปนี้มาจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานและบริหารของโบราณสถานสะพานแห่งการ์ด อธิบายถึงประวัติศาสตร์ของสะพานแห่งการ์ดโดยสังเขป   สะพานแห่งการ์ดเป็นส่วนหลักของระบบชลประทานโบราณของนครนีมส์ (Nîmes) ที่ออกแบบและสร้างโดยชาวโรมันประมาณปีที่ 50 ของยุคเรา เพื่อเป็นการนำน้ำมาสู่เมืองนีมส์ การชลประทานสามารถนำน้ำในปริมาณเฉลี่ย 20,000 ลูกบาศก์เมตร ตลอด 24 ชั่วโมง เรียกได้ว่าเป็นน้ำที่บริสุทธิ์และสะอาดสำหรับหล่อเลี้ยง น้ำพุในเมือง ห้องอาบน้ำสาธารณะ และสวนต่างๆ ของนีมส์ หรือมหานครแห่งความอุดมสมบูรณ์ของชาวกาลโล-โรมัน ระบบดังกล่าวใช้งานถึง 450 ปี จนในที่สุดน้ำไม่สามารถใช้งานได้ดังเดิม เนื่องจากการขาดการดูแลรักษาจนปล่อยให้หินปูนเกาะติดทางลำเลียงน้ำ ด้วยเหตุนี้ น้ำจึงไม่สะอาดเพียงพอสำหรับการบริโภคอุปโภค   พยานเทคนิคการจัดการน้ำของวิศวกรชาวโรมันเป็นผลงานที่สร้างความประทับใจให้กับนักเดินทางมาแล้วหลายชั่วศตวรรษ เป็นเส้นทางที่ศิลปินพื้นบ้านแกะสลักหินต้องเดินทางผ่านในเส้นทางการเดินทางทั่วฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี ถาวรสถานถูกทิ้งร้างและมีอินทรีย์พืชที่เจริญเติบโต จนทำให้สภาพทั่วไปเสื่อมโทรม จนในปี 1840 สะพานแห่งการ์ดอยู่ในรายนามของแหล่งโบราณคดีในทำเนียบของ Prosper M?rim?e จากนั้นงานอนุรักษ์ซ่อมแซมจึงได้เริ่มดำเนินการ ในปี 1973 สะพานแห่งการ์ดขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมของกระทรวงสิ่งแวดล้อม และตั้งแต่ปี 1985 ถาวรสถานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประกาศโดยองค์การยูเนสโก   แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า สาเหตุที่โบราณสถานเป็นที่รู้จักมิได้มาจากความเสื่อมโทรมของโบราณสถานที่ผ่านมาในอดีต   พื้นที่ธรรมชาติที่งดงาม ซึ่งตรึงนักท่องเที่ยวและผู้คนที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง นำเอาผู้คนจำนวนมากเข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ในหลายปีที่ผ่านมา (ผู้ชมจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคนต่อปี) ด้วยเหตุที่ว่าส่วนประกอบต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องและเหมาะสมกับแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกเส้นทาง การก่อสร้างเพิ่มเติมที่ไม่เหมาะสม จำนวนพืชพรรณที่ไม่พอเพียง บางครั้งพืชตกอยู่ในอันตรายด้วยขาดการอนุรักษ์ เหล่านี้กลายเป็นภาพลักษณ์ของสะพาน ความทรุดโทรมของภูมิทัศน์เพิ่มมากขึ้น เส้นทางที่ "รกชัฏ" และพื้นที่หินปูนที่มากขึ้น ตลิ่งแม่น้ำที่มีการใช้งานโดยปราศจากการเอาใส่ใจต่อสิ่งมีชีวิตทั่งพืชและสัตว์ที่อาศัยในบริเวณนั้นๆ   แม้ว่าจะมีการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่กลับไม่ได้ช่วยให้มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เข้าเยี่ยมชมประมาณหกพันถึงหมื่นคนต่อวันในช่วงที่ฤดูร้อน เข้ามาในพื้นที่โดยเฉลี่ยไม่มากกว่าหนึ่งชั่วโมง ดังนั้น ความประทับใจเพียงการค้นพบอย่างฉาบฉวย จึงทำให้โบราณสถานเป็นที่ "ไร้เสียง" ที่ผู้ชมไม่ได้สังเกตเลยว่ามันตั้งอยู่ที่ใด   ความเป็นมาในการตระหนักถึงความจำเป็นในการสงวนรักษาและเพิ่มคุณค่าให้กับโบราณสถานเป็นอย่างไร   ตั้งแต่ปี 1985 องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นการ์ดประกาศโครงการการจัดการทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของโบราณสถานแห่งการ์ด เพื่อการสงวนรักษาและเพิ่มคุณค่า และในปี 1995 คณะกรรมการการบริหารงานส่วนจังหวัดนีมส์มอบหมายให้หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งนีมส์จัดการแหล่งประวัติศาสตร์และนิเวศน์ของสะพานแห่งการ์ด ในปี 1997 สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนโครงการ และให้ปรับชื่อเป็นโครงการสำคัญของ ยุโรปอันเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว (le Label Grand Projet Europ?en environmental, culturel et touristique)   ในเดือนพฤษภาคม 2000 สัญญาความร่วมมือพัฒนาแหล่งโบราณสถานสำคัญแห่งนี้ เป็นการลงนามร่วมระหว่างกระทรวงการจัดการท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม ภูมิภาคลองดอก-รูซิออง (Lanquedoc-Roussillon) องค์การบริหารท้องถิ่นการ์ด หน่วยงานรับผิดชอบสะพานแห่งการ์ด และหอการค้าและอุตสาหกรรมของนีมส์   ขั้นตอนหลักในการดำเนินงานเป็นอย่างไร   การดำเนินงานทั้งการป้องกันและการจัดการมีพื้นที่ทั้งหมด 165 เฮคเตอร์ นั่นหมายถึงแหล่งธรรมชาติของถาวรสถานมีพื้นที่อยู่ใน 3 ท้องที่ [คาสตีออง-ดู-การ์ด (Castillon-du-Gard) แวร์ส-ปง-ดู-การ์ด (Vers-Pont-du-Gard) เรอมูแลงส์ (Remulins)] และมีแม่น้ำการ์ดอง (Gardon) ไหล่ผ่าน   การจัดการดำเนินงานภายใต้แนวคิดของการพบกันครึ่งทางระหว่างการใช้พื้นที่และการปฏิบัติตัวของผู้เยี่ยมชมที่แตกต่างหลากหลายต่อแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญ หรือเรียกว่าเป็นการประสานทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม และการพักผ่อนหย่อนใจ การจัดการแนวใหม่เป็นความสอดประสานระหว่างการต้อนรับกลุ่มผู้ชมจำนวนมากและความมหัศจรรย์ของสถานที่ ความมหัศจรรย์ที่มาพร้อมกับหินผาน้ำของการ์ดอง และพรรณพืชในแถบเมดิเตอร์เรเนียน   วัตถุประสงค์พื้นฐานของการดำเนินงานคือ การป้องกันโบราณสถานและสภาพแวดล้อม ขณะเดียวกัน ยังคงให้แหล่งทำหน้าที่ต้อนรับกลุ่มคนที่เข้ามาเยี่ยมชม รวมทั้งให้ความเคารพต่อการใช้พื้นที่ของคนในท้องถิ่น และที่แน่นอนคือ กลุ่มผู้ชมจะต้องได้ "กุญแจ" ในการไขประตูไปสู่ความเข้าใจประวัติศาสตร์ของแหล่งเช่นกัน   การปรับปรุงสะพานแห่งการ์ดเพื่อกลุ่มผู้ชมดำเนินการทุกอย่างในแนวทางที่จะทำให้ภูมิทัศน์ "บริสุทธิ์" จากสิ่งที่บดบังทัศนะวิสัยของโบราณสถานและบริบทแวดล้อม ตั้งแต่ก้าวแรก ผู้เยี่ยมชมจะได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าไปในประวัติศาสตร์ของสะพาน พื้นที่โดยรอบ และท่อลำเลียงน้ำ จากจุดที่ตรึงผู้ชมไว้ชั่วขณะหนึ่ง ณ เบื้องล่างของถาวรสถาน ผู้ชมจะเพิ่มพูนความรู้ และปรารถนาที่จะเยี่ยมชมนานมากขึ้นด้วยการค้นพบสิ่งต่างๆ ที่หลากหลายออกไป   การเข้าเยี่ยมชมสะพานและธารน้ำยังคงเปิดกว้างสำหรับทุกคนอย่างที่เป็นมาในอดีต แต่จากนี้ไปชีวิตที่ถือกำเนิดขึ้นใหม่จะไม่ทำร้ายและทำลายพื้นที่ มันจะกลายเป็นสถานที่ของนักเดินสำรวจทุกคน ในทางกลับกันรอยทางของยวดยานพาหนะทุกประเภทจะต้องถูกลบออกไป ผู้ชมจะต้องจอดรถไว้ในที่ให้บริการด้านใดด้านหนึ่งของลำน้ำ จากนั้น เส้นทางที่ชัดเจนจะนำผู้คนเข้าสู่สะพาน โดยคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกต่อผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็กในรถเข็น   การจัดการแหล่งโบราณสถานและพื้นที่โดยรอบดำเนินการใน 3 จุดใหญ่ คือ พื้นที่ชีวิตชายตลิ่งของสะพานแห่งการ์ด เป็นพื้นที่ใกล้น้ำมีขนาด 43 เฮคเตอร์ ซึ่งรวมสิ่งก่อสร้างต่างๆ พื้นที่ธรรมชาติของการสำรวจร่องรอยท่อส่งน้ำ เป็นพื้นที่มีอาณาบริเวณ 72 เฮคเตอร์ และเป็นเส้นทางเดินเล็กๆ เพื่อการสำรวจ พื้นที่ธรรมชาติสงวน เป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ที่แทบจะไม่สามารถย่างกรายเข้าไปได้ และเป็นผืนดินแบบเมดิเตอร์เรเนียน ขนาด 50 เฮคเตอร์ เปรียบเสมือนกับสิ่งห่อหุ้มโบราณสถาน     โบราณสถานสะพานแห่งการ์ด พื้นที่สำหรับคนเดินสำรวจ จะเป็นสถานที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและเพื่อการสำรวจ ผู้ชมจะสามารถเข้าเยี่ยมสถานที่ได้ตามความต้องการ ตามเวลาที่เปิดทำการในแต่ละช่วงของปี เรียกได้ว่า เป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้เยี่ยมชมในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และความรุ่มรวยของมรดกวัฒนธรรมด้วยความเพลิดเพลิน   แง่มุมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของแหล่งโบราณสถานสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ พื้นที่ที่ได้รับการจัดการใหม่นี้อย่างไร   เพื่อสร้างความพอใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และสร้างสรรค์สื่อกลางทางวัฒนธรรมโดยดำเนินการอย่างเป็นวิชาการและเป็นระบบ ทีมงานที่ประกอบด้วยนักวิชาการที่หลากหลาย (นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ สถาปนิก นักประวัติศาสตร์ภูมิทัศน์ นักชาติพันธุ์วิทยา นักพืชวิทยา นักชลวิทยา) ภายใต้การควบคุมของ ฌอง-ลุค ฟิชส์ (Jean-Luc Fiches) นักโบราณคดีและผู้อำนวยการส่วนวิจัย ศูนย์วิจัยแห่งชาติ ได้กำหนดโครงการงานวัฒนธรรมที่มีชื่อว่า มนุษย์ หินผา และน้ำ ในพื้นที่เมดิเตอร์เรเนียน   โครงการดังกล่าวเกี่ยวข้องประเด็นที่ครอบคุลมและเกี่ยวเนื่องกับแหล่งโบราณสถาน สาระหลักไม่ได้สัมพันธ์เฉพาะสะพานแห่งการ์ด แต่เป็นการชลประทานโบราณของเมืองนีมส์ในบริบทสิ่งแวดล้อม และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับสะพาน สามารถแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ ดังนี้ ศิลปะของการดำเนินชีวิตชาวโรมัน การควบคุมน้ำ ประวัติของท่อส่งน้ำโบราณแห่งนีมส์ ภูมิทัศน์ของเมดิเตอร์เรเนียน     การทำงานเป็นทีมของผู้ชำนาญการข้างต้นก่อให้เกิดการผสมผสาน จนกลายเป็นงานวัฒนธรรมที่หลากหลายและพร้อมที่นำเสนอให้กับแหล่งถาวรสถานสะพานแห่งการ์ด ผู้ชมสามารถสร้างความรู้จากพื้นที่ทางวัฒนธรรม 8 แห่งในระหว่างการเยี่ยมชม นิทรรศการมัลติมีเดียเรื่อง ประวัติศาสตร์ของสะพานแห่งการ์ดและท่อส่งน้ำโรมันแห่งนีมส์ ที่จะนำผู้ชมย้อมเวลากลับไปในโลกของโรมัน หรือเมื่อ 20 ศตวรรษที่แล้ว ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอารยธรรมแห่งน้ำ ตลอดเส้นทางการเดินชมการเดินชมในพื้นที่ 2,500 ตารางเมตร และสื่อการจัดแสดงต่างๆ ที่หลากหลาย (แบบจำลองย่อส่วน วัตถุจัดแสดง ภาพปรากฏบนจอภาพหลายผืน วีดิทัศน์ บรรยากาศเสียง…) ผู้ชมจะได้เอิบอิ่มไปกับสายสัมพันธ์ระหว่างน้ำและชีวิตของชาวโรมัน ความน่าอัศจรรย์ใจในการสร้างท่อส่งน้ำแห่งนีมส์ (วัสดุและเทคนิค การช่าง และองค์ความรู้) หรือในอีกแง่หนึ่ง เป็นภาพสะท้อนของศิลปะและเทคนิคของสะพานที่ได้รับความสนใจจากผู้รู้ วิศวกร และสถาปนิก ตั้งแต่สมัยเรอเนสซอง ภาพยนตร์ที่มีความยาว 23 นาที (จัดฉายในห้องภาพยนตร์และระบบเครื่องเสียงเต็มรูปแบบ) เรื่อง ธารแห่งการ์ดอง (le Vaisseau du Gardon) เป็นเรื่องเล่า (การพบกันระหว่างหนุ่มโรมันและสาวนีมส์ในสมัยปัจจุบัน) ที่ย้อนเวลากลับไปตามสายธารแห่งประวัติศาสตร์ของสะพานแห่งการ์ดและผู้ที่สร้างสรรค์ผลงาน พื้นที่ ลูโด (Ludo) ขนาด 600 ตารางเมตร สำหรับกลุ่มผู้ชมรุ่นเยาว์ (5 -12 ปี) เป็นการนำเสนอเส้นทางสำรวจที่ประกอบด้วย 4 ประเด็น คือ ท่องเที่ยวไปในอดีต การจัดการน้ำ ค้นหาร่องรอยของอดีต และสังเกตการณ์ธรรมชาติ ด้วยการนำเสนอแบบ "ของเล่น" (เกม การสืบสวน) และการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งจัดแสดง (การจับสัมผัส การมีประสบการณ์โดยตรง) เด็กจะกลายเป็นตัวหลักของการสำรวจ ศูนย์ข้อมูล Biblio ที่เปิดบริการสำหรับทุกคน และเป็นการตรึงผู้คนให้เยี่ยมชมแหล่งโบราณสถานนานมากขึ้น เก็บรักษาและให้บริการหนังสือกว่า 600 เรื่อง และวารสารกว่า 100 ชื่อเรื่อง รวมถึงการให้บริการอินเตอร์เนตที่ได้คัดสรรเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ (พื้นที่ในเมดิเตอร์เรเนียน หินผา สะพาน ประวัติศาสตร์…)   นอกจากนี้ ยังมีการแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ งานแสดงที่สะท้อนให้เห็นคุณค่าการทำมาหากินในอดีต และเส้นทางสำรวจเพื่อความเข้าในในภูมิทัศน์เมดิเตอร์เรเนียน ความทรงจำของพื้นที่แบบเมดิเตอร์เรเนียน และในช่วงทุกเย็นค่ำของฤดูร้อน ผู้ชมสามารถชมสะพานที่ประดับแสงไฟอย่างสวยงามโดยศิลปินเจมส์ ตรูเรล (James Turrell)   หนึ่งในวัตถุประสงค์การปรับปรุงแหล่งโบราณสถานสะพานแห่งการ์ด เพื่อเป็นการต้อนรับกลุ่มเด็กเยาวชนที่มากับครอบครัว แต่ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการเป็นแหล่งเรียนรู้ของสถานศึกษาด้วย ในจุดนี้มีการเตรียมการเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายบริการการศึกษาอย่างไร   เรียนรู้ เข้าใจ สนุกสนาน ผ่อนคลาย เหล่านี้เป็นแนวคิดพื้นฐานสำหรับการทำงานของงานบริการการศึกษา (เริ่มต้นในปี 1998) สำหรับเด็กและเยาวชนของสถานศึกษาหรือในหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง ในการทำงานดังกล่าวนี้ หน่วยดำเนินการอย่างครบวงจร ทั้งการศึกษาความต้องการของกลุ่มนักเรียนและเยาวชน การคำนวณอัตราการบริการเฉพาะ การประชาสัมพันธ์ต่อหน่วยงานการศึกษาใกล้เคียง ศูนย์กิจกรรม และองค์กรที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว   การนำเสนอจะเน้นที่ความหลากหลายในบริการต่างๆ ของแหล่ง รวมทั้งเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนของการศึกษาในระบบ อันประกอบด้วยประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม โบราณคดี และอารยธรรมโรมัน ลักษณะเฉพาะของสถานที่สอดคล้องกับกิจกรรมทั้งในร่ม (พื้นที่งานวัฒนธรรม) และกิจกรรมกลางแจ้ง (พื้นที่ของการสำรวจ ขนาด 72 เฮคเตอร์) จากการจัดกิจกรรมการเยี่ยมชมแบบง่ายๆ ที่ใช้เวลาเพียงครึ่งวันหรือหนึ่งวันสู่การสร้างสรรค์กิจกรรมร่วม ผู้สอนที่มากับกลุ่มนักเรียนจะพบกิจกรรมที่มีตัวเลือกหลากหลาย (การเยี่ยมชม-การเดินสำรวจ ซึ่งอาจจะมีการทำกิจกรรมในพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กหรือไม่ก็ได้…) เพื่อทำให้การเยี่ยมชมมีความสมบูรณ์มากขึ้น   ฝ่ายบริการการศึกษาเตรียมการเยี่ยมชมเฉพาะสำหรับผู้สอนที่ต้องการจัดเตรียมเอกสารสำหรับนักเรียนในการเข้าชมสถานที่ กิจกรรม M?mento ที่จัดขึ้นสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น กิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ คือ วัฒนธรรมและมรดก กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เอกสารที่ให้กับผู้สอนที่เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วยประเด็นดังนี้ o    เด็กน้อยชาวโรมัน o    เทคนิคการก่อสร้างในสมัยโรมัน o    การช่างและอาชีพต่างๆ o    ชีวิตของชาวโรมัน   เอกสารเหล่านี้จะทำให้ผู้สอนสามารถเตรียมการเข้าชมพร้อมไปกับนักเรียน ทั้งในลักษณะของการแนะนำเบื้องต้น และจะกลายเป็นการยืดเวลาให้กลุ่มผู้ชมใช้เวลาในพื้นที่มากขึ้นเช่นกัน   หลังจากที่ได้ชมโบราณสถานและแหล่งเรียนรู้ เด็กๆ จะได้รับบันทึกช่วยจำเล่มน้อยที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับการเรียนรู้ในแต่ละวัย (ระดับเริ่มต้นสำหรับเด็กอายุ 5 - 7 ปี ระดับการสำรวจสำหรับเด็กอายุ 8 - 11 ปี ระดับเรียนรู้ลึกซึ้ง สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป) และมีเนื้อหาเฉพาะในแต่ละแบบหัวข้อการเยี่ยมชม เอกสารนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสนใจ ความอยากรู้อยากเห็น การตระหนัก ด้วยกลวิธีเชิงละเล่น และแน่นอนว่า จะเป็นเครื่องมือช่วยในการเยี่ยมชม เอกสารประกอบการทำงานและการศึกษาเพิ่มเติม   เรื่องของความคุ้มทุนในการปรับปรุงแหล่งการเรียนรู้เชิงท่องเที่ยว และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ผู้ดำเนินการโครงการได้ตระหนักหรือไม่   นอกจากมิติงานมรดกและวัฒนธรรมของโครงการ สภาการปกครองท้องถิ่นได้นำมิติเศรษฐกิจรวมเข้าไปในโครงการด้วย ความปรารถนาหนึ่งของโครงการที่ไม่ใช่เพียงเพื่อการพัฒนาในมิติงานวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคือ การพัฒนาให้สะพานแห่งการ์ดเป็นเสมือนบัตรเชิญให้ผู้คนเข้ามาสำรวจภูมิภาคและสิ่งนำเสนออื่นๆ เป็นเฉกเช่นคันฉ่องสะท้อน "ความรุ่มรวยของการ์ด" เพื่อให้เขาและเธอเหล่านั้นปรารถนาในการสำรวจแหล่งอื่นๆ ในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง   เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน พร้อมไปกับการให้ความเคารพต่อประวัติศาสตร์และสถานที่ การดำเนินงานของหอการค้าและอุตสาหกรรมของนีมส์อยู่บนพื้นฐานของการคำนึงต่อผลพวงและผลกระทบทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น การจัดการในครั้งนี้จึงเป็นโครงการที่อยู่ในกรอบของเศรษฐศาสตร์งานมรดก อันนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่สอดประสานกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องภายในท้องถิ่น ทั้งเอกชนที่จัดการการท่องเที่ยวและการพักผ่อน และชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของพื้นที่   แปลและเรียบเรียงจาก Serge Lochot. "Le grand site du Pont du Gard",la Lettre de de l’OCIM, no.81, 2002, pp. 13 - 17.  * ชีวสิทธิ บุณยเกียรติ นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

นโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในไต้หวัน

30 ตุลาคม 2557

 จุดเริ่มต้นของงานพิพิธภัณฑ์ในไต้หวันมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เกาะไต้หวันตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น(ค.ศ.1895-1945) 50 ปี ของการอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น มีพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้น 18 แห่ง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ หนึ่ง อาคารจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สอง เป็นศูนย์กลางการศึกษาหรือศูนย์สุขภาพ(health reference centre) และอื่น ๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์ตามส่วนภูมิภาค พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ หอดูดาว รัฐบาลภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่นพยายามส่งผ่านความคิดไปสู่คนไต้หวันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และกายภาพของชีวิตความเป็นอยู่ วิธีหนึ่งก็คือผ่านพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ อาทิ พิพิธภัณฑ์จวนข้าหลวงแห่งไต้หวัน(Taiwan Governor’s Mansion Museum) (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน) สังกัดสำนักงานอาณานิคม กระทรวงมหาดไทย เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการของจักรวรรดิญี่ปุ่นในการตักตวงทรัพยากรทางธรรมชาติของอาณานิคม จากมุมมองด้านนโยบายวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเครื่องมือนำเสนอสังคมและประเพณีของไต้หวัน ต่อนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น และเป็นการเผยแพร่ความคิดชาตินิยมจักรวรรดิญี่ปุ่นต่อประชาชนของ "ดินแดนจักรวรรดินิยมใหม่" กล่าวได้ว่าที่นี่เป็นแบบฉบับของ "พิพิธภัณฑ์อาณานิคม" ในไต้หวัน ปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไต้หวันกลับสู่การปกครองภายใต้สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1949 เมื่อรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองและลี้ภัยมายังไต้หวัน พรรคก๊กมินตั๋งยังคงวุ่นวายในการจัดการเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง จึงไม่มีนโยบายวัฒนธรรมอะไรที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดีมีพิพิธภัณฑ์จำนวน 10 แห่งได้รับการจัดตั้งขึ้นภายในช่วงเวลานี้ มี 3 พิพิธภัณฑ์อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน และศูนย์การศึกษาศิลปะแห่งชาติไต้หวัน แม้พิพิธภัณฑ์เหล่านี้มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี เข้าถึงง่าย และมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้แก่ประชาชนตั้งแต่ตอนนั้น และสามารถพูดได้ว่าเป็นตัวแทนผลงานของงานพิพิธภัณฑ์ไต้หวันในช่วงเวลานั้น ตั้งแต่ปี 1965 - 1979 ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออก งานวัฒนธรรมของไต้หวันยังคงไม่มีอะไรโดดเด่นมากนัก สาระสำคัญหลักในนโยบายวัฒนธรรมของไต้วันในช่วงเวลานั้นเรียกว่า "ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการวัฒนธรรมจีน" สนับสนุนโดยรัฐบาลท่านเจียงไคเช็ค ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) และรั้งตำแหน่งหัวหน้า "คณะกรรมการพื้นฟูศิลปวิทยาการวัฒนธรรมจีน" ด้วย และในเวลาเดียวกันนั้นคือในปี 1966-76 สาธารณรัฐประชาชนจีนเกิด "การปฏิวัติวัฒนธรรม" นำโดยเหมาเจ๋อตุง รัฐบาลไต้หวันจึงพยายามอ้างว่าตนเป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมจีนอย่างแท้จริง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระราชวังหลวง สัญลักษณ์ของมรดกวัฒนธรรมจีน ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1965 เพื่อเก็บสมบัติที่นำมาจากพระราชวังหลวงของจีนระหว่างการลี้ภัยทางการเมืองออกมา ที่นี่มีวัตถุกว่า 600,000 ชิ้น และได้รับการจัดลำดับให้ติด 1 ใน 5 ของพิพิธภัณฑ์สำคัญของโลก ถ้าไม่นับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระราชวังหลวงแล้ว ขนาดของพิพิธภัณฑ์ทั้ง 10 แห่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรเลย และจำนวนของพิพิธภัณฑ์บนเกาะรวมแล้วยังน้อยกว่า 50 แห่ง ในปี 1987 รัฐบาลก๊กมินตั๋งยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้มากว่า 38 ปี ด้วยการผ่อนคลายของข้อบังคับทางการเมืองและเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทศวรรษที่ 1980 จึงเป็นจุดผกผันสำคัญของงานพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน ภายใต้สังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ บรรดาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ, พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์การทะเลแห่งชาติ, และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลแห่งชาติ) ได้รับการพัฒนาภายใต้นโยบายการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่กำลังเฟื่องฟู ท่ามกลางพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่พรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และเนื้อหาการจัดแสดง จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญของช่วงเวลานี้ และในช่วงเวลานี้เอง องค์กรส่งเสริมกิจกรรมด้านวัฒนธรรมในไต้หวันได้รับการเลื่อนชั้นไปสู่ระดับชาติ โดยแยกออกจากกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 1981 คณะกรรมาธิการกิจกรรมวัฒนธรรม((Council for Cultural Affairs-CCA) จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในฐานะหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลกลาง(เทียบเท่ากระทรวงวัฒนธรรม-ผู้แปล) ภายใต้การทำงานของหน่วยงานนี้ ก่อให้เกิดการสร้างศูนย์วัฒนธรรมในหลายอำเภอ และหลายเมือง สะท้อนความสนใจของรัฐบาลกลางที่มีต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์เซรามิกอิงเก๋อ (Yingge) แห่งเมืองไทเป เป็นพิพิธภัณฑ์นำร่องที่มีห้องแสดงหัตถกรรมศิลปะท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 1981-1990 มีพิพิธภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นกว่า 50 แห่ง และจำนวนพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดบนเกาะเพิ่มขึ้นราว 90 แห่ง ตั้งแต่ปี 1990-2000 จำนวนพิพิธภัณฑ์บนเกาะไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 90 แห่ง เป็น 400 แห่ง อาจจะไม่ถูกนักที่จะสรุปว่า การเติบโตที่สูงมากขนาดนี้เป็นสิ่งที่ผิดปกติ แต่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเกิดปรากฏการณ์ใหม่คือ การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ตามภูมิภาค อันเป็นผลมาจากนโยบายต่าง ๆ ของคณะกรรมาธิการกิจการวัฒนธรรม (Council for Cultural Affairs) อาทิ "การก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับชุมชน" (Communities Infrastructure Establishment) "การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่น" (Construction of Local Cultural Museums) นโยบายเปล่านี้ขยายจากเมืองไปสู่ชนบทและเขตชุมชนเล็ก ๆ เป็นความพยายามนำเสนอสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเมือง, การนำเสนอความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์, การจัดการทรัพย์สินทางวัฒนธรรม, และการฟื้นตัวใหม่ของอุตสาหกรรมท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นและเน้นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นหรืออุตสาหกรรมท้องถิ่น ค่อย ๆ กลายเป็นกระแสหลัก เป็นการประกาศถึงการขึ้นมาของ "ยุคแห่งภูมิภาค" ในการพัฒนาของพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์เอกชนยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พิพิธภัณฑ์หลายแห่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคเอกชน เช่น พิพิธภัณฑ์ชวงเย (Shung Ye) ของชาวฟอร์มูซาน(Formusan) พิพิธภัณฑ์ไชเมื่อย (Chi Mei) พิพิธภัณฑ์ฮอนชี (Hone Shee) และShu Huo Memorial Paper แสดงถึงความก้าวหน้าและศักยภาพอันมหาศาลของพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินงานโดยเอกชน ทั้งในเรื่องของขนาดองค์กร เทคนิคการบริหารจัดการ ในปลายทศวรรษ 1990 การแปลงพิพิธภัณฑ์ให้ไปอยู่ภายใต้การบริหารของเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน แม้ว่าการเติบโตของพิพิธภัณฑ์เอกชนจะโดดเด่นอย่างมากในไม่กี่ปีมานี้ แต่พิพิธภัณฑ์ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลกลางและท้องถิ่นยังคงมีจำนวนถึง 2 ใน 3 ของพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดในไต้หวัน เนื่องจากแรงกดดันในเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งบุคคลและการดำเนินงาน ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไต้หวันยังคงอยู่ในภาพที่ยังไม่ค่อยดีนักในช่วงเวลาดังกล่าว งานบริหารงานทั่วไปโดยจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาบริหาร (contracting-out) จึงได้รับความนิยมในวงการพิพิธภัณฑ์ของไต้หวัน เริ่มด้วย Taipei’s 228 Memorial Hall จากนั้นพิพิธภัณฑ์การขนส่งสำหรับเด็กแห่งไทเป และพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป ก็ดำเนินรอยตามอย่างรวดเร็ว ส่วนพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เช่นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทางทะเล และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเป็นที่แรกที่ประสบความสำเร็จในการนำวิธีการ จ้างบริษัทภายนอกเข้ามาบริหารในส่วนของการบริการทั่วไปแก่ผู้เข้าชมและการนำ ชม ในขณะที่กลุ่มพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติทั้งหมดกำลังเตรียมที่จะนำวิธี การนี้มาใช้ การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อนในระบบการบริหารจัดการของ พิพิธภัณฑ์ในไต้หวัน ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 100 ปี เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์หลายแห่งรู้สึกถึงวิกฤตที่กำลังมาเยือน เหมือนกับคำสุภาษิตจีนที่ว่า "เมื่อลมพัดผ่านหอสูงไป ทำให้เกิดพายุใหญ่ในหุบเขา" กล่าวโดยสรุป นโยบายวัฒนธรรมในไต้หวันพัฒนาอยู่บนพื้นฐานของเงื่อนไขที่ต่างกันของสถานการณ์ทางการเมืองและสังคม ได้แก่ ช่วงตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น, ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยร่วมสมัยและกลยุธทธด้านการตลาดนำ พิพิธภัณฑ์สะท้อนนโยบายวัฒนธรรมในช่วงเวลาต่าง ๆ เริ่มจากยุคอาณานิคมของญี่ปุ่น ตามด้วยการสืบทอดทางวัฒนธรรมจีนเป็นใหญ่ มาสู่การชูวัฒนธรรมท้องถิ่นไต้หวัน และเดินเข้าสู่สังคมบริโภคนิยม ดังนั้นแนวคิดหลักของพิพิธภัณฑ์กว่า 100 ปีที่ผ่านมา พัฒนาจากวัฒนธรรม "การถอดรื้อความเป็นญี่ปุ่น" (de-Japanizing) "การถอดรื้อความเป็นจีน" (de-Chinaizing) ไปสู่ "การทำให้เป็นไต้หวัน" (Taiwanizing) และ "ความคิดเรื่องการตลาดที่มุ่งการบริโภค" แนวทางพิพิธภัณฑ์วิทยายังคงพัฒนาจากสิ่งที่เรียกว่า พิพิธภัณฑ์วิทยาวิชาชีพ (expert museology) ที่เน้นในเรื่องการอนุรักษ์ ไปสู่ พิพิธภัณฑ์วิทยามหาชน(popular museology) ที่ให้ความสำคัญกับวิถีชาวบ้าน(folklore) นอกจากนี้ในเทคโนโลยีข่าวสารและรูปแบบของสื่อใหม่ ๆ ที่พลวัตสูงมากยังคงเข้าไปสนับสนุนการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ มีพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงมากมายเกิดขึ้นในเวบไซต์ เนื่องจากอินเตอร์เนตได้รับความนิยม พิพิธภัณฑ์ไต้หวันจึงกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงเพื่อการพัฒนาทีละน้อยไปสู่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน พิพิธภัณฑ์มหาชน และพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง แปลและเรียบเรียงจาก Yui-tan Chang. "Cultural Policies and Museum Development in Taiwan." Museum International. No. 232 (Vol. 58, No.4 2006): 64-68. หาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมต่อได้ใน http://www.ntm.gov.tw/ http://english.cca.gov.tw/mp.asp http://www.nmh.gov.tw/nmh_web/english_version/index.cfm   ประวัติผู้เขียน - อุยตานชาง (Yui-tan Chang) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ศึกษา เป็นอาจารย์และประธานสถาบันบัณฑิตวิทยาลัยสาขาพิพิธภัณฑ์วิทยา และผู้อำนวยการศูนย์การแลกเปลี่ยนศิลปะนานาชาติที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติไทหนาน ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากภาควิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษา มหาวิทยาลัย Leicester(สหราชอาณาจักร) ในปี 1993 ในระหว่างปี 1996-2001 เป็นผู้ช่วยภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งเมืองไทชุง เคยสอนที่สถาบันบัณฑิตวิทยาลัย สาขาพิพิธภัณฑ์วิทยา และยังมีส่วนร่วมวางแผนโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หนาน-ยวง (Nan-Young) ในเมืองอี้หลาน และพิพิธภัณฑ์แผ่นดินไหว 921 รวมถึงอนุสรณ์สถานในเมืองอู่ฟง  

เล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายเก่า เรื่องเล่าของชาวลุ่มน้ำนครชัยศรี

07 กุมภาพันธ์ 2557

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด อ.สามพราน จ.นครปฐม  เก็บสะสมภาพถ่ายเก่าของชุมชนท่าพูดและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงไว้จำนวนหนึ่ง มีทั้งภาพขาวดำ และภาพสี เจ้าของภาพบางคนเสียชีวิตแล้ว ลูกหลานจึงนำภาพมามอบให้พิพิธภัณฑ์ เจ้าของภาพบางรายยังมีชีวิตอยู่แต่อยากมอบภาพให้กับพิพิธภัณฑ์เก็บรักษา  ภาพเก่าชุดนี้ถูกเก็บรักษามาระยะหนึ่ง และเคยนำจัดแสดงให้ผู้ชมดูบ้างแล้วเมื่อ พ.ศ. 2549  ในนิทรรศการ “เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก” งานบุญประจำปีวัดท่าพูด ซึ่งได้รับความสนใจจากคนในชุมชนและคนที่มาเที่ยวชมงานเป็นอย่างมาก ...ใครเป็นใครในภาพ ฉันรู้จักคนโน้น คนนี้ คนนี้ยังอยู่ คนนี้ตายแล้ว  ที่ตรงนี้คือ  อันนี้ยังอยู่ อันนี้ย้ายไปแล้ว รื้อไปแล้ว...  เพียงภาพไม่กี่ภาพ แต่มีผลทำให้เกิดประเด็นการสนทนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นชีวิตผู้คน ประวัติศาสตร์ และความเปลี่ยนแปลงของคนและพื้นที่ในแถบนี้   ดังนั้น ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ในฐานะที่คุ้นเคยและทำงานร่วมกันมาหลายปี จึงร่วมกันหาเรื่องเล่าจากภาพ เพื่อให้ภาพถ่ายเก่าของพิพิธภัณฑ์ได้ทำหน้าที่ในการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน   และจัดกิจกรรม “เล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายเก่า เรื่องเล่าของชาวลุ่มน้ำ (นครชัยศรี)”  เพื่อรวบรวมและบันทึกเรื่องราวของชุมชนลุ่มน้ำนครชัยศรี โดยใช้ภาพถ่ายเก่าของชุมชน เป็นสื่อในการเล่าเรื่อง  เปิดตัว นิทรรศการภาพถ่ายเก่า เปิดตัวภาพถ่ายครั้งแรก ด้วยนิทรรศการภาพเก่า ที่เป็นภาพงานรื่นเริง เช่น ภาพการแสดง วงดนตรี ขบวนแห่  งานบวช  การเชิดสิงโต  แฟชั่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย  เพราะทีมงาน ได้แก่นักวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของศูนย์ฯ และผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด คือคุณมานะ เถียรทวี และคุณวิรัตน์ น้อยประชา คิดว่าเป็นเรื่องที่คนในชุมชนน่าจะสนใจ  โดยเลือกวันสำหรับจัดงานที่มีคนมาทำบุญที่วัดมากที่สุด  เช่น วิสาขบูชา มาฆบูชา และเทศกาลต่างๆ   การเปิดตัวครั้งแรกของนิทรรศการภาพถ่ายเก่า คือ เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีคนมาวัดท่าพูดมากที่สุดช่วงหนึ่ง จึงเป็นโอกาสที่คนจะได้มาดู มาเห็นนิทรรศการชุดนี้ด้วย เมื่อเลือกภาพจากภาพ ภายใต้แนวคิดว่า เป็นภาพที่สอดคล้องกับงานสงกรานต์ คือ งานบุญ งานรื่นเริง แล้ว จึงอัดขยายภาพเป็นขนาด 8 × 12นิ้ว   เพื่อให้เห็นรายละเอียดภาพชัดเจนขึ้น  ภาพบางภาพ คุณมานะและคุณวิรัตน์ หาข้อมูลไว้บ้างแล้ว โดยพริ้นท์ภาพลงในกระดาษ เอ 4 แล้วเขียนชื่อไว้ว่าใครเป็นใครในภาพ  ทีมงานจึงแสกนภาพและระบุข้อมูลดังกล่าว แล้วติดภาพลงบนแผ่นฟิวเจอร์บอร์ด โดยติดคู่ไปกับภาพที่อัดขยายมา เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นของภาพนั้นๆ  เป็นการตรวจเช็คข้อมูล และกระตุ้นให้คนดูเข้ามาดู อ่าน และเขียนข้อมูลที่อาจจะรู้เพิ่มเติม  หลังจากนั้นนำชุดนิทรรศการติดลงบนนิทรรศการจำนวน 2 บอร์ด แล้วตั้งนิทรรศการไว้ในเต็นท์ ซึ่งมีกิจกรรมหลากหลายที่ทางวัดจัดไว้ ทั้งการทำบุญพระประจำวันเกิด การก่อเจดีย์ทราย และเวทีรำวงต้อนยุค  นิทรรศการตั้งแสดงตั้งแต่วันที่ 10 – 17เมษายน  เพื่อเปิดโอกาสให้คนผ่านไปผ่านมาได้เห็น นิทรรศการภาพถ่ายบริเวณลานบุญวัดท่าพูด ในวันที่ 17เมษายน มีงานสรงน้ำพระที่วัดท่าพูด ทีมงานลงเก็บข้อมูลเบื้องต้น คนมาร่วมงานสนใจภาพเก่าพอสมควร มีการเติมชื่อคนที่รู้จักในภาพ  ซึ่งทีมงานจะสอบถามข้อมูลเบื้องต้นของคนในภาพ เพื่อจะได้ติดตามต่อในภายหลัง บางรายขออัดภาพที่มีรูปพ่อของตัวเองตอนสมัยยังหนุ่ม เพราะไม่เคยเห็นและไม่มีเก็บไว้ เช่น ภาพของคุณช้ง(ถาวร  งามสามพราน)  ที่ลูกสาวมาขออัดรูป และเล่าว่าพ่อเป็นช่างทำสิงโตของคณะสิงโตท่าเกวียน  ตอนนี้พ่ออายุประมาณ 90 ปีแล้ว และย้ายไปอยู่ที่บางเลน  หลายคนตื่นเต้นที่เห็นตัวเองอยู่ในภาพและไม่เคยเห็นภาพของตัวเองมาก่อนเลย เช่น คุณหมอแน่งน้อย ลิมังกูร ที่มาร่วมรำวงย้อนยุคและได้มาเห็นภาพถ่ายของตัวเองเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ได้ไปร่วมงานบวชของญาติ  บางคนเกิดความสนใจในวิธีการทำงานของทีมงานก็ให้ภาพมาเพิ่มเติม ซึ่งทีมงานขอยืมภาพไปแสกน พร้อมกับนัดวันเวลาที่จะเข้าไปเก็บข้อมูลภายหลัง หลังจากนั้นทีมงานลงเก็บข้อมูลหลายครั้ง แต่ละครั้งจะได้ข้อมูลมาเติมภาพเสมอ ทั้งใครเป็นใครในภาพ เราจะไปถามใครต่อ  รวมถึงประเด็นที่น่าสนใจ    จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล 5-6 ครั้ง เริ่มเห็นประเด็นใหญ่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องสิงโตท่าเกวียนและตลาดท่าเกวียน ตลาดท่าเกวียนเมื่อประมาณ 70ปีทีแล้ว ที่มาภาพ: พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จ.นครปฐม “ย้อนเวลาหา ... ตลาดท่าเกวียน และสิงโตท่าเกวียน”  หลังจากทีมงาน ได้เข้าไปสืบค้นเรื่องราวของภาพเก่าชุมชนท่าพูดเป็นระยะตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2556   และมีโอกาสได้พบและพูดคุยทั้งกับเจ้าของภาพถ่าย  คนที่อยู่ในภาพ คนที่รู้จักคนในภาพ คนเหล่านี้ยังจำเรื่องราว เหตุการณ์ในภาพได้อย่างดี  ปัจจุบันผู้คนบางส่วนโยกย้ายไปอาศัยอยู่ที่อื่นๆ ทำให้ไม่มีโอกาสได้มาร่วมคุยกันบ่อยนัก  ทีมงานจึงจัดเวทีเล่าเรื่องภาพเก่าขึ้น เพื่อให้คนในชุมชนที่เคยมีประสบการณ์-ความทรงจำในภาพและเรื่องราวของชุมชน มาร่วมกันรื้อฟื้นความทรงจำ เล่าเรื่องราวโดยใช้ภาพถ่ายเก่าเป็นสื่อ โดยจะจัดเวทีเป็นระยะ ซึ่งเวทีแต่ละครั้งจะมีประเด็นของเรื่องต่างกัน ครั้งนี้ จัดเวทีเล่าเรื่อง “ย้อนเวลาหา ... ตลาดท่าเกวียน และสิงโตท่าเกวียน”  เพราะได้รับฟังคำบอกเล่าจากชาวชุมชนมาว่าตลาดท่าเกวียนในอดีต ถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของคนในแถบนี้ เป็นตลาดใหญ่ที่คึกคักและมีชีวิตชีวา  มีความสำคัญและความสัมพันธ์กับชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง แต่ปัจจุบันตลาดท่าเกวียนไม่มีอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องราวของตลาดท่าเกวียนจึงเหลือแค่ความทรงจำของคนในวัย 40-50 ปีขึ้นไป   ตลาดท่าเกวียนเจ้าของเดิมคือนายจำปี สร้อยทองกับนางเลื่อน  สร้อยทอง สร้างห้องแถวให้คนมาเช่าขายของ  แต่สร้างขึ้นเมื่อไหร่ยังไม่รู้แน่ชัด คุณยายประทุม สร้อยทอง ปัจจุบันอายุ 78 ปี ลูกสาวของนายจำปีเจ้าของตลาดเล่าว่าเดิมที่ดินเป็นของแม่เลื่อน เตี่ยของแม่เลื่อนเป็นหลงจู๊ค้าข้าว มีที่ดินเยอะและยกที่แถบนี้ให้กับแม่เลื่อน ต่อมานายจำปี(เป็นคนบางเตย) แต่งงานกับแม่เลื่อน และได้สร้างเป็นตลาดขึ้น  ตอนเป็นเด็กตอนจำความได้ ก็เห็นว่ามีตลาดแล้ว เมื่อก่อนตลาดท่าเกวียนเจริญมาก มากกว่าดอนหวาย ใครๆ ก็มาตลาดท่าเกวียน เป็นตลาดใหญ่ มีเกวียนข้าวมาลง “สมัยก่อนจะมีเกวียนลากข้าวมาขายให้คนจีนในตลาด และซื้อของจากตลาดกลับไป ไม่มีใครเคยเห็นสมัยที่มีเกวียนลากข้าวมาขาย แต่รู้ว่าท่าจอดเกวียนอยู่ตรงไหน” (เทียนบุ๊น พัฒนานุชาติ) “ ลักษณะตลาดท่าเกวียนเป็นห้องแถวสองข้าง ติดริมแม่น้ำ น้ำเข้าใต้ถุนได้ มีหลังคาคลุม คนเดินตลาดจะไม่เปียกฝน ในตลาดมีร้านขายยา 2 ร้าน ร้านห้างทอง 2 ร้าน ร้านทองร้านหนึ่งอยู่ติดกับบ้านแม่ทองดี” (ประทุม สร้อยทองและแน่งน้อย ลิมังกูร) ผังตลาดท่าเกวียนจากความทรงจำของชาวตลาดท่าเกวียน ตัวอาคารห้องแถวตลาดเป็นไม้ หลังคามุงสังกะสี สร้างขนาบ 2 ข้างทางเดินที่ขึ้นมาจากท่าน้ำ ระหว่างทางเดินจะมีหลังคาสังกะสีคลุมตลอด พื้นเป็นดินอัดแน่น มีร่องน้ำเล็กๆ ขนาบทางเดิน  ร้านค้าในตลาดได้แก่ (จากท่าน้ำ) ..ฝั่งขวามือ บ้านตาจำปีเจ้าของตลาด  ร้านทำทองของนายเสถียร  กรุงกาญจนา ห้องเช่าของนายเลี้ยง (เช่าเป็นห้องพักแต่ไปขายก๋วยเตี๋ยวที่วัดท่าพูด) ร้านขายของชำของตาง้วน นอกจากนี้ขายเสื้อผ้าและปล่อยเงินกู้ ร้านขายยาสมุนไพรไทยของยายทองดี ร้านขายน้ำมันเรือ น้ำมันก๊าด น้ำมันตะเกียงของนายหอย  ร้านตัดเสื้อของตากือ  ร้านขายก๋วยเตี๋ยวและกาแฟของนายเฮี้ยง แซ่เอี๊ยว ร้านขายของชำของตาเส็ง และขายหมากแห้ง   ร้านขายของชำและผ้าของน้าวาด  ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ของลูกนายเทียนสื่อ… ฝั่งซ้ายมือ..บ้านใหญ่ของนายเปี๊ยะค้าข้าว ร้านขายผ้าดำ และเย็บเสื้อในของยายกวย ร้านหมอสมพงษ์  ร้านขายของชำและยาไทยของหมอหนอม นางเหรียญ สร้อยทอง พี่ชายนายจำปี ขายสมุนไพร.....ร้านตัดเสื้อกางเกงของเจ๊เปี้ยงตาเจิม ... ร้านตัดผมของตาบุญธรรมยายกลุ่ม ยุ้งข้าวของนายหอย (เปิดเป็นร้านเย็บเสื้อผ้า  เลี้ยงหมู  และนายหอยยังเป็นเถ้าแก่ไปตวงข้าวด้วย)  ยุ้งข้าวของตายิ้ม ยุ้งข้าวของตาเอี๊ยง ร้านขายของจากเมืองจีน และรับสีข้าวของเจ๊กโต  ยายปทุมเล่าว่า ตอนเป็นเด็กชอบไปขโมยขนมเกี้ยมซันจาของร้านเจ๊กโตกิน   ร้านโอตือ เลี้ยงหมู และหาปลามาขายด้วยเรือผีหลอก ร้านขายก๋วยเตี๋ยวของเจ๊กมุ้ย บ้านเจ๊กจง(หาบของไปขายตามทุ่งนา) ริมน้ำมีคนมาเช่าที่ทำโรงสี เรียกกันว่าโรงสีตาเซี้ยงบ้านแป๊ะตีเหล็ก ..... คลีนิกหมอสมพงษ์ บริเวณหน้าตลาด(ริมแม่น้ำนครชัยศรี) เปิดทำการเมื่อประมาณ พ.ศ.2520     ที่มาภาพ : พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จ.นครปฐม ความคึกคักของตลาดท่าเกวียน นอกจากจะแป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยสินค้าบริโภค อุปโภคแล้ว ยังเป็นจุดสำคัญของการคมนาคม เพราะมีท่าเรือโดยสารของบริษัทสุพรรณขนส่ง เป็นเรือ 2 ชั้น  รับส่งผู้คนตั้งแต่จังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร กรุงเทพ ฯ แน่งน้อย ลิมังกูรเล่าว่า “เรือสุพรรณ มี 2 ชั้น เป็นเรือเมล์โดยสาร บางทีก็เรียกเรือไฟ เรือไอ เรือจะทาสีแดงและมีชื่อเรือ เช่น เรือศรีประจัน เรือขุนช้าง เรือขุนแผน”  “...เรือมาเป็นเวลา  เช้าวิ่งจากสุพรรณลงไปสมุทรสาคร เย็นจากสมุทรสาครขึ้นมาสุพรรณ ขากลับจะมีสินค้ามาขาย  ที่ได้กินบ่อยคือปลาทู  แม่จะเลี้ยงลูกด้วยปลาทูต้ม...”  ประทุม สร้อยทอง กล่าว ตลาดท่าเกวียนจึงคึกคักไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอยและมารอเรือโดยสาร คุณประทุมและคุณเทียนบุ๊น ย้อนให้เห็นบรรยากาศตลาดท่าเกวียนเมื่อหลายสิบปีก่อนด้วยใบหน้าที่มีรอยยิ้ม  “ตาดวง ตายู้ ตาเอิ๊ก ชอบมานอนอยู่หน้าเรือนนายจำปีที่อยู่ติดริมแม่น้ำ หน้าเรือนของนายจำปีเป็นลานกว้าง มีหลังคาคลุม เด็กๆ ชอบมานั่งเล่นตอนกลางวัน ส่วนคนโตชอบมาสังสรรค์ตอนกลางคืน หน้าเรือนลมเย็นมาก”   คุณเทียนบุ๊นเล่าว่า  “สมัยยังหนุ่ม ชอบไปนอนถอนขนจั๊กแร้กันที่หน้าเรือนนายจำปี และเอาแผ่นกอเอี๊ยะไปแปะด้วย...”   นอกจากนี้ยังเป็นที่พบปะของคนหนุ่มสาวเพราะเป็นที่ร่ำรือกันว่าสาวๆท่าเกวียนสวยและหน้าตาดี จึงมักมีคนมาขอแรงให้ไปช่วยงานต่างๆ เสมอ ทั้งงานประจำปีวัดไร่ขิง อุ้มเทียนในงานบวช...  “แต่ก่อนเวลาใครจะมาดูสาว ต้องมาที่ตลาดท่าเกวียน คนชอบมาดูสาวๆ ขายของ โดยเฉพาะช่วงงานประจำปีวัดไร่ขิง กลางเดือน 5 คนจะมารอเรือไปวัดไร่ขิง หนุ่มๆ ที่จะมาเที่ยวงานวัดไร่ขิง  ก็จะไปดูสาวๆ ซึ่งเป็นสาวจากตลาดท่าเกวียนที่ผลัดเปลี่ยนกันไปขายทอง ขายดอกไม้ไหว้พระ .." (นงเยาว์ สร้อยทอง) ภายในตลาดมีศาลเจ้า เรียกว่าศาลอากง เป็นที่นับถือของคนในตลาด  เมื่อถึงช่วงตรุษจีน เจ้าของตลาดจะทำบุญตลาดในช่วงนี้จะนำเป็ดไก่มาไหว้ ตอนกลางวันจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ คนห้องแถวนำข้าวปลาอาหาร ขนม (ขนมแปะก้วย แตงโม(ที่แข่งกันแต่ละบ้านในเรื่องความใหญ่) และจ้างละครชาตรีและงิ้วเล็ก มาเล่นกลางตลาด เวจ สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้สำหรับที่ทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ในตลาดแห่งนี้ คือห้องส้วม หรือที่ชาวตลาดท่าเกวียนเรียกกันว่าเวจขี้ เป็นสถานที่ที่กล่าวถึงแล้วหลายคนทำจมูกย่น เหมือนกับย้อนได้กลิ่นและเห็นภาพแต่หนหลัง ส้วมของตลาดท่าเกวียนตั้งอยู่ท้ายตลาด เป็นส้วมรวมที่ทุกบ้านในตลาดจะต้องมาใช้ถ่ายของหนักของเบา เพราะในห้องแถวไม่มีส้วม ส่วนห้องน้ำที่จะใช้อาบน้ำชำระร่างกายนั้น ชาวตลาดอาศัยอาบในแม่น้ำตรงท่าน้ำหน้าบ้าน เวจขี้ตลาดท่าเกวียน เป็นอาคารปลูกสร้างด้วยไม้ ยกพื้นสูงประมาณ 2 เมตร ด้านบนมีหลังคา ด้านล่างเปิดโล่ง ห้องส้วมมีสองข้าง ด้านหนึ่งเป็นของผู้หญิงอีกด้านเป็นส้วมชาย แต่ละด้านมีส้วม  4 ห้อง มีฝากั้นแต่ละห้อง แต่มักมีคนเอาตะปูเจาะข้างฝาเพื่อแอบดูกัน เวลาคนขี้ที่เวจจะมีหมูมากินขี้ บางคนก็ขี้ไปโดนหูหมู หมูจะสลัดขี้มาโดนคน บางคนจึงเอาไม้ยาวๆ เข้าเวจด้วย เพื่อใช้ไล่หมู ส่วนอุปกรณ์เช็ดก้น คือ กาบมะพร้าวที่ตัดเป็นชิ้น แต่ละบ้านจะตัดกาบมะพร้าวสำหรับเช็ดก้นใส่กระบอกเก็บไว้ เวลาใช้ก็หยิบไปใช้ได้เลย บางคนก็ใช้ใบสะแกเช็ดก้น บางคนก็ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ เมื่อกระดาษหนังสือพิมพ์เช็ดก้นแห้งจะปลิวออกมา ตาหน่ำเซ้งจะคอยเก็บกระดาษไปเผา เพราะเห็นว่าหนังสือเป็นของสูง ไม่ควรนำมาใช้เช็ดก้น นายหน่ำเซ้งชอบอ่านหนังสือมาก หลายคนบอกว่าในเวจขี้ ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่เฉอะแฉะ เพราะหมูกินขี้จนหมด หมูที่กินขี้จะเป็นหมูเล็ก(ลูกหมู) พอหมูอายุรุ่นๆ คนเลี้ยงก็จะผูกไว้ จึงไม่ต้องกังวลว่าเนื้อหมูจะเปื้อนขี้  คุณเทียนบุ๊นเล่าเรื่องให้ฟังอย่างเห็นภาพและแทบจะได้กลิ่นกันเลยทีเดียว เวจขี้เลิกใช้ในสมัยกำนันสมควร (กำนันเหงี่ยม) เพราะกำนันสมควรให้สร้างส้วมในบ้านแทน แต่พอสร้างส้วมในบ้านก็ลำบาก เพราะบ้านมีเนื้อที่ไม่มาก และไม่มีถังเก็บขนาดใหญ่ เวลาส้วมเต็มก็ต้องเปิดถังและตักขี้ไปทิ้งแม่น้ำ เพราะไม่รู้จะไปทิ้งที่ไหน เวลาตักขี้ไปทิ้งจะส่งกลิ่นเหม็นทั่วตลาด เมื่อสร้างส้วมในบ้าน เวจขี้ที่ตลาดก็ปล่อยเป็นที่ว่าง มีต้นมะขามเทศและต้นไม้อื่นๆ ขึ้น  ด้านหลังวัดท่าพูดก็เป็นเวจขี้เหมือนกัน แต่สร้างมิดชิด เป็นป่ารกทึบ น่ากลัว และเดินไปยากกว่าเวจขี้ที่ตลาดท่าเกวียน ปัจจุบันที่ตั้งเวจขี้วัดท่าพูดกลายเป็นพื้นที่สร้างสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบลไร่ขิง  (จุไรรัตน์,  2556)  คณะสิงโตท่าเกวียน นอกจากตัวตลาด และผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอยแล้ว ความมีชีวิตชีวาของตลาดท่าเกวียนที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ คณะสิงโตท่าเกวียน ตามปกติสิงโตจะเล่นในช่วงตรุษจีน คณะสิงโตจะแห่ไปในตลาดตามบ้าน เพื่ออวยพรในเทศกาลปีใหม่ของคนจีน  “พอเขาเห็นสิงโตมาที่บ้านเขาจะดีใจ เราก็จะอวยพรให้ บางทีก็ให้ส้มกับเจ้าของบ้านเพื่ออวยพรให้โชคดีปีใหม่ แล้วเจ้าของบ้านก็จะให้อั่งเปามา คณะก็จะเอาอั่งเปาไปมอบให้โรงเรียนบ้าง เก็บไว้ใช้จ่ายบ้าง ก่อนตรุษจีน คณะสิงโตก็จะมาซ้อมกัน ใช้พื้นที่ทุ่งนากว้างๆ ตอนนั้นเขาเกี่ยวข้าวกันหมดแล้ว ตอนเย็นๆ อากาศดี ก็ไปซ้อมกัน ซ้อมทุกเย็นกลางทุ่งนา  ...” คุณช้ง เล่าถึงคณะสิงโตท่าเกวียนในอดีต คณะสิงโตท่าเกวียน นอกจากจะเล่นช่วงตรุษจีนแล้ว การเชิดสิงโตยังรับเล่นในงานบวชเพราะในขบวนแห่นาคที่มีสิงโต จะคึกคักมาก ทำให้งานสนุก เด็กๆ ชอบมาก  เจ้าภาพจะมาขอแรงให้คณะสิงโตไปช่วยงาน  คนในคณะก็จะช่วยงานทุกอย่างนอกเหนือจากการเชิดสิงโต เช่นยกอาหาร จัดเตรียมสถานที่   บางทีคณะก็จะขอของตอบแทนจากเจ้าภาพเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เอาไปมอบให้โรงเรียน บางทีก็จะขอเป็นเสื้อสีขาว กลอง รองเท้า สำหรับใช้ในการเล่นสิงโต และในช่วงหลังมีการเชิดสิงโตเพื่อเรี่ยไรเงินไปซื้อกระเบื้องปูรอบโบสถ์วัดท่าพูด ระยะหลังตลาดท่าเกวียนรวมทั้งดอนหวายก็เริ่มซบเซา ช่วงหลัง พ.ศ. 2510 เรือของบริษัทสุพรรณขนส่งเลิกกิจการไปแล้ว เพราะมีการตัดถนนสายมาลัยแมนทำให้การเดินทางด้วยเรือระหว่างสุพรรณ-นครปฐม-กรุงเทพฯ สะดวกรวดเร็วขึ้น  คนจึงหันไปเดินทางด้วยรถมากขึ้น ท่าเรือที่ตลาดท่าเกวียนจึงปิดลง ส่วนในชุมชนก็เริ่มมีถนน ถนนสายแรกในชุมชนคือถนนสายไร่ขิงประชาร่วมใจตัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2517-2518 และมีการตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกหลายสายเพื่อเชื่อมต่อกับถนนเพชรเกษม  หลังจากนั้นจึงเริ่มมีรถจักรยาน มอเตอร์ไซค์ ใช้เป็นยวดยานพาหนะในการเดินทางแทนเรือมากขึ้น การเดินทางออกไปภายนอกสะดวกรวดเร็วขึ้น   และคนในตลาดก็เริ่มย้ายไปอยู่ที่อื่นๆ พอคนย้ายไป นายจำปีซึ่งอายุมากแล้วก็แบ่งที่ดินให้ลูกหลาน เลิกทำตลาดและรื้อตลาดในที่สุด นอกจากเรื่องเล่าของตลาดจากความทรงจำแล้ว ทีมงานและชาวชุมชนยังได้ช่วยกันทำผังตลาดอย่างง่ายๆ  จากคำบอกเล่า ซึ่งนอกจากจะทำให้รู้ว่ารูปร่างหน้าตาของตลาดท่าเกวียนในอดีตเป็นอย่างไร ใครเป็นใครบ้างในตลาด มีร้านค้าอะไรอยู่ตรงไหน ใครบ้างที่เข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับตลาด เช่น คนมาซื้อของ คนมาลงเรือ ฯลฯ    ความสัมพันธ์ของคนในตลาด สถานที่ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของชุมชอยู่ที่ใดบ้าง เช่น ท่าเรือ ระเบียงบ้านนายจำปี ศาลเจ้า เวจขี้ ลานซ้อมสิงโต ท่าน้ำ ฯลฯ แล้ว  ที่สำคัญการทำผังตลาดยังเป็นการช่วยสร้างบรรยากาศของการช่วยกันคิด ช่วยกันให้ข้อมูล และเห็นถึงความผูกพันของคนกับพื้นที่ ประสบการณ์ที่มีร่วมกัน ความเป็นเพื่อน ชีวิตในวัยเยาว์ และนำไปสู่การพบปะเยี่ยมเยือนกัน บริเวณที่เคยเป็นห้องแถวตลาดท่าเกวียน ปัจจุบันเป็นห้องแถวสร้างใหม่ ภาพโดยธัญลักษณ์ ศรีสง่า ถ่ายเมื่อ 28 สิงหาคม 2555 เรือนของนายจำปี สร้อยทอง อาคารเดิมที่เหลือเพียงหลังเดียวของตลาดและพังทลายลงมา เนื่องจากพายุฝนเมื่อ พ.ศ.2556 ปัจจุบันจึงไมม่มีอยู่แล้ว ภาพโดยธัญลักษณ์ ศรีสง่า ถ่ายเมื่อ 28 สิงหาคม 2555 การนำภาพเก่ามาเป็นสื่อในการเล่าเรื่อง จึงไม่ได้เพียงก่อให้เกิดเรื่องเล่าที่น่าสนใจของชุมชน แต่ยังช่วยย้อนอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนในชุมชน  และที่สำคัญคือเกิดพลังในการฟื้นความสัมพันธ์ของผู้คน  สร้างความรู้สึกเป็นคนบ้านเดียวกันของคนในชุมชนที่มีประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งก่อให้เกิดพลังความคิดในการผลักดันให้เกิดความสนใจและเห็นความสำคัญในการศึกษา การบันทึก และการถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนมากขึ้น ตอนนี้ขอชวนทุกท่านนั่งหลับตาจินตนาการถึงตลาดท่าเกวียน ที่คึกคักไปด้วยผู้คน ทั้งคนที่มาค้าขาย จับจ่าย แม่ค้าสาวสวยนั่งหน้าร้าน ท่าเรือที่มีผู้โดยสารคอยขึ้นเรือนั่งๆ นอนๆ พูดคุย มีเรือมาเทียบท่าเป็นระยะ แต่ยังจินตนาการไปไม่ถึงตอนที่เกวียนเข้ามาเพราะไม่มีใครเกิดทัน  เสียงเครื่องยนต์เรือ เสียงทักทาย เสียงพูดคุย เสียงตีเหล็ก เสียงซ้อมของคณะเชิดสิงโต เสียงชวนกันไปส้วม ลูกหมูวิ่งกรูกันไปใต้เวจขี้ ........................ เอกสารอ้างอิง   จุไรรัตน์ ปิยะวัชร์.  บันทึกสรุปการเสวนา “ย้อนเวลา...ตลาดท่าเกวียนและสิงโตท่าเกวียน” . เวทีเล่าเรื่อง ผ่านภาพถ่ายเก่า เรื่องเล่าของชาวลุ่มน้ำ(นครชัยศรี) วันที่ 12 มิถุนายน 2556.   นวลพรรณ บุญธรรม. บันทึกสรุปการเสวนา “เล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายเก่า เรื่องเล่าของชาวลุ่มน้ำ (นครชัยศรี)". โครงการอบรม/สร้างเวที เพื่อสร้างพลังชุมชนท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พ.ศ.2556 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)  ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด  อำเภอสามพราน  จังหวัดนครปฐม.   สัมภาษณ์ ถาวร งามสามพราน นงเยาว์  สร้อยทอง ปทุม สร้อยทอง แน่งน้อย ลิมังกูร เทียนบุ๊น พัฒนานุชาติ วีรศักดิ์  เพ่งศรี เรืองทิพย์  จันทิสา ธนศักดิ์  พัฒนานุชาติ มานะ  เถียรทวี วิรัตน์ น้อยประชา สมพิศ นิ่มประยูร

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านริมแม่น้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลก: จากของเก่า-ของโบราณสู่การบูรณาการองค์ความรู้เพื่อชุมชน

22 มีนาคม 2556

แม่ น้ำน่านเป็นแม่น้ำสาขาสายสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในเขตจังหวัดน่าน แล้วไหลผ่านจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และไหลมาบรรจบกับแม่น้ำยมและแม่น้ำปิงที่จังหวัดนครสวรรค์จนกลายแม่น้ำเจ้า พระยา สองฝั่งแม่น้ำน่านช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดพิษณุโลกเต็มไปด้วยเรื่องราวทางด้าน ประวัติศาสตร์ การตั้งถิ่นฐาน เศรษฐกิจ ความเชื่อและวัฒนธรรมที่น่าสนใจซ่อนอยู่มากมายอย่างที่เราไม่เคยทราบมาก่อน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้อมูลเบื้องต้นหรือข้อมูลพื้นฐานที่ชุมชนสามารถนำ มาบูรณาการหรือประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์และคุณค่าได้ ตลอด ความยาวกว่า 130 กิโลเมตรที่แม่น้ำน่านในเขตจังหวัดพิษณุโลก พบว่ามีหลายชุมชนที่มีการสร้างสรรค์วัฒนธรรมหรือนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมา ประยุกต์ใช้และสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีตมาจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน การนำเรือเอี่ยมจุ๊นที่เลิกใช้แล้วขึ้นบกมาทำเป็นห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ ของชุมชน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดทางด้านการอนุรักษ์และ บูรณาการองค์ความรู้ท้องถิ่นของผู้คนริมฝั่งแม่น้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลกได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนจึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่มีอยู่ริมฝั่งแม่ น้ำน่านในปัจจุบัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการบูรณาการวัฒนธรรมริมน้ำเพื่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุด นอกเหนือจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พิพิธภัณฑ์เมืองพิษณุโลก ที่ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนวังจันทน์)และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี ซึ่ง รวบรวมโบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ของชาวพิษณุโลกในอดีตมาจัดแสดงแล้ว ในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำน่านยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่ชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน สร้างสรรค์ขึ้นอีกหลายแห่ง ล้วนแล้วแต่มีสิ่งของที่น่าสนใจไม่แพ้พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่เลยทีเดียว 1. พิพิธภัณฑ์วัดท่าตะเคียน ตั้ง อยู่ภายในวิหารหลวงพ่อทองสุข วัดท่าตะเคียน ตำบลจอมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก วัดท่าตะเคียนเป็นวัดโบราณแต่ไม่ปรากฏร่องรอยโบราณสถานแล้ว เนื่องจากว่ามีการสร้างโบสถ์หลังใหม่ทับ แต่ยังปรากฏใบเสมาหินชนวนศิลปะอยุธยาตอนกลางหลายใบปักอยู่รอบโบสถ์ วัดนี้ยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นเก่าแก่อยู่ในวิหารชื่อว่าหลวงพ่อทองสุข ภายในวิหารนี้ยังถูกจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นด้วยภายในวิหารมีการจัดแสดง พระพุทธรูปโบราณศิลปะพื้นบ้าน เครื่องถ้วยลายคราม ตู้พระธรรมลายรดน้ำ คัมภีร์ใบลาน สมุดข่อยและผ้าห่อคัมภีร์ ซึ่งเป็นฝีมือของชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งถิ่นฐานในสมัยรัชกาลที่ 3 2. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางทราย ตั้ง อยู่ในวัดบางทราย ตำบลวังน้ำคู้ อำเภอเมืองพิษณุโลก บ้านบางทรายเป็นชุมชนโบราณเก่าแก่ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีว่า เป็นที่ตั้งทัพริมแม่น้ำน่านแห่งหนึ่งของพระเจ้ากรุงธนบุรีคราวศึกอะแซหวุ่น กี้ พ.ศ.2318 ภายในวัดบางทรายยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นเก่าแก่เหลืออยู่เป็นหลัก ฐาน ในอดีตเคยมีใบเสมาเก่าและเครื่องสังคโลกจำนวนมากแต่ถูกโจรกรรมไป ต่อมาจึงได้มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางทรายขึ้นเพื่อเก็บรักษาข้าว ของเครื่องใช้ที่เหลืออยู่โดยได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลบ้านใหม่เมื่อ ปี พ.ศ.2548 เป็นอาคารเรือนไทยสามหลังติดกัน ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่วัดเก็บรักษาไว้ เช่น เครื่องถ้วย พระพุทธรูป ตาลปัตร ถ้วยรางวัลที่ทางวัดได้รับในการแข่งเรือยาวประเพณี 3. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสว่างอารมณ์ ตั้ง อยู่ในวัดสว่างอารมณ์ ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก วัดสว่างอารมณ์เป็นวัดโบราณมีการพบซากโบสถ์ซึ่งเป็นโบราณสถานสมัยอยุธยาตอน ต้น ขณะนี้กำลังได้รับการบูรณะโดยชาวบ้านซึ่งมีการดัดแปลงเพื่อให้ใช้ประโยชน์ ได้ รอบโบสถ์มีใบเสมาหินทรายสมัยอยุธยาปักอยู่หลายใบ ภายในวัดมีการจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตามโครงการศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชนของกระทรวงวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเป็นอาคารสองชั้น ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของชาวบ้านในอดีตและ โบราณวัตถุที่วัดเก็บรักษาไว้ นอกจากนี้ยังมีอาคารจัดแสดงด้านนอกที่จำลองวิธีการทำนาและการเดินทางในอดีต ด้วย 4. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกำแพงมณี ตั้ง อยู่บนศาลาการเปรียญหลังเก่า วัดกำแพงมณี (วัดกำแพงดินนอกเดิม)ตำบลโคกสลุด อำเภอบางกระทุ่ม ซึ่งมีการดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ ภายในจัดแสดงคัมภีร์โบราณ อาวุธ ข้าวของเครื่องใช้และเครื่องมือประกอบอาชีพของชาวบ้านในอดีต ด้านนอกศาลายังมีการจัดแสดงเรือพื้นบ้าน เกวียน และวิธีการทอผ้าด้วย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้เกิดขึ้นจากดำริของพระครูผาสุกิจวิจารณ์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ในภายหลังจึงได้รับการส่งเสริมตามโครงการศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใย ชุมชนของกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนี้ที่ริมแม่น้ำน่านด้านหน้าวัด ยังมีศูนย์การเรียนรู้และห้องสมุดเรือ ซึ่ง เป็นเรือเอี้ยมจุ๊นที่พบจมอยู่ในแม่น้ำยมบริเวณบ้านกำแพงดินห่างจากวัดกำแพง มณีไปทางตะวันตกราว 2 กิโลเมตร ทางวัดจึงได้ให้ช่างไปชักลากขึ้นมาบูรณะแล้วดัดแปลงเป็นห้องสมุด เป็นห้องเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านการศึกษา ของชุมชน   พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่กล่าวมานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมมือกันของชุมชน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา วัดและประชาชนที่ร่วมกันสืบค้นข้อมูลในท้องถิ่น เพื่อความสามัคคีและความภาคภูมิใจของท้องถิ่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำประวัติท้องถิ่น ทำพิพิธภัณฑ์ ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม และสร้างแหล่งท่องเที่ยวภายในชุมชนที่พร้อมจะต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มา เยือนด้วยความภาคภูมิใจ นอกจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านทั้งสี่แห่งที่ผู้เขียนได้นำเสมอมาข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายชุมชนที่กำลังพยายามจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน ตนเอง เช่น การโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไผ่ขอน้ำ โครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาวัดตาปะขาวหาย โครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์บ้านปากพิงและโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์ พื้นบ้านวัดโพธิญาณ ซึ่งวัดทุกแห่งล้วนแล้วแต่เป็นวัดประจำชุมชนริมแม่น้ำน่านในเขตจังหวัด พิษณุโลกทั้งสิ้น ตลอดสายน้ำน่านที่ไหลผ่านจังหวัดพิษณุโลก จะเห็นได้ว่ามีแหล่งทรัพยากรทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ มากมายที่สามารถบูรณาการเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนริมน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโบราณสถาน การจัดทำพิพิธภัณฑ์ การสืบค้นข้อมูลท้องถิ่น ซึ่งสิ่งที่ชุมชนเหล่านี้กำลังจะดำเนินการก็คือ การส่งเสริมให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทในการเป็นอาสาสมัครยุวมัคคุเทศก์ประจำ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน โดยความร่วมมือกันระหว่างชุมชนกับกลุ่มประวัติศาสตร์สองข้างทาง ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ ดร.จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นประธานที่ปรึกษาในการจัดกิจกรรมต่างๆ กับชุมชน เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังเกิดความรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่น ทั้งนี้ก็เพราะว่า ชุมชนริมแม่น้ำน่านทั้งหมดต่างก็ตระหนักดีว่าการพัฒนาคนนั้นสำคัญกว่าการ พัฒนาสิ่งใด *นัก ศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษากลุ่มประวัติศาสตร์สองข้างทาง ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.