บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 82 บทความ

“พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกับเยาวชน” สร้างสำนึกอนุรักษ์ สืบทอด ผ่านกระบวนการสืบค้นด้วยเครื่องมือง่ายๆ

20 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์ ท้องถิ่น เป็นองค์กรทางสังคมวัฒนธรรมระดับชุมชนที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมในแต่ละ ท้องถิ่น รวมทั้งเป็นแหล่งการเรียนรู้นอกโรงเรียนที่สำคัญเพื่อให้เยาวชนได้ศึกษา เรียนรู้ตลอดชีวิต ยังเป็นความภาคภูมิใจให้กับคนในท้องถิ่นรู้สึกเกี่ยวกับรากเหง้าทางวัฒนธรรม ของตนเอง และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพลังชุมชนในด้านการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรม ท้องถิ่นของตนต่อไป โครงการอบรม/สร้างเวทีเพื่อสร้างพลังท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ได้ร่วมมือกับ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ในการจัดกิจกรรมสำหรับเยาวชน เพื่อ ให้เยาวชนได้สืบค้นเรื่องราว เรื่องเล่า ในท้องถิ่นผ่านการบอกเล่าเรื่องราว ข้าวของวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ ความสัมพันธ์ของผ้ากับวิถีชีวิต ด้วยกระบวนการและเครื่องมือง่ายๆ ทางมานุษยวิทยา เช่น การสัมภาษณ์ การลงพื้นที่ การถ่ายภาพ การวาดรูป การทำชุดนิทรรศการ การจัดระบบข้อมูลด้วยแผนที่ความคิด แผนที่ทางวัฒนธรรม ในกิจกรรม “ผ้าของเรา บ้านของเรา” เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา   แผนที่ความคิด : รู้จักชุมชน ปรับกระบวนคิด จัดระบบข้อมูล“เป็นที่อยู่ของคนมอญ” “อยู่ริมแม่น้ำ” “มีเสาหงส์” ฯลฯ กลุ่มเยาวชนคงคาราม เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักชุมชนตนเอง ด้วยการบอกเล่าถึงสิ่งที่ตนเคยได้ยิน เคยรู้ มาจากประสบการณ์ หรือคำบอกเล่าในครอบครัว และนำข้อมูล เหล่านั้นมารวบรวม จัดระบบข้อมูลใหม่ด้วยการสร้างแผนที่ความคิดของข้อมูลชุมชนร่วมกัน โดยแบ่งเป็นกลุ่มเนื้อหาต่างๆ เช่น ประเพณี วิถีชีวิตคนริมน้ำ วิถีเกษตรกรรม นิทานมอญ เป็นต้น น้องเจน เด็กหญิงวิภาวี มินทนนท์ บอกถึงการทำแผนที่ความคิดว่า “การทำแผนที่ความคิดทำให้เรารู้ว่าข้อมูลสำคัญมีอะไรบ้าง อะไรคือหัวข้อใหญ่ และสามารถแตกย่อยเป็นเรื่องราวอะไรที่สำคัญได้อีกบ้าง” ความสำคัญในการจัดระบบข้อมูล จะช่วยให้กลุ่มเยาวชนมีแนวทางในการหาข้อมูลเชิงลึกในแต่ละเรื่องต่อไปได้ การสัมภาษณ์ งานภาคสนาม: ปฏิบัติการนักมานุษยวิทยาน้อย“การบวชของคนมอญต้องทำอะไรบ้างคะ” “แต่ก่อนแม่น้ำแม่กลองเป็นอย่างไรบ้าง” “โต้ง คืออะไร ตระกร้าผี คืออะไรครับ” คำ ถามจากการจัดระบบข้อมูล พร้อมเสียงสัมภาษณ์เจื้อยแจ้วของเยาวชนในการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ ถึงเรื่องราวต่างๆ ของท้องถิ่น เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่มุ่งให้เยาวชนได้รู้จักการเก็บข้อมูลและบันทึก ข้อมูลภาคสนาม เมื่อจัดระบบข้อมูลด้วยแผนที่ความคิดแล้ว กลุ่มเยาวชนได้ลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลท้องถิ่นในแต่ละเรื่อง ที่รับผิดชอบ เทคนิคการสัมภาษณ์ที่กลุ่มเยาวชนได้เรียนรู้ทำให้พวกเขาสามารถตั้งคำถาม เพื่อการสืบค้นข้อมูลท้องถิ่นในเรื่องที่อยากรู้ได้มากขึ้น น้องอ้อแอ้ เด็กหญิงสงกรานต์ ยาสอาดบอกว่า “การสัมภาษณ์ ทำให้เรารู้วิธีการพูดคุย การเก็บข้อมูล รวมทั้งการลงพื้นที่ทำให้เห็นสภาพจริง และข้อมูลที่เป็นจริง”น้องโอ๊ต เด็กชายอิทธิพล แสงดิษฐ์ บอกว่า “การไปสัมภาษณ์ คนเฒ่าคนแก่ ทำให้เราได้รู้จักเรื่องราวเก่าๆ และได้รู้จักภาษามอญด้วย” น้องอู๋ เด็กชายก้องภพ ทรัพย์อนันต์กุล เสริมว่า “สนุก สนานไปกับการลงพื้นที่ การได้ไปพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ในท้องถิ่น ได้ไปเยี่ยมเยียน ทำให้เราได้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ของชุมชนมากมาย” นอกจากกลุ่มเยาวชนจะได้เทคนิคการสัมภาษณ์จากการลงพื้นที่แล้ว เสียงการ นับก้าวอย่างเข้มแข็งตามจังหวะฝีเท้าน้อยๆ ในการลงพื้นที่ภาคสนาม เพื่อทำกิจกรรมการทำแผนที่ทางวัฒนธรรม ฝึกการสังเกตชุมชน สถานที่สำคัญของชุมชน และเพื่อให้เห็นสภาพพื้นที่โดยรวมของชุมชน น้องแทน เด็กชายปรเมศ สรทรง บอกถึงการทำแผนที่วัฒนธรรมว่า “การ ลงพื้นที่ การเดินในชุมชน เพื่อการทำแผนที่ ทำให้เรารู้ว่า ชุมชนเรามีอะไรบ้าง ส่วนไหนที่สำคัญ มีบ้านไหนเป็นบ้านผู้ให้ข้อมูล การทำแผนที่ทำให้เราได้สังเกตชุมชนได้อย่างชัดเจนขึ้น”   ชุดนิทรรศการ หนังสือทำมือ โปสการ์ด ภาพถ่าย ภาพวาด:กระบวนการแปลงข้อมูลเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเมื่อ ได้ข้อมูลในเรื่องราวต่างๆ ของชุมชนอย่างครบถ้วนแล้ว กระบวนการถ่ายทอดข้อมูล เพื่อสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ที่ได้จากการเก็บบันทึกคำสัมภาษณ์ การลงพื้นที่ภาคสนาม ข้อมูลชุมชนที่ถูกจัดระบบความสำคัญด้วยแผนที่ความคิด ได้ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านสื่อกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ ชุดนิทรรศการ “ผ้าของเรา บ้านของเรา” ที่บอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างผ้ากับวิถีชีวิต การแต่งกาย ผ้าในประเพณีต่างๆ ของชุมชนหนังสือทำมือ ที่บอกเล่าเรื่องราวชุมชนเกี่ยวกับ วิถีชีวิตคนริมน้ำ การเกษตรของชุมชน อาหารมอญ นิทานมอญ ประเพณีสิบสองเดือน ศาลปะจุ๊ โปสการ์ด ที่ออกแบบถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนในสายตาของเยาวชน พร้อมด้วยข้อความสั้นๆ สำหรับอธิบายความคิดของตนเอง ทั้งสถานที่สำคัญ สัญลักษณ์ของชุมชน ภาพถ่ายของชุมชน ภาพถ่ายเล่าเรื่อง (Photo Voice)ที่เยาวชนได้ ช่วยกันคิดหาสถานที่ ถ่ายทอดความคิดของตนเอง มาเป็นภาพถ่ายที่เล่าเรื่องตามหัวข้อต่างๆ เช่น คนมอญ คนจีน อาหาร เป็นต้น ภาพวาด เยาวชนได้เลือกวัตถุสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ที่ตนชอบ และวาดรูปพร้อมเขียนคำอธิบายเพื่อ ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวและเรื่องเล่าของสิ่งของนั้น น้องปายด์ เด็กชายสถาพร รอดแจ้ง บอกว่า “การวาดรูป ทำให้ได้รู้ว่าในพิพิธภัณฑ์มีข้าวของอะไรบ้าง มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง”น้องหยี เด็กหญิงณัชชา เทศวงษ์บอกว่า “ชอบการถ่ายภาพ ชอบออกไปถ่ายภาพ และนำมาเขียนเล่าเรื่อง” น้องชมพู่ เด็กหญิงชุตินันท์ ทองกันยาบอกว่า “การทำโปสการ์ด ได้ออกแบบ ได้วาดรูป และที่สำคัญคือได้ส่งไปรษณีย์จริงๆ” น้องการ์ตูน เด็กหญิงนิภาพร ต่วนเครือบอกว่า “การทำหนังสือทำมือ ทำให้ได้รวบรวมความคิดของตัวเอง และเรียบเรียงออกมาเป็นเล่ม เป็นหนังสือ เป็นผลงานตัวเองและกลุ่ม”พร้อมส่งท้ายด้วยว่า “อยากให้เยาวชนลองมาศึกษาให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นตนเอง” ต้นกล้าแห่งการสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นพระอนุวัตร สุจิตตฺโต ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคารามเล่าว่า “การ ร่วมมือจัดกิจกรรมกับศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธรในครั้งนี้ เด็กๆ ในโรงเรียน ให้ความสนใจกันมาก สังเกตจากการทำหนังสือแจ้งไปทางโรงเรียน และ มีเด็กๆ สนใจเข้ามาสมัครอบรมกันมาก ซึ่งเด็กๆ เหล่านี้มีความสำคัญในการต่อยอดเรื่องราวของการสืบทอดข้อมูล ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ต่อยอดเรื่องราวของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัตถุสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของกลุ่มคนมอญ ประเพณีความเชื่อ วิถีชีวิตของชุมชนสืบต่อไปได้เป็นอย่างดี และนอกจากนี้ในกลุ่มผู้ใหญ่ก็จะมีการอบรมในเชิงอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ใน พิพิธภัณฑ์ และเยาวชนกลุ่มนี้ก็จะมีส่วนร่วมในการอบรมครั้งนี้ด้วย”นายพิเชษฐ์ ยานุวิริยะกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดคงคารามกล่าวถึงผลงานของเยาวชนว่า “รู้สึก ภูมิใจที่เด็กตัวน้อยๆ ที่เป็นเยาวชนคงคาราม จะสามารถถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตคนคงคารามทั้งขนบประเพณีให้รับทราบได้ อย่างง่ายๆ และครบถ้วน โดยผ่านการวาดรูป การทำแผนที่ความคิด การทำหนังสือทำมือ” การ ทำงานร่วมกันของศูนย์ฯ ชุมชน เยาวชน และคนในท้องถิ่น โดยใช้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นองค์กรทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงคนในชุมชนและ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเข้าด้วยกัน ผลักดันพลังชุมชนในการสร้างความเคลื่อนไหว เพื่อสืบทอดและจัดการมรดกทางวัฒนธรรมด้วยตนเอง โดยเฉพาะพลังของกลุ่มเยาวชนที่เปรียบเหมือนต้นกล้าทางวัฒนธรรมในการอนุรักษ์ และสืบทอดเรื่องราวและเรื่องเล่าของชุมชนท้องถิ่นตนเองผู้เขียนศิวัช  นนทะวงษ์ประชาสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรemail: siwach.n@sac.or.thผู้เขียน :ศิวัช นนทะวงษ์

รัฐ กับ สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในงานพิพิธภัณฑสถานไทย

31 มกราคม 2556

งาน พิพิธภัณฑสถานที่เริ่มต้นมายาวนานกว่าศตวรรษ ได้ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่ประเทศไทยมีพิพิธภัณฑสถานที่ดำเนินงาน โดยรัฐ โดยชุมชน และโดยบุคคล จำนวนหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ แต่ขณะที่ปริมาณของพิพิธภัณฑสถานมีมากขึ้นและจะมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนใน อนาคต คำถามถึงการอยู่รอด การพัฒนาเชิงคุณภาพ และการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทยก็มีมากขึ้นตามลำดับ คำตอบหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญให้กับคำถามดังกล่าวก็คือ รัฐ รัฐ มีความเข้าใจในงานพิพิธภัณฑสถาน และ สถานการณ์ที่พิพิธภัณฑสถานในชาติ กำลังเผชิญอยู่มากน้อยแค่ไหน? หรือ ยังคงมองว่ามีหน้าที่ในการเก็บของเก่า หรือ แสดงงานศิลปะ? แนว ความคิดใหม่ ๆ ในการใช้ประโยชน์พิพิธภัณฑสถานให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และเสริมสร้างคุณค่า ทางจิตใจของคนในชาติ ถูกส่งผ่านไปถึงรัฐ หรือ ได้รับการยอมรับจนพัฒนาไปสู่การนำไปปฏิบัติจากรัฐมากน้อยแค่ไหน ?นโยบายของ รัฐ ต่องานวัฒนธรรม และต่องานพิพิธภัณฑสถาน คืออะไร? นอก เหนือจากภาระหน้าที่ตามกฎหมายในการเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเปิดให้ประชาชนเข้าชมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ กฎหมายใหม่ที่ให้ท้องถิ่นสามารถจัดการแหล่งการเรียนรู้ของตนเองได้ที่ถูก หยิบยกมาอ้างถึงกันอยู่บ่อย ๆ แล้ว รัฐมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการเพิ่มศักยภาพของการเป็นแหล่งการเรียน รู้ของพิพิธภัณฑสถานของรัฐเอง และสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายหรือเงื่อนไขปัจจุบัน เพื่อช่วยสนับสนุนพิพิธภัณฑสถานในท้องถิ่นอีกจำนวนมากอย่างไรได้บ้าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ดำเนินงานโดย รัฐ ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุมาแต่เดิมและถูกผูกติดกับภาระหลักนี้มาจนปัจจุบัน เป็นที่มาของกรอบคิดในการเก็บรวบรวมและจัดแสดงที่ให้ความสำคัญต่อโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และนำเสนอประวัติศาสตร์การปกครอง หรือ รูปแบบทางศิลปะ เป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันที่แนวคิดเรื่อง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้พัฒนากรอบคิดในสู่การเก็บรวบรวม สิ่งที่มีคุณค่าของชาติ(objects of national significance ) ซึ่ง หมายถึง สิ่งที่สะท้อนประวัติศาสตร์สังคมของชาติในช่วงเวลาต่าง ๆ สิ่งที่แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาติ และวัตถุร่วมสมัยที่สะท้อนความเป็นปัจจุบันของชาติ รวมไปถึงการพัฒนาเนื้อหาเรื่องราวใหม่ ๆ ในการจัดแสดง ที่นำเสนอบทเรียนในอดีต และสะท้อนปัญหาสังคมในปัจจุบัน กำลังเป็นทิศทางที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อสร้างการเรียนรู้ ความตระหนักรู้ และความสมานฉันท์ของคนในชาติ จึงเกิดเป็นคำถามที่ท้าทายว่า รัฐ จะปรับเปลี่ยนทิศทางและขยายขอบข่ายการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาคนในชาติผ่านงานพิพิธภัณฑฯต่อไปอย่างไร สถานการณ์ ของพิพิธภัณฑสถานภายใต้การดำเนินงานของรัฐในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนมองว่า หยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว หรือ แม้กระทั่ง ตายซาก ได้กลายมาเป็นเครื่องมือที่รัฐเองใช้เป็นโอกาสในการสร้างผลงานโดยไม่ใส่ใจ ศึกษาปัญหาที่มีอยู่เดิม ด้วยการประกาศจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งใหม่ ๆ ที่มุ่งมาดว่าจะต้องดีกว่าพิพิธภัณฑฯที่มีอยู่แล้ว รัฐ กำลังพัฒนาพิพิธภัณฑสถานในแบบ ชั่วข้ามคืน อย่างไร และมีมุมมองอย่างไรในการจัดการงานพิพิธภัณฑสถานของชาติ ปัญหา ในงานพิพิธภัณฑสถานของไทยที่มี รัฐ เป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยแก้ไขหรือทุเลาปัญหาเป็นสิ่งที่อยู่ในใจคนทำงาน พิพิธภัณฑสถาน และประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑสถานมาโดยตลอด หากแต่ที่ผ่านมามีเพียงการปรารภปัญหาในวงเล็ก ๆ ระหว่างคนทำงานพิพิธภัณฑฯและคนใช้พิพิธภัณฑฯ ที่มักนำไปสู่ข้อสรุปของการยอมจำนนและยอมรับในชะตากรรมที่เป็นอยู่ ซึ่งก็คงไม่มีใครที่อยากให้สถานการณ์เป็นอยู่เช่นนี้ตลอดไป จะมีวิธีการใดที่จะทำให้ รัฐ เห็นความสำคัญและใส่ใจที่จะพัฒนางานพิพิธภัณฑสถานอย่างจริงจัง เพื่อที่วันหนึ่งพิพิธภัณฑฯไทยจะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนา ชาติ เช่นที่เป็นอยู่ในหลาย ๆประเทศทั่วโลก