บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 82 บทความ

บทสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในพิพิธภัณฑ์และการอนุรักษ์วัตถุสะสมของกลุ่มชนพื้นถิ่น

22 มีนาคม 2556

    บทคัดย่อ - พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาวัตถุจากกลุ่มชนพื้นถิ่นกำลังเปลี่ยนบทบาทและทิศทางไปพร้อมกับชุมชนที่เป็นเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหมายถึงวิถีการทำงานใหม่ในพิพิธภัณฑ์ และหมายถึงข้อเรียกร้องใหม่ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวัตถุสะสม ผู้เขียนได้วิเคราะห์เหตุผลความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนข้อท้าทายใหม่ๆ ในจริยธรรม การปฏิบัติ คุณค่าของการอนุรักษ์ และข้อท้าทายเช่นนี้ยังส่งผลต่อความเป็นจริงของการปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ ผู้เขียนได้สรุปว่า ข้อท้าทายส่งอิทธิพลต่อบทบาทและทัศนะของนักอนุรักษ์วัตถุทางชาติพันธุ์ การมองว่าสิ่งใดสำคัญต่อการอนุรักษ์ ใครควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ และจะปฏิบัติการอย่างไร     ทิศทางใหม่ในพิพิธภัณฑ์     ในประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย บริบทพิพิธภัณฑ์ที่มีนักอนุรักษ์วัตถุชาติพันธุ์กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑ์ที่เก็บสะสมวัตถุจากชุมชนคนพื้นถิ่นในบริเวณพื้นที่ที่สัมพันธ์กับพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์เหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองจากการนำเสนอวัฒนธรรมทางวัตถุเป็นสถานที่ของการนำเสนอวัฒนธรรมที่มีชีวิต ความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นการเอื้อให้เกิดการนำเสนอวัฒนธรรมโดยเจ้าของวัฒนธรรมทางวัตถุเอง     เป็นที่ทราบกันดีว่า พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาทำหน้าที่ในการอนุรักษ์และจัดแสดงวัฒนธรรม แต่สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นสิ่งใหม่มากในงานพิพิธภัณฑ์คือ บทบาทของกลุ่มเจ้าของวัฒนธรรมที่มีต่อโครงสร้างอำนาจเดิมซึ่งพิพิธภัณฑ์เคยมี แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอยู่ในการทำงานระดับโครงการเฉพาะ เช่น การจัดนิทรรศการหรือการส่งวัตถุทางวัฒนธรรมคืนต่อชุมชน มากกว่าที่จะเป็นการปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ชนพื้นถิ่นมีโอกาสทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ และกลายเป็นคนในระบบงานพิพิธภัณฑ์ ทั้งในเรื่องของการตัดสินใจและการควบคุมการนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาในขบวนการทำงานพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ ชนพื้นถิ่น (First Nations) กลายเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสถาบันที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชนอเมริกันอินเดียน และสถาบันอื่นๆ ที่เก่าแก่ไปกว่านั้นทั่วอเมริกาเหนือและนิวซีแลนด์ ฉะนั้น ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มีโอกาสมากขึ้นที่จะสัมผัสเสียงของสมาชิกของวัฒนธรรมพื้นถิ่นหนึ่งๆ มิใช่การรับรู้เพียงเสียงจากอดีตหรือจากความรู้วิชาการของภัณฑารักษ์ที่มิใช่ชนพื้นถิ่น     เมื่อพิจารณาจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาในประเทศหนึ่ง (หรือระดับจังหวัด รัฐ หรือภาค) ในลักษณะที่ชนพื้นถิ่นเป็นผู้เก็บรวบรวมวัตถุเอง เราควรทบทวนขนบในการมองพิพิธภัณฑ์ได้แก่ "พิพิธภัณฑ์ วัตถุ และการเก็บสะสม" (Pearce 1992) มาเป็นการมองเจ้าของวัฒนธรรมวัตถุเหล่านั้นด้วย (originators of the object) (Ames 1992) ในขณะเดียวกัน แนวทางการทำงานใหม่เริ่มก่อตัวในพิพิธภัณฑ์ ข้อเรียกร้องหรือความต้องการใหม่ๆ เข้ามาสัมพันธ์กับวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น การปรึกษาหารือหรือการต่อรองกับตัวแทนของชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม หรือการขอคำแนะนำจากคณะกรรมการหรือกลุ่มผู้สูงวัยเพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของพิพิธภัณฑ์ ข้อเรียกร้องทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสะสมที่หมายรวมถึงการส่งสมบัติทางวัฒนธรรมคืน การยืมสิ่งของเพื่องานพิธีกรรม การจัดเก็บหรือการจัดแสดงที่คำนึงถึงความรู้สึกทางวัฒนธรรม การจัดพิธีกรรมในพิพิธภัณฑ์ และการปฏิบัติต่อวัตถุศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเชื่อมโยงทางจิตใจด้วยธรรมเนียมอันเหมาะสม และการจับต้องวัตถุสะสมที่เพิ่มมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้มาจากประเด็นสิทธิชนพื้นถิ่นและความเป็นเจ้าของ และการควบคุมว่าสิ่งใดเป็นหรือเคยเป็นของพวกเขา เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ได้รับการพิจารณาใหม่ในศาลและความคิดเห็นสาธารณะในหลายประเทศ     ทิศทางใหม่ของพิพิธภัณฑ์ส่งผลต่องานอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑสถานต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงบางประการกระทบต่อความคิดพื้นฐานงานอนุรักษ์ ที่ได้พัฒนาและสืบทอดงานพิพิธภัณฑ์วิทยาเดิม บทความนี้จะเน้นข้อท้าทายสำหรับนักอนุรักษ์วัตถุทางชาติพันธุ์ เมื่อข้อคำนึงทางวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์เชิงกายภาพของวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์ที่พวกเขาทำงานอยู่     ความเปลี่ยนแปลงในฐานะความท้าทายต่อการอนุรักษ์     งานอนุรักษ์พัฒนาเป็นสายงานเฉพาะ โดยเน้นไปที่การอนุรักษ์ลักษณะทางกายภาพของวัฒนธรรมทางวัตถุ ลักษณะหนึ่งของสายงานคือ ผู้ปฏิบัติจะยึดมั่นในงานที่ทำและ "ลูกค้า" ที่เขาจะต้องให้บริการ การยึดมั่นต่อความคิดดังกล่าวบางครั้งส่งผลต่อการเปลี่ยนผู้ปฏิบัติงาน นักอนุรักษ์บางคนเห็นว่าวัตถุเป็นเสมือนลูกค้าคนสำคัญ ดังคำกล่าวที่ว่า "ความซื่อสัตย์ของเราไม่ได้เป็นของสถาบัน องค์กร หรือเพื่อร่วมงาน แต่เป็นของวัตถุที่เฉพาะและไม่สามารถหาทดแทน วัตถุซึ่งกุมเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความต้องการ (Pearce 1992, 2) สำหรับพิพิธภัณฑ์แล้ว แนวคิดพื้นฐานที่มองความสำคัญของการอนุรักษ์ของชนพื้นถิ่น ด้วยการสนับสนุนต่อการแสดงความหมายที่มีชีวิต (living expression) มากกว่าการมองไปที่การอนุรักษ์วัฒนธรรมทางวัตถุ แนวคิดดังกล่าวถือเป็นความเปลี่ยนแปลงแนวคิดอย่างลุ่มลึก นักอนุรักษ์บางคนที่มีประสบการณ์อาจมองว่า เป็นความเสี่ยงต่อวัตถุเพื่อจะรับใช้คนในปัจจุบัน     ทิศทางใหม่ในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้แสดงให้เห็นข้อท้าทายต่อการอนุรักษ์ตามประเพณี ซึ่งพอจะแบ่งเป็นประเด็นดังนี้     1.วิธีการและข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ในฐานะการปฏิบัติเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งๆ ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา การสร้างคลังที่คำนึงถึงเงื่อนไขทางวัฒนธรรมหมายถึงการมีพื้นที่ที่อากาศจากภายนอกและแสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในนิวซีแลนด์ เจ้าหน้าที่ชาวเมารีจะนำใบไม้สดวางบนวัตถุหรือแท่นจัดแสดงสำหรับเหตุผลทางวัฒนธรรรมที่เกี่ยวโยงกับการรำลึกถึง     2. จริยธรรมของการอนุรักษ์ จะเป็นความถูกต้องหรือไม่ที่งานสายอาชีพอนุรักษ์ที่จะต้องยึดมั่นต่อจรรยาบรรณ จะต้องเสี่ยงต่อความเสียหายของวัตถุเพื่อเอื้อต่อการอนุรักษ์ความหมายเชิงวัฒนธรรม เช่น ที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาช่วยสนับสนุนในขบวนการสร้างข้อตกลงสำหรับการยืมหน้ากากและตระกร้าที่ใช้ในพิพิธภัณฑ์ที่เหมาะสมกับพิพิธภัณฑ์และเจ้าของวัฒนธรรม จุดประสงค์สำคัญเป็นไปเพื่อให้การยืมเป็นข้อคำนึงสูงสุด แม้ว่าการยืมนั้นจะรวมถึงความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการสวมใส่ หยิบจับ หรือการขนส่งภายใต้สภาพการขนส่งและสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ก็ตาม     3. สิทธิอำนาจของนักอนุรักษ์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในคลัง การครอบครอง และการดูแลกายภาพวัตถุของพิพิธภัณฑ์ สิทธิอำนาจของชนพื้นถิ่นมีมากขึ้นและส่งอิทธิพลต่อประเด็นที่กล่าวมา ข้อท้าทายนี้เป็นหนึ่งในข้อท้าทายสิทธิอำนาจของพิพิธภัณฑ์โดยองค์รวม     4. วิถีการทำงานของนักอนุรักษ์ นักอนุรักษ์ในอเมริกาเหนือ ซึ่งต่างไปจากนักอนุรักษ์นิวซีแลนด์ โดยปกติแล้วจะไม่เริ่มต้นการอนุรักษ์โดยปราศจากวิธีการที่เหมาะสม และคำปรึกษาของเจ้าของวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุที่มีความศักดิ์สิทธิหรือมีข้อคำนึงทางวัฒนธรรม     ประเด็นทั้งสี่ประเด็นนี้ส่งผลต่อการปฏิบัติของนักอนุรักษ์ แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ส่งผลต่อกรอบการมองงานอนุรักษ์ ข้อเรียกร้องจากชนพื้นถิ่น และพัฒนาการของพิพิธภัณฑ์ในฐานะที่เป็นสถานที่รับใช้ต่อชุมชนหรือเจ้าของวัฒนธรรม ท้าทายต่อกรอบความคิดเดิมที่วางเอาไว้ว่า พิพิธภัณฑ์คืออะไร กรอบความคิดเหล่านี้เน้นถึงสมมติฐานพื้นฐานของงานอนุรักษ์ เช่น คุณค่าของการอนุรักษ์วัตถุในลักษณะที่ออกไปจากวัฒนธรรมเดิม คุณค่าของการอนุรักษ์วัตถุโดยมองว่าเป็นองค์รวมของสิ่งของมากกว่าที่จะเป็นองค์รวมทางวัฒนธรรม ความสำคัญของการย้อนกลับมามองการผนวกระหว่างสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน การให้คุณค่ากับวิทยาศาสตร์ในฐานะหนทางแรกของการหาคำตอบเกี่ยวกับการเก็บ การดูแลรักษา และในบางกรณีการปฏิบัติการต่อวัตถุ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ข้อท้าทายต่อพิพิธภัณฑ์เหล่านี้เป็นบททดสอบกรอบความรู้งานอนุรักษ์ "ซึ่งเคยฝังแน่นอยู่ในผู้ปฏิบัติ" คำถามเหล่านี้จะทำให้เราเห็นว่าสิ่งใดสำคัญ ชอบธรรม และมีเหตุมีผล และสิ่งใดที่ผู้ปฏิบัติจะต้องทำต่อไป     คำถามต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นข้อขัดแย้งทางคุณค่าที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ทุกวันนี้         สิ่งใดที่ควรอนุรักษ์เมื่อมีเพียงลักษณะทางกายภาพของวัตถุที่ควรได้รับการอนุรักษ์เท่านั้น         ความสำคัญของวัตถุเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตลอดในกรอบการทำงาน ไม่ใช่เป็นเพียงรูปลักษณ์ทางกายภาพ แนวคิดนี้ได้รับการขยายความโดยปรัชญา Mabel McKay ที่กล่าวไว้ว่า คนจักสานตระกร้าของชนเผ่า Pomo "ไม่สามารถแบ่งแยกทำความเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับวัสดุที่เธอใช้จักสานออกไปจากการพูดถึงความฝัน การเยียวยา การทำนายทายทัก และกฎของเครื่องจักสานจากอดีต ด้วยเหตุนี้ สำหรับ Mabel แล้ว สิ่งที่กล่าวถึงจึงไม่สามารถที่จะแยกประเด็นทำความเข้าใจได้แต่อย่างใด" (Sarris 1993, 51)         ระบบคุณค่าของใครมีความสำคัญมากกว่ากัน         โดยปกติแล้ว พิพิธภัณฑ์นิยาม "ความสำคัญและลักษณะเฉพาะ" (AIC 1995, 23) ของวัตถุตามความหมายที่มาจากการวิจัยของภัณฑารักษ์สำหรับวัตถุที่บริบทต่างๆ ในระบบค่านิยมของพิพิธภัณฑ์ (หายาก สภาพ ของจริง ความสำคัญ และอื่นๆ) พิพิธภัณฑ์ "ชีวิต" ในช่วงหลังสมัยใหม่พยายามอย่างยิ่งในการให้ความสำคัญกับระบบคุณค่าทางวัฒนธรรมของกลุ่มวัฒนธรรมเจ้าของวัตถุ (หรือเรียกได้ว่า เป็นไปตามข้อประนีประนอมทางวัฒนธรรมสำหรับวัตถุศักดิ์สิทธิ์หรือมีเงื่อนไขทางวัฒนธรรมบางประการ) ดังนั้น ในพิพิธภัณฑ์เช่นที่กล่าวมา ความต้องการทางวัฒนธรรมที่ต้องการใช้วัตถุสักชิ้น และการดูแลวัตถุด้วยความเหมาะสมทางวัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นลำดับต้นๆ มากกว่ากระบวนการมาตรฐานงานอนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ นักอนุรักษ์ควรจะให้ความเคารพต่อความหมายทางวัฒนธรรม ด้วยการปรับเปลี่ยนการทำงาน และเรียนรู้วิธีการที่ Mabel McKay ดูแลเครื่องจักสานของเธอในลักษณะ "เธอบอกกับฉันถึงวิธีการหล่อเลี้ยงเครื่องจักสานด้วยการให้น้ำ 1 ครั้งต่อเดือน และเธอยังบอกกับฉันด้วยว่าจะต้องมีการสวด และเพลงใดบ้างที่จะต้องร้อง" (Sarris 1993, 61)? วิธีการปฏิบัติเช่นนี้ควรได้รับการบันทึกหรือเป็นความเหมาะสมทางวัฒนธรรมหรือไม่?         ควรตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า นักอนุรักษ์ในที่นี้ต้องเผชิญกับสถานการณ์อันซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นงานสะสมที่มาจากหลายหลากชาติและเงื่อนไขในเรื่องเวลา งบประมาณ และระยะทาง เหล่านี้คือเงื่อนไขที่อาจจะไปด้วยกันได้ไม่ดีนัก พิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องพิจารณางานพิพิธภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับชนพื้นถิ่น ในขณะเดียวกันกับการทำความเข้าใจต่อความต้องการและการตัดสินใจของชนพื้นถิ่น ที่ไม่ใช่เฉพาะความต้องการของพิพิธภัณฑ์ ควรเข้ามาอยู่ในกระบวนการทำงานโครงการต่างๆ นอกจากนี้ การพิจารณาถึงนัยสำคัญของเครื่องจักสานมิได้มองเพียงแต่ว่าวัตถุนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์หรือมีเรื่องที่ควรระวังทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาไปถึงพิธีกรรมที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่านักอนุรักษ์จะตัดสินโดยอยู่บนพื้นฐานทางทฤษฎีหรือการปฏิบัติไปในลักษณะใด การตัดสินและกระบวนการจะสะท้อนว่านักอนุรักษ์สามารถผนวก "ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแนวคิด" ได้หรือไม่ นั่นคือ คุณค่าของวัฒนธรรมโปโมที่นักอนุรักษ์ได้รับทราบ พร้อมไปกับการอนุรักษ์ลักษณะทางกายภาพ ที่เป็นคุณค่าพื้นฐานของงานอนุรักษ์ที่นักอนุรักษ์ได้รับการถ่ายทอดมา         คุณภาพของวัตถุที่นักอนุรักษ์ต้องการรักษาและทำนุบำรุงมีความสอดคล้องต่อวัตถุนั้นหรือความสำคัญในคุณค่าทางวัฒนธรรมนั้นหรือไม่         จรรยาบรรณสำหรับนักอนุรักษ์ของรัฐในประเทศแคนาดากล่าวไว้ว่า "ทุกอย่างที่นักอนุรักษ์ทำต้องเป็นไปตามการเคารพต่อองค์รวมของสิ่งนั้น ทั้งลักษณะทางกายภาพ ประวัติศาสตร์ กรอบความคิด และความงาม (IIC-CG and CAPC 1989, 5) Guidance for Conservation Practice (1981) ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันเพื่อการอนุรักษ์แห่งสหราชอาณาจักรกล่าวว่า "การอนุรักษ์เป็นวิธีการที่ใช้เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติที่แท้จริงของวัตถุนั้น" (UKIC 1981, 1) ในกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ องค์รวมที่แสดงให้เห็นความจริงเกี่ยวกับวัตถุเป็นการคำนึงถึงสภาพปัจจุบันและวัสดุที่ใช้ทำ และรวมถึงเวลาและเครื่องหมายบางอย่าง โดยปกติ การให้เหตุผลของภัณฑารักษ์เกี่ยวกับองค์รวมจะเน้นที่หลักฐานทางกายภาพที่ปรากฏในหรือบนวัตถุพอๆ กับงานบันทึก แต่มีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าองค์รวมสาระสำคัญอยู่ที่การตีความมากกว่าคุณลักษณะที่ยึดติดกับตัววัตถุ ตัวอย่างเช่นข้อเท็จจริงที่มีการพิสูจน์ถึงเวลาและร่องรอยไม่ใช่ความจริงที่สำคัญกับตัววัตถุ ความหมายของวัตถุจึงไม่ปรากฏหากปราศจากการตีความ (Handler 1992; Pearce 1992) การตีความหมายถึงการเพิ่มเติมคุณค่าทางวัฒนธรรม และผลของการตีความปรากฏในฐานะของความจริง         ตัวอย่างต่อไปนี้จะสะท้อนให้เห็นความคิดดังกล่าว ในปี 1993 พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัย บริติชโคลัมเบีย (MOA) ยินยอมให้ครอบครัวของชนพื้นถิ่นครอบครัวหนึ่งยืมหน้ากากเพื่อใช้ในพิธีพอทแลท์ช เพราะวัตถุนั้นๆ มีความแข็งแรงและมีอายุตั้งแต่กลางศตวรรษที่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากเป็นกลุ่มวัตถุที่มาจากพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือเดียวกัน และมีสภาพที่ใช้การได้ดีเช่นเดียวกัน แต่กลับเป็นวัตถุที่สร้างขึ้นในช่วง 1825 หรือ 1790 วัตถุนั้นจะถูกมองเป็นสิ่งหายากที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน ตรงนี้ คงเป็นเรื่องอาจตั้งข้อสงสัยได้ว่า พิพิธภัณฑ์จะยินยอมให้ยืมวัตถุเหล่านั้นเพื่อการร่ายรำ เวลาในกรณีที่ยกตัวอย่างมานี้แสดงให้เห็นคุณค่าที่สัมพัทธ์มากกว่าการยึดติดที่ข้อเท็จจริง         คำถามเกี่ยวกับธรรมชาติของ "องค์รวม" สะท้อนให้เห็นถึงคำถามที่ใหญ่ไปกว่านั้นว่านักอนุรักษ์ควรทำอย่างไรต่อวัตถุชิ้นหนึ่งที่มาจากวัฒนธรรมอื่น ขณะที่คุณที่ผูกโยงกับวัตถุตัวนั้นขัดกับค่านิยมบางประการในงานอนุรักษ์         แล้วนักอนุรักษ์ในสายอาชีพจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด     จุดหมายใหม่สำหรับงานพิพิธภัณฑ์หมายถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางทีเป็นการเพิ่มความยากลำบากที่ต้องยอมรับมากขึ้นในวิชาชีพการอนุรักษ์ โดยภารกิจสำคัญคือการอนุรักษ์ที่ต้านทานการเปลี่ยนแปลง ("การอนุรักษ์ที่ต้านทางการเปลี่ยนแปลง" เป็นคุณค่าพื้นฐานของขนบพิพิธภัณฑ์วิทยา การอนุรักษ์ดังกล่าวนำเสนอวัฒนธรรมในกรอบเวลาหนึ่งและสัมพันธ์กับ "การปรากฏตัวของข้อมูลทางชาติพันธุ์" ซึ่งแสดงให้เห็นวัฒนธรรมที่ "แท้จริง")     อย่างไรก็ตาม ความหมายทางวัฒนธรรมนั้นเปลี่ยนแปลงไป และควรให้คุณค่าต่อองค์รวมทางวัฒนธรรมที่หมายรวมถึงการยอบรับต่อ "ความจริง" ซึ่งแตกต่างกันในเวลาที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่นเรือแคนนูที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์การใช้งาน แต่ในปัจจุบัน คุณค่าและความหมายเปลี่ยนไปเรือกลายเป็นสิ่งตกทอดที่เหลืออยู่ (Phillips 1991, อ้างใน Clavir 1992 และ Feest 1995)     ด้วยการยอมรับความหมายทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป นักอนุรักษ์กำลังถูกตั้งคำถาม ไม่ใช่เพียงคุณค่าที่จับต้องได้ยากของวัตถุ แต่ยังต้องตระหนักและยอมรับกระบวนการที่ต่อเนื่อง และสิ่งที่เป็นนามธรรมมากกว่า อันหมายถึงการคำนึงถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงมากกว่าที่คุ้นเคยในงานอนุรักษ์ แนวคิดใหม่นี้ส่งผลต่อนักอนุรักษ์ในหลายๆ ทาง ทั้งธรรมชาติที่เปลี่ยนไปของงานพิพิธภัณฑ์ และบทบาทของงานสะสมในพิพิธภัณฑ์     การสังเกตการณ์     บริบทที่ท้าทายสำหรับจริยธรรมและการปฏิบัติในงานอนุรักษ์นำไปสู่คำถามพื้นฐาน ได้แก่ การอนุรักษ์วัตถุทางชาติพันธุ์ ปัจจัยที่กำหนดเหมาะหรือไม่เหมาะสำหรับงานสะสมในทุกวันนี้ ไม่ว่าวัตถุเหล่านั้นจะได้รับการเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ทั่วไป หรือหลังสมัยใหม่ หรือพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวิถีชีวิต? คำตอบจะปรากฏอยู่กับการทำงานที่จะยอมรับหรือปฏิเสธพัฒนาการเหล่านี้ และการประยุกต์ใช้จริง     ข้อท้าทายต่อกรอบการทำงานพื้นฐานมักออกมาในลักษณะที่ขัดแย้งต่อคนที่เชื่อในคุณค่าตามกรอบการทำงาน อันที่จริงแล้ว นักอนุรักษ์ควรทำตัวเป็นผู้ท้าทายต่อระบบ การถกเถียงทั้งด้วยอารมณ์ ความเชื่อ และเหตุผลเป็นสิ่งที่จะต้องการขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานทุกคน นี่เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ว่านักอนุรักษ์ควรเผชิญหน้ากับชนพื้นถิ่นเจ้าของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อถกเถียงในประเด็นการอนุรักษ์ คนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทัศนะเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจร่วมกัน     ทางออกหรือจรรยาบรรณที่เหมาะสมเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ และปรับเปลี่ยนไปต่อสถานการณ์ที่ต่างกัน นอกจากนี้ การลงมือกระทำขึ้นอยู่กับการพัฒนาด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน เช่นในด้านกฏหมายและข้อเรียกร้องเชิงศีลธรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้าของ และการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของชนพื้นถิ่นอย่างในแคนาดา นอกจากความซับซ้อนที่กล่าวถึง และการหาทางออกจากข้อกังขาเกี่ยวกับจรรยาบรรณ ข้อสังเกตที่กล่าวถึงนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันและที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป         การสังเกตการณ์ประการแรก : การตัดสินใจของพิพิธภัณฑ์         ในความเป็นจริง พิพิธภัณฑ์ต้องตัดสินใจทุกวันเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัตถุสะสม เราต้องพึงระลึกเสมอว่าประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพียงการใส่ใจเฉพาะวัตถุของวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่เราจะต้องปฏิบัติการด้วยเท่านั้น แต่ข้อท้าทายนี้ยังผลต่อการทำงานอนุรักษ์โดยรวม ตัวอย่างเช่น เราอาจจะมีวัตถุที่สามารถแตะต้องได้ในพิพิธภัณฑ์ การให้ยืมวัตถุบางชิ้นไปในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม การเปิดพื้นที่ให้เช่าที่สามารถนำอาหาร เครื่องดื่ม หรือดอกไม้เข้าในไปส่วนนิทรรศการ หรือแม้แต่การขาดแคลนเงินทุนหรือการริเริ่มที่จะจัดสภาพคลังวัตถุในลักษณะที่เหมาะสม จากความเป็นมา ไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดในทวีปอเมริกาเหนือที่สามารถเป็นตัวอย่างของมาตรฐานการดูแลที่สอดคล้องกับวัตถุวัฒนธรรมของชนอเมริกันและแคนาเดียนพื้นถิ่น         อนึ่ง การอนุญาตให้มีการใช้วัตถุของพิพิธภัณฑ์มิใช่ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดมาจากการเรียกร้องของชนพื้นถิ่นที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมเท่านั้น พิพิธภัณฑ์มากมายได้รับการเรียกร้อง "การสัมผัส" วัตถุที่กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างทั่วไป ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์วิคเตอเรียแอนด์อัลเบริต์ที่จัดแสดงแจกันราชวงศ์หมิง ศตวรรษที่ 16 ที่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ในนิทรรศการที่ได้รับการออกแบบเป็นอย่างดี และแจกันเองกลับไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด (Kerr 1995) หากให้ยกตัวอย่างอื่นเพิ่มเติม นักอนุรักษ์ยอมรับการใช้กลุ่มหนังสือเก่าและจดหมายเหตุในหอสมุด หรือการที่พิพิธภัณฑ์ให้ยืมวัตถุในการประกอบพิธีกรรม ในลักษณะเช่นนี้ มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในอาคารและอยู่ภายใต้ข้อแนะนำเพื่อการอนุรักษ์         นักอนุรักษ์ผลงานศิลปะร่วมสมัยยอมรับการจัดแสดงผลงานของศิลปินที่มีชีวิตอยู่ในลักษณะที่เสี่ยงต่อความเสียหาย ระหว่างการจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งถือเป็นความจงใจของศิลปินเอง และกฎหมายลิขสิทธิ์ในหลายๆ ประเทศยอมรับการกระทำดังกล่าว นักอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมยอมรับความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นต่อองค์รวมของอาคารเพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบและแบบแผนการใช้งานใหม่ พิพิธภัณฑ์ทางการทหารเป็นตัวอย่างที่ดีแต่อาจไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก ในอังกฤษและแคนาดา มีตัวอย่างการให้ยืมใช้วัตถุชั่วคราว เช่นเหรียญที่ระลึกให้ยืมชั่วคราวในพิธีรำลึกถึงอดีต ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับพิพิธภัณฑ์ที่จะให้ยืมข้าวของในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการสู้รบประจำปี         คำสำคัญในที่นี้ ได้แก่ พิธีกรรม การใช้ การให้ยืมเพื่อใช้งาน การต่อรองกับผู้สร้างสรรค์งาน ผู้สร้างสรรค์ (เจ้าของ) มีสิทธิ์ไม่ใช่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่ตัดสินใจในขณะที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากวัตถุ         การสังเกตการณ์ประการที่สอง : ปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์         หลักฐานที่เห็นได้จากการปฏิบัติงานได้แก่ ฐานการคิดที่ปรับเปลี่ยนเนื่องจากการท้าทายชนพื้นถิ่นต่อพิพิธภัณฑ์ ณ วันนี้ เฉกเช่นในอดีต ปฏิบัติการในพิพิธภัณฑ์ยังคงมีลักษณะที่แตกต่างจากทฤษฎีงานพิพิธภัณฑ์ คำถามง่ายที่สามารถยกขึ้นมาเช่น ทำไมห้องคลังจึงมีสภาพที่แน่นมากเกินไป ทำไมชื่อชนพื้นถิ่นที่ใช้เรียกบ้านเกิดหรือผู้คนจึงไม่ปรากฎในนิทรรศการถาวรหรือทะเบียนวัตถุ ทำไมแมลงที่เข้ามาเป็นเหลือบไรต่อวัตถุยังคงมีอยู่ แม้จะมีกระบวนการป้องกันที่เหมาะสม ทำไมพิพิธภัณฑ์ที่รู้จักกันดีและมีชื่อเสียงจึงยังไม่สามารถรักษาสภาพที่ดีสำหรับวัตถุสะสม หรือไม่สามารถสร้างมาตรการที่จะลดผลกระทบของแผ่นดินไหวในบริเวณที่จำเป็น หากพิพิธภัณฑ์ยังไม่สามารถใช้ความรู้ความชำนาญการจากความรู้ที่ตนเองสะสมตลอดหลายปี ทำไมใครสักคนจะต้องเชื่อการเติบโตขององค์กรพิพิธภัณฑ์ เมื่อชนพื้นถิ่นจากชุมชนแห่งหนึ่งเข้ามาชมวัตถุในพิพิธภัณฑ์ที่มาจากมรดกของชุมชน เขาอาจมีโอกาสพบข้อผิดพลาดในสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ปฏิบัติต่อวัตถุนั้นๆ         การสังเกตการณ์ประการที่สาม : ฐานร่วมกัน         แม้ว่าเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์หรือนักอนุรักษ์จะแตกต่างจากเป้าหมายของชุมชนคนพื้นถิ่นหรือปัจเจกชน แต่ฐานที่ร่วมกันสามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน เราไม่ควรสรุปความไม่ลงรอยโดยการวางการอนุรักษ์วัตถุไว้ตรงข้ามกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม         Deborah Doxtator ชาวแคนาเดียนพื้นถิ่นแสดงความคิดเห็นว่า จุดร่วมระหว่างชนพื้นถิ่นและพิพิธภัณฑ์แคนาเดียนที่ไม่ใช่ของชนพื้นถิ่นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องมาจาก "ความจริงที่ว่าแต่ละฝ่ายมีจุดหมายที่ต่างกัน นั่นคือ จุดหมายที่คู่ขนานกันไป" (Doxtator 1994, 22) จริงๆ แล้ว แม้จุดหมายจะเดินทางคู่ขนานกันไป แต่ผลกลับเป็นบวกได้ หากผลนั้นตอบสนองต่อผู้ที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น การใช้อุปกรณ์ป้องกันฝุ่นในห้องคลังสำหรับวัตถุที่มีเงื่อนไขเชิงวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์นิวเม็กซิโก แสดงให้เห็นความเคารพต่อวัตถุและผู้ชม ขณะที่ยังสามารถสะท้อนค่านิยมของงานอนุรักษ์ หรืออย่างศูนย์วัฒนธรรม U’mista อัลเบริต์ เบย์ ในบริติช โคลัมเบีย จัดแบ่งเครื่องประกอบพิธีกรรมพอทแลท์ชเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กลุ่มวัตถุอายุเก่าและกลุ่มวัตถุร่วมสมัยที่สมาชิกในชุมชนสามารถยืมไปใช้ในพิธีกรรมได้ นักอนุรักษ์เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิบัติดังกล่าว         สุดท้าย ชนพื้นถิ่นยอมรับต่อมาตรฐานการดูแลและอนุรักษ์วัตถุที่อยู่พิพิธภัณฑ์ (Matlas 1993) ในจุดนี้ นักอนุรักษ์ยินยอมพร้อมใจ ลีโอนา สปาร์โร ที่ปรึกษากลุ่ม Masqueam ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย เห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว และได้เพิ่มเติมข้อพึงปฏิบัติด้วยว่า มาตรการใดๆ ที่ใช้ดำเนินการอนุรักษ์จะต้องไม่ขัดต่อองค์รวมทางวัฒนธรรมของวัตถุ หรือความต้องการของชุมชนที่จะเข้าไปใช้วัตถุ (Sparrow 1995)         การสังเกตการณ์ประการที่สี่ : กฎจรรยาบรรณ     อย่างน้อยที่สุด หนึ่งในกฎจรรยาบรรณของนักอนุรักษ์กล่าวไว้ว่า ชนพื้นถิ่นมีสิทธิ์ตัดสินใจต่อมรดกวัฒนธรรมของตนเอง แม้ว่าเขาจะมิได้มีสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมาย ข้อความที่จะยกมาต่อไปนี้มาจากการอนุญาตของสภาอนุสรณ์สถานและแหล่งมรดกระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites - ICOMOS) ตามกฎบัตรนิวซีแลนด์สำหรับการอนุรักษ์สถานที่และคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม     "มรดกของชนพื้นถิ่นเมารีและเมาริโอริ…ไม่สามารถแยกออกได้จากตัวตนและความรุ่งเรือง และกอปรขึ้นเป็นความหมายทางวัฒนธรรมจำเพาะ     ข้อตกลงไวแทนกิเป็นเอกสารก่อร่างชาติของเรา และเป็นฐานรองรับการคุ้มครองชนพื้นถิ่นในลักษณะที่ชนพื้นถิ่นมีส่วนรับผิดชอบต่อสมบัติ สถานที่สำคัญ และศักดิ์สิทธิ์ของตนเอง เนื้อหาขยายขอบเขตความเป็นเจ้าของตามกฎหมายที่มีอยู่ ความรู้ในคุณค่าของมรดกเฉพาะเป็นปัจจัยในการเลือกผู้ที่ดูแลรักษา การอนุรักษ์สถานที่ที่กอปรด้วยคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมมีลักษณะที่เชื่อมโยงกับการตัดสินใจของชุมชนคนพื้นถิ่น และควรที่จะเป็นไปในบริบทเช่นนี้เท่านั้น ข้อพึงระลึกในงานอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นถิ่นเลื่อนไหลและปรับเปลี่ยนไปตามความสืบเนื่องของชีวิต และความต้องการตามแต่ละปัจจุบันขณะ พร้อมไปกับความรับผิดชอบของการคุ้มครอง และความสัมพันธ์กับผู้คนที่จากไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกล่าวถึงข้อปฏิบัติต่อการเข้าถึง สิทธิอำนาจ และพิธีกรรมที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในระดับท้องถิ่น หลักพื้นฐานโดยทั่วไปของจรรยาบรรณและความเคารพทางสังคมย้ำให้เห็นว่าการปฏิบัติดังกล่าวเป็นสิ่งที่เราจะต้องใส่ใจอยู่เสมอ (ICOMOS 1993, Sec. 2)"     สรุป สิ่งที่จะได้กล่าวต่อไปนี้สะท้อนทัศนะต่อการทำงานอนุรักษ์แบบที่เคยปฏิบัติกันมา และไม่ต้องสงสัยเลยว่าความคิดเช่นนี้เป็นที่ยอมรับของนักอนุรักษ์วิชาชีพในช่วงเวลาที่ได้รับการบัญญัติขึ้นในปี 1986 "หน้าที่ของนักอนุรักษ์คือการทำทุกวิถีทางที่จะลดหรือเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดกับงานสะสม และต้านทานต่อทุกสถานการณ์ที่อาจเป็นสาเหตุหรือนำไปสู่การเสื่อมหรือทำลาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งเชิงรุกหรือตั้งรับ สภาพที่ดีของวัตถุเป็นข้อคำนึงเบื้องต้นเหนือการพิจารณาประเด็นอื่นใด (Ward 1986, 9) ในช่วงทศวรรษสั้นๆ จากนั้น สายอาชีพงานอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่คำนึงถึงบริบททางวัฒนธรรม ข้อตกลงที่สร้างขึ้นร่วมกับเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรม "หน้าที่ของนักอนุรักษ์คือการทำทุกวิถีทางที่จะเลี่ยงหรือลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับวัตถุสะสมในบางสถานการณ์ หน้าที่ของนักอนุรักษ์ได้แก่การให้ข้อมูล (เช่น ความเลี่ยง ทางเลือกในการปฏิบัติ จรรยาบรรณการอนุรักษ์ และกระบวนการ) และเสนอการปฏิบัติต่อสถานการณ์ที่อาจจะเสี่ยงต่อความเสียหายของวัตถุ ไม่ว่าเชิงรุกหรือรับ ขณะที่ข้อมูลและปฏิบัติการอนุรักษ์ดำเนินไปด้วยการพิจารณาสภาพของวัตถุที่เหมาะสมและเป็นการปฏิบัติการเชิงวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ควรดำเนินการคู่ขนานกันไปคือ การคำนึงถึงบริบทที่ใหญ่กว่าซึ่งเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรมหรือผู้สืบทอดควรเข้ามามีบทบาทหลักในการทำงานดังกล่าวด้วย" กรอบความคิดข้างต้นไม่ใช่การลบล้างกระบวนการทำงานของนักอนุรักษ์ที่เห็นว่าสิ่งใดสำคัญในการตัดสินใจอนุรักษ์ แต่เป็นการพยายามเปลี่ยนจุดเน้นไปที่บริบทที่ใหญ่กว่า ความคิดเช่นนี้ยอมรับคณะทำงานที่ควรมาจากหลายสาขาเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการอนุรักษ์ คณะทำงานที่กล่าวถึงควรประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มเจ้าของวัฒนธรรมและวิชาชีพอื่นๆ กรอบความคิดที่ว่านี้พยายามจัดวางวิชาชีพนักอนุรักษ์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในวิทยาศาสตร์และเทคนิควิทยาในการอนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรม แต่ความรับชอบของเขาและเธอควรเป็นการใช้ความรู้เพื่อคำนึงถึงบริบทแวดล้อมอื่นในแต่ละกรณี มากกว่าจะเป็นการใช้ความรู้จัดการทุกอย่างด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด

จดหมายเหตุเสียงที่พิพิธภัณฑ์เขตหก: งานที่ต้องเดินหน้าต่อไป

22 มีนาคม 2556

แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เพราะเป็นประเทศที่มีทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ก้าวหน้า แต่ขณะเดียวกันปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจขยายเป็นวงกว้าง ช่องว่างของผู้รับความช่วยเหลือจากการพัฒนาและความชำนาญการในการทำงานยังคง มีอยู่ แต่ในจุดนี้ กลับเป็นทั้งข้อท้าทายและโอกาสในการอนุรักษ์ภาพและและเสียง(Audiovisual preservation)   โครงการจดหมายเหตุเสียงเริ่มต้นขึ้นจากการประชุมในปี1988 ใน การเริ่มต้นการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้รูปแบบการทำงานมาจากแนวทางของจดหมายเหตุเสียงสาธารณะและชาติพันธุ์ของสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ รวมทั้งสาขาวิชาการที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการทำงานทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ สังคมศาสตร์ และดนตรีชาติพันธุ์วิทยา   แม้หน่วยงานของเราเป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นการทำงาน แต่เป็นงานที่เต็มไปด้วยพลังของคณะกรรมการที่มีความกระตือรือร้น และสายสัมพันธ์กับนักเคลื่อนไหวในชุมชน นักการเมือง และนักวิชาการ ด้วยเหตุนี้ งานพิพิธภัณฑ์ของเราจึงไม่มีลักษณะของชนชั้นการบริหาร(เน้นโดยผู้แปล) นอกไปจากนี้ การทำงานอนุรักษ์ยังต่อรองกับความเป็นไปต่างๆ ในชุมชนได้อย่างยิ่งยวด นอกจากข้อท้าทายในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการวิจัยจดหมายเหตุภาพและ เสียง พิพิธภัณฑ์ยังต้องพัฒนาความชำนาญการและการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กัน อนึ่ง พิพิธภัณฑ์เขตหกได้กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาโครงการที่สร้างโอกาสความร่วม มือของคนในชุมชน   จดหมายเหตุเสียงในฐานะหน่วยย่อยความทรงจำ ในปี1994 มีการจัดนิทรรศการ "ถนน : รอยทางในเขตหก" ในขั้นตอนของการทำงาน เราได้เชิญผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในเขตหกมาชี้ตำแหน่งของอาคาร ถนนหนทาง เพื่อนบ้านที่เคยพำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาสร้างความทรงจำร่วมกัน (Public memory) นิทรรศการพยายามทำหน้าที่ของ "พาหนะแห่งการตีความ" (Interpretative vehicle) ที่จะนำพาความทรงจำส่งทอดไปยังคนรุ่นต่อไปในแอฟริกาใต้ เพ็กกี้ เดลพอร์ต (Peggy Delport) ภัณฑารักษ์ได้อธิบายไว้ว่ารูปแบบของนิทรรศการจะเน้นการออกแบบให้เกิดปฏิสัมพันธ์ พรมแดนของนิทรรศการเปิดออกสู่ผู้ชม และให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดแสดง… สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างความทรงจำใหม่จะเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน   นิทรรศการตรึงจินตภาพของผู้คน โดยเฉพาะผู้ที่เคยพำนักอาศัยในเขตหก พวกเขานำสิ่งที่กระตุ้นเตือนความทรงจำมากมายมาให้ผู้จัดงาน ภาพถ่ายครอบครัว ขวด ของเล่น และชิ้นส่วนของเครื่องเรือนและประตู อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์ไม่สามารถจัดเก็บวัตถุไว้ในคลังสะสมไดทั้งหมดด้วยปริมาณวัตถุที่เอ่อล้น แต่เรายังคงให้วัตถุเข้ามาฝากไว้ เพื่อสานสัมพันธ์อันดีต่อสมาชิกของชุมชน   กระบวนการจัดนิทรรศการกลายเป็นกุญแจสำคัญ ของที่ฝากไว้ได้มาโดยมิได้คาดหวัง หากสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล เช่น การให้ผู้เป็นเจ้าของบอกเล่าถึงคุณค่าของวัตถุเหล่านั้น แต่กิจกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องในอนาคตที่รอการวางแผนและดำเนินการจัดเก็บอย่างเป็นระบบต่อไป ดังที่กล่าวไปแล้วว่านิทรรศการพยายามสร้างความทรงจำร่วม เราอาจนิยามพื้นที่นิทรรศการในลักษณะ"จุดประเด็น" เพราะความทรงจำเหล่านั้นสามารถนำไปสู่การอภิปรายในวงกว้างภายใต้แนวคิดพลเมือง   ในขณะนี้ ปัญหาที่จะต้องพูดคุยอยู่ที่ว่าพิพิธภัณฑ์จะจัดการจำแนก และลำดับวัตถุที่เกี่ยวโยงกับความทรงจำในการจัดแสดงอย่างไร และเราจะมีวิธีการจัดการต่อความทรงจำของผู้เคยพำนักอาศัยไปในลักษณะใด เพราะความทรงจำอาจเป็นการบรรยายให้เห็นถึงตำแหน่งแห่งที่ของถนน หรือภาพของตลาดในอดีต หรือสุนทรพจน์ของบุคคลสำคัญ กาซี กูลส์(Cassie Cools) หรือการร่ายรำ diba ขณะเดียวกัน ยังมีความเจ็บปวดของการสูญเสีย เรือนพักถูกทำลาย ความยากจน กำลังใจในการอาศัยอยู่ในเขตชานเมือง   แซนดรา โปรซาเลนดิส์(Sandra Prosalendis) หัวหน้าโครงการกล่าวถึงนิทรรศการ ถนน… ว่าเปรียบเสมือนกระชอนที่ร่อนความทรงจำให้สถิตในพื้นที่นิทรรศการเพื่อยุวชนรุ่นหลัง พื้นที่เช่นนี้จะดูดดึงผู้ชมให้เข้ามาถ่ายทอดและบันทึกความทรงจำในรูปของ เสียง จดหมายเหตุเสียงจึงเชื่อมต่อภาพที่ลางเลือน ฉะนั้น หากถามว่านิทรรศการ ถนน… ควรหยุดเมื่อใด คำตอบง่ายๆ คือ เมื่อเรารู้ว่าจะทำอะไรต่อไป   จดหมายเหตุเสียงในฐานะแหล่งกำเนิดความรู้ ความสำคัญอีกประการหนึ่งของจดหมายเหตุเสียงคือ การทำงานเชิงรุก ด้วยการกระตุ้นการผลิตองค์ความรู้ ฉะนั้น จดหมายเหตุจะเป็นจักรกลหลักของการจัดเก็บเอกสาร และเมื่อนั้นจะนำไปสู่ประวัติศาสตร์ของมหาชนที่เป็นจริงขึ้นได้ จดหมายเหตุเสียงอาจจัดเก็บเรื่องราวงานเทศกาลklopse หรือวงดนตรีประเภท marimba ในเมืองเคปทาวน์ หรือการบอกเล่า "ความเป็นผิวสี" ใน เรื่องราวที่แตกต่างออกไป เช่น เรื่องราวของคนแอฟริกันในเคปทาวน์ หรือส่วนอื่นๆ ของคาบสมุทร หรืออีกที่ เราสามารถบันทึกอิทธิพลทางดนตรีที่ส่งข้ามไป-มาระหว่างปลายคาบสมุทรและพื้นที่ส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็น Kimberly, Namaqualand, Mozambique เป็นต้น หรือกระทั่งการบันทึกความเคลื่อนไหวทางการเมืองของสาธารณชน โครงการที่สามารถดำเนินการได้เหล่านี้ สามารถดำเนินการด้วยการบันทึกภาพ-เสียงและการจัดเก็บที่สมบูรณ์ขึ้นอีก   ข้อท้าทายหนึ่งในการทำงานประเภทนี้คือ การสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสถาบันการศึกษามืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญAnthony Seeger นัก จดหมายเหตุเสียงผู้คร่ำหวอด เตือนเราถึงความสำคัญของการบันทึกจากสนาม การบันทึกเสียงเป็นทรัพยากรที่ประเมินค่าไม่ได้ไม่ว่าจะมาจากส่วนไหนของโลกก็ตาม การบันทึกจากสนามเพื่องานวิชาการมีคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์ และโดยส่วนใหญ่ มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เนื้อหาของการบันทึกไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดหรือใส่ใจต่อผู้ฟัง การใช้งานไม่ได้เป็นไปตามกฏหมายลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ และโดยมากจะใช้เพื่อการวิจัย   อย่างไรก็ตาม หากเราจะดำเนินโครงการผลิตความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกเสียงใดๆ เราต้องระวังตนเองไม่ให้ตกอยู่ภายใต้กับดักของอดีตจักรวรรดินิยมและการล่าอาณานิคม จดหมายเหตุเสียงที่เคยเป็นมามีความใกล้ชิดกับการทำงานของมานุษยวิทยาการดนตรี(ethnomusicology) การบันทึกเสียงเป็นวิธีการที่ดีในการสร้างความรู้ แต่ก็มีอันตรายอย่างที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ชาติพันธุ์วิทยา ชาติพันธุ์วรรณนา และมานุษยวิทยา ได้กระทำไว้ในช่วงการล่าอาณานิคม การบันทึกเสียงในห้วงเวลานั้นก่อตัวเป็นจักรวรรดิทางปัญญาและวัฒนธรรม การบันทึกเสียงกลายเป็นเครื่องมืออันดีเยี่ยมของเหล่านักมานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยาการดนตรี เพื่อเดินทัพและเข้าครอบครองวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ลายลักษณ์ของสถานที่ที่แปลกตา แต่กลับงดงาม (exotic places)   ในโลกหลังอาณานิคมอย่างทุกวันนี้ การบันทึกเสียงพยายามดิ้นร้นให้พ้นจากอดีตอาณานิคม การบันทึกเข้ามารับใช้ต่อชุมชนท้องถิ่น ด้วยวิธีการอันทรงพลังของกระบวนการชาติพันธุ์วรรณา ประวัติศาสตร์บอกเล่าและมานุษยวิทยาการดนตรีที่ได้มอบไว้ให้ จดหมายเหตุเสียงอาจกลายเป็นเครื่องมือทรงพลังสำหรับนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว หรืออาสาสมัครของพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งด้วยการสร้างมรดกภาพ-เสียงของตนเอง หรือแม้แต่การช่วยให้ชุมชนในโลกที่ 3 ต่อ รองในสิทธิการครอบครองมรดกวัตถุ จดหมายเหตุเสียงจำเป็นต่อการปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนตามกฏหมายลิขสิทธิ์ ระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งคืนมรดกวัตถุวัฒนธรรม   จดหมายเหตุเสียงกลายเป็นธนาคารของความทรงจำที่จะทำให้ชุมชนที่เคยถูกกดขี่และเบียด ขับออกไปจากสังคมให้กลับมามีความสำคัญ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เขตหกเปรียบเหมือนกับการเรียกร้องสิทธิของผู้คน และผลักดันให้ชนชั้นล่างได้มีฐานะทางการเมืองและวัฒนธรรมในความเป็นเมืองเคปทาวน์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ประกาศอย่างแรงกล้าที่จะช่วงชิงการจัดประเภท และการนำเสนอภาพเกี่ยวกับตนเอง คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า สมาชิกของเขตหกมีสิทธิที่จะควบคุมวิถีทางที่กล่าวถึงตนเอง นั่นหมายถึงเขาสามารถพูดได้"ด้วยตัวเขาเอง" ความทรงจำของทุกคนเกี่ยวกับเขตหก ตั้งแต่นักประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้าเอง นักประพันธ์ ช่างทาสี หรือบุคคลธรรมดาทั้งชายและหญิงล้วนมีค่ายิ่งนัก ด้วยเหตุนี้ การบันทึกเสียงจากปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มได้สถาปนาหนทางใหม่ในการจัดการความ รู้ทางวัฒนธรรม   คลังสะสมมรดกภาพ-เสียงสะท้อนความเป็นอยู่ของเมืองในยุคแรกๆ นั่นคือภาพของเคปตะวันตก (West Cape) เช่น เขตหกมีความสำคัญเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของวรรณกรรมชนผิวดำแอฟริกาใต้และการแสดง ชื่อซึ่งเป็นรู้จัก ไม่ว่า ริชาร์ด ริฟ (Richard Rive) อเล็กซ์ ลา กูมู (Alex La Guma) อับดุลลาห์ อิบราฮิม (Abdullah Ibrahim) เบซิล โกเอซี (Basil Coetzee) โมเซส โกตาเน (Moses Kotane) และเกอร์ฮาร์ด เซโกโต (Gerhard Sekoto) ล้วน แต่มีความเกี่ยวข้องทั้งสิ้น เขตหกยังพ้องกับงานเทศกาล การเต้นรำ ศาสนดนตรี การแสดงหลากรูปแบบ การเมืองภาคประชาชน และนักคิดที่เป็นที่รู้จัก เขตหกจะเชื่อมโยงความเป็นอยู่ชีวิตคนงานในเมือง การต่อสู้กับเชื้อชาตินิยม (racism) ใน เมืองเคป ทาวน์ และการปลดปล่อยความทรงจำของการกดขี่หรือชีวิตเกย์ และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าเป็นขุมประสบการณ์มนุษย์ให้เราได้สำรวจกันต่อไป   แม้ว่าการสืบค้นเริ่มต้นที่ชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงาน แต่ความสนใจขยายเพิ่มออกไปเกี่ยวกับคนและสถานที่ที่หลากหลายมากขึ้น แน่นอนว่าสถานที่บางแห่งสัมพันธ์กับการแบ่งแยกสีผิว หรือการแบ่งแยกที่มาจากสาเหตุอื่น นิกาย ความเชื่อ ศาสนา หรือภาษา ด้วยเหตุนี้ จดหมายเหตุเสียงสามารถบันทึกเรื่องเล่าที่แตกต่างเกี่ยวกับอดีต และยังสามารถพัฒนาเป็นคลังความรู้สาธารณะเกี่ยวกับอดีตและปัจจุบันได้เป็น อย่างดี   จดหมายเหตุเสียงและชุมชน จดหมายเหตุเสียงทำหน้าที่เป็นธนาคารความทรงจำให้กับชุมชน การเก็บบันทึกมุ่งไปที่ประสบการณ์และแง่มุมของชนชั้นล่างและคนชายขอบ เพื่อเป็นกระจกสะท้อนรูปแบบของอำนาจทั้งที่เปิดเผยและปกปิดในเมือง ภารกิจหลักคือจัดเก็บและบันทึกประสบการณ์จากชีวิตของชุมชน ทั้งรากเดิมและความเปลี่ยนแปลง ทั้งชีวิตการทำงาน และชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงาน เครื่องมือนี้จะเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงออกและนำเสนอตน เอง   พิพิธภัณฑ์เขตหกมีทั้งเรื่องที่สรรเสริญและวิจารณ์ เช่นการจัดแสดงที่ทำขึ้นอย่างหยาบๆ ภาพครอบครัว และเทคนิคที่มีต้นทุนต่ำ อาทิ การใช้เอกสารสำเนาในฉากจำลอง และการจัดวางวัตถุ แผนที่ และเสื้อผ้าอย่างเรียบง่าย นิทรรศการ"ถนน" ที่ศิลปินอย่าง ทินา สมิธ (Tina Smith) และเพ็กกี้ เดล พอร์ต (Peggy Delport) เข้า ร่วม ได้แสดงถึงลักษณะเฉพาะของชุมชน อย่างไรก็ตาม โครงการจดหมายเหตุเสียงกลายเป็นข้อท้าทายใหม่ในการทำงานของโลกยุคดิจิตอล เพราะจุดประสงค์สำคัญคือ การจัดเก็บมรดกเสียงและเปิดโอกาสให้สมาชิกของชุมชนได้ใช้ประโยชน์ เราเปิดโอกาสให้กระบวนการทำงานมาจากทุกฝ่าย และอาศัยเทคโนโลยีระบบดิจิตอลเช่น แผ่นซีดี ซีดี-รอม หรือแผ่นดีวีดี   จดหมายเหตุเสียงของชุมชนมีบทบาทในระยะยาวและพัฒนาเคียงคู่ไปกับผู้คนที่บันทึกความทรงจำ จดหมายเหตุเสียงทำหน้าที่เป็น"รับฝาก" ความ ทรงจำเพื่อการใช้งานในอนาคต ดังกรณีในออสเตรเลีย จดหมายเหตุเสียงใช้ในกระบวนการตั้งถิ่นฐานและเรียกร้องที่ดินของชาวอะบอริจิ น เจ้าของวัฒนธรรมผู้แสดงบทเพลงที่เนื้อหาบอกเล่าประวัติของพื้นที่ ย่อมมีสิทธิเหนือดินแดนอันเป็นที่มาของบทเพลง   จดหมายเหตุเสียงของชุมชนจะช่วยเผยแพร่แหล่งทรัพยากรวัฒนธรรมไปในวงกว้าง การริเริ่มโครงการจดหมายเหตุใหม่ๆ ทำให้เกิดแรงผลักดันในการทำงาน ทั้งในแอฟริกาตะวันตกและในพื้นที่อีกหลายแห่งเช่นแซมเบีย(Zambia) ดังตัวอย่างของการทำงานของพิพิธภัณฑ์นายุมมิ (Nayume Province) ในจังหวัดตะวันตกของแซมเบีย ที่บันทึกดนตรีพื้นถิ่นในเขตชนบทของแซมเบีย นอกจากนี้ ความสนใจในดนตรีพื้นถิ่นหรือ world music ได้ ผลักดันเงินทุนและการสนับสนุนจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ล่าสุดเมื่อข้าพเจ้าเข้าชมหอจดหมายเหตุดนตรีพื้นถิ่นในบลุมิงตัน รัฐอินเดียนา (Bloomington, Indiana) ข้าพเจ้าได้ทำความรู้จักกับนักวิชาการชาวเซเนกัล (Senegal) เขาได้กลับมาที่มหาวิทยาลัย หลังจากที่ได้จบการศึกษา 20 ปี เขาได้สำเนาบันทึกภาคสนามในขณะเป็นนักศึกษาสาขามานุษยวิทยาการดนตรี เพื่อนำกลับไปยังประเทศของตน ลองคิดดูว่าเซเนกัลมีจดหมายเหตุเสียงที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์   อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่ควรระวังอยู่ไม่น้อย จดหมายเหตุของชุมชนควรตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนในในการใช้ประโยชน์ด้วย เช่นกัน สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนได้จากภาพยนตร์เรื่องWatermelon Woman ผู้กำกับ เชอริล ดันนี (Cheryl Dunye) แสดงเป็นนักรณรงค์หญิงรักหญิง (lesbian activist) และผู้สร้างภาพยนตร์ เธอค้นหาชีวประวัติของนักแสดงหญิงชาวแอฟริกันอเมริกันในช่วงทศวรรษ 1940 จากภาพยนตร์ที่มีชื่อเดียวกัน Watermelon Woman ช่วงหนึ่งของภาพยนตร์กล่าวถึงตัวละครเอกที่เข้าไปค้นหาข้อมูลจดหมายเหตุของชุมชนหญิงรักหญิง (หรือในนามย่อ CLIT) นัก จดหมายเหตุได้โยนกล่องที่บรรจุภาพถ่ายและกระดาษลงพื้น แล้วเดินจากไป ปล่อยให้ตัวละครเอกค้นหาเอกสารต่างๆ และหลุดลอยไปกับข้อมูลในกล่องนั้น   ฉากที่หยิบยกมานี้พยายามสะท้อนถึงความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูล ว่าอาจจะมีความสำคัญในอันดับต้นนอกเหนือไปจากการอนุรักษ์ ฉากได้ตั้งคำถามถึงความสมดุลย์ของความต้องการของชุมชนในระยะสั้นและการเก็บ รักษาในระยะยาว และแน่นอนว่าจดหมายเหตุของเขตหกเองไม่ได้เผชิญกับปัญหาดังกล่าวเป็นคนแรกๆ   อย่างไรก็ตาม จดหมายเหตุของชุมชนไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้ความรับผิดชอบทุกอย่างตกอยู่กับเจ้าของวัฒนธรรม เราใช้เวลา18 เดือน ในการเตรียมการและพัฒนาความรู้พื้นฐานและระบบตามโครงการจดหมายเหตุที่ได้ริ เริ่มขึ้น รวมไปถึงการวางแผนและแนวทางปฏิบัติเชิงสถาบัน การดำเนินงานอย่างจริงจังทั้งการสืบค้นและจัดเก็บ การให้บริการและการอนุรักษ์จะเริ่มต้นในปี 2000 เมื่อจดหมายเหตุเปิดให้บริการกับสาธารณชน   เราจะจัดลำดับการทำงานและเชื่อมโยงกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ(National Archives) และหอภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และจดหมายเหตุเสียงแห่งชาติ (National Film, Video and Sound Archives) เรา เชื่อว่าการทำงานจดหมายเหตุเสียงจะต้องอยู่ในลักษณะความร่วมมือเชิงนโยบาย และกลยุทธ์ เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนในการทำงาน เรายังมีหน่วยงานย่อยที่รับผิดชอบงานในลักษณะคล้ายคลึงกัน ทั้งศูนย์มายีบูย (Mayibuye Center) โครงการประวัติศาสตร์บอกเล่าของเคปตะวันตก (Western Cape Oral History Project) และซี เอ เอ็ม เอ (CAMA)   ท้ายนี้ เราเห็นว่างานจดหมายเหตุเสียงเป็นงานที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ลักษณะเด่นของโครงการอยู่ที่การอภิปรายและถกเกียงถึงเนื้อหาและรูปแบบการทำ งานอย่างไม่สิ้นสุดไปด้วยเช่นกัน คำถามที่ข้าพเจ้าปรารถนาจะทิ้งท้ายไว้คือ เราจะจัดสัดส่วนการทำงานเช่นใด ทั้งการจัดเก็บบันทึกความทรงจำ การสร้างองค์ความรู้ และการให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนและเอื้อประโยชน์ต่อสาธารณชนในระดับที่กว้างมากขึ้น?   แปลและเก็บความจาก Valmont Layne, "the Sound Archives at the District Six Museum: a work in progress" Archives for future, Global Perspectives on Audiovisual Archives in the 21st Century. Anthony Seeger and Shubha Chaudhuri (ed.). Calcutta: Seagull Books, 2004, pp. 183 - 195.  

ถอดรหัสงานอนุรักษ์

22 มีนาคม 2556

บทบาทของนักอนุรักษ์กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากนักอนุรักษ์ที่อยู่หลังห้องก้าวมาเป็นนักเคลื่อนไหวที่กล้ามีปากมีเสียง เรียกร้องในเรื่องการปกป้องคุ้มครองและอนุรักษ์มรดกวัตถุของมนุษยชาติ ขณะเดียวกันก็เป็นนักสืบผู้ไขข้อมูลด้านใหม่ๆ ของชนิดวัสดุและความหมายของวัตถุ   แม้ว่าพิพิธภัณฑ์จะเป็นจุดหมายลำดับท้ายๆ ในวิถีการดำเนินชีวิต แต่ผู้คนก็ยังคงไปพิพิธภัณฑ์ด้วยเพียงเหตุผลง่ายๆ อย่างเดียวคือเพื่อศึกษาเรียนรู้ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ชมได้เห็นนิทรรศการก็มักชื่นชมทึ่งกับความชาญฉลาดในการ สรรสร้างวัตถุและความสวยงามของการจัดแสดง น้อยคนนักที่จะตระหนักถึงทีมงานมืออาชีพทั้งหมดที่ร่วมกันทำงานอย่างพิถี พิถันเพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่น่ารื่นรมย์ให้แก่ผู้ชม   นอกจากภัณฑารักษ์แล้ว นักออกแบบภาพกราฟฟิคและนิทรรศการยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างอารมณ์ ความรู้สึกและดึงความงามจากวัตถุให้เผยออกมา มีนักออกแบบแสงและช่างเทคนิครวมทั้งนักการศึกษาเป็นผู้สร้างชีวิตชีวาให้กับ นิทรรศการผ่านงานสื่อสิ่งพิมพ์ โปรแกรมและกิจกรรมต่างๆ ท้ายที่สุดคือนักอนุรักษ์ที่มีบทบาทสำคัญมิใช่น้อย ทั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นผู้ออกมายืนยันรับรองสถานภาพของวัตถุว่าอยู่ในสภาพดี เท่านั้น หากแต่ยังต้องให้คำแนะนำแก่ผู้ร่วมทีมที่เหลือทั้งหมดถึงวิธีการที่ดีที่สุด ในการจัดวางและแสดงวัตถุ ปัจจุบันนักอนุรักษ์แสดงบทบาทสำคัญเป็นนักสืบผู้ช่วยภัณฑารักษ์ในการไข ปริศนาเจาะลึกเรื่องวัสดุและความหมายของการสร้างวัตถุ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของนักอนุรักษ์ช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้เหล่าภัณฑารักษ์และนักวิชาการได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลสืบต่อจากงานวิจัย ที่มีอยู่เดิม   โดยสามัญสำนึกแล้ว งานอนุรักษ์เป็นงานที่ต้องอุทิศตนอย่างอดทนในการสร้างความมั่นใจว่าวัตถุ มรดกทางวัฒนธรรมได้รับการปกป้องอย่างดีเพื่อเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นต่อไปใน อนาคตซึ่งวัตถุเหล่านี้มีมากหลากประเภท ได้แก่ ภาพเขียนจิตรกรรม เอกสารสิ่งพิมพ์หรือต้นฉบับลายมือเขียน ผ้าทอ เครื่องแต่งกาย วัตถุชาติพันธุ์ วัตถุจากการขุดค้นทางโบราณคดี ชิ้นส่วนโครงสร้างสถาปัตยกรรม สถานที่ทางประวัติศาสตร์ และอื่นๆ อีกมากมาย   งานป้องกันมรดกและวัตถุทางวัฒนธรรมทั้งหมดเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจคุ้นเคย กับปัจจัยสำคัญของการทำให้วัตถุต่างๆ เสื่อมสลายอันมีหลายเหตุปัจจัยบังคับ เช่น แสงสว่าง ความชื้น มลพิษ สัตว์แมลง และการหยิบจับ ซึ่งล้วนแล้วแต่เร่งให้วัสดุเกิดการชำรุดเสียหาย ในพิพิธภัณฑ์การควบคุมที่เหมาะสมและการหมุนเวียนวัตถุจัดแสดง ตลอดจนการจัดเก็บในห้องคลังเป็นตัวแปรเสริมที่สำคัญ กิจกรรมดังกล่าวเป็นงานในลักษณะป้องกันความเสื่อมสลายของวัตถุที่ผู้เยี่ยม ชมมักไม่เห็นหรือสังเกตได้ในทันที อีกนัยหนึ่งคือ “การทำให้มองไม่เห็น” เป็น ภารกิจงานหลังฉากที่ต้องปิดซ่อนทำให้มองไม่เห็นร่องรอยการบำรุงรักษาเพื่อ ซ่อมแซมหรือฟื้นฟูวัตถุที่ชำรุดเสียหาย และประเด็นปัญหาที่สามของงานอนุรักษ์ คือ การปลูกจิตสำนึกและตระหนักรู้ถึงหลักการป้องกันรักษาและงานอนุรักษ์ให้ขยาย วงกว้างออกไปอย่างไม่ย่อท้อแม้จะบรรลุผลช้าแต่มั่นคง อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการอนุรักษ์ ทั้งนี้ด้วยมีความตระหนักมากขึ้นว่ามรดกทางวัฒนธรรมมิใช่แค่วัตถุที่มีอยู่ ในรั้วพิพิธภัณฑ์เพียงสองสามแห่งเท่านั้นแต่ยังหมายรวมถึงวัตถุที่เป็นมรดก สะสมส่วนบุคคลด้วย และในแง่มุมสุดท้ายนี้เองที่สร้างเวทีให้กับงานด้านอนุรักษ์ภายใต้กรอบการทำ งานที่กว้างและครอบคลุมงานทุกด้านของการสงวนรักษาเพื่อสรรหาวิธีการที่ดีและ เหมาะสมกลมกลืนที่สุดมาใช้ดูแลรักษาวัตถุ(รูปธรรม) เหล่า นั้นให้ดำรงคงอยู่ยาวนานขึ้นเพื่อบอกเล่าความหมายต่อให้กับคนรุ่นถัดไป งานสงวนรักษาจึงไม่เพียงเฉพาะการเสริมโครงสร้างกายภาพของวัตถุและการบำรุง ป้องกันซึ่งเป็นงานอนุรักษ์ หากแต่ยังรวมถึงงานด้านแผนนโยบาย ปรัชญาและการสนับสนุนส่งเสริมซึ่งเน้นย้ำและนำไปสู่พันธหน้าที่อันดับแรกของ นักอนุรักษ์   มีผู้คนและองค์กรที่เสียสละและใช้ความพยายามทั้งหมดในการปกป้องและ(แง่มุม)การ นำเสนอวัฒนธรรมและมรดกของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่พวกเขาได้เสาะแสวงหาวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่ครบสมบูรณ์ทั้งในฐานะ วัตถุสะสมส่วนบุคคลและส่วนรวม โดยมีความเข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนเกี่ยวกับหลักการอนุรักษ์ไม่ให้วัตถุ เกิดความเสียหาย นับเป็นพัฒนาการที่ดีในระยะยาวของการสงวนรักษาวัสดุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม   การฉายแสงอินฟราเรดบนมรดกวัตถุ             ก่อนลงมือปฏิบัติการซ่อมสงวนเป็นเรื่องสำคัญมากที่นักอนุรักษ์และภัณฑารักษ์ต้อง เข้าใจลักษณะธรรมชาติและประวัติความเป็นมาของชนิดวัสดุที่ต้องการอนุรักษ์ เพื่อการจัดเก็บรักษาและจัดแสดงในระยะยาวซึ่งจำเป็นต้องใช้บุคลากร พิพิธภัณฑ์ที่มีประสาทสัมผัสไว โดยพวกเขาจะสนทนาแลกเปลี่ยน ถกเถียงและอภิปรายให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ผลลัพท์เป็นที่ยอมรับสำหรับแนวทาง ปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุดในตอนท้าย               วิธีการทางตรงที่จะสกัดให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับมรดกวัตถุทางวัฒนธรรมคือการ วิเคราะห์รายละเอียดของเทคนิคและการพิสูจน์ทดสอบวัสดุนั้นๆ ซึ่งจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของชนิดวัสดุรวมทั้งลักษณะสภาพของวัตถุ ในทางกายภาพ นักอนุรักษ์และนักวิทยาศาสตร์ได้นำกระบวนการวิเคราะห์และแนวคิดนอกกรอบการ อนุรักษ์ที่หลากหลายมาพัฒนาประยุกต์เป็นผลสำเร็จเพื่อใช้ในการศึกษาและทำ ความเข้าใจวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์             มีบางเทคนิคที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายถูกนำมาใช้ทดสอบและวิเคราะห์วัตถุ ได้แก่ การส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดสเตอริโอ (Stereo-Microscopy) เทคนิคฉายเรืองแสงรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (Ultra-Violet Radiation Fluorescence) รังสีเอ็กซ์ (X-Radiography) การวัดค่าความยาวคลื่นรังสีอินฟราเรดของอะตอมในอนินทรีย์วัตถุ (in-situ Fourier-Transform Infra-Red Spectrometry) และการวัดค่าความยาวคลื่นรังสีเอ็กซ์ (X- Ray Fluorescence Spectrometry) ด้วยขนาดอนุภาคเล็กจิ๋วจากชิ้นส่วนของวัสดุสามารถใช้วิเคราะห์แสดงผลคุณลักษณะสีในแนวตัดขวาง(Paint cross-section analysis) วิเคราะห์อนุภาคเม็ดสี (Pigment particle analysis) และวิเคราะห์องค์ประกอบโครงสร้างพื้นฐาน (Fibre analysis) ยิ่ง ไปกว่านั้นยังสามารถขยายใหญ่ขึ้นได้ด้วย เราสามารถดูพื้นผิวในจุดที่เล็กขนาดเท่านาโนได้โดยการใช้กล้องสแกนอิเล็ค ตรอน และวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุด้วยการใช้วิธีการวัดค่าคลื่นกระจายพลังงาน (Energy Dispersive Spectrometry) การวิเคราะห์ทางเคมีช่วยให้การระบุชนิดวัสดุของมรดกวัตถุทางวัฒนธรรมได้เป็นผลสำเร็จ ประกอบด้วยการแยกองค์ประกอบของสาร (Gas Chromatography) การแยกองค์ประกอบส่วนผสมทางเคมี (High Performance Liquid Chromatography) การวัดค่าอนุภาคมวลโมเลกุลจากอะตอมที่มีประจุไฟฟ้า (Mass Spectrometry) และการวัดหาค่าที่สองของอะตอมที่มีประจุไฟฟ้า (Second Ion Mass Spectrometry)                 ภัณฑารักษ์และนักประวัติศาสตร์ศิลปะจะเป็นผู้ใช้ข้อมูลในเรื่องรายละเอียดจากเครื่อง ตรวจจับความไวสูงรังสีอินฟราเรดบนแถบสเป็กตรัมแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งแทรกซึมผ่าน ชั้นสีได้มากกว่าลำแสงที่ตามองเห็น ขณะที่วัสดุต่างชนิดจะดูดซับ สะท้อนและเป็นสื่อตัวกลางให้ระดับค่ารังสีอินฟราเรดที่ผันแปร เครื่องตรวจจะจับภาพที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าซึ่งเผยให้เห็นการ เปลี่ยนแปลงแก้ไขที่ศิลปินทำขึ้นก่อนหลายครั้งเพื่อจัดวางองค์ประกอบของภาพ เขียน               ข้อมูลที่ได้มานั้นทำให้ได้มุมมองใหม่ว่าการสร้างงานศิลปะค่อยๆ พัฒนาขึ้นอย่างไรทั้งยังเอื้อประโยชน์ให้แอบดูกระบวนการทางความคิดของศิลปิน ได้ด้วย นอกจากนี้เรายังได้ข้อมูลเกี่ยวกับสี เม็ดสีและเทคนิคที่ศิลปินใช้ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับกระบวนการอนุรักษ์ใน คราวต่อไป   ภาพเหมือนของศิลปิน กรณีศึกษาทางเทคนิคในประวัติศาสตร์ศิลปะ             ในปี ค.ศ. 2006 ศูนย์อนุรักษ์มรดก (Heritage Conservation Centre) ได้ทำการศึกษาภาพเขียนชุดหนึ่งของศิลปินชาวสิงคโปร์นามว่า ‘หว่อง ซิน โยว’ (Wong Shih Yaw) ด้วย เทคนิคฉายอินฟราเรดและเป็นส่วนหนึ่งของงานโครงการวิจัยการอนุรักษ์ การฉายอินฟราเรดเป็นเทคนิคที่เชื่อว่าเหมาะสมที่สุดด้วยเป็นเครื่องมือที่ ไม่ต้องใช้ชิ้นส่วน ตัวอย่างจากภาพเขียนดังนั้นจึงไม่เป็นการทำลายใดๆ ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมากในงานอนุรักษ์เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่ กระทำอันตรายต่อวัตถุที่นำมาทดสอบและปฏิบัติ   จาก การศึกษาภาพเขียนของหว่องด้วยการฉายอินฟราเรด ทำให้เราสามารถสรุปได้ว่าศิลปินนั้นค่อนข้างพิถีพิถันเป็นอย่างมากในการทำ ให้แน่ใจว่าภาพร่างองค์ประกอบของเขานั้นจัดวางได้อย่างเที่ยงตรงแม่นยำบนผืน ผ้าใบหรือแผ่นป้ายก่อนที่เขาจะลงสีต่อให้เสร็จ หลักฐานที่สำคัญคือหว่องใช้เส้นตีตาราง (Grid line) ในการสร้างรูปวัตถุทรงกลม ได้แก่ จาน ชาม ในงานชุดภาพเขียนหุ่นนิ่ง (Still life) ที่สวยงามละเอียดลออของเขา และผลงานชิ้นใหญ่ของเขาภายใต้ชื่อ ‘การฟื้นคืนชีพของพระคริสต์’ (The Resurrection of Christ) เราสามารถแยกแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลง 2 แห่ง ที่แตกต่างกันในบริเวณที่มองเห็นได้ไม่ชัดเจนนักซึ่งทำขึ้นเพื่อสร้างองค์ ประกอบรวมของภาพ อีกทั้งยังสามารถค้นหาแยกพื้นผิวบนภาพเขียนที่ศิลปินใช้สีเข้มข้นเมื่อเรานำ อินฟราเรดไปส่องด้านหลังของผืนผ้าใบเพื่อฉายและถ่ายออกมาเป็นภาพอินฟราเรด   ภาพอินฟราเรดขององค์ประกอบภาพและผลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของ หว่องช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นในการลอกเลียนกระบวนการทำงานของเขาได้โดยตลอด ข้อมูลการสัมภาษณ์ศิลปินอย่างไม่เป็นทางการในช่วงต้นปี ค.ศ. 2007 ช่วย ยืนยันข้อค้นพบและทำให้เกิดการถกเถียงมากขึ้น ซึ่งการแลกเปลี่ยนนี้ยังเปิดวงกว้างให้กับการศึกษาโดยเฉพาะในประเด็นที่ ศิลปินตัดสินใจใช้ภาพแบบร่างและนำมาประกอบรวมกันเป็นภาพสุดท้ายเมื่อวาด เสร็จได้อย่างไร   ในส่วนข้อมูลวัสดุและโครงสร้างของภาพเขียนมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการสืบเสาะ หาความหมายและตีความผลงานทางศิลปะของตัวศิลปิน เช่นเดียวกันกับเทคนิคการทดสอบและวิเคราะห์ที่เผยให้เห็นมูลค่าของข้อมูล อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากวัตถุนั้นมิได้อยู่ในความดูแลครอบครองของพิพิธภัณฑ์ การประสมประสานเทคนิคการทดสอบและระเบียบวิธีการวิเคราะห์ที่หลากหลายสามารถ นำเสนอมุมมองพิเศษที่ขยายเพิ่มองค์ความรู้ที่มีอยู่จากบันทึกหน้าประวัติ ศาสตร์ และเอื้อประโยชน์ให้เกิดการตีความสังคมและมรดกวัตถุได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น   หลักปฏิบัติของการอนุรักษ์ เทคนิคการทดสอบที่มีรายละเอียดสมบูรณ์อาจเพียงพอสำหรับการลงมือปฏิบัติงานอนุรักษ์ หากแต่นักอนุรักษ์นั้นหวังที่จะเข้าใจเกี่ยวกับตัววัตถุให้ได้มากที่สุดเท่า ที่จะทำได้จนกว่าจะตัดสินใจเลือกวิธีการและวัสดุใดที่นำมาใช้ป้องกันรักษา ให้ได้ผลอย่างเต็มที่ในระยะยาว   นักอนุรักษ์ยึดมั่นแนวทางหลักปฏิบัติ 3 ประการเพื่อที่จะลดผลกระทบความเสียหายใดๆ ในระยะยาวที่ก่อเกิดจากการกระทำของตน หลัก 3 ประการนี้ ได้แก่ 1)       เสริมเติมให้น้อยที่สุด 2)       แข็งแรงมั่นคง และ 3)       กลับคืนสู่สภาพเดิมได้   หลักปฏิบัติของการเสริมเติมให้น้อยที่สุดเป็นผลมาจากจิตสำนึกที่ว่างานอนุรักษ์ และฟื้นฟูนั้นสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการมองและรู้สึกต่อวัตถุได้อย่างมีนัย สำคัญ ดังนั้นเพื่อที่จะคงไว้ซึ่งรูปร่างลักษณะและวัสดุดั้งเดิมของวัตถุไว้ให้ได้ มากที่สุดการสงวนบำรุงรักษาจึงลงมือปฏิบัติเฉพาะบริเวณที่ชำรุดเสียหายเท่า นั้น ไม่มากและไม่น้อยไปกว่านี้ ซึ่งสิ่งนี้เรียกได้ว่าเป็นการตัดสินที่บริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกใช้ วัสดุและเทคนิคในสัดส่วนที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดในการรับมือกับปัญหาตรง หน้า   การสงวนบำรุงรักษาและความพยายามทั้งหมดนั้นก็เพื่อแสวงหาผลสำเร็จสูงสุดในการปก ป้องวัตถุระยะยาว ดังนั้นวัสดุใหม่ชิ้นใดก็ตามที่เติมเสริมลงไปเพื่อซ่อมแซมหรือเสริมความแข็ง แรงให้กับวัตถุจะต้องมีลักษณะโครงสร้างทางกายภาพและทางเคมีคงที่ในระยะยาว เช่นเดียวกัน ทั้งยังไม่ควรมีความเสี่ยงต่อผลกระทบข้างเคียงที่ทำอันตรายซึ่งอาจจะเกิด ขึ้นได้จากการใช้วัสดุไม่คงที่หรือมีคุณสมบัติต่ำกว่าของเดิม หลักปฏิบัติในขั้นตอนสุดท้ายคือการทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้นั้นเป็นอีก หนึ่งข้อที่ต้องเข้มงวด ซึ่งแนวคิดนี้เป็นอุดมคติมากกว่าจะใช้ปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้เป็นเพราะนักอนุรักษ์คาดหวังว่าวัสดุชนิดใดก็ตามที่ใช้เติมเพิ่ม เพื่อซ่อมแซมวัตถุจะต้องปรับเปลี่ยนได้หากในอนาคตมีวัสดุหรือเทคนิควิธีการ ที่ดีกว่า อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่กรณีที่จะเกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีที่จำกัดเสมอไป จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการปะทะกันระหว่างการหยุดยั้งเวลาไว้ด้วยการใช้ วัสดุซึ่งปกติคงที่อยู่แล้วแต่ลอกออกไม่ได้ง่ายกับความต้องการมั่นใจว่า งานอนุรักษ์ในวันนี้จะไม่เป็นอุปสรรคของการพยายามอนุรักษ์วัตถุชิ้นเดิมใน อนาคต   บทบาทของนักอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑ์นั้นทั้งท้าทายและหลากหลายมากขึ้น ในอดีตพวกเขาทำงานอนุรักษ์ฟื้นฟูอยู่หลังห้องมาเป็นเวลานานโดยไม่มีใคร สังเกตเห็นเพื่อช่วยกอบกู้ความงดงามของวัตถุกลับคืนมา ปัจจุบันนักอนุรักษ์ถูกคาดหวังให้เป็นมากกว่านักเทคนิคผู้เชี่ยวชาญ ต้องค่อนข้างมีความมั่นใจกล้าพูดอธิบายความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ได้อย่าง ชัดเจน มีทัศนคติที่เห็นความสำคัญทั้งกับผู้ที่ถือประโยชน์ร่วมกันและผู้ร่วมงานใน สาขาวิชา เดี๋ยวนี้นักอนุรักษ์ต้องเป็นผู้สนับสนุนงานป้องกันรักษาที่จำเป็นสำหรับ วัฒนธรรมและมรดกของเราในระยะยาวมากพอๆ กับที่นักอนุรักษ์พยายามที่จะบรรลุเป้าหมายกระตุ้นให้คนรุ่นหนุ่มสาวยุค ปัจจุบันมองเห็นความสำคัญและสนใจอดีตความเป็นมาของชาติเพิ่มมากขึ้น และเพื่อสิ่งที่ดีกว่าสำหรับทุกคนด้วยเช่นกัน   คำอธิบายเพิ่มโดยผู้แปล 1) รังสีอินฟราเรด (IR radiation)ดูด กลืนวัสดุสีดำได้เป็นอย่างดี เช่น ดินสอ สีชอล์ก หรือหมึกสีดำ และผ่านทะลุผ่านชั้นสีหรือชั้นเคลือบบางๆ ได้ จึงสามารถใช้ตรวจสอบภาพสเกตซ์ที่อยู่ภายใต้ภาพเขียนสีได้ โดยใช้กล้องอินฟราเรดช่วยจับภาพ 2) กล้องจุลทรรศน์ชนิดสเตริโอ เป็นกล้องที่ให้กำลังขยายต่ำกว่าปกติ 10-50 เท่า โดยสามารถใช้ทดสอบตัวอย่างที่เป็นสามมิติได้  3) รังสีอัลตราไวโอเลต (UV radiation)ใช้ ตรวจสอบและกำหนดอายุของวัสดุที่มีสารอินทรีย์เป็นองค์ประกอบ ทั้งนี้เพราะวัสดุหลายชนิดเรืองแสงภายใต้รังสียูวี ซึ่งลักษณะการเรืองแสงขึ้นอยู่กับชนิดและความเก่าแก่ของวัสดุนั้นๆ เช่น หินอ่อนโบราณเรืองแสงเป็นจุดสีเหลืองและฟ้า ขณะที่หินอ่อนยุคใหม่ปรากฏเป็นสีแดงอมม่วงภายใต้แสงยูวี หรือในภาพเขียนที่มีอายุนาน สารอินทรีย์ในภาพนั้นจะทำให้เห็นการเรืองแสงชัดเจน ในขณะที่สีที่ถูกระบายตกแต่งขึ้นใหม่นั้นจะไม่เกิดการเรืองแสง 4) รังสีเอ็กซ์ (X-radiography) เป็น รังสีที่สามารถทะลุผ่านวัสดุได้ดีที่สุดกับวัสดุที่ประกอบด้วยธาตุเบา ได้แก่ ไม้ กระดูก เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น เช่น การฉายรังสีเอกซ์กับตัวอย่างมัมมี่ทำให้เราเห็นภาพภายในได้โดยไม่ต้องแกะผ้า พันศพ 5) XRF (X-ray Fluorescence) เมื่ออะตอมของธาตุใดธาตุหนึ่งในวัสดุ (ยกเว้นธาตุที่เบาเกินไป เช่น ต่ำกว่าโซเดียม) ถูกกระตุ้น โดยการฉายรังสีเอ็กซ์ หรือการระดมยิงด้วยอิเล็กตรอนพลังงานสูงจะทำให้เกิดการปล่อยรังสีเอกซ์ที่มี ค่าความยาวคลื่นหรือพลังงานเฉพาะตัวออกมา โดยที่ความยาวคลื่นหรือพลังงานที่ปล่อยออกมาจากแต่ละธาตุจะไม่ตรงกัน ทำให้เราระบุได้ว่าในตัวอย่างมีธาตุอะไรอยู่บ้าง 6) Gas Chromatographyเป็น การแยกสารที่เป็นองค์ประกอบในตัวอย่างที่เป็นของเหลวหรือก๊าซ โดยอาศัยหลักการที่ว่า สารแต่ละชนิดเคลื่อนที่ผ่านตัวกลางในอัตราเร็วที่ไม่เท่ากัน ทำให้สามารถแยกออกจากกัน จากนั้นเมื่อเทียบกับสารมาตรฐานก็จะทราบว่าในตัวอย่างมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ที่มา: คำบรรยายเรื่องการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์กับงานอนุรักษ์โบราณวัตถุ โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการฝึกอบรมความรู้การ การอนุรักษ์เชิงป้องกัน จัดโดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ปี 2550   แปลและเรียบเรียง จาก Lawrence Chin . Behind The Scenes: Conservation Decoded. BeMUSE. Vol.01 Issue.02 (Jan-March 2008)   หมายเหตุ ลอว์เรน เฉิน ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานอนุรักษ์ (ภาพเขียน) ศูนย์อนุรักษ์มรดกสิงคโปร์ (Heritage Conservation Centre, Singapore)  

พิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอ โดย Michael M. Ames

22 มีนาคม 2556

แนวคิดของพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์เมือง และความหมายของพิพิธภัณฑ์ที่ไอคอม (ICOM)นิยาม มีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทศแถบตะวันตกในเรื่องการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม แนวคิดดังกล่าวมีนัยยะสองประการ ประการแรกคือมองว่าคอลเล็กชั่นเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องมรดกวัฒนธรรม ดังนั้นประชาชนจะต้องให้ความสนใจต่องานพิพิธภัณฑ์ ประการที่สอง งานพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งดีงามที่ทุกชุมชนควรยอมรับและปรารถนาจะได้มา บทความนี้พยายามจะแสดงให้เห็นว่า เมื่อฐานคิดสองประการดังกล่าวถูกนำไปใช้กับชุมชนท้องถิ่น จะก่อให้เกิดทัศนคติและผลที่ตามมาภายหลังอย่างไร และสนใจว่าอะไรที่ได้รับพิจารณาว่าเป็นมรดกอันทรงคุณค่า และอะไรคือบทบาทที่เหมาะสมของพิพิธภัณฑ์ โดยทั่วไปแล้วผู้ชมกลุ่มหลักของพิพิธภัณฑ์คือ คนชนชั้นกลางและชนชั้นสูง คำถามต่อมาคือ แล้วกลุ่มคนที่พิพิธภัณฑ์ไม่เคยสนใจมาก่อน พิพิธภัณฑ์ควรจะให้อะไรบ้างหรือไม่แก่คนในสังคมที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ คนชายชอบ พิพิธภัณฑ์กระแสหลักจะช่วยพัฒนาวัฒนธรรมคนกลุ่มน้อย คนยากจน หรือคนที่ถูกเลือกปฏิบัติได้อย่างไร? หลายคนกล่าวว่านักพิพิธภัณฑ์วิทยาเป็นเรื่องของคอลเล็กชั่นมากกว่าชุมชน ดังนั้นการที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาให้ชุมชนสนใจงานวัฒนธรรมด้วยตนเองนั้น จำเป็นต้องมีฐานคิดและความชำนาญอีกอย่างหนึ่ง แม้ด้วยเจตนารมณ์อันดีของผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์ ที่รับเอาแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ อาจทำให้การทำงานกับชุมชนมีแนวโน้มที่จะปลอมแปลงข้อเท็จจริงของชุมชนด้วยการผลิตสร้างความคิดที่ว่า ชุมชนต้องพึ่งพาบริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ยิ่งผู้คนถูกกระตุ้นให้พึ่งพาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากเท่าใด พวกเขาก็จะยิ่งพัฒนาความคิดริเริ่มของตนเองได้น้อยลงเท่านั้น ดังนั้นการนำแนวคิดพิพิธภัณฑ์มาใช้กับชุมชนท้องถิ่นโดยปราศจากการปรึกษาหารือกันอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดภาวะพิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอได้ จากนี้ต่อไปบทความนี้จะพิจารณาถึงรูปแบบที่ผิดปกติของการสร้างภาพตัวแทนด้วยตนเอง (self- representation) ในบทความได้นำเสนอตัวอย่าง โครงการ Clemente Humanities Programme ของ Earl Shorris นักวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ โครงการดังกล่าวเป็นการให้การศึกษาด้านมนุษยศาสตร์แก่ผู้ยากจนในเมือง โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการที่เขาได้สัมภาษณ์ผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยติดคุกและติดเชื้อเอชไอวี ทำให้เขาสะดุดคิดกับคำตอบของผู้หญิงคนนี้ที่พูดถึงโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและระดับชั้นทางสังคมมีผลต่อความยากจน การจะขจัดความยากจนได้ จะต้องสอนให้คนเหล่านั้นมีความรู้เกี่ยวกับหลักประพฤติสำหรับการใช้ชีวิตในเมือง (moral life of downtown) และวิธีหนึ่งที่จะให้ความรู้คือ พาไปชมการแสดงละคร พิพิธภัณฑ์ คอนเสิร์ต ฟังบรรยายทางวิชาการ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการคิดตรึกตรอง เกิดบทสนทนา และการอภิปรายอย่างมีเหตุผล จากเรื่องราวดังกล่าว ทำให้ Shorris เริ่มโครงการ Clemente Humanities Programme ขึ้นในปี 1995 โดยสอนวิชาด้านมนุษยศาสตร์แก่เด็กวัยรุ่นผู้ยากไร้ในนิวยอร์ก 30 คน หลักการของโครงการดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กว้างขวางรวมถึงงานพิพิธภัณฑ์ ที่ปรารถนาจะทำงานกับคนกลุ่มน้อย ผู้อ่อนแอ ผู้เสียเปรียบหรือไม่มีเสียงในสังคม เพราะการทำให้เกิดความตระหนักรู้เชิงวิพากษ์หรือกระบวนการสร้างมโนสำนึก (conscientization) เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถมีพื้นที่ในประวัติศาสตร์ของพวกเขาเอง และแสดงตัวตนต่อผู้ที่มาครอบงำหรือกดบังคับ เอารัดเอาเปรียบ หรือมาครอบครองสิ่งที่เป็นภาพตัวแทนทางวัฒนธรรมของพวกเขา การมีโอกาสได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ การแสดงโอเปร่า และงานศิลปะ เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การสร้างมโนสำนึก การมีจิตสำนึกและการสร้างภาพแทนของตนเอง สามารถเพิ่มอำนาจให้คนแสดงตัวตนในฐานะเป็นผู้กระทำ(agents) ต่อสู้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับตนเอง ผลจากโครงการ Clemente Humanities Programme กลายเป็นตัวแบบก่อให้เกิดโครงการอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ โครงการทดลอง Humanities 2 โครงการ ในเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา โครงการแรกเกิดในมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ที่เปิดที่ให้คนที่ไม่ได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยสามารถเข้าเรียนวิชาเรียนมนุษยศาสตร์เบื้องต้น 101 วิชานี้เปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้น้อยหลายร้อยคนได้เรียนรู้ผลงานระดับคลาสสิกในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ แม้วิชาดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในแง่จำนวนผู้ลงทะเบียนเรียน แต่มันกลับมีผลเพียงเล็กน้อยต่อปัญหาทางสังคมโดยรวมของชุมชน อาทิ ความยากจน การติดยาเสพติด การไร้ที่อยู่ เป้าหมายโครงการที่ต้องการก่อให้เกิด การตระหนักรู้ด้วยตนเองและการสร้างภาพแทนด้วยตนเองจึงยังอยู่ห่างไกลมาก มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดั้งเดิมของชาว Musqueam คนพื้นเมืองของแคนาดา มหาวิทยาลัยจึงพยายามสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับคนพื้นเมืองนี้ขึ้น ก่อให้เกิดอีกหนึ่งโครงการ ซึ่งเป็นการเปิดวิชา Musqueam เบื้องต้น 101 ที่เปิดกว้างให้ทุกคนที่สนใจเข้าเรียน โดยเรียนกันที่ชุมชน Musqueam และมีชาว Musqueam เป็นผู้ประสานงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยด้วย ภายใต้หลักสูตรดังกล่าวทำให้ชาว Musqueam สนใจในประวัติศาสตร์ของพวกเขาเองมากเสียยิ่งกว่าการเรียนวิชาด้านสังคมศาสตร์ทั่วไป เพราะพวกเขามีเรื่องราวประวัติศาสตร์ของตนเองที่จะเล่ามากมาย นักวิชาการที่เป็นชนพื้นเมืองจากทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยต่างสละเวลาให้กับการทำวิจัยเกี่ยวกับชุมชน มีการสัมมนานำเสนอผลงานวิจัย และเปิดงานด้วยการให้ลิ้มรสอาหารพื้นเมือง เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี มีผู้เข้าเรียนมีความกล้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะพูดถึงประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัวของพวกเขาว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองอย่างไร สภาปกครองท้องถิ่นและสมาชิกในชุมชนต่างให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มกำลัง วิชาMusqueam เบื้องต้น 101 ก่อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนตามมามากมาย อาทิ โครงการฝึกการเขียนอย่างสร้างสรรค์ งานเทศกาลปลูกฝังความเป็นผู้นำแก่เยาวชนพื้นเมือง เป็นต้น อย่างไรก็ดีกล่าวได้ว่าวิชา Musqueam เบื้องต้น 101 ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับวิชามนุษยศาสตร์เบื้องต้น 101 แต่วิชาดังกล่าวส่งผลกระทบที่เป็นรูปธรรมเพียงเล็กน้อยต่อสวัสดิการโดยรวมของชุมชน ดังนั้นจะเห็นถึงขีดจำกัดของหลักสูตรที่ให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมว่า การได้มาซึ่งทุนทางวัฒนธรรมโดยผ่านการร่ำเรียนจากตำรา อาจเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างความตระหนักรู้เชิงวิพากษ์และการสร้างภาพแทนตนเอง แต่ยังไม่เพียงพอ และการตระหนักรู้อย่างเดียวก็ไม่พอที่จะทำให้คนมีอิสรภาพ มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความสุขุม แต่ปฏิบัติการทางการเมืองในสังคมเท่านั้นที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ มิใช่แค่การศึกษาเชิงวิพากษ์ในห้องเรียน Shorris ผู้ริเริ่มโครงการ Humanities Programme บอกว่าจริง ๆ แล้วจุดประสงค์หลักของโครงการนี้ไม่ได้อยู่ที่การชี้นำประชาชน หากอยู่ที่การให้อำนาจแก่พวกเขา พวกเขาจะใช้อำนาจอย่างไร ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเขา ซึ่งฐานคิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นน้อยมากในงานพิพิธภัณฑ์ เขายังบอกอีกว่าคนชายขอบเหล่านี้ถูกห้อมล้อมด้วย "แรงกดดัน" (surround of force) เช่น การโดนกีดกัน ความยากจน ความหิวโหย อาชญากรรม นโยบายรัฐ ฯลฯ คนเหล่านี้มีโอกาสจำกัดมากที่จะได้เข้าไปเรียนรู้การมีส่วนร่วมทางการเมือง และยากที่จะมีหนทางในการเอาชนะแรงกดดันรอบตัวเหล่านี้ Jane และ Conaty ได้บอกไว้ว่า บทบาทของพิพิธภัณฑ์ที่มีต่อสังคม คือ การเข้าไปมีส่วนช่วยในการคลี่คลายสถานการณ์การถูกเอารัดเอาเปรียบและจัดการกับแรงกดดันที่แวดล้อมของคนชายขอบเหล่านั้น ทั้งนี้มิได้หมายความว่าละทิ้งหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่เคยมีมา ซึ่งในบทความได้เสนอ 2 ตัวแบบ ให้พิพิธภัณฑ์พิจารณาเพื่อนำไปใช้ด้วยวิธีการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างพิพิธภัณฑ์กับชุมชน ตัวแบบแรกเป็นการทำงานร่วมกันอย่างเสมอภาพ และการให้ความเคารพต่อความรู้พื้นถิ่น ตัวแบบที่สองเป็นความสัมพันธ์กันลักษณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกับลูกค้า (professional-client relationship) ลูกค้าก็คือชุมชน ที่อาจขอให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยวางแผนออกแบบและจัดทำนิทรรศการ งานสำคัญอันดับแรกสำหรับการที่พิพิธภัณฑ์จะทำงานร่วมกับชุมชนคือ จะต้องพยายามให้ชุมชนเรียนรู้ถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ในเมืองที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาทั้งเรื่อง การกีดกันทางเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติ และสภาวะการเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม ส่วนงานที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การเสนอความช่วยเหลือให้แก่ชุมชนในการพัฒนาสิ่งที่ชุมชนระบุเองว่ามีความสำคัญต่อพวกเขา ท้ายที่สุดแล้วไม่ได้หมายความว่าให้นักพิพิธภัณฑ์วิทยาเลิกปฏิบัติสิ่งที่เคยทำกันมา ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการคอลเล็กชัน การตีความวัตถุ แต่ต้องการเรียกร้องให้บรรดานักพิพิธภัณฑ์วิทยาหยุดฟังเสียงของคนที่เราปรารถนาจะให้ความช่วยเหลือแก่เขา นี่อาจจะช่วยเปิดมุมมองให้แก่แนวคิดของพิพิธภัณฑ์ตะวันตกแบบดั้งเดิมได้ สรุปความจากบทความพิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอ โดย Michael M. Ames ในการประชุมเรื่อง พิพิธภัณฑ์กับชุมชน: มุมมองเปรียบเทียบข้ามพรมแดนวัฒนธรรม ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ วันที่ 28-29 กันยายน 2548.

จากงานชิ้นเอกสู่วัตถุจัดแสดง: ของศักดิ์สิทธิ์และของสามัญในพิพิธภัณฑ์

22 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์มีหลากหลายประเภท อาทิ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทั้งที่เป็นพิพิธภัณฑ์ระดับชาติ ภูมิภาค หรือกระทั่งในสถานศึกษา พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งต่างมีแนวทางความต้องการของตนเอง รวมถึงการเลือกวัตถุที่จะนำมาจัดแสดง นโยบายต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นตัวกำหนดแนวทางการพัฒนาของพิพิธภัณฑ์นั้น ๆ อย่างไรก็ดีอาจยังมีคำถามตามมาอีกว่า "ทำไมต้องเป็นวัตถุชิ้นนั้น ทำไมไม่เลือกวัตถุชิ้นนี้ ? ทำไมต้องเก็บรักษาวัตถุต่าง ๆ ไว้ในพิพิธภัณฑ์ด้วย ? แล้วในการจัดนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการขนาดเล็กหรือใหญ่ ทำไมเราไม่จัดแสดงวัตถุตามบริบทและวัตถุประสงค์การใช้งานดั้งเดิมของวัตถุ ? พิพิธภัณฑ์ควรจะส่งคืนคอลเล็กชั่นที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ให้กับชุมชนพื้นถิ่นเดิมหรือเปล่า ? หรือในทางตรงกันข้าม พิพิธภัณฑ์ไม่ควรปรับเปลี่ยนความหมายของของศักดิ์สิทธิ์ให้กลายเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งสำหรับการจัดแสดงใช่รึเปล่า ? ระหว่างการจัดแสดงนิทรรศการ "งานชิ้นเอก สมบัติล้ำค่า และของบรรดามี…" ( Masterpieces, Treasures and What Else… ) ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติวิทยาเมืองลียง (ฝรั่งเศส) ผู้เขียนได้สัมภาษณ์คนที่อยู่ในวงการพิพิธภัณฑ์ ต่อประเด็นในนิทรรศการดังกล่าว Krzysztof Pomain ผู้อำนวยการสถาบัน Ecole des Hautes Etudes en Sciences Sociales in Paris มีความเห็นว่า "เราเก็บรักษาวัตถุในพิพิธภัณฑ์ด้วยเหตุผลเดียวกับการที่เราฝังศพ ในระยะยาวเราสามารถไปเคารพหลุมศพ เป็นการเก็บรักษาสมบัติไว้กับวัด…มนุษย์เรามักจะแบ่งแยกทุกสิ่ง ตัวอย่างที่ชอบพูดกันบ่อย ๆ คือ สิ่งที่มองเห็น และมองไม่เห็น" แต่เมื่อเราพูดถึงพิพิธภัณฑ์ ความคิดเกี่ยวกับงานชิ้นเอก(masterpiece) กับความศักดิ์สิทธิ์(sacred)ไม่เคยแยกจากกัน Pomain ชี้เห็นให้เห็นว่า การแบ่งหรือจัดระดับชั้นของวัตถุในพิพิธภัณฑ์นั้นมีพัฒนาการ คือเริ่มจากของชิ้นเอก (หายาก, พิเศษ, ไม่ธรรมดา, น่าดู) เคลื่อนไปสู่ของธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป ปัจจุบันไม่มีของชิ้นใดที่จะไม่สามารถจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้ Jacques Hainard ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์เจนีวา เสริมทับว่า "วัตถุใด ๆ ก็ตามสามารถแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้ ตราบเท่าที่มันเป็นสิ่งของที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่จัดแสดง" วัตถุไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่มันถูกเลือก ถูกตีความ ถูกจัดแสดง ถูกจ้องมองและให้ความหมาย โดยบุคคลแต่ละคนและด้วยเหตุผลบางอย่าง Shaje’a Tshiluila ประธานสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศแห่งแอฟริกา(AFRICOM) เล่าถึงความคับข้องใจของเธอต่อพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาหลายแห่ง ที่ลดทอนความเป็นสังคมแอฟริกันให้เป็นเพียงแค่ของแปลกที่หาดูยาก และเธอยังบอกว่าประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคมยังคงมีผลต่อความคิดของคนในทุกวันนี้ "แอฟริกาถูกนำเสนอในฐานะที่เป็นของแปลก เรายังสัมผัสได้ถึงนัยของการดูถูกที่ยังคงหลงเหลืออยู่จากยุคประวัติศาสตร์การค้าทาส" นอกเหนือไปจากการตระหนักถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นดังกล่าว ก่อนการส่งผ่านความคิดของตัวเองสู่สาธารณะ ภัณฑารักษ์ควรกระทำการด้วยการเคารพ เพราะในหลาย ๆ สังคมมีความซับซ้อนและมีพลวัตสิ่งที่ถูกตีความใหม่ที่ปรากฏในพื้นที่หน้าฉากของนิทรรศการ อาจจนำมาซึ่งมายุ่งยากได้ มีภัณฑารักษ์มากมายที่มีความคิดสร้างสรรค์ บ่อยครั้งนำเสนอนิทรรศการที่สร้างความประหลาดใจให้ผู้ชม Girolamo Rammunni อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลียง กล่าวว่า "วัตถุต่าง ๆ เหล่านั้นเผยให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทั้งพัฒนาการขององค์ความรู้ คุณค่าทางสังคมวัฒนธรรม และความสามารถของมนุษย์ ที่ก่อให้เกิดสิ่งประดิษฐ์อันเกิดจากจินตนาการ การค้นพบและนำเสนอแง่มุมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นหนทางแรกที่จะทำให้เราเห็นถึงกลวิธีในการสร้างสรรค์วัตถุ หลังจากนั้นเราจะประหลาดใจที่พบว่าของเหล่านั้นทำขึ้นมาได้อย่าง ‘ไม่มีที่ติ’ " ผลงานของศิลปิน ช่างฝีมือ หรือนักประดิษฐ์เป็นของที่มีเสน่ห์ เป็นแรงบันดาลใจต่อการสร้างสรรค์งานชิ้นอื่นต่อมา เราจะทึ่งเมื่อได้เห็นความงดงามที่ปรากฏอยู่ในกระบวนการทำ ความสร้างสรรค์ ความเรียบง่าย และการผสมผสานที่ลงตัว Bernard Ceysson อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใน Saint-Etienne สะท้อนว่า ความคิดในการสร้างความแตกต่างกัน ระหว่างงานชิ้นเอกจากโรงงานอุตสาหกรรม กับงานชิ้นเอกจากช่างฝีมือนั้นเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 Jean-Hubert Martin ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Kunst Palace กล่าวเสริมว่า "ตัวผมเองพบว่าของที่ดูโดดเด่น…เป็นวัตถุทางมานุษยวิทยา(anthropological item)ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์หนึ่ง ในเวลาต่อมาของชิ้นเดียวกันนี้ถูกมองว่าเป็นศิลปะวัตถุ (work of art) ดังนั้นในศตวรรษที่ 20 การมองวัตถุต่าง ๆ ด้วยแว่นของความงามจึงกลายเป็นปรากฎการณ์ธรรมดา…" ข้อถกเถียงเรื่องเกณฑ์ในการแบ่งแยกว่า ทำไมของชิ้นหนึ่งดีกว่า หรือมีความหมายมากกว่าของชิ้นอื่นนั้น ยืนอยู่บนพื้นฐานของการเปรียบเทียบ "ยิ่งพื้นที่ของการสำรวจยิ่งกว้างใหญ่ เราก็ยิ่งพบวัตถุมากขึ้น ยิ่งได้เห็น ประเมิน เลือก และเปรียบเทียบได้มากขึ้น" สำหรับเรื่องคุณค่าของศิลปะวัตถุนั้น เมื่อมันเข้าสู่ระบบตลาด มีการผลิตคราวละมาก ๆ และถูกทำให้เป็นของสามัญ "การผลิตของคราวละมาก ๆ มีผลกระทบตามสูตรสำเร็จที่มักคิดกัน คือ ลดคุณค่าของวัตถุให้เป็นเพียงของประดับ และทำลายแนวคิดเรื่องงานชิ้นเอก(masterpiece) ไปด้วย อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายว่ามันทำลายตัวงานชิ้นเอกนั้นใช่หรือไม่?" ของบางอย่างไม่ได้ถูกลดคุณค่าไปสู่แค่มิติประโยชน์ใช้สอยหรือความงาม เนื่องจากของสิ่งนั้นเป็นเรื่องของสัญลักษณ์ มีการให้ความหมาย Denis Cerclet อาจารย์จากคณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยลียง II ให้ทัศนะว่า "ของศักดิ์สิทธิ์(sacred objects) ต่างจากของสามัญ (profane objects) ตรงที่มันเรื่องของคนหมู่มาก มากกว่าเป็นของส่วนบุคคล…ของศักดิ์สิทธิ์ยังถูกให้ค่าว่าเป็นทรัพย์สมบัติด้วย เนื่องจากมันถูกเก็บรักษาไว้ มีเพียงผู้ได้รับอนุญาตไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้เห็นหรือได้ใช้โดยไม่นำมาซึ่งภัยพิบัติ สิ่งดังกล่าวเป็นแบบแผนของมวลมนุษย์ที่ต้องเคารพและธำรงไว้" ในแง่นี้ บ่อยครั้งพิพิธภัณฑ์มีความยุ่งยากในการสื่อสารและส่งผ่านความคิดเกี่ยวกับเครื่องรางหรือวัตถุจำพวกข้ามยุคข้ามสมัย การตีความของเรา(พิพิธภัณฑ์-ผู้แปล)ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ บ่อยครั้งเจือด้วยอารมณ์ความรู้สึก ความทรงจำของเราก็มีหลากหลายแง่มุม ทั้งความทรงจำที่โหยหาอดีต(วันวานที่ดีงาม) ความทรงจำที่ต้องมี (พิพิธภัณฑ์เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้) และความทรงจำที่ถูกกดทับไว้ (เรื่องที่เราไม่กล้าพูด) พิพิธภัณฑ์ค่อย ๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในประเด็นเหล่านี้ เราพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าพิพิธภัณฑ์ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องของอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม แต่พิพิธภัณฑ์ก็ยังเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องราวของปัจจุบันและอนาคตด้วย โดยดึงเอาข้อถกเถียงในปัจจุบันออกมา ดังที่ Jean Guibal ภัณฑารักษ์แห่งศูนย์อนุรักษ์มรดก Is?re region of France กล่าวว่า "ดังนั้นพิพิธภัณฑ์มีบทบาทในฐานะเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมที่แท้จริง เป็นที่ ๆ ข้อถกเถียง คำถาม และการเผชิญหน้าเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคมใดก็ตามที่กำลังค้นหาวิถีทางและความต้องการของตน ซึ่งต้องตั้งคำถามต่อตัวเองอีกมากมาย" "ทำไมฉันคิดแบบนี้ ทำไมฉันบอกแบบนี้ ในสถานการณ์เช่นนั้น ?" เป็นคำถามที่เกิดขึ้น แล้วทำให้พิพิธภัณฑ์และวัตถุต่าง ๆ มีความหมาย ในที่สุด หลังฉากของวัตถุที่จัดแสดง เกี่ยวข้องทั้งผู้ชายและผู้หญิง มีปัจเจกบุคคลมากมาย ทั้งที่เข้ามาเรียนรู้ พยายามทำความเข้าใจ อธิบายและเชื่อมโยงตนเองต่อสิ่งที่จัดแสดง ใครคือคนที่พิพิธภัณฑ์กำลังพูดถึง และใครที่พิพิธภัณฑ์ต้องการส่งสารนั้นไปถึง? เรากำลังปกปักรักษาอะไรและทำไม ? ดังนั้นข้อถกเถียงอมตะ เรื่องพิพิธภัณฑ์ - วัด และ พิพิธภัณฑ์ - เวทีถกเถียง บางทีอาจไม่ต้องเถียงกันอีกต่อไปแล้ว (โอ้ ไม่?) จากจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์ ถ้าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่สามารถพบเห็นสิ่งของที่ประหลาด มาจากแดนไกล และแปลกตาแล้ว จะเห็นว่าความคิดนี้เริ่มเปลี่ยนไป ในทุกวันนี้ความน่าสนใจมุ่งไปยังการตีความใหม่ในความจริงชุดเดียวกัน แม้แต่เรื่องในชีวิตประจำวันของทุกคน และจะดีกว่าหรือเปล่าที่ความแปลกตา(exotic)น่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเรา? และจะดีกว่าไหมที่จะตั้งคำถามว่าต่อสิ่งรอบตัวว่า สิ่งเหล่านั้นมีอะไรผิดปกติรึเปล่า? ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก เกิดขึ้นในนามของชุมชนหรือคนในกลุ่มวัฒนธรรมเฉพาะ ภัณฑารักษ์ไม่ต้องพูดคนเดียวอีกต่อไปแล้ว บางโอกาสเขา/เธอ เปิดเวทีให้เกิดการอภิปรายขึ้น สิ่งของได้เปลี่ยนผ่านสู่มิติใหม่และถ่ายทอดความหมายใหม่ ความหมายของวัตถุไม่ได้มีความหมายเดียว แล้วแต่ว่ามันจะถูกสวมลงในวาทกรรมใด ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเมืองลียง แผนกจัดทำนิทรรศการได้ชวนเยาวชนมาแสดงความเห็นเรื่องความรับรู้ของพวกเขาที่มีต่อคนกลุ่มอื่น หลายเดือนที่พวกเขาทำงานร่วมกันตามกรอบแนวคิดที่วางไว้ โดยมีเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ผลที่ได้จากการทดลองนี้ถูกทำเป็นนิทรรศการเปิดให้สาธารณะเข้าชม คงไม่ใช่เรื่องที่จะตั้งคำถามว่า สิ่งที่ทำนี้เป็นแนวทางการทำงานพิพิธภัณฑ์แบบใหม่หรือเปล่า หากแต่สิ่งที่น่าสนใจคือพิพิธภัณฑ์เปิดโอกาสให้คนอื่นได้แสดงตัวตนและความคิดของตนเองบนพื้นฐานแนวคิดเรื่องความเป็นอื่น นอกจากนี้ มันไม่ยุติธรรมและไม่ควรสำหรับพิพิธภัณฑ์ ที่จะเป็นแค่เวทีถกเถียงหรือพูดได้แค่วาทกรรมเกี่ยวกับความเป็นอื่น พิพิธภัณฑ์ควรพูดว่า "เรามีสิทธิที่จะพูด(บนพื้นฐานของความนอบน้อม เคารพ ฯลฯ) และด้วยความเคารพ เราเข้าใจว่าความเชื่อเกี่ยวกับงานชิ้นเอกและทรัพย์สมบัตินั้น ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยวาทกรรมเดียว และเราเข้าใจว่าความศักดิ์สิทธิ์ทำให้วัตถุมีความหมายเชิงสัญญะร่วมกัน ความศักดิ์สิทธิ์ทำให้วัตถุนั้นเป็นของที่พิเศษ(ด้วยหน้าที่ คุณค่าในด้านความงาม และหายากฯลฯ) และความศักดิ์สิทธิ์ยังอธิบายชุมชน และผู้คนไม่ว่าหญิง หรือ ชาย อาจกล่าวได้ว่า พิพิธภัณฑ์มีบทบาทสำคัญในการอธิบายเพื่อให้เกิดความกระจ่าง หากแต่ยังตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ พร้อมกับให้ความมั่นใจแก่เราด้วยว่า ยังมีสถานที่หนึ่งในสังคม ที่ซึ่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของมนุษยชาติถูกวางไว้บนภาระกิจสำคัญของสถานที่แห่งนี้ แปลและเรียบเรียงจาก Michel Cote. ‘From Masterpiece to Artefact: the Sacred and the Profane in Museum.’ Museum International. Vol.55 no. 2, 2003; pp 32-37. โดย ปณิตา สระวาสี ภาพประกอบจาก UNESCO , Museum of Natural history of Lyon, Erdeni Zuu Museum(Mongolia) และ Vietnam Museum of Ethnology ประวัติผู้เขียน - Michel Cote มีพื้นฐานการศึกษาด้านวรรณกรรม ศึกษาศาสตร์ และบริหารธุรกิจ เขามีประสบการณ์การทำงานหลายปีเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรม โดยเป็นทั้งที่ปรึกษาและผู้บริหาร ตำแหน่งก่อนหน้านี้ได้แก่ ผู้อำนวยการโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงวัฒนธรรม ของรัฐควิเบก ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการพิพิธภัณฑ์อารยธรรมในควิเบก และปัจจุบันดำรงตแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติวิทยา เมืองลียง

ความหมายของสิ่งของ จากการสะสมถึงพิพิธภัณฑสถานในยุโรป

22 มีนาคม 2556

การสะสมสิ่งของ เป็นกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการสั่งสมทางวัฒนธรรมของมนุษย์ พัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ มีฐานมาจากการถ่ายทอดความรู้ ผ่านการอบรมเลี้ยงดู ทั้งจากบรรพบุรุษที่มีตัวตนจริง และที่เป็นเรื่องเล่า ตำนาน ทั้งภายในบริบทครอบครัวและการศึกษาอย่างเป็นทางการ ในสังคมก่อนสมัยใหม่ องค์ความรู้ส่วนหนึ่งถ่ายทอดโดยผ่านมุขปาฐะ ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ และอีกส่วนหนึ่งคือการส่งผ่านความรู้โดยวัตถุที่สั่งสม ฉะนั้นในฐานะหนึ่ง วัตถุย่อมแสดงถึงความมีตัวตนของสังคมมนุษย์ในวัฒนธรรมหนึ่ง และเป็นสิ่งที่บอกการเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่มีเทคนิควิทยาที่มีความเรียบง่าย ไปสู่สังคมที่มีการผลิตด้วยเทคนิคที่ซับซ้อนมากขึ้น ขณะเดียวกัน การสะสมเป็นการปฏิเสธจุดจบหรือความตายของสิ่งที่เคยคงอยู่ และสืบทอดการดำรงอยู่ในอดีตมายังปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ การสะสมจึงปฏิเสธและเก็บกัก "เวลา" ไปพร้อม ๆ กัน วัตถุประสงค์ของการสะสมสิ่งของยังเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพัฒนาการความรู้ วัตถุกลายเป็นเครื่องมือและ หลักฐานประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต และนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้น ถ้าให้ยกตัวอย่างของวัตถุที่บรรจุความรู้ไว้สำหรับเป็นรากฐานในการคิด แล้วเชื่อมโยงไปสู่การสรรค์สร้างสิ่งต่าง ๆ ในอนาคต เห็นจะไม่พ้นหนังสือที่สามารถส่งผ่านสาระความรู้ได้อย่างชัดเจนที่สุด นอกจากนี้ วัตถุประสงค์ของการเก็บสะสมวัตถุเพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดแบ่งประเภทสิ่งของ และเป็นตัวแทนศัพท์แสงทางวิชาการ วัตถุประสงค์สองประการนี้แสดงให้เห็นฐานรากของหน้าที่พิพิธภัณฑ์ อันกอปรด้วยการอนุรักษ์ (รวบรวม สงวน ป้องกัน) และการศึกษา (จัดแสดง สังเกต วิเคราะห์) หรือการตีความและสื่อสารกับบุคคลทั่วไป จากช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์มนุษย์เริ่มการสะสมวัตถุ โดยจะเห็นได้จากการพบวัตถุในหลุมศพ แน่นอนว่าความคิดของการสะสมในช่วงเวลานั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์ อย่างไรก็ดี การสะสมยังคงดำเนินต่อมา ในสมัยประวัติศาสตร์ แม้ว่าการสั่งสมวัตถุจะมิได้เป็นไปเพื่อการศึกษา แต่การสะสมย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ครอบครองให้ความสำคัญต่อการเก็บและอนุรักษ์วัตถุอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างของการสะสมภายใต้แนวคิดดังกล่าว เช่น Tuthmois III แห่งราชวงศ์อียิปต์โบราณ (1504 - 1450 ก่อนคริสตกาล) วัตถุสะสมเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ ที่นำกลับมาพร้อมกับกองทัพภายหลังการรบ และอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการสะสมวัตถุที่มิใช่เพียงการนำเอาวัตถุที่ "แปลกปลอม" มาจากภายนอก ได้แก่ กษัตริย์ Nebuchadrezzer (605 - 562 ก่อนคริสตกาล) และ Nabonidur แห่งจักรวรรดิ์บาบิโลเนียน ผู้สะสมโบราณวัตถุ และขุดค้น บูรณะ บางส่วนของนครอูร์ (Ur) จนถึงยุคกรีกโบราณ การสะสมได้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ไป วัตถุกลายเป็นพยานสำคัญของสังคมวัฒนธรรมในอดีต เราสามารถเรียนรู้ถึงกระบวนการคิดและวิวัฒนาการของมนุษย์ในสังคม ข้อสันนิษฐานที่แสดงให้เห็นถึงการสะสมภายใต้แนวคิดเช่นนี้ ได้แก่ การถ่ายทอดความรู้ของอริสโตเติล (384 - 322 ก่อนคริสตกาล) ต่อศิษยานุศิษย์ที่ Lyceum ในกรุงเอเธนส์ ในกาลต่อมาศิษย์ของอริสโตเติล Demetrins of Phaleron เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการสร้างพิพิธภัณฑสถานที่เมืองอเล็กซานเดรีย ซึ่งสร้างขึ้นโดยการสนับสนุนของ Ptolemy Sotor และกลายเป็นพิพิธภัณฑสถานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเวลานั้น สิ่งสะสมของพิพิธภัณฑ์อเล็กซานเดรียเกี่ยวข้องกับธรรมชาติวิทยา ทั้งพืชและสัตว์ อย่างไรก็ดี วัตถุเหล่านั้นยังคงเป็นวัตถุสำหรับการศึกษาทางวิชาการของสถาบันมากกว่าเป็นการจัดแสดงเพื่อให้สาธารณชนทั่วไปเข้าไปหาความรู้อย่างพิพิธภัณฑสถานในปัจจุบัน นอกจากนี้ การจัดแสดงจิตรกรรมในปีกด้านหนึ่งของวิหาร Propylea ณ Acropolis ในกรุงเอเธนส์เป็นการจัดแสดงในที่สาธารณะเช่นกัน ในยุคต่อมา สังคมโรมันยังคงให้ความสำคัญกับการสะสมวัตถุในแง่ที่วัตถุอันถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าประวัติศาสตร์ ความงาม และมูลค่า การสะสมจึงเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสงครามการยึดครองดินแดน วัตถุกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการมีอำนาจเหนือพื้นที่ที่ได้จากการรุกราน แต่ในขณะเดียวกัน วัตถุของวัฒนธรรมผู้ถูกครอบครองกลายเป็นสิ่งที่ต้องอนุรักษ์หวงแหน ถึงขนาดชาวโรมันทำวัตถุจำลองที่ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ ศาสนาสถานของชาวโรมันมิได้รวบรวมเพียงผลงานศิลปกรรม ยังเป็นสถานที่ของการนำเสนอ "ของแปลก" ที่มาจากสังคมวัฒนธรรมอื่น วัตถุเหล่านั้นเป็นสิ่งของที่เข้ามาพร้อมกับนักเดินทางและทหารที่ผ่านการรบทัพ อย่างที่ Hierapolis ที่มีวัตถุสะสมเป็นเครื่องประดับของชาวอินเดียน ขากรรไกรปลาฉลาม งาช้าง หรืออย่างวิหาร Herculis ในกรุงโรมที่ปรากฏหนังสัตว์ พืชหายาก และอาวุธจากต่างแดน จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่า งานสะสมไม่ใช่เป็นเพียงวัตถุที่พึงมีไว้เพื่อศึกษาและสัมผัสความงาม หากแต่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ สงวน ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญของรูปแบบงานพิพิธภัณฑ์ในวัฒนธรรมโลกตะวันตก1 จากภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน อันถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดอารยธรรมโบราณ สถาบันทางศาสนาเข้ามามีบทบาทอย่างมากในอำนาจของอาณาจักร และยังมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์วัตถุทางวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ โบสถ์หรือสถิตย์สถานแห่งอำนาจในยุคกลาง (ควบคู่ไปกับชนชั้นการปกครอง) ทำหน้าที่เสมือนกับพิพิธภัณฑ์ศาสนศิลป์ แต่แน่นอนว่าศาสนสมบัติที่ปรากฏมิได้เป็นวัตถุศิลปะตามความคิดของพิพิธภัณฑสถานในปัจจุบัน เพราะสิ่งของเหล่านั้นย่อมปรากฏร่างในบริบทของศาสนสถาน มิใช่อาคารในชีวิตโลก2 และเมื่อศาสนจักรลดบทบาททางการเมืองในยุคต่อมา การสะสมวัตถุกลายเป็นความนิยมในราชสำนักและคหบดี เนื่องจากสังคมในขณะนั้นหันมาให้ความสนใจต่อศิลปะและการอักษร วัตถุจากอดีตสมัยในฐานะเครื่องบ่งชี้คุณค่าของโบราณกาลกลายเป็นสัญลักษณ์สถานะภาพสังคมชั้นสูง อาทิ การสะสมศาสนวัตถุของ Abbot Bernard Suger (AD 1081 - 1151) ณ The Royal Abbey of St. Denis ในฝรั่งเศส หรืองานสะสมของ Henry of Blois ซึ่งเป็น Bishop of Winchester and Abbot of Glastonbury (AD 1099 – 1171) แรกสมัย (ศตวรรษที่ 15 - 18): พิพิธภัณฑสถานเพื่อการชื่นชมในวัฒนธรรมชนชั้นสูง และพิพิธภัณฑสถานของนักธรรมชาติศึกษา ศตวรรษที่ 12 ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และปรัชญาการหาความรู้เน้นลักษณะเชิงประจักษ์ หรืออย่างที่ขนานนามยุคสมัยว่า ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เป็นช่วงสมัยของการให้คุณค่ากับการศึกษาทางประวัติศาสตร์ และการสร้างความรู้ด้วยการพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานจากอดีต และสรรพสิ่งร่วมสมัย การถือกำเนิดของพิพิธภัณฑสถาน (ตามความหมายในปัจจุบัน) จึงเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเช่นว่านี้ การสะสมมีความหมายทั้งนัยที่เป็นงานสะสมส่วนบุคคลเพื่อการศึกษา เป็นรสนิยมร่วมสมัยของชนชั้น และเป็นพยานหลักฐานของการจาริกไปยังแผ่นดินอันไกลโพ้น ฉะนั้น หากจะสรุปรูปลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ที่ปรากฎในช่วงเวลาดังกล่าว ก็จะเป็นไปใน 2 ลักษณะ คือ (1) พิพิธภัณฑสถานเพื่อการชื่นชมในวัฒนธรรมชนชั้นสูง และ (2) พิพิธภัณฑสถานของนักธรรมชาติศึกษา พิพิธภัณฑสถานเพื่อการชื่นชมของวัฒนธรรมชนชั้นสูง งานสะสมของตระกูลการค้าบางตระกูล กลุ่มปกครองบางกลุ่มจัดแสดงในพื้นที่เฉพาะ Cosimo de Medici สมาชิกของตระกูลเมดีชี ซึ่งรุ่งเรืองขึ้นมาจากการค้าและการธนาคาร และเป็นผู้ปกครองนครฟลอเรนซ์ในอิตาลี ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 และ Lorenzo the Magnificent มีงานสะสมเป็นพวกหนังสือ ตราประทับ หินมีค่า เหรียญตรา พรม วัตถุในยุคไบแซนไทน์ จิตรกรรม และประติมากรรมร่วมสมัยอื่น ๆ คำว่า "museum" ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ดี คำเรียกอื่นกลับเป็นที่นิยมมากกว่า "gallery"3 ที่อธิบายถึงที่จัดแสดงจิตรกรรมและประติมากรรม "cabinet" ใช้ในการอธิบายคลังเก็บของแปลก ของหายาก หรือสถานที่เก็บศิลปวัตถุ คำตามนิยามทั้งสองใช้อย่างแพร่หลายทั้งในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส4 รูปแบบของการสะสมและการจัดแสดงแพร่หลายทั่วไปในยุโรป5 ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 และ 17 พร้อมกับขั้วอำนาจในยุโรปที่เปลี่ยนจากอิตาลีมาสู่ฝรั่งเศส สเปน ปรัสเซีย และออสเตรีย ในยุโรปตอนกลาง Wilhelm II และ Albrecht V ดุคส์แห่งบาวาเรียเก็บสะสมงานศิลปะในช่วงปี ค.ศ. 1563 - 1567 ณ เมืองมิวนิค Albrecht ยังได้สร้าง Antiquarium เพื่อเก็บงานสะสมที่เกี่ยวกับอารยธรรมโรมันในช่วงปี ค.ศ. 1580 - 15846 อย่างไรก็ดี ลักษณะของงานสะสมที่พัฒนาไปพร้อมกันคือ การสั่งสมวัตถุที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของนักธรรมชาติศึกษา ไม่ว่าจะเป็น herbarium ที่เก็บตัวอย่างพืชของ Luca Ghini (1490 - 1556), Historiae animalium ของ Konrad von Gesner ผู้สะสมวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นงานสะสมที่สำคัญในช่วงเวลานั้น หรือตัวอย่างพืช สัตว์ และแร่ธาตุ ของ Ulisse Aldovandi (1522 - 1614) ในการเตรียมข้อมูลเพื่อจัดทำสารานุกรมประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ซึ่งต่อมางานสะสมดังกล่าวได้พัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยโบลอนนาในปี ค.ศ. 1743 อย่างไรก็ตาม การสะสมวัตถุทางวัฒนธรรมทุกประเภทและทุกยุคสมัย7 เป็นความนิยมของยุคสมัยและกลายเป็นสัญลักษณ์ของลำดับชั้นอำนาจ8 ความยิ่งใหญ่ และความรุ่มรวยของเจ้าของวัตถุ ผู้กุมอำนาจปกครองหรืออยู่ในชนชั้นดังกล่าว นอกจากนี้ ยังเป็นสัญลักษณ์ของการรวมศูนย์กลางอำนาจไว้ที่ราชสำนัก ตัวอย่างงานสะสมและการจัดแสดงที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ของราชสำนักได้แก่ พระราชวังแวร์ซายส์ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และ 14 ทั้งการตกแต่ง ผลงานศิลปกรรม และการจัดสวน หรือ "พื้นที่แสดง" ที่ปรากฏในความสัมพันธ์ระหว่างตัวปราสาท (เมือง - ศูนย์กลาง) และที่พำนักนอกเมือง (สวน Tuileries ด้านหน้า) ของพระราชวัง Louvre เป็นลักษณะการแสดงความยิ่งใหญ่ของราชสำนักในศตวรรษที่ 17 และต้นศตวรรษที่ 18 พื้นที่แสดงงานสะสมเช่นที่กล่าวมาเปิดให้คนทั่วไปเข้าชม แม้ในบางที่จะต้องมีการเสียเงินหรือต้องมีกฎ มีการนัดหมายที่ครัดเคร่งต่อผู้ที่สามารถเข้าชมห้องแสดงหรือห้องเก็บของแปลกและหายาก (cabinet, closet of curiosities) แต่ส่วนมากผู้เข้าชมมักเป็นแขกเชิญของผู้เป็นเจ้าของ ดังนั้น ความคิดของการเปิดให้สาธารณชมเข้าชมอย่างเป็นอิสระ (accessibility) ยังมิใช่เรื่องหลักของการจัดแสดงในยุคนั้น การนำเสนองานสะสม ผลงานศิลปะ เป็นการเสนอปริมาณของวัตถุที่อยู่ในงานสะสม (spectacle of abundance) ผู้ที่เข้าชมสมบัติหรืองานสะสมย่อมรับรู้ถึงความมั่งมีผู้เป็นเจ้าของ และซึมซับความหมายของวัตถุไปตามความรู้สึกของการครอบครองทรัพย์ศฤงคาร มากกว่าเป็นการพินิจพิเคราะห์รูปทรงและเนื้อหาความหมายของวัตถุ การนำเสนอที่นำสิ่งของมากองหรือจัดแสดงทั้งหมด จึงเป็นประหนึ่งการเข้าไปชมคลังวัตถุ ฉะนั้น หากพิจารณาจากมุมมองของวัฒนธรรมปัจจุบัน ย่อมเป็นตัดสินว่าการนำเสนอเป็นเรื่อง "สัพเพเหระและไร้ระเบียบ"9 แต่เมื่อพินิจมองอีกมุมหนึ่งรูปแบบดังกล่าวกลับสะท้อนโลกทัศน์ ตัวตน สิ่งแวดล้อม โลกจักรวาล ความสนใจในสิ่งที่ใกล้และไกลตัว10 ของผู้ครอบครอง สมบัติจากการสั่งสมและการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินในอุปถัมภ์ หรืองานวัฒนธรรมในยุคสมัยนั้น รับใช้ต่ออำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ แสดงออกถึงความมั่งคั่งเช่นที่กล่าวมา อย่างไรก็ตาม งานสะสมของราชวงศ์กลายเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ที่เกิดอย่างเป็นทางการในระยะต่อมา อันได้แก่ Galerie des Offices ณ เมืองฟลอเรนซ์, พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ณ กรุงปารีส, พิพิธภัณฑ์ปราโด ณ เมืองแมดริด, Neue Pinakothek ณ กรุงมิวนิค, Hermitage Museum ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบริก์ รวมทั้งการเกิดขึ้นของการจัดแสดงที่ "ทันสมัย" และพิพิธภัณฑสถานที่ดำเนินการ "เพื่อมวลชน" สถาปนาขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ยุคสิ้นสุด "การปกครองเดิม" (ปลายศตวรรษที่ 18 - ปลายศตวรรษที่ 19) : พิพิธภัณฑสถานเพื่อมวลชนในฐานะเครื่องมือของการส่งผ่านความรู้ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ด้วยการยึดอุดมการณ์ของความก้าวหน้า สิทธิมนุษยชนสากล และเหตุผลนิยม สังคมยุโรปเคลื่อนเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม การปฏิวัติฝรั่งเศสในฐานะที่เป็นจุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม ปรัชญาการดำเนินชีวิต การแสวงหาความรู้ นำพาสังคมไปสู่ยุคสมัยใหม่ ประชาชนเป็นผู้สร้างความชอบธรรมในกระบวนการปกครอง รัฐรวมอำนาจไว้ศูนย์กลางภายใต้แนวคิดชาตินิยม อำนาจทางเศรษฐกิจตกสู่ประชาชนทั่วไป แต่ในความเป็นจริงกลับตกอยู่ในมือของคนเฉพาะกลุ่มที่สามารถเข้าถึงทรัพยากร ความมั่งคั่งและอิทธิพลทางสังคมจึงตกอยู่ที่พวกกระฎุมพี อย่างไรก็ดี ตัวแบบของนโยบายการปกครองจึงเปลี่ยนไปสู่ความสนใจต่อสาธารณสุข ความมั่งคั่ง และการศึกษาในระดับกว้าง ประชาชนทั่วไปมีอิสระมากขึ้น และหันมาให้ความสนใจกับการศึกษา รวมทั้งมรดกของตนเองในระดับที่กว้างขวางขึ้น ปรัชญาการแสวงหาความรู้ที่พัฒนาเรื่อยมาจากยุค Enlightenment เมื่อประมาณศตวรรษก่อนหน้านั้น ที่เน้นกระบวนการคิดที่เป็นความถูกต้องลงตัวดังเช่นสมการคณิตศาสตร์ การตัดทอนสรรพสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสิ่งย่อยที่สุดเพื่อทำความเข้าใจในธรรมชาติของสิ่งนั้น ๆ รวมทั้งการเข้าไปจัดแบ่ง ควบคุม และจัดลำดับ11เหล่านี้ทำให้ขบวนการทำงานวิเคราะห์วิจัยต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑสถาน และการสร้างเนื้อหาสาระการจัดแสดงเชื่อมโยงกับโดยตรงกับโลกทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญคือ พิพิธภัณฑสถานในช่วงสมัยกลายเป็นเครื่องมือของการถ่ายทอด หรือส่งผ่านความรู้ที่เห็นว่าความเป็น "ความรู้สาธารณะ" การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมที่เชื่อมั่นในลัทธิของความเท่าเทียมกัน หรือที่เรียกขานกันว่า ประชาธิปไตย รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของการแสวงหาความรู้ที่ปฏิเสธโลกทัศน์แบบความเชื่อและศาสนา ส่งผลต่อการแปรเปลี่ยนรูปลักษณ์พิพิธภัณฑสถานจากพิพิธภัณฑ์ "คลังสมบัติ" สู่พิพิธภัณฑสถานในฐานะแหล่งเรียนรู้ที่เปิดประตูต้อนรับสาธารณชน ในประเทศอังกฤษพิพิธภัณฑ์แอชโมเลียน หรือ Ashmolean Museum of Oxford (1677) กำเนิดจากงานสะสมของ John Tradescent และบุตรชายที่เกี่ยวกับพฤกษศาสตร์ ณ เมือง Lembeth ซึ่งเปิดให้คนเข้าเยี่ยมชมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1623 ต่อมางานสะสมดังกล่าว รวมทั้งวัตถุสะสมเพิ่มเติมของ Eilas Ashmole อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในอังกฤษขณะนั้น ได้พัฒนาสู่การจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานของมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้าชมในปี ค.ศ. 1683 British Museum of London (1759) งานสะสมของพิพิธภัณฑ์พัฒนามาจากวัตถุสะสมของเอกชน Sir Hans Sloane ซึ่งพระราชบัญญัติของสภาได้ตัดสินให้ถ่ายโอนงานสะสมไปสู่การจัดตั้งขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน12 ในฝรั่งเศส การปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 ส่งผลต่อการสร้างอุดมการณ์รัฐที่เรียกว่า "?duquer la Nation" (การให้ศึกษาแก่ชาติ) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1790 พระราชบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกับมรดกของชาติได้ในฐานะที่เป็นสมบัติของสาธารณชนได้รับการประกาศใช้ เรียกได้ว่าเป็นการต่อต้านต่ออำนาจเดิม เนื่องเพราะพระราชวัง ปราสาท และมรดกสถานหลายแห่งเป็นสัญลักษณ์ของการรวมศูนย์อำนาจ ในระหว่างปี ค.ศ. 1793 - 1795 พิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ถือกำเนิดขึ้นในนครหลวง ได้แก่ (1) le Museum central des Arts - le Louvre (พิพิธภัณฑ์ศิลปะ) (1793) (2) le Museum d’histoire naturelle (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา) ซึ่งสร้างมาจาก "สวนหลวง" (Jardin du Roi) (1793) (3) le Conservatoire national des Arts et metiers (พิพิธภัณฑ์ประดิษฐกรรมและวิศวกรรม) (1794)13 ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็สร้างพิพิธภัณฑ์สาธารณะขึ้นเช่นกัน Schloss Belvere กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เปิดในปี ค.ศ. 1784 ซึ่งแสดงจิตรกรรมของราชสำนักต่อสาธารณชน ในสเปน แม้ว่างานสะสมในราชสำนักของพระราชวัง Escorial เปิดให้ประชาชนเข้าชมตามความจำนงค์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แต่งานสะสมดังกล่าวพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณะในปี ค.ศ. 1785 ในรูปโฉมของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในโปรตุเกสที่เป็นสู่สาธารณชนในปี ค.ศ. 1772 ในเยอรมนี Altes Museum โดยความประสงค์ของ Frederick William III ซึ่งมีรากฐานงานสะสมจาก Unter den Linden Academy และเปิดให้ประชาชนเข้าชมในปี ค.ศ. 1830 ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 กระบวนการทำงานจึงประยุกต์วิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาสู่การศึกษาวัตถุ และการให้ความรู้ต่อสาธารณชน ในเรื่องของวัตถุ การจัดแบ่งประเภทเข้ามาสู่ระบบงานพิพิธภัณฑ์ งานสะสมจึงมิใช่เพียงกองกรุวัตถุที่ทับถมรวมกัน งานเขียนสามารถเป็นตัวแทนของกระบวนการทำงานดังกล่าวคือ Museographia ของ Casper F.Neikel ซึ่งพิมพ์ในปี ค.ศ. 1727 ที่ Leipzig14 และในระยะต่อมา ปรากฏงานการจัดแบ่งประเภทวัตถุธรรมชาติศึกษาและโบราณศึกษาที่ทันสมัย ได้แก่ งานของ Linnaeus (พิมพ์ในปี ค.ศ. 1735) Thomsen (พิมพ์ในปี ค.ศ. 1836) ส่วนการจัดแสดง หรือการให้ความรู้ต่อสาธารณชนนั้น กระบวนการส่งผ่านความรู้แบบ didactique15 เป็นฐานรากของการทำงาน นั่นหมายความว่า พิพิธภัณฑสถานเป็นผู้กุมอำนาจในการอธิบายและแสดงให้เห็น เพื่อเป็นการสอนสั่งกลุ่มผู้ชมเกี่ยวกับวัตถุที่จัดแสดง การทำงานพิพิธภัณฑ์เช่นนี้เอง ที่ก่อให้เกิดการจัดแบ่งพื้นที่ในพิพิธภัณฑ์ที่เป็นส่วนของคลังและส่วนของการจัดแสดง ตัวอย่างงานพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยาและโบราณคดีสามารถสะท้อนให้เห็นแนวทางการทำงานดังกล่าวได้เป็นอย่างดี วัตถุได้รับการจัดแบ่งตามประเภทความซับซ้อนทางเทคนิคและแหล่งที่มา และจัดแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของการผลิตตามแนวคิดวิวัฒนาการนิยม และที่สำคัญคือ เป็นการนำเสนอสิ่งที่แปลกแยกจากสังคมยุโรปและนำเสนอวัฒนธรรมของสังคมที่อยู่ในขั้นต้นของการพัฒนาความเป็นมนุษย์ (กรณีตัวอย่าง Mus?e de l’Homme, กรุงปารีส)16 ในกรณีของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ การนำเสนอต่อสาธารณชนเป็นการนำเสนอตามลำดับเวลา และแบ่งแยกตามสำนักศิลป์ต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นกระบวนการทำงานที่เป็นการจัดแบ่งประเภทตามกระบวนการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ ดังกรณีพิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert ในกรุงลอนดอน การเสนอชุดความรู้ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นการพยายามให้สาธารณชนรู้อย่างเช่นที่ผู้ศึกษาวิจัยได้รู้ ปรัชญาของการทำงานเป็นการให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชม พยายามที่จะ "สอนสั่ง" ผู้ชม แนวทางการทำงานกินเวลานานเป็นศตวรรษ และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนทัศน์ในการสื่อสารความรู้สู่สาธารณชนจวบจนปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อกระบวนการสร้างและสื่อสารความรู้ในบริบทของพิพิธภัณฑสถานเช่นกัน สังคมร่วมสมัย : พิพิธภัณฑสถานเพื่อการศึกษาและเพื่อสังคม ในอดีต พิพิธภัณฑ์เคยอยู่ภายใต้การทำงานที่ใช้งานสะสมเป็นฐานรากของกระบวนการคิดในการทำงาน นิทรรศการทำหน้าที่ในการรวบรวมและจัดแสดงงานสะสม เอกสารการเผยแพร่ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ความรู้จากงานวิจัยเกี่ยวกับวัตถุ ผู้ปฏิบัติงานหลักของพิพิธภัณฑ์เป็นภัณฑารักษ์ที่ทำหน้าที่ในการดูแลสงวนรักษา และจัดแบ่งประเภทตามธรรมชาติของงานสะสมที่สอดคล้องกับสาขาวิชาต่าง ๆ หากแต่ว่าตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 พิพิธภัณฑ์ให้ความใส่ใจต่อกลุ่มผู้ชม หรือเรียกได้ว่า เป็นฐานรากของกระบวนการคิดในการทำงานพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการมาจากการทำวิจัยเฉพาะเรื่องเฉพาะอย่างที่ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่ม เอกสารงานพิมพ์เผยแพร่เชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ กัน และงานวิจัยเองขยายขอบเขตมาสู่ผู้ชมศึกษา17 เช่นเดียวกับงานที่วิจัยวัตถุสะสมที่ยังคงดำเนินต่อไป ในปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ไม่ได้ทำหน้าที่ในการกำหนดข้อสรุป ผู้ชมกลับทำหน้าที่ในการตัดสิน พิพิธภัณฑ์เป็นเพียงผู้เตรียมข้อมูลหรือสิ่งของต่าง ๆ สำหรับให้ผู้ชมได้ศึกษา การเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์จึงเป็นการพยายามทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมต่าง ๆ กับคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมด้วยตัวผู้ชมเอง การเรียนรู้เช่นนี้อยู่เหนือกฎระเบียบทุกอย่างทั้งสิ้น ไม่มีการสอบ ไม่มีการเรียนแบบ ไม่มีการเรียนการสอน หากแต่อยู่กับผู้ที่ต้องการอยากจะเรียนรู้เท่านั้น เพราะเขาจะเข้ามาพิพิธภัณฑ์เมื่อรู้สึกอยากมาเท่านั้น ไม่มีการบังคับ การถ่ายทอดความรู้ระหว่างพิพิธภัณฑสถานและกลุ่มผู้ชมเปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่ขบวนการทำงานถ่ายทอดความรู้อยู่บนระบบคิดที่เป็น didactique ซึ่งเน้นการทำให้ผู้ชมเชื่อตามกับเนื้อหาหรือข้อสรุปบางที่พิพิธภัณฑ์ส่งผ่านสื่อต่าง ๆ ไปสู่การส่งผ่านความรู้ที่ในแนวทาง p?dagogique18 ซึ่งเป็นการพยายามสร้างหนทางไปสู่ความรู้นั้น ด้วยเหตุนี้ การส่งผ่านความรู้ภายใต้ระบบคิดดังกล่าว จึงไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้แบบเบ็ดเสร็จ หากแต่เป็นการพยายามสร้างให้ผู้ชมปรารถนาที่จะเรียนรู้ และนำไปสู่การสร้างความรู้ด้วยตนเอง กระบวนการส่งผ่านความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงถือได้ว่าเป็นการให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในการเรียนรู้ในบริบทของการจัดแสดงที่การนำเสนอจะเป็นทั้งการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ การสร้างสถานการณ์หรือบรรยากาศให้เกิดกระบวนการคิด การสามารถจับต้อง สัมผัส และการสร้างปัญหา คำถาม โดยคำตอบจะต้องมาจากการเข้าไปมี ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งจัดแสดง การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ชมมิได้มีลักษณะเป็นฝ่ายที่รับสาร ความรู้ แต่โสตเดียวอีกต่อไปหากแต่ว่าผู้ชมเข้ามามีบทบาทในการกำหนดความต้องการ เนื้อหาจัดแสดง ดังจะเห็นได้จากแนวโน้มในการเกิดการศึกษาผู้ชม ขบวนการคิดและการทำงานดังกล่าวนี้เองสะท้อนให้เห็นว่า พิพิธภัณฑ์ได้ตระหนักถึงบทบาทของตนเองต่อชุมชนและสังคมมากยิ่งขึ้น19 การตระหนักถึงผู้ชมพิพิธภัณฑ์ยังรวมถึงการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งในที่นี้หมายถึง พิพิธภัณฑสถาน จากอดีตผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เป็นเพียงคนบางกลุ่มของสังคม ซึ่งเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่เกิดจากช่องว่างทางเศรษฐกิจและการศึกษา รวมทั้งช่องว่างทางสังคมเช่นกัน พิพิธภัณฑ์เคยเป็นคลัง หรือกรุสมบัติของชนชั้นสูงที่มีคนเข้ามาชื่นชมวัตถุเฉพาะคนในชนชั้นเดียวกันกับเจ้าของงานสะสม และพิพิธภัณฑ์เปิดประตูต้อนรับสาธารณชนในที่สุด แม้ว่ากลุ่มผู้ชมขยายตัวมากขึ้น แต่มีเพียงกลุ่มคนที่มีการศึกษาและชนชั้นกลางที่เป็นเข้ามาในพิพิธภัณฑสถาน คนเหล่านั้นพิจารณาว่า พิพิธภัณฑ์เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยของผู้ใหญ่ จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 ที่กลุ่มเด็ก เยาวชน และนักเรียนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์งานในพิพิธภัณฑสถาน นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ยังเริ่มที่จะหันมาให้ความสนใจ "สาธารณชนชายขอบ" ที่ไม่ใช่กลุ่มผู้ชมของพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้เป็นการเข้าใจธรรมชาติระยะห่างระหว่างกลุ่มคนดังกล่าวกับพิพิธภัณฑสถาน และสร้างสรรค์กิจกรรมที่สามารถสร้างความสนใจ และ/หรือ ความต้องการเข้าชม พิพิธภัณฑ์ย่อมได้กลุ่มผู้ชมทุกประเภทมากยิ่งขึ้น (democratic audience) ด้วยการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว -------------------------------------------- ** บทความนี้ตีพิมพ์ใน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ วิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ระยะที่ 1 สร้างเครือข่ายและสำรวจสภาพพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2547. 1 ในสมัยโรมัน พระราชวังของพระเจ้าเฮเดรียนมีห้องแสดงภาพเขียน และจัดห้องเพื่อแสดงภาพ พระองค์ยังโปรดให้จำลองสถานที่มีชื่อเสียงของกรีกโบราณ มาสร้างไว้ที่เมืองทริบูร ซึ่งถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง รวมทั้งการปรากฏ "ผู้รักษาความปลอดภัย" (l’aeditumus) ที่หน้าที่เฉกเช่นเจ้าหน้าที่รักษางานสะสมของพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน (Claude Pecquet, 1992: 14) 2 Nick Prior, Museums and Modernity: Art Galleries and the Making of Modern Culture (Oxford; New York: Berg, 2002), pp. 14. 3 ชื่อเรียกในภาษาอิตาลีใช้คำว่า galleria 4 ในภาษาเยอรมันใช้คำว่า Kabinett และ Kammer และโดยมากจะใช้การชี้เฉพาะธรรมชาติของวัตถุสะสม เช่น Naturalienkabinett (Natural science collections), Wunderkammer 5 ตระกูล Bourbon-Parme เมืองเนเปิล, ตระกูล Habsbourg เมืองแมดริด, ตระกูล Wittelscach เมืองมิวนิค, ตระกูล Hohenzollern เมืองเบอร์ลิน, ตระกูล Valois และ Bourbon เมืองปารีส, ตระกูล Romanov เมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบริก์ 6 John M.A. Thomas, Manual of Curatorship, (Oxford: Butterworth-Heinemann Ltd., 1992), pp. 8. 7 ด้วยความนิยมเช่นนี้จึงทำให้วัตถุหายาก โบราณ กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่า และถูกส่งออกจากอิตาลีไปสู่ต่างประเทศ (Thomas, 1992: 7) และยังเกิดระบบอุปถัมภ์ศิลปินในการผลิตงานศิลปะรับใช้ต่อผู้ให้การอุปถัมภ์ (Prior, 2002: 17) 8 ในศตวรรษที่ 17 คำเรียกขานสถาปัตยกรรมของชนชั้นสูงเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงอำนาจ la maison : ที่พำนักสำหรับคหบดี, l’h?tel: ที่อาศัยของราชนิกุล และ le palais: ราชวัง พระราชวัง สำหรับราชวงศ์ พระมหากษัตริย์ 9 Bazin ยกคำพรรณาของผู้เยี่ยม Paolozzo ในอิตาลีว่า "The entire decoration of a room consists in covering its four walls, from ceiling to floor with painting in such profusion and with so little space between them that in truth, the eye is often fatigued as amused (cited in Bazin, 1967: 192)" (Prior, 2002: 19) 10 นอกจากผลงานศิลปะแล้ว ยังมีสิ่งของหายากที่มาจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เป็นงานสะสมด้วย วัตถุเหล่านี้เป็นสิ่งของนำกลับมาพร้อมกับนักเดินทางสำรวจ หมอสอนศาสนา และพ่อค้าวาณิชย์ต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็น "ทูตทางวัฒนธรรม" เป็นทั้งผู้ที่นำวัฒนธรรมของประเทศบ้านเกิดไปสู่ที่ซึ่งตนเองได้เดินทางไปถึง และในทางกลับกันทำหน้าที่เป็น "พาหะ" นำเอาวัตถุทางวัฒนธรรมต่างแดนที่ตนเองได้ประสบกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอน แม้ว่าการนำเอาวัตถุที่นักเดินทางสำรวจได้พบกลับมายังบ้านเกิด ในหลายกรณี ลักษณะของอคติที่เกิดขึ้น จากการจัดแสดงคือ การนำเอา "ความไร้อารยะธรรม" กลับมาแสดงให้คนในบ้านเดียวกับตนเองได้เห็น 11 ตามทัศนะของ Foucault ซึ่งปรากฏใน Eilean Hooper-GreenHill, Museums and the Shaping of Knowledge, (London; New York: Routledge, 1993), pp. 168 - 170. 12 Thompson, John M. A., Manual of Curatorship: a guide to museum practice, pp. 10. 13 Claude Badet (ed.), Mus?es et Patrimoine (Nancy: Bialec, S.A., 1997), pp. 22. 14 แต่แนวคิดในการจัดประเภทวัตถุมีมาตั้งแต่ในปี 1565 Samuel van Quiccheberg แพทย์ชาวแฟลมิชได้เสนอว่า งานสะสมควรเป็นตัวแทนการจัดแบ่งสรรพสิ่งต่างๆในสากลโลก 15 คำว่า didactique มาจากภาษากรีก didacktikos อันหมายถึง "อันเหมาะแก่การสอนสั่ง" (propre ? instruire) ขณะเดียวกันคำว่า "instruire" มาจากภาษาลาติน instruere อันหมายถึง "นำเสนอความรู้อันเป็นประโยชน์, ให้ข้อมูล (munir de connaissances, informer) 16 Jaques Galinier et Antoinette Molini?, ? Le cr?puscule des lieux : Mort et renaissance du Mus?e d’Anthropologie ?, Gradhiva (No. 24, 1998). 17 ทฤษฎีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการศึกษาของกลุ่มผู้ชมมีทั้งสำนักพฤติกรรมศาสตร์ จิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา สุนทรียศาสตร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่พิจารณาถึงพฤติกรรม ทัศนคติ การรับรู้ ฯลฯ ของกลุ่มผู้ชมที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดสัมพันธภาพกับพิพิธภัณฑ์ โดยมิได้จำกัดการวิเคราะห์เพียงการสื่อสารที่เกิดขึ้นในบริบทของนิทรรศการ หากแต่รวมไปถึงความสัมพันธ์กับพิพิธภัณฑสถานในฐานะที่เป็นองค์กร หน่วยงาน สถาบันทางสังคม และที่สำคัญคือ เป็นส่วนหนึ่งของสังคม 18 คำว่า "p?dagogique" มาจากภาษากรีก "paidos" แปลว่า เด็ก และ "paideia" แปลว่า การศึกษา และแต่เดิม paidag?gos ในภาษากรีก หมายถึง ทาสที่ทำหน้าที่นำเด็กๆ ไปโรงเรียน 19 Roger Miles and Lauro Zavala, Towards the Museum of the Future: new European perspectives (New York; London: Routledge, 1994), pp. 140 - 144.

พิพิธภัณฑ์กับชีวิตของเมือง กลยุทธ์สำหรับการทำงานร่วมกับชุมชนเมือง

22 มีนาคม 2556

(ตอนที่ 1) บทความที่จะปรากฏต่อไปนี้มาจากการเก็บความจากหนังสือ "Museums in the Life of a City" Strategies for community partnerships. Washington D.C.: American Association of Museum, 1995. หนังสือดังกล่าวได้รวบรวมข้อเขียนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ปี 1992 บทเรียนจากความร่วมมือระหว่างชุมชนและพิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานหลายแห่งในประเทศไทยในการริเริ่มโครงการพิพิธภัณฑ์เมือง เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นและทำหน้าที่ต่อสาธารณชนในการให้การศึกษาอย่างแท้จริง มากไปการสร้างห้องนิทรรศการที่มีแต่ภาพ ป้ายบรรยาย หรือวัตถุจัดแสดงเล็กน้อย แล้วกลับนิยามสถานที่ดังกล่าวนั่นว่า "พิพิธภัณฑ์" ปฐมบท การริเริ่มโครงการพิพิธภัณฑ์กับชีวิตของเมืองมิได้ดำเนินการสะดวกและง่ายดายตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น ระยะกลาง จนกระทั่งปิดโครงการ โครงการดังกล่าวเป็นการทดลองหรืออาจจะเรียกว่าการพิสูจน์ให้เห็นถึงบริบทขนาดใหญ่ของความเป็นไปในสังคมอเมริกันและทัศนคติที่เปลี่ยนไป ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 คำว่า "เชื้อชาตินิยม" (racism) ยังเป็นประเด็นเล็กๆ ที่พูดคุยกันในพิพิธภัณฑ์ ฉะนั้นเมื่อเราเริ่มเขียนเค้าโครงการทำงานในปี 1989 เราได้ตั้งเป้าหมายไว้แต่ต้นว่า "โครงการจะพยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น และลดอคติและการเลือกปฏิบัติไปพร้อมกัน" เราได้เน้นย้ำถึง "การสร้างความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์และชุมชนและความภาคภูมิใจในความเป็นพลเมือง รวมไปถึงความเข้าใจเกี่ยวผู้คนและวัฒนธรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น และเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานของพิพิธภัณฑ์เมืองมากยิ่งขึ้น" เอกสารฉบับนี้เป็นการย้อนรอยการทำงานในทุกๆ ขั้นตอนจากแนวคิดจนถึงการประเมินการทำงาน รวมไปถึงข้อคิดเห็นต่างๆ ที่มีต่อการทำงานของเรา โครงการเริ่มต้นมาจากการพูดคุยระหว่างตัวแทนของพิพิธภัณฑ์ในเมืองฟิลาเดลเฟีย เมื่อฤดูร้อนปี 1988 จากการริเริ่มของโจแอล แอน. บลูม (Joel N. Bloom) ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานสมาคมพิพิธภัณฑ์สหรัฐอเมริกาและประธานพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สถาบันแฟรงคลิน ความคิดในขณะนั้นคือการริเริ่มโครงการที่จะเชื่อมโยงพิพิธภัณฑ์กับชุมชนที่รายล้อม ภายใต้ความอุปถัมภ์ของสมาคมพิพิธภัณฑ์อเมริกาและความร่วมมือกับเครือข่ายสถานที่เพื่อการพำนักอาศัย (Partners for Livable Places) คณะทำงานได้รับเงินสนับสนุนเมื่อปี 1990 จาก The Pew Charitable Trusts for Museums in the Life of a City: The Philadelphia Initiative for Cultural Pluralism หรือกองทุนสำหรับการสร้างความเข้าใจ้เกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมในเมืองฟิลาเดลเฟีย การทำงานในโครงการนำร่องมาจากหลายฝ่าย ตั้งแต่สถาบันวัฒนธรรมและองค์กรงานเพื่อสังคมและศิลปะชุมชน โดยมีสำนักงานเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ประสานงานในเมือง ช่วงปีแรกเป็นห้องเวลาของการเก็บข้อมูล พัฒนาโครงสร้างการจัดการ และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในเมืองฟิลาเดลเฟียและองค์กรชุมชน เรานิยาม "ชุมชน" ที่กลุ่มคนที่ไม่ได้จัดว่าเป็นกลุ่มคนหลักตามที่มีการระบุไว้ในการสำรวจสำมโนประชากรสหรัฐอเมริกาปี 1990 (nonmajority categories used in the 1990 U.S. Census) ผู้ที่ถูกกระทำและเลือกปฏิบัติจากชนอเมริกันกระแสหลัก อันได้แก่ แอฟริกันอเมริกัน ลาติโนส์ เอเชียนอเมริกัน และชนพื้นเมืองอเมริกัน ส่วน "พิพิธภัณฑ์" กินความกว้างไปถึงห้องสมุด สวนสัตว์ และองค์กรทางประวัติศาสตร์ ระหว่างสองปีถัดมา เราได้ทำกิจกรรม 11 ครั้งเพื่อการนำร่องในการประสานความร่วมมือ ด้วยการสร้างศูนย์กลางข้อมูลข่าวสาร การนำเสนอกิจกรรมกับสาธารณชน การผลิตจดหมายข่าว และการจัดประชุมความร่วมมือเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมในอนาคต หน่วยงานต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือพันธมิตรเพื่อที่พำนัก (Partners for Livable Places) ได้จัดประชุมระดับชาติในฟิลาเดลเฟียโดยเน้นประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในสหรัฐอเมริกาและที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ จากการเริ่มต้น คณะกรรมการที่ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์และองค์กรชุมชนรวม 14 แห่งได้วางแนวทางปฏิบัติทั่วไป โดยมีโรเบริต์ ซอร์เรลล์ (Robert Sorrell) ประธานสันนิบาตเมืองฟิลาเดลเฟีย และโจแอล บลูม (Joel Bloom) เป็นประธานคณะกรรมการ ในช่วงปลายปี 1994 สองปีหลังจากโครงการนำร่องสำเร็จลง ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของพวกเขาระหว่างที่มีการประชุมร่วมกับสมาคมพิพิธภัณฑ์สหรัฐอเมริกา ข้อคิดแสดงถึงการริเริ่ม ความเสี่ยงและผลที่ได้รับ ความผิดหวังและความพึงพอใจ ความสนุกและความกังวล เพื่อเป็นข้อคิดให้กับองค์กรทางวัฒนธรรมและชุมชนในเมืองอื่นๆ เช่นฟิลาเดลเฟียได้ทดลองลงแรงในทิศทางเดียวกันบ้าง ความคิดริเริ่มของพวกเรางอกเงยมาจากการสนทนา ทั้งการรู้จักที่จะรับฟัง รับผิดชอบ และการโต้ตอบ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามหรือการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้ง นั่นหมายถึง ความเคารพต่อผู้อื่นและการแสดงความคิดเห็นในบรรยากาศที่ไว้ใจซึ่งกัน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการสนทนา ถ้อยคำเหล่านี้มาจากผู้ที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการระหว่างโครงการนำร่องพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมือง เริ่มต้นสำรวจความเป็นไปได้ โดย แอนน์ มินท์ซ (Ann Mintz) พิพิธภัณฑ์สามารถแสดงบทบาทในการเชื่อมสายใยของชุมชนได้อย่างไร? ประเด็นทางสังคมใดที่พิพิธภัณฑ์สามารถช่วยในการเปิดสู่สาธารณะ? โครงการนำร่องพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมืองออกเดินด้วยคำถามข้างต้นนี้ เมื่อตัวแทนของพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในฟิลาเดลเฟียจัดการประชุมในระยะแรกๆ พวกเรามีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่สองประการ ได้แก่ การบ่งบอกถึงปัญหาที่สำคัญที่สุดที่เมืองกำลงเผชิญอยู่ และอภิปรายแนวทางที่พิพิธภัณฑ์สามารถเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาเหล่านั้น ด้วยการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย เราได้พูดคุยกันให้ประเด็นที่หลากหลายแม้จะต้องใช้เวลานาน ทั้งเรื่องของยาเสพติดและอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่อง การเคหะและปัญหาการเร่ร่อน เด็กๆ ที่อยู่ในสภาวะเสี่ยง การตกงาน การแบ่งแยกทางเชื้อชาติและการเมือง ปัญหาความร่ำรวยของเมืองแต่ขาดความใส่ใจต่อลักษณะพหุวัฒนธรรม ทุนสนับสนุนที่ลดลง การให้ความสำคัญกับการศึกษา ซึ่งรวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความรับผิดชอบของพิพิธภัณฑ์ต่อชุมชนและครอบครัว รวมไปถึงการสร้างความตระหนักในความภาคภูมิของการเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อพื้นที่ด้วยการลงมือต่อต้านความยุ่งเหยิง เราได้อภิปรายถึงจุดแข็งของพิพิธภัณฑ์ที่เรามีและเราจะสร้างความแตกต่างอย่างไร "พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่งานสังคมสงเคราะห์" ใครคนหนึ่งในการประชุมกล่าวขึ้นมา เราเห็นด้วย แต่ปัญหาของเมืองอีกจำนวนไม่น้อยที่พิพิธภัณฑ์ไม่สามารถจะช่วยได้ พิพิธภัณฑ์กลับจะต้องผลักดันให้ตนเองเป็นหน่วยงานที่มีบทบาททางสังคม (social agencies) ตัวอย่างเช่น ขอบเขตการทำงานบางประเภทอยู่ในวิสัยที่พิพิธภัณฑ์ชำนาญการ การศึกษาและการสร้างความภาคภูมิใจของชุมชน หรือประเด็นอื่นอย่างการแบ่งแยกเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ที่เราสามารถเข้าไปเล่นบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี ใครอีกคนหนึ่งในที่ประชุมกล่าวว่า "วัฒนธรรมเป็นจุดศูนย์กลางของการเยียวยาประเทศ" เราสำรวจความเป็นไปได้ต่างๆ และสรุปจุดแข็งของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแบบฉบับคือ การจัดแสดง การตีความ และการสดุดีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ฟิลาเดลเฟียอยู่ในข่ายของเมืองที่มีชุมชนหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม แต่ความแตกต่างและหลากหลายเช่นนี้สามารถนำไปสู่การแบ่งแยก และหลายๆ ครั้ง ก็หมายถึงความขัดแย้ง เราจึงตัดสินใจว่า พิพิธภัณฑ์ควรสำรวจตนเองเพราะเหตุใดจึงมีกำแพงระหว่างเราและชุมชน แล้วเราจะสามารถสร้างเชื่อมต่อได้อย่างไร เราควรหาวิธีที่จะสดุดีความหลากหลาย เมื่อเรามองออกไปยังภายนอกคือ ชุมชนต่างๆ ในฟิลาเดลเฟีย แลมองกลับเข้ามาในระบบการทำงานของเรา เราควรพยายามเรียนรู้ว่าเหตุใดพิพิธภัณฑ์ไม่เคยจะสะท้อนความหลากหลายของวัฒนธรรม เราควรที่จะมีโอกาสเรียนรู้กันและกัน และเชื่อมโยงให้พิพิธภัณฑ์ต่างๆ เป็นแหล่งการเรียนรู้อย่างไม่เป็นอย่างทางการ รวมถึงรู้จักใช้ "มนต์มายา" ที่ตนมี สิ่งที่เราเรียนรู้ในเบื้องต้นนี้สามารถสรุปได้ 3 คำ คือ ขบวนการ ความอดทน และการเป็นหุ้นส่วนซึ่งกัน ขบวนการมีความสำคัญ เพราะเราจะต้องทำงานไปด้วยกัน เมื่อเราต้องใช้เวลาและความใส่ใจ ความอดทนก็เป็นสิ่งที่จะต้องมีในลำดับต้นๆ และในแต่ละขั้นตอนของการตัดสินใจ ทั้งเป้าหมาย วัตถุประสงค์ หรือการพัฒนาโครงการ หุ้นส่วนที่แท้จริงก็คือกุญแจสำคัญ เราเริ่มออกเดินทาง โดย พอร์เทีย ฮามิลตัน-สเปียร์ (Portia Hamilton-Sperr) ในการเริ่มต้นโครงการพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมืองเมื่อปี 1990 เรามองไปที่ลักษณะประชากร การเมือง และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของฟิลาเดลเฟีย รวมถึงบริบททางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 เมืองมีแต่ความวุ่นวาย รัฐบาลท้องถิ่นเผชิญกับปัญหาการเงิน ศีลธรรมของพลเมืองตกต่ำจนขีดสุด ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ค่านิยมดั้งเดิมกลายเป็นประเด็นไปทั่วประเทศ ประเด็นพหุนิยม ความหลากหลาย และพหุวัฒนธรรมนิยม และ "จริยธรรมการเมือง" กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อพิจารณาไปที่ประชากรในเมืองของอเมริกา เราไม่แปลกใจเลยที่จะเห็นพหุนิยมที่เพิ่มมากขึ้นในฟิลาเดลเฟีย ตั้งแต่ 1980 ตามข้อมูลการสำรวจล่าสุด กลุ่มประชากรเอเชียที่อยู่ในเมืองมากขึ้นเป็นสองเท่า หรือมากกว่า 43,000 คน และประชากรกลุ่มละตินเพิ่มมากขึ้นมากกว่า 90,000 คน ตามข้อมูลที่อ้างอิงของบทความหนึ่งใน ฟิลาเดลเฟีย อินเควอรี เดือนมีนาคม 1991 "เมื่อต้นศตวรรษนี้ ประชากรในขณะนั้นประมาณ 1.6 ล้านคน ประกอบด้วยคนขาวร้อยละ 54 และคนดำร้อยละ 40 แต่ในยามนี้ 3 ใน 4 คือประชากรคนดำอาศัยในกลุ่มประชากรที่ 9 ใน 10 คนเป็นคนดำ" และอีกบทความหนึ่งพูดไปในทำนองเดียวกัน "ดังจะเห็นได้ว่าการแบ่งแยกมีมากขึ้นในเมืองต่างๆ อย่างฟิลาเดลเฟีย คนดำจำนวนหนึ่งขาดความสัมพันธ์กับคนดำชนชั้นกลางที่ย้ายไปยังชุมชนใหม่… จากเครือญาติระหว่างครอบครัวและเพื่อนที่เคยอยู่ในลักษณะข้อมูลช่องทางการทำงาน หรือวาระโอกาสอื่น กลายมาเป็นทะเลาะแบ่งแยก ชุมชนกลายสภาพเป็นโดดเดี่ยวมากขึ้น" เมื่อพิจารณาถึงบทบาทขอสถาบันทางวัฒนธรรมที่ควรจะมีหรือจะเป็นเพื่อการพัฒนาเมืองในยามที่ปัญหาแย่ลงเรื่อยๆ สถาบันควรคิดที่จะเข้าหามวลชนโดยตรงมากกว่าที่จะตระหนักถึงประเด็นทางสังคมบางประการ นั่นหมายถึง การคำนึงถึงการอยู่รอดทางการเงิน พิพิธภัณฑ์หลายแห่งคิดถึงความต้องการทางสังคมในลักษณะกว้างๆ หลายแห่งสนับสนุนการเข้าชมของเด็กที่มีรายได้ต่ำ หลายแห่งทำงานกับโรงเรียนรัฐหรือมีการจัดรายการท่องเที่ยว ในขณะที่อีกหลายแห่งจัดนิทรรศการที่ดึงดูดกลุ่มคนที่ไม่ใช่ผู้เข้าชมหลักของพิพิธภัณฑ์ แต่มีพิพิธภัณฑ์น้อยแห่งมากที่ใคร่ครวญถึงปัญหาสังคมให้ตรงมากกว่านี้ จากเงื่อนไขที่กล่าวมาทั้งหมด การเริ่มต้นโครงการพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมืองจึงเป็นความกล้าหาญจะทำสิ่งที่ต่าง และด้วยเจตนารมย์ที่ดี ข้าพเจ้าจำได้ดีว่าเมื่อเริ่มต้นการทำงาน ตัวแทนพิพิธภัณฑ์หลายแห่งกลับแสดงทีท่าที่ถ่อมตนหรือแอบระแวงสงสัย บางคนแสดงความไม่กระตือรือร้นแต่เริ่มแรก แล้วกล่าวกับพวกเราว่า "ก็ลองดูเพื่อความอยู่รอด" และอีกหลายคนแสดงความวิตกจริตเมื่อพวกเขาได้รับมอบหมายบางประการ เสมือนว่าเป็นความรับผิดชอบที่เขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกไปจากนี้ เรายังต้องคอยที่จะอธิบายให้เข้าใจถึงผลการทำงานที่จะแตกต่างไปจากกิจกรรมเพิ่มจำนวน "ผู้เข้าชมที่ไม่ใช่กลุ่มผู้ชมหลัก" ในพิพิธภัณฑ์ อย่างไรก็ดี เราคงยืนยันถึงการทำงานแบบเข้าหามวลชนว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมและการศึกษาของชุมชนต่างๆ ในเมือง กุญแจสำคัญคือ พยายามรั้งเด็กๆ ไว้ที่โรงเรียน สอนให้พวกเขาเข้าใจความหมายของการทำงาน กิจกรรมสร้างสรรค์ การต่อสู้กับยาเสพติดและความรุนแรง และการฟันฝ่าเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและบริการสุขภาพ เราจึงเสนอแนะว่าในกระบวนการศึกษา พิพิธภัณฑ์ที่มีส่วนร่วมควรย้อนสำรวจทรัพยากรที่จะเชื้อเชิญให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ในความพยายามครั้งใหม่นี้ คณะกรรมการวางแผนวางเป้าหมายสำหรับโครงการนำร่องไว้ ดังนี้     โครงการจะพัฒนาการสื่อสารระหว่างชุมชนและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในฟิลาเดลเฟีย ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การสร้างความเข้มแข็งในคุณค่าของชุมชน และความต้องการอื่นๆ     โครงการจะสาธิตให้เห็นวิธีการและช่องทางในการรับใช้ต่อพลเมืองซึ่งมีวัฒนธรรมที่ไม่ใช่กระแสหลัก เช่น อเมริกันแอฟริกัน เอเชียนแอฟริกัน ลาติน และชนพื้นถิ่นอเมริกัน     โครงการจะก่อร่างรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างคู่สัมพันธ์ (ชุมชนและพิพิธภัณฑ์) พร้อมไปกับหัวหน้าชุมชนและคนทำงานพิพิธภัณฑ์สามารถตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ร่วมกัน     โครงการจะเพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑ์และชุมชนในการเข้าไปแก้ปัญหาร่วมสมัยด้วยกลยุทธ์แบบมีส่วนร่วม ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่     โครงการจะผลักดันให้ชุมชนเข้ามาร่วมงาน และส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์และกรรมการคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเมือง     โครงการมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นเพียงโครงการนำร่องเท่านั้น     กิจกรรมจำนวน 41 กลุ่มเข้าร่วมในโครงการ 11 กลุ่มได้รับเงินสนับสนุนจากข้อแนะนำของผู้นำต่างๆ ของข่ายงานวัฒนธรรมที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม อันประกอบด้วย     โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ 2 โครงการ ด้านหนึ่งเป็นงานวิทยาศาสตร์และอีกด้านหนึ่งเป็นทัศนศิลป์ โครงการให้เด็กในวัยเรียนเข้ามามีส่วนร่วม     โครงการประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า โครงการหนึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเคหะสาธารณะ และอีกโครงการหนึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของกลุ่มเพื่อนบ้านที่ต่างกันสองกลุ่ม     โครงการวิจัยในการสำรวจแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมกัมพูชา     โครงการสำรวจประเด็นทางวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์การเดินเรือที่จะให้เด็กและครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม     โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับวัฒนธรรมแอฟริกาและกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อนักเรียนระดับประถมศึกษา     โครงการกิจกรรมปฏิบัติการอำนวยความสะดวกในการเข้าใช้ศูนย์บริการชุมชน สวน และห้องสมุด     โครงการปฏิบัติการละครและทัศนศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการภาพวาดโดยศิลปินแอฟริกันอเมริกันที่มีชื่อเสียง รวมถึงการจัดอบรมศิลปะการแสดงให้กับกลุ่มวัยรุ่น     โครงการกิจกรรมครอบครัวเพื่อสร้างความเข้าใจข้ามวัฒนธรรมในกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติที่หลากหลาย (ตอน 2) บทความที่จะปรากฏต่อไปนี้มาจากการเก็บความจากหนังสือ "Museums in the Life of a City" Strategies for community partnerships. Washington D.C.: American Association of Museum, 1995. หนังสือดังกล่าวได้รวบรวมข้อเขียนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ปี 1992 บทเรียนจากความร่วมมือระหว่างชุมชนและพิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานหลายแห่งในประเทศไทยในการริเริ่มโครงการพิพิธภัณฑ์เมือง เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นและทำหน้าที่ต่อสาธารณชนในการให้การศึกษาอย่างแท้จริง มากไปการสร้างห้องนิทรรศการที่มีแต่ภาพ ป้ายบรรยาย หรือวัตถุจัดแสดงเล็กน้อย แล้วกลับนิยามสถานที่ดังกล่าวนั่นว่า "พิพิธภัณฑ์" การสนับสนุนเครือข่าย ซินเธีย พริมาส์ (Cynthia Primas) เมื่อมีการรวมตัวเป็นองค์กรใหม่ๆ องค์กรในเครือข่ายอภิปรายถึงความหวังและความคาดหวัง แน่นอนฟังดูน่าตื่นเต้นและในบางครั้งกลับกระตือรือร้นจนเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการให้ความช่วยเหลือวัยรุ่นให้มีความภูมิใจในตนเองและการฝึกฝนอาชีพ การสร้างเครือข่ายงานพิพิธภัณฑ์ การรณรงค์ค่านิยมของชุมชน การทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมในระดับที่ลึก หรืออะไรก็ตามแต่ จริงๆ แล้วเมื่อเราจะต้องทำงานร่วมกัน ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่บุคลิกภาพส่วนบุคคล และของกลุ่มเอง จากนั้นเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มในระดับต่างๆ กลุ่มที่ทำงานร่วมกันได้ดีย่อมมีวิญญาณเป็นของกลุ่มเอง เมื่อนั้นบรรยากาศของการทำงานจะนำพาให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างแต่ละคนที่เข้ามาทำงาน เราค่อนข้างตื่นเต้นในยาแรกเห็นการแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นระหว่างคนในชุมชนและคนพิพิธภัณฑ์ ประสบการณ์ดังกล่าวไม่เคนเกิดขึ้นมาก่อน ทีมงานไม่ได้กำหนดการทำงานตามที่ได้วางแผนไว้แล้ว หากแต่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างแท้จริง ทั้งทรัพยากรที่มีอยู่และความร่วมมือ สิ่งนี้เองที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ในระยะยาว เราตระหนักได้ถึงอิสระในการลงมือทำและการตั้งคำถามที่มาจากสมาชิกที่เข้าร่วมงาน แม้เราจะเล็งเห็นถึงอุปสรรคที่เกิดมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่เรายังคงยืนยันที่จะไม่ทำงานภายใต้การวางแผน ซึ่งอาจจะทำให้งานลุล่วงไปได้มากกว่า เรากลับใช้ระบบที่เรียกว่า "วิจัยเชิงปฏิบัติการ" (action research) นั่นหมายถึง กระบวนการเก็บข้อมูลที่มาจากมุมมองของสมาชิกในกลุ่มที่เกิดขึ้นภายใต้การทำงานจริง ในกระบวนการเช่นนี้ สมาชิกแต่ละคนสามารถใช้ข้อมูลที่พวกเขาได้สังเคราะห์ด้วยตนเอง เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ตามแนวคิดที่กล่าวไว้นี้ ผลลัพธ์ที่เราปรารถนาคือ กระบวนการมาจากกลุ่มที่ทำงานเอง และจะส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจ ผู้ปฏิบัติงานในขั้นริเริ่มได้ทำหน้าที่ในการผลักดัน แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไปบอกให้สมาชิกในทีมงานทำเช่นนั้นเช่นนี้ ในการทำงาของเรา เราเน้นที่ความเท่าเทียมและนำเอาคนที่มีค่านิยมและการมองโลกที่แตกต่างมาเสริมการทำงานซึ่งกัน ข้าพเจ้ารู้สึกอิ่มใจไม่น้อยเมื่อได้รับข้อความหนึ่งจากผู้ที่เข้าร่วมโครงการ "ขอบคุณสำหรับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และความพยายามในการผลักดันการทำงานไปในกระแสของสายน้ำต่างวัฒนธรรม เพื่อให้กลายเป็นความร่วมมือที่เข้มแข็งและความร่วมมือที่มีพลวัต" คำตอบที่ข้าพเจ้าได้มานี้ย้ำความจริงหนึ่งที่ว่าผลงานและกระบวนการจะต้องดำเนินไปด้วยกัน เพื่อให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จอังที่ตั้งหวังไว้   การทำงานร่วมกัน   โครงการวีดิทัศน์ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของบ้านจอห์นสัน (Johnson Homes Oral History Video Project) โดยสภาผู้อยู่อาศัยในบ้านจอห์นสัน สมาคมเคหะสถานของวาล์เลย์เดอลาแวร์ และห้องสมุดสาธารณะฟิลาเดลเฟีย (Johnson Homes Tenant Council, Housing Association of Delaware Valley, Free Library of Philadelphia) โครงการวีดิทัศน์ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าเป็นกิจกรรมสำคัญของโครงการเคหะสถานเจมส์ เวลดอน จอห์นสัน (James Weldon Johnson Homes) ซึ่งเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการแรกในฟิลาเดลเฟียเมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือจากตัวแทนจากห้องสมุดสาธารณะฟิลาเดลเฟียและสมาคมเคหะสถานของวาล์เลย์เดลลาแวร์ ผู้ที่อาศัยในบ้านจอห์นสันเข้ารับการอบรมการวิจัยประวัติศาสตร์คำบอกเล่า การผลิตวีดิทัศน์ และภาวะผู้นำ ผู้ที่ร่วมโครงการวางแผนการผลิตวีดิทํศน์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวและความทรงจำจากผู้อยู่อาศัยอาวุโสเกี่ยวกับช่วงปีแรกๆ เข้ามาอยู่ในโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งวันหนึ่งข้อมูลเหล่านี้จะสูญหายไป แม้ว่าในช่วงแรกโครงการบ้านจัดสรรจะมีสวัสดิการสังคมและกิจกรรมพักผ่อนไม่น้อย แต่งบประมาณกลับถูกตัดและกิจกรรมหลายอย่างงดไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะผู้นำที่มีพลังจากสมัยของ แนลลี่ เรย์โนลด์ส (Nellie Reynolds) ซึ่งต่อมาประธานได้เป็นประธานสภาผู้อาศัย ทำให้บ้านในโครงการหลีกพ้นหลุมพลางจากโครงการพัฒนาอื่นๆ ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าเป็นเรื่องราวของพวกเขา เรื่องราวที่บ่งบอกความสำเร็จ การต่อสู้กับความขัดแย้ง และความเคลื่อนไหวในสิทธิของการตัดสินใจที่จะจัดการการพำนักอาศัยในสถานที่ดังกล่าวด้วยตนเอง ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการ ลินดา โชเปส (Linda Shopes) นักประวัติศาสตร์คำบอกเล่าจากคณะกรรมการประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์เมืองฟิลาเดลเฟีย ได้จัดการอบรมการสัมภาษณ์ประวัติศาสตร์บอกเล่า และตัวแทนจากศูนย์สคริปววิดีโอ (Scribe Video Center) ได้สอบเทคนิคการผลิต รวมไปถึงความร่วมมือจากตัวแทนของห้องสมุดสาธารณะและที่ปรึกษาจากสาขาต่างๆ ชาวบ้านได้เรียนรู้เทคนิคการทำวิจัยประวัติศาสตร์บอกเล่า เรียกได้ว่าเป็นทักษะที่มีคุณค่าที่เปิดประตูให้พวกเขาได้สร้างสรรค์แผนที่และข้อมูลอื่นๆ ซึ่งได้สร้างความภาคภูมิใจเกี่ยวกับพื้นที่ที่เขาพำนักอาศัย คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เข้าสมุดเลยหลังจากออกจากรั้วโรงเรียนกลับพบความน่าสนใจและส่งผลให้พวกเขากลับไปอีกหลายต่อหลายครั้ง     การเข้าหาชุมชนด้วยมุมมองทางศิลปะและการถ่ายทอดความรู้     โดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย, Taller Puertorriqueno, Congresso de Lqtinos Unidos โครงการนี้ใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนในการทำกิจกรรมกับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 5 คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดย Taller Puertorriqueno และ Congresso de Lqtinos Unidos และนักเรียนในระดับวิทยาลัย ผู้ได้รับการคัดเลือกโดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย การอบรมดังกล่าวมีระยะเวลา 8 สัปดาห์ที่จะจัดกิจกรรมให้กับเด็กจำนวนหลายพันคนตามค่ายในเมืองและศูนย์พักผ่อนและกีฬาต่างๆ ในสามอาทิตย์แรกเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ เข้ารับการอบรม พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าพิพิธภัณฑ์ดำเนินการอย่างไรด้วยการพบปะภัณฑารักษ์และผู้บริหาร ได้สังเกตการการจัดรายการกิจกรรมต่างๆ ได้สำรวจแง่มุมต่างๆ จากงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ และได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นที่ตั้งอยู่ในฟิลาเดลเฟียและนิวยอร์ก เอมมี่ ยาเรด (Amy Jared) และเจ้าหน้าที่ในแผนกการศึกษาบรรยายและสาธิตการใช้ประโยชน์ในห้องจัดแสดงและห้องปฏิบัติงานศิลป์ และบอกเล่าถึงวิธีการวางแผนกิจกรรมเพื่อการศึกษา ในระหว่าง 5 สัปดาห์ที่เหลือ เด็กๆ จะได้รับผิดชอบอยู่ในทีมการสอนอย่างเป็นอิสระ แต่ละคนจะมีโอกาสได้สังเกตการณ์ซึ่งกันและกัน และประเมินผลการทำงาน เด็กมีห้องที่ใช้เตรียมบทเรียนที่จะนำกลับไปยังชุมชนของตนเอง พวกเขาได้จัดอบรมการพิมพ์ให้กับเด็กๆ ในโครงการภาคฤดูร้อนเทเลอร์จำนวน 45 คน ส่วนในช่วงเปิดเทอม เด็กจากโรงเรียนทั้ง 5 แห่งจะพบกันที่ Taller Puertorriqueno เพื่อเตรียมการและสอนกิจกรรมให้กับชุมชน จากนั้นพวกเขาได้เตรียมงานศิลปะบนกำแพงสำหรับฤดูใบไม้ผลิ อัลแบร์โต แบร์เซอรา (Alberto Becerra) ศิลปินเชื้อสายลาตินผู้ที่เป็นที่รู้จัก ทำหน้าที่ผู้ประสานงานของโครงการ เขาได้นำนักเรียนเข้าเยี่ยมชมวิทยาลัยบริน มอร์ และเฮเวอฟอร์ด (Bryn Mawr and Haverford Colleges) ทั้งผลงานศิลปะ การตระเวนในวิทยาเขต และการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับนักเรียนเชื้อสายสเปน จุดประสงค์สำคัญอยู่ที่การเพิ่มความตระหนักของนักเรียนต่อช่องทางการทกำงานในอนาคต เมื่อพิจารณาโครงการในมิติของความร่วมมือ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ได้สร้าง "สะพาน" ที่เชื่อต่อไปยังชุมชนในระดับที่กว้างมากขึ้น โครงการพิพิธภัณฑ์ในชีวิตของเมืองผลักดันให้ส่วนงานที่รับผิดชอบกิจกรรมความร่วมมือนอกองค์กรจัดทำโครงการที่หลากหลายมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะสานต่อไปในอนาคต กิจกรรมหนึ่งที่ทำให้พันธกิจเกี่ยวกับการเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นไปได้ดีคือการจัดพิมพ์จดหมายข่าว เนื้อหาสาระที่ปรากฎในจดหมายข่าวเกี่ยวข้องกับการสำรวจศิลปินเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันที่มีงานสะสมในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายชุมชนเพื่อสานสร้างความสัมพันธ์กับองค์ชุมชนแอฟริกัน-อเมริกัน กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาสเปน และเอเชีย     เสียงจากชุมชนพอยต์ บรีซ โดยพิพิธภัณฑ์ แอทวอเตอร์ เคนท์ (Atwater Kent Museum) ศูนย์การเรียนระหว่างชั่วคน มหาวิทยาลัยแทมเปิล สมาพันธ์พอยต์ บรีซ และศูนย์ศิลปะการแสดงพอย์ต บรีซ ความร่วมมือดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากความพยายามในการเก็บรวบรวมประวัติศาสตร์บอกเล่าในย่านพอยต์ บรีซ เมืองฟิลาเดลเฟีย ตั้งแต่ช่วงปี 1920 จนถึงปัจจุบัน ทีมงานที่เป็นคู่จะได้รับการอบรมให้สัมภาษณ์ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ทั้งคนที่เคยอาศัยอยู่และยังที่พำนักอยู่ในปัจจุบัน ผู้คนเหล่านี้มาจากกลุ่มเชื้อสายและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ได้รับการถ่ายทอดในเอกสารเพื่อใช้พัฒนาเป็นดนตรี ละคร และการแสดงสำหรับการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนในอนาคต จุดประสงค์ของโครงการคือ การช่วยให้คนรุ่นใหม่เกิดความภาคภูมิใจในพื้นที่ที่ตนเองอาศัยด้วยการสำรวจเรื่องราวของชุมชนด้วยตนเอง สิ่งที่ผู้จัดโครงการย้ำต่อคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ "พวกเธอทั้งหลายเป็นเจ้าของเรื่องราวของตนเอง ไม่มีใครที่จะแย่งชิงไปได้… สิ่งเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบันทึกและแบ่งปันเรื่องราวให้กับผู้คนรุ่นต่อไปที่จะเกิดขึ้นมา" กลยุทธ์อักประการหนึ่งของโครงการคือ การจับคู่ระหว่างคนรุ่นใหม่และผู้ใหญ่ให้ทำงานเคียงคู่กันไป คนสองชั่วอายุจะเรียนรู้การทำงานซึ่งกันและกัน และพัฒนาความเข้าใจที่ลึกซึ่งมากขึ้นตลอดการทำงาน ตัวอย่างเช่น เราให้ทั้งคู่มาปฏิบัติการร่วมกันในการสร้าง "แผนภาพในจินตนาการ" ของพอย์ต บรสที่แตกต่างไปในแต่ละชั่วอายุคน นั่นหมายความว่าคนในพื้นที่รับรู้ต่อพื้นที่แตกต่างกันไปอย่างไร พวกเขาจะได้เรียนรู้เทคนิคการสัมภาษณ์กับลินดา โชเปส คือผู้ที่เคยดำเนินโครงการในแบบเดียวกันนี้ที่บัลติมอร์ 4 ใน 8 คณะได้เข้าร่วมการอบรมตลอดโครงการ และได้สัมภาษณ์มีจำนวนถึง 45 ชุด เทปจากการสัมภาษณ์ได้รับการถอดเป็นเอกสารการสนทนาเพื่อใช้จัดพิมพ์ต่อไป แม้ว่าคนที่ให้สัมภาษณ์จะมีความแตกต่างในเรื่องขออายุ แต่ผู้จัดก็ดูจะผิดหวังเล็กน้อยกับกลุ่มชาติพันธุ์ของคนที่ให้สัมภาษณ์กลับไม่หลากหลายเท่าไร คนขาวผู้เคยอาศํยในพอย์ต บรีซกลับไม่ยินดีมากนักในการร่วมมือสัมภาษณ์ และผู้ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันที่เป็ยเชื้อสายเอเชียก็ไม่ได้ใส่ใจต่อโครงการมากเช่นกัน แต่งานยังคงดำเนินต่อไป กิจกรรมและความตั้งใจเช่นนี้ต้องการเวลา อย่างน้อยๆ ข่าวคราวที่ได้ยินมาล่าสุดนี้ก็ดูจะพัฒนามาจากการทำงานก่อนหน้านั้น ผู้คนในย่านดังกล่าวเริ่มเคลื่อนไหวจะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชุมชนเล็กๆ ของตนเอง     เราเคยเป็นใคร เราคือใครในปัจจุบัน โครงการฝึกปฏิบัติงานนี้พัฒนาขึ้นเพื่อจุดประสงค์หลายประการ ทั้งการสร้างฐานความร่วมมือสำหรับการวิจัยระหว่างองค์กรที่เข้าร่วมการทำงาน การจัดอบรมให้กับนักเรียนในระดับมัธยมปลายในการเขียนและการตรวจแก้ไข รวมไปถึงทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และการเริ่มต้นสำรวจประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้เคยมีการเก็บรวบรวมมาก่อนในย่านเยอรมันทาวน์-ลีไฮในตอนเหนือของกลางฟิลาเดลเฟียกลาง ข้อมูลจากการสำรวจและบันทึกเน้นไปที่พื้นที่โรงเรียน ย่านธุรกิจ และโครงการบ้านจัดสรร ผู้ที่อาศัยมาเป็นเวลานานจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับกลุ่มเชื้อสายต่างๆ โรงเรียน ก๊วน และความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงระหว่างอเมริกันเชื้อสายยิวและอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในช่วงทศวรรษที่ 1960 ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะเขียนบทความและจัดพิมพ์ในจดหมายข่าวของชุมชนหรือ Community Messenger พวกเขาจัดเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อการใช้งานของชุมชนในอนาคต เนื้อหาได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปในกระแสความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม เลน เซงวิลล์ (Len Zengwill) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์จัดทำรายชื่อผู้ที่อาศัยในพื้นที่ระยะเวลายาวนานจำนวน 20 คน นอกจากนี้ เขาได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนในพื้นที่อื่นๆ เข้ามาร่วมโครงการด้วย เซงวิลล์และ คาเรน มิทเทลแมน (Karen Mittleman) จากพิพิธภัณฑ์ทำงานร่วมกับเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการในการบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ จับกลุ่มเนื้อหาในประเภทเดียวกัน และเสนอแนะคำถามใหม่ๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเก็บข้อมูล เมื่อเด็กๆ ที่เข้

เยาวราช: คุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม

22 มีนาคม 2556

หากพูดถึงเยาวราช หลายคนจะนึกถึงภาพบรรยากาศที่คราคร่ำไปด้วยสินค้าและผู้คนมากมายโดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน ยิ่งช่วงใกล้เทศกาลสารทจีน หรือตรุษจีน ตลาดเก่าเยาวราชจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอย เลือกซื้อสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ผลไม้ รวมไปถึงกระดาษเงิน กระดาษทอง ธูป เทียน เพื่อเตรียมการสำหรับพิธีไหว้บรรพบุรุษ ในยามค่ำคืน ถนนสายเยาวราชยังเต็มไปด้วยกลิ่นคละคลุ้งของอาหารหลากชนิด หลากรสชาติ ที่ตั้งอยู่เรียงรายตลอดแนวของถนนสายนี้ ตั้งแต่ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว กระเพาะปลา ลูกเกาลัค จนถึงหูฉลาม รังนก ไก๋ตุ๋นยาจีนในภัตตาคารอันหรูหรา ทำให้ถนนสายเยาวราชแห่งนี้มีเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาชื่นชมและดื่มด่ำกับบรรยากาศแบบเดินไป ชิมไปได้เป็นอย่างดี นอกจากถนนสายเยาวราชจะเป็นย่านธุรกิจที่มีเงินไหลเวียนเข้าออกอย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งวันแล้ว ในอีกมุมหนึ่งยังถือเป็นชุมชนที่มีคนเชื้อสายจีนอยู่อาศัยมากที่สุด ตั้งแต่การอพยพมาจากโพ้นทะเลตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ด้วยลักษณะการรวมกลุ่มที่โดดเด่น ต่างไปจากกลุ่มสังคมอื่นในเมือง อีกทั้งการรวมกลุ่มในรูปขององค์กรการค้า และองค์กรทางสังคม โดยผ่านแซ่ ผ่านความเป็นท้องถิ่นเดียวกัน ผ่านสำเนียงพูด ผ่านองค์กรการกุศล ทำให้คำสั่งสอน ความเชื่อ ประเพณี ธรรมเนียม พิธีปฏิบัติถูกถ่ายทอดมายังชนรุ่นหลังรุ่นแล้วรุ่นเล่า วัดจีนและศาลเจ้าจีนจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อ เป็นที่พึ่งด้านจิตใจ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และเป็นสถานที่ที่มีความผูกพันทางสังคม ของชาวจีน โพ้นทะเลที่อพยพเข้ามา ตลอดรวมถึงเป็นองค์กรการกุศลสงเคราะห์ ที่ช่วยเหลือคนยากจนและผู้ประสบภัยต่างๆ ดังเช่น มูลนิธิเทียนฟ้า ซึ่งเป็นมูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อ ร.ศ. 227 สามารถดำรงอยู่ได้จากการบริจาคของพ่อค้า นักธุรกิจ รวมทั้งยังเปิดเป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วย ทั้งทางแผนจีนและแผนปัจจุบัน อนึ่ง การเกิดขึ้นของศาลเจ้ายังแฝงไปด้วยความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ มากมายที่ถูกเล่าขานและปฏิบัติต่อมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น การเคารพนับถือเทพเจ้า การกราบไหว้เจ้าที่เจ้าทางที่ปกปักรักษาให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข การกราบไหว้บูชาเทพทั้งหลาย ตลอดจนเครื่องเซ่นไหว้ที่ใช้ในการบูชา แฝงไปด้วยสัญลักษณ์และความหมายมากมาย นอกจากนี้ผลงานทางด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมได้สะท้อนพื้นฐานทางความเชื่อ และความเชื่อมโยงสอดคล้องกับตำนานในประวัติศาสตร์ของชาวจีน หากพิจารณาในแง่คุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของ UNESCO แล้ว อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนย่านเยาวราชถือเป็นชุมชนที่มีคุณค่ามากมายในหลายแง่มุม อันได้แก่ คุณค่าทางวัตถุ (Materialistic Value) ที่แฝงไปด้วยสัญลักษณ์และความหมายมากมายผ่านทางวัตถุต่างๆ เช่น รูปปั้นมังกรเป็นตัวแทนของความเป็นชาย โคมไฟสื่อถึงแสงที่ส่องสว่างในการส่งเทพเจ้าขึ้นสวรรค์ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ (Historical Value) หลักฐานจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัยริมถนนและในตรอกซอกซอยสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน และวิถีชีวิตตั้งแต่ครั้งชาวจีนอพยพเข้ามาพร้อมกับเสื่อผืนหมอนใบในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งมีระยะเวลายาวนานนับร้อยปี คุณค่าทางจิตใจและความรู้สึก (Spiritual Value) ซึ่งปรากฏในคำสั่งสอนและการปฏิบัติที่มีสืบทอดกันมายาวนาน ทำให้ชาวจีนมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น คือ มีความกตัญญู รู้คุณคน ขยัน พากเพียร หนักเอาเบาสู้ ประหยัด มัธยัสถ์ อดออม คุณค่าทางศิลปะ (Artistic Value) และ คุณค่าทางสุนทรียภาพ (Aesthetic Value) ที่ดูเหมือนจะแยกจากกันไม่ออก ถูกถ่ายทอดผ่านช่าง และศิลปินที่บรรจงสร้างงานศิลปะต่างๆ เช่น งานจิตรกรรมฝาผนัง การออกแบบทางสถาปัตยกรรม ที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อและตำนานทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางวัฒนธรรม (Culture Value) ที่ได้สั่งสมและถ่ายทอดออกมาผ่านธรรมเนียม ปฏิบัติ รวมถึงคติธรรม คำสอน การใช้ชีวิตประจำวันที่ยึดถือกันมาจวบจนทุกวันนี้ เพื่อความเป็นอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เพื่อลูกหลานได้อยู่รอดปลอดภัย ดังนั้นชุมชนเยาวราช จึงถือได้ว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ สังคม และวัฒนธรรม โดยสะท้อนผ่านทางธรรมเนียมปฏิบัติ ประเพณี พิธีกรรม คำสอน ความเชื่อต่างๆ สถาปัตยกรรม ฯลฯ การเกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ภายในวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นศูนย์รวมอีกจุดหนึ่งที่แสดงถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมภายในชุมชน ดั่งคำที่ว่า "สายสัมพันธ์ไทยจีน ถิ่นการค้าร่วมสมัย ไชน่าทาวน์เมืองไทย แหล่งประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจใหญ่รัตนโกสินทร์" จากการพูดคุยกับคุณรณวัฒน์ เอมะสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร คุณปรีดา ปรัตถจริยา และคุณปัญญภัทร เลิศสำราญเริงรมย์ วิทยากรชาวจีนในท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่ และความพร้อมในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ทำให้ยังคงมีปัญหาอุปสรรคต่างๆ อยู่บ้าง เช่น ด้านงบประมาณบริหารจัดการ กิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ทำให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นสามารถถ่ายทอดและจัดแสดงเรื่องราวในอดีตได้เพียงบางส่วน แต่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจก็คือชาวจีนในเยาวราชได้มีส่วนร่วมในการถ่ายทอด เรื่องราวในอดีตเพื่อเป็นเนื้อหาของนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ มิเพียงเท่านั้น คุณค่าทางวัฒนธรรมและความรู้นั้น ยังคงแฝงอยู่ตามตรอกซอกซอย ในที่ต่างๆ ของย่านเยาวราช ตลอดรวมถึงผู้ที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้ได้ดีก็คือ ผู้คนที่อยู่ในชุมชนที่สืบทอดความรู้ ความเชื่อ ผ่านการบอกเล่าและการกระทำกันมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง เรื่องที่น่ายินดีสำหรับพิพิธภัณฑ์ก็คือ ชาวจีนเยาวราชมีความตั้งใจที่จะร่วมบริจาคเงินก้อนใหญ่ในการขยาย "พิพิธภัณฑ์เยาวราช" ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เรื่องราวของชาวจีนต่อไปในอนาคต ปัจจุบันแม้เยาวราชจะเป็นถนนที่ทุกคนรู้จักกันดี มีความรุ่งเรืองทางด้านธุรกิจ การค้า และได้ขึ้นชื่อว่าเป็นไชน่าทาวน์เมืองไทย ศิลปวัฒนธรรมของชาวจีนที่เกิดจาก การถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคนนั้นทรงคุณค่า แต่ขณะเดียวกันบางสิ่งบางอย่างกำลังจะจางหายไป หรือปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย การอนุรักษ์ รักษาศิลปะและวัฒนธรรมอันดีงามเพื่อการเรียนรู้ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะสร้างคุณค่า ความหมาย และความงาม เพื่อสืบสานให้แก่ชนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ต่อไป เอกสารและหนังสืออ้างอิง ต้วนลี่เซิง และบุญยิ่ง ไร่สุขศิริ . (2543). ความเป็นมาของวัดจีนปละศาลเจ้าจีนในประเทศไทย. คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา : กรุงเทพ ฯ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล. (2540). "การรวมกลุ่มของจีนสยาม".ศิลปวัฒนธรรม , ปีที่ 18 เดือนกุมภาพันธ์ หน้า 104 - 109. * กุมารี ลาภอาภรณ์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล  

เด็กๆ เรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุในบรรยากาศที่เป็นกันเอง

22 มีนาคม 2556

เด็กๆ ใช้เวลามากขึ้นในการสถานที่อย่างไม่เป็นทางการเช่นพิพิธภัณฑ์ มีงานวิจัยพยายามทำความเข้าใจว่า ประสบการณ์เช่นนั้มีผลต่อพัฒนาการทางสังคมและการรับรู้อย่างไร เพราะหากงานวิจัยในสนามดังกล่าวมีมากขึ้น ย่อมเป็นโอกาสที่พ่อแม่และนักการศึกษาจะเข้าใจกับการเรียนรู้จากประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากวัตถุเป็นที่ตั้ง การเรียนรู้จากการให้ข้อมูลเบื้องต้น การวิจักษณ์ต่อความงามและศิลปะ รวมถึงการเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยี ผลรวมของประสบการณ์จากบริบทเหล่านี้จะหล่อหลอมความคิด คุณค่า แรงบันดาลใจ ความเป็นสมาชิกกลุ่ม และตัวตนตลอดชีวิตของเด็กๆ การศึกษาสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นทางการและการเรียนรู้ จะเสริมงานวิจัยที่เคยทำกันมา ทั้งการศึกษาเด็กในบริบทของบ้าน โรงเรียน และบริบทอื่นในชีวิตประจำวัน เพื่อทำความเข้าใจกับแรงจูงใจ การเรียนรู้ทางสังคม และการสร้างเหตุและผล การวิจัยเด็กในลักษณะเช่นนี้ทำให้เราบูรณาการทฤษฎีปฏิบัติการเชิงบริบทกับ ทฤษฎีการสร้างความหมายเชิงสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี สนามการวิจัยใหม่เอื้อประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจพัฒนาการของเด็กและส่ง เสริมการเรียนรู้ของพวกเขา   การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็ก ประเด็นวิจัยพื้นฐานของนักจิตวิทยาพัฒนาการคือ การศึกษาและทำความเข้าใจกับบริบทต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และสัมพันธ์กับพัฒนาการของเด็ก ความสนใจต่อบริบททางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของพัฒนา ปรากฏอย่างเด่นชันในงานของ Vygotsky ที่แสดงให้เห็นความเชี่ยวชาญที่ได้พัฒนาขึ้นนั้นมาจากโอกาสในการเข้าไป สัมพันธ์กับสถานการณ์ต่างๆ และการร่วมทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามกับผู้อื่น นัยสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลและบริบททำให้นักวิชาการได้ข้อสรุปประการหนึ่ง เกี่ยวกับหน่วยของการวิเคราะห์ บุคคลในสถานการณ์หนึ่งที่ทำให้เขาหรือเธอลงมือกระทำการ “หีบห่อของพัฒนาการที่อยู่เหนือปัจเจกบุคคล” (supra-individual envelope of development) (Cole, 1995) ทฤษฎีพัฒนาการเชิงบริบทย้ำถึงความสัมพันธ์ของบริบทที่มีผลต่อการรับรู้และ การเรียนรู้มากกว่านักวิชาการที่มองบทบาทของบริบท ทั้งในงานของ Rogoff & Lave (1984) ที่ย้ำถึงการรับรู้ในชีวิตประจำวัน Resnick, Levine, & Teasley (1991) ที่กล่าวถึงการรับรู้ที่ร่วมกันในสังคม Brown, Collins, & Duguid (1989) ที่กล่าวถึงการฝึกฝนและการสร้างชิ้นงาน Lave & Wenger (1991) ที่กล่าวถึงนัยสัมพันธ์ของการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมที่แวดล้อม เป็นต้น Lave (1993) ได้แบ่งลักษณะวิเคราะห์ของทฤษฎีที่สัมพันธ์กับการทำความเข้าใจบริบทของ พัฒนาการเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ ทฤษฎีที่เน้นการกระทำ และทฤษฎีที่เน้นความหมาย ประเภทแรกจะเน้นการกล่าวถึงธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและสิ่ง ถูกกระทำที่อยู่ในบริบทหนึ่ง ทั้งนี้ ทฤษฎีกิจกรรมจะเป็นพื้นฐานในการอธิบาย เมื่อกล่าวถึงบทบาทของประสบการณ์จะนึกถึงงานของ Dewey (Ansbacher, 1998; Cohen, 1998; Fenstermacher & Sanger, 1998) ส่วนทฤษฎีในแบบที่สอง หมายถึง ความหมายที่สร้างขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคม จะเห็นได้ในงานของ Vygotsky และทฤษฎีทางสังคมวัฒนธรรม (Palincsar, 1998; Wertsch, Tulviste, & Hagstrom, 1993) แต่หากเรานำทฤษฎีทั้งสองมาใช้ในการอธิบายและทำความเข้าใจ จะทำให้งานวิจัยพัฒนาการของเด็กนั่นมีคุณูปการมากขึ้น ดังที่ปรากฏในงานของ Goodnow, Miller, and Kessel (1995) นั่นเองที่นำไปสู่การวิเคราะห์ว่า เด็กกระทำการใดกับใครภายใต้เงื่อนไขใด และทำไปด้วยวัตถุประสงค์ใด ประเด็นของการตีความภายใต้บริบทจึงประกอบด้วย การศึกษาวิธีการที่เด็กลงมือกระทำเพื่อให้บรรลุ ความหมายที่เด็กๆ สร้างขึ้นจากประสบการณ์ และการเรียนรู้เช่นนั้นส่งผลประการใดต่อชีวิตของพวกเขา โดยทั่วไป การศึกษาเด็กๆ จะเน้นที่การสังเกตการณ์และการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น แต่การวิเคราะห์ที่จะต้องเน้นมากขึ้นค่อการวิเคราะห์ไปยังตัวบริบทมากกว่า การมองเป็นเพียงตัวแปรเบื้องหลัง ฉะนั้นบริบทนำไปสู่การกระทำบางอย่าง ตีกรอบปฏิกริยากับวัตถุ รวมไปถึงการวางโครงสร้างสิ่งที่กระทำต่อไปให้เกิดพลวัตทางสังคม แต่เดิมนั้น นักจิตวิทยาพัฒนาการศึกษาบ้านและชุมชนในฐานะที่เป็น “บริบท” แต่แนวทางการศึกษาใหม่มองบริบทในแบบอื่นมากขึ้น โดยพิจารณาในรายละเอียดของสภาพแวดล้อมแบบหนึ่งกับการกระทำที่มีผลต่อ พัฒนาการของเด็ก ทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ในงานของ Paris & Cross, 1983 เช่น การขายคุกกี้ของเนตรนารี (Rogoff, Baker-Sennett, Lacasa, & Goldsmith, 1995) หรือการใช้คณิตศาสตร์ทั้งในและนอกโรงเรียน (Nunes, Schliemann, & Carraher, 1993) การวิเคราะห์ที่อิงต่อบริบทเช่นนี้ทำให้เราได้ข้อมูลที่แตกต่างเกี่ยวกับ พัฒนาของเด็กมากกว่าการศึกษาด้วยการกระทำโดยฉับพลันหรือการจัดสถานการณ์ จำลอง คำถามหลักของลักษณะการศึกษาอยู่ที่ว่า เด็กรับรู้และแสดงออกเกี่ยวกับความรู้ ความเชื่อ และการกระทำของครอบครัวหรือชุมชนไปในบริบทเฉพาะอย่างไร หากเราพิจารณาเจตนาในเบื้องลึกของทฤษฎี กระบวนการศึกษามุ่งความสนใจไปพัฒนาการของเด็กในบริบท เรียกได้ว่าเป็นการสร้างทิศทางใหม่ให้กับการวิจัยพื้นฐาน การสร้างทฤษฎี การใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา และนโยบายทางสังคม งานวิจัยใหม่นี้เกิดขึ้นในบริบทของชุมชนที่นอกเหนือไปจากบ้านและโรงเรียน เช่น พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ อุทยานประวัติศาสตร์ และสวนสาธารณะ เพราะประสบการณ์เมื่อเด็กเข้าไปสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ มีนัยสำคัญต่อชีวิตของเด็ก ผู้คนมากกว่า 500 ล้านคนที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกาต่อปี (Hein & Alexander, 1998) พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์กว่า 300 แห่งในสหรัฐอเมริกา และกว่าครึ่งของผู้ชมเป็นเยาวชนต่ำกว่าอายุ 18 ปี Cleaver (1992) กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์ที่เน้นการทดลองทำ (hands-on museums) จำนวนถึง 265 แห่งที่สรัางขึ้นด้วยหลักพื้นฐานที่มองว่า “หากลงมือทำ ก็คือความคิดที่เกิดขึ้นตามด้วยเช่นกัน” (hands-on = minds-on) ปรัชญาดังกล่าวสัมพันธ์กับนักทฤษฎีหลายท่าน เช่น John Dewey, Maria Montessori, Jean Piaget, Eleanor Duckworth, and Howard Gardner พิพิธภัณฑ์เองได้รับการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อเด็กๆ เช่นเดียวกับอาคารที่จัดแสดงศิลปะ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และอื่นๆ สถานที่ที่ยกตัวอย่างมานี้อาจเรียกรวมๆ ว่า “สภาพแวดล้อมการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ” (informal learning environments - ILE) ซึ่งหมายถึงสถานที่ที่มีลักษณะเป็นชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สวนสัตว์น้ำ สวนสาธารณะ และสวนพฤกษศาสตร์ ILE อาจรวมถึงห้องสมุด โบสถ์ และศูนย์รวมของชุมชน หรือแม้แต่งานของชุมชน เทศกาลดนตรีและวัฒนธรรม และกลุ่มจากการรวมตัวบางประเภท ลูกเสือ และเยาวชน เพราะเหล่านี้เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนนอกบริบทของบ้านและโรงเรียน เพื่อการสร้างประสบการณ์ร่วมกัน (Forman, Minick, & Stone, 1993; Villarruel & Lerner, 1994) บริบทที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ได้เปิดโอกาสทั้งรุ่มรวยและหลากหลายในการเรียนรู้ และแน่นอนส่งผลต่อชีวิตของเด็กๆ ข้อคิดสองประการที่ควรกล่าวถึงเกี่ยวกับ ILE ประการแรก ความยุ่งยากในการใช้ “การเรียนรู้” ในบริบทการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ เพราะจุดประสงค์มิได้อยู่ที่การได้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเสมอไป บางครั้งผู้ชมต้องการเล่น พักผ่อน และสนุกหรือการได้ออกมาพบปะผู้คน บางครั้งผลต่อเนื่องของประสบการณ์ไม่ได้เห็นอย่างเด่นชัด และยากที่ขับเคลื่อน ส่วนในบริบทอื่นๆ การเรียกรู้มักมีลักษณะการจัดการอย่างเป็นลำดับโดยครู ผู้รู้ หรือครอบครัว ด้วยเหตุนี้ การเรียนรู้ (ในความหมายทั่วไป) อาจเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ และการเรียนรู้ในความหมายเช่นนั้นไม่ใช่เป้าหมายของการอยู่ในบริบทการเรียน รู้อย่างไม่เป็นทางการ ประการที่สอง ILEs ไม่จะเป็นต้องเป็นสถานทีที่มีการจัดเตรียมหรือเป็นองค์ประกอบถาวร เพราะอาจเพียงปฏิสัมพันธ์ทางสังคม อย่างเช่น ผู้สอนมุสลิมที่สอนให้เด็กผู้ชายจดจำบางบทตอนจากคัมภีร์อังกุรอานถือได้ว่า เป็นชั่วขณะของชั้นเรียน หรือแม่ที่ช่วยลูกของเธอในการทำอาหารหรืองานครับ บรรยากาศเช่นนั้นมีลักษณะเป็นบริบทการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการด้วย ฉะนั้น ILEs จึงมีธรรมชาติของกิจกรรมทางสังคม หรือการเรียนรู้มีสถานภาพที่มากไปกว่าสถานที่เฉพาะ เราอาจสรุปว่าข้อคิดแรกคือสิ่งที่เรียกว่าการเรียนรู้ และข้อคิดที่สองคือสิ่งที่เรียกว่าสภาพแวดล้อมหรือบริบท และเป็นเรื่องยากที่จะกล่าวอย่าง “ฟันธง” ถึงความหมายของ ILEs แต่ความหมายจะต้องมากไปกว่าพิพิธภัณฑ์อย่างเข้าใจกันทั่วไป นอกจากนี้ ดังจะเห็นได้ว่าครอบครัวมองหาโอกาสของการเรียนรู้และการพักผ่อนหย่อนใจมาก ยิ่งขึ้น พวกเขาก็ใฝ่หา ILEs มากขึ้นด้วยเช่นกัน (Borun, Cleghorn, & Garfield, 1995) ทำไม? พ่อแม่หลายคู่มองว่าการเยี่ยมชมสถานที่สักแห่งเป็นประสบการณ์การศึกาของลูกๆ ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ จากวัตถุจริงหรือผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่พ่อแม่อีกจำนวนไม่น้อยต้องการสร้างความใกล้ชิดภายในครอบครัว ด้วยการใช้เวลาร่วมกัน สร้างประสบการณ์ร่วมกัน เช่น การใช้เวลาในช่วงหยุดพักร้อนที่ควบคู่ไปกับการศึกษา และอีกหลายครอบครัวมองว่าการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์คือากรมีส่วนร่วมกับกิจกรรม ของชุมชน หรือกระทั่งมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพลเมือง บริบทและความต้องการทบทวีมากขึ้น พ่อแม่พิจารณากิจกรรมว่าเป็นช่องทางของการส่งเสริมบุคลิกภาพ ความเหนี่ยวแน่นภายในครอบครัว หรือตัวตนทางวัฒนธรรม การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมในชิคาโก และพิพิธภัณฑ์ศิลปะสัมยใหม่นิวยอร์ก สร้างองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับเด็กได้พอๆ กับการเยี่ยมชมเทพีเสรีภาพหรืออนุสรณ์สถานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่จะกระตุ้นความรู้สึกของความเป็นชาติและศาสนา ทั้งนี้ ต้องพึงระลึกว่า ไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมีค่านิยมในการใช้ประโยชน์จาก ILEs ดังที่กล่าวมาเสมอไป ครอบครัวอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่คุ้นชินกับ ILEs ในพื้นที่ หรือไม่ได้ใส่ใจต่อการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการศึกษาของลุกๆ หรือการไม่ได้ใส่ใจต่อกิจกรรมของชุมชน กลุ่มบุคคลเช่นว่านี้คงจะเลี่ยงการเข้าชมพิพิธภัณฑ์เป็นอน่ (Hood, 1983) การวิจัยกลุ่มคนที่เลี่ยงการเยี่ยมชมแหล่งการเรียนรู้ย่อมมีความสำคัญไม่ น้อย อย่างไรก็ตาม ในบทนี้ ประเด็นของการพูดคุยจะเกี่ยวข้องกับการศึกษาในพิพิธภัณฑ์และพัฒนาการของเด็ก พร้อมไปกับการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและครอบครัวในเชิงสังคม การระลึกรู้ และการพัฒนาด้วยลักษณะต่างๆ ของสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ หรือ ILEs เป็นศัพท์ที่ยากต่อการนิยาม แต่อย่างน้อยที่สุดเราเข้าใจตรงกันได้ว่าเป็นโอกาสของการเรียนรู้ที่ไม่ เหมือนกับการเรียนในชั้นเรียนที่โรงเรียน ตัวอย่างเช่น Resnick (1987) ได้เขียนไว้ว่า การเรียนนอกโรงเรียนเป็นการพยายามสร้างความสำนึกร่วมเป็นเครื่องมือในการ สร้างชุดเหตุผลที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งเป็นลักษณะที่ตรงข้ามกับการเรียนรู้โดยตัวบุคคล และการเรียนรู้ที่รับทราบกันทั่วไปในโรงเรียน แต่ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในโรงเรียนหรือพิพิธภัณฑ์ ในบางครั้งบางสถานการณ์ ชุดการเรียนรู้ทั้ง 2 อย่างมีการลำดับและวางแผนไม่มากก็น้อย และมีความเป็นทางการไม่มากก็น้อยเช่นกัน ILEs จึงยากที่จะนิยาม เพราะเป็นคำที่มีความหายที่กว้างและนำไปสู่ผลที่แตกต่างกันไป การไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ (S.Kaplan, 1995) แต่สิ่งนั้นคือการเรียนรู้หรือไม่ การฝึกเนตรนารีที่ทำให้เด็กพัฒนาทักษะการจัดการและสำนึกพลเมือง แต่สิ่งนี้คือการเรียนรู้หรือไม่ (Edwards, 1994) การเข้าชมอนุสรณ์สถานเวียดนามทำให้คนจำนวนต้องเสียน้ำตา แต่สิ่งนี้คือการเรียนรู้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ลักษณะสำคัญ 2 ประการที่จะบอกชี้ถึงความเป็น ILEs ประการแรก ILEs จะเปิดช่องทางให้ผู้เยี่ยมชมเกิดสัมพันธภาพทางสังคม วัตถุในพิพิธภัณฑ์ได้รับการเลือกในฐานะที่เป็นวัตถุที่มีคุณค่าในวัฒนธรรม หนึ่ง ไม่ว่าวัตถุจะเกี่ยวข้องกับความเป็นศิลปะ วิทยาศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกัน วัตถุเหล่านั้นย่อมสัมพันธ์กับบริบททางการเมืองและสังคม ซึ่งสะท้อนออกมาในตัวเลือกจากวัตถุทั้งความเป็นท้องถิ่นและความเป็นชาติ นอกจากนี้ ILEs ยังโน้มนำผู้ชมเข้าไปสู่ความรู้สึกถึงสำนึกทางตัวตนและการมีส่วนร่วมของ กลุ่มและค่านิยมเฉพาะกลุ่ม แต่ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือพิพิธภัณฑ์ล้วนสร้างการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม ประการที่สอง ILEs เป็นสถานที่กระตุ้นให้เกิดการสำรวจและการค้นหาความรู้ การเรียนรู้ด้วยตนเองและการเลือกที่จะปฏิบัติสิ่งใดหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน หากแต่ว่าบ่อยครั้งนักเรียนมักไม่มีโอกาสเลือก ในขณะที่ในพิพิธภัณฑ์ ผู้ชมมีโอกาสที่จะเลือกเส้นทางการเดินชมของตนเอง เลือกระยะของการเข้าไปมีส่วนร่วม หรือกระทั่งกลุ่มสังคมที่จะเข้าไปเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ ดังนั้น การเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์มีอิสระมากกว่าและมีการบังคับน้อยกว่าเช่นกัน ปัญหาของการกล่าวถึง ILEs สัมพันธ์กับการนิยามคำว่าการเรียนรู้ แต่ประเด็นปัญหาอีกประการหนึ่งคือ เส้นแบ่งระหว่างการเรียนรู้กับการพัฒนา การศึกษา และความบันเทิง การจดจำข้อมูลและความทรงจำต่อประสบการณ์ รวมถึงความรู้ที่ได้เพิ่มเติมและสิ่งที่งอกเงยจากการเข้าชมในครั้งนั้น แม้ว่าการจัดแบ่งประเภทต่างๆ ดังที่กล่าวจะมีความยากลำบาก แต่โดยทั่วไป ลักษณะของ ILEs เน้นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับวัตถุและประสบการณ์มากกว่าคำบรรยาย ตรงนี้อาจจะเป็นเส้นแบ่งระหว่างการเรียนที่โรงเรียนและการเรียนนอกโรงเรียน ILEs เปิดประสบการณ์ให้กับเด็กสัมผัสกับวัตถุต่างๆ และปล่อยให้เด็กวางวัตถุประสงค์ในการสำรวจ ค้นหา และเรียนรู้ด้วยตัวเด็กเอง Falk และ Dierking (1998) ชอบที่จะใช้คำว่า การเรียนรู้อย่างเป็นอิสระ (free-choice learning) ในการนิยามการเรียนอย่างไม่เป็นทางการ เพราะผู้ชมเป็นผู้เลือกและควบคุมสิ่งต่างๆ ใน ILEs Paris (1997) อธิบายการกระตุ้นการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์สัมพันธ์กับความกระตือรือร้นภายใน ลักษณะเช่นนี้กินความถึงการสร้างความหมายด้วยตนเอง การเลือก การควบคุม รวมไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมและการสนทนาในรูปแบบต่างๆ การปรับเปลี่ยนความท้าทายอย่างต่อเนื่อง และผลที่ได้รับ ทั้งหมดนี้มาจากประสิทธิภาพของตนเอง ณ จุดนี้ เราจะต้องกล่าวย้ำด้วยว่า แรงกระตุ้นภายในสามารถเกิดขึ้นในโรงเรียนอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกัน วิธีการศึกษาจำนวนไม่น้อยย้ำให้ผู้เรียนตระหนักถึงสำนึกในการควบคุม ความรับผิดชอบ ความเป็นเจ้าของ และความร่วมมือต่างๆ ในสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ ตรงนี้เองเป็นจุดที่แยกให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่างรูปแบบการเรียนรู้อย่าง เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โรงเรียนจะทำให้เด็กมีความสนใจต่อการศึกษามากขึ้น หากประยุกต์ใช้ลักษณะของILEs ดังที่ Gardner (1991) กล่าวไว้ว่า โรงเรียนจะดูเชื้อเชิญและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากได้รวบพิพิธภัณฑ์เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เขาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และพิพิธภัณฑ์เด็กเป็น “แอ่งการเรียนรู้” ทั้งนิทรรศการ กิจกรรม และชิ้นงานที่ดึงเอาเด็กและเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วม (p.202) โรงเรียนและพิพิธภัณฑ์สามารถประสานความร่วมมือเพื่อดึงจุดเด่นของแต่ละแห่ง มาใช้ให้เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน (Paris & Ash. In press) การพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่คนๆ หนึ่งได้เรียนรู้จากการเยี่ยมชม ILE ซักแห่งหนึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการบรรยายสถานการณ์และประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้น ภายในสิ่งจัดแสดง การพรรณาการรับรู้มีความสำคัญ เพราะวัตถุแบหนึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาและประสบการณ์ในแบบหนึ่ง เช่น หากผู้ชมยืนอยู่บนเรือจำลองเรือขนทาสหรือมุดอยู่ใต้เหมืองถ่านกินจำลอง ฉากดังกล่าวนำไปสู่ปฏิกิริยาทางอารมณ์ กล่าวได้ว่า สถานการณ์ได้รับการออกแบบเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดปฏิกิริยา คุณลักษณะของสิ่งจัดแสดงและการกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาของ ILEs นำไปสู่ความรู้ที่ได้เพิ่มเติม เพราะมาจากการหลอมรวมระหว่างความรู้และปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ การหลอมรวมระหว่างการเรียนรู้และพัฒนาการในประสบการณ์นี้คือแก่นแกนสำคัญของ ทฤษฎีการเรียนรู้ที่อิงต่อสถานการณ์ (Lave & Wenger, 1991) และการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (Rogoff, 1990) และยังสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ ILEs กับทฤษฎีพัฒนาการร่วมสมัย การศึกษา ILEs ควรสนใจมากไปกว่าการกระตุ้นและปฏิกิริยาที่ตอบสนอง การศึกษาควนกินความไปถึงการพิจารณาแรงจูงใจของบุคคลในสถานการณ์และวิธีการ ที่พวกเขาสร้างความหมาย จุดนี้เป็นการผนึกรวมระหว่างทฤษฎีทาสังคมและมานุษยวิทยาที่ว่าด้วยพฤติกรรม กับทฤษฎีการสร้างความหมายอย่างสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีแรงจูงใจในเด็กร่วมสมัยมักอยู่บนพื้นฐานของการฟันฝ่าจนบรรลุผลสำเร็จ และหลีกเลี่ยงความผิดหลาด แต่แรงจูงใจเหล่านี้ผูกกับหลักสูตรและลำดับการสอนของโรงเรียน อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจกับแรงจูงใจที่นอกเหนือไปจากบริบทโรงเรียนช่วยให้เราเข้าใจ ต่อการเรียนรู้ของเด็กในบริบทของ ILEs ว่าเหตุใดเกจึงเลือกที่จะใช้เวลากับกลุ่มบางกลุ่ม กับกิจกรรมบางอย่าง และกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้บางอย่างที่อยู่นอกเหนือไปจากบริบท โรงเรียน เราต้องการให้ทำวิจัยบริบทของชุมชนในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น โดยก้าวข้ามบริบทของโรงเรียนและบ้าน (ครอบครัว) เพราะบริบทเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างทฤษฎีการเรียนรู้ แรงจูงใจ และการขัดเกล่าทางสังคมที่มาจากประสบการณ์โดยตรงของเด็ก นอกเหนือไปจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและครอบครัวในพิพิธภัณฑ์ใน ช่วง 70 ปีที่ผ่านมา (ดู Hein & Alexander, 1998) แล้ว มีนักวิจัยจำนวนน้อยมากที่ให้ความสนใจกับการวิจัยที่เป็นระบบและสร้างทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องการสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นทางการ (เช่น Matusov & Rogoff, 1995; Schauble, Banks, Coates, Martin, & Sterling, 1996) หลักการสำคัญของความพยายามในการเปิดพื้นที่ใหม่นี้สัมพันธ์กับ (ก) เด็กใช้เวลาในการพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัวมากขึ้นใน ILEs (ข) เด็กในบริบท ILEs สัมพันธ์กับวัตถุและประสบการณ์ข้อมูลวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่การสร้างและแบ่ง ปันความหมาย (ค) เด็กในบริบทของ ILEs มีโอกาสพบปะผู้เชี่ยวชาญ ครู ช่าง ศิลปิน และการสวมบทบาทต่างๆ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถพบได้ในบริบทของบ้านและโรงเรียน (ง) ILEs เป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดการสานสัมพันธ์ของการเรียนรู้กันในครอบครัวและ ระหว่างชั่วอายุคน (จ) ILEs เป็นแหล่งที่จะสร้างทฤษฎีที่เพิ่มเติมจากทฤษฎีเกี่ยวกับกาเรียนรู้อย่างเป็น ทางการและแรงจูงใจในโรงเรียน (ฉ) ILEs ผลักดันให้เกิดการเรียนรู้กับเทคโนโลยี ด้วยการลงมือปฏิบัติและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และ (ช) ILEs สามารถส่งผลตลอดชีวิตต่อแรงบันดาลใจ ค่านิยม และความสนใจของผู้คน เราเน้นถึงพื้นที่สำหรับการวิจัยเกี่ยวกับเด็กในบริบทของ ILEs ซึ่งแสดงให้เห็นกระบวนการพัฒนาการและผลที่ได้รับเกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ใน บริบทเหล่านี้ ขอบเขตของประเด็นในการวิจัยอาจพอแยกได้ดังนี้ (1) การเรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุ (2) การเรียนรู้ที่มีการแนะแนว (3) การพัฒนาสุนทรียภาพ (4) ปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว (5) การใช้เทคโนโลยี และ (6) ประสบการณ์ส่วนบุคคลผันแปรไป   การเรียนรู้จากวัตถุ หลักการและเหตุผลของพิพิธภัณฑ์หลายแห่งคือ วัตถุสะสม ไม่ว่าวัตถุจะเกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาการใด บุคคล หรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่สิ่งหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มีอยู่ร่วมกันวัตถุสะสมและการจัดแสดง ซึ่งเป็นฐานความสัมพันธ์กับสาธารณชน (Carr, 1991) ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากว่า ทำไมความใส่ใจต่อธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กที่เกี่ยวข้อง สัมพันธ์ และผ่านวัตถุจึงมีอยู่น้อยเหลือเกิน Tudge and Winterhoff (1993) อภิปรายแนวคิดของ Vygotskian ที่ว่าด้วยธรรมชาติพัฒนาการการระลึกรู้ที่สัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรม ได้กล่าวไว้ว่า “สถาบันทางสังคมและวัฒนธรรม เทคโนโลยี และเครื่องมือ เป็นช่องทางให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งผลจากกิจกรรมนั้นนำไปสู่พัฒนาการของเด็กต่อกระบวนการคิดที่สูงมากขึ้น…” (p.66) การวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการมองไปที่การเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุ มองหาความสัมพันธ์เบื้องต้นที่เด็กๆ ได้รับจากการเข้าไปสัมผัส แต่การพิจารณาเช่นว่านี้มองข้ามความชำนาญของเด็กต่อการมองวัตถุที่มีมากขึ้น หรือการการสร้างตรรกะระหว่างการใช้ประโยชน์และสิ่งที่ได้รับ บางครั้ง การพัฒนาความชำนาญการใจ้ารพินิจวัตถุอาจอธิบายด้วย การ “วิจักษ์” พิพิธภัณฑ์หรือการ “วิจักษ์” ภาพที่เห็น (museum literacy or visual literacy) แต่จริงแล้วมีประเด็นที่ให้พิจารณามากมาย เด็กเล่นสัมผัส พูดคุย และใช้ประโยชน์จากสิ่งของที่ให้จับต้องได้อย่างไร พวกเขาเรียนรู้วัตถุที่จับต้องไม่ได้อย่างไร เด็กใช้ความรู้พื้นเดิมมาใช้วิเคราะห์ สนทนา และตั้งคำถามเพื่อสร้างกระจ่างกับวัตถุที่อยู่ตรงหน้าอย่างไร คำตอบของคำถามคือแกนขอบเขตของการทำความเข้าใจวัตถุ (object-based epistemology) Evans, Poling and Mull อธิบายว่าแนวคิดดังกล่าวเข้ามาสัมพันธ์กับพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปลายช่วงศตวรรษ ที่ 19 ความสนใจเกี่ยวข้องกับเรื่องราวธรรมชาติของวัตถุในพิพิธภัณฑ์และเรื่องราว ทางวัฒนธรรม ในส่วนแรกคือความเป็นวิชาการของพิพิธภัณฑ์ ส่วนหลังคือสถานการณ์ทางสังคมในชั้นของการตีความวัตถุ ขั้วตรงข้ามนี้ได้รับการอธิบายด้วยทฤษฎี 2 ชุดในแง่ของการสร้างความหมายหรือบริบทของวัตถุ (Lave, 1993) อาจกล่าวได้ว่า เด็กต้องเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งเรื่องราวธรรมชาติและวัฒนธรรมของวัตถุ ฉะนั้น สิ่งที่เราจ้องสนใจไม่ใช่เพียงแต่การสังเกตและการซึมซับต่อวัตถุ แต่เราจะต้องสนใจต่อวาทกรรมที่แวดล้อมวัตถุเหล่านั้นด้วย นักการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ทราบดีว่าวัตถุเป็นเพียงจุดเริ่มต้นไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ของการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ เพราะวัตถุกระตุ้นให้เกิดการคิดและการวิพากษ์ ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ วัตถุกลายเป็นนัยของความทรงจำเชิงสถาบันของเหตุการณ์ที่ผ่านมา แต่วัตถุนั้นกลับสัมพันธ์กับความทรงจำส่วนตัวที่สร้างขึ้นใหม่ในขณะนั้นเช่น กัน การพินิจพิเคราะห์วัตถุปล่อยให้ผู้ชมสร้างความทรงจำส่วนตัว และกลายเป็นเจ้าของประสบการณ์นั้น จากนั้น แบ่งปันเรื่องราวสู่ผู้อื่นๆ Gurian (1999) กล่าวว่า สิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปในบทความนี้ไม่ใช่การมองข้ามความสำคัญของวัตถุพิพิธภัณฑ์ และการดูแล หากแต่ผมต้องการที่จะบอกว่ามันมีสิ่งที่อยู่แวดล้อมวัตถุและมีความสำคัญเช่น กัน ทั้งเรื่องราวและวิธีการที่พิพิธภัณฑ์บอกเล่า วัตถุในฐานะที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ วัตถุได้เปิดโอกาสในการสร้างความหมายและกำหนดชุดความทรงจำ การครอบครองเรื่องราวจึงเป็นจุดในการพิจารณามากไปกว่าตัวชิ้นวัตถุเอง (หน้า 2) มโนทัศน์เรื่อง ราวสำคัญอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาความรู้ว่ามาจากวัตถุ เพราะนักการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ทราบเป็นอย่างดีว่าวัตถุที่จัดแสดงอาจตกอยู่ ในสภาพของข้อเท็จจริงที่อยู่บนหน้ากระดาษ การจัดแสดงวัตถุจำนวนไม่น้อยที่ออกแบบมาเพื่อนำไปสู่การสร้างเรื่องเดี่ยว ในขณะที่อักหลายแห่งได้ปล่อยให้ผู้ชมสร้างเรื่องราวของเขาและเธอที่เชื่อม โยงกับวัตถุนั้น Roberts (1997) อธิบายว่านิทรรศการที่กล่าวถึง Linnaeus (ระบบการศึกษาพฤกษศาสตร์) ณ สวนพฤกษศาสตร์ชิคาโก ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อบอกเล่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดแบ่งประเภทในทางพฤกษ ศาสตร์ แต่เป็นการเรียงร้อยเรื่องราวในการแก้ปัญหา นิทรรศการสร้างขึ้นด้วยแนวคิดของ Bruner (1986) ที่กล่าวถึงวิธีการสรางความหมายเชิงพรรณนา และให้ผู้ชมเรียนรู้ที่จะสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุด้วยตนเอง “การรู้จักที่จะสร้างความหายคือหัวใจของงานพิพิธภัณฑ์ และการบอกเล่าได้สร้างหนทางให้ก้าวแรกในการเปิดพิพิธภัณฑ์สู่ความหลากหลาย ของ “เสียง” หรือการบอกเล่า และมุมมองที่แตกต่างออกไป (p.152) เราเชื่อมั่นอย่างมากว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุด้วยการสร้างเรื่องเป็น สิ่งที่ควรศึกษาเป็นอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมของ ILEs คำถามเกี่ยวกับการพัฒนาว่าเด็กในช่วงวัยและพื้นหลังที่ต่างกันจะสร้างเรื่อง เล่าเกี่ยวกับวัตถุไปอย่างไร การวิจัยเชิงพัฒนาการเกี่ยวกับความเข้าใจของเด็กในแง่วิชาการ คุณค่าและความหมายเชิงสุนทรียะ และพื้นที่ของคนๆ หนึ่งต่อเรื่องราว เรื่องเล่าเหล่านี้คือเส้นใยที่จะถักทอเด็กเข้าไปในเรื่องราวธรรมชาติและ วัฒนธรรมของวัตถุ ข้อมูลและการวิเคราะห์เหล่านี้จะนำไปสู่ความเข้าใจในการรับรู้และพัฒนาการ ทางสังคมของเด็ก ความอยากรู้ การรับข้อมูล และการสร้างความหมาย วัตถุในพิพิธภัณฑ์หาได้ยากและผิดแปลกไปจากชีวิตประจำวัน จึงทำให้วัตถุเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งสะสมและทำไมพิพิธภัณฑ์ถึงเคยได้รับการ ขนานานามว่า “โถงแห่งความอยากรู้อยากเห็น” (Weil, 1995) คนโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า ILEs เป็นสถานที่ที่น่าสนใจเพราะที่เหล่านี้เก็บรักษาวัตถุที่มาจากความอยากรู้ และการสำรวจ คำถามที่เกิดขึ้นกับผู้ชมเป็นหลักฐานยืนยันได้ดี : อเวจีคืออะไร? นั่นนะศิลปะจริงๆ หรือ? ทำไมสัตว์ถึงทำอย่างนั้น? คำถามเผยให้เห็นว่าวัตถุเข้าไปกระตุ้นความอยากรู้ และกลายเป็นช่องทางให้ ILEs ใช้ความอยากรู้อยากเห็นดังกล่าวในการแนะแนวการเรียนรู้ หากกล่าวให้ถึงที่สุด พื้นฐานของการเรียนรู้เชิงการแนะแนวคือการผลักดันให้เด็กค้นหาความรู้ บางครั้งเด็กตั้งคำถาม แต่สิ่งที่เด็กได้อาจตกผลึกอยู่ภายในหรือเพิ่มมุมมองเชิงวิเคราะห์ การนำคำถามของเด็กมาเปิดเป็นประเด็น และสนทนาเกี่ยวกับวัตถุจะช่วยให้การอรรถาธิบายมีความชัดเจนมากขึ้น (Callanan, Jipson & Soennichsen, chapter 15, this volume) เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าพื้นฐานของการเรียนเชิงการแนะแนวในโรงเรียนปรากฏใน บริบทของ ILEs เช่นกัน และหากเราศึกษาบริบททั้งสอง เราจะได้ข้อมูลที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เรารู้ต่อไปอีกว่าเด็กจะมีความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น ริเริ่มอยากเรียนรู้มากขึ้น เมื่อข้อมูลที่จะได้มาใหม่เชื่อมโยงกับความสนใจของพวกเขา (Renninger, 1992) ILEs เปิดโอกาสให้เด็กให้ความสนใจของตนเองผนวกเข้ากับทรัพยากรเพื่อให้ปรารถนาที่ จะสืบค้น ครูในห้องเรียนอาจพบความลำบากที่จะกระตุ้นให้เด็กอยากรู้อยากเห็นเรื่องของ เพชรและไดโนเสาร์ แต่การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยากลับเปิดโอกาสนั้นมากกว่า พิพิธภัณฑ์อีกจำนวนมากพยายามสร้างประสบการณ์สำรวจและค้นหาด้วยตนเอง ผู้ชมจะเข้าไป “เล่น” กับชิ้นงาน เช่น สิ่งจัดแสดงที่โลกแห่งการสำรวจ (Exploratorium) ในซานฟรานซิสโก เชื้อเชิญให้ผู้เยี่ยมชมหรือกลุ่มผู้ชมเล็ก “เล่น” กับวัตถุ เช่น เลือกระจกแท่งผลึกที่มีรูปลักษณ์แตกต่างไปรอบๆ แหล่งกำเนิดแสง เงื่อนไขเช่นนี้ปล่อยให้ผู้ชมตัวคำถามและหาคำตอบจากการลงมือทดลอง การวิจัยที่ว่าด้วยการเรียนรู้ที่อิงกับปัญหาและวิชาการที่อิงกับการสำรวจเป็น ปัจจัยหลักที่จะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมโดยตลอด (Blumenfeld et al., 1991; Krajcik et al., 1998) เงื่อนไขเหล่านี้ทรงพลังอย่างมากในการกำหนดลักษณะการเรียนรู้ (ก) คำถามจะหยั่งไปถึงปัญหาในโลกของความเป็นจริงที่จะกระตุ้นไปสู่การหาคำตอบ (ข) การเกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในระหว่างการสำรวจ (ค) วิธีการมากมายที่จะสาธิตความรู้และแสดงเนื้อหาวิชาการ ทั้งด้วยการสร้างวัตถุสิ่งของหรือกิจกรรมการเรียนรู้แบบอื่นๆ (ง) การใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้คิดมากกว่าจะเป็นการให้ “คำตอบสุดท้าย” (จ) ทางเลือกบางอย่างหรือการกำหนดหัวข้อที่จะให้เรียนรู้ และวิธีการจะต้องนำไปสู่การสำรวจค้นหา (ฉ) การใช้สื่อและรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย และ (ช) การใช้เครื่องมือเทคโนโลยี Barron et al. (1998) ย้ำถึงความสำคัญของการใช้ระบบการเรียนรู้ที่เป็นการตั้งคำถาม และเปิดโอกาสในการคิดทบทวนระหว่างการค้นหา ทั้งนี้ กิจกรรมเน้นถึงการพึ่งตนเองและความเข้าใจ มากกว่าการเน้นถึงการทำกิจกรรมนั้นให้เสร็จสิ้นลงไป เราเชื่อว่า ILEs ที่จัดแสดงวัตถุและกำหนดเงื่อนไขของประสบการณ์ที่จะกระตุ้นความอยากรู้อยาก เห็นของเด็ก และสนับสนุนการเรียนรู้เชิงแนะแนว การวิจัยใน ILEs ต้องให้ข้อมูลต่อผู้ปกครองและนักการศึกษาเกี่ยววิธีการที่มีประสิทธิภาพและ รูปแบบการเรียนรู้อื่น แก่นหนึ่งของ ILEs คือวิธีการหลากหลายที่จะก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและวัตถุ ทั้งนี้ สัมพันธภาพนี้จะเป็นไปตามความรู้และความสนใจของแต่ละคนอย่างที่ Gardner (1991) ได้กล่าวไว้ นอกจากนี้ ILEs ปล่อยให้ผู้คนเลือกสิ่งแวดล้อมที่ตนเองต้องการเข้าไปเรียนรู้ และปล่อยให้ผู้ชมเป็นนายของตัวเอง ฉ

วัตถุชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น มีค่าควรศึกษาให้ถ่องแท้ เพื่อเป็นต้นทุนทางความรู้ของพิพิธภัณฑ์

22 มีนาคม 2556

ถ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น คือการเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนแล้ว หัวใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์ก็คงจะไม่พ้น "เรื่องราว" ของโบราณวัตถุ หรือ สิ่งของต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์นั่นเอง "เรื่องราว" ที่ผมกล่าวถึงนี้ ก็คือ "ความรู้ที่เราได้รับจากตัววัตถุ" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นมาว่ามาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นี้ได้อย่างไร มีประโยชน์หรือหน้าที่การใช้สอยอย่างไร หรือ ความสำคัญของวัตถุชิ้นนั้นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างไร เป็นต้น ถ้าพิพิธภัณฑ์ปราศจาก "เรื่องราวของวัตถุที่จัดแสดงแล้ว" การเดินเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ก็คงไม่ต่างไปจากการเดินเข้าไปในสวนสาธารณะ ที่ไม่มีป้ายบอกชื่อต้นไม้ เพราะท่านจะได้แต่ความรื่นรมย์ กับบรรยากาศกับความสวยงามของดอกไม้เท่านั้น แต่ท่านจะไม่ได้ความรู้กลับไปเลยว่า ดอกไม้สวยๆ เหล่านั้น ชื่อดอกอะไรกันบ้าง ในทำนองเดียวกัน ถ้าท่านเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งสิ่งของจัดแสดงอย่างเดียว โดยไม่มีการให้ข้อมูลใดๆ เลย ท่านก็จะได้แต่ชื่นชมว่า สิ่งของเหล่านั้น "สวย" หรือ "แปลก" แต่จะไม่ได้ความรู้กลับไปประดับสมองเลย คำเปรียบเปรยที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ ถึงพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวก็คือ "โกดังเก็บของ" ซึ่งผมคิดว่า ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์ก็คงจะไม่มีใครชอบคำนี้กันนัก ดังนั้น เราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถเปลี่ยน "โกดังเก็บของของชุมชน" ให้กลายเป็น "พิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ของชุมชน" ได้ ผมเข้าใจว่า ปัจจัยที่ทำให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นถูกมองว่าเป็นโกดังเก็บของก็คงเป็นเพราะ การขาดการศึกษาสิ่งของที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ของตนเองอย่างถ่องแท้ ทั้งนี้ปัญหาหลักๆ น่าจะมาจาก     ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์ขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ และขาดทักษะในการหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ     ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์ไม่มีเวลาในการดำเนินการศึกษาข้อมูล     ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์ขาดแคลนทุนทรัพย์     ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์ขาดที่ปรึกษาทางวิชาการ     ในเมื่อ "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" นั่นคือ มนุษย์อยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ จะต้องใช้ชีวิตร่วมกันกับมนุษย์คนอื่นๆ จึงจะมีชีวิตยืนยาว ในทางเดียวกันอาจกล่าวได้ว่า "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นองค์กรสังคม" กล่าวคือ ถ้าจะให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอยู่อย่างยั่งยืน เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนแล้วนั้น ตัวพิพิธภัณฑ์เองก็ต้องมีการติดต่อสื่อสาร และมีกิจกรรมร่วมกันกับองค์กรในท้องถิ่น อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน วัด และ อบต. โดยแนวทางการทำงานอาจพิจารณาถึง     - ความร่วมมือกับครูหรืออาจารย์ในท้องถิ่นในการศึกษาข้อมูลของวัตถุต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ฅ     - การหาอาจารย์หรือนักวิชาการมาเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ ในการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่สื่อสารกับผู้ชมได้ง่าย     - ความร่วมมือกับโรงเรียนในท้องถิ่นในการใช้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งรวมความรู้ในท้องถิ่น สำหรับให้นักเรียนมาเรียนมาศึกษา     - ความร่วมมือกับโรงเรียน มหาวิทยาลัย ในท้องถิ่น รวมไปถึง อบต. ในการจัดหาทุนเพื่อการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ แล้วจำเป็นด้วยหรือ ที่ทั้งหมดนี้ต้องเป็นหน้าที่ของผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์แต่เพียงผู้เดียว ? คำตอบคือ ในช่วงแรกๆ นั้น ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์อาจจะต้องดำเนินการต่างๆ ด้วยตัวเองไปก่อน ต่อมาเมื่อสามารถสร้างเครือข่ายกับชุมชนได้แล้ว ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์อาจรับสมัครเด็กนักเรียนที่สนใจในงานพิพิธภัณฑ์มาเป็นผู้ช่วยก็ได้ โดยอาจแบ่ง "เงินทุนเพื่อการดำเนินการพิพิธภัณฑ์" มาเป็นเงินเดือนให้แก่ผู้ช่วยในอัตราที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมกล่าวไปข้างต้นนั้น เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติอย่างกว้างๆ และเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนในทางปฏิบัติ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคล และองค์กรหลายฝ่าย ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน กว่าทุกอย่างจะลงตัว เพราะความร่วมมือเหล่านี้จะเกิดได้จาก จิตสำนึกของชุมชนที่มีต่อการอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรม แต่สำหรับสิ่งที่ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์สามารถลงมือทำได้ทันทีนั้น คือการ "ลงมือศึกษาวัตถุ" ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ "วัตถุทุกชิ้น ต่างก็มีเรื่องราวของตัวเอง ที่พร้อมให้ความรู้แก่ผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์และผู้ที่เข้าชม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์จะสามารถ ค้นหามุมมองที่น่าสนใจในตัววัตถุเหล่านั้นพบได้หรือไม่" ยกตัวอย่างเช่น วัตถุที่มักจะถูกละเลย แต่สามารถพบได้โดยทั่วไปตามพิพิธภัณฑ์วัดบางแห่งคือ เครื่องมือหินขัดก่อนประวัติศาสตร์ ซากสัตว์ต่างๆ หรือ เหรียญกษาปณ์และธนบัตรเก่าๆ ของประเทศไทย หรือของต่างประเทศ หรือแม้แต่สมุดไทย ใบลานต่างๆ เป็นต้น สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่สามารถนำมาศึกษาขยายเนื้อหาเพื่อให้ความรู้แก่นักเรียนในชุมชนได้ทั้งสิ้น สำหรับในบทความนี้ ผมขอยกตัวอย่างการศึกษาซากสัตว์ประเภทกะโหลกควาย ว่าสามารถให้ความรู้อะไรกับเราได้บ้าง และจะจัดแสดงให้ผู้ชมรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของควายที่มีต่อพัฒนาการของวัฒนธรรมอย่างไร ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่จัดโดยวัดอยู่หลายแห่ง และพบว่ามีอยู่หลายแห่งทีเดียว ที่มีกะโหลกควายแขวนอยู่ เสมือนเป็นเครื่องประดับตกแต่งพิพิธภัณฑ์มากกว่า ที่จะเป็นสิ่งที่จะให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้าชม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์เอง ก็ไม่รู้ว่าจะเอากะโหลกควาย มาเสนออะไรให้เป็นความรู้แก่ผู้เข้าชม เพราะดูเหมือนว่ากะโหลกควาย จะไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มกับโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ ได้ โดยทั่วไป "ซากสัตว์" มักจะเป็นวัตถุดิบในการจัดแสดงเนื้อหาทาง "ธรรมชาติวิทยา" ซึ่งเป็นการศึกษาแต่เพียงว่าสัตว์เหล่านั้น ชื่ออะไร มีถิ่นฐานอยู่ที่ไหน มีประโยชน์อย่างไรกับมนุษย์ ถ้าสัตว์ชนิดนั้นๆ มีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์แล้ว เราก็อาจจะนำเสนอเนื้อหาที่เน้นความสำคัญของสัตว์ชนิดนั้น ที่มีต่อมนุษย์ตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงปัจจุบันก็ได้ด้วยเช่นกัน ในกรณีนี้ กะโหลกควาย ก็อาจจำแนกเนื้อหาออกได้เป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนข้อมูลทั่วไป ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับควาย ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างลักษณะ นิสัย สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และอายุขัย เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นมาของคำว่า "ควาย" และ "กระบือ" ว่ามีที่ไปที่มาจากภาษาอะไร จากนั้น อาจเป็นเรื่องราวของควาย ที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงรูปธรรม เช่น ใช้เป็นแรงงานในการทำการเกษตรกรรม โดยอาจอ้างอิงจากแหล่งโบราณคดีที่พบว่ามีการใช้แรงงานของควายในการทำการเกษตรกรรม จนกระทั้งถึงรูปแบบของเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาใช้กับควายในการไถนาที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน หรือ อีกแนวทางหนึ่งก็อาจนำเสนอเกี่ยวกับควายที่มีปรากฎในงานวรรณกรรมก็ได้ เช่น ทรพี-ทรพา ในเรื่องรามเกียรติ์ หรือ ทำไมเราจึงเลือก "ควาย" มาเป็นตัวแทนของ "ความโง่" ทั่งๆ ที่ควายมีคุณอนันต์ต่อคนไทยมากนัก เหล่านี้เป็นสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่มีกะโหลกควายแขวนประดับอยู่ น่าจะลองนำไปค้นคว้ากันดู ผมมองว่ามี 2 แนวทางในการสร้างเรื่องราวคือ (1) เขียนเรื่องราวโดยอาศัยการค้นคว้าจากตำราต่างๆ ซึ่งก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือ หรือ ตามห้องสมุด วิธีนี้จะเป็นการฝึกฝนให้ผู้จัดพิพิธภัณฑ์รู้จัก ที่จะค้นคว้าข้อมูลไปด้วยในตัว ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อไป ในการศึกษาเรื่องราวส่วนอื่นๆ ของพิพิธภัณฑ์ด้วยเช่นกัน และ (2) ถ้าไม่รู้จะหาตำหรับตำราได้จากที่ไหน ก็อาจเขียนในเฉพาะส่วนที่ตนเองรู้เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ อันเกี่ยวข้องกันระหว่างควายกับคนในท้องถิ่น กล่าวคือ เป็นการบรรยายความผูกพันระหว่างผู้เขียน กับวิถีชีวิตในชนบทที่ต้องอาศัยควายในการดำเนินชีวิต ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นอาจเป็นเรื่องราวในอดีต หรือปัจจุบันของผู้เขียนก็ได้เช่นกัน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจะยั่นยืนได้นั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลและจัดทำพิพิธภัณฑ์จะต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้าสิ่งของต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของตนเป็นเบื้องต้น ถูกผิดไม่เป็นไร แต่ขอให้ลงมือค้นคว้า ถ้ามีข้อผิดพลาด ผู้รู้ที่มาพบเข้าก็จะช่วยแก้ไขให้ ที่สำคัญท่านสามารถส่งเรื่องราวที่ท่านค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ของท่านมายังจุลสารฯ "ก้าวไปด้วยกัน" ได้เช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ของท่าน และยังเป็นการเปิดโอกาสให้พิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ ที่อยู่ในเครือข่ายของเรา ได้มีโอกาสได้สัมผัสความรู้จากท่าน หรือ ถ้ามีความรู้ด้านใดที่ท่านยังไม่ได้ศึกษา หรือ ตกหล่นไป พิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ ก็จะสามารถช่วยเหลือท่านโดยการแนะนำได้ อันถือเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งกันและกัน     ตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ** บทความนี้ตีพิมพ์ในจุลสารก้าวไปด้วยกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม - กันยายน 2548 หน้า28-33.