บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 82 บทความ

โศกนาฏกรรมกับความทรงจำที่บันทึกในพิพิธภัณฑสถาน - กรณี 11 กันยายน

30 มีนาคม 2558

Yahrzeit: September 11 ObservedMuseum of Jewish Heritage – A Living Memorial to the Holocaust, New York.August 29, 2002 – January 5, 2003A Shared Experience: 04.19.95 – 09.11.01National Memorial Center Museum, Oklahoma City.April 19,2002 – September 1, 2003A Day of Reflection and RemembranceUnited States Holocaust Memorial Museum, Washington, D.C.September 11, 2002           ในวันที่ 11 กันยายน 2002 รายการโทรทัศน์ “ช่องประวัติศาสตร์” (History Channel) ออกอากาศสารคดีเรื่อง “สิ่งหลงเหลือจากซาก-ธุลี” (Relics from the rubble) ซึ่งเป็นครั้งแรกในการนำเรื่องราวกราวด์ ซีโร (Ground Zero – กรณีการก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน 2001 - ผู้แปล) เข้าไปบอกเล่าในบริบทพิพิธภัณฑ์ ภาพยนตร์สารคดีลำดับการทำงานของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ในการสำรวจรถพยาบาลที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ และเศษซากเครื่องเรือนที่มาจากการโจมตีตึกเวิร์ลเทรด เซ็นเตอร์ จากที่ภัณฑารักษ์และผู้จัดการงานสะสมบันทึกรายละเอียดต่างๆ พวกเขาพูดคุยกันว่า วัตถุเหล่านี้เหมาะสมกับการจัดนิทรรศการว่าด้วยเรื่องของอดีตในอนาคต สารคดี “สิ่งหลงเหลือจากซาก-ธุลี” ที่ใช้การบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองในความตื่นตระหนกต่อวิกฤตระดับชาติ ได้เปล่งเสียงแห่งความรำลึกถึงหนึ่งในเสียงที่เซ็งแซ่อยู่ทั่วสหรัฐอเมริกาตั้งแต่มีการโจมตีจากเครื่องบินพาณิชย์ที่ตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์ร่วมรำลึกถึงโศกนาฏกรรมด้วยการเก็บและจัดแสดงซากเหล่านั้น          ในความเรียงฉบับนี้ ข้าพเจ้าจะพิจารณาพื้นที่ของกิจกรรมการไว้อาลัยที่สนับสนุนโดยพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2001 ข้าพเจ้ามิเพียงพิจารณาพิพิธภัณฑ์อย่างง่ายๆ ในฐานะที่เป็นสถานเก็บกักวัตถุแห่ง ความทรงจำ หากแต่เป็นกระบวนการทางวัฒนธรรม ที่ทำให้ข้อเท็จจริงทางสังคมเนื่องด้วยเหตุการณ์ 11 กันยายน สร้างความหมายสำคัญยิ่งขึ้น ดังที่ เจมส์ ยัง (James Young) ได้กล่าวไปแล้วว่า “การระลึกถึงอาจจะเป็นการกำหนดวันสำคัญการจัดประชุมหรือการจัดสรรพื้นที่ แต่ไม่จำเป็นต้องสร้างอนุสาวรีย์” ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงพิจารณากิจกรรมการรำลึกถึง 3 เหตุการณ์ ซึ่งจัดขึ้นในพิพิธภัณฑสถานในช่วงปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการโจมตี อันได้แก่ นิทรรศการร่วม รำลึก 2 แห่ง และพิธีกรรมความทรงจำ แต่ละที่แต่ละเหตุการณ์เชื่อมโยงกับการครบรอบ 1 ปีการโจมตีที่เกิดขึ้นในนิวยอร์ก เพนซิลเวเนีย และเวอร์จิเนีย กรณีศึกษาเหล่านี้นำไปสู่ประเด็นทางทฤษฎีและภาพกว้างในแง่ข้อมูลทั่วไป          เมื่อย้อนกลับไปมองหลักทฤษฎีภาษาของเอดเวิร์ด ซาเพีย (Edward Sapir) ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การนำเสนอ ประเด็นเหตุการณ์ 11 กันยายนในพิพิธภัณฑ์แสดง “การบิดพลิ้วของการใช้” (tyranny of usage) (Sapir 1921: 98) การรำลึกถึงโศกนาฏกรรม เพราะเนื้อหาแสดงผ่านโครงสร้างและหลักการจากเหตุการณ์ความทรงจำ/การรำลึกถึงที่มีมาก่อนหน้านั้น (Halbwachs 1980; Zelier 1998) การวิพากษ์ต่อรูปแบบ (form) และเนื้อหา (content) ในนิทรรศการของพิพิธภัณฑสถานว่ามีความแตกต่าง อย่างไร และความเชื่อมโยงของการรำลึกอดีตกับแนวคิดของพิพิธภัณฑ์เป็นไปในลักษณะใด นักมานุษยวิทยาต้องวิจารณ์ตรรกะเศรษฐกิจของวัฒนธรรมอุตสาหกรรมในภาพกว้าง เพื่อปูทางการอภิปรายต่อภาพที่นำเสนอ          คลื่นแรกของการรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายนในบริบทพิพิธภัณฑสถานมีรูปโฉมจากการหล่อมรวมระหว่างตรรกะ พิธีกรรม และหน้าที่ในการระลึกถึงที่มีอยู่ เข้ากับเศษส่วนเหตุการณ์โศกนาฏกรรมจำนวนมากมายจากความหายนะในครั้งใหม่ กิจกรรมเฉพาะกาลในพิพิธภัณฑ์ที่ข้าพเจ้าใช้พิจารณาเชื่อมต่อเหตุการณ์ 11 กันยายน เพื่อสร้างความหลากหลายที่อยู่บนชุดความคิดการรำลึกถึง หรือจะให้พูดอีกที กราวด์ ซีโร่ สร้างความหมายผ่านเหตุการณ์ ที่เป็นการฆ่าหมู่และการวางระเบิดที่โอกลาโฮมา ซิตี้ (Oklahoma City) ความหมายของเหตุการณ์ 11 กันยายน จึงไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ที่ตรึงติดกับสถานที่ที่เกิดเหตุ หากแต่พัฒนาผ่านแนวคิดซึ่งมีโครงสร้างจากกิจกรรมที่ทำมาก่อนหน้าในแต่ละพิพิธภัณฑ์YAHRZEIT ณ พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว (the Museum of Jewish Heritage)           นิทรรศการ “Yahrzeit: September 11 Observed” หรือ “ครบรอบวันตาย: พินิจ 11กันยายน” เปิดฉากด้วยภาพถ่าย  2 ภาพ ภาพหนึ่งเป็นภาพขาวดำที่แสดงให้เห็นส่วนยอดของอาคารแฝด เวิร์ล เทรด เซ็นเตอร์ ปรากฏอยู่บนพื้นหลังของภาพรูปทรงลักษณะเดียวกับหลังคาพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว และอีกภาพหนึ่ง ภาพเล็กแสดงเหตุการณ์การไว้อาลัยของผู้คนที่จุดเทียนในท้องถนน เพื่อรำลึกถึงเหยื่อของเหตุการณ์ 11กันยายน (ภาพที่ 1)ภาพที่ 1  ภาพโดย Jake Price          จริง ๆ แล้ว Yahrzeit คำภาษายิวหมายถึง “ช่วงปี” Yahrzeit เป็นคำสามัญที่ใช้ในกลุ่มยิวอาชกินาซี (Ashkenazi Jews) เพื่อบ่งถึงวาระครบรอบ 12 เดือนของการจากไป ตามประเพณีจะมีการสวดและการจุดเทียนซึ่งเรียกว่า “Yahrzeit Candle” (Heilman 2001:183) นอกเหนือจากการไว้อาลัย ประเด็นที่โดดเด่นของนิทรรศการ Yahrzeit คือ สถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิวที่ใกล้กับอาคารเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ภาพถ่าย ข้อความ และสิ่งจัดแสดงในนิทรรศการล้วนบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาคารและเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ เนื้อหาสะท้อนให้เห็นภาพโดยรวมของประสบการณ์ที่ชาวพิพิธภัณฑ์ประสบทั้งการสูญเสีย การให้ความช่วยเหลือ และการฟื้นสภาพภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน           ด้วยการออกแบบของ เอมี่ ฟอร์แมน (Amy Forman) ซึ่งใช้ผนังดำเป็นพื้นของข้อความที่ปรากฏในนิทรรศการ และจัดแสดงคู่ไปกับภาพถ่ายและวัตถุจัดแสดงนิทรรศการ Yahrzeit ร่ำรายกลิ่นอายของห้องจัดแสดงเช่นเดียวกับ เทียนที่ส่องสว่าง เนื้อหาเล่าถ้อยความตามเหตุการณ์ลำดับเวลา นิทรรศการจึงเป็นดั่งการผจญภัยของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์อย่างที่พวกเขาได้เห็นควันไฟและเศษวัตถุที่มาจากตึกแฝด ได้จ้องมองโศกนาฏกรรมที่มิอาจยับยั้งได้          ภาพร่างชาวนิวยอร์กที่ฉาบเคลือบด้วยเถ้าผง เรื่องราวจึงกลายเป็นจุดเชื่อมในนิทรรศการระหว่างพิพิธภัณฑ์กับความเจ็บปวดของนครแห่งนี้ ตัวอย่างฉากแสดง อีกชุดหนึ่ง เป็นการแสดงหน้ากากอนามัยของแพทย์ที่ผู้ช่วยของผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คนหนึ่งใช้ในระหว่างให้ความช่วยเหลืออยู่ในฝุ่นผงและเศษซาก อีกฉากหนึ่งแสดงประสบการณ์เฉพาะบุคคล ของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ในระหว่างเหตุการณ์ 11 กันยายน ภาพถ่ายหนึ่งบอกเล่าถึงคนครัวชาวอิสราเอล ผู้เดินทางมานิวยอร์กเพื่อปรุงอาหารให้คณะทำงานช่วยเหลือ และหมวกหน่วยกู้ภัยจัดแสดง ณ กลางตู้ พร้อมทั้งรายละเอียดส่วนบุคคลที่กล่าวถึงเรื่องราวของเจ้าหน้าที่กู้ภัยชาวยิวที่ตายระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ (ภาพที่ 2)ภาพที่ 2 นิทรรศการ Yahrzeit สมุดบันทึกและหมวกหน่วยกู้ภัยให้ยืมจาก Michael Weiss and Alissa Weiss บุตรและธิดาของนักผจญเพลิง David Weiss หนึ่งในบรรดานักผจญเพลิง 343 คน และ เสียชีวิตในวันที่ 11 กันยายน 2001 (ภาพโดย Jake Price)หากพิจารณาแนวคิดการวางแบบนิทรรศการ Yahrzeit นักมานุษยวิทยาหลายท่าน และภัณฑารักษ์รับเชิญ จิล เวกซ์เลอร์ (Jill Vexler) ได้บันทึกไว้ว่า          นิทรรศการไม่ใช่เพียงการนับย้อนเรื่องราวในฐานะประวัติศาสตร์สังคม ด้วยการจัดแสดงวัตถุต่างๆไม่ใช่เช่นนั้น… นิทรรศการ Yahrzeit กอปรด้วยแนวคิดรวบยอดและปรัชญา นอกจากนี้ ในบริบทของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยิว สิ่งที่บอกเล่าสัมพันธ์กับพื้นฐานของชีวิต การสูญเสีย การพินิจซ้ำ การตอบโต้ การกระทำ และการสร้างใหม่ (หรือตามรูปศัพท์ที่พิพิธภัณฑ์เรียกว่า “การฟื้นคืนชีวิต”) [2002:4-5]                  ฉะนั้น ตรรกะของความทรงจำจึงปรากฏในบริบทของการสอดประสานกับกุศโลบายของนิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำลายยิวในยุโรป แล้วนำมาสู่ความสนใจวัฒนธรรมยิวในสหรัฐอเมริกา สิ่งที่สะท้อนในนิทรรศการ Yahrzeit จึงวางแนวคิดเหตุการณ์ 11กันยายน ในฐานะที่มีเนื้อหาใกล้กับวาทกรรมการระลึกถึงของพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิวในสามระดับ ได้แก่ สิ่งปรากฏ ต่อสายตา ประสบการณ์ และ วิญญาณ                 แนวคิดการรำลึกถึงในนิทรรศการนำเสนอบางสิ่งที่พ้องกับทัศน์ส่วนน้อยหรือทัศน์ทางเลือกของโศกนาฏกรรม แต่มิได้หมายความว่านิทรรศการสร้างเหตุการณ์ 11 กันยายน “แบบยิว“ และไม่ใช่การนำไปเปรียบเทียบกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการไม่ได้นำเสนอเหตุการณ์ 11 กันยายน ภายใต้มุมมองของ ทอม สตอปปาร์ด (Tom Stoppard) ) ของเฮมเลตในเรื่อง Rosencrantz and Guidenstern Are Dead? เรื่องราวที่คุ้นเคยจากมุมมองของคนเล็กๆ นิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติโอกลาโฮมา (the Oklahoma National Memorial Center)          เช่นเดียวกับนิทรรศการ Yahrzeit นิทรรศการเคลื่อนที่เรื่อง “ประสบการณ์ร่วม จาก 04.19.95 ถึง 09.11.01” (A Shared Experience: 04.19.95 – 09.11.01) ใช้แนวคิดของความใกล้ชิดกับเหตุการณ์ 11 กันยายน แม้จะมีวิธีในการถ่ายทอดเนื้อหาแตกต่างออกไป นิทรรศการมุมมองร่วม (A Shared Perspective) เปิดในวาระครบ 7 ปีของการพังทลายของตึก อัลเฟรด พี. มูรราห์ (Alfred M. Murrah Building)  ในโอกลาโฮมา ซิตี้ นิทรรศการเริ่มต้นด้วยเงื่อนไขสภาพพื้นฐานที่เหมือนกันของวันแห่งความวินาศทั้ง 2 วัน แม้ว่าเหตุการณ์ทั้งสองมีความแตกต่างในเรื่องของเวลา ที่ตั้ง และเหตุผลทางการเมือง นิทรรศการนำไปสู่สิ่งที่เหมือนกัน ในการจัดแสดงระหว่างภาพและสิ่งของจากเหตุการณ์ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมของโศกนาฏกรรมทั้ง 2 เหตุการณ์ และเป้าหมายในการรำลึกถึงที่มีอยู่ร่วมกัน แนวคิดหลักโดยกว้างที่มีจุดร่วมปรากฏใน 5 ลักษณะ  คือ การก่อการร้ายเช่นเดียวกัน ความกล้าหาญที่เหมือนกัน การตอบสนองในทิศทางเดียวกัน ประสบการณ์และบทเรียนร่วมกัน จากที่กล่าวมา นิทรรศการพยายามนิยามเหตุการณ์ 11 กันยายน ด้วยการใช้ภาษาและสัญลักษณ์ร่วมของความเจ็บปวดที่คนอเมริกันมีร่วมกัน ซึ่งเกิดจากการโจมตี บนแผ่นดินใหญ่ เฉกเช่นเรื่องราวของวีรบุรุษในการกู้ภัย และการฟื้นฟูภายหลังการโจมตี วัตถุเป็นกุญแจสำคัญในการค้นพบบทเรียนทางศีลธรรมและจิตวิญญาณในการฟื้นฟูชีวิตและจิตใจของประชาชนอเมริกัน          ด้วยจุดสำคัญของลักษณะร่วมระหว่างอาคารมูรราห์ (The Murrah Building) และตึกแฝด (the Twin Towers) นิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” ดึงเหตุการณ์ 11 กันยายนสู่การฟื้นคืน เมื่ออาคารพังถล่มลงจากระเบิด ชุมชนหลายชุมชนรวมตัวขึ้น ดังนั้น การออกแบบนิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” เน้นการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจนจากการพังทลายของ สถาปัตยกรรมไปสู่การฟื้นคืนของชุมชน ดังเช่นฉากเปิดของนิทรรศการแสดงภาพถ่ายจากสถานที่เกิดเหตุ 4 แห่ง และการกู้ภัยจากหน่วยงานต่างๆ ฉากและสิ่งจัดแสดงแสดงภาพซ้ำๆ ของกองซากใกล้กับภาพของนักดับเพลิงกู้ภัยจากที่เกิดเหตุในโอกลาโฮมา และนิวยอร์ก ซิตี้ จุดแสดงนี้ ปรากฏหมวกของหน่วยกู้ภัย อันเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าหน้าที่กู้ภัยในลักษณะที่ใส่ระหว่างปฏิบัติงานจริง (ภาพที่ 3)ภาพที่ 3 นิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม : 04.19.95 - 09.11.01” ฉากเปิดของนิทรรศการและส่วนการจัดแสดงกลางห้องนิทรรศการที่จัดแสดงหมวกกู้ภัยจากเมืองต่างๆ และลงนามผู้ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ (G. Jill Evans)           จากนั้นมีฉากแสดงที่น่าหดหู่คือ พาหนะของหน่วยกู้ภัยที่บุบพัง ภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ที่ถูกทำลายอยู่หน้าฉากผืนธงอเมริกันขนาดใหญ่ การไว้อาลัยขนาดใหญ่ ด้านหนึ่งเป็นฉากรับวีดิทัศน์กล่าวถึงการไว้อาลัยในโอกลาโฮมา ซิตี้ และนิวยอร์ก          ซึ่งจูงให้ผู้ชมเห็นความคล้ายคลึงของการแสดงออกหวน ให้ต่อเหตุการณ์ทั้งสองแห่งสื่อเพื่อการศึกษา “หนังสือพิมพ์เล็ก” แจกให้กับเยาวชนที่เข้ามาชมได้ตั้งคำถามต่อพวกเขา “อะไรคือความคล้ายคลึงที่เราพบเห็นได้อนุสรณ์ทั้งสองแห่งนี้… สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับชีวิตเราอย่างไร” โศกนาฏกรรมนำไปสู่การกู้ภัยที่ไปสู่ร่วมบางประการ          ถ้าหากพูดอีกนัยหนึ่ง ข้าวของที่มาจากเหตุการณ์ 11 กันยายนมิได้มีความหมายเฉพาะในนิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” ที่เชื่อมโยงกับสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น แต่ความคล้ายคลึงยังเป็นคุณค่าเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในโอกลาโอมา เหตุการณ์ 11  กันยายน มีความหมายในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมการสร้างชุมชนร่วมชาติ ซึ่งไม่ได้ย้ำเน้นเฉพาะความเจ็บปวด แต่ยังย้ำกระบวรการสร้างอารมณ์ร่วมของความเจ็บปวดร่วม          เอดเวิร์ด ลิเนนธอล (Edward Linenthal) อธิบาย “กระบวนการตีคลุม” ในคำบรรยายของเขาเกี่ยวกับโอกลาโฮมา ซิตี้ (2001) การปลดปล่อยจากความเจ็บปวดของบุคคล ด้วยการสร้างอารมณ์ร่วมระหว่างเหยื่อและผู้รอดชีวิต ภายใต้ความสัมพันธ์กับสถาบันอนุสรณ์สถานและพิธีการ สาธารณะ ดังนั้น การสร้างนิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” เกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุการณ์ 11 กันยายนทั้ง  3 แห่ง ที่เคลื่อนที่ไปตามสถานที่ต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์นำสารัตถะ ของ ศูนย์อนุสรณ์สถาน โอกลาโฮมา และการระเบิดในโอกลาโฮมา ซิตี้ไปสู่โศกนาฏกรรมระดับชาติ จุดเชื่อมที่ร่วมกันด้วยการ นำเสนอเอกสารเหตุการณ์ 11 กันยายน กับ “4/19” (หรือ เป็นวันที่เกิดระเบิดในโอกลาโอมา วันที่ 19 เมษายน 1995) ที่เชื่อมต่อกันหนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้ (A Day of Reflection and remembrance) ณ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สหรัฐอเมริกา (The United States Holocaust Memorial Museum)          เริ่มต้นจากแนวคิดที่ใช้นิทรรศการเป็นการนำเสนอเหตุการณ์ 11 กันยายน พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกาลงเอย ด้วยการจัดทำรายนามเหยื่อจากเหตุการณ์ 11กันยายน  จำนวน  3,000 รายนาม และผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสมาชิกของพิพิธภัณฑ์ได้อ่านด้วยการยืน หลังแท่น ประกาศไม้ใน “กำแพงแห่งพยาน” ของพิพิธภัณฑ์ ผู้คนจะเวียนมาเอ่ยนาม อายุ เมือง และสถานที่ของเหยื่อแต่ละคนอย่างเงียบเฉียบและต่อเนื่อง (ภาพที่ 4)ภาพที่ 4 พิธีกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ภาพแสดงพิธีเอ่ยนามผู้เสียชีวิตโดยผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาสาสมัคร Charlene Schiff (ภาพโดย Andy Hollinger)          หลังจากที่อ่านซักระยะหนึ่ง คนอ่านถัดไปจะเวียนกันขึ้นมาที่แท่นประกาศไม้และอ่านต่อไป กิจกรรมดำเนินไปตลอด 4 ชั่วโมงและดึงดูดผู้ชมที่หลากหลาย ผู้คนที่ยืนห่างจากแท่นประกาศในระยะไกลใกล้ต่างกัน หรืออยู่บนม้านั่งใน บริเวณใกล้เคียง          กิจกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายน ด้วยการใช้รูปแบบพิธีกรรม ของความทรงจำ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวแพร่หลายอย่างมากในธรรมเนียมการรำลึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 พิธีกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและการหวนให้” ต่างไปจากรูปแบบพิธีการอ่านรายนามเหยื่อจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั่วไป เพราะการลำดับนามไม่ได้เป็นไปตามโครงสร้างแต่เป็นเนื้อหา นั่นคือ จากเหตุการณ์ 11 กันยายน ชื่อของเหยื่อจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถูกแทนที่ด้วยเหยื่อจากนิยอร์ก เวอร์จิเนีย และเพนซิลเวเนีย หากปราศจากความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการไว้อาลัยเหตุการณ์ 11 กันยายนแล้ว คงเป็นการยากที่จะแยกวาระเฉพาะนี้จากพิธีการไว้อาลัยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์           นวตกรรมสำคัญใน “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” เป็นการตัดสินใจของพิพิธภัณฑ์ด้วยการเลือก ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และไม่ใช่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 11 กันยายน กรอบความทรงจำของเหยื่อ 11 กันยายนสร้างผ่านแนวคิดหลัก 2 ประการคือ “ผู้รอดชีวิต” และ “ความทรงจำ” ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อเหตุการณ์ 11 กันยายน ผู้ไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของตนเองได้อีกต่อไป ส่วนผู้รอดชีวิตการการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผู้ได้รับบทเรียนศีลธรรมที่มากกว่าเกี่ยวกับเหยื่อสภาพจากสถาบันต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกา         เลขาธิการสภาบริหารพิพิธภัณฑ์ เฟรด ไซด์แมน (Fred Zeidman) ให้ความเห็นต่อความสัมพันธ์ที่เคลื่อนไหวระหว่างเหยื่อและผู้เหลือรอดที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์          “ความยอกย้อนในการพินิจมองผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมยิ่งใหญ่ของศตวรรษนี้ ด้วยการเอ่ยรายนามของพวกเขาเหล่านั้น ผู้ที่มิอาจรอดพ้นจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้… ของศตวรรษที่กำลังมาถึง… ทำให้ข้าพเจ้าย้อนนึกถึงสิ่งที่พวกเราทำที่พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ เหตุใดพวกเราจึงรวมตัว ณ ที่นี้ และสิ่งใดเป็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของพวกเรา พวกเราทั้งหมดคือผู้ที่เหลือรอด และภารกิจหนึ่งที่พวกเราต้องปฏิบัติประจำ คือต้องพึงระลึกว่าสิ่งชั่วร้ายใดที่สามารถเกิดกับเราได้บ้างในทุกเมื่อเชื่อวัน [พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 2002]”          ในกระบวนพิธี ผู้ที่รอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นสิ่งที่สร้างความเข้าอกเข้าใจและความเป็นจริงต่อเหตุการณ์ 11 กันยายน นั่นคือการอาศัยเงื่อนไขสภาพ (habitus) ของการระลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้ การกล่าวถึงเหยื่อจากโศกนาฏกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้น ทำให้เหตุการณ์ 11 กันยายนและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จัดอยู่ในโศกนาฏกรรมโลกประเภทเดียวกัน แม้จะเป็นสัญลักษณ์ต่างศตวรรษกัน          ขบวนการการสร้างความชอบธรรมของการระลึกถึงที่เกิดในพิธี “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ด้วยการเปล่งถ้อยนามของเหยื่อเหตุการณ์ 11 กันยายน ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผลักให้เหตุการณ์ 11 กันยายนเข้าอยู่ในกระบวนการจัดแบ่งประเภทการทำลายล้างชาวยิวในยุโรป ว่าเป็นโศกนาฏกรรมหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ผู้รอดชีวิตรายหนึ่งที่ร่วมในพิธี “วันแห่งการหวนให้” กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความภูมิใจที่เป็นพลเมืองอเมริกา” พวกเราสามารถ มั่นใจได้ว่า ในอนาคตจะไม่มีการข่มเหงทรมานใดเกิดขึ้นในโลกและในประเทศที่สวยงามของเรา ขอพระเจ้าอำนวยพรให้อเมริกา” (พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สหรัฐอเมริกา 2002) ความเป็นไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ 11 กันยายน ในงานวัฒนธรรม          ในเวลา 2 ปีจากเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน 2001 สภาพประสบการณ์เปลี่ยนจากสถานะแห่งความหายนะสู่สื่อโทรทัศน์ และส่งผลต่อเหตุการณ์การรำลึกถึงที่จัดในพิพิธภัณฑสถาน ปัจจุบันทิศทางในอนาคตของกิจกรรมการรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายนในพิพิธภัณฑสถานเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิวไม่มีแผนงานสร้างนิทรรศการเช่น Yahrzeit แม้ว่าพิพิธภัณฑ์มองการจัดแสดงป้ายสลักพร้อมจุดเทียนเป็นกิจกรรมการรำลึกในแต่ละปี เมื่อพิจารณากรณีนิทรรศการเคลื่อนที่ “ประสบการณ์ร่วม” พิพิธภัณฑ์ไม่มีแนวโน้มที่จะจัดแสดงในศูนย์อนุสรณ์สถาน โอกลาโฮมา ซิตี้ อีกครั้ง นอกจากว่าพิพิธภัณฑ์ใดสนใจสามารถยืมนิทรรศการดังกล่าวไปจัดแสดง เช่นเดียวกับการ จัดกิจกรรม “หนึ่งวันแห่งการทบทวนและหวนให้” ก็ไม่ได้มีแผนอย่างเป็นทางการที่จะกำหนดเหตุการณ์ 11 กันยายน บนปฏิทินการรำลึกของพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกา          อย่างที่ได้เห็นกันในกรณีโศกนาฏกรรมอื่นและจุดเปลี่ยนในความเป็นไปในสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ 11 กันยายน ยังถูกทำให้เป็นสินค้าในตลาดในฐานะของชิ้นงานมรดกและสินค้าวัฒนธรรม (Kirshenblatt-Gimblett 1998:177) มานุษยวิทยาในฐานะที่เป็นการวิพากษ์วัฒนธรรมสามารถปรับใช้มุมมองทั้งวิชาการทางทฤษฎีและเชิงประจักษ์ตอบต่อ ความพยายามทั้งหลายเหล่านี้ในการปรับเปลี่ยนโศกนาฏกรรมสู่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง (Marcus and Fisher 1986) แม้ว่านักมานุษยวิทยามุ่งประเด็นไปที่เศรษฐศาสตร์การเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับโศกนาฏกรรม 11 กันยายน แต่ควรให้ความสนใจวิพากษ์เชิงชาติพันธุ์วรรณาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางสังคมของเหตุการณ์ 11 กันยายนในลักษณะที่เกิดขึ้นมาเช่นกัน มานุษยวิทยาของเหตุการณ์ 11 กันยายนจะเป็นชาติพันธุ์วรรณนาของพิพิธภัณฑ์ ด้วยระยะเวลาที่ห่างจากการเกิดขึ้นของเหตุการณ์มากขึ้น ชั้นการวิเคราะห์ของทฤษฎีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ประเด็นการวิพากษ์เริ่มต้นจากความกดดันระหว่างตรรกะเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของเหตุการณ์  11 กันยายน เช่นที่เกิดในภาพยนตร์สารคดี “สิ่งหลงเหลือจากซาก-ธุลี” และขยายออกสู่ตรรกะของการจัดแสดง ซึ่งพินิจความทรงจำเป็นเช่นละครสังคมที่เกิดขึ้นในบริบทของสถาบันและวัฒนธรรม อย่างที่ข้าพเจ้ายกตัวอย่างงานวัฒนธรรมมาทั้งหมดกับสิ่งที่เกิดขึ้นหนึ่งปีให้หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน งานสะสมและการอนุรักษ์สร้างชุดความทรงจำด้วยความบังเอิญและแนวคิดที่ก่อร่างจากเรื่องราวที่อาศัยความใกล้ชิด การเอ่ยนาม และการช่วยชีวิต          สิ่งที่ตรงข้ามกับการนำเสนอที่ตีตราของทฤษฎีวิจารณ์ ซึ่ง “อดีตในฐานะที่ก่อร่างพิพิธภัณฑสถาน… ย่อมเป็นผลิตผลของปัจจุบันที่สร้างสิ่งนั้นขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” (Bennett 1995:129) ชาติพันธุ์วรรณนาของเหตุการณ์ 11 กันยายนแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่คลุมเครือระหว่างอดีต ปัจจุบัน และภาพแทนของอดีต ในกรณี Yahrzeit การปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์และทางการสร้างประวัติศาสตร์ของการสร้างความหมายแสงเทียนในพิธีกรรมชาวยิว ที่เชื่อมโยงกับความทรงจำของเหตุการณ์ 11 กันยายน อันถือเป็นการนำเสนอภาพของกราวด์ ซีโร่ เสมือนเป็นการจัดที่ทางของพิธีกรรมชาวยิวในวัฒนธรรมอเมริกาหันมาพิจารณานิทรรศการ “ประสบการณ์ร่วม” เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ทั้งภาพและเศษซากจากเหตุการณ์ 11 กันยายนย้ำเน้นบทเรียนหัวใจของการช่วยเหลือและการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันทางสังคมอีกครั้งในโอกลาโฮมา และอีกเช่นกันในกิจกรรม “หนึ่งวันแห่งการ ทบทวนและหวนให้” ที่เป็นการเอ่ยนามผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 11 กันยายนเป็นพิธีการที่แสดงออกด้วยผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ละกรณีมีสิ่งที่ร่วมกันคือ การไม่สามารถแบ่งแยกการรำลึกถึงโศกนาฏกรรมหนึ่งจากการอ้างอิงถึงอีกเหตุการณ์หนึ่ง และการใช้ความชอบธรรมชุดภาพแทนหนึ่งส่งอิทธิพลต่ออีกชุดหนึ่ง (the hegemony of one set of representational practices over another)          สิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาคือ กิจกรรมในพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 11 กันยายน ไม่ใช่เพียงการรำลึกถึง โศกนาฏกรรม หากเป็นการจัดตั้งชุด “กฎ” การรำลึกถึงอย่างเป็นพื้นฐานและอย่างเป็นหลักใหญ่ (Bourdieu 1972:22) ความหลากหลายของแนวทางการรำลึกถึงเหตุการณ์ 11 กันยายนยังเป็นเพียงลักษณะชาติพันธุ์วรรณนาขั้นต้น ของเหตุการณ์ 11 กันยายนในฐานะที่เป็นข้อเท็จจริงทางสังคม นอกจากนี้ ขณะที่เหตุการณ์ 11 กันยายนสร้างพันธะหน้าที่การรำลึกทั้งเก่าและใหม่ แต่ทำให้เกิดการสั่นคลอนของภูมิทัศน์ความทรงจำ กิจกรรมการระลึกทั้งหมดในขณะนี้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 11 กันยายน และพลวัตทั้งหมดนี้เริ่มสร้างความหมาย ความหลากหลายในการรำลึกถึงที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นไปในลักษณะใดและอยู่ภายใต้เงื่อนไขใด นี่เองที่เป็นคำถามของงานชาติพันธุ์วิทยาในอนาคต ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ในฐานะสิ่งสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 11 กันยายน ยังคงมีบทบาทจัดกิจกรรมการรำลึกถึงในบริบททางสังคม และเป็นพื้นที่ที่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับทฤษฎีทางมานุษยวิทยาบันทึก                 กิตติกรรมประกาศ – ผู้เขียนขอขอบคุณพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมยิว อนุสรณ์สถานเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐอเมริกา และศูนย์อนุสรณ์สถานแห่งชาติ โอกลาโฮมา ซิตี้ สำหรับความร่วมมือในการวิจัย และการเขียนบทความ ข้าพเจ้าขอขอบคุณบุคคลต่างๆ ที่ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือ Ivy Barsky, Andy Hollingger, Julie Joseph, Debora Hoehne, Joanne Riley, Abby Spilka, Jeremy Thorn และ Jill Vexler ข้าพเจ้าขอขอบคุณ Richard Handler สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับทฤษฎี Sapir และการทบทวนร่างบทความ ท้ายนี้ ข้าพเจ้าขออ้างถึงนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในการสัมมนาของข้าพเจ้า “มรดกและความทรงจำในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์” (New York University, fall 2002) ที่วิเคราะห์มองสัมพันธภาพระหว่างพิพิธภัณฑ์และเหตุการณ์ 11 กันยายนที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ใน การเขียนบทความชิ้นนี้เอกสาร/หนังสืออ้างอิงBennett, Tony1995 The Birth of the Museum: History, Theory, Politics. London: Routledge.Bourdieu, Pierre1977 Outline of a Theory of Practice. Cambridge: Cambridge University Press.Halbwachs, Maurice1980 The Collective Memory. New York: Harper and Row.Heilman, Samuel C.2001 When a Jew Dies. Berkeley: University of California Press.Kirshenblatt-Gimblett, Barbara1998 Destination Culture: Tourism, Museums and Heritage. Berkeley: University of California Press.Linenthal, Edward T.2001 The Unfinished Bombing: Oklahoma City in America Memory. New York: Oxford University Press.Relic from the Rubble2002 Narrated by Josh Binswanger. This Week in History. 50 min. The History Channel, September 3 (video recording).United States Holocaust Memorial Museum2002 Holocaust Survivors Read the Names of Those Who Died in the Terrorist Attacks on September 11, 2001. Electronic document, http:/www.ushmm.gov/museum/exhibit/focus/911_02, accessed May 1, 2003.Marcus, George E. and Michael M. J. Fisher1986 Anthropology as Cultural Critique: an Experimental Moment in the Human Sciences. Chicago: University of Chicago Press.Sapir, Edward1921 Language: An Introduction to the Study of Speech. San Diego: Harcourt Brace and Company.Vexler, Jill2002 Guest Curator’s Essay. 18 First Place: Museum of Jewish Heritage Quarterly Magazine. Fall: 4 – 5.Young, James E.1993 The Texture of Memory. New Haven, CT: Yale University Press.Zelier, Barbie1998 Remembering to Forget: Holocaust Memory through the Camera’s Eye. Chicago: University of Chicago Press. แปลและเรียบเรียงจากFeldman, Jeffrey D. (New York University), “One tragedy in Reference to Another: September 11 and the Obligations of Museum Commemoration”, American Anthropologist 105 (4): 839 - 843.

พัฒนาการงานอนุรักษ์

30 มีนาคม 2558

การอนุรักษ์เริ่มต้นพัฒนาในศตวรรษที่ 19 โดยเป็นการให้ความสำคัญกับส่วนงานที่ในปัจจุบันเรียกว่า “การอนุรักษ์แบบซ่อมสงวน” (interventive conservation) การอนุรักษ์วัตถุเป็นการป้องกันสภาพความเสื่อมโทรม ด้วยการทำความสะอาด และการพยายามคงสภาพในปัจจุบันของวัตถุนั้น บ่อยครั้งที่ปฏิบัติการต่อวัตถุจำเป็นต้องสงวนวัตถุจากเงื่อนไขที่จะทำให้วัตถุเสื่อมลง เช่น การขึ้นสนิมบนวัสดุเหล็ก การตกผลึกเกลือ หรือการกัดกินของแมลง การอนุรักษ์แบบซ่อมสงวนขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของวิชาการสาขาเคมี ทั้งในด้านการนิยามปัญหาและพัฒนาการแก้ปัญหา งานวิชาการที่เสมือนหลักหมายของการพัฒนาดังกล่าวได้แก่ งานเขียนของ Rathgen, Die Konservierung von Altertumsfunden (เขียนขึ้นในปี 1898 และแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 1905 โดย G. A. and H. A. Auden ในชื่อว่า Preservation of Antiquities : A Handook for Curators (การสงวนวัตถุโบราณ : คู่มือสำหรับภัณฑารักษ์) และงานเขียนของ Plenderleith และ Werner เรื่อง Conservation of Antiquities and Works of Art (ปี 1971 ในการพิมพ์ครั้งที่ 2) ในช่วงศตวรรษที่ 20 คือภายหลังจากงานตีพิมพ์ของ Garry Thompson เรื่อง The Museum Environment (สภาพแวดล้อมในพิพิธภัณฑสถาน) บทบาทของการสงวนรักษาวัตถุด้วยการควบคุมสภาพแวดล้อมและ การเน้นย้ำการดูแลรักษา กลายเป็นแนวทางในการทำงานอนุรักษ์ แนวทางการอนุรักษ์นี้เป็นที่สนใจอย่างสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1990 และนิยามการทำงานดังกล่าวว่า “การอนุรักษ์แบบสงวนรักษา” (preventive conservation) สาขาวิชาพัฒนาไป พร้อมกับการจัดการด้านเทคนิคที่สามารถประยุกต์ใช้กับ งานสะสมพิพิธภัณฑ์ อาคาร และสภาพแวดล้อม รวมทั้งลักษณะความสัมพันธ์ระหว่าง บุคลากรและงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ การอนุรักษ์แบบสงวนรักษาเกิดขึ้นจากบัญญัติเกี่ยวจรรยาบรรณสำหรับภัณฑารักษ์ที่พัฒนาขึ้น ในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 (AIC 1994; UKIC 1996) งานวิชาการที่เป็นหลักสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวคือ สภาพแวดล้อมพิพิธภัณฑ์ (1978) แนวทางปฏิบัติ ทฤษฎี และการวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์แบบสงวนรักษา ซึ่งบรรณาธิการโดย A. Roy และ P. Smith เป็นเอกสารประกอบการประชุม IIC ที่เมืองออตตาวา และงานล่าสุดของ Suzanne Keene ใน การจัดการการอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑ์ (ในปี 1996) กิจกรรมการอนุรักษ์เกือบทั้งหมดจัดแบ่งในลักษณะที่ไม่เป็นการอนุรักษ์แบบซ่อมสงวน ก็เป็นการอนุรักษ์แบบสงวนรักษา ในขณะเดียวกันงานการวิจัย การศึกษา และการอบรม กลับไม่มีการจัดแบ่งประเภท “ยุคข่าวสาร” ซึ่งเน้นการสื่อสาร ให้ความสำคัญกับความรู้และการถ่ายทอดความรู้ในทุกๆ กิจกรรมของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ การสร้างองค์ความรู้และการเผยแพร่กลายเป็นหัวใจที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ การอนุรักษ์แบบซ่อมสงวนและสงวนรักษา สำหรับเป็นวิถีที่นำไปสู่อนาคตด้วยตัวมันเอง ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า การสร้างองค์ความรู้และข้อมูล (งานวิจัย) การสื่อสารความรู้นั้นๆ (การศึกษา การอบรม และการเผยแพร่ข้อมูล) พร้อมไปกับความพยายามรักษาทรัพยากรเพื่อการอนุรักษ์ (การให้การสนับสนุน) เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาการอนุรักษ์ในอนาคต และสิ่งนี้เองที่เรียกว่า “formative information” (การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล)  นิยามและขอบเขต แนวทางการอนุรักษ์มีพื้นฐานหลักที่การพัฒนาและการสร้างสรรค์สำหรับอนาคตงานอนุรักษ์ การสร้างข้อมูล – หรืองานวิจัย – ดำเนินการในหลายระดับจากงานวิจัยพื้นฐานนำไปสู่การวิเคราะห์ และการทำงานที่ซับซ้อนของวัตถุบางประเภท เพื่อการอนุรักษ์วัตถุประเภทนั้นๆ (ประเภทของงานวิจัยดูได้ใน The Conservator – ภัณฑารักษ์) จากนั้นเป็นงานวิจัยในแง่วัสดุและเสื่อมถอย (ประเภทของงานวิจัยดูได้ใน Studies in Conservation – การศึกษาวิจัยในงานอนุรักษ์) และท้ายที่สุด งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบที่มีนักวิจัยชำนาญเฉพาะ พร้อมด้วยงบประมาณและเครื่องมือเต็มรูปแบบ       การศึกษาเกี่ยวกับอนุรักษ์และการอบรมทุกรูปแบบ การอบรมสามารถดำเนินการได้ในระยะหลายปี ซึ่งนำไปสู่การสร้างคุณภาพในงานอนุรักษ์ หรือเป็นการอบรมในระยะสั้นที่ต่อเนื่อง และถือเป็นการพัฒนาการปฏิบัติการของภัณฑารักษ์งานวิชาการของ ICOM – CC Working Group on Training in Conservation and Restoration เป็นสิ่งที่แสดงการพัฒนา “งานอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” ในการสร้างภัณฑารักษ์รุ่นต่อไปอย่างไรก็ดี ยังมีความคลุมเครือระหว่างการศึกษา ซึ่งหมายถึง “การได้มาซึ่งความรู้และความเข้าใจเป็นหลัก” และการอบรม อันหมายถึง “การพัฒนาความชำนาญการในการประยุกต์ความรู้และความเข้าใจเป็นหลัก” แม้ว่าทั้งสองกิจกรรมจะมีความทับซ้อนกันอยู่ แต่เราจะเห็นอย่างชัดเจนว่าวิชาเรียนมากมายในการอนุรักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สอนในสถาบันการศึกษาชั้นสูง เน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ในทางกลับกัน การฝึกงานและวิชาปฏิบัติการอื่นๆ เน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอบรม การดำเนินงานทั้งสองประการเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาการตัดสินใจที่ดี (การให้น้ำหนักอย่างชาญฉลาดในการจัดการความรู้) ให้กับภัณฑารักษ์ การประชุมและงานวิชาการเสริมให้การพัฒนาวิชาชีพเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสร้างหนทางในการเผยแพร่ผลการวิจัยและพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดด้วยการดำเนินงานดังกล่าว จึงเป็นก่อร่างทิศทางงานอนุรักษ์ในอนาคต ตัวอย่างงานของ Michalski เกี่ยวกับค่า RH (relative humidity – ผู้ แปล) ที่ถูกต้องและผิดพลาด (Michalski 1993) เป็นจุดสำคัญในการทบทวนเกี่ยวกับการสร้างสภาพ ที่คงที่ของสภาพแวดล้อมในพิพิธภัณฑ์ ข้อมูลที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถเผยแพร่ผ่านแหล่งสื่อหลากหลาย ผลิตภัณฑ์ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ และอินเตอร์เนต เช่นเดียวกับหนังสือ จดหมายข่าว และสิ่งพิมพ์อื่นๆ การเข้าถึงและความถูกต้องของข้อมูลเป็นสิ่งที่ภัณฑารักษ์คำนึงถึงมากขึ้น อนาคตของงานอนุรักษ์จึงไม่ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับเพียงประการเดียว หากแต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูลเช่นกัน อนาคตของงานอนุรักษ์เชื่อมโยงอย่างมากกับทรัพยากรที่เอื้อต่องานอนุรักษ์ และการสนับสนุนจาก ผู้คนทั่วไปเพื่อกิจกรรมงานอนุรักษ์ อนึ่ง คำว่า “การสนับสนุน” สามารถใช้อธิบายกระบวนการ หลากหลายของความสนับสนุนและทรัพยากร ตั้งแต่อาศัยการพูดจากับกลุ่มคนเล็กๆ จนถึงการขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากนักการเมือง เพื่อสร้างช่องทางประชาสัมพันธ์และการตอบข้อซักถามต่อสาธารณชนด้วยวิธีการเหล่านี้ เราจึงสามารถสร้างความสนใจให้กับคนทั่วไปในการตระหนักถึงความสำคัญและเป้าหมายของการอนุรักษ์ ด้วยการตระหนักถึงคุณค่าการสงวนรักษา จึงนำไปสู่การสร้างและปฏิบัติตามมาตรการในการอนุรักษ์แบบสงวนรักษา ที่แต่ละคนสามารถปฏิบัติต่อสิ่งที่ตน    ครอบครอง ทั้งที่เป็นของส่วนบุคคลและส่วนรวม เพื่อการคำนึงถึงมรดกทางวัฒนธรรมในฐานะเป็นสมบัติร่วม เพราะก่อนที่ปัจเจกบุคคลจะใฝ่หาการศึกษาหรือข้อมูลเกี่ยวกับการอนุรักษ์ พวกเขาต้องเห็นว่าสิ่งนั้นๆ มีความสำคัญ เราต้องเข้าไปถึงใจก่อนจะเข้าถึงความคิดของเขา การสนับสนุนจึงเป็นกระบวนการ “จับใจ” สร้างความต้องการอยากรู้อยากเห็น และนำผู้คนไปสู่ความปรารถนาในทางปฏิบัติ อนาคตของการอนุรักษ์มาจากกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลายเช่นนี้ เมื่อระลึกถึงวัตถุประสงค์ร่วมในการสร้างอนาคตงานอนุรักษ์นำไปสู่ข้อสรุปนิยาม “การอนุรักษ์แบบข้อมูล” และคำอธิบายที่เกี่ยวเนื่อง ดังนี้ การอนุรักษ์แบบข้อมูล คือ ขบวนการสร้างความรู้และพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ความรู้นั้นๆ ในการอนุรักษ์ชิ้นงานประวัติศาสตร์และศิลปกรรม ทั้งนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้  ระยะห่าง หากจะกล่าวไปแล้ว ระดับของการปฏิบัติการอนุรักษ์มีลักษณะที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับคือ การอนุรักษ์ “แบบซ่อมสงวน” เป็นการดำเนินการต่อวัตถุชิ้นเดียว การอนุรักษ์ “สงวนรักษา” ปฏิบัติต่องานสะสมชิ้นต่างๆ ในขณะที่ การอนุรักษ์ “แบบงานข้อมูล” เป็นการสร้าง/พัฒนางานอนุรักษ์ในอนาคต เหตุที่งานอนุรักษ์ดำเนินไปในทิศทางดังกล่าว เนื่องมาจากการตระหนักถึงระยะห่างที่ทรงพลังระหว่างวัตถุและนักอนุรักษ์ ยิ่งการเผชิญหน้าต่อวัตถุมีระยะห่างเท่าใดยิ่งทำให้วัตถุได้รับการดูแลมากขึ้น ระยะห่างเช่นนี้ก่อให้เกิดการวิจัยหรือการศึกษาบางแง่มุม เรียกได้ว่าพลังการดำเนินการอนุรักษ์จะส่งผลต่อวัตถุในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น  ประโยชน์ที่ได้รับ       ขอบข่ายของงานอนุรักษ์ที่ดำเนินการไปพร้อมๆ กัน เช่น สิ่งพิมพ์เผยแพร่ การศึกษา การวิจัย และการสนับสนุนภายใต้คำเรียก “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” นำไปสู่แง่มุมบางประการและทุกๆ ประการของงานอนุรักษ์ที่ได้รับการอธิบายภายใต้นิยาม “การซ่อมสงวน” “การสงวนรักษา” หรือ “งานข้อมูล” สาขาย่อยของงานอนุรักษ์นี้และโดยเฉพาะการสร้างนิยาม “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” อาจจะปรากฏเป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง หรือเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในจำนวนที่หลากหลายของ “การสร้างแบบสำเร็จและให้ชื่อ” สาขาวิชาของงานอนุรักษ์ ข้าพเจ้าจึงขอเสนอรูปแบบ “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” ดังนี้       - อธิบายความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา - สร้างความตระหนักแก่ผู้ปฏิบัติการการวิจัย การศึกษา การอบรม และการสนับสนุนอื่น ๆ ในสิ่งที่พวก เขาดำเนินการ ว่าเป็นสิ่งที่สร้าง (ก่อร่าง) ความสามารถเพื่ออนุรักษ์และถ่ายทอด       - เน้นย้ำว่า ความรู้ที่สร้างขึ้นมาจากงานวิจัยมิได้มีวัตถุประสงค์เฉพาะ ประการเดียว หากแต่ว่าความรู้นั้น ๆ มีบทบาทที่มากกว่า ในฐานะ “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” เรียกได้ว่า เป็นการพัฒนาศักยภาพของนักอนุรักษ์คนอื่นๆ เพื่อความเข้าใจและการอนุรักษ์วัตถุที่ดีมากขึ้น ความรู้โดยปราศจากการเผยแพร่เป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม เช่นเดียวกับความมั่งคั่งและอำนาจที่ไม่ได้ใช้ไปในทางที่ถูกที่ควรของมุนษยชาติ       - เก็บบันทึกการยอมรับที่กว้างขวางในบทบาทการสนับสนุน และการตระหนักถึงบทบาท เพื่อปูทางสู่อนาคตของงานอนุรักษ์       - เอื้อให้กระบวนการของการศึกษาและอบรมที่มีความทับซ้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำเนินการควบคู่กัน สามารถดำเนินเคียงคู่กันไปภายใต้นิยามที่มีวัตถุประสงค์และแง่มุมร่วมกันของ “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” การสร้างกรอบของกระบวนการและ การดำเนินงานมากมายภายใต้นิยาม “การอนุรักษ์แบบสงวนรักษา” ทำให้ผู้คนทั่วไปเห็นความสำคัญและลักษณะ ที่แตกต่างของกิจกรรมเหล่านั้น เมื่อคนเห็นความสำคัญของกิจกรรมดังกล่าว ย่อมนำมาซึ่งเงินทุนสนับสนุน และกิจกรรมที่เป็นที่สนใจมากขึ้น งานวิชาการที่เกี่ยวข้องเผยแพร่อย่างแพร่หลาย สิ่งนี้ย่อมเป็นหนทางให้วิชาชีพกว้างออกไปอย่างมีนัยสำคัญ การจัดอบรมเฉพาะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้นักอนุรักษ์มากมายสนใจในแขนงงานอนุรักษ์ดังกล่าว จากที่แต่เดิมที่เห็นว่าการอนุรักษ์แบบสงวนรักษาเป็นสิ่งที่ “โง่เง้าและซ้ำซาก” การตระหนักในความสำคัญของแขนงวิชาเช่นนี้ นำไปสู่การสร้างมาตรฐานบางประการ ในสหราชอาณาจักร ปรากฏการจัดตั้งแนวมาตรฐานที่เป็นรูปธรรม โดยงานพิมพ์เผยแพร่ของคณะกรรมการ พิพิธภัณฑสถานและหอศิลป์เรื่อง “มาตรฐานในการดูแลงานสะสม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานทะเบียนในพิพิธภัณฑ์ ในอนาคตการให้ความสำคัญกับกระบวนการ ด้วยการเสนอใช้นิยาม “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” มีลักษณะที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป และจะเป็นการนำทางไปสู่อนาคตของงานอนุรักษ์  บทสรุป การเสนอบทความโดยสังเขปนี้ เป็นการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับคำนิยาม “การอนุรักษ์แบบงานข้อมูล” เพื่ออธิบายกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์พื้นฐานในการพัฒนางานอนุรักษ์ในอนาคต จุดประสงค์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการสร้างข้อมูลและการเผยแพร่ผ่านทางการศึกษา การอบรม และฐานข้อมูลของนักอนุรักษ์ ท้ายที่สุด นำไปสู่การประยุกต์ใช้ข้อมูลเหล่านั้น เอกสาร/หนังสืออ้างอิงAIC (American Institute for Conservation). 1994. Code of ethics and guides for practice. AIC News, May 1994: 17 – 20.Keene S. 1996. Managing conservation in museums, London: Butterworth Heinemann.Michalski S. 1993. Relative humidity: A discussion of correct/incorrect values. In: ICOM-CC 10th Triennial Meeting, Washington, DC, USA. Paris: International Council of Museums: 624 – 629.Plenderleith H and Werner AEA. 1971. Conservation of antiquities and works of art. Oxford: Oxford University Press.Rathgen F. 1898. Die Konservierung von Altertumsfunden. Berlin: W. Spemann.หมายเหตุผู้แปลขอขอบคุณ Lawrence Chin ที่แนะนำบทความให้อ่านเพิ่มเติม หลังจากการร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์Chris Caple ผู้เขียนบทความเป็นอาจารย์ ณ Department of Archaeology, University of Durham, South Road, Durham DH1 3LE, UKภาพประกอบบทความมาจากสิ่งพิมพ์ประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการมรดกแห่งชาติ –ประเทศสิงคโปร์ โปรแกรมการศึกษาประจำปี 2003 “บรรจงสร้างมรดกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกผู้คน” แปลและเรียบเรียงจากChris Caple, “Formative Conservation”, In book 12th triennial meeting, Lyon, 29 August - 3 September 1999: preprint (ICOM Committee for Conservation). James & James (Science Publishers) Ltd., Bridgland, Janet (Editor) (1999), pp. 135 - 138.

โรงเรียนภาคสนาม: แบบฝึกหัดการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

06 มีนาคม 2558

การกำลังเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของประเทศไทย พร้อมๆ กับร่างพระราชบัญญติว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ...... ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคม 2556 โดยมีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ได้รับความสนใจจากแวดวงผู้เกี่ยวข้อง หลักใหญ่ใจความของร่างพรบ.ฉบับนี้ คือ ส่งเสริมและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม หรือคุ้มครองการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยมีหลักการสำคัญคือ ให้มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และกำหนดให้มีการให้เงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รวมถึงมีบทลงโทษหากมีการนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ไปเผยแพร่ในลักษณะเป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนศาสนาและความมั่นคงของประเทศ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ทันทีที่ร่างกฎหมายดังกล่าวออกมา  ก็ถูกวิพากษ์ในหลากหลายแง่มุม หลายคนมองว่าเป็นการ “ควบคุม” มากกว่า “คุ้มครอง” อาทิ การมองวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งตายตัวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้  ขาดการพูดถึงเรื่องสิทธิ หน้าที่ หรือการมีส่วนร่วมของชุมชน  หรือพูดง่ายๆ ว่ามองไม่เห็นหรือไม่เคารพสิทธิของเจ้าของวัฒนธรรมในการใช้และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของพวกเขาเอง  รวมถึงการนำวัฒนธรรมไปผูกโยงกับมาตรา 112 ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่งในการตีความ  การให้อำนาจบุคคลหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาตัดสินคุณค่าทางวัฒนธรรม  และปัญหาหลักเกณฑ์การคัดเลือกในการขึ้นทะเบียนในการวัดความหมายและคุณค่าของวัฒนธรรม ฯลฯ ผู้เขียนมีโอกาสช่วยงานโครงการโรงเรียนภาคสนาม  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ที่นำทีมโดยดร.อเล็กซานดรา เดเนส(Alexandra Denes)  โครงการนี้มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมอบรมทำความรู้จัก เรียนรู้  วิพากษ์ ต่ออนุสัญญามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก รวมถึงการฝึกลงภาคสนามจริงๆ เพื่อจะได้เข้าใจกระบวนการปกป้องและรักษาและมรกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่เน้นเคารพบทบาทและสร้างการมีส่วนร่วมเจ้าของวัฒนธรรม ด้วยรูปแบบและวิธีการทางมานุษยวิทยา แม้โครงการนี้จะยุติไปแล้ว ผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้จากบทเรียนออนไลน์ และarchivesต่างๆ ของโครงการได้ที่ http://www.sac.or.th/databases/ichlearningresources/index.php/home ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามีประโยชน์ทั้งในแง่ด้านการศึกษาทำความเข้าใจ และการนำไปประยุกต์ใช้ ทั้งนี้ผู้เขียน เคยเรียบเรียงช้อเขียนหนึ่งเกี่ยวกับโครงการโรงเรียนภาคสนาม  จึงขอนำส่วนหนึ่งของข้อเขียนดังกล่าวกลับมาเผยแพร่ใหม่  เพื่อให้เห็นตัวอย่างหรือแบบฝึกหัดการเรียนรู้ขั้นตอนบางขั้นของการปกป้องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยใช้วิธีทางมานุษยวิทยา  ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคนนอก(เจ้าหน้าที่รัฐ, ภัณฑารักษ์, นักวิชาการ, องค์การพัฒนาเอกชน) กับคนใน คือเจ้าของวัฒนธรรม  บนพื้นฐานการ “เคารพ” ในสิทธิเจ้าของวัฒนธรรม โรงเรียนภาคสนามที่เมืองลำพูน[1] “ตอนนั้นยายเป็นละอ่อน อายุ 11 ขวบ... ครูบามาถึงทีแรกพักอยู่ได้ไม่กี่วันก็เริ่มสร้างวัด แปงกำแพง ยายยังช่วยหาบน้ำไปตานกลุ่มที่มากับครูบา” เรื่องราวของครูบาเจ้าศรีวิชัยสมัยที่มาสร้างวิหารและบูรณะวัดจามเทวี เมื่อเจ็ดสิบกว่าปีก่อน  ยังแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำของยายน้อย  วิโรรส แม่เฒ่าอายุ 86 ปี แห่งชุมชนวัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน ความเชื่อ ความศรัทธา ที่เชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์บอกเล่าของคนในชุมชนวัดจามเทวีที่มีต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นหนึ่งในมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ของชุมชนจามเทวี ที่กำลังถูกบันทึกและเก็บข้อมูลผ่านกล้องวิดีโอของคณะผู้ปฏิบัติงานด้านวัฒนธรรมจากกว่า 10 ประเทศในอาเซียน รวมทั้งภูฎานและจีนที่เข้ามาอบรมเชิงปฏิบัติการ “โรงเรียนภาคสนาม: พิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage and Museums Field School)  ที่จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ระหว่างวันที่ 8-20 สิงหาคม 2554 ณ จังหวัดลำพูน โครงการโรงเรียนภาคสนาม ยึดเอาพื้นที่เมืองเล็กๆ ที่อุดมไปด้วยประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า ผู้คนหลากชาติพันธุ์ อย่างเมืองลำพูน เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับการอบรม และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ระหว่างผู้ปฏิบัติงานวัฒนธรรม ภัณฑารักษ์ นักวิชาการ และคนในชุมชนเมืองลำพูน คำว่ามรดกโลกอาจจะฮิตติดลมบนไปแล้วในประเทศไทย แต่ “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage) หรือICH อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหู  โรงเรียนภาคสนามเป็นเวทีหนึ่งที่มาช่วยไขข้อข้องใจให้ทราบว่า ที่จริงแล้วแนวคิดเรื่องการปกป้องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มีที่มาที่ไปจากองค์กรยูเนสโกเช่นเดียวกับมรดกโลก  โดยในปี ค.ศ. 2003 ยูเนสโกได้เสนออนุสัญญาว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้  เพราะเห็นว่าการที่จะรักษามรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติไว้ได้ไม่สามารถทำได้แค่การอนุรักษ์สิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม หรือสถานที่ หากต้องรวมถึงการปกป้องชีวิตวัฒนธรรม ภูมิปัญญา องค์ความรู้ต่างๆ ที่อยู่ในตัวผู้คน อาทิ ประวัติศาสตร์คำบอกเล่า  บทกวี นิทาน วรรณกรรม การแสดง  การเล่นดนตรี การร้องเพลง การเต้นรำ การเชิดหุ่น การละคร พิธีกรรม งานเฉลิมฉลอง งานช่าง งานฝีมือ ระบบความรู้พื้นบ้านเกี่ยวกับยารักษาโรค ความรู้ด้านดาราศาสตร์ ฯลฯ ที่รวมแล้วเรียกว่า “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้”  ซึ่งเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับมรดกวัฒนธรรมที่จับต้อง   จนถึงตอนนี้มี 136 ประเทศ ที่เป็นภาคีในอนุสัญญานี้ ส่วนประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี โรงเรียนภาคสนามหรือเรียกสั้นๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า Field School เป็นการอบรมที่ผสมผสานระหว่างการให้ความรู้ด้านแนวคิดทฤษฎีและเครื่องมือด้านมานุษยวิทยา แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านวัฒนธรรมและภัณฑารักษ์ เพื่อทำความรู้จัก เรียนรู้ วิพากษ์ โครงสร้างและกระบวนการปกป้องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Safeguarding  Intangible Cultural Heritage)  พร้อมไปกับการลงมือฝึกการทำงานในสถานการณ์จริงในชุมชน เพื่อฝึกฝนการประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีจากในห้องเรียน ภายใต้การแนะนำของนักวิชาการจากนานาประเทศที่มีประสบการณ์ด้านงานพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม อาทิ  อาจารย์ปีเตอร์ เดวิส (Peter Davis) จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแนวคิด New Museology และ Ecomuseum   ดร.เคท เฮนเนสซี (Kate Hennessy)จากมหาวิทยาลัยไซมอนเฟรเซอร์ ประเทศแคนาดา อาจารย์ที่มีประสบการณ์การใช้สื่อสมัย(New Media) กับงานวัฒนธรรม ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดร.ทิม เคอทิส (Tim Curtis) หัวหน้าหน่วยวัฒนธรรม ของสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ(ณ ขณะนั้น) เป็นต้น ดร.อเล็กซานดรา เดเนส  หัวหน้าโครงการโรงเรียนภาคสนาม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากเรียนภาคทฤษฎีแล้ว นักเรียนจะถูกแบ่งเป็น 4 ทีม เพื่อลงทำงานเก็บข้อมูลภาคสนามใน 4 ชุมชน ปี ค.ศ.2011 นี้จะต่างกับการอบรมปีที่ผ่านมา  โดยจะใช้วิดีโอเป็นเครื่องมือในการวิจัยและเก็บข้อมูล (research and documentation) แน่นอนว่าทุกๆ คนจะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันถึงข้อดีและข้อจำกัดต่างๆ ของการใช้สื่อสมัยใหม่อย่างวิดีโอในการบันทึกและเก็บข้อมูลด้านมรดกวัฒนธรรม สุดท้ายแต่ละทีมต้องตัดต่อสารคดีสั้น ที่ว่าด้วยเรื่องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของแต่ละชุมชน ความยาว 5 นาที นำเสนอต่อชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม ทั้งนี้ในแต่ขั้นตอนการทำงาน  ตัวแทนของชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การบอกเล่าถึงมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่างๆ ที่มีในชุมชน, การประชุมร่วมกันเลือกมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ 1 อย่างเพื่อจะทำหนังสั้น, การร่วมกำหนดเนื้อหา การเล่าเรื่อง และบุคคลให้สัมภาษณ์ จนถึงขั้นตอนการตัดต่อ ข้อจำกัดหรือข้อห้ามต่างๆ ที่ไม่ควรนำเสนอ เป็นต้น  วิสวานี เมลิสสา นักการศึกษาของพิพิธภัณฑ์  Asian Civilization Museum ประเทศสิงคโปร์ นักเรียนหน้าใหม่หากแต่มากประสบการณ์ด้านการคิดโปรแกรมการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในพิพิธภัณฑ์ เธอตื่นเต้นมากที่จะได้เข้ามาเรียนรู้ในครั้งนี้ “ฉันกำลังจะจัดเวิร์คชอปให้ความรู้กับเด็กๆ เรื่องงิ้ว ที่พิพิธภัณฑ์ของฉัน มาอบรมครั้งนี้ ฉันหวังจะได้เรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับชุมชนโดยใช้วิธีทางมานุษยวิทยา โดยเฉพาะการใช้สื่ออย่างกล้องวิดีโอในการบันทึกข้อมูล มีอะไรบ้างที่เราต้องตระหนัก และเรียนรู้ว่าอะไรควรไม่ควร   ฉันว่ามันสำคัญมากที่เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์หรือช่างกล้องวิดีโอ ที่ไปเก็บข้อมูลและบันทึกภาพงานประเพณี พิธีกรรมในชุมชน ควรจะต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ก่อนลงภาคสนาม” ทำความรู้จักมรดกวัฒนธรรมของชุมชน หากจะบอกว่าโรงเรียนภาคสนามมีห้องเรียนที่กว้างกว่าโรงเรียนใดในโลกนี้ก็คงไม่ผิด ห้องเรียนสำคัญของนักเรียนกว่า 40 ชีวิต จากกว่า 10 ประเทศ  คือ ชุมชนเก่าแก่ 4 แห่งในจังหวัดลำพูน ได้แก่ ชุมชนวัดจามเทวี ชุมชนกลางเมืองลำพูนที่ผู้คนยังคงสืบทอดความเชื่อและความศรัทธาในครูบาเจ้าศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา ชุมชนเวียงยองวัดต้นแก้ว ริมฝั่งแม่น้ำกวง ที่มีชื่อเสียงด้านการทอผ้าแบบยองและผ้ายกดอกเมืองลำพูน  ชุมชนบ้านหลุก หมู่บ้านคนไทยเชื้อสายยองที่ใช้พิธีสืบชะตา เป็นกิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาของตนเอง  และชุมชนประตูป่า ชุมชนคนไทยเชื้อสายยองที่พยายามรักษาและรื้อฟื้นอัตลักษณ์ความเป็นยองผ่านภาษาและประเพณีทางศาสนา  “แผนที่เดินดิน” เป็นเครื่องมือแรกๆ ที่นักเรียนแต่ละกลุ่มถูกคุณครูสอนและสั่งให้ทำเป็นการบ้าน ท่ามกลางอากาศร้อนระอุกลางเดือนสิงหาคม ในบ่ายแก่ๆ วันหนึ่ง กลุ่มนักเรียนทั้งไทยและเทศ 5-6 คน เดินสำรวจชุมชนวัดจามเทวีร่วมกับตัวแทนชุมชน ที่พาเดินเข้าวัด ผ่านโรงเรียน เข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้ และชี้ชวนให้ดูสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชุมชน เช่น กู่ครูบาที่เก็บอัฐิของครูบาเจ้าศรีวิชัยในวัดจามเทวี  บ่อน้ำที่ชาวบ้านเคยใช้ตักน้ำเพื่อไปถวายครูบาศรีวิชัย  บ้านยายน้อยผู้ที่เคยมีประสบการณ์ร่วมในยุคสมัยเดียวกับครูบาฯ บ้านยายจันทร์ภรรยาหมอเมืองที่เคยรักษาครูบาศรีวิชัย ฯลฯ แผนที่ที่วาดด้วยมือของนักเรียนโรงเรียนภาคสนาม แม้สัดส่วนจะไม่ถูกต้องเป๊ะ แต่ก็ทำให้นักเรียนกลุ่มชุมชนวัดจามเทวี เริ่มเข้าใจลักษณะกายภาพและบริบทของสังคมชุมชนจามเทวีมากขึ้น ขณะเดียวกันความทรงจำจากผู้เฒ่าผู้แก่เกี่ยวกับพื้นที่ในอดีตของชุมชน เป็นอีกปริมณฑลที่ช่วยทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชนทั้งเชิงกายภาพและวิถีวัฒนธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น  นักเรียนหน้าใหม่เริ่มมองเห็นความเชื่อมโยงของมิติอดีตและปัจจุบันของชุมชนมากขึ้น “แต่ก่อนแถวนี้มีบ้านไม่กี่หลัง  เวลาไปทำบุญไปบวชนาคก็ไปที่วัดมหาวัน เพราะตอนนั้นวัดจามเทวียังร้าง ไม่มีโบสถ์ ไม่มีพระ”  ยายน้อยเล่าถึงความเป็นอยู่ในอดีตของชุมชน “อาตมามาจำพรรษาอยู่วัดนี้เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ตอนนั้นชุมชนไม่แออัดเท่านี้ ด้านใต้มีทุ่งนา มีบ้านไม่กี่หลัง ในวัดก็ยังไม่ค่อยมีสิ่งปลูกสร้างมาก   เมื่อก่อนแถวนี้เรียกบ้านสันมหาพน ที่แปลว่าเนินป่าใหญ่ วัดจามเทวีมีมาก่อนวัดพระธาตุหริภุญไชย แต่ว่าร้างไป ชาวบ้านเรียกว่าวัดกู่กุด เพราะชาวบ้านเห็นว่าเจดีย์ยอดด้วน” พระครูนิวิฐธรรมโชติ  ให้ความรู้แก่บรรดานักเรียนหน้าใหม่ นอกจากความกว้างของห้องเรียนจะมีทั้งมิติพื้นที่และเวลาแล้ว  ความกว้างอีกแบบหนึ่งของห้องเรียนที่ไม่ธรรมดานี้คือ “ใจ” ของคนที่ทำงานร่วมกับชุมชนที่ต้องเปิดกว้าง อาจารย์ปีเตอร์ เดวิส จากประเทศอังกฤษ มอบคาถาสำคัญสำหรับการทำงานร่วมกับคนชุมชนและเจ้าของวัฒนธรรมตั้งแต่แรกเริ่มว่า ว่า “respect  respect  respect ” การเคารพเจ้าของวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญ บันทึกและเรียนรู้การสืบทอดมรดกวัฒนธรรมของชุมชน หลังจากได้เรียนรู้แนวคิดทฤษฎีและการลงภาคสนามสั้นๆ แล้ว นักเรียนกลุ่มวัดจามเทวีเริ่มวางพล็อตเรื่อง เขียนสตอรีบอร์ด(story board)เพื่อจะใช้เป็นแนวทางสำหรับการใช้วิดีโอบันทึกเก็บเกี่ยวข้อมูลชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนที่ผูกโยงอย่างแนบแน่นกับความศรัทธาต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ผลงานวิจัยเล็กๆ ของนักเรียนโรงเรียนภาคสนามกลุ่มชุมชนจามเทวี เผยให้เห็นว่า การสืบทอดและส่งผ่านมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ทำได้หลายทางและหลายรูปแบบ เช่น การเรียนรู้จากชั้นเรียน ที่โรงเรียนวัดจามเทวีบรรจุเรื่องราวของครูบาเจ้าศรีวิชัยลงในหลักสูตรท้องถิ่น  คุณครูกฤษณา ครูสอนวิชาสังคมศึกษาของโรงเรียนวัดจามเทวีเล่าว่า นอกจากจะสอนเด็กๆ เกี่ยวกับประวัติครูบาฯแล้ว ครูยังนำคติและหลักคำสอนจากครูบาฯ เช่น การลงมือทำงานมากกว่าพูด การอยู่อย่างสมถะ  มาบูรณาการกับหลายๆ วิชา เช่น หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  ลุงคำอ้าย ชัยสิทธิ์ คนเก่าแก่ของชุมชนที่อาศัยอยู่ข้างวัดจามเทวี  ที่ในบ้านเต็มไปด้วยภาพถ่ายและหิ้งบูชาครูบาศรีวิชัย ไม่ต้องบอกก็ทราบว่าท่านเป็นคนที่มีความเชื่อและศรัทธาในครูบา และลุงก็เป็นคนหนึ่งที่บอกเล่าอย่างภาคภูมิว่าท่านเคารพและศรัทธาในวัตรปฎิบัติของครูบา จนนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสั่งสอนลูกสอนหลานให้อยู่ในศีลในธรรม  ถือว่าเป็นอีกหนึ่งในวิธีการของการส่งผ่านและสืบทอดมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เกี่ยวกับความศรัทธาต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย “ครูบาท่านเกิดที่บ้านปาง อำเภอลี้ ครับ ในวันเกิดของท่านเป็นวันที่มีฟ้าร้อง พ่อแม่ของท่านก็เลยตั้งชื่อว่า “อ้ายฟ้าฮ้อง...เกศาครูบานี้ ตอนเด็กๆ ตาให้ผมมาครับ ผมคิดว่า มันช่วยปกป้องผมได้ครับ...ถ้าต่อไปนี้ผมมีลูกผมก็อยากเล่าให้ลูกฟัง เพราะว่ามันก็เหมือนเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของที่นี่ไปแล้ว ผมก็อยากจะเล่าฟัง”  คำบอกเล่าของ ด.ช.ภัทรพงษ์ หลานชายลุงคำอ้าย เกี่ยวกับความศรัทธาต่อครูบา แสดงถึงการส่งผ่านและสืบทอดมรดกในระดับปัจเจกของคนในชุมชน ประตูและหน้าต่างวิหารวัดจามเทวี ถูกปิดชั่วคราวราวครึ่งชั่วโมง เพื่อใช้เป็นสถานที่ฉายสารคดีสั้นเรื่อง “Remembering Khruba Srivichai”ผลงานของทีมนักเรียนโรงเรียนภาคสนามที่ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจากชุมชนจามเทวี  และด้วยความเมตตาของท่านพระครูนิวิฐธรรมโชติ ท่านเจ้าอาวาสวัดจามเทวี  พ่ออุ้ยแม่อุ้ย นักเรียน และคนในชุมชนที่มาร่วมวิจารณ์เนื้อหาสารคดีชุดนี้  ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า “ทำไมหนังสั้นจัง กำลังดูสนุกอยู่ทีเดียว จบซะแล้ว...น่าจะเล่าผลงานครูบาให้มากกว่านี้หน่อย... ชอบฉากนักเรียนที่แย่งกันบอกว่ารู้จักครูบา” สารคดีสั้นเรื่องนี้แม้ไม่ได้ยิ่งใหญ่ เป็นเพียงงานทดลองหรือฝึกปฏิบัติทำวิจัยและเก็บข้อมูลชุมชนของนักเรียนโรงเรียนภาคสนาม แต่ก็เป็นเครื่องมือเล็กๆ หนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญมรดกวัฒนธรรมที่ตนเองภาคภูมิใจ และนำไปสู่การร่วมมือกันปกป้องมรดกความทรงจำดังกล่าวต่อไป ปีนี้โรงเรียนภาคสนามปิดภาคเรียนไปแล้ว แต่ภาพวิถีการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของคนในชุมชนวัดจามเทวี ถูกบันทึกไว้แล้วในหนังสารคดี และประทับอยู่ในใจของคนในชุมชนและคนนอกชุมชน จาง เซี่ยวหยาง  นักเรียนจากประเทศจีน  ที่มาคลุกคลีและทำงานอยู่ในชุมชนจามเทวี ทิ้งท้ายความรู้สึกของเธอที่มีต่อมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชุมชนจามเทวี “ตอนแรกที่ฉันมาที่นี่ ฉันเห็นรูปปั้นและกู่ครูบาและรู้สึกว่าท่านอยู่ห่างไกลจากตัวเราเหลือเกิน แต่หลังจากที่ฉันมาทำวิจัยและเก็บข้อมูลกับคนในชุมชน ฉันรู้สึกว่าฉันได้เข้าใกล้และเข้าใจความศรัทธาของคนในชุมชนที่มีต่อครูบามากขึ้นเรื่อยๆ รูปปั้นครูบาไม่ใช่แค่เพื่อให้คนมาเคารพกราบไหว้ แต่ความศรัทธาที่อยู่ในใจผู้คน ทำให้ผู้คนปฏิบัติตนเป็นคนดี ครูบาเป็นแบบอย่างให้คนทำสิ่งดีๆ”   หมายเหตุ: ชมสารคดีสั้นจากโรงเรียนภาคสนาม ทั้ง 4 เรื่อง  Remembering Khruba Srivichai, Weaving Together, Because We Are Yong, Cherishing Our Tradition: The Seup Chata Ceremonyin the Banluk Community ได้ในเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร http://www.sac.or.th/databases/ichlearningresources/index.php/video     [1] เนื้อหาบางส่วนดัดแปลงจาก ปณิตา สระวาสี.“พิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้.” ใน สกุลไทยรายสัปดาห์. ฉบับที่ 2974(18 ต.ค. 2554), 32-35.  

นโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในไต้หวัน

30 ตุลาคม 2557

 จุดเริ่มต้นของงานพิพิธภัณฑ์ในไต้หวันมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เกาะไต้หวันตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น(ค.ศ.1895-1945) 50 ปี ของการอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น มีพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้น 18 แห่ง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ หนึ่ง อาคารจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สอง เป็นศูนย์กลางการศึกษาหรือศูนย์สุขภาพ(health reference centre) และอื่น ๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์ตามส่วนภูมิภาค พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ หอดูดาว รัฐบาลภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่นพยายามส่งผ่านความคิดไปสู่คนไต้หวันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และกายภาพของชีวิตความเป็นอยู่ วิธีหนึ่งก็คือผ่านพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ อาทิ พิพิธภัณฑ์จวนข้าหลวงแห่งไต้หวัน(Taiwan Governor’s Mansion Museum) (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน) สังกัดสำนักงานอาณานิคม กระทรวงมหาดไทย เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการของจักรวรรดิญี่ปุ่นในการตักตวงทรัพยากรทางธรรมชาติของอาณานิคม จากมุมมองด้านนโยบายวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเครื่องมือนำเสนอสังคมและประเพณีของไต้หวัน ต่อนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น และเป็นการเผยแพร่ความคิดชาตินิยมจักรวรรดิญี่ปุ่นต่อประชาชนของ "ดินแดนจักรวรรดินิยมใหม่" กล่าวได้ว่าที่นี่เป็นแบบฉบับของ "พิพิธภัณฑ์อาณานิคม" ในไต้หวัน ปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไต้หวันกลับสู่การปกครองภายใต้สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1949 เมื่อรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองและลี้ภัยมายังไต้หวัน พรรคก๊กมินตั๋งยังคงวุ่นวายในการจัดการเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง จึงไม่มีนโยบายวัฒนธรรมอะไรที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดีมีพิพิธภัณฑ์จำนวน 10 แห่งได้รับการจัดตั้งขึ้นภายในช่วงเวลานี้ มี 3 พิพิธภัณฑ์อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน และศูนย์การศึกษาศิลปะแห่งชาติไต้หวัน แม้พิพิธภัณฑ์เหล่านี้มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี เข้าถึงง่าย และมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้แก่ประชาชนตั้งแต่ตอนนั้น และสามารถพูดได้ว่าเป็นตัวแทนผลงานของงานพิพิธภัณฑ์ไต้หวันในช่วงเวลานั้น ตั้งแต่ปี 1965 - 1979 ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออก งานวัฒนธรรมของไต้หวันยังคงไม่มีอะไรโดดเด่นมากนัก สาระสำคัญหลักในนโยบายวัฒนธรรมของไต้วันในช่วงเวลานั้นเรียกว่า "ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการวัฒนธรรมจีน" สนับสนุนโดยรัฐบาลท่านเจียงไคเช็ค ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) และรั้งตำแหน่งหัวหน้า "คณะกรรมการพื้นฟูศิลปวิทยาการวัฒนธรรมจีน" ด้วย และในเวลาเดียวกันนั้นคือในปี 1966-76 สาธารณรัฐประชาชนจีนเกิด "การปฏิวัติวัฒนธรรม" นำโดยเหมาเจ๋อตุง รัฐบาลไต้หวันจึงพยายามอ้างว่าตนเป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมจีนอย่างแท้จริง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระราชวังหลวง สัญลักษณ์ของมรดกวัฒนธรรมจีน ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1965 เพื่อเก็บสมบัติที่นำมาจากพระราชวังหลวงของจีนระหว่างการลี้ภัยทางการเมืองออกมา ที่นี่มีวัตถุกว่า 600,000 ชิ้น และได้รับการจัดลำดับให้ติด 1 ใน 5 ของพิพิธภัณฑ์สำคัญของโลก ถ้าไม่นับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระราชวังหลวงแล้ว ขนาดของพิพิธภัณฑ์ทั้ง 10 แห่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรเลย และจำนวนของพิพิธภัณฑ์บนเกาะรวมแล้วยังน้อยกว่า 50 แห่ง ในปี 1987 รัฐบาลก๊กมินตั๋งยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้มากว่า 38 ปี ด้วยการผ่อนคลายของข้อบังคับทางการเมืองและเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทศวรรษที่ 1980 จึงเป็นจุดผกผันสำคัญของงานพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน ภายใต้สังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ บรรดาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ, พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์การทะเลแห่งชาติ, และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลแห่งชาติ) ได้รับการพัฒนาภายใต้นโยบายการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่กำลังเฟื่องฟู ท่ามกลางพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่พรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และเนื้อหาการจัดแสดง จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญของช่วงเวลานี้ และในช่วงเวลานี้เอง องค์กรส่งเสริมกิจกรรมด้านวัฒนธรรมในไต้หวันได้รับการเลื่อนชั้นไปสู่ระดับชาติ โดยแยกออกจากกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 1981 คณะกรรมาธิการกิจกรรมวัฒนธรรม((Council for Cultural Affairs-CCA) จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในฐานะหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลกลาง(เทียบเท่ากระทรวงวัฒนธรรม-ผู้แปล) ภายใต้การทำงานของหน่วยงานนี้ ก่อให้เกิดการสร้างศูนย์วัฒนธรรมในหลายอำเภอ และหลายเมือง สะท้อนความสนใจของรัฐบาลกลางที่มีต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์เซรามิกอิงเก๋อ (Yingge) แห่งเมืองไทเป เป็นพิพิธภัณฑ์นำร่องที่มีห้องแสดงหัตถกรรมศิลปะท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 1981-1990 มีพิพิธภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นกว่า 50 แห่ง และจำนวนพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดบนเกาะเพิ่มขึ้นราว 90 แห่ง ตั้งแต่ปี 1990-2000 จำนวนพิพิธภัณฑ์บนเกาะไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 90 แห่ง เป็น 400 แห่ง อาจจะไม่ถูกนักที่จะสรุปว่า การเติบโตที่สูงมากขนาดนี้เป็นสิ่งที่ผิดปกติ แต่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเกิดปรากฏการณ์ใหม่คือ การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ตามภูมิภาค อันเป็นผลมาจากนโยบายต่าง ๆ ของคณะกรรมาธิการกิจการวัฒนธรรม (Council for Cultural Affairs) อาทิ "การก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับชุมชน" (Communities Infrastructure Establishment) "การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่น" (Construction of Local Cultural Museums) นโยบายเปล่านี้ขยายจากเมืองไปสู่ชนบทและเขตชุมชนเล็ก ๆ เป็นความพยายามนำเสนอสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเมือง, การนำเสนอความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์, การจัดการทรัพย์สินทางวัฒนธรรม, และการฟื้นตัวใหม่ของอุตสาหกรรมท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นและเน้นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นหรืออุตสาหกรรมท้องถิ่น ค่อย ๆ กลายเป็นกระแสหลัก เป็นการประกาศถึงการขึ้นมาของ "ยุคแห่งภูมิภาค" ในการพัฒนาของพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์เอกชนยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พิพิธภัณฑ์หลายแห่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคเอกชน เช่น พิพิธภัณฑ์ชวงเย (Shung Ye) ของชาวฟอร์มูซาน(Formusan) พิพิธภัณฑ์ไชเมื่อย (Chi Mei) พิพิธภัณฑ์ฮอนชี (Hone Shee) และShu Huo Memorial Paper แสดงถึงความก้าวหน้าและศักยภาพอันมหาศาลของพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินงานโดยเอกชน ทั้งในเรื่องของขนาดองค์กร เทคนิคการบริหารจัดการ ในปลายทศวรรษ 1990 การแปลงพิพิธภัณฑ์ให้ไปอยู่ภายใต้การบริหารของเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน แม้ว่าการเติบโตของพิพิธภัณฑ์เอกชนจะโดดเด่นอย่างมากในไม่กี่ปีมานี้ แต่พิพิธภัณฑ์ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลกลางและท้องถิ่นยังคงมีจำนวนถึง 2 ใน 3 ของพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดในไต้หวัน เนื่องจากแรงกดดันในเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งบุคคลและการดำเนินงาน ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไต้หวันยังคงอยู่ในภาพที่ยังไม่ค่อยดีนักในช่วงเวลาดังกล่าว งานบริหารงานทั่วไปโดยจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาบริหาร (contracting-out) จึงได้รับความนิยมในวงการพิพิธภัณฑ์ของไต้หวัน เริ่มด้วย Taipei’s 228 Memorial Hall จากนั้นพิพิธภัณฑ์การขนส่งสำหรับเด็กแห่งไทเป และพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป ก็ดำเนินรอยตามอย่างรวดเร็ว ส่วนพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เช่นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทางทะเล และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเป็นที่แรกที่ประสบความสำเร็จในการนำวิธีการ จ้างบริษัทภายนอกเข้ามาบริหารในส่วนของการบริการทั่วไปแก่ผู้เข้าชมและการนำ ชม ในขณะที่กลุ่มพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติทั้งหมดกำลังเตรียมที่จะนำวิธี การนี้มาใช้ การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อนในระบบการบริหารจัดการของ พิพิธภัณฑ์ในไต้หวัน ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 100 ปี เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์หลายแห่งรู้สึกถึงวิกฤตที่กำลังมาเยือน เหมือนกับคำสุภาษิตจีนที่ว่า "เมื่อลมพัดผ่านหอสูงไป ทำให้เกิดพายุใหญ่ในหุบเขา" กล่าวโดยสรุป นโยบายวัฒนธรรมในไต้หวันพัฒนาอยู่บนพื้นฐานของเงื่อนไขที่ต่างกันของสถานการณ์ทางการเมืองและสังคม ได้แก่ ช่วงตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น, ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยร่วมสมัยและกลยุธทธด้านการตลาดนำ พิพิธภัณฑ์สะท้อนนโยบายวัฒนธรรมในช่วงเวลาต่าง ๆ เริ่มจากยุคอาณานิคมของญี่ปุ่น ตามด้วยการสืบทอดทางวัฒนธรรมจีนเป็นใหญ่ มาสู่การชูวัฒนธรรมท้องถิ่นไต้หวัน และเดินเข้าสู่สังคมบริโภคนิยม ดังนั้นแนวคิดหลักของพิพิธภัณฑ์กว่า 100 ปีที่ผ่านมา พัฒนาจากวัฒนธรรม "การถอดรื้อความเป็นญี่ปุ่น" (de-Japanizing) "การถอดรื้อความเป็นจีน" (de-Chinaizing) ไปสู่ "การทำให้เป็นไต้หวัน" (Taiwanizing) และ "ความคิดเรื่องการตลาดที่มุ่งการบริโภค" แนวทางพิพิธภัณฑ์วิทยายังคงพัฒนาจากสิ่งที่เรียกว่า พิพิธภัณฑ์วิทยาวิชาชีพ (expert museology) ที่เน้นในเรื่องการอนุรักษ์ ไปสู่ พิพิธภัณฑ์วิทยามหาชน(popular museology) ที่ให้ความสำคัญกับวิถีชาวบ้าน(folklore) นอกจากนี้ในเทคโนโลยีข่าวสารและรูปแบบของสื่อใหม่ ๆ ที่พลวัตสูงมากยังคงเข้าไปสนับสนุนการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ มีพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงมากมายเกิดขึ้นในเวบไซต์ เนื่องจากอินเตอร์เนตได้รับความนิยม พิพิธภัณฑ์ไต้หวันจึงกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงเพื่อการพัฒนาทีละน้อยไปสู่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน พิพิธภัณฑ์มหาชน และพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง แปลและเรียบเรียงจาก Yui-tan Chang. "Cultural Policies and Museum Development in Taiwan." Museum International. No. 232 (Vol. 58, No.4 2006): 64-68. หาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมต่อได้ใน http://www.ntm.gov.tw/ http://english.cca.gov.tw/mp.asp http://www.nmh.gov.tw/nmh_web/english_version/index.cfm   ประวัติผู้เขียน - อุยตานชาง (Yui-tan Chang) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ศึกษา เป็นอาจารย์และประธานสถาบันบัณฑิตวิทยาลัยสาขาพิพิธภัณฑ์วิทยา และผู้อำนวยการศูนย์การแลกเปลี่ยนศิลปะนานาชาติที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติไทหนาน ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากภาควิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษา มหาวิทยาลัย Leicester(สหราชอาณาจักร) ในปี 1993 ในระหว่างปี 1996-2001 เป็นผู้ช่วยภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งเมืองไทชุง เคยสอนที่สถาบันบัณฑิตวิทยาลัย สาขาพิพิธภัณฑ์วิทยา และยังมีส่วนร่วมวางแผนโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หนาน-ยวง (Nan-Young) ในเมืองอี้หลาน และพิพิธภัณฑ์แผ่นดินไหว 921 รวมถึงอนุสรณ์สถานในเมืองอู่ฟง  

การอนุรักษ์ฟื้นฟูโบราณสถานโดยใช้พิธีกรรม กรณีศึกษาวัดปงสนุก จ.ลำปาง

01 ตุลาคม 2557

ในอดีตวัดปงสนุกเป็นวัดที่ได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้าหลวงเมืองลำปาง แต่เมื่อนานวันความสำคัญของวัดในฐานะวัดเก่าแก่ของเมืองก็ลดลงจนแทบไม่มีใครรู้จักว่า วัดตั้งอยู่ส่วนของเมือง จนปี พ.ศ. 2547 ชาวบ้านต้องการจะบูรณะวิหารเก่าที่ตั้งอยู่บนเนินเขากลางวัด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน จากนั้นวัดปงสนุกก็เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป   เมื่อคุณยายป่วยไข้ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้รู้ที่เข้ามาช่วยทำการบูรณะวิหารเล่าให้ฟังว่า เดิมชาวบ้านอยากจะรื้อหลังคาเก่าของวิหารบนเนินเขา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดบน” ออก โดยไม่มีความรู้ว่า จะนำหลังคาออกอย่างไร ออกมาแล้วจะเอาไปไว้ไหน? แล้วหลังคาใหม่จะออกแบบอย่างไร? อาจารย์ในฐานะที่ปรึกษา จึงอธิบายให้เข้าใจว่า วิหารที่เห็นไม่ใช่เพียงตัวอาคารเท่านั้น แต่อาคารเหล่านี้ก็มีชีวิต มีวัฏจักร มีเกิด มีอยู่ และมีไม่สบาย ขณะนี้อาคารวิหารที่สร้างมานานก็เหมือนกับคุณยายที่กำลังจะไม่สบาย เรา (ชาวบ้าน) อยากจะรักษาให้คุณยายหาย แต่ถ้าไม่ศึกษาเรียนรู้ว่า คุณยายไม่สบายตรงไหน แล้วจะรักษาคุณยายอย่างไร เราอาจทำให้คุณยายบาดเจ็บมากกว่าเดิม การศึกษาอาการเจ็บป่วยของคุณยายจึงเป็นสิ่งจำเป็นสิ่งแรกที่ควรทำ ดังนั้นการสำรวจและศึกษาโครงสร้างอาคาร และรายละเอียดของวิหารจึงเป็นสิ่งที่ทำในลำดับต้นๆ   เปิดขุมทรัพย์คุณยาย เมื่อสำรวจโครงสร้างอาคาร และรายละเอียดของวิหาร ทำให้คณะทำงานซึ่งประกอบด้วยคนในชุมชน และคนนอกชุมชน ทั้งนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัยในหลากหลายสาขา พบว่าภายในอาคารวิหาร  มีข้าวของมีค่ามากมายซุกซ่อนอยู่ อาทิ พระแผงที่อยู่บริเวณคอสอง พระพุทธรูปไม้ ผ้าพระบฏ สัตภัณฑ์  การสำรวจครั้งนั้นนำไปสู่การทำทะเบียนวัตถุอย่างเป็นระบบ การทำความสะอาด และจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้หยิบยืมข้าวของเหล่านั้นไปใช้ได้ เพราะคณะทำงานเชื่อว่า การนำวัตถุสิ่งของไปใช้เท่ากับคืนชีวิตให้กับข้าวของ อีกทั้งยังสร้างการสืบทอดให้ทราบถึงบริบทการใช้ของวัตถุสิ่งของนั้นไปสู่คนรุ่นหลังด้วย การสำรวจข้าวของในวิหารทำให้เกิดโครงการวิจัยย่อยๆ ขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อพบข้าวของแล้ว ไม่รู้จัก ก็ต้องมีการศึกษาเพื่อให้คณะทำงานมีความรู้ที่จะดูแล บูรณะสิ่งของต่างๆ เหล่านั้น ดังนั้นวัตถุที่พบไม่เพียงแต่จะทำให้รู้ว่า วัดปงสนุกมีข้าวของมากมายขนาดไหน แต่ยังทำให้รู้ว่า วัดมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ข้าวของแต่ละชนิดคืออะไร ต้องการการดูแลรักษา บูรณะ หรืออนุรักษ์อย่างไร ทำให้คณะทำงานมีองค์ความรู้เกี่ยวกับวัตถุสิ่งของเป็นจำนวนมาก อาจกล่าวได้ว่า ข้าวของที่พบสร้างทั้งความรู้ ความชำนาญในการดูแลรักษาวัตถุให้กับคนทำงานด้วย   เทวดาคุ้มครองทุกสิ่ง      ก่อนทำงานทุกครั้ง คณะทำงานจะประกอบพิธีกรรมขอขมา บอกกล่าวเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองโบราณสถาน โบราณวัตถุที่อยู่ในวัดทุกครั้ง เพราะคนทำงานเชื่อว่า “ทุกอย่างที่อยู่ในวัด ท่านมีเทวดารักษา เราจะทำอะไร ต้องบอกกล่าว และต้องระวัง” เมื่อมีความเชื่อเช่นนี้ก่อนจะทำงาน ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจวิหาร สำรวจวัตถุ การเคลื่อนย้ายวัตถุ การทำความสะอาดวัตถุ หรือขัดล้างวิหาร ซ่อมแซมต่างๆ ต้องทำพิธีบอกกล่าว ขอขมาให้เทวดาที่ปกปักรักษาวัตถุนั้น หรือสถานที่นั้นได้รับรู้ ในทางกลับกันเมื่อทำการบูรณะหรือซ่อมแซมเสร็จ ก็จะทำพิธีรับขวัญ บอกกล่าวเทวดาที่คุ้มครองวัตถุ หรือสถานที่นั้นอีกครั้ง ทั้งนี้ในแง่จิตใจ สร้างความสบายใจให้กับชาวบ้านและคนทำงาน ขณะที่อีกด้าน พิธีกรรมก็สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วม พื้นที่ของการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ พื้นที่ของความภาคภูมิใจให้กับชาวชุมชนในโครงการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุของวัดด้วย คณะทำงานในโครงการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุของวัดปงสนุก ยังมีแนวคิดว่าเมื่อตนเองมีความรู้เรื่องการอนุรักษ์แล้ว ก็ควรถ่ายทอดความรู้นั้นไปสู่คนอื่น เพื่อให้ความรู้ต่างๆ ได้แตกยอดออกผล เพราะเมื่อคนอื่นรู้ สามารถนำไปใช้และทำได้ ก็เท่ากับการทำงานของคณะฯ ไม่สูญเปล่า ดังที่ รศ.ดร.วรลัญจก์ กล่าวทิ้งท้ายไว้น่าฟังว่า “...ขณะนี้วัดปงสนุกเหมือนพี่ที่พร้อมจะเอาความรู้ (ที่มี) ไปช่วยเหลือน้องๆ (วัดอื่นในลำปาง) เพื่อให้เราสามารถก้าวเดินไปได้พร้อมกัน....” หมายเหตุ: เรียบเรียงมาจากการเสวนาเรื่อง “กระบวนการทำงานอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุภายในวัดปงสนุกโดยใช้พิธีกรรมสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์และสร้างความเข้าใจกับชุมชน” โดยอาจารย์อนุกูล ศิริพันธ์ ตัวแทนจากชุมชนวัดปงสนุก และรศ.วรลัญจก์ บุณสุรัตน์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 ณ เวทีกลางกรุง งานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งที่ 3 ภูมิรู้ สู้วิกฤต  

"อ่าน" ภาพแทนกลุ่มชาติพันธุ์ ในพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ สปป.ลาว

18 กุมภาพันธ์ 2564

บทความนี้ศึกษาภาพแทนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกสร้างโดยพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในลาว 3 แห่ง คือ หอพิพิธภัณฑ์บรรดาเผ่าแขวงพงสาลี  หอพิพิธภัณฑ์ชนเผ่าเมืองสิง และศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา เมืองหลวงพระบาง ผลการศึกษาพบว่า การให้ความหมายและสร้างภาพแทนกลุ่มชาติพันธุ์ แตกต่างกันตามบริบท ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงอำนาจและทัศนะภัณฑารักษ์... ตีพิมพ์ใน "วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง"  ศูนย์วิจัยพหุลักษ์สังคมลุ่มน้ำโขง  ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2557 คลิกดาวโหลดบทความ PDF

เมื่องานละครก้าวสู่โลกพิพิธภัณฑ์

24 มิถุนายน 2557

การนำเอาวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของฉากละคร กลายเป็นวิถีทางหนึ่งที่สร้างชีวิตและคุณค่าของมรดก รวมทั้งเป็นการทลายพรมแดนระหว่างนาฏกรรม งานละคร อุปรากร งานศิลปะ วิทยาศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์วิทยา เรื่องราวของคณะละคร อแลง แชร์แมง ตลอดระยะเวลา 30ปีของการทำงานในโลกพิพิธภัณฑ์ สามารถให้แนวคิดใหม่ๆ ของการสร้างสรรค์สื่อกลางทางวัฒนธรรมในการเผยแพร่ความรู้ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการเข้าถึงกลุ่มผู้ชมใหม่ๆ ของพิพิธภัณฑสถาน         1.ภาพจากการแสดง ออสเตดราม (อแลง แฌร์แมง - นาตาลี บาร์บี - อานเดรียส์ จาคคิ) ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในปี 1972เมื่อข้าพเจ้าสร้างชุดการแสดงเรื่อง นาฎยในงานสวมหน้ากาก (Chore pour une Mascarade) โดยอาศัยงานดนตรีของ ฌอง-เรมี่ จูเลียง (Jean-Re Julien) สำหรับการแสดงหอศิลป์แห่งชาติ กรอง ปาเลส์ (les galleries nationales du grand palais) จากนั้น ข้าพเจ้าไม่เคยสงสัยอีกเลยว่า แต่นี้ไปงานสร้างสรรค์การแสดงจะปรากฏโฉม ในสถานที่อื่นนอกเหนือไปจากโรงละครทั่วไป2.ภาพจากการแสดง ผู้รู้กับการปฏิวัติ (อแลง แฌร์แมง ที่รายล้อมไปด้วย ขบวนสิ่งประดิษฐ์ ในการฉลอง 200 ปีการปฏิวัติฝรั่งเศส) ที่เมืองวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม ลาวิลเลท์ท ปารีส ข้าพเจ้ามีความพอใจยิ่งนักที่ได้มีโอกาสแสดง ในหอกระจกของพระเจ้านโปเลียนที่ 3แต่ข้าพเจ้ากลับหวังไกลไปกว่านั้น นั่นคือ การแสดงในระดับนานาชาติ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานละครและอุปรากร อย่างไรก็ดี การมองย้อนกลับอย่างวิพากษ์วิจารณ์ และเผยให้เห็นสิ่งไม่พึ่งประสงค์ที่เกิดขึ้น อาจทำให้เราต้องแปลกใจเพิ่มไปอีกก็ได้ การแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นในพิพิธภัณฑสถาน       การแสดงชุด รัตติกาลของยักษา (Minuit pour Geants) สร้างสรรค์โดยใช้ผลงานดนตรีของ โคลด บาลลิฟ (Claude Ballif) และผลงานประพันธ์ของ ทริสตอง ซารา (Tristan Tzara) ที่สรรค์สร้างไว้ ณ หอศิลปะและวัฒนธรรมของเครเตย (la maison des Arts et de la Culture de Creteil) และได้นำกลับมานำเสนออีกครั้งที่ศูนย์วัฒนธรรมปิแอร์ คาร์แดง (l’espace Pierre Cardin) ในปี 1977 อย่างไรก็ดี การแสดงดังกล่าวกลายเป็นที่รู้จักเมื่อมีชุดการแสดงที่จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ของเทศบาลเมืองปารีส (le Musee d’Art modern de la Ville de Paris) และที่พิพิธภัณฑ์แซงท์-ครัวซ์ ที่เมืองปัวติเยร์ (le Musee Sainte-Croix de Poitiers) การแสดงดังกล่าวเป็นการนำเสนอพร้อมผลงานศิลปะของเบอาทริส กาซาเดอส์ (Beatrice Casadeus) ที่สร้างสรรค์ประติมากรรมภายใต้แนวคิดการแสดงดังกล่าว       อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาดังกล่าว ข้าพเจ้ามีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง ที่จะฉีกกรอบการแสดงที่ปรากฏบนเวทีทั่วไป หากแต่ว่ายังไม่มีโครงการใดที่ดึงดูดใจเพียงพอ กลับมีเพียงคลื่นลูกเล็กที่เริ่มต้นขึ้น อย่างผลงานแสดงเรื่อง จันทร์หัวกลับ (la lune a l’envers) ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1978 สำหรับเทศกาลมาเรส์ (le festival du Marais) ที่คฤหาสน์โอมงท์ (l’hotel d’Aument) งานแสดงดังกล่าวย่อมเป็นเช่นประจักษ์พยานว่า อย่างน้อยงานละครเดินออกมาจากบริบทของโรงละคร แม้ว่าจะยังคงเป็นการแสดงในอาคารก็ตามที ความคิดในการก้าวออกจากโรงละครไม่ได้หยุด       เพียงเท่านี้ การแสดงกลางแจ้งในโบราณสถานได้เกิดขึ้น แม้ยังคงเป็นรูปแบบของการแสดงบนเวที หากว่าวิญญาณ บรรยากาศ ของงานละครย่อมแตกต่างกัน เวลาและสถานที่กลับช่างเป็นใจ คณะฯ สร้างผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในนิวยอร์ก งานแสดงมีขึ้น ณ หอสมุดอนุสรณ์โลว์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (le Low library memorial de Columbia University) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานแสดงที่พิพิธภัณฑ์ วิทนี (Whitney Museum) พื้นที่ในพิพิธภัณฑ์กลายเป็นเวทีที่เปิดโลกการสร้างสรรค์งานละครอย่างเป็นอิสระอย่างแท้จริง นี่เองเป็นที่มาของรูปแบบงานละครหนึ่งที่อวดโฉมในพิพิธภัณฑ์       ความคิดและความตั้งใจเหล่านี้กลายเป็นความจริงในที่สุด ในปี 1979การสร้างผลงานชุด ออสเตโอดราม (Osteodrame) เป็นงานละครที่ “เล่น” กับโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีในห้องแสดงบรรพชีวินวิทยา (la galerie de paleontoligie) พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา งานแสดงในครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานกับนักวิทยาศาสตร์ อย่าง ฟิลิปป์ ทาเกท์ (Philippe Taquet) และแฮร์แบรท์ โทมัส (Herbert Thomas) และด้วยการร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์ทั้งสอง ข้าพเจ้าต้องบอกเลยว่า รู้สึกสนุกมากเพียงใด และเราก็พูดภาษาเดียวกัน “วิวาห์” งานละครกับนิทรรศการ...       เมื่อ โมริส เฟลอเรท์ (Maurice Fleuret) มอบหมายให้ข้าพเจ้ารับผิดชอบงานปฐมทัศน์ห้องจัดแสดงใหม ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ของเทศบาลเมืองปารีส (le Musee d’Art moderne de la Ville de Paris) ในปี 1981 ข้าพเจ้าเกิดความคิดในการผสานการแสดงและนิทรรศการ ด้วยการประยุกต์ตัวบทภาษาเยอรมันในยุคกลางตอนต้น - มนตร์คาถาของเมร์ซบวร์ก (l’Incantation de Merseburg) โดยที่การนำเสนอไม่ใช่การแสดง (spectacle) หากเป็นการจัดแสดงนิทรรศการ (exposition) ผู้ชมจะได้เห็นภาพมีชีวิตที่เรียงเรื่อยไป และเดินชมเฉกเช่นการเข้าชมหอศิลป์ โดยที่บางครั้งเป็นการมองภาพผ่านหน้าต่าง รูร่อง เพื่อการเข้าไปสัมผัสฉากหลากหลาย การแสดงที่เชื่อมโยงเหมือนนิทรรศการเช่นนี้ทำลายเส้นแบ่งระหว่างฉากละครและห้องแสดงนิทรรศการ เรียกได้ว่าเป็นการปลดปล่อยพื้นที่พิพิธภัณฑสถานอย่างสมบูรณ์       รูปแบบความสัมพันธ์ของนิทรรศการและการแสดงข้างต้นนำไปสู่งานสร้างสรรค์ที่ต่อเนื่อง ในปี 1988 “บูฟฟงว่าด้วยสวน” (Buffon cote Jardin) ที่เป็นการนำงานประพันธ์ทางดนตรีของ อิชิโร โนดาอิรา มาใช้ (Ichiro Nodaira) ในวาระการครบรอบ 2 ศตวรรษในการเสียชีวิตของบูฟฟง งานแสดงดังกล่าวจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ เชอเนอเวียว์ เมอร์ก (Genevieve Meurgue) และ อีฟ เลสซูส (Yves Laissus) การแสดงใช้พื้นที่ส่วนในสุดของห้องจัดแสดง และกลายเป็นผลงานหลอมรวมละครและดนตรีที่น่าประทับใจ ในการสร้างคุณค่าให้กับการเรียนรู้เกี่ยวกับนักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญของฝรั่งเศสผู้นี้ รวมทั้งรูปแบบความคิดแนวหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 18 ตั้งแต่งานแสดงชุดดังกล่าว การสร้างสรรค์งานละครที่สัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย ณ เมืองวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมลาวิเลตต์ (la cite des Sciences et de l’Industrie de la Villette) งานแสดงจัดขึ้นในช่วงวันที่ 19 เมษายน 1989 ถึงวันที่ 7มกราคม 1990ในชุด “ผู้รู้และการปฏิวัติ” (les savants et la Revolutuion) ด้วยการใช้ดนตรีประพันธ์ของ อิสซาเบล แอลบูเกร์ (Isabelle Albouker) เพื่อเป็นการรำลึกถึงการครบรอบ 2 ศตวรรษการปฏิวัติฝรั่งเศส งานแสดงดังกล่าวเป็นโอกาสให้ผู้คนสร้างประสบการณ์แห่งความสุขที่สืบเนื่องจากงานสร้างสรรค์ “บุฟฟงข้างสวน” ที่ริเริ่มโดยพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เรียกได้ว่าเป็นการรวมงานละคร ดนตรี และการขับร้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานพิพิธภัณฑ์ แนวคิดของฉาก ประกอบด้วย 5 พื้นที่หลักคือ จากโรงละครเร่ (le theatre de treteaux) สู่โถง โซฟี เดอ กงดอร์เซท์ (le salon de Sophie du Condorcet) และจากโรงละครใหญ่ (le theatre de revue) ถึงชมรมวรรณศิลป์ (la societe philomatique) ท้ายที่สุด ประตูสู่ทะเลสาปอียิปต์ ฉากที่แตกต่างเหล่านี้เชื่อมโยงกับเพลงที่นิยมร้องกัน ทำให้นึกถึงสีสันของดนตรีและการเมืองในแต่ละช่วงสมัย เรียกได้ว่าเป็นการสร้างสีสันให้กับแต่ละจุดของนิทรรศการเป็นอย่างดี หากพูดถึงเรื่อง รากเหง้ามนุษย์ (les Origines de l’Homme) ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานจากงานดนตรีของ เฟเดริก ดูริเออร์ (Federic Durieux) ที่แสดง ณ พิพิธภัณฑ์พืช (le Musee en Herbe) ในห้อง แซงท์-ปิแอร์ (la halle Saint-Pierre) ที่ปารีส ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ถึง 31 ธันวาคม 1991การแสดงมีความเฉพาะตัว ด้วยงานสร้างสรรค์การแสดง 2 ชุด ภายใต้งานนิทรรศการเดียว การแสดงหนึ่งเป็นงานที่บรรจงสร้างโดย อิฟส์ โคเปนน์ (Yves Coppens) และอีกการแสดงหนึ่งเป็นงานแสดงแสงเสียงอย่างต่อเนื่อง นี่เองที่แสดงให้เห็นว่า การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์กลายเป็นฉากงานละคร และฉากงานละครกลายเป็นการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ซึ่งกัน เมื่องานสะสมกลายเป็นของตกแต่ง        งานแสดง “Les Arts et Metiers en Spectacle” ( les Arts et Metiers เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยเรื่องของสิ่งประดิษฐ์ - ผู้แปล) ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานจากดนตรีประพันธ์ของ เอริค ตองกี (Eric Tanguy) เปิดการแสดงระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม ถึง 29 พฤศจิกายน ที่พิพิธภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์ ในวาระการครบรอบ 2ศตวรรษ องค์กรสิ่งประดิษฐ์แห่งชาติ(CNAM - le Conservatoire national des Arts et Metiers ซึ่งตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1794 - ผู้แปล) ชุดการแสดงนำใช้งานสะสมเป็นสิ่งตกแต่ง เรื่องราวแบ่งเป็น 3 ระดับ จากชั้นล่างในส่วนที่เป็นโบสถ์เก่า ผู้ชมถูกกักเป็นตัวประกัน ไล่เรียงกันไปแต่ละกลุ่ม จากนั้น “ผู้คุม” จะนำผู้ชมขึ้นสู่พื้นที่ชั้นถัดๆ ไป เพื่อชมพิพิธภัณฑ์ด้วยการฉายไฟฉาย และเข้าสู่พื้นที่ลาวัวซิเยร์ (l’espace Lavoisier) อย่างไรก็ดี ในปี 1998 ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิปารีสบาส์ (le fondation Parisbas) และความร่วมมือของ โดมินิก เฟริโอท์ (Dominique Ferriot) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ชุดการแสดงนำมาจัดแสดงในห้องแสดงงานศิลปะในตลาด แซงท์-ออนอเร่ (le marche Saint-Hinor?) ด้วยชื่อชุดว่า “Les Arts et M?tiers en costumes” (พิพิธภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์ในร่างพัสตราภรณ์)3. ภาพจากการจัดแสดงในชุด “พิพิธภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์ในร่างพัสตรากรณ์” ที่หอศิลป์ ตลาดแซงท์-ออโนเร่ ตัวอย่างงานสร้างสรรค์อีกเรื่องคือ “รอบโลกด้วย 80 ภาษา” (la Tour du Monde en 80 langues) ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ด้วยงานดนตรีของ อาดริอานน์ โคลสทร์ (Adrienne Clostre) จัดแสดง ณ โรงละคร รองด์-บวงท์-เรอโนด์ (le theatre du Rond-Point-Renaud) ในระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน ถึง 23 ธันวาคม 1994 งานแสดงในครั้งนี้มาจากความร่วมมือของหอวัฒนธรรมโลก (la maison des Cultures du Monde) และเป็นการฉลองครบรอบ 200ปี สถาบันภาษาและอารยธรรมตะวันออกแห่งชาติ (l’institut national des Langues et Civilisations orientales) ข้าพเจ้าหันกลับมาแสดงในโรงละคร เนื่องจากเนื้อหาชุดการแสดงไม่สอดคล้องกับพื้นที่พิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้ การแสดงคงลักษณะที่เป็นการจัดแสดง ด้วยเหตุที่เนื้อหาอยู่บนการใช้ภาษาที่มีชีวิต คณะละครจึงเลือกที่จะกลับมา “เล่น” กับกิริยาและอาการ คือหันกลับมาในโลกงานละคร จากการจัดงานในครั้งนี้ คณะฯ พิมพ์หนังสือโดยสำนักพิมพ์เอซีอาเตก (Asiatheque) เพื่อเป็นประจักษ์พยานของกิจกรรม4.ภาพจากชุดแสดง “ชีวิตที่จัดการ” (ฟรองซัวส์ ปอล โดลิส์โซท์) ที่คฤหาสน์โรอาน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในการฉลองครบรอบ 250 ปีการตั้งโรงเรียนวิศกรรมโยธาแห่งชาติ งานสะสม สถาปัตยกรรม และการแสดง        ตัวอย่างงานที่น่าท้าทายอีกหนึ่งได้แก่ “ชีวิตที่จัดการ” (La vie amenage) ที่จะแสดง ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 25 เมษายน ถึง 31 กรกฎาคม 1997 สำหรับงานฉลองครบรอบ 250 ปี สถาบันวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ (l’ecole nationale des Ponts and Chausees) ผลงานของวิศวกรจากสถาบันจัดแสดงในคฤหาสน์โรอาน (l’hotel de Rohan) ซึ่งห้องต่างๆ ในอาคารแปลงโฉมเป็น “เขตแคว้น” ต่างๆ กัน ได้แก่ เขตแคว้นว่าอุทยานในศตวรรษที่18 เป็นที่ที่ผู้ชมจะก้าวไปบนแผนที่จากจินตนาการขนาดมหึมา เขตแคว้นเครื่องจักรกลของศตวรรษที่ 19 ที่เป็นการตกแต่งสิ่งต่างๆ ด้วยสีขาวและดำ เขตแคว้นผังและเขตแคว้นหน้าที่สำหรับศตวรรษที่ 20ด้วยใช้เทคนิคฮาโลแกรมในแต่ละห้อง ผู้แสดงที่มีการแต่งกายเฉพาะต้อนรับผู้ชม และอ่านบทความของนักเขียนตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็นนักปราชญ์ หรือนักวิทยาศาสตร์ในแต่ละสมัยที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันโถงใหญ่จัดแสดงประติมากรรมร่วมสมัยแนวนามธรรม หุ่นจำลองเครื่องกล และเครื่องจักรในงานโยธา งานสร้างสรรค์เชิงทดลองอื่นๆ        อย่างไรก็ดี แม้ศิลปะและวิทยาศาสตร์เป็นความชำนาญการ และเป็นความสนใจหลักของข้าพเจ้า ทั้งที่เป็นการแสดงในเวทีและในพิพิธภัณฑ์ แต่ประสบการณ์ที่น่าสนใจอื่นควรได้รับการบอกกล่าวเช่นกัน งานที่สร้างความสนใจอย่างมากต่อวงการคือ “อิฟิเชนีในกลุ่มดาวกระทิง” (Iphigenie en Tauride) ของกุลค์ (Gluck) ซึ่งข้าพเจ้ามีส่วนในการกำกับการสร้างฉากสมัยบารอค ในปี 1992 และกลับมาแสดงอีกครั้งในปี 1993 เป็นการแสดง ณ โรงอุปรากรของสวนโคเวนท์ (Covent Garden) ที่กรุงลอนดอน นับได้ว่าเป็นสถานที่ที่มีการตกแต่งและการประดับภาพเขียนที่ทำให้มุมต่างๆ มีความสวยงามแตกต่างกัน เทศกาลเอเธนส์นำการแสดงดังกล่าวกลับมาอีกครั้ง ณ โรงละครโอเดอง เดโรด์ อาทิคุส (theatre Odeon d’Herode Atticus) ซึ่งเป็นการแสดงบนเนินเขาในโรงละครโบราณ ที่เป็นทั้งโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ไปในตัว เรื่องราวที่สร้างความประหลาดใจอย่างมากคือ เรื่องเล่าที่เกี่ยวกับพระเจ้าทั่งที่ปรากฎในคัมภีร์และบันทึกงานดนตรี ผู้ชมได้ยลวิหารของเหล่าเทพนั้น ประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าปรากฏต่อหน้า ความจริงและความเท็จผสมปนเป ศิลปะการแสดงที่เกิดขึ้นชั่วขณะทำหน้าที่ บันทึกความทรงจำของตัวตนไว้ในความทรงจำของสถาปัตยกรรม       การจัดแสดงชุด “อุปรากรว่าด้วยพัสตราภรณ์” (Opera cote Costume) ณ โรงละครอุปรากรแห่งชาติในกรุงปารีส ระหว่างวันที่ 5 เมษายน 1995 ถึง 5มกราคม 1996 รูปแบบการจัดแสดงมีความคลุมเครือเฉกเช่นการแสดงที่ เอโรด์ อาทิคุส โรงละครเปรียบเช่นพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ ด้วยความร่วมมือจาก มาร์ติน กาฮาน (Martine Kahane) ข้าพเจ้ามีโอกาสจัดการแสดงที่ก้าวออกจากเวที ชุดแต่งกายกว่า 200 ชุดจัดแสดงในฐานะวัตถุพิพิธภัณฑ์ของโรงอุปรากร เครื่องแต่งกายที่เปรียบเช่นผลงานศิลปกรรมย่อมมีตัวตนอยู่ได้ และเปล่งพลังก็ด้วยการพินิจของผู้อื่น นิทรรศการเอื้อให้ความทรงจำฟื้นคืนจากความลบเลือน และปรากฏโฉมในพื้นที่อย่างสง่างามในพื้นที่สาธารณะ การแสดงในอาคารที่มีความงามที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ จึงส่งให้ภาพที่ปรากฏต่อสายตา เพื่อแสดง พินิจ และเพ้อฝัน       การแสดงในแนวทางเดียวกันเห็นได้จากนิทรรศการ แต่งองค์ทรงเครื่องเล่น แต่งองค์ทรงเครื่องฝัน (Costume a jouer, Costume a rever) ที่แสดง ณ วิลล่าเมดิซีส์ หรือ พิพิธภัณฑ์ แซงท์-มูร์ (la Villa de Medicis /musee de Saint-Maur) ระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม 1998 - 14มีนาคม 1999 เป็นการจัดแสดงเสื้อผ้าในฉากและบรรยากาศเช่นเวทีละคร อุปรากร หรือระบำปลายเท้า เมื่อหันมาพิจารณาที่วัตถุแสดง ต้องยอมรับว่าชุดแสดงเป็นผลิตผลที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ และสร้างความเป็นหนึ่ง ทำให้เราย้อนไปตั้งคำถามมากมาย ทำไมการแสดงเครื่องแต่งการจะต้องมีการสร้างฉาก ทำไมต้องประกอบการร่ายรำ ทำไมต้องมีการเดินแสดงแบบ ทำไมต้องสร้างความตรึงใจให้ปรากฏขึ้นด้วยแสงไปที่สาดส่อง       เพื่อให้งานแสดงชุดละครและโรงละคร/พิพิธภัณฑ์สอดประสานและกลมกลืน จนกระทั่งผู้ชมตกอยู่ในภวังค์ การวางแนวคิดจึงอยู่ที่การสร้างสรรค์ ของผู้ออกแบบในการวางกรอบ รูปแบบ และวิญญาณ สำหรับงานออกแบบที่เฉิดฉายเช่นงานการละคร รวมทั้งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงอิทธิพลซึ่งกันและกันของโลก 2 ใบ จากนิทรรศการนี้ งานเครื่องแต่งกายและฉากละครหลอมรวมกัน ด้วยการสร้างฉากและการจัดแสดง       ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างสุดท้ายของงานสร้างสรรค์ ชัยชนะของศีลธรรม (Le Triomphe de la Vertu) ซึ่งจัดแสดงในเดือนมิถุนายน 1999 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ยุคกลาง (le musee national du Moyen Age) หรือที่มักเรียกกันว่า คลูนี่ (Cluny) โดยเป็นการสร้างสรรค์จากงานประพันธ์ดนตรีของ อาดรีอานน์ โคลส์ทร์ (Adrienne Clostre) และการสนับสนุนจากบริษัทโทรคมนาคม ฟรองซ์ เทเลคอม (France Telecom) กองทุนงานสร้างสรรค์กวีศิลป์ และความร่วมมือ จากสมาคมเพื่อการส่งเสริมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ยุคกลาง (ARMMA) เนื่องจากเนื้อหาการแสดงเชื่อมโยงกับเจ้าของบทประพันธ์ หรือศาสนิกชน โรท์สวิธา (la nonne Hrotsvitha) ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคกลาง และเป็นการฉลองร้อยปีครั้งที่ 10 ของประพันธกร นอกจากนี้ เนื้อหายังเกี่ยวข้องกับดุลซิติอุส (Dulcitius) เจ้าหน้าที่บ้านเมืองสมัยโรมัน ผู้มีชีวิตในศตวรรษที่ 3หลังจากการวายชนม์ของพระคริสต์ ด้วยเหตุนี้ ทั้งพิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรมโรงอาบน้ำสมัยโรมัน และเรื่องราวที่บอกกล่าว ทำให้ชุดนาฏกรรมเป็นพิพิธภัณฑ์ และพิพิธภัณฑ์กลายเป็นชุดนาฏกรรม       จากความทรงจำ ข้าพเจ้าขอเอ่ยถึงการแสดงอีกชุดหนึ่ง สำรวจตรวจตรา (Inventaire) เป็นการแสดงที่ควบคู่ไปกับนิทรรศการว่าด้วยเรื่องของ ฌานีน ชาร์รา (Janine Charrat) ณ ศูนย์ศิลปะ จอร์จส์ ปอมปิดู (le centre Gorges Pompidou) หรือที่เรียกว่า โบบูร์ก (Beaubourg) และ ณ สถานที่แห่งนั้นเองที่ ฌานีน แสดงบทบาทของตัวเธอเอง พร้อมด้วย ฌอง บาบิเล (Jean Babilee) การแสดงเช่นนี้จึงผสานเรื่องราวของนาฏกรรมและชีวิตของเธอ… และยังเรื่อง ในเงามืดของช่วงปีที่เบิกบาน (A l’ombre des Annees en Fleur) ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปลายศตวรรษที่ผ่านมา ระหว่าง 1880 - 1900 การจัดแสดงเดินทางไปทั่วโลก จากโรงอุปรากรหลวงวาลโลนี (l’opera royal de Wallonie) สู่โบสถ์เก่าในพิพิธภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์ (la chapelle du musee des Arts et Metiers)… และคงต้องไม่ลืมว่า ในระหว่างงานยังมี “happenings” และ “events” ที่เกิดขึ้นในหอศิลป์และห้องจัดแสดงนานาชาติ เรียกได้ว่าเป็นวาระที่ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ในการจัดงานแสดง ในพื้นที่หลากหลายและตื่นใจเป็นยิ่งนักการเปิดประตูต้อนรับกลุ่มผู้ชมใหม่       คณะของเราจะครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้ง และเตรียมพร้อมกับการฉลองดังกล่าวตั้งแต่การเริ่มต้นสหัสวรรษที่ 3 อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีสิ่งที่จะต้องคิดต่ออีกมาก ในเรื่องของงานแสดงและงานพิพิธภัณฑ์ หากผู้อำนวยการหรือภัณฑารักษ์ยอมทำงานควบคู่และกล้าเสี่ยง พร้อมไปกับนักแสดง ศิลปินออกแบบฉาก และผู้กำกับ ในแต่ละโครงการ ข้าพเจ้าเชื่อว่า งานแสดงก็ปราศจากข้อจำกัด ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า มีผู้ให้การสนับสนุนไม่ว่าจะมาจากภาครัฐ หรือเอกชนที่เสริมให้การทดลองนี้เกิดขึ้นได้       ผู้ชมเป็นอีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน เพราะงานสร้างสรรค์ข้างต้นที่ยกเป็นตัวอย่างในบรรดาผลงานอื่นๆ อีกมากได้รับการต้อนรับ และทำหน้าที่ดึงดูดกลุ่มผู้ชมใหม่ๆ ในพิพิธภัณฑ์ งานแสดง ผู้รู้และการปฏิวัติ มีผู้ชมนับแสนคน และผู้ชมจำนวนใกล้เรือนล้านในงานนิทรรศการ อุปรากรว่าด้วยพัสตราภรณ์ และผู้ชมที่เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 120จากงานชุด พิพิธภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์ในงานแสดง และ ชัยชนะแห่งศีลธรรม จากที่กล่าวมานี้ เรื่องราวในงานแสดง ไม่ว่าจะเป็นงานสร้างสรรค์เพื่อการรำลึกถึงเหตุการณ์บางเหตุการณ์ หรือเป็นงานสร้างสรรค์ร่วมสมัย ในอีกทางหนึ่งคือ งานแสดง-การจัดแสดง หรือ การจัดแสดง-งานแสดง เหล่านี้ล้วนสะท้อนความเป็นจริงที่ว่างานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้น เป็นการทำลายพรมแดนระหว่างระบำ ละคร อุปรากร ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ และงานพิพิธภัณฑ์ แปลและเรียบเรียงจากAlain Germain, “les mus?es en spectacle”, la lettre de l’OCIM No. 65, 1999, pp. 22 - 26.

ผ้าห่อคัมภีร์วัดคงคาราม: ประวัติศาสตร์(ที่อยาก)บอกเล่า

01 พฤษภาคม 2557

หากพูดถึงข้าวของที่หลายๆ วัดเก็บดูแลรักษา และเก็บสะสมทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจที่จะเก็บ อาจมีรายชื่อของผ้าห่อคัมภีร์อยู่ใน ลำดับต้นๆ ประโยชน์ใช้สอยของผ้าห่อคัมภีร์ก็ตรงตามชื่อ คือเป็นผ้าที่ใช้ห่อคัมภีร์ และหนังสือธรรม เพื่อปกป้องพระธรรมคำสอนตามพระพุทธศาสนา ที่บันทึกอยู่บนเนื้อวัสดุที่บอบบางไม่ให้เกิดริ้วรอยความเสียหาย  วัสดุที่ใช้ทำผ้าห่อคัมภีร์นั้นมีหลากหลาย แตกต่างกันทั้งฐานะของผู้สร้าง พื้นที่  และยุคสมัย ในสมัยที่การพิมพ์ยังไม่แพร่หลาย คัมภีร์ใบลานมีบทบาทมากในการเผยแผ่พุทธศาสนา ผู้ชายสามารถบวชเรียนได้ มีโอกาสอุทิศตนตามหลักศาสนา ส่วนผู้หญิงก็มีบทบาทสำคัญที่จะทำนุบำรุงศาสนาในทุกๆ ด้าน เช่น การเป็นโยมอุปปัฏฐายิกา  การทำบุญเนื่องในโอกาสต่างๆ  การสร้างศาสนสถาน-วัตถุ ฯลฯ  การทำผ้าห่อคัมภีร์ก็เป็นโอกาสที่ผู้หญิงจะได้ทำนุบำรุง พระพุทธศาสนา ด้วยการอุทิศแรงกายและความตั้งใจจริงในการถักทอ และตัดเย็บผ้าห่อคัมภีร์ให้เป็นเครื่องปกป้องพระธรรมคำสอนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา นอกจากคุณค่าทางด้านพุทธศาสนาแล้ว ผ้าห่อคัมภีร์ยังสะท้อนให้เห็นศรัทธาความเชื่อและวิถีชีวิตของผู้คน โครงการอบรม/สร้างเวทีเพื่อสร้างพลังท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พ.ศ. 2554 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมมือกับ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม และชาวบ้าน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี  ในการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ และได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากอาจารย์ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าซึ่งศึกษาผ้ามาเป็นเวลากว่า 20 ปี มาร่วมกันรื้อค้น สำรวจ และบันทึกรายละเอียดต่างๆ ของผ้าห่อคัมภีร์วัดคงคาราม  ขณะเดียวกันอาจารย์ได้ถ่ายทอดความรู้ให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ และชาวชุมชนวัดคงคารามเกี่ยวกับผ้าชนิดต่างๆ (ที่เราแทบจะไม่มีความรู้ด้านนี้เลย) เพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์ ความสำคัญ และคุณค่าที่แฝงอยู่เบื้องหลังของผ้า  ผ้ากว่า 200 ผืนที่เราแก้ห่อออกมา จึงไม่ได้มีเพียงร่องรอยความชำรุดความเก่าคร่ำที่ปรากฏให้เห็นบนผืนผ้าแต่แฝงให้เห็นร่องรอยสำคัญทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของชุมชนที่สัมพันธ์กับบ้านเมือง รอบข้าง และพื้นที่ต่างๆ ในแต่ละยุคสมัย ผ้าห่อคัมภีร์ที่พบในพิพิธภัณฑ์วัดคงคาราม มีมากมายหลายชนิด และมีแหล่งผลิตจากหลายประเทศ เรียกได้ว่าเป็นผ้านานาชาติ แต่ที่มีจำนวนมากที่สุด คือผ้าฝ้ายพิมพ์ลายจากประเทศอินเดีย รองลงมาคือผ้าพิมพ์จากญี่ปุ่น ผ้าพื้นเมือง ผ้าจากยุโรป อินโดนีเซียและจีน มีทั้งแบบมีโครงไม้ไผ่และแบบที่ไม่มีโครงไม้ไผ่ ผ้าแบบที่มีโครงไม้ไผ่นี้เป็นผ้าที่ทำขึ้นสำหรับใช้ห่อคัมภีร์โดยเฉพาะ โครงไม้ไผ่จะช่วยรับน้ำหนักคัมภีร์ที่มีน้ำหนักมากได้  อาจารย์ประภัสสร บรรยายให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของผ้านานานาชนิด ที่น่าจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกับผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม ให้กับทีมพิพิธภัณฑ์และชาวชุมชนวัดคงคารามว่า  วัดคงคารามมีผ้าที่ในอดีตถือว่าเป็นผ้าชั้นสูงอยู่จำนวนมาก  ซึ่งผ้าชั้นสูง ผ้าชั้นดีแบบนี้พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้พระราชทานให้เท่านั้น  เพราะข้าราชการสมัยก่อนไม่ได้รับเงินเดือนประจำ ดังนั้นค่าตอบแทนความดีความชอบ จึงเป็นผ้าบ้าง ของใช้มีค่าบ้าง มีหลักฐานว่ามีการให้ผ้าลักษณะพิเศษที่ใช้เฉพาะราชสำนักและจะพระราชทานให้เป็นค่าเบี้ยหวัดข้าราชการเท่านั้น เช่น ผ้าสมปัก   ผ้าสมปักเป็นเครื่องแบบของข้าราชการไทยสมัยก่อน คำว่าสมปักเป็นมาจากคำว่าสมพจ (ภาษาเขมร แปลว่าผ้านุ่ง) มี 2 ชนิดคือ สมปักปูม และสมปักลาย สมปักปูม เป็นผ้าไหมทอแบบมัดหมี่ สมปักลายเป็นผ้าฝ้ายพิมพ์ลายจากอินเดีย ในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามก็พบผ้าทั้ง 2 ชนิดนี้ โดยเฉพาะสมปักปูม หรือเรียกสั้นๆ ว่าผ้าปูม ผ้าปูมที่พบในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคารามมีหลายสี ทั้งสีม่วง สีแดง-ชมพู และสีเขียวส่วนผ้าสมปักลาย กษัตริย์จะพระราชทานให้กับข้าราชการสำหรับนุ่งเข้าเฝ้า ในจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วิหาร รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม มักจะมีภาพของลูกน้อง/ข้ารับใช้ ยื่นผ้าให้เจ้านายเพื่อเปลี่ยนก่อนเข้าเฝ้า ซึ่งในสมัย ร.4  เริ่มมีประกาศให้ข้าราชการนุ่งเสื้อเข้าเฝ้าแล้ว   ผ้าลายจากอินเดียเป็นที่นิยมมากมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5  ผ้าแบบนี้ไม่ค่อยซักกันบ่อย เพราะค่อนข้างมีราคาจึงจะนุ่งเฉพาะตอนเข้าเฝ้าเท่านั้น พอออกมาก็เปลี่ยนเป็นผ้าธรรมดา  ผ้าสมปักบางผืนมีเชิงหลายชั้นส่วนใหญ่ผู้นุ่งคือผู้ชายและเป็นข้าราชการ ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าเชิงเดียว จึงมีคนพูดกันว่าผู้ชายมีชั้นเชิงมากกว่าผู้หญิง  ผ้าลายของผู้หญิงจะดอกเล็ก ถ้ามีหลายเชิงก็จะใช้นุ่งในโอกาสสำคัญ ในสมัยรัชกาลที่ 5 กฎระเบียบเรื่องการใช้ผ้าของราชสำนักก็เริ่มลดลง ผ้าลายจึงเริ่มออกจากราชสำนักสู่สามัญชน โดยเฉพาะสมัย ร. 6 นิยมแต่งกายแบบฝรั่ง นุ่งซิ่น สำหรับการทำผ้าลายมีหลักฐานว่าไทยออกแบบลวดลายแล้วส่งไปให้ประเทศอินเดียผลิตเรียกว่าผ้าลายอย่าง (มาจากผ้าลายอย่างไทย)  บริษัทที่ส่งผ้าเข้ามาขาย เช่น มัสกาตี ที่วัดคงคารามยังพบหลักฐานสำคัญของผ้าจากอินเดีย คือผ้าที่ใช้ห่อผ้าจากอินเดียมาขาย เป็นผ้าฝ้ายสีแดงเนื้อหยาบ พิมพ์อักษรสีดำเป็นภาษาอินเดีย  ซึ่งอาจารย์ประภัสสรดั้นด้นไปให้เจ้าของวัฒนธรรมอ่านได้ว่า "ผ้าลายมัสกาตี" ปัจจุบันบริษัทนี้เลิกนำผ้าอินเดียเข้ามาขายแล้วตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นไทยจึงผลิตผ้าลายไทยขึ้นใช้ ผ้าลายอินเดียก็เลยหมดไป ผ้าอินเดียเข้ามาได้อย่างไร และกระจายตัวมาตามหมู่บ้านได้อย่างไร อ.ประภัสสรสันนิษฐานว่า อาจมาตามตลาดใหญ่ๆก่อน  แล้วแพร่จากตลาดไปยังชุมชน โดยแขกและคนจีนจะหาบผ้ามาขายตามบ้าน  สมัยรัชกาลที่ 4 ไทยส่งข้าวเป็นสินค้าออก ช่วงนั้นคนหันไปปลูกข้าว และทอผ้าน้อยลง ผ้าตลาด และผ้าอินเดีย จึงเข้ามาตีตลาด และมีหลักฐานว่ามีการนำข้าวไปแลกกับผ้าด้วย การพบผ้าชั้นสูงที่เป็นผ้าของระดับเจ้าพระยาจำนวนมากที่วัดคงคาราม อาจเป็นเพราะบริเวณบ้านคงคารามเป็นศูนย์กลางชุมชนเดิมที่มีคนมอญเป็นข้าราชการอยู่มาก ซึ่งตอนหลังทายาทคงมอบให้กับทางวัด ซึ่งทางวัดนำมาใช้เป็นผ้าห่อคัมภีร์ จากการสำรวจผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑ์พบว่า ผ้าบางผืนเป็นผ้านุ่งที่มีขนาดยาวมาก แต่ยาวเกินไปสำหรับห่อคัมภีร์ก็มีการตัดแบ่ง ซึ่งสามารถนำมาต่อกันได้  บางผืนเป็นเสื้อ  ผ้าบางผืนมีการซ่อมแซมรอยชำรุดรอยขาดก่อนที่จะนำมาถวายวัด   คุณภุชงค์ ยกกระบัด ชาวชุมชนวัดคงคาราม เล่าให้ฟังว่า ท่านได้มอบผ้าของบรรพบุรุษให้กับพิพิธภัณฑ์วัดคงคาราม ผ้านี้เมื่อก่อนเป็นของ.... ได้จากการทำค้าขายกับคนมอญแถบเมืองสังขละบุรี เมื่อ....เสียชีวิต ก็นำมามอบให้พิพิธภัณฑ์   ผ้าห่อคัมภีร์จากผ้าพื้นเมืองพื้นบ้าน  นอกจากผ้าต่างประเทศแล้ว ยังพบผ้าห่อคัมภีร์แบบมอญโบราณ คือจะมีแกนไม้ไผ่อยู่ด้านในแล้วถักทอด้วยเส้นด้ายเป็นลวดลายต่างๆ  ผ้าแบบนี้พบนอกจากจะพบในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามลัว ยังพบที่บ้านม่วง เป็นชุมชนชาวมอญใน อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กลุ่มคนยองทางภาคเหนือ และในพม่า ส่วนผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง ผ้าลายตาราง   พบเป็นจำนวนมาก มีทั้งที่ใช้เป็นผ้าห่อจริงกับผ้าที่ใช้เป็นผ้าดามพื้นหลังเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับผ้าห่อคัมภีร์ มีทั้งทำจากผ้าฝ้ายและผ้าไหม แต่ผ้าโสร่งไหมอาจไม่ใช่ของชาวมอญ  เพราะที่นี่ไม่เลี้ยงไหม แต่อาจมาจากภาคอีสานโดยมีผู้ซื้อมาถวาย หรือมีคนอีสานเข้ามาขายผ้าแถบนี้ เพราะในสมัยก่อนเมื่อหมดฤดูทำนา คนจากภาคอีสาน เช่นจากปักธงชัย โคราช จะหาบผ้ามาขาย  ผ้าแบบนี้มีลักษณะเหมือนสไบ หน้าแคบมีลายขวาง ซึ่งพบที่เดียวคือที่วัดคงคาราม          หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศอินเดียก็ไม่ส่งผ้ามาขายแล้ว แต่มีผ้าลายจากญี่ปุ่นและยุโรป ที่ผลิตจากโรงงานด้วยวิธีใช้แม่พิมพ์แบบลูกกลิ้งพิมพ์ลาย ซึ่งผลิตได้ง่ายและราคาถูกกว่า ในพิพิธภัณฑ์วัดคงคารามเราพบผ้าห่อคัมภีร์ที่น่าจะเป็นผ้าจากญี่ปุ่นจำนวนมาก ผ้าญี่ปุ่นจะเป็นลายเล็กๆ น่ารัก บางทีก็ลอกเลียนแบบลายของอินเดีย ผ้าเหล่านี้บ้างก็ใช้เป็นผ้ารองด้านใน  บ้างก็เย็บเป็นผ้าสำหรับห่อคัมภีร์โดยตรง และบางผืนก็มีลักษณะคล้ายกับผ้าห่อกล่องข้าวแบบญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คนญี่ปุ่นได้มาเปิดร้านขายผ้าในจังหวัดกาญจนบุรีและในพื้นที่จ.ราชบุรี ซึ่งทั้งอำเภอโพธาราม และอำเภอบ้านโป่ง ก็เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณยายฉลาด ชาวชุมชนวัดคงคาราม เล่าว่าในสมัยที่คุณยายยังเด็ก เคยเห็นทหารญี่ปุ่นเดินทางผ่านบริเวณนี้ด้วย   นอกจากการเสริมสร้างความรู้ในเรื่องผ้าชนิดต่างๆ ให้กับชาวชุมชนแล้ว ศูนย์ฯ และชาวชุมชน ยังได้ร่วมกันอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์เพื่อยืดอายุของผ้าในฐานะเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางด้านศิลปะและพลังศรัทธาของชุมชน อาจารย์ประภัสสรได้เสริมความรู้และปฏิบัติการในการอนุรักษ์ผ้าอย่างง่ายให้กับชาวบ้าน ทั้งการเก็บรักษาผ้าให้คงสภาพดีด้วยวิธีการม้วนผ้ากับแกนเพื่อไม่ให้เส้นใยผ้าหักงอ การจัดแสดงผ้าด้วยการตรึงผ้ากับกรอบไม้ และการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับผืนผ้าด้วยการทำผ้าดามหลัง รวมทั้งการซ่อมแซมผ้าซึ่งมีทั้งวิธีการตามหลักการอนุรักษ์ และวิธีแบบพื้นบ้านผสมผสานกัน โดยได้ความร่วมมือร่วมใจจากลุงป้าน้าอาชาวคงคาราม และพระวัดคงคาราม มาช่วยกันอย่างแข็งขัน กิจกรรมอนุรักษ์ผ้าวัดคงคาราม เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ต้องการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องผ้าให้กับชาวชุมชนเพื่อให้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์ให้คงอยู่ ไม่เพียงเท่านั้น การสร้างโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ การดูแลรักษาข้าวของในพิพิธภัณฑ์ ยังทำให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่าง พิพิธภัณฑ์ วัด และชุมชนมากขึ้น นับเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์กับชุมชนเกิดการเรียนรู้และได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งจะสร้างความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ และจะเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างพิพิธภัณฑ์ ชุมชน รวมถึงหน่วยงานทั้งในและนอกชุมชนในรูปแบบต่างๆ ในอนาคต   อ้างอิง: เรียบเรียงจากการบรรยายเรื่องผ้า โดยประภัสสร โพธิศรีทอง ในกิจกรรมอนุรักษ์ผ้าห่อคัมภีร์วัดคงคาราม วันที่ 22 สิงหาคม 2554 ณ วัดคงคาราม จ.ราชบุรี  และการเก็บข้อมูลในชุมชน โครงการอบรม/ สร้างเวทีเพือสร้างพลังชุมชนท้องถินและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ชุมชนวัดคงคาราม จ.ราชบุรี พ.ศ.2554.

ทำสิ่งที่ยากให้ง่ายได้หรือไม่ การให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ด้วยวัตถุพิพิธภัณฑ์

17 เมษายน 2557

ความสนใจต่อสาธารณชนในประเด็นกระบวนการและหลักการอนุรักษ์ที่เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่โครงการนการให้ความรู้จำนวนมาก ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานของนักอนุรักษ์ รวมถึงสถาบันและองค์กรในสายงานการอนุรักษ์ เช่น สถาบันเพื่อการอนุรักษ์งานศิลปกรรมและประวัติศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา(American Institute for Conservation of Historic and Artistic Works - AIC) จากความสนใจดังกล่าวนี้ พิพิธภัณฑ์ เจ. พอล เกตตี้ (J. Paul Getty Museum) จัดนิทรรศการแบบโต้ตอบ (interactive exhibition) ภายใต้ชื่อ “สงวนไว้ซึ่งอดีต” (Preserving the Past) นิทรรศการมาจากความร่วมมือระหว่างส่วนงานงานต่างๆ ทั้งส่วนการอนุรักษ์ของโบราณ (Antiquities Conservation) ส่วนงานการศึกษาและวิชาการ (Education and Academic Affairs) และส่วนงานภัณฑารักษ์ (Antiquities Curatorial departments) จากวัตถุประสงค์หลักของนิทรรศการในการให้ความรู้เบื้องต้นกับผู้เข้าชมในเรื่องหลัก กิจกรรม และแผนการอนุรักษ์ “สงวนไว้ซึ่งอดีต” แสดงให้เห็นการดำเนินงานต่างๆ ในด้านการอนุรักษ์งานสะสมของพิพิธภัณฑ์และวัตถุโบราณ นิทรรศการแบ่งเป็นประเด็นได้แก่ จริยธรรมและหลักการอนุรักษ์ การตรวจสอบและวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ปฏิบัติการต่อวัตถุ และการควบคุมสิ่งแวดล้อม (รวมถึงการเตรียมการการจัดแสดงวัตถุภายใต้สภาวะของแผ่นดินไหวจากแบบจำลอง) ห้องนิทรรศการมีเจ้าหน้าที่ประจำทุกส่วน ซึ่งได้รับการอบรมเป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่การศึกษาของพิพิธภัณฑ์ เราเรียกพวกเขาเหล่านั้นว่า “เจ้าหน้าที่ให้ความรู้” (Facilitators) ผู้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากที่คำอธิบายในนิทรรศการ ผู้ดำเนินการกิจกรรม และให้คำแนะนำผ่านสิ่งจัดแสดง เมื่อจบนิทรรศการที่จัดแสดง 7 เดือน มีจำนวนผู้ชมประมาณ 12,000 คน บทความนี้อธิบายการทำงานในการวางหลัก และแนวทางที่เป็นจริงและเป็นไปได้ในการนำเสนอหัวข้อที่ดูซับซ้อน เช่น การอนุรักษ์ สำหรับผู้ชมที่มีความรู้ ความสนใจ แต่ถูกจำกัดด้วยเวลา ด้วยเหตุนี้ ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การวางแผนนิทรรศการ แนวคิด การออกแบบและติดตั้ง การประเมินรูปแบบนิทรรศการท้ายสุด และผลกระทบที่ส่งต่อผู้ชม เกริ่นนำในช่วงที่ผ่านมา ความสนใจของผู้คนต่อการอนุรักษ์ทั้งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมมีเพิ่มมากขึ้น นักอนุรักษ์ทำงานสนองตอบต่อความต้องการดังกล่าว และถือเป็นโอกาสในการให้ความกระจ่างต่อผู้คนในเรื่องงาน และหลักการทำงานของสาขาอาชีพ ดังนั้น ข้อคำนึงหลักของสถาบันการอนุรักษ์ผลงานศิลปกรรมและประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ในปัจจุบันได้แก่ การเพิ่มความสนใจของสาธารณชนต่อประเด็นการอนุรักษ์และประโยชน์ที่พึงได้รับ การดำเนินการไม่ใช่เพียงการให้ความรู้ต่อบุคคลทั่วไป หากแต่เป็นการเพิ่มจำนวนผู้ที่สนใจการอนุรักษ์มากขึ้น ทั้งในภาครัฐแลเอกชน คนเหล่านี้ย่อมมีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนด้านการเงินมากขึ้นเช่นกัน และเมื่อสาธารณชนในระดับกว้างมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ งานสะสมไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนย่อมได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น แน่นอนว่า งานอนุรักษ์สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้บางคนก้าวเข้าสู่อาชีพต่อไปในอนาคตอีกด้วย จากความพยายามในการสร้างให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ ส่วนการอนุรักษ์โบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ เจ. พอล เกตตี้ ด้วยความร่วมมือของส่วนงานการศึกษาและวิชาการ และส่วนงานภัณฑารักษ์ สร้างสรรค์งานนิทรรศการเรื่อง สงวนไว้ซึ่งอดีต ที่มีเนื้อหาแสดงหลักการอนุรักษ์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสะสมศิลปโบราณของพิพิธภัณฑ์ การทำงานของพิพิธภัณฑ์ไม่มีทางสำเร็จได้บุคคลคนเดียว รวมทั้งนิทรรศการที่จะต้องมาจากพรสวรรค์และความสามารถที่หลากหลาย จึงผลักดันให้การเตรียมงานนิทรรศการมาจากการวางแผนของคณะทำงานจากส่วนงานต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์   เพื่อวางเป้าหมายและส่วนประกอบของนิทรรศการ อนึ่ง การทำงานยังได้รับความร่วมมือของส่วนงานโสตทัศนศึกษา งานเตรียมการ งานพิมพ์ และงานภาพถ่าย จากจุดเริ่มต้นสู่การเปิดนิทรรศการต่อสาธารณชนเป็นการดำเนินงานเบ็ดเสร็จหนึ่งปี งบประมาณมาจากส่วนงานการศึกษาและวิชาการ หน้าที่เริ่มแรกของคณะทำงานคือ การแปลหลักพื้นฐานของงานอนุรักษ์ และเลือกสิ่งที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นสำหรับการดำเนินการ คำถามหลักได้แก่ สิ่งใดที่ผู้คนต้องการรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ สิ่งใดที่คณะทำงานปรารถนาที่จะบอกกล่าวกับผู้คน และจัดลำดับประเด็นต่างๆ ตามความสำคัญ แผนงานขยายออกไปอย่างรวดเร็วและความซับซ้อนของเนื้อหาเพิ่มมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขของพื้นที่และเวลาที่จำกัด การนำเสนอขบวนการทำงานของนักอนุรักษ์ในลักษณะที่ให้ความรู้และเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายเป็นสิ่งที่ยากและมีความเสี่ยง ความท้าทายจึงเป็นการสร้างสรรค์การจัดแสดงที่เป็นมากกว่าการบอกเล่างานที่นักอนุรักษ์ทำทุกวัน (เพราะคงต้องเป็นเรื่องน่าเบื่อ) กับผู้ชมหลากหลายประเภท ดังนั้น คณะทำงานจึงตัดสินใจทำให้ผู้ชมตระหนักในสิ่งที่เขากำลังพินิจมอง หรือสิ่งที่เขาไม่เคยนึกถึงมาก่อน จากการสำรวจของพิพิธภัณฑ์เกตตี้ โดยทั่วไป ผู้ชมใช้เวลาเฉลี่ย 2-3นาทีในแต่ละห้องจัดแสดง ด้วยข้อมูลเบื้องต้นเช่นนี้ คณะทำงานวางแผนว่าการจัดแสดงในครั้งนี้จะต้องสร้างความสนใจ และตรึงผู้ชมให้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับส่วนงานอนุรักษ์โดยสังเขป จึงนำไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบโต้ตอบ พร้อมไปกับการคงแนวทางการตีความแบบเดิม เช่น ป้ายคำอธิบาย ทั้งนี้ คณะทำงานระลึกเสมอว่า การถ่ายทอดความรู้สามารถทำได้หลายวิธี เมื่อพิจารณานิทรรศการโดยภาพรวม ข้อมูลจัดแบ่งออกเป็นหลายส่วน ท่วงทีและรูปแบบสื่อความรู้มีลักษณะที่ไม่เป็นทางการ ผู้ชมสามารถเข้าชมนิทรรศการได้อย่างเป็นอิสระในแต่ละประเด็นที่ตนสนใจ นอกจากวิธีการการสร้างชิ้นงานแบบโต้ตอบแล้ว วิธีการหนึ่งในการสร้างความน่าสนใจให้กับนิทรรศการคือ   การอบรมเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากส่วนงานการศึกษาและวิชาการ เจ้าหน้าที่นำชมประจำ อยู่ในแต่ละส่วนของนิทรรศการ พวกเขามีหน้าที่หลักในการปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ทั้งการอธิบายให้ผู้ชมเข้าใจการเรียนรู้จากชิ้นงานแบบโต้ตอบ การตอบคำถามหรือให้ความรู้เพิ่มเติมต่อผู้ชม รวมทั้งการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของชิ้นงาน เจ้าหน้าที่ให้ความรู้เข้าฟังบรรยายหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ โดยมีเจ้าหน้าที่จากส่วนงานการอนุรักษ์เป็นผู้บรรยาย การบรรยายเป็นการให้ความรู้พื้นฐาน วัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้ความรู้จึงสามารถตอบคำถามเบื้องต้นเกี่ยวกับงานอนุรักษ์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ให้ความรู้จึงทำให้ข้อมูลที่ซับซ้อนสามารถเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น พวกเขายังได้รับรายนามหนังสือ สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้อง และสามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายหนังสือของพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งรายชื่อหลักสูตรการศึกษาที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ ผู้ชมสามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมต่างๆ เหล่านี้ได้ หากมีความสนใจเป็นพิเศษ ประโยชน์ของการเน้นถึงการอนุรักษ์วัตถุโบราณตามเนื้อหานิทรรศการคือ การสร้างความเข้าใจทั้งเรื่องหลักปรัชญาพื้นฐานการทำงานและเทคนิคการอนุรักษ์ และสร้างประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับงานอนุรักษ์ ที่เป็นการสร้างความชัดเจนว่า งานอนุรักษ์เป็นการพยายามสงวนสภาพที่เป็นของสิ่งต่างๆ   มากกว่าการเข้าไปจัดการ ซ่อมแซม เรียกได้ว่าเป็นการ “เข้าไปสอดแทรกให้น้อยที่สุด” เท่าที่จะทำได้ นิทรรศการ สงวนไว้ซึ่งอดีต จัดแสดงในห้องนิทรรศการที่เชื่อมต่อกับห้องจัดแสดงของโบราณ พื้นที่จัดแสดงดังกล่าวย่อมกระตุ้นให้ผู้ชมนำสิ่งที่เพิ่งได้ชมไปใช้ จากนี้จะเป็นการกล่าวถึงนิทรรศการส่วนต่างๆ อันได้แก่ เกริ่นนำ การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ การปฏิบัติการ และสภาพแวดล้อม เกริ่นนำในนิทรรศการส่วนเกริ่นนำของนิทรรศการอธิบายถึงวิชาชีพงานอนุรักษ์ เนื้อหาดังกล่าวสร้างกรอบแนวคิดและให้ความรู้พื้นฐาน เพื่อทำความเข้าใจกับส่วนที่เหลือของนิทรรศการ ข้อพิจารณาและข้อท้าทายในจรรยาบรรณของนักอนุรักษ์ปรากฏทั้งในส่วนนี้และส่วนอื่นของนิทรรศการเช่นกัน จุดหลักของนิทรรศการส่วนนี้ ในฐานะเป็นประเด็นหลักของนิทรรศการทั้งหมดคือ วีดิทัศน์ความยาว 6 นาทีในชื่อ “เบื้องหลังฉาก” วีดิทัศน์ดังกล่าวจัดทำโดยส่วนงานโสตทัศนศึกษา และใช้เวลาร่วมปีในการผลิต ภัณฑารักษ์ส่วนงานสะสมโบราณวัตถุ เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปกรรม และเจ้าหน้าที่ฝึกงานของพิพิธภัณฑ์ แสดงงานปฏิบัติการที่หลากหลาย ทั้งการอุดช่องว่าง การเติมสี การทำความสะอาดหิน สำริด และเครื่องกระเบื้อง ส่วนนิทรรศการฉากจำลองแผ่นดินไหวเป็นการทดสอบให้เห็นวิธีปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว วีดิทัศน์แสดงให้เห็นการทดสอบโดยใช้วัตถุจำลองประติมากรรมกรีกในศตวรรษที่ 5 ทั้งนี้ ระดับแรงสั่นสะเทือนเทียบเท่ากับแผ่นดินไหวที่เกิดทางใต้ของแคลิฟอร์เนีย ในการจัดทำวีดิทัศน์ คณะทำงานยังคำนึงถึงผู้ชมที่ใช้ภาษาสเปนในการสื่อสาร ดังนั้นวีดิทัศน์จึงปรากฏบทบรรยายที่เป็นภาษาสเปนด้วย ท้ายที่สุด เมื่อคณะทำงานศึกษาปฏิกิริยาของกลุ่มผู้ชม วีดิทัศน์สามารถตรึงและดึงดูดให้ผู้ชมสนใจเนื้อหา และเป็นโอกาสที่ผู้เข้าชมได้มองเห็นการทำงานของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเขาไม่เคยเห็นมาก่อน การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ส่วนที่สองของนิทรรศการกล่าวถึงความสำคัญของการตรวจสอบวัตถุทางวิทยาศาสตร์ ก่อนการลงมือปฏิบัติการใดๆ นิทรรศการต้องการให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและได้ลงมือปฏิบัติการพอเป็นสังเขป เพื่อเพิ่มประสบการณ์ ภาพขยายจากกล้องจุลทัศน์ (Wentzscope) เป็นสิ่งจัดแสดงที่ผู้ชมสามารถทดลอง และสังเกตภาพที่ปรากฏ ทั้งตัวสีและองค์ประกอบวัสดุของวัตถุสะสม (ภาพที่ 1) ตัวอย่างอื่นๆ เกี่ยวกับการใช้สื่อภาพและการตรวจสอบในระดับจุลภาคในรูปแบบสไลด์ ยังปรากฏภาพถ่ายขยายใหญ่ที่จัดแสดงบนผนังแสดงให้เห็นการทำงาน ของนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ในการตรวจสอบอิเลกตรอน เรียกว่าเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นเครื่องมือ ที่ซับซ้อนในงานวิเคราะห์วัตถุ ทั้งนี้ สมุดบันทึกประกอบการชมจะให้รายละเอียดและภาพแสดงเกี่ยวกับการ ตรวจสอบเครื่องประดับทองโบราณ ควบคู่ไปกับการชมนิทรรศการ   1) ผู้ชมมีโอกาสในการชม ภาพขยาย จากกล้องจุลทัศน์                                        ในส่วนนิทรรศการการ   ตรวจสอบ ทางวิทยาศาสตร์ปัญหาการตรวจสอบความจริงแท้ของวัตถุเป็นประเด็นที่ทั้งสื่อมวลชนและผู้คนทั่วไปให้ความสนใจ โดยที่การทำงานเป็นการบอกรูปพรรณและที่มาของวัตถุ ดังนั้น นิทรรศการเปิดโอกาสให้ผู้ชมทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสามารถและข้อจำกัดของการสืบสวน ทั้งทางวิทยาศาสตร์และเทคนิค การจัดแสดงเป็นการใช้แจกันเครื่องเคลือบดินเผา 2 ใบ ใบหนึ่งเป็นแจกันโบราณ และอีกใบหนึ่งเป็นแจกันที่ผลิตขึ้นใหม่ ประกอบการตั้งคำถามต่อผู้ชมในสิ่งที่พวกเขาเห็นและสังเกตได้ โดยเชื่อมโยงว่ามีสิ่งที่บ่งชี้ว่าชิ้นใดเป็นของจริง และชิ้นใดที่ลอกเลียนแบบ ในการนี้ สมุดบันทึกประกอบการชมให้คำตอบต่อคำถามและคำอธิบายเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายเทคนิค thermoluminescence รังสีอุลตราไวโอเลต และเครื่องฉายรังสีเอกซ์-เรย์ในการตรวจสอบเช่นกัน การปฏิบัติการอนุรักษ์ ส่วนที่ว่าด้วยการปฏิบัติการเริ่มต้นด้วยการเชื้อเชิญให้ผู้ชมประกอบภาชนะดินเผาที่แตกหัก และให้ชื่อแจกันตามแผนภาพแสดงรูปทรงแจกันสมัยกรีก คณะทำงานเห็นว่ากิจกรรมการมีส่วนร่วมเช่นนี้จะทำให้ผู้เข้าชมเข้าใจถึง ความอดทนพากเพียรที่นักอนุรักษ์ต้องมีในการปฏิบัติงาน แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การเชื่อมโยงแง่มุมทั้งหมดของสิ่งจัดแสดง กิจกรรมไม่ใช่เพียงการทำให้ผู้ชมตระหนักถึงวิธีการอนุรักษ์หม้อเก่าใบหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นวิธีการที่จะทำให้ผู้ชมสนใจในเนื้อหาวิชาการของนิทรรศการโดยภาพรวมด้วย กิจกรรมอนุรักษ์แจกันเกริ่นนำการจัดแสดงเกี่ยวกับการอนุรักษ์เครื่องเคลือบ ซึ่งเป็นการอธิบายกระบวนการทำงานของนักอนุรักษ์ในการประกอบแก้วดื่มไวน์สมัยกรีกที่แตกหักเป็นลำดับ ขั้นตอนการทำงานประกอบเรียงตามลำดับในแนวนอน เริ่มต้นด้วยการที่ผู้ชมสังเกตชิ้นส่วนของแก้วไวน์บนแผ่นกระดาษตีตาราง จากนั้น แก้วในกระบะทรายได้รับการประกอบด้วยตัวเชื่อมที่สามารถชะล้างออกได้ เพื่อเป็นการย้ำว่างานซ่อมแซมทั้งหลายจะต้องสามารถแก้ไขได้ในอนาคต ชิ้นงานยังประกอบด้วยส่วนของหูจับและขาที่ทำมาจากวัสดุทดแทน ทำให้ชิ้นส่วนมีความสมบูรณ์ และขณะเดียวกันเป็นการแสดงให้เห็นชิ้นส่วนที่หายไป การประกอบชิ้นส่วนเพิ่มเติม กระทำได้ต่อเมื่อมีหลักฐานประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ การจัดแสดงจบลงที่ถ้วยไวน์ที่มีสมบูรณ์แบบ แม้ว่าส่วนที่เติมเต็มจะมีการระบายสีให้ใกล้เคียงกับสีผิวภาชนะ แต่ยังสามารถแยกความแตกต่างจากผิวเดิมได้ นักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์จะจดบันทึก ขั้นตอนการอนุรักษ์ สำหรับการประเมินผลและการศึกษาในอนาคต เนื้อหาและแนวคิดในการจัดแสดงส่วนดังกล่าวสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก  2) ผู้ชมจับต้อง ทดลอง สร้างประสบการณ์ด้วยตนเอง                                                    ในส่วนนิทรรศการ งานปฏิบัติการอนุรักษ์ การปฎิบัติการอนุรักษ์เครื่องสำริดและหินอ่อนโบราณนำเสนอด้วยภาพเปรียบเทียบ ก่อนและหลังการปฏิบัติการ พร้อมคำอธิบายที่กล่าวถึงแนวคิดและกระบวนการอนุรักษ์ คำอธิบายและภาพเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการทำความสะอาดสามารถ อ่านได้จากสมุดบันทึกประกอบการชม ที่วางใต้ชั้นที่จัดแสดงตัวอย่างการอนุรักษ์วัตถุ (ภาพที่ 2)     ผู้คนทั่วไปสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์จากการแสดงภาพก่อนและหลังการปฏิบัติการ วิธีการสื่อสารดังกล่าวสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชม แต่กลับไม่สามารถทำให้ความรู้นั้นๆ คงอยู่กับผู้เข้าชมได้ หากเปรียบไปแล้วความสัมพันธ์ระหว่างนักอนุรักษ์กับวัตถุก็ไม่ต่างไปจาก ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ การตัดสินใจลงมือแก้ไขแล้วทำให้สิ่งที่ “ป่วยไข้” ฟื้นกลับดีขึ้นคงเหมาะกับการเขียนเป็นนิยายมากกว่า เพราะการปฏิบัติการที่ควรเป็นไปน่าจะเป็นให้คำแนะนำในเรื่องอาหารและสุขภาพ โลกในปัจจุบัน การป้องกันดูจะเป็นวัคซีนที่น่าสนใจกว่าการแก้ไขในภายหลังทั้งในทางการแพทย์และทางศิลปะ ด้วยเหตุนี้ ในนิทรรศการ คณะทำงานจึงพยายามลดการให้ความสำคัญของบทบาทแพทย์-นักอนุรักษ์ และเพิ่มสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการสงวนป้องกันที่ทันสมัย สภาพแวดล้อม การจัดแสดงตัวอย่างการควบคุมบรรยากาศของนิทรรศการด้วยการใช้ประติมากรรมขนาดย่อม เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม (ภาพที่ 3) ตัวอย่างแสดงให้เห็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน-การสงวนรักษาหลายปัจจัย ที่ช่วยให้สิ่งแวดล้อมคงที่และอยู่ภายใต้การควบคุม แท่นรองแสดงให้เห็นว่าประติมากรรมได้รับการจัดวางอย่างไร ถาดวัสดุดูดความชื้น (Celica gel) และเครื่องวัดความชื้นในระบบดิจิตอลแสดงให้เห็นการทำงาน สมุดบันทึกประกอบอธิบายรายละเอียดความสำคัญของการติดตั้งเครื่องมือควบคุมความชื้น ระดับความเข้มของแสง และระดับรังสีอัลตร้าไวโอเลต ตัวอย่างแสดงไม่สามารถสร้างความสนใจต่อผู้ชมได้มาก เท่ากับวีดิทัศน์ และแบบทดลองการประกอบแจกัน แต่ผู้ชมใช้เวลาไม่น้อยในการพิจารณาเนื้อหาเกี่ยวกับการสงวนรักษา และการทำงานที่ต่อเนื่องในการดูแลงานผลงานศิลปะในการจัดแสดงและในคลังวัตถุ การจัดแสดงดังกล่าวนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ เช่นกัน  3) สิ่งจัดแสดงสาธิตตัวอย่าง การควบคุมสิ่งแวดล้อม ของนิทรรศการ                                                    ในส่วนที่ว่าด้วย สภาพแวดล้อม ในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องของไขมันและฝุ่นสะสม การจัดแสดงนำเสนอชิ้นหินอ่อนสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 4 นิ้ว ซึ่งคณะทำงานได้นำชิ้นวัตถุให้คนทั่วไปสัมผัสเป็นเวลา 1 ปีก่อนการเปิดนิทรรศการ ตัวอย่างแสดงให้ผู้ชมเข้าใจว่าด้วยเหตุใดผู้ชมจึงไม่ควรสัมผัสงานสะสมที่จัดแสดงอีกต่อไป วิธีการนำเสนอเป็นการเปรียบเทียบส่วนของวัตถุที่มีการป้องกันตรงกลางชิ้นวัตถุ และส่วนรอบๆ ที่ไม่ได้รับการป้องกันและมีการสัมผัสชิ้นงานหินอ่อน  4) “โต๊ะสะเทือน” แสดงในส่วนนิทรรศการ เรื่องสภาพแวดล้อม การจัดแสดงอื่นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกับการอนุรักษ์วัตถุ เป็นการยกตัวอย่างอันตรายที่สามารถเกิดกับงานศิลปะจากแรงสั่นสะเทือน ของแผ่นดินไหวของแคลิฟอร์เนีย แจกัน 2 ใบบนโต๊ะที่สั่นสะเทือน “เล็กน้อย” จัดแสดงในตู้ครอบแก้ว ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมจากฝ่ายศิลปกรรมของพิพิธภัณฑ์ แจกันใบหนึ่งจัดแสดงแบบชิ้นงานเดี่ยว และติดตั้งระบบการป้องกันเฉพาะ เมื่อผู้ชมกดปุ่มเครื่องกล โต๊ะจะสั่นไหว แจกันที่ติดตั้งระบบการป้องกันไม่ได้รับอันตราย ในขณะที่แจกันอีกใบได้รับความเสียหาย ตัวอย่างของแจกันในระบบรักษาความปลอดภัย เช่น การใช้ขี้ผึ้งที่ทันตแพทย์ใช้ในการรักษายึดกับแท่นแก้ว ในการจัดแสดงแจกันในห้องนิทรรศการ ผลการสำรวจ ในระหว่างช่วงอาทิตย์สุดท้ายของนิทรรศการ ส่วนงานการศึกษาและวิชาการสำรวจ ความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการของผู้เข้าชม จำนวน 125 คน ในขณะที่พวกเขาออกจากพิพิธภัณฑ์ และสัมภาษณ์ผู้ชมในเชิงลึก จำนวน 38 คน ในขณะออกจากนิทรรศการ สงวนไว้ซึ่งอดีต นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ให้ความรู้บันทึกปฏิกริยาต่างๆ ของผู้ชมนิทรรศการ ข้อมูลแสดงให้เห็นสิ่งที่สร้างความสนใจให้กับผู้ชม (ตามลำดับ) ดังนี้ วีดิทัศน์ แบบฝึกการประกอบแจกัน โต๊ะแผ่นดินไหว กล้องจุลทัศน์ การจัดแสดงแก้วไวน์ที่ได้รับการซ่อมแซม การทำความสะอาดวัตถุสำริดและหิน และการตรวจสอบความจริงแท้ของแจกัน แต่มีผู้ชมอีกจำนวนไม่น้อยที่ชอบภาพรวมนิทรรศการ โดยไม่มีข้อแตกต่างระหว่างสิ่งจัดแสดง เวลาที่ใช้ในแต่ละจุด ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคน ผู้ชมคนหนึ่งใช้เวลามากที่สุดประมาณ 10 นาที ณ จุดการประกอบแจกัน แต่หากพิจารณาในภาพรวม ผู้ชมบางคนใช้เวลามากกว่า 20 นาทีในการชมนิทรรศการทั้งหมด ทั้งการหยุดอ่าน มอง วิเคราะห์ ปฏิบัติ อย่างไรก็ดี ผู้ชมบางคนเห็นว่านิทรรศการยังไม่พูดถึงเรื่องการปฏิบัติการเชิงเทคนิคเพียงพอ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งกลับเห็นว่า นิทรรศการมีลักษณะที่เป็นเทคนิคมากเกินไป ผู้ใหญ่เป็นกลุ่มเป้าหมายของนิทรรศการตามความตั้งใจของคณะทำงาน แต่กลับมีคนเห็นว่า นิทรรศการดูตอบสนองต่อกลุ่มเด็กมากกว่า เด็กเล็กๆ ชอบจุดประกอบแจกันและโต๊ะแผ่นดินไหว ส่วนเด็กโตและเด็กวัยรุ่นเข้าถึงนิทรรศการด้วยความอยากรู้อยากเห็นและกระตือรือร้น ผู้ชมที่มีส่วนร่วมในการการสัมภาษณ์เชิงลึก 38 คน สามารถอภิปรายเกี่ยวกับหลักการอนุรักษ์สำคัญๆ อย่างน้อยหนึ่งประเด็นที่นิทรรศการได้หยิบยกขึ้นมา ขณะเดียวกัน ผู้ร่วมการประเมินผลทั้งหมดแสดงความเห็นว่าต้องการจะเห็นนิทรรศการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอนุรักษ์เช่นนี้อีก บทสรุป นิทรรศการ สงวนไว้ซึ่งอดีต นำมาซึ่งประเด็นถกเถียงและข้อมูล รวมทั้งสร้างความตระหนักในงานอนุรักษ์ให้กับผู้ชมในระดับที่กว้างและหลากหลายมากขึ้น คณะทำงานหวังว่าผู้ชมกว่า 12,000 คน รวมทั้งนักเรียน จะมีโอกาสกลับมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของเรา และพิพิธภัณฑ์อื่นในอนาคตด้วยมุมมองใหม่ๆ นิทรรศการเช่นนี้เปิดให้ผู้ชมมีมุมมองใหม่ให้เห็นความซับซ้อนของการทำงาน การชั่งน้ำหนักในการตัดสินใจ และการพัฒนาทางออกสำหรับปัญหาที่รอเราอยู่ข้างหน้า คณะทำงานเห็นว่า ด้วยการวางแผนที่รอบคอบและตรึกตรอง นิทรรศการเปิดโลกของงานอนุรักษ์สู่ความเข้าใจของคนโดยทั่วไปได้เป็นอย่างดี แปลและเรียบเรียงจากJerry C. Podany and Susan Lansing Maish“Can the complex be made simple? Informing the public about conservation through museum exhibits”.Journal of the American Institute for Conservation (1993, Vol. 32, No. 2) pp. 101 - 108.