บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 82 บทความ

งานเสวนาเรื่อง "พิพิธภัณฑ์การเมืองไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"

21 มีนาคม 2556

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ในอันดับที่สองของประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอดีตตัวตนชัดเจน มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของวังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์ และได้ผ่านประสบการณ์และเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองหลายครั้ง มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการสร้างผู้นำประเทศมาหลายสมัย และมีส่วนสำคัญในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้ ยังเป็นพื้นที่ที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ต่อการเมืองสมัยใหม่ ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดทำพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ให้เป็นเขตอนุรักษ์และคุ้มครองด้านโบราณคดีและศิลปวัฒนธรรม ดังนั้น ในปี 2547 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีอายุครบ 70 ปี จึงวางแผนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอประวัติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สอดคล้องเหมาะสมยิ่งกับภาวการณ์ปัจจุบัน   หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์และฝ่ายส่งเสริมและพัฒนา หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้ร่วมมือกันจัดงานเสวนาเรื่อง "พิพิธภัณฑ์การเมืองไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนาในฐานะผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ในโลกปัจจุบันได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอประวัติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกทั้งเป็นการจุดประกายความคิดเรื่องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะพิพิธภัณฑ์การเมืองไทย เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประวัติศาสตร์การเมืองไทยกับความเป็นมาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นการเสวนายังมุ่งที่จะปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแหล่งการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อดำรงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ งานเสวนาจึงได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ อาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว คุณจุลลดา มีจุล และคุณชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ ในการมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน   เนื้อหาที่พูดคุยกันในการเสวนาประกอบด้วยประเด็นสำคัญๆ และน่าสนใจที่พอสรุปได้ ดังนี้ คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการหนังสือศิลปวัฒนธรรม ได้จุดประเด็นให้เห็นว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่เคยมีพิพิธภัณฑ์การเมืองเกิดขึ้น ในสังคมไทย พิพิธภัณฑ์โดยส่วนใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ (Art Museum) ซึ่งรูปแบบการจัดแสดงในแต่ละที่นั้นยังคงมีรูปแบบเดียวกัน คือ การจัดแสดงเทวรูป พระพุทธรูป หรือของโบราณ ซึ่งไม่มีอะไรเคลื่อนไหว แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น มีหลายฝ่ายพยายามจัดทำขึ้น เช่น พิพิธภัณฑ์แรงงานที่เนื้อหาในเชิงการเมือง แต่การจัดแสดงยังคงรูปแบบเดิมอยู่คือ การเอาของมาตั้ง เอาโปสเตอร์มาติดอยู่เท่านั้น ไม่มีความเคลื่อนไหว ไม่มีชีวิต สำหรับความคิดเรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเมืองไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอนาคตนั้น คุณสุพจน์เห็นว่าโดยชาติวุฒิ คุณวุฒิ และวัยวุฒิของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความเหมาะสมที่สุดที่จะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเมืองขึ้น โดยเสนอว่า หากมองในด้านชาติวุฒิ ธรรมศาสตร์เกิดมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2475 ประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ก็คือ ประวัติศาสตร์การเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา การก่อตั้งครั้งแรกก็เพื่อที่จะสร้างบุคลากรมารับระบอบใหม่ คือ ระบอบประชาธิปไตย แม้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สร้างมาก่อนก็จริง แต่จุฬาฯ เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเพื่อรองรับระบอบเก่า ธรรมศาสตร์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ในการผลิตบุคลกรออกไปสู่สังคม และบุคคลในที่นี้ก็ไปมีบทบาททางการเมืองระดับชาติทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ในด้านคุณวุฒิ ภาระดั้งเดิมของธรรมศาสตร์คือ บทบาทตลาดวิชา ส่วนด้านวัยวุฒิ ในปี 2547 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบ 70 ปี   ดังนั้นการกำหนดประเด็นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ควรคำนึงถึงพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่จำเป็นต้องกังวลถึงเงินลงทุนจำนวนมากหรือเรื่องระยะเวลาซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ เราสามารถทำธรรมศาสตร์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ได้แปลว่า จะยกผู้คนออกไปให้หมดเหลือแต่ตึกร้างๆ แล้วก็มาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ หากยังสามารถคงสภาพการเรียนการสอน ผู้คนก็ยังคงเดินเหินกันตามปกติ แม้กระทั่งผู้คนที่เดินไปเดินมา แม่ค้าที่มาขายของยังท่าพระจันทร์ หรือการชุมนุมประท้วงหรือกิจกรรมต่างๆนานา ธรรมศาสตร์ในสภาพอย่างนี้ก็น่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ในตัวมันเอง เพียงแต่อาจจะมีอาคารสักหลังหนึ่ง เช่น ตึกโดมเป็นที่ที่แสดงวัตถุหรือเอกสารเหตุการณ์อะไรก็ตาม   ในขณะที่คุณจุลลดา มีจุล นักวิชาการประจำศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA) กล่าวว่า การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ควรมีองค์ประกอบสำคัญคือ จิตวิญญาณและความศรัทธาสถาบันในตัวพิพิธภัณฑ์ ความเชื่อมั่นในตัวสถาบันว่าจะต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคม ภาระขององค์กรคือ การช่วยให้ชุมชนในบริเวณนั้นให้เข้าใจสาระที่เสนอออกไป การเมืองเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอยู่แล้วในตัวของมันเอง เพราะฉะนั้นการนำเสนออาจเป็นเรื่องยากที่จะเอาเรื่องการเมือง หรือเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราไปนำเสนอกับคนที่อยู่รอบด้าน   ทีมงานมีความศรัทธาอยากให้มีพิพิธภัณฑ์ขึ้นนั้นไม่เพียงพอ แต่จะต้องมีมากไปกว่านั้น ต้องศรัทธาที่จะทำงานตรงนี้ อีกอย่างหนึ่งพิพิธภัณฑ์ต้องเป็นสถานที่ที่เมื่อคนทำงานร่วมกันแล้วต้องมีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน และไม่ใช่เพียงแต่อยู่ภายในตัวพิพิธภัณฑ์เอง แต่ก็ต้องนำออกสู่ข้างนอกด้วย สิ่งสุดท้ายที่ตัวพิพิธภัณฑ์ควรจะมีก็คือ การให้บริการทุกคนที่ทำงานอยู่นั้นคือ ต้องมีใจที่จะนำเสนอ บริการให้กับผู้เข้าชมให้เกิดความประทับใจ เมื่อเขาเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์แล้ว เขาสามารถได้อะไรกลับไปและอย่างไร ถ้าพิพิธภัณฑ์การเมืองของธรรมศาสตร์สามารถเกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ว่าควรจะตั้งคำถามก่อนที่จะให้ตัวพิพิธภัณฑ์นี้เกิดขึ้นมา ว่า why who และ how ตัวพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่ตัวอาคารที่เก็บอย่างเดียว แต่ว่าพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นสถาบันทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างซับซ้อน เป็นสถานที่เกี่ยวข้องผูกพันกับการเก็บสะสม รวบรวม แล้วก็รักษาวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ในขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ต้องสื่อสารความหมายของ collections นั้น ออกสู่สาธารณชนได้ เรื่องที่ควรคำนึงถึงเพื่อให้สาธารณชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากพิพิธภัณฑ์ คือ หลักการสื่อข้อมูลการจัดแสดง นโยบายพิพิธภัณฑ์เข้าสู่ชุมชน การโฆษณาประชาสัมพันธ์ สิ่งพิมพ์ต่างๆ การจัดนิทรรศการ การจัดแสดง เมื่อพูดถึงนิทรรศการควรแบ่งออกเป็นอย่างน้อย 2 อย่าง คือ นิทรรศการถาวร และนิทรรศการชั่วคราว การจัดนิทรรศการชั่วคราวทำให้มีกิจกรรมบ่อยครั้งขึ้น แต่ความจริงแล้วกิจกรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่นิทรรศการอย่างเดียว แต่ว่าเป็นกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการติดต่อกับชุมชน ให้ผู้ชมได้มามีกิจกรรมตรงนี้มากขึ้น ควรมีการนำเสนอในหลายรูปแบบที่ให้ผู้ชมสามารถเลือกได้ว่าอยากจะเดินไปทางไหน   สำหรับทัศนะของนักวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์อย่าง คุณชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้เสนอความเห็นว่า พื้นฐานในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยวัตถุสะสม การทำวิจัยที่จะต้องมีคนปฏิบัติงานที่มีความรู้ทางด้านนี้และอย่างต่อเนื่อง และการสื่อสารกับคนภายนอก การสื่อสารในที่นี้ไม่ได้หยุดหรือจบเพียงแค่นิทรรศการเป็นคำตอบสุดท้าย แต่มีได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ ที่เป็นลักษณะกิจกรรมสำหรับเด็ก หรือการออกไปหาผู้ดูที่เป็นคนข้างนอกเช่นเดียวกับคุณจุลลดาได้เสนอไว้ ส่วนในประเด็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับพิพิธภัณฑ์การเมืองไทย คุณชีวสิทธิ์เห็นว่าไม่ควรมองพิพิธภัณฑ์การเมืองไทยที่อยากจะตั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเพียงแค่เรื่องประวัติศาสตร์ เพราะว่าการเรียนรู้ทางการเมืองโดยเฉพาะการเมืองแบบประชาธิปไตย มันจะต้องไปพร้อมกับสังคมที่ต้องวิวัฒน์ไปด้วยกัน พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่ทางการเมือง เราจะต้องคอยสร้างสิ่งที่เป็นเหมือนกับกิจกรรมให้มันเกิดตลอดเวลา ถ้าอยากจะทำพิพิธภัณฑ์การเมือง ก็อย่าหยุดเพียงแค่เรื่องประวัติศาสตร์ แต่ให้มองเรื่องการเมืองที่เป็นประเด็นหรือเรื่องที่ทุกคนในสังคมไทยจะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ถ้าทำได้ก็จะทำให้ความมีชีวิตเกิดขึ้นได้เช่นกัน   สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิท่านสุดท้าย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า ถ้าจะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราจะเอาอะไรใส่เข้าไป พิพิธภัณฑ์ไทยมันเปลี่ยนมาจากพิพิธภัณฑ์แบบประวัติศาสตร์ศิลปะ เข้ามาเป็นทฤษฎีมหาบุรุษ ซึ่งหนีไม่พ้น เราคุ้นกับงานของอาจารย์นิธิหรืองานของอาจารย์ธงชัย เราจะเห็นว่า กรอบวิธีคิดที่กำหนดว่าการจัดพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างไร คือกรอบที่เรียกว่า ราชาชาตินิยมกับทฤษฎีของมหาบุรุษคือมองจาก Great Man Theory เพราะฉะนั้นแปลว่าประวัติศาสตร์ของชาติไทย เวลาจัดแล้วมันหนีไม่พ้น คนไทยมาจากไหน เป็นการแย่งพื้นที่กันทางการเมืองว่าจะเสนออะไร ถ้าพิพิธภัณฑ์การเมืองที่ธรรมศาสตร์เสนอในกรอบที่ว่านี้คือ ราชาชาตินิยมกับมหาบุรุษ จะไม่มีคนเข้า เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ เรื่องพิพิธภัณฑ์ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความสมดุลกันระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่ พิพิธภัณฑ์ก็คือพิพิธภัณฑ์ แต่ใครทำ ใครใส่อะไรเข้าไป ตรงนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่ ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตายหรือมีชีวิต ถ้าขาดเรื่องเจตจำนงที่จะมี ศรัทธาที่จะมี ทรัพยากรทั้งเงินและคน คนที่แปลว่าปัญญา มันก็เป็นสิ่งที่ไม่มีอาจจะดีกว่ามี   สำหรับประเด็นสุดท้ายในวงเสวนา ดร. พิภพ อุดร ผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ ก็เสนอความเห็นน่าสนใจว่า เราพูดถึง Space of Politics ว่าเป็นการแย่งพื้นที่ จริงๆแล้วควรจะมองว่ามันเป็น Space of Value Creation คือเป็นการใช้พื้นที่เพื่อสร้างคุณค่าบางอย่าง เรามองว่าธรรมศาสตร์เหมาะกับการทำพิพิธภัณฑ์ทางการเมือง แต่คิดว่าธรรมศาสตร์ต้องกลับมาตอบตัวเองให้ได้ว่า เราจะใช้พื้นที่ตรงนี้ทำอะไรกันแน่ การสร้างพิพิธภัณฑ์โดยที่ไม่เชื่อมโยง หรือคิดแยกส่วนจากปรัชญาการก่อตั้งมหาวิทยาลัย อาจจะทำไม่ได้ ต้องกลับมามองว่าธรรมศาสตร์จริงๆ แล้วต้องการวางบทบาทตัวเองที่แท้จริงอย่างไร พันธกิจที่เรามีตอนนี้เราควรจะต้องมุ่งเน้นไปทางไหน การมองพิพิธภัณฑ์การเมืองเพียงแค่ว่าตั้งขึ้นมาชิ้นหนึ่งในธรรมศาสตร์ มันตายแน่นอน จะไม่มีความหมายและเป็นประโยชน์เลย ธรรมศาสตร์ต้องกลับมาคิดว่าว่าปรัชญาของการก่อตั้งธรรมศาสตร์นั้นคืออะไร Value ที่ตัวเองต้องการสร้างให้สังคมคืออะไร   อย่างไรก็ดีการเสวนาครั้งนี้จบลงด้วยคำพูดของผู้เข้าร่วมเสวนาท่านหนึ่งที่กล่าวว่า ธรรมศาสตร์อาจทำพิพิธภัณฑ์ แต่ขอให้ทำให้ดี ทำให้เข้มข้นเฉพาะบางเรื่องที่เป็นจุดเด่น แล้วก็ไปเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้คนมาดูที่ธรรมศาสตร์แล้วก็ศึกษาต่อด้วยตัวเอง น่าจะเป็นอย่างนั้นมากกว่า   ----------------------------------------- * ซี บุญยโกศล นักศึกษาปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ** เป็นการสรุปความจากการเสวนาเรื่อง "พิพิธภัณฑ์การเมืองไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" วันที่ 14 กรกฎาคม 2547 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์. ตีพิมพ์ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 9 (มิถุนายน 2548 - พฤษภาคม 2549),34-37.  

ประวัติศาสตร์แห่งชาติสนทนากับเรื่องราวการอพยพ

20 มีนาคม 2556

เรื่องราวที่จะได้กล่าวถึงต่อไปนี้ ดัดแปลงมาจากการบรรยายของผู้เขียน เรื่อง ฝรั่งเศสร่วมสมัยในกระแสธารวัฒนธรรมคนอพยพ ซึ่งเป็นการบรรยายในหัวเรื่อง ยลพหุวัฒนธรรม ที่จัดขึ้นที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เมื่อวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม 2554 ในวันนั้น มีวิทยากรที่ร่วมสนทนาด้วยอีก 2 ท่าน คือ อาจารย์สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และชวนถกโดย ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนเลือกประเด็นที่อยู่ในการบรรยายของตนเองมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน โดยไม่ได้หยิบยกเนื้อหาและข้ออภิปรายของวิทยากรอีกสองท่านเข้ามาไว้ในบทความ โครงการพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์การอพยพ                  คำว่า “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” ในที่นี้ มุ่งที่จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐฝรั่งเศสในการบอกเล่าเรื่องราวการอพยพของผู้คนในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การอพยพ หรือ Cité nationale de l’histoire de l’immigration (ต่อไปจะใช้คำว่า CNHI เมื่อกล่าวถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้)                   โครงการพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่แห่งนี้ เริ่มขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2001 โดยการทำรายงานการศึกษาให้กับรัฐบาล ลิโอเนล โจสแปง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และได้รับการอนุมัติเป็นโครงการของรัฐบาล เมื่อ ฌาร์ค ชิรัค ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง เมื่อ ค.ศ. 2002 จากนั้น ในปี 2003 ได้มีการประชุมทางวิชาการเพื่อระดมความคิดเห็นในการบอกเล่าประวัติศาสตร์การอพยพของสาธารณรัฐ เพราะการจะหยิบยกปัญหาเรื่องการอพยพมากล่าวถึงในสังคมร่วมสมัย เพื่อจะสร้างความเข้าใจและความเป็นมาของเรื่องราว                    เรื่องราวของการอพยพหมายถึงการกล่าวถึงบาดแผลและการเจ็บปวดของคนที่ย้ายถิ่นด้วยเหตุต่างๆ นานา และเมื่อมาพำนักอาศัยในแผ่นดินแห่งนี้ ย่อมต้องเกิดช่องว่างในการปรับตัว หรือการยอมหรือไม่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ ดังนั้น เมื่อประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรมเช่นนี้กลายเป็นแก่นแกนของพิพิธภัณฑ์ วาระของการบอกเล่าควรเป็นการบอกเล่าที่ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับความเข้าใจในประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ ฐานคิดในการบอกเล่าประวัติศาสตร์การอพยพของพิพิธภัณฑ์ อาจแสดงจุดมุ่งหมายใน 3 ลักษณะ อันได้แก่                    หนึ่ง “Being French differently” หรือการเป็นฝรั่งเศสในแบบที่แตกต่างออกไป นั่นหมายความว่า พิพิธภัณฑ์พยายามแสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศนั่นเหตุและปัจจัยในการอพยพแตกต่างกัน คนเหล่านี้มาพร้อมกับ “วัฒนธรรมต้นทาง” หรือวัฒนธรรมที่ติดตามมากับชาติภูมิของตนเอง ดังนั้น การมาลงรากปักฐานในสาธารณรัฐย่อมมีความแตกต่างกัน หรือต่างไปจากสิ่งที่เชื่อว่า “เป็นฝรั่งเศส” ของชนส่วนใหญ่ นั่นรวมถึงสิทธิพหุลักษณ์ (plural rights) ของการเป็นพลเมือง และต่อต้านการเลือกปฏิบัติไปพร้อมกัน                     สอง หลีกเลี่ยงการ “ประทับตรา” (stigmatization) เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการบอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมกับสาธารณะ เมื่อนั้นจะเกิดภาพสถิต นั่นคือ การตรึงภาพลักษณะของคนจากวัฒนธรรมอื่น ที่นิ่งและไม่เปลี่ยนแปลง เช่น คนอัลจีเรีย ต้องเป็นคนมุสลิม พูดภาษาอาหรับ และจะต้องเผชิญกับปัญหาในการอพยพแบบนี้ ดังนั้น จึงนำไปสู่แกนของการเล่าเรื่องที่จะต้อง “ไปและกลับ” ระหว่างประวัติศาสตร์ในภาพใหญ่และประวัติชีวิตของปัจเจกบุคคล เพื่อแสดงให้เห็นลักษณะ “ร่วม” และ “เฉพาะ” ของประวัติศาสตร์ (histories)                       สาม ลักษณะพลวัต (dynamism) ทำอย่างไรให้สาธารณะเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในลักษณะที่ไม่หยุดนิ่ง หรือongoing history การอพยพข้ามรัฐชาติยังคงดำเนินต่อไปในปัจจุบัน เหตุและปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลงจากที่กล่าวถึงในพิพิธภัณฑ์ ชีวิตของคนอพยพก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน การพัฒนาเรื่องราว                       จากฐานคิดในการสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์และนิทรรศการเพื่อบอกเล่าประวัติการอพยพ CNHI แจงให้เห็นองค์ประกอบที่เข้ามาเกี่ยวข้องการทำงานอีกสองสามส่วนหลักๆ เรื่องราวที่เป็นเนื้อหาหลักของนิทรรศการครอบคลุม ประวัติศาสตร์ของการอพยพที่ย้อนหลังในช่วง 200 ปี จนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ทางการเมืองเกี่ยวกับข้องกับคนอพยพ คนเหล่านี้ลุกฮือขึ้นทำไม? เพื่อเรียกร้องอะไร? รวมถึงเรื่องราวของคนอพยพในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์สาธารณะ กลุ่มเนื้อหาในส่วนนี้ แสดงเรื่องราวในลักษณะที่เป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นหมุดหมายของเวลา หรือที่เรียกว่า “Landmarks” หรือ Repères ในภาษาฝรั่งเศส โดยแบ่งเนื้อหาได้ 10 ประเด็น อันได้แก่             1. การอพยพ ที่มีช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ 4 ระยะ คือตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19-1914, ค.ศ. 1914-1944, ค.ศ. 1945-1975 และ 1975-ปัจจุบัน โดยบอกเล่าถึงกลุ่มชนและเส้นทางที่พวกเขาในเดินทางจนถึงประเทศแห่งนี้             2. การเผชิญหน้ากับรัฐ แสดงให้เห็นถึงบทบาทของรัฐในการจัดการกับคนอพยพที่เริ่มเห็นเด่นชัดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าในแต่ละช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ รัฐบาลฝรั่งเศสมีนโยบายในการจัดการที่แตกต่างกัน เช่น ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 กระแสของการต่อต้านคนต่างชาติที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของการว่างงานและความวุ่นวายทางการเมือง นำไปสู่นโยบายการควบคุมและติดตาม และการส่งกลับบ้านเกิด             3. “แผ่นดินที่ยินดี ฝรั่งเศสที่ยินร้าย” สภาพของสังคมโดยภาพรวมในแต่ละช่วงเวลา ตัวอย่างเช่นในช่วง ค.ศ. 1945-1974คนอพยพถูกมองว่าเป็นประโยชน์ในการเชิงเศรษฐกิจ ด้วยการขยายตัวของระบบอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภค แต่สังคมกลับเพิกเฉย นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นยุคที่ระบบอาณานิคมล่มสลาย สงครามในอัลจีเรียที่เป็นการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส ได้ทิ้งรอยแผลหรือตราบาปให้กับกลุ่มชน สังคมมองคนอัลจีเรียในเชิงลบ ดูหมิ่น และต้องสงสัย             4. ที่นี่และที่โน้น มีเนื้อหาที่กล่าวถึงคนอพยพตั้งแต่ 1974 จนถึงปัจจุบัน กล่าวถึงชีวิตของคนอพยพที่ต้องอยู่ในแผ่นดินใหม่ แต่ยังผูกพันกับวัฒนธรรมของบ้านเกิด และสายสัมพันธ์นี้เองที่ก่อสร้างสร้างตัวเป็นชีวิตในฝรั่งเศส             5. พื้นที่ชีวิต จากศตวรรษที่แล้วจวบจนปัจจุบัน สถานที่ต่างๆ ทั้งเพื่อการพักอาศัยและทำมาหากินของคนอพยพ เรียกได้ว่า เป็นไปตามอัตภาพ ผู้คนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน และตั้งแต่ ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา รัฐบาลฝรั่งเศสหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับสภาพความเป็นอยู่ Cité กลายเป็นย่านที่อยู่ของคนอพยพในเมืองใหญ่ๆ ในทางหนึ่งสถานที่ดังกล่าวดำรงความเป็นที่พักอาศัย แต่ในอีกทางหนึ่ง เป็นคำเรียก “ย่านคนอพยพ” ที่มีที่มาต่างทิศต่างทาง และกลายเป็นพื้นที่ผสมผสานทางวัฒนธรรม             6. ลงมือทำงาน คนงานต่างชาติและคนจากประเทศในอาณานิคม เป็นทั้งตัวละครที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ และข้อท้าทายในการต่อสู้ทางสังคมตลอดระยะเวลาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 เพื่อค่าตอบแทนที่เหมาะสม ประกันสังคม การลดระยะเวลาการทำงาน ไม่ต่างจากคนงานฝรั่งเศส             7. ลงรากปักฐาน แสดงให้เห็นบทบาทของสถาบันทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การเมือง ที่เปิดโอกาสให้คนอพยพเหล่านี้ลงรากปักฐานบนผืนดินที่รองรับการอพยพ และแน่นอน การมีส่วนร่วมของคนอพยพในสถาบันต่างๆ คือหนทางในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางสังคม             8. การกีฬา ที่กลายเป็นหนทางหนึ่งของการรวมกลุ่มและอัตลักษณ์ร่วมระหว่างคนอพยพด้วยกัน ในไม่ช้า การเล่นและนักกีฬาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกกีฬาของชนชาวฝรั่งเศส             9. ศาสนา ทุกวันนี้ นอกจากคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก อิสลามเป็นศาสนาที่นับถือในหมู่ชนฝรั่งเศสเป็นอันดับรองลงมา โดยผู้คนที่นับถือมาจากชาติกำเนิดที่แตกต่าง ทั้งผู้คนที่มีรากเหล้าในกลุ่มประเทศมาเกรบ (อัลจีเรีย ตูนีเซีย โมรอคโค) จากตุรกีและตะวันออกกลาง ส่วนพุทธศาสนาประดิษฐานเมื่อราวคริสต์ทศวรรษ 1970 จากการอพยพของผู้คนจากตะวันออกไกล และยังมีศาสนามาพร้อมกับผู้คนจากทวีปอเมริกา             10. ศิลปวัฒนธรรม ศิลปินจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนอพยพและสร้างคุณูปการในการสร้างสรรค์ทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นทัศนศิลป์ การแสดง หรือดนตรี              ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวอย่างย่นย่อของสิ่งที่บอกเล่าในนิทรรศการถาวรของ CNHI โดยจะต้องไม่ลืมว่า หมุดหมายทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ได้ควบรวมการบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดกับปัจเจกบุคคลหรือที่เรียกว่า living memory หรือความทรงจำที่ไหลเวียนอยู่ในหมู่ชนของคนอพยพ ฉะนั้น CNHI สะท้อนให้เห็นว่า การทำงานพิพิธภัณฑ์ทางชาติพันธุ์ร่วมสมัย มิใช่เรื่องที่ผูกไว้กับผู้เชี่ยวชาญ ไมว่าจะเป็นนักมานุษยวิทยาหรือนักประวัติศาสตร์ แต่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นกับเจ้าของวัฒนธรรม                           นัยสำคัญของการบอกเล่าเรื่องราวของการอพยพ ไว้ในพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่เช่นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การอพยพดังที่กล่าวมา คงมิใช่ “การอวด” (showcases) หรือการจัดแสดง (displays) เพียงเพื่อความหฤหรรษ์ในความเป็นอื่น (exotism) หรือรู้เพียงว่าพวกเขาแปลก (แยก) จากพวกเราอย่างไร หากควรเป็นการเรียนรู้ความแตกต่างที่สร้างความเป็นเราและเขาไปพร้อมๆ กัน ดังที่ การ์ติกา นาอีร์ นักการศึกษาของ CNHI ได้กล่าวไว้ในบทความของเธอ “เราไปเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ มิใช่เพื่อการเรียนรู้คนอื่นและความแปลกแยกของพวกเขา หากเป็นการทำความรู้จัก ‘ความเป็นอื่น’ ที่อยู่ในตัวเรา ...เราเติบโตมาจากคนอื่นเช่นใด” บรรณานุกรม บทความต่างๆ ในวารสาร Museum international, No. 233/234, Vol.59, No. 1/2, 2007. ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.histoire-immigration.fr  

การพัฒนาการจัดการและการมีส่วนร่วมในงานพิพิธภัณฑฯท้องถิ่น : ประสบการณ์จากการทำงานกับชุมชนคนชอง ในจังหวัดจันทบุรี

22 มีนาคม 2556

ศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมชอง ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.คลองพลู กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2547 จาก ความร่วมมือระหว่างชาวชองในกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.ภาค) โครงการ ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาชอง โดยใช้อาคารศูนย์สาธิตตลาดของกลุ่มแม่บ้านตำบลคลองพลู สถานที่นั้นเคยเป็นที่พบปะเพื่อดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาชอง และเป็นที่เก็บเอกสารต่างๆ ของโครงการฯ ต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรม ชอง เพื่อเป็นสื่อกลางให้คนในชุมชนและประชาชนทั่วไปได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง ราวของชาวชอง ในระยะแรก ศูนย์ฯ ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับกิจกรรมอนุรักษ์-ฟื้นฟูภาษาชอง และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนชองประกอบกับสิ่งของเครื่องใช้ที่ได้รับมอบจากชาวบ้าน ต่อมาทางสกว.ได้ สนับสนุนงบประมาณการวิจัยแก่ชุมชนชอง รวม ๓ โครงการ คือ โครงการการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นภาษาชอง ซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาชอง โครงการศึกษาความรู้เรื่องพืชคุ้ม-คล้า ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่คนชองนำมาใช้ทำเครื่องจักสาน และโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชอง ซึ่งเดิมมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การปรับปรุงนิทรรศการภายในศูนย์ฯ เป็นหลัก   ผู้เขียนได้รับโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชอง ด้วยการเชื้อเชิญของคุณสิริรัตน์ สีสมบัติ นักศึกษาปริญญาโทสาขาวัฒนธรรมศึกษา วิชาเอกพิพิธภัณฑ์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นคนชองในพื้นที่ ตั้งแต่แรกผู้เขียนได้เสนอความเห็นแก่คุณสิริรัตน์ว่า การพัฒนาศูนย์ฯ ไม่ควรจะมุ่งไปที่การพัฒนาเนื้อหานิทรรศการเท่านั้น แต่ควรคิดเรื่องพัฒนาการจัดการด้านต่างๆ เช่น การจัดกิจกรรม การหารายได้ ที่จะช่วยให้ศูนย์ฯ อยู่ต่อไปได้ไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากงานศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชองก็เช่นเดียวกับงานพิพิธภัณฑฯท้องถิ่นอื่นๆ ในประเทศไทยที่มักประสบปัญหาด้านการจัดการ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งการเรียนรู้ชุมชนอย่างที่มุ่งหวังได้   การดำเนินงานโครงการในเบื้องต้นเป็นการพาคณะกรรมการศูนย์ฯไปศึกษาดูงานที่ตลาดร้อยปีสามชุก ศูนย์อนุรักษ์ควายไทย และพิพิธภัณฑสถานแห่งอื่นๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมชวนสนทนาในพื้นที่ เพื่อถามถึงมุมมองการดำเนินงานของตลาดสามชุกเปรียบเทียบกับการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชองที่ผ่านมา สิ่งที่ได้รับฟังในครั้งแรกก็คือ“ปัญหา” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่คนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าศูนย์ฯ ทำอะไร? ทำเพื่ออะไร? เพราะที่ผ่านมาการเริ่มต้นและมีอยู่ของศูนย์ฯ เกิดจากคนและงบประมาณจากภายนอกเข้ามาริเริ่ม โดยมีคนในชุมชนเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่มีส่วนร่วม และคนกลุ่มเล็กๆ นี้เองก็มีอาชีพและครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้ไม่สามารถให้เวลาในการดูแลจัดการศูนย์ฯได้เท่าที่ควร หลายคนรู้สึกไปในทำนองเดียวกันว่า หากต่อไปไม่มีการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภายนอกแล้ว อนาคตของศูนย์ฯ จะเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาศูนย์ฯ เองไม่มีรายได้จากทางใดเลย มีแต่รายจ่ายค่าน้ำค่าไฟที่กรรมการศูนย์ฯ บางคนช่วยออกให้บ้าง   ภายหลังจากรับฟังปัญหาต่างๆ แล้ว การชวนสนทนาได้พาย้อนกลับไปสู่ประสบการณ์การดูงานที่ตลาดสามชุก และวิธีการจัดการกับปัญหาซึ่งคล้ายคลึงกัน พร้อมกับนำเสนอตัวอย่างการจัดการที่เป็นไปได้ โดยนำตัวอย่างการจัดการพิพิธภัณฑฯท้องถิ่นในที่อื่นๆ มาเพิ่มเติมในการสนทนา เมื่อการชวนสนทนาในส่วนนี้จบลง หลายคนเริ่มเห็นวิธีการรับมือกับปัญหาที่มีอยู่ และเริ่มเสนอวิธีการจัดการกับปัญหาตามแนวทางของแต่ละคน และช่วยกันประเมินศักยภาพของกลุ่มและชุมชนว่าวิธีไหนจะเหมาะสมมากที่สุด ทำให้บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยปัญหาเมื่อแรกชวนสนทนาค่อยๆ เจือจางลง หลายคนเริ่มมองเห็นทรัพยากรวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนและศักยภาพของชุมชนที่ จะนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้มากขึ้น เช่น มีแนวคิดที่จะผสานโครงการศึกษาเรื่องพืชคุ้ม-คล้า เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของศูนย์ โดยใช้พื้นที่ศูนย์เป็นสถานที่จัดกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ และจัดจำหน่ายเครื่องจักสานที่ทำจากคุ้ม-คล้า ด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อมีกิจกรรมรองรับ ศูนย์ฯ จะมีความเคลื่อนไหวและมีรายได้มาดำเนินงาน ชาวบ้านเองจะมีรายได้มากขึ้นและได้เป็นผู้มีส่วนในการอนุรักษ์งานหัตถกรรมพื้นบ้านไปพร้อมกัน นอกจากนี้ทางคุณสิริรัตน์ได้เสนอโครงการจัดทำสินค้าที่ระลึก เพื่อหารายได้เข้าศูนย์ฯ ด้วย   ด้วยทางโครงการเล็งเห็นว่าการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ชุมชนชองไม่ควรจำกัดอยู่แต่เพียงนิทรรศการภายในศูนย์ฯ เท่านั้น แต่ควรจะรวมพื้นที่ป่า นา สวน ที่คนชองผูกพันมาตั้งแต่อดีตเข้าไว้ด้วย จึงได้เชื้อเชิญผู้แทนคนชองจากหมู่บ้านตะเคียนทองมาเข้าร่วมกิจกรรมและร่วมทำแผนที่แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมชองของทั้งสองตำบล ผลที่ได้จากกิจกรรมทำแผนที่ คือ ข้อมูลแหล่งการเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมคนชองในชุมชน รวมไปถึงชื่อผู้ที่จะให้ข้อมูลในแต่ละแหล่ง ที่จะใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในรายละเอียดต่อไป ในการดำเนินงาน โครงการได้ฝึกการเก็บข้อมูลแก่ชาวบ้าน เพื่อนำไปเป็นแนวทางการเก็บข้อมูลวัฒนธรรมชุมชนโดยชุมชนเองต่อไปด้วย   จากกิจกรรมการทำแผนที่ชุมชน นำไปสู่การทัศนศึกษาพื้นที่ป่าในตำบลตะเคียนทอง ซึ่งมีคนในชุมชนชองให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากเป็นพิเศษ หลายคนได้เรียนรู้วิถีชีวิตคนชองที่ผูกพันกับป่าจากพรานนำทางและจากผู้รู้ ที่ร่วมขบวนไปด้วย ด้วยศักยภาพการเป็นแหล่งเรียนรู้และการถ่ายทอดของผู้รู้ นำไปสู่ข้อเสนอในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วัฒนธรรมชองที่เรียกว่า“ห้องเรียนธรรมชาติ” ในพื้นที่เขาตะเคียนทอง ผู้แทนจากตำบลตะเคียนทองได้ให้ความสนใจที่จะพัฒนากิจกรรมดังกล่าวให้เป็น จริง เพื่อสร้างเครือข่ายแหล่งการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชองในตำบลคลองพลู ส่วนปัญหาการขาดการสนับสนุนภายในท้องถิ่นโดยเฉพาะจากองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น ทางโครงการได้พยายามประสานงานตัวแทนจาก อบต. เพื่อรับทราบแนวทางการสนับสนุนกิจกรรมแก่ศูนย์ฯ โครงการได้รับคำอธิบายถึงขั้นตอนการรับการสนับสนุนจาก อบต. ที่ ศูนย์ฯ ควรต้องเรียนรู้ เนื่องจากในไม่ช้าการสนับสนุนจากภายนอกคงจะหยุดลง การสนับสนุนจากองค์กรภายในท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทาง อบต.ได้ เสนอความเห็นว่า ศูนย์ฯ มีศักยภาพในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม และอาจจะเสนองบประมาณในการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมต่างๆของศูนย์ฯ ผ่านทาง อบต.ได้ ในแต่ละปีได้ หากเป็นไปในทิศทางดังกล่าว ศูนย์ฯ จะมีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมในชุมชนมากขึ้น และช่วยให้ชาวบ้านมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของศูนย์มากขึ้นด้วย   แม้ว่าโครงการการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ชุมชนชองจะดำเนินการแล้วเสร็จตาม เงื่อนไขของเวลา แต่กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนชอง และการพัฒนาการจัดการยังคงดำเนินต่อไป ความสำเร็จจะมากน้อยแค่ไหนคงขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในชุมชนเป็นสำคัญ ผู้เขียนเป็นเพียงคนนอกที่นำเครื่องมือการจัดการและประสบการณ์การจัดการเข้า ไปเสนอให้ชุมชนเรียนรู้และเลือกใช้ตามความพอใจของชุมชนเท่านั้น

ร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

02 ตุลาคม 2558

วัตถุหรือข้าวของ เป็นหลักฐานที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีต และเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนความทรงจำ ให้ย้อนระลึกถึงเรื่องราวที่เคยเกี่ยวข้องกับมัน ไม่เพียงเล่าถึงชีวิตของคนที่เคยใช้หรือวิถีชุมชนในอดีต แต่วัตถุยังสามารถบอกเล่าปรากฏการณ์บางอย่างของสังคม  กิจกรรมร้อยของร้อยเรื่องร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้จัดขึ้นในพ.ศ. 2558  จึงเป็นการชวนให้ชาวพิพิธภัณฑ์ได้ค้นหาเรื่องราวและความหมายของวัตถุในมุมมองที่หลากหลาย นอกจากจะเป็นการเพิ่มเรื่องเล่าให้กับวัตถุในพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังเชื่อมโยงคนกับคน คนกับข้าวของ คนกับชุมชน ทั้งในท้องถิ่นเดียวกันและท้องถิ่นอื่นๆ  ที่แม้ไม่ได้อยู่ใกล้เคียง แต่มีเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงกัน ร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ จึงไม่ใช่การแสดงจำนวนแต่เป็นการเชื่อมโยงร้อยเรียงระหว่างคน เรื่องราว และวัตถุ  ที่ทำให้เห็นชีวิตคนทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกระบวนการที่ศูนย์ฯ นำมาใช้ในการ ร้อยของ ร้อยเรื่อง และร้อยคน  หรือที่เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์ หนึ่งในทีมงานเรียกว่า recollection คือการสร้างพื้นที่ให้คน ของ และเรื่องมาเจอกัน เพื่อร่วมกันทบทวนความรู้ แชร์เรื่องเล่าและประสบการณ์  รวมถึงการร่วมกันสร้างเรื่องเล่าใหม่ ทำให้เกิดเป็นเรื่องเล่าใหม่ ความรู้ใหม่ ประสบการณ์ใหม่  ความรู้ที่ได้จากการสืบค้น แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการบันทึกเรื่องราว  และกระบวนการการร่วมกันสร้างความรู้ดังกล่าว ปลายทางคือต้นฉบับหนังสือ “ร้อยของ ร้อยเรื่อง เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น”  เพื่อเป็นพื้นที่หนึ่งในการบันทึกและถ่ายทอดความรู้ท้องถิ่น - เวทีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์รวมภาค:ชี้แจงโครงการและหาผู้ร่วมก่อการ -กระบวนการเริ่มจากการชักชวนชาวพิพิธภัณฑ์ให้เลือกวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ที่ยังมีการใช้งานอยู่ในชุมชน โดยแบ่งหมวดหมู่วัตถุเพื่อเป็นกรอบกว้างๆ ในการคัดเลือกวัตถุมาเล่าเรื่องใน 6 หมวดหมู่  คือ การทำมาหากิน การแต่งกาย  การรักษาโรค ของใช้ในบ้าน  การละเล่น/บันเทิงเริงรมย์ และศาสนาและความเชื่อ  แล้วให้ชาวพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องราวของวัตถุชิ้นนั้น โดยมีแบบบันทึกข้อมูลวัตถุ เพื่อช่วยให้ผู้สืบค้นข้อมูลนึกออกว่ามีวัตถุแต่ละชิ้นจะเล่าเรื่องอะไรได้บ้าง  และนำข้อมูลนั้นมานำเสนอในการประชุมเวทีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั้งประเทศที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2557  เวทีนี้มีพิพิธภัณฑ์ส่งวัตถุและเรื่องเล่ามามากว่า 180 ชิ้น จากพิพิธภัณฑ์ 70 แห่ง โดยแบ่งกลุ่มนำเสนอแบบคละภาค  และพยายามจัดให้พิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุในหมวดหมู่เดียวกันมาอยู่เวทีนำเสนอกลุ่มเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าวัตถุคล้ายกันแต่อาจใช้งานต่างกัน คำเรียกชื่อวัตถุต่างกัน  การให้ความหมายหรือคุณค่าแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ภูมิภาค นอกจากนี้การแลกเปลี้ยนในเวทียังทำให้ขอบเขตหรือนิยามความหมายของหมวดหมู่ชัดเจนขึ้น เพราะชาวพิพิธภัณฑ์ได้ช่วยกันกำหนดนิยามของแต่ละหมวดหมู่ เช่น “ของใช้ในบ้าน” จะหมายถึงอะไรได้บ้าง ใช้นอกบ้านถือเป็นของใช้ในบ้านหรือไม่ อย่างไร การทำมาหากินจะหมายถึงอะไรบ้าง  ข้อท้าทายประการหนึ่ง ที่ทีมงานมักจะถูกถามว่าทำไมต้องเป็นของที่ยังใช้งานอยู่  เพราะของในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นของที่ไม่ใช้แล้ว และมักจะกล่าวว่าพิพิธภัณฑ์มีของเก่าแก่ทรงคุณค่ามากมายน่าจะหยิบมานำเสนอ ดีกว่าวัตถุที่ยังมีการใช้งานอยู่ซึ่งดูเป็นวัตถุธรรมดาสามัญ  ซึ่งก็เป็นความจริงที่แต่ละพิพิธภัณฑ์เก็บสะสมและจัดแสดงวัตถุศิลปวัตถุที่มีความเก่าแก่ หาดูได้ยาก บางชิ้นมีความลวดลายวิจิตร งดงาม เป็นที่ภาคภูมิใจเป็นไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น แต่เหตุที่ทีมงานเสนอว่าให้เป็นวัตถุที่ยังใช้งานอยู่เพราะเรา(ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ทีมงานศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และผู้สนใจ) สามารถหาที่มาที่ไปได้ของวัตถุได้  ไปพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้องได้ เห็นบริบทของวัตถุ ความสัมพันธ์ของคนกับวัตถุ  ทำให้เรื่องเล่ามีชีวิตชีวา  และเห็นความหมาย หน้าที่ ความสำคัญของวัตถุที่ยังคงใช้สืบมาถึงปัจจุบันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง   แบ่งกลุ่มนำเสนอข้อมูลวัตถุ ในเวทีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เดือนธันวาคม - แบบบันทึกข้อมูลวัตถุ : เครื่องมือช่วยคิดว่าเราจะเล่าเรื่องอะไรได้บ้าง -หลังจากการประชุมเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เมื่อเดือนธันวาคม ทีมงานนำข้อมูลที่ได้จากวงแลกเปลี่ยนและข้อมูลวัตถุเบื้องต้นที่ชาวพิพิธภัณฑ์นำเสนอ มาพัฒนาแบบฟอร์มการบันทึกข้อมูลเพื่อเพิ่มมุมมองและครอบคลุมเรื่องเล่าบางอย่าง  และเชื่อว่าแบบบันทึกข้อมูลชุดใหม่จะช่วยให้ผู้เล่าเรื่องหรือผู้สืบค้นข้อมูลมีมุมมองในการเล่าเรื่องมากขึ้น  เห็นเรื่องเล่าเฉพาะวัตถุแต่ละชิ้นมากขึ้น และที่สำคัญคือมุมมองที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนกับวัตถุ ในช่วงเวลาต่างๆแบบบันทึกข้อมูลวัตถุที่ทีมพัฒนาขึ้น พยามนำเสนอมุมมองให้ผู้ที่ไปสืบค้นข้อมูลมีมุมมองวัตถุในมิติต่างๆ ทั้งที่เห็นเป็นรูปธรรมและนามธรรม ความเป็นรูปธรรมเช่นลักษณะวัตถุอันประกอบด้วยวัสดุ รูปทรง สีสัน ลวดลาย บางชิ้นอาจมีคำจารึก ร่องรอยการใช้งาน และสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่จะรู้ได้จากประสบการณ์ และคำบอกเล่าจากความทรงจำ เช่น ชื่อเรียกท้องถิ่น วิธีผลิต ผู้สร้าง ผู้ผลิต   วิธีการใช้งาน  ประวัติความเป็นมา ความเชื่อ การได้มาของวัตุ ความสำคัญ  เป็นต้น  ทีมงานนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกและเล่าเรื่องของชาวพิพิธภัณฑ์ที่ได้นำเสนอในครั้งแรก กรอกในแบบบันทึกข้อมูลชุดใหม่ แล้วส่งกลับให้ชาวพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ชาวพิพิธภัณฑ์ค้นคว้าข้อมูลที่ยังไม่ได้เล่า  หรือมุมมองที่ยังสามารถค้นคว้าเรื่องราวของวัตถุนั้นได้อีก เพื่อให้ค้นคว้าต่อ แล้วนำมาคุยแลกเปลี่ยนกันในวงสนทนาระดับภูมิภาค ในการประชุมเครือข่าย 4 ภูมิภาค- เวทีเครือข่าย 4 ภูมิภาค : กระชับพื้นที่วงสนทนา -เวทีเครือข่ายระดับภูมิภาค ที่จัดขึ้น อีก 4 ครั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้และภาคเหนือ เป็นเวทีในการนำเสนอข้อมูลที่ชาวพิพิธภัณฑ์ได้ไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม โดยมีแนวคำถามให้ชาวพิพิธภัณฑ์ไปค้นคว้าต่อจากแบบบันทึกข้อมูลที่ส่งกลับไปให้ เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลที่วัตถุ  นอกจากนำเสนอข้อมูลเพิ่มแล้ว ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกันในระดับภูมิภาค ซึ่งมีจุดร่วมกันบางอย่างที่จะช่วยกันเพิ่มมุมมองในการเล่าเรื่องให้กับวัตถุในระดับลึกขึ้น ในเวทีนี้เราเห็นการนำเสนอของเรื่องจากผู้เล่าหลายกลุ่ม บางเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของคนที่เคยใช้  บางคนเป็นช่างทำวัตถุนั้นๆ เรื่องเล่าบางเรื่องมาจากการเคยเห็นเคยพบหรือมีผู้ถ่ายทอดให้ฟัง ข้อมูลวัตถุในเวทีนี้จึงมีจุดร่วมบางอย่างและความแตกต่างกันในรายละเอียด  เช่น ชื่อเรียก วัสดุ วิธีผลิต วิธีใช้ ผู้ใช้ ผู้ผลิต ความต่อเนื่องในการใช้งานในแต่ละท้องถิ่น  ความต่างกันมีปัจจัยหลายอย่างทั้งภูมิประเทศ ทรัพยากร  เศรษฐกิจ ความเชื่อ  ฯลฯ รวมถึงมุมมองของผู้เล่า การเปรียบเทียบ เชื่อมโยงเรื่องเล่าและข้าวของของพิพิธภัณฑ์ตนเองกับพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ เพื่อให้เห็นความแตกต่าง หลากหลาย เช่นกวัก อุปกรณ์หนึ่งในการปั่นด้ายสำหรับทอผ้า มีการใช้งานในหลายพื้นที่ทั้งในภาคเหนือ และภาคกลาง นอกจากใช้ในการปั่นฝ้ายแล้ว กวักยังถูกนำมาใช้ในการละเล่นเช่นการเล่นผีบ่ากวัก คุณยงยุทธ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านมณีทอง จังหวัดลำพูน เล่าว่า ช่วงปีใหม่เมือง(สงกรานต์) เขาจะเล่นผีบ่ากวัก เป็นผีอะไรก็ได้ อุปกรณ์ที่ใช้เล่นมีกวัก (บางแห่งแต่งตัวให้เป็นคน โดยส่วนหัวทำจากน้ำเต้า) ใช้ไม้ฮวกทำเป็นแขน เอาเสื้อใส่ และมีไม้ส้าวยาวๆ มีสวยดอกไม้ ดอกไม้จะใช้ดอกซอมพอหรือหางนกยูง มีน้ำขมิ้นส้มป่อย เวลาเล่นจะเล่นตามลานบ้าน เล่นตอนกลางคืนส่วนใหญ่ผู้เล่นเป็นหญิงสูงอายุ(เป็นแม่เฮือน) มีคำร้องเช่น  “.. เอาไม้ส้าวตีไปที่ดาวสุกใส..” การถามจะมีคำตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่”  ถ้าใช่ก็แกว่ง ไม่ใช่ก็นิ่ง  ถามไม่ดี พิเรนทร์ ก็จะไปโขกหัว สนุกสนาน เป็นผีที่สนุกสนาน  ก่อนผีจะออกจะเอาน้ำขมิ้นส้มป่อย รดที่ตัวบ่ากวัก และจะออกไป  คนที่มาดูเมื่อก่อนจะเป็นหนุ่มสาวทั้งในหมู่บ้านเดียวกัน และหมู่บ้านใกล้เคียง  หนุ่มสาวถามเรื่องแฟน ส่วนการสานกวักที่ใช้ทอผ้าเชื่อว่าเวลาสาน ต้องไปสานนอกบ้าน ถ้าสานในบ้านเขาบอกว่ามันขึด ต้องไปสานในวัดในห้วย  คุณนเรนทร์จากมิกกี้เฮ้าส์ จังหวัดลำพูนกล่าวว่าที่ทาขุมเงิน จังหวัดลำพูน มีผีหม้อนึ่ง จะเล่นตอนกลางคืนวันที่พระจันทร์เต็มดวง คุณสุทัศน์ จากพิพิธภัณฑ์เล่นได้ จังหวัดเชียงรายช่วยเสริมว่าการห้ามสานกวักในบ้าน ต้องใช้ไม้ผิว ซึ่งมีความคม ซึ่งในบ้านอาจมีเด็กเล็กซุกซน คมไม้ไผ่อาจบาดได้   คุณวินัย ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแผ่นดินล้านนา จ.พะเยาเล่าว่าเคยเห็นการเล่นผีหม้อนึ่ง  เป็นหม้อที่นึ่งข้าวเหนียว  เป็นต้นนอกจาก ”ผีบ่ากวัก” ในภาคเหนือที่นำเสนอโดยบ้านมณีทองยังมีการเล่น “นางกวัก” ที่นำเสนอโดยศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทราย จังหวัดลพบุรี ซึ่งจะเล่นกันในช่วงสงกรานต์ และช่วงประเพณีกำฟ้าของชาวพวน โดยกวักและข้าวของที่ใช้ทำนางกวักต้องเป็นของแม่หม้าย ส่วนคนจับกวัก(คนอัญเชิญ) ต้องเป็นแม่หม้าย เดิมมักเล่นตามทางสามแพร่ง เชิญผีทางหลวง ผีทั่วไป คนที่เพิ่งตาย  ปัจจุบันเชิญเจ้าพ่อสนั่นเพราะเชิญผีอื่นอาจเป็นผีที่ไม่ดีมาเข้ากวัก จึงเชิญเฉพาะเจ้าพ่อสนั่นซึ่งเป็นที่นับถือของคนในชุมชน เมื่อเชิญวิญญาณมาแล้วก็จะถามคำถาม มีทั้งเวลาเรื่องธรรมชาติ การเล่าเรียน เรื่องลูกหลาน เรื่องทั่วไป เมื่อก่อนเขียนคำตอบบนดิน ต่อมาเขียนในกระด้งใส่ทรายเพราะต้องไปแสดงที่อื่น ถาม-ตอบ ใช่ -ไม่ใช่ เมื่อก่อนจะเล่นตอนกลางคืน ปัจจุบันเล่นได้ทั้งกลางวันและการคืน ส่วนมากเป็นการเล่นสาธิตในงานประเพณีข้อมูลเรื่องนางกวักหรือผีบ่ากวักจากการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์สองแห่ง การนำเสนอในเวทีภูมิภาคทำให้เห็นจุดร่วมถึงความเชื่อบางอย่าง เช่น การละเล่นเกี่ยวกับผีเรื่องผีที่มีหลากหลาย การใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวมาสื่อถึงผี บางแห่งอาจใช้วัสดุอุปกรณ์การเล่นต่างกัน ความเชื่อในเรื่องขึด หากเปรียบเทียบข้ามภาค(ภาคเหนือกับภาคกลาง) การเล่นนางกวักของมีทั้งความเหมือนและแตกต่าง โดยที่ใช้กวักเป็นอุปกรณ์การเล่นเหมือนกันคือกวักทอผ้า  แต่ต่างกันที่รายละเอียด เช่น วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาทำนางกวัก ของพิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทรายต้องเป็นกวักของแม่หม้าย (ของบ้านมณีทองไม่ต้องแต่งตัวให้กวักก็ได้หรือแต่งตัวก็ได้แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นของแม่หม้าย)  ผู้เล่นของพิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทราย ต้องเป็นแม่หม้าย แต่ของบ้านมณีทองเป็นผู้หญิงใครก็ได้ และผีที่เชิญพิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทราย ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากผีทั่วไป มาเป็นผีดี “เจ้าพ่อสนั่น” ที่เป็นที่นับถือของชุมชน  ส่วนเรื่องที่ถามในกรณี ของบ้านทรายมักจะเป็นเรื่องทั่วไป เรื่องลูกหลาน ส่วนของบ้านมณีทองการเล่นผีบ่ากวักเป็นพื้นที่หนึ่งของการพบปะกันของคนหนุ่มสาว เป็นต้น   ร้อยเรื่อง และร้อยของ : หลังจากพิพิธภัณฑ์นำเสนอข้อมูลแล้ว ทีมงานได้ชักชวนให้ชาวพิพิธภัณฑ์ลองดูว่า จากวัตถุจากเรื่องที่แต่ละแห่งนำเสนอ  ถ้าจะลองเล่าเรื่องที่แสดงวิถีชีวิตของคนในแต่ละภูมิภาค จากวัตถุที่มี จะเล่าเรื่องอะไรบ้าง ที่แสดงถึงวิถีชีวิตท้องถิ่น (กระบวนการนี้ทำในภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคเหนือ) การเล่าเรื่องของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ นำมาผูกโยงกับงานประเพณี เช่นงานพระธาตุ งานลากพระ โดยสมมุติให้มีตัวละครดำเนินเรื่อง และพบเจอวัตถุต่างๆ อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ เช่น ชายหนุ่มหญิงสาวควงคู่ไปดูการแสดงชายหนุ่มแต่งตัวด้วยผ้าจวนตานี เหน็บกริช พกกล้องยาสูบ หญิงสาว แต่งตัวด้วยชุดยะหยา ก่อนสวมใส่ชุดต้องรีดผ้าให้เรียบ ด้วยเตารีด ไปดูการแสดงหนังตะลุงแก้บนทวด ใช้รูปแสดงยักษ์ผู้ ฤาษี  ข้างโรงหนังตะลุง ขายขนมครก  ขนมก้อ ดูเสร็จกลับบ้าน จุดไต้ หุงข้าว แล้วไปอาบน้ำที่บ้อน้ำใช้ติมาตักน้ำ เป็นต้น บางแห่งเล่าเรื่องขนม โดยใช้วัตถุที่เป็นอุปกรณ์ทำขนม เช่น เบ้าหนมก้อ รางหนมครก ป้อยตวงสาร   ส่วนพิพิธภัณฑ์ภาคอีสานเชื่อมโยงวัตถุ 1 ชิ้นกับบริบทต่างๆ ในชุมชน ซึ่งทำให้เห็นความสัมพันธ์กับคนที่เกี่ยวข้อง เช่น แหเปิดจอม เป็นเครื่องมือจับปลาของคนบ้านขี้เหล็กใหญ่ที่สามารถทำแหที่ใช้ได้แม้ในสภาพแหล่งน้ำที่มีสิ่งกีดขวาง เช่น สวะ หนาม ใช้กับแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง และตื้น จับปลาตัวใหญ่ได้  คนหว่านแหต้องแข็งแรง ต้องไปกันเป็นทีม ปลาที่ได้ ทั้งเอาไปทำปลาร้า ขาย เป็นต้น ทำให้เห็นว่าวัตถุไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวหรือเล่าเฉพาะเรื่องของตัวเองแต่ยังสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้คนลักษณะพื้นที่ สภาพแหล่งน้ำ การดำรงชีพ ส่วนพิพิธภัณฑ์ภาคเหนือ เช่น พิพิธภัณฑ์ไหล่หินเล่าวิถีชีวิตของเกษตรกรบ้านไหล่หินที่ทำนาโดยใช้แรงงานจากวัวควาย ก๊างป๋อเป็นเครื่องมือ ที่ใช้ในการถักเชือกสำหรับร้อยจมูกวัวควาย เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวชาวนาจะร่วมกันเกี่ยวข้าวและนวดข้าว การนวดข้าวจะใช้ไม้ม้าวข้าว คีบข้าวแล้วตีเพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวง และหลังฤดูเก็บเกี่ยวจะมีงานบุญคือการตานข้าวใหม่ซึ่งจะมีการประดับตุงที่วัดที่เป็นสถานที่จัดงาน  เป็นต้นกระบวนการร้อยของและร้อยเรื่องดังกล่าวทำให้เห็นวิธีการเล่าเรื่อง ตามความถนัด ธรรมชาติและชีวิตประจำวันของคนแต่ละท้องถิ่น  ซึ่งอาจแตกต่างกับการเล่าเรื่องของนักวิชาการหรือคนในอาชีพอื่นๆ  อย่างไรก็ตามการเล่าเรื่องของแต่ละแห่งสะท้อนให้เห็นสีสัน และลักษณะของผู้คนในแต่ละถิ่นได้อย่างน่าสนใจ  และอาจสื่อสารกับคนในท้องถิ่นเดียวกันได้เข้าใจมากกว่า เพราะมีวัฒนธรรมร่วมกัน ติดตั้งเครื่องมือบางอย่าง: เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ต่อ กระบวนการสำคัญที่ทีมงานคำนึงถึงคือการเพิ่มทักษะหรือการให้เครื่องมือบางอย่างกับผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เพื่อให้สามารถนำไปใช้ต่อได้ ขั้นต่อไปของการพัฒนาต้นฉบับคือชาวพิพิธภัณฑ์จะต้องกลับไปเขียนบทความและถ่ายภาพวัตถุแล้วส่งมาให้กับทีมงานเพื่อใช้ทำต้นฉบับหนังสือ การเรียนรู้วิธีการเขียนและการถ่ายภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความรู้และความมั่นใจในการสร้างเรื่องเล่าที่มาจากคนท้องถิ่นเอง เครื่องมือดังกล่าวนอกจากจะนำมาใช้ในการเขียนบทความในครั้งนี้แล้ว ยังสามารถนำไปใช้สื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์ เช่น ใบความรู้ แผ่นพับ ป้ายนิทรรศการ ฯลฯสร้างภาพ    จะถ่ายภาพอย่างไรให้สวยและสื่อ ทีมงานจัดให้มีการพูดคุยเพื่อแนะนำวิธีการถ่ายภาพอย่างง่ายเพื่อถ่ายภาพให้สวย และสื่อความหมาย โดยช่างภาพมือสมัครเล่นแต่ชอบการถ่ายภาพ มาแนะนำวิธีการถ่ายรูปเพื่อนำมาใช้ในสิ่งพิมพ์ โดยใช้กล้องธรรมดาๆ แบบที่ใครก็มี   โดยใช้แสง มุมมอง ฉากถ่ายภาพ  ทั้งการถ่ายเฉพาะวัตถุ และการถ่ายวัตถุกับบริบทการใช้งานเพื่อสื่อหน้าที่การใช้งานของวัตถุ โดยให้ชาวพิพิธภัณฑ์เห็นตัวอย่างภาพถ่ายวัตถุที่มีการใช้แสง มุมกล้องแบบต่างๆ  เพื่อให้เห็นตัวอย่าง และ รู้วิธี เพื่อนำไปใช้ได้ สร้างเรื่อง : เรื่องเล่าที่เขียนและเล่าโดยชาวพิพิธภัณฑ์  การบันทึก/การเขียนเป็นอุปสรรคของหลายคน รวมถึงชาวพิพิธภัณฑ์บางคน  บางคนถนัดที่จะเล่าเรื่อง เวลาเล่าจะเล่าได้อย่างออกรส และมีลีลาการเล่าที่น่าสนใจ แต่เวลาที่จะลงมือเขียนอาจไม่รู้จะเริ่มอย่างไร จะเขียนอะไร หรือกังวลว่าเขียนแล้วจะไม่เป็นวิชาการ ข้อจำกัดนี้หลายคนอาจบอกว่าปัจจุบันมีวิธีการบันทึกเรื่องราวได้หลายรูปแบบทั้งการบันทึกเสียง ภาพเคลื่อนไหว  อย่างไรก็ตามการเขียนก็ยังคงมีความสำคัญ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการบันทึกเรื่องเล่า และความรู้สึกของผู้คน นิทรรศการบางนิทรรศการ หนังสือบางเล่ม ใช้คำบรรยายและภาพมาช่วยสื่อเรื่องเล่าได้อย่างมีพลังและน่าสนใจโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอื่นๆ  เราจึงอยากให้ชาวพิพิธภัณฑ์ทดลองเขียน ไม่ต้องมากมายหรือจะต้องคำนึงเรื่องความเป็นวิชาการ แต่เขียนโดยใช้คำพูดของตนเองเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว โดยเชิญผู้มีประสบการณ์ในการเขียนมาช่วยแนะนำและชักชวนให้เขียนแบบง่ายๆ แต่ได้ใจความ และแสดงถึงหัวใจของสิ่งที่เราอยากสื่อได้จริงๆ แล้วเราก็พบว่า ทุกคนกำลังจะก้าวข้ามพ้นอุปสรรค หลายคนพบว่าการเขียนไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป - เก็บข้อมูลภาคสนาม ล้อมวงสนทนากลุ่มย่อย -หลังการประชุมเครือข่ายภูมิภาคเสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม  ชาวพิพิธภัณฑ์กลับไปทำงานต่อโดยเลือกเรื่องที่จะเล่าของวัตถุชิ้นนั้น เขียนเป็นบทความหรือข้อมูลกลับมาให้กับทีมงาน ซึ่งทีมงานได้นำมาร่วมกันอ่าน  รวบรวมเนื้อหาและวางเค้าโครงหนังสือคร่าวๆ หลังจากนั้นจึงลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับข้อมูลและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมบางเรื่อง การลงพื้นที่ ทำให้ทีมงานซึ่งเป็นคนที่ไม่ค่อยจะมีความรู้อะไรเกี่ยวกับวัตถุเลย ได้เห็นและเข้าใจวัตถุและบริบทวัตถุมากขึ้น ขณะเดียวกันการเก็บข้อมูลก็ทำให้เกิดวงสนทนาเล็กๆ โดยมีผู้ร่วมสนทนาคือนักวิชาการศูนย์ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ คนในชุมชนที่มีมีประสบการณ์โดยตรงกับวัตถุชิ้นนั้นๆ ยกตัวอย่างวงสนทนาเรื่องชุดเซิ้งหรือชุดเจยที่บ้านขี้เหล็กใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ ที่นี่ทั้งชุมชนเป็นพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ไม่ได้จำกัดอยู่ในอาคารใดอาคารหนึ่ง วัตถุจึงเก็บรักษาไว้ที่บ้านของผู้เป็นเจ้าของ  แม่นันทาซึ่งเป็นเจ้าของชุดเซิ้งและเป็นนางเซิ้ง เล่าว่าพ่อของแม่นันทาเป็นคนริเริ่มการทำชุดเซิ้งและขบวนเซิ้งบั้งไฟขึ้นในชุมชนเพื่อใช้เซิ้งบั้งไฟในงานบวงสรวงเจ้าพ่อพญาแล ซึ่งเมื่อก่อนขบวนเซิ้งเป็นผู้ชายทั้งหมดแต่แต่งตัวเป็นผู้หญิง สวมเสื้อและนุ่งผ้าซิ่นสีดำ สวมกวยหัวและกวยนิ้วที่สานจากไม้ไผ่  ซึ่งทางผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์กล่าวว่าเพิ่งได้รู้ว่าเมื่อก่อนเซิ้งเป็นผู้ชายเพราะรุ่นของตัวเองก็เห็นมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย  แต่เคยเห็นภาพถ่ายเก่าที่ผู้ชายสวมชุดผู้หญิง แต่ยังไม่เคยหาข้อมูลว่าคืออะไร  วงสนทนาดังกล่าวจึงเป็นการเติมและทบทวนความรู้เกี่ยวกับการเซิ้ง นอกจากนี้ มีข้อแลกเปลี่ยนกันในการเรียกชื่อ ว่า “เซิ้ง “ หรือ “เจย” แม่นันทา และคณะไม่เคยได้ยินคำว่าเจย แต่ได้ยินคำว่า เซิ้ง และในบทกลอนที่ร้อง ก็มีคำว้าเซิ้ง ส่วนเจยเคยได้ยินแต่เจยป๊กล๊ก ซึ่งไม่มีขบวนมีแต่การเต้น ส่วนทางพ่อสุทธิและพี่นันทวรรณซึ่งเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ เชื่อว่าเป็น เจย เพราะมีบทเจยและเป็นคำเรียกที่มีเฉพาะพื้นที่ที่อยู่รอบเมืองหามหอกซึ่งเชื่อว่าเป็นบ้านเดิมของคนบ้านขี้เหล็กใหญ่ การเจยมีหลายแบบ แต่ส่วนมากจะเป็นคำสอน ส่วนนักวิชาการศูนย์ฯ ในฐานะผู้ร่วมวงสนทนาได้ เสริมว่าเคยได้ยิน “เจี้ย” ซึ่งมีทางภาคเหนือซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคำสอน  ซึ่งดูคล้ายกับเจยซึ่งเป็นคำสอนเช่นกัน  ซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้ แม้จะยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้แต่สร้างความอยากรู้ที่ทำให้ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านขี้เหล็กใหญ่ สนใจที่จะค้นคว้าหาความหมายต่อ เป็นต้น วงสนทนากลุ่มย่อย พื้นที่การแลกเปลี่ยน และสร้างความรู้เราได้อะไรจากกระบวนการร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์หรือ  recollection   1. เกิดพื้นที่ในการร่วมกันสร้างความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ โดยมีผู้ร่วมสนทนาจากหลายกลุ่ม และขยับจากผู้มีความรู้(ความรู้ที่อยู่ในตัวคน) มาเป็นผู้สร้าง(ลงมือเขียน บันทึก)ความรู้ ด้วยตนเอง2. ความรู้ (ที่อยู่ในของ+คน และความรู้จากการแลกเปลี่ยน) ความรู้ดังกล่าว เช่น ความรู้เกี่ยวกับนิเวศ พืชพรรณ กระบวนการผลิต วิธีการใช้งาน การหาอยู่หากิน ภูมิปัญญา ความเชื่อ ความศรัทธา ฯลฯ  การค้นหาเรื่องราววัตถุในแง่ต่างๆ ทำให้เกิดการทบทวนความรู้ ข้อมูลใหม่ มุมมองใหม่ เรื่องเล่าใหม่ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชุมชน  วัฒนธรรม   การร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราว เติมเต็มข้อมูล และเชื่อมโยงเรื่องราววัตถุกับผู้อื่น รวมถึงการเล่าเรื่องร่วมกัน เกิดเรื่องราวใหม่ ความรู้ใหม่ และแรงบันดาลใจในการทำงานร่วมกัน  3. กระบวนการทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมกันพัฒนาต้นฉบับหนังสือ ร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่น และเครือข่ายพิพิธภัณฑ์มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการตั้งแต่การเลือวัตถุ การเล่าเรื่อง การเขียน การตรวจสอบข้อมูล  ต้นฉบบับหรือหนังสืออาจเป็นปลายทางที่บันทึกความสำเร็จและความรู้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้สร้างพื้นที่การทำงานของเครือข่าย พัฒนาความสัมพันธ์ และการสร้างความรู้ร่วมกันของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ กระบวนการร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ ยังไม่จบเพียงเท่านี้ หลังจากนี้ทีมและเครือข่ายจะร่วมกันวางเค้าโครงเรื่องราวที่ได้ รวบรวมและเรียบเรียง ให้อ่านเข้าใจง่าย น่าสนใจ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ฯลฯ พิพิธภัณฑ์แห่งไหนหยิบวัตถุอะไรมาเล่า  วัตถุแต่ละชิ้นจะมีความน่าสนใจอย่างไร แต่ละขั้นตอนจะเป็นอย่างไร โปรดติดตาม

ดงปู่ฮ่อ: พัฒนาการรูปแบบการจัดการพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของชุมชน

22 กุมภาพันธ์ 2564

ดงปู่ฮ่อ: พัฒนาการรูปแบบการจัดการพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของชุมชน[1] วนิษา ติคำ[2] จีรวรรณ ศรีหนูสุด[3]   บทคัดย่อ “ดงปู่ฮ่อ” พื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชนที่เป็นทั้งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในฐานะที่อยู่ของผีอารักษ์และแหล่งโบราณคดีอีกแห่งหนึ่งของแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียง ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านสวกพัฒนา หมู่ 10 ตำบลบ่อสวก อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน มีความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมอยู่บนฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ คนกับคน และคนกับธรรมชาติทั้งการเป็นพื้นที่ทางกายภาพและการเป็นพื้นที่กิจกรรมการเคลื่อนไหว ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชุมชน    มายาวนาน หลายด้าน บนฐานทรัพยากรที่มี ทั้งจากภายในชุมชนเองและภายนอกที่มาเกี่ยวข้อง สะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่ เปลี่ยนแปลง พัฒนา ปรับตัว และรักษาตัวตนไว้ผ่านรูปแบบการจัดการที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วงพัฒนาการ คือ ช่วงแรก ช่วงการเป็นที่อยู่ของศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่หวงห้าม ร่วมกับการเป็นแหล่งอาหารและยาของชุมชน (ก่อน พ.ศ.2542) มีการจัดการในรูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ พื้นที่หวงห้าม รวมถึงแหล่งอาหารและยาของชุมชน ช่วงที่ 2 ช่วงการถูกให้ความสำคัญในฐานะแหล่งโบราณคดี (พ.ศ.2543 – พ.ศ.2546) มีการจัดการในรูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ซึ่งยังคงแบบเดิม และการพัฒนาเป็นแหล่งโบราณคดีนำมาสู่การเกิดแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีของชุมชนควบคู่กับการหายไปของแหล่งอาหารและยา ช่วงที่ 3 ช่วงแห่งการฟื้นฟูให้อยู่รอด (พ.ศ.2547 – พ.ศ.2549) มีการจัดการในรูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ รวมถึงการพัฒนาและฟื้นฟูให้เป็นแหล่งเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชน นำมาสู่การเกิดพิพิธภัณฑ์ชุมชน การฟื้นฟูแหล่งอาหารและยาของชุมชน จนมาช่วงปัจจุบัน เป็นช่วงการรักษา ปรับตัวและพัฒนาให้อยู่ได้ (พ.ศ.2550 – ปัจจุบัน) มีการจัดการในรูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ที่ยังคงอยู่เรื่อยมา แหล่งเรียนรู้ชุมชนและแหล่งโบราณคดีของและชุมชน พื้นที่จัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของชุมชน รวมถึงพื้นที่ป่าฟื้นฟูของชุมชน พัฒนาการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า สิ่งที่เด่นชัด ยังคงอยู่เรื่อยมา ไม่ปรับเปลี่ยนมากนักจากปัจจัยที่เข้ามากระทบ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เนื่องจากยังคงเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และยังอยู่ในความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ว่ามีส่วนต่อการอยู่รอดของชีวิตทั้งในยามปกติและยามลำบากภายใต้เงื่อนไขสำคัญ คือ ส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่นในครอบครัว รวมถึงการส่งทอดและเห็นร่วมกันของชุมชน ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาตินั้นปรับเปลี่ยนไปตามสภาพปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง บทเรียนรู้สำคัญของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การจัดการมรดกวัฒนธรรมของชุมชนนั้น สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือ การจัดการที่ควรอยู่บนฐานของวิถีชีวิตชุมชน การพัฒนา   ต่อยอดที่จะเกิดขึ้นควรอยู่บนฐานของความเหมาะสม ไม่ขัดกับสภาพวิถีชีวิต และอยู่บนฐานศักยภาพของมรดกวัฒนธรรมที่มี รวมถึงการมองเห็นร่วมของชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง การจัดการต่อเพื่อให้สมประโยชน์ในฐานะพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของชุมชนที่อยู่คู่ชุมชนมาสามารถดำเนินการได้ 2 ลักษณะ คือ การรักษาให้คงไว้ซึ่งการเป็นพื้นที่ของวิถีชีวิตคนในชุมชน และการพัฒนาเป็น “แหล่งศึกษาเรียนรู้ที่มีชีวิตแบบบูรณาการบนฐานการพึ่งตนเอง”   คำค้น: ดงปู่ฮ่อ พัฒนาการรูปแบบการจัดการ พื้นที่มรดกวัฒนธรรม   1. บทนำ          “...การที่จะทำให้โบราณสถานคงอยู่ได้นั้น ต้องทำความเข้าใจให้ประชาชนก่อน ต้องให้เขาเห็นความสำคัญและคุณค่าของโบราณสถานนั้นๆ ก่อน จนเขามีความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของแล้ว ประชาชนก็จะสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ โดยไม่ต้องแยกออกจากกัน...”   พระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, พระนครศรีอยุธยา 7 เมษายน พ.ศ.2534 แสดงให้เห็นว่า คนกับมรดกวัฒนธรรมของอดีต หรือในที่นี้คือโบราณสถานนั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยที่จะต้องสร้างให้คนในพื้นที่เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของโบราณสถานนั้นๆ   จนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม ร่วมในการจัดการมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนของตนเอง ปัจจุบันมีชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งที่เป็นพื้นที่ของหลักฐานทางโบราณคดีและเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมซึ่งอยู่ร่วมกันมากับชุมชนอย่างยาวนาน “ดงปู่ฮ่อ” เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนในฐานะพื้นที่สาธารณะที่มีความหลากหลายในการใช้ประโยชน์และอยู่บนฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ทั้งเป็นพื้นที่ป่า เป็นที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ของคนที่มีที่นารอบดงปู่ฮ่อซึ่งเรียกกันรุ่นต่อรุ่นว่า “ปู่ฮ่อ” หรือ “เจ้าหนานฮ่อ” เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมการเลี้ยงผี เป็นพื้นที่ของการบนบานสานกล่าวของคนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีอีกแห่งหนึ่งของแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียง ตั้งอยู่ในพื้นที่ของชุมชนบ้านสวกพัฒนา หมู่ที่ 10 ตำบลบ่อสวก อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภายในดงปู่ฮ่อมีการจัดการที่ประกอบด้วย เตาปู่ฮ่อ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา สิ่งของเครื่องใช้ของคนบ้านสวกพัฒนา และนิทรรศการภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ดงปู่ฮ่อ ภูมิทัศน์รอบดงปู่ฮ่อร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ และมีพิธีบวงสรวงปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานปู่ฮ่อประจำปีในงานของดีบ่อสวก ดงปู่ฮ่อจึงเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของคนในชุมชนและนอกชุมชน    ภาพ : สภาพพื้นที่ดงปู่ฮ่อ     ภาพ : ศาลเจ้าปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อเพื่อประกอบพิธีกรรม ภาพ : ศาลเจ้าปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อเพื่อไหว้สักการะภาพ : เตาปู่ฮ่อ ชุมชนบ้านสวกพัฒนาเป็นที่รู้จักของคนน่านในฐานะแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียงหรือเตาเผาโบราณบ้านบ่อสวก จากการขุดเจอกรุพระบ่อสวกและเฟื้องหม้อ (ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา) ที่บริเวณลำน้ำห้วยปวนและดอยเฟื้องหม้อ รวมทั้งการขุดค้นเตาเผาโบราณ จำนวน 4 เตา และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาของแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียงของพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่นในบริเวณบ้านของดาบตำรวจมนัส – คุณสุนัน ติคำ ประกอบกับการเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ.2544 ณ พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น และการเสด็จของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ใน พ.ศ.2542 ณ วัดบ่อสวก และบ้านของดาบตำรวจมนัส – คุณสุนัน ติคำ จึงนำไปสู่การพัฒนาชุมชนบ้านสวกพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของตำบลบ่อสวก ดงปู่ฮ่อเป็นพื้นที่หนึ่งของชุมชนบ้านสวกพัฒนาที่พบหลักฐานผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาและเนินดินเตาเผา และเป็นพื้นที่ทางความเชื่อ พิธีกรรมของชุมชน โดยมีปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อเป็นผีอารักษ์ จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน กล่าวว่า ดงปู่ฮ่อเป็นป่าที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่หวงห้ามให้เฉพาะคนที่ไปเลี้ยงผีปู่ฮ่อและบางคนจะเข้าไปหาเห็ด หน่อไม้ และสมุนไพร ซึ่งคนที่จะเข้าไปต้องขออนุญาตจากปู่ฮ่อผ่านการบอกกล่าว ส่วนลูกหลานในชุมชนจะถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าไป ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ความเชื่อเกี่ยวกับดงปู่ฮ่อยังคงอยู่กับชุมชน แต่ขณะเดียวกันก็ควบคู่กับความต้องการพัฒนาให้สมสมัย จึงนำมาสู่การพัฒนาพื้นที่ดงปู่ฮ่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ในปี พ.ศ.2543 โดยกลุ่มผู้นำชุมชนและคนในชุมชนได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐร่วมกันพัฒนาดงปู่ฮ่อ ทั้งการสร้างอาคาร การขุดค้นเตาเผา ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา และปรับปรุงภูมิทัศน์ดงปู่ฮ่อ จากพื้นที่ป่าของชุมชนสู่แหล่งเรียนรู้ของตำบลบ่อสวก แต่ด้วยการจัดการที่ขาดช่วงเกิดการชะงักในมิติของการจัดการ ทำให้การจัดการหยุดนิ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.2547 ชุมชนบ้านสวกพัฒนาร่วมกับศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันฟื้นฟูดงปู่ฮ่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งการปรับภูมิทัศน์ทั้งการปลูกต้นไม้ พืชสมุนไพร จากการฟื้นฟูดงปู่ฮ่อให้มีกิจกรรมเกิดขึ้นประกอบกับการส่งเสริมกิจกรรมจากหน่วยงานภาครัฐ แต่ด้วยเงื่อนไขการจัดการที่ไม่ต่อเนื่อง ขาดผู้รับผิดชอบและหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างเป็นทางการ โดยปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสวกเป็นผู้รับผิดชอบดูแลจัดการดงปู่ฮ่อ แต่ความเป็นพื้นที่ทางความเชื่อ พิธีกรรมของการเลี้ยงผีปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อยังคงอยู่คู่กับชุมชนจนถึงปัจจุบัน           บทความนี้จึงมุ่งศึกษาความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรม พัฒนาการรูปแบบการจัดการดงปู่ฮ่อทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มีวิธีการศึกษาผ่านเอกสารงานศึกษา งานวิจัย ประสบการณ์ของผู้เขียนที่เกี่ยวข้องและเคยทำกิจกรรมกับพื้นที่ การพูดคุย สัมภาษณ์ โดยผู้เขียนได้ศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรม มรดกวัฒนธรรม พื้นที่วัฒนธรรม เศรษฐกิจพอเพียง และการบูรณาการ มาเป็นแนวทางในการศึกษา วิเคราะห์ บนฐานความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน บ้านสวกพัฒนา   2. ดงปู่ฮ่อในฐานะพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของชุมชน มรดกวัฒนธรรม หมายถึง ระบบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนซึ่งตกทอดสืบต่อมาจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่นทั้งที่ใช้ประโยชน์และไม่ได้ใช้ประโยชน์อันอยู่ในลักษณะรูปธรรมและนามธรรม (สายันต์ ไพรชาญจิตร์,31 กรกฎาคม 2562; Hitchcock อ้างใน ศิริพร ณ ถลาง, 2652, หน้า 32; ธนิก เลิศชาญฤทธ์, 2554, หน้า 14, 17 -18) ส่วนพื้นที่วัฒนธรรมนั้น มีความหมายใน 2 ลักษณะ คือ พื้นที่ที่เป็นกายภาพ (รูปธรรม) และที่เป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหว (นามธรรม) ที่มีการให้คุณค่าความหมาย ให้ความสำคัญ สร้างตัวตน สร้างความสัมพันธ์ สร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างการจัดการ และสร้างการพัฒนา ที่อยู่บนฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ นำมาสู่การประมวลสร้างความหมายของพื้นที่มรดกวัฒนธรรม หมายถึง พื้นที่แห่งความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน  คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งรูปธรรมและนามธรรมในชุมชนซึ่งตกทอดสืบต่อมาจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นทั้งที่ใช้ประโยชน์และไม่ได้ใช้ประโยชน์ มี 2 ลักษณะ คือ พื้นที่ทางกายภาพ และพื้นที่ซึ่งเป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวซึ่งมีการให้คุณค่าความหมาย ให้ความสำคัญ สร้างตัวตน สร้างความสัมพันธ์ สร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างการจัดการ และสร้างการพัฒนา (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2555, หน้า 30 – 32; 2561, หน้า 185 – 186, อานันท์ กาญจนพันธุ์, 2555, หน้า 39 – 40;2558, หน้า 23 - 27) นำมาสู่การเชื่อมโยงกับ “ดงปู่ฮ่อ” พบว่า จากอดีตถึงปัจจุบันดงปู่ฮ่อเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนบ้านสวกพัฒนา หมู่ที่ 10 ตำบลบ่อสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ล้อมรอบด้วยทุ่งนา มีลำห้วยที่ชาวบ้านเรียกว่าห้วยปวนไหลผ่าน ส่วนทิศตะวันตกและทิศเหนือติดกับบ้านและสวนของคนในชุมชน คนในชุมชนมักเรียกพื้นที่ทั้งหมดนี้ว่า “ทุ่งกุ้ง” โดยมีดงปู่ฮ่อเป็นศูนย์กลาง การเรียกชื่อดงปู่ฮ่อบอกเล่าต่อกันมาว่าเป็นการเรียกชื่อตามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีอารักษ์ที่คนในชุมชนเชื่อว่าอยู่ในพื้นที่ ชื่อ “ปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อ” สืบทอดความเชื่อต่อๆ กันมาว่าเป็นผู้ปกปักษ์รักษาคนในชุมชนและคนที่มีที่นาที่สวนในบริเวณนี้ ในอดีตดงปู่ฮ่อมีลักษณะเป็นป่าทึบ เป็นแหล่งอาหารและยาของคนในชุมชน แต่ด้วยในเวลาต่อมามีการขุดค้นทางโบราณคดีและพบว่าพื้นที่ชุมชนบ้านสวกพัฒนาเป็นแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียง ดงปู่ฮ่อในฐานะพื้นที่ของชุมชนจึงถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีตามมา “ดงปู่ฮ่อ” จึงมีความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของชุมชนที่อยู่บนฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ประกอบด้วย 2 ส่วน โดยส่วนแรก เป็นพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งปรากฏใน 6 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่ป่า พื้นที่แหล่งอาหารและยา พื้นที่แหล่งโบราณคดี พื้นที่แหล่งเรียนรู้ และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ส่วนที่สอง เป็นพื้นที่กิจกรรมการเคลื่อนไหว ซึ่งปรากฏใน 10 ลักษณะ คือ พื้นที่ช่วยเหลือกันของคนในชุมชนระหว่างข้าวจ้ำ (คนประกอบพิธีกรรมที่ปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อเป็นผู้เลือก) กับชาวบ้านเมื่อเจอปัญหาผ่านการขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่บนบานในการดำรงชีวิตและทำมาหากิน เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมเพื่อแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน พื้นที่สร้างและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เป็นพื้นที่เข้าไปหาอาหารและยา เชื่อว่าเป็นพื้นที่เก่าแก่โบราณที่เชื่อว่ามีความเจริญในอดีต เป็นพื้นที่ที่มีการขุดค้นทางโบราณคดี พื้นที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับชุมชน เป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพื้นที่สามารถใช้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของชุมชน โดยทั้งสองส่วนมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นภายใต้การใช้ประโยชน์ การจัดการที่มีทั้งเหมือนและแตกต่างกันตามแต่ละช่วงเวลาของชุมชน กลุ่มคน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   3. พัฒนาการรูปแบบการจัดการดงปู่ฮ่อ การศึกษาถึงพัฒนาการและความเป็นมาของดงปู่ฮ่อพบว่า ดงปู่ฮ่อสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชุมชนมายาวนานและหลากหลายด้าน บนฐานทรัพยากรที่มีทั้งจากปัจจัยภายในชุมชนเองและปัจจัยภายนอกที่มาเกี่ยวข้อง สะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่ เปลี่ยนแปลง พัฒนา ปรับตัว และรักษาตัวตนไว้ผ่านรูปแบบการจัดการที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง ดังนี้ ช่วงแรก ช่วงการเป็นที่อยู่ของศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่หวงห้าม ร่วมกับการเป็นแหล่งอาหารและยาของชุมชน (ก่อน พ.ศ.2542) นับแต่อดีตเรื่อยมาจน พ.ศ.2542 ความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของดงปู่ฮ่อชัดเจนที่สุดอยู่บนฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติคือการเป็นพื้นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพที่ชัดเจนในฐานความเชื่อของคนในชุมชนว่าเป็นพื้นที่อยู่ของปู่ฮ่อผีอารักษ์ของชุมชน โดยคนในชุมชนมีความเชื่อร่วมกันว่าดงปู่ฮ่อเป็นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองคนในการดำรงชีวิตและทำมาหากิน ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมเพื่อแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน รองลงมาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ชัดเจนในมิติเป็นพื้นที่ช่วยเหลือกันของคนในชุมชนระหว่างข้าวจ้ำกับชาวบ้านเมื่อเจอปัญหาผ่านการขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่สร้างและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนผ่านพิธีกรรม ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ โดยดงปู่ฮ่อมีฐานะเป็นพื้นที่ป่า พื้นที่แหล่งอาหารและยาของคนในชุมชน ที่คนในชุมชนบางกลุ่มใช้เป็นพื้นที่เพื่อเข้าไปหาอาหารและยามาอุปโภคบริโภค การจัดการเกิดขึ้นใน 3 ลักษณะ คือ การจัดการในรูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ ที่เชื่อว่าเป็นพื้นที่อยู่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ในลักษณะผีชาวนาดูแลนาในนาม “ปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อ” การจัดการเกิดขึ้นในลักษณะของการบนบาน เช่น ให้ผลผลิตจากการทำนาได้ผลดี เป็นต้น การทำพิธีกรรมเลี้ยงผีหลังจากฤดูการทำนาหรือบนบานได้ตามปรารถนาโดยจะเอาข้าวมาเลี้ยงหลังจาทำนาได้ผลผลิต คนในชุมชนก็มักจะขอความช่วยเหลือผ่านการบนบานสานกล่าวให้ปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อช่วยเหลือให้สมความปรารถนาที่ต้องการร่วมกับการเลี้ยงผีประจำปี โดยทุกปีคนที่มีนาบริเวณรอบ   ดงปู่ฮ่อหรือที่คนในชุมชนเรียกว่า “นาทุ่งกุ้ง” จะมารวมตัวกันเลี้ยงผีปู่ฮ่อในช่วงแรม 13 ค่ำ เดือน 3 และเดือน 9 โดยมีข้าวจ้ำเป็นผู้สื่อสารกับปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อ ซึ่งในการเลี้ยงนั้นจะประกอบไปด้วย ไก่ เหล้า ข้าวตอกดอกไม้ ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และทุกๆ 3 ปี จะมีการเลี้ยงด้วยหมู 1 ตัว โดยการเลี้ยงนั้นคนที่มีนาอยู่บริเวณดงปู่ฮ่อ หรือที่คนในชุมชนเรียกว่า “หัวนาทุ่งกุ้ง” จะต้องนำไก่มาคนละตัวหรือหัวนาคนใดไม่มีไก่มาร่วมก็จะร่วมด้วยการสบทบเงินเพื่อนำไปซื้อไก่ซื้อเหล้า ทุกคนจะมาร่วมกันเตรียมข้าวของ ทั้งการนำไก่มาต้ม นึ่งข้าวเหนียว หุงข้าวเจ้า เตรียมกระทง 4 อัน การเลี้ยงผีแต่ละครั้งจะไก่มาน้อยกว่า 30 ตัว หลังจากนั้นข้าวจ้ำจะเป็ฯผู้ทำพิธีเลี้ยงผี หลังเสร็จพิธี จะมีการนำไก่ต้มมาประกอบอาหารร่วมกันกิน เหลือก็แบ่งกันนำกลับบ้าน ซึ่งการเลี้ยงปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อเพื่อตอบแทนที่ปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อดูแลรักษานาข้าวให้ได้ผลผลิตที่ดี และเป็นการสานสัมพันธ์กันของหัวนาที่ช่วยเหลือ แบ่งปันกันในการทำนา สังสรรค์ร่วมกันจากการทำนา “สมัยก่อนเจ้าหนาน เปิ้นชอบมาลง (ทรงเจ้า) มาแอ่วมาทักหมู่เฮา เปิ้นจะมาลงที่ป้าเรียว เปิ้นมาจ่อยมาซอ มาม่วน เจ้าบ้าน (ชาวบ้าน) ไปผ่อ (ดู) กันนัก บางครั้งมาเปิ้นก่ไขใดสาว เปิ้นโสดมา สมัยนั้นป้าๆ สาวรุ่น พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยหื้อพากันไปอยู่ที่อื่น แต่ถ้าบ้านเฮายะอะหยัง (ทำอะไร) บ่(ไม่)ดีบ่(ไม่)ถูก เปิ้นก็จะมาบอกมาเตือนหื้อ(ให้) เฮา(เรา) ทำหื้อ(ให้)ถูก เปิ้นก็ช่วยฮักษา(รักษา)” (บัวตอง ขัดโน, สัมภาษณ์ 22 พฤษภาคม 2562)   “แต่ละปีหัวนาจะหื้อ(ให้)ข้าวจ้ำ บอกกล่าวปู่ฮ่อก่อนทำนา เพื่อหื้อ(ให้)ได้ข้าวหลาย(จำนวนมาก) มีน้ำเหมาะสำหรับการทำนา หยะ(ทำ)นาแล้ว(เสร็จ) ก่(ก็)จะปา(พา)กันมาเลี้ยงปู่ฮ่อ ส่วนคนที่มาบน ขอหื้อ(ให้)เปิ้น (ปู่ฮ่อหรือ    เจ้าหนานฮ่อ)ช่วย จะบนด้วยหมู 1 ตัว บางคนก่(ก็)จะบนด้วยหมูหัว” (สุนัน ติคำ, สัมภาษณ์ 3 ตุลาคม 2562)   ลักษณะต่อมาเป็นรูปแบบพื้นที่หวงห้าม ด้วยเชื่อว่าดงปู่ฮ่อพื้นที่หวงห้ามและศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน มีปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อเป็นผีอารักษ์   คอยปกปักษ์รักษาคนในชุมชน เพราะเชื่อว่าหากเข้าไปโดยพลกาลจะเจอเรื่องไม่ดีต้องขออนุญาต การเข้าไปโดยพละกาลไม่ได้ต้องเป็นวาระโอกาสที่เหมาะสม เข้าไปคือ ตอนเลี้ยงผี หาของกิน แต่ต้องบอกกล่าวเจ้าที่ปูฮ่อและเอามาตามบอกเท่านั้น รวมถึงห้ามใช้ประโยชน์และยุ่งเกี่ยวกับพื้นที่เกินความจำเป็นและอยู่ในขอบเขตจำกัด ใครจะเข้าไปในดงปู่ฮ่อ ต้องบอกกล่าวหรือขออนุญาตก่อนทุกครั้ง ดังคำบอกเล่าของพ่ออุ๊ยแก้ว ถุงบุญ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) สมัยก่อนคนเฒ่าคนแก่จะบ่(ไม่)หื้อ(ให้)ลูกหลาน และคนที่มีขวัญอ่อนเข้าไปในดงปู่ฮ่อ เพราะปู่ฮ่อ เป็นคนสวก(ดุ) ใครที่เข้าไปในดง โดยที่ไม่มีการขออนุญาตหรือเข้าไปบุกรุกตัดไม้ในดง จะมีอันเป็นไปหรือไม่ก็จะไม่สบาย (อ้างในวนิษา ติคำ, 2553 : 59) “จะเข้าไปในดง ไปเลี้ยงผีปู่ฮ่อแต่ละครั้งนั้นลำบาก ต้องเดินไปทางนาห้วยปวน ต้องเดินลัดเข้าป่าไปที่ศาล” (สุนัน ติคำ, สัมภาษณ์ 8 พฤศจิกายน 2562) และสุดท้ายเป็นการจัดการในรูปแบบแหล่งอาหารและยาของชุมชน โดยคนในชุมชนบางกลุ่มจะเข้าไปหาอาหารและสมุนไพร พืชจำพวกเห็ด หน่อไม้ ยา สมุนไพร มาใช้ประโยชน์ ในช่วงฤดูกาลที่มีเท่านั้นและการเข้าไปต้องผ่านการขออนุญาต ส่วนคนที่ขอเมื่อขอจะเอาอะไรก็เอาแค่นั้นห้ามเกิน เห็นได้ว่าการจัดการที่ผ่านมาอยู่บนฐานของคนในชุมชนเป็นหลักและเป็นไปเพื่อการอยู่รอด อยู่ได้ร่วมกันอย่างพอดี สะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งตนเองได้ของชุมชนด้านจิตใจ อาหารและยาของชุมชนบนฐานความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ มนุษย์ และธรรมชาติ ช่วงที่ 2 ช่วงการถูกให้ความสำคัญในฐานะแหล่งโบราณคดี (พ.ศ.2543 – พ.ศ.2546) ในช่วงเวลานี้ดงปู่ฮ่อได้รับผลกระทบจากการขุดค้นเตาเผาโบราณบ้านจ่ามนัส และเปิดบ้านเป็นพื้นที่เรียนรู้ทางโบราณคดีแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียง นำมาสู่การพัฒนาพื้นที่ดงปู่ฮ่อให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของตำบลบ่อสวก ผ่านการสำรวจ ขุดค้นเตาเผาโบราณ และสร้างอาคารแหล่งเรียนรู้ ความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของดงปู่ฮ่อปรากฏชัดเจนในลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ในฐานะพื้นที่แหล่งโบราณคดี เชื่อว่าเป็นพื้นที่เก่าแก่โบราณที่เชื่อว่ามีความเจริญในอดีต เป็นพื้นที่ที่มีการขุดค้นทางโบราณคดี พื้นที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับชุมชน และการพยายามสร้างเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ขณะที่การเป็นพื้นที่ช่วยเหลือกันของคนในชุมชนระหว่างข้าวจ้ำกับชาวบ้านเมื่อเจอปัญหาผ่านการขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่สร้างและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนผ่านพิธีกรรมก็ยังคงอยู่ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ และคนกับธรรมชาติในรูปแบบพื้นที่ป่านั้นหายไป แต่ในส่วนอื่นก็ยังคงอยู่เพียงแต่เข้มข้นน้อยลง เนื่องด้วยการถูกเข้ามาแทนที่ด้วยวิธีคิดที่เปลี่ยนไปในมิติการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ มากขึ้น ภายใต้ปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปการจัดการจึงปรากฏรูปแบบที่ชัดเจนใน 2 ลักษณะ คือ รูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ซึ่งยังคงแบบเดิม และรูปแบบการพัฒนาเป็นแหล่งโบราณคดี ซึ่งเกิดขึ้นใหม่ โดยเริ่มจากการสำรวจเนินดินเตาเผาในดงปู่ฮ่อของนางสาวอมรรัตน์ ชูพลู (นักศึกษาคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร) พบว่าบริเวณดอยเฟื้องหม้อและดงปู่ฮ่อมีเนินดินเตาเผาที่ยังไม่ถูกทำลาย ซึ่งใน พ.ศ.2543 โดยผู้นำชุมชนทั้งบ้านสวกพัฒนาและชุมชนบ้านบ่อสวกเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบ่อสวก ต่อมา พ.ศ.2545 – 2546 องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ได้พัฒนาดงปู่ฮ่อภายใต้โครงการพัฒนานิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านบ่อสวก ทั้งการสร้างอาคารแหล่งเรียนรู้ และการขุดค้นเตาเผา  โดยใน พ.ศ.2546 องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่สำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน ขุดค้นศึกษาแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียงบริเวณดงปู่ฮ่อ โดยสำนักงานศิลปากรที่ 7 น่านได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดเฌอกรีน    เข้ามาทำการสำรวจศึกษาแหล่งเตาดงปู่ฮ่อโดยที่เจ้าหน้าที่สำนักงานศิลปากรที่ 7 น่านเป็นผู้ควบคุมการขุดค้น ซึ่งการขุดค้นครั้งนี้ได้มีการขุดค้นจำนวน 19 หลุมมีการค้นพบภาชนะดินเผาทับทมหนาแน่น เตาเผา 2 เตา และพบแนวอิฐขนาดความกว้าง 0.40 เมตรและเศษกระเบื้องดินขอเล็กน้อยในบริเวณดงปู่ฮ่อ (รายงานการขุดค้นศึกษาเบื้องต้นแหล่งเตาเมืองน่านดงปู่ฮ่อ, หน้า 14-15 อ้างใน วนิษา ติคำ, 2553, หน้า 139 ) แต่การจัดการต้องหยุดซะงักด้วยเหตุของการขาดผู้รับผิดชอบอย่างเป็นทางการ จึงไม่มีการจัดการกับอาคารที่สร้างและหลุมขุดค้นเตาเผา ทั้งนี้การจัดการดังกล่าวนำมาสู่การพยายามพัฒนาให้เกิดแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีของชุมชน แต่สิ่งที่มาควบคู่กันคือการหายไปของการจัดการในรูปแบบแหล่งอาหารและยาของชุมชน การจัดการในรูปแบบพื้นที่หวงห้าม ช่วงที่ 3 ช่วงแห่งการฟื้นฟูให้อยู่รอด (พ.ศ.2547 – พ.ศ.2549) ภายหลังจากการขุดค้นเตาเผาและสร้างอาคารเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ในดงปู่ฮ่อ การจัดการได้หยุดชะงักลงเนื่องจากข้อจำกัดในการระดมทรัพยากรของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ด้วยความต้องการของชุมชน ผู้นำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จึงนำมาสู่การฟื้นฟูและพยายามพัฒนาพื้นที่ดงปู่ฮ่ออีกครั้ง ความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของดงปู่ฮ่อจึงปรากฏชัดเจนในลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ในรูปแบบพื้นที่แหล่งโบราณคดี การพยายามสร้างเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ พื้นที่ช่วยเหลือกันของคนในชุมชนระหว่างข้าวจ้ำกับชาวบ้านเมื่อเจอปัญหาผ่านการขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่สร้างและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เชื่อว่าเป็นพื้นที่เก่าแก่โบราณที่เชื่อว่ามีความเจริญในอดีต เป็นพื้นที่ที่มีการขุดค้นทางโบราณคดี พื้นที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับชุมชน เป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพื้นที่สามารถใช้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของชุมชน รองลงมาคือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่ยังคงลักษณะเดิมอย่างที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติที่ยังคงอยู่ คือ การพยายามฟื้นฟูให้เป็นพื้นที่แหล่งอาหารและยาในลักษณะป่าของชุมชน การจัดการในช่วงเวลานี้ปรากฏชัดเจนใน 2 ลักษณะ คือ รูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ผ่านการจัดการในแบบที่เป็นมา ทั้งการบนบาน การทำพิธีกรรมเลี้ยงผี ส่วนอีกรูปแบบคือการจัดการในรูปแบบการพัฒนาและฟื้นฟูให้เป็นแหล่งเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชน ที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนในชุมชน ผู้นำในชุมชน และการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท ร่วมกันพัฒนาฟื้นฟูดงปู่ฮ่อ ภายใต้กิจกรรมของโครงการโบราณคดีชุมชน โดยใช้แนวคิด “ผู้เฒ่านำ ผู้ใหญ่หนุน ดึงเด็กตาม” เกิดกิจกรรมอนุรักษ์หลุมขุดค้นเตาปู่ฮ่อ ฟื้นฟูภูมิทัศน์ดงปู่ฮ่อ กิจกรรมละอ่อนปั้นดิน และพิพิธภัณฑ์ดงปู่ฮ่อ โดยร่วมกันพัฒนาและฟื้นฟูเป็นแหล่งเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชน นำมาสู่การเกิดพิพิธภัณฑ์ดงปู่ฮ่อ การฟื้นฟูเตาปู่ฮ่อ ฟื้นฟูภูมิทัศน์ของดงปู่ฮ่อด้วยการปลูกต้นไม้ และพืชสมุนไพร นำมาสูการเกิดพิพิธภัณฑ์ชุมชนในนาม พิพิธภัณฑ์ดงปู่ฮ่อ รวมถึงการฟื้นฟูแหล่งอาหารและยาของชุมชน ตลอดจนเปิดเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนเพื่อรักษา    สืบทอด แต่ขณะเดียวกันในอีกด้านก็เกิดการสร้างการเข้าถึงควบคู่ตามมาเนื่องด้วยหลายอย่างได้คลี่คลายไป คนสามารถเข้าไปได้มากขึ้น ช่วงปัจจุบัน ช่วงการรักษา ปรับตัวและพัฒนาให้อยู่ได้ (พ.ศ.2550 – ปัจจุบัน) ภายหลังจากการฟื้นฟูพัฒนาดงปู่ฮ่อ พื้นที่ดงปู่ฮ่อได้กลายมาเป็นพื้นที่ที่มีนัยยะความหลากหลายทั้งการให้ความหมายและการใช้ประโยชน์ที่คนในชุมชนและหน่วยงานทั้งภายในและนอกชุมชนตระหนักถึงคุณค่า ทำให้ดงปู่ฮ่อค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง ความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมได้ปรากฏในทุกแบบ โดยช่วงเวลานี้เน้น การรักษา ปรับตัวให้พอดี และพัฒนาให้อยู่ได้ แต่ขณะเดียวกันก็เคลื่อนไหวไม่ลื่นไหลเท่าใดนักด้วยการจัดการที่ยังต้องเชื่อมโยงเพิ่มเติมอีกหลายด้านทั้งมิติการจัดการและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง โดยพบว่า ความสัมพันธ์ในลักษณะคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติมีความเข้มข้นชัดเจนและไม่เสื่อมคลายทั้งพื้นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่บนบานในการดำรงชีวิตและทำมาหากิน เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมเพื่อแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน รองลงมาเป็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนในลักษณะพื้นที่แหล่งโบราณคดี พื้นที่แหล่งเรียนรู้ และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ พื้นที่ช่วยเหลือกันของคนในชุมชนระหว่างข้าวจ้ำกับชาวบ้านเมื่อเจอปัญหาผ่านการขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่สร้างและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เชื่อว่าเป็นพื้นที่เก่าแก่โบราณที่เชื่อว่ามีความเจริญในอดีต เป็นพื้นที่ที่มีการขุดค้นทางโบราณคดี พื้นที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับชุมชน เป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้       เป็นพื้นที่สามารถใช้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของชุมชน และที่พยายามสร้างให้ชัดเจนขึ้นมา คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติในลักษณะ พื้นที่ป่า พื้นที่แหล่งอาหารและยา และเป็นพื้นที่เข้าไปหาอาหารและยา สถานการณ์ดังกล่าวปรากฏรูปแบบการจัดการใน 4 ลักษณะภายใต้การร่วมมือกันของคนในชุมชน ผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสวก และหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุน อาทิ วัฒนธรรมจังหวัดน่าน อพท.สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน เป็นต้น คือ รูปแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของผีอารักษ์ ที่ยังเกิดขึ้นผ่านการบนบาน การทำพิธีกรรม เกิดการบวงสรวงปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อในงานของดีบ่อสวก ส่วนความเชื่อเรื่องปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อ คนในชุมชนบ้านสวกพัฒนาและคนที่มีนารอบๆ ดงปู่ฮ่อ ยังคงไว้ซึ่งการไหว้ผีและความเคารพศรัทธาต่อปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อ รูปแบบแหล่งเรียนรู้ชุมชนและแหล่งโบราณคดีของและชุมชน วิทยากรนำชมดงปู่ฮ่อ การจัดการมรดกวัฒนธรรม ประกอบด้วยอาคารพิพิธภัณฑ์ เตาปู่ฮ่อ ศาลปู่ฮ่อ จ้างคนในชุมชนเป็นผู้ดูแลรักษาความเรียบร้อยภายในดงปู่ฮ่อ รูปแบบพื้นที่จัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของชุมชน เกิดกิจกรรมกุล่มทอผ้า การใช้อาคารเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของชุมชนและตำบลเป็นครั้งคราว การจัดกิจกรรมประจำปี และรูปแบบป่าฟื้นฟูของชุมชน ที่มีการรักษาพืชที่ปลูกและปล่อยให้ขึ้นตามธรรมชาติ สะท้อนให้เห็นถึงการยังคงอยู่ของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และการพึ่งตนเองในการจัดการทรัพยากรของชุมชนที่เกิดขึ้นอย่างไม่เต็มศักยภาพมากนัก   4. ดงปู่ฮ่อกับการจัดการที่เหมาะสมในอนาคต การจัดการพื้นที่ดงปู่ฮ่อจากอดีตถึงปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการจัดการบนฐานศักยภาพของพื้นที่ดงปู่ฮ่อและชุมชนในหลายด้านทั้ง การเป็นพื้นที่ที่ยังคงเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตคนในชุมชนบนฐานความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สืบต่อมาอย่างเข้มข้นจนปัจจุบัน การเป็นแหล่งโบราณคดีและแหล่งเรียนรู้ที่มีองค์ความรู้และทรัพยากรทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ เตาปู่ฮ่อ อาคารพิพิธภัณฑ์ที่เก็บโบราณวัตถุของชุมชน การเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีหลากหลายชนิด (ป่าชุมชน) มีภูมิทัศน์ที่เอื้อต่อการเข้าไปเรียนรู้ การอยู่ใกล้พื้นที่ที่มีทรัพยากรทางโบราณคดีลักษณะเดียวกัน ได้แก่ เตาเผาโบราณบ้านบ่อสวก     บ้านหนองโต้ม และที่สำคัญคือคนในชุมชนยังคงเห็นคุณค่าที่มี แต่ขณะเดียวกันยังเคลื่อนไหวได้ช้าไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควร เนื่องด้วยการจัดการภายใน ความต่อเนื่อง การพัฒนาต่อยอด การเชื่อมโยงกับแหล่งความรู้ องค์ความรู้ผู้รู้และผู้นำของชุมชนรวมถึงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังไม่ชัดเจนนัก จึงนำมาสู่การอยู่ในภาวะ ใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ คือ  “มีของดี    แต่ใช้ประโยชน์ไม่สมบูรณ์ตามสมควร” การจัดการที่เหมาะสมจึงสามารถดำเนินการได้ 2 ลักษณะควบคู่กัน ลักษณะแรก การรักษาให้คงไว้ซึ่งการเป็นพื้นที่ของวิถีชีวิตคนในชุมชน คือ การรักษาความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน ได้แก่ พื้นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อ และพิธีกรรม พื้นที่อาหารและยาหรือพืชผักพื้นบ้าน การรักษาทรัพยากรทางโบราณคดีให้คงสภาพตามธรรมชาติที่เหมาะสม สมควร บนฐานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ลักษณะที่สอง การพัฒนาเป็น “แหล่งศึกษาเรียนรู้ที่มีชีวิตแบบบูรณาการ บนฐานการพึ่งตนเอง คือการรักษา เชื่อมโยง พัฒนา ต่อยอด รักษาของเดิมและเพิ่มสิ่งใหม่อย่างเหมาะสมกับวิถีวัฒนธรรมของพื้นที่และความเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรมภายใต้การสร้างให้เกิดการเรียนรู้ในทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างเชื่อมโยงทั้งองค์ความรู้ ทรัพยากร คน และหน่วยงาน ภาคส่วนต่างๆ บนฐานการพึ่งตนเอง และพึ่งพิงอิงอาศัยกันอย่างกัลยาณมิตรทั้งกับท้องถิ่น องค์กรชุมชน แหล่งเรียนรู้ในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงสถานศึกษาต่างๆ ร่วมแรงร่วมใจกันตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ตามศักยภาพของดงปู่ฮ่อ สามารถดำเนินการได้หลายมิติ ทั้งศึกษา วิจัย พัฒนา สืบทอด ต่อยอด สร้างสรรค์ เชื่อมโยง ทั้งในด้านโบราณคดี ทรัพยากรธรรมชาติ พิธีกรรมความเชื่อ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม อาชีพสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา อาทิ การพัฒนาเป็นพื้นที่เรียนรู้เชิงบูรณาการ แหล่งเรียนรู้ แหล่งรวบรวมองค์ความรู้ชุมชน หลักสูตรชุมชน มัคคุเทศก์ชุมชน การวิจัยสร้างองค์ความรู้โดยชุมชน การพัฒนาเชื่อมโยงองค์ความรู้มาสร้างเป็นอาชีพ พื้นที่สร้างอาชีพ งานสร้างสรรค์ พื้นที่พัฒนาอาชีพบนฐานองค์ความรู้ชุมชน พื้นที่กลางกิจกรรมชุมชน พื้นที่เชื่อมเครือข่ายเป็นต้น ที่อยู่บนฐานความรู้สึกเป็นเจ้าของ     ของชุมชนภายใต้การเข้าไปในพื้นที่อย่างเคารพทั้งคน ทรัพยากร และสถานที่   5. บทส่งท้าย จากอดีตถึงปัจจุบันสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าดงปู่ฮ่อเป็นพื้นที่ของความสัมพันธ์ระหว่างคน ธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งที่เด่นชัดและยังคงอยู่เรื่อยมาไม่ปรับเปลี่ยนไปตามปัจจัยที่เข้ามากระทบมากนัก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือ คนในชุมชนกับผีปู่ฮ่อ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ผีปู่ฮ่อยังคงเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และยังอยู่ในความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ว่าคือผู้คุ้มครองชีวิตทั้งในยามปกติและยามลำบาก ดูแลความเป็นอยู่ ส่งผลให้คนในชุมชนเคารพนับถือเรื่อยมา เด่นชัดคือ การถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นให้ถือปฏิบัติกัน ทำให้ความเชื่อความศรัทธาของคนในชุมชนต่อปู่ฮ่อหรือเจ้าหนานฮ่อไม่เลือนหายไปจากชุมชน แต่รูปแบบการจัดการมีการเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเห็นได้ว่าไม่มีปรากฏแล้วในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของประชากรและทรัพยากรในพื้นที่ แต่ขณะเดียวกันลักษณะดังกล่าวก็ยังปรากฏในหลายพื้นที่แม้กระทั่งพื้นที่เมืองใหญ่เมื่อคนเจอวิกฤติไม่สามารถหาทางออกได้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะกลายเป็นที่พึ่งเพื่อประคับประคองชีวิตของคนเพียงแต่อาจเป็นลักษณะของการนับถือในลักษณะส่วนตัวบุคคลมากกว่า ต่างจากดงปู่ฮ่อที่ยังเป็นระบบคิดร่วมกันของชุมชนด้วยเงื่อนไขวิถีชุมชนที่ยังส่งต่อความเชื่อและศรัทธาชัดเจนในระดับครอบครัวและชุมชนผ่านกลไกสำคัญคือพิธีกรรมร่วม ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาตินั้นปรับเปลี่ยนไปตามสภาพปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ในมิติคนกับคนมีความชัดเจนรองลงมาบนฐานกิจกรรมการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ผ่านความสัมพันธ์คนในชุมชน คนนอกชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันมรดกวัฒนธรรมที่เป็นของชุมชนและคนน่าน ร่วมกันฟื้นฟูดงปู่ฮ่อ อนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดีแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาแช่เลียงที่ปรากฎในดงปู่ฮ่อให้คงสภาพที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ทั้งคนในชุมชนและนอกชุมชน มิติคนกับธรรมชาติเกิดขึ้นลดลงและถูกฟื้นฟู ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างคนกับดงปู่ฮ่อ ในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชนจากพื้นที่ป่า แหล่งอาหารและยารักษาโรค ถูกพัฒนาพื้นที่ไปนั้น ความอุดมสมบูรณ์ของดงปู่ฮ่อลดหายไปจากชุมชน จนกระทั่งมีการฟื้นฟูปลูกต้นไม้ พืชสมุนไพร จนมีต้นไม้ใหญ่แล้วนั้น เกิดจากความร่วมมือกันของคนในชุมชนร่วมกันสร้างความเป็นดงปู่ฮ่อให้เป็นพื้นที่สีเขียวให้แก่ดงปู่ฮ่อเพื่อให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน บทเรียนรู้สำคัญของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับดงปู่ฮ่อสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การจัดการมรดกวัฒนธรรมของชุมชนนั้นสิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือ การจัดการที่ควรอยู่บนฐานของวิถีชีวิตชุมชนและการพัฒนาต่อยอดที่จะเกิดขึ้นควรอยู่บนฐานของความเหมาะสม ไม่ขัดกับสภาพวิถีชีวิต และอยู่บนฐานศักยภาพของมรดกวัฒนธรรมที่มี รวมถึงการมองเห็นร่วมของชุมชนและผู้เกี่ยวข้องที่ต้องหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกัน หาทางเดินที่เหมาะสม มิใช่ใครคนใดคนหนึ่งในชุมชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในมรดกทางวัฒนธรรมนั้นๆ ทั้งคนในชุมชนและคนนอกชุมชนที่ร่วมกันเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่ให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่ไม่ให้สูญหาย รักษา สืบทอด ส่งต่อให้ลูกหลายในชุมชนได้ปฏิบัติสืบต่อและใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างยาวนานแก่ชุมชน ดังที่สำนักงานศิลปากรที่11 อุบลราชธานี (2555, บทคัดย่อ)  ได้กล่าวไว้ว่า การที่ชุมชนจะสามารถจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมในท้องถิ่นร่วมกันได้ สมาชิกผู้เกี่ยวข้องควรได้รับการพัฒนาทั้งในด้านความรู้ ทักษะและทัศนคติที่ได้โดยกระบวนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรวัฒนธรรมในชุมชมท้องถิ่นด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นนั้น เพื่อเสริมสร้างความรู้สึกไว้วางใจและเชื่อมั่นระหว่างกัน ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และเข้าใจว่าทรัพยากรวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่นมีประโยชน์ทั้งทางด้านคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนต้องร่วมกันจัดการเพื่อให้วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นยังคงดำรงสืบไป”   เอกสารอ้างอิง ธนิก เลิศชาญฤทธ์. (2554). การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (บรรณาธิการ). (2555). คนใน ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). วนิษา ติคำ. (2553). การจัดการพิพิธภัณฑ์เชิงบูรณาการ กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นแหล่งเตาเมืองน่านบ้านเตาไหแช่เลียง ตำบลสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ศรีศักร วัลลิโภดม (2561). พิพิธภัณฑ์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์. ศิริพร ณ ถลาง. (2652). “คติชนสร้างสรรค์”: บทสังเคราะห์และทฤษฎี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สายันต์ ไพรชาญจิตร์. (2562). มรดกวัฒนธรรม. เข้าถึงจาก Faccebook : Sayan Praicharnjit. [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562] สำนักงานสำนักงานศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี. (2555). ร่วมด้วยช่วนกัน : การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลาคม. อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2555). จินตนาการทางมานุษยวิทยาแล้วย้อนมองสังคมไทย. เชียงใหม่ : ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2558). กำกิ๊ดกำปาก งานวิจัยวัฒนธรรมภาคเหนือ. เชียงใหม่ : ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.   สัมภาษณ์ นางบัวตอง ขัดโน อายุ 71 ปี.  วันที่ 22 พฤษภาคม 2562. นางสุนัน ติคำ อายุ 62 ปี. วันที่ 3 ตุลาคม 2562, 8 พฤศจิกายน 2562.   [1]บทความนี้ได้รับการคัดเลือกจากการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) [2]สาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี E-mail: vanisa.tk@gmail.com [3]สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีE-mail: jeerawan.sri.cd13@gmail.com

เสียงสะท้อนจากชาวพิพิภัณฑ์ท้องถิ่น (Reflection From Local Museum's People)

22 มีนาคม 2556

รายงานเรื่องนี้เป็นการเก็บข้อมูลจากการสังเกตและการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่เป็น ผู้จัดทำ /จัดตั้ง /ดูแลพิพิภัณฑ์ท้องถิ่นที่มาออกบู้ทจัดแสดงในงานเทศกาล พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ครั้งที่ 2 : สยามใหม่จากมุมมองท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2553 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จากจำนวนพิพิธภัณฑ์ 55 แห่งที่มาร่วมแสดง ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์ สนทนา พูดคุยกับชาวพิพิธภัณฑ์จำนวน 29 แห่ง ซึ่งได้รับฟังความคิด ความรู้สึกและเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ น่าสนใจ และทำให้ผู้เขียนกลับมาพิจารณาใคร่ครวญเพื่อที่จะเรียบเรียงเรื่องต่างๆที่ ปรากฎขึ้นจากการสนทนา ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายพอสมควรสำหรับการเขียน เพราะผู้เขียนไม่ต้องการเขียนรายงานที่อธิบายเพียงว่าชาวพิพิธภัณฑ์ชอบหรือ ไม่ชอบงานนี้อย่างไร หรือ อยากได้อะไรจากงานนี้เท่านั้น หากแต่ผู้เขียนพยายามนำความคิดและเรื่องราวจากการสนทนามาวิเคราะห์ว่า การทำงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชาวบ้านวางอยู่บนบริบทและความสัมพันธ์กับ ศูนย์ฯอย่างไร และมีแง่มุมทางวัฒนธรรมอะไรบ้างที่ซุกซ่อนอยู่ในการสนับสนุน / ช่วยเหลือ ให้ชาวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองและสามารถทำงานต่อ ไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีและอยู่รอดในระยะยาว สิ่งที่ผู้เขียนสัมผัสได้จากการพูดคุยกับชาวพิพิธภัณฑ์ อย่างแรกคือ พวกเขารู้สึก “ดี” ที่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ คำพูดที่ยืนยันในเรื่องนี้ เช่น “โชคดีที่ถูกเลือกมาแสดง” “มางานนี้แล้วได้เจอคนที่สนใจเรา” “มาแล้วรู้สึกไม่โดดเดี่ยว มีเพื่อนที่ชอบอะไรเหมือนๆกัน” “มาแล้วดีได้เพื่อน” “ดี เพราะได้ถ่ายทอดความรู้” “ได้รับเสด็จเจ้านาย รู้สึกดี” “มีโอกาสได้ใกล้ชิดสมเด็จพระเทพฯ” “ภูมิใจที่ได้มา พิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆยังไม่ได้มาเลย” เป็นต้น คำพูดเหล่านี้สะท้อนความคิดในเชิงบวกที่มีต่องานเทศกาลฯ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 3แนว คือ หนึ่ง งานเทศกาลฯทำให้ชาว พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นรู้จักเพื่อนที่ทำงานแบบเดียวกัน เป็นช่องทางให้ชาวพิพิธภัณฑ์มาเจอกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน สอง งานเทศกาลฯทำให้ชาวบ้านมีโอกาสอวด โชว์ แสดง และเล่าเรื่องราวของตัวเองให้สาธารณะรับรู้ และ สาม งานเทศกาล นำชาวบ้านมาพบกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันที่สูงสุดของคนท้องถิ่นที่มักจะไม่มีโอกาสใกล้ชิดเจ้านายชั้นสูง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าเทศกาลฯได้ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดีทั้งสามประการดัง ที่กล่าวมาข้างต้น แต่เรื่องราวที่ผู้เขียนจะอธิบายต่อไปนี้ จะมาจากโจทย์ 3 ข้อ ซึ่งบ่งบอกเรื่องราวเกี่ยวกับบริบทของการทำงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โจทย์ข้อที่หนึ่ง เทศกาลฯสร้างความภาคภูมิใจให้ชาวบ้านอย่างไร โจทย์ข้อที่สอง ชาวบ้านเข้าใจความหมายของสยามใหม่จากมุมมองท้องถิ่นอย่างไร และโจทย์ข้อที่สาม เทศกาลฯได้สร้างความเข้มแข็ง(Empower)ให้กับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างไร การตอบโจทย์ทั้งสามข้อนี้ ผู้เขียนจะอธิบายพร้อมกับการตั้งข้อสังเกตใน 5 ประเด็น ต่อไปนี้ 1. Passion of Representationในประเด็นนี้ ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่าความภาคภูมิใจของชาวบ้าน มิใช่เป็นเพียงความชื่นชมงานเทศกาลฯ หรือได้มีโอกาสรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เท่านั้น แต่ยังเห็นได้จากการที่ชาวพิพิธภัณฑ์ขวนขวายและเอาใจใส่ต่อการเตรียมวัตถุ สิ่งของ เรื่องเล่า บอร์ด นิทรรศการ ภาพถ่าย และการตกแต่งบู้ทของตัวเองอย่างวิจิตรตระการตา จนทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าไม่ได้มาดูพิพิภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังได้ดูการประดับตกแต่งบู้ทที่สวยงาม ตัวอย่างเช่น หลวงพ่อวัดร้องเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ จัดแจกันดอกไม้ 5-6 แจกันไว้รอบๆบู้ท จนชาวบ้านที่ติดตามมาด้วยบอกว่า “มากไปแล้วหลวงพ่อ เดี๋ยวจะกลายเป็นร้านดอกไม้” ชาวบ้านจากพิพิธภัณฑ์เมืองท่าบ่อ จ.หนองคาย ออกไปซื้อผ้าลวดลายไทยที่สำเพ็งเพื่อนำมาปูผนังพื้นบอร์ดนิทรรศการและจัด ดอกไม้อย่างงดงาม จนกระทั่งคนที่มาชมงานเอ่ยปากทักว่า “ผ้าสวยจัง ไม่รู้ว่าท่าบ่อมีการทอผ้าแบบนี้ด้วย” จนชาวบ้านต้องบอกว่า “ไม่ใช่ ไปซื้อมาจากสำเพ็ง” เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม จ.นครปฐม ต้องเพิ่มการตกแต่งพื้นด้วยการไปซื้อผ้าสักกะหลาดสีเขียวเพื่อจำลองเป็นสนาม ฟุตบอลและสั่งทำภาพโปสเตอร์ขนาด 2x 3 เมตร เพื่อนำมาติดฝาผนังด้านที่ยังวางอยู่ให้ดูสวยงาม ผู้เขียนสังเกตว่าแต่ละพิพิธภัณฑ์จะมีการตกแต่งบู้ทด้วยดอกไม้ และลงทุนสร้างบอร์ดที่ทำจากไม้ และบอร์ดไวนิล ซึ่งหลายแห่งมีค่าใช้จ่ายในการประดับตกแต่งบู้ทมากเกินงบประมาณที่ศูนย์ฯให้ ไว้ที่ 10,000 บาท แต่ชาวพิพิธภัณฑ์ยินดีที่จะจ่ายเพิ่ม สิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ข้อความและเรื่องที่ปรากฎอยู่ในบอร์ดของชาวบ้าน ค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่มีรายละเอียด มีข้อความยาวๆที่ต้องใช้เวลายืนอ่านนาน ถ้าคนไม่ตั้งใจอ่านก็จะเดินผ่านไป หรือเห็นเป็นเพียงฝาผนังที่มีตัวหนังสือ ชาวพิพิธภัณฑ์อธิบายว่าเรื่องราวที่เขียนอยู่บนบอร์ดได้มาจากการค้นคว้าส่วน ตัว หรือมีคุณครู หรือ ผู้รู้ช่วยค้นคว้ามาให้ เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม จ.ราชบุรี มีคุณครูมาช่วยหาข้อมูลเกี่ยวกับนิกายรามัญ คุณครูสุรีรัตน์เป็นผู้ค้นข้อมูลประวัติศาสตร์การก่อตั้งโรงเรียนราชินีบูรณะ จ.นครปฐม ลูกสาวของเจ้าของพิพิธภัณฑ์ตั้งเซียมฮะ ช่วยศึกษาค้นคว้าประวัติตลาดน้ำคลองบางน้อย จ.นครสมุทรสงคราม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ ช่วยหาข้อมูลเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านให้กับศูนย์วัฒนธรรมตำบลหัวสำโรง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรีช่วยหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้อง ถิ่นให้กับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน อ.สมคิด จูมทอง ช่วยหาข้อมูลวัฒนธรรมไทยพวนให้กับพิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เป็นต้น นอกจากนั้น ชาวบ้านบางคนก็เป็นผู้ที่ค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตัวเอง เช่น ลุงชวน จากพิพิธภัณฑ์เรือจำลอง คลองลัดมะยม ตลิ่งชัน และคุณอนันต์ชัย จากพิพิธภัณฑ์อนันต์ชัยไทยโบท ซึ่งค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเรือชนิดต่างๆที่ใช้ในท้องถิ่นของ ประเทศไทย คุณป้าทุเรียนจากพิพิธภัณฑ์วัดห้วยตะโก จ.นครปฐม เป็นผู้สัมภาษณ์ผู้สูงอายุในชุมชนเพื่อสอบถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ ชุมชน เป็นต้น ข้อมูลจากการค้นคว้าส่วนตัวเหล่านี้บางส่วนถูกนำเสนอในบอร์ดและนิทรรศการ บางส่วนอยู่ในเรื่องเล่าที่อยู่ในการสนทนาระหว่างผู้ชมกับชาวพิพิธภัณฑ์ ชาวบ้านที่มาเป็นวิทยากรประจำบู้ทแต่ละบู้ทจะมีลักษณะพิเศษร่วมกันอย่าง หนึ่งคือ การเป็น “นักเล่าเรื่อง” หรือคนที่ชอบอธิบาย เมื่อมีผู้ชมเข้ามาในบู้ท ชาวบ้านเหล่านี้ก็จะแนะนำให้ผู้ชมรู้จักวัตถุสิ่งของต่างๆที่นำมาแสดง หรือสอนให้ทำงานฝีมือต่างๆ เช่น ขุดเรือไม้ พับกระดาษ ฯลฯ การเป็น “นักเล่าเรื่อง” ของชาวบ้านจึงถูกใช้ได้อย่างเต็มที่เมื่อมาอยู่ในงานเทศกาลฯ นี้ การเป็นนักเล่าเรื่องและการเป็นนักประดิษฐ์ตกแต่ง ทั้งสองคุณสมบัตินี้คือสิ่งที่ทำให้การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ของชาวบ้าน เป็นมากกว่าการเผยแพร่ความรู้ทางวัฒนธรรม นั่นคือการได้แสดงออกถึงอารมณ์ความปรารถนาของคนที่ต้องการอวดของรักของหวง ของตัวเองให้กับคนอื่นๆด้รับรู้ เป็นความใหลหลง /ลุ่มหลง(Passion) ของคนทำงานด้านวัฒนธรรมที่ต้องการจะนำ เรื่องราวที่ตนเองสะสมไว้ไปเผยแพร่ต่อคนหมู่มาก พื้นที่ของเทศกาลฯ จึงเติมเต็มอารมณ์ความปรารถนาและความหลงใหลในงานวัฒนธรรมที่ชาวพิพิธภัณฑ์ บ่มเพาะมากับตัวเอง 2. Festival as Rite of Passageงานเทศกาลฯ เปรียบเสมือนเป็นช่วงเวลาพิเศษ ที่เกิดขึ้นในการประกอบพิธีกรรม พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เข้ามาร่วมงานเทศกาลฯ จะเปรียบเสมือนเป็นผู้เข้าร่วมพิธีกรรมเปลี่ยนสถานะภาพ เหมือนผู้ชายที่จะบวชเป็นพระภิกษุ หรือหนุ่มสาวที่จะเข้าพิธีสมรส มีชาวบ้านหลายแห่งที่ทำงานพิพิธภัณฑ์ในชุมชนของตัวเองซึ่งไม่ได้รับการสนับ สนุน หรือไม่มีใครให้ความสนใจ เมื่อมาร่วมงานเทศกาลฯนี้แล้ว พวกเขาสามารถนำการทำงานในครั้งนี้ไปเป็นเครื่องยืนยันว่างานพิพิธภัณฑ์ของ พวกเขามีความสำคัญและมีคุณค่าต่อสังคมอย่างไรบ้าง เช่น ชาวพิพิภัณฑ์เทศบาลเมืองท่าบ่อ จ.หนองคาย คิดว่างานนี้ช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนจากคนที่ไม่มีค่าไปเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้ กับชุมชน เพราะได้มีโอกาสรับเสด็จฯ ในงานที่ใหญ่ๆแบบนี้ เมื่อกลับไปที่ชุมชน ก็จะนำผลงานนี้ไปแสดงต่อหัวหน้าเทศบาลเพื่อขอรับการช่วยเหลือ เช่นเดียวศูนย์ศิลปวัฒนธรรมโรงเรียนราชินีบูรณะที่จะนำผลงานครั้งนี้ไปเป็น “หลักฐาน” ที่ยืนยันคุณค่าและความสำคัญของการทำงานด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะเมื่อสมเด็จพระเทพฯ ทรงเคาะระฆังและนั่งเก้าอี้ที่โรงเรียนนำมาจัดแสดงในบู้ท เมื่อกลับไปที่โรงเรียนจะจัดแสดงสิ่งเหล่านี้เพื่อให้สมพระเกียรติ นอกจากนั้น ชาวบ้านพิพิภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนหลุมข้าว อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ได้ถวายไม้นวดโบราณให้สมเด็จพระเทพฯ และพระองค์ทรงฝากไว้ให้ชาวบ้าน ชาวพิพิธภัณฑ์คิดว่าเป็นพระมาหกรุณาธิคุณและจะทรงขอพระราชานุญาตนำคันไถนี้ ไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นเกียรติ จะเห็นว่า งานเทศกาลฯ ไม่ได้เป็นเพียงงานวิชาการหรืองานจัดแสดงทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังมีความหมายเหมือนการจัดพิธีกรรมให้กับชาวพิพิธภัณฑ์ที่ยังขาดโอกาสและ ไม่มีคนสนับสนุน ให้ได้รับความภูมิใจ หรือเพิ่มความมั่นใจในตัวเองที่จะออกไปทำงานสร้างพิพิธภัณฑ์ของตัวเองต่อไป เปรียบเสมือนการเปลี่ยนสถานะจาก “คนที่ไม่มีค่า” ไปสู่สถานะของ “คนที่มีค่า” งานเทศกาลฯ จึงเหมือนการประกอบพิธีกรรมที่รับรองว่าพิพิธภัณฑ์ที่มาแสดงในงานเทศกาลนี้ เป็นผู้ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติ การได้ร่วมงานเทศกาลฯในความหมายของพิธีกรรมนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ความ ภาคภูมิใจของชาวพิพิธภัณฑ์ได้อย่างหนึ่ง 3. Practices of Conceptualization แนวคิด “สยามใหม่ จากมุมมองท้องถิ่น” ที่ศูนย์ฯตั้งโจทย์ให้ชาวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเตรียมข้อมูลเพื่อมาจัดแสกงใน เทศกาลฯนี้ ชาวพิพิภัณฑ์แต่ละแห่งมีความเข้าใจไปในทำนองที่ว่า นำวัตถุสิ่งของที่มีอายุราวๆ 100 ปี ที่อยู่ในช่วงรัชกาลที่ 5-6 มาจัดแสดง ซึ่งบางแห่งอาจหาข้อมูลเพิ่มเติมจากการค้นคว้า หรือการช่วยเหลือของนักวิชาการในพื้นที่ เช่น การนำเสนอเรื่องกบฎเงี้ยวของหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา ซึ่งนำข้อมูลมาจากงานวิจัย เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ที่นำเสื้อผ้าของชาวเงี้ยวมาจัดแสดง นักศึกษาสาขาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามเข้ามาช่วยทำวิจัยและค้น คว้าขอ้มูลเกี่ยวกับการขยายเมืองมหาสารคามโดยคนจีนที่เข้ามาในรัชกาล ที่ 5 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ของวัดมหาชัย จ.มหาสารคาม พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง จ.เชียงใหม่ นำใบเสร็จเงินรัช์ชูปการใช้แทนหนังสือเดินทาง 2470 อ.สันทรายมาจัดแสดง พิพิธภัณฑ์เรือจำลอง คลองลัดมะยม ตลิ่งชัน จัดแสดงเรือพายชนิดต่างๆที่ใช้กันมากในคลอง ซึ่งถูกอธิบายว่าในช่วงรัชกาลที่ 4-5 มีการขยายที่ทำนาเพื่อผลิตข้าวไปขาย ต่างประเทศ ทำให้มีการเพิ่มจำนวนเรือมากขึ้น เป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการปลูกข้าวเพื่อขาย การขุดคลองและการใช้เรือเป็นยานพาหนะ พิพิธภัณฑ์บางแห่ง เชื่อว่าสยามใหม่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ จึงนำเรื่องราวที่เกี่ยวกับสถาบันมานำเสนอ เช่น คุณลุงจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวน หลุมข้าว อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี มีความนิยมชมชอบในพระจริยาวัตรและการแต่งกายของสมเด็จพระบรมราชินีนาถเป็น อย่างมาก จึงนำภาพเก่าๆที่สะสมไว้มาใส่แฟ้มและอธิบายว่าพระราชินีเป็นแบบอย่างที่ดี ของกุลสตรี รวมทั้งเสื้อผ้าที่สวมใส่ก็งดงาม พิพิธภัณฑ์บางแห่งไม่ได้มีวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวกับความเป็นสยามใหม่โดยตรง แต่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตท้องถิ่นของตัวเอง เช่น บ้านหนองขาวนำเสนอภาพถ่ายเก่าของชาวบ้านเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน ในขณะที่สูจิบัตรที่ศูนย์ฯจัดทำขึ้นพยายามชูประเด็นเรื่องการเป็นเส้นทางการ ค้าของบ้านหนองขาว เมื่อผู้เขียนลงไปคุยกับชาวบ้านประจำบู้ทพิพิธภัณฑ์หนองขาว เขาไม่ได้พูดถึงการเป็นเส้นทางการค้า แต่จะพูดถึงความภาคถูมิใจเกี่ยวกับอาคารของโรงเรียนวัดหนองข้าวที่สร้าง ตั้งแต่ปี 2479ซึ่งกลายมาเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์วัดคลองแห จ. สงขลา ชาวบ้านให้ความสนใจที่จะเล่าเรื่องวัตถุโบราณที่เก็บในพิพิภัณฑ์มากกว่า บทบาทของพระอธิการทอง คงฆสสโร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้เจริญในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ชาว พิพิธภัณฑ์วัดคงคารามให้ความสนใจกับประเพณีวัฒนธรรมของมอญ และจะเล่าเรื่องอาหารการกินของมอญในงานประเพณีต่างๆ ในขณะที่สูจิบัตรอธิบายเกี่ยวกับนิกายรามัญที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัชกาล ที่ 1และถูกยกเลิกไปในรัชกาลที่ 6 ซึ่งชาวบ้านไม่ได้สนใจว่าการเกิดและการ หายไปของนิกายรามัญส่งผลอย่างไรต่อวิถีชีวิตของพวกเขา จะเห็นได้ว่าเรื่องราวที่ศูนย์ฯพยายามที่จะนำเสนอว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแต่ ละแห่งสะท้อนความเป็นสยามใหม่จะประสบการณ์และการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ในเรื่องใดบ้าง แต่เรื่องเล่าที่ชาวบ้านถ่ายทอดให้ผู้ชมและผู้ที่เข้าไปสอบถามจะเป็นเรื่อง เฉพาะเจาะจงที่ชาวบ้านคิดว่าน่าสนใจ หรือเป็นความประทับใจส่วนตัวที่เขาอยากจะบอก เกือบจะไม่มีชาวพิพิภัณฑ์คนไหนเลยที่จะเล่าเรื่องราวหรือมีความเข้าใจตาม สิ่งที่เขียนไว้ในสูจิบัตร อาจกล่าวได้ว่า ความเข้าใจเรื่อง “สยามใหม่” ของชาวพิพิธภัณฑ์ เป็นแค่เรื่องช่วงเวลาประมาณ 100 ปี และอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 4-7 เพราะอายุของวัตถุสิ่งของเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ง่ายที่สุด มากกว่าการเข้าใจถึงผลกระทบทางสังคมวัฒนธรรมที่สยามเปิดประเทศและรับเอาความ รู้วิทยาการมาจากตะวันตก เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ ชาวบ้านที่มาเป็นวิทยากรประจำบู้ทต่างๆ เป็นคนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมคิดร่วมเตรียมงานจัดแสดงภายใต้แนวคิดสยามใหม่ ตั้งแต่แรก แต่เข้ามาช่วยในฐานะเป็นคนท้องถิ่นที่ร่วมงานกับหลวงพ่อ กับอบต. กับเทศบาล เป็นต้น ดังนั้น การเข้าใจเนื้อหาสาระของสยามใหม่จากกลุ่มคนเหล่านี้จึงสำคัญน้อยกว่าเรื่อง ที่เขาอยากจะพูดเกี่ยวกับท้องถิ่นของตัวเอง ทั้งนี้และทั้งนั้น ผู้เขียนมองว่า การที่ผู้ชมและผู้เล่าเรื่องจะไม่ได้สัมผัสถึงความหมายของการเป็นสยามใหม่ใน บริบทของท้องถิ่น จะเป็นเรื่องที่เสียหาย เนื่องจากการจัดแสดงนิทรรศการ และการให้ความรู้ทางวัฒนธรรมมีเงื่อนไขที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พื้นฐานของผู้ชม ความรู้ของผู้เล่า ประสบการณ์ของคนทำพิพิธภัณฑ์ รวมถึงปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการชมและการเล่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ดังนั้น แนวคิด “สยามใหม่จากมุมมองท้องถิ่น” อาจเป็นสิ่งที่เหมาะสำหรับคนบางกลุ่ม เช่น นักวิชาการหรือนักวิจัยที่จะลงไปค้นหาความหมายในวิถีชีวิตท้องถิ่น และบทบาทของศูนย์ฯที่พยายามสร้างเรื่องเล่าในสูจิบัตรก็เป็นความพยายามที่ดี ที่จะช่วยให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่อาจหาไม่พบจากเรื่องเล่าของชาวบ้าน 4. Deconstruction of Locality การได้พูดคุยกับชาวบ้านที่ทำงานพิพิธภัณฑ์ ยังทำให้เห็นขอบเขตความหมายของคำว่า “ท้องถิ่น” ที่กว้างขวางและมีพรมแดนที่ทับซ้อนกันระหว่างคนหลายกลุ่ม “ท้องถิ่น” จึงไม่ได้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ชนบทที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรืออยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติเหมือนภาพในจิตนาการหรือเป็นอุดมคติ หากแต่ “ท้องถิ่น” ที่ปรากฎอยู่ในงานพิพิธภัณฑ์ รวมเอาคนหลากหลายกลุ่มและมีวิถีชีวิตทั้งภาคเกษตรกรม ภาคอุตสหกรรม และการพิชย์ มีทั้งการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนจากเมือง กึ่งเมือง กึ่งชนบท และการติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างชาวบ้าน นักวิชาการ นักธุรกิจ นายทุน พระสงฆ์ และข้าราชการ ความเป็นท้องถิ่นในงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ในแง่ของภูมิศาสตร์วัฒนธรรม อาจดูได้จากสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศที่พิพิธภัณฑ์นั้นๆเกิดขึ้น เช่น การทำนาข้าวในเขตที่ลุ่ม น้ำท่วมสูงที่ต้องปลูกข้าวพันธุ์ที่โตตามน้ำในเขตฉะเชิงเทรา ชาวนาจะใช้เคียวที่มีลักษณะพิเศษ ด้ามเป็นรูปโค้งเพื่อเกี่ยวต้นข้าวขึ้นจากน้ำ เคียวลักษณะนี้เป็นของสะสมในพิพิธภัณฑ์โรงเรียนวัดหัวสำโรง อ.แปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมทั้งมีการร้องเพลงชางชัก ในช่วงเกี่ยวข้าวและนวดข้าว ซึ่งชาวหัวสำโรงพยายามฟื้นฟูให้ลูกหลานสืบทอดเพลงชนิดนี้ ปัจจุบันเขตอ.แปลงยาว กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ลูกหลานชาวนาจำนวนมากเข้าไปเป็นคนงานในโรงงาน ท้องถิ่นบ้านหัวสำโรงจึงมีความเป็นเกษตรกรรมพร้อมกับอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับชุมชนหนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ซึ่งแต่เดิมเป็นชุมชนปลูกข้าว ปลูกฝ้าย ปัจจุบันเมื่อมีโรงงานน้ำตาลมาตั้ง พื้นที่ปลูกฝ้ายก็เปลี่ยนเป็นไร่อ้อย ทำให้การทอผ้าจากฝ้ายเปลี่ยนเป็นการทอผ้าที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์ การเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศและภูมิศาสตร์วัฒนธรรมเหล่านี้พบได้ทั่วไปในท้อง ถิ่นต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวพิพิภัณฑ์ท้องถิ่นกำลังเผชิญและมีผลต่อการประกอบอาชีพและ การดำเนินชีวิต แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังไม่ได้สะท้อนออกมาจากการทำงานพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากชาวบ้านที่ทำงานพิพิธภัณฑ์ (รวมถึงงานวัฒนธรรม) มุ่งสนใจแต่เรื่อง ราวอดีตและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่น สนใจที่จะรื้อฟื้นความทรงจำจากคนชราในชุมชน เก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้เก่าๆที่เคยใช้ทำไร่ทำนา หรือของวัตถุโบราณที่ขุดพบในชุมชน การจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็น “กระแสหลัก” จึงเป็นการเก็บรักษาอดีตที่หายไป แต่ความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิต จากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรมถูกมองข้ามไป ด้วยเหตุผลที่ว่าอุตสาหกรรมเป็นของสมัยใหม่ที่ทำลายวัฒนธรรมในออีตที่สวยงาม จะเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร ถ้าในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจะนำเสนอเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตัวเอง ผ่านมุมมองร่วมสมัย เช่น การเข้ามาของยาเสพติดในชุมชนหัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ปัญหาการลักขโมยหัวกริชของเด็กติดยาในชุมชนตะโละหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา การตัดไม้โกงกางและทำลายป่าชายเลนในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ การที่ชาวบ้านขนอิฐโบราณไปขายเพื่อทำทางรถไฟในชุมชนวัดห้วยตะโก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม การเปลี่ยนอาชีพมาทำไร่อ้อยของชาวหนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี การเข้ามาของการท่องเที่ยวและตลาดน้ำในชุมชนคลองลัดมะยม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ การเข้ามาของทัวร์ชาวต่างชาติในวัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ปัญหาการขึ้นค่าเช่าที่ และการไล่ชาวบ้านของเจ้าอาวาสวัดเกาะแก้ว ในชุมชนบางน้อย จ.สมุทรสงคราม การสร้างตลาดนัดและตลาดน้ำในวัดคลองแห จ.สงขลา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น วัฒนธรรมร่วมสมัยเหล่านี้มักจะได้รับการบอกเล่าผ่านชาวบ้าน และผู้เขียนก็จะได้ยินเสียงบ่นและตำหนิว่าสิ่งเหล่านี้เข้ามาทำลายชีวิต ชุมชน ในขณะที่จะได้ฟังคำชื่นชมและความโหยหาอดีตที่ไม่อาจกลับคืนมาได้ ชาวพิพิธภัณฑ์จะมองดูวัตถุสิ่งของโบราณและภาพถ่ายในอดีตด้วยความชื่นชมและ เปรียบเทียบว่าของโบราณดีกว่าปัจจุบัน ดังนั้น “ท้องถิ่น” ในงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จึงจำกัดขอบเขตอยู่ที่ “เรื่องอดีต” ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 100-200 ปีก่อน (หรือเก่ากว่านั้น) และเรื่องอดีตก็ ถูกมองด้วยสายตาคนปัจจุบันว่า “ดีกว่า” ในขณะที่เรื่องปัจจุบัน เช่นวัตถุสิ่งของที่บริโภคในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องใกล้ตัว ถูกมองว่า “ธรรมดา” ถึงแม้ว่าการรื้อพื้นอดีตหรือความทรงจำเกี่ยวกับอดีต เช่น การใช้เรือพาย การใช้หม้อดิน เตาถ่าน การทอผ้า ฯลฯ จะเป็นเรื่องที่ควรจดจำและน่าเรียนรู้ แต่ชีวิตสมัยใหม่ของชาวบ้านที่พึ่งพิงวัฒนธรรมบริโภคและสินค้าอุตสาหกรรมก็ ควรจะถูกบันทึกไว้ในท้องถิ่นของตนเองด้วย เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจว่าชาวบ้านมีการปรับตัวต่อชีวิตสมัยใหม่อย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ท้องถิ่น” ในความหมายใหม่ มิใช่แค่เรื่องราวอดีตของชุมชนเกษตรกรรม แต่เป็นเรื่องราวร่วมสมัยของคนรุ่นต่างๆที่ปรับตัวทางสังคมวัฒนธรรมและสร้าง ความหมายต่อถิ่นอาศัยของตัวเองอย่างต่อเนื่องและเป็นกระบวนการ 5. Surviving Local Museumในการทำงานพิพิภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ต้องพบกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ปัญหาหลักๆที่ชาวพิพิภัณฑ์มักจะพูดถึงคือ เรื่องการขาดแคลนงบประมาณ ซึ่งมีตั้งแต่การไม่มีงบประมาณ งบประมาณไม่เพียงพอ ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ ไปจนถึงการแสวงหางบประมาณจากการทอดผ้าป่า หรือการจำหน่ายของที่ระลึก เช่น วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา จัดทอดผ้าป่า และให้เช่าพระเพื่อหารายได้ทำพิพิธภัณฑ์ บ้านปะอาว อ.เมือง จ.อุบลราชธานี จัดทอดผ้าป่าปีละ 2 ครั้งเพื่อหาทุนสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ ราคา 4 ล้านบาทเป็นต้น สำหรับพิพิธภัณฑ์ที่เป็นของส่วนตัว เจ้าของพิพิภัณฑ์จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายโดยใช้เงินส่วนตัว เช่น พิพิธภัณฑ์เรือจำลอง คลองลัดมะยม เขตตลิ่งชัน ซึ่งมีลุงชวนเป็นเจ้าของ โดยใช้เงินบำนาญของตัวเองมาจุนเจือการทำงานพิพิธภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันต้องเช่าห้องเดือน 1 หมื่นบาทเพื่อทำพิพิธภัณฑ์ และกำลังถูกไล่ ลุงชวนต้องเดือดร้อนไปหาที่เช่าแห่งใหม่ คุณอนันต์ชัยและภรรยาเจ้าของพิพิธภัณฑ์อนันต์ชัยไทยโบท เขตหนองแขม หาเงินโดยการทำเรือจำลองขายหรือรับจัดงานนิทรรศการ เพราะมีพื้นความรู้เกี่ยวกับสถาปนิก คุณโกมล เจ้าของพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ จ.แพร่ จำหน่ายผ้า และผลิตภัณฑ์ผ้าเพื่อหารายได้ทำงานพิพิธภัณฑ์ คุณมานิตย์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง อ.งาว จ.ลำปาง จำหน่ายสมุนไพรแปรรูปเพื่อหารายได้ เป็นต้นพิพิธภัณฑ์ที่มาจากการเก็บสะสมของโบราณส่วนตัว เช่น พิพิธภัณฑ์บ้านเชียงเหียน จ.มหาสารคาม เก็บสะสมหนังบักตือ หรือหนังประโมทัย (หนังตะลุงอีสาน) พิพิธภัณฑ์ตั้งเซียมฮะ จ.สมุทรสงคราม เก็บสะสมไหโบราณ และเครื่องสังคโลก พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวเหล่านี้มักจะเกิดกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีและมีการ ศึกษา จากการพูดคุยกับเจ้าของพิพิธภัณฑ์เหล่านี้พบว่าลูกหลานที่มีการศึกษาจะเข้า มาช่วยสืบสานงานพิพิธภัณฑ์ และคนเหล่านี้มักจะชอบทำงานช่วยเหลือสังคม เช่น เปิดบ้านเป็นโรงเรียนฝึกงานฝีมือ ให้นักท่องเที่ยวมาชม ตอนรับนักเรียน นักศึกษาที่เดินทางมาเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ และช่วยงานสังคมที่มีอยู่ในชุมชน เจ้าของพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวที่เป็นเอกชนเหล่านี้มักจะไม่ได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยงานของรัฐ เช่น อบต. เทศบาล หรือจังหวัด เพราะรัฐมองว่าพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวเป็น “ธุรกิจ” ที่มีรายได้ มากกว่าจะมองว่าเป็นการส่งเสริมงานวัฒนธรรมให้กับชุมชน ปัญหาการอยู่รอดของพิพิธภัณฑ์เอกชนจึงมากไปกว่าเรื่องงบประมาณ แต่เป็นเรื่องทัศนคติของภาครัฐที่มองพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวเป็นกิจการธุรกิจ แต่นอกเหนือจากเรื่องงบประมาณแล้ว สิ่งที่มีผลต่อการอยู่รอด หรือการต่อลมหายใจของพิพิภัณฑ์ท้องถิ่นก็คือ ทัศนคติที่ไม่ตรงกันของคนท้องถิ่น หรือคนในหมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น ในชุมชนวัดห้วยตะโก ต.พะเนียด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ชาวบ้านแบ่งเป็นสองกลุ่มระหว่าง กลุ่มอบต. กับกลุ่มวัด ความคิดของทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ลงรอยกันเพราะ อบต.มองว่าการทำงานของหลองพ่อวัดห้วยตะโกสนับสนุนเด็กที่ติดยา ให้เด็กติดยาอยู่ในวัดและมองว่าวัดเป็นที่ขายยาเสพติด ในขณะที่กลุ่มของวัดและชาวพิพิธภัณฑ์มองว่าหลวงพ่อให้โอกาสกับเด็ก ช่วยเหลือเด็กที่ตกทุกข์ได้ยาก ทำให้เด็กที่ติดยากลับตัวเป็นคนดี อีกตัวอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นที่วัดคงคาราม ชาวบ้านมีความสงสัยว่างบประมาณที่เหลือที่วัดได้มาจากกรมศิลปากรเพื่อบูรณะ ซ่อมแซมโบสถ์หายไปไหน วัดได้งบประมาณ 9 ล้าน และใช้จ่ายจริง 7 ล้าน เหลือ 2 ล้าน ซึ่งต้องส่งเงินคืนให้กับรัฐ ชาวบ้านมีความไม่เข้าใจคิดว่าวัดนำเงิน 2 ล้านเข้ากระเป๋าตัวเอง เป็นต้น จะเห็นได้ว่าพระที่เป็นนักพัฒนามักจะต้องเผชิญหน้ากับความคาดหวังจากคนใน ชุมชนค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะมีชาวบ้านบางกลุ่มมองพระในเชิงลบ ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนจะขอละไว้จะไม่นำมาวิพากษ์วิจารณ์ อีกตัวอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นในชุมชนบางน้อย เจ้าของพิพิธภัณฑ์ตั้งเซียมฮะ (บ้านไหพันใบ) พบปัญหาความไม่ร่วมมือของ เทศบาล เพราะผู้บริหารสนใจการแสวงหากำไรจากกิจกรรมการค้ามากกว่าการส่งเสริม วัฒนธรรม เช่น เป็นนายหน้าขายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ซื้อเสียงเลือกตั้ง และให้ตำแหน่งเฉพาะญาติพี่น้อง นอกจากนั้น ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของพิพิภัณฑ์และตลาดน้ำบางน้อย เป็นที่ดินของวัด ซึ่งเจ้าอาวาสอยากจะนำที่ดินมาแสวงหาผลกำไรที่มากกว่าการให้ชาวบ้านเช่า ชาวบ้านในละแวกนี้จึงอยู่อาศัยด้วยความไม่มั่นคง เจ้าของบ้านไหพันใบจึงต้องทำงานแบบตัวคนเดียว หรือผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลสยามที่กำลังเผชิญปัญหาอาคารทับแก้วกำลังพุ พังทรุดโทรม กำลังของบประมาณจากสำนักพระราชวังแต่ยังไม่ไดรับการตอบรับ รวมทั้งตระกูลวัชโรทัยที่ดูแลที่ดินและอาคารต่างๆในพระราชวังสนามจันทร์ ไม่ได้ให้การสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เช่น ไม่มีการระบุชื่อทับแก้ว ลงไปในแผ่นพับแนะนำพระราชวังสนามจันทร์สำหรับนักท่องเที่ยว ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลสยามเชื่อว่าในอนาคตอาจต้องย้ายออกจากทับแก้ว และไปหาที่อยู่แห่งใหม่ ปัญหานี้คล้ายๆกับพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี จ.ระนอง ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของทายาทตระกูล ณ ระนอง ปัจจุบันผู้จัดการมรดกเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการทำงานของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งดูเหมือนผู้จัดการจะไม่สนับสนุนงานพิพิภัณฑ์ เพราะคิดอยากจะนำที่ดินและอาคารไปลงทุนทางธุรกิจที่ได้ผลกำไรดีกว่า ขณะที่หน่วยงานของรัฐก็ไม่กล้าเข้ามาช่วยเหลือเพราะเป็นทรัพย์สินของเอกชน ผู้ดูแลพิพิภัณฑ์แห่งนี้จึงทำหน้าที่เป็นเพียงคนเฝ้าบ้าน ทำความสะอาด และป้องกันไม่ให้มีใครมาขโมยของปัญหาและอุปสรรคที่กล่าวมาข้างต้นวางอยู่บนฐานความคิดร่วมกันอย่างหนึ่งคือ งานวัฒนธรรมในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องของปากท้อง รัฐมองว่าการทำพิพิธภัณฑ์และงานด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับชุมชนเป็น เรื่องของการร้องรำทำเพลง และมีไว้เพื่อโชว์ตามเทศกาลงานประเพณีสำคัญๆ รัฐไม่ได้มองว่างานด้านนี้จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต และทุนทางสังคมให้กับคนในชุมชนได้อย่างไร ซึ่งเป็นการมองวัฒนธรรมเพียงผิวเผินและคับแคบ หรือมองแค่วัตถุสิ่งของที่มองเห็นได้ด้วยตา แต่วัฒนธรรมไม่ได้มีเพียงรูปธรรม ยังมีส่วนที่เป็นความคิดความเชื่อที่ตกทอดมาจากอดีตและหากรู้จักนำมาปรับใช้ กับชีวิตประจำวัน ก็จะเกิดผลเชิงบวกต่อสังคมส่วนร่วม ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็ง (empower) ให้กับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจึงมีขอบเขตมากไป กว่าการที่ชาวบ้านมีโอกาสมาจัดแสดงในงานเทศกาลฯนี้ เพราะกระบวนการสร้างพลังและความเข้มแข็งให้กับพิพิภัณฑ์ท้องถิ่น ควรจะต้องทำความเข้าใจฐานความคิด / ฐานคติของสังคมที่มีต่องานด้านวัฒนธรรม ทั้งหมด ทิ้งท้าย หลังจากสังเกตและพูดคุยกับชาวพิพิธภัณฑ์หลายคน ผู้เขียนขอจบรายงานนี้ด้วยข้อเสนอแนะ /ข้อสังเกต และความคิดเห็นดังต่อไปนี้ 1 เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นกิจกรรมที่ชาวพิพิธภัณฑ์ต้องการและอยากให้ศูนย์ฯจัดต่อไปเรื่อยๆ2 ชาวพิพิธภัณฑ์มีความคาดหวังว่าศูนย์ฯจะช่วยเหลือพวกเขาอย่างใดอย่างหนึ่ง3 ศูนย์ฯสามารถสนับสนุนการพิมพ์หนังสือ ที่ชาวพิพิธภัณฑ์เป็นผู้เขียนขึ้นมาเอง4 ศูนย์ฯ ควรร่วมมือกับกระทรวงต่างๆผลักดันเชิงนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น5 ศูนย์ฯ ควรมีการทำวิจัยและศึกษาปัญหาของพิพิภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย6 ศูนย์ฯ ควรจัดหลักสูตรอบรมข้าราชการท้องถิ่นให้เข้าใจงานวัฒนธรรมและงานด้านพิพิธภัณฑ์7 ศูนย์ฯ ควรทำชาวบ้านเห็นความสำคัญของการบันทึกเรื่องราวร่วมสมัยที่เกิดในชุมชนของตน8 ศูนย์ฯ ควรสร้างกิจกรรมอะไรขึ้นมาบางอย่าง เพื่อทำให้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์มีพลังและทำงานได้9 ศูนย์ฯ ร่วมมือกับโรงเรียน และพิพิภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่มีชีวิตชีวา10 ศูนย์ฯ ควรส่งเสริมให้พิพิธภัณฑ์รู้จักนำวัตถุข้าวของที่ตนเองมีอยู่มาดัดแปลงเป็นสินค้าเพื่อหารายได้

กระบวนการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นต่อการสร้างองค์ความรู้แก่โบราณวัตถุ Museum Visit You

19 กุมภาพันธ์ 2564

กระบวนการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นต่อการสร้างองค์ความรู้แก่โบราณวัตถุ Museum Visit You[1] เบญจวรรณ พลประเสริฐ[2]   บทคัดย่อ บทความนี้ต้องการนำเสนอข้อค้นพบจากการทำกิจกรรมนอกอาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  หริภุญไชย จังหวัดลำพูน โดยการนำเรื่องราวองค์ความรู้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตลอดจนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของชาติ เดินทางไปหาชุมชน เพื่อสร้างบริบทองค์ความรู้ใหม่ๆให้แก่โบราณวัตถุ  ในแง่มุมที่ชุมชนในฐานะคนใน ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่และเจ้าของข้อมูลได้ช่วยกันบอกเล่า   ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนโดยการออกแบบการจัดแสดงผ่านการแลกเปลี่ยน อาทิ เล่าเรื่องด้วยแผนที่ชุมชน สิ่งของเครื่องใช้ ภาพถ่ายหรือแม้กระทั่งการใช้โบราณวัตถุเอง  เพื่อให้คนเข้าถึงโบราณวัตถุมากขึ้น ผลการศึกษาพบว่านอกจากจะได้บริบทองค์ความรู้ใหม่ๆให้แก่โบราณวัตถุแล้ว ยังก่อให้เกิดประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมระหว่างโบราณวัตถุของชาติและชุมชน  อีกทั้งได้สร้างคุณค่าทางใจ และความรับรู้ให้คนท้องถิ่นภาคภูมิใจและรู้สึกสายสัมพันธ์ระหว่างคนและสิ่งของที่ยังคงมีอยู่ แม้ว่ามรดกวัฒนธรรมนั้นจะถูกดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐแล้วก็ตาม การเชื่อมโยงเรื่องราวของชุมชนผ่านการแลกเปลี่ยน เรื่องเล่า โบราณวัตถุนี้ สามารถนำไปปรับใช้กับเนื้อหาในส่วนจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ อันเป็นแนวคิดที่สามารถนำไปสู่การฟื้นฟู ถ่ายทอดองค์ความรู้ของท้องถิ่นสู่การเป็นชาติได้ การจัดกิจกรรมนอกพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นี้ถือเป็นแนวทางหนึ่งของการนำเสนอพิพิธภัณฑ์[3] ออกสู่สายตาชุมชน นอกจากข้อดีที่กล่าวในข้างต้นแล้วยังจะเป็นการกระตุ้นให้จำนวนผู้ประสงค์เข้ามาเยี่ยมชม หรือใช้บริการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีมากขึ้นด้วยแล้ว จุดประสงค์หลักของการดำเนินโครงการที่ทางผู้จัดหวังไว้ คือการเสริมสร้างความรู้และแนวร่วมในการปกป้องคุ้มครองศิลปโบราณวัตถุของชาติ ที่อยู่ภายในท้องถิ่นเอง ให้คนในท้องถิ่น ชุมชนได้รู้ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป จึงจะถือว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ทำหน้าที่ในบทบาทของตนเองอย่างสมบูรณ์   คำค้น:   พิพิธภัณฑ์ ชุมชน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ   1. พิพิธภัณฑ์ภูมิหลังกับการพัฒนา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหมายถึงพิพิธภัณฑ์ที่ประกาศจัดตั้งอยู่ในราชกิจจานุเบกษา รัฐบาลกลางจัดสรรและสนับสนุนงบประมาณ บริหารจัดการโดยกรมศิลปากร มีหน้าที่รวบรวม สงวนรักษาโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่เป็นทรัพย์แผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ นำผลการศึกษาวิจัยและเผยแพร่ให้คนไทยได้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับความเป็นคนไทยในทุกแง่มุม จึงต้องมีศักยภาพในการเป็นสถาบันเพื่อการอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมของชาติ ที่มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นสถานที่จัดตั้งขึ้นและบริหารจัดการโดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (เมือง/จังหวัดเทศบาล/ตำบล/ฯลฯ) เพื่อการประชาสัมพันธ์เรื่องราวของท้องถิ่น และ/หรือ เรื่องราวที่ท้องถิ่นนั้น ๆ สนใจ และยังเป็นสถานที่จัดกิจการด้านต่าง ๆ ของท้องถิ่น เช่น พิพิธภัณฑ์เมือง เป็นต้น ปัจจุบันเมื่อกิจการพิพิธภัณฑ์โดยรัฐบาลกลางได้วางรากฐานในการอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมของชาติได้เข้มแข็งขึ้น ความสนใจและแนวคิดในการอนุรักษ์สะสมสืบสาน และสืบทอดในภูมิปัญญาไทย จึงขยายไปสู่คนไทยทั่วไปมากขึ้น จึงทำให้เกิดมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้มากขึ้น โดยคนหรือหน่วยงานในท้องถิ่นนั่นเอง (สมลักษณ์, 2550) ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์กลายเป็นองค์กรที่แสดงถึงแนวความคิดอันทันสมัยของคนรุ่นเก่าและใหม่ที่ต้องการพื้นที่แสดงออกทางวัฒนธรรมและแนวคิดในรูปแบบต่างๆ ทำหน้าที่สื่อสารเสนอเรื่องราวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ตลอดจนหลากหลายแง่มุมในการใช้ชีวิตของมนุษย์ ที่ผู้คนหลากวัยหลายอาชีพต่างต้องการเข้าใช้บริการและคาดหวังในสิ่งที่ได้รับกลับมา ประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์รวมแล้ว 1,539 แห่ง[4] ในจำนวนนี้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพียง  42 แห่ง  กระจายไปทั่วประเทศไทยสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมในแต่ยุคแต่ละสมัยในปัจจุบันจะถูกจัดเก็บสะสมและจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์มีการจัดการข้อมูลไว้อย่างดีด้วยระบบพิพิธภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานในแต่ละภูมิภาค สะท้อนประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งโดยรวมคือประวัติศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์กันทั้งเชิงพื้นที่และเวลา “ลำพูนพิพิธภัณฑสถาน” หรือ“พิพิธภัณฑสถานมณฑลพายัพ” นับเป็นพิพิธภัณฑสถานส่วนภูมิภาคแห่งแรกของภาคเหนือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2470 โดยพระยาราชนกูลวิบูลย์ภักดี (อวบ  เปาโรหิตย์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพเป็นผู้ริเริ่มขึ้นตามพระราโชบายการสร้างความเป็นรัฐชาตินิยม โดยมีวัตถุประสงค์จะคุ้มครองรักษาสมบัติวัฒนธรรมของชาติในมณฑลพายัพไม่ให้สูญหาย ในนครลำพูนสมัยนั้นเป็นแหล่งที่ค้นพบศิลปโบราณวัตถุมากกว่าที่อื่นในภาคเหนือ ภายหลังการเปลี่ยนแปลง ในปี พ.ศ.2475พิพิธภัณฑสถานยังคงอยู่ในความดูแลของวัดพระธาตุหริภุญชัย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ศาลากลางจังหวัดเรื่อยมา จนรัฐบาลได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นใหม่“ลำพูนพิพิธภัณฑสถาน” จึงถูกประกาศเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย” อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2504  เป็นต้นมา ต่อมากรมศิลปากรมีโครงการขยายกิจการพิพิธภัณฑ์ หาสถานที่และงบประมาณจะจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ถาวรทันสมัยขึ้นใหม่ พระธรรมโมลี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยขณะนั้น จึงมอบศิลปโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานหลังเดิมจำนวน 2,013 ชิ้น ให้กรมศิลปากร เพื่อนำออกมาจัดแสดง  ณ  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่จะสร้างขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 20  มิถุนายน พ.ศ.2511 แต่ก็ยังไม่มีสถานที่เหมาะสมจนกระทั่งกรมศิลปากรได้รับมอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินราชพัสดุ เดิมเป็นที่ตั้งเรือนจำจังหวัดลำพูน ที่ถนนอินทยงยศ ตรงข้ามวัดพระธาตุหริภุญชัย จำนวน 2 ไร่ 3 งาน 55 ตารางวา  ในปี พ.ศ.2515 จึงได้ทำการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ขึ้น แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2517 จากนั้นได้เคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากอาคารหลังเก่าในวัดพระธาตุหริภุญชัยมาจัดแสดงร่วมกับโบราณวัตถุที่รวบรวมเพิ่มเติมจากที่ประชาชนบริจาค และโบราณวัตถุที่ย้ายมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครส่วนพิพิธภัณฑสถานวัดพระธาตุหริภุญชัยนั้น วัดยังได้พัฒนาปรับปรุงและเปิดบริการเช่นเดิม เมื่อการดำเนินการจัดตั้งและจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เรียบร้อย  กรมศิลปากรได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2522 เป็นต้นมา   2. พื้นที่การจัดแสดงพื้นที่ความหมายของสังคม “พิพิธภัณฑ์” ในการรับรู้ของกลุ่มคนลำพูนเมื่อ 80 กว่าปีที่แล้ว เป็นเรื่องของการยกระดับจากโรง ศาลาหรืออาคารที่ใช้เก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ  ที่สุ่มๆรวมกันอยู่นำมาจัดเรียงจัดแสดง ไว้เพื่อเป็นที่ศึกษาดูของเก่า ของแปลก ในท้องถิ่นนั้นๆ แก่ผู้คนต่างถิ่น และคนชั้นสูง อันแสดงถึงความศิวิไลซ์แสดงความเป็นอารยะของเมืองเก่าที่มีมากว่า 1,000 ปี ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องแปลกที่พิพิธภัณฑสถานมณฑลพายัพ จะตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เนื่องมาด้วยเป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมายาวนานและเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนามาแต่อดีตจนปัจจุบัน จึงกลายเป็นแหล่งที่รวบรวมของมีค่า โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มากมายที่เป็นของวัดพระธาตุหริภุญชัยเองหรือกระทั่งเป็นที่เก็บโบราณวัตถุเก่าแก่จากวัดสำคัญและวัดร้างมากมาย ทั่วทั้งจังหวัดลำพูน  การรวบรวมโบราณวัตถุ จากทั่วมณฑลพายัพ เริ่มโดยการรวบรวมศิลาจารึกซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นหลักฐานชั้นต้นที่แสดงถึงความเป็นอารยะของผู้คนแถบนี้ ศิลาจารึกที่พบ ณ เมืองลำพูน คือ ศิลาจารึกมอญโบราณ ขนาดใหญ่จำนวน 8 หลักซึ่งมีขนาด ความสูงมากกว่า 120 เซนติเมตร ความกว้างเกือบ 100 เซนติเมตร และความหนาราว 30 เซนติเมตร  มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 15[5] แต่ละหลักจารึกด้วยอักษรมอญโบราณ บางทีขึ้นต้นจารึกเป็นภาษาบาลีแล้วแปลงเป็นภาษามอญ หรือมิฉะนั้นจารึกทั้งภาษามอญและภาษาบาลีรวมกันไปทำนองเดียวกับลักษณะภาษาไทย ซึ่งมักจะมีภาษาบาลีปะปนอยู่ แสดงให้เห็นว่า กลุ่มชนโบราณที่จังหวัดลำพูนในราวพุทธศตวรรษที่ 15 นั้น นับถือพระพุทธศาสนาที่ใช้ภาษาบาลีเป็นหลัก และใช้ภาษามอญอีกภาษาหนึ่งเป็นภาษาติดต่อในกลุ่มตนด้วยเช่นกัน นอกจากศิลาจารึกมอญโบราณจำนวน 8 หลักที่พบ ณ จังหวัดลำพูนแล้ว ลำพูนพิพิธภัณฑสถาน ยังได้รวบรวมศิลาจารึกจากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา ไว้อีกด้วย รวมทั้งหมดมีจำนวนถึง 39 หลักในขณะนั้น แบ่งออกเป็นศิลาจารึกจากจังหวัดเชียงใหม่ 2 หลัก จังหวัดเชียงรายและพะเยา 13 หลัก และจังหวัดลำพูนมีมากถึง 24 หลัก นอกจากนี้จากข้อมูลประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องมีผู้ให้ของแก่พิพิธภัณฑสถานมณฑลพายัพ ในช่วงปี พ.ศ.2470-2475  โดยผู้มอบส่วนใหญ่มาจากส่วนราชการทั่วมณฑลพายัพถึง 90%  อาทิ ศาลจังหวัดลำพูน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน  สัสดีลำพูน ปลัดอำเภอจอมทอง รวมทั้งจากเจ้าผู้ครองนครลำพูน เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ร่วมกับสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ เป็นต้น รองลงมาคือพระสงฆ์ และส่วนราษฎรเป็นส่วนน้อยตามลำดับ โบราณวัตถุที่มอบส่วนใหญ่แล้วเป็นเครื่องโลหะ   เครื่องอาวุธประเภท ปืนโบราณ ปืนแก๊ป ปืนดาบศิลาแฝด ในส่วนของราษฎรบริจาคเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบในพื้นที่ดินทำมาหากินของตนหรือ “อัฐทองแดง ศกต่างๆ”การรับบริจาคโบราณวัตถุดังพบว่า ได้รับมอบมาอย่างหลากหลายประเภท เพื่อนำมาจัดแสดงตามรูปแบบที่ “กรมมิวเซียม” ได้กำหนดการจัดมิวเซียม ว่าควรจัดเป็น 9 แผนก[6] คือ แผนกของโบราณ   แผนกของประเทศ แผนกอาวุธ   แผนกฝีมือช่าง  แผนกกสิกรรม  แผนกสินค้า  แผนกสัตว์  แผนกพฤกษา และแผนกแร่ธาตุ “ทั้ง 9 แผนกนี้ เป็นรูปแบบการจัดประจำมิวเซียม ซึ่งมีผู้ปรารถนาจะดู ฦๅศึกษา และจะพิจารณาได้เป็นนิจ”แต่จากข้อมูลภาพถ่ายเก่าและรายละเอียดโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้รับมอบจัดแสดง ส่วนใหญ่เป็น ศาสนวัตถุ  อาทิ พระพุทธรูปที่ได้รับจากวัดสำคัญ ทำให้การแบ่งส่วนจัดแสดงตามที่กรมมิวเซียมกำหนดได้ไม่ครบ ปรากฎให้เห็นเฉพาะในส่วนของศาสนวัตถุ พระพุทธรูป และแผนกศิลาซึ่งได้รับบริจาคจากอำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ในขณะนั้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับศิลาจารึกอีกจำนวนหนึ่งด้วย การจัดแสดงใน พ.ศ.2470 โดยเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เป็น “คิวเรเตอร์” นั้น ลำพูนพิพิธภัณฑสถานกลายเป็นพื้นที่ที่สร้างความร่วมมือ ปะทะประสานกันทางความคิดในระดับชุมชนได้เป็นอย่างดี เพราะพบว่าใน พ.ศ.2471 ระยะเวลา 1 ปี ภายหลังการเปิดลำพูนพิพิธภัณฑสถาน มีการบริจาควัตถุจัดแสดงอย่างมากมาย จากทั่วมณฑลพายัพ เข้าใจว่าในขณะนั้นแม้ว่าทางกรมมิวเซียมได้กำหนดส่วนจัดแสดงให้พิพิธภัณฑ์หัวเมืองปฏิบัติตาม ดังวิธีคิดของนักวิชาการในปัจจุบันที่การจัดนิทรรศการต้องเริ่มด้วย theme หรือ concept  (แนวคิด) แต่การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ก็มักจะเริ่มด้วยวัตถุ วัดมีของอะไรบ้าง มีของบริจาคอะไรบ้าง วัตถุประสงค์สำคัญที่ชาวบ้านชุมชนนำของมาร่วมบริจาคเพื่อทำบุญ ถวายทาน เพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา  ชาวลำพูนต้องการเก็บอะไรไว้เป็นความทรงจำของเมืองลำพูนบ้าง มิใช่แค่เพียงแสดงความเป็นเมืองที่มีอารยะ ที่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นรัฐชาติไทยที่รุ่งเรืองตามแนวคิดของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเท่านั้น   ดังรายการของบริจาคในส่วนของเจ้าผู้ครองนครลำพูนและลูกหลาน อาทิ  ปืน  เครื่องทอผ้า  ดาบด้ามเงิน  สัตภัณฑ์และม้าเงินจำลองถวายเป็นพุทธบูชาองค์พระธาตุหริภุญชัย  เครื่องดนตรีมโหรี  ซึ่งล้วนแสดงถึงความสุขความรุ่งเรือง “ศิวิไลซ์”   ครั้งแต่ยุคเจ้าหลวงปกครองทั้งสิ้น  หรือแม้กระทั่งของบริจาคจากเรือนจำลำพูนที่แสดงความมีอำนาจของเจ้าผู้ครองนครลำพูนในอดีต คือ หอกรูปใบพายสำหรับประหารชีวิตนักโทษและฆ้องสำหรับตีนำหน้าและตามหลังนักโทษเวลาเอาไปประหารชีวิต อันถือว่าลำพูนได้เลือกแล้วในสิ่งที่ต้องการจดจำและนำเสนออดีตลำพูนให้เป็นที่รับรู้แก่คนทั่วไปอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดแค่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่ต้องมีมิติทางสังคม วัฒนธรรมที่ถูกกดทับได้มีพื้นที่บ้าง เมื่อย้ายโบราณวัตถุมาจัดแสดง ณ อาคารใหม่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ลำพูน แล้วในปี พ.ศ.2521 ปีก่อนการเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการโดยได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้นนับว่าเป็นปีที่ได้รับมอบวัตถุจัดแสดงมากที่สุด มีประชาชนชาวลำพูนนำโบราณวัตถุมาบริจาค อีกทั้งนำมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อนำเสนอความเป็นอาณาจักรหริภุญไชยที่ยิ่งใหญ่ ผ่านศิลปะหริภุญไชยที่มีเอกลักษณ์ และในปีเดียวกันนี้เองทายาทเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้ายได้มอบเครื่องทรงของเจ้าหลวงองค์สุดท้ายอันประกอบด้วย เสื้อครุย ผ้าแถบรัดเอว หมวก พร้อมทั้งภาพถ่ายเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ในชุดมหาดเล็กเต็มยศแก่พิพิธภัณฑ์ หรืออาจเป็นการเพิ่มพื้นที่เจ้าหลวงและทายาทราชสกุลณ ลำพูน ให้ดำรงสถานะความเป็น “เจ้า” อยู่ในความทรงจำของชาวลำพูนสืบต่อไปแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ดำเนินนโยบายยกเลิกตำแหน่งเจ้าหลวงไปเมื่อ พ.ศ.2469 แล้วก็ตาม  การนำเสนอโบราณวัตถุจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแต่ละแห่งมีพื้นฐานการนำเสนองานทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและโบราณคดีเป็นสำคัญ แม้ในปัจจุบันจะยังเน้นประวัติศาสตร์โบราณคดีเป็นหลัก  แต่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายแห่งก็เริ่มมีส่วนจัดแสดงอื่นๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะสมัยใหม่ ธรณีวิทยา เพื่อสนองต่อการปรับแนวทางจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เมือง เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองต่อคนในพื้นที่ได้รอบด้านต่อไป   3. พิพิธภัณฑ์และการส่งต่อองค์ความรู้ในพิพิธภัณฑ์สู่ชุมชนจากอดีตสู่ปัจจุบัน การสนใจใคร่รู้เรื่องราวในอดีตตนของคนลำพูน หากนำมาเทียบกับจำนวนการเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์นั้น คงจะเป็นเรื่องยาก ในช่วงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ในยุคแรกๆ (พ.ศ.2470-2500) ภายในเมืองลำพูนไม่ได้มีผู้คนอาศัยอยู่มาก มีงานประเพณีประจำปีสักครั้งถึงได้เข้าเมืองสักครั้ง  ที่สำคัญบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยครั้งนั้นก็น่ากลัว มีแนวต้นตาลอยู่มากมายดูน่ากลัวไม่กล้าเดินผ่าน ไหนจะรูปยักษ์กุมภัณฑ์ที่เฝ้าองค์พระธาตุก็ตัวใหญ่ดูน่ากลัว ไม่ได้มีอาคาร พระเณร อยู่กันมากเช่นปัจจุบัน [7] ในยุคแรกภายหลังจากการเปิดให้เข้าชมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ในปี พ.ศ.2522 แล้ว ในช่วง 20 ปีต่อจากนั้น (พ.ศ.2522-2540) จัดได้ว่าเป็นยุคของการหาของ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนและพิพิธภัณฑ์ เกิดกิจกรรมร่วมจัดนิทรรศการกับจังหวัดลำพูน ภาคส่วนราชการด้วยกันเองในงานเทศกาลประจำปีของจังหวัด อาทิ งานฤดูหนาว  เทศกาลลำไย เป็นต้น และในยุคนี้เองจากผลการงานวิจัยของอาจารย์บุบผา จิระพงษ์[8] กล่าวว่าเกิดการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งจังหวัดลำพูนเองก็ได้รับกระแสรื้อฟื้นท้องถิ่นมาด้วยเช่นกัน ถัดมาในช่วง พ.ศ.2541-46 ซึ่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ทำให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น มากยิ่งขึ้น พยายามลบภาพพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เอาไว้เพียงแค่รับรองชนชั้นสูง อาคันตุกะหรือราชวงศ์ เข้าเยี่ยมชมเท่านั้น ในยุค พ.ศ.2547-2558 พิพิธภัณฑ์กำหนดบทบาทตนด้วยการเป็น “เวทีของการสนทนาถกเถียง” อันถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการส่งต่อ ถ่ายทอดความรู้ แต่พิพิธภัณฑ์เองก็มิได้วางตนว่าเป็นผู้นำองค์ความรู้ หรือประกาศองค์ความรู้ ความจริงที่ได้รับการคัดสรรแล้วจากกลุ่มผู้เชียวชาญ จากกรมศิลปากรเพียงหน่วยงานเดียว ว่าดีที่สุดหรือสำคัญที่สุดเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชน  แต่ได้วางตัวให้เป็นเวทีของคนหลากหลายกลุ่ม หลากความคิด หลายความทรงจำ สามารถแลกเปลี่ยนเสนอความเป็นตัวตนของท้องถิ่นได้ ซึ่งจักทำให้บทบาทพิพิธภัณฑ์มิได้รับใช้สถาบันชาติหรือประวัติศาสตร์กระแสหลักแต่เพียงอย่างเดียวแต่ยังเป็นพื้นที่ให้ผู้มีความรู้ในท้องถิ่น ผู้มิใช่เจ้าของวัฒนธรรมหลักของประเทศได้รับรู้แลกเปลี่ยน ดังความหมายของ “พิพิธภัณฑ์” อันหมายถึง  “สิ่งของนานาชนิด” ย่อมนำมาซึ่งองค์ความรู้ที่หลากหลายนั่นเอง จากลำพูนพิพิธภัณฑสถาน สู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ในปัจจุบันสร้างความรู้ ภูมิใจ ในประวัติศาสตร์เมืองลำพูนมาได้อย่างมั่นคงในรูปแบบการนำเสนอที่เชิดชูความงดงามของโบราณวัตถุ ตามพัฒนาการของรูปแบบประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นหลัก โดยข้อมูลเหล่านี้ถูกส่งต่อความรู้สื่อสารกับผู้เข้าชมอยู่3 ช่องทางหลัก (1) ป้ายโบราณวัตถุ  ข้อมูล อายุ สมัย ลักษณะ แหล่งที่มา เป็นข้อมูลอธิบายเพียงสั้นๆ (2) เอกสารแผ่นพับ เพื่อให้ข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลการวางแผนการเดินทางของผู้ชมที่ต้องการเข้าชมเป็นข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์เช่นที่ตั้งเวลาเปิดปิดหัวข้อส่วนจัดแสดงและตารางเวลากิจกรรมต่างๆวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ถือเป็นเครื่องมือทางด้านการตลาดเป็นส่วนใหญ่ (3) ช่องทางติดต่อทางโซเชี่ยลเนตเวิร์ค หรือเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคอลเลคชั่นที่สะสมในพิพิธภัณฑ์โดยใช้ฐานข้อมูลเพื่อจัดการเก็บข้อมูลและนำเสนอด้วยแนวทางเดิมของวัตถุจริง ปัจจุบันการสื่อสารเพื่อให้ผู้คนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ จากหลากหลายช่องทาง หลายกิจกรรมมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญสำหรับผู้ดำเนินงานด้านพิพิธภัณฑ์ จากเดิมสังเกตได้ว่าการสื่อสารระหว่างผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์กับวัตถุจัดแสดง ที่มีเพียงข้อมูลประจักษ์ ลักษณะ ขนาด ที่มา ของวัตถุนั้นๆ เป็นการจำกัดกรอบความคิดการรับรู้ของผู้เข้าชมเป็นอย่างยิ่ง การนำเสนอมักตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่มาจากประวัติศาสตร์ชาติไทยกระแสหลักที่ลดทอนบทบาทของท้องถิ่นลงไป อีกทั้งขึ้นอยู่กับวัตถุจัดแสดงหรือทรัพยากรของผู้จัด เลยต้องเน้นสิ่งที่มีให้โดดเด่น ลดทอนความสำคัญและความจริงบางอย่างไป  พิพิธภัณฑ์จึงควรมีการนำเสนอโบราณวัตถุศิลปวัตถุ อันมีเรื่องราวเกี่ยวกับท้องถิ่นเพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนและสร้างความเข้าใจท้องถิ่นมากขึ้น   4. พื้นที่พิพิธภัณฑ์ = พื้นที่ของสังคม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้มีการปรับปรุงส่วนจัดแสดงในอาคารจัดแสดงเดิมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 แล้วเสร็จในเดือนเมษายน2562 (ส่วนอาคารจัดแสดงเดิมพื้นที่ราว  400 ตารางเมตร)  การจัดแสดงนอกจากจะเป็นการนำเสนอองค์ความรู้ผ่านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุแล้ว การแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้อื่นๆ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายกับชุมชนโดยรอบ ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประวัติศาสตร์ความทรงจำระหว่างพิพิธภัณฑ์กับชุมชนก่อเกิดประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนอีกด้วย   การร่วมจัดกิจกรรมด้านต่างๆ ที่สามารถนำมาซึ่งองค์ความรู้ โดยเฉพาะการบูรณาการด้านศิลปะและวัฒนธรรมรวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เข้ากับการจัดการเรียนการสอนและบริบทของสังคมในปัจจุบันจึงนับว่าเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มาจากการบูรณาการระหว่างภาครัฐกับชุมชนอย่างแท้จริง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จึงต้องการจัดกิจกรรมเพื่อให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมก่อนที่ส่วนจัดแสดงที่ปรับปรุงใหม่จะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน ทั้งนี้เป็นระยะเวลา กว่า 92 ปี ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่เคยได้รับการปรับปรุงส่วนจัดแสดงเลย เวลา 92 ปี กับการเป็นสถานที่ราชการ สังกัดกรมศิลปากรแห่งเดียวในจังหวัดลำพูน ผู้คนได้เฝ้าสังเกต รอคอย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ไหม ? จึงเกิดการตั้งคำถามว่าคนในชุมชนรู้สึกถึงการที่มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหรือไม่ อย่างไร ?ถ้านึกถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ในช่วงการรับรู้ที่ผ่านมา คุณนึกถึงอะไร ? จากคำถามข้างต้นนำไปสู่การจัดกิจกรรมที่ต้องการให้คนลำพูนและผู้ที่เคยมาเยี่ยมเยือนได้ส่งภาพถ่ายการเข้ามาเยี่ยมเยือน หรือภาพพิพิธภัณฑ์ในอดีตเข้ามาร่วมเติมประวัติศาสตร์และความทรงจำให้แก่พิพิธภัณฑ์  โดยมีการประชาสัมพันธ์ทางหน้าเพจเฟสบุ๊ค พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย  ในเดือนพฤศจิกายน 2561 เชิญร่วมส่งภาพถ่าย ระหว่างปี พ.ศ.2470 ถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และความทรงจำ อาทิ เช่น ภาพอาคาร สถานที่ ภูมิทัศน์ บุคคลหรือกลุ่มเพื่อน ภาพเหตุการณ์ หรือภาพกิจกรรม ที่เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เข้าร่วมในกิจกรรม“ระหว่างประวัติศาสตร์และความทรงจำ (history & memory)”  จนถึงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2562 การตอบรับของสมาชิกเพจเฟสบุ๊คพิพิธภัณฑ์หริภุญไชย น้อยมากในการนำภาพเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อให้กิจกรรมได้ดำเนินการต่อไปพิพิธภัณฑ์จึงเดินเข้าไปปรึกษาชุมชน โรงเรียน ผู้อยู่อาศัยโดยรอบพิพิธภัณฑ์ เชิญชวนส่งภาพเข้าร่วมกิจกรรมขอรวบรวมรูป เพื่อนำมาจัดนิทรรศการชั่วคราวในวันเปิดตัวอาคารจัดแสดงปรับปรุงใหม่ได้รับข้อมูลเสียงสะท้อนจากชุมชนและคำแนะนำเพื่อนำมาปรับกิจกรรม ดังนี้ตอนเด็กๆ ที่บ้านไม่เคยพามาเที่ยวพิพิธภัณฑ์เลย ผู้ใหญ่จะบอกว่าเป็นคุกเก่า น่ากลัวยังมีวิญญาณนักโทษอาศัยอยู่ในนั้น  (ข้อมูลจากคนอายุ 45 ปี)ตอนยายเป็นเด็กชอบแอบมองดูความเป็นอยู่ของนักโทษในคุกจากชั้นสองของบ้าน  พ่อแม่จะห้ามเด็ดขาดบอกห้ามแอบดูเป็นเสนียดตาแม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์แล้วก็ยังจำคำสอนนี้อยู่ (ข้อมูลจากคนอายุราว 75 ปี)บ้านลุงอยู่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์ ตอนลุงเป็นเด็กจะเดินไปตลาดต้องเดินผ่านประตูหลังคุก จะชอบเดินเฉียดใกล้กำแพงไม้ด้านหลังเพราะนักโทษจะเรียกแล้วเอาเงินสอดช่องกำแพงไม้ออกมาให้ไปยาแก้ปวดให้ เราก็รับเงินแล้วก็หนีหายไปเลย พอเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์ก็ยังไม่เคยเข้าไปดูเลย(ข้อมูลจากคนอายุราว 70 ปี) จากข้อมูลสัมภาษณ์ข้างต้นทำให้ทราบว่าพิพิธภัณฑ์หริภุญไชย ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่คุกเดิม ชาวบ้านยังคงมีภาพจำว่าเคยเป็นคุกเก่ามาก่อน พอเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์ก็มองเป็นแค่สถานที่ราชการ สังกัดกรมศิลปากรที่จัดแสดงของเก่า นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดลำพูนที่ภาครัฐส่วนกลางเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการ การเข้ามาเพื่อเยี่ยมชมหรือพักผ่อนหย่อนใจ จึงมีโอกาสน้อยมาก อย่างมากปีละครั้งในวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งพิพิธภัณฑ์จัดกิจกรรมนี้ทุกปี  นอกจากนี้การสัมภาษณ์ชุมชนโดยรอบถึงเรื่องราวพิพิธภัณฑ์ในอดีตแล้ว ยังได้รับคำแนะนำในการนิทรรศการ ดังนี้พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนถนนอินทยงยศซึ่งเป็นถนนสายหลักของการจัดขบวนแห่ ประเพณีต่างๆ ของจังหวัดลำพูน อีกทั้งอยู่ใกล้วัดพระธาตุหริภุญชัย และแหล่งการค้า ตลาด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนลำพูนทั่วไปจะต้องได้เคยผ่านมาหรือร่วมกิจกรรมประจำจังหวัดอยู่แล้ว หากทางพิพิธภัณฑ์ขอภาพกิจกรรมที่เคยเกิดขึ้นบนถนนอินทยงยศนี้ น่าจะได้ภาพมากควรจัดนิทรรศการโดยเปลี่ยนหัวข้อการจัดในทุกเดือนตามวันสำคัญ หรือประเพณีสำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนนั้นๆควรมีกิจกรรมต่อเนื่องในทุกเดือน เพื่อให้คนลำพูนได้เห็นความเคลื่อนไหว และมีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชม นิทรรศการ ค่อยๆเห็นการเปลี่ยนแปลงของพิพิธภัณฑ์ก่อนเปิดให้เข้าชมนิทรรศการถาวรชุดใหม่ในเดือนเมษายนหากมีการจัดนิทรรศการชั่วคราวบริเวณล่างโถงใต้อาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ควรขยายเวลาเปิดให้คนเข้าชมในช่วงเย็นนานขึ้น แนวคิดใหม่ในการจัดนิทรรศการชั่วคราวครั้งนี้ เกิดจากการทำงาน รับฟัง ความคิดจากชุมชนซึ่งได้แสดงความเห็นมีส่วนร่วมในการทำงาน ดังนั้นผู้คนจึงมีส่วนในการตัดสินใจ กำหนด และสร้างเรื่องราวสำหรับการนำเสนอ และการจัดแสดงในหัวข้อต่างๆที่เปลี่ยนไปทุกเดือน หากมองในทางทฤษฎีแล้ว การมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับชุมชนมี 4 ระดับ ได้แก่ 1. การแบ่งปันข้อมูล ชุมชนได้รับการแจ้งหรือรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำงานของพิพิธภัณฑ์ 2. การปรึกษาหารือ ชุมชนไม่เพียงได้รับข้อมูลแต่ยังมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นและสะท้อนมุมมองในการพัฒนา 3. การตัดสินใจ นั่นคือชุมชนมีส่วนกำกับทิศทางและขั้นตอนต่างๆ ในการทำงาน  และ 4. การลงมือปฏิบัติ ตั้งแต่ความคิดริเริ่มและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเมื่อพิจารณาการมีส่วนร่วมในบริบทการทำงานพิพิธภัณฑ์หรือการพัฒนานิทรรศการในระดับแรก ชุมชนได้รับข้อมูลและเป็นเพียงผู้ที่ตั้งรับในการทำงาน ในระดับที่สอง ชุมชนร่วมให้ข้อมูลและบริจาคสิ่งของในการนำเสนอ ในระดับที่สาม ชุมชนกำกับขั้นตอนการทำงานต่างๆ และในระดับที่สี่ ชุมชนแสดงบทบาทหลักในการพัฒนานิทรรศการอย่างแท้จริง อันจะเป็นกระบวนสุดท้าย ซึ่งจะกล่าวต่อไปในกิจกรรม “เมื่อพิพิธภัณฑ์เดินทางไปหาคุณ museum visit you” เมื่อทางพิพิธภัณฑ์หริภุญไชยได้สรุปหัวข้อการจัดนิทรรศการชั่วคราวเสร็จสิ้นแล้ว ตลอดระยะเวลา 6 เดือนเกิดการบอกต่อกันในกลุ่มนักจัดเก็บ สะสม ภาพเก่าของจังหวัดลำพูน ได้แนะนำแหล่งที่น่าจะมีภาพเก่าสะสม รวบรวมไว้  เช่น วัด โรงเรียน หรือแม้กระทั่งห้องภาพเก่าในลำพูน ที่ปิดกิจการลงไปแล้ว  เบื้องต้นพิพิธภัณฑ์ได้ภาพเก่ามาจัดนิทรรศการจากนักสะสมและห้องภาพเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ ผลลัพธ์ของการประชาสัมพันธ์รูปแบบการจัดนิทรรศการหมุนเวียนในทุกเดือน ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ผ่านเพจเฟสบุ๊ค พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ป้ายประชาสัมพันธ์ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ฯหริภุญไชยและบริเวณประตูทางเข้าวัดพระธาตุหริภุญชัยทางด้านทิศใต้และทางด้านทิศตะวันออกทำให้นักท่องเที่ยว ชุมชนโดยรอบ โรงเรียน ได้เข้ามาเยี่ยมชมและให้ความสนใจในนิทรรศการชั่วคราวนี้ยิ่งขึ้น ประกอบกับพิพิธภัณฑ์มีสมุดเซ็นเยี่ยม กระดาษโน้ต บอร์ดผ้า เพื่อให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมได้มีพื้นที่ได้พูดคุย บอกเล่า แลกเปลี่ยน เรื่องราวที่ปรากฏในภาพถ่ายด้วย นอกจากภาพถ่ายเก่าที่ชุมชน โรงเรียนนำเข้ามาร่วมจัดแล้ว ยังมีเอกสารโบราณ หนังสือเก่า ของส่วนบุคคล ที่เกี่ยวเนื่องกับหัวข้อนิทรรศการนั้นๆ นำมาจัดแสดงร่วมด้วยถือได้ว่าเป็นความพยายามในการพัฒนาให้พิพิธภัณฑ์ได้สนทนากับสังคมอีกช่องทางหนึ่งผ่านการจัดนิทรรศการชั่วคราวครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาส ให้เกิดกระบวนการตีความ แลกเปลี่ยนข้อมูลภาพถ่าย หรือวัตถุจัดแสดงที่เกี่ยวเนื่อง พิพิธภัณฑ์จึงไม่ใช่เพียงสถาบันที่พัฒนาความรู้เชิงวิชาการด้วยผู้เชี่ยวชาญอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นเวทีของความร่วมมือกับชุมชนเปิดบทสนทนาใหม่ให้กับสังคมเพื่อได้รับองค์ความรู้ที่มาจากคนในจริงๆ แม้ว่าการดำเนินการจัดแสดงภาพถ่ายเก่าและวัตถุเกี่ยวเนื่อง ในกิจกรรม“ระหว่างประวัติศาสตร์และความทรงจำ (history & memory)” จะได้รับการตอบรับจากการเข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้น ตลอดระยะเวลาการจัดในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561- เมษายน พ.ศ.2562 แต่เป้าหมายหลักในการจัดนิทรรศการชั่วคราวที่ต่อเนื่องมาหลายเดือนครั้งนี้เพื่อต้องการภาพที่เกี่ยวเนื่องกับพิพิธภัณฑ์ฯหริภุญไชยกลับพบน้อยมาก แต่กระนั้นก็สามารถเห็นภาพพัฒนาการการใช้พื้นที่ตั้งแต่ครั้งเป็นเรือนจำลำพูน และการเริ่มก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ฯหริภุญไชยจากภาพถ่ายการจัดกิจกรรมบนถนนอินทยงยศซึ่งเป็นถนนด้านหน้าพิพิธภัณฑ์นั้นเอง นอกจากภาพถ่ายเก่าที่เราได้รับมอบให้มาร่วมจัดนิทรรศการชั่วคราวในครั้งนี้จากชุมชน ซึ่งเป็นคนนอกพิพิธภัณฑ์แล้ว การให้ความสำคัญกับคนในพิพิธภัณฑ์เองจึงเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของการหาวัตถุเกี่ยวเนื่องมาร่วมจัดแสดงในงานเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการของส่วนจัดแสดงใหม่ ซึ่งกิจกรรมได้ถูกกำหนดจัดขึ้นใหม่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2562 นิทรรศการชั่วคราวที่จัดในเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งถือเป็นนิทรรศการเรื่องสุดท้ายก่อนการเปิดตัวนิทรรศการถาวรใหม่ จึงเป็นการเน้นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของและสมาชิกภายในพิพิธภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ที่อยู่เบื้องหลังการดูแลโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำงาน สื่อการศึกษา หรือแม้กระทั่งสมุดเซ็นเยี่ยมชมตั้งแต่ครั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 จนกระทั่งถึงการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงส่วนจัดแสดงครั้งใหญ่ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559–2562  นับว่าเป็นการบันทึกเรื่องราวและจัดเก็บสิ่งสะสมเพื่อนำเสนอเรื่องราวพิพิธภัณฑ์ฯหริภุญไชยสู่ชุมชนในมุมมองของคนทำงานภายในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นอีกด้านที่คนภายนอกไม่เคยสัมผัส   กิจกรรม “MUSEUM EXPLORER  นักสำรวจพิพิธภัณฑ์” เป็นกิจกรรมที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ต้องการเชิญกลุ่มผู้สนใจในงานพิพิธภัณฑ์เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการถาวรชุดใหม่เป็นกลุ่มแรก และร่วมให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมหรือสร้างสื่อสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้สำหรับคนหลายวัย หลากกลุ่ม ที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ต่อไป กิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 11 พฤษภาคม พ.ศ.2562 โดยแบ่งการเข้าชมออกเป็นสองรอบ เช้า-บ่าย รวม 2 วันเป็นจำนวน 4 รอบ การเข้าชมครั้งละ 30 ท่าน รวมจำนวนทั้งสิ้น 120 ท่าน ที่เป็นแขกพิเศษของการเปิดให้เข้าชมนิทรรศการถาวรชุดใหม่ครั้งแรกนี้ การประชาสัมพันธ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว คัดเลือกจากการตอบคำถามผ่านทางเพจเฟสบุ๊ค พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย และการเชิญชุมชน เพื่อนบ้าน ซึ่งอาศัยอยู่รายรอบพิพิธภัณฑ์  บุคคล วัด ที่มอบโบราณวัตถุร่วมจัดแสดง ตั้งแต่ครั้งพิพิธภัณฑ์เปิด และกลุ่มเครือข่ายชุมชน อาทิ ตัวแทน 17 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองลำพูน ชมรมผู้สูงอายุจังหวัดลำพูน สภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดลำพูนเข้าร่วม กิจกรรม MUSEUM EXPLORER เป็นกิจกรรมที่ต้องการให้ผู้เข้าชมที่ร่วมกิจกรรมได้เริ่มชมส่วนนิทรรศการพิเศษ ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ ความทรงจำ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ก่อนและพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงวัตถุเล่าเรื่องเมื่อครั้งอดีต นิทรรศการพิเศษชั่วคราวนี้จัดขึ้น บริเวณโถงด้านล่างอาคารจัดแสดงต่อเติมใหม่ ซึ่งแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วนนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และความทรงจำของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ตามระยะเวลา เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ทราบที่ไปที่มา การเติบโตของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จนถึงกระบวนการการปรับปรุงส่วนจัดแสดงถาวรชุดใหม่ที่แล้วเสร็จ โดยแบ่งออกเป็นช่วงเวลา ดังนี้ 1.       ช่วง พ.ศ.2470- 2549 วัตถุจัดแสดงที่นำเสนอผ่านภาพถ่ายเก่า (ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากชุมชนที่ร่วมมาจัดในนิทรรศการ ระหว่างประวัติศาสตร์และความทรงจำ ซึ่งเป็นกิจกรรมก่อนหน้านี้) สมุดเซ็นเยี่ยมเข้าชมพิพิธภัณฑ์ สไลด์สื่อการสอนภาพเรื่องราวโบราณวัตถุที่จัดเก็บและจัดแสดงเมื่ออดีต  ตู้เก็บป้ายทะเบียนโบราณวัตถุ 2.       ช่วง พ.ศ.2550- 2563  วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่เป็นงานเอกสาร เริ่มตั้งแต่ บทจัดแสดงที่เริ่มเขียน  ภาพการออกแบบเมื่อปี 2550 จนมาเรื่องปรับปรุงส่วนจัดแสดงอีกครั้งในปี 2559 เขียนบท แบบจำลองอาคาร การออกแบบผนังกราฟฟิก การปรับปรุงบทจัดแสดง จนมาแล้วเสร็จในส่วนนิทรรศการถาวรของอาคารจัดแสดงหลังเดิม ในเดือนเมษายน 2563 จากการพูดคุย แลกเปลี่ยน นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ความทรงจำของพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทราบถึงที่มาของการเกิดนิทรรศการถาวรชุดใหม่นี้จนถึงที่มาของโบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์  เดิมจะมาจากการบริจาคซึ่งเป็นของส่วนบุคคล หรือสมบัติของวัดที่มีมาแต่เดิม แต่ส่วนนิทรรศการถาวรใหม่นี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้พยายามสืบค้นหาแหล่งที่เก็บโบราณวัตถุเพื่อนำมาร่วมจัดแสดง โดยคำนึงถึงประวัติ ที่มาของโบราณวัตถุ เป็นสำคัญ จึงได้รับความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ซึ่งมีโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องในสมัยหริภุญไชย จัดเก็บอยู่ จากการมองข้ามพรมแดนจังหวัดในปัจจุบัน นำมาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการถาวรชุดใหม่นี้  หรือแม้กระทั่งเรื่องราวของการจัดเตรียมดินเพื่อนำมาใช้ในการจัดแสดงโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งหมดมาจากแหล่งโบราณคดีจริงซึ่งเจ้าของที่ดินได้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงนิทรรศการถาวรใหม่นี้ เมื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้นำเสนอเรื่องราว กระบวนการ ที่ไปที่มาก่อนการเกิดนิทรรศการถาวรชุดนี้แล้ว  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แลกเปลี่ยน โดยการให้ความเห็นผ่านการเขียนและบอกกล่าว พอสังเขป ดังนี้การนำเสนอวีดีทัศน์ น่าจะมีเรื่องอื่นสลับ สับเปลี่ยน มาเล่าบ้าง เช่น เรื่องเล่าแต่ละชุมชน วีดีทัศน์ น่าจะมีภาพภาษามือ เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินได้เข้าใจเรื่องราวที่เล่าด้วย โบราณวัตถุจัดแสดงดูน้อยไปฃบรรยากาศน่าชมมาก แอร์เย็น จัดแสดงได้ดี เทียบเท่าพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศน่าจะมีชุดออดิโอไกด์เพื่อใช้ในการฟังข้อมูลโบราณวัตถุ แต่ละชิ้นด้วยป้ายคำบรรยายในส่วนศิลาจารึก น่าจะให้รายละเอียดข้อมูลในจารึกด้วย กิจกรรม MUSEUM EXPLORER นักสำรวจพิพิธภัณฑ์ เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ต้องการผลลัพธ์แค่ความเห็น หรือข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมกิจกรรมชมนิทรรศการถาวรใหม่ครั้งนี้เท่านั้น พิพิธภัณฑ์เชื่อว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกถึงความเป็นคนพิเศษที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว และรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของความคิดเห็นเพื่อร่วมพัฒนาพิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนตนอีกด้วย นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมสร้างกิจกรรมแล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย สามารถนำแนวคิด ข้อแนะนำ ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ มาสร้างสรรค์กิจกรรม เติมเต็มความรู้ใหม่ๆ ของพิพิธภัณฑ์เพื่อประโยชน์ของผู้เข้าชมได้ทุกระดับในคราต่อๆไปได้อีกด้วย 5. กิจกรรม “Museum visit you เมื่อพิพิธภัณฑ์เดินทางไปหาคุณ” กิจกรรมนี้เกิดขึ้นในทุกวันศุกร์ เวลาราวบ่ายสามโมงถึงราวสี่ทุ่ม จากการรวมกลุ่มกันของเจ้าของบ้าน ร้านค้า ที่ตั้งอยู่บนถนนรถแก้ว ซึ่งเทศบาลเมืองลำพูนต้องการให้ถนนสายนี้เป็นถนนคนเดินซึ่งหากนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมวัดพระธาตุหริภุญชัยแล้ว หากเดินออกทางด้านหลังวัดจะเจอกับถนนรถแก้วนี้ ซึ่งอันที่จริงเป็นเพียงถนนเส้นเล็กๆ ที่แยกออกมาจากถนนอินทยงยศ อันเป็นถนนด้านหลังวัดพระธาตุหริภุญชัยซึ่งเป็นเส้นทางหลักและดั้งเดิมของการสัญจรระหว่างจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ กลุ่มเจ้าของบ้านซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินสองฝั่งถนนรถแก้วเห็นว่า การทำถนนคนเดินเพื่อการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ชุมชนเราอยากทำอะไรให้เป็นที่จดจำแก่คนมาเที่ยวชม และที่สำคัญคนในชุมชนได้เรียนรู้การสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะนี้ขึ้นมาร่วมกันด้วย จึงเกิดการรวมกลุ่มกันของคนที่อาศัยบนถนนเส้นนี้  เจ้าของร้านอาหาร ร้านกาแฟ หลากหลายวัย รวมไปถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ซึ่งนับเป็นเพื่อนบ้าน และเป็นส่วนหนึ่งบนถนนอินทยงยศซึ่งเชื่อมต่อกับถนนรถแก้วนี้ ได้ร่วมประชุม ระดมความคิด ถึงสิ่งที่ชุมชนต้องการให้พื้นที่บนถนนเส้นนี้ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวในลำพูน นำเสนอออกเป็นนิทรรศการ โดยเริ่มจากการพูดคุย สำรวจ สืบหาเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนถนนรถแก้วนี้ กำหนดหัวข้อ เตรียมวัตถุจัดแสดง ภาพถ่ายเก่า (จากนิทรรศการระหว่างประวัติศาสตร์และความทรงจำบางส่วน) โดยได้มีการเปลี่ยนหัวข้อจัดแสดงทุกวันศุกร์ บนพื้นที่ความยาวช่วงต้นของถนนรถแก้วราว 150 เมตร ในทุกวันอาทิตย์ทีมงานได้พูดคุย ถึงผลลัพธ์ของการทำนิทรรศการ แต่ละครั้ง และร่วมเสนอแนวคิดเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในศุกร์ต่อไป ซึ่งการจัดนิทรรศการในแต่ละครั้งได้รับการตอบรับ ชื่นชม ถึงสิ่งที่ชุมชนได้ตั้งใจบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนเอง โดยที่เทศบาลเมืองลำพูนไม่ได้เข้ามาควบคุมและสนับสนุนงบประมาณให้แต่อย่างใด เมื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ออกไปจัดแสดงภายในชุมชน  เกิดปฎิสัมพันธ์ชุมชน นำเรื่องราว วัตถุ ของบุคคล ชุมชน จัดแสดงร่วมกัน โดยชุมชนเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราว ชุมชนกลายเป็นผู้ส่งต่อ สืบทอดความรู้ เรื่องเล่าของตนสู่คนภายนอก กลายเป็นการเล่าเรื่องที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องเล่าของมรดกวัฒนธรรมที่เป็นกายภาพและที่ไม่เป็นกายภาพ  หรือการสาธิตการใช้ข้าวของเครื่องใช้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงหนึ่ง ทำให้คนท้องถิ่นได้ถ่ายทอดเรื่องราวของตน และได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการอย่างมีชีวิตชีวา มิใช่เพียงการนำเสนอวัตถุสิ่งของหรือป้ายคำอธิบาย กิจกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการปกป้องและการส่งเสริมสิ่งสะสม เรื่องเล่าของชุมชน พร้อมไปกับการสนับสนุนให้ชุมชนสืบทอดความรู้และสานต่ออนาคต ถนนคนเดินสายนี้จึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตขึ้นมา             แต่เดิมการสืบค้น หาความรู้ การแสวงหาความรู้ ของโบราณวัตถุ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะเน้นในเรื่องรูปแบบศิลปะ ที่มา โดยการอาศัยเทียบเคียง จากแหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องหรือส่งอิทธิพลให้แก่กันและกัน เพื่อนำไปสู่การเสนอความรู้ในเชิงวิชาการ อันถือเป็นบทบาทหน้าที่หลักของกรมศิลปากร การวางบทบาท หน้าที่ดังกล่าวนี้ให้แก่พิพิธภัณฑ์  ทำให้ลักษณะของเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอต้องใช้ความเชี่ยวชาญ จากผู้มีความเชี่ยวชาญเชิงวิชาการ กรณีข้อมูลจัดแสดงก็ต้องนำไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งส่วนใหญ่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ใช่คนในแต่เป็นนักวิชาการที่สามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ชาติมาเป็นหลักในการตรวจสอบข้อมูลการวางบทบาทดังกล่าวถึงแม้ในภาพรวมจะนำไปสู่การสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมถูกต้องตามหลักวิชาการของกรมศิลปากร  แต่กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างพิพิธภัณฑ์กับชุมชน ไม่เกิดการบูรณาการเข้ากับวิถีชีวิตชุมชน   ทำให้ชุมชนมองไม่เห็นว่าพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ฉะนั้นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องสร้าง กระบวนการเรียนรู้ ซึ่งมีลักษณะเป็น “กิจกรรมพิเศษ” ที่ต้องใช้โอกาสพิเศษ หรือวาระที่สมควรในการดำเนินงาน เพื่อสร้างความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ในงานที่ชุมชนจัดขึ้นจะเกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการทำงานของพิพิธภัณฑ์ที่ได้ถูกบูรณาการเข้ากับวิถีชีวิตชุมชน อันทำให้ผู้คนในชุมชนได้มีโอกาสในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน หากคนในชุมชนได้ร่วมกันตรวจสอบถกเถียง จากข้อมูลหลักฐานที่เชื่อถือได้   ข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็ควรนำเสนอได้ทั้งนี้หากในอนาคตมีการค้นพบข้อเท็จจริงที่มีความน่าเชื่อถือกว่าคนในชุมชนจะร่วมกันตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลก็สามารถทำได้ ทำให้เกิดองค์ความรู้   และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชุมชนในการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่อไป           การออกไปทำกิจกรรม  อาทิ การจัดนิทรรศการนอกสถานที่พิพิธภัณฑ์นี้ ทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่เป็นแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิตขึ้นมา นำเสนอ เรื่องเล่า ที่สอดคล้องกับวิถีประเพณีชุมชน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนที่ยั่งยืนคนในชุมชนจะต้องออกมาเล่าเรื่องของตนเองเล่าเรื่องพ่อแม่ลุงป้าน้าอาปู่ย่าตายายบรรพบุรุษเล่าประวัติความเป็นมาเล่าเรื่องสิ่งใกล้ตัวความเป็นอยู่อย่างไร ทำมาหากินอย่างไร ดำรงชีวิตมาถึงปัจจุบันได้อย่างไร ความเชื่อเรื่องศาสนา เรื่องผีประเพณีวัฒนธรรมการสร้างบ้านแปงเมือง ผู้นำในอดีต เป็นใครคนในชุมชน ได้บอกเล่าเล่าด้วยภาษาของตนเองเพราะคนในชุมชนเป็นเจ้าของข้อมูลโดยใช้สิ่งของที่มีอยู่ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นของเก่าราคาแพงหายากการออกแบบจัดแสดงอาจเล่าเรื่องด้วยแผนที่ชุมชน สิ่งของ เครื่องใช้ ภาพถ่าย แนวทางการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ที่ผ่านมาทุกอย่างเปลี่ยนไป ทุกคนตื่นตัวในการจัดกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์มีผู้ชมเยอะขึ้นและมีส่วนร่วม แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคืองบประมาณที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ วิธีการนำเสนอโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ รูปแบบการจัดแสดงไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงประการเดียว แต่ต้องสร้างความหมาย วิเคราะห์ ตีความให้ผู้ชมได้เห็นคุณค่า เพราะฉะนั้นการอธิบายจึงมีความสำคัญ พิพิธภัณฑ์จึงควรให้ความสำคัญในการศึกษาวิจัยตีความอธิบายโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนั้นเกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ จากบริบท มุมมองที่เปลี่ยนไปของสังคม ตลอดจนจากงานการศึกษาใหม่ที่นำมาเชื่อมโยงอ้างอิง  และทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นที่คนเข้าไปชมอยู่เสมอ ในแง่มุมของคนที่สนใจการจัดการพิพิธภัณฑ์แบบมีส่วนร่วม พิพิธภัณฑ์จะไม่อยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่ต้องมีความสัมพันธ์กับชุมชนและคนที่อยู่รอบข้าง พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่หมายถึงห้องจัดแสดงเพียงอย่างเดียว   ยังจะต้องมีส่วนในการอนุรักษ์และการเก็บรักษาให้ความรู้ตามภารกิจของพิพิธภัณฑ์ที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นแนวทางหนึ่งของการนำเสนอพิพิธภัณฑ์ออกสู่สายตาชุมชน ที่นอกจากจะกระตุ้นให้จำนวนผู้ใช้บริการของพิพิธภัณฑ์มีมากขึ้นแล้ว จุดประสงค์หลักของการดำเนินโครงการที่ภัณฑารักษ์หวังไว้ ยังต้องการที่จะเสริมสร้างความรู้และต้องการแนวร่วมในการปกป้องคุ้มครองศิลปโบราณวัตถุของชาติ ที่อยู่ภายในท้องถิ่น เมื่อเยาวชน ผู้คนในชุมชน ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นได้พบเห็น และเข้ามามีส่วนร่วม จะได้รู้ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป จึงจะถือว่า ภัณฑารักษ์และพิพิธภัณฑ์ได้ทำหน้าที่ในบทบาทของตนเองอย่างสมบูรณ์   และบทบาทหน้าที่พิพิธภัณฑ์ไม่ได้มุ่งเพียงการพัฒนาความรู้   สะสม และจัดประเภทของสิ่งต่างๆอีกต่อไป แต่เป้าหมายของพิพิธภัณฑ์ต้องดำรงอยู่เพื่อชุมชน หรือกล่าวได้ว่า หัวใจของพิพิธภัณฑ์คือชุมชน ซึ่งจะทำให้พิพิธภัณฑ์คงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนตลอดไป   เอกสารอ้างอิงหอจดหมายเหตุแห่งชาติ,กอง.กร.5 ศ.1/2  กรมราชเลขาธิการ  เล่ม 5 เบ็ดเตล็ด ศึกษาธิการ (ร.ศ.119-ร.ศ.128) , หน้า107. บุบผา  จิระพงษ์. (2544). สถานภาพของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สถาบันราชภัฏเชียงใหม่.สมลักษณ์ เจริญพจน์. (2550). “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์คู่มือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น.” กรุงเทพฯ: กราฟิกฟอร์แมท. [1]บทความนี้ได้รับการคัดเลือกจากการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) [2]พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย E-mail: hari_museum@yahoo.com [3]คำในภาษาไทยที่เป็นทางการคือ พิพิธภัณฑสถาน ในบทความนี้ขอใช้ พิพิธภัณฑ์ ตามที่ใช้และเข้าใจกันทั่วไป และตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน 2542 ซึ่งอนุโลมให้ใช้พิพิธภัณฑ์ในความหมายเดียวกับพิพิธภัณฑสถาน [4]ข้อมูลตัวเลขจากฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 [5]จากการปริวรรตใหม่โดยอาจารย์พงศ์เกษม  สนธิไทยผู้เชี่ยวชาญด้านอักขระมอญโบราณคณะศิลปศาสตร์  สาขาวิชาภาษาไทยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตบพิตรพิมุขมหาเมฆ [6]หจช.กร.5ศ.1/2 กรมราชเลขาธิการ เล่ม 5 เบ็ดเตล็ด ศึกษาธิการ (ร.ศ.119-ร.ศ.128), หน้า 107 [7]สัมภาษณ์ นายพิรุฬห์  แก้วประภา อายุ 78 ปี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556. เป็นชาวลำพูนแต่กำเนิดอาศัยอยู่ในเขตชุมชนท่าขาม บ้านฮ่อม ด้านทิศเหนือของวัดพระธาตุหริภุญชัย อดีตข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่งไวยวัจกรและคณะกรรมการวัดพระธาตุหริภุญชัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ได้รับมอบหมายให้ดูแลพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญชัย ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว [8]บุปผา  จิระพงษ์. สถานภาพของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่.(เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่ ,2544)

ความเป็นอื่นในตู้จัดแสดง

20 มีนาคม 2556

บทคัดย่อ เราจะกล่าวถึง “ความเป็นอื่น” อย่างไรที่จะไม่เหยียบย่ำ? จากคำถามดังกล่าว เราจะสำรวจภาพลักษณ์ของการกล่าวถึงผู้เกิดและอาศัยอยู่บนแผ่นดินอัลเจรี (Alg?rie) ที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ จากพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ทรอกาเดโร (Mus?e d’Ethnographie du Trocad?ro) ถึงพิพิธภัณฑ์มนุษยชาติ (Mus?e de l’ Homme) ในที่นี้ ผู้เขียนพยายามตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ระหว่างพิพิธภัณฑ์หลายๆ แห่งกับระบบอาณานิคม รวมทั้งการวิพากษ์ต่ออดีตที่ผ่านมาของพิพิธภัณฑ์   “ณ ดินแดนแห่งนี้ ประกอบด้วย ภูมิอากาศที่แสนวิเศษ ดินแดนอันน่าตรึงใจ หากแต่ขาดซึ่งอารยธรรม” ผู้ที่ร่วมเดินทางสำรวจอัลเจรี (ออกเสียงตามการสะกดในภาษาฝรั่งเศส l’Alg?rie) ได้กล่าวไว้ ภายหลังจากที่ดินแดนดังกล่าวตกเป็นอาณานิคม มุมมองเช่นนี้สะท้อนให้เห็นแนวคิดหนึ่งในศตวรรษที่ 19 เมื่อ ชนตะวันตกมองผู้อื่น จากวัตถุสิ่งของที่ได้จากความอยากรู้อยากเห็นสู่วัตถุที่ได้รับการวิเคราะห์อย่างเป็นวิชาการ วัฒนธรรมที่มิใช่ตะวันตกวิวัฒน์ไปในที่ทางของตนเอง แต่อยู่ภายใต้กรอบการตีความของตะวันตกไปในขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ในยุคนั้นทำหน้าที่ไม่ได้ต่างจากสื่ออื่นๆ ที่เผยแพร่ภาพความเป็นอื่น โดยเฉพาะอย่างภาพของดินแดนใต้อาณัติ ภาพดังกล่าวมักเชื่อมยังกับการการดำเนินกิจกรรมอาณานิคม ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ความเชื่อมโยงเชิงวิชาการดังกล่าวมาจากงานศึกษาทางมานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา ของบรรดานักวิชาการและนักวิจัยที่ทำงานอยู่กับพิพิธภัณฑ์ แต่สื่อที่ทรงพลังอย่างมากในการสร้างภาพตัวแทนดังกล่าวคือ วัตถุที่ได้มาจากการรวบรวมและสะสมระหว่างการสำรวจ ซึ่งมาจากแนวคิดสำคัญในการสถาปนาความเป็นสถาบันวิชาการอย่างยิ่งยวด   เมื่อพิพิธภัณฑ์ทางชาติพันธุ์ของฝรั่งเศสแห่งแรก พิพิธภัณฑ์ทรอคกาเดโร ได้เปิดประตูต้อนรับสาธารณชนเมื่อปี1880 อัลเจรีในยุคนั้นเป็นหนึ่งในประเทศอาณานิคมมาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ งานสะสมที่เกี่ยวข้องกับอัลเจรีให้ภาพของ “ความงดงามน่าทึ่ง” และดินแดนอันไกลโพ้น (image exotique et lointaine) จากนั้น พิพิธภัณฑ์มุนษยชาติได้รับการจัดแสดงในแนวคิดนั้นต่อมา และสร้างความซับซนระหว่างการกล่าวถึงดินแดนอัฟริกาเหนือหรือ Maghreb และคำว่า Mashrek ซึ่ง เป็นภาษาอาหรับที่หมายถึง ประเทศทางตะวันออกกลางบนคาบสมุทรอาหรับ รวมทั้งอียิปต์ทางตอนเหนือ โลกตะวันออกที่จัดแสดงย้ำถึงสภาพ “พื้นถิ่น” (condition << indig?ne >>) ใน อัลเจรี ด้วยเหตุนี้ หากเราทำความเข้าใจกับการเลือกรูปแบบและเนื้อหาในการจัดแสดงของสถาบันแห่งนี้ การวิเคราะห์จะเปิดให้เราเห็นกรอบคิดในบริบทของการล่าอาณานิคมและส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง   ความเป็นอื่น: วัตถุความรู้ วัตถุในตู้จัดแสดง ในระหว่างครึ่งแรกของศตวรรษที่19 เรา จะสังเกตได้ว่างานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอัฟริกาเหนือมีมากขึ้นในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพในอัลเจรี วิวัฒนาการของสถานการณ์ทางทหาร การเมือง และเศรษฐกิจ เป็นตัวอธิบายปรากฏการณ์ ณ ขณะนั้น มานุษยวิทยาในฐานะสาขาวิชาหลักในช่วงเวลานั้น สนใจกับรากเหง้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางชีวภาพและภาษา การจัดแบ่ง “เผ่าพันธุ์” สัมพันธ์กับการปกครองอาณานิคม  Arabe ,  Maure ,  Kabyle ,  Berb?re ,  Noirs  และ  Juifs  การจัดแบ่งเหล่านี้ ซึ่งเสมือป้ายในการควบคุมประเทศที่อยู่ภายใต้อาณานิคม กลายเป็นการผูก “ตำนาน” ของชนชาติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  Kabylie  (พื้นที่ สูงทางตอนเหนือของประเทศอัลเจรี งานจำนวนมากได้สร้างภาพตัวแทนที่ตายตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติพันธุ์ที่แตก ต่างกัน กลุ่มกาบียใหญ่ผิวขาวเผชิญหน้ากับกลุ่มอาหรับเล็กผิวเข้ม หรือเป็นการสร้างภาพความแตกต่างทางศาสนา เช่น ชาวกาบียคริสเตียนและชาวอาหรับมุสลิม และยังได้กล่าวถึงความสัมพันธ์กับประเทศแม่ ชาวกาบียในฐานะที่เป็นลูกหลานของ Berb?res คริสเตียน (กลุ่มตระกูลภาษาแบรแบร์สที่กระจายอยู่ทางเหนือของแอฟริกา) ในครั้งอดีต กลายเป็นสัมพันธมิตรกับฝรั่งเศส ตัวอย่างของงานเขียนทางวิชาการในยุคนั้นพยายามย้ำอุดมการณ์ระบบอาณานิคม   นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยที่ให้ความสนใจกับการผลิตวัตถุ และพยายามที่จะเผยแพร่แนวคิดชาติพันธุ์วิทยา ซึ่งดูจะไม่ได้รับความสนใจมากนั้น เมื่อปี1878 Ernest Th?odore Hamy ผู้ อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการรวบรวมวัตถุต่างๆ เพื่อใช้ในการจัดแสดงนิทรรศการสากลในปีเดียวกัน แนวคิดดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมาก เพราะในขณะนั้นวัตถุดูกระจัดกระจายไปในทุกที่ ไม่มีสถานที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลรักษาโดยตรง เมื่อได้รับอนุญาต การทำงานรวบรวมวัตถุจึงเริ่มดำเนินการ ในรายงานความก้าวหน้าโครงการ Hamy ได้กล่าวถึงการรวบรวมวัตถุที่เกี่ยวข้องกับอัลเจรี “เราสามารถจะนำเสนอพิพิธภัณฑ์อัลเจเรียนจากวัตถุที่ล้ำค่าที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมอาหรับและกาบีย คงไม่มีสถาบันอื่นใดในยุโรปทำได้เยี่ยงนี้” (Hamy, p.9)   ในที่สุดพิพิธภัณฑ์ได้เข้าประดิษฐานอยู่ในทรอคดาเดโร ที่อาคารมีแบบฉบับของไบแซนไทน์ใหม่และมีปีกของอาคารแยกเป็นสองด้าน การก่อนสร้างดังกล่าวนำไปสู่ข้อถกเถียงสาธารณะอย่างมาก แต่แล้วในปี1880 พิพิธภัณฑ์เปิดต้อนรับสาธารณชน และเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมากจากจำนวนผู้ชมวันละ 4,000 คน ที่ต้องการเข้ามาชื่นชมกับวัตถุที่มาจากอัฟริกาและอเมริกา แต่สำหรับในยุคนั้นแล้ว วัตถุที่จัดแสดงเป็นเพียงการรวบรวม “ความงามที่น่าตื่นตา” ภาพที่หายากที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลานั้นแสดงให้เห็นสิ่งของได้รับการจัดแสดงเป็นจำนวน มากในพื้นที่แคบๆ และมีเพียงป้ายอธิบายขนาดเล็กที่ไม่ได้สลักสำคัญมากนัก การจัดแสดงกักขังวัตถุให้อยู๋ในลักษณะของจำลองบริบททางวัฒนธรรม แต่ก็เน้นมุมมองเชิงคติชน การจัดแสดงวัตถุชาติพันธุ์แสดงให้เห็นอย่างน้อยที่สุดว่ามีความสำคัญมากกว่า เพียงวัตถุเพื่อการตกแต่ง   ในช่วงเวลาดังกล่าว แนวคิดของการจัดลำดับขั้นวิวัฒนาการของมนุษย์ยังได้รับการยอมรับ “คนขาว” อยู่ตำแหน่งสูงสุดของวิวัฒนาการ การจัดแสดงของ Hamy ย้ำ ทฤษฎีทางวิชาการเช่นนั้น ในแนวคิดดังกล่าวนั้น ผู้ชมจะได้พบกับการนำเสนอเรื่องราวชีวิตประจำวันของชนในประเทศอาณานิคม และในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 “วัฒนธรรมอาณานิคม” แพร่หลายอย่างมากในสังคมฝรั่งเศส แต่โครงการของ Hamy ได้ หยุดลงด้วยสาเหตุหลายประการ แม้จะมีแนวคิดในการจัดแสดงจะมีความน่าสนใจอยู่ ทั้งสาเหตุของการจัดเก็บเอกสารที่ไม่เพียงพอ ข้อจำกัดในแนวคิดของการจัดแบ่งประเภท วิธีการจัดแสดงที่จำเพาะ รวมไปถึงการที่สาธารณเริ่มไม่ให้ความสนใจ และงบประมาณที่ลดจำนวนลง แม้ Ren? Verneau จะเข้ามาสานงานต่อเมื่อปี 1907 แต่ไม่ปรากฏความเปลี่ยนแปลงมากนัก จนกระทั้งการเข้ามารับตำแหน่งของ Paul Rivet และทีมงานของเขาที่จะเปิดศักราชใหม่   ในระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง ปัจจัยหลายประการได้ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของชนพื้นถิ่น แต่ยังอยู่ในแนวคิดของความดีงานของอารยธรรม ดังจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวของกิจกรรม “พื้นถิ่น” ระหว่างสงครามโลกครั้งแรก ศิลปะ “คนของผิวดำ” ที่ประสบความสำเร็จ ความถึงแนวเพลงบลูและความนิยมในดนตรีแจ๊ส สำหรับ Paul Rivet เห็น ว่าพิพิธภัณฑ์จะต้องมีความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งยวด ทั้งในแน่ของปรัชญาและการดำเนินการ เมื่อเข้าขึ้นรับตำแหน่ง เขาได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร เขาได้เชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอื่นๆ ทั้งศิลปะและวัฒนธรรม มาทำงานกับพิพิธภัณฑ์ในการศึกษาและเผยแพร่ความรู้จากคลังวัตถุทางชาติพันธุ์ Georges-Henri Rivi?re ได้ เปิดแนวทางใหม่ให้กับการพิพิธภัณฑ์ การนำเสนอวัตถุในแบบที่แตกต่างออกไป และมุมมองที่เห็นว่าวัตถุคือประจักษ์พยานของสังคม การจัดแสดงที่อาศัยฉากได้หายไปจากพื้นที่จัดแสดง วัตถุได้รับการจัดวางตามเขตวัฒนธรรม พร้อมไปกับคำอธิบายและแผนที่แสดงที่ตั้งของกลุ่มวัฒนธรรม และภาพถ่าย การจัดแสดงเช่นนี้เริ่มต้นตั้งแต่ 1937 ในการเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ “พิพิธภัณฑ์มนุษยชาติ”   อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามในการกล่าวถึงวัฒนธรรมนอกยุโรปด้วยความคิดที่เป็นวัตถุวิสัยมากขึ้น แต่ความพยายามดังกล่าวดูจะไม่สามารถเปลี่ยนสายตาในการมองวัฒนธรรมพื้นถิ่นตามที่เคยเป็นมา ลองพิจารณาการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์มนุษยชาติอย่างที่จัดแสดงจนถึงปี2003 เพราะ การจัดแสดงในตู้หลายๆ แห่งแทบไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่เมื่อเปิดพิพิธภัณฑ์ หากจะให้พิจารณาให้ชัดเจนลงไป “ร้อยปีอัลเจรี” เป็นภาพตัวแทนที่รับรู้กันในช่วงเวลานั้นมีสภาพที่คล้องไปกับมหาอำนาจ ฝรั่งเศสที่สัมพันธ์กับประเทศในอาณานิคม ร้อยปีของการโฆษณาชวนเชื่อในสังคมฝรั่งเศสไม่ใช่เพียงการสร้างภาพตัวแทน จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส แต่ยังย้ำถึงอาณาจักรที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ พิพิธภัณฑ์ตกเป็นเครื่องมือในการตอกย้ำถึงภาพดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สถาบันแห่งนี้ได้พัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับประเทศในมาเกรบ (ประเทศในกลุ่มมาเกรบประกอบด้วยอัลเจรี ตูนีซี และมารอค – ผู้แปล) จึงยังผลให้มีคลังวัตถุที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น และเป็นโอกาสที่ผู้ชมจะได้พบกับความหลากหลายของชาติพันธุ์ในอัลเจรี, Kabyle, Cha’amba, Touareg, Chaouia   ความเป็นตะวันออกของ  Al-Djaza?r  ความแตกต่างของหญิงในมาเกรบและหญิงตะวันออก หากเราพิจารณาตั้งแต่ตัน พิพิธภัณฑ์มนุษยชาติกล่าวถึงความหลากหลาย แต่ความไม่ชัดเจนกลับปรากฏให้เห็นในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชนพื้นถิ่น ในประเทศที่เป็นอาณานิคม เราจะเห็นถึงการสร้าง “แบบตายตัว” พื้นที่ที่มีลักษณะตรงข้าม เมือง/ชนบท เหนือ/ใต้ และภาพที่คิดอย่างดาดๆ เกี่ยวกับตะวันออก ภาพของการแบ่งแบบสุดขั้วเช่นนี้ปรากฏในแนวคิด ป่าเถื่อน/อารยะ เลว/ดี ผลของการสร้างภาพเช่นนี้กลายเป็น “การตรา” ภาพที่ตายตัวเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ เพศ และศาสนา ในความหลากหลายตามที่มีการนำเสนอนี้ กรอบหลักที่ปรากฏไปทั่วคือ “ความเป็นตะวันออก” ดังจะเห็นได้จากอัฟริกาเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Al-Dajaza?r กลับถูกรวมเข้าไปอยู่ใน “โลกตะวันออก” ทั้งทีมีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมที่ต่างไปจากกลุ่มวัฒนธรรมใหญ่   กรณีของการนำเสนอภาพลักษณ์ของสตรีเป็นตัวอย่างของการผสมปนเปทางวัฒนธรรม(amalgame culturel) ภาพ ของสตรีมาเกรบในพิพิธภัณฑ์มนุษยชาติแสดงให้เห็นโลกของสตรีที่ร่ำรวยและขัด แย้ง ระหว่างสตรีโมเรสก์ ยิว กาบีย์ ชาอู หรือกระทั่งตูอาเร็ก กลับปรากฏเรือนร่างเช่นเดียวกับหญิงในกลุ่มมาเกรบ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับสตรีในตะวันออกกลาง แต่ความคิดเหล่านี้ยังคงอยู่ในระดับที่แตกต่างกัน เพราะภาพในจินตนาการของโลกตะวันออก   ภาพของหญิงที่เราเรียกว่า “โมเรกส์” นำเสนออยู่ในตู้จัดแสดงในกลุ่มวัฒนธรรมแขกขาว (Afrique Blanche) ในส่วนจัดแสดง “ชุดชาวเมือง” ชุดของหญิงชาวยิวจัดแสดงเคียงคู่ไปกับกลุ่มภาพที่แสดงลักษณะของ “สตรีมุสลิม” พวกเธอใส่ผ้าคลุมหน้า/ศีรษะ หญิงเหล่านั้นคลุมหน้าในกรณีที่อยู่บ้านในขณะที่ต้องต้อนรับเพื่อน งานแต่งงาน หรือการตกแต่งร่างกายด้วยเฮนนา นอกไปจากรูปที่ให้ข้อมูลทางวัฒนธรรมแล้ว กลับไม่มีการอธิบายใดๆ ถึงชีวิตประจำวันหรือสถานภาพของสตรีในสังคมมาเกรบ ด้วยเหตุนี้ผู้ชมจะสร้างภาพจากสิ่งที่จัดแสดงนี้ ภาพดังกล่าวเป็นความสับสนระหว่างวัฒนธรรมมาเกรบและตะวันออก สตรีโมเรสก์ ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่ยากจะเข้าถึงในสมัยที่ยังคงเป็นชนเร่ร่อน กลายเป็นภาพตัวแทนของวัฒนธรรมตะวันออกดังที่ปรากฏในนิยายเรื่อง พันหนึ่งทิวา ภาพที่ปรากฏต่างๆ มีส่วนที่คล้ายคลึงกับโปสการ์ดในช่วงอาณานิคม หญิงในภาพปรากฏภาพลักษณ์ในทำนองภาพเขียนชื่อดังของเดอลาครัวซ์ หญิงแก่งอัลแชร์ในบ้านพักของเธอ ที่เขียนขึ้นศตวรรษก่อนหน้านั้น   หากกล่าวว่าภาพถ่ายเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกรอบการจัดแสงนิทรรศการในการสร้างเรือน ร่างของสตรีเรสก์ การเลือกการจัดแสดงเช่นนี้นำไปสู่ข้อถกเถียงกัน ฉะนั้น เมื่อพิจารณาในเรื่องการนำเสนอเครื่องประดับ การตกต่างร่างกาย และการแต่งกาย การนำเสนอเช่นนั้นปิดกั้นสตรีโมเรสก์ไว้เพียงตัววัตถุจากภาพโปสการ์ด(ยุคอาณานิคม) ภาพ ลักษณ์เช่นนั้นไกลห่างจากความเป็นจริงทางสังคมและวัฒนธรรมของประเพณีมาเกรบ ที่สตรีจะมีบทบาทในครอบครัวอย่างยิ่ง อีกนัยหนึ่ง การแสดงเช่นนี้ไม่สามารถเป็นตัวแทนสตรีโดยรวม ตู้การจัดแสดง “กาบีย์ลี” มีลักษณะการนำเสนอที่แตกต่างออกไป ภาพที่จัดแสดงสร้างให้เห็นหญิงกาบีย์ในบริบททางวัฒนธรรมและชีวิตประจำวัน ด้วยการนำเสนอการผลิตเครื่องปั้นดินเผา การเตรียมดิน การเก็บฟืน การตกแต่งเครื่องปั้น ชาวบ้านกาบีย์ปรากฏตัวตนในมิติทางสังคม และไม่ใช่เพียงเครื่องประดับ นอกจากนี้ ยังไม่มีคำบรรยายประกอบภาพอื่นๆ ความเข้าใจที่ได้รับจากการจัดแสดงเป็นเพียงสภาพของสตรีในภูมิภาคอัลเจรี   สตรีชาวชาอูได้รับการนำเสนอที่มีลักษณะ “เป็นจริง” ด้วย ดังที่นักประวัติศาสตร์ David Prochaska เขียนไว้ในบทความบทหนึ่งว่า ภาพตัวแทนของอาณานิคมแตกต่างไปจากภาพที่ปรากฏในโปสการ์ด เขาได้ใช้การจัดนิทรรศการ “อูเรซ” (Aur?s) ซึ่งจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์มนุษยชาติ เมื่อปี 1943 ภาพที่นำเสนอทั้งหมด 123 ภาพ ที่ถ่ายไว้ในช่วงการทำงานของ Germaine Tillon และ Th?r?se Rivi?re ภาพแสดงให้เห็นกิจกรรมต่างๆ ในวิถีชีวิตของชาวอูเรซ (กลุ่มชนอับเดอรามาน) ทั้งการเก็บอินทผลัม การเตรียมกูซกูซ (อาหารพื้นถิ่น – ผู้แปล) และการเตรียมเส้นใยจากแกะ (งานเฉพาะของสตรี) การ นำเสนอภาพที่ไม่ได้มาจากจินตนาภาพตะวันตก “หญิงงานแห่งโมเรสก์” เช่นนี้ จึงแสดงให้เห็นสภาพของหญิงชนบทในชีวิตประจำวัน เราออาจจะสันนิษฐานได้ว่า การที่ Th?r?se เป็นสตรีเพศย่อมเข้าถึงโลกของผู้หญิงได้มากขึ้น ข้อมูลจึงมีความใกล้เคียงสภาพของสังคมและเศรษฐกิจไปด้วย   หากกล่าวถึงหญิงชาวตูอาเร็ก การจัดแสดงกลับมีความคลุมเครือมากขึ้น เมื่อพิจารณาลักษณะทางภูมิศาสตร์ ทะเลทรายซาฮาราครอบคลุมเป็นแหล่งการดำรงชีวิต การมองอย่างกว้างๆ เช่นนี้ทำให้เกิดความสับสนการพูดถึงบริเวณทางภูมิศาสตร์ อันที่จริง พื้นที่ซาฮารามีความเกี่ยวข้องกับทะเลทรายอาระบี และทะเลทรายนี้เป็นจินตภาพสำคัญของโลกตะวันออก ภาพลักษณ์ของหญิงชาวตากูเร็ก หรือ ตาร์กัว(Targuia) เสนอ ไปในทำนองเดียวกับภาพของโลกตะวันออก โดยเป็นภาพของหญิงมาเกรบมากกว่าเป็นภาพของหญิงมุสลิม ดังนั้น จึงทำให้เข้าใจว่า แม้สตรีชาวตูอาเร็กจะมีสถานภาพตามศาสนาบัญญัติ แต่ด้วยความรู้และความสามารถทางศิลปะที่ปฏิบัติในชุมชน สตรีในกลุ่มชนชั้นสูงสามารถอ่านได้และเป็นเจ้าของฝูงสัตว์ การจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์มนุษยชาติ ตู้จัดแสดงหลายใบนำเสนอภาพวิถีชีวิต การแต่งกายของหญิงตูอาเร็ก หนึ่งในบรรดาตู้จัดแสดงนำเสนอชุดแต่งกายสามชุดพร้อมด้วยเครื่องดนตรี (imzade) แต่ ในเนื้อหาทั้งหมด ไม่มีส่วนที่กล่าวถึงสถานภาพของสตรีในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ ในประเด็น เราจะเห็นชัดถึงสถานภาพ “ที่อยู่นอกขนบ” ของหญิงตากัว ในพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมของมุสลิม กลายเป็นภาพร่วมของความเป็นตะวันออกในโลกของตาอูเร็ก อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมวิชาการหรือพิพิธภัณฑ์วิทยา ลักษณะเฉพาะที่สัมพันธ์กับวัตถุเป็นสิ่งที่ยากต่อการบอกเล่าสู่สาธารณชน   เชื้อชาติและวัฒนธรรม มาเกรบที่หาไม่พบ การสังเกตการณ์ที่เกิดขึ้นแรกๆ เมื่อนายทหารฝรั่งเศสเข้าไปในอัลเจรีคือ ความหลากหลายของประชากรที่มีการใช้ชื่อเรียกกลุ่มต่างๆ อาหรับ โมเรสก์ แบร์แบร์ส กาบีย์... ราย นามของการเรียกข่านแต่ละกลุ่มยังมีอีกมาก การให้ชื่อแบบนี้แสดงให้เห็นถึงการมองผู้คนผืนถิ่นในลักษณะของ “ชิ้นกระจกสีที่เชื่อมต่อผู้คน” (mosa?que de peuples) แต่การจัดแบ่งก็หมายรวมถึงการจัดลำดับและชนชั้น การจัดแบ่งนี้กลายเป็นจินตภาพภาพที่ติดตรึงกับสังคมฝรั่งเศสในการมองกลุ่มคน   เมื่อพิจารณากลุ่มชนพื้นถิ่นทั้งหมด ชาวตาอูเร็กได้รับการปฏิบัติที่ดีที่สุด แม้จะมีเรื่องชื่อทางการสงคราม ด้วยเหตุนี้ แม้ผู้คนทั่วไปจะมีภาพคลุมเครือเกี่ยวกับชนกลุ่มนี้ แต่กลับคิดไปใน“เชิงบวก” มากกว่า ด้วยถิ่นฐานของคนตาอูเร็ก กองทัพฝรั่งเศสจึงให้ความสนใจต่อชนกลุ่มนี้ไม่มากนัก ในระยะหลายทศวรรษของการล่าอาณานิคม กลุ่มอำนาจต่างๆ ให้ความสนใจกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทางเหนือของอัลเจรี จนปลายศตวรรษที่ 19 ที่ฝรั่งเศสให้มาให้ความสนใจทางทหารกับพื้นที่ขนาดใหญ่นี้ ในเหตุการณ์ปี 1880 ช่วงสุดท้ายของภารกิจฟลาเตอร์ที่สมาชิกถูกฆาตกรรมหมู่โดยกองกำลังเกล อาการ์ (KEl Ahaggar) กลายเป็นที่กล่าวขานถึงอย่างมากในฝรั่งเศส แต่กลับไม่ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ที่มีต่อชนกลุ่มตาอูเร็กมาก   ในบริบทนี้ ไม่มีสิ่งใดที่น่าสงสัยมากไปกว่าเรื่องการจัดแสดงชนกลุ่มนี้ในพิพิธภัณฑ์ การจัดแสดงในหลายตู้สะท้อนภาพของชนตูอาเร็กในลักษณะของพวกคลั่งสงคราม ผู้มีบุคลิกภาพที่น่าเคลือบแคลงสงสัย ยากที่จะติดตามและลึกลับ หุ่นที่แสดงถือดาบในมือและมีโล่ที่ใช้ในการสงคราม ผู้ชมได้เห็นภาพเช่นนี้ตั้งแต่ครึ่งหลังศตวรรษที่19 แต่ เราควรสังเกตด้วยว่าภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนจาก “นักรบแห่งทะเลทราย” สู่อัศวินแห่งทะเลทรายในอาหรับ ทั้งๆ ที่อยู่ในสิงแวดล้อม อุณหภูมิ และมีความกล้าหาญเฉกเช่นกัน แม่เราจะมองว่าชนตูอาเร็กมีวัฒนธรรมร่วม “ตะวันออก” แต่พวกเขามีความแตกต่างจกชนพื้นถิ่นอื่นๆ ในหลายๆ ด้าน การจัดระเบียบทางสังคม และการปฏิบัติทางศาสนา (ชนผิวขาวที่หันมานับถือคริสต์)   หนึ่งในตู้จัดแสดงที่สะท้อนให้เห็นความเป็น “เจ้าทะเลทราย” ดังที่ปรากฏในคำอธิบายดังนี้ “ตูอาเร็กเป็นชนผิวขาวที่ไม่ได้พบมากนัก พวกเขาเร่ร่อนอยู่ในทะเลทรายและเป็นพวกที่สู้รบ อาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาของซาฮารา ครอบคลุมไปถึงทางใต้ของซูดาน ภาษาของพวกเขา “ตามาเชก” ที่รากเดียวกับชนแบร์แบร์ ใช้กันในกลุ่มคนมากกว่าแสน การจัดระเบียบทางสังคมแบ่งไปตามพื้นที่ปกครองย่อยคล้ายๆ ระบบฟิวดัลในยุโรป พวกเขาเชี่ยวชาญในการอยู่กลางทะเลทราย พวกเขาเป็นชนนักรบที่น่าสงสัย แต่ก็สร้างอิทธิพลมากมายในซาฮารากลางเปรียบเสมือนเจ้าแห่งทะเลยทราย   ในป้ายบรรยายที่เกี่ยวข้องกับตูอาเร็ก ส่วนแรกของข้อความแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดต่างๆ(ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ภาษาพูด การจัดระเบียบทางสังคม) และ ตรงข้ามกับส่วนที่สองที่สั้นกว่าแต่มีการเล่าเรื่องที่ใช้ภาพลักษณ์ที่แพร่ หลายในช่วงเวลานั้นมากกว่า หากจะเปรียบเทียบตัวอย่างที่กล่าวถึง “แอตลองติก” ของ Pierre Benoit ความคลุมเครือของพิพิธภัณฑ์ยิ่งเป็นการย้ำภาพจินตนาการ   การปฏิบัติศาสนกิจ: อิสลาม ตั้งแต่สงครามศาสนา ศาสนาได้เป็นางที่แบ่งแยกการกล่าวถึงอัตลักษณ์ระหว่างตะวันออกและตะวันตก สิ่งที่แบ่งแยกคือคำเรียก “โลกตะวันออก” สัมพันธ์กับความเป็นอิสลามที่นำเสนอในส่วนการจัดแสดงอัฟริกาเหนือและตะวัน ออกกลาง วัตถุจัดแสดงและภาพในตู้จัดแสดงเกี่ยวข้องกับอิสลาม (การปลงศพ สัญลักษณ์ที่ศาสนา ชาฮาลา ตัวอย่างคัมภีร์อัลกูลอาน) และคำอธิบายต่างๆ ที่แสดงให้เห็นธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนา บทบัญญัติ 5 ประการ ของอิสลามประกอบด้วยความเชื่อและศรัทธา การละหมาด การบริจาค การถือศีลอด และการจาริกแสวงบุญ พิธีกรรมเหล่านี้กำหนดไว้ในแต่ละช่วงชีวิต แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือความหมาย ตัวอย่างเช่นการถือศีลอดที่หมายรวมถึงการอดซึ่งอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องหอม เครื่องยาสูบ ความสัมพันธ์ทางเพศ   การมองเพียงภาพรวมๆ และผิวเผินเช่นนี้สามารถสร้างความสับสนของการมองวัฒนธรรมระหว่างตะวันออกลาง และมาเกรบ อันที่จริง อิสลามในมาเกรบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอัลเจรีมีแบบแผนการปฏิบัติที่แตกต่างไป จากตะวันออกใกล้และตะวันออกลาง ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีธรรมเนียมทางศาสนามาเกรบกล่าวไว้ในตู้จัดแสดงเลย การจัดแสดง “ค้อน” “ขวาน” และ “ดาบ” ทำให้ผู้ชมเข้าใจความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสิ่งเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด คำอธิบายกลับบอกเล่าถึงวัตถุเหล่านี้ว่าเป็นเพียง “ส่วนไม่สำคัญ” ของสังคมมาเกรบ หากแต่ในความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้มีบทบาทสำคัญตราบเท่าปัจจุบัน ตู้จัดแสดงต่างๆ มีคุณสมบัติอยู่ 2 ประการในการกล่าวถึงความเป็นอิสลามคือ ความเคร่งต่อวิถีปฏิบัติทางศาสนา และธรรมเนียมเป็นแบบแผนเดียว   โดยสรุปแล้ว ช่องว่างเกิดขึ้นจากแนวคิดดั้งเดิมของพิพิธภัณฑ์และตัวเลือกของนักวิชาการ ผู้รับผิดชอบการจัดแสดง ในช่วงหลายทศวรรษแรกของพิพิธภัณฑ์ ตัวเลือกการจัดแสดงอยู่บนแนวคิดของการจัดประเภท “ชนพื้นถิ่น” ที่ไปสอดรับกับอคติของสาธารณชน แต่แนวคิดการทำงานจะเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไร ในเมื่อบริบททางวิชาการ การเมือง และความเป็นสถาบันอยู่ภายใต้แนวคิดของการมีอำนาจเหนือเช่นนั้น   ตั้งแต่ปี2003 วัตถุชาติพันธุ์ของพิพิธภัณฑ์ไม่ได้จัดแสดงอีกต่อไป การจัดแสดงเป็นแบบแผนการนำเสนอของศตวรรษที่ผ่านไป เป็นเรื่องยากต่อการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างน้อย วัตถุเหล่านั้นเปิดให้คนหลายชั่วอายุคนได้เรียนรู้กับรูปแบบทางวัฒนธรรมที่ แตกต่างออกไป   กรอบการทำงาน ทั้งวิธีการและอุดมการณ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ทางชาติพันธุ์ หากกล่าวกว้าง อาจพูดได้ว่าการจัดประเภทมาจากสัญญะที่ถูกเลือกใช้ในการนำเสนอภาพความเป็น อื่น เราคงอาจถามตนเองได้ในทุกวันนี้ในทุกวันนี้หากเราจะต้องให้ที่ทางความ สัมพันธ์ระหว่างตัวเราเองกับผู้อื่น/ความ เป็นอื่น ก็กลายเป็นการเลือกปฏิบัติหรือการยกคุณค่าประการใดประการหนึ่ง แล้วพิพิธภัณฑ์จะมีบทบาทอย่างไรเมื่อเผชิญกับคำถามนี้ จะทำอย่างไรเมื่อต้องพูดหรือกล่าวถึงความเป็นอื่น โดยไม่ไปกดทับ ทุกคำถามยังคงเป้นที่ถกเถียงของคนพิพิธภัณฑ์ นักวิชาการ และนักวิจัย ณ ห้วงเวลานี้ คือการวางสถานะของความเป็นสถาบันพิพิธภัณฑ์เสียใหม่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การอพยพ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ยุโรปและเมดิเตอเรเนียน พิพิธภัณฑ์ เก บรองลี ตอบสนองต่อบริบทใหม่ๆ และความต้องการอื่นๆ ของสาธารณชน   จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของการล่าอาณานิคม พิพิธภัณฑ์ฝรั่งเศสจะต้องศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับความทรงจำ ในยุคสมัยที่ฝรั่งเศสกลายเป็นสังคมพหุชาติพันธุ์ ทั้งชุมชนคนต่างชาติหรือชุมชนของคนมาจากประเทศอดีตอาณานิคม กลายเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ในทุกวันนี้เผชิญกับข้อท้าทายใหม่ๆ บทบาทหนึ่งที่สำคัญคือการย้อนกลับไปมองและวิพากษ์ต่อสิ่งที่ตนเองเคยกระทำ ตั้งแต่ระบบพิพิธภัณฑ์ที่เคยสัมพันธ์กับการล่าอาณานิคม พิพิธภัณฑ์จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองสู่พื้นที่ของการพบปะและแลกเปลี่ยน และเปิดโอกาสให้กับประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนเช่นนี้ จากอดีตที่เคยจำกัดตนเองเพียงพื้นที่ตอบสนองงานวิชาการและการเมือง นั่นหมายถึง การสร้างพื้นที่ความทรงจำร่วมที่แบ่งปัน    แปลและเรียบเรียงจาก H?dia Yelles-Chaouche, L’Autre dans la vitrine, La lettre de l’OCIM n?103, septembre 2006, p. 18 – 24.  

ระหว่างบรรทัดของการบอกเล่าอดีต

21 มีนาคม 2556

สาระหรือเนื้อหาที่ได้รับการบอกเล่าและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์ อนุสรณ์สถาน และหอเกียรติยศ1 ล้วนทำหน้าที่บันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นไปสู่สาธารณชน ทั้งนี้ จุดประสงค์ของการสร้างสถานที่เหล่านั้นแตกต่างกันไป บ้างต้องการสร้างความภาคภูมิใจในกำเนิดและพัฒนาการของหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มสังคม บ้างปรารถนาสร้างความเข้าใจในความเป็นมาและเป็นไปเพื่อให้ผู้เข้าชมตระหนักถึงสภาพปัจจุบัน บ้างกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้มีอำนาจ และยืนยันถึงความถูกต้องในการกระทำของตนเอง ไม่ว่าพิพิธภัณฑ์ ฯ จะสร้างขึ้นด้วยความมุ่งหมายใดก็ตาม การจัดตั้งสถานที่ดังกล่าวสะท้อนว่า มนุษย์ไม่ต้องการให้เวลามาพรากเอาเรื่องราวที่ผ่านแล้วให้พ้นเลยไปจากความคิด ความรู้สึก และการจดจำของผู้คน พิพิธภัณฑ์ ฯ จึงต้องการสร้างสำนึกประวัติศาสตร์ต่อผู้เข้าชมด้วยบทบรรยาย วัตถุจัดแสดง และพื้นที่ในโลกสมมติที่โยกย้ายอดีต ปัจจุบัน หรือแม้แต่อนาคตมารวมไว้ในที่เดียวกัน   มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้สถาปนาขึ้นในปี 2477 อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 72 ในปี 2549 72 ปีของชีวิตและประสบการณ์ "ธรรมศาสตร์" ได้จารึกเรื่องราวของชุมชนและผู้คนในแต่ละช่วงเวลา ชีวิตธรรมศาสตร์เคยผ่านการศึกษาและเผยแพร่มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ดังจะเห็นได้จากหนังสือ บทความ และข้อเขียนต่าง ๆ ที่ตีพิมพ์ในวาระที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อมาถึงปี 2548 การบอกเล่าชีวิตธรรมศาสตร์จะมิใช่เพียงหนังสือหรือสิ่งพิมพ์อีกต่อไป หอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์2 ได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่แสดงเรื่องราว ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่หอประวัติศาสตร์ ฯ นี้สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใด เรื่องราวอะไรบ้างที่จัดแสดงและได้รับการถ่ายทอดด้วยวิธีการใด และหากเราเชื่อร่วมกันว่า พิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์ อนุสรณ์สถาน และหอเกียรติยศคือ พื้นที่ที่จะ "หลอมหล่อ" ความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์บางประการ หอประวัติศาสตร์จะสามารถนำเสนอบทบาทของตัวเองไปในแนวทางนั้น ๆ ได้หรือไม่ และเหตุปัจจัยใดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พึงตระหนัก เพื่อให้พื้นที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ คำตอบต่อคำถามเหล่านี้เป็นเพียงข้อสังเกตของผู้เขียนที่เกิดขึ้นจากการเข้าชมหอประวัติศาสตร์ และสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนจึงใคร่จะเชิญชวนให้ชาวธรรมศาสตร์ได้เข้าชม และแสดงความคิดเห็นเพื่อให้หอประวัติศาสตร์ ฯ เป็นสถานที่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการเพิ่มเติมความทรงจำและเรื่องราวของชุมชนธรรมศาสตร์ที่ยังคงดำเนินต่อไป พื้นที่และการออกแบบ " อาคารโดมของมหาวิทยาลัยเป็นอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เฉพาะในทางประวัติศาสตร์ด้วยเหตุที่เป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังมีความผูกพันอยู่กับประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย "3 ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวประโยคข้างต้นในการประชุมคณะกรรมการโครงการจัดตั้งหอเกียรติยศ หอประวัติ และพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 1/2548 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 อาคารโดมเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัยที่ผูกพันอยู่กับประวัติศาสตร์หลายฉากหลายตอน ดังที่ท่านอธิการบดีได้กล่าวเพิ่มเติมในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 " อาคารโดมเป็นศูนย์รวมของขบวนการเสรีไทย เพราะเป็นสถานที่ทำการของผู้ประศาสน์การ4  โดยความคิดส่วนตัวมีความเชื่อว่า ชั้น 3 ของอาคารโดมน่าจะถูกใช้เป็นที่ติดต่อประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลก " ด้วยเหตุนี้ " เมื่อมหาวิทยาลัยย้ายหน่วยงานกองการเจ้าหน้าที่ และทะเบียนประวัติ ออกจากชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความทรุดโทรมมาก เนื่องจากเก็บเอกสารเก่า และขาดการดูแล … ถ้าได้รับการดูแลรักษาที่ดีจะสามารถเปลี่ยนสภาพจากแย่ที่สุด เป็นดีที่สุดได้ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของมหาวิทยาลัย "    อย่างไรก็ดี อาคารโดมมิได้มีเพียงความหมายซึ่งมีที่มาจากประวัติศาสตร์อันห่างไกลจากคนธรรมศาสตร์ร่วมสมัยแต่อย่างใด "โดม" ยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่ได้เชื่อมนักศึกษาและผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามา วลี "ลูกแม่โดม" อาจช่วยยืนยันถึงความสำคัญของอาคารหลังนี้ต่อชีวิตธรรมศาสตร์ที่มีมาแต่อดีตและที่จะดำเนินต่อไปในกาลข้างหน้า ฉะนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยได้เลือกและและปรับเปลี่ยนพื้นที่ชั้น 3 ของอาคารโดมเป็นหอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นัยและความหมายของพื้นที่จึงเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น เพราะวันและเวลาของพื้นที่ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยได้ถูกดึงกลับมารวมไว้ ณ ที่เดียวกัน   เมื่อเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ถูกแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ พื้นที่รูปกากบาทได้ถูกจัดแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่แวดล้อมหอเกียรติยศ และส่วนที่เป็นหอเกียรติยศที่อยู่ตรงใจกลางของพื้นที่ เนื้อหาของนิทรรศการประกอบด้วยเนื้อหา 6 ส่วน ได้แก่ โซนที่ 1 พัฒนาการของพื้นที่ท่าพระจันทร์ก่อนการก่อตั้ง มธก. (ต้นรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง) โซนที่ 2 ยุคสถาปนามหาวิทยาลัย (2477 - 2491) โซนที่ 3 ยุคเปลี่ยนระบบการศึกษาก่อนปิดตลาดวิชา (2492 - 2502) โซนที่ 4 ยุคปิดตลาดวิชา (2503 - 2516) โซนที่ 5 ยุคการต่อสู้ทางอุดมการณ์และฟื้นฟูมหาวิทยาลัย (2517 - 2528) โซนที่ 6 ยุคขยายการศึกษา (2529 - ปัจจุบัน)   จากทางเข้าหอประวัติศาสตร์ เส้นทางการเดินชมจะวนไปตามเข็มนาฬิกา โดยเนื้อหาจะเรียงลำดับไปตามช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ในแต่ละยุค จะมีป้ายบอกหัวเรื่องและขอบเขตของเวลาที่เกี่ยวข้อง และจากจุดเริ่มต้น นิทรรศการจะพาผู้ชมย้อนกลับไปในอดีตที่ไกลที่สุดของพื้นที่ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปัจจุบัน และเมื่อผู้ชมเดินเข้าไป เวลาก็จะล่วงไปพร้อมกับเรื่องเล่าที่ค่อย ๆ ย่างเข้าสู่ยุคปัจจุบัน จนกระทั่งถึงใจกลางของห้องจัดแสดง เส้นทางการเดินชมดังกล่าวจะปูพื้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในระยะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เป็นอย่างดี   " อาจารย์นครินทร์ก็จะมีวิธีการมองประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าเป็นจุดเด่นสำคัญของการวางเนื้อหาในทิศทางทั้งหมดเลย คือ ควรจะปล่อยให้ผู้ชมสามารถสร้างความทรงจำได้เองในเหตุการณ์นั้น ๆ ควรจะเสนอแบบว่า ภาพหลาย ๆ ด้านในช่วงแต่ละเหตุการณ์ แล้วก็ตั้งชื่อเหตุการณ์อย่างเป็นกลาง ไม่ใช่บอกว่าเหตุการณ์ช่วงนั้นมันดีอย่างไร มันเลวอย่างไร แต่ว่า เสนอออกไปแล้วก็ให้ผู้ชมเป็นผู้เลือกจำเอาเองว่าจะจะเหตุการณ์นั้น ๆ อย่างไร แกเชื่อว่า คนที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์นั้นๆ เขาก็มีความสุขในแบบหนึ่งของเขา "5   การจัดแบ่งเรื่องราวจึงเป็นไปตามประวัติศาสตร์และพัฒนาการของการเรียนการสอน โครงสร้างของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องการเมืองหรือการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงจะแสดงให้เห็นจากโทนสีในนิทรรศการ จากภาพขาวดำและซีเปียไปสู่ภาพที่มีสีสันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถาปนิกหนึ่งในทีมงานออกแบบย้ำถึงความเป็นกลางและไม่พยายามโน้มน้าวการตีความของห้องจัดแสดง   " เราจะต้องทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นกลางที่สุดในแง่ของบรรยากาศโดยรวม ความเป็นกลางคือ ไม่บอกว่าห้องนี้มืด ห้องนี้สว่าง ห้องนี้สนุก ห้องนี้เศร้า ไม่ใช่ แล้วให้ตัววัตถุจัดแสดงให้แสดงตัวเอง … ทำเป็นเหมือน gallery เหมือนกับห้องแสดงศิลปะที่ตัวห้องเองมันไม่มีอะไรเลย เอางานมาแสดงมันก็จะแสดงตัวตนของมันอยู่กับที่ เช่น คนเอารูปเศร้าไปติด ห้องมันก็จะเศร้า "   อย่างไรก็ตาม เรื่องราวไม่ได้ถูกตัดขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง ในทางตรงกันข้าม เนื้อเรื่องได้ถูกเรียงร้อยกันไปตามพื้นที่ ผู้ชมมีโอกาสทราบล่วงหน้าว่า สิ่งที่จะพบต่อไปนั้นจะเป็นอะไร เรียกได้ว่าเป็น สัมพันธภาพภายในของเนื้อหาและพื้นที่ สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในห้องจัดแสดงคือ การปรับปรุงลักษณะสถาปัตยกรรมภายใน ด้วยการเปิดเพดานให้เห็นโครงสร้างไม้ของหลังคารูปโดมและโครงสร้างผนังอิฐบางส่วน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวช่วยเสริมบรรยากาศของหอประวัติศาสตร์ ฯ ให้ผู้ชมได้ระลึกถึงความหมายของสถานที่ในขณะชมนิทรรศการได้เนือง ๆ   นอกจากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายในห้องนิทรรศการแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาในห้องจัดแสดงกับสถานที่ภายนอกก็ยังเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่งของหอประวัติศาสตร์ ฯ อาทิเช่น ในระหว่างเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ลานโพธิ์เป็นความทรงจำร่วมของผู้คนจำนวนมาก ไม่แต่เฉพาะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง หากแต่เป็นพื้นที่ร่วมที่สำคัญของความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเวลานั้น การนำเสนอเรื่องราวดังกล่าวอยู่ในโซนที่ 4 ซึ่งการจัดแสดงมิได้จำกัดมิติการนำเสนออยู่แต่เพียงเนื้อหา ภาพ หรือสิ่งที่จัดแสดงในรูปใบปลิวจำลอง เท่านั้น กล่าวคือ เมื่อผู้ชมย่างเข้าไปใกล้หน้าต่างด้านประตูท่าพระจันทร์มากขึ้น ภาพเหตุการณ์ซึ่งจัดแสดงบนบานหน้าต่าง ก็คล้อยให้ผู้ชมหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่โน้มนำผู้คนเป็นจำนวนมากให้มารวมตัว ณ ลานโพธิ์ที่อยู่ภายนอก จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวอื่น ๆ นอกมหาวิทยาลัยด้วย   จุดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งได้แก่ ช่องนาฬิกา ที่จัดแสดงในโซนที่ 5 "การต่อสู่ทางอุดมการณ์และฟื้นฟูมหาวิทยาลัย" ซึ่งหากผู้ชมมองผ่านช่องแสงของนาฬิกาออกไป จะเห็นลานหน้าอาคารโดมและรูปปั้นของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ฯ ตั้งเป็นสง่าอยู่ภายนอก การจัดแสดงนาฬิกาสัมพันธ์กับสิ่งที่ปรากฎภายนอก ด้วยเหตุนี้นาฬิกาจึงมิใช่เป็นเครื่องจักรที่บอกเวลาแต่เพียงอย่างเดียว นาฬิกายังได้สะท้อนคืนวันของการก่อตั้ง เรื่องราว และความเปลี่ยนแปลงที่ "ธรรมศาสตร์" ได้ผ่านพบมาด้วย   ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงรายละเอียดบางประการของการจัดตั้งหอประวัติศาสตร์ ฯ และลักษณะของการจัดแสดงภายใน เมื่อได้เข้าชมหอประวัติศาสตร์ ฯ ณ สถานที่จริงแล้ว แต่ละคนอาจรับรู้และตีความข้อมูลต่างออกไปจากนี้ก็เป็นได้ ผู้เขียนหวังจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปฏิกริยาที่พึงมีขึ้นเมื่อผู้อ่านได้เข้าชมหอประวัติศาสตร์ ฯ ด้วยตนเอง จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อีกทั้งควรที่จะแบ่งปันและสะท้อนความคิดเห็นของตนไปยังผู้ดูแลรับผิดชอบหอประวัติศาสตร์ ฯ ด้วย ในส่วนที่สองของบทความนี้ ผู้เขียนจะขอพิจารณา "ลักษณะเด่น" ของนิทรรศการในหอประวัติศาสตร์ ฯ เพื่อทำความเข้าใจและเสนอความคิดเห็นต่อประเด็นที่หยิบยกขึ้นมา   ย้อนมองเรื่องเล่า   "หากเราพิจารณาว่า การเขียนคือ การควบคุมเวลาที่ผันผ่าน ชีวิตที่ดำเนินไป ทั้ง "ช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่" ความเป็นไป และความเจ็บปวด ฉะนั้น การสืบสวนการกระทำนี้จะมิใช่การทำความเข้าใจอย่างลุ่มลึกลึกกับ สิ่งที่วัฒนธรรมได้รังสรรค์ขึ้นหรอกหรือ ?" มาร์แตง เดอ ลา ซูดิแยร์ และ โคลดี วัวส์นาท์   การดำเนินเรื่องราวในหอประวัติศาสตร์นั้น ได้ใช้พัฒนาการของมหาวิทยาลัยในแต่ละช่วงเวลาเป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่อง ในขณะเดียวกัน นิทรรศการก็จัดแสดงหลักฐานพยานที่เป็นหนังสือ เอกสารราชการ ใบปลิว และเอกสารอื่น ๆ ซึ่งทำจำลองขึ้น เพื่อยืนยันให้เห็นถึงความความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น หลักฐานพยานที่ย้ำความสำคัญของสิ่งพิมพ์ได้แก่ แท่นพิมพ์ ที่สื่อนัยแห่งตนเสมือนเป็น "บรรพบุรุษ" ที่มีคุณูปการต่อการวางรากฐานทางวิชาการช่วงต้น ใน "ธรรมศาสตร์" สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ จึงได้แทรกและประกอบเข้ามาในแต่ละช่วงของการจัดแสดง อย่างไรก็ตาม หากผู้เข้าชมมิได้ใส่ใจต่อการอ่านคำอธิบาย หนังสือและเอกสารจำลองเหล่านั้น (ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน) สิ่งแสดงเหล่านี้ก็คงเป็นได้แต่เพียงของประดับมากกว่าหลักฐานพยานที่จะช่วยผู้ชมให้เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริง ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคำอธิบายสิ่งที่จัดแสดง ที่ปรากฎในนิทรรศการ "การสถาปนา มธก. มุ่งสร้าง "พลเมืองใหม่" ให้ระบอบประชาธิปไตย การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในเรื่องการเมืองการปกครองจึงมีความจำเป็น ดังนั้น การเผยแพร่สาระสำคัญของพระราชบัญญัติและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ฯ จึงดำเนินไปอย่างกว้างขวาง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนแสวงหาความรู้ที่ครั้งหนึ่งเคยปกปิดภายใต้ระบอบเก่าและมุ่งดับความกระหายในความรู้ในระบอบประชาธิปไตย"6 "วิชาลัทธิเศรษฐกิจนี้เคยเป็น "วิชาต้องห้าม" ในระบอบเดิม แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง วิชาดังกล่าวถือเป็นวิชาสำคัญวิชาหนึ่งในหลักสูตร มธก. อันมีจุดมุ่งหมายในการสร้างบัณฑิตให้มีความคิดที่กว้างไกล รู้จักวิพากษ์วิจารณ์ความอยุติธรรมที่ปรากฏในตัวบทกฎหมายและในสังคม ตำราเล่มนี้เป็นตำราลัทธิเศรษฐกิจเล่มแรกของมหาวิทยาลัยเขียนโดยอาจารย์ประจำชาวอังกฤษ…"7   "ตำราเล่มนี้ถือเป็นตำรากฎหมายปกครองเล่มแรกของมหาวิทยาลัย เดิมวิชานี้เคยสอนในโรงเรียนกฎหมาย ซึ่งบุกเบิกการสอนวิชานี้โดยนายปรีดี พนมยงค์ แต่การเรียนการสอนที่โรงเรียนกฎหมายนั้นไม่อาจทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสมัยนั้นยังเป็นระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองและการสถาปนามหาวิทยาลัยแล้ว การเรียนการสอนวิชากฎหมายปกครองจึงมีความเข้มข้นมากขึ้น ในตำราเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิของประชาชน หน้าที่ของสถาบันการเมือง การดำเนินการทางปกครองและมหาชนของรัฐบาล การเปรียบเทียบการปกครองระบอบเก่าและระบอบประชาธิปไตย การบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น"8   "… วัตถุประสงค์ของวิชานี้ไม่เพียงการเตรียมบัณฑิตที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดีต่อไปในอนาคตเท่านั้น แต่ยังทำให้บัณฑิตที่มุ่งเป็นนักการเมืองสามารถเข้าใจกลไกและการปฏิบัติงานของราชการด้วย โดยสรุปแล้ว วิชานี้ทำให้การบริหารงานราชการที่เคยปิดลับในระบอบเก่า กลายเป็นวิชาที่โปร่งใสเข้าใจได้โดยสามัญชนในระบอบประชาธิปไตย"9       

เด็กๆ เรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุในบรรยากาศที่เป็นกันเอง

22 มีนาคม 2556

เด็กๆ ใช้เวลามากขึ้นในการสถานที่อย่างไม่เป็นทางการเช่นพิพิธภัณฑ์ มีงานวิจัยพยายามทำความเข้าใจว่า ประสบการณ์เช่นนั้มีผลต่อพัฒนาการทางสังคมและการรับรู้อย่างไร เพราะหากงานวิจัยในสนามดังกล่าวมีมากขึ้น ย่อมเป็นโอกาสที่พ่อแม่และนักการศึกษาจะเข้าใจกับการเรียนรู้จากประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากวัตถุเป็นที่ตั้ง การเรียนรู้จากการให้ข้อมูลเบื้องต้น การวิจักษณ์ต่อความงามและศิลปะ รวมถึงการเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยี ผลรวมของประสบการณ์จากบริบทเหล่านี้จะหล่อหลอมความคิด คุณค่า แรงบันดาลใจ ความเป็นสมาชิกกลุ่ม และตัวตนตลอดชีวิตของเด็กๆ การศึกษาสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นทางการและการเรียนรู้ จะเสริมงานวิจัยที่เคยทำกันมา ทั้งการศึกษาเด็กในบริบทของบ้าน โรงเรียน และบริบทอื่นในชีวิตประจำวัน เพื่อทำความเข้าใจกับแรงจูงใจ การเรียนรู้ทางสังคม และการสร้างเหตุและผล การวิจัยเด็กในลักษณะเช่นนี้ทำให้เราบูรณาการทฤษฎีปฏิบัติการเชิงบริบทกับ ทฤษฎีการสร้างความหมายเชิงสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี สนามการวิจัยใหม่เอื้อประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจพัฒนาการของเด็กและส่ง เสริมการเรียนรู้ของพวกเขา   การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็ก ประเด็นวิจัยพื้นฐานของนักจิตวิทยาพัฒนาการคือ การศึกษาและทำความเข้าใจกับบริบทต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และสัมพันธ์กับพัฒนาการของเด็ก ความสนใจต่อบริบททางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของพัฒนา ปรากฏอย่างเด่นชันในงานของ Vygotsky ที่แสดงให้เห็นความเชี่ยวชาญที่ได้พัฒนาขึ้นนั้นมาจากโอกาสในการเข้าไป สัมพันธ์กับสถานการณ์ต่างๆ และการร่วมทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามกับผู้อื่น นัยสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลและบริบททำให้นักวิชาการได้ข้อสรุปประการหนึ่ง เกี่ยวกับหน่วยของการวิเคราะห์ บุคคลในสถานการณ์หนึ่งที่ทำให้เขาหรือเธอลงมือกระทำการ “หีบห่อของพัฒนาการที่อยู่เหนือปัจเจกบุคคล” (supra-individual envelope of development) (Cole, 1995) ทฤษฎีพัฒนาการเชิงบริบทย้ำถึงความสัมพันธ์ของบริบทที่มีผลต่อการรับรู้และ การเรียนรู้มากกว่านักวิชาการที่มองบทบาทของบริบท ทั้งในงานของ Rogoff & Lave (1984) ที่ย้ำถึงการรับรู้ในชีวิตประจำวัน Resnick, Levine, & Teasley (1991) ที่กล่าวถึงการรับรู้ที่ร่วมกันในสังคม Brown, Collins, & Duguid (1989) ที่กล่าวถึงการฝึกฝนและการสร้างชิ้นงาน Lave & Wenger (1991) ที่กล่าวถึงนัยสัมพันธ์ของการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมที่แวดล้อม เป็นต้น Lave (1993) ได้แบ่งลักษณะวิเคราะห์ของทฤษฎีที่สัมพันธ์กับการทำความเข้าใจบริบทของ พัฒนาการเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ ทฤษฎีที่เน้นการกระทำ และทฤษฎีที่เน้นความหมาย ประเภทแรกจะเน้นการกล่าวถึงธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและสิ่ง ถูกกระทำที่อยู่ในบริบทหนึ่ง ทั้งนี้ ทฤษฎีกิจกรรมจะเป็นพื้นฐานในการอธิบาย เมื่อกล่าวถึงบทบาทของประสบการณ์จะนึกถึงงานของ Dewey (Ansbacher, 1998; Cohen, 1998; Fenstermacher & Sanger, 1998) ส่วนทฤษฎีในแบบที่สอง หมายถึง ความหมายที่สร้างขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคม จะเห็นได้ในงานของ Vygotsky และทฤษฎีทางสังคมวัฒนธรรม (Palincsar, 1998; Wertsch, Tulviste, & Hagstrom, 1993) แต่หากเรานำทฤษฎีทั้งสองมาใช้ในการอธิบายและทำความเข้าใจ จะทำให้งานวิจัยพัฒนาการของเด็กนั่นมีคุณูปการมากขึ้น ดังที่ปรากฏในงานของ Goodnow, Miller, and Kessel (1995) นั่นเองที่นำไปสู่การวิเคราะห์ว่า เด็กกระทำการใดกับใครภายใต้เงื่อนไขใด และทำไปด้วยวัตถุประสงค์ใด ประเด็นของการตีความภายใต้บริบทจึงประกอบด้วย การศึกษาวิธีการที่เด็กลงมือกระทำเพื่อให้บรรลุ ความหมายที่เด็กๆ สร้างขึ้นจากประสบการณ์ และการเรียนรู้เช่นนั้นส่งผลประการใดต่อชีวิตของพวกเขา โดยทั่วไป การศึกษาเด็กๆ จะเน้นที่การสังเกตการณ์และการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น แต่การวิเคราะห์ที่จะต้องเน้นมากขึ้นค่อการวิเคราะห์ไปยังตัวบริบทมากกว่า การมองเป็นเพียงตัวแปรเบื้องหลัง ฉะนั้นบริบทนำไปสู่การกระทำบางอย่าง ตีกรอบปฏิกริยากับวัตถุ รวมไปถึงการวางโครงสร้างสิ่งที่กระทำต่อไปให้เกิดพลวัตทางสังคม แต่เดิมนั้น นักจิตวิทยาพัฒนาการศึกษาบ้านและชุมชนในฐานะที่เป็น “บริบท” แต่แนวทางการศึกษาใหม่มองบริบทในแบบอื่นมากขึ้น โดยพิจารณาในรายละเอียดของสภาพแวดล้อมแบบหนึ่งกับการกระทำที่มีผลต่อ พัฒนาการของเด็ก ทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ในงานของ Paris & Cross, 1983 เช่น การขายคุกกี้ของเนตรนารี (Rogoff, Baker-Sennett, Lacasa, & Goldsmith, 1995) หรือการใช้คณิตศาสตร์ทั้งในและนอกโรงเรียน (Nunes, Schliemann, & Carraher, 1993) การวิเคราะห์ที่อิงต่อบริบทเช่นนี้ทำให้เราได้ข้อมูลที่แตกต่างเกี่ยวกับ พัฒนาของเด็กมากกว่าการศึกษาด้วยการกระทำโดยฉับพลันหรือการจัดสถานการณ์ จำลอง คำถามหลักของลักษณะการศึกษาอยู่ที่ว่า เด็กรับรู้และแสดงออกเกี่ยวกับความรู้ ความเชื่อ และการกระทำของครอบครัวหรือชุมชนไปในบริบทเฉพาะอย่างไร หากเราพิจารณาเจตนาในเบื้องลึกของทฤษฎี กระบวนการศึกษามุ่งความสนใจไปพัฒนาการของเด็กในบริบท เรียกได้ว่าเป็นการสร้างทิศทางใหม่ให้กับการวิจัยพื้นฐาน การสร้างทฤษฎี การใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา และนโยบายทางสังคม งานวิจัยใหม่นี้เกิดขึ้นในบริบทของชุมชนที่นอกเหนือไปจากบ้านและโรงเรียน เช่น พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ อุทยานประวัติศาสตร์ และสวนสาธารณะ เพราะประสบการณ์เมื่อเด็กเข้าไปสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ มีนัยสำคัญต่อชีวิตของเด็ก ผู้คนมากกว่า 500 ล้านคนที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกาต่อปี (Hein & Alexander, 1998) พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์กว่า 300 แห่งในสหรัฐอเมริกา และกว่าครึ่งของผู้ชมเป็นเยาวชนต่ำกว่าอายุ 18 ปี Cleaver (1992) กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์ที่เน้นการทดลองทำ (hands-on museums) จำนวนถึง 265 แห่งที่สรัางขึ้นด้วยหลักพื้นฐานที่มองว่า “หากลงมือทำ ก็คือความคิดที่เกิดขึ้นตามด้วยเช่นกัน” (hands-on = minds-on) ปรัชญาดังกล่าวสัมพันธ์กับนักทฤษฎีหลายท่าน เช่น John Dewey, Maria Montessori, Jean Piaget, Eleanor Duckworth, and Howard Gardner พิพิธภัณฑ์เองได้รับการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อเด็กๆ เช่นเดียวกับอาคารที่จัดแสดงศิลปะ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และอื่นๆ สถานที่ที่ยกตัวอย่างมานี้อาจเรียกรวมๆ ว่า “สภาพแวดล้อมการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ” (informal learning environments - ILE) ซึ่งหมายถึงสถานที่ที่มีลักษณะเป็นชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สวนสัตว์น้ำ สวนสาธารณะ และสวนพฤกษศาสตร์ ILE อาจรวมถึงห้องสมุด โบสถ์ และศูนย์รวมของชุมชน หรือแม้แต่งานของชุมชน เทศกาลดนตรีและวัฒนธรรม และกลุ่มจากการรวมตัวบางประเภท ลูกเสือ และเยาวชน เพราะเหล่านี้เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนนอกบริบทของบ้านและโรงเรียน เพื่อการสร้างประสบการณ์ร่วมกัน (Forman, Minick, & Stone, 1993; Villarruel & Lerner, 1994) บริบทที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ได้เปิดโอกาสทั้งรุ่มรวยและหลากหลายในการเรียนรู้ และแน่นอนส่งผลต่อชีวิตของเด็กๆ ข้อคิดสองประการที่ควรกล่าวถึงเกี่ยวกับ ILE ประการแรก ความยุ่งยากในการใช้ “การเรียนรู้” ในบริบทการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ เพราะจุดประสงค์มิได้อยู่ที่การได้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเสมอไป บางครั้งผู้ชมต้องการเล่น พักผ่อน และสนุกหรือการได้ออกมาพบปะผู้คน บางครั้งผลต่อเนื่องของประสบการณ์ไม่ได้เห็นอย่างเด่นชัด และยากที่ขับเคลื่อน ส่วนในบริบทอื่นๆ การเรียกรู้มักมีลักษณะการจัดการอย่างเป็นลำดับโดยครู ผู้รู้ หรือครอบครัว ด้วยเหตุนี้ การเรียนรู้ (ในความหมายทั่วไป) อาจเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ และการเรียนรู้ในความหมายเช่นนั้นไม่ใช่เป้าหมายของการอยู่ในบริบทการเรียน รู้อย่างไม่เป็นทางการ ประการที่สอง ILEs ไม่จะเป็นต้องเป็นสถานทีที่มีการจัดเตรียมหรือเป็นองค์ประกอบถาวร เพราะอาจเพียงปฏิสัมพันธ์ทางสังคม อย่างเช่น ผู้สอนมุสลิมที่สอนให้เด็กผู้ชายจดจำบางบทตอนจากคัมภีร์อังกุรอานถือได้ว่า เป็นชั่วขณะของชั้นเรียน หรือแม่ที่ช่วยลูกของเธอในการทำอาหารหรืองานครับ บรรยากาศเช่นนั้นมีลักษณะเป็นบริบทการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการด้วย ฉะนั้น ILEs จึงมีธรรมชาติของกิจกรรมทางสังคม หรือการเรียนรู้มีสถานภาพที่มากไปกว่าสถานที่เฉพาะ เราอาจสรุปว่าข้อคิดแรกคือสิ่งที่เรียกว่าการเรียนรู้ และข้อคิดที่สองคือสิ่งที่เรียกว่าสภาพแวดล้อมหรือบริบท และเป็นเรื่องยากที่จะกล่าวอย่าง “ฟันธง” ถึงความหมายของ ILEs แต่ความหมายจะต้องมากไปกว่าพิพิธภัณฑ์อย่างเข้าใจกันทั่วไป นอกจากนี้ ดังจะเห็นได้ว่าครอบครัวมองหาโอกาสของการเรียนรู้และการพักผ่อนหย่อนใจมาก ยิ่งขึ้น พวกเขาก็ใฝ่หา ILEs มากขึ้นด้วยเช่นกัน (Borun, Cleghorn, & Garfield, 1995) ทำไม? พ่อแม่หลายคู่มองว่าการเยี่ยมชมสถานที่สักแห่งเป็นประสบการณ์การศึกาของลูกๆ ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ จากวัตถุจริงหรือผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่พ่อแม่อีกจำนวนไม่น้อยต้องการสร้างความใกล้ชิดภายในครอบครัว ด้วยการใช้เวลาร่วมกัน สร้างประสบการณ์ร่วมกัน เช่น การใช้เวลาในช่วงหยุดพักร้อนที่ควบคู่ไปกับการศึกษา และอีกหลายครอบครัวมองว่าการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์คือากรมีส่วนร่วมกับกิจกรรม ของชุมชน หรือกระทั่งมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพลเมือง บริบทและความต้องการทบทวีมากขึ้น พ่อแม่พิจารณากิจกรรมว่าเป็นช่องทางของการส่งเสริมบุคลิกภาพ ความเหนี่ยวแน่นภายในครอบครัว หรือตัวตนทางวัฒนธรรม การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมในชิคาโก และพิพิธภัณฑ์ศิลปะสัมยใหม่นิวยอร์ก สร้างองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับเด็กได้พอๆ กับการเยี่ยมชมเทพีเสรีภาพหรืออนุสรณ์สถานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่จะกระตุ้นความรู้สึกของความเป็นชาติและศาสนา ทั้งนี้ ต้องพึงระลึกว่า ไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมีค่านิยมในการใช้ประโยชน์จาก ILEs ดังที่กล่าวมาเสมอไป ครอบครัวอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่คุ้นชินกับ ILEs ในพื้นที่ หรือไม่ได้ใส่ใจต่อการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการศึกษาของลุกๆ หรือการไม่ได้ใส่ใจต่อกิจกรรมของชุมชน กลุ่มบุคคลเช่นว่านี้คงจะเลี่ยงการเข้าชมพิพิธภัณฑ์เป็นอน่ (Hood, 1983) การวิจัยกลุ่มคนที่เลี่ยงการเยี่ยมชมแหล่งการเรียนรู้ย่อมมีความสำคัญไม่ น้อย อย่างไรก็ตาม ในบทนี้ ประเด็นของการพูดคุยจะเกี่ยวข้องกับการศึกษาในพิพิธภัณฑ์และพัฒนาการของเด็ก พร้อมไปกับการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและครอบครัวในเชิงสังคม การระลึกรู้ และการพัฒนาด้วยลักษณะต่างๆ ของสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ หรือ ILEs เป็นศัพท์ที่ยากต่อการนิยาม แต่อย่างน้อยที่สุดเราเข้าใจตรงกันได้ว่าเป็นโอกาสของการเรียนรู้ที่ไม่ เหมือนกับการเรียนในชั้นเรียนที่โรงเรียน ตัวอย่างเช่น Resnick (1987) ได้เขียนไว้ว่า การเรียนนอกโรงเรียนเป็นการพยายามสร้างความสำนึกร่วมเป็นเครื่องมือในการ สร้างชุดเหตุผลที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งเป็นลักษณะที่ตรงข้ามกับการเรียนรู้โดยตัวบุคคล และการเรียนรู้ที่รับทราบกันทั่วไปในโรงเรียน แต่ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในโรงเรียนหรือพิพิธภัณฑ์ ในบางครั้งบางสถานการณ์ ชุดการเรียนรู้ทั้ง 2 อย่างมีการลำดับและวางแผนไม่มากก็น้อย และมีความเป็นทางการไม่มากก็น้อยเช่นกัน ILEs จึงยากที่จะนิยาม เพราะเป็นคำที่มีความหายที่กว้างและนำไปสู่ผลที่แตกต่างกันไป การไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ (S.Kaplan, 1995) แต่สิ่งนั้นคือการเรียนรู้หรือไม่ การฝึกเนตรนารีที่ทำให้เด็กพัฒนาทักษะการจัดการและสำนึกพลเมือง แต่สิ่งนี้คือการเรียนรู้หรือไม่ (Edwards, 1994) การเข้าชมอนุสรณ์สถานเวียดนามทำให้คนจำนวนต้องเสียน้ำตา แต่สิ่งนี้คือการเรียนรู้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ลักษณะสำคัญ 2 ประการที่จะบอกชี้ถึงความเป็น ILEs ประการแรก ILEs จะเปิดช่องทางให้ผู้เยี่ยมชมเกิดสัมพันธภาพทางสังคม วัตถุในพิพิธภัณฑ์ได้รับการเลือกในฐานะที่เป็นวัตถุที่มีคุณค่าในวัฒนธรรม หนึ่ง ไม่ว่าวัตถุจะเกี่ยวข้องกับความเป็นศิลปะ วิทยาศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกัน วัตถุเหล่านั้นย่อมสัมพันธ์กับบริบททางการเมืองและสังคม ซึ่งสะท้อนออกมาในตัวเลือกจากวัตถุทั้งความเป็นท้องถิ่นและความเป็นชาติ นอกจากนี้ ILEs ยังโน้มนำผู้ชมเข้าไปสู่ความรู้สึกถึงสำนึกทางตัวตนและการมีส่วนร่วมของ กลุ่มและค่านิยมเฉพาะกลุ่ม แต่ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือพิพิธภัณฑ์ล้วนสร้างการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม ประการที่สอง ILEs เป็นสถานที่กระตุ้นให้เกิดการสำรวจและการค้นหาความรู้ การเรียนรู้ด้วยตนเองและการเลือกที่จะปฏิบัติสิ่งใดหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน หากแต่ว่าบ่อยครั้งนักเรียนมักไม่มีโอกาสเลือก ในขณะที่ในพิพิธภัณฑ์ ผู้ชมมีโอกาสที่จะเลือกเส้นทางการเดินชมของตนเอง เลือกระยะของการเข้าไปมีส่วนร่วม หรือกระทั่งกลุ่มสังคมที่จะเข้าไปเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ ดังนั้น การเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์มีอิสระมากกว่าและมีการบังคับน้อยกว่าเช่นกัน ปัญหาของการกล่าวถึง ILEs สัมพันธ์กับการนิยามคำว่าการเรียนรู้ แต่ประเด็นปัญหาอีกประการหนึ่งคือ เส้นแบ่งระหว่างการเรียนรู้กับการพัฒนา การศึกษา และความบันเทิง การจดจำข้อมูลและความทรงจำต่อประสบการณ์ รวมถึงความรู้ที่ได้เพิ่มเติมและสิ่งที่งอกเงยจากการเข้าชมในครั้งนั้น แม้ว่าการจัดแบ่งประเภทต่างๆ ดังที่กล่าวจะมีความยากลำบาก แต่โดยทั่วไป ลักษณะของ ILEs เน้นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับวัตถุและประสบการณ์มากกว่าคำบรรยาย ตรงนี้อาจจะเป็นเส้นแบ่งระหว่างการเรียนที่โรงเรียนและการเรียนนอกโรงเรียน ILEs เปิดประสบการณ์ให้กับเด็กสัมผัสกับวัตถุต่างๆ และปล่อยให้เด็กวางวัตถุประสงค์ในการสำรวจ ค้นหา และเรียนรู้ด้วยตัวเด็กเอง Falk และ Dierking (1998) ชอบที่จะใช้คำว่า การเรียนรู้อย่างเป็นอิสระ (free-choice learning) ในการนิยามการเรียนอย่างไม่เป็นทางการ เพราะผู้ชมเป็นผู้เลือกและควบคุมสิ่งต่างๆ ใน ILEs Paris (1997) อธิบายการกระตุ้นการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์สัมพันธ์กับความกระตือรือร้นภายใน ลักษณะเช่นนี้กินความถึงการสร้างความหมายด้วยตนเอง การเลือก การควบคุม รวมไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมและการสนทนาในรูปแบบต่างๆ การปรับเปลี่ยนความท้าทายอย่างต่อเนื่อง และผลที่ได้รับ ทั้งหมดนี้มาจากประสิทธิภาพของตนเอง ณ จุดนี้ เราจะต้องกล่าวย้ำด้วยว่า แรงกระตุ้นภายในสามารถเกิดขึ้นในโรงเรียนอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกัน วิธีการศึกษาจำนวนไม่น้อยย้ำให้ผู้เรียนตระหนักถึงสำนึกในการควบคุม ความรับผิดชอบ ความเป็นเจ้าของ และความร่วมมือต่างๆ ในสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ ตรงนี้เองเป็นจุดที่แยกให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่างรูปแบบการเรียนรู้อย่าง เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โรงเรียนจะทำให้เด็กมีความสนใจต่อการศึกษามากขึ้น หากประยุกต์ใช้ลักษณะของILEs ดังที่ Gardner (1991) กล่าวไว้ว่า โรงเรียนจะดูเชื้อเชิญและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากได้รวบพิพิธภัณฑ์เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เขาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และพิพิธภัณฑ์เด็กเป็น “แอ่งการเรียนรู้” ทั้งนิทรรศการ กิจกรรม และชิ้นงานที่ดึงเอาเด็กและเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วม (p.202) โรงเรียนและพิพิธภัณฑ์สามารถประสานความร่วมมือเพื่อดึงจุดเด่นของแต่ละแห่ง มาใช้ให้เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน (Paris & Ash. In press) การพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่คนๆ หนึ่งได้เรียนรู้จากการเยี่ยมชม ILE ซักแห่งหนึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการบรรยายสถานการณ์และประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้น ภายในสิ่งจัดแสดง การพรรณาการรับรู้มีความสำคัญ เพราะวัตถุแบหนึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาและประสบการณ์ในแบบหนึ่ง เช่น หากผู้ชมยืนอยู่บนเรือจำลองเรือขนทาสหรือมุดอยู่ใต้เหมืองถ่านกินจำลอง ฉากดังกล่าวนำไปสู่ปฏิกิริยาทางอารมณ์ กล่าวได้ว่า สถานการณ์ได้รับการออกแบบเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดปฏิกิริยา คุณลักษณะของสิ่งจัดแสดงและการกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาของ ILEs นำไปสู่ความรู้ที่ได้เพิ่มเติม เพราะมาจากการหลอมรวมระหว่างความรู้และปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ การหลอมรวมระหว่างการเรียนรู้และพัฒนาการในประสบการณ์นี้คือแก่นแกนสำคัญของ ทฤษฎีการเรียนรู้ที่อิงต่อสถานการณ์ (Lave & Wenger, 1991) และการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (Rogoff, 1990) และยังสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ ILEs กับทฤษฎีพัฒนาการร่วมสมัย การศึกษา ILEs ควรสนใจมากไปกว่าการกระตุ้นและปฏิกิริยาที่ตอบสนอง การศึกษาควนกินความไปถึงการพิจารณาแรงจูงใจของบุคคลในสถานการณ์และวิธีการ ที่พวกเขาสร้างความหมาย จุดนี้เป็นการผนึกรวมระหว่างทฤษฎีทาสังคมและมานุษยวิทยาที่ว่าด้วยพฤติกรรม กับทฤษฎีการสร้างความหมายอย่างสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีแรงจูงใจในเด็กร่วมสมัยมักอยู่บนพื้นฐานของการฟันฝ่าจนบรรลุผลสำเร็จ และหลีกเลี่ยงความผิดหลาด แต่แรงจูงใจเหล่านี้ผูกกับหลักสูตรและลำดับการสอนของโรงเรียน อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจกับแรงจูงใจที่นอกเหนือไปจากบริบทโรงเรียนช่วยให้เราเข้าใจ ต่อการเรียนรู้ของเด็กในบริบทของ ILEs ว่าเหตุใดเกจึงเลือกที่จะใช้เวลากับกลุ่มบางกลุ่ม กับกิจกรรมบางอย่าง และกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้บางอย่างที่อยู่นอกเหนือไปจากบริบท โรงเรียน เราต้องการให้ทำวิจัยบริบทของชุมชนในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น โดยก้าวข้ามบริบทของโรงเรียนและบ้าน (ครอบครัว) เพราะบริบทเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างทฤษฎีการเรียนรู้ แรงจูงใจ และการขัดเกล่าทางสังคมที่มาจากประสบการณ์โดยตรงของเด็ก นอกเหนือไปจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและครอบครัวในพิพิธภัณฑ์ใน ช่วง 70 ปีที่ผ่านมา (ดู Hein & Alexander, 1998) แล้ว มีนักวิจัยจำนวนน้อยมากที่ให้ความสนใจกับการวิจัยที่เป็นระบบและสร้างทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องการสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นทางการ (เช่น Matusov & Rogoff, 1995; Schauble, Banks, Coates, Martin, & Sterling, 1996) หลักการสำคัญของความพยายามในการเปิดพื้นที่ใหม่นี้สัมพันธ์กับ (ก) เด็กใช้เวลาในการพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัวมากขึ้นใน ILEs (ข) เด็กในบริบท ILEs สัมพันธ์กับวัตถุและประสบการณ์ข้อมูลวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่การสร้างและแบ่ง ปันความหมาย (ค) เด็กในบริบทของ ILEs มีโอกาสพบปะผู้เชี่ยวชาญ ครู ช่าง ศิลปิน และการสวมบทบาทต่างๆ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถพบได้ในบริบทของบ้านและโรงเรียน (ง) ILEs เป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดการสานสัมพันธ์ของการเรียนรู้กันในครอบครัวและ ระหว่างชั่วอายุคน (จ) ILEs เป็นแหล่งที่จะสร้างทฤษฎีที่เพิ่มเติมจากทฤษฎีเกี่ยวกับกาเรียนรู้อย่างเป็น ทางการและแรงจูงใจในโรงเรียน (ฉ) ILEs ผลักดันให้เกิดการเรียนรู้กับเทคโนโลยี ด้วยการลงมือปฏิบัติและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และ (ช) ILEs สามารถส่งผลตลอดชีวิตต่อแรงบันดาลใจ ค่านิยม และความสนใจของผู้คน เราเน้นถึงพื้นที่สำหรับการวิจัยเกี่ยวกับเด็กในบริบทของ ILEs ซึ่งแสดงให้เห็นกระบวนการพัฒนาการและผลที่ได้รับเกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ใน บริบทเหล่านี้ ขอบเขตของประเด็นในการวิจัยอาจพอแยกได้ดังนี้ (1) การเรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุ (2) การเรียนรู้ที่มีการแนะแนว (3) การพัฒนาสุนทรียภาพ (4) ปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว (5) การใช้เทคโนโลยี และ (6) ประสบการณ์ส่วนบุคคลผันแปรไป   การเรียนรู้จากวัตถุ หลักการและเหตุผลของพิพิธภัณฑ์หลายแห่งคือ วัตถุสะสม ไม่ว่าวัตถุจะเกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาการใด บุคคล หรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่สิ่งหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มีอยู่ร่วมกันวัตถุสะสมและการจัดแสดง ซึ่งเป็นฐานความสัมพันธ์กับสาธารณชน (Carr, 1991) ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากว่า ทำไมความใส่ใจต่อธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กที่เกี่ยวข้อง สัมพันธ์ และผ่านวัตถุจึงมีอยู่น้อยเหลือเกิน Tudge and Winterhoff (1993) อภิปรายแนวคิดของ Vygotskian ที่ว่าด้วยธรรมชาติพัฒนาการการระลึกรู้ที่สัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรม ได้กล่าวไว้ว่า “สถาบันทางสังคมและวัฒนธรรม เทคโนโลยี และเครื่องมือ เป็นช่องทางให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งผลจากกิจกรรมนั้นนำไปสู่พัฒนาการของเด็กต่อกระบวนการคิดที่สูงมากขึ้น…” (p.66) การวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการมองไปที่การเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุ มองหาความสัมพันธ์เบื้องต้นที่เด็กๆ ได้รับจากการเข้าไปสัมผัส แต่การพิจารณาเช่นว่านี้มองข้ามความชำนาญของเด็กต่อการมองวัตถุที่มีมากขึ้น หรือการการสร้างตรรกะระหว่างการใช้ประโยชน์และสิ่งที่ได้รับ บางครั้ง การพัฒนาความชำนาญการใจ้ารพินิจวัตถุอาจอธิบายด้วย การ “วิจักษ์” พิพิธภัณฑ์หรือการ “วิจักษ์” ภาพที่เห็น (museum literacy or visual literacy) แต่จริงแล้วมีประเด็นที่ให้พิจารณามากมาย เด็กเล่นสัมผัส พูดคุย และใช้ประโยชน์จากสิ่งของที่ให้จับต้องได้อย่างไร พวกเขาเรียนรู้วัตถุที่จับต้องไม่ได้อย่างไร เด็กใช้ความรู้พื้นเดิมมาใช้วิเคราะห์ สนทนา และตั้งคำถามเพื่อสร้างกระจ่างกับวัตถุที่อยู่ตรงหน้าอย่างไร คำตอบของคำถามคือแกนขอบเขตของการทำความเข้าใจวัตถุ (object-based epistemology) Evans, Poling and Mull อธิบายว่าแนวคิดดังกล่าวเข้ามาสัมพันธ์กับพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปลายช่วงศตวรรษ ที่ 19 ความสนใจเกี่ยวข้องกับเรื่องราวธรรมชาติของวัตถุในพิพิธภัณฑ์และเรื่องราว ทางวัฒนธรรม ในส่วนแรกคือความเป็นวิชาการของพิพิธภัณฑ์ ส่วนหลังคือสถานการณ์ทางสังคมในชั้นของการตีความวัตถุ ขั้วตรงข้ามนี้ได้รับการอธิบายด้วยทฤษฎี 2 ชุดในแง่ของการสร้างความหมายหรือบริบทของวัตถุ (Lave, 1993) อาจกล่าวได้ว่า เด็กต้องเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งเรื่องราวธรรมชาติและวัฒนธรรมของวัตถุ ฉะนั้น สิ่งที่เราจ้องสนใจไม่ใช่เพียงแต่การสังเกตและการซึมซับต่อวัตถุ แต่เราจะต้องสนใจต่อวาทกรรมที่แวดล้อมวัตถุเหล่านั้นด้วย นักการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ทราบดีว่าวัตถุเป็นเพียงจุดเริ่มต้นไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ของการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ เพราะวัตถุกระตุ้นให้เกิดการคิดและการวิพากษ์ ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ วัตถุกลายเป็นนัยของความทรงจำเชิงสถาบันของเหตุการณ์ที่ผ่านมา แต่วัตถุนั้นกลับสัมพันธ์กับความทรงจำส่วนตัวที่สร้างขึ้นใหม่ในขณะนั้นเช่น กัน การพินิจพิเคราะห์วัตถุปล่อยให้ผู้ชมสร้างความทรงจำส่วนตัว และกลายเป็นเจ้าของประสบการณ์นั้น จากนั้น แบ่งปันเรื่องราวสู่ผู้อื่นๆ Gurian (1999) กล่าวว่า สิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปในบทความนี้ไม่ใช่การมองข้ามความสำคัญของวัตถุพิพิธภัณฑ์ และการดูแล หากแต่ผมต้องการที่จะบอกว่ามันมีสิ่งที่อยู่แวดล้อมวัตถุและมีความสำคัญเช่น กัน ทั้งเรื่องราวและวิธีการที่พิพิธภัณฑ์บอกเล่า วัตถุในฐานะที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ วัตถุได้เปิดโอกาสในการสร้างความหมายและกำหนดชุดความทรงจำ การครอบครองเรื่องราวจึงเป็นจุดในการพิจารณามากไปกว่าตัวชิ้นวัตถุเอง (หน้า 2) มโนทัศน์เรื่อง ราวสำคัญอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาความรู้ว่ามาจากวัตถุ เพราะนักการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ทราบเป็นอย่างดีว่าวัตถุที่จัดแสดงอาจตกอยู่ ในสภาพของข้อเท็จจริงที่อยู่บนหน้ากระดาษ การจัดแสดงวัตถุจำนวนไม่น้อยที่ออกแบบมาเพื่อนำไปสู่การสร้างเรื่องเดี่ยว ในขณะที่อักหลายแห่งได้ปล่อยให้ผู้ชมสร้างเรื่องราวของเขาและเธอที่เชื่อม โยงกับวัตถุนั้น Roberts (1997) อธิบายว่านิทรรศการที่กล่าวถึง Linnaeus (ระบบการศึกษาพฤกษศาสตร์) ณ สวนพฤกษศาสตร์ชิคาโก ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อบอกเล่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดแบ่งประเภทในทางพฤกษ ศาสตร์ แต่เป็นการเรียงร้อยเรื่องราวในการแก้ปัญหา นิทรรศการสร้างขึ้นด้วยแนวคิดของ Bruner (1986) ที่กล่าวถึงวิธีการสรางความหมายเชิงพรรณนา และให้ผู้ชมเรียนรู้ที่จะสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับวัตถุด้วยตนเอง “การรู้จักที่จะสร้างความหายคือหัวใจของงานพิพิธภัณฑ์ และการบอกเล่าได้สร้างหนทางให้ก้าวแรกในการเปิดพิพิธภัณฑ์สู่ความหลากหลาย ของ “เสียง” หรือการบอกเล่า และมุมมองที่แตกต่างออกไป (p.152) เราเชื่อมั่นอย่างมากว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุด้วยการสร้างเรื่องเป็น สิ่งที่ควรศึกษาเป็นอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมของ ILEs คำถามเกี่ยวกับการพัฒนาว่าเด็กในช่วงวัยและพื้นหลังที่ต่างกันจะสร้างเรื่อง เล่าเกี่ยวกับวัตถุไปอย่างไร การวิจัยเชิงพัฒนาการเกี่ยวกับความเข้าใจของเด็กในแง่วิชาการ คุณค่าและความหมายเชิงสุนทรียะ และพื้นที่ของคนๆ หนึ่งต่อเรื่องราว เรื่องเล่าเหล่านี้คือเส้นใยที่จะถักทอเด็กเข้าไปในเรื่องราวธรรมชาติและ วัฒนธรรมของวัตถุ ข้อมูลและการวิเคราะห์เหล่านี้จะนำไปสู่ความเข้าใจในการรับรู้และพัฒนาการ ทางสังคมของเด็ก ความอยากรู้ การรับข้อมูล และการสร้างความหมาย วัตถุในพิพิธภัณฑ์หาได้ยากและผิดแปลกไปจากชีวิตประจำวัน จึงทำให้วัตถุเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งสะสมและทำไมพิพิธภัณฑ์ถึงเคยได้รับการ ขนานานามว่า “โถงแห่งความอยากรู้อยากเห็น” (Weil, 1995) คนโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า ILEs เป็นสถานที่ที่น่าสนใจเพราะที่เหล่านี้เก็บรักษาวัตถุที่มาจากความอยากรู้ และการสำรวจ คำถามที่เกิดขึ้นกับผู้ชมเป็นหลักฐานยืนยันได้ดี : อเวจีคืออะไร? นั่นนะศิลปะจริงๆ หรือ? ทำไมสัตว์ถึงทำอย่างนั้น? คำถามเผยให้เห็นว่าวัตถุเข้าไปกระตุ้นความอยากรู้ และกลายเป็นช่องทางให้ ILEs ใช้ความอยากรู้อยากเห็นดังกล่าวในการแนะแนวการเรียนรู้ หากกล่าวให้ถึงที่สุด พื้นฐานของการเรียนรู้เชิงการแนะแนวคือการผลักดันให้เด็กค้นหาความรู้ บางครั้งเด็กตั้งคำถาม แต่สิ่งที่เด็กได้อาจตกผลึกอยู่ภายในหรือเพิ่มมุมมองเชิงวิเคราะห์ การนำคำถามของเด็กมาเปิดเป็นประเด็น และสนทนาเกี่ยวกับวัตถุจะช่วยให้การอรรถาธิบายมีความชัดเจนมากขึ้น (Callanan, Jipson & Soennichsen, chapter 15, this volume) เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าพื้นฐานของการเรียนเชิงการแนะแนวในโรงเรียนปรากฏใน บริบทของ ILEs เช่นกัน และหากเราศึกษาบริบททั้งสอง เราจะได้ข้อมูลที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เรารู้ต่อไปอีกว่าเด็กจะมีความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น ริเริ่มอยากเรียนรู้มากขึ้น เมื่อข้อมูลที่จะได้มาใหม่เชื่อมโยงกับความสนใจของพวกเขา (Renninger, 1992) ILEs เปิดโอกาสให้เด็กให้ความสนใจของตนเองผนวกเข้ากับทรัพยากรเพื่อให้ปรารถนาที่ จะสืบค้น ครูในห้องเรียนอาจพบความลำบากที่จะกระตุ้นให้เด็กอยากรู้อยากเห็นเรื่องของ เพชรและไดโนเสาร์ แต่การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยากลับเปิดโอกาสนั้นมากกว่า พิพิธภัณฑ์อีกจำนวนมากพยายามสร้างประสบการณ์สำรวจและค้นหาด้วยตนเอง ผู้ชมจะเข้าไป “เล่น” กับชิ้นงาน เช่น สิ่งจัดแสดงที่โลกแห่งการสำรวจ (Exploratorium) ในซานฟรานซิสโก เชื้อเชิญให้ผู้เยี่ยมชมหรือกลุ่มผู้ชมเล็ก “เล่น” กับวัตถุ เช่น เลือกระจกแท่งผลึกที่มีรูปลักษณ์แตกต่างไปรอบๆ แหล่งกำเนิดแสง เงื่อนไขเช่นนี้ปล่อยให้ผู้ชมตัวคำถามและหาคำตอบจากการลงมือทดลอง การวิจัยที่ว่าด้วยการเรียนรู้ที่อิงกับปัญหาและวิชาการที่อิงกับการสำรวจเป็น ปัจจัยหลักที่จะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมโดยตลอด (Blumenfeld et al., 1991; Krajcik et al., 1998) เงื่อนไขเหล่านี้ทรงพลังอย่างมากในการกำหนดลักษณะการเรียนรู้ (ก) คำถามจะหยั่งไปถึงปัญหาในโลกของความเป็นจริงที่จะกระตุ้นไปสู่การหาคำตอบ (ข) การเกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในระหว่างการสำรวจ (ค) วิธีการมากมายที่จะสาธิตความรู้และแสดงเนื้อหาวิชาการ ทั้งด้วยการสร้างวัตถุสิ่งของหรือกิจกรรมการเรียนรู้แบบอื่นๆ (ง) การใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้คิดมากกว่าจะเป็นการให้ “คำตอบสุดท้าย” (จ) ทางเลือกบางอย่างหรือการกำหนดหัวข้อที่จะให้เรียนรู้ และวิธีการจะต้องนำไปสู่การสำรวจค้นหา (ฉ) การใช้สื่อและรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย และ (ช) การใช้เครื่องมือเทคโนโลยี Barron et al. (1998) ย้ำถึงความสำคัญของการใช้ระบบการเรียนรู้ที่เป็นการตั้งคำถาม และเปิดโอกาสในการคิดทบทวนระหว่างการค้นหา ทั้งนี้ กิจกรรมเน้นถึงการพึ่งตนเองและความเข้าใจ มากกว่าการเน้นถึงการทำกิจกรรมนั้นให้เสร็จสิ้นลงไป เราเชื่อว่า ILEs ที่จัดแสดงวัตถุและกำหนดเงื่อนไขของประสบการณ์ที่จะกระตุ้นความอยากรู้อยาก เห็นของเด็ก และสนับสนุนการเรียนรู้เชิงแนะแนว การวิจัยใน ILEs ต้องให้ข้อมูลต่อผู้ปกครองและนักการศึกษาเกี่ยววิธีการที่มีประสิทธิภาพและ รูปแบบการเรียนรู้อื่น แก่นหนึ่งของ ILEs คือวิธีการหลากหลายที่จะก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและวัตถุ ทั้งนี้ สัมพันธภาพนี้จะเป็นไปตามความรู้และความสนใจของแต่ละคนอย่างที่ Gardner (1991) ได้กล่าวไว้ นอกจากนี้ ILEs ปล่อยให้ผู้คนเลือกสิ่งแวดล้อมที่ตนเองต้องการเข้าไปเรียนรู้ และปล่อยให้ผู้ชมเป็นนายของตัวเอง ฉ