บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 82 บทความ

การจัดการแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นเชิงบูรณาการ กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย เมืองวรธา รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย

19 กุมภาพันธ์ 2564

การจัดการแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นเชิงบูรณาการ กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย เมืองวรธา รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย[1]จุลเกียรติ ไพบูลย์เกษม[2]   บทคัดย่อ मगनसंग्रहालयसमिती (มะคัน สังครหาลัย สามิตี) เป็นภาษามาราฐี ภาษาท้องถิ่นของรัฐมหาราษฏระ บริเวณภาคกลางของประเทศอินเดีย มีความหมายว่า “พิพิธภัณฑ์ช่างฝีมือชาวมะคัน” ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ชุมชนได้พัฒนางานฝีมือพื้นบ้านให้ดำรงไว้ นอกจากนี้เป็นการจัดแสดงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท้องถิ่นและสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ชุมชนพร้อมกับการพัฒนางานฝีมือให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นราวปี พ.ศ.2481 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสมาคมขาดี้และอุตสาหกรรมท้องถิ่น (Khadi and Village Industries Commission) ผู้วิจัยจึงเกิดความสนใจว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการจัดการอย่างไรถึงมีความยั่งยืนภายในชุนชน การเก็บข้อมูลภายในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2561 ถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2562 และทำการสัมภาษณ์ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2562 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2562 มีประเด็นในการศึกษา คือ การศึกษาแนวคิดในการจัดการพิพิธภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่แล้วนำมาวิเคราะห์ โดยได้มีการแบ่งพื้นที่ภายพิพิธภัณฑ์จำนวน 4 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร มีรูปแบบการจัดนิทรรศการภายในอาคาร แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ คือ 1.1.อุตสาหกรรมท้องถิ่น, 1.2.เทคโนโลยีชนบท และ 1.3.มหาตมะ คานธี ส่วนที่ 2 ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรม เป็นการสาธิตเกษตรกรรมชุมชนภายในพื้นที่แหล่งการเรียนรู้โดยบุคคลทั่วไปสามารถลงมือปฏิบัติได้จริง อีกทั้งผลผลิตทางการเกษตรจะถูกแปรรูปเป็นสินค้าชุมชน, ส่วนที่ 3 ศูนย์การเรียนรู้อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นการก่อตั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอภายในชุมชนเพื่อสาธิตการผลิตสินค้าขาดี้ (Khadi) หรือเครื่องนุ่งห่มทำมือ ซึ่งมีการผลิตแบบดั้งเดิมและการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต สุดท้ายส่วนที่ 4 ศูนย์การเรียนรู้พิเศษ เป็นการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับฝีมืองานช่างหรืองานประดิษฐ์โดยช่างฝีมือภายในชุมชน อาทิ ช่างปั้น, จิตรกรรม, ครู – ปราชญ์ชุมชน เป็นต้น เพื่อให้เยาวชนหรือผู้สนใจได้เรียนรู้และสามารถลงมือปฏิบัติได้จริง   สรุปผลการศึกษาพบว่า แหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย เป็นเครื่องมือสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวภูมิปัญญาการประกอบอาชีพภายในชุมชน โดยได้รับแนวคิดการดำเนินงานจากการสืบทอดอุดมการณ์ของมหาตมะ คานธี ผู้ที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและทัศนคติต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นภายในชุมชน นอกจากนี้ การจัดการภายในแหล่งการเรียนรู้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภายในท้องถิ่น ซึ่งผลประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นของชุมชนโดยตรง อีกทั้งการจัดกิจกรรมที่หลากหลายและการปรับรูปแบบแหล่งการเรียนรู้ให้อำนวยความสะดวกต่อการใช้ประโยชน์เพื่อชุมชน เช่น สวนสาธารณะ เป็นต้น ส่งผลให้ต่อความนิยมที่ดีมากทั้งภายในชุมชนและนักท่องเที่ยว อีกทั้งในการจัดกิจกรรมและการปรับเปลี่ยนรูปแบบแหล่งการเรียนรู้ให้เข้าชมสามารถเข้าถึงได้ง่าย ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของพิพิธภัณฑ์ สามารถสร้างรายได้ให้พิพิธภัณฑ์และชุมชน           หากนำมาเปรียบเทียบกับพิพิธภัณฑ์ไทย แสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย เน้นการใช้งานได้จริงและพึ่งพาตัวเองมากกว่าการสร้างตัวตนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ในไทย รูปแบบการจัดการพิพิธภัณฑ์จะเรียบง่ายคล้ายกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของไทย โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัยกับพิพิธภัณฑ์ไทย คือ ความร่วมมือและค่านิยมของคนในชุมชนต่อพิพิธภัณฑ์ ซึ่งชุมชนเมืองวรธาได้ให้ความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์อย่างเต็มที่ในทุกวัน ต่างจากพิพิธภัณฑ์ไทยบางแหล่งที่เป็นเพียงสร้างขึ้นมาแล้วทิ้งว่าง ซึ่งเป็นจุดที่พิพิธภัณฑ์ไทยสามารถนำมาเรียนรู้และประยุกต์ใช้ในอนาคตได้ คำค้น: พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น การจัดการพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์เชิงบูรณาการ เมืองวรธา รัฐมหาราษฏระ อินเดีย 1. บทนำ           เมืองวรธา เป็นเมืองขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในรัฐมหาราษฏระ บริเวณภาคกลางของประเทศอินเดีย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมาราฐี ประกอบอาชีพเกษตรกรและแรงงานฝีมือ มีพิพิธภัณฑ์ของชุมชนตั้งอยู่คือ มะคัน สังครหาลัย สามิตี (मगनसंग्रहालय[3]समिती) เป็นภาษามาราฐี มีความหมายว่า “พิพิธภัณฑ์ช่างฝีมือชาวมะคัน” ตั้งอยู่ที่ ถนนกุมารปาล (Kumarappa) ใจกลางเมืองวรธา รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นการจัดแสดงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท้องถิ่นและสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ชุมชนพร้อมกับการพัฒนางานฝีมือให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นราวปี พ.ศ.2521 ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ได้ดำเนินกิจการอยู่ในความดูแลของสมาคมขาดี้และอุตสาหกรรมท้องถิ่น (Khadi and Village Industries Commission) จากการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวนี้ ผู้วิจัยจึงเกิดความสนใจในแนวคิดการจัดการพิพิธภัณฑ์และการจัดกิจกรรมเชิงบูรณาการจากอุดมการณ์ รวมถึงผลตอบรับของผู้เข้าชมทั้งภายในชุมชนและภายนอกชุมชนผู้วิจัยต้องการศึกษาแนวคิดการจัดการพื้นที่ภายในขอบเขตพิพิธภัณฑ์และกิจกรรมเชิงบูรณาการ ทั้งจากการลงสำรวจพื้นที่ด้วยตนเองและความคิดเห็นของผู้ชมพิพิธภัณฑ์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ โดยได้ทำการเก็บข้อมูลภายในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2561 ถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2562 และทำการสัมภาษณ์ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2562 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2562            “มะคัน สังครหาลัย สามิตี” หรือพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย มีจุดเริ่มต้นเกิดจากจากอุดมการณ์ของมหาตมะ คานธี ตั้งแต่สมัยแห่งการเรียกร้องเอกราชประเทศอินเดียจากปกครองของสหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ.2449 เป็นแนวคิดที่เรียกว่า “สัตยาเคราะห์[4] ” เป็นแนวคิดที่ชาตินิยมที่ส่งเสริมให้ประชาชนชาวอินเดียพึงพาตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางถึงชนชั้นกรรมกร ทำให้เกษตรกร กรรมกร แรงงานฝีมือได้มีศักดิ์ศรีในสังคมและทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2476 ท่านมหาตมะ คานธี ได้เดินทางมาพำนักอยู่ในเมืองวรธา และได้เผยแพร่คำสอนในชุมชนและในชุมชนโดยรอบ ทำให้แนวคิดการประกอบอาชีพเพื่อพึงพาตนเองเป็นที่นิยมมากขึ้น มีการสร้างอาชีพและพัฒนาฝีมือแรงงานภายในหมู่บ้านควบคู่กับการเรียกร้องเอกราช[5] ต่อมาจากการส่งเสริมการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำอุตสาหกรรมสิ่งทอแบบพื้นเมือง หรือที่เรียกว่า “ขาดี้” (Khadi) ที่เป็นที่นิยมในวงกว้าง ในปี พ.ศ.2477 ก่อให้เกิดการตั้งสมาคมอุตสาหกรรมพื้นบ้านอินเดีย (the All India Village Industries Association) จากคณะกรรมการสภาคองเกรสอินเดีย เมืองวรธา จึงเป็นเมืองที่ได้รับคำสอนและเผยแพร่อุดมการณ์อย่างกว้างข้าง ทำให้ประชาชนภายในชุมชนและชุมชนโดยรอบนับถือความคิดนี้อย่างแนวแน่ ปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน จนเมืองวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2481 ท่านมหาตมะ คานธี มีแนวคิดให้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ที่ใจกลางเมืองเพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และเป็นตัวอย่างชุมชนอุตสาหกรรมครัวเรือนให้กับประชาชน ท่านได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2487 ท่านสังเกตเห็นว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ควรเป็นรูปภาพนิ่ง ควรมีการนำเทคนิคเข้ามาเพื่อปรับปรุงพิพิธภัณฑ์และชุมชนด้วยการพัฒนาเทคนิคในอุตสาหกรรมชนบทและทำให้มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยตลอดเวลา ดร.เดวราช กุมาร (Devendra Kumar) เข้ามาบริหารงานพิพิธภัณฑ์ในปี พ.ศ.2492 เป็นผู้ผลักดันให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาเดิม ต่อมา ดร.เดวราช ภาร (Devendra Bhai) เข้ามาบริหารพิพิธภัณฑ์ในปี พ.ศ.2521 มีการนำเทคโนโลยี หลักวิชาเศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยาและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่น ๆ มาพัฒนาพิพิธภัณฑ์และชุมชน[6] ปัจจุบัน (พ.ศ.2562) พิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย อยู่ในความดูแลของสมาคมขาดี้และอุตสาหกรรมท้องถิ่น เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก ประเภทพิพิธภัณฑ์ประจำท้องถิ่น (Local Museum)[7] มีจุดประสงค์การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ คือ การอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านของช่างฝีมือชุมชนแบบดั้งเดิมมาผสมผสานกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืนในระดับอุตสาหกรรมครัวเรือน ร่วมทั้งการวิจัย พัฒนาและการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเกษตรกรรม ฯลฯ พร้อมกับการจัดแสดงและสาธิตกระบวนการผลิต[8] มีการแบ่งงานบริหารงานในแต่ละภาคส่วน ดังนี้ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ คือ Dr.Vibha Gupta เป็นผู้ดูแลบริหารงานโดยร่วม ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งงานบริหารออกเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ คือ ฝ่ายบริหารทั่วไป เป็นหน่วยงานดูแลเกี่ยวกับการบริหารงานพิพิธภัณฑ์และการจัดการพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด โดยมีการจัดสรรให้ส่วนจัดการชุมชน และอีกฝ่ายหนึ่งคือ ฝ่ายชุมชน เป็นส่วนที่ชุมชนเข้ามามีบทบาทในพิพิธภัณฑ์โดยการเข้ามาจัดการแสดงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและการนำตัวแทนคนในชุมชนเข้ามาสาธิตการผลิตสินค้าของชุมชนออกจำหน่าย แบ่งออกเป็น งานฝีมือที่โดดเด่นภายในชุมชนมะคัน คือ งานสิ่งทอ งานเกษตร งานสมุนไพร และอาหารท้องถิ่น (แผนภาพที่ 1)   2. องค์ประกอบของพิพิธภัณฑ์           ลักษณะพื้นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมืองวรธา ซึ่งเป็นเมืองขนาดเล็ก พื้นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์การคมนาคมและการค้าของเมือง แต่ไม่ป้ายแสดงที่ตั้งอย่างเด่นชัด ภายในท้องถิ่นจะทราบที่ตั้งของชุมชนกันจากปากต่อปาก มีการจัดการพื้นที่ภายพิพิธภัณฑ์จำนวน 4 ส่วน ดังนี้ (ภาพที่ 2) ส่วนที่ 1 อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร วัตถุจัดแสดงภายในนิทรรศการถาวรเป็นวัตถุที่รวบรวมภายในชุมชนและเป็นการรวบรวมวัตถุที่เกี่ยวข้องจากพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนใหญ่เป็นการเขียนป้ายจัดแสดงด้วยมือ เป็นภาษามาราฐี ด้วยอักษรเทวนาครีเท่านั้น ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรห้ามถ่ายภาพภายในเพื่อความปลอดภัย มีนิทรรศการมหาตมะ คานธีที่มีความทันสมัยที่สุด และเป็นส่วนที่มีระบบรักษาความปลอดภัยแน่นหนาที่สุด มีรูปแบบการจัดนิทรรศการภายในอาคาร แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ คือ 1.1.อุตสาหกรรมท้องถิ่น เป็นส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการประกอบอาชีพภายในท้องถิ่น วัตถุจัดแสดงภายในเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบอาชีพจริง สลับกับภาพถ่ายจัดแสดง มีการเขียนป้ายนิทรรศการด้วยมือ เช่น การหาน้ำแบบโบราณ, รูปแบบผ้าโบราณ, การจับสัตว์น้ำแบบโบราณ, เครื่องมือการทำการเกษตรพื้นบ้าน เป็นต้น 1.2.เทคโนโลยีชนบท เป็นส่วนจัดแสดงเกี่บวกับภูมิปัญญาและเทคนิคการจัดการเกษตรพื้นบ้าน ภายในส่วนจัดแสดงมีวัตถุจัดแสดงสลับกับภาพวาดและภาพถ่าย มีการเขียนป้ายนิทรรศการด้วยมือ เช่น เทคนิคการฝั่งไหน้ำลงในดินเพื่อความชุ่มชื้นของดินการเกษตร, การสร้างเพิงชั่วคราวแบบโบราณ เป็นต้น 1.3.มหาตมะ คานธี เป็นส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติและผลงานของท่านมหาตมะ คานธี เป็นส่วนที่มีความทันสมัยที่สุดของอาคารจัดแสดงถาวร มีวัตถุจัดแสดงที่สำคัญ คือ อุปกรณ์ของท่านมหาตมะ คานธี ขณะพำนักอยู่ในพื้นที่เมืองวรธา มีป้ายจัดแสดงและมีการใช้ไฟที่ทันสมัย อีกทั้งเป็นหส่วนจัดแสดงเดียวที่มีกล้องวงจรปิด    ส่วนที่ 2 ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรม เป็นการสาธิตเกษตรกรรมของชุมชน ภายในพื้นที่แหล่งการเรียนรู้ด้านหลังอาคารนิทรรศการถาวร มีคนภายในชุมชนที่มีความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรและสมุนไพรเข้ามาดูแลและให้ความรู้ภายในพิพิธภัณฑ์ บุคคลทั่วไปสามารถมาเรียนรู้และลงมือปฏิบัติได้จริง  สำหรับผลผลิตทางการเกษตรทางพิพิธภัณฑ์นำไปจำหน่ายหรือถูกแปรรูปเป็นสินค้าชุมชน   ส่วนที่ 3 ศูนย์การเรียนรู้อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นพื้นที่สำหรับงานอุตสาหกรรมสิ่งทอภายในชุมชน โดยคนภายในชุมชนได้เข้ามาสาธิตการผลิตสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทำมือ(ขาดี้) ซึ่งมีการผลิตแบบดั้งเดิมและการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต นอกจากนี้ยังมีการอนุรักษ์การย้อมสีแบบโบราณด้วยวัสดุธรรมชาติ และการอนุรักษ์ลายพิมพ์ประจำท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ผลผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอจะถูกจำหน่ายเป็นสินค้าชุมชน เช่น เสื้อผู้ชายชายเสื้อยาว (กุลตา), เสื้อผู้หญิงชายเสื้อยาว (กุลตี), สาหรี่, ผ้าคลุมไหล่พิมพ์ลาย, ผ้าพันคอพิมพ์ลาย เป็นต้น โดยกลุ่มผู้สาธิตอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นผู้หญิงทั้งหมด เนื่องจากท่านมหาตมะ คานธี เคยมีคำสอนที่เผยแพร่สู่สาธารณะชนชาวอินเดียเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มแม่บ้านชาวอินเดียในทุกวรรณะทอผ้าด้วยตัวเอง เป็นการสร้างคุณค่าให้กลุ่มสตรีด้วย เนื่องจากประเทศอินเดียสมัยภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรความเท่าเทียมทางเพศของเพศหญิง ต่ำกว่าเพศชายมาก กระแสนิยมว่าสามีเป็นเจ้าของชีวิตภรรยายังเป็นที่นิยมอยู่ คำสอนของท่านคานธี จึงเป็นการขับเคลื่อนให้กลุ่มผู้หญิงมีบทบาทในการสร้างศักดิ์ศรีให้ตนเอง และสร้างคุณค่าให้กับประเทศ   ส่วนที่ 4 ศูนย์การเรียนรู้พิเศษและการบริการอื่นๆ เป็นพื้นที่โดยรอบบริเวณพิพิธภัณฑ์สำหรับจัดกิจกรรมและจัดสรรพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์การใช้สอยและสาธารณะชน ประกอบด้วย 3 ส่วนย่อย ดังนี้ 4.1 พื้นที่ลานอเนกประสงค์ เป็นพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในทุกวันเสาร์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับสาธารณะชนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชนทั้งภายในและภายนอกชุมชน โดยกิจกรรมที่จัดสรรขึ้นเกี่ยวกับฝีมืองานช่างหรืองานประดิษฐ์จากช่างฝีมือภายในชุมชน อาทิ ช่างปั้น, จิตรกรรม, ครู – ปราชญ์ชุมชน เป็นต้น เพื่อให้เยาวชนหรือผู้สนใจได้เรียนรู้และสามารถลงมือปฏิบัติได้ตามความชอบ เช่น workshopการวาดภาพจากแรงบันดาลใจท้องถิ่น, workshopการปั้นดินเผาจากดินธรรมชาติ, workshopการการมัดย้อมสีแบบโบราณ เป็นต้น 4.2. พื้นที่ร้านค้าและครัวชุมชน เป็นร้านอาหารท้องถิ่นและร้านจำหน่ายสินค้าจากผลผลิตของพื้นที่สาธิตภายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งรายได้จะกลับเข้ามาสู่ชุมชนทั้งหมด  เช่น สบู่สมุนไพร, ยาล้างหน้ากุหลาบกลั่น, ผ้าพันคอ, เครื่องแต่งกาย, ร้านหนังสือ เป็นต้น 4.3. สวนหย่อมสาธารณะ เป็นพื้นที่ที่พิพิธภัณฑ์ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาพักผ่อนได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยในช่วงเวลาว่างหรือวันหยุด ก็เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับชุมชนและบุคคลทั่วไปได้พักผ่อน   3. บทบาทของพิพิธภัณฑ์ต่อชุมชน           ผลจากการบริหารของพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย ส่งผลให้พิพิธภัณฑ์และชุมชนได้รับผลประโยชน์ร่วมกันได้อย่างดี โดยหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์คือ การเป็นสื่อกลางเผยแพร่ความรู้ของชุมชนต่อสาธารณะชน ตามจุดประสงค์และอุดมการณ์ของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ในส่วนของรายได้จากนั้นทางพิพิธภัณฑ์ได้รับส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายสินค้า นอกนั้นเป็นผลประโยชน์ของชุมชนทั้งหมด พิพิธภัณฑ์มีแนวคิดในการจัดสรรพื้นที่และเผยแพร่ความรู้ให้กับชุมชนเป็นหลักสำคัญ นอกจากนี้การบริหารงานของพิพิธภัณฑ์ด้วยหลักสัตยเคราะห์ โดยเฉพาะในเรื่องของการพึ่งพาตนเองของท่านมหาตมะ คานธี ทำให้การบริหารงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายในชุมชนได้เผยแพร่และร่วมกันปฏิบัติตามเป็นกิจวัตรประจำวันด้วยท่านมหาตมะ คานธี เป็นบุคคลสำคัญของชาติและของชุมชนวรธา ทำให้การดำรงคำสอนของท่านไว้เป็นเรื่องที่เข้าถึงชุมชนโดยง่าย ส่วนใหญ่ตัวแทนชุมชนที่เข้ามาสาธิตอุตสาหกรรมครัวเรือนจะเป็นเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากยังคงยึดมั่นในคำสอนเดิมของท่านในเรื่องของเพศหญิงมีศักดิ์ศรีและสามารถสร้างรายได้ สร้างคุณค่า สร้างประโยชน์ให้ชุมชน(ประเทศชาติ)ได้เท่าเทียมกับเพศชาย              ผลจากการจัดสรรพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์ ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ถาวรนั้น เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ได้มีความโดดเด่นมากนัก เน้นการเผยแพร่ความรู้แบบเรียบง่าย ด้วยอุปกรณ์ที่หาได้ภายในท้องถิ่น สำหรับการจัดสรรพื้นที่สาธิตต่าง ๆ ทำให้ชุมชนนั้นได้มีที่ประกอบอาชีพเพิ่มเติมและได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาของท้องถิ่นในการผลิตอุตสาหกรรมระดับครัวเรือน ซึ่งชุมชนได้รับผลประโยชน์ นอกจากนี้ในส่วนของพื้นที่ร้านค้า เป็นส่วนที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชน และสวนหย่อมกับลายอเนกประสงค์ภายในพิพิธภัณฑ์ เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับชุมชนโดยแท้ ทำให้บทบาทของพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย เป็นพื้นที่สำหรับชุมชน เพื่อชุมชนอย่างแท้จริง อัตลักษณ์ของชุมชนเมืองวรธาจากการสำรวจของผู้วิจัยพบว่า สภาพสังคมเป็นสภาพสังคมที่จะผูกพันธ์กับชุมชน ขนาดของเมืองไม่ได้ใหญ่โตมาก ไม่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ มีเพียงตลาดประจำชุมชน ลักษณะนิสัยของชุมชนมักจะชอบเดินทางหรือท่องเที่ยว ซึ่งภายในชุมชนมีสถานที่ท่องเที่ยวไม่กี่แหล่ง พิพิธภัณฑ์มะคัน จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของชุมชนเนื่องจากอยู่ใจกลางชุมชน เป็นพื้นที่สำหรับนัดพบกันได้ บทบาทของพิพิธภัณฑ์จึงเหมือนเป็นศูนย์กลางของชุมชนอีกแห่งด้วย          อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยข้อเสนอความคิดเห็นว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีข้อเสียเปรียบในเรื่องของการโฆษณาต่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เนื่องจากพิพิธภัณฑ์เน้นการเผยแพร่ความรู้และการพัฒนาชุมชนเป็นหลักมากกว่าการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ชื่อเสียในมุมกว้างจึงยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ส่ง          หากนำมาเปรียบเทียบกับพิพิธภัณฑ์ไทย พิพิธภัณฑ์ไทยมีความหลากอย่างยิ่ง รูปแบบและอุดมการณ์ของพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัยที่มีความคล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑ์ไทยส่วนใหญ่เป็นแหล่งการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชนบทของประเทศ แต่สำหรับพิพิธภัณฑ์มะคันอยู่ใจกลางเมือง เมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพมหานคร ผู้วิจัยไม่พบแหล่งการเรียนรู้ที่คล้ายคลึงกัน พิพิธภัณฑ์ที่มีความใกล้เคียงจากทัศนะของผู้วิจัย คือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นประจำเขต โดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เน้นนำประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของแต่ละเขตมานำเสนอ ข้อสังเกตจากการสำรวจพบว่าบางพิพิธภัณฑ์ประจำเขต ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานจริงเหมือนพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย ต้องมีการขออนุญาตก่อนการเข้าชมบาง บ้างพื้นที่อยู่ภายในสถานที่ราชการหรือโรงเรียน ทำให้ไม่สะดวกต่อการเข้าชมเท่าที่ควร นอกจากนี้สภาพสังคมระหว่างชาวกรุงเทพมหานครและชาวเมืองวรธามีข้อแตกต่างกันจากทัศนะของผู้วิจัย โดยค่านิยมของชาววรธา ต้องการสถานที่ที่เป็นจุดนัดพบหรือจุดศูนย์กลางเมืองที่ทำให้คนในชุมชนได้พบปะกัน และมีกิจกรรมเพื่อนันทนาการ ในขณะที่ชาวกรุงเทพมหานครมีสถานที่นัดพบหรือทำกิจกรรมที่หลากหลายกว่าและมีการเลือกสรรการทำกิจกรรมที่หลากหลายกว่า ดังนั้น แหล่งการเรียนรู้ในรูปแบบคล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัยหากนำมาจัดในประเทศไทย อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับค่านิยมของประชาชนด้วย               จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัยที่พิพิธภัณฑ์ไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ คือ การดำเนินการให้พิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์กลางความรู้ทางภูมิปัญญาเพื่อสร้างงานและสร้างคุณค่าให้ประชนชนในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพากันเองได้ภายในพื้นที่ของตน แต่ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ด้วย       4. บทสรุป สรุปผลการศึกษาพบว่า แหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย เป็นเครื่องมือสำคัญในการสืบทอดอุดมการณ์ของมหาตมะ คานธี ผู้ที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและทัศนคติต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น ในเรื่องของการอนุรักษ์ พัฒนา และเน้นการพึงพาตนเองให้ได้มากที่สุด โดยไม่ปฎิเสธการนำเทคโนโลยีตามยุคสมัยเข้ามาพัฒนาชุมชน นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวภูมิปัญญาการประกอบอาชีพภายในชุมชน พิพิธภัณฑ์เน้นการสื่อสารกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้สืบสานภูมิปัญญาของตนอย่างแท้จริง  โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภายในท้องถิ่น ซึ่งผลประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นของชุมชนโดยตรง การจัดการพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งการรู้แบบสมถะ นิทรรศการจัดด้วยวัตถุจริงและการใช้รูปภาพเขียนข้อมูลด้วยมือ มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น workshopสอนงานฝีมือให้เยาวชนในชุมชน นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์สามารถปรับรูปแบบภายในแหล่งให้อำนวยความสะดวกต่อการใช้ประโยชน์เพื่อชุมชน เช่น สวนสาธารณะ ร้านอาหาร ตลาดชุมชน เป็นต้น ส่งผลให้ต่อความนิยมที่ดีมากทั้งภายในชุมชนและนักท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนมีรายได้หมุนเวียนควบคู่กับการสร้างประโยชน์ให้ชุมชน จากการศึกษาการจัดการแหล่งการเรียนรู้นี้สามารถนำมาเป็นต้นแบบการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของไทยได้   เอกสารอ้างอิง กบิลสิงห์ ฉัตรสุมาลย์. (2555). คานธี กับ ผู้หญิง. กรุงเทพฯ: บริษัท ส่องศยาม จำกัด. นารายณ์ เทสาอี. (2547). เพื่อนฉันคานธี : ความทรงจำวัยเยาว์กับมหาตมา คานธี (เฉลิมชัย ทองสุข แปล)กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา. นารายัน เดซาย. (2557). คานธีรำลึก : มหาบุรุษอหิงสา (อนิตรา พวงสุวรรณ โมเซอร์ แปล). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง. ผุสดี รอดเจริญ. (2562). เอกสารประกอบการสอน รายวิชาพิพิธภัณสถานวิทยา. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. มหาตมะ คานธี. (2521). แด่นักศึกษา (กรุณา กุศลาสัย และ เรืองอุไร กุศลาสัย แปล). กรุงเทพฯ : ศึกษิตสยาม. มหาตมะ คานธี. (2524). คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน (รสนา โตสีตระกุล แปล). กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง. มหาตมะ คานธี. (2525). อัตชีวประวัติ, หรือ, ข้าพเจ้าทดลองความจริง แปลจาก An autobiography of the story of my experiment with truth (กรุณา กุศลาสัย และ เรืองอุไร กุศลาสัย แปล). กรุงเทพฯ : อาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตและสภาวัฒนธรรมสัมพันธ์อินเดีย นครนิวเดลฮี. มหาตมะ คานธี. (2540). จดหมายจากคานธี (กฤษณ ดิตยา แปล). กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด. มหาตมะ คานธี. (2553). อมตะวจนะคานธี (กรุณา กุศลาสัย และ เรืองอุไร กุศลาสัย แปล). กรุงเทพฯ : บ้านพระอาทิตย์. ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์. (2545). ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาอินเดีย = [Intellectual history of India]. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สาวิตรี เจริญพงศ์. (2544). ภารตารยะ: อารยธรรมอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงหลังได้รับเอกราช. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สุริยา รัตนกุล. (2546). อารยธรรมตะวันออก. อารยธรรมอินเดีย. นครปฐม : โครงการตำรา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล. เอลเนอร์ มอร์ตัน. (2531). ผู้หญิงเบื้องหลังคานธี (ปรีชา ช่อปทุมมา แปล). อยุธยา: สำนักพิมพ์ทานตะวัน.   สัมภาษณ์ ธัญวรัตม์ ศิลวัฒนาวงศ์. ศูนย์สันสกฤตศึกษา กรุงเทพฯ. (25 กรกฏาคม 2562). ปรมัตถ์ คำเอก. ศูนย์สันสกฤตศึกษา กรุงเทพฯ. (14 กรกฏาคม 2562). พระทิวา สุขุม. ศูนย์สันสกฤตศึกษา กรุงเทพฯ. (31 กรกฏาคม 2562). พัชรา ศิริโฉม. มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ. (17 สิงหาคม 2562). วุฒิพงษ์ ถวิลสมบัติ. มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ. (12 กันยายน 2562). สุปรีชญา จับใจ. ศูนย์สันสกฤตศึกษา กรุงเทพฯ. (3 กันยายน 2562). สุรพล บุญกุศล. มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ. (20 สิงหาคม 2562).   แผนภาพที่ 1 แสดงการบริหารงานภายในพิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย     รูปที่ 2 ภาพแสดงการจัดการพื้นที่พิพิธภัณฑ์มะคัน สังครหาลัย   ภาพที่ 3 : ภาพแสดงแปลงเกษตรสาธิตและอาคารนิทรรศการถาวร   ภาพที่ 4 : ภาพแสดงการสาธิตการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอพื้นเมือง ภาพที่ 5 : ภาพแสดงร้านจำหน่ายอุตสาหกรรมสิ่งทอพื้นเมือง [1] บทความนี้ได้รับการคัดเลือกจากการประชุมวิชาการพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) [2] E-mail: jun_12958@hotmail.com [3]संग्रहालयอ่านว่า สังครหาลัย หมายถึง พิพิธภัณฑ์ [4]สัตยาเคราะห์ (Satyagraha) หมายถึง ความจริงที่ควรยึดมั่นอย่างแนวแน่ เป็นวิธีการต่อสู้ด้วยหลักการอหิงสา หรือ หลักแห่งความสงบ เป็นการต่อสู้ด้วยหลักมนุษยธรรมโดยไม่ใช้ความรุนแรง [5] อาศรมวัฒธรรมไทย-ภารต. (2534). มหาตมา คานธี อนุสรณ์. อาศรมวัฒธรรมไทย-ภารต, 48 – 52. [6] Magan Sangrahalaya Samiti. (2008). LAYING FOUNDATION FOR ENTREPRENEURSHIP DEVELOPMENT. Retrieved from http://www.gandhifootprints.org/genesis /index.php [7] ผุสดี รอดเจริญ. (2560). เอกสารประกอบการสอน รายวิชา300261 พิพิธภัณฑสถานวิทยา (museology):  คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. [8] Magan Sangrahalaya Samiti. (2008). THE THRUST- BUILDING TECHNOLOGICAL COMPETENCIES. Retrieved from http://www.gandhifootprints.org /genesis/index.php

สนุกสนานบนแผ่นกระดาษ: เรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์ วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต และงานเทศกาลวิถีชีวิตชาวบ้าน สถาบันสมิธโซเนียน

09 พฤษภาคม 2556

พิพิธภัณฑ์ ดูจะมีความหมายในเชิงลบสำหรับบุคคลทั่วไป เพราะพิพิธภัณฑ์ เป็นเพียงสถานที่จัดแสดงวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ โบราณวัตถุ หรืออื่นๆ เพื่อการศึกษาในพื้นที่จำกัด ซึ่งอาจจะกว้างมาก เช่นพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ และไม่กว้างมากเช่นพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย พื้นที่จัดแสดงนี้ประกอบไปด้วยรายละเอียดหรือที่มาของวัตถุนั้นๆ ทั้งหมดจัดวางแบบนิ่งๆ รอให้คนทั่วไปเข้ามาชมวัตถุ สิ่งของเหล่านี้ ความที่พิพิธภัณฑ์ ดูเป็น "ของนิ่ง" จึงทำให้ภาพลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์กลายเป็นสิ่งน่าเบื่อ ล้าสมัย ไม่ตื่นเต้นเร้าใจ เท่ากับการได้ไปชมภาพยนตร์ หรือการละเล่นอื่นๆ ในขณะที่เป้าหมายของพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ต้องการให้เยาวชนได้รับความรู้จากพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว การดำเนินการเพียงแค่จัดให้เยาวชนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ จึงเป็นการให้เยาวชนเข้าไปพบกับความน่าเบื่อหน่ายในห้องสี่เหลี่ยม ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของพิพิธภัณฑ์หลายแห่งจึงไม่สัมฤทธิ์ผล ทุกคนคงทราบว่าการเรียนรู้ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจมากที่สุดก็คือ การเรียนรู้โดยการลงมือทำ ดังนั้นถ้าต้องการให้เยาวชนได้รับความรู้ด้วยความเข้าใจจากพิพิธภัณฑ์ ก็คงต้องให้เยาวชนได้ลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างที่เราตั้งเป้าหมายไว้ และการลงมือทำในครั้งนี้ควรมีรูปแบบของความสนุกสนาน กลมกลืนกับสาระที่ต้องการให้เยาวชนได้รู้ หรืออาจกล่าวได้ว่า ต้องใช้กลอุบายในการผสมผสานความรู้ลงไปในกิจกรรมที่เยาวชนจะได้ทำในการชมพิพิธภัณฑ์ นั่นเอง วิธีการอย่างง่ายที่สุด ที่ทุกพิพิธภัณฑ์สามารถทำได้ก็คือ การพัฒนาแผ่นพับเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ให้กลายเป็น แผ่นพับแสนสนุก เพราะธรรมชาติของเด็ก คือการค้นคว้า อยากรู้อยากเห็น การผจญภัย และการเอาชนะในเกม เช่น แผ่นพับเยี่ยมชมของพิพิธภัณฑ์ วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต (Victoria and Albert Museum) ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมสิ่งของต่างๆ ในแต่ละยุคสมัย ด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของพิพิธภัณฑ์ คือต้องการให้ทุกคนที่มาชมพิพิธภัณฑ์ได้รับความสนุกสนานจากการสำรวจ พร้อมกับชมสิ่งของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทาง วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต คาดหวังว่าการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้ผู้ชมเกิดแรงบันดาลใจ และแนวความคิดใหม่ๆ ที่ร่วมสมัย แผ่นพับที่ออกแบบมามีลักษณะ 3 - 4 ตอน และพิมพ์ด้วยสีสองสีบนกระดาษแข็ง ห้องแสดง 1 ห้องจะมีแผ่นพับ 1 ชุด เนื้อหาภายในจะไม่บอกรายละเอียดใดๆ มากมาย มีเพียงข้อความแนะนำว่าห้องพิพิธภัณฑ์นี้นำเสนออะไร แต่ที่น่าสนใจคือเนื้อหาภายในแผ่นพับเป็นเกมให้เด็กได้คิดและเขียนจากความรู้ของตน ในขณะเดียวกันได้เนื้อหาความรู้จากห้องพิพิธภัณฑ์ไปพร้อมกัน เช่น การเติมคำ การหาคำศัพท์ในตารางตัวอักษร การวาดรูปบนพื้นที่ว่าง กิจกรรมต่างๆบนแผ่นพับนี้เป็นอุบายเพื่อให้เด็กได้สนใจในเนื้อหาสาระของพิพิธภัณฑ์ เป็นการเพิ่มความน่าสนใจและน่าสนุกให้กับพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้มากขึ้น เช่นเดียวกับหนังสือนำชมงานเทศกาลวิถีชีวิตชาวบ้าน สถาบันสมิธโซเนียน ประเทศสหรัฐอเมริกา (Smithsonian Folklife Festival) ที่จัดเป็นประจำทุกปี เช่น ในปี 2005 นำเสนอเนื้อหาเป็น 3 กลุ่ม คือ วัฒนธรรมอาหารของสหรัฐอเมริกา (Food Culture USA) โอมาน: ทะเลทราย แหล่งน้ำ และทะเล (Oman : Desert, Oasis and Sea) และงานป่าไม้ วัฒนธรรม และชุมชน (Forest Service : Culture and Community) หนังสือนำชมในงานออกแบบมาเพื่อการเข้าชมสำหรับครอบครัว ขนาดเท่าฝ่ามือ ใช้สีแบ่งแยกแต่ละ Theme ในการนำเสนอ สีที่ปรากฏในหนังสือนำชมอาจไม่ฉูดฉาด แต่ก็เด่นชัดพอที่จะทำให้ผู้ชมทราบว่ากำลังอยู่ในส่วนใดของงานเทศกาล เนื้อหาในหนังสือนำชมคือการค้นหาคำตอบจากการเดินชมงาน เช่น การเติมคำ จับคู่ หาคำปริศนา พร้อมกับแทรกเนื้อหาสำคัญที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ชมงาน เพียงเท่านี้การเดินชมงานที่กว้างใหญ่ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อหน่ายอีกต่อไป สิ่งที่โดดเด่นของแผ่นพับของพิพิธภัณฑ์ วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต และหนังสือชมงานเทศกาลวิถีชีวิตชาวบ้านไม่ได้อยู่ที่กระดาษพิมพ์เนื้อดี หรือภาพกราฟิกที่ชวนมอง แต่เป็นการนำเนื้อหาความรู้จากห้องพิพิธภัณฑ์ หรือจากงานเทศกาลมาปรับให้เป็นเกม ที่ชวนให้คิดค้นหาคำตอบ โจทย์หลายข้อในแผ่นพับ ก็คือ กลอุบาย เพื่อให้เยาวชนได้อ่านเนื้อหาในพิพิธภัณฑ์ โจทย์บางข้อให้เยาวชนวาดภาพลายเครื่องปั้นดินเผาลงบนลายเส้นภาชนะที่ว่างเปล่า ด้วยคาดหวังว่าการวาดลวดลายจะทำให้เยาวชนเกิดการจดจำจากการกระทำ (วาดลายเส้น) และโจทย์บางข้อ ก็เป็นเกมส์ลากเส้นตามตัวเลข ซึ่งภาพที่ได้สุดท้ายก็คือภาพวัตถุชิ้นหนึ่งในห้องพิพิธภัณฑ์นั้นๆ หากจะมองว่าการกระทำแบบนี้เยาวชนจะได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าเทียบกับการให้เด็กเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์ แล้วครูสั่งให้หาข้อมูลในเรื่องที่กำหนด กับการให้เยาวชนเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วยความสุขและสบายใจ การกระทำแบบใดที่เยาวชนจะให้ความสนใจมากกว่ากัน? ความสนุกสนานที่พวกเขาได้รับจากพิพิธภัณฑ์ใดๆ ก็ตาม จะเป็นตัวจุดประกายให้เยาวชนเหล่านี้ได้รักในการศึกษาหาความรู้จากพิพิธภัณฑ์ แล้ววันหนึ่ง มุมมองของเยาวชนที่มีต่อ พิพิธภัณฑ์ จะเปลี่ยนไป ข้อมูลอ้างอิง www.vam.ac.uk www.folklife.si.edu

การให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ในเขตเมือง

20 มีนาคม 2556

อะไรคือการให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ การให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่เป็นแนวทางการศึกษา ซึ่งใช้สิ่งแวดล้อมภายในท้องถิ่นสำหรับการเรียนและการสอน วัตถุประสงค์แรกของการให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ สนใจกับชุมชนในพื้นที่ของตนเอง และกระตุ้นให้เด็กเริ่มสนใจทำกิจกรรมเพื่อพัฒนอนาคตของชุมชน   โดยปกติแล้ว ในสหรัฐอเมริกา เมื่อผู้คนคิดถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่ พวกเขามักคิดถึงการเข้าไปในพื้นที่ชนบทมากกว่าเมือง เพราะแนวการจัดกิจกรรมเพื่อการศึกษาโดยส่วนใหญ่อาศัยพื้นที่ในชนบทเป็นสำคัญ ดังที่เดวิด เกรินวาล์ด(David Gruenwald) ได้เขียนไว้ในบทความ “อสูรของโลกทั้งสอง การวิพากษ์เกี่ยวกับการให้ความรู้เนื่องด้วยสถานที่” (The Beast of Both Worlds: A Critical Pedagogy of Place) ว่า “ในงานเขียนทางวิชาการช่วงที่ผ่านมา นักการศึกษาอ้างอิงสถานที่ว่าเป็นพื้นที่เหมาะสมกับการเรียนรู้คือ สถานที่กลางแจ้ง แสดงให้เห็นสิ่งแวดล้อม และความเป็นชนบท ดังนั้น สถานที่เพื่อการเรียนรู้จึงไกลห่างจากเมือง ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในที่เดียว อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่ไม่จำกัดอยู่ในพื้นที่ชนบทเท่านั้น สถาบันการศึกษาสามารถใช้การเรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่ให้คนในเมืองใส่ใจต่อ ชีวิตความเป็นอยู่ของเมือง และกระตุ้นให้สำนึกพลเมืองใส่ใจต่อประเด็นของเมืองไปพร้อมกัน   Lower East Side Tenement Museum หรือ พิพิธภัณฑ์การเคหะฝั่งตะวันออกล่าง เมืองนิวยอร์ก เป็นสถาบันในเมือง ซึ่งสามารถพัฒนาโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ ด้วยการดึงให้กลุ่มคนที่หลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมในปัญหาของเมืองในปัจจุบัน การเรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่ของพิพิธภัณฑ์เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมการมี ส่วนร่วมของพลเมืองในประเด็นของเมือง เพราะกิจกรรมดังกล่าวได้ผลักดันให้คนเข้าไปเผชิญกับปัญหาร่วมกัน เพื่อสร้างความหมายของชุมชน และเชื่อมต่อผู้คนให้จินตนาการอนาคตที่ร่วมกันของชุมชน   ความเชื่อมั่นต่อสถานที่เป็นหัวใจการทำงานของพิพิธภัณฑ์ และกลายเป็นสิ่งกำหนดภารกิจ กิจกรรมทางการศึกษาที่พิพิธภัณฑ์นำเสนอ และความสัมพันธ์ของผู้คนกับชุมชนที่อาศัยอยู่ อันได้แก่ ฝั่งตะวันออกล่างของแมนฮันตัน(Lower East Side of Manhattan)   ฝั่งตะวันออกล่างเป็นที่พำนักของชนอพยพในสหรัฐอเมริกา ตามประวัติแล้ว พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่พักอาศัยของชาวยุโรป แต่ในปัจจุบัน เป็นชนอพยพจากเมืองจีนและสาธารณรัฐโดมินิกัน และประเทศอื่นๆ รวมถึงเปอเตอ ริโก จากสถิติ ผู้คนที่อาศัยในแถบนี้พูดภาษาอื่นๆ มากกว่าภาษาอังกฤษในเคหะสถาน ภาษาที่ใช้พูดกันยังรวมไปถึงภาษาถิ่นของจีนทั้ง4 ภาษาด้วย   ฝั่งตะวันออกล่างยังเป็นที่พำนักของพวกชนชั้นแรงงาน ตามประวัติแล้ว ผู้อพยพรุ่นใหม่เข้ามาในพื้นที่เพราะโครงการการเคหะ เรียกได้ว่าเป็นโครงการบ้านในเมืองที่เปิดโอกาสให้ครอบครองได้ไม่ยากนัก ทุกวันนี้ โครงการเคหะในลักษณะดังกล่าวยังดึงดูดผู้คนให้เข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่เช่น เดิม รายได้โดยเฉลี่ยของครัวเรือนในพื้นที่ใกล้พิพิธภัณฑ์ประมาณ25,000 เหรียญ ต่อปี กว่าครึ่งของประชากรในพื้นที่ได้รายได้ต่ำกว่าเงินได้เฉลี่ย แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรในกลุ่มดังกล่าวที่ได้รับการสงเคราะห์ สาธารณะอื่นๆ   พิพิธภัณฑ์การเคหะฝั่งตะวันออกล่างตั้งขึ้นในปี1988 ด้วย วัตถุประสงค์ในการสร้างความอดทนและการยอมรับต่อประวัติศาสตร์และประสบการณ์ ของชนอพยพในแมนฮัตตันฝั่งตะวันออกล่าง ซึ่งเป็นประตูสู่อเมริกา ด้วยภารกิจเช่นนี้ พิพิธภัณฑ์จึงตั้งอยู่ในชุมชนท้องที่แถบนั้น และมีหน้าที่สำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน เพราะการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนจะยังผลให้เกิดการยอมรับความเป็นไปต่างๆ ในสังคม   พิพิธภัณฑ์เชื่ออย่างแรงกล้าว่า เรื่องราวของฝั่งตะวันออกล่างไกลไปกว่าพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กำหนดขอบเขต ของบริเวณอยู่อาศัย แม้กระทั่งในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเอง การอพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมืองของชนต่างชาติมีให้เห็นมากขึ้นอย่างไม่เคย ปรากฏมาก่อน ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความสำคัญต่อเรื่องราวของฝั่งตะวันออกล่างและในระดับ นานาชาติเช่นกัน   พิพิธภัณฑ์และประสบการณ์ของผู้อพยพ ผู้ที่ร่วมจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หลายคนปรารถนาจะบอกเล่าเรื่องราวของชนอพยพผู้เข้ามาในเมืองนิวยอร์กในศตวรรษที่19 และต้นศตวรรษที่ 20 พวก เขายังปรารถนาให้ผู้ชมเชื่อมโยงประสบการณ์อพยพของตนเองกับประสบการณ์ของผู้ อพยพในพื้นที่อื่นๆ ของสหรัฐอเมริกา เหตุผลใหญ่สำหรับการนำเสนอเรื่องราวไปในทิศทางนี้ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นดินแดนที่ผู้คนโหยไห้ต่ออดีตการอพยพในชั่วอายุคน ที่ผ่านมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางชุมชนอพยพคือ ความเกลียดชังต่อผู้คนที่โยกย้ายเข้ามาใหม่ พิพิธภัณฑ์หวังที่จะท้าทายให้คนอพยพในรุ่นก่อนได้มองเห็นถึงความเหมือนและ ความแตกต่างของประสบการณ์การอพยพที่พวกเขาเคยประสบก่อนที่จะได้มาเป็น “อเมริกันชน” และสำหรับคนอพยพรุ่นใหม่แล้ว พสกเขาก็ต่อสู้และปรับตัวให้เข้ากับวิถีอเมริกันในทุกวันนี้ พิพิธภัณฑ์ ต้องการให้ผู้ชมตรวจสอบมุมมองของตนเองต่อการอพยพร่วมสมัย และสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับนโยบายการอพยพของอเมริกา เช่น ใครบ้างควรจะเข้ามาในสหรัฐอเมริกา ใครบ้างควรได้สถานภาพพลเมืองอเมริกัน และทรัพยากรใดบ้างที่สามารถแบ่งปันให้กับผู้ที่มาใหม่   ข้อท้าทายคือการตีแผ่ให้เห็นว่าประสบการณ์อพยพได้มีอยู่เพียงชุดเดียว แต่มีเรื่องราวการอพยพมากมายเท่าทวีกับจำนวนผู้คนที่อพยพเข้ามา ชนอพยพเหล่านี้มาจากประเทศที่หลากหลาย ความเป็นมาที่แตกต่าง ชนชั้นที่สังคมที่ผิดแผก และประสบการณ์ไม่เหมือนกัน เราจะสร้างเรื่องเล่าอย่างไรที่ไม่ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องเล่า ดาดๆ และจะจัดการอย่างไรให้ประสบการณ์อพยพเป็นเรื่องที่สำคัญ และถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นเสมอๆ   ผู้ที่ร่วมจัดตั้งพิพิธภัณฑ์มีความคิดเห็นที่ตรงกันประการหนึ่ง ไม่ว่าคนอพยพเข้ามาในสหรัฐฯ ในศตวรรษที่19 หรือ 20 แต่สถานที่ที่พวกเขาอยู่อาศัยคือสิ่งที่มีอยู่ร่วมกัน คนอพยพที่เข้ามาเมืองนิวยอร์กในช่วงเวลาใดก็ตามระหว่างปี 1830 ถึง 1930 จะ อยู่ในตึกของการเคหะแมนฮัตตัน หรือที่รูจักกันนามฝั่งตะวันออกล่าง พลังของสถานที่ได้ยึดโยงผู้คน ไม่ว่าจะมาจากชาติ ภาษา หรือศาสนาใด การอาศัยในตึกของการเคหะร้อยรัดคนต่างชั่วอายุ ไม่ว่าพวกเขามาจากรัสเซียเมื่อ 1905 หรือ ฮ่องกงเมื่อ 2005   ด้วยเหตุนี้ พิพิธภัณฑ์จึงเริ่มต้นสืบค้นสถานที่เฉพาะ ตึกสักตึกของการเคหะตั้งอยู่ที่เลขที่97 ถนนออร์คิด ใจกลางฝั่งตะวันออกล่าง ตึกดังกล่าวเป็นอาคารที่พักอาศัย 5 ชั้น ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ 1863 และมีคนเวียนมาพักอาศัยประมาณ 7,000 คนระหว่าง 1864 ถึง 1935 อันเป็นปีสุดท้ายอของการเป็นที่พักอาศัย อาคารดังกล่าวล้างจนกระทั่งปี 1988 ที่กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์การเคหะ   โครงการให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ของพิพิธภัณฑ์การเคหะ เมื่อคำนวณไปแล้ว พิพิธภัณฑ์สำรวจคนที่เคยอยู่อาศัยในอาคารได้1,700 คน จากนั้น ได้ฟื้นฟูห้องพักอาศัยให้กับครอบครัว 5 กลุ่ม และให้พวกเขาไปอาศัยในอาคาร พวกเขาทำหน้าที่ให้ความรู้ ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวต่างๆ การนำชมจะแบ่งเป็นประเด็นทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวของชนอพยพในอดีต และที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน   ตัวอย่างเช่นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนอพยพและอุตสาหกรรมเสื้อผ้า การนำชมเริ่มต้นที่เรื่องราว2 ครอบ ครัว ประวัติของพวกเขาเป็นประตูไปสู่มุมมองเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปัญหาแรง งานราคาถูกและสภาพการผลิตที่ย่ำแย่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอในช่วงเวลาที่ต่างกัน ครอบครัวเลวีนทำงานในช่วงทศวรรษ 1890 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีการผลิตในอาคารการเคหะ และครอบครัวโรเกอสกีที่ทำงานในช่วงต้นทศวรรษ 1900 คน งานอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเริ่มตระหนักถึงปัญญาดังกล่าว และหยิบมาเป็นประเด็นทางสังคม การนำเที่ยวแสดงให้เห็นพัฒนาการอุตสาหกรรมในเมืองนิวยอร์ก ผ่านสายตาของคนงาน 2 ครอบครัว และเปรียบเทียบประสบการณ์ของผู้เข้าชมเองกับประสบการณ์ทำงานของผู้อพยพในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในปัจจุบัน   การนำชมหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาเพราะฝั่งตะวันออกล่างเป็นพื้นที่กำเนิดอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในยุคสมัยใหม่(ในปี 1900 มีร้านเสื้อผ้าถึง 20 ร้านในพื้นที่) และ เพราะจำนวนร้านเสื้อผ้ายังคงมีมากอยู่ในปัจจุบัน ในจำนวนร้านที่เปิดทำการในปัจจุบันมีอยู่จำนวนไม่น้อยเลยที่จัดอยู่ในประเภท การจ้างแรงงานราคาต่ำและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ เมื่อพิจารณาจากมาตรฐานโรงงานของกรมแรงงาน   พิพิธภัณฑ์ผลักดันให้ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องราวที่ตีความมาจากมุมมองเชิงเดี่ยว แต่นำมุมมองที่หลากหลายของผู้ที่เกี่ยวข้องมาเป็นแนวทางในการสำรวจและบอกเล่าเรื่องราว รวมทั้งมุมเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา การนำชมที่เกี่ยวข้องกับอุตสากรรมเสื้อผ้าพยายามเปิดให้เห็นมุมมองของผู้ผลิต เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก คนงาน ผู้บริโภค และผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่การผลิต การนำชมเริ่มต้นด้วยการฟังเสียงจากเครื่องบันทึกของผู้ที่เกี่ยวข้องในมุม มองต่างๆ ต่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้าในเมืองนิวยอร์ก จากนั้น ผู้นำชมจะนำพาผู้เข้าชมย้อนกลับไปในปี1897 และสอดส่องมุมมองเกี่ยวกับอุตสาหกรรมในเวลานั้น   พิพิธภัณฑ์ชวนเชิญให้ผู้เข้าชมไตร่ตรองต่อเรื่องราวที่ได้เห็น ได้ฟัง ด้วยคำถามปลายเปิด เพื่อกลับไปสำรวจตรวจสอบต่อความรู้ ความเชื่อ และความคิดเห็นของตนเองที่มีต่อเรื่องราวนั้นๆ เช่น ในระหว่างการชมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ผู้นำชมจะถามผู้ชมว่า‘คุณคิดว่าสภาพการทำงานของคนงานในโรงงานทุกวันนี้ดีกว่า 100 กว่า ปีที่แล้วไหม’ และ ‘คุณคิดว่าการจ่ายค่าแรงของเจ้าของโรงงานต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำยุติธรรมหรือ ไม่ หากเจ้าของโรงงานสามารถหาคนงานที่ยินดีจะรับค่าแรงในราคานั้น’ ผู้ชมจะมีส่วนในการแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำชมและคนอื่นๆ ในระหว่างการเข้าชม ร่วมแบ่งปันมุมมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ส่วนตัว และตรวจสอบเหตุผลว่าทำไมแต่ละคนจึงรู้สึกต่อเรื่องนั้นไปเช่นนั้น   นอกจากนี้ ยังมีการนำชมที่ใช้ชื่อว่า “แล้วก็เป็นไป : คนอพยพผู้ผ่านร้อนผ่านหนาว” (Getting By: Immigrants Weathering Hard Times) เป็นการเยี่ยมชมห้องพักของคนอพยพ 2 ครอบครัว ผู้ที่เคยอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ครอบครัวกัมเพรท์ซในปี 1873 และครอบครัวบาลดิซิในปี 1935 การ ชมเริ่มจากการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาว่าความ ช่วยเหลือใดที่คนอพยพต้องการ และใครควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อการจัดหาความช่วยเหลือนั้น ในระหว่างการชม ผู้ชมจะพูดคุยกันเกี่ยวกับสถานภาพของผู้อพยพว่ามีผลต่อการจัดความช่วยเหลือ ของรัฐหรือไม่ และบทบาทของผู้เข้าชมเองจะมีส่วนช่วยเหลือคนอพยพในชุมชนของตนเองหรือไม่   การชมในเส้นทางที่สามเป็นห้องพักของครอบครัวคอนฟิโนที่สร้างขึ้นใหม่ในปี1916 ผู้ชมจะสมมติบทบาทเป็นครอบครัวอพยพที่เพิ่งมาใหม่ และโต้ตอบกับคนที่เล่นบทบาทเป็นวิคเทอเรีย คอนฟิโน อายุ 14 ปี ชาวยิวนิกายเซฟาร์ดิก ซึ่งอยู่ภายใต้แนวคิดของอาชเคนซิ ผู้ชมจะได้เรียนรู้ความพยายามในการปรับตัวของเธอกับการอยู่ในฝั่งตะวันออก ล่าง ประสบการณ์ของเธอสะท้อนให้เห็นสถานภาพใหม่ที่ได้มาคือ เซฟาดิก-อเมริกัน ชน จากนั้น อภิปรายถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการเป็นอเมริกันชนหมายถึงอะไร และระหว่างการยึดมั่นในมรดกทางวัฒนธรรมเดิมกับการกลายมาเป็น ‘อเมริกัน’ สิ่งใดดีกว่ากันแน่   ในขณะที่เมื่อกลุ่มนักเรียมเข้าร่วมกิจกรรมชมคอนฟิโน พวกเขาจะมีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นว่าวัฒนธรรมอเมริกันคืออะไร และใครควรจะเป็นอเมริกันชน พวกเขาจะแบ่งออกเป็นกลุ่มเล็ก และร่วมอภิปรายความหมายของคำ “อเมริกัน” ซึ่งมีลักษณะที่ครอบคลุมความเป็นจริงในสังคมมากกว่าจะเป็นการกำหนดว่าสิ่งใด ใช่หรือไม่ใช่ เพราะพวกเขาควรตระหนักว่าวัฒนธรรมของประเทศกอปรขึ้นมาจากความหลากหลายของ เชื้อชาติ วัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกัน   หลังจากที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์ตามแต่ละเส้นทางการชม ผู้เข้าชมจะกลับมาที่‘ห้องครัว’ และร่วมสนทนา “เรื่องครัวๆ” ที่จะมีผู้นำกิจกรรมที่ได้รับการฝึกฝนมาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นที่หยิบยก ขึ้นมาในระหว่างการนำชม การสนทนาจะลำดับประเด็นต่างๆ จากสาเหตุของการอพยพย้ายถิ่นสู่การจัดสร้างสภาวะที่เหมาะสมสำหรับคนงานอพยพ การให้การศึกษาแบบสองภาษา รวมไปถึงประเด็นของการกลืนกลายทางวัฒนธรรมของชยอพยพเข้าสู่สังคมอเมริกัน หรือการคงไว้ซึ่งรากทางวัฒนธรรมของชนอพยพเอง บทบาทของผู้นำกิจกรรมช่วยเชื่อมต่อประสบการณ์ของผู้อพยพทั้งในอดีตและ ปัจจุบันกับผู้เข้าชม และกระตุ้นให้ผู้เข้าชมพินิจพิเคราะห์ถึงสถานการณ์ร่วมสมัย และคิดวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ที่มาจากการเข้าชมสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านั้น   พิพิธภัณฑ์ ยังจัดนำชมในสถานที่ทางต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งไม่ใช่การนำชมแบบเดิมๆ ที่เคยปฏิบัติมา แต่เป็นการหยิบยกเอาประเด็นร่วมสมัยของเมืองเข้ามาถกเถียง เส้นทางการชมที่น่าสนใจเส้นหนึ่งคือ โรงเรียนมัธยมที่สอนสองภาษา(อังกฤษ-จีน) เมื่อ ถึงจุดนี้ ผู้ร่วมเส้นทางจะได้พูดคุยถึงระบบการเรียนสองภาษา ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งได้แก่ โบสถ์ยิว ผู้นำกิจกรรมจะบอกเล่าถึงการตายของพระยิวเมื่อปี 1905 เพราะ คนงานชาวไอริชไม่พอใจการอพยพเข้ามาของชาวยุโรปตะวันออก พสกไอริชคิดว่าดินแดนฝั่งตะวันออกล่างควรจะเป็นที่พำนักของพวกเขาอย่างเดียว เท่านั้น ประเด็นนี้นำไปสู่การอภิปรายเกี่ยวกับความกดดันระหว่างกลุ่มของคนอพยพที่ เข้าสู่พื้นที่พำนักเดียวกัน ในท้ายที่สุด ผู้ชมในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนจะช่วยให้เกิดความเข้าใจระหว่างกลุ่มอย่าง ไร และจะเกิดความร่วมมือได้อย่างไร   เป้าหมายของการเรียนรู้สถานที่ต่างๆ อยู่ที่ การ ช่วยให้ผู้เข้าชมได้ใช้ประสบการณ์ส่วนตนเชื่อมโยงกบประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนอพยพและคนย้ายถิ่น การ ย้ำถึงบทบาทสำคัญของคนอพยพและคนย้ายถิ่นต่อสังคมที่กำลังวิวัฒน์ไป ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและโดยภาพรวม ทั้งชุมชนที่พวกเขาอยู่อาศัยและในระดับของชาติรัฐ การ สร้างบทสนทนาที่ทรงพลังในประเด็นความเป็นอยู่และชีวิตของคนอพยพและคนย้าย ถิ่น เพื่อให้ผู้ชมได้คิดวิเคราะห์ถึงบทบาทของตนเองที่จะสร้างสรรค์สังคมไปในวัน ข้างหน้า การเชื่อมต่อประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้คน และสร้างเวทีเรียนรู้ระหว่างผู้คนด้วยกันเอง   ผู้เขียนขอเสนอหลักการพื้นฐาน5 ประการสำหรับพิพิธภัณฑ์ที่ปรารถนาจะนำแนวทางการเรียนรู้สถานที่ต่างๆ ไปประยุกต์กับการสร้างความมีส่วนร่วมของพลเมืองในประเด็นของเมือง   ประการแรก การนำเสนอและตีความเรื่องราวของสถานที่ควรเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับทราบกันมากนัก แต่มีความสำคัญและเปิดมุมมองใหม่ๆ ต่อประวัติศาสตร์ ก่อนที่พิพิธภัณฑการเคหะจะสร้างขึ้น อาคารที่ตั้ง ณ เลขที่ 97 ถนน ออร์ชาร์ด ไม่ใช่ตึกที่อยู่ในความสนใจและเรื่องราวของผู้เคยอยู่ที่นั่นไม่ได้สำคัญ อะไร ผู้ที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์เล็งเห็นร่วมกันว่า เรื่องราวของตึกและผู้คนเป็นตัวแทนเรื่องราวที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ นิพนธ์อย่างที่กระทำกันมา นั่นคือ เรื่องราวความยากจนและชนชั้นแรงงาน เรื่องราวดังกล่าวจึงนำไปสู่มุมมองใหม่ๆ ต่อประวัติศาสตร์ ความสำคัญของอาคารได้รับการยอมรับเมื่อตึกแรกของโครงการการเคหะได้รับการ เลือกให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในระดับชาติ   ประการที่สอง วิธีการจัดกิจกรรมที่มีแนวทางของการใช้สถานที่ต่างๆ ไม่ได้เชื่อมโยงไปกับประเด็นต่างๆ ในระดับชุมชนเท่านั้น แต่จะต้องเชื่อมโยงไปยังพื้นที่อื่นๆ พิพิธภัณฑ์การเคหะไม่ได้เพียงบอกเล่าเรื่อราวของอาคารและผู้คนที่พำนัก แต่ได้เชื่อมเรื่องราวเหล่านั้นกับประเด็นที่ใหญ่กว่า เช่น สภาพการทำงานที่ยุติธรรมและการเข้าถึงสวัสดิการสาธารณะ และทำให้เรื่องราวเหล่านั้นสัมพันธ์ไปกับผู้มาเยือน ไม่ว่าเขาหรือเธอจะมีมาจากที่ใด ผู้ชมมีส่วนอย่างยิ่งในการพูดคุยและถกเถียงจากสิ่งที่ได้เรียนรู้และประเด็น ในชุมชนของแต่ละคน   ประการที่สาม เราจะต้องคำนึงถึงความซับซ้อนในเรื่องราวที่นำเสนอ ประวัติศาสตร์ของพื้นที่มาจากความหลากลายของมุมมอง เรื่องราวได้ผูกขึ้นมาจากภาพที่ซ้อนทับของคนที่เกี่ยวข้อง ความสนใจเช่นนี้อาจไม่เคยได้รับความใส่ใจมาก่อนต่อการเขียนประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์การเคหะไม่ได้บอกเรื่องราวจากมุมมองของใครคนเดียว แต่พยายามเสนอเรื่องราวที่ซับซ้อนและคลุมเครือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง พิพิธภัณฑ์พบว่าการนำเสนอเรื่องราวดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายต่อการจัดการ แต่กลับทำให้กะเทาะความเป็นจริงที่ยังคงมีความคลุมเครืออยู่ในปัจจุบัน การนำเสนอเรื่องราวเช่นนั้นทำให้ผู้เยี่ยมชม “เข้าไป” ถึงความซับซ้อนของประเด็นปัญหา   ประเด็นที่สี่ การเชื้อเชิญให้ผู้เข้าชมมีส่วนในการตีความ พิพิธภัณฑ์เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามามีบทบาทในระหว่างการเยี่ยมชม พวกเขาได้แบ่งปันประสบการณ์และมุมมอง รวมถึงประเด็นที่เชื่อมโยงกับสังคมในระดับกว้าง พิพิธภัณฑ์การเคหะไม่ได้แสดงบทบาทเป็นผู้ถือสิทธิ์ที่จะหยิบยกประเด็นนั้นๆ มาพูดคุยแต่ผู้เดียว ในทางตรงกันข้าม พิพิธภัณฑ์ยึดมั่นใน “เสียงที่หลากหลาย” (polyphonic representation) ใน การบอกเล่าประวัติศาสตร์ และมิติที่ซ้อนทับอยู่ในปัญหาร่วมสมัย พิพิธภัณฑ์เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ชมมีความรู้เป็นของตนเอง ความเชื่อและความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นเหล่านั้น ผู้ชมในฐานะเพื่อนร่วมทางจะเป็นผู้ให้ความหมายของประเด็นที่พูดคุย และผลักดันให้เขามีส่วนร่วมในความเป็นไปในปัจจุบันและอนาคต   ประการที่ห้าการเยี่ยมชมจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ชมร่วมลงมือลงแรง นั่นหมายถึง การทำให้ประเด็นทางสังคมลงไปสู่การลงมือสร้างสรรค์ชุมชนของตนเอง และนำความเปลี่ยนแปลงในทางบวกมาสู่ พิพิธภัณฑ์การเคหะมีส่วนในการสร้างเวทีให้ผู้ชมได้คิดและตรวจสอบประเด็นทาง สังคม สิ่งใดบ้างที่พวกเขาจะสร้างสรรค์ให้กับสังคม ความตั้งใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์คือ การมอบให้ผู้ชมเป็นคนที่จะเข้ามาพัฒนาชีวิตในชุมชนของตนเอง   พิพิธภัณฑ์ในพื้นที่เมืองควรพิจารณาการเรียนรู้สถานที่ในลักษณะที่เป็นแนวทาง พิพิธภัณฑ์ควรมองหาประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวที่ผูกพันกับสถานที่ต่างๆ ในชุมชน แต่ไม่เป็นที่รับทราบกันมากนัก แต่การนำเรื่องราวมาบอกเล่าได้ฉายให้เห็นประเด็นทางสังคมที่สืบเนื่องต่อไป พิพิธภัณฑ์ใดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองสามารถลองพิจารณาชุมชนในท้องที่ และพัฒนาเป็นแหล่งการเรียนรู้สถานที่ต่างๆ ด้วยการใช้แนวทางการทำงานที่แนะนำมานี้ วิธีการเช่นนี้จะก่อให้เกิดการพูดคุยประเด็นต่างๆ ของเมือง และนำไปสู่การผลักดันให้พลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นเหล่านั้น   Maggie Russell-Ciardi ได้ รับปริญญามหาบัณฑิตด้านละตินอเมริกาศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และปริญญาบัณฑิตด้านแรงงงานศึกษาและสเปนจากวิทยาลัยโอเบอร์ลิน ขณะนี้ เธอรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการด้านการศึกษาให้กับ Lower East Side Tenement Museum ก่อน การเข้าประจำตำแหน่งดังกล่าว เธอเคยทำโครงการสร้างความเข้มแข็งกับชุมชนคนอพยพใหม่ ในปัจจุบัน เธอยังปฏิบัติภารกิจที่ปรึกษาศูนย์สิทธิคนอพยพ (Center for Immigrant Rights) และการจัดตั้งกลุ่มคนงานอพยพในประเภทงานเกษตรกรรม   แปลและเรียบเรียงจาก Maggie Russell-Ciardi, “Placed-based Education in an Urban Environment” Museum International, No. 231 (Vol. 58, No. 3, 2006) pp. 71 – 77.  

การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์บ้านประวัติศาสตร์: กรณีศึกษาข้อตกลงการบริหารจัดการร่วม

15 กุมภาพันธ์ 2561

บ้านประวัติศาสตร์อดัมส์ ตั้งอยู่ในเมืองเดดวูด รัฐเซาธ์ดาโกตา เป็นอาคารสถาปัตยกรรมวิกตอเรียนที่งดงาม และยังคงรักษาการตกแต่งดั้งเดิมเอาไว้ได้ทั้งหมด ก่อสร้างในปี ค.ศ. 1892 เคยได้รับการขนานนามจากสื่อว่าเป็น “บ้านที่โอ่อ่าที่สุดในฝั่งตะวันตกของมิสซิสซิปปี” ปัจจุบัน ตามที่แมรี่ คอปโค(Mary Kopco) ผู้บริหารของบ้านให้ข้อมูล บ้านได้ฟื้นกลับมามีชีวิตเหมือนดังเดิมหลังจากบูรณะไปเป็นเงินทั้งสิ้นราว 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้ข้อตกลงการบริหารจัดการร่วมระหว่างเทศบาลเมืองเดดวูด และคณะกรรมการกลุ่มผู้บริหารบ้าน

จดหมายเหตุเสียงที่พิพิธภัณฑ์เขตหก: งานที่ต้องเดินหน้าต่อไป

22 มีนาคม 2556

แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เพราะเป็นประเทศที่มีทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ก้าวหน้า แต่ขณะเดียวกันปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจขยายเป็นวงกว้าง ช่องว่างของผู้รับความช่วยเหลือจากการพัฒนาและความชำนาญการในการทำงานยังคง มีอยู่ แต่ในจุดนี้ กลับเป็นทั้งข้อท้าทายและโอกาสในการอนุรักษ์ภาพและและเสียง(Audiovisual preservation)   โครงการจดหมายเหตุเสียงเริ่มต้นขึ้นจากการประชุมในปี1988 ใน การเริ่มต้นการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้รูปแบบการทำงานมาจากแนวทางของจดหมายเหตุเสียงสาธารณะและชาติพันธุ์ของสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ รวมทั้งสาขาวิชาการที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการทำงานทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ สังคมศาสตร์ และดนตรีชาติพันธุ์วิทยา   แม้หน่วยงานของเราเป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นการทำงาน แต่เป็นงานที่เต็มไปด้วยพลังของคณะกรรมการที่มีความกระตือรือร้น และสายสัมพันธ์กับนักเคลื่อนไหวในชุมชน นักการเมือง และนักวิชาการ ด้วยเหตุนี้ งานพิพิธภัณฑ์ของเราจึงไม่มีลักษณะของชนชั้นการบริหาร(เน้นโดยผู้แปล) นอกไปจากนี้ การทำงานอนุรักษ์ยังต่อรองกับความเป็นไปต่างๆ ในชุมชนได้อย่างยิ่งยวด นอกจากข้อท้าทายในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการวิจัยจดหมายเหตุภาพและ เสียง พิพิธภัณฑ์ยังต้องพัฒนาความชำนาญการและการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กัน อนึ่ง พิพิธภัณฑ์เขตหกได้กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาโครงการที่สร้างโอกาสความร่วม มือของคนในชุมชน   จดหมายเหตุเสียงในฐานะหน่วยย่อยความทรงจำ ในปี1994 มีการจัดนิทรรศการ "ถนน : รอยทางในเขตหก" ในขั้นตอนของการทำงาน เราได้เชิญผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในเขตหกมาชี้ตำแหน่งของอาคาร ถนนหนทาง เพื่อนบ้านที่เคยพำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาสร้างความทรงจำร่วมกัน (Public memory) นิทรรศการพยายามทำหน้าที่ของ "พาหนะแห่งการตีความ" (Interpretative vehicle) ที่จะนำพาความทรงจำส่งทอดไปยังคนรุ่นต่อไปในแอฟริกาใต้ เพ็กกี้ เดลพอร์ต (Peggy Delport) ภัณฑารักษ์ได้อธิบายไว้ว่ารูปแบบของนิทรรศการจะเน้นการออกแบบให้เกิดปฏิสัมพันธ์ พรมแดนของนิทรรศการเปิดออกสู่ผู้ชม และให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดแสดง… สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างความทรงจำใหม่จะเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน   นิทรรศการตรึงจินตภาพของผู้คน โดยเฉพาะผู้ที่เคยพำนักอาศัยในเขตหก พวกเขานำสิ่งที่กระตุ้นเตือนความทรงจำมากมายมาให้ผู้จัดงาน ภาพถ่ายครอบครัว ขวด ของเล่น และชิ้นส่วนของเครื่องเรือนและประตู อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์ไม่สามารถจัดเก็บวัตถุไว้ในคลังสะสมไดทั้งหมดด้วยปริมาณวัตถุที่เอ่อล้น แต่เรายังคงให้วัตถุเข้ามาฝากไว้ เพื่อสานสัมพันธ์อันดีต่อสมาชิกของชุมชน   กระบวนการจัดนิทรรศการกลายเป็นกุญแจสำคัญ ของที่ฝากไว้ได้มาโดยมิได้คาดหวัง หากสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล เช่น การให้ผู้เป็นเจ้าของบอกเล่าถึงคุณค่าของวัตถุเหล่านั้น แต่กิจกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องในอนาคตที่รอการวางแผนและดำเนินการจัดเก็บอย่างเป็นระบบต่อไป ดังที่กล่าวไปแล้วว่านิทรรศการพยายามสร้างความทรงจำร่วม เราอาจนิยามพื้นที่นิทรรศการในลักษณะ"จุดประเด็น" เพราะความทรงจำเหล่านั้นสามารถนำไปสู่การอภิปรายในวงกว้างภายใต้แนวคิดพลเมือง   ในขณะนี้ ปัญหาที่จะต้องพูดคุยอยู่ที่ว่าพิพิธภัณฑ์จะจัดการจำแนก และลำดับวัตถุที่เกี่ยวโยงกับความทรงจำในการจัดแสดงอย่างไร และเราจะมีวิธีการจัดการต่อความทรงจำของผู้เคยพำนักอาศัยไปในลักษณะใด เพราะความทรงจำอาจเป็นการบรรยายให้เห็นถึงตำแหน่งแห่งที่ของถนน หรือภาพของตลาดในอดีต หรือสุนทรพจน์ของบุคคลสำคัญ กาซี กูลส์(Cassie Cools) หรือการร่ายรำ diba ขณะเดียวกัน ยังมีความเจ็บปวดของการสูญเสีย เรือนพักถูกทำลาย ความยากจน กำลังใจในการอาศัยอยู่ในเขตชานเมือง   แซนดรา โปรซาเลนดิส์(Sandra Prosalendis) หัวหน้าโครงการกล่าวถึงนิทรรศการ ถนน… ว่าเปรียบเสมือนกระชอนที่ร่อนความทรงจำให้สถิตในพื้นที่นิทรรศการเพื่อยุวชนรุ่นหลัง พื้นที่เช่นนี้จะดูดดึงผู้ชมให้เข้ามาถ่ายทอดและบันทึกความทรงจำในรูปของ เสียง จดหมายเหตุเสียงจึงเชื่อมต่อภาพที่ลางเลือน ฉะนั้น หากถามว่านิทรรศการ ถนน… ควรหยุดเมื่อใด คำตอบง่ายๆ คือ เมื่อเรารู้ว่าจะทำอะไรต่อไป   จดหมายเหตุเสียงในฐานะแหล่งกำเนิดความรู้ ความสำคัญอีกประการหนึ่งของจดหมายเหตุเสียงคือ การทำงานเชิงรุก ด้วยการกระตุ้นการผลิตองค์ความรู้ ฉะนั้น จดหมายเหตุจะเป็นจักรกลหลักของการจัดเก็บเอกสาร และเมื่อนั้นจะนำไปสู่ประวัติศาสตร์ของมหาชนที่เป็นจริงขึ้นได้ จดหมายเหตุเสียงอาจจัดเก็บเรื่องราวงานเทศกาลklopse หรือวงดนตรีประเภท marimba ในเมืองเคปทาวน์ หรือการบอกเล่า "ความเป็นผิวสี" ใน เรื่องราวที่แตกต่างออกไป เช่น เรื่องราวของคนแอฟริกันในเคปทาวน์ หรือส่วนอื่นๆ ของคาบสมุทร หรืออีกที่ เราสามารถบันทึกอิทธิพลทางดนตรีที่ส่งข้ามไป-มาระหว่างปลายคาบสมุทรและพื้นที่ส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็น Kimberly, Namaqualand, Mozambique เป็นต้น หรือกระทั่งการบันทึกความเคลื่อนไหวทางการเมืองของสาธารณชน โครงการที่สามารถดำเนินการได้เหล่านี้ สามารถดำเนินการด้วยการบันทึกภาพ-เสียงและการจัดเก็บที่สมบูรณ์ขึ้นอีก   ข้อท้าทายหนึ่งในการทำงานประเภทนี้คือ การสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสถาบันการศึกษามืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญAnthony Seeger นัก จดหมายเหตุเสียงผู้คร่ำหวอด เตือนเราถึงความสำคัญของการบันทึกจากสนาม การบันทึกเสียงเป็นทรัพยากรที่ประเมินค่าไม่ได้ไม่ว่าจะมาจากส่วนไหนของโลกก็ตาม การบันทึกจากสนามเพื่องานวิชาการมีคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์ และโดยส่วนใหญ่ มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เนื้อหาของการบันทึกไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดหรือใส่ใจต่อผู้ฟัง การใช้งานไม่ได้เป็นไปตามกฏหมายลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ และโดยมากจะใช้เพื่อการวิจัย   อย่างไรก็ตาม หากเราจะดำเนินโครงการผลิตความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกเสียงใดๆ เราต้องระวังตนเองไม่ให้ตกอยู่ภายใต้กับดักของอดีตจักรวรรดินิยมและการล่าอาณานิคม จดหมายเหตุเสียงที่เคยเป็นมามีความใกล้ชิดกับการทำงานของมานุษยวิทยาการดนตรี(ethnomusicology) การบันทึกเสียงเป็นวิธีการที่ดีในการสร้างความรู้ แต่ก็มีอันตรายอย่างที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ชาติพันธุ์วิทยา ชาติพันธุ์วรรณนา และมานุษยวิทยา ได้กระทำไว้ในช่วงการล่าอาณานิคม การบันทึกเสียงในห้วงเวลานั้นก่อตัวเป็นจักรวรรดิทางปัญญาและวัฒนธรรม การบันทึกเสียงกลายเป็นเครื่องมืออันดีเยี่ยมของเหล่านักมานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยาการดนตรี เพื่อเดินทัพและเข้าครอบครองวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ลายลักษณ์ของสถานที่ที่แปลกตา แต่กลับงดงาม (exotic places)   ในโลกหลังอาณานิคมอย่างทุกวันนี้ การบันทึกเสียงพยายามดิ้นร้นให้พ้นจากอดีตอาณานิคม การบันทึกเข้ามารับใช้ต่อชุมชนท้องถิ่น ด้วยวิธีการอันทรงพลังของกระบวนการชาติพันธุ์วรรณา ประวัติศาสตร์บอกเล่าและมานุษยวิทยาการดนตรีที่ได้มอบไว้ให้ จดหมายเหตุเสียงอาจกลายเป็นเครื่องมือทรงพลังสำหรับนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว หรืออาสาสมัครของพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งด้วยการสร้างมรดกภาพ-เสียงของตนเอง หรือแม้แต่การช่วยให้ชุมชนในโลกที่ 3 ต่อ รองในสิทธิการครอบครองมรดกวัตถุ จดหมายเหตุเสียงจำเป็นต่อการปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนตามกฏหมายลิขสิทธิ์ ระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งคืนมรดกวัตถุวัฒนธรรม   จดหมายเหตุเสียงกลายเป็นธนาคารของความทรงจำที่จะทำให้ชุมชนที่เคยถูกกดขี่และเบียด ขับออกไปจากสังคมให้กลับมามีความสำคัญ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เขตหกเปรียบเหมือนกับการเรียกร้องสิทธิของผู้คน และผลักดันให้ชนชั้นล่างได้มีฐานะทางการเมืองและวัฒนธรรมในความเป็นเมืองเคปทาวน์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ประกาศอย่างแรงกล้าที่จะช่วงชิงการจัดประเภท และการนำเสนอภาพเกี่ยวกับตนเอง คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า สมาชิกของเขตหกมีสิทธิที่จะควบคุมวิถีทางที่กล่าวถึงตนเอง นั่นหมายถึงเขาสามารถพูดได้"ด้วยตัวเขาเอง" ความทรงจำของทุกคนเกี่ยวกับเขตหก ตั้งแต่นักประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้าเอง นักประพันธ์ ช่างทาสี หรือบุคคลธรรมดาทั้งชายและหญิงล้วนมีค่ายิ่งนัก ด้วยเหตุนี้ การบันทึกเสียงจากปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มได้สถาปนาหนทางใหม่ในการจัดการความ รู้ทางวัฒนธรรม   คลังสะสมมรดกภาพ-เสียงสะท้อนความเป็นอยู่ของเมืองในยุคแรกๆ นั่นคือภาพของเคปตะวันตก (West Cape) เช่น เขตหกมีความสำคัญเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของวรรณกรรมชนผิวดำแอฟริกาใต้และการแสดง ชื่อซึ่งเป็นรู้จัก ไม่ว่า ริชาร์ด ริฟ (Richard Rive) อเล็กซ์ ลา กูมู (Alex La Guma) อับดุลลาห์ อิบราฮิม (Abdullah Ibrahim) เบซิล โกเอซี (Basil Coetzee) โมเซส โกตาเน (Moses Kotane) และเกอร์ฮาร์ด เซโกโต (Gerhard Sekoto) ล้วน แต่มีความเกี่ยวข้องทั้งสิ้น เขตหกยังพ้องกับงานเทศกาล การเต้นรำ ศาสนดนตรี การแสดงหลากรูปแบบ การเมืองภาคประชาชน และนักคิดที่เป็นที่รู้จัก เขตหกจะเชื่อมโยงความเป็นอยู่ชีวิตคนงานในเมือง การต่อสู้กับเชื้อชาตินิยม (racism) ใน เมืองเคป ทาวน์ และการปลดปล่อยความทรงจำของการกดขี่หรือชีวิตเกย์ และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าเป็นขุมประสบการณ์มนุษย์ให้เราได้สำรวจกันต่อไป   แม้ว่าการสืบค้นเริ่มต้นที่ชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงาน แต่ความสนใจขยายเพิ่มออกไปเกี่ยวกับคนและสถานที่ที่หลากหลายมากขึ้น แน่นอนว่าสถานที่บางแห่งสัมพันธ์กับการแบ่งแยกสีผิว หรือการแบ่งแยกที่มาจากสาเหตุอื่น นิกาย ความเชื่อ ศาสนา หรือภาษา ด้วยเหตุนี้ จดหมายเหตุเสียงสามารถบันทึกเรื่องเล่าที่แตกต่างเกี่ยวกับอดีต และยังสามารถพัฒนาเป็นคลังความรู้สาธารณะเกี่ยวกับอดีตและปัจจุบันได้เป็น อย่างดี   จดหมายเหตุเสียงและชุมชน จดหมายเหตุเสียงทำหน้าที่เป็นธนาคารความทรงจำให้กับชุมชน การเก็บบันทึกมุ่งไปที่ประสบการณ์และแง่มุมของชนชั้นล่างและคนชายขอบ เพื่อเป็นกระจกสะท้อนรูปแบบของอำนาจทั้งที่เปิดเผยและปกปิดในเมือง ภารกิจหลักคือจัดเก็บและบันทึกประสบการณ์จากชีวิตของชุมชน ทั้งรากเดิมและความเปลี่ยนแปลง ทั้งชีวิตการทำงาน และชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงาน เครื่องมือนี้จะเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงออกและนำเสนอตน เอง   พิพิธภัณฑ์เขตหกมีทั้งเรื่องที่สรรเสริญและวิจารณ์ เช่นการจัดแสดงที่ทำขึ้นอย่างหยาบๆ ภาพครอบครัว และเทคนิคที่มีต้นทุนต่ำ อาทิ การใช้เอกสารสำเนาในฉากจำลอง และการจัดวางวัตถุ แผนที่ และเสื้อผ้าอย่างเรียบง่าย นิทรรศการ"ถนน" ที่ศิลปินอย่าง ทินา สมิธ (Tina Smith) และเพ็กกี้ เดล พอร์ต (Peggy Delport) เข้า ร่วม ได้แสดงถึงลักษณะเฉพาะของชุมชน อย่างไรก็ตาม โครงการจดหมายเหตุเสียงกลายเป็นข้อท้าทายใหม่ในการทำงานของโลกยุคดิจิตอล เพราะจุดประสงค์สำคัญคือ การจัดเก็บมรดกเสียงและเปิดโอกาสให้สมาชิกของชุมชนได้ใช้ประโยชน์ เราเปิดโอกาสให้กระบวนการทำงานมาจากทุกฝ่าย และอาศัยเทคโนโลยีระบบดิจิตอลเช่น แผ่นซีดี ซีดี-รอม หรือแผ่นดีวีดี   จดหมายเหตุเสียงของชุมชนมีบทบาทในระยะยาวและพัฒนาเคียงคู่ไปกับผู้คนที่บันทึกความทรงจำ จดหมายเหตุเสียงทำหน้าที่เป็น"รับฝาก" ความ ทรงจำเพื่อการใช้งานในอนาคต ดังกรณีในออสเตรเลีย จดหมายเหตุเสียงใช้ในกระบวนการตั้งถิ่นฐานและเรียกร้องที่ดินของชาวอะบอริจิ น เจ้าของวัฒนธรรมผู้แสดงบทเพลงที่เนื้อหาบอกเล่าประวัติของพื้นที่ ย่อมมีสิทธิเหนือดินแดนอันเป็นที่มาของบทเพลง   จดหมายเหตุเสียงของชุมชนจะช่วยเผยแพร่แหล่งทรัพยากรวัฒนธรรมไปในวงกว้าง การริเริ่มโครงการจดหมายเหตุใหม่ๆ ทำให้เกิดแรงผลักดันในการทำงาน ทั้งในแอฟริกาตะวันตกและในพื้นที่อีกหลายแห่งเช่นแซมเบีย(Zambia) ดังตัวอย่างของการทำงานของพิพิธภัณฑ์นายุมมิ (Nayume Province) ในจังหวัดตะวันตกของแซมเบีย ที่บันทึกดนตรีพื้นถิ่นในเขตชนบทของแซมเบีย นอกจากนี้ ความสนใจในดนตรีพื้นถิ่นหรือ world music ได้ ผลักดันเงินทุนและการสนับสนุนจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ล่าสุดเมื่อข้าพเจ้าเข้าชมหอจดหมายเหตุดนตรีพื้นถิ่นในบลุมิงตัน รัฐอินเดียนา (Bloomington, Indiana) ข้าพเจ้าได้ทำความรู้จักกับนักวิชาการชาวเซเนกัล (Senegal) เขาได้กลับมาที่มหาวิทยาลัย หลังจากที่ได้จบการศึกษา 20 ปี เขาได้สำเนาบันทึกภาคสนามในขณะเป็นนักศึกษาสาขามานุษยวิทยาการดนตรี เพื่อนำกลับไปยังประเทศของตน ลองคิดดูว่าเซเนกัลมีจดหมายเหตุเสียงที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์   อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่ควรระวังอยู่ไม่น้อย จดหมายเหตุของชุมชนควรตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนในในการใช้ประโยชน์ด้วย เช่นกัน สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนได้จากภาพยนตร์เรื่องWatermelon Woman ผู้กำกับ เชอริล ดันนี (Cheryl Dunye) แสดงเป็นนักรณรงค์หญิงรักหญิง (lesbian activist) และผู้สร้างภาพยนตร์ เธอค้นหาชีวประวัติของนักแสดงหญิงชาวแอฟริกันอเมริกันในช่วงทศวรรษ 1940 จากภาพยนตร์ที่มีชื่อเดียวกัน Watermelon Woman ช่วงหนึ่งของภาพยนตร์กล่าวถึงตัวละครเอกที่เข้าไปค้นหาข้อมูลจดหมายเหตุของชุมชนหญิงรักหญิง (หรือในนามย่อ CLIT) นัก จดหมายเหตุได้โยนกล่องที่บรรจุภาพถ่ายและกระดาษลงพื้น แล้วเดินจากไป ปล่อยให้ตัวละครเอกค้นหาเอกสารต่างๆ และหลุดลอยไปกับข้อมูลในกล่องนั้น   ฉากที่หยิบยกมานี้พยายามสะท้อนถึงความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูล ว่าอาจจะมีความสำคัญในอันดับต้นนอกเหนือไปจากการอนุรักษ์ ฉากได้ตั้งคำถามถึงความสมดุลย์ของความต้องการของชุมชนในระยะสั้นและการเก็บ รักษาในระยะยาว และแน่นอนว่าจดหมายเหตุของเขตหกเองไม่ได้เผชิญกับปัญหาดังกล่าวเป็นคนแรกๆ   อย่างไรก็ตาม จดหมายเหตุของชุมชนไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้ความรับผิดชอบทุกอย่างตกอยู่กับเจ้าของวัฒนธรรม เราใช้เวลา18 เดือน ในการเตรียมการและพัฒนาความรู้พื้นฐานและระบบตามโครงการจดหมายเหตุที่ได้ริ เริ่มขึ้น รวมไปถึงการวางแผนและแนวทางปฏิบัติเชิงสถาบัน การดำเนินงานอย่างจริงจังทั้งการสืบค้นและจัดเก็บ การให้บริการและการอนุรักษ์จะเริ่มต้นในปี 2000 เมื่อจดหมายเหตุเปิดให้บริการกับสาธารณชน   เราจะจัดลำดับการทำงานและเชื่อมโยงกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ(National Archives) และหอภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และจดหมายเหตุเสียงแห่งชาติ (National Film, Video and Sound Archives) เรา เชื่อว่าการทำงานจดหมายเหตุเสียงจะต้องอยู่ในลักษณะความร่วมมือเชิงนโยบาย และกลยุทธ์ เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนในการทำงาน เรายังมีหน่วยงานย่อยที่รับผิดชอบงานในลักษณะคล้ายคลึงกัน ทั้งศูนย์มายีบูย (Mayibuye Center) โครงการประวัติศาสตร์บอกเล่าของเคปตะวันตก (Western Cape Oral History Project) และซี เอ เอ็ม เอ (CAMA)   ท้ายนี้ เราเห็นว่างานจดหมายเหตุเสียงเป็นงานที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ลักษณะเด่นของโครงการอยู่ที่การอภิปรายและถกเกียงถึงเนื้อหาและรูปแบบการทำ งานอย่างไม่สิ้นสุดไปด้วยเช่นกัน คำถามที่ข้าพเจ้าปรารถนาจะทิ้งท้ายไว้คือ เราจะจัดสัดส่วนการทำงานเช่นใด ทั้งการจัดเก็บบันทึกความทรงจำ การสร้างองค์ความรู้ และการให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนและเอื้อประโยชน์ต่อสาธารณชนในระดับที่กว้างมากขึ้น?   แปลและเก็บความจาก Valmont Layne, "the Sound Archives at the District Six Museum: a work in progress" Archives for future, Global Perspectives on Audiovisual Archives in the 21st Century. Anthony Seeger and Shubha Chaudhuri (ed.). Calcutta: Seagull Books, 2004, pp. 183 - 195.  

เมื่อพิพิธภัณฑ์มาเคาะประตูโรงเรียน : ชุดการสอนในฐานะหนทางแห่งการเรียนรู้จากโคลัมเบีย

20 มีนาคม 2556

แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ คือสถานที่สำหรับกอบกู้และรักษาสิ่งของจากอดีต แต่ขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์ก็ต้องพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับโลกสมัยใหม่ และเปลี่ยนแปลงบทบาทตนเองจากผู้รับและรักษา "ของเก่า" ไปสู่การทำงานเชิงรุกมากขึ้น และหนึ่งในคืบก้าวที่สำคัญ คือ การทำงานร่วมกับสถานศึกษา จะเห็นได้ว่าระบบการเรียนการสอนทางสังคมศาสตร์ในปัจจุบันกำลังเดินสู่หนทางวิกฤต นับเป็นปีๆ ที่การท่องจำชื่อ วันเวลา และเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต ทำให้เด็กนักเรียนขาดความรู้ความเข้าใจที่จะเชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ ขาดการตอบสนองหรือการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมรอบตัว พวกเขาจึงกลายเป็นผู้รับข้อมูลที่รอคอยเพียงวันสอบไล่เท่านั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพียงแค่ให้เด็กๆ รู้เรื่องราวในอดีต แต่จะทำอย่างไรให้พวกเขาตระหนักถึงอดีตที่อยู่รอบตัวของเขา การศึกษาที่มุ่งเน้นแต่ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ควรถูกแทนที่ด้วยกิจกรรมที่ให้เด็กเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมโดยตรง การศึกษาชุมชนสามารถกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์และมองย้อนกลับไปยังชุมชนตนได้ พวกเขาจะเข้าใจว่าเรื่องราวจากอดีตมีผลต่อปัจจุบันอย่างไร ในการนี้ครูสามารถใช้โบสถ์ วัด พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่เก่าแก่ของชุมชน มาเป็นแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ของนักเรียนได้ กิจกรรมนอกห้องเรียนเปิดโอกาสให้เด็กๆ สัมผัสกับสภาพรอบตัว อันจะช่วยพัฒนากระบวนการคิดจากข้อเท็จจริงไปสู่ความคิดสร้างสรรค์และจากการสังเกตการณ์ไปสู่การพรรณนา พิพิธภัณฑ์สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ทางสังคม โดยมุ่งเน้นการสำรวจด้วยตนเองมากกว่าการสั่งสอนให้เด็กเป็นผู้รับแต่เพียงถ่ายเดียว ในขณะเดียวกันโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์สามารถใช้เป็นอุปกรณ์เสริมสร้างความรู้ เพราะสิ่งของเหล่านั้นคือตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับธรรมชาติในอดีต องค์ความรู้อันทรงคุณค่าเหล่านี้ไม่สมควรถูกเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ควรมีบทบาทเข้ามาพัฒนาทัศนคติและทักษะของคนในชุมชนไปพร้อมกัน ตัวอย่างของการนำพิพิธภัณฑ์เข้ามาสู่โครงการเรียนรู้ของโรงเรียน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ Museo del Oro สถานที่เก็บรักษาภาชนะทองคำในสมัยโบราณจากประเทศโคลัมเบีย พิพิธภัณฑ์เข้ามาปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่เกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการวิเคราะห์และตีความมากขึ้น อีกทั้งยังต้องการหนีห่างออกจากทัศนคติเดิมๆ ที่เน้นแต่เพียงเรื่องราวของวีรบุรุษและเหตุการณ์สำคัญๆ แต่เชื้อเชิญให้ปัจเจกบุคคลตระหนักว่าตัวเขาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นของเขาเอง โครงการ "เมื่อพิพิธภัณฑ์มาเคาะประตูโรงเรียน" (The Museum Comes to Your School Project) จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นโครงการที่ใช้ชุดการเรียนรู้ที่ออกแบบเฉพาะ มากระตุ้นทักษะการสำรวจของเด็กนักเรียนเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ตามวิธีการวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการทำงานเป็นกลุ่ม ปลูกฝังความสามัคคีและฝึกฝนการร่วมมือกันในสังคมเล็กๆ ของพวกเขา และแบบฝึกหัดนี้เองจะช่วยให้เด็กนักเรียนเรียนรู้คุณค่าในโลกเก่าของพวกเขาที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน โดยมีชุดการสอนเป็นแบบฝึกหัดในห้องเรียน แต่ละชุดการสอนบรรจุด้วยตัวอย่างของวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ของจริง, คู่มือประกอบคำอธิบาย, โปสเตอร์ ,กติกา, เกมและกิจกรรมล่วงเวลา ตัวอย่างชุดการสอนที่เกี่ยวกับเมืองโบโกต้า ถิ่นอินเดียแดงยุคโบราณ ประกอบด้วย วัตถุ - ตัวอย่างของวัสดุสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสินค้า เช่น ชั่งถ่วงน้ำหนัก สร้อยคอ ตุ้มหู เครื่องประดับ เครื่องสังเวยเทพเจ้า กระดูก เครื่องดินเผา เครื่องมือหิน เปลือกหอย เครื่องทอง และเครื่องใช้โลหะต่างๆ เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้นำมาจากแหล่งโบราณคดีชื่อว่า Muisca เป็นชนเผ่าโบราณเคยอาศัยอยู่ในบริเวณที่แถบประเทศโคลัมเบียเมื่อประมาณหนึ่งพันปีแล้ว (ค.ศ. 900 - ค.ศ. 1500) รวมถึงโบราณวัตถุในอารยธรรมยุคก่อนโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกาจากแหล่งโบราณคดีอื่นๆ มาใช้ประกอบการสอนในห้องเรียน วัตถุโบราณเหล่านี้ได้กระตุ้นความสนใจของเด็ก และการศึกษาสิ่งประดิษฐ์ที่เห็นอยู่ข้างหน้าเพื่อค้นหาผู้สรรค์สร้างวัตถุ ครั้งนี้เด็กๆ ไม่เพียงแต่สามารถจับต้องวัตถุได้เท่านั้น แต่ยังสามารถออกแบบนิทรรศการของพวกเขาได้ ด้วยอุปกรณ์ที่นำมาจากบ้าน หรือที่เขาคิดสร้างสรรค์เอง คู่มือ - คู่มือที่นำมาประกอบพร้อมวัตถุโบราณ จะทำให้เด็กทราบว่ายังมีความรู้อีกมากมายเกินกว่าที่ตาเห็นอันน่าค้นหาจากสิ่งประดิษฐ์จากยุคอดีต ข้อมูลเหล่านี้แสดงถึงความหมายของวัตถุและการใช้งานของมันในพิธีกรรมตามตำนาน หรือเทพนิยายต่างๆ อาทิ คติการสร้างโลก กำเนิดมนุษย์และสัตว์ การเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นต้น ในหน้าสุดท้ายของคู่มือจะมีคำแนะนำถึงกิจกรรมต่อเนื่องแก่ครูเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมและความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนต่อไป ทั้งการอ่านและการเขียน ทำให้เด็กสามารถสร้างโลกแห่งจินตนาการของพวกเขาได้จากเรื่องราวในคู่มือดังกล่าว โปสเตอร์ - สิ่งของทุกอย่างในชุดการสอน รวมทั้งภาพโปสเตอร์ล้วนพัฒนาความสามารถของเด็กนักเรียนให้เปิดรับและคัดสรรความรู้จากสิ่งที่ตาเห็น อันเป็นขั้นแรกสุดของการเรียนรู้โลกใบนี้ กิจกรรม - ธรรมชาติของเด็กทุกคนคือนักสำรวจ ดังนั้นกิจกรรมหลักในคู่มือจึงให้นักเรียนเล่นบทบาทสมมุติเป็นนักค้นคว้า รู้จักเปรียบเทียบประเพณีปัจจุบันกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และค้นหาโลกสมัยใหม่ที่อาจพบได้ในประวัติศาสตร์ที่เขาเรียนอยู่ โดยครูจะแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มประมาณ 4 - 6 คน ให้สำรวจวัตถุโบราณที่มอบหมาย กระตุ้นให้อภิปราย ถกเถียงอย่างอิสระในกลุ่ม เพื่อแสวงหาความหมายและวัตถุชิ้นน่าจะถูกใช้งานอย่างไร รวมถึงเสาะหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของจากอดีตกับที่เห็นในชีวิตประจำวัน จากจุดนี้เด็กนักเรียนเริ่มเรียนรู้ที่จะเปรียบเทียบวัฒนธรรมของพวกเขาเข้ากับที่เคยเกิดขึ้นในอดีตด้วยตัวเขาเอง อาจกล่าวได้ว่าหลักเปรียบเทียบเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง นอกจากเด็กจะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่งแล้ว พวกเขายังเรียนรู้ว่าผู้คนในสถานที่ต่างกัน ในเวลาต่างกันมีการแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ผู้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน เกมและกิจกรรมล่วงเวลา - เกมการละเล่นนอกจากนำความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่เด็กๆ แล้วยังสามารถเป็นสื่อการสอนอย่างดี ตัวอย่างเกม เช่น ตัวต่อ ภาพปริศนาสื่อถึงสัตว์ในยุคโบราณ อันเป็นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมของชนเผ่าดั้งเดิม เป็นต้น โครงการ "เมื่อพิพิธภัณฑ์มาเคาะประตูโรงเรียน" ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เด็กนักเรียนให้ความสนใจและตอบสนองต่อวัฒนธรรมดั่งเดิมของชุมชนพวกเขามากขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้เด็กบางคนที่ฐานะไม่เอื้อให้ไปพิพิธภัณฑ์ได้ใกล้ชิดโบราณวัตถุของจริง พวกเขาต่างตอบสนองด้วยความสงสัยใคร่รู้ และค้นหาคุณค่าของประวัติศาสตร์พื้นบ้านที่อยู่รายล้อมตัวเขามากขึ้น ดังนั้น การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไม่อาจจำกัดเพียงแค่ตำราเรียน แต่การก้าวหาพันธมิตรจากโรงเรียนไปสู่พิพิธภัณฑ์ และสามารถพัฒนาทักษะความรู้ การคิดพิเคราะห์ของเด็กๆ นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ พัฒนาทัศนคติและคุณค่าของครูและนักเรียนต่อประวัติศาสตร์ชุมชนอันเป็นรากฐาน เพื่อหยั่งรู้ถึงอนาคต ** แปลและเรียบเรียงจาก  Ivonne Delgado Ceron & Clara Isabel Mz- Recaman, "The Museum comes to school in Columbia: teaching package as a method of learning," The Presented Past:  heritage, museums and education. Peter G. Stone and Brian L. Molyneaux (ed.), (New York; London: Routledge, 1994.), pp. 148 - 158.