Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

การเดินทางของข้อมูลจารึก สู่ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย

การเดินทางของข้อมูลจารึก สู่ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 เวลา 10:49:31
บทความโดย : ทีมงาน

          ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย (http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/about.php) เป็นหนึ่งในฐานข้อมูลของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่เก็บรวบรวมข้อมูล สำเนาจารึกดิจิตอล ในรูปแบบของ website จัดจำแนกตามรูปแบบอักษร ภูมิภาค และจังหวัดที่พบจารึก โดยหนึ่งในภารกิจหลักของงานฐานข้อมูลจารึกคือการอัพเดตข้อมูลจารึกที่พบในประเทศไทย ให้ทันสมัย ครบถ้วน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ที่เข้ามาใช้งานฐานข้อมูล ในทุกๆ ปีงบประมาณ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ฐานข้อมูล จะต้องหาข้อมูลจารึกที่ต้องการการเติมเต็มให้สมบูรณ์ วันนี้เราจะนำทุกท่าน มาร่วมเดินทางไป สำรวจ เก็บข้อมูล และถ่ายภาพ จารึก ณ อำเภอชุมแพ  อำเภอเขาสวนกวาง และอำเภอเมือง  จังหวัดขอนแก่น ด้วยกันค่ะ

          ก่อนถึงวันเดินทาง นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ฐานข้อมูล มีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับจารึกที่พบที่จังหวัดขอนแก่น และกำหนดการณ์การเดินทาง และส่งให้เจ้าหน้าที่ประสานงานวิชาการดำเนินการประสานติดต่อสถานที่ ขออนุญาตเข้าสำรวจส่งไปยังสถานที่นั้น ๆ เพื่อให้การเดินทางไปเก็บข้อมูลในครั้งนี้สะดวกมากยิ่งขึ้น

          แต่สิ่งหนึ่งที่ทางทีมงานไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้คือ จารึกพระพุทธไสยาสน์ภูเวียง ตั้งอยู่บนเชิงผาเข้าภูเวียง ซึ่งต้องเดินเท้าขึ้นเขาไประยะทางกว่า 4 กิโลเมตร โดยไร้ผู้นำทาง 
          เมื่อวางแผนมา อีกทั้งจารึกพระพุทธไสยาสน์ภูเวียงนั้น ก็เป็นหนึ่งในจารึกที่สำคัญ ทีมงานเลยตัดสินใจที่จะเดินเท้าขึ้นไป เราออกเดินทางขึ้นเขาในเวลา 10.30 น. ด้วยสภาพอากาศ 40 องศา โดยมีป้ายบอกทางเป็นขวดน้ำ และผ้าของชาวบ้านที่ทำเครื่องหมายไว้เท่านั้น 

           ด้วยความที่ไม่มีคนในพื้นที่นำทาง ทางทีมงานก็เดินมาถึงทางตันที่ไม่สิ่งใดบอกทางเดินว่าควรไปต่อทางไหน 13.00 น. ทีมงานตัดสินเดินลงจากเขาภูเวียง เพราะไม่สามารถหาหนทางเดินต่อไปได้ การถอดใจในการตามหาจารึกพระพุทธไสยาสน์ภูเวียง ทำให้ทีมงานต้องวางแผนกันใหม่เพื่อมาเก็บข้อมูลที่นี้อีกครั้ง

          ในมุมมองของคนในพื้นที่ จารึก โบราณวัตถุทุกประเภทมันจะถูกจัดเก็บให้อยู่ในฐานะของสิงศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง จึงมักพบอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์และได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น  ทีมงานได้เดินทางไปเก็บข้อมูลจารึกที่พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณวัดศรีเมืองแอม พบว่าจารึกที่พบบนใบเสมานั้นได้ถูกจัดเก็บรวมอยู่กับโต๊ะหมู่บูชาภายในพิพิธภัณฑ์ ที่ชาวบ้านในละแวกนั้นต่างให้ความเลื่อมใส ข้อดีคือจารึกเหล่านี้มักจะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ครบถ้วน แต่แน่นอนว่าทางทีมงานเอง ก็ต้องเข้าไปทำงานด้วยความลำบากมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการขออนุญาตเข้าเก็บข้อมูล การรื้อโต๊ะหมู่บูชา และจัดเก็บเข้าที่เดิมไม่ให้เสียหาย หรือขัดต่อศรัทธาของชาวบ้าน
   
          อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นของทางทีมงานคือการพบจารึกใหม่ ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ทีมงานได้เดินทางไปสำรวจจารึกที่เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น นอกจากการอัพเดตข้อมูลจารึกที่มีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทยแล้ว ยังสำรวจพบจารึกเพิ่มเติมกว่า 10 หลัก

         แม้ว่างานสำรวจจารึกจะเป็นหนึ่งในงานส่วนย่อยของงานฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ที่นอกจากทีมงานจะเดินทางไปสำรวจ ถ่ายภาพ อัพเดตข้อมูลแล้ว เมื่อได้ข้อมูลเหล่านั้นมา นักวิชาการยังต้องนำมาศึกษา ค้นคว้า เพื่อให้ได้ข้อมูลจารึกทีครบถ้วน และถูกต้องที่สุด ก่อนจะนำไปเผยแพร่ ที่ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย (http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/about.php)  ทั้งนี้เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ที่จะเป็นแห่งข้อมูลซึ่งรวบรวมจารึกในประเทศไทย 

ผู้เขียน : มัณฑนา เพ็ชร์คง

คำสำคัญ : บันทึกการเดินทาง การสำรวจจารึก ขอนแก่น ศิลาจารึก