ฝักเพกา


(1) ส่วนกิ่งของนภศูล ลักษณะคล้ายฝักเพกา แต่บางท่านใช้คำว่า “ฝักเพกา” เรียกแทนนภศูลทั้งอันก็มี

(2) เครื่องโลหะประดับยอดปรางค์ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับเครื่องประดับที่เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “ลำภุขัน” ฝักเพกาหรือลำภุขันนี้เป็นนภศูลอย่างหนึ่งในจำพวกเครื่องประดับยอดของสถาปัตยกรรม ฝักเพกามีรูปลักษณะคล้ายใบมีดที่นำมามัดติดรวมกัน โดยปกตbจะพบว่ามีการทำกลุ่มฝักซ้อนกันสองชั้นและสามชั้น คือ ชั้นละ 4 กิ่ง และประดับยอดด้วยใบมีดรูปพระขรรค์อีกหนึ่งยอด

ฝักเพกาหรือลำภุขันนี้เป็นเครื่องประดับยอดปรางค์ของขอมที่ทำขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพราหมณ์อยู่เดิม เมื่อไทยรับเอาปรางค์ขอมมาใช้ในรูปแบบของปรางค์ในพระพุทธศาสนา หรือในรูปของพระเจดีย์ทรงปรางค์นั้น ไทยได้รับเอาฝักเพกาหรือลำภุขันไว้ในรูปแบบของเครื่องประดับด้วย และแปลความหมายของฝักเพกาหรือลำภุขันว่าเป็นอิศวรวัชระ หรืออาวุธของพระอินทร์ซึ่งเป็นใหญ่ มีที่สถิตเหนือยอดเขาพระสุเมรุ (ยอดพระปรางค์) และพระอินทร์ในคตินี้ก็เป็นพระอินทร์หรือเทวราชาในพุทธศาสนา มิใช่พระอิศวรในศาสนาพราหมณ์

 

ที่มาภาพ : สุจิตต์ วงษ์เทศ. “พระธาตุสวนแตง สุพรรณฯ ชุมชนโบราณยุคก่อนอยุธยา.” ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่  30  กันยายน 2553. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.sujitwongthes.com/2010/09/

ที่มา :

(1) สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.

(1) สมคิด จิระทัศนกุล. รู้เรื่อง วัด วิหาร โบสถ์ เจดีย์ พุทธสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2554 : 273.

(2) โชติ กัลยาณมิตร. พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2548 : 335.