นภศูล


hollow spear of the sky

(1) ส่วนยอดสุดของปราสาทและปรางค์ ทำด้วยโลหะเป็นรูปปลายแหลมหลายแฉก มาจากคำว่า “นภ” แปลว่า ท้องฟ้า และ “ศูล” แปลว่า เหล็กแหลม โดยเรียกจากลักษณะที่เป็นยอดชี้ขึ้นสู่ฟ้า คำนี้มีใช้อีกอย่างว่า “นพศูล” ซึ่งแปลว่า เหล็กแหลมเก้าปลาย

(2) องค์ประกอบตกแต่งส่วนปลายยอดสุด (ของปรางค์) ที่ทำด้วยโลหะหล่อเป็นรูป 4 แฉก คล้ายปลายหอก ต่อซ้อนกัน 2-3 ชั้น ระหว่างกลางแทรกด้วยแกน นภศูลนี้มีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง เช่น ลำภุขัน ฝักเพกา หรือ แง่งขิง แต่ในเชิงความหมายแล้วน่าจะหมายถึง “ตรีศูล” อาวุธประจำกายของพระอิศวร

(3) นภศูรย์ หรือ นภศูล คือองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมส่วนปลายสุดของเครื่องยอด มีใช้อยู่ 5 ประเภท คือ

          1. พุ่มข้าวบิณฑ์ ใช้สำหรับประดับยอดอาคารที่มีเครื่องยอด เช่น มณฑป บุษบก ปราสาท หรือเจดีย์ ซึ่งมีรูปลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมทั้งสิ้น

          2. ฉัตร ใช้สำหรับประดับยอดเจดีย์เพื่อเป็นเครื่องหมายให้ประจักษ์ว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงสร้างถวายไว้เป็นพุทธบูชา

          3. มงกุฎ ใช้สำหรับประดับปลายเครื่องยอดเจดีย์หรือปรางค์ที่มีลักษณะกลมหรือมากเหลี่ยม มักใช้กับเจดีย์หรือปรางค์ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง โดยเฉพาะในรัชกาลที่ 4 ใช้แทนพระนามเจ้าฟ้ามกุฎ ยอดมงกุฎนี้อาจประดับซ้อนลำภุขันได้

          4. ลำภุขัน หรือเรียกกันเป็นสามัญว่า ฝักเพกา ใช้ประดับยอดปรางค์ ทำด้วยแท่งโลหะฝังเป็นแกน มีกลีบคล้ายใบมีดแฉกซ้อนสองชั้นหรือสามชั้น ที่ปลายยอดมีรูปคล้ายพระขรรค์

          5. ลูกแก้ว ใช้ประดับยอดเจดีย์โดยทั่วไป และหากไม่เป็นยอดชนิดใดชนิดหนึ่งตามข้อ 1, 2, 3 หรือ 4 ดังกล่าวข้างต้น ก็จะต้องใช้ลูกแก้วประดับยอดแหลม

 

ที่มาภาพ : สุจิตต์ วงษ์เทศ. “พระธาตุสวนแตง สุพรรณฯ ชุมชนโบราณยุคก่อนอยุธยา.” ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่  30  กันยายน 2553. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.sujitwongthes.com/2010/09/

ที่มา :

(1) สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.

(2) สมคิด จิระทัศนกุล. รู้เรื่อง วัด วิหาร โบสถ์ เจดีย์ พุทธสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2554 : 273.

(3) โชติ กัลยาณมิตร. พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2548.