บ้านมีไฟ


(1) สิ่งก่อสร้างที่กล่าวถึงในจารึกปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พักคนเดินทาง ปัจจุบันเหลือร่องรอยเพียงอาคารที่มีลักษณะเป็นอาคารเดี่ยว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างด้วยศิลาแลงหรือหินทราย ส่วนหน้าเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีหน้าต่างด้านเดียวทางด้านทิศใต้ ส่วนในเป็นห้องมีหลังคาเป็นชั้นตามลักษณะของปราสาทเขมร

(2) ตามจารึกปราสาทพระขรรค์ระบุว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ราว พ.ศ.1724-1763) โปรดให้สร้าง “วหนิคฤหะ” หรือที่เรียกว่า บ้านมีไฟ หรือ บ้านพร้อมไฟ หรือที่พักคนเดินทาง (rest stop, travel lodge) จำนวน 121 แห่ง ควบคู่กับสถานพยาบาลหรือ อโรคยศาล จากเมืองพระนครไปตามเส้นทางต่างๆ หลายแห่ง เส้นทางหนึ่งคือจากเมืองพระนครไปยังวิมายปุระ ซึ่งมีศาสนสถานขนาดใหญ่ (ปราสาทพิมาย) ตั้งอยู่ที่ปลายทาง ตามเส้นทางดังกล่าวมีที่พักคนเดินทาง หรือบ้านพร้อมไฟ จำนวน 17 แห่ง สร้างด้วยศิลาแลงทั้งสิ้น เช่น กลุ่มปราสาทตาเมือน จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทบ้านบุ จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทห้วยแคน จังหวัดนครราชสีมา

(3) ค.ศ.1925 หลุยส์ ฟีโนต์ (Louis Finot) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส เรียกอาคารในลักษณะนี้ว่า ธรรมศาลา (Dharmsala)

(4) เดอลาจองกีแยร์ จัดไว้ว่าบ้านมีไฟเป็น โบราณสถานแบบปราสาททัพเจย

(5) ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงระบุว่า ที่พักคนเดินทางคงสร้างด้วยไม้ แต่มีตัวปราสาทสร้างด้วยสิลาแลง ตั้งอยู่เป็นที่สังเกต คือมีปราสาทประดิษฐานรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งทรงเป็นที่พึ่งของผู้เดินทางอยู่ทางทิศตะวันตก ปราสาทแบบนี้มุขค่อนข้างยาวออกไปทางทิศตะวันออก มีหน้าต่างหลายบานเฉพาะผนังทางทิศใต้ของมุข อาคารศิลาแลงแห่งนี้บางครั้งก็แสดงให้เห็นว่านำแท่งศิลาเก่ามาใช้ในการก่อสร้างใหม่ เพราะยังคงมีลวดลายเก่าสลักอยู่ และบางครั้งก็มีรูปพระพุทธรูปปางสมาธินั่งอยู่ในซุ้มหลายองค์ตั้งอยู่บนยอดหลังคาของมุขที่ยื่นออกมาทางด้านทิศตะวันออกด้วย ไม่ปรากฏว่าได้ค้นพบกำแพงล้อมรอบ มุขนั้นยาวมีเนื้อที่มากจนทำให้สงสัยว่าจะให้ผู้เดินทางเข้าพักภายในมุขนั้นด้วยหรือไม่

 

ปราสาทตาเมือน

ที่มา : http://th.wikipedia.org/ปราสาทตาเมือน#/media/File:Prasat_Ta_Muen-2-HDR.jpg

ที่มา :

(1) สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.

(3) (4) (5) Coedes, George. ทรงแปลโดย ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล. “ที่พักคนเดินทางของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7.” ศิลปวัฒนธรรม 16, 2 (ธ.ค. 2537) : 104-106.