โบราณคดีชาติพันธุ์วิทยา


ethnoarchaeology

(1) แนวทางการศึกษาที่ผสมผสานระหว่างแนวคิดทางชาติพันธุ์วรรณาและแนวคิดทางโบราณคดี มีจุดมุ่งหมายหลักในการทำความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ โดยใช้วิธีการศึกษาทางโบราณคดี ศึกษาสังคม วัฒนธรรมในปัจจุบัน เพื่อสร้างคำอธิบายหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในแหล่งโบราณคดี

(2) การศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลชาติพันธุ์วรรณนาของคนที่ในปัจจุบันหลายๆ กลุ่มคน/สังคม หรือศึกษาเฉพาะกลุ่มสังคมเฉพาะปัจจุบันสำหรับการสืบค้นทางโบราณคดี โดยนักโบราณคดีลงไปสังเกตการณ์ด้วยตนเองและอยู่ร่วมกันกับกลุ่มคน/สังคมที่เข้าไปศึกษา เพื่อเปรียบเทียบลักษณะร่วมและแตกต่างทางวัฒนธรรม และเพื่อใช้ในการทำความเข้าเข้าใจพฤติกรรม และสร้างข้อสมมติฐาน โมเดล ในการทำนายและตีความหลักฐานทางโบราณคดี โดยศึกษาร่องรอยของวัตถุทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนหรือกลุ่มสังคมปัจจุบัน เพื่อใช้ในการสืบสร้างวิถีชีวิตของคนในอดีตผ่านวัตถุหรือนามธรรม สำหรับในประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ภู่ขจร เป็นนักโบราณคดีไทยคนแรกที่ใช้คำศัพท์ “Ethnoarchaeology” และใช้คำนิยามภาษาไทยว่า “ชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดี” ปรากฏในหนังสือ “ผลการวิเคราะห์กลุ่มสังคมล่าสัตว์: ชนกลุ่มน้อยเผ่า ‘ผีตองเหลือง’ ในประเทศไทย” จัดพิมพ์โดยอมรินทร์พริ้นติ้ง พ.ศ.2531 

(3) จุดมุ่งหมายหลักของการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดีคือการทำความเข้าในความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของมนุษย์กับวัตถุ โดยพิจารณาจากข้อมูลต่างๆ จากสังคมปัจจุบันหรือสังคมที่มีอยู่ในอดีต เพื่อนำไปศึกษาเทียบเคียงกับหลักฐานหรือข้อมูลทางโบราณคดีแล้วอธิบายสภาพของสังคมหรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับหลักฐานทางโบราณคดีนั้นๆ โดยการศึกษาได้มาจากการวิจัยในภาคสนามเองโดยตรงของนักโบราณคดี เนื่องจากข้อมูลทางชาติพันธุ์ที่ศึกษาโดยนักชาติพันธุ์วิทยานั้นมักมีข้อจำกัดต่อการนำมาช่วยในการศึกษาแปลความหลักฐานทางโบราณคดี

วัตถุประสงค์สำคัญของการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดีประกอบด้วย

1. การสร้างภาพวิถีชีวิตมนุษย์ในอดีต โดยการรวบรวมความรู้ทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์เพื่อช่วยในการแปลความและอธิบายร่องรอยหรือหลักฐานทางโบราณคดี

2. สร้างทฤษฎีทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญในการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดีในการค้นหากฎเกณฑ์สากลหรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทฤษฎี (universal rule or monotheory) ที่ใช้ในการศึกษาร่วมกันเพื่ออธิบายภาพวิถีชีวิตของมนุษย์เมื่อครั้งอดีตที่เป็นแบบแผนเดียวกันและสร้างตัวแบบในการศึกษาทางโบราณคดีให้ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น 

ที่มา :

(1) สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.

(2) รัศมี ชูทรงเดช. “ชาติพันธุ์วิทยาโบราณคดี กับงานค้นคว้าเรื่องคนไท.” (ออนไลน์), 2555. เข้าถึงเมื่อ 18 พฤษภาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.rasmishoocongdej.com/2012/ชาติพันธุ์วิทยาโบราณคดี-กับงานค้นคว้าเรื่องคนไท

(3) สุรีรัตน์ บุบผา. “การศึกษาชาติพันธุ์วรรณาทางโบราณคดีเกี่ยวกับระบบนิเวศของภาชนะดินเผาที่บ้านหัวบึง จังหวัดขอนแก่น.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2544.