เมืองหลวงเก่าของไทย


ในอดีตอันยาวนาน ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคน ที่มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ ตั้งแต่เป็นกลุ่มครอบครัวเล็กๆ จำนวนไม่เกิน 10 คน ที่เร่ร่อนหาอาหาร และมีที่พักพิง อยู่ตามถ้ำเพิงผาตามธรรมชาติ เมื่อหลายหมื่นปีมาแล้ว ต่อมา เมื่อมีการรวมตัวกันเป็นเผ่าพันธุ์จำนวนมากขึ้น จึงตั้งหลักแหล่งตามที่ราบ ที่มีผืนดินอุดมสมบูรณ์ เพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ไม่เคลื่อนย้ายเร่ร่อนกันอีกต่อไป ที่อยู่อาศัยของเผ่าพันธุ์เหล่านี้ มีลักษณะเป็นหมู่บ้าน ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดี เป็นเศษเครื่องมือเครื่องใช้ของคนยุคนี้ เมื่อ 2,000 - 4,000 ปีมาแล้วอยู่ทั่วไป หมู่บ้านเหล่านี้บางแห่งตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ มีที่ทำกินกว้างขวาง จำนวนประชากรในหมู่บ้านมีมากขึ้น มีคติความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ และผีอันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางธรรมชาติ มีการจัดการทรัพยากร ควบคุมบริหารกำลังคน ร่วมมือกันขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบหมู่บ้าน เพื่อป้องกันภยันตราย และเพื่อการชลประทาน กลายเป็นเมืองที่ปรากฏร่องรอยเป็นหลักฐานให้เห็นได้ในปัจจุบัน 

เมื่อ 1,500 - 2,000 ปีมาแล้ว ชาวอินเดียได้เข้ามาติดต่อค้าขาย และได้นำอารยธรรมทางศาสนา อันเป็นคติความเชื่อแบบใหม่ เข้ามาผสมผสานกับคติความเชื่อพื้นเมือง ศาสนาสำคัญที่เข้ามาคือ พระพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ ที่มีส่วนของคำอธิบายเกี่ยวกับจักรวาล พระจักรพรรดิ หรือพระราชามหากษัตริย์ เป็นแนวคิดของการรวมตัวกันของเมืองหลายๆ เมืองเข้าเป็นแว่นแคว้นเดียวกัน โดยมีเมืองของพระ-มหากษัตริย์ที่เป็นใหญ่กว่ากษัตริย์ทั้งหลายเป็นเมืองราชธานีหรือเมืองหลวง 

เมืองที่รวมตัวกันเป็นแว่นแคว้นเดียวกันได้นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน และมีช่วงเวลามากน้อยไม่เท่ากัน ในระยะแรกๆ คงจะเกิดขึ้นบริเวณที่ใกล้อ่าวไทย ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวอินเดียเข้ามาตั้งรกราก แล้วจึงค่อยๆเข้าสู่แผ่นดินภายในทวีปมากขึ้น ลักษณะการรวมตัวจะมีความเหนียวแน่น หรือผูกพันกันหลวมๆ แตกต่างกันไป แล้วแต่องค์ประกอบของปัจจัยและสภาพแวดล้อมในการรวมตัวกันเป็นสำคัญ โดยมีศาสนาเป็นตัวสร้างเสริมอำนาจศูนย์กลางในการรวมตัวกันนั้น ดังนั้น เมืองที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจการปกครอง หรือเมืองหลวงอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่กว่ากษัตริย์อื่นๆภาย

ที่มา :

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. “เมืองหลวงเก่าของไทย” สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ 24. (ออนไลน์), 2542. เข้าถึงเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2548. แหล่งที่มา http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=24&chap=3&page=chap3.htm