อุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย


ความหมายของอุทยานประวัติศาสตร์

อุทยานประวัติศาสตร์ หมายถึง บริเวณสถานที่ ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ

1. อาคารสถาปัตยกรรม ซากโบราณสถาน ที่อยู่อาศัย วัดวาอาราม และศาสนสถาน

2. สภาพแวดล้อมของโบราณสถานรวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น สระน้ำ คูคลอง ถนนและทางเดิน สวนป่า

3. การผสมผสานกันระหว่างการก่อสร้างของมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม

ในความหมายของอุทยานประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่า เป็นการเน้นที่โบราณสถานเป็นหลัก โดยมีสภาพแวดล้อมทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์เข้าไปมีส่วนร่วมในการตกแต่งเพิ่มเติม เป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ ต้องมีการผสมผสานกันอย่างกลมกลืน และสามารถที่จะรักษาสภาพอันเป็นของแท้ และดั้งเดิมนั้นไว้ได้

การอนุรักษ์โบราณสถานตามแนวทางของ “อุทยานประวัติศาสตร์” นั้น มุ่งเน้นที่จะให้ “โบราณสถาน” และ “คน” อยู่รวมกัน โดยมีสภาพแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติ สังคม เศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี เป็นส่วนเชื่อมโยง โดยเห็นคุณค่า และความสำคัญซึ่งกันและกัน

 

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

1. ที่ตั้ง

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุโขทัย อยู่ห่างจากตัวเมืองสุโขทัย ไปทางทิศตะวันตก 12 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 447 กิโลเมตร

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองเก่าสุโขทัย รวมทั้งโบราณสถานแต่ละแห่ง ที่อยู่ภายในบริเวณ มีพื้นที่ 43,750 ไร่ หรือประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร

2. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

ในด้านภูมิศาสตร์ บริเวณที่ตั้งของจังหวัดสุโขทัย อยู่ในบริเวณภาคกลางตอนบน โดยได้ค้นพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย ์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ในเขตอำเภอศรีนคร อำเภอบ้านด่านลานหอย และอำเภอคีรีมาศ แสดงถึงหลักฐานของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งชุมชนเหล่านี้ ได้อยู่ต่อเนื่องกัน และตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นในเวลาต่อมา จนกระทั่งประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ชุมชนบริเวณนี้ จึงได้มีการติดต่อกับดินแดนอื่นๆ ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพื้นฐานวัฒนธรรมแบบทวารวดี ทั้งนี้ ได้มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดชมชื่น อำเภอศรีสัชนาลัย

หลักฐานทางศิลปกรรมที่พบในเขตเมืองเก่าสุโขทัยที่ศาลตาผาแดง และปรางค์เขาปู่จา ในเขตอำเภอคีรีมาศ ได้แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมเขมรโบราณ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งน่าจะเป็นพัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองในวัฒนธรรมเขมร ในบริเวณที่ราบเชิงเขาหลวงเป็นครั้งแรก จนประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 18 จึงปรากฏเรื่องราวของกลุ่มชนที่ตั้งตนเป็นอิสระ เพื่อปกครองเมืองสุโขทัย ซึ่งกลุ่มชนเหล่านี้ก็คือ บรรพชนของคนไทยในปัจจุบัน

อาณาจักรสุโขทัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐาน ตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีนาวนำถม และเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (เดิมคือ พ่อขุนบางกลางหาว พ.ศ. 1781 - ปีใดไม่ปรากฏ) อาณาจักรสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. 1822 - 1841) ช่วงสมัยของพระองค์ได้ทรงแผ่อาณาเขตออกไปโดยรอบ วัฒนธรรมไทยได้เจริญรุ่งเรืองทุกสาขา ทั้งในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม พระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ราชวงศ์ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ราชวงศ์พระร่วง หรือสุโขทัย) ได้ปกครองอาณาจักรสุโขทัยสืบต่อมาเป็นเวลาประมาณ 200 ปี ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยา

3. โบราณสถานที่สำคัญ

สุโขทัยในอดีตเคยเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีกำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งเป็นกำแพงพูนดิน 3 ชั้น มีประตูเมือง 4 ประตู ทิศเหนือเรียกว่า ประตูศาลหลวง ทิศใต้เรียกว่า ประตูนะโม ทิศตะวันออกเรียกว่า ประตูกำแพงหัก และทิศตะวันตกเรียกว่า ประตูอ้อ ภายในเมืองมีตระพังหรือสระน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง คือ ตระพังเงิน ตระพังทอง ตระพังสอ และตระพังตระกวน ทั้งนี้ โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีทั้งภายใน และภายนอกกำแพงเมือง รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 125 แห่ง ประกอบด้วย

3.1 โบราณสถานภายในกำแพงเมือง

สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 35 แห่งที่สำคัญคือ วัดมหาธาตุ ซึ่งมีเจดีย์ทรงดอก บัวตูม ที่เป็นเอกลักษณ์ทางด้านสถาปัตยกรรมของสุโขทัยโดยเฉพาะ โบราณสถานที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ เนินปราสาท วัดศรีสวาย วัดสระศรี วัดสรศักดิ์ วัดชนะสงคราม

3.2 โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ

สำรวจพบแล้วมีทั้งสิ้น 16 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพระพายหลวง วัดศรีชุม และเตาทุเรียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตภาชนะดินเผา ที่มีชื่อเสียงของสุโขทัย

3.3 โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก

สำรวจพบแล้วมีทั้งสิ้น 18 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดช้างล้อม วัดเจดีย์สูง และวัดตระพังทองหลาง โดยเฉพาะวัดตระพังทองหลาง มีพระพุทธรูปปูนปั้นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ซึ่งถือได้ว่า เป็นศิลปกรรมชิ้นเอกสมัยสุโขทัย

3.4 โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้

สำรวจพบแล้วมีทั้งสิ้น 23 แห่ง ที่สำคัญ คือ วัดเชตุพน วัดเจดีย์สี่ห้อง วัดศรีพิจิตรกิติกัลยาราม วัดวิหารทอง และวัดต้นจันทน์

3.5 โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก

สำรวจพบแล้วมีทั้งสิ้น 23 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดป่ามะม่วง เทวาลัยมหาเกษตร วัดมังกร วัดตึก

3.6 โบราณสถานบนเนินเขา

สำรวจพบแล้วมี 10 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดสะพานหิน วัดช้างรอบ วัดเขาพระบาทน้อย วัดเจดีย์งาม วัดถ้ำหีบ วัดอรัญญิก และ ทำนบพระร่วง (สรีดภงส์) ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำ อยู่ระหว่างเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายมา

กรมศิลปากรได้มีโครงการจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2519 และทำการบูรณะฟื้นฟูเรื่อยมา จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน ประกอบพิธีเปิดอุทยาน ประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 หลังจากนั้นต่อมาอีก 3 ปี คณะกรรมการมรดกโลก แห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติของโลก ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในการประชุม ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เมื่อ พ.ศ. 2534 ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม พร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏ แสดงให้เห็นถึงผลงานด้านสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น นับเป็นตัวแทนของศิลปกรรมไทยยุคแรก และเป็นต้นกำเนิดของการสร้างประเทศ

 

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

1. ที่ตั้ง

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ และตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัย อยู่ในเขตบ้านพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย โดยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือ 550 กิโลเมตร

ที่ตั้งของเมืองโบราณศรีสัชนาลัย มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขาพระศรี และเขาใหญ่ทางด้านทิศตะวันตก และมีลำน้ำยมอยู่ทางด้านทิศตะวันออก

กรมศิลปากรได้กำหนดเขตพื้นที่โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยไว้ รวม 28,217 ไร่

2. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

เนื่องจากสภาพภูมิประเทศอันเป็นที่ตั้งของเมืองศรีสัชนาลัย มีความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน คือ มีทั้งที่ราบลุ่มริมแม่น้ำยม และที่ราบเชิงเขาพระศรี และเขาใหญ่ ทำให้มีทั้งความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และลักษณะทางธรรมชาติ ที่ใช้ในการป้องกันข้าศึกศัตรูได้อย่างดีด้วย

จากหลักฐานพวกขวานหินขัด (เครื่องมือเครื่องใช้ของคนสมัยโบราณ) ที่สำรวจพบ ที่ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย รวมทั้งจากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดชมชื่น แสดงว่า มีชุมชนอยู่อาศัยในบริเวณนั้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา และเป็นชุมชนร่วมสมัยทวารวดีกับในภาคกลาง ต่อจากนั้นก็เป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 18) ซึ่งเห็นได้จากพระปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ในระยะนั้นเมืองศรีสัชนาลัยมีชื่อว่า เมืองเชลียง ตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก ตำนาน และพงศาวดารยืนยันว่า มีเมืองโบราณ 2 เมืองตั้งอยู่ในลุ่มน้ำยมก่อนแล้ว คือ เมืองสุโขทัย และเมืองเชลียง ต่อมาภายหลัง จึงได้มีการก่อสร้างเมืองศรีสัชนาลัยขึ้น ทางด้านทิศเหนือของเมืองเชลียง โดยอยู่ห่างออกไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร เมืองศรีสัชนาลัยจึงมีความสำคัญควบคู่กันกับเมืองสุโขทัย โดยจากหลักฐานได้กล่าวถึงพ่อขุนศรีนาวนำถมว่า เป็นกษัตริย์ที่ครอง 2 นคร คือ ทั้งเมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัย (ก่อน พ.ศ. 1781)

ในเวลาต่อมา เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรสุโขทัย (พ.ศ. 1781 - ปีใดไม่ปรากฏ) จึงได้โปรดให้พ่อขุนบาลเมืองไปครองเมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนรามคำแหงและพระยาลิไทก็เคยครองเมืองศรีสัชนาลัย ก่อนขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรสุโขทัย ต่อมาเมื่อสุโขทัย ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยา เมืองศรีสัชนาลัยได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสวรรคโลก

เมืองศรีสัชนาลัยหรือเมืองสวรรคโลก ในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นเมืองสำคัญที่ผลิตภาชนะเครื่องเคลือบสังคโลกให้แก่กรุงศรีอยุธยา ในสมัยต่อมา เมื่อมีการจัดระบบการปกครอง เรื่องเชื้อสายราชวงศ์ ให้เข้าอยู่ในระบบราชการเรียบร้อยแล้ว กรุงศรีอยุธยาได้เป็นผู้แต่งตั้งเจ้าเมือง มาปกครองเมืองสวรรคโลก ซึ่งมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นนอกระดับเมืองโท หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 เมืองศรีสัชนาลัย หรือเมืองสวรรคโลกถูกทิ้งร้าง ต่อมาได้จัดตั้งเมืองสวรรคโลกขึ้นใหม่ที่บ้านท่าชัย อยู่ด้านทิศใต้ของเมืองเดิม และในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านวังไม้ขอน คือ ที่ตั้งของอำเภอสวรรคโลกในปัจจุบัน ส่วนชื่อเมืองศรีสัชนาลัยได้นำไปตั้งเป็นชื่อของอำเภอ คือ อำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งได้รวมเอาเขตพื้นที่เมืองศรีสัชนาลัยโบราณไว้ด้วย

3. โบราณสถานสำคัญ

เมืองโบราณศรีสัชนาลัยมีขอบเขตของผังเมือง ที่ก่อสร้างทับซ้อนอยู่บนบริเวณเมืองเชลียงเดิม กล่าวคือ แนวกำแพงเมืองเชลียงเดิม ทำเป็นคันดินยาวขนานไปตามลำน้ำยม เริ่มจากบริเวณวัดมหาธาตุเชลียง ไปตามลำน้ำยม เลยผ่านเขาพนมเพลิงออกไป ยังคงปรากฏหลักฐานคันดินให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ

ต่อมา เมื่อได้มีการก่อสร้างเมืองศรีสัชนาลัยขึ้น จึงได้พิจารณาเลือกบริเวณที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา มีการก่อสร้างกำแพงเมืองด้วยศิลาแลง ลักษณะผังเมืองเป็นรูปหลายเหลี่ยมไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของลำน้ำยม ในช่วงนี้ลักษณะของกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยมีหลายแนว เพราะคงมีการผสมผสานนำเอาแนวกำแพงคันดิน ในสมัยที่เป็นเมืองเชลียง เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย

โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมีทั้งภายในและภายนอกกำแพงเมือง รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 131 แห่ง ประกอบด้วย

3.1 โบราณสถานภายในกำแพงเมือง

สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 28 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถววัดนางพญา วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดสวนแก้วอุทยานน้อย

3.2 โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ

สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 35 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดกุฎีราย เตาทุเรียงบ้านป่ายาง และเตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย ซึ่งเป็นแหล่ง ผลิตภาชนะดินเผา “เครื่องสังคโลก” ที่สำคัญของเมืองศรีสัชนาลัย

3.3 โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก

สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดสวนสัก วัดป่าแก้ว

3.4 โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้

สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 24 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดชมชื่น วัดเจ้าจันทร์ วัดโคกสิงคาราม

3.5 โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก

สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 19 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพญาดำ วัดราหู วัดสระปทุม วัดพรหมสี่หน้า วัดยายตา

3.6 โบราณสถานนอกกำแพงเมืองบนภูเขา

สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 15 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดเขาใหญ่บน วัดเจดีย์เจ็ดยอด วัดเจดีย์เอน วัดเขาใหญ่ล่าง

กรมศิลปากรได้เริ่มโครงการจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2525 และดำเนินการฟื้นฟูบูรณะจนแล้วเสร็จ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2533

 

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

1. ที่ตั้ง

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองฯ จังหวัดกำแพงเพชร ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง แบ่งออก เป็น 2 เขต คือ เขตภายในกำแพงเมืองมีพื้นที่ 503 ไร่ และเขตนอกกำแพงเมืองหรือที่เรียกกันว่า เขตอรัญญิก ตั้งอยู่บนเขาลูกรังขนาดย่อม มีพื้นที่ 1,611 ไร่ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือ 358 กิโลเมตร

กรมศิลปากรได้กำหนดเขตพื้นที่โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรไว้ 2,114 ไร่ หรือประมาณ 3.4 ตารางกิโลเมตร

2. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

บริเวณที่ตั้งของจังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบัน ได้ค้นพบหลักฐานเมืองโบราณหลายเมือง คือ เมืองแปบ เมืองเทพนคร เมืองไตรตรึงษ์ เมืองพาน เมืองนครชุม และเมืองชากังราว ความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำปิง ได้ก่อให้เกิดการตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน โดยแต่ละเมืองอยู่ไม่ห่างกันมากนัก เมืองที่ตั้งขึ้นในตอนแรก น่าจะเป็นเมืองแปบ ซึ่งมีตำนานเล่าว่า เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ฝั่งเดียวกันกับเมืองนครชุม บริเวณตรงกันข้ามกับเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน

จากหลักฐานจารึกหลักที่ 3 (ศิลาจารึกนครชุม) พ.ศ. 1900 ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) เสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุ เมืองนครชุม ว่า “หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุม” เมืองนครชุมจึงน่าจะเป็นเมืองใหญ่ และมีความสำคัญในสมัยสุโขทัย แต่มาหมดอำนาจ และเป็นเมืองขนาดเล็ก ในสมัยอยุธยา ส่วนเมืองชากังราวยังคงมีอำนาจอยู่ในฝั่งตะวันออก และเรียกชื่อเมืองว่า เมืองกำแพงเพชร ในสมัยอยุธยา ภายหลังจากพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) สวรรคต (ประมาณ พ.ศ. 1911 - 1916) เมืองต่างๆ ในอาณาจักรสุโขทัยได้แตกแยกกัน บางเมืองหันมาเป็นพันธมิตรกับกรุงศรีอยุธยา ชื่อเมืองกำแพงเพชร ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 38 หรือจารึกกฎหมายลักษณะโจร กล่าวพระนามจักรพรรดิราชได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ที่เมืองกำแพงเพชรเมื่อ พ.ศ. 1940 เชื่อกันว่า กษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาทรงต้องการให้ศูนย์กลางของอำนาจ ย้ายจากเมืองนครชุมเดิมมาอยู่ที่เมืองชากังราว หรือเมืองกำแพงเพชรนั่นเอง ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 เมืองกำแพงเพชรได้ถูกลดบทบาทลง และคงจะทิ้งร้างไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง

3. โบราณสถานสำคัญ

เมืองกำแพงเพชรมีลักษณะผังเมืองเป็นรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู วางแนวยาวขนานไปกับลำน้ำปิง จากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทิศตะวันออกเฉียงใต้

กำแพงของเมืองกำแพงเพชรเดิมคงจะมีลักษณะเป็นคันดินและคูเมือง 3 ชั้น ต่อมาได้พัฒนาเป็นกำแพงศิลาแลง มีการสร้าง เชิงเทิน ใบเสมา และป้อมประตูรอบ ส่วนที่เป็นกำแพงด้านใน ยังคงปรากฏร่องรอยให้เห็นอยู่ข้างบริเวณด้านทิศเหนือ เชื่อกันว่า กำแพงศิลาแลงนี้คงมาดำเนินการก่อสร้าง ในช่วงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 - 2031)

3.1 โบราณสถานภายในกำแพงเมือง

สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 2 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพระแก้ว วัดพระธาตุ วังโบราณหรือสระมน ศาลพระอิศวร และวัดกลางนคร

3.2 โบราณสถานภายนอกกำแพงเมือง

โดยทั่วไปเรียกกันว่า “เขตอรัญญิก” ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ บนเขาลูกรังขนาดย่อม สำรวจพบโบราณสถานแล้ว 37 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดช้างรอบ วัดอาวาสใหญ่ วัดฆ้องชัย วัดอาวาสน้อย วัดเชิงหวาย วัดดงหวาย วัดช้าง วัดกะโลทัย

ส่วนโบราณสถานที่ตั้งอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำปิง มีทั้งภายในและภายนอกเมืองนครชุม โบราณสถานสำคัญที่ตั้งอยู่ภายในเมืองนครชุม ได้แก่ วัดพระบรมธาตุและวัดซุ้มกอ ส่วนที่อยู่นอกเมืองนครชุม ได้แก่ ป้อมทุ่งเศรษฐี วัดหนองพิกุล วัดหม่องกาเล และวัดเจดีย์กลางทุ่ง สำหรับโบราณสถานในเขตอรัญญิกของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรนั้น มีโบราณสถานรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่น ในบริเวณที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน นอกจากนี้ สภาพภูมิประเทศโดยรอบของโบราณสถาน ยังเป็นป่าธรรมชาติที่มีการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี เพื่อคงไว้ ซึ่งบรรยากาศของโบราณสถานในเขตอรัญญิก หรืออรัญวาสี เช่นในอดีต

กรมศิลปากรได้เริ่มโครงการจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. 2524 และดำเนินการฟื้นฟูบูรณะโบราณสถานต่างๆ จนแล้วเสร็จ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอุทยาน ประวัติศาสตร์กำแพงเพชรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2534

 

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

1. ที่ตั้ง

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีเนื้อที่ 1,810 ไร่ ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ไปทางทิศเหนือประมาณ 75 กิโลเมตร

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาไว้ มีพื้นที่ 1,810 ไร่

2. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

ก่อนที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) จะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใน พ.ศ. 1893 นั้น นักวิชาการเชื่อว่า บริเวณดังกล่าวได้มีบ้านเมืองตั้งอยู่ก่อนแล้ว เรียกว่า เมืองอโยธยา หรืออโยธยาศรีรามเทพนคร มีที่ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกนอกเกาะเมืองอยุธยา ปรากฏหลักฐานโบราณสถานที่เป็นวัดสำคัญ เช่น วัดมเหยงค์ วัดอโยธยา รวมทั้งจากพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวถึงการก่อสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า พระเจ้าพแนงเชิง พระประธานของวัดพนัญเชิง โดยระบุว่า สร้างขึ้นก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี ด้วยทำเลที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาที่มีลักษณะเป็นเกาะเมือง มีแม่น้ำที่สำคัญ 3 สายโอบล้อม คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นชุมทางคมนาคมทางน้ำ รวมทั้งยังเป็นปราการธรรมชาติ ในการป้องกันข้าศึกศัตรู กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นราชธานีใหญ่ที่สามารถกุมอำนาจเหนือเมืองใกล้เคียงได้เป็นเวลายาวนาน

กรุงศรีอยุธยาเติบโตเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการค้า ที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 - 23 มีชาวต่างชาติทั้งจากทวีปเอเชียและทวีปยุโรป เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส เข้ามาค้าขายทางเรือ ส่วนมากมีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย บางชาติก็ได้รับพระราชทานที่ดิน สำหรับตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน สถานีการค้า และศาสนสถาน โดยหมู่บ้านของชาวต่างประเทศส่วนใหญ่จะอยู่นอกตัวเมืองมีเฉพาะชาวจีน ชาวฮินดู และชาวมุสลิมเพียงบางกลุ่มซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนักเท่านั้น ที่ได้รับพระบรมราชานุญาต ให้สร้างบ้านเรือนอยู่ภายในเมือง

นอกจากนี้ กรุงศรีอยุธยายังมีความเจริญ ก้าวหน้าทางด้านการปกครอง กฎหมาย การศาล ระบบสังคม การศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ประณีตศิลป์ ภาษา วรรณกรรม และนาฏดุริยางคศิลป์ ศิลปวิทยาการต่างๆ ที่คนไทยในอาณาจักรอยุธยาได้สั่งสมไว้ ซึ่งได้สืบทอดและพัฒนาต่อมาในสมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ จวบจนทุกวันนี้

3. โบราณสถานสำคัญ

โบราณสถานเท่าที่สำรวจพบแล้ว ทั้งภายในเมือง และนอกกำแพงเมืองมี 425 แห่ง ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะโบราณสถานสำคัญ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเกาะเมือง และพื้นที่ด้านทิศเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมือง มีโบราณสถานที่สำรวจพบแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 95 แห่ง ประกอบด้วย

3.1 พระราชวังโบราณหรือพระราชวังหลวง

พระราชวังโบราณตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ริมแม่น้ำลพบุรี ปัจจุบันเหลือแต่เพียงฐานรากพระที่นั่งองค์ต่างๆ เนื่องจากถูกเผาทำลายเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 พระราชวังโบราณนี้สร้างขึ้นใน สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อทรง อุทิศที่ตั้งของพระราชมณเทียรเดิมที่สร้างไว้ สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์

3.2 วัดพระศรีสรรเพชญ์

เป็นวัดที่สำคัญที่สุดของกรุงศรีอยุธยา โดยแต่เดิมสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ได้ทรงสร้างพระราชมณเทียรขึ้นที่บริเวณนี้ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงอุทิศบริเวณพระราชมณเทียรให้เป็นวัด ในเขตพระราชวัง สำหรับเป็นที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ และเป็นที่เสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศล

3.3 วัดราชบูรณะ

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 1967 ตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพ เจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา พระเชษฐาทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์เนื่องจากการสู้รบแย่งชิงราชสมบัติ

3.4 วิหารพระมงคลบพิตร

พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปสำริด องค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย ซึ่งสันนิษฐานว่า สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อ พ.ศ. 2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้บูรณะวิหารพระมงคลบพิตรใหม่ทั้งหมดดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยายังมีโบราณสถานที่สำคัญแห่งอื่นๆ อีก เช่น วัดพระราม วัดญาณเสน วัดธรรมิกราช วัดวรโพธิ์ วัดวรเชษฐาราม

กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์โบราณสถานเมืองพระนครศรีอยุธยาภายใต้ชื่อ โครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2525 และต่อมาใน พ.ศ. 2534 อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม พร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

 

อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์

1. ที่ตั้ง

อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ตั้งอยู่ในเขตตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 130 กิโลเมตร

อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย โดยมีทิวเขารายล้อมอยู่ ได้แก่ เขาท่าช้าง เขาพนมมาร และเขาโทน ส่วนทางด้านทิศใต้ติดต่อกับแม่น้ำแควน้อย กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองสิงห์ไว้เมื่อ พ.ศ. 2478 และกำหนดขอบเขตโบราณสถานมีพื้นที่ทั้งสิ้น 718 ไร่ 3 งาน

2. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

ได้มีการขุดค้นพบหลักฐานหลุมฝังศพและเครื่องมือเครื่องใช้ของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ภาชนะดินเผา ขวาน ทัพพี กำไลสำริด ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว มีอายุราว 2,000 ปีมาแล้ว ที่บริเวณริมแม่น้ำแควน้อย นอกกำแพงเมืองสิงห์ด้านทิศใต้

ในสมัยต่อมาเมื่อมีการสร้างเมืองสิงห์ ปรากฏหลักฐานได้แก่ ตัวเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดพื้นที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร มีคูเมือง คันดิน และกำแพงเมืองศิลาแลงล้อมรอบ ที่กลางเมืองมีโบราณสถานทรงปราสาท ซึ่งสร้างขึ้นตามลักษณะศิลปะเขมรแบบบายน และมีโบราณวัตถุที่เป็นประติมากรรมตามลักษณะศิลปะเขมรแบบเดียวกัน จากลักษณะทางศิลปกรรม สามารถกำหนดอายุได้ว่า ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงปกครองเขมร และได้พบศิลาจารึกหลักหนึ่งที่ปราสาทพระขรรค์ มีข้อความที่สรรเสริญความกล้าหาญและการทำบุญกุศลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีตอนหนึ่งกล่าวถึงชื่อเมืองต่างๆ 23 แห่ง ว่า เป็นที่ประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาม พระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับเมืองสิงห์และบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะได้ระบุชื่อเมือง 6 เมือง ได้แก่ ลโวทยะปุระ สุวรรณปุระ ศัมพูกะปัฏฏนะ ศรีราชบุรี ศรีชัยสิงหบุรี และ ชัยวัชรบุรี โดยเมืองศรีชัยสิงหบุรีน่าจะเป็นเมืองสิงห์ อันเป็นที่ตั้งของปราสาทเมืองสิงห์นี้ เมืองสิงห์ และปราสาทเมืองสิงห์คงถูก ทิ้งร้างไปในช่วงที่เขมรหมดอำนาจ เพราะไม่ปรากฏมีการกล่าวถึงชื่อเมืองสิงห์ ในสมัยสุโขทัย และอยุธยา อีกเลย เมืองสิงห์ได้ปรากฏหลักฐานอีกครั้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยพระองค์ได้ทรงสถาปนาเมืองสิงห์ขึ้นใหม่อีกครั้ง แต่มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านเล็กๆ มีเจ้าเมืองปกครองขึ้นอยู่กับเมืองกาญจนบุรี จนกระทั่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง เป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองสิงห์จึงถูกลดฐานะลงเป็นตำบลเรียกกันว่า ตำบลสิงห์ มาจนถึงทุกวันนี้

กรมศิลปากรได้เ

ที่มา :

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. “อุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย.” สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ 29. (ออนไลน์), 2548. เข้าถึงเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2548. แหล่งที่มา http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=29&chap=4&page=chap4.htm