วัดหินหมากเป้ง : หลักหิน เสมาหิน และพิพิธภัณฑ์หลวงปู่เทสก์


ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล 31 มี.ค. 2018

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

วัดหินหมากเป้ง ตั้งอยู่ ม.4 บ้านไทยเจริญ ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย (พิกัดภูมิศาสตร์ 17.983630 N, 102.428640 E) อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง บนพื้นที่ภูเขาหินทรายในหมวดหินภูพาน กลุ่มหินโคราช (ต่อเนื่องกับหมวดหินโคกกรวด กลุ่มหินโคราช ทางทิศตะวันออก)

วัดหินหมากเป้ง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดธรรมยุติกนิกาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2482 โดยพระอาจารย์หล้า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2513 ปัจจุบันเป็นหนึ่งในวัดสำคัญของพระสายวิปัสสนากรรมฐาน ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมากในสมัยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์) ลูกศิษย์รูปหนึ่งของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่ได้เข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้เมื่อ พ.ศ.2508 และริเริ่มจัดตั้งให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ แม่ชี และผู้แสวงบุญทั้งหลาย

คำว่า “หินหมากเป้ง” เป็นชื่อหิน 3 ก้อน ที่ตั้งเรียงรายกันอยู่ริมฝั่งโขงด้านทิศเหนือของวัด ซึ่งมีลักษณะคล้ายลูกตุ้มเครื่องชั่งทองคำสมัยโบราณ คนพื้นถิ่นเรียกว่า “เต็ง” หรือ “เป้งยอย” (หมากเป้งเป็นผลของต้นไม้ตระกูลปาล์มหรือหมากชนิดหนึ่ง) ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าหินก้อนที่ 1 เป็นของหลวงพระบาง หินก้อนที่ 2 เป็นของบางกอก ส่วนหินก้อนที่ 3 เป็นของเวียงจันทร์ (หินทั้ง 3 ก้อน จะมองเห็นได้เฉพาะในมุมมองจากแม่น้ำโขง หรือมุมมองจากฝั่งลาว)

 

บริเวณหน้าหอสมุด วัดหินหมากเป้ง มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญคือ หลักหินและเสมาหิน ซึ่งมีอายุเก่าแก่อยู่ในก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น หลักหินและเสมาหินแหล่านี้ไม่ได้พบในพื้นที่วัดหินหมากเป้งแต่อย่างใด แต่นำมาจากบริเวณวัดอรัญญา หรือวัดดงนาคำ อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ตามประวัติกล่าวว่ามีจำนวน 52 ชิ้น

บริเวณวัดอรัญญา (ดงนาคำ) นี้ อาจเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เนื่องจากหลักหินที่พบจำนวนหนึ่งมีรูปทรงคล้ายแท่งหินหรือหลักศิลาที่ใช้ปักแสดงเขตประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อหรือพิธีกรรมทางศาสนาของกลุ่มวัฒนธรรมหินตั้ง (Megalith) ในยุคสมัยดังกล่าว ก่อนที่ในสมัยต่อมาคือสมัยทวารวดี ประชาชนจะรับเอาความเชื่อในศาสนาพุทธ เถรวาท เข้ามายึดเหนี่ยวจิตใจ ดังปรากฏหลักฐานเป็นเสมาหินทราย โดยเฉพาะที่มีการสลักเป็นรูปสถูปและเรื่องราวชาดก ชุมชนแห่งนี้ นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าพื้นที่วัดอรัญญา (ดงนาคำ) อาจเป็น เวียงนกยูง ที่ปรากฏชื่อในตำนานอุรังคธาตุ

จากการสำรวจเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 พบว่ามีหลักหินและเสมาหินภายในบริเวณวัดหินหมากเป้งจำนวนกว่า 20 หลัก โดยปักอยู่ในพื้นดินด้านหน้าอาคารหอสมุดของวัด มีทั้งที่ค่อนข้างสมบูรณ์และเป็นชิ้นส่วนแตกหักขนาดเล็ก ในจำนวนนี้มีเสมา 6 หลักที่ปรากฏภาพสลักสถูป

จากการสัมภาษณ์พระลูกวัดทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลักหินและเสมาเหล่านี้ถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่นเมื่อสมัยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นเจ้าอาวาส และได้รับการเอาใจใส่ต่อเนื่องมาในสมัยพระอธิการพิชิต ชิตมาโร เป็นเจ้าอาวาส แต่ปัจจุบันอาจไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากพระครูมงคลญาณโสภณ (พระอาจารย์บุญทวี สีตุจิตโต) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน เน้นการวิปัสสนาเป็นสรณะ

นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีการสร้างสถานที่ต่างๆ เพื่อระลึกถึงหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เช่น มณฑปอนุสรณ์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (สร้างเมื่อ พ.ศ.2524) เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระราชนิโรธรังสีฯ (สร้าง พ.ศ.2534 ก่อสร้างเสร็จ พ.ศ.2540) เมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พิพิธภัณฑ์ และศาลาหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ภายในสถานที่แต่ละแห่งจัดแสดงวัตถุและเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่เทสก์ เช่น อัฐิ รูปปั้น เครื่องอัฐบริขาร ของใช้ และชีวประวัติของหลวงปู่เทสก์

เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระราชนิโรธรังสีฯ เมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พิพิธภัณฑ์ และศาลาหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เปิดให้เข้าสักการะและเยี่ยมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม ส่วนผู้ที่ต้องการเข้าไปภายในมณฑปอนุสรณ์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ควรติดต่อทางวัดล่วงหน้า

ทุกวันที่ 17-19 ธันวาคมของทุกปี ทางวัดจะจัดงานครบรอบวันมรณภาพของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

 

 

การเดินทางสู่วัดหินหมากเป้ง จากบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอศรีเชียงใหม่ ใช้ถนนริมโขง (ทางหลวงหมายเลข 211) มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าอำเภอสังคม ประมาณ 19.6 กิโลเมตร จะพบวัดหินหมากเป้งทางขวามือ

 

อรรถาภิธานศัพท์ :