อัฐิซานตา (?)


ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล 3 ม.ค. 2018

เรียบเรียงโดย ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

ซานตาคลอส” (Santa Claus) หรือ “ซานตา” บุคคลในจินตนาการจากตำนานในโลกตะวันตก มีลักษณะเป็นคุณลุงใจดี พุงพลุ้ย หนวดเคราสีขาวยาวเฟิ้ม ใส่ชุดสีแดงทั้งตัว พร้อมส่งเสียงหัวเราะ “โฮะโฮะโฮะ” นั่งรถเลื่อนหิมะที่ลากด้วยกวางเรนเดียร์มาจากขั้วโลกเหนือพร้อมกับของขวัญเต็มคันรถ เพื่อนำมามอบให้กับเด็กดีถึงบ้านในช่วงระหว่างวันคริสต์มาสอีฟ (วันที่ 24 ธันวาคม) จนถึงเช้ามืดของวันคริสต์มาส (วันที่ 25 ธันวาคม)

หลายท่านอาจจะทราบอยู่แล้วบ้างบุคลิกและเรื่องราวของ ซานตาคลอส นั้น ได้รับแรงบันดาลใจหรือมีต้นแบบมาจาก  นักบุญนิโคลัส แห่งไมรา (Saint Nicholas of Myra) นักบุญผู้มีเมตตาโดยเฉพาะแก่ผู้ยากไร้และเด็กๆ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 3 ถึงราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 4

ภาพลักษณ์ของซานตาคลอสในปัจจุบัน 

ที่มา : http://www.hdwallpapersfreedownload.com/free-wallpaper-vector-santa-claus-christmas/

 

เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ผลการตรวจสอบอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอน ของชิ้นส่วนกระดูกเชิงกรานที่ถูกอ้างว่าเป็นของ นักบุญนิโคลัส แห่งไมรา และเคยถูกเก็บรักษาอยู่ในฝรั่งเศสมานาน แต่ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของบาทหลวงเดนนิส โอนีล (Father Dennis O'Neill) แห่งโบสถ์นักบุญมาร์ธาแห่งเบธานี (St. Martha of Bethany Church) มลรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา

การตรวจสอบอายุในครั้งนี้นำโดยศาสตราจารย์ ทอม ไฮแอม (Tom Higham) และ ดร.จอร์จ คาซัน (Georges Kazan) นักวิจัยแห่ง the Oxford Relics Cluster ของ Keble College's Advanced Studies Centre มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) ประเทศอังกฤษ พบว่ากระดูกชิ้นดังกล่าวเป็นของคนที่มีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นักบุญนิโคลัส แห่งไมรา มีชีวิตอยู่[1]

ชิ้นส่วนกระดูกเชิงกรานที่ได้รับการตรวจสอบอายุจาก ม.ออกซฟอร์ด

ที่มา : http://www.ox.ac.uk/news/2017-12-05-could-ancient-bones-suggest-santa-was-real

 

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าวบ่งบอกเพียงว่าเจ้าของกระดูกชิ้นนี้ มีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 4 เท่านั้น ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกระดูกของ นักบุญนิโคลัส แห่งไมรา จริงหรือไม่ แต่เหตุใดจึงชวนให้เชื่อว่า กระดูกชิ้นนี้เป็นของนักบุญนิโคลัส แห่งไมรา ?

สารานุกรมคาทอลิก (ค.ศ.1913) ระบุว่านักบุญนิโคลัสเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ.345 หรือ ค.ศ.352 แต่แม้ว่าท่านจะเป็นนักบุญที่เหล่าคริสตจักรกรีก (Greek Church) และคริสตจักรละติน (Latin Church) ให้ความชื่นชมและเคารพนับถือเป็นอย่างมาก แต่กลับปรากฏข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัดน้อยมาก สามารถสืบค้นได้แต่เพียงว่าท่านเป็นมุขนายกแห่งไมรา (Bishop of Myra) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4[2]

อย่างไรก็ตาม มีตำนานที่เกิดขึ้นทีหลังให้ข้อมูลว่า นักบุญนิโคลัส เกิดใน ค.ศ.270[3] ที่เมืองปาทารา (Patara)[4] ภูมิภาคอนาโตเลีย (Anatolia) ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมัน ในช่วงวัยรุ่นท่านได้จาริกไปยังดินแดนอียิปต์และปาเลสไตน์ หลังจากนั้นท่านได้เป็นมุขนายกแห่งไมรา (Bishop of Myra)[5] และท่านได้ถูกคุมขังในสมัยจักรพรรดิดิออเกลติอานุส (Diocletianus) หรือ ไดโอคลีส (Diocletian)[6] (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ.284-305) โดยทรงมีนโยบายกวาดล้างชาวคริสต์ โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่เรียกว่า The Diocletianic Persecution หรือ Great Persecution

กระทั่งสมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine) (จักรพรรดิโรมันที่ทรงเป็นคริสเตียนพระองค์แรก ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ.306-337) นักบุญนิโคลัสก็ได้รับการปล่อยตัว และเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาสังคายนาไนเซียครั้งที่ 1 (First Council of Nicaea)[7],[8]

ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองปาทารา (ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี)

ที่มา : “Patara Ruins,” [Online], Accessed 22 December 2017, Available from https://www.google.co.th/maps

 

ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองไมรา (ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี)

ที่มา : “The ancient city of Myra,” [Online], Accessed 22 December 2017, Available from https://www.google.co.th/maps

 

ภาพนักบุญนิโคลัส (จากจินตนาการ) ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในอารามกิไซ (Kizhi monastery) สาธารณรัฐคาเรเลีย (Republic of Karelia) ประเทศรัสเซีย

ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Saint_Nicholas#/media/File:Saint_Nicholas.jpg

 

หลังการเสียชีวิตของนักบุญนิโคลัสเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 4 ร่างของท่านถูกฝังไว้ที่เมืองไมรา(Myra) ประเทศตุรกีในปัจจุบัน แต่หลังจากสมรภูมิแมนซิเคิร์ท (Battle of Manzikert) เมื่อ ค.ศ.1071 เมืองไมราได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเซลจุคเติร์ก (Seljuq Turks) จักรวรรดิของชาวมุสลิมซุนนี ทำให้กะลาสีชาวคริสต์จากเมืองบารี (Bari)[9] กลุ่มหนึ่งกังวลถึงความปลอดภัยของอัฐินักบุญนิโคลัส จึงได้เดินทางไปเมืองไมราเพื่อ (แอบ) นำอัฐิส่วนใหญ่ของท่านมายังมหาวิหารนักบุญนิโคลัส (Basilica di San Nicola) เมืองบารี ประเทศอิตาลีในปัจจุบัน โดยเดินทางกลับถึงบารีเมื่อ ค.ศ.1087 และมีการบรรจุอัฐิลงในหลุมศพภายในห้องใต้ดินของมหาวิหารนักบุญนิโคลัส เมืองบารี อย่างเป็นทางการ เมื่อ ค.ศ.1089 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 (Pope Urban II)

อัฐิส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ที่ไมรานั้น ถูกแบ่งส่วนอีกครั้งในช่วงสงครามครูเสดครั้งที่ 1 (ค.ศ.1096–1099) โดยกะลาสีชาวเวนิสได้ (แอบ) ขนย้ายอัฐิบางส่วนที่ไมรา ไปยังโบสถ์นักบุญนิโคลัส (The Church of San Nicolò al Lido) เมืองเวนิส ประเทศอิตาลีในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีโบสถ์อีกหลายแห่งทั้งในยุโรป รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ที่อ้างว่าได้ครอบครองอัฐิชิ้นเล็กๆ เช่น ฟันหรือกระดูกนิ้วมือ ของนักบุญนิโคลัสไว้[10]

จากการศึกษากระดูกในหลุมฝังศพใต้มหาวิหารนักบุญนิโคลัส เมืองบารี ประเทศอิตาลี เมื่อ ค.ศ.1953 และ ค.ศ.1957 และการศึกษากระดูกในหลุมฝังศพที่โบสถ์นักบุญนิโคลัส เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เมื่อ ค.ศ.1992 ของ ลุยจิ มาร์ติโน (Prof. Luigi Martino) ศาสตราจารย์ด้านกายวิภาค มหาวิทยาลัยบารี (University of Bari) ประเทศอิตาลี นั้น พบว่ากระดูกจากทั้ง 2 สถานที่ เป็นโครงกระดูกของคนคนเดียวกัน[11]

มหาวิหารนักบุญนิโคลัส (Basilica di San Nicola) เมืองบารี (Bari) ประเทศอิตาลี และโครงกระดูก (ที่เชื่อว่าเป็น) ของนักบุญนิโคลัส ที่ห้องใต้ดินของมหาวิหาร 

ที่มา : Wikimedia Commons [Online], Accessed 22 December 2017, Available from https://commons.wikimedia.org/wiki/File:DuomoBari.jpg

ที่มา : St. Nicholas Center, “Anatomical Examination of the Bari Relics” [Online], Accessed 22 December 2017, Available from http://www.stnicholascenter.org/pages/anatomical-examination/

 

โบสถ์นักบุญนิโคลัส (The Church of San Nicolò al Lido) เมืองเวนิส (Venice) ประเทศอิตาลี

ที่มา : Didier Descouens, “San Nicolò al Lido,” in Wikipedia [Online], Accessed 22 December 2017, Available from https://en.wikipedia.org/wiki/San_Nicol%C3%B2_al_Lido#/media/File:San_Nicol%C3%B2_(Venice).jpg

 

กระดูก (ที่เชื่อว่าเป็น) ของนักบุญนิโคลัส ที่ห้องใต้ดินของมหาวิหาร โบสถ์นักบุญนิโคลัส เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

ที่มา : St. Nicholas Center, “Is St. Nicholas in Venice, too?” [Online], Accessed 22 December 2017, Available from http://www.stnicholascenter.org/pages/relics-in-the-lido-of-venice/

 

ส่วนกระดูกที่อยู่ในความครอบครองของบาทหลวงเดนนิส โอนีล ที่อ้างว่านำมาจากฝรั่งเศส และได้รับการตรวจสอบอายุโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดใน พ.ศ.2560 นั้น เป็นชิ้นส่วนกระดูกหัวหน่าวข้างซ้าย (left pubis) ซึ่งไม่ปรากฏในโครงกระดูกที่เก็บไว้ในมหาวิหารนักบุญนิโคลัส เมืองบารี และโบสถ์นักบุญนิโคลัส เมืองเวนิส

ยิ่งไปกว่านั้น โครงกระดูกที่มหาวิหารนักบุญนิโคลัส เมืองบารี นั้น ปรากฏเฉพาะกระดูกปีกสะโพกข้างซ้าย (left ilium) แต่ไม่ปรากฏกระดูกส่วนหัวหน่าวแต่อย่างใด อาจเป็นไปได้ว่า กระดูกหัวหน่าวชิ้นที่ได้รับการตรวจสอบอายุนี้ คือชิ้นส่วนที่ขาดหายไป

ส่วนที่แรเงาสีดำคือกระดิ้นส่วนกระดูกที่พบที่มหาวิหารนักบุญนิโคลัส เมืองบารี, ส่วนที่ลูกศรชี้คือกระดูกส่วนที่ได้รับการตรวจสอบอายุโดย ม.ออกซฟอร์ด

ที่มา : St. Nicholas Center, “Is St. Nicholas in Venice, too?” [Online], Accessed 22 December 2017, Available from http://www.stnicholascenter.org/pages/relics-in-the-lido-of-venice/

 

หลังจากนี้ นักวิจัยจะตรวจดีเอ็นเอของกระดูกชิ้นนี้ เปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของกระดูกที่ถูกอ้างว่าเป็นของนักบุญนิโคลัสจากที่อื่นๆ รวมถึงโครงกระดูกที่เก็บไว้ที่เมืองบารี ประเทศอิตาลี เพื่อตรวจสอบว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการค้นหาร่องรอยของ นักบุญนิโคลัส แห่งไมรา มากขึ้น[12]

 



[2] Michael Ott, “St. Nicholas of Myra,” Catholic Encyclopedia (Volume 11 (1913) [Online], Accessed 22 December 2017, Available from https://en.wikisource.org/wiki/Catholic_Encyclopedia_(1913)/St._Nicholas_of_Myra)

[3] “Bishop St. Nicholas of Myra,” in Catholic-Hierarchy [Online], (Accessed 22 December 2017, Available from  http://www.catholic-hierarchy.org/bishop/bmyran.html)

[4] เมืองปาทารา (Patara) ในอดีตเป็นเมืองเศรษฐกิจและการค้าทางทะเลที่เจริญรุ่งเรือง ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของลีเซีย (Lycia) ภูมิภาคอนาโตเลีย (Anatolia) หรือ Asia Minor ปัจจุบันคือจังหวัดอันตัลยา (Antalya Province) ประเทศตุรกี

[5] เมืองไมรา (Myra) เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยกรีก ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของลีเซีย (Lycia) ภูมิภาคอนาโตเลีย (Anatolia) ใกล้กับเมืองปาทารา (Patara)

[6] Michael Ott, “St. Nicholas of Myra,” Catholic Encyclopedia (Volume 11 (1913) [Online], Accessed 22 December 2017, Available from https://en.wikisource.org/wiki/Catholic_Encyclopedia_(1913)/St._Nicholas_of_Myra)

[7] สภาสังคายนาไนเซียครั้งที่ 1 (First Council of Nicaea) เป็นสภาสังคายนาสากลครั้งแรกในศาสนาคริสต์ โดยจักรพรรดิคอนสแตนตินทรงเรียกประชุมบรรดามุขนายกทั่วจักรวรรดิโรมันมาประชุมกันที่เมืองไนเซีย เพื่อหาข้อสรุปความเชื่อเกี่ยวกับสถานะของพระบุตร และความสัมพันธ์ระหว่างพระบุตรกับพระบิดา (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/สังคายนาไนเซียครั้งที่หนึ่ง ; https://en.wikipedia.org/wiki/First_Council_of_Nicaea และ https://en.wikisource.org/wiki/Catholic_Encyclopedia_(1913)/Councils_of_Nic%C3%A6a)

[8] Michael Ott, “St. Nicholas of Myra,” Catholic Encyclopedia (Volume 11 (1913) [Online], Accessed 22 December 2017, Available from https://en.wikisource.org/wiki/Catholic_Encyclopedia_(1913)/St._Nicholas_of_Myra)

[9] ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของแคว้นปุลยา (Puglia) บนชายฝั่งทะเลเอเดรียติก (Adriatic Sea) ทางใต้ของประเทศอิตาลี

[10] "Relics of St. Nicholas – Where are They?," Saint Nicholas Center [Online], (Accessed 22 December 2017, Available from http://www.stnicholascenter.org/pages/relics/)

[11] University of Oxford, “Could ancient bones suggest Santa was real?” [Online], (Accessed 22 December 2017, Available from  http://www.ox.ac.uk/news/2017-12-05-could-ancient-bones-suggest-santa-was-real) ; St. Nicholas Center, “Is St. Nicholas in Venice, too?” [Online], (Accessed 22 December 2017, Available from http://www.stnicholascenter.org/pages/relics-in-the-lido-of-venice/)

[12] University of Oxford, “Could ancient bones suggest Santa was real?” [Online], (Accessed 22 December 2017, Available from  http://www.ox.ac.uk/news/2017-12-05-could-ancient-bones-suggest-santa-was-real)

 

อรรถาภิธานศัพท์ :