วัดเวียง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ม.4 ต.ตลาด อ.ไชยา

ตำบล : ตลาด

อำเภอ : ไชยา

จังหวัด : สุราษฎร์ธานี

พิกัด DD : 9.384961 N, 99.182585 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ไชยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองไชยา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวอำเภอไชยา ขับรถตามทางหลวงหมายเลข 4011 ไปทางสี่แยกไชยา ข้ามทางรถไฟ ขับรถไปประมาณ 500 เมตร วัดเวียงอยู่ทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันโบราณสถานวัดเวียงเป็นที่ตั้งของวัดเวียงที่มีภิกษุจำพรรษา ในส่วนของตัวโบราณสถานวัดเวียงมีการก่อสร้างวิหารครอบทับตัวโบราณสถาน ทำให้ไม่เห็นร่องรอยเดิมของโบราณสถาน แต่สามารถพบโบราณวัตถุทั่วไปตามพื้น เช่น ชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรม กรอบประตู เป็นต้น และภายในวัดมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไชยาจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านและโบราณวัตถุต่างๆที่พบในวัดเวียง โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 -11.30 และ 13.00 – 16.00 น.

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479 

ภูมิประเทศ

สันทราย

สภาพทั่วไป

โบราณสถานวัดเวียง ตั้งอยู่บนสันทรายขนาดใหญ่มีความยาวจากด้านทิศเหนือสู่ทิศใต้ประมาณ 3 กม. กว้าง 500 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 3 -4 เมตรและสูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ 1 -2 เมตร มีคลองไชยาไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันประมาณ 5 กิโลเมตร  บริเวณกลางสันทรายมีศาสนสถานกระจายตัวเรียงกัน คือ วัดเวียง วัดหลง วัดแก้ว โดยเชื่อว่าวัดเวียงน่าจะเป็นศูนย์กลางของเมือง (นงคราญ ศรีชาย, 2543, 169) ทางทิศเหนือของวัดเวียงปรากฎแนวคูเมือง กำแพงเมือง ปัจจุบันพังทลายเกือบหมด วัดเวียงในปัจจุบันเป็นวัดที่มีภิกษุสงฆ์จำพรรษา ส่วนตัวโบราณสถานวัดเวียงนั้น มีการก่อสร้างวิหารของวัดทับจนไม่เห็นตัวโบราณสถานเดิม

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

3–4 เมตร

ทางน้ำ

คลองที่มีความสัมพันธ์กับโบราณสถานวัดเวียง คือ คลองไชยา ที่ผ่านทางตะวันออกเฉียงใต้  

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะทางธรณีวิทยาของสุราษฎร์ธานี จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่มีเกิดการงอกของแผ่นดินจากตะกอนของแม่น้ำ การพัดพาของลมและน่ำทะเลทำให้เกิดที่ราบล่มแม่น้ำและริ้วสันทรายหลายแห่งโดยเป็นริ้วสันทรายที่เกิดขึ้นใหม่ราวในช่วง Holocene มีอายุประมาณ 11,000 ปีมาแล้ว (โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2526,1-4)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยอยุธยา, สมัยศรีวิชัย

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 13-22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2440, พ.ศ.2454

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ในการเสด็จตรวจราชการมณฑล ณ ปักษ์ใต้ได้พบพระพุทธรูปนาคปรกกับศิลาจารึก 2 หลักที่วัดเวียงหลวงเสรีวรราช(แดง)นายอำเภอพุมเรียงได้นำมาถวายที่กรุงเทพ ในการขุดศิลาจารึกทั้งสองหลัก นายอุผู้ใหญ่บ้านได้กล่าวถึงตำแหน่งที่พบศิลาจารึกว่า อยู่ห่างจากวัดเวียงไปทางตะวันตกราว 1 เส้น ก่อเป็นผนังขึ้นยาวไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ ในนั้นมีเทวรูปไปทางทิศเหนือราว 3 ศอก รูปศิลาผืนผ้ายาวราว 4 ศอก กว้าง 1 ศอก มีเดือยลงในเขียง ศิลาแท่งขนาดเล็กอยู่ทิศใต้ของเทวรูป ส่วนที่วัดพระบรมธาตุไชยา สมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพได้นำประติมากรรมรูปพระโพธิ์สัตว์จากโบสถ์พราหมณ์บริเวณนอกกำแพงชั้นนอกทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามายังกรุงเทพ

ชื่อผู้ศึกษา : หลวงวิชิตภักดี

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2460

วิธีศึกษา : ขุดตรวจ

ผลการศึกษา :

หลวงวิชิตภักดี นายอำเภอไชยา ขุดตรวจสอบตรงบริเวณที่พบจารึกวัดเวียงพบฐานเลียบของจารึกเพิ่มเติม เป็นข้อยืนยันว่าศิลาจารึกหลักที่ 24 ก.และ 24 ข.

ชื่อผู้ศึกษา : George Coédes

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2461

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “Le royaume de Crivijaya” ใน Bulletin de l’Ecole Francaise d’Extrême,Orient,XVIII,1918 และ “ A propos de la chut du royaume de Crivijaya” ใน BKI, vol 83 กล่าวถึงจารึกพระพุทธรูปนาคปรกสำริดพบที่วัดเวียง ว่าเป็นจารึกภาษาเขมร อักษรขอม กล่าวว่าในปี พ.ศ.1773 กษัตริย์ในพระราชวงศ์เดียวกับที่ครองเมืองมาลายูสั่งให้ผู้ดูแลเมืองครหิหล่อพระพุทธรูปขึ้นในเมืองไชยา

ชื่อผู้ศึกษา : C.otto Blagden

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2462

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ The empire of Maharaja,King of the Mountain and Lord of the Isles” ใน Journal Straits Branch Royal Asiatic Society, no.81,1921 กล่าวถึงจารึกพระพุทธรูปนาคปรกที่พบที่วัดเวียง

ชื่อผู้ศึกษา : Gabriel Ferrand

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2465

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ในงานเขียน L’empire sumatranais de Crivijaya ได้กล่าวว่าเมืองครหิที่ปรากฏบนจารึกพระพุทธรูปนาคปรกสำริดเป็นชื่อเมืองดียวกับเกียโลหิในจดหมายจีน

ชื่อผู้ศึกษา : George Coédes

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2472

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์หนังสือ “ประชุมศิลาจารึกสยามภาค 2” โดยได้บันทึกภาพ รวบรวมคำแปล คำอธิบายจารึกหลักที่ 24 ก, 24 ข (ยังไม่แปล) และหลักที่ 25 (ฐานพระพุทธรูปนาคปรก) โดยกล่าวว่าเป็นเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย

ชื่อผู้ศึกษา : Jean Yves Claeys

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2472

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดตรวจ

ผลการศึกษา :

Jean Yves Claeys ได้เดินทางไปสำรวจศึกษาโบราณวัตถุที่วัดพระบรมธาตุไชยา วัดเวียง วัดแก้ว วัดหลง เขาน้ำร้อน วัดใหม่ชลธาร วัดประสบ วัดป่าเลไลย์ วัดศาลาทึงกับหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ จากนั้นได้ขุดตรวจสอบฐานของโบราณสถานวัดเวียงและวัดหลง เปรียบเทียบกับวัดแก้ว เสนอแนวความคิดลงใน L’Archéeologie du Siam ในปี ค.ศ. 1931 กล่าวว่าโบราณสถานอิฐวัดแก้วคล้ายกับเจดีย์ในเมืองจาม ส่วนโบราณสถานที่วัดหลงและวัดเวียงเป็นศาสนสถานฐานสี่เหลี่ยม มีการบูรณะในสมัยหลัง สันนิษฐานว่าเป็นโบราณสถานร่วมสมัยกับพระบรมธาตุไชยา

ชื่อผู้ศึกษา : Reginald Le May

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2481

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “A Concise History of Buddhist Art in Siam” สันนิษฐานว่าประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรกสำริดที่วัดเวียงสร้างขึนไม่พร้อมกัน โดยตัวนาคมีรูปแบบศิลปะแบบเขมร ส่วนพระพุทธรูปมีลักษณะคล้ายศิลปะแบบทวารวดี ชื่อกษัตริย์ที่ปรากฏบนจารึกน่าจะเป็นกษัตริย์เชื่อสายเขมรที่เข้ามาปกครอง พระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้น่าจะเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น

ชื่อผู้ศึกษา : Pierre Dupont

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2485

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ Vishnu mitrés de l’Indochine occidentale” และ “Le Buddha de Grahi et L’école de Chaiya” ใน Bulletin de L’Ecole FranCaise d’Extreme Orient เล่ม XLIและ XLII ใน ปี 1941 กล่าวว่าพระวิษณุที่พบที่ไชยาเป็นสกุลช่างเดียวกับที่พบที่ปราจีนบุรี ส่วนพระพุทธรูปนาคปรกสำริดที่พบที่วัดเวียง จัดให้อยู่ในสกุลช่างไชยา วิจารณ์ว่าประติมากรรมนี้สามารถแยกได้ 3 ส่วน โดยตัวพระพุทธรูปนาคปรกและจารึกสร้างในช่วงเดียวกัน ส่วนพระพุทธรูปสร้างขึ้นในสมัยหลัง ส่วนพระพุทธรูปในช่วงพุทธศวรรษที่ 19 ที่พบที่ไชยานั้น พบว่าสืบทอดศิลปะมาจากช่วงสมัยศรีวิชัย

ชื่อผู้ศึกษา : George Coédes

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2475, พ.ศ.2491

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ Histoire Anciennes des Etats Hindouises d’Extrême Orient ”และ “Les Etats Hindouise d’Indochine et d’Indonésie ในหนังสือ Histoire du Monde สันนิษฐานว่าข้อความในจารึกหลักที่ 24 ก. ที่พบที่วัดเวียง เป็นเรื่องราวของพระเจ้าจันทรภาณุและตามพรลิงค์(นครศรีธรรมราช)และเป็นราชาของพวกกะที่ปรากฏบนหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา เป็นกษัตริย์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18

ชื่อผู้ศึกษา : จันทร์จิรายุ รัชนี (หม่อมเจ้า), เขียน ยิ้มศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2500

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “Thai Monumental Bronze” กำหนดให้พระพุทธรูปนาคปรกที่พบที่วัดเวียงอยู่ในสมัยอู่ทองรุ่นที่ 1 โดยสันนิษฐานว่าองค์พระพุทธรูป ฐานนาคปรกสร้างขึ้นพร้อมกัน

ชื่อผู้ศึกษา : J.G. de Casparis

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2510

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ The date of the Grahi Buddha” ใน Journal of the Siam Society เล่มที่ LV Part 1 January 1967 วินิจฉัยว่าศักราชที่ปรากฏบนฐานพระพุทธรูปนาคปรกสำริดจากวัดเวียง เป็น พ.ศ.1822 หรือ 1834 มากกว่า พ.ศ.1726

ชื่อผู้ศึกษา : ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดตรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 8 นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร ทำการขุดค้นวัดเวียงบริเวณใต้โคกต้นสำโรงในปี พ.ศ.2513 เพื่อตรวจสอบแหล่งที่พบศิลาจารึกหลักที่ 24 ก.และ 24 ข. ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ศิลปกรรมสมัยทวารวดีที่พบในประเทศไทย” ในวารสารโบราณคดี ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 พ.ศ.2515

ชื่อผู้ศึกษา : H.G.Quaritch Wales

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดตรวจ

ผลการศึกษา :

ในหนังสือ The Malay Pennisula in Hindu Times กล่าวถึงการที่นายสอน เพชรศักดิ์ ราษฎรบ้านหัวคู (ใกล้วัดเวียง) ขุดบ่อน้ำบริเวณสวนกล้วยพบนางตารา 8 กรสำริด ชิ้นส่วนคันฉ่องสำริดสมัยราชวงศ์ซ้อง ชิ้นส่วนเครื่องประดับหิน ลูกปัดสีเหลือง ทำให้สันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีบริเวณบ้านหัวคูเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนโบราณสมัยราชวงศ์ซ้องของจีน

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2524

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กองโบราณคดี หน่วยศิลปากรที่ 14 กรมศิลปากร ทำการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีวัดเวียง พบว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 -18 ร่วมสมัยกับศิลาจารึกหลักที่ 24 ก และ 24 ข จากการขุดค้น พบเครื่องปั้นดินเผาแบบพื้นเมืองมีลายกดประทับและลายเขียนสีเนื้อดินสีขาว เครื่องเคลือบจีนสมัยราชวงศ์ซ้องและหยวน เครื่องถ้วยลพบุรี ลูกปัดแก้วและลูกปัดแก้วประกอบหิน ลูกกระสุนดินเผา เป็นต้น

ชื่อผู้ศึกษา : ก่องแก้ว วีระประจักษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “พบภาษาไทยในจารึกก่อนมีลายสือไทย” ให้ข้อวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า แม้จารึกบนฐานพระพุทธรูปนาคปรกวัดเวียงจะใช้รูปแบบอักษรขอมแต่ก็มีคำภาษาไทย เช่น ลักษณะการบอกศักราชแบบไทย แสดงว่ามีการใช้ภาษาไทยในดินแดนภาคใต้ก่อนพุทธศตวรรษที่ 18

ชื่อผู้ศึกษา : ล้อม เพ็งแก้ว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “วิเคราะห์วันเดือนปีในจารึกฐานพระพุทธรูปจากวัดหัวเวียง ไชยา” สรุปว่า ศักราช 1104 ปีเถาะ เดือน 7 ขึ้น 3 ค่ำ วันพุธที่ปรากฏในจารึกตรงกับวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.1726 ตามระบบสุริยคติ (ล้อม เพ็งแก้ว, 2543,119 – 122)

ชื่อผู้ศึกษา : เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “รูปแบบและประติมานวิทยาพระพุทธรูปจากวัดแก้วเมืองไชยา” ทำการวิเคราะห์พระพุทธรูปประทับนั่งสลักจากหินทรายแดงที่พบจากการขุดแต่งจากโบราณสถานวัดแก้ว สรุปผลว่าพระพุทธรูปจากวัดแก้วมีลักษณะผสมทั้งศิลปะอมราวดี, ชวาและจาม สันนิษฐานว่าคือพระเจ้าอักโษกยะ พระธยานิพุทธประจำทิศตะวันออก ตามแนวคิดของพุทธศาสนามหายานสกุลวัชรยาน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 -15 (เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว,2555,138 – 147)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

การดำเนินงานทางด้านโบราณคดีที่วัดเวียงมีการขุดตรวจสอลบริเวณศาลปะหมอหรือที่พบจารึกวัดเวียงหลัก 24 และ24ก ในปี พ.ศ.2460 และ 2513 , การขุดแต่งโบราณสถานวัดเวียงในปี พ.ศ.2472 และ พ.ศ.2513 และการขุดค้นแหล่งโบราณคดีวัดเวียงในปี พ.ศ.2524 พบหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในวัดเวียงที่สำคัญ ดังนี้

1.       ฐานรากอาคาร ทำการขุดค้นโดยหน่วยศิลปากรมที่ 8 ในปี พ.ศ.2513 ผลจากการขุดค้นไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นอาคารประเภทใด เนื่องมีการก่อสร้างวิหารของวัดในช่วงต่อมา

2.       ฐานรากของศาลพระหมอ อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของวัด มีรากฐานอาคารก่ออิฐขนาดย่อม ชาวบ้านเรียกศาลพระหมอ หรือ ศาลปะหมด เป็นสถานที่ขุดพบจารึกหลักที่ 24, หลักที่ 24 ก และจารึกหลักที่ 25

โบราณวัตถุที่สำคัญที่พบที่วัดเวียง ได้แก่  ศิลาจารึกหลักที่ 24 และหลักที่ 24 ก  กล่าวถึงพระเจ้าจันทรภานุ ศรีธรรมราชผู้เป็นใหญ่ในเมืองตามพรลิงค์แห่งราชวงศ์ปทุมวงศ์, จารึกหลักที่ 25หรือพระพุทธรูปนาคปรกสำริด ที่ฐานมีจารึก กำหนดอายุอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 18 ศิลปะแบบเขมร จารึกที่ฐานระบุศักราช พ.ศ.1726 กล่าวถึงพระเจ้าศรีมัตไตรโลกยราชมาลีภูษนวรรมเทวะโปรดให้มหาเสนาบดีผู้รักษาเมืองครหิหล่อพระพุทธรูปสำริดปิดทองขึ้น, พระพุทธรูปศิลาทรายแดง ศิลปะสมัยอยุธยา สกุลช่างศรีวิชัยจำนวน 7 องค์ บนพระวิหารและผลจากการขุดค้น เมื่อปี พ.ศ.2524 สันนิษฐานว่าบริเวณวัดเวียงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 -18 พบเครื่องปั้นดินเผาแบบพื้นเมืองมีลายกดประทับและลายเขียนสีเนื้อดินสีขาว เครื่องเคลือบจีนสมัยราชวงศ์ซ้องและหยวน เครื่องถ้วยลพบุรี ลูกปัดแก้วและลูกปัดแก้วประกอบหิน ลูกกระสุนดินเผา เป็นต้น

จากหลักฐานที่ปรากฏข้างต้น ทำให้สันนิษฐานว่าบริเวณวัดเวียงเป็นศูนย์กลางของชุมชนหรือที่อยู่อาศัยของชุมชนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 -18 

 

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง :

นิทานพื้นบ้านเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “พ่อตาพัดหมัน” กล่าวว่า ปะหมอกับปะมัน สองคนพี่น้องเป็นชาวอินเดีย ใช้เรือเดินใบมาจนถึงเมืองไชยา ขึ้นบกด้วยข้าทาสบริวารที่บ้านนาค่ายตรงวัดหน้าเมืองในตำบลเลม็ด ปะหมอเป็นนายช่างมีความรู้ด้านวิศวกรรมก่อสร้างถูกตัดมือตัดตีนเมื่อสร้างพระบรมธาตุเสร็จ และทนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงตาย ที่ปะหมอถูกตัดมือตัดตีนเนื่องจากเจ้าเมืองไม่อยากให้ปะหมอไปสร้างโบราณสถานแห่งอื่นอีก เมื่อปะหมอตายแล้ว จึงได้คิดหล่อรูปพระอวโลติเกวรไว้เป็นเครื่องหมายแทนตัว ส่วนปะหมันได้ครองอยู่เกาะพัดหมันและตั้งรกรากอยู่กระทั้งเสียชีวิต สถานที่ปะหมันไปอาศัยอยู่นันเป็นพื้นที่ดอนน้ำไม่ท่วม มีนาล้อมรอบ เนือที่ 1 ไร่เศษ สมัยก่อนมีความศักสิทธิ์มาก ชาวบ้านเคารพนับถือ คณะมโนราห์เดินทางผ่านต้องรำถวาย

บางตำนานก็กล่าวว่าชาวอินเดียที่มาไชยาในครั้งนั้นมี 4 คนพี่น้อง คือ ปะหมอ ปะหมัน ปะเว ปะหุม โดยปะหมอเป็นช่างฝีมือดีเป็นลูกของศรีวิชัย เมือสร้างพระบรมธาตุเสร็จ ถูกตัดมือตัดตีนและทนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงตาย สิ่งก่อสร้างที่ปะหมอสร้างอีกได้แก่ วัดแก้วและวัดหลง วัดแก้วมีลายแทงและปริศนาว่า “วัดแก้วศรีธรรมโศกราชสร้างแล้ว ขุดแล้วเรืองรอง สี่เท้าพระบาท เหยียบปากพะเนียงทอง ผู้ใดคิดต้อง กินไม่รู้สิ้นเอย”

สถานที่อยู่อาศัยของปะหมอนั้น สันนิษฐานว่าคือบริเวณต้นสำโรงใหญ่ข้างวัดเวียง บริเวณที่ตั้งศาลปะหมอ  ถือเป็นสถานที่ศักสิทธิ์จนถึงปัจจุบัน (ประทุม ชุมเพ็งพันธ์, 2519,20 -21) 

 

จารึกที่เกี่ยวข้อง :

1.       จารึกหลักที่ 24 (สฎ.24)

สถานที่พบ :  วางนอนอยู่บริเวณศาลปะหมอไปทางทิศเหนือราว 3 ศอก

อายุสมัย :  พุทธศักราช 1773 ?

ภาษา : จารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤต มี 2 ด้าน ด้านแรก 16 บรรทัด

วัสดุที่ทำ : สลักบนหินชนวนรูปใบเสมา ขนาดกว้าง 47 เซนติเมตร สูง 181 เซนติเมตร หนา 14 เซนติเมตร

คำแปล : มี 2 สำนวน

สำนวนแรกแปลโดย ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดย์ ความวว่า

สวติ

พระเจ้าผู้ครองเมืองตามพรลิงค์ ทรงประพฤติประโยชน์เกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนา พระองค์สืบตระกูลจากตระกูลอันรุ่งเรืองคือ ปทุมวงศ์ มีรูปร่างเหมือนพระกามะ อันมีรูปงามราวพระจันทร์ ทรงฉลาดในศาสตร์คล้ายพระธรรมโศกราชเป็นหัวหน้าของตระกูล.... ทรงพระนามศรีธรรมราช

ศรีสวสติ

พระเจ้าผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์ เป็นผู้อุปถัมภ์ตระกูลปทุมวงศ์ พระหัตถ์ของพระองค์มีฤทธิ์อำนาจ....ด้วยอานุภาพแห่งบุญกุศลซึ่งพระองค์ได้กระทำต่อมนุษย์ทั้งปวง ทรงเดชาภาพเท่าพระอาทิตย์ พระจันทร์และมีเกียรติอันเลื่องลือในโลกทั้งปวง ทรงพระนามว่าพระเจ้าจันทรภานุ ศรีธรรมราช เมื่อกลียุค 4332......... (พุทธศักราช 1773) (ศิลปากร,กรม, 2529 เล่ม 4,146)

สำนวนที่สอง แปลโดย ศาสตราจารย์แสง มนวิทูร

สวัสดี พระผู้เป็นใหญ่ในตามพรลิงค์ ทรงประทานความดีงามอันเลิศเหมือนพระอินทร์ ทรงพระราชสมภพเพื่อประชาชนที่ถูกชนชาติต่ำปกครองมาแล้วให้สว่างรุ่งเรือง จริงอยู่พระองค์เป็นธรรมราชเหมือนพระจันทร์ พระอาทิตย์และกามเทพ อย่างพร้อมบูรณ์ ทรงพระปรีชา ฉลาดในราชนิติเที่ยบเท่าพระเจ้าธรรมโศก ทรงเป็นใหญ่เหนือราชวงศ์ทั้งหมด

สวัสดี พระองค์เข็มแข็ง เป็นใหญ่ในตามพรลิงค์ ทรงปกครองปัทมวงศ์จนถึงถูกขนานพระนามว่า ภีมเสน ได้ทรงเสด็จอุบัติมาเพราะอานุภาพแห่งบุญกุศลของมนุษย์ทั้งหลาย (เป็นบุญของมนุษย์ที่ได้พระราชาองค์นี้)

พระองค์ทรงไว้ซึ่งพระเกียรติแผ่ไปทั่วโลก เพียงดั่งอานุภาพของพระจันทร์และพระอาทิตย์จึงทรงพระนามาภิไธยราชฐานันดรว่า จันทรภาณุ เป็นธรรมราชาผู้ทรงศิริ

ขออำนวยพร อันเป็นอมตะด้วยความภักดี ซึ่งเหมือนสลักไว้ในแผ่นหิน เมื่อปีกลียุคล่วงแล้วได้ 4332 (ประเสริฐ ณ นคร, 2521,450 – 451)

2.       จารึกหลักที่ 24 (ก) หรือ สฏ. 3

สถานที่พบ :  ปักบริเวณใกล้กำแพงเมือง

อายุสมัย : กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18

ภาษา : จารึกอักษรขอม ภาษาบาลี มี 1 ด้าน  15 บรรทัด

วัสดุที่ทำ : สลักบนหินชนวน รูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 31 เซนติเมตร สูง 70 เซนติเมตร หนา 12 เซนติเมตร

คำแปล : แปลโดย นายชะเอม แก้วคล้าย

....อีกอย่างหนึ่ง...(ชน) เหล่านั้นผู้มีเครื่องประดับ...(ชน)ทั้งสิบยังวิชา(ให้เกิด)ด้วยเจตนาอันเป็นที่รักต่อพระชินะผู้ประเสริฐในกาลทั้งปวง...ส่วนทั้งห้าเป็นความรู้ของพระผู้เป็นที่รัก ผู้มาสู่สังกัสสนคร....โดยประการทั้งปวง ...ชนทั้งเก้าเหล่านั้นเป็นผู้มีปัญญามีความปราถนาตามวาระ...ทั้งแปด ทั้งสิบเป็นผู้มีศรัทธาตามที่ตนคิดไว้แล้ว...บางครั้ง...ทั้งสิบและทั้งแปด...อีกอย่างหนึ่ง(ชน)ทั้งหลายผู้ชุมนุมกันทั้งห้าสิบห้าคน เป็นผู้เปล่งวาจาแล้ว ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ดุจพระผู้บริสุทธิ์ที่หาความเศร้าหมองมิได้....วัตถุทั้งสิบพร้อมภัณฑ์ต่างๆที่มิได้กำหนดเป็นวัตถุจำนวนมากเพื่อทาน...ผู้มีบุญแม้ทำทานทั้งปวงด้วยความเอื้อเฟื้อ ย่อมกล่าวถึงความน่าเคารพของพระศาสดาผู้เป็นธรรมราชา...คณะเหล่านั้น...ผู้คล้อยตามบริษัทได้สดับข่าวพระนาถแล้ว....(ศิลปากร,กรม,2529 เล่ม 4 , 149)

3.       จารึกหลักที่ 25 จารึกบนฐานพระพุทธรูปนาคปรก(สำริด)ปางมารวิชัย

สถานที่พบ :  พบที่วัดเวียง อำเภอไชยา

อายุสมัย : ระบุศักราช พ.ศ.1726

ภาษา : จารึกเป็นภาษาเขมร

วัสดุที่ทำ : จารึกบนฐานพระพุทธรูปนาคปรก(สำริด)ปางมารวิชัย

คำแปล :

“.....ศักราช 1105 เถาะนักษัตร มีพระราชโองการ กัมรเดงอัญมหาราช ศรีมัตไตรโลกยราช เมาลิภูษนวรรมเทวะ ขึ้น 3 ค่ำ เชฏฐมาส (เดือน 7) วันพุทะ ให้มหาเสนาบดีคลาไนผู้รักษาเมืองครหิ อาราธนา มรเตง ศรีญาโน ให้ทำ (พระพุทธรูป) ปฎิมากรนี้สำริดมีน้ำหนัก 1 ภาระ 2 ตุละ ทองคำ (ที่ปิด) มีราคา 10 ตำลึง สถาปนา (พระพุทธรูปนี้) ให้มหาปวงชนผู้ที่มีศรัทธาอนุโมทนาแลบูชานมัสการอยู่ที่นี่ เพื่อจะได้ถึงสรรเพ็ชญาณ...” (ศิลปากร,กรม, 2529 เล่ม 4 ,120)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

เพลงเมธา ขาวหนูนา เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร. (2526).รายงานการสำรวจขุดค้นทางด้านโบราณคดี บริเวณแหลมโพธิ์ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี.  กรุงเทพ : กรมศิลปากร.  

จันทร์จิรายุ รัชนี.(2527, สิงหาคม).มารู้เรื่องศรีวิชัยกันเสียที เรื่องอาณาจักรศรีวิชัย.ศิลปวัฒนธรรม. 5 (10), 62 – 73

จันทร์จิรายุ รัชนี.(2529,พฤศจิกายน).ศรีวิชัยที่ไชยา. ศิลปวัฒนธรรม. 8 (1) , 86-95

ธราพงศ์ ศรีสุชาติ.(2542).ชุมชนโบราณไชยา.ในสารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 5. กรุงเทพ : ธนาคารทหารไทยพานิชย์, หน้า 2195 - 2218

ณัฎฐภัทร และภุชชงค์ จันทวิช.(2524). เครื่องถ้วยจีนที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ของปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ณัฎฐภัทร และภุชชงค์ จันทวิช. (2525). ความสัมพันธ์ทางด้านเครื่องถ้วยจีนที่เกี่ยวข้องกับศรีวิชัย.ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย ณ จังหวัดสุราษฎรธานี วันที่ 25-30 มิถุนายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร

บรรจง วงศ์วิเชียร (2525). การสำรวจ ขุดแต่ง เพื่อทำหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องศรีวิชัย. ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย ณ จังหวัดสุราษฎรธานี วันที่ 25-30 มิถุนายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร

ประเสริฐ ณ นคร. (2521). จารึกที่พบในภาคใต้. ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย ณ จังหวัดสุราษฎรธานี วันที่ 25-30 มิถุนายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร

 

ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์.(2513). ไชยา – สุราษฎร์ธานี. กรุงเทพ : กรุงเทพการพิมพ์

นงคราญ ศรีชาย. (2543). โบราณคดีศรีวิชัย : มุมมองใหม่การศึกษาวิเคราะห์แหล่งโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน. นครศรีธรรมราช : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช

ล้อม เพ็งแก้ว.(2543, ตุลาคม – ธันวาคม).วิเคราะห์วันเดือนปีในจารึกฐานพระพุทธรูปจากวัดหัวเวียง ไชยา. เมืองโบราณ. 26 (4), 119 – 122.

ศิลปากร,กรม. (2524). การขุดแต่งโบราณสถานวัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพ : หน่วยศิลปากรที่ 14 กองโบราณคดี กรมศิลปากร.

ศิลปากร,กรม. (2529). จารึกในประเทศไทยเล่มที่ 4 . กรุงเทพ : กองหอสมุดแห่งชาติ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง