เขาสามแก้ว


โพสต์เมื่อ 20 ก.ย. 2021

ที่ตั้ง : ม.1 บ้านสามแก้ว

ตำบล : นาชะอัง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ชุมพร

พิกัด DD : 10.52725 N, 99.18208 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ชุมพร

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองท่าตะเภา คลองพนังตัก

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตลาดเมืองชุมพร ใช้เส้นทางชุมพร – สระพลี ประมาณ 2 – 3 กิโลเมตร จะถึงชุมชนโบราณเขาสามแก้วอยู่ทางซ้ายมือ  

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ, ภูเขา, เนินเขา

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 1 บ้านสามแก้ว ต.นาชะอัง อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร (ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศเหนือประมาณ 3–4 กิโลเมตร)  มีอาณาเขตพื้นที่ประมาณ 3 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่เนินเขาหินกรวดผสมดินจำนวน 4 เนินระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง 20-30 เมตร สลับกับพื้นที่ราบ บนยอดเขาจะมีพื้นที่ราบขนาด 50x50 เมตร และ 200x200 เมตรบนแต่ละยอดเขา โดยมีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน จากการใช้ Remote Sensing พบว่าบริเวณพื้นที่ลุ่มในสมัยโบราณเคยถูกน้ำท่วม

แหล่งน้ำที่สำคัญของแหล่งโบราณคดี คือ คลองท่าตะเภาที่เกิดจากคลองท่าแซะและคลองรับร่อโดยมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรีไหลผ่านทางตะวันตกของแหล่งโบราณคดีแล้วไหลไปลงทะเลที่อ่าวไทยบ้านปากน้ำกลายเป็นแม่น้ำชุมพรในเขตอำเภอเมืองชุมพร มีระยะทางจากต้นน้ำถึงชายฝั่งประมาณ 8 กิโลเมตร

จากการศึกษาพบว่าคลองท่าตะเภามีการเปลี่ยนเส้นทางน้ำมาแล้วหลายครั้ง ทางทิศใต้ของแหล่งโบราณคดีก็มีคลองพนังตักไหลผ่าน (Bellina and Praon Silapanth 2008 : 268) ปัจจุบัน แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วห่างจากชายฝั่งทางด้านตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร

พื้นที่บริเวณแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วในปัจจุบันเป็นที่ตั้งหน่วยงานราชการสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ชุมพร กรมประชาสัมพันธ์ วัด บ้านเรือนราษฎร พื้นที่เกษตรกรรม แหล่งขุดทราย

อาณาเขต

ทิศเหนือ         ติดวัดแก้วศาลาลอยและหนองใหญ่

ทิศตะวันออก   ติดทางรถไฟสายใต้

ทิศตะวันตก     ติดกับคลองท่าตะเภา

ทิศใต้             ติดคลองพนักตัก

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

เนินเขาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 20-30 เมตร

ทางน้ำ

อยู่ในเขตอิทธิพลลุ่มแม่น้ำชุมพร มีทางน้ำหลัก คือ คลองท่าตะเภา ไหลผ่านทางทิศตะวันตกและมีคลองพนังตักไหลผ่านทางทิศใต้ของแหล่งโบราณคดี

สภาพธรณีวิทยา

แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ราบลุ่มสลับเนินเขาหินกรวดจำนวน 4 เนิน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 20-30 เมตรราบ บนยอดเขาจะมีพื้นที่ราบขนาด 50 x 50 เมตร และ 200x200 เมตรบนแต่ละยอดเขา โดยมีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน จากการใช้ Remote Sensing พบว่าในสมัยโบราณบริเวณพื้นที่ราบเดิมเคยมีน้ำท่วมขัง มีคลองท่าตะเภาไหลผ่านทางทิศตะวันตกของแหล่งโบราณคดี โดยแม่น้ำจะไหลไปออกทะเลอ่าวไทย ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร  (Bellina and Praon Silapanth 2008 : 268)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย, สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์

อายุทางโบราณคดี

ราวพุทธศตวรรษที่ 2–10

อายุทางวิทยาศาสตร์

C-14 : 4,000-3,000 ปีมาแล้ว (หลุมฝังศพ), พุทธศตวรรษที่ 2-4 (พื้นที่ใช้งานส่วนใหญ่)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2517

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 8 นครศรีธรรมราช กองโบราณคดี กรมศิลปากร ทำการสำรวจหลักฐานทางโบราณคดีที่อุโบสถวัดสามแก้ว พบภาพจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2468 – 2473) และเขียนรายงานลงในหนังสือ “โบราณวัตถุสถานในภาคใต้ตอนเหนือ รวม 7 จังหวัด”

ชื่อผู้ศึกษา : ปริวาท ทรรศนสฤษดิ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2517, พ.ศ.2518, พ.ศ.2519, พ.ศ.2520

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 8 นครศรีธรรมราช กองโบราณคดี กรมศิลปากร ทำการสำรวจบริเวณเขาสามแก้วและจัดทำรายงานการสำรวจ โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่ได้นำไปเก็บรักษาที่วัดสามแก้ว

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

คณะสำรวจการขึ้นทะเบียนโบราณสถานในเขตภาคใต้ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจ และบันทึกโบราณวัตถุที่ชาวบ้านในท้องถิ่นขุดได้จากบริเวณเขาสามแก้ว ได้แก่ พวกลูกปัดและวัตถุสำริดต่างๆ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2524

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 8 นครศรีธรรมราช กองโบราณคดี กรมศิลปากร ทำการสำรวจบริเวณเขาสามแก้วที่ชาวบ้านทำการขุดหาโบราณวัตถุเพื่อประโยชน์ทางการค้า

ชื่อผู้ศึกษา : อมรา ขันติสิทธิ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2524

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วบนเนินเขาจำนวน 3 หลุม คือ เนินเขาที่ 1, 2, 3 และพื้นที่ราบระหว่างเนินเขาที่ 2 และ 3 สามารถแบ่งชั้นดินทางวัฒนธรรมออกเป็น 2 ชั้นคือ ชั้นที่ 1 สมัยร่วมประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ชั้นที่ 2 คือ สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ หลักฐานสำคัญที่ได้จากการขุดค้น ได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้ขวานหินขัด หินลับ แท่นหินบด กำไลหิน ลูกปัดแร่ประกอบหิน เศษภาชนะดินเผา ตุ้มถ่วงแห แว หุ่นจำลองอวัยวะเพศ ตัวสัตว์ ใบไม้ คนและสิงของ กำไลสำริด กลองมโหระทึก ภาชนะสำริด เครื่องมือเหล็ก หอก อาวุธ ขวานเหล็ก ภาชนะคล้ายรูปกะทะ เครื่องมือปลายเหล็กแหลมคล้ายเข็ม เครื่องประดับทองรูปพรรณ เช่นแหวน แผ่นทอง ลูกปัด เครื่องประดับทำด้วยแก้ว เช่น กำไล ลูกปัด เป็นต้น

ชื่อผู้ศึกษา : Bérénice Bellina, ประอร ศิลาพันธุ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548, พ.ศ.2549, พ.ศ.2550, พ.ศ.2551, พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : ขุดค้น, กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (CNRS), สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (EFEO), สำนักวิจัยทางธรณีวิทยาและแร่ธาตุ (ฝรั่งเศส) (BRGM), ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการขุดค้นภายใต้ชื่อ “โครงการวิจัยเขาสามแก้ว (Khao Sam Kaew Archaeological Mission) โดยขุดค้นทางโบราณคดีเต็มพื้นที่ 3 ตารางกิโลเมตร จากหลักฐานที่ได้ทำให้ทราบว่าแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว เป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ จากการหาค่าอายุของถ่านโดยวิธี C-14พบว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีการอยู่อาศัย เริ่มตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 2 และเจริญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 -10 ในการขุดค้นพบโบราณวัตถุประเภท เครื่องมือเครื่องใช้หิน เครื่องปั้นดินเผา ตุ้มถ่วงแห แว เครื่องถ้วยจีน ลูกปัด หุ่นจำลองขนาดเล็ก เครื่องมือเครืองใช้สำริด เช่น กลองมโหรทึก ชิ้นส่วนกระจกสำริด หัวธนูสำริด ขวานสำริดรูป Swallowtail เครื่องมือเครื่องใช้เหล็ก ขี้แร่ เบ้าหลอมโลหะ เครื่องประดับทำจากวัสดุต่างๆ แหวนทอง แผ่นทอง ลูกปัดทอง เครื่องประดับทำจากหิน จากสำริด วัตถุดิบต่างๆ เช่น เศษแร่ประกอบหิน เศษแก้วหลอม ก้อนแก้วหลอม ชิ้นส่วนเตาหลอม (แก้ว) ตราประทับ เศษพืช เช่น ข้าวประเภทฟ่าง ใบเตย(จาก) เกล็ดปลาน้ำลึกชิ้นเล็ก กำแพงดินหรือเขื่อนหรือคูน้ำจำนวน 17 แหล่งกระจายตัวอยู่ทั่วไป โครงกระดูก เช่น โกศบรรจุกระดูกและโครงกระดูกฝังพร้อมเครื่องประดับ เป็นต้น จากการศึกษาพบว่าแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วเป็นชุมชนโบราณที่มีพัฒนาการทางสังคมที่ซับซ้อน มีการจัดระเบียบแบบแผนของชุมชนและมีการติดต่อกับชุมชนอื่น โดยหลังจากการขุดค้นได้ตีพิมพ์ผลงานร่วมกับนักวิชาการที่ทำงานวิจัยร่วมกันหลายชิ้น เช่น Weaving cultural identities on trans-Asiatic Networks: Upper Thai – Malay Peninsula – an early socio – political landscape (2008) , Khao Sam Keao – an archaeometallurgical crossroads for trans – Asiatic Technological Traditions ( 2010) และ Prehistoric iron production technologies in the Upper Thai – Malay Peninsula : metallography and slag inclusion analyses of artefacts from Khao sam Kaeo and Phu Khao Thong (2011) เป็นต้น

ชื่อผู้ศึกษา : ปรีชา นุ่นสุข

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : ศึกษาการจัดการแหล่งโบราณคดี

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “เขาสามแก้ว – เมืองท่ารุ่นต้น” กล่าวถึงข้อมูลของแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วและพูดถึงวิกฤตการลักลอบขุดหาลูกปัดที่ทวีความรุนแรงในช่วงปี พ.ศ.2548 – 2549 เป็นต้นมา พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางแก้ไข การจัดการแหล่งโบราณคดีในแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว

ชื่อผู้ศึกษา : เชาวณา ไข่แก้ว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2554

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ “การศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยตอนบน” ทำการศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรโดยการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีได้ข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมีเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่แหล่งโบราณคดีปากจั่นฝั่งทะเลตะวันตกและแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วทางฝั่งทะเลตะวันออก เนื่องจากมีหลักฐานทางโบราณคดีและละติจูใกล้เคียงกัน แต่ยังไม่พบแหล่งโบราณคดีกลางคาบสมุทรที่จะยืนยันผลได้ชัดเจน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, แหล่งค้าขาย/เมืองท่า/ตลาด

สาระสำคัญทางโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว เป็นชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ จากการหาค่าอายุด้วยวิธี C-14 จากถ่านที่ได้จากการขุดค้นพบว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีการอยู่อาศัยเริ่มตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 2 และเจริญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 -10 (จากชั้นดินพบหลักฐานการใช้พื้นที่อีกครั้งในช่วงร่วมสมัยรัตนโกสินทร์) ผลจากการขุดค้นที่เป็นระบบทำให้สามารถเห็นภาพของชุมชนโบราณเขาสามแก้วในช่วงพุทธศตวรรษที่ 2 -10 ได้ ดังนี้

ลักษณะของชุมชนจัดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและสถานีการค้า (มีแม่น้ำท่าตะเภาไหลผ่านทางทิศตะวันตกของแหล่งโบราณคดีไหลลงสู่ทะเล ติดต่อกับชุมชนภายนอกได้โดยสะดวก) โดยเป็นชุมชนที่มีการแหล่งผลิตอุตสาหกรรมเหล็ก, อุตสาหกรรมแก้วและหิน จากการศึกษาพบว่ามีการจัดแบบแผนการตั้งถิ่นฐานของชุมชน คือ

มีการสร้างกำแพงดินล้อมรอบชุมชน กระจายตัวอยู่ทั่วไปในแหล่งโบราณคดี พบหลายแห่ง โดยกำแพงจะวางตัวแนวยาวตามเนินเขาหรือที่ราบเชิงเขาที่มีความลาดชันต่ำ มี 2 รูปแบบ คือ กำแพงดินคู่ที่มีคูน้ำกั้นกลางและกำแพงดินเดี่ยว จากรูปแบบสันนิษฐานว่าเป็นเนินดินอัดถมบริเวณส่วนฐานและอาจมีรั้วไม้ปักอยู่ด้านบน จากการพบกำแพงดินหลายแห่งทำให้นักวิชาการสันนิษฐานว่าอาจมีชุมชนขนาดเล็กหลายๆชุมชนในพื้นที่เดียวกัน กำแพงดินเหล่านี้มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 2 -4  (การหาค่าอายุจากถ่านด้วยวิธี C-14 จำนวน 5 ตัวอย่าง) มีความคล้ายคลึงกับกำแพงดินที่พบตามแหล่งโบราณคดีสมัยเดียวกันหลายแห่ง เช่น แหล่งโบราณคดี Nagarjunakonda ในรัฐ Andhra Pradesh, แหล่งโบราณคดี  Sisupalgarh ในรัฐ Orissa อินเดีย,แหล่งโบราณคดี Rajgir ในรัฐ Bihar , Mekong delta site (Oc-Eo) เวียดนาม, Pyu site พม่า เป็นต้น

มีการสร้างคูน้ำหรือทางระบายน้ำจากเนินเขาลงสู่แหล่งน้ำมีลักษณะการทำร่องน้ำวางตัวขวางระหว่างเนินเขาหรือหุบเขาในบริเวณหุบเขาที่ 1 และหุบเขาที่ 3 จากการขุดค้นร่องน้ำหุบเขาที่ 1 พบว่าเป็นคูน้ำที่ใช้ในระบบการจัดการน้ำของชุมชน

มีการจัดแบ่งพื้นที่อุตสาหกรรมไว้นอกเขตชุมชน (นอกกำแพงดิน) ส่วนมากมักเป็นพื้นที่ราบใกล้กับแหล่งน้ำ ซึ่งจากการขุดค้น พบว่าพื้นที่ราบบริเวณเนินเขาที่ 2 ที่อยู่ใกล้แม่น้ำท่าตะเภาเป็นพื้นที่ผลิตลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว ส่วนพื้นที่ราบทางฝั่งตะวันตกของเนินดินที่ 3 และ 4 ที่ติดแม่น้ำท่าตะเภา พบวัตถุดิบและเตาหลอมโลหะ ผลจากการหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ C – 14 จากขี้แร่และชิ้นส่วนเบ้าหลอมโลหะกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 2 -4

จากหลักฐานที่พบ แสดงให้เห็นว่าชุมชนโบราณเขาสามแก้วเป็นชุมชนที่มีการติดต่อกับชุมชนภายนอกและแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภคกับชุมชนต่างแดนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตลูกปัดและเครื่องประดับเพื่อเป็นสินค้าส่งออกและการผลิตโลหะ ชุมชนเขาสามแก้วไม่มีวัตถุดิบและทรัพยากรภายในพื้นที่ จึงสันนิษฐานว่าอาจมีการต้องพึ่งพากับชุมชนอื่นๆในเรื่องของทรัพยากร ตัวอย่างโบราณวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อกับชุมชนภายนอก ได้แก่ โบราณวัตถุประเภท  กลองมโหระทึก กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 1 -7 ,ลูกปัดฝังเส้นสีหรือ Etched bead คล้ายกับทีพบในอินเดียกำหนดอายุราวพุทธศักราช 43 – 243 , ลูกปัดทรงทุ่นแบบที่พบในอินเดียที่แหล่งโบราณคดีวิรัมปัตตะนัมในปอนดิเชรี่ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 6 , ลูกปัดและตราประทับที่มีจารึก ส่วนมากมักเป็นตัวอักษรสันสกฤตและพราหมี เช่น  ลูกปัดคาเนเลียนรูปแท่งหินปริซึมสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหนึ่งมีอักษรพราหมี ภาษาสันสกฤต เขียนว่า “อขิทโร” แปลว่าแข็งแรง ไม่อ่อนแอกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 4, ตราประทับหินสีเขียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าจารึก 1 ด้าน อักษรพราหมี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 5-6 อ่านว่า Kapanasa แปลว่า สมบัติของ Kapana (ชื่อคน), เศษภาชนะดินเผาราชวงศ์ฮั่นตะวันตก พบจากการสำรวจและขุดค้นบริเวณเนินเขา 3 -4 เมื่อปี พ.ศ. 2550 กำหนดอายุราวพ.ศ. 337 และ 551 สอดคล้องกับการพบโบราณวัตถุประเภทชิ้นส่วนกระจกสำริด,หัวธนูขวานสำริดและขวานสำริด เป็นต้น

ในส่วนของความเชื่อของชุมชน จากโบราณวัตถุที่พบสันนิษฐานว่าชุมชนโบราณเขาสามแก้ว มีทั้งความเชื่อในเรื่องธรรมชาติและความเชื่อที่รับมาจากอิทธิพลภายนอก โบราณวัตถุที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ การเกษตรกรรมและความตาย เช่น หุ่นจำลองดินเผารูปคนไม่แต่งกาย รูปอวัยวะเพศชาย หญิงย่อส่วน รูปสัตว์และใบไม้, ความเชื่อทางพุทธศาสนา (ความเชื่อที่ได้รับจากอิทธิพลภายนอก) เช่น แท่งหินบดแกะสลักรูปสถูปกำหนดอายุราวพุทศตวรรษที่ 10 หรือการค้นพบโกศบรรจุกระดูกที่ถูกเผาจำนวน 2 โครงเป็นโครงเด็กอายุ 11 -15 ปีและ 0 -2 ปี ผลจากการหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 2 – 4 บริเวณหุบเขาที่ 3 และโครงกระดูกที่ฝังบริเวณฝั่งตะวันตกของเนินเขาที่ 2 พร้อมเครื่องประดับกำไลแก้วและเครื่องประดับหิน เศษภาชนะดินเผาและภาชนะดินเผาขวานหินขัด 2 ชิ้น แสดงให้เห็นถึงการประกอบพิธีกรรมหลังความตายที่แตกต่างกัน คือ มีทั้งฝังและเผา(Bellina and Praon Silapanth 2008 :  256 – 293)

 จากหลักฐานทางด้านโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าชุมชนเขาสามแก้วเป็นชุมชนที่มีความสำคัญในช่วง พุทธศตวรรษที่ 2 -10 ในฐานะชุมชนการค้า การผลิตและที่อยู่อาศัยที่สำคัญที่สำคัญทางชายฝั่งทะเลตะวันออกในภาคใต้ โดยมีความสัมพันธ์กับชุมชนภายนอก และน่าจะมีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังชายฝั่งทะเลตะวันตก

จารึกที่เกี่ยวข้อง :

พบจารึกบนลูกปัดและตราประทับ เช่น

     - ลูกปัดคาเนเลียนรูปแท่งหินปริซึมสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหนึ่งมีอักษรพราหมี ภาษาสันสกฤต เขียนว่า “อขิทโร” แปลว่าแข็งแรง ไม่อ่อนแอกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 4

     - ตราประทับหินสีเขียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พบจารึก 1 ด้าน อักษรพราหมี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 5-6 อ่านว่า Kapanasa แปลว่า สมบัติของ Kapana (ชื่อคน)

     - ตราประทับหินสีเขียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพบจารึก 2 ด้าน อักษรพราหมี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 5 -6  อ่านว่า isidata ซึ่งน่าจะเป็นชื่อบุคคล

     - ตราประทับหินสีแดงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พบจารึก 3 ด้าน ประทับตรารูปสัตว์ 1 ด้าน (ยังไม่มีการอ่านและแปล)

     - หินทรงกลม 2 สี จารึกอักษรพราหมี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 5 – 6 อ่านว่า ma-Tha-ha สันนิษฐานว่าชื่อคน แปลว่าบริสุทธิ์

เป็นต้น  (เชาวณา ไข่แก้ว  2554 : 60- 61) 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

เพลงเมธา ขาวหนูนา, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

เชาวณา ไข่แก้ว. “การศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยตอนบน.”วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2554.

ปรีชา นุ่นสุข. “เขาสามแก้ว : เมืองท่ารุ่นต้น” เมืองโบราณ 32, 4 (ตุลาคม–ธันวาคม 2549) : 98–104.

ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวํฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม (Online) Available from http://www.gis.finearts.go.th.

วิสันธนี โพธิสุนทร เรียบเรียง. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2542.

ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “เขาสามแก้ว: ชุมชนโบราณ.” ในสารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ : ธนาคารทหารไทยพานิชย์, 2542 : 841-853.

Bellina – Pryce Bérénice, and Praon Silapanth. “Weaving cultural  identities on trans-Asiatic Networks: Upper Thai – Malay Peninsula – an early socio – political landscape”  Bulletine de École Française d’Extrême – Orient no .93, 2008 : 256 – 293.

Bellina – Pryce Bérénice, Mercedes Murillo – Barroso, Thomas Oliver Pryce and Marcos Martinon – Torres. “Khao Sam Keao – an archaeometallurgical  crossroads for trans – Asiatic Technological Traditions” Journal of Archaeological Science. 37, 2010 : 1761–1772.

Thomas Oliver Pryce,  Bellina – Pryce Bérénice, Mercedes Murillo – Barroso, Marcos Martinon – Torres and Lynn Biggs. “Prehistoric iron production technologies in the Upper Thai – Malay Peninsula : metallography and slag inclusion analyses of artefacts from Khao sam Kaeo and Phu Khao Thong”  www.academai.edu/3887797/ Prehistoric iron production technologies in the Upper Thai – Malay Peninsula : metallography and slag inclusion analyses of artefacts from Khao sam Kaeo and Phu Khao Thong , 2011.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง