ภาพเขียนสีเป็นพระพุทธรูป, แหล่งโบราณสถานถ้ำศิลป์


โพสต์เมื่อ 19 ก.ย. 2021

ชื่ออื่น : ถ้ำศิลป์, ถ้ำศิลป

ที่ตั้ง : ม.2 บ้านบันนังลูวา

ตำบล : หน้าถ้ำ

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ยะลา

พิกัด DD : 6.522165 N, 101.233363 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปัตตานี

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัว จ.ยะลา ใช้ทางหลวงหมายเลข 409 มุ่งหน้า ต.หน้าถ้ำ (มุ่งหน้าทางทิศตะวันตก) ประมาณ 6 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสู่วัดคูหาภิมุข เลยวัดคูหาภิมุขไปประมาณ 4.5 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้าย ไปตามถนนประมาณ 1.1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนลาดยางขนาดเล็กประมาณ 100 เมตร จะพบทางขึ้นสู่ถ้ำศิลป์

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เปิดให้เข้าเยี่ยมชมทุกวัน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, องค์การบริหารส่วนตำบลหน้าถ้ำ

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 หน้า 3695 ประกาศวันที่ 8 มีนาคม 2478

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา, ภูเขา

สภาพทั่วไป

ถ้ำศิลป์ตั้งอยู่ทางทิศใต้บน “เขาถ้ำพระนอน” ซึ่งเป็นภูเขาหินปูน (เขาถ้ำพระนอนตั้งอยู่ห่างจากเขายะลามาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร) ถ้ำอยู่สูงจากเชิงเขาประมาณ 28.2 เมตร ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันตก โถงถ้ำอยู่ในแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ เพดานถ้ำด้านทิศใต้ช่วงที่สูงสุดมีช่องค่อนข้างใหญ่ ทำให้แสงสว่างสามารถส่องเข้าภายในถ้ำได้ในบางช่วง ถัดขึ้นไปด้านทิศเหนือเป็นโถงถ้ำที่ต่ำกว่าเล็กน้อย มีภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ 2 ด้าน คือ ผนังถ้ำด้านตะวันออก เป็นภาพเขียนสีดำ เป็นกลุ่มภาพคนเป่าลูกดอกและยิงธนู และมีภาพเขียนสีสภาพค่อนข้างลบเลือนมาก เป็นภาพสัญลักษณ์และรูปลักษณ์ และผนังถ้ำด้านทิศตะวันตกเป็นภาพเขียนสีแสดงภาพพระพุทธเจ้าและพุทธประวัติบางตอน แหล่งโบราณคดีใกล้เคียงได้แก่ เพิงผาถ้ำศิลป์ ที่พบหลักฐานการอยู่อาศัยและประกอบกิจกรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาด้านล่างของเขาถ้ำพระนอนถัดลงมาจากถ้ำศิลป์ (ชาญรุ่งโรจน์ 2548)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

62 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปัตตานี

สภาพธรณีวิทยา

ถ้ำศิลป์ตั้งอยู่ทางทิศใต้บน “เขาถ้ำพระนอน” ซึ่งเป็นภูเขาหินปูน ล้อมรอบด้วยพื้นที่ทับถมจากตะกอนตะพักลำน้ำ เขาถ้ำพระนอนมีความสูงตั้งแต่ประมาณ 30-200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยหินใหม่, สมัยสุโขทัย, สมัยศรีวิชัย, สมัยอยุธยา?

อายุทางโบราณคดี

3,000 ปีมาแล้ว, พุทธศตวรรษที่ 14-20

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : หะยี วังกะจิ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2468

ผลการศึกษา :

นายหะยี วังกะจิ ค้นพบถ้ำศิลป์ และได้แจ้งไห้กำนัน ต.หน้าถ้ำ ทราบว่าภายในถ้ำมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้นและเครื่องถ้วยแบบต่างๆ ขุนศิลปกรรมพิเศษจึงมีคำสั่งให้นายถ่อง (ย่อง) แก้วนิตย์ ผู้ควบคุมกองลูกเสือหาโอกาสไปสำรวจถ้ำดังกล่าว

ชื่อผู้ศึกษา : ถ่อง แก้วนิตย์ (ย่อง แก้วนิตย์)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

นายถ่อง แก้วนิตย์ (ย่อง แก้วนิตย์) สำรวจถ้ำศิลป์อย่างละเอียด และพบภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำ จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาสำรวจเพิ่มเติม และเพื่อเป็นเกียรติแก่ขุนศิลปกรรมพิเศษ ทารการจึงตั้งชื่อถ้ำแห่งนี้ว่า “ถ้ำศิลป์” มาจนถึงทุกวันนี้

ชื่อผู้ศึกษา : ธนิตย์ อยู่โพธิ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

นายธนิตย์ อยู่โพธิ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร สำรวจ บันทึกภาพ และเผยแพร่ข้อมูลภาพเขียนสีที่ถ้ำศิลป์

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ หนึ่งในนั้นคือ “ภาพเขียนสีเป็นพระพุทธรูป” หรือถ้ำศิลป์

ชื่อผู้ศึกษา : ศิลป์ พีระศรี, เขียน ยิ้มศิริ, ชิน อยู่ดี, จำรัส เกียรติก้อง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2501

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผลการศึกษา :

ศ.ศิลป์ พีระศรี และนายเขียน ยิ้มศิริ จาก ม.ศิลปากร ร่วมกับ ศ.ชิน อยู่ดี และนายจำรัส เกียรติก้อง จากกรมศิลปากร วิเคราะห์แปลความภาพจิตรกรรมฝาผนังยุคประวัติศาสตร์ โดยเสนอบทความเกี่ยวกับภาพเขียนสีในถ้ำ จ.ยะลา และสันนิษฐานอายุของศิลปกรรมบนผนังหินเบื้องต้นจากการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะศิลปกรรมบนผนังหินยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการค้นพบเช่นเดียวกับในทวีปยุโรป อีกทั้งยังศึกษาเปรียบเทียบกับลักษณะศิลปกรรมตามความเชื่อในพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูที่พบในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชื่อผู้ศึกษา : อมรา ศรีสุชาติ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

นางอมรา ศรีสุชาติ กรมศิลปากร วิเคราะห์และแปลความสภาพสังคมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำ

ชื่อผู้ศึกษา : ต่อสกุล ถิระพัฒน์, ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์, สมภพ พงษ์พัฒน์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผลการศึกษา :

นายต่อสกุล ถิระพัฒน์ นายภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์ และนายสมภพ พงษ์พัฒน์ จัดทำเอกสารประกอบการสัมมนาในหัวข้อ “การศึกษาเปรียบเทียบภาพเขียนสีรูปคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่งศิลปะถ้ำภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้” เพื่อเสนอสำหรับสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาคือเพื่อศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบของภาพเขียนสีรูปคนและศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนผู้สร้างสรรค์ภาพเขียนสี ที่พบในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมถึงภาพเขียนสีที่ถ้ำศิลป์ จ.ยะลา

ชื่อผู้ศึกษา : ชาญรุ่งโรจน์ (บริษัทจำกัด), กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2548 มีการขุดค้นทางโบราณคดีที่ถ้ำศิลป์ 3 หลุม และที่เพิงผาถ้ำศิลป์ อีก 1 หลุม โดย บริษัท ชาญรุ่งโรจน์ จำกัด ภายใต้การควบคุมของสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ใน “โครงการอนุรักษ์โบราณสถานถ้ำศิลป์ จ.ยะลา” รวมพื้นที่ 31 ตารางเมตร

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรบูรณะจิตรกรรมบนผนังถ้ำภายในถ้ำศิลป์ โดยได้รับงบประมาณสันบสนุนจากงบประมาณพัฒนาจังหวัดยะลา

ชื่อผู้ศึกษา : อัตถสิทธิ์ สุขขำ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

อัตถสิทธิ์ สุขขำ ศึกษาศิลปะถ้ำหรือศิลปกรรมบนผนังหินที่พบในภาคใต้ของไทย เพื่อเสนอเป็นวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร หัวข้อ “การกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคใต้ของประเทศไทย” โดยวัตถุประสงค์ของการศึกษาคือเพื่อประมวลข้อมูลเบื้องต้นและประมวลแนวคิดในการกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหิน รวมทั้งเรียบเรียงข้อมูลและกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินในสมัยโบราณในภาคใต้ของไทย ซึ่งรวมถึงศิลปะถ้ำที่พบที่ถ้ำศิลป์ด้วย

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พื้นที่ภายในถ้ำศิลป์รวมถึงพื้นที่โดยรอบถ้ำภายในเขาถ้ำพระนอนปรากฏร่องรอยการใช้พื้นที่ของคนตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญได้แก่ ภาพเขียนสี และหลักฐานที่ได้จากการขุดค้น

ภาพเขียนสี แบ่งออกได้ตามตำแหน่งของภาพได้ดังนี้

ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาพเขียนสีดำ เขียนเป็นรูปกลุ่มคนประมาณ 8 คน ขอบเขตของภาพขนาด 65 เซนติเมตร และ 60 เซนติเมตร วางตำแหน่งของภาพแบบสามเหลี่ยม ภาพคนสันนิษฐานว่าเป็นนักล่าสัตว์ด้วยไม้ซางเป่าลูกดอกที่ใช้ในการล่าสัตว์จากระยะไกล สูงประมาณ 30 เซนติเมตร ตอนเหนือคนเป่าลูกดอกเป็นภาพคนยืนสูงประมาณ 24 เซนติเมตร ด้านหน้าคนเป่าลูกดอกเป็นคนยืนแอ่นท้อง สูงประมาณ 16 เซนติเมตร ด้านหลังคนเป่าลูกดอกเป็นคนยืนโก่งคันธนู สูงประมาณ 19 เซนติเมตร ด้านล่างคนเป่าลูกดอกเป็นภาพคนนั่งหรือคนขนาดเล็กย่อส่วนสูงประมาณ 12 เซนติเมตร 15 เซนติเมตร และ 16 เซนติเมตร ด้านหลังริมสุดของภาพคนยืนมีสภาพเลอะเลือน โดยภาพคนทั้งหมดเป็นภาพหันหน้าตรงและหันข้างในภาพเดียวกัน (Half-profile style) ทำภาพด้วยเทคนิคเซาะร่อง (Engraving) เป็นเส้นโครงร่างก่อนแล้วจึงระบายสีทึบภายในโครงร่างนั้น (อัตถสิทธิ์ สุขขำ 2553 ; อมรา ศรีสุชาติ 2532 : 49 ; ต่อสกุล ถิรพัฒน์, ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์ และสมภพ พงษ์พัฒน์ 2540) สันนิษฐานว่าเป็นภาพเขียนยุคก่อนประวัติศาสตร์ (กรมศิลปากร 2555)

ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำด้านทิศตะวันออก อยู่ถัดจากภาพกลุ่มคนเป่าลูกดอก เป็นภาพเขียนสีแดงรูปภาพสัญลักษณ์และพุทธประวัติ สีลบเลือนเห็นเพียงรอยสีน้ำตาล อยู่ผนังด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และจากรอยที่เหลืออยู่พอจะมองเห็นเป็นภาพต่างๆ คือ บนสุดเป็นภาพดวงตราแปดดวง ถัดมาเป็นภาพคนสองคนนั่งหันหน้าเข้าหากัน ภาพล่างสุดตอนกลางเป็นภาพคนนั่งสามคน (อัตถสิทธิ์ สุขขำ 2553)

ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำด้านทิศตะวันตก ภาพเขียนสีเป็นภาพพระพุทธเจ้าและพุทธประวัติ เขียนด้วยเทคนิคการลงสีดำ แดง และขาว กลุ่มภาพสูงจากพื้นประมาณ 2-4 เมตร ประกอบด้วยภาพบนสุดเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งเรียงกันประมาณ 15 พระองค์ ยังคงชัดเจนอยู่ 3 พระองค์ เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัย มีพระสาวก 2 องค์ขนาบข้าง ด้านล่างลงมาเป็นภาพพระพุทธรูปปางนาคปรก ปางสมาธิ ธิดาพญามารทั้ง 3 คือ ตัณหา ราคา และอรดี ถัดไปเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางลีลา รัตนจงกลม และพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งบนบัลลังก์สูง มีพระโพธิสัตว์หรือพระสาวกขนาบข้าง ด้านล่างของภาพพระพุทธรูปปางสมาธิ เป็นภาพขนาดเล็ก ซึ่งอาจเป็นภาพของพลมาร ด้านล่างของภาพพระพุทธรูปประทับนั่งเรียงกันเป็นภาพเทวดาเหาะเขียนด้วยสีแดง (ศิลป์ พีระศรี 2501) พระพุทธรูปปางลีลาที่พบบนผนังถ้ำด้านนี้มีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปแบบสุโขทัย (กรมศิลปากร 2555 : 605)

หลักฐานทางโบราณคดีจากการขุดค้น

มีการขุดค้นทางโบราณคดีเพียงครั้งเดียวคือในปี พ.ศ.2548 โดยสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา และ บจ. ชาญรุ่งโรจน์ โดยขุดค้นทั้งหมด 4 หลุม อยู่ภายในถ้ำศิลป์ 3 หลุม และที่เพิงผาถ้ำศิลป์ 1 หลุม (เป็นเพิงผาที่ตั้งอยู่ต่ำลงมาจากถ้ำศิลป์) พื้นที่ขุดค้นรวม 31 เมตร หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ (ชาญรุ่งโรจน์ 2548 ; อัตถสิทธิ์ สุขขำ 2553) ได้แก่

1.เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) มีทั้งแบบผิวภาชนะผิวเรียบและที่ตกแต่งด้วยลายกดประทับแบบเส้นตรงและลายคล้ายดอกไม้ ลายเชือกทาบ สันนิษฐานว่าเป็นภาชนะดินเผายุคประวัติศาสตร์ และเป็นภาชนะที่ใช้ในครัวเรือน ผลิตในแหล่งเตาพื้นเมือง นอกจากนี้ เศษภาชนะผิวเรียบบางชิ้นมีเนื้อละเอียด ภายนอกและในมีสีขาว-นวล ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาชนะดินเผาประเภทกุณฑีจากแหล่งเตาปะโอ โดยเป็นสิ่งของที่นำเข้ามาพร้อมกับติดต่อกับชุมชนอื่นบริเวณชายฝั่งอ่าวไทย

2.เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง (Stoneware) ตกแต่งด้วยเคลือบใสแตกราน สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องถ้วยจีน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-20 และเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเมืองสุโขทัยเก่า อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งอาจจะเป็นการการนำเข้ามาพร้อมกับการติดต่อกับชุมชนอื่นตามชายฝั่งอ่าวไทยและตามเส้นทางข้ามคาบสมุทร

3.กระดูกสัตว์ ได้แก่ สัตว์จำพวกกวาง เก้ง หมู นก กบ สันนิษฐานว่าเป็นสัตว์ที่ถูกล่ามาเป็นอาหารของมนุษย์ในอดีตจากพื้นที่บริเวณแหล่งโบราณคดี เนื่องด้วยชั้นดินที่ขุดพบนั้นมีการปะปนของโบราณวัตถุหลายสมัย จึงไม่สามารถวิเคราะห์อายุสมัยของกระดูกสัตว์ได้

4.เครื่องมือกระดูกสัตว์ปลายแหลม

5.ชิ้นส่วนเขากวาง

6.ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินดิบ

7.ก้อนแร่เหล็ก

8.ขวานหินขัด

 

การแปลความศิลปกรรม หลักฐานทางโบราณคดี และการกำหนดอายุเบื้องต้น (อัตถสิทธิ์ สุขขำ 2553)

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ศิลปกรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ ศิลปกรรมบนผนังหินของภาพกลุ่มคนล่าสัตว์ด้วยธนูและคนเป่าไม้ซาง บริเวณผนังถ้ำด้านตะวันออก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาพเขียนสีแดงกับการเซาะร่องแบบธรรมชาติ (Naturalistic) หรือภาพเสมือนจริง (Realistic) หรือภาพรูปลักษณ์ (Figures) ภาพคนในท่ายืนกำลังเป่าไม้ซางอยู่ตรงกลางโดยมีรูปคนกำลังยิงธนูและรูปสัตว์อยู่รายรอบเป็นลักษณะวงกลม ถัดไปเป็นภาพคนและสัตว์เป็นแนวตรง ทั้งสองด้านของภาพที่เป็นวงกลม แสดงให้เห็นว่ามีการสร้างสรรค์งานศิลปะทั้งที่เป็นเรื่องราวของการดำเนินชีวิตประจำวัน และอาจทำให้เห็นถึงความเชื่อออกมาเป็นภาพสัญลักษณ์ เทคนิควิธีการเขียนภาพเขียนสีจะเขียนสีด้วยถ่านผสมยางไม้ ดร.อมรา ศรีสุชาติ (2532) สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า-ล่าสัตว์ และเป็นลักษณะพิเศษของคน คือ การเขียนภาพแขนทั้งสองข้างมาบรรจบกันโดยการใช้เส้นโค้งและการวาดภาพส่วนศีรษะยื่นแหลมคล้ายหัวนก อาจแสดงถึงลักษณะการนับถือโทเท็มประจำเผ่า และ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม (2546) กล่าวว่าเป็นลักษณะสืบทอดมาจนถึงพวกเซมังซาไกหรือพวกเงาะที่อาศัยอยู่ในจังหวัดยะลาและประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี จากการขุดค้นทางโบราณคดีโดยสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา และ บจ.ชาญรุ่งโรจน์ (2548) บริเวณถ้ำศิลป์และเพิงผาถ้ำศิลป์ พบหลักฐานการอยู่อาศัยของกลุ่มคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 3,000 ปีมาแล้ว จึงกำหนดอายุภาพเขียนสีรูปกลุ่มคนล่าสัตว์ด้วยธนูและเป่าไม้ซางถูกเขียนขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว

หลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบจากการขุดค้นบริเวณถ้ำศิลป์ (หลุมขุดค้นที่ 1-3) ประกอบด้วยลูกปัดเปลือกหอยและเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน ส่วนบริเวณเพิงผาถ้ำศิลป์ (หลุมขุดค้นที่ 4) ประกอบด้วยเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เปลือกหอยกาบ เปลือกหอยเลียบ เปลือกหอยทาก กระดูกสัตว์ เครื่องมือกระดูกปลายแหลม เปลือกหอยเจาะรู เครื่องมือหินขัด และก้อนแร่เหล็ก หลักฐานเหล่านี้สะท้อนถึงความเป็นหลักฐานในชั้นวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติสาสตร์อย่างชัดเจน (ภายในถ้ำศิลป์มีการรบกวนชั้นในมาก อาจเป็นสาเหตุให้พบหลักฐานก่อนประวัติศาสตร์น้อย) ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณถ้ำศิลป์และเพิงผาถ้ำศิลป์มีการเข้ามาใช้พื้นที่ประกอบกิจกรรมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งศิลปกรรมของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา โดยพื้นที่บริเวณเพิงผาถ้ำศิลป์นั้นมีการใช้เป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะยุคก่อนประวัติศาสตร์เท่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นเพียงระยะเวลาไม่นานนัก หลังจากนั้นจึงถูกทิ้งร้างไป บริเวณถ้ำศิลป์ยังคงมีการใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ แต่เปลี่ยนจากการใช้พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยเป็นการใช้พื้นที่เพื่อเป็นศาสนสถานที่สำคัญในพุทธศาสนา

รายละเอียดบางประการของหลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่

เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ทาน้ำดิน รมควันที่ผิว

ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์และเครื่องมือกระดูกสัตว์ปลายแหลม จากการจัดจำแนกพบชิ้นส่วนของหนู นก หมู กวาง วัว/ควาย เป็นต้น ซึ่งทำให้ทราบว่าน่าจะมีการล่าสัตว์มาจากบริเวณใกล้ๆกับแหล่งโบราณคดี เนื่องจากชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ที่พบมีหลายชิ้นส่วนปะปนกัน ทั้งส่วนขาและลำตัว ทั้งกระดูกสันหลัง ซึ่โครง กะโหลก จากประเภทของสัตว์ที่พบทำให้ทราบถึงลักษณะพื้นที่ของแหล่งอาหารว่าเป็นสัตว์ที่อาศัยเป็นป่าเบญจพรรณและทุ่งหญ้า นอกจากนั้นยังมีการจับสัตว์น้ำ เช่น ปลา จากแหล่งน้ำใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดี โดยเศษกระดูกสัตว์บางส่วนนำเอาชิ้นส่วนกระดูกชิ้นยาวมาขัดฝนให้แหลมคมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์ต่อไป จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว จ.กระบี่ และแหล่งโบราณคดีถ้ำซาไก จ.ตรัง พบเครื่องมือปลายแหลมทำจากกระดูกสัตว์ ที่กำหนดอายุโดยการเปรียบเทียบได้ราว 3,020±230 ปีมาแล้ว (สุรินทร์ ภู่ขจร 2539 : 25) นอกจากนี้การขุดค้นเพิงผาหลังโรงเรียนก็พบเครื่องมือกระดูกที่มีลักษณะคล้ายกัน (Anderson 1990 ; รัศมี ชูทรงเดช 2545) จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำศิลป์และเพิงผาถ้ำศิลป์มีอายุอยู่ในช่วง 3,000 ปีมาแล้ว   

สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการล่าสัตว์น่าจะประกอบไปด้วยเครื่องมือปลายแหลม ซึ่งอาจจะทำเป็นลูกศรสำหรับยิงธนู หรืออาจเปรียบเทียบได้กับภาพเขียนสีบันทึกเหตุการณ์การล่าสตัว์ภายในถ้ำศิลป์

หลักฐานประเภทเปลือกหอยทำให้ทราบได้ว่ามีการหาหอยน้ำจืดชนิดต่างๆมาเป็นอาหาร สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่มีแนวลำน้ำธรรมชาติขนาดเล็กไหลผ่านด้านทหน้าของแหล่งโบราณคดี นอกจากนี้ยังอาจจะมีการติดต่อกับชุมชนที่อยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเลที่อยู่ห่างออกไป เนื่องจากพบเปลือกหอยทะเลอยู่ในชั้นวัฒนธรรมเดียวกับเปลือกหอยน้ำจืด

ลูกปัดเปลือกหอย พบเพียงชิ้นเดียวที่ถ้ำศิลป์ มีลักษณะกลมแบน น่าจะทำมาจากเปลือกหอยทะเลที่มีความหนาค่อนข้างมาก จึงเป็นไปได้ว่าเป็นของที่มาจากการติดต่อกับแหล่งโบราณคดีที่อยู่ห่างไกลออกไป

เปลือกหอยเจาะรู เป็นสิ่งที่สามารถผลิตขึ้นภายในแหล่งโบราณคดีเนื่องจากมีวัตถุดิบอยู่ในพื้นที่ โดยอาจจะนำใช้เปลือกหอยที่เก็บมาเป็นอาหารเจาะรูด้วยเครื่องมือปลายแหลม ส่วนหน้าที่การใช้งานเปลือกหอยเจาะรูทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องประดับลักษณะเดียวกับลูกปัด

เครื่องมือหินขัด ทำจากหินเชิร์ท (Chert) เนื้อละเอียด แต่ไม่พบร่องรอยหลักฐานการผลิตเครื่องมือหิน จึงมีความเป็นไปได้ว่าขวานหินขัดนี้อาจนำมาจากพื้นที่อื่นด้วยการนำติดตัวเข้ามาหรืออาจเป็นสิ่งที่ทำขึ้นภายในแหล่งโบราณคดี

จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว จ.กระบี่ และแหล่งโบราณคดีถ้ำซาไก จ.ตรัง โดย ศ.สุรินทร์ ภู่ขจร (2539) พบเครื่องมือปลายแหลมที่ทำจากกระดูกสัตว์และขวานหินขัดอยู่ในชั้นวัฒนธรรมเดียวกัน ซึ่งกำหนดอายุโดยการเปรียบเทียบได้ราว 3,020±230 ปีมาแล้ว จึงเป็นได้ว่าวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีถ้ำศิลป์และเพิงผาถ้ำศิลป์ มีอายุอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว

ศิลปกรรมยุคประวัติศาสตร์ เป็นศิลปกรรมบนผนังหินเกี่ยวกับพุทธศาสนา ศ.ศิลป์ พีระศรี และ อ.เขียน ยิ้มศิริ (2501) กำหนดอายุจากการเปรียบเทียบได้ไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 15 เขียนด้วยศิลปินช่างท้องถิ่นตามศิลปะสมัยศรีวิชัย สืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 19-20 ตามแบบศิลปะสมัยสุโขทัย มีอิทธิพลจากศิลปะอินเดีย โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางลีลา ซึ่งสอดคล้องกับการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณถ้ำศิลป์ที่พบหลักฐานการใช้พื้นที่เป็นศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อในศาสนาพุทธ ราวพุทธศตวรรษที่ 14-20 สมัยศรีวิชัยและใช้สืบเนื่องมาจนสมัยสุโขทัย

หลักฐานทางโบราณคดียุคประวัติศาสตร์ พบจากการขุดค้นเฉพาะแหล่งโบราณคดีถ้ำศิลป์(หลุมขุดค้นที่ 1-3) เท่านั้น ประกอบด้วย เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง ชิ้นส่วนปูนฉาบปิดทอง และชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินดิบ รวมไปถึงหลักฐานที่เป็นภาพเขียนสีเกี่ยวกับพุทธประวัติลงสีดำ สีแดง และสีขาว อยู่ทางผนังด้านทิศตะวันตก

หลักฐานประเภทภาชนะดินเผา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน ตกแต่งด้วยลายกดประทับ ลักษณะคล้ายดอกไม้ น่าจะเป็นภาชนะที่ผลิตขึ้นจากแหล่งเตาพื้นเมือง ส่วนที่มีผิวเรียบไม่มีการตกแต่ง สีของภาชนะมีสีขาว/นวล เนื้อละเอียด น่าจะเป็นภาชนะที่ของแหล่งเตาปะโอจากบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ โดยนำเข้ามาพร้อมกับการติดต่อระหว่างชุมชนและนำเข้ามาใช้ในหน้าที่เฉพาะ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ (2527) กล่าวไว้ว่า ลักษณะเนื้อดินของหม้อกุณฑีที่พบในคาบสมุทรภาคใต้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเนื้อค่อนข้างหยาบ มักจะพบในพื้นที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และกลุ่มเนื้อละเอียด พบบริเวณคาบสมุทรสทิงพระในเขต จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา ผลิตออกขายเป็นจำนวนมากในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 19-20

สำหรับเครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเมืองสุโขทัยเก่า กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 18-20 และ 19-20 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อกับชุมชนภายนอกที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศหรืออาจเป็นการส่งผ่านมาจากชุมชนขนาดใหญ่ที่อยู่ไม่ห่างจากแหล่งโบราณคดีมากนัก เช่น เมืองโบราณยะรัง ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในเส้นทางข้ามคาบสมุทรระหว่างเส้นทางสายรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ผ่าน จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี (อมรา ศรีสุชาติ 2530)

ในด้านความเชื่อของชุมชนบริเวณถ้ำศิลป์ พบหลักฐานจากการขุดค้น คือ ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผา แต่จากสภาพของพระพิมพ์ที่พบไม่สมบูรณ์ เหลือเฉพาะบริเวณมุมเท่านั้น จึงไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นพระพิมพ์รูปแบบใด อย่างไรก็ตาม รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม (2546) ได้กล่าวถึงโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีวัดถ้ำคูหาภิมุข ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขากลุ่มเดียวกับถ้ำศิลป์ โดยกล่าวถึงว่า พระพิมพ์ดินดิบแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบพระพิมพ์ขนาดใหญ่ มีรูปพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท พระพุทธรูปยืน และพระพุทธรูปนั่งขนาบข้างด้วยสถูปทั้งสองข้าง ลักษณะคล้ายกับศิลปะสมัยทวารวดีในภาคกลางของไทย และพระพิมพ์ขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นรูปพระโพธิสัตว์บางองค์มีจารึกกำกับอยู่ด้านหลัง ลักษณะเป็นแบบศรีวิชัย นอกจากพระพิมพ์ดินดิบแล้วยังพบพระพุทธรูปสำริด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 และพระพุทธรูปรุ่นหลังลงมา ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมาจนถึงสมัยอยุธยา

จากการลำดับสมัยวัฒนธรรมของแหล่งโบราณคดีในพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้โดย ดร.อมรา ศรีสุชาติ (2530) ได้กล่าวถึงในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-18 มีการค้าขายกับจีน โดยเฉพาะการค้าขายเครื่องถ้วยชาม อิทธิพลของพุทธศาสนามหายานกลับมาฟื้นฟู มีการนำพระพิมพ์ฝังตามถ้ำ ซึ่งถือเป็นศาสนสถานระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 ยังคงทำการค้าขายกับสุโขทัยและอยุธยา เนื่องจากพบหลักฐานที่สำคัญ คือ เครื่องถ้วยชามสังคโลก จากการลำดับสมัยวัฒนธรรมของแหล่งโบราณคดีในพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้นี้ จะเห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีถ้ำศิลป์ ในพื้นที่หลุมขุดค้นที่ 1-3 ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 เป็นต้นมา (ชาญรุ่งโรจน์ 2548 : 79-84)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

พิมพ์ชนก พงษ์เกษตร์กรรม์ เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). สงขลา : สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา, 2555.

ชาญรุ่งโรจน์, บริษัทจำกัด. รายงานเบื้องต้นโครงการอนุรักษ์โบราณสถานถ้ำศิลป : งานขุดค้นแหล่งโบราณคดีถ้ำศิลปและแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำศิลป ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา. รายงานเสนอสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร, 2548.

ต่อสกุล ถิระพัฒน์, ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์, และนายสมภพ พงษ์พัฒน์. “การศึกษาเปรียบเทียบภาพเขียนสีรูปคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่งศิลปะถ้ำภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้” เอกสารประกอบการสัมมนาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2540.

ผาสุข อินทราวุธ. “หม้อกุณฑีในคาบสมุทรภาคใต้ของไทย” เมืองโบราณ 10, 1 (มกราคม-มีนาคม 2527) : 103-111.

พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2539.

พิสิฐ เจริญวงศ์. ศิลปะถ้ำในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2531.

พิสิฐ เจริญวงศ์. ศิลปะถ้ำในอีสาน. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2532.

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา. รายงานการสำรวจและจัดทำข้อมูลสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดยะลา. ยะลา : มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, 2539.

รัศมี ชูทรงเดช. “โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของกระบี่” วารสารดำรงวิชาการ 1, 2 (2545) : 45-73.

ศรีศักร วัลลิโภดม. อู่อารยธรรมแหลมทองคาบสมุทรไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท พิฆเนศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, 2546.

ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์. “งานโบราณคดีในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อดีต-ปัจจุบัน” ศิลปวัฒนธรรม 26, 5 (มีนาคม 2548) : 58-61.

ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์. “พัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

ศิลป์ พีระศรี. “ภาพเขียนสีในถ้ำ จ.ยะลา” (เขียน ยิ้มศิริ, แปล). ศิลปากร 2, 3 (กันยายน 2501) : 41-45.

สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา. แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีเขายะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา. เอกสารกลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร, ม.ป.ป.

สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา. โครงการการสำรวจ ศึกษา ค้นคว้าการตั้งถิ่นฐานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ ลุ่มแม่น้ำปัตตานี-สายบุรี. สงขลา : สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมสิลปากร, 2543.

สุรินทร์ ภู่ขจร. รายงานขั้นสรุปการขุดค้นที่ถ้ำหมอเขียว จังหวัดกระบี่, ถ้ำซาไก จังหวัดตรัง และการศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดี ชนกลุ่มน้อยเผ่าซาไก จังหวัดตรัง. กรงุเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539.

อมรา ขันติสิทธิ์. “การศึกษาแนวความคิดจากภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2521.

อมรา ศรีสุชาติ. “โบราณคดีชายฝั่งทะเลอันดามัน : ข้อมูลเก่า-ใหม่” ศิลปากร 31, 3 (2530) : 15-27.

อมรา ศรีสุชาติ. “ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย : ภาพสะท้อนของคนในสังคมแห่งบรรพกาล” ศิลปากร 33, 4 (2532) : 44-62.

อัตถสิทธิ์ สุขขำ. “การกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคใต้ของประเทศไทย” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

Anderson, Douglas D. Lang Rongrien rockshelter : a Pleistocene – early Holocene archaeological site from Krabi, Southwestern Thailand. Philadelphia : The University Museum, 1990. 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง