เพิงผาปาโต๊ะโระ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : ปาโต๊ะโระ, ป่าโต๊ะโระ

ที่ตั้ง : ม.7 บ้านบูเกตยามู ต.ควนโดน อ.ควนโดน

ตำบล : ควนโดน

อำเภอ : ควนโดน

จังหวัด : สตูล

พิกัด DD : 6.805596 N, 100.105637 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : คลองดุสน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ใช้ถนนเส้นบูเกตยามู-กะหมิง เข้ามาทางถนนลาดยางที่ตัดผ่านหมู่บ้านเก็ตยามู หมู่ 7 เลียบถนนลาดยางผ่านสวนยางพาราของชาวบ้าน และเขามาทางสวนยางพาราที่อยู่ติดกับเขาหาน จากนั้นเดินข้ามลำห้วยหาบ และเดินเข้าไปอีก 10 เมตร จะมาถึงตัวแหล่งโบราณคดีซึ่งเป็นเพิงผาหินปูนและมีถ้ำอยู่ด้านบนของเพิงผา (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553 : 81)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา

สภาพทั่วไป

เพิงผาปาโต๊ะโระ เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของ “เขาหาน” ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “เขาปาโต๊ะโระ” หรือ “เขาป่าโต๊ะโระ”

เพิงผาหันหน้าออกทางทิศตะวันออก มีขนาดยาว 30 กว้าง 16 เมตร ลักษณะเป็นเพิงผาเปิดโล่งที่มีที่กำบังแดดและลมฝน ด้านหน้าเป็นลานดินกว้าง ห่างออกไปจากเพิงผาประมาณ 10 เมตร มีลำห้วยดุสนไหลผ่าน ด้านข้างเพิงผา (ด้านทิศเหนือ) มีทางขึ้นสู่ถ้ำ ภายในถ้ำจะเป็นอุโมงค์ทางยาวและมีคูหาคดโค้ง ถ้ำมีขนาดกว้างประมาณ 5 เมตร ลึกประมาณ 70 เมตร สภาพของแหล่งในปัจจุบันถูกรบกวนโดยกิจกรรมการขุดมูลค้างคาวของชาวบ้าน จากการสำรวจภายในถ้ำของสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา พบโบราณวัตถุ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาและกระดูกสัตว์ (สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553 : 81, 155)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

46 เมตร

ทางน้ำ

คลองดุสน

สภาพธรณีวิทยา

แหล่งโบราณคดีเพิงผาปาโต๊ะโระตั้งอยู่ในสภาพพื้นที่เขาและภูเขาหินปูน (Hill and mountain) ชื่อ “เขาหาน” หรือที่ชาวบ้านเรียก “เขาปาโต๊ะโระ” หรือ “เขาป่าโต๊โระ” ซึ่งเป็นภูเขาในหินชุดทุ่งสน หรือหินปูนยุคออโดวิเชียน (Ordovician) อายุประมาณ 500 ล้านปี (คณะกรรมการฯ 2545 : 9)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยหินใหม่, สมัยหินกลาง, สมัยหิน

อายุทางวิทยาศาสตร์

TL : ค่าอายุน้อยที่สุด 1116 ± 112 B.P. ค่าอายุมากที่สุด 19200 ± 1632 B.P. ค่าอายุในช่วงที่เริ่มปรากฏการใช้พื้นที่เด่นชัด 5363 ± 375 B.P.

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร สำรวจเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน กระดูกสัตว์ เปลือกหอย ชิ้นส่วนสะเก็ดหินและเครื่องมือหิน สันนิษฐานว่าเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ (สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553 : 81-87)

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาการปลงศพ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร ขุดค้นทางโบราณคดีที่เพิงผาปาโต๊ะโระ 1 หลุม ขนาด 4x2 เมตร พบหลักฐานการใช้พื้นที่บริเวณเพิงผาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น หลุมฝังศพมนุษย์และวัตถุอุทิศ โครงกระดูกมนุษย์ เครื่องมือหิน ภาชนะดินเผา ลูกปัดแก้ว ลูกปัดกระดูก ลูกปัดเปลือกหอย ชิ้นส่วนโลหะ? กระดูกสัตว์ กระดูกสัตว์เผาไฟ กำไลเปลือกหอย กำไลหิน เป็นต้น (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553)

ชื่อผู้ศึกษา : ประพิศ พงศ์มาศ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ศึกษากระดูกมนุษย์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

นางประพิศ พงศ์มาศ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ที่สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ขุดค้นพบในปี พ.ศ.2553 โดยโครงกระดูกหมายเลข 1 เป็นโครงกระดูกเด็ก อายุประมาณ 6 ปี ส่วนโครงกระดูกมนุษย์หมายเลข 2 เป็นโครงกระดูกผู้ใหญ่ เพศหญิง อายุประมาณ 30-35 ปี มีบุตรแล้ว (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553 : 161, 165, 174)

ชื่อผู้ศึกษา : กฤษณ์ วันอินทร์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผลการศึกษา :

ดร.กฤษณ์ วันอินทร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำหนดอายุตัวอย่างหลักฐานทางโบราณคดีด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน (Thermoluminescence Dating) ได้ค่าอายุที่สำคัญ (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553) ดังนี้ ค่าอายุน้อยที่สุด 1116 ± 112 B.P. ค่าอายุมากที่สุด 19200 ± 1,632 B.P. ค่าอายุในช่วงที่เริ่มปรากฏการใช้พื้นที่เด่นชัด 5363 ± 375 B.P.

ชื่อผู้ศึกษา : สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการวัดกัมมันตรังสีของคาร์บอน (carbon14) แต่ไม่สามารถกำหนดอายุได้ (Dating error) (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553)

ชื่อผู้ศึกษา : ดวงกมล อัศวมาศ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ผลการศึกษา :

ดร.ดวงกมล อัศวมาศ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศึกษาตัวอย่างเศษภาชนะดินเผาด้วยวิธีศิลาวรรณนา (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553 : 228-235) พบว่า 1.วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นหินอัคนีจำพวกหินแกรนิต รวมถึงกลุ่มหินตะกอน (เช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีถ้ำเพิง จ.สงขลา) 2.แหล่งดินที่นำมาผลิตภาชนะดินเผา สันนิษฐานว่านำดินมาจาก 2 พื้นที่ (1) ดินจากพื้นที่ใกล้กับแหล่งต้นกำเนิดหรือภูเขา (เพราะสัดส่วนของแร่เนื้อหยาบมีจำนวนมาก) (2) ดินจากพื้นที่ห่างจากบริเวณภูเขา อาจจะเป็นบริเวณปลายน้ำ (เพราะปริมาณแร่เนื้อหยาบน้อยลงและมีความละเอียดมากขึ้น) 3.ส่วนผสมในเนื้อดิน พบทั้งแบบไม่มีส่วนผสม และมีการเติมกร๊อกเป็นส่วนผสม 4.เทคนิคการขึ้นรูปภาชนะพบทั้งแบบขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนช้าและขึ้นรูปด้วยมืออย่างอิสระ 5.การตกแต่งผิวภาชนะพบทั้งผิวเรียบแต่มีการขัดผิว ขัดผิวร่วมกับทาน้ำดินสีแดง ขัดผิวร่วมกับการกดจุดเป็นแถว 2 แถวเรียงกันในแนวเฉียง รมควันสีดำ 6.ภาชนะค่อนข้างบาง คือ 0.3-1.35 เซนติเมตร บ่งชี้ถึงคุณภาพในการเผาที่มีคุณภาพ 7.อุณหภูมิในการเผาภาชนะอยู่ที่ประมาณ 400-500 เซนติเมตร (เพราะแร่ที่เป็นส่วนประกอบในเนื้อดินยังไม่สลายตัวหรือเปลี่ยนโครงสร้าง) ซึ่งน่าจะเป็นการเผากลางแจ้ง

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีของบุคลากรจากสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร ในปี พ.ศ.2553 (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553) พบหลักฐานการใช้พื้นที่บริเวณเพิงผาปาโต๊ะโระของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานที่สำคัญคือ หลุมฝังศพมนุษย์ จำนวน 2 หลุม

หลุมฝังศพหมายเลข 1 เป็นหลุมฝังศพของเด็กอายุประมาณ 6 ปี สภาพถูกรบกวน พบเพียงส่วนศีรษะ สิ่งของอุทิศที่หลงเหลืออยู่ ได้แก่ ลูกปัดกระดูก 13 เม็ด เป็นทรงกระบอก 5 เม็ด และทรงกระบอกมีลายคล้ายดอกไม้ 8 เม็ด

หลุมฝังศพหมายเลข 2 เป็นหลุมฝังศพของเพศหญิงวัยผู้ใหญ่ อายุประมาณ 30-35 ปี มีบุตรแล้ว นอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก พบของอุทิศที่ฝังร่วมกับศพทั้งที่ถูกทำลายก่อนฝังและไม่ถูกทำลาย สิ่งของที่ถูกทำลายก่อนฝัง ได้แก่ ภาชนะดินเผาหมายเลข 1, 3 และ 4 ที่ถูกทุบทำลายแล้วนำไปวางไว้บริเวณศีรษะ ขา และเท้า ส่วนภาชนะดินเผาหมายเลข 2 ไม่ถูกทุบทำลาย มีการวางเครื่องมือหินขัดไว้เหนือศีรษะ วางเขี้ยวสัตว์ไว้เหนือศีรษะและต้นขาซ้าย วางหอยกาบไว้ตามตำแหน่งต่างๆของศพ เช่น ขา มือ นอกจากนั้นยังพบการประดับตกแต่งร่างกายศพด้วยเครื่องประดับต่างๆ เช่น สวมกำไลหินที่ข้อมือขวา กำไลเปลือกหอยที่ข้อมือซ้าย สวมสร้อยลูกปัดที่คอ สวมใส่ลูกปัดที่ข้อมือซ้ายและขวา 

รายละเอียดต่างๆของหลักฐานทางโบราณคดีในหลุมฝังศพมีดังนี้

ภาชนะดินเผาหมายเลข 1 ถูกทุบฝังเหนือศีรษะโครงกระดูกหมายเลข 2 โดยมีภาชนะดินเผาหมายเลข 2 ซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์วางซ้อนทับเหลื่อมอยู่ด้านบน ภาชนะดินเผาหมายเลข 1 เป็นภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา ฐานเป็นทรงกระบอกปากผาย สีผิวภาชนะภายนอกเป็นสีน้ำตาล รมควัน ด้านในสีดำขัดมัน ปากภาชนะกว้าง 23.4 เซนติเมตร ส่วนฐานกว้าง 11 เซนติเมตร สูง 10 เซนติเมตร หนา 3 เซนติเมตร

ภาชนะดินเผาหมายเลข 2 อยู่ในสภาพสมบูรณ์ วางอยู่ด้านบนภาชนะดินเผาหมายเลข 1 เป็นหม้อก้นกลมทรงสูง สูง 15 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 7.6 เซนติเมตร

ภาชนะดินเผาหมายเลข 3 ถูกทุบฝังอยู่บริเวณเข่าขวาของโครงกระดูกหมายเลข 2 เป็นภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา เป็นหม้อก้นกลม ปากผายออก ผิวภาชนะด้านนอกสีเทา ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ รมควัน ส่วนลำตัวกว้าง 21 เซนติเมตร สูง 16.5 เซนติเมตร หนา 2 เซนติเมตร

ภาชนะดินเผาหมายเลข 4 ถูกทุบฝังอยู่บริเวณเท้าด้านซ้ายของโครงกระดูกมนุษย์หมายเลข 2 เป็นภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา ฐานเป็นทรงกระบอก ปากผาย ผิวภาชนะด้านนอกเป็นสีน้ำตาล รมควัน ด้านในสีดำขัดมัน ปากภาชนะก้วาง 23.5 เซนติเมตร ส่วนฐานกว้าง 11 เซนติเมตร สูง 10 เซนติเมตร หนา 3 เซนติเมตร

เครื่องมือหิน พบ 2 ชิ้น ประกอบไปด้วย

เครื่องมือหินชิ้นที่ 1 เป็นเครื่องมือหินขัดจะงอยปากนก (beaked adze) ทำจากหินโคลนเนื้อปนซิลิกา (Siliceous Mudstone) วางอยู่เหนือศีรษะของโครงกระดูกหมายเลข 2 มีขนาดยาว 19 เซนติเมตร ความกว้างที่ด้านคม 3 เซนติเมตร และความกว้างที่ด้าม 3 เซนติเมตร หนัก 459 กรัม

เครื่องมือหินชิ้นที่ 2 เป็นเครื่องมือหินขัดขนาดกลาง รูปร่างสี่เปลี่ยมคางหมู ทำจากหินเชิร์ท (Chert) วางอยู่เหนือศีรษะของโครงกระดูก โดยวางอยู่ใกล้กับเครื่องมือหินขัดจะงอยปากนกและภาชนะดินเผาหมายเลข 1 และ 2 เครื่องมือหินยาว 21 เซนติเมตร ความกว้างที่คม 10.5 เซนติเมตร ความกว้างที่ด้าม 5.5 เซนติเมตร หนา 1.4 เซนติเมตร หนัก 392 กรัม

กำไลหิน มีลักษณะเป็นกำไลปากแตร วางบนข้อมือขวาของโรงกระดูก เส้นผ่าศูนย์กลางรอบนอก 15 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางรอบใน 6 เซนติเมตร

กำไลเปลือกหอย ทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลาง 7 เซนติเมตร โดยสวมอยู่ในกระดูกข้อมือซ้ายคู่กับกำไลลูกปัดเปลือกหอย

ลูกปัด พบที่ข้อมือซ้ายและขวา

ลูกปัดพบที่บริเวณมือซ้าย เป็นลูกปัดกระดูกสีเหลือง 11 เม็ด ทรงกระบอก กว้าง 0.9 เซนติเมตร หนา 0.6 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.4 เซนติเมตร และอีก 48 เม็ด พบบริเวณข้อมือซ้าย เป็นลูกปัดสีขาวขุ่น ขนาดกว้าง 0.6 เซนติเมตร หนา 0.1 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.1 เซนติเมตร เป็นทรงกลมแบน เรียบไม่มีลาย และเป็นลูกปัดกระดูกทรงกระบอกยาวสีเหลือง 5 เม็ด ขนาดยาว 0.6-0.9 เซนติเมตร หนา 0.8 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.4 เซนติเมตร และพบลูกปัดเหลือกหอย 5 เม็ด สีขาวขุ่น ขนาดกว้าง 0.9 เซนติเมตร หนา 0.2 เซนติเมตร รูปทรงแบนกลม

ลูกปัดพบบริเวณข้อมือขวาของโครงกระดูก เป็นลูกปัดกระดูก 22 ชิ้น สีเหลืองขุ่น รูปทรงกระบอก ยาว 0.8-1.2 เซนติเมตร หนา 0.5-0.6 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.2 เซนติเมตร

เขี้ยวสัตว์ 2 ชิ้น ชิ้นที่ 1 วางอยู่ใกล้กับภาชนะดินเผาหมายเลข 2 บริเวณเหนือศีรษะของโครงกระดูก ส่วนชิ้นที่ 2 วางอยู่ใกล้กับต้นขาด้านซ้ายของโครงกระดูก

เปลือกหอยกาบ 5 ชิ้น วางอยู่ตามตำแหน่งต่างๆของโครงกระดูก เช่น ขา มือ

 

หลักฐานทางโบราณคดีนอกหลุมฝังศพที่ขุดค้นพบ ได้แก่

เศษภาชนะดินเผา เนื้อหยาบและละเอียด สีเทา น้ำตาล ดำ ส้ม สีนวล พบทั้งส่วนปาก ลำตัว และไหล่ ทั้งแบบเรียบ ลายเชือกทาบ ลายกดประทับ มีร่องรอยการทาน้ำดิน ขัดมัน และรมควัน

ลูกปัดกระดูก ทรงกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.2 เซนติเมตร

ชิ้นส่วนโลหะ

กำไลเปลือกหอย

ชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์

ลูกปัดแก้ว สีม่วง สีส้ม รูปทรงกระบอก รูปทรงแปดเหลี่ยม

เปลือกหอยเจาะรู (ลูกปัด?) มีลักษณะเป็นหอยเบี้ยเจาะรู

ชิ้นส่วนโลหะ (ตะกั่ว?) คล้ายตุ้มหู

ยางไม้ พบในกองขี้เถ้า

ลูกปัดกระดูก 82 เม็ด ประกอบด้วยลูกปัดกระดูกทรงกระบอกเรียบไม่มีลาย 34 เม็ด ลูกปัดทรงกระบอกมีลายเซาะร่องคล้ายดอกไม้ 44 เม็ด ลูกปัดทรงกระบอกแบนเรียวไม่มีลาย 2 เม็ด และลูกปัดทรงกระบอกเรียบไม่มีลาย 2 เม็ด

ก้อนดินเผาไฟ

กระดูกสัตว์ ทั้งเผาไฟและไม่เผาไฟ

เปลือกหอย มีทั้งหอยเจดีย์ หอยตลับ หอยกาบ หอยขม หอยหอม และหอยโข่ง

เปลือกหอยที่มีร่องรอยการขัดฝน รูปทรงคล้ายวงแหวน หนา 0.4 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางรอบนอก 3 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางรอบใน 2 เซนติเมตร

 

ผลการศึกษาอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน (Thermoluminescence dating) ได้ค่าอายุที่ใหม่สุด 1116 ± 112 B.P. ค่าอายุที่เก่าสุด 19200 ± 1632 B.P. และค่าอายุในชั้นหลักฐานที่เริ่มมีการใช้พื้นที่เด่นชัด 5363 ± 375 B.P. (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553)

 

ผลการศึกษาภาชนะดินเผาด้วยวิธีศิลาวรรณนา (สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา 2553) ได้ผลการศึกษาที่สำคัญดังนี้

1.วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นหินอัคนีจำพวกหินแกรนิต รวมถึงกลุ่มหินตะกอน (เช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีถ้ำเพิง จ.สงขลา)

2.แหล่งดินที่นำมาผลิตภาชนะดินเผา สันนิษฐานว่านำดินมาจาก 2 พื้นที่ (1) ดินจากพื้นที่ใกล้กับแหล่งต้นกำเนิดหรือภูเขา (เพราะสัดส่วนของแร่เนื้อหยาบมีจำนวนมาก) (2) ดินจากพื้นที่ห่างจากบริเวณภูเขา อาจจะเป็นบริเวณปลายน้ำ (เพราะปริมาณแร่เนื้อหยาบน้อยลงและมีความละเอียดมากขึ้น)

3.ส่วนผสมในเนื้อดิน พบทั้งแบบไม่มีส่วนผสม และมีการเติมกร๊อก (Grog) เป็นส่วนผสม

4.เทคนิคการขึ้นรูปภาชนะพบทั้งแบบขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนช้าและขึ้นรูปด้วยมืออย่างอิสระ

5.การตกแต่งผิวภาชนะพบทั้งผิวเรียบแต่มีการขัดผิว ขัดผิวร่วมกับทาน้ำดินสีแดง ขัดผิวร่วมกับการกดจุดเป็นแถว 2 แถวเรียงกันในแนวเฉียง รมควันสีดำ

6.ภาชนะค่อนข้างบาง คือ 0.3-1.35 เซนติเมตร บ่งชี้ถึงคุณภาพในการเผาที่มีคุณภาพ

7.อุณหภูมิในการเผาภาชนะอยู่ที่ประมาณ 400-500 เซนติเมตร (เพราะแร่ที่เป็นส่วนประกอบในเนื้อดินยังไม่สลายตัวหรือเปลี่ยนโครงสร้าง) ซึ่งน่าจะเป็นการเผากลางแจ้ง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

พิมพ์ชนก พงษ์เกษตร์กรรม์ เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ, 2516.

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสตูล. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2545.

ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์. “พัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

สำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร. รายงานผลการดำเนินงานในโครงการวิจัยการตั้งถิ่นฐานและการดำรงชีวิตของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์และแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในเขตจังหวัดสงขลาและสตูล ระยะที่ 2. สงขลา : หจก.ทรีโอ ครีเอชั่น, 2553.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง