เมืองโบราณยะรัง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : ยะรัง, ชุมชนโบราณยะรัง, บ้านวัด, บ้านจาเละ, บ้านประแว

ที่ตั้ง : ต.ยะรัง, ต.บ้านวัด, ต.ปิตูมาดี อ.ยะรัง

อำเภอ : ยะรัง

จังหวัด : ปัตตานี

พิกัด DD : 6.760249 N, 101.303595 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปัตตานี

เขตลุ่มน้ำรอง : บ้านดอนหวาย, บ้านปาหนัน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เมืองโบราณยะรังตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีเส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีได้ 2 ทางคือ

-ตามเส้นทางหลวงหมายเลข  410 (ปัตตานี–ยะลา) จากจังหวัดปัตตานี ประมาณ 15 กิโลเมตร ถนนจะเลียบแนวคูเมืองทางทิศตะวันตกทางด้านเหนือลงไปและผ่านที่ว่าการอำเภอเมืองยะรัง ห่างจากจังหวัดยะลา ประมาณ 24 กิโลเมตร

-ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4016 แยกจากอำเภอยะรังไปอำเภอมายอ ถนนตัดผ่านคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกเข้าสู่กลางเมืองโบราณและตัดผ่านคูเมืองโบราณบ้านจาเละไปทางทิศตะวันออก

 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันกลุ่มเมืองโบราณยะรังหรือชุมชนโบราณยะรังเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน นอกจากนี้ยังศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณยะรัง ซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลยะรัง ภายในมีห้องแสดงนิทรรศการแบบกึ่งถาวร ห้องสมุดสำหรับการศึกษาค้นคว้าของประชาชนในท้องถิ่น และมีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้-คำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับชุมชนโบราณยะรัง

ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อผู้นำชมได้ที่เทศบาลตำบลยะรัง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ในวันและเวลาราชการ ที่เบอร์โทรศัพท์ 073-439-497

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลยะรัง

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ยังไม่มีการขึ้นะเบียนโบราณสถานครอบคุมกลุ่มเมืองโบราณยะรัง แต่มีการขึ้นทะเบียนโบราณสถานภายในกลุ่มเมืองโบราณยะรัง คือการขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 2, 3 และ 8 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 7ง เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2542

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เมืองโบราณยะรังตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี  มีเนื้อที่ประมาณ 7.5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกระโด ตำบลระแว้ง ตำบลยะรัง ตำบลบ้านวัด และตำบลปิตูมาดี ผังของเมืองเป็นรูปวงรีวางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ จากการศึกษามีการใช้พื้นที่ซ้อนทับกันหลายสมัย ภายในเมืองพบสิ่งก่อสร้างที่เป็นเมืองโบราณ เช่น ชุมชนคูน้ำคันดิน โบราณสถาน สถูปและศาสนสถาน สระน้ำโบราณ เป็นต้นจากการสำรวจพบซากเนินสิ่งก่อสร้างไม่น้อยกว่า 44 แห่ง ซึ่งแหล่งโบราณคดีทั้งหมดจะตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปัตตานีและกระจายตัวไปทางตะวันออก จากการศึกษาสามารถแบ่งกลุ่มโบราณสถานออกเป็น 3 กลุ่มเมือง ได้แก่ เมืองโบราณบ้านวัด เมืองโบราณบ้านจาเละ และเมืองโบราณบ้านประแว โดยแบ่งพัฒนาการของชุมชนออกเป็น 3 ช่วงเวลาได้ ดังนี้

ช่วงเวลาแรก คือ บริเวณที่อยู่ใต้สุด เรียกว่า เมืองโบราณบ้านวัด เป็นเมืองโบราณมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีคูเมืองขนาด 20x30 เมตร แนวคูดินมีสภาพตื้นเขินปรากฏเป็นพื้นที่ต่างระดับ พื้นที่ภายเมืองมีการขุดคูน้ำล้อมรอบพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ ลักษณะคล้ายเกาะขนาดเล็กเชื่อมต่อกันเป็นกลุ่มโดยเชื่อมกับทางน้ำธรรมชาติ ครอบคลุมพื้นที่ 600 ไร่ หรือประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร พบโบราณสถานมากกว่า 20 แหล่ง

ช่วงเวลาที่สอง พื้นที่บริเวณเมืองโบราณบ้านจาเละ ซึ่งน่าจะเป็นชุมชนที่ขยายมาจากชุมชนบ้านวัด มีลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 3 ด้าน คือ ทิศเหนือขุดคูลึกและแคบ ทิศตะวันออกอาศัยทางน้ำธรรมชาติและทิศใต้ โดยทิศตะวันออกและทิศใต้มีลักษณะคูน้ำกว้าง 20 -30 เมตร เชื่อมต่อกับทางน้ำธรรมชาติของแหล่งโบราณคดีบ้านวัด พบเนินโบราณสถานมากกว่า 10 แห่ง

ช่วงเวลาที่สาม คือ พื้นที่บริเวณบ้านประแว อยู่ห่างจากคูเมืองโบราณบ้านจาเละไปประมาณ 300 เมตร ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขนาด 470x510 เมตร มีคูน้ำ (คูขุดลึกและแคบ) กำแพงดินและป้อมทั้ง 4 มุม ภายในตัวเมืองทางด้านทิศใต้พบแนวดินรูปตัวแอล (L) ความยาว 120 และ 130 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นคันกั้นน้ำ พบเนินโบราณสถานจำนวน 2 แห่ง บ่อน้ำจำนวน 5 แห่ง

เมืองโบราณยะรังตั้งอยู่บนที่ราบปัตตานีตอนบนที่เกิดจากการทับถมของแม่น้ำปัตตานี จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศพบว่าเมืองโบราณยะรังเดิมถูกขนาบด้วยลำน้ำสองสาย ซึ่งปัจจุบันเห็นเป็นทางน้ำเก่า คือ ทางน้ำเก่าบ้านดอนหวายและทางน้ำเก่าบ้านบ้านปาหนันซึ่งเป็นแขนงแยกของแม่น้ำปัตตานีเก่าทางตะวันออก

นอกจากนี้จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศและธรณีวิทยา พบว่าแต่เดิมเมืองโบราณยะรังอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล โดยศึกษาพบชะวากทะเลโบราณเว้าลึกเข้ามาในแผ่นดินทางด้านทิศตะวันตกของเมืองโบราณยะรัง พบคลองขุดลักษณะเป็นเส้นตรงไปยังชะวากทะเลยะรังโบราณเชื่อมต่อกับเมืองยะรังต่อมาเมื่อทะเลถอยร่นลงไปประกอบกับการทับถมของตะกอนแม่น้ำทำให้ชะวากทะเลยะรังตื้นเขิน แคบลงและกลายเป็นทางน้ำ แม่น้ำปัตตานีคดเคี้ยวยากต่อการเดินเรือ ทำให้ความสำคัญของเมืองยะรังลดลงจนเกิดเป็นชุมชนใหม่บริเวณดินดอนปากแม่น้ำ (Delta) ปัตตานีตอนล่าง บริเวณกรือเซะหรือเมืองปัตตานีขึ้นในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 19

ปัจจุบันชุมชนโบราณยะรัง อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 15 กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำปัตตานีสายปัจจุบัน 5 กิโลเมตร พบเนินโบราณสถานกระจายอยู่ทั่วไปตามทุ่งนาและป่าละเมาะ พื้นที่ที่เป็นแม่น้ำปัตตานีสายเดิม กลายเป็นร่องรอยทางน้ำเก่า เป็นทะเลสาบรูปแอกวัวหรือกลายเป็นหนองน้ำ พื้นที่น้ำขังและบางแห่งก็ใช้ทำนา ส่วนพื้นที่สันฝั่งแม่น้ำที่มีลักษณะสูงกว่าพื้นที่ทั่วไปกลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและสวนผลไม้  (ทิวา ศุภจรรยา และกฤษณพล วิชชุพันธ์  2538 : 279-292)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

4-7 เมตร (ทิวา ศุภจรรยา และกฤษณพล วิชชุพันธ์ 2538 : 280)

ทางน้ำ

อยู่ในเขตอิทธิพลของลุ่มแม่น้ำปัตตานี และทางน้ำรองบ้านดอนหวายและบ้านปาหนันซึ่งเป็นแขนงแยกของแม่น้ำปั้ตตานีเก่าทางตะวันออก (ปัจจุบันเหลือหลักฐานให้เห็นแค่เป็นทางน้ำเก่า)

สภาพธรณีวิทยา

เป็นที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำปัตตานีในยุค Cenozoic โดยเป็นการทับถมทั้งตะกอนแม่น้ำพัดพา (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา 2541 : 13)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยอยุธยา, สมัยศรีวิชัย, สมัยอยุธยาตอนต้น, สมัยเมืองปัตตานี

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 12-21

อายุทางตำนาน

พุทธศตวรรษที่ 12-20 (จากตำนานเอกสารต่างชาติที่กล่าวถึงเมืองลังกาสุกะที่สันนิษฐานว่าคือชุมชนโบราณยะรัง)

อายุทางวิทยาศาสตร์

โบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 : 523-596 B.P. (C-14), 579±17 B.P. (TL) , 538±15 B.P. (TL) / บ้านประแว (C-14) : 390±80 B.P. (ชั้นดินที่ 2) , 520±80 B.P. (ชั้นดินที่ 3), 540±80 B.P. (ชั้นดินที่ 4) (สว่าง

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : Charles Otto Blagden

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2449

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร

ผลการศึกษา :

ผู้เขียนได้เสนอบทความเรื่อง “Siam and the Malay Peninsular” โดยวิเคราะห์จากตำนานพื้นเมืองของปัตตานีและไทรบุรีเสนอว่า ลากวัน ซูกา หรือ อลังกาห์ซูกาเป็นชื่อเดียวกับลังยาเสียวในบันทึกจีนและลังกาสุกะในบันทึกอาหรับ สันนิษฐานว่าคือ อาณาจักรโบราณในพื้นที่บริเวณจังหวัดปัตตานีช่วงพุทธศตวรรษที่ 20

ชื่อผู้ศึกษา : George Caedés

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2491

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

เสนอผลงานเรื่อง “ Les etats hindouise d’Indochine et d’Indonésie” สันนิษฐานตามจารึกเมืองตันชอร์ ที่อ่านโดย E. Hultzch ว่าเมือง Ilangãśōka เมือง 1 ใน 15 เมืองประเทศราชบนแหลมมาลายูของอาณาจักรศรีวิชัยที่พระเจ้าราเชนทรโจฬะแห่งเมืองตันชอร์ยกทัพมาตีในปี พ.ศ.1573–1574 น่าจะเป็นเมืองเดียวกับลังกาสุกะหรือลังยาสิวที่ตั้งอยู่ในจังหวัดปัตตานี

ชื่อผู้ศึกษา : อนันต์ วัฒนานิกร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2496, พ.ศ.2509

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ทำการสำรวจ รวบรวมโบราณวัตถุ และบันทึกตำแหน่งโบราณสถานทั้งหมด 31 แห่ง วิเคราะห์ว่าสถูปที่สำรวจมีศิลปะคล้ายกับที่พบในศิลปะทวารวดีและเจดีย์มะลิฆัยที่สุมาตรา ส่วนสถูปจำลองคล้ายกับเจดีย์รายรอบบุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย ภายหลังได้ตีความสิ่งที่ได้เคยศึกษาไว้ในปี พ.ศ.2496–2509 ชื่อ “แลหลังเมืองปัตตานี” ที่เผยแพร่ในปี พ.ศ.2527 และ “ประวัติเมืองลังกาสุกะ” โดยให้ความเห็นว่า เมืองลังกาสุกะน่าจะเป็นกลุ่มชนที่ย้ายมาจากกลุ่มท่าสาป จังหวัดยะลา

ชื่อผู้ศึกษา : Paul Wheatley

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2504

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก, ศึกษาตำนาน

ผลการศึกษา :

เสนอผลงานเรื่อง “The Golden Khersonese” โดยศึกษาจากเอกสารและจารึกโบราณที่กล่าวถึงชื่อเมืองในคาบสมุทรมาเลย์ สันนิษฐานว่าหลังยาซิวในจดหมายเหตุจีนราชวงศ์สุยพุทธศตวรรษที่ 12, หลังซีเจียในแผนผัง Wu-pei-Chin พ.ศ.2171, ลังกาสุกะในเอกสารอาหรับ The kitāb al-Minhāj al fākhir finlm al zākir พ.ศ. 2054 และเล็งกาสุกะใน Nākarakrtāgama ของชวา พ.ศ.1908 เป็นเมืองเดียวกันที่มีศูนย์กลางที่ปัตตานี โดยเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 7และเสื่อมลงในช่วงราวพุทธศวรรษที่ 21

ชื่อผู้ศึกษา : Stewart Wavell

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2505

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ผลการศึกษา :

เสนอผลงานชื่อ “The Naga King’s Daughter” โดยในหนังสือผู้เขียนได้สำรวจป้อมสี่เหลี่ยมในพื้นที่บริเวณบ้านประแว อำเภอยะรัง สันนิษฐานว่าเป็นเมืองลังกาสุกะ

ชื่อผู้ศึกษา : มานิต วัลลิโภดม, จำรัส เกียรติก้อง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2507

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

มานิต วัลลิโภดม, จำรัส เกียรติก้อง และคณะสำรวจจากกองโบราณคดี ได้สำรวจและทำผังเมือง โดยสรุปว่าเมืองยะรังมีคูน้ำคันดิน 3 ชั้น ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 300x400 เมตร (เกิดการเข้าใจผิดว่าร่องน้ำเก่าเป็นคูเมือง ทำให้มีผังเป็นคูน้ำคันดิน 3 ชั้น)

ชื่อผู้ศึกษา : H.G. Quaritch Wales

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2517, พ.ศ.2518, พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ขุดตรวจ

ผลการศึกษา :

เสนอบทความเรื่อง “Langkasuka and Tambralinga : Some Archaeological note” และหนังสือ “Malay Penninsular in Hindu time” ผู้เขียนได้ทำการศึกษาจากผลการสำรวจของกรมศิลปากร และเข้ามาสำรวจ ทำผัง ขุดตรวจ และรวบรวมโบราณวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของเอกชนในเมืองยะรัง เสนอข้อวินิจฉัยว่าเมืองนี้น่าจะเป็นเมืองลังกาสุกะที่ปรากฏในเอกสารจีนมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 และตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรฟูนัน ต่อมาช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 ได้รับอิทธิพลทวารวดี มีการส่งทูตไปยังประเทศจีนถึง 4 คน ภายหลังจากนั้นก็น่าจะตกอยู่ภายใต้อำนาจของศรีวิชัย โดยโบราณวัตถุพบทั้งในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

โครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานกองโบราณคดี กรมศิลปากร สำรวจบริเวณชุมชนโบราณบ้านวัด พบเนินดินจำนวน 10 แห่ง สระน้ำโบราณ 1 แห่ง บ่อน้ำโบราณจำนวน 5 แห่ง และโบราณวัตถุ เช่น แผ่นหินธรณีประตู ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม เป็นต้น

ชื่อผู้ศึกษา : ศรีศักร วัลลิโภดม, น. ณ ปากน้ำ, แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย, วิคเตอร์ เคเนดี้

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521, พ.ศ.2522

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

นิตยสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 ได้ตีพิมพ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีงานเขียนของนักวิชาการหลายท่านที่กล่าวถึงเมืองโบราณยะรัง ได้แก่ ศรีศักร วัลลิโภดม เขียนบทความเรื่อง “ชุมชนโบราณในสี่จังหวัดภาคใต้” น. ณ ปากน้ำ เขียนบทความเรื่อง “ศิลปแบบทวารวดีที่ปัตตานี” แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย เขียนบทความเรื่อง “สนทนากลางเมืองยะรัง” และ วิคเตอร์ เคเนดี้ เขียนบทความเรื่อง “ลังกาสุกะและปัตตานี” สรุปความว่า เมืองโบราณยะรังมีคูน้ำและกำแพงดินเพียงชั้นเดียว คูน้ำมี 3 ด้าน ส่วนด้านที่ 4 ใช้ทางน้ำธรรมชาติ แหล่งโบราณคดีน่าจะมีอายุร่วมสมัยศรีวิชัย แบ่งชุมชนโบราณยะรังออกเป็น 2 สมัย คือ ชุมชนโบราณบ้านวัดกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 -13 ส่วนชุมชนโบราณบ้านประแวกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมา ชุมชนโบราณยะรังไม่น่าจะเป็น “หลังยะสิ่ว” ที่อยู่ในพุทธศตวรรษที่ 7 เพราะโบราณวัตถุที่พบในเมืองยะรังไม่พบหลักฐานที่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 11

ชื่อผู้ศึกษา : ชูสิริ จามรมาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523

วิธีศึกษา : ขุดตรวจ, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร, กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ชูสิริ จามรมาน จากมหาวิทยาลัยศิลปากรและนักโบราณคดีจากกองโบราณคดี ได้เสนอผลงานการวิจัยเรื่อง “การวิจัยข้อมูลทางศิลปะและโบราณคดี ณ เมืองโบราณที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี” โดยทำผังเมืองจากภาพถ่ายอากาศและขุดตรวจบริเวณเมืองโบราณบ้านประแว พบว่าผังของบ้านประแวเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผลจากการศึกษาได้ข้อสันนิษฐานว่าเมืองโบราณยะรังเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยทวารวดี อายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16 โดยมีฐานะเป็นเมืองท่าในอดีต เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ทะเลห่างออกไปทำให้เมืองหมดความสำคัญและถูกทิ้งร้างลง จากการขุดตรวจที่เมืองประแวทำให้ทราบว่ามีการสร้างเมืองใหม่ทับเมืองเก่าในสมัยอยุธยา โดยพบเครื่องเคลือบดินเผาสุโขทัย อยุธยา เครื่องลายครามจีน

ชื่อผู้ศึกษา : ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, ขุนศิลปกิจจ์พิสันห์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525

วิธีศึกษา : ศึกษาตำนาน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผลการศึกษา :

ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดทำหนังสือ “ลุ่มน้ำตานี” ขึ้น โดยมีนักวิชาการหลายท่านได้เขียนบทความเกี่ยวกับชุมชนโบราณยะรัง เช่น ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ เขียนบทความเรื่อง “ยะรัง-ลังกาสุกะ” ได้วิเคราะห์ตามตำนานพื้นเมืองปัตตานี กล่าวว่า เมืองโบราณยะรัง คือ เมืองลังกาสุกะ มีการตั้งถิ่นฐานและอพยพย้ายมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งแรกที่บ้านบาโย ต.หน้าถ้ำ จ.ยะลา ครั้งที่สอง คือ บ้านตะมางัน ต.รือเสาะ อ.รือเส่าะ จ.นราธิวาส ครั้งที่สามที่บ้านประแว อ.ยะรังและครั้งที่ บ้านกรือเซะ ต.กรือเซะ จ.ปัตตานี ขุนศิลปกิจจ์พิสันห์ เขียนบทความเรื่อง “ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองปัตตานี” ศึกษาตำนานพื้นเมืองปัตตานี ฉบับมาลายู กล่าวว่า เมืองโกตามะลิฆัย น่าจะตั้งอยู่ที่บ้านประแว อาจแปลว่า เมืองพระราชวัง หรือเมืองของพวกที่นับถือพุทธศาสนามหายาน

ชื่อผู้ศึกษา : เขมชาติ เทพไชย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527, พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) นำโดยเขมชาติ เทพไชย และคณะ สำรวจพบผังเมืองประแวเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีกำแพงเมืองชั้นเดียวและมีคูน้ำล้อมรอบ มีป้อมสี่เหลี่ยมที่มุมผืนผ้าทั้ง 4 ทิศ จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีทั้งหมดในเมืองยะรังสามารถกำหนดตคำแหน่งโบราณสถานทั้งหมดได้ 29 แห่ง คือ บ้านประแว 11 แห่ง บ้านวัด 11 แห่ง และเขตบริเวณปิตูมุดี 7 แห่ง ผลจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านวัด ขนาด 2x2 เมตรจำนวน 1 หลุม พบเศษภาชนะดินเผา เศษกระเบื้องดินเผา ลูกปัดทำจากหินคาร์เนเลียนจำนวน 1 เม็ด และจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านประแว ขนาด 1x1 เมตร จำนวน 1 หลุม พบหลักฐานทางด้านโบราณคดีประเภทเศษภาชนะดินเผา เศษอิฐ และชิ้นส่วนเครื่องเคลือบจำนวน 7 ชิ้น

ชื่อผู้ศึกษา : ผาสุข อินทราวุธ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ผาสุข อินทราวุธ เขียนบทความเรื่อง พระสุริยะสำริดที่พบที่เมืองโบราณ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีในวารสารมหาวิทยาลัยศิลปากรฉบับปลายภาคประจำปีการศึกษา 2529 กล่าวว่ามีการพบพระสุริยเทพที่เนินโบราณสถานบ้านกูวิง อำเภอยะรัง สูงประมาณ 20.30 เซนติเมตร ลักษณะประทับยืนสมภังค์บนราชรถเทียมม้า 7 ตัว กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-16

ชื่อผู้ศึกษา : David J. Welch, สว่าง เลิศฤทธิ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529, พ.ศ.2530

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ขุดตรวจ, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผลการศึกษา :

ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำโดย David J. Welch และสว่าง เลิศฤทธิ์ ได้สำรวจและทำผัง สำหรับการขุดค้นได้ขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านประแว 2 หลุม ขนาด 2x1 เมตร และ 1x1 เมตร พบหลักฐานโบราณวัตถุจำพวกภาชนะดินเผา เศษอิฐ ลูกปัดแก้ว 2 เม็ด และทำการขุดออร์เกอร์ (Auger) ตั้งแต่บริเวณเมืองทางด้านใต้ไปทางด้านเหนือ ทุก 50 เมตร รวมทั้งหมด 120 หลุม จากการขุดตรวจไม่พบโบราณวัตถุมากนัก มีเพียง 2 หลุมที่พบโบราณวัตถุหลายชนิด เช่น อิฐ เครื่องปั้นดินเผาและถ่าน ผลจากการหาค่าอายุของถ่านในหลุมขุดค้นบ้านประแว ด้วยวิธี Carbon–14 พบโบราณวัตถุในดินชั้นที่ 2 กำหนดอายุได้ 300 ปี โบราณวัตถุในดินชั้นที่ 3 กำหนดอายุได้ 500 ปี และโบราณวัตถุในดินชั้นที่ 4 กำหนดอายุได้ 600–700 ปี สามารถแบ่งลำดับชั้นทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณยะรังออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ คือ สมัยเริ่มแรก มีลักษณะเป็นชุมชนขนาดเล็ก มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ สมัยกลาง เป็นชุมชนที่มีการขยายพื้นที่ออกไป มีการสร้างคูน้ำและโบราณสถานเพิ่มมากขึ้น มีกำแพงก่อด้วยอิฐ โบราณสถานส่วนมากมักอยู่นอกเมือง มีการติดต่อกับชุมชนภายนอก กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13–15 สมัยปลาย เป็นชุมชนที่มีการสร้างป้อมปราการป้องกันข้าศึก ตรงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19–23 จากการศึกษาครั้งนี้ได้ผลิตผลงานออกมา 3 เล่ม คือ รายงานการสำรวจและขุดค้นที่บ้านประแว ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีในปี พ.ศ.2529, การสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีเมืองโบราณยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ในปี พ.ศ.2530 และเมืองโบราณยะรัง ในปี พ.ศ.2531

ชื่อผู้ศึกษา : พรทิพย์ พันธุโกวิทย์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

พรทิพย์ พันธุโกวิทย์ ได้เสนอวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง “การศึกษาประติมากรรมสมัยทวารวดี ณ เมืองโบราณยะรัง จังหวัดปัตตานี” สามารถกำหนดอายุของประติมากรรมให้อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-14 แบ่งประติมากรรมออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ประติมากรรมเนื่องในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ประติมากรรมที่เป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรม และประติมากรรมที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531, พ.ศ.2532, พ.ศ.2533, พ.ศ.2534, พ.ศ.2535, พ.ศ.2536, พ.ศ.2537, พ.ศ.2538, พ.ศ.2539, พ.ศ.2540, พ.ศ.2541, พ.ศ.2542, พ.ศ.2543, พ.ศ.2544, พ.ศ.2545, พ.ศ.2546, พ.ศ.2547, พ.ศ.2548

วิธีศึกษา : สำรวจ, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2531-2548 กรมศิลปากร โดยหน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา หรือสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ได้ดำเนินการศึกษาเมืองโบราณยะรังหลายครั้ง ปี พ.ศ.2531 สำรวจและทำผังเมืองโบราณบ้านประแว เมืองโบราณบ้านจาเละและบ้านวัด พบโบราณสถานประมาณ 15 แห่ง ขุดแต่งโบราณสถานจาเละหมายเลข 3 และจัดทำรายงาน “รายงานสังเขปผลการปฏิบัติงานทางด้านวิชาการโครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี” ผลจากการขุดค้นที่บ้านจาเละหมายเลข 3 พบว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมมีความคล้ายคลึงกับศิลปะทวารวดีทางภาคกลางของประเทศไทย ปี พ.ศ.2532 มีการสำรวจและทำผังบริเวณบ้านวัด พบโบราณสถานในเมืองยะรังประมาณ 20 แห่ง ทำการขุดแต่งโบราณสถานจาเละหมายเลข 3 ต่อเนื่องจาก พ.ศ.2531 และขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณกลางเมืองโบราณบ้านวัด 1 หลุม ปี พ.ศ.2533 สำรวจและทำผังบริเวณโบราณสถานบ้านวัดเพิ่มเติม และขุดแต่งโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 ต่อ ปี พ.ศ.2534 วิเคราะห์โบราณวัตถุจากโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 และวางแผนจัดทำแผนแม่บท ปี พ.ศ.2535 ขุดแต่งโบราณสถานจาเละหมายเลข 2 และ 8 ปี พ.ศ.2536 บำรุงรักษาโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 2, 3 และ 8 ที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว และทำการเก็บข้อมูลโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้น วางแผนจัดทำแผนแม่บทสำหรับการอนุรักษ์ และจัดทำหนังสือ “การสำรวจเมืองโบราณยะรัง” โดยกล่าวถึงการสำรวจแหล่งโบราณสถานในเมืองยะรังมีทั้งหมด 34 แหล่ง แบ่งแหล่งโบราณคดีออกเป็น 3 กลุ่ม คือ บ้านวัด บ้านจาเละ และบ้านประแว ปี พ.ศ.2537-2540 วางแผนจัดทำแม่บทในการอนุรักษ์ ปี พ.ศ.2540–2544 เน้นการอนุรักษ์และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ปี พ.ศ.2545 ดูแลรักษาโบราณสถานที่ทำการขุดแต่งไว้แล้ว และทำการขุดแต่งโบราณสถานบ้านวัดหมายเลข 9 และบูรณะโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 ในปี พ.ศ.2546 ขุดแต่งโบราณสถานบ้านวัดหมายเลข 9 ต่อ ในปี พ.ศ.2547 บูรณะโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 และหมายเลข 8 ในบางส่วน พ.ศ.2548 บูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานที่ขุดแต่งแล้วในเมืองโบราณยะรังและบูรณะโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 8 ขนาด 7.80x13.50 เมตร รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือ “แผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี ฉบับปรับปรุง” สรุปสาระทั้งหมดที่ได้จากการศึกษาขุดค้นแหล่งโบราณคดีชุมชนโบราณยะรังว่าเป็นเมืองโบราณตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ร่วมสมัยอยุธยา พบโบราณสถานไม่น้อยกว่า 40 แห่ง นอกจากนี้ในหนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงแผนการดำเนินงานการอนุรักษ์เมืองโบราณยะรังในอนาคต

ชื่อผู้ศึกษา : ปริเชต ศุขปราการ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ปริเชต ศุขปราการ ได้นำเสนอวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่อง “เส้นทางการข้ามคาบสมุทรปัตตานี-ไทรบุรี ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์จนถึงพุทธศตวรรษที่ 19” เนื้อหากล่าวถึงสภาพภูมิศาสตร์ของแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำมูดาในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ เช่น ชุมชนโบราณยะรัง ชุมชนโบราณกลุ่มท่าสาป และแหล่งโบราณคดีบูจังค์วัลเลย์ โดยสันนิษฐานว่าชุมชนทั้งสามน่าจะมีความสัมพันธ์กันตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา รวมถึงสันนิษฐานเส้นทางการเดินทางระหว่างเมืองปัตตานีและเมืองไทรบุรี

ชื่อผู้ศึกษา : ศรีศักร วัลลิโภดม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2536

วิธีศึกษา : ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

ผลการศึกษา :

ศึกษาลักษณะภูมิประเทศและหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่าเมืองโบราณยะรัง เป็นรัฐหนึ่งในสหพันธรัฐศรีวิชัย มีพัฒนาการบ้านเมืองมาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 และรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นต้นมา มีการผสมผสานหลายความเชื่อทั้งพุทธศาสนามหายาน เจติยวาท และได้รับอิทธิพลความเชื่อของวัฒนธรรมทวารวดีทางภาคกลางมาผสม

ชื่อผู้ศึกษา : Michel Jacq-Hergoualc’t, ภัคพดี อยู่คงดี, พรทิพย์ พันธุ๋โกวิทย์, ทิวา ศุภจรรยา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2536

วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

ผลการศึกษา :

Michel Jacq-Hergoualc’t, ภัคพดี อยู่คงดี, พรทิพย์ พันธุ๋โกวิทย์ และทิวา ศุภจรรยา ร่วมกันตีพิมพ์บทความเรื่อง “ Une cite-etat de la Penninsule malaise : le Langkasuka” กล่าวถึงหลักฐานที่พบในเมืองโบราณยะรังและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิศาสตร์ของเมืองโบราณยะรัง

ชื่อผู้ศึกษา : สมหมาย ช่างเขียน, พวงทิพย์ แก้วทับทิม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผลการศึกษา :

สมหมาย ช่างเขียน และพวงทิพย์ แก้วทับทิม แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กำหนดอายุของโบราณสถานด้วยทางวิทยาศาสตร์โดยวิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนซ์ โดยใช้ตัวอย่างจากสถูปดินเผาและอิฐ พบว่าโบราณวัตถุประเภทสถูปมีอายุ 579±17 B.P. ส่วนโบราณวัตถุประเภทอิฐมีอายุ 538±15 B.P. โดยผลไม่แตกต่างจากการหาค่าอายุ C14 dating สามารถกำหนดอายุแหล่งโบราณสถานแห่งนี้ว่ามีอายุ 523-596 B.P. (สมหมาย ช่างเขียน และพวงทิพย์ แก้วทับทิม 2540 : 15)

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา จัดทำโครงการ “การศึกษาและสำรวจการตั้งถิ่นฐานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำปัตตานีและสายบุรี” ผลการศึกษาพบแหล่งโบราณคดีตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมในพุทธศตวรรษที่ 12-18 พบการกระจายตัวของแหล่งโบราณคดีหนาแน่นในเขตอำเภอเมืองยะลาและอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่มาจากการสำรวจ

ชื่อผู้ศึกษา : Daneil Perret, กรมศิลปากร, สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541

วิธีศึกษา : ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผลการศึกษา :

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา ร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ และสถาบันวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ทำโครงการการศึกษาการตั้งถิ่นฐานเมืองปัตตานีโบราณ (The old settlement of The Pattani Region) ทำการขุดค้นบริเวณในเมืองประแว 3 หลุม นอกกำแพงเมืองทางทิศเหนือ 1 หลุม และนอกกำแพงเมืองทางทิศใต้ 4 หลุม พบหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา ลูกปัดจำนวน 16 เม็ด และเศษอิฐ ชิ้นส่วนสถูป

ชื่อผู้ศึกษา : พรทิพย์ พันธุ์โกวิทย์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

ผลการศึกษา :

พรทิพย์ พันธุ์โกวิทย์ นำเสนอบทความเรื่อง “การวิเคราะห์โบราณสถานเมืองยะรัง ศึกษากรณีกลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี” โดยกล่าวว่า เมืองโบราณยะรังน่าจะเป็นที่ตั้งกลุ่มศาสนสถานของชุมชนโบราณ ส่วนที่อยู่อาศัยของชุมชนน่าจะอยู่บริเวณบ้านบราโอและมัสยิดกรือเซะในปัจจุบัน

ชื่อผู้ศึกษา : วอกัญญา ณ หนองคาย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ศึกษาการจัดการแหล่งโบราณคดี

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

วอกัญญา ณ หนองคาย เสนอสารนิพนธ์ “ปัญหาด้านการดำเนินงานทางด้านโบราณคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : กรณีศึกษาเมืองโบราณยะรังและมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี ในปี พ.ศ. 2547–2551” ต่อคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สรุปผลการศึกษาได้ว่า ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้มีผลต่อการปฏิบัติงานทางด้านโบราณคดีในภาคใต้ การเผาโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 และอาคารสำนักงานโครงการ ทำให้เกิดอุปสรรคการเข้าไปดำเนินงาน

ชื่อผู้ศึกษา : ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์ เสนอวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19” โดยกล่าวถึงเมืองโบราณยะรังว่า การตั้งถิ่นฐานของเมืองโบราณยะรัง พบว่าแต่เดิมน่าจะอยู่ใกล้ทะเลมากกว่าปัจจุบัน มีแม่น้ำไหลออกทะเลได้สะดวก โดยเมืองโบราณยะรังเลือกตั้งถิ่นฐานบริเวณแม่น้ำสายรองที่แยกมาจากสายใหญ่คล้ายกับบเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี และอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ตัวเมืองมีการจัดองค์ประกอบเมืองโดยเมืองมีคูน้ำคันดิน มีการใช้พื้นที่ในหลายสมัย การใช้พื้นที่ภายในเมืองไม่สามารถกำหนดแหล่งพื้นที่อยู่อาศัยได้ชัดเจน สันนิษฐานว่าพื้นที่การอยู่อาศัยของชุมชนน่าจะอยู่บริเวณปลายคลองบ้านกรือเซะและบริเวณบ้านบราโอ ภายในเมืองมีการแบ่งพื้นที่ทางศาสนาและความเชื่อ มีการกำหนดพื้นที่หรือตำแหน่งกลุ่มโบราณสถานให้สัมพันธ์กัน หลักฐานที่พบส่วนมากเกี่ยวข้องกับศาสนา โบราณวัตถุที่พบเกี่ยวกับการค้ามีจำนวนน้อย การนับถือศาสนาในเมืองโบราณยะรังพบโบราณวัตถุทั้งในศาสนาพราหมณ์ไศวนิกาย (พบศิวลึงค์อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14) แต่ส่วนมากพบโบราณวัตถุที่พบเนื่องในศาสนาพุทธ โดยเมืองโบราณยะรังอาจเป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11-12 และพัฒนามาเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนามหายานในสมัยต่อมา ดังจะเห็นจากการนิยมสร้างและบูชาสถูปที่พบเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบที่โบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 นอกจากนี้ยังพบโบราณวัถตุอื่นๆ เช่น สุริยเทพ (กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 15-16) ธรรมจักร พระพิมพ์ พระโพธิสัตว์ เป็นต้น

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เมืองโบราณยะรัง เป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีผังเป็นรูปวงรี ประกอบด้วยเมืองโบราณที่สำคัญ 3 เมืองได้แก่ เมืองโบราณบ้านวัด เมืองโบราณบ้านจาเละ และเมืองโบราณบ้านประแว พัฒนาการของเมืองสันนิษฐานว่าบริเวณเมืองโบราณบ้านวัดและเมืองโบราณบ้านจาเละอาจเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาของเมืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 จากนั้นพัฒนามาเป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธศาสนามหายานในสมัยพุทธศตวรรษที่ 14-16 และกลับมาเจริญอีกครั้งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ดังจะเห็นได้จากการสร้างเมืองที่มีคูน้ำคันดินและป้อมสี่มุมเมืองที่บริเวณเมืองโบราณบ้านประแว และมีการใช้พื้นที่บริเวณนี้จนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 มีสรุปสาระสำคัญของเมืองโบราณในชุมชนโบราณยะรังโดยสังเขป ดังนี้

1.เมืองโบราณบ้านวัด ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้สุดของเมืองโบราณยะรัง สันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่ตั้งชุมชนแห่งแรก มีลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยคูน้ำ (ขุดคูถึงระดับกักเก็บน้ำ) และมีเมืองชั้นในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นเนินสูง มีร่องรอยคูน้ำขุดล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆคล้ายเกาะขนาดเล็กเชื่อมกันเป็นกลุ่ม คูน้ำเหล่านี้จะเชื่อมกับคูน้ำธรรมชาติทางทิศตะวันตกและที่ลุ่มรับน้ำทางทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศเหนือ พบซากเนินอิฐในบริเวณบ้านวัดจำนวนมากกว่า 20 แห่ง แบ่งพื้นที่เป็น

ภายในเมือง พบซากเนินสิ่งก่อสร้างอิฐจำนวน 4 แหล่ง ตัวเมืองมีศูนย์กลางอยู่ที่ลานคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 150x170 เมตร ปูลาดด้วยอิฐและกระเบื้องฟันปลา ปัจจุบันมีการขุดค้นบริเวณเกาะกลางเนินบริเวณอิฐกระเบื้องฟันปลาและการขุดแต่งโบราณสถานบ้านวัดหมายเลข 9

-          บริเวณตะวันตกของเมือง ใกล้มัสยิดบ้านวัด ป่าช้าโต๊ะโงะ และหมู่บ้านวัด พบซากเนินสิ่งก่อสร้างอิฐจำนวน 13 แห่ง และสระน้ำโบราณขนาดใหญ่ 3 แห่ง

-          บริเวณทางด้านทิศเหนือ ตะวันตก และ ใต้ ของเมือง พบซากเนินสิ่งก่อสร้างอิฐจำนวน 11 แห่งที่อยู่กระจายอยู่โดดๆ

ความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านวัด สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งชุมชนรุ่นแรกของเมืองยะรัง จากการศึกษารูปแบบศิลปะ โดยเฉพาะสถูปพบว่ามีความคล้ายคลึงกับสถูปที่พบที่บ้านจาเละจึงสันนิษฐานว่ามีอายุร่วมสมัยกันคือราวพุทธศตวรรษที่ 12-15

2.เมืองโบราณบ้านจาเละ ตั้งอยู่ถัดจากเมืองโบราณบ้านวัดขึ้นมาทางทิศเหนือ สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนที่ขยายมาจากชุมชนบ้านวัดในช่วงแรก ผังเมืองมีลักษณะคูน้ำล้อมรอบสามด้าน คือ ทิศเหนือเป็นคูขุดมีลักษณะแคบและลึก ทิศตะวันออกอาศัยทางน้ำธรรมชาติ และทิศใต้ขุดขนานตามทิศทางภูมิศาสตร์ โบราณสถานที่สำคัญที่พบในเมืองโบราณจาเละได้แก่

-          กลุ่มโบราณสถานอิฐ 5 หลังในคูน้ำรูปวงรีของเมือง วางตัวในแนวทิศเหนือและใต้ขนาบกัน 2 แนว คือ แนวโบราณสถานหมายเลข 1, 2, 3 และแนวโบราณสถานหมายเลข 8, 9 โดยมีคูเมืองบ้านจาเละตัดผ่านทำให้แยกเป็น 2 พื้นที่ ปัจจุบันกรมศิลปากรทำการขุดแต่งแล้วทั้งหมด 3 แห่ง คือ โบราณสถานจาเละหมายเลข 2, 3 และ 8

-          เนินสิ่งก่อสร้างอิฐกระจายตัวทางด้านทิศตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ ของคูน้ำรูปวงรีจำนวน 6 แห่ง

-          สระน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของคูน้ำรูปวงรี

-          แนวคันดินเมืองจาเละ ด้านทิศเหนือ ตะวันออกและทางด้านทิศใต้

-          สิ่งก่อสร้างคล้ายป้อม 2 แห่งทางตะวันออกเฉียงเหนือและทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของคูน้ำรูปวงรี

ความสำคัญของเมืองโบราณบ้านจาเละ หลักฐานที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 2, 3 และ 8 พบว่าเป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนามหายานที่นิยมสร้างสถูปเพื่อเป็นศาสนสถานและพุทธบูชา สันนิษฐานสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 จนช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้อีกครั้ง ถือเป็นสถูปเนื่องในพุทธศาสนามหายานที่เก่าที่สุดในประเทศไทย และเป็นแหล่งที่กำหนดขอบเขตพุทธสถานด้วยคูน้ำหรืออุทกสีมาเก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย

3.เมืองโบราณบ้านประแว (เมืองพระวัง) อยู่ห่างจากคูเมืองโบราณบ้านจาเละไปทางทิศเหนือประมาณ 300 เมตร เป็นเมืองที่มีคูน้ำกำแพงดินล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน คูขุดถึงระดับกักเก็บน้ำแต่มีลักษณะเล็ก มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนขนาด 470x510 เมตร ที่มุมทั้งสี่เป็นคันดินล้อมรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายป้อม (แสดงถึงการป้องกัน) ด้านทิศตะวันตกมีคลองส่งน้ำขนาดเล็กต่อเชื่อมกับทางน้ำธรรมชาติที่ไหลต่อมาจากบ้านวัด ทางด้านทิศใต้มีคลองส่งน้ำที่ขุดจากบริเวณป้อมไปเชื่อมกับคูเมืองบริเวณมุมเมืองด้านเหนือของเมืองโบราณยะรัง

กลุ่มโบราณสถานที่สำคัญภายในเมืองพบ ซากสิ่งก่อสร้างอิฐ 2 แห่ง และบ่อน้ำเก่า 9 แห่ง หลักฐานจากการสำรวจพบโบราณวัตถุที่ร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านจาเละและบ้านวัด คือตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา เช่น ศิวลึงค์ ทำให้สันนิษฐานว่าอาจมีการใช้พื้นที่มาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12 และหลักฐานมาปรากฏเด่นชัดเจนขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ที่มีการสร้างเมือง ขุดคูน้ำ ทำกำแพงดินที่มีลักษณะคล้ายป้อม โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้น พบว่าอาจมีความเกี่ยวพันกับการสร้างเมืองปัตตานีที่บ้านกรือเซะ อำเภอเมืองจนกลายมาเป็นเมืองปัตตานีในสมัยหลัง

นอกจากนี้ในเมืองโบราณยะรัง ยังพบโบราณวัตถุจากการสำรวจและพบโดยคนท้องถิ่นภายในและภายนอกเมืองอีกจำนวนมาก เช่น แท่นหินบดที่กูโบร์ร้างกอตอกะจิ อำเภอยะรัง กำหนดอายุได้พุทธศตวรรษที่ 11-13, แม่พิมพ์หินทรายสำหรับหล่อต่างหูและแหวนบริเวณบ้านวัด, ศิวลึงค์ 2 องค์ พบบริเวณบ้านวัดและคูเมืองทางด้านตะวันตกของเมืองประแว, พระพุทธรูปเสด็จจากดาวดึงค์กำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14, พระพุทธรูปยืนปางประธานพรกำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-15, พระสุริยะสำริดที่บ้านกูวิง กำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16, เหรียญเปอร์เซีย, เหรียญทองขุดพบในบ่อน้ำด้านหน้าวัดสุขาวดี เป็นรูปสัตว์สี่เท้าเขียนอักษรอาหรับว่า “มาลิค” สร้างในสมัย คอลิฟะ โอมิยะ อัลมาลิค ประมาณปี พ.ศ.1228-1248, ชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม เช่น กุฑุ หรือซุ้มเรือนแก้ว หน้าจั่ว, ชิ้นส่วนประตูธรณี เป็นต้น จึงสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่าเมืองโบราณยะรังมีการใช้พื้นที่มาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา

 

เอกสารโบราณที่กล่าวถึงเมืองโบราณยะรัง ส่วนใหญ่เป็นเอกสารที่กล่าวถึงเมืองที่ชื่อ “ลังกาสุกะหรือลังหยาสิ่ว” ที่นักวิชาการสันนิษฐานว่าคือ ชุมชนโบราณยะรัง มีรายละเอียดโดย ดังนี้

เอกสารจีน ได้แก่ 

-เอกสารเหลียงชูหรือประวัติศาสตร์ราชวงศ์เหลียงฉบับหอหลวง (ชำระช่วงก่อน พ.ศ.1180)ได้กล่าวถึงอาณาจักร Lang ya hsiu ว่าตั้งอยู่ทางทะเลตอนใต้ ห่างจากเมืองท่า Kuang-chou ราว 24,000 ลี้ ติดกับอาณาจักรพันพัน มีความกว้างของอาณาจักรเดินเท้าจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ 20 วัน ทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก 30 วัน ทั้งอากาศและผลผลิตคล้ายกับคนฝู้หนาน อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้กฤษณา กำมะถันและของทำนองนี้ ประเพณีที่นี้ ผู้ชายและผู้หญิงต่างเปลือยกายท่อนบน ทิ้งผมไปทางด้านหลังและสวมผ้าฝ้าย กานหมาก พระราชาและข้าราชการชั้นสูงใช้ผ้าอุนเชี่ยคลุมไหล่ ใช้เชือกทองคาดเป็นเข็มขัดและใส่ตุ้มหูทอง พวกผู้หญิงพันรอบด้วยผ้าฝ้ายและแถบปักอัญมณี เมืองของเขามีกำแพงล้อมรอบ ประตูเมืองมี 2 ชั้น มีหอคอยและตำหนักต่างๆ เมื่อเสด็จออก กษัตริย์ประทับบนหลังช้าง มีธงทิว แส้ กลอง ทรงประทับใต้เศวตฉัตร ทหารองครักษ์ได้รับการแต่งตั้งมาอย่างดี พวกชาวบ้านเล่าว่าเมืองของเขาตั้งมา 400 กว่าปีแล้ว กษัตริย์ที่ครองราชย์ค่อยๆอ่อนแอลง แต่ในราชวงศ์ก็มีผู้ทรงคุณธรรมซึ่งประชาชนพากันเข้าหาเมื่อกษัตริย์ทราบเรื่องนี้เลยจับมาคุมขัง แต่โซ่ตรวจกลับแตกโดยไม่ทราบสาเหตุ กษัตริย์เชื่อว่าผู้นี้คือผู้วิเศษจึงไม่กล้าทำร้ายเพียงให้เนรเทศ เขาจึงหนีไปอินเดีย กษัตริย์พระราชทานธิดาให้อภิเษกด้วย หลังจากนั้นกษัตริย์ของลังหยาสิ่วสวรรคตพวกเสนาบดีเลยอัญเชิยเขากลับมาเป็นกษัตริย์ พระองค์ครองราชย์ประมาณ 20 ปีก็สวรรคต พระราชโอรสนาม ผอเฉี้ยะต้าเต้อ (ภคทัต) จึงครองราชย์ต่อ ในปีที่ 14 ของรัชศกเทียนเจี้ยน (พ.ศ.1058) พระองค์ทรงส่งทูต ชื่อ อาเฉอต๋อ ไปถวายพระราชสาส์นแด่องค์จักรพรรดิ์ ต่อมาในปี พ.ศ.1166 พ.ศ.1074 และ พ.ศ.1111 กษัตริย์ก็ส่งทูตไปยังจีนอีกครั้ง (วินัย พงศ์ศรีเพียร 2548 : 58)

-หนังสือเป่ยสี่, สุยซู หรือบันทึกประวัติศาสตร์ของราชวงศ์สุย (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12), จุยถังซูหรือบันทึกจดหมายเหตุของราชวง์ถังค์(ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-15) และอินถังซูหรือจดหมายเหตุราชวงศ์ถังค์ตอนปลาย (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15) แสดงให้เห็นถึงที่ตั้งของเมืองลังกาสุกะ ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับเมืองปัตตานีในปัจจุบันอาจมีอาณาเขตถึงกลันตันและตรังกานู

- เอกสารจีนสมัยราชวงศ์ซ้องตอนต้น, หยวนและเหม็ง ได้ทำแผนที่และมีการระบุว่าบริเวณเมืองโบราณยะรังเป็นเมืองที่มีชื่อเรียกว่า Lang Hs i Chia ในเอกสารสมัยราชวงศ์หยวน

ม้าฮวนได้กล่าวถึงเมืองลังกาสุกะว่าตั้งอยู่บริเวณเส้นรุ้ง 6 ํ 54” เหนือ

-หนังสือ Chu fan chin ของ Chao ju kua กล่าวว่า ในปี พ.ศ.1768 เมืองลังกาสุกะเป็น 1 ใน 15 เมืองของสันโฟชิ

-เอกสารหลิ่งไว่ไต้ต๋าของโจวซีเฟ่ย (พ.ศ.1721) กล่าวถึงอาณาจักรลังกาสุกะว่า “เราแล่นเรือจากตามหม่าลิ่งไปอาณาจักรหลางยาซิ้วโดยใช้เวลา 6 วัน 6 คืน จะใช้ทางบกก็ได้ ผู้ปกครองเมืองนี้ใช้แพรไหมพันรอบกายและเดินเท้าเปล่า พวกราษฎรตัดผมสั่น สวมผ้าไหม ผลิตผลของท้องถิ่นมีงาช้าง นอระมาด ไม้หอมต่างๆและกำมะถัน พ่อค้าต่างแดนนำสิ้นค้าเหล้า ข้าว ไหมกลุ่ม เครื่องเคลือบและสิ่งของประเภทนี้ แต่ละคนชั่งสินค้าเทียบน้ำหนักกับทองและเงินก่อนแล้วจึงตกลงแลกสินค้า เช่น เหล้า ผลไม้ 1 เติง มีเท่ากับเงิน 1 หน่วย หรือทอง 1/5 หน่วย ข้าว 2 เติงมีค่าเท่ากับเงิน 1 หน่วย ข้าว 10 เติงเท่ากับทอง 1 หน่วย ทำอย่างนี้แต่ละปีต้องส่งเครื่องราชบรรณาการแก่ศรีวิชัย”

-แผนที่ Wu pei chih  ทำขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ได้แสดงที่ตั้งของลังกาสุกะตามความทรงจำของเซงโฮที่เดินทางราว พ.ศ.1946–1976 ที่เดินทางไปยังตะวันตกถึง 7 ครั้ง โดยหลังซีเจียหรือหลังยาสิวมีเขตแดนอยู่ใต้จากสงขลาและมีเขตแดนติดกับแม่น้ำปัตตานีทางใต้

เอกสารอินเดีย

จารึกบนผนังกำแพงทางด้านทิศใต้ของวิหารเมืองตันชอร์ กล่าวถึงชัยชนะของพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ 1 (พ.ศ.1555-1587) ต่อเมืองของศรีวิชัย โดยกล่าวถึงเมืองชื่อ  IIangasoka หรือ Langasokam ว่าเป็นรัฐที่ไม่พรั่นพรึ่งต่อการต่อสู้ รบอย่างป่าเถื่อน (Paul Wheatley 1961 : 259-260)

เอกสารอาหรับ

ใน The Kitāb al Minhāj al fākhir fi ilm fal bahr al zākhir กล่าวถึงเมืองลังกาสุกะ หรือลุงกาสุกะว่าเป็นดินแดนที่ไกลสุดจากจีน ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหันหน้าออกไปสู่ทะเลจีนใต้ บริเวณละติจูดที่  7 ํ 42’’ 50’’

เอกสารชวา

จากวรรณคดี Nagarakrtagama แต่งโดยกวีราชสำนัก ชื่อ Prapanca แต่งในปี พ.ศ.1908 กล่าวถึงเมือง Lengkasuka โดยกล่าวว่า กษัตริย์มะโรงมหาวังสาเมื่อเดินทางมาถึงดินแดนสวยงามและสถานที่ตั้งที่เหมาะสมได้รับสั่งให้สร้างป้อม พระราชวังและท้องพระโรง ตั้งพระนามว่า Lengkasuka โดยกำหนดให้อยู่ในบริเวณถัดจากเมือง Sai   

เอกสารมาลายู

-สเยาะเราห์เมืองปัตตานี แต่งโดย หะยีหวันหะซัน กล่าวถึงพญาตูกูรุปมหาจันทราผู้ครองเมืองโกตามะลิภัย (เมืองลังกาสุกะ) มีโอรสชื่อ พญาอินทิรา เมื่อพญาตูกูรุปมหาจันทราสิ้นพระชนม์ พญาอินทิราได้อพยพไพร่พลมาสร้างเมืองปตานีดารัสซาลาบริเวณสันทรายแม่น้ำปัตตานี

-Sejerah Kerajaan Melayu Pattani หรือตำนานเมืองปัตตานี ฉบับอิมบราฮิม ชูกรี ฉบับเดิมเขียนเป็นภาษามาลายู ตัวอักษรยาวี กล่าวถึงประวัติของเมืองปัตตานี โดยมีเนื้อหากล่าวถึงเมืองที่เกิดก่อนปัตตานี ว่ากษัตริย์ได้แต่งตั้งชาวเมืองบือนังปาดัน ชื่อ ตวนกูลัมมิเด็นเป็นเจ้าเมืองและอพยพเข้าไปตั้งศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองเปราวัณและมอบให้ดาตูปะกาลันดูแลบริเวณเมืองปัตตานี นักวิชาการสันนิษฐานว่าเมืองปาราวัน น่าจะชื่อพระวัง ที่หมายถึงพระราชวัง คือหมู่บ้านประแว ในปัจจุบัน

-Hikayat Pattani : The Story of Pattani ฉบับคัดลอกโดย Abdullah Bin Abdulkadir ทำการลอกในปี ค.ศ.1839 กล่าวถึงเมืองที่เกิดก่อนการสร้างเมืองปัตตานี คือ พื้นที่บริเวณเมืองยะรัง

-ตำนาน Marong Mahawangsa (แต่งราวพุทธศตวรรษที่ 24) ได้กล่าวถึงกษัตริย์ที่ชื่อ มะโรงมหาวังสา เสด็จมายังดินแดนสวยงามและที่ตั้งเหมาะสม ได้สั่งให้สร้างป้อม พระราชวัง และท้องพระโรง เรียก Langkasuka ก่อนจะมีการย้ายเมืองไปสร้างเมืองปัตตานีในสมัยหลัง สันนิษฐานว่าเมือง Langkasuka น่าจะคือเมืองประแวที่สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19

 

จารึกที่พบในเมืองโบราณยะรัง

จากการขุดแต่งบูรณะเมืองโบราณยะรังพบจารึกที่ปรากฏบนโบราณวัตถุบนสถูปและพระพิมพ์ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1.โบราณวัตถุประเภทสถูปขนาดเล็ก หรือ สถูปิกะ ทำจากดินเผา มักปรากฏจารึกบนฐานด้านนอกและด้านใน

2.โบราณวัตถุประเภทสถูปพิมพ์ดินดิบทำเป็นภาพนูนตำ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ รูปสถูปองค์เดียวเหนืออักษรจารึกและรูปสถูปสามองค์เหนืออักษรจารึก

3.โบราณวัตถุประเภทพระพิมพ์ ทำเป็นภาพนูนต่ำรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิราบเหนือปัทมบัลลังก์อยู่ตรงกลาง มีสถูปขนาบ 2 ด้าน ด้านล่างมีอักษรจารึก

ตัวอักษรที่พบเป็นภาษาปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ข้อความที่ปรากฏ ได้แก่ คาถา “เยธมฺมาฯ”  แปลว่า ธรรมใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคต ตรัสเหตุและความดับทุกข์แห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสดังนั้น และ ขสมนาย “นิโรธมารเค” แปลว่าในทางดับ โดยนัย(แห่งพระดำรัส) มีความหมายเน้นข้อหลักธรรม อันน้อมไปสู่ความหลุดพ้น โดยประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นว่าพระเถระสงฆ์ผู้มรณภาพนั้น ดำเนินไปในทางแห่งความดับทุกข์ (ก่องแก้ว วีระประจักษ์ 2533 : 35-50)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

เพลงเมธา ขาวหนูนา เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

ก่องแก้ว วีระประจักษ์. “วิเคราะห์จารึกเมืองยะรัง” ศิลปวัฒนธรรม 33, 6 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2533) : 35-50.

ภัคพดี อยู่คงดี และพรทิพย์ พันธุโกวิท. “โบราณสถานและโบราณวัตถุจากการขุดแต่งโบราณสถานบ้านจาเละ กลุ่มเมืองโบราณยะรัง จังหวัดปัตตานี” ใน การประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติฝรั่งเศส-ไทยครั้งที่ 3 พัฒนาการของรัฐในประเทศไทยจากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2538 : 266–278.

ทิวา ศุภจรรยา และกฤษณพล วิชชุพันธ์. “สภาพแวดล้อมการตั้งถิ่นฐานชุมชนโบราณเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี” ใน การประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติฝรั่งเศส-ไทยครั้งที่ 3 พัฒนาการของรัฐในประเทศไทยจากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2538 : 279 -292.

ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “ยะรัง : ชุมชนโบราณ” ใน สารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 13. กรุงเทพฯ : ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542 : 6245-6258.

ผาสุข อินทราวุธ. “พระสุริยะสำริดที่พบที่เมืองโบราณ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากรฉบับปลายภาคประจำปีการศึกษา 2529. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2529.

พรทิพย์ พันธุโกวิทย์. “การวิเคราะห์โบราณสถานในเมืองยะรัง” ใน วันนี้ของโบราณคดีไทย. (การประชุมสัมมนาทางวิชาการโบราณคดีปี 2547 วันที่ 17-18 สิงหาคม 2547 ณ ห้องประชุมใหญ่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร). ม.ท.ป., 2547 : 1-18.

วอกัญญา ณ หนองคาย. “ปัญหาการดำเนินงานทางโบราณคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : กรณีศึกษาเมืองโบราณยะรังและมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี ในระหว่างปี พ.ศ.2547-2551” สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.

วินัย พงศ์ศรีเพียร. “รัฐหรือเมืองโบราณในดินแดนไทย” ใน ประวัติศาสตร์ไทยเราจะเรียนจะสอนกันอย่างไร. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ, 2548.

สมหมาย ช่างเขียน และพวงทิพย์ แก้วทับทิม. การหาค่าอายุโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาโดยวิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนซ์บริเวณเมืองโบราณยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี. ปัตตานี : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2540.

สว่าง เลิศฤทธิ์. เมืองโบราณยะรัง. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้งกรุ๊พ, 2531.

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจ ศึกษา ค้นคว้า การตั้งถิ่นฐานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำปัตตานีและสายบุรี. สงขลา : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10, 2543.

สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. แผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2548.

ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์. “พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

Paul Wheatley. The Golden Khersonese. Kuala Lumpur : University Of Malaya Press, 1961.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง