ศาลหลักเมืองระนอง


โพสต์เมื่อ 21 พ.ค. 2022

ที่ตั้ง : ถ.เพิ่มผล เทศบาลเมืองระนอง

ตำบล : เขานิเวศน์

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ระนอง

พิกัด DD : 9.962262 N, 98.640564 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองระนอง, คลองโรงหัด, คลองหาดส้มแป้น

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ศาลหลักเมืองระนอง ตั้งอยู่ในตัวจังหวัดระนอง ริมถนนเพิ่มผล ตรงข้ามเทศบาลเมืองระนอง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ศาลหลักเมืองระนองเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดระนองเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นบริเวณพื้นที่ข้างศาลหลักเมืองยังเป็นลานและสวนสุขภาพริมคลองหาดส้มแป้น ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของชาวระนอง

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

เทศบาลเมืองระนอง, จังหวัดระนอง

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ลาดเชิงเขา

สภาพทั่วไป

ศาลหลักเมืองตั้งอยู่กลางเมืองระนอง ทิศตะวันตกติดถนนเพิ่มผล ทิศตะวันออกติดคลองหาดส้มแป้นหรือคลองโรงหัด ทิศเหนือติดพื้นที่ของโรงพยาบาลระนอง ทิศใต้ติดลานอนุสาวรีย์พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

17 เมตร

ทางน้ำ

คลองโรงหัด, คลองหาดส้มแป้น, คลองระนอง, ทะเลอันดามัน

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนหินเชิงเขา จากแนวเทือกเขาหินอัคนีและหินโคลนที่อยู่ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือ (กรมทรัพยากรธรณี 2550)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัชกาลที่ 9

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2531

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯให้ยกเมืองระนองขึ้นเป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2405 แต่ตามหลักฐานไม่ปรากฏว่าเคยมีหลักเมืองมาก่อน ทางเทศบาลเมืองระนองจึงได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างศาลหลักเมืองขึ้นในปี พ.ศ.2530 สำหรับให้ชาวจังหวัดระนองสักการะบูชาและเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ

ศาลหลักเมืองระนองก่อสร้างขึ้นในพื้นที่ที่เคยเป็นบ้านพักของพระยารัตนเศรษฐี (เจ้าเมืองระนอง) มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2531 เวลา 9.09 น.

เทศบาลเมืองระนองซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้างศาลหลักเมืองระนองในนามของจังหวัดระนอง ได้ขอความร่วมมือไปยังกรมศิลปากรให้ช่วยออกแบบการก่อสร้าง พร้อมทั้งจัดหาช่างฝีมือที่มีความชำนาญ

เดือนกันยายน พ.ศ.2531 เริ่มการก่อสร้างหลักเมือง โดยนายปิ่น ริ่มไทยสงค์ ปลัดอำเภอกะเปอร์ในขณะนั้น มีจิตศรัทธามอบต้นราชพฤกษ์ที่มีอายุเกือบ 100 ปี ในสวนของท่าน ณ บ้านเลขที่ 57 ม.8 ต.กะเปอร์ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง

เมื่อทำการกลึงเสาหลักเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2533 ได้ประกอบพิธีประดิษฐานเสาหลักเมือง โดย พ.ต.เฉลิม สุภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานในพิธี พิธีการครั้งนี้เป็นการนำเสาหลักเมืองมาประดิษฐาน ณ ศาลหลักเมือง ส่วนยอดเสาหลักเมือง ต้องนำเข้าเฝ้าน้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงบรรจุแผ่นทองดวงเมือง ทรงพระสุหร่ายและทรงเจิม ก่อนจะอัญเชิญมาประดิษฐานต่อไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์มาทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง (ประดิษฐานยอดเสาหลักเมือง) และทรงเปิดศาลหลักเมือง ซึ่งถือเป็นพิธีการขั้นสุดท้ายที่สำคัญที่สุด เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2533 ในการเสด็จครั้งนี้ได้ทรงประกอบพิธีพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรประจำจังหวัด และพระพุทธนวราชบพิตรจำลองประจำอำเภอต่าง ๆ ด้วย

ตัวศาลมีลักษณะเป็นศาลาจตุรมุข รูปทรงไทย ยอดศาล 5 ยอด มีลักษณะตามแบบพระบรมธาตุไชยา แต่สัดส่วนป้อมและเตี้ยกว่า โดยยอดกลางมีขนาดใหญ่ที่สุด ความสูงจากพื้นดินถึงยอด 13.6 เมตร ขนาดตัวศาล 6x6 เมตร มีบันไดขึ้นสู่ตัวศาลทั้ง 4 ทิศ มีเครื่องสักการะตั้งอยู่หน้าทางเข้าทั้ง 4 ด้าน

หลักเมืองมีลักษณะเป็นเสากลมเรียวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 27 เซนติเมตร สูง 2.7 เมตร ปลายยอดเป็นดอกบัวตูม ปัจจุบันมีแผ่นทองคำเปลวติดอยู่ทั่วทั้งต้นเป็นชั้นหนา และมีพวงมาลัยคล้องอยู่ที่ส่วนยอดหลักเมือง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดระนอง. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอเดีย สแควร์, 2550.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี