ภูเขาวัดหน้าถ้ำ


โพสต์เมื่อ 3 เม.ย. 2022

ชื่ออื่น : วัดคูหาภิมุข, วัดถ้ำคูหาภิมุข, วัดหน้าถ้ำ

ที่ตั้ง : เลขที่ 136 บ้านหน้าถ้ำ ม.1

ตำบล : หน้าถ้ำ

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ยะลา

พิกัด DD : 6.528737 N, 101.224914 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปัตตานี

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากวงเวียนศาลหลักเมืองยะลา ใช้ทางหลวงหมายเลข 409 ทางไปอำเภอยะหา หรือมุ่งหน้าตำบลหน้าถ้ำ ไปตามถนนประมาณ 6.9 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายใช้ถนนที่มุ่งหน้าวัดคูหาภิมุข (ไปตามป้ายวัด) ประมาณ 500 เมตร จะพบวัดทางซ้ายมือ แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ที่ภูเขาด้านหลังวัด

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ถ้ำคูหาภิมุข เปิดให้เข้าชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในถ้ำทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08:00 - 17:30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (เฉพาะเยี่ยมชมถ้ำมืด มีค่าบริการ 20 บาท) ซึ่งนอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ศรีวิชัย หรือหอวัฒนธรรมศรีวิชัย (วัดคูหาภิมุข) ที่เก็บโบราณวัตถุที่ได้มาจากวัดถ้ำ ภูเขากำปั่น วัดคูหาภิมุขยังมีทิวทัศน์ที่สวยงาม สงบเงียบ เหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และมีกิจกรรมให้อาหารลิง       

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดคูหาภิมุข, กรมศิลปากร, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 วันที่ 8 มีนาคม 2478 หน้า 3695

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา, ภูเขา

สภาพทั่วไป

สภาพแหล่งโบราณคดีเป็นถ้ำในภูเขาหินปูนลูกโดด ในอาณาบริเวณของวัดคูหาภิมุข อยู่ห่างจากแม่น้ำปัตตานีมาทางทิศตะวันตกประมาณ 3 กิโลเมตร ปัจจุบันได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

70 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปัตตานี

สภาพธรณีวิทยา

ภูเขาหินปูนลูกโดดในหมวดหินถ้ำกระแซง กลุ่มหินราชบุรี ยุคเพอร์เมืยน อายุประมาณ 245-286 ปีมาแล้ว (กรมทรัพยากรธรณี 2559)

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน, จารึก

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดคูหาภิมุข เป็นวัดราษฎร์ ฝ่ายมหานิกาย สร้างขึ้นใน พ.ศ.2390 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565) โดยนายคงทอง เพ็ชรกล้า ชาวยะหริ่ง ได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหน้าถ้ำ ประกอบกับได้พบพระพุทธไสยาสน์ในถ้ำใกล้กับหมู่บ้าน จึงได้ขออนุญาตต่อพระยายะลาเพื่อขอสร้างวัด แล้วนิมนต์พระไชยทอง ฉตฺตกโร จากวัดเสื้อเมือง อ.สทิงพระ จ.สงขลา มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เรียกชื่อวัดว่า “วัดหน้าถ้ำ” และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดคูหาภิมุข” ในสมัยจอมฟล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2561: 259)

สิ่งสำคัญภายในวัดล้วนแล้วแต่พบในถ้ำบนเขาซึ่งอยู่ในอาาเขตของวัด ได้แก่ พระพุทธไสยาสน์วัดถ้ำ หรือ “พ่อท่านบรรทม” กล่าวกันว่าเดิมทำด้วยดินดิบทั้งองค์ และอาจมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ปัจจุบันมีความยาวประมาณ 81 ฟุต 1 นิ้ว รูปปั้นยักษ์ขนาดใหญ่เรียกว่า “พ่อท่านเจ้าเขา” ซึ่งคอยปกปักษ์รักษาภูเขาวัดหน้าถ้ำตลอดมา พิพิธภัณฑ์ศรีวิชัย หรือหอวัฒนธรรมศรีวิชัย (วัดคูหาภิมุข) ที่เก็บและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้มาจาก วัดถ้ำ ภูเขากำปั่น มีทั้งพระพิมพ์ดินดิบ พระพุทธรูปศิลา สถูปเม็ดพระศก อิฐฐานพระพุทธรูป และจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “ปปร” ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่หน้าถ้ำมืด (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2561: 259) ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ได้เสด็จมาประทับแรมที่วัดแห่งนี้

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดยะลา. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จํากัด (มหาชน), 2559.

กรมศิลปากร. "ภูเขาวัดหน้าถ้ำ(วัดคูหาภิมุข)(หรือวัดถ้ำคูหาภิมุข)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, ศิริพร สังข์ศิริ,  และธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. 247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2561.

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx


ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี