ภูเขาน้อย


โพสต์เมื่อ 28 มี.ค. 2022

ชื่ออื่น : เขาน้อย, ภูเขาน้อย(ทั้งลูก), เจดีย์เขาน้อย, พระเจดีย์เขาน้อย, พระเจดีย์บนยอดเขาน้อย

ที่ตั้ง : เขาน้อย

ตำบล : หัวเขา

อำเภอ : สิงหนคร

จังหวัด : สงขลา

พิกัด DD : 7.217060 N, 100.558384 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลสาบสงขลา, ทะเลอ่าวไทย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

โบราณสถานบนยอดภูเขาน้อย หรือพระเจดีย์เขาน้อย สามารถเดินขึ้นได้จากทางวัดเขาน้อย โดยจากที่ว่าการอำเภอสิงหนคร ใช้ทางหลวงหมายเลข 408 มุ่งหน้าทางทิศใต้ (มุ่งหน้าเขาน้อย-เขาแดง หรือมุ่งหน้าท่าเรือน้ำลึกสงขลา) ประมาณ 1.4 กิโลเมตร พบแยกเขาแดง ให้เลี้ยวขวา ใช้ทางหลวงหมายเลข 408 ระยะทาง 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนที่มุ่งสู่วัดเข้าน้อย ตามป้ายวัดเขาน้อย) ประมาณ 550 เมตร พบวัดเขาน้อยทางขวามือ  

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

พระเจดีย์วัดเขาน้อย สามารถเข้าชมได้ทุกวัน เฉพาะในช่วงเวลากลางวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, กรมป่าไม้

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 103 ตอนที่ 65 วันที่ 22 เมษายน 2529 (ภูเขาน้อย)

ภูมิประเทศ

สันทราย, ชายฝั่งทะเล, ที่ราบชายฝั่งทะเล

สภาพทั่วไป

เขาน้อย เป็นภูเขาขนาดเล็กที่ต่อเนื่องมาจากเขาแดง โดยอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาแดง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขาน้อยทั้งลูก เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ สภาพโดยทั่วไปบนเขาน้อยเป็นป่าไม้ แต่ได้มีการบุกรุกขุดดินด้านใต้ของภูเขาออกไป สภาพเขาจึงเริ่มเสื่อมโทรม ส่วนพระเจดีย์เขาน้อย ได้รับกากรบูรณปฏิสังขรณ์จนอยู่ในสภาพค่อนข้างมั่นคงแข็งแรง แต่จากการบุกรุกขุดดินซึ่งอยู่ใกล้กับโบราณสถานแห่งนี้เป็นอย่างมาก อาจส่งผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของโบราณสถาน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

30 เมตร

ทางน้ำ

ทะเลอ่าวไทย, ทะเลสาบสงขลา

สภาพธรณีวิทยา

เขาน้อยเป็นภูขาหินทราย ในหมวดหินยะหา

หมวดหินยะหา (Yaha Formation, Cyh) ประกอบด้วย หินทราย สีเทาจาง เนื้อปานกลางถึงหยาบ การคัดขนาดดีการเชื่อมประสานปานกลางถึงดีมาก ชั้นหนาปานกลางถึงหนามาก หินดินดาน และหินโคลน สีเทาแกมเขียว ถึงเทา หินทรายสลับกับหินดินดาน เป็นชั้นดีพบซากดึกดําบรรพ์ชนิด Posidonomya sp. แอมโมไนต์หอยสองฝา และไทรโลไบต์หินทรายแป้ง สีน้ําตาลแกมแดง หินเชิร์ต สีม่วงแกมแดงสีเทาถึงเทาดําชั้นบาง (หินเชิร์ตแบบริบบิ้น) หินทรายแป้งสีเทาอ่อนและหินกรวดมน เม็ดกรวดขนาด 1-10 เซนติเมตร ประกอบด้วยหินทราย แร่ควอตซ์หินเชิร์ต และหินควอร์ตไซต์ การกระจายตัวของหมวดหินยะหา ส่วนใหญ่กระจายตัวบริเวณอําเภอสะบ้าย้อย และยังพบบริเวณทางด้านตะวันออกของอําเภอรัตภูมิที่เป็นเขตติดต่อกับอําเภอหาดใหญ่อีกด้วย (กรมทรัพยพากรธรณี 2557)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยอยุธยา, สมัยศรีวิชัย

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 13-15, พุทธศตวรรษที่ 23-24

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528, พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง


ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เขาน้อยและเขาแดง เป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งคาบสมุทรสทิงพระได้พบหลักฐานทางการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนมาตั้งแต่ต้นยุคประวัติศาสตร์ พบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงการติดต่อกับชาวต่างชาติมากมาย โดยเฉพาะอินเดีย พบโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนา มหายาน และศาสนาพราหมณ์ ที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-13 รูปแบบศิลปะสมัยคุปตะของอินเดียเหนือและศิลปะปัลลวะของอินเดียใต้  เช่น ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระปัทมปาณิโพธิสัตว์ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ศิวลึงค์ที่หน้าถ้ำเขาคูหา ศิวลึงค์ที่พังเภา เทวรูปพระคเณศที่พังหนุน เทวรูปพระวิษณุที่วัดขุนช้าง-บ้านสามี รวมถึงจิตรกรรมสัญลักษณ์ “โอม” ภาษาทมิฬ และศิวลึงค์ ที่ถ้ำเขาคูหา เป็นต้น (อุไร จันทร์เจ้า 2560: 27-59; 171-172) 

นอกจากนี้ คาบสมุทรสทิงพระอาจเป็นส่วนหนึ่งของรัฐพันพัน (P’an-p’an) รัฐโบราณที่ถูกกล่าวถึงอยู่ในเอกสารจีนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-15 ที่ระบุว่าเป็นรัฐที่มีการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจการค้าและศาสนากับอินเดีย และมีการติดต่อกับทูตจีนในสมัยราชวงศ์เหลียงถึงราชวงศ์ถัง (Paul Wheatly 1980: 48) ซึ่งรัฐพันพันนี้น่าจะมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา (Jacq-Hergoualc’h 2002: 166-60)

ดังนั้น จากทำเลที่ตั้งและหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า คาบสมุทรสทิงพระ เป็นเมืองท่าสำคัญของภูมิภาคมาตั้งแต่ต้นยุคประวัติศาสตร์ เป็นต้นมา (ดูเพิ่มเติมที่ นุชนภางค์ ชุมดี 2540; สุรีพร โชติธรรมโม 2545; อุไร จันทร์เจ้า 2560) 

ในสมัยอยุธยา พื้นที่ปลายสุดของคาบสมุทรสทิงพระ ที่เป็นบริเวณที่ตั้งเขาน้อย-เขาแดงและแหลมสน ได้ทวีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นที่ตั้งของเมืองเก่าสงขลา ซึ่งยังคงเป็นเมืองท่านานาชาติที่มีบทบาทในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ ดังปรากฎหลักฐานบันทึกของชาวต่างชาติ ทั้งฮอลันดา อาหรับ จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ และเอกสารท้องถิ่นอย่างตำนานเมืองพัทลุง ในสมัยอยุธยาเมืองอยู่ที่บริเวณหัวเขาแดง ปกครองโดยเจ้าเมืองมุสลิม เป็นเมืองสุลต่านแห่งสงขลา โดยใช้เขาแดง-เขาน้อย เป็นปราการของเมือง ดังปรากฏการสร้างป้อมตั้งแต่ที่ราบเชิงเขาจนถึงบนเขาแดง ก่อนที่ในสมัยธนบุรี จะย้ายเมืองลงไปที่ปลายสุดคาบสมุทรหรือบริเวณแหลมสน โดยมีเจ้าเมืองเป็นคนจีน (สามารถ สาเร็ม 2565)

เขาน้อย เป็นภูเขาขนาดเล็กที่ต่อเนื่องมาจากเขาแดงที่มีขนาดใหญ่กว่า โดยอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาแดง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขาน้อยทั้งลูก เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ 

บนยอดภูเขาน้อย ปรากฏซากโบราณสถานชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไปว่า "พระเจดีย์เขาน้อย"  สภาพในปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานเจดีย์ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้างยาวด้านละประมาณ 20 เมตร วางตัวขนานไปกับเขา ทำให้เมื่อมองจากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน

บริเวณฐานทำเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ในลักษณะยกเก็จ โดยแต่ละด้านยกเก็จออกมา 3 เก็จ คือมีเก็จที่มุม 2 มุม และที่กลางด้าน สันนิษฐานว่าพระเจดีย์องค์นี้อาจเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในศาสนาพุทธ ลัทธิมหายาน ในสมัยศรีวิชัย ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลาง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 และคงได้รับอิทธิพลมาจากแหล่งเดียวกันคืออินเดีย ทำให้มีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันอย่างมาก ทั้งจากลักษณะของแผนผังที่อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส การยกเก็จที่ส่วนฐาน รวมทั้งการใช้อิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง (ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณเอเชียอาคเนย์ (ก) 2565)

การขุดค้นของกรมศิลปากรในปี 2529 ได้พบกุฑุที่ทำจากหิน มีลักษณะคล้ายวงโค้งรูปเกือกม้า ยอดแหลม ปลายฐานทั้งสองข้างแกะสลักคล้ายรูปใบไม้ม้วนขึ้น ภาพหน้าบุคคลในลักษณะหน้าเข้ม ผมหวีเสย คิ้วโก่ง จมูกเป็นสัน ปากอมยิ้ม สวมตุ้มหูขนาดใหญ่ กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 12-16 ซึ่งแสดงลักษณะศิลปกรรมแบบทวารวดีที่คล้ายคลึงกับที่พบในภาคกลางเป็นอย่างมาก โดยอาจเริ่มมีอิทธิพลท้องถิ่นภาคใต้มาผสม (สิริพรรณ ธิรศริโชติ. 2542: 130) กุฑุใช้เป็นส่วนประกอบตกแต่งสถาปัตยกรรมพุทธศาสนา พบมากในศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและหลังคุปตะ และให้อิทธิพลแก่ศิลปะสมัยทวารวดีในประเทศไทย

ในสมัยอยุธยา เจดีย์เขาน้อยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 โดยการสร้างพระพุทธรูปประดิษฐานประจำที่อยู่โดยรอบ ส่วนด้านบนมีเพียงกองอิฐที่น่าจะเกิดจากการบูรณะในชั้นหลังเท่านั้น 

ลักษณะทางประติมานของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยานี้ ครองจีวรห่มเฉียง มีชายสังฆาฏิเป็นแผ่นขนาดใหญ่พาดที่พระอังสาข้างซ้าย ปลายตัดตรง ยาวลงมาถึงพระนาภี นั่งขัดสมาธิราบ แม้ว่าปัจจุบันส่วนใหญ่ชิ้นส่วนพระเศียรและพระหัตถ์จะหักหายไป แต่ก็สันนิษฐานได้ว่าบางองค์แสดงปางมารวิชัย (ดูเพิ่มเติมใน ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณเอเชียอาคเนย์  http://scaasa.org/?p=3023 และ http://scaasa.org/?p=3019)

นอกจากพระเจดีย์เขาน้อยจะเป็นศาสนสถานศูนย์กลางของชุมชนแล้ว จากลักษณะพื้นที่ที่เป็นภูเขาริมทะเล ทั้งยังมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างคือเจดีย์ขนาดใหญ่และป้อมปราการขึ้นบนเขา ทำให้เขาแดงและเขาน้อยจึงเป็นเหมือนจุดสังเกตสำหรับนักเดินเรือในระยะแรกเริ่มประวัติศาสตร์จนถึงถึงในสมัยหลังลงมา อีกทั้งพระะเจดีย์เขาน้อย ก็เป็นต่อมาจึงมีการสร้างศาสนสถานขึ้นเป็นศูนย์กลางของชุมชน

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจําแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดสงขลา. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) 2557.

กรมศิลปากร. "ภูเขาน้อย(ทั้งลูก)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

นุชนภางค์ ชุมดี. "การตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณบนสันทรายด้านชายฝั่งทะเลตะวันออกของ ภาคใต้ของไทย." สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสจตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2540.

บรรจง ทองสร้าง, นิคม ชูศิริ, ประสงค์ เกษราธิคุณ และทวีศักดิ์ พุฒสุขขี. “ภูมิศาสตร์บรรพกาลของคาบสมุทรสทิงพระ ภาคใตต้ ประเทศไทย.” วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฐยะลา 14, 1 (มกราคม-เมษายน 2562): 73-84.

ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณเอเชียอาคเนย์ (ก). เจดีย์เขาน้อย จ.สงขลา. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2565. เข้าถึงจาก http://scaasa.org/?p=3027

ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณเอเชียอาคเนย์ (ข). พระพุทธรูปพร้อมพระสาวกที่เจดีย์เขาน้อย จ.สงขลา. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2565. เข้าถึงจาก http://scaasa.org/?p=3023

ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณเอเชียอาคเนย์ (ค). พระพุทธรูปบนเจดีย์เขาน้อย จ.สงขลา. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2565. เข้าถึงจาก http://scaasa.org/?p=3019

สามารถ สาเร็ม. ความสำคัญของภูเขาปลายคาบสมุทรสทิงพระ : ในหน้าประวัติศาสตร์สงขลา.  (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2565. เข้าถึงจาก https://www.kidyang.com/post/ความสำคัญของภูเขาปลายคาบสมุทรสทิงพระ-ในหน้าประวัติศาสตร์สงขลา

สิริพรรณ ธีรศรีโชติ. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2542.

สุรีพร โชติธรรมโม. "การศึกษาทางด้านโบราณคดีของชุมชนโบราณในเขตอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา และบริเวณใกล้เคียงถึงพุทธศตวรรษที่ 19" วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.

องอาจ ศรียะพันธ์. "รูปเคารพในพุทธศาสนามหายานก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 พบที่เมืองสทิงพระ" วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533

อุไร จันทร์เจ้า. "ร่องรอยหลักฐานของศาสนาพราหมณ์ในชุมชนโบราณบนคาบสมุทรสทิงพระก่อนพุทธศตวรรษที่ 19"  วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2560.

Jacq-Hergoualc’h, Michael . The Malay Peninsula: Crossroads of the Marine Silk Road (100BC-1300 AD). แปลโดย Victoria Hobson Leiden: Brill, 2002.

Wheatly, Paul . The Golden Khersonese. Kuala lumper: University of Malaya Press, 1980.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี