วัดบางน้ำวน


โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2022

ที่ตั้ง : เลขที่ 81 ม.4 ถ.วัดบางน้ำวน

ตำบล : บางโทรัด

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สมุทรสาคร

พิกัด DD : 13.507619 N, 100.174653 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองสุนัขหอน, คลองท่าแร้ง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากสะพานท่าจีน 1 (สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนจากมหาชัย) ใช้ถนนพระรามที่ 2 (ทาหลวงหมายเลข 35) มุ่งหน้าไปยังสมุทรสงคราม ระยะทางประมาณ 9.3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายใช้ทางคู่ขนานวกกลับไปปะมาณ 110 เมตร จะพบถนบางน้ำวนทางขวามือ เลี้ยวขวาใช้ถนนบางน้ำวน ระยะทางประมาณ 1.7 กิโลเมตร จะพบวัดบางน้ำวน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดบางน้ำวนเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะวัตถุมงคลของหลวงปู่รอด

สามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมโบราณสถานภายในวัดได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม สามารถโทรศัพท์ติดต่อกับทางวัดได้ที่เบอร์ 034 884 127

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดบางน้ำวน

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดบางน้ำวน เป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองสุนัขหอนฝั่งด้านทิศเหนือ บริเวณปากคลองท่าแร้ง หรือเรียกได้ว่าตั้งอยู่บริเวณที่เป็นคุ้งน้ำคลองสุนัขหอนและคลองท่าแร้ง 

ด้านทิศเหนือของวัดติดต่อโรงเรียนวัดบางน้ำวน (รอดพิทยาคม) และซอยชลประทาน ด้านทิศตะวันออกติดต่อกับคลองท่าแร้ง ด้านทิศใต้ติดกับคลองสุนัขหอนและที่เอกชน และด้านทิศตะวันตกติดต่อที่เอกชน            

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

คลองสุนัขหอน, คลองท่าแร้ง, แม่น้ำท่าจีน

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนดินเคลย์ทะเล (Marine clay deposit) ทับถมสมัยโฮโลซีน (กรมทรัพยากรธรณี 2559) หรือเป็นดินชุดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นดินเค็มชายฝั่งทะเลถัดจากดินชุดท่าจีนเข้ามา ลักษณะเป็นดินเลน เนื้อดินเหนียวและเค็ม เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงถึงปานกลาง เป็นดินเค็มไม่สามารถปลูกข้าวได้ บางแห่งใช้ขุดบ่อเลี้ยงปลา หรือยกร่องปลูกมะพร้าว (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ 2543 : 3)


ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2357

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดบางน้ำวน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองสุนัขหอนฝั่งด้านทิศเหนือ และริมคลองท่าแร้ง

ตามประวัติวัดระบุว่าสร้างวัดเมื่อ พ.ศ.2357 (กองพุทธศาสนา 2545) กล่าวว่ามีชาวรามัญได้โยกย้ายมาอยู่ตำบลนี้ ได้สร้างวัดขึ้นเป็นที่บำเพ็ญกุศล เจ้าอาวาสองค์แรกคือ หลวงพ่อแค เจ้าอาวาสองค์ต่อมาคือ หลวงพ่อรอด พุทธสณฺโท เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันคือ พระครูสังฆรักษ์สามารถ ผลปัญโญ กล่าวกันว่าบรรดาถาวรวัตถุทั้งหลายทั้งปวงที่สร้างขึ้นในวัดบางน้ำวนนี้ สร้างขึ้นในสมัยหลวงพ่อรอดทั้งสิ้น เช่นใน พ.ศ.2461 สร้างอุโบสถ พ.ศ.2464 สร้างศาลาการเปรียญ พ.ศ.2473 สร้างศาลาปูนหน้าวัด พ.ศ.2478 สร้างมณฑปพระบาท (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553)

พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องซีเมนต์ซ้อนกัน 3 ตับ เครื่องลำยองช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ไม้แกะสลักประดับกระจก หน้าบันทั้งสองด้านเป็นรูปเทพนม ประดับตกแต่งด้วยลายก้านขด ปิดทองประดับกระจก ด้านล่างมีลายกระจังและประจำยามรองรับ หน้าบันปีกนกเป็นรูปลายก้านขด มีสาหร่ายรวงผึ้งด้านล่าง เสาที่รองรับโครงหลังคาเป็นเสาก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ หัวเสามีบัวหัวเสาปูนปั้นมาสีประดับ ชายคามีทวยรองรับ เป็นทวยไม้แกะสลักเป็นรูปหัวนาค ปิดทองประดับกระจก ฝีมือช่างประณีต มีประตูทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 2 ประตู บานประตูเป็นไม้แกะสลักลายด้านขด ตรงกลางเป็นลายเทพนม แทรกภาพสัตว์ต่าง ๆ เช่น นก ลิง กระรอก เป็นต้น (ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว) ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้นละ 3 ช่อง บานประตูหน้าต่างเป็นไม้เรียบ บนเพดานมุลดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีไม้แกะสลักเป็นลายดาวเพดานติดประดับตกแต่งไว้ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย บนเพดานมีไม้แกะสลักทาสีเป็นรูปดาวเพดานติดประดับไว้เช่นเดียวกัน (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553)

กำแพงแก้ว ล้อมรอบอุโบสถ เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนเตี้ย ๆ ตรงกลางกำแพงแต่ละด้านทั้ง 4 ด้าน เจาะช่องประตูทำเป็นซุ้มขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นซุ้มยอดที่คล้ายยอดเจดีย์จำนวน 3 ยอด ตั้งเรียงกัน ตรงกลางจะมีขนาดและความสูงมากกว่าอีก  2 ยอดด้านข้างยอดซุ้มนี้ตกแต่งด้านลายปูนปั้น ที่ซุ้มด้านหน้าพระอุโบสถมีลายรูปสิงโตคู่อยู่ทั้งด้านในและด้านนอก แต่ลักษณะหน้าตาจะแตกต่างกัน บริเวณฐานยอดกลางด้านนอก มีตัวอักษร “พ.ศ.๒๔๖๑” ซึ่งตรงกับปีที่สร้างพระอุโบสถหลังนี้ กรอบซุ้มประตูด้าหนน้านี้จะมีลักษณะพิเศษกว่าด้านอื่น ๆ ด้วยกาตกแต่งด้วยไม้จำหลักลาย ลวดลายอิทธิพลศิลปะจีน ประกอบด้วยลายดอกโบตั๋น แทรกภาพสัตว์มงคล เช่น ค้างคาว หงส์ เป็นต้น ในลานรอบพระอุโบสถ ตั้งแท่นใบเสมาซึ่จำหลักเป็นรูปตัวเหงา ส่วนยอดสลักเป็นลายดอกไม้สี่กลีบ คล้ายใบเสมาที่นิยมในช่วงปลายสมัยอยุธยา ที่พบแพร่หลายอยู่ในภาคกลางตอนล่าง (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553)

กลุ่มเจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัด ประกอบด้วยเจดีย์ทรงรามัญ 2 องค์ และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็ก 2 องค์ และเสาสหงส์ อันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นวัดของชุมชนชาวมอญ เสาหงส์ที่วัดบางน้ำวนนี้เป็นเสาหงส์ไม้ ตัวหงส์บนยอดเสาเป็นหงส์แกะจากไม้ประดับกระจกสี (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553)

ส่วนสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมไปบ้างแล้ว เช่น ศาลาการเปรียญ เป็นต้น หรือกุฏิบางหลังที่มีการรื้อถอนออกไป แต่ยังก็บส่วนประกอบสำคัญเอาไว้ เช่น หน้าบันไม้แกะสลัก มีเครื่องประกอบสถาปัตยกรรมอยู่ชิ้นหนึ่งที่ทางวัดได้นำมาเก็บรักษาไว้ คือ ช่อฟ้า ซี่งสันนิษฐานว่าช่อฟ้าของพระอุโบสถที่ชำรุดหลุดออกมา ลักษณะเป็นช่อฟ้าจำหลักลายรูปครุฑนั่งแบะขากางปีก ตกแต่งด้วยการประดับกระจกสี (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดสมุทรสาคร.กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จํากัด (มหาชน), 2559.

กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2543.

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี. ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร. ราชบุรี : สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2553.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี