วัดนิคมประทีป


โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2022

ชื่ออื่น : วัดโคกหล่อ

ที่ตั้ง : เลขที่ 18 ม.6 บ้านโคกหล่อ

ตำบล : โคกหล่อ

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ตรัง

พิกัด DD : 7.542855 N, 99.627201 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ตรัง, ทะเลอันดามัน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองนางน้อย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวจังหวัดตรัง บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ใช้ ถ.วิเศษกุล มุ่งหน้าทิศใต้หรือมุ่งหน้าสนามบินตรัง ประมาณ 1,4 กิโลเมตร พบสี่แยกสาริกา ให้เลี้ยวซ้ายใจ้ทางหลวงวหมายเลข 4045 ประมาณ 1,8 กิโลเมตร จะพบวันนิคมประทีปหรือวัดโคกหล่อทางขวามือ 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดนิคมประทีป เป็นวัดสำคัญของตำบลโคกหล่อ สามารถเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด และเยี่ยมชมโบราณสถานได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ 084 052 3557 หรือ https://www.facebook.com/WatNikomprateep/

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดนิคมประทีป, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 17ง หน้า 3 วันที่ 17 มีนาคม 2542 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 2 งาน 50 ตารางวา

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดนิคมประทีปเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันอุโบสถที่เป็นโบราณสถานได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบ ที่ตั้งวัดเป็นโคกเนิน มีชุมชนล้อมรอบค่อนข้างหนานแน่น เนื่องจากอยู่ในเขตเมือง ด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือติดกับถนทางหลวง 4045 ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้มีคลองนางน้อยไหลผ่าน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

16 เมตร

ทางน้ำ

คลองนางน้อย, แม่น้ำตรัง, ทะเลอันดามัน

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนเศษหินเชิงเขาและหินที่ผุพังอยู่กับที่ (กรมทรัพยากรธรณี 2550)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 5

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2423

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดนิคมประทีป เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2423 เดิมชื่อ “วัดโคกหล่อ” เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่โคกที่มีป่าไม้หล่อเป็นจำนวนมาก วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2457 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 22 เมตร ยาว 26 เมตร ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ.2460 ต่อมาใน พ.ศ.2484 ได้เปลี่ยนชื่อจากวัดโคกหล่อ เป็น “วัดนิคมประทีป” (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย และคณะ 2561; สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565)

ภายในวัดมีสิ่งสำคัญ ประกอบด้วย พระอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.2492 รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 9.5 เมตร ยาว 17.5 เมตร โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาทรงไทยพื้นถิ่นภาคใต้ลดหลั่น 3 ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์หางแหลม หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นแบบโบราณ ผนังอาคารเป็นผนังหล่อตามรูปแบบท้องถิ่น ประตูหน้าต่างเป็นบานไม้ พระประธานในอุโบสถ ขนาดหน้าตักกว้าง 1 เมตร ปางมารวิชัย สร้างเมื่อ พ.ศ.2490 ทำจากทองเหลือง และพระอัครสาวก พระพุทธรูปไม้ประทับยืน สร้างเมื่อ พ.ศ.2481 จำนวน 3 องค์ และพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ สร้างเมื่อ พ.ศ.2464 (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย และคณะ 2561; กรมศิลปากร 2565)

ภายนอกอุโบสถมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีเสมาล้อมรอบ 8 ทิศ ซุ้มเสมาคล้ายทรงเกี้ยวที่มีนาคประดับ ส่วนฐานซุ้มเป็นฐานสิงห์

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ: หจก. ไอเดีย สแควร์,2550.

กรมศิลปากร. "วัดนิคมประทีป" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, ศิริพร สังข์ศิริ,  และธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. 247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2561.

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี