วัดคีรีวิหาร


โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2022

ชื่ออื่น : วัดวิหาร, วัดหาน, วัดถ้ำคีรีวิหาร

ที่ตั้ง : เลขที่ 2 ม.7 บ้านคีรีวิหาร

ตำบล : เขากอบ

อำเภอ : ห้วยยอด

จังหวัด : ตรัง

พิกัด DD : 7.799559 N, 99.549432 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ตรัง

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองยางยวน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากที่ว่าการอำเภอห้วยยอด ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าจังหวัดกระบี่ (มุ่งหน้าทางทิศตะวันตก) ประมาณ 8.8 กิโลเมตร จะพบถนนเข้าสู่วัดคีรีวิหารทางขวามือ (ตามป้ายวัดคีรีวิหาร หรือตามป้ายบ้านชา) (ต้องกลับรถมาเข้าถนนเส้นนี้) เลี้ยวเข้าใช้ถนนเส้นนี้ประมาณ 1.4 กิโลเมตร จะพบวัดคีรีวิหารทางซ้ายมือ 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สามารถเข้าเยี่ยมชมโบราณวัตถุโบราณสถาน และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดคีรีวิหาร, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3685 วันที่ 8 มีนาคม 2478

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา

สภาพทั่วไป

วัดคีรีวิหารเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ทางทิศใต้ของวัดติดคลองยางยวน ลำน้ำสาขาของแม่น้ำตรังที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร

เพิงผาที่ภูเขาหินปูนขนาดเล็กที่อยู่ในเขตพื้นที่วัด ที่พบหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่ต้นยุคประวัติศาสตร์ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของวัดนั้น ปัจจุบันได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีจากทางวัด

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

26 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำตรัง, คลองยางยวน

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนหินเชิงเขาและตะกอนผุพังอยู่กับที่ (กรมทรัพยากรธรณี 2565) และเขาหินปูนขนาดเล็ก ในกลุ่มหินราชบุรี ยุคเพอร์เมืยน อายุประมาณ 245-286 ปีมาแล้ว

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา, สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์, สมัยศรีวิชัย

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 13-15, พุทธศตวรรษที่ 22-24, พุทธศตวรรษที่ 25

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดคีรีวิหาร เป็นวัดราษฎร์ ฝ่ายมหานิกาย มีชื่อเดิมว่า “วัดหาน” เป็นวัดเก่าแก่และวัดสำคัญวัดหนึ่งของอำเภอห้วยยอด สร้างเมื่อ พ.ศ.2374 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2445 และ 4 มกราคม 2483 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565; ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2565: 122)

ชื่อ วัดหาน อาจมีที่มาจากมีห่านปั้นไว้ 2 ตัว เป็นกระเบื้อง ตั้งอยู่บนภูเขา และคงจะเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า ห่าน ซึ่งภายหลังห่านดังกล่าวได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว มีผู้รู้บางท่านเล่าว่า วัดคีรีวิหารนี้ สร้างขึ้นพร้อมกับระยะเวลาสร้างพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะมีโบราณวัตถุในวัดนี้หลายชิ้น (กรมศิลปากร 2565)

จากจดหมายเหตุระยะทางไปตรวจราชการของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้บันทึกไว้ราว ร.ศ.121 ประมาณ พ.ศ. 2445 กล่าวถึงวัดคีรีวิหารว่า เป็นวัดโบราณเก่าแก่มาก แต่ขาดการบูรณะมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันได้มีการพัฒนามากขึ้นแล้ว อีกทั้งทรงพบพระพิมพ์ดินดิบรูปพระโพธิสัตว์ปางต่าง ๆ จารึกด้วยคาถาพระอัสสชิว่า เยธมฺมา ด้วยอักขระเทวานาครี ตามพุทธนิกายวัชรยาน ชาวบ้านเรียกพระพิมพ์ที่พบนี้ว่า "พระผีทำ" 

พระพิมพ์ดินดิบที่พบนั้น มีอยู่จำนวนมาก แต่แบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ พระพิมพ์ดินดิบรูปวงรีคล้ายลูกไข่พระพิมพ์ดินดิบมีรูปพระนารายณ์สี่กรอยู่กลางมีเทวดาล้อมแปดองค์ พระพิมพ์ดินดิบรูปกลีบบัวมีรูปพระนารายณ์สี่กรองค์เดียว และพระพิมพ์ดินดิบรูปแผ่นอิฐมีรูปพระนารายณ์สองกรอยู่กลาง มีสาวกหรือเทวดาสองข้าง

ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้ตรวจสอบคาดคะเนว่ามีอายุเก่าแก่ถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 ปัจจุบันพระพิมพ์ดินดิบเหล่านี้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีโดยเจ้าอาวาสของวัด (กรมศิลปากร 2565) (กรมศิลปากร 2565)

ปูชนียวัตถุสำคัญอื่น เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัย จำนวน 7 องค์ และพระพุทธรูปพุทธไสยาสน์ 1องค์ บริเวณใต้เพิงผาภูเขาวัดคีรีวิหารซึ่งเป็นลานเรียบเสมอลานวัด มีพระพุทธรูปอีก2องค์ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิ อีกองค์เป็นพระพุทธรูปปางนิพพาน พระหัตถ์เบื้องขวาวางพาดเขนยเสมอพระพักตร์ ประทับตรากงจักร (กรมศิลปากร 2565) 

ทางด้านการศึกษาได้เปิดสอนปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ.2506 นอกจากนี้ยังจัดให้มีที่อ่านหนังสือพิมพ์ประชาชน ศูนย์สภาตำบล และยังได้ให้ทางราชการใช้สถานที่วัดสร้างโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นอีกด้วย

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ: หจก. ไอเดีย สแควร์, 2550.

กรมศิลปากร. "วัดวิหาร (วัดคีรีวิหาร)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 20 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, ศิริพร สังข์ศิริ,  และธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. 247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2561.

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี