ศาลเจ้าพ่อเสือ


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ชื่ออื่น : ตั่วเหล่าเอี้ย

ที่ตั้ง : เลขที่ 468 ตั้งอยู่ริมถนนตะนาว

ตำบล : ศาลเจ้าพ่อเสือ

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.753853 N, 100.498389 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองคูเมืองเดิม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ตั้งอยู่ริมถนนตะนาว จุดที่ถนนมหรรณพมาบรรจบกับถนนตะนาว แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ศาลเจ้าพ่อเสือ ตั้งอยู่ใกล้กับแพร่งสรรพศาสตร์ และเสาชิงช้า  อยู่ริมถนนตะนาว จุดที่ถนนมหรรณพมาบรรจบกับถนนตะนาว

เปิดให้เข้าสักการะและเยี่ยมชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา เวลา 06.00-17.00 น. ควรแต่งกายสุภาพ ส่วนการเดินทาง

รถประจำทางสาย 10, 12, 19, 35, 42 และ ปอ.12

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

ศาลเจ้าพ่อ

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ศาลเจ้าพ่อเสือ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 188 ฉบับพิเศษ หน้า 17 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2531

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ศาลเจ้าพ่อเสือ ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองคูเมืองเดิม

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดตรวจ

ผลการศึกษา :

ขุดตรวจศาลเจ้าพ่อเสือ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาถึงโครงสร้างฐานรากของอาคารในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ การดำเนินการ 1.การวางผังเพื่อการขุดตรวจตามแนวอาคาร จำนวน 11 หลุม 2.การขุดตรวจ ขุดลอกตามระดับสมมุติและขุดลอกตามชั้นดิน ขุดตามระดัยชั้นดินสมมุติผสมกับการขุดลอกตามชั้นหลักฐาน 3.บันทึกหลักฐาน และถ่ายภาพ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

สำรวจและจัดทำผังขึ้นทะเบียน ศาลเจ้าพ่อเสือ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ศึกษาและตรวจสอบข้อมูล เพื่อการอนุรักษ์และปรับปรุงบูรณะโบราณสถาน ศิลปกรรมและวัฒนธรรม บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงศาลเจ้าพ่อเสือ

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เดิมศาลเจ้าพ่อเสือตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง ซึ่งเป็นย่านที่มีคนจีนอยู่อาศัยกันมาก สันนิษฐานว่า อาจจะสร้างมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และอาจจะสร้างมาพร้อมกับศาลหลักเมือง โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า หรือศาลเจ้าพ่อบ้านหม้อ (แน่งน้อย ศักดิ์ศรี 2534: 59)

ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่า ศาลเจ้าพ่อเสือหลังเดิมสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2 ปรากฏหลักฐานว่า ภายในศาลประดิษฐานรูปเทพเจ้าจีนทำด้วยทองคำหนัก 120 บาท เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2360 ตอนตีห้า ได้มีผู้ร้านปล้นรูปเทพเจ้าทองคำไป ทำให้ขุนสวัสดินครินทร์ นายอำเภอในสมัยนั้นถูกเฆี่ยน 30 ที โทษฐานที่ไม่สามารถดูแลพื้นที่ให้เรียบร้อย (กองโบราณคดี มปป.: 84-85; สมบัติ พลายน้อย 2545: 260) แต่ในเรื่องที่เล่าเกี่ยวกับเจ้าพ่อเสือกล่าวว่า ศาลเจ้าพ่อเสือสร้างในรัชกาลที่ 3 หลังจากการสร้างวัดมหรรณพาราม (ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.ว.ช.ลิขิตการสร้าง 2546: 13)

ภายในศาลพบระฆัง 1 ใบ มีจารึกบนระฆังว่า ปีเต้ากวง วันที่ 23 เดือน 6 ปีกะโง่ว (ปี พ.ศ. 2377) สร้างขึ้น โดยคณะศิษย์ผู้มีจิตศัทธา ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากนี้ยังมีคำโคลงคู่จารึกบนแผ่นไม้เขียนขึ้นในปีเต้ากวงที่ 18 ตรงกับ พ.ศ. 2381 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 และมีอักษรจารึกบนแผ่นหิน เขียนในสมัยราชวงศ์ชิง พ.ศ. 2410 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 (ต้วน ลี่ เซิง และบุญยิ่ง ไร่สุขศิริ 2543: 139-140)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2542: 238) ทรงบันทึกไว้ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะขยายถนนบำรุงเมือง (ถนนเสาชิงช้าเดิม) ที่เป็นทางขนาดเล็ก ให้เป็นถนนที่รถสามารถวิ่งได้ และโปรดฯ ที่จะสร้างตึกแถวริมถนนด้วย แต่ริมถนนบำรุงเมืองมีศาลเจ้าจีน เป็นตึกขนาดใหญ่ เรียกว่า “ศาลเจ้าเสือ” กีดทางที่จะขยายถนน พระองค์จึงพระราชทานที่หลวงแห่งหนึ่งริมถนนเฟื่องนครให้ย้ายศาลเจ้าเสือมาตั้ง ทรงโปรดฯ ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน) รื้อศาลเจ้าหลังเดิมไปสร้างใหม่ในที่ที่พระราชทานให้ใหม่ริมถนนตะนาว ใกล้กับวัดมหรรณพาราม ในสถานที่ตั้งปัจจุบัน (กรมศิลปากร 2525: 458)  เมื่อจะทำการย้ายศาลนั้น ชาวจีนไม่พอใจที่จะย้ายศาล จึงคิดอุบายให้ว่าเจ้าเข้าคนทรง และให้ทำนายว่าถ้าย้ายศาลจะทำให้เกิดภัยอันตรายต่างๆ ทำให้คนจีนเกิดความหวาดกลัว จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแห่เจ้า ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต และทรงเสด็จออกทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ (พระบรมมหาราชวัง) หลังจากนั้นเจ้าได้เข้าคนทรงอีก และประกาศว่าพอใจมากที่จะย้ายศาลไปสร้าง ณ สถานที่ใหม่ (กรมศิลปากร 2525: 458) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2415 ได้มีการแห่จ้าวมายังวัดมหรรณพ์ ตั้งศาลเจ้าพ่อเสือแห่งใหม่

การแห่เจ้าในครั้งนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2542: 238-239) ทรงบันทึกไว้ว่า

“......ฉันได้ตามเสด็จไปดูแห่ยังจำได้ กระบวนการที่แห่นั้นก็เป็นแห่อย่างเจ็ก มีธงทิว
และล่อโก๊เป็นต้น แปลกแต่มีคนทรงเจ้าแต่งตัวใส่เสื้อกั๊กนุ่งกางเกงและโพกหัวสีแดง
นั่งเก้าอี้หามมาในกระบวนสักสองสามคน บางคนเอาเข็มเหล็กแทงแก้มทะลุหน้ามา
ให้คนเห็น บางคนบันกาลให้คนหามเก้าอี้เดินโซเซไม่ตรงถนนได้ เมื่อมาถึงพระที่นั่งตรัส
สั่งให้ตำรวจเข้ามาหามเจ้าโซเซ หามไปได้ตรงๆ คนดูก็สิ้นเสื่อมใส เมื่อเสร็จการแห่แล้ว
โปรดฯ ให้กรมเมืองประกาศว่า ถ้าเจ้ายังขืนพยากรณ์เหตุร้ายจะเอาผิดกับคนทรง ในไม่
ช้าเจ้าเสือเข้าคนทรงอีก แต่คราวนี้ประกาศว่าที่จะโปรดฯ ให้ย้ายศาลไปสร้างใหม่นั้น
เป็นการดีนัก เจ้าพอใจมาก........”

หลังจากย้ายศาลเจ้าพ่อเสือมาที่แห่งใหม่แล้ว ไม่ปรากฏเหตุการณ์สำคัญอีก นอกจากเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในบริเวณย่านแพร่งสรรพศาสตร์ และแพร่งนรา 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2501 และ 2510 ทำให้สภาพบ้านเรือนในบริเวณนั้นถูกไฟไหม้จนเกือบหมด ส่วนศาลเจ้าพ่อเสือนั้นรอดจากไฟไหม้มาได้ เนื่องจากมีกำแพงหินเตี้ยๆ ล้อมรอบสามด้าน และตัวศาลเป็นหินเตี้ย (กาญจนาคพันธุ์ 2545: 35-37)

ลักษณะของศาลเจ้าพ่อเสือในสมัยนั้น ขุนวิจิตรมาตราบรรยายไว้ว่า (กาญจนาคพันธุ์ 2545: 64-65)

“......ศาลเจ้าพ่อเสือค่อนข้างกว้าวขวาง มีกำแพงเตี้ยๆ ล้อมรอบสามด้าน ตัวศาล
ก็เตี้ยดูเป็นหินไปทั้งนั้น เวลาเข้าไปในศาลรู้สึกเย็นเยือก มีบ่อหินตื้นๆ เลี้ยงเต่าตัว
ใหญ่บ้างเล็กบ้างราวสัก 30 ตัว เห็นคนเอาผักบุ้งไปให้กินเสมอ พวกจีนนับถือมาก มีงาน
บ่อยแทบตลอดปี ที่ลานหน้าศาลงิ้วเล่นสามวันสามคืนบ่อย บางที่ก็มีหุ่นจีนที่เรียกว่า “หุ่น
ไหหลำ” เล่นบ่อยเหมือนกัน เวลามีงานตั้งโต๊ะลานหน้าศาลเต็มไปหมดวางของ (ดูเหมือน
เป็นเครื่องเซ่น) มีผลไม้ทั้งผลใหญ่ผลเล็ก เช่น ส้มโอ ส้มจีน ฯลฯ กับพวกขนมโก๋
ขนมจันอับ สิงโตน้ำตาล (สีขาวโพลน) ตัวใหญ่สูงตั้งศอก และตัวเล็ก ย่อมลงมาหลายขนาด
เต็มไปหมด คนไทยเข้าไปเสี่ยงใบเซียมซีก็มี ข้าพเจ้าเข้าใจว่าทั้งกำแพงและตัวศาลเตี้ย
และทำด้วยหิน จึงไม่ถูกไฟไหม้ใหญ่ทั้งสองคราว....”

ศาลเจ้าพ่อเสือเป็นที่เคารพบูชาของคนจีนชาวจีนเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้จากการมีประชาชนไปกราบไหว้ตลอดเวลาทุกวัน สภาพปัจจุบันของศาลเจ้าพ่อเสือมีการซ่อมแซมบูรณะมาโดยตลอดจึงยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2544 เวลาประมาณ 20.00 น. ได้เกิดไฟไหม้ศาล ต้นเพลิงเกิดจากในห้องครัวด้านหลังศาล สาเหตุสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากสายไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้ตัวศาลเกิดความเสียหายเกือบทั้งหมด จำเป็นต้องมีการบูรณะตัวศาลขึ้นมาใหม่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบในการดูและเรื่องงบประมาณ ส่วนรูปแบบรายการบูรณะ กรมศิลปากรเป็นผู้ควบคุม การบูรณะได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2546

สถาปัตยกรรม

สภาพของศาลเจ้าพ่อเสือก่อนที่จะเกิดไฟไหม้ ก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมจีน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว 2 หลังติดกัน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลอนแบบจีน หน้าบันประดับลายปูนปั้นรูปมังกร นก และดอกไม้ บนหลังคาปีกของอาคารติดตั้งประติมากรรมเขียนสีรูปตัวละคร ในอุปรากรจีนลวดลายท้งหมดประดับกระเบื้องเคลือบอย่างประณีตงดงาม

อาคารที่สำคัญคือ อาคารด้านหน้า มีซุ้มประตูทางเข้าขนาดใหญ่เป็นแบบประตูอนุสาวรีย์ บนหลังคาซุ้มประดับด้วยรูปประติมากรรมปูนปั้นลอยตัวประดับกระเบื้องเคลือบสีรูปสัตว์ ดอกไม้ช่อเชิงชายอย่างสวยงาม หน้าซุ้มประตูมีเสือหินคู่หนึ่ง ถัดเข้าไปเป็นลานเล็กๆ มุงหลังคากระเบื้อง รงกลางลานตั้งกระถามสำหรับจุดธูปเทียน

บานประตูไม้เขียนสีเป็นรูปทวารบาล เหนือบานประตูด้านในเป็นแผ่นหินสีดำ จำหลักอักษรจีนสีทองว่า “ศาลเจ้าเสียนเทียนซั่งตี้”ผนังสองข้างประตูเจาะซุ้มสี่เหลี่ยมประดับรูปประติมากรรมเขียนสีผูกเป็นเรื่องราวในอุปรากรจีน ห้องโถงปูพื้นด้วยหินอ่อน ด้านข้างผนังทั้ง 2 ข้าง ทำบ่อน้ำประดับด้วยปูนปั้นตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นรูปเสือ และรูปตุ๊กตาจีนเป้นเรื่องราวในอุปรากรจีน

เครื่องไม้หลังคาแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องมงคลจีน เช่น มังกร สิงโต ลงรักปิดทอง ตามหูช้าง ซุ้มระหว่างเสาตกแต่งไม้ฉลุลายลงรักเช่นกัน เสาไม้ทรงเหลี่ยมทาสีแดงยกเว้นตอนในสุด เสาคู่กลางเป็นเสากลมป่องออกตรงกลางแกะสลักลายมังกรพันรอบเสาตลอดเสา

ห้องบูชาตั้งอยู่ตอนใน ยกพื้นขึ้นจัดเป็นห้องใหญ่ตรงกลางห้องเดียว ตั้งตู้ประดิษฐานรูปบูชา 7 ตู้ รูปบูชาทั้งหมดปิดทอง ตู้ใบกลางประดิษฐานรูปเจ้าพ่อเสือซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่ได้ถือศีลบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นภาคผู้วิเศษ (เซียน) แล้ว ส่วนรูปบูชาภายในตู้อีก 6 ใบ เรียงจากซ้าย (ซ้ายมือของเจ้าพ่อเสือ) คือ

ตู้ที่ 1 รูปเจ้าพ่อกวนอู เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์

ตู้ที่ 2 เป็นภาพหมู่เจ้าหลายองค์รวมกันถือว่าเป็นหมู่เทพที่คอยช่วยเหลือคน

ตู้ที่ 3 รูปหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงและวัดกัลยาณมิตร ซึ่งชาวจีนเรียกว่า ซำเปากง

ตู้ที่ 4 เป็นรูปศาลเจ้าพ่อเสือ

ตู้ที่ 5 รูปเทพที่อำนวยคุณทางด้านรักษาโรค

ตู้ที่ 6 รูปเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวเรือ

ตู้ที่ 7 เป็นรูปเสือบริวารของเจ้าพ่อเสือ

หน้าตู้ทั้ง 7 ตั้งแท่นบูชา ตอนบนก่อเป็นซุ้ม 3 ช่อง สูงติดเพดาน ซุ้มไม้ฉลุลายปิดทองรูปมังกร ดั้นเมฆ ถัดจากซุ้มออกมาตั้งโต๊ะยาววางกระถางธูปเชิงเทียน 2 โต๊ะ ด้านหน้าแกะสลักรูปมังกรปิดทองล่องชาด มีโต๊ะแบบเดียวกันนี้ตั้งที่โถงตอนกลางของห้องบูชาอีกโต๊ะหนึ่ง ตอนหน้าสุดเป็นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำศาล

ผนังด้านข้าง ตอนในเขียนรูปเทพเจ้า ตอนกลางติดประติมากรรมลอยตัว ปูนปั้นเขียนสีลายมังกรทางด้านซ้าย และรูปเสือทางด้านขวา ตอนเหนือรูปสัตว์ทั้งสองซึ่งถือว่ามีหน้าที่เฝ้าศาลนี้ ติดตั้งตู้ซึ่งภายในจัดเป็นฉากและตัวละครแสดงเรื่องในอุปรากรจีน แบบเดียวกับผนังสองข้างประตูด้านหน้าศาลผนังตอนหน้าของห้องประดับประติมากรรมลอยตัวปูนปั้นเขียนสี และบานประตูศาลเขียนรูปเซี่ยวกางซุ้มประตูกำแพงด้านริมถนนตะนาว หลังคาประดับรูปประติมากรรมเขียนสีประดับกระเบื้องเช่นเดียวกับหลังศาล

ส่วนหลักฐานทางโบราณคดีจากการขุดค้น หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2544 ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยและศาลเจ้าพ่อเสือจึงได้สนับสนุนให้มีการขุดค้นทางโบราณคดีและบูรณะอาคารศาลเจ้าพ่อเสือให้ใช้งานได้ดังเดิม

หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ

ศาลเจ้าพ่อเสือสร้างขึ้นครั้งแรกที่ถนนบำรุงเมืองในสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อมาได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ถนนตะนาวในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นศาลเจ้าที่ได้รับการนับถือจากชุมชนและชาวจีนเป็นอย่างมาก

สภาพของศาลเจ้าพ่อเสือขณะขุดค้นเมื่อเดือนเมษายน 2546 เป็นอาคาร 4 ห้อง ประกอบไปด้วยห้องโถงตอนหน้า ห้องโถงตอนใน ห้องด้านซ้ายและขวา จากการขุดค้นพบฐานรากอาคารดังนี้

โถงตอนหน้าและโถงตอนหลังอาคารใช้โครงสร้างกำแพงรับน้ำหนัก ใต้พื้นใช้งานปัจจุบันอิฐที่ต่อเนื่องกับกำแพงจะก่อยื่นออกจากผนัง 50 เซนติเมตร เฉพาะด้านในอาคาร ลึกลงไป 8 ชั้นอิฐ ภายใต้อิฐชั้นล่างสุดจะมีขอนไม้รับในแนวนอนทั่วทั้งผืน ส่วนภายนอกอาคารไม่มีก่ออิฐยื่นมาแต่อย่างใด ทั้งด้านในและด้านนอกอาคาร จะมีไม้เข็มปลายแหลมปักกันดินเคลื่อนตัวเป็นระยะทุกๆ 30 เซนติเมตร ตอกลึก 130 - 200 เซนติเมตร

เสาภายในอาคารจะใช้เสาไม้กลมสลักเป็นลวดลาย และเสาปูนสี่เหลี่ยม เสาที่ห้องโถงตอนในมีเสาทั้งสองรูปแบบ และเสาทั้งหมดจะตั้งอยู่บนปูนที่รองพื้นไว้หนา 30 เซนติเมตร และตั้งอยู่บนแท่นอิฐก่อด้วยอิฐสอปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 80x180 เซนติเมตร หนา 8 ชั้น (70 เซนติเมตร) แท่นอิฐนี้ตั้งอยู่บนพื้นดินอัดที่ปูรองด้วยอิฐ 1 ชั้น ทั่วทั้งพื้นที่

เสาที่ห้องโถงตอนหน้าวางอยู่บนแนวอิฐหรือคานรับน้ำหนักที่ก่อยาวในลักษณะแบบตาราง หรือที่เรียกว่าคลองราก ใต้แนวอิฐมีไม้รองรับ มีทั้งไม้ปีกและไม้หมอน ใต้ไม้ถมอัดด้วยเศษอิฐหักกากปูน


ประวัติเจ้าพ่อเสือ (ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.ว.ช.ลิขิตการสร้าง 2546: 19-21)

เมื่อประมาณ 150 ปีมาแล้ว ในราวต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3 ก่อน ที่จะสร้างวัดมหรรณพาราม บริเวณด้านหลังวัดยังเป็นป่า ยังมีสัตว์ป่าอยู่มาก ในบริเวณนั้นมีหมู่บ้านเล็กๆ อยู่แห่งหนึ่ง มีแม่ลูกฐานะยากจนคู่หนึ่ง คือยายผ่องกับนายสอนลูกชาย นายสอนเป็นคนที่มีความกตัญญูเป็นอย่างมาก มักจะเข้าป่า เพื่อหาหน่อไม้ เก็บผักหักฟืน ในระหว่างที่อยู่ในป่า นายสอนได้เจอซากกวางที่ถูกเสือกัดตายใหม่ๆ ตัวหนี่ง จึงได้แอบตัดเนื้อกวางไปส่วนหนึ่ง เพื่อจะนำไปให้ยายผ่อง แต่ระหว่างทางกลับบ้านได้พบเสือขนาดใหญ่ เมื่อจวนตัว นอยสอนได้ชักมีดออกมาต่อสู้กับเสือ ได้แทงมืดใส่เสือหลายแผล แต่ก็เสียที่ถูกเสือกัดแขนขาด นายสอนหนีลงน้ำรอจนเสือหนีไปแล้วจึงได้หนีกลับมาที่บ้านและสลบไป เมื่อฟื้นนายสอนได้เอาเนื้อกวางให้ยายผ่องแล้วเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง แต่อาการนายสอนหนักมาก ต่อมาก็ถึงแก่ความตาย

นายผ่องเสียใจมาก ได้ไปร้องเรียนนายอำเภอแสง ขอร้องให้นายอำเภอจับเสือมาลงโทษให้ได้ นายอำเภอสงสาร จึงรับปากว่าจะจับเสือมาลงโทษให้ได้ นายอำเภอแสงและปลัดโตได้รวบรวมคนออกไปล่าเสือ ขบวนการล่าเสือได้เข้าป่าหาเสืออยู่ 3 วัน ก็ยังไม่เจอ วันที่ 4 จึงได้ยกขบวนกลับ

ขากลับปลัดโตได้แวะไปนมัสการหลวงพ่อบุญฤทธิ์ในพระอุโบสถ และนมัสการหลวงพ่อพระร่วงในพระวิหาร วัดมหรรณพาราม อ้อนวอนหลวงพ่อทั้งสององค์ ขอให้ทรงช่วยดลบันดาลให้จับเสือร้ายให้ได้ การจับก็ขอรับรองว่าจะไม่ฆ่าเสือเป็นอันขาด ถึงแม้เสือจะทำร้ายก็ตาม ขอให้หลวงพ่อพระร่วงทรงช่วยกล่อมใจเสือร้าย ให้กลายเป็นเสือเลี้ยงให้ได้ ถ้าจับเสือไม่ได้จะลาออกจากตำแหน่งราชการทันที เมื่อกล่าวเสร็จได้ออกจากวิหารเพื่อจะไปรายงานนายอำเภอ ระหว่างทางได้เดินอ้อมไปทางหลังวัดแล้วแวะพักที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งแล้วหลับไป เมื่อตื่นขึ้นมาได้เห็นเสือหมอบอยู่ตรงหน้า จะหยิบอาวุธขึ้นมาสู้ก็ไม่ทัน คิดว่าสู้เสือไม่ได้จึงได้นั่งนึกภาวนาถึงหลวงพ่อพระร่วงขอให้ช่วยชีวิตและขอให้ช่วยเปลี่ยนใจเสือให้กลับเป็นใจคน ให้รู้สึกผิดชอบชั่วดี ให้จับเสือได้ง่ายๆ เมื่ออธิฐานเสร็จแล้วเห็นว่าอาการของเสือไม่มีร่องรอยแห่งความดุร้ายเหลืออยู่เลย มันยอมให้จับโดยดี ปลัดโตได้ถามเสือว่าเจ้าเสือร้ายเจ้าฆ่านายสอนใช่หรือไม่? เสือก็ก้มหัวให้ดูแผลที่ถูกนายสอนแทงที่หน้าผาก แผลยังไม่หายมีรอยเลือดเกรอะกรังติดอยู่ที่หน้า ที่ต้นคอ ปลัดโตก็แน่ใจว่าเป็นตัวจริง จึงได้เอาเชือกผูกคอเสือแล้วจูงเสือไปที่ว่าการอำเภอ

เมื่อถึงอำเภอก็ผูกเสือไว้กับเสา แล้วเข้าไปบอกนายอำเภอแสง นายอำเภอสั่งให้ไปตามยายผ่องทันที นายอำเภอได้เริ่มพิจารณาคดี ถามเสือว่าเจ้าฆ่านายสอนตาย แล้วเอาแขนไปกินข้างหนึ่งจริงหรือไม่ เสือก็พยักหน้ารับว่าจริง เจ้ารู้ไหมว่าอาญาแผ่นดินตราเป็นกฏหมายไว้สำหรับลงโทษผู้กระทำผิด เสือก็ก้มหัวรับรู้ นายอำเภอบอกว่า เจ้าจงฟังคำตัดสินเดี๋ยวนี้ เมื่อตัดสินต้องยอมรับโทษทันที เสือก้มหัวยอมรับ นายอำเภอก็แจ้งโทษให้ฟัง แล้วตัดสินประหารชีวิตทันที เสือก็ก้มห้วยอมรับ โทษตามคำตัดสิน ลงนอนหมอบราบกับพื้นหลับตาเฉย แต่มีน้ำตาไหลซึม นายอำเภอ ปลัดโต และใครๆ ที่ยืนมุงดูอยู่แน่นอำเภอ เมื่อเห็นอาการของเสือเช่นนั้น ต่างก็สงสารบางคนน้ำตาไหล ไม่มีใครสักคนที่จะโกรธแค้นเสือ มีแต่สงสารไม่อยากให้นายอำเภอฆ่า เพราะมันแสดงอาการแสนที่จะสงสาร

ฝ่ายยายผ่องเมื่อฟังคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิตเสือ ได้เห็นอาการของมันทุกอย่าง และเห็นมันหมอบลงรับคำตัดสิน พร้อมกับเห็นน้ำตาไหลซึม อาการที่เคยโกรธเสือมาก่อน ก็พลันหายไปจนหมดสิ้น ยายผ่องร้องให้แล้วพูดกับนายอำเภอว่า ขอชีวิตเสือไว้อย่าได้ฆ่ามันเลยแกไม่ขอเอาเรื่องโกรธค้นกับมันอีกต่อไปแล้ว และขอให้นายอำเภอยกเสือตัวนี้ให้เป็นลูกแทนลูกที่ตายไปแล้ว

นายอำเภอแสงกับปลัดโต ซึ่งมีความสงสารมันเหมือนกับคนอื่นๆ เมื่อได้ฟังคำขอร้องของยายผ่องเช่นนั้นก็รีบตัดสินใหม่ทันที บอกกับเสือว่า จงฟังคำตัดสินใหม่ เสือก็ผงกหัวยอมรับฟัง นายอำเภอตัดสินว่า เมื่อเจ้ายอมรับผิดโดยดีแล้ว ก็ยกโทษประหารให้ แต่เจ้าต้องเป็นลูกของยายผ่อง และต้องรับเลี้ยงดูแกแทนลูกชายที่ตายไป เสือก็ลุกขึ้นยืน พร้อมกับพยักหน้าอยู่หลายครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นการชำระแล้ว นายอำเภอก็สั่งปิดศาลทันที

ตั้งแต่ยายผ่องได้เสือมาเป็นลูกแทนนายสอนแล้ว ก็มีความสุขยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า เพราะเสือได้เข้าป่าหาอาหาร กัดเอาหมูบ้าง เอาเก้งบ้าง กวางบ้าง และจับสัตว์อื่นๆ บ้าง เอามาให้ยายผ่อง แกก็แล่เนื้อกินบ้าง เอาเนื้อสดเนื้อแห้งขายชาวบ้านร้านค้าบ้าง ยายผ่องตั้งชื่อเสือว่าสอน แทนลูกชายที่ตาย ในละแวกบ้านย่ายนั้น ไม่มีขโมยเลยกลัวเสือ ชาวบ้านพลอยอยู่เย็นเป็นสุขไปด้วย

วันหนึ่งเสือเข้าป่าแล้วหายไปถึงสามวันยังไม่กลับ ทำให้ยายผ่องร้องไห้คิดถึงไม่เป็นอันกินอันนอน ความทราบไปถึงนายอำเภอกับปลัด ทั้งสองคนรีบมาเยี่ยมทันที นายอำเภอขอให้ปลัดช่วยตามเสือ ปลัดโตก็ออกเดินทางไปเพียงคนเดียว แล้วไปพบคนกลุ่มหนึ่งกำลังล่าสัตว์อยู่ในป่า ปลัดโตเห็นคนกลุ่มนั้นก็จำได้ว่าเป็นพวกเดียวกันทั้งนั้น ต่างก็สนทนากันอยู่สักพักหนึ่ง ชายกลุ่มนั้นถามปลัดโตว่ามาทำไมในป่าคนเดียว ปลัดตอบว่ามาตามเสือ ชายกลุ่มนั้นบอกว่าพวกเขากำลังไล่ล้อมยิงเสืออยู่เหมือนกัน ปลัดถามว่าเสือมีลักษณะอย่างไร เมื่อได้รับคำตอบแล้ว ปลัดบอกว่าเป็นเสือตัวเดียวกันกับที่ตนกำลังตามหาและขอร้องมิให้ยิง ชายกลุ่มนั้นบอกว่าตามล่ามันมาสามวันแล้ว เพราะเสือตัวนี้ดุร้ายมาก เป็นอันว่าชายกลุ่มนั้นรับคำว่าไม่ล่าเสือตัวนี้อีก อีกสักครู่หนึ่งเขาหล่านั้นเห็นเสือวิ่งลัดพุ่มไม้อยู่ข้างหน้า ปลัดก็ออกตามตะโกนเรียกชื่อมันอย่างดัง บอกกับเสือว่าให้รีบกลับบ้านโดยเร็ว เพราะยายผ่องเสียใจมากกำลังรอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องกลัวใครยิงอีกแล้ว สักครู่ใหญ่เสือก็มาถึงตรงไปหายายเห็นแกเป็นลม มันก็หมอบเอาคางเกยที่เท้า ยายผ่องได้สติฟื้นขึ้นมองเห็นเสือก็ดีใจเอามือลูบหัวแล้วถามมัน ปลัดก็เล่าเรื่องที่โดยนักล่าสัตว์คอยดักยิงมัต้องหนีเตลิดเข้าป่าลึกเพื่อเอาตัวรอด มิเช่นนั้นก็ถูกยิงตายแน่นอน

เสืออยู่กับยอยผ่องเจ็ดปี ยายก็ถึงแก่กรรม เมื่อมันเห็นยายแม่ของมันเป็นลมตายเสียแล้ว มันก็ส่งเสียงร้องไม่หยุด เมื่อครบสามวันแล้วชาวบ้านจึงช่วยกันเผา จัดทำเชิงตะกอนเตี้ยๆ ขนเอาฟืนมามาก เผาศพเป็นกองไฟใหญ่

ในระหว่างไฟกำลังโหมลุกเต็มที่อยู่นั้น เสือซึ่งมีอาการหงอยเหงาเศร้าซึมมาหลายวันแล้ว น้ำตาไหลเป็นทางมันจะนึกอย่างไรไม่ทราบ ก็ออกวิ่งวนไปรอบๆ กองไฟไม่รู้ว่ากี่รอบ ส่งเสียงร้องอยู่เรื่อย วิ่งไปร้องไป และขณะร้องคร่ำครวญอยู่นั้น ได้กระโจนเข้ากองไฟที่กำลังลุกโชติช่วง ถูกไฟเผาดิ้นทุรนทุรายอยู่ครู่หนึ่งก็ตายตามแม่ไป ยอมพลีชีพบูชาแม่ด้วยชีวิต

7 วันผ่านไป การเผาศพระหว่างแม่ผู้เป็นมนุษย์กับลูกผู้เป็นสัตว์ ชาวบ้านรวมทั้งนายอำเภอแสงกลับปลัดโตปรึกษากันว่าจะสร้างศาลให้เสือ ผู้มีความจงรักภักดีต่อยายผ่อง ถือว่าเป็นสัตว์พิเศษกว่าสัตว์ทั้งหลาย เพราะร่างกายกับชีวิตเท่านั้นที่เป็นเสือ แต่ดวงจิตสูงส่ง

 การสร้างศาลประดิษฐานรูปเสือ ผู้คนสละทรัพย์สละแรงงาน ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นจำนวนมาก สร้างใกล้ๆ บริเวณหน้วัดมหรรณพาราม เอากระดูกเสือบรรจุในแท่นปั้นรูปทรงประดิษฐานบนแท่นอย่างสวยงาม อันเชิญดวงวิญญาณเสือ ขอให้เป็นเทพเจ้าสิงสถิต ณ ศาลแห่งนี้ ขอให้ปกป้องรักษาประชาราฎร์ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ทำมาหากินซื้อง่ายขายคล่อง เมื่อฉลองเสร็จแล้วติดแผ่นป้ายไว้ที่หน้าศาลจารึกชื่อ ศาลเจ้าพ่อเสือ


ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. "ศุลกสถาน" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/

กรมศิลปากร. กรุงเทพฯ 2489-2539. กรุงเทพฯ: เอ.พี กราฟฟิคดีไซน์และการพิมพ์, 2539.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 (พ.ศ.2524-2533). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2533.

กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกิสทน์. กรุงเทพฯ: สหระชาพาณิชย์, 2525.

กองโบราณคดี กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 3 ประเภท วัง ศาลเจ้า อนุสาวรีย์ อาคารร้านค้า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์, มปป.

กาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา). กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้: 100ปี ขุนวิจิตรมาตรา. กรุงเทพฯ:

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.

ต้วน ลี่ เซิง และบุญยิ่ง ไร่สุขศิริ. ความเป็นมาของวัดจีนและศาลเจ้าจีนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: บริษัท ส่องศยาม จำกัด, 2543.

แน่งน้อย ศีกดิ์ศรี และคณะ. องค์ประกอบทางกายภาพ กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534.

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ความทรงจำ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542.

สมบัติ พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก. กรุงเทพฯ: หจก.บำรุงสาสน์, 2545.

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.ว.ช.ลิขิตการสร้าง. รายงานการขุดตรวจศาลเจ้าพ่อเสือ ถนนตะนาว กรุงเทพมหานคร. เอกสารอัดสำเนา, 2546.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี