ป้อมพระสุเมรุ


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ชื่ออื่น : สวนสันติชัยปราการ

ที่ตั้ง : ถ.พระสุเมรุ

ตำบล : ชนะสงคราม

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.763999 N, 100.495744 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

อยู่ริมถนนพระอาทิตย์ ใกล้กับป้อมพระสุเมรุ 

รถประจำทาง : 3 , 6 , 9 , 15 , 19 , 30 , 32 , 33 , 39 , 53 , 64 , 65 , 68 , 82

รถปรับอากาศ : 3 , 32 , 68 , 506

ท่าเรือ : เรือด่วนเจ้าพระยา ลงท่าพระอาทิตย์

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันป้อมพระสุเมรุและพื้นที่โดยรอบป้อม เป็นสวนสาธารณะ สวนสันติชัยปราการ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของเกาะรัตนโกสินทร์  

อัตราค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม                          

เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน เวลา 8.00 – 21.00 น.


หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, กรุงเทพมหานคร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

- ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง การกำหนดบัญชีโบราณวัตถุสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492

- ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ29ง วันที่ 26 มีนาคม 2544

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ป้อมพระสุเมรุตั้งอยู่ริมถนนพระทิตย์ และริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก (ฝั่งพระนคร) ปัจจุบันป้อมพระสุเมรุได่รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี พื้นที่โดยรอบป้อม เป็นสวนสาธารณะ สวนสันติชัยปราการ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน  

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น, สมัยรัชกาลที่ 1

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2326

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ศึกษาและตรวจสอบข้อมูล เพื่อการอนุรักษ์และปรับปรุงบูรณะโบราณสถาน ศิลปกรรมและวัฒนธรรม บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ โดยกองโบราณคดีดำเนินการสำรวจโบราณสถานและอาคารเก่าในเขตรัตนโกสินทร์ รวมถึงป้อมพระสุเมรุ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2524

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

ผลการศึกษา :

จัดทำแบบป้อมพระสุเมรุ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

ผลการศึกษา :

จัดทำแบบบูรณะโบราณสถานป้อมพระสุเมรุ

ชื่อผู้ศึกษา : ศวรา นนทรีย์, พล ศรีดุรงคธรรม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผลการศึกษา :

วัตถุประสงค์ 1. ศึกษาตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของกำแพงพระนคร ป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และจากข้อมูลทางวิศวกรรม 2. ศึกษาระบบโครงสร้างและระบบฐานรากของกำแพงพระนคร และป้อมปราการโดยศึกษาดูว่าลักษณะโครงสร้างและลักษณะฐานรากเป็นเช่นไร มีหลักการ แนวคิด และวิธี การก่อสร้างอย่างไร 3. นำเสนอผลการศึกษาในรูปของสื่อที่ทันสมัยและภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกเพื่อ สะดวกในการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไป ขั้นตอนและวิธีการศึกษา ประกอบด้วย 1. การศึกษาตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของกำแพงพระนครและป้อมปราการจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์และจากการสํารวจทางวิศวกรรม มีขั้นตอนดังนี้ 1.1 รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแนวกำแพงเติมและป้อมปราการจากกรมศิลปากร และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อให้ทราบแนวกำแพงในปัจจุบัน 1.2 ทำการสํารวจตำแหน่งของแนวกำแพงและป้อมปราการ 1.3 ศึกษาวิธีการหาพิกัดตำแหน่งโดยใช้กล้องวัดมุมและเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม ระบบ NAVSTAR GPS โดยประสานงานกับกรมที่ดินในการดําเนินงาน 1.4 วิเคราะห์หาค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ของแนวกำแพงและป้อมปราการ 1.5 วิเคราะห์ค่าพิกัดโดยประมาณของป้อมมหาปราบ ( มีการรื้อถอนไปแล้ว ) ซึ่งอยู่ระหว่างป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬ และทำการตรวจสอบความถูกต้องโดยเจาะสํารวจด้วย Hand Auger 2. การศึกษาระบบโครงสร้างและระบบฐานรากของสิ่งก่อสร้างโบราณ มีขั้นตอนดังนี้ 2.1 รวบรวมข้อมูลทางวิศวกรรมโครงสร้างและฐานรากของสิ่งก่อสร้างโบราณจากกรมศิลปากร โดยรวมถึง หลักฐานการก่อสร้าง ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แบบและวิธีการก่อสร้าง และรูปถ่ายจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นต้น 2.2 จัดทำสื่อนำเสนอข้อมูลสรุปในรูปคอมพิวเตอร์กราฟิก เพื่อสะดวกในการเผยแพร่ แก่ผู้ที่สนใจ

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ป้อมค่าย

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ป้อมพระสุเมรุสร้างขึ้นเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ในปี 2325 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคูก่อสร้างกำแพงพระนคร พระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคล ในปี 2326 ซึ่งในการก่อสร้างกำแพงพระบรมมหาราชวังนั้นได้สร้างป้อมสำหรับป้องกันพระนครเป็นระยะๆ รอบพระนครจำนวน 14 ป้อม ได้แก่ ป้อมพระสุเมรุ,ป้อมยุคนธร,ป้อมมหาปราบ,ป้อมมหากาฬ,ป้อมหมู่หลวง,ป้อมเสือทยาน,ป้อมมหาไชย,ป้อมจักรเพชร,ป้อมผีเสื้อ,ป้อมมหาฤกษ์,ป้อมมหายักษ์,ป้อมพระจันทร์,ป้อมพระอาทิตย์ และป้อมอิสินธร (กรมศิลปากร 2564)

ป้อมทั้งหมดนี้ต่างเรียงรายไปตามแนวคลองรอบกรุงและแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทรงขอแรงราษฎรให้ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง และให้ไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยามาบ้าง อีกทั้งยังเกณฑ์ลาวเมืองเวียงจันทน์ 5,000 คน และมีตราให้ผู้ว่าราชการหัวเมือง ตลอดหัวเมืองลาวริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตกมาพร้อมกัน โดยแบ่งหน้าที่กันคุมไพร่พลขุดรากก่อกำแพงรอบพระนครและสร้างป้อมไว้เป็นระยะรอบพระนคร ปัจจุบันป้อมเหล่านี้ถูกรื้อลงเกือบหมดแล้ว นับแต่พ้นสมัยรัชกาลที่ 1 ป้อมเหล่านี้ถูกรื้อลงไปเพื่อนำพื้นที่ไปใช้ในราชการอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามเข้าสู่ช่วงปรับปรุงประเทศอย่างเร่งด่วน ส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศคือ การปรับปรุงเส้นทางคมนาคม โดยมากรสร้างสะพาน ตัดถนน และอาคารต่างๆ อย่างมากมาย จึงจำเป็นจะต้องรื้อป้อมหลายๆ ป้อมลงเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการก่อสร้าง คงเหลือเพียง 2 ป้อม คือ ป้อมมหากาฬ และป้อมพระสุเมรุ (กรมศิลปากร 2564)

ป้อมพระสุเมรุ เป็นป้อมก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานสูง 2 ชั้น หันหน้าเข้าสู่คลองบางลำพูบน ลักษณะเป็นปราการ 2 ชั้น ฐานล่างมีบันไดขึ้นจากป้อมด้านหน้ากำแพง 3 บันได แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ 2 บันได เพราะบันไดอีกด้านหนึ่งอยู่ติดริมถนนมากเกินไปจึงถูกทุบออกเสามุมบันไดเป็นเสาปูน มีหัวเสาเป็นรูปหัวเม็ดทรงมันที่เหนือบันได บันไดละ 1 เสา (กรมศิลปากร 2564)

หากมองจากด้านบนของป้อมจะเห็นว่าป้อมชั้นล่างแบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดยมีกำแพงใบเสมาแบบปลายแหลมกั้นระหว่างผนัง ป้อมชั้นล่างและชั้นบน มีประตูทางออกไปสู่ด้านหน้าของป้อมด้านหน้าป้อมชั้นล่าง มีกำแพงใบเสมาแบบสี่เหลี่ยมปลายตัดขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐาน 3 ชั้น แต่ละใบเสมาเจาะช่องตีนกาหรือกากบาทเล็กๆ หลายช่อง ระหว่างใบเสมาเป็นที่วางปืนใหญ่ เช่นเดียวกับกำแพงป้อมชั้นที่ 2 แต่กำแพงป้อมชั้นที่ 2 มีใบเสมาชนิดปลายแหลม ในทุกๆ ด้านของป้อม พื้นป้อมชั้นนี้ทำด้วยไม้ ประตูและหน้าต่างเจาะช่องสี่เหลี่ยม หลังคาป้อมมีลักษณะเป็นรูปโดม เป็นโครงไม้ฉาบปูนเช่นเดียวกับป้อมมหากาฬ ส่วนหอรบเป็นรูปเจ็ดเหลี่ยม มีทั้งประตู 2 ประตู และหน้าต่าง 4 บาน ภายในห้องชั้นล่างเป็นโถงล่าง จากด้านนอกของส่วนนี้มีบันไดขึ้นจากด้านหลังสู่ส่วนที่ 2 ของป้อม พื้นป้อมชั้นนี้ทำด้วยไม้ ประตูและหน้าต่างเจาะช่องสี่เหลี่ยม หลังคาป้อมมีลักษณะเป็นรูปโดม เป็นโครงไม้ฉาบปูนเช่นเดียวกับป้อมมหากาฬ (กรมศิลปากร 2564)

ในปี 2542 รัฐบาลต้องการพัฒนาพื้นที่บริเวณป้อมพระสุเมรุ ซึ่งมีอาณาเขตตั้งแต่สำนักงานกลาง โรงงานน้ำตาล (เก่า) บริษัทศรีมหาราชา และบริเวณป้อมพระสุเมรุ เพื่อทำเป็นสวนสาธารณะและพลับพลา อันเป็นโครงการกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2542 การขุดค้นทางโบราณคดีมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อตรวจสอบระบบโครงสร้างฐานรากของป้อมพระสุเมรุ และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการบูรณะป้อมพระสุเมรุและป้อมปรุงพื้นที่สวนสันติ ชัยปราการต่อไป

หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ

จากการขุดค้นทางโบราณคดี ทำให้ได้ความรู้ที่เกี่ยวกับโครงสร้างของป้อมพระสุเมรุ ดังนี้

1. ระบบโครงสร้างฐานรากของป้อมพระสุเมรุ

ระบบบดอัดด้วยอิฐหัก

ผนังของป้อมพระสุเมรุมีลักษณะคล้ายกับการสร้างกำแพงเมือง คือ ก่อกำแพงไว้สองด้าน แล้วเว้นช่องกลางเป็นช่องว่างแล้วใช้เศษอิฐหักอัดลงไป โดยชั้นล่างจะถมด้วยเศษอิฐหักขนาดเล็ก แล้วใช้เศษอิฐหักที่มีขนาดใหญ่กว่าถมอัดในช่วงบน

ระบบถมโปร่ง

พบการใช้ตุ่มสามโคกวางคว่ำเป็นแนว ชั้นบนถัดมาวางตั้งเป็นแนวสลับกันไป จากนั้นใช้ดินถมอัด
ในช่องว่างระหว่างโอ่งแต่ละใบเพื่อลดน้ำหนักที่กดทับ ลักษณะดังกล่าวเป็นเทคนิคที่ปรากฏในเอกสารว่าเริ่มมีการนำเทคนิคนี้มาใช้ในสมัยรัชกาลที่
4 ในการสร้างพระบรมบรรพต ฐานวิหารวัดราชบพิธ และวัดราชประดิษฐ์ จากการขุดค้นหลายพื้นที่พบว่า การใช้โอ่งนี้ไม่ปรากฏทุกตำแหน่ง สันนิษฐานว่าการถมโปร่งนี้น่าจะใช้เฉพาะพื้นที่ หรือป็นการมาซ่อมแซมในตอนหลัง โดยทำเฉพาะบริเวณที่มีการทรุดตัวของชานป้อมด้านทิศตะวันตก
ซึ่งเป็นด้านที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา

2. ลักษณะของชานป้อม

พื้นเดิมของชานป้อมชั้นที่ 1 อยู่ที่ระดับความลึก 1 เมตรจากพื้นปัจจุบัน ต่อมามีการปูพื้นด้วยไม้กระดาน ส่วนชานป้อมชั้นที่ 2 และหอรบชั้นที่ 3 ในอดีตเป็นเครื่องไม้

ในปี พ.ศ.2514 บริเวณพื้นที่นี้เกิดไฟไหม้ ลามไปถึงป้อมพระสุเมรุทำให้ส่วนหอรบพังทลายลง เหตุการณ์ไฟไหม้นี้สัมพันธ์กับชั้นดินสีดำที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณจากการขุดค้นที่ชานป้อมชั้นที่ 1

ส่วนหอรบชั้นที่ 3 และพื้นชานป้อมชั้นที่ 2 เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในการบูรณะในปี พ.ศ.2524 - 2525 ซึ่งอาศัยภาพถ่ายครั้งป้อมพระสุเมรุมีสภาพสมบูรณ์มาใช้ในการบูรณะ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. "ป้อมพระสุเมรุ" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 สิงหาคม 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 4. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ:  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.

กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ, กรมศิลปากร, 2525.

จรรยาประชิตโรมรัน, พลตรี. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช.กรุงเทพฯ:  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2539.

บริษัท ศิวกรการช่าง จำกัด. รายงานการขุดตรวจทางโบราณคดีอาคารป้อมพระสุเมรุ กรุงเทพมหานคร. เอกสารอัดสำเนา, 2543.

อรพินธุ์ การุณจิตต์. รายงานการขุดตรวจป้อมพระสุเมรุ. เอกสารอัดสำเนา, 2542.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี