สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชย


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ชื่ออื่น : ถนนสนามไชย, ถนนหน้าจักรวรรดิ์วังหลวง

ที่ตั้ง : ถ.สนามไชย

ตำบล : พระบรมมหาราชวัง

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.743717 N, 100.494814 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองคูเมืองเดิม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

สถานีตั้งอยู่ด้านล่างถนนสนามไชย ด้านทิศเหนือของแยกสะพานเจริญรัช 31 หรือปากคลองตลาด (จุดบรรจบถนนสนามไชย, ถนนมหาราช, ถนนราชินี, ถนนอัษฎางค์ และถนนจักรเพชร) บริเวณด้านหน้าโรงเรียนวัดราชบพิธ และมิวเซียมสยาม ด้านหลังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

รถเมล์: สาย 3, 6, 7ก, 9, 12, 32, 44, 47, 48, 53, 82, 524

รถไฟฟ้า: รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (ท่าพระ-บางซื่อ-หัวลำโพง-หลักสอง-พุทธมณฑล สาย 4) หรือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน ลงสถานีสนามไชย

เรือด่วนเจ้าพระยา: ลงท่าราชินี หรือ ท่าเตียน


ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ถนนสนามไชย เป็นถนนสายประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างตั้งแต่เมื่อครั้งก่อตั้งกรุง ผ่านสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดพระเชตุพนฯ พระราชวังสราญรมย์ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนกระทรวงกลาโหม สนามไชย โรงเรียนวัดราชบพิธ มิวเซียมสยาม เป็นต้น 

สถานีรถไฟใต้ดินสถานีสนามไชย เป็นสถานีเดียวในระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางพื้นที่อนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นเส้นทางต่อเนื่องจากสถานีหัวลำโพง ผ่านพื้นที่เมืองเก่าก่อนลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด ไปยังฝั่งธนบุรี และยกระดับขึ้นสู่สถานีท่าพระต่อไป

ภายในสถานีมีการออกแบบให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม โดยการออกแบบใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ออกแบบโดย รศ.ดร. ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นท้องพระโรงในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการประดับด้วยเสาสดุมภ์ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ระหว่างทางเดิน ลงลายกระเบื้องเป็นดอกพิกุล ปลายเสาประดับด้วยบัวจงกลปิดทองคำเปลว พื้นและผนังจำลองมาจากกำแพงเมือง ประดับด้วยเสาเสมาของพระบรมมหาราชวัง เพดานเป็นลายฉลุแบบดาวล้อมเดือน ปิดทองคำเปลว นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการ แสดงวัตถุโบราณที่ขุดพบ เช่น ฐานรากของพระราชวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี

สามารถเข้าไปเยี่ยมชมสถานีรถไฟใต้ดินสถานีสนามไชยได้ทุกวัน เวลา 6.00-24.00 น.

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ปัจจุบันถนนสนามไชยยังคงมีการใช้งานอยู่ สภาพถนนลาดยางแอสฟัลท์ และมีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสนามไชย ที่ตั้งอยู่ด้านล่างถนนสนามไชย ด้านทิศเหนือของแยกสะพานเจริญรัช 31 หรือปากคลองตลาด (จุดบรรจบถนนสนามไชย, ถนนมหาราช, ถนนราชินี, ถนนอัษฎางค์ และถนนจักรเพชร) บริเวณด้านหน้าโรงเรียนวัดราชบพิธ, มิวเซียมสยาม และด้านหลังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองคูเมืองเดิม

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2557

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดกู้

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

ผลการศึกษา :

โครงการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชย ได้ดำเนินการขึ้น โดยเป็นโครงการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง - ท่าพระ) โดยบริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน) และ บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ถนน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ถนนสนามไชย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่บริเวณศาลหลักเมืองลงมาทางทิศใต้ สิ้นสุดที่สะพานเจริญรัช 31 คลองคูเมืองเดิม บริเวณปากคลองตลาด โดยพื้นที่โครงการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีในพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย ตั้งอยู่บริเวณถนนสนามไชย ตั้งแต่แยกตัดถนนพระพิพิธ ไปจนสุดถนนสนามไชย บริเวณคลองคูเมืองเดิม (ด้านปากคลองตลาดและโรงเรียนราชินี)

พื้นที่โครงการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีสนามไชยมีความยาวประมาณ 300 เมตร และสองข้างทางถนนสนามไชยบริเวณพื้นที่โครงการฯ มีสถานที่ข้างเคียงในปัจจุบัน ดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ถนนพระพิพิธ และกรมการรักษาดินแดน, ทิศใต้ ติดต่อกับ คลองคูเมืองเดิม สะพานเจริญรัช 31 และโรงเรียนราชินี, ทิศตะวันออก ติดต่อกับ โรงเรียนวัดราชบพิธ, ทิศตะวันตก ติดต่อกับ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร สถาบันการเรียนรู้แห่งชาติ มิวเซียมสยาม และสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง

ถนนสนามไชย เป็นถนนสายประวัติศาสตร์ที่สำคัญสายหนึ่ง สร้างเชื่อมบริเวณพื้นที่ในพระนคร แรกเริ่มสร้างเป็นถนนดิน ต่อมาปูด้วยอิฐตะแคง (พิพัฒน์ พงศ์รพีพร 2547 : 11) ปรากฏมาตั้งแต่สมัยสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของไทย เป็นถนนเลียบกำแพงด้านทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง เมื่อแรกสร้างเรียกถนนสายนี้ว่า "ถนนหน้าจักรวรรดิ์วังหลวง" ตามแบบ กรุงศรีอยุธยา คือสนามหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ ซึ่งเป็นสถานที่ให้ข้าราชการ ประชาชน เข้าเฝ้าในงานพระราชพิธีที่สำคัญของบ้านเมือง

ถนนสนามไชย เป็นถนนหนึ่งในแปดสาย ได้แก่ ถนนจักรวรรดิวังหลวง (บริเวณถนนสนามไชย ปัจจุบัน) ถนนจักรวรรดิวังหน้า (ถนนราชดำเนินในปัจจุบัน) ถนนหน้าโรงไหม ถนนพระจันทร์ ถนนหน้า วัดพระธาตุ ถนนท่าขุนนาง ถนนท้ายวัง ถนนหลักเมือง ทั้งนี้ ถนนสนามไชยเมื่อแรกสร้าง มิได้ถูกสร้างไว้เพื่อการคมนาคม หากเป็นองค์ประกอบศักดิสิทธิ์ของเมืองหลวง ใช้ในการพระราชพิธีเท่านั้น (พิพัฒน์ พงศ์รพีพร 2547 : 11) ซึ่งมีต้นแบบจากกรุงศรีอยุธยานั่นเอง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ใช้ที่ว่างบริเวณนี้เป็นที่ฝึกซ้อมทหารและสวนสนาม และยังโปรดให้สร้างพลับพลาสำหรับประทับพระราชทานสิ่งของที่ระลึกแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพาร จึงโปรดให้เปลี่ยนนามสถานที่นี้ใหม่ตามความเหมาะสมว่า "สนามไชย" ถนนที่ตัดผ่านบริเวณนี้จึง เรียกว่า "ถนนสนามไชย" (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย 2540 : 53-54)

ในปี 2557 โครงการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีสนามไชย ได้ดำเนินการขึ้น โดยเป็นโครงการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง - ท่าพระ) โดยบริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน) และ บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด

หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ

การขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนี้ ได้แบ่งพื้นที่การขุดค้นออกเป็น 5 โซนด้วยกัน ได้แก่          

     Zone 1 บริเวณทางเท้าฝั่งมิวเซียมสยาม

     Zone 2 บริเวณทางเท้าฝั่งโรงเรียนวัดราชบพิธ

     Zone 3 บริเวณพื้นที่ในโรงเรียนวัดราชบพิธ

     Zone 4 บริเวณคลองคูเมืองเดิม

     Zone 5 บริเวณพื้นที่ในมิวเซียมสยาม

จากการขุดค้นได้พบร่องรอยของแนวโบราณสถานทุกพื้นที่ บางแนวสามารถบอกหน้าที่การใช้งานได้ บางแนวไม่สามารถระบุการใช้งานได้ แนวโบราณสถานที่สามารถระบุการใช้งานที่สำคัญ มีดังนี้

1. พื้นทางเดินรอบวัดพระเชตุพนฯ

พื้นทางเดินรอบวัดพระเชตุพนฯ ปูอิฐเรียงเป็นลายสานไปมาและปูอิฐเพียงชั้นเดียว ชั้นล่างของพื้นทางเดินจะถมด้วยดินผสมอิฐหักกากปูน ชั้นถมพื้นนี้น่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 คราวบูรณะวัดพระเชตุพนฯ ต่อมาได้ถมพื้นทางเดินใหม่ทั้งหมดด้วยดินผสมเศษอิฐหัก แล้วปูพื้นใหม่ด้วยหินทรายสีชมพู รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จากภาพถ่ายเก่าปี พ.ศ. 2489 พบภาพทางเดินด้วยพื้นหินทรายนี้แล้ว

2. รางระบายน้ำในสมัยรัชกาลที่ 5

รางระบายน้ำที่พบก่อด้วยอิฐ วางตัวตามแนวถนนตั้งแต่บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนฯ (ห่างจากหน้าวัดพระเชตุพนฯ ประมาณ 2.80 เมตร) ถึงบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง วางตัวขนานกัน 2 แนว
มีการใช้เข็มไม้สี่เหลี่ยม กว้างประมาณ
15 - 20 เซนติเมตร ปักเรียงกันเป็นกรอบนอกของแนวราง โดยปักห่างกันประมาณ 20 เซนติเมตร จากนั้นก่ออิฐชิดสันไม้ด้านใน โดยเอาสันด้านยาวอิฐตั้งขึ้นวางเป็นแนวยาวซ้อนกัน 4 ชั้น จนถึงหัวไม้ (สูงประมาณ 40 เซนติเมตร) แล้วถมด้วยดินผสมอิฐหัก ชั้นดินถมหนา 20 เซนติเมตร จากนั้นก่อตัวราง ประกอบด้วย ผนังราง ท้องราง และบ่อพัก ท้องรางระบายน้ำกว้าง 20 เซนติเมตร ส่วนบ่อพักน้ำมีขนาด 0.40x1x1 เมตร

สันนิษฐานว่ารางระบายน้ำที่พบนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณูปโภคแรกเริ่มของไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยกรมศุขาภิบาล จากเอกสารกล่าวว่า เดือนตุลาคม พ.ศ.2446 กรมศุขาภิบาลจ้างนายช่างชาวฝรั่งเศส คือ นายเดอลาโรเตียร์ ศึกษาพื้นที่และวางแผนการวางระบบสาธารณสุข และให้มีการจัดการเรื่องสุขอนามัยการจัดการถ่ายเทน้ำเสียภายในเมืองเพื่อสุขอนามัยของประชากรสยามในเวลานั้น เพื่อให้บ้านเมืองมีระเบียบเรียบร้อยไม่สกปรกอันเป็นต้นเหตุของโรคระบาด

การดำเนินงานของนายเดอลาโรเตียร์ได้กล่าวถึงลักษณะถนนและรางน้ำที่พบจากการสำรวจก่อนการออกแบบใน “รายงานเรื่องถนนและการรักษาความสะอาดในบริเวณกรุงเทพ” สรุปได้ว่าในส่วนของรางน้ำที่ใช้ในขณะนั้นเป็นร่องก่อด้วยอิฐอยู่สองข้างถนนกว้างลึกแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ร่องก่ออิฐนี้บางแห่งก็ฉาบปูน บางแห่งก็ไม่ฉาบปูน บางร่องเปิดโล่ง บางร่องปิดด้านบนด้วยอิฐ และนายเดอลาโรเตียร์ได้เสนอว่าควรเป็นร่องรางระบายน้ำแบบเปิดเพื่อสะดวกในการลอกรางระบายน้ำและควรก่ออิฐฉาบด้วยปูนซีเมนต์ตลอดทั้งแนว

3. ถนนสนามไชย

ถนนสนามไชยขุดพบบริเวณหน้าวัดพระเชตุพนฯ เขตสังฆาวาส มีการเตรียมฐานรากถนนด้วยการปูอิฐขนาดใหญ่ ประมาณ 20x40x15 เซนติเมตร วางแนวนอน เรียงเป็นลานสาน สลับด้านสั้นสองก้อน เรียงกัน 1 - 3 ชั้น แตกต่างกันไปแต่ละจุด จากนั้นถมด้วยอิฐบดอัดจนแข็งแน่นแล้วปราบผิวบนให้เรียบ ชั้นอิฐบดนี้หนาประมาณ 10 เซนติเมตร

ใน “รายงานเรื่องถนนและการรักษาความสะอาดในบริเวณกรุงเทพ” ของนายเดอลาโรเตียร์ ที่มาทำงานให้กับกรมศุขาภิบาล ในปี พ.ศ.2446 สรุปความได้ว่า ดินในกรุงเทพนั้นมีลักษณะชุ่มแฉะตลอดเวลายากที่จะทำถนนให้มั่นคง ลักษณะของถนนในสมัยนั้นใช้วิธีก่อถนนให้วางอิฐแผ่นให้เป็นลำดับกันหรือเอาหินป่นโรยลงไป โดยอิฐที่ใช้แม้จะเป็นอิฐอย่างดี แต่อิฐนั้นก็เสียหายแตกป่นเป็นผงได้ง่ายทำให้ถนนทรุดง่ายและผิวขรุขระไม่เสมอกัน ทำให้ต้องซ่อมถนนกันบ่อยครั้ง รูปแบบของถนนสนามไชยที่พบนี้สามารถเทียบเคียงได้กับแนววถนนเสาชิงช้า และถนนบำรุงเมือง ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า ถนนสนามไชย น่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับถนนบำรุงเมืองและถนนเสาชิงช้า ในสมัยรัชกาลที่ เป็นอย่างน้อย

4. พื้นทางเข้า - ออกหน้าโรงทหารม้า

พื้นทางเดินทางเข้าออกพบบริเวณทางเดินหน้าวัดราชบพิธ แต่เดิมบริเวณนี้เคยเป็นโรงทหารม้า พื้นทางเดินที่พบเป็นพื้นก่ออิฐ ขอบทางเดินเรียงด้วยอิฐแนวตะแคง ขนาดทางเท้ากว้าง 190 เซนติเมตร
ปูซ้อนทับกัน
2 ชั้น ชั้นล่างปูด้วยอิฐครึ่งก้อน พื้นชั้นบนปูด้วยอิฐขนาด 13x26x4 เซนติเมตร เป็นลายสาน ก่อขอบด้วยอิฐตะแคงทั้งสองชั้น

ลักษณะของทางเข้าออกนี้ มีรูปแบบตรงกับทางเข้าวัดพระเชตุพนฯ จากแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2450 พบว่าพื้นทางเดินนี้อยู่ในตำแหน่งเดียวกับทางเข้าออกโรงทหารม้า

5. ฐานรากของอาคารสมัยวังกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม

พบแนวอิฐบริเวณทางเท้า ด้านหน้าโรงเรียนวัดราชบพิธ คาดว่าเป็นฐานรากของอาคาร ก่อด้วยอิฐสอปูน ยาว 10 เมตร กว้าง 2 เมตร แนวอิฐบางส่วนถูกทำลายไป บางส่วนถูกทำลายจากการวางท่อน้ำประปา

ฐานรากของอาคารที่พบนี้ ก่ออิฐถือปูนตามแนวยาวของอาคารที่ยาวไปตามถนนสนามไชย อาจเป็นอาคารหรือเรือนบริวารยาวไปตามแนวถนน ซึ่งทำหน้าที่เป็นกำแพงวังกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ต่อมาพื้นที่นี้ได้ปรับเป็นพื้นที่กรมพลาธิการทหารบก ในรัชกาลที่ 6 และอาคารหลังนี้ยังถูกใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง จนไม่ปรากฏในภาพถ่ายอีกต่อไปภายหลังจากปี พ.ศ.2471

6. ถนนราชินี (เดิม) ในสมัยรัชกาลที่ 5

ถนนราชินีที่พบ มีลักษณะเป็นลักษณะเรียงด้วยอิฐ ขอบถนนก่อด้วยอิฐตะแคงหันสันด้านยาวคั่น เรียงต่อกันขนานกับคลองคูเมืองเดิม ใต้พื้นถนนมีการก่อด้วยอิฐแนวนอนเป็นฐานราก 2 แถว

ถนนราชินีสร้างขึ้นราว พ.ศ.2415 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถนนที่ขุดพบคาดว่าเป็นถนนสมัยแรกสร้าง ต่อมามีการเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กทับ

7. ท่อเหล็กหล่อ (แนวท่อประปา)

จากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้พบท่อประปาที่ทำจากเหล็กหล่อหลายจุด วางตัวไปตามแนว ถนนสนามไชย ถนนราชินี ถนนมหาราช ท่อเหล็กหล่อที่พบบมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว และ 16 นิ้ว
ลึกจากผิวดิน
65 - 90 เซนติเมตร

จากการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์พบว่า กิจการ “การประปากรุงเทพฯ” ของไทยเริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่ราว พ.ศ.2452 กรมศุขาภิบาลได้จ้างนาย เดอ ลาโรเตียร์ เพื่อสำรวจจัดแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา
และได้ดำเนินงานวางรากฐานการประปา ในการก่อสร้างในระยะแรกได้ฝัง “ท่อเหล็กหล่อ” เพื่อส่งน้ำไปตามท้องที่ที่จ่ายน้ำไปทั่วพระนคร แนวท่อเหล็กหล่อที่พบจึงเป็นหลักฐานของท่อน้ำในยุคแรกของไทย ครั้งแรกเริ่มทดลองวางท่อน้ำในเขตเมืองชั้นใน ก่อนขยายไปสู่เมืองรอบนอก


ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. "สนามไชย" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 สิงหาคม 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ:  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.

บริษัท นอร์ทเทรินซัน (1935) จำกัด. โครงการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดี บริเวณพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีสนามไชย. เอกสารอัดสำเนา, 2557.

พิพัฒน์ พงศ์รพีพร. สมุดภาพรัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์ภาพมุมกว้าง กรุงเทพมหานคร, 2547.

ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาวิจัยทางโบราณคดี บริเวณพื้นที่โรงเรียนราชินี. เอกสารอัดสำเนา, 2550.

ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษา ขุดค้น และขุดแต่งทางโบราณคดี ภายในพื้นที่กระทรวงพาณิชย์(เดิม) ถนนสนามไชย. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550.

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2540.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี