วัดเทพธิดารามวรวิหาร


โพสต์เมื่อ 26 เม.ย. 2021

ชื่ออื่น : วัดเทพธิดาราม, วัดเทพธิดา, วัดพระยาไกรสวนหลวง

ที่ตั้ง : เลขที่ 70 ถ.มหาไชย

ตำบล : สำราญราษฎร์

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.753483 N, 100.503939 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากพระบรมมหาราชวัง ใช้ถนนราชดำเนินใน ผ่านท้องสนามหลวง มุ่งหน้าสะพานผ่านพิภพลีลา จากสะพานผ่านพิภพลีลา ใช้ถนนราชดำเนินกลาง ประมาณ 1.1 กิโลเมตร (ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) ถึงสี่แยกป้อมมหากาฬ เลี้ยวขวาสู่ถนนมหาไชย (ผ่านลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ที่อยู่ทางขวามือ และวัดราชนัดดารามวรวิหาร ที่อยู่ทางขวามือ จนข้ามคลองหลอดวัดเทพธิดา) ประมาณ 220 เมตร จะพบวัดเทพธิดารามวรวิหารอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เปิดให้เข้าสักการะและเยี่ยมชมทุกวันโดยไม่เสียค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา 7.30 - 18.00 น. และเปิดให้พุทธศาสนิกชน เข้าร่วมสวดมนต์ทำวัตร ตั้งแต่เวลา วัตรเช้า 8.30 น. วัตรเย็น 19.00 น.

ติดต่อทางวัดได้ที่เบอร์โทร 02-621-1178, เว็บไซต์ http://www.watthepthidaramqr.com/,Facebook https://www.facebook.com/pages/วัดเทพธิดาราม/724744394217927

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดเทพธิดารามวรวิหาร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 123 วันที่ 13 ธันวาคม 2520 หน้า 5035

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดเทพธิดารามเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดราชนัดดารามวรวิหาร ทั้งในเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส มีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี เนื่องจากมีการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่สม่ำเสมอจนกระทั่งปัจจุบัน 

วัดเทพธิดาราม มีอาณาเขต ทิศเหนือ จรด คลองหลอดวัดเทพธิดาราม, ทิศใต้ จรด ซอยสำราญราษฎร์, ทิศตะวันออก จรด ถนนมหาไชย, ทิศตะวันตก จรด ชุมชนหลังวัดเทพธิดา

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองรอบกรุง, คลองหลอดวัดราชนัดดา

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอบน้ำพาทับถมสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น, สมัยรัชกาลที่ 3

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2379

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2444

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ ทรงดำรงตำแหน่งมรรคนายก ทรงบูรณะพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากจังหวัดพิษณุโลก นำขึ้นประดิษฐานในซุ้มพระปรางค์ทั้ง 4 องค์

ชื่อผู้ศึกษา : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2447

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมพระเจดีย์รายรอบพระวิหาร ศาลารายรอบพระวิหารภายในกำแพงแก้ว ซ่อมกำแพง บานประตูวัด และตุ๊กตาหิน

ชื่อผู้ศึกษา : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมประตูกำแพงรอบ บานประตูพระอุโบสถ และซ่อมประตูลานหน้าพระวิหาร 1 ประตู

ชื่อผู้ศึกษา : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2451

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมหลังคาพระอุโบสถ พระวิหาร และการเปรียญ รื้อที่จงกรมที่ต่อกับพระวิหารน้อยออก

ชื่อผู้ศึกษา : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2452

ผลการศึกษา :

ซ่อมพระวิหารน้อยและหอไตร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2453

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมที่จงกรม ศาลาคร่อมกำแพงด้านหลังพระอุโบสถ 2 หลัง ซ่อมสระน้ำและพื้นคณะกลางตรงพระอุโบสถ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2454

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ปูหินอ่อนพื้นพระอุโบสถและตกแต่งเครื่องประดับภายในพระอุโบสถ ซ่อมประตูกำแพง กำแพงหน้าวัด ซ่อมของใช้ในพระอุโบสถ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2471

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ปูกระเบื้องถนนหลังโรงเรียนธรรมวินัย ซ่อมแซมกุฏิ หลังคาหอฉัน และซุ้มประตู

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2489, พ.ศ.2508

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมการเปรียญ สร้างถนนยาว 120 เมตร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2509, พ.ศ.2510, พ.ศ.2511

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทั่วไป ปูพื้นคอนกรีตระหว่างคณะ 5 และ 6

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2512, พ.ศ.2513, พ.ศ.2514, พ.ศ.2515

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

สร้างศาลาทรงไทย 2 หลัง ด้านหลังวัด และซ่อมแซมถาวรวัตถุอื่นๆ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2515, พ.ศ.2516, พ.ศ.2517, พ.ศ.2518

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมแซมหลังกุฏิคณะ 2, 3 และ 6 และกุฏิคณะ 7 ฝั่งตะวันออก

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมกุฏิด้านทิศตะวันตก รื้อหลังคามุงใหม่ ถือปูนทาสีใหม่ ในปีเดียวกันนี้ยังมีการสร้าง “ศาลาจงพิพัฒนสุข”

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมแซมหอสมุดวัดเทพธิดาราม ซึ่งตั้งอยู่ในคณะ 8

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2524

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมกุฏิคณะ 3 ปรับพื้นราดปูนใหม่

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมพระอุโบสถ เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา ซ่อมและเปลี่ยนไม้โครงหลังคา ซ่อมหน้าบันทั้ง 2 ด้าน เสริมความมั่นคงของผนัง ซ่อมผนังและฐานผนังภายนอกพระอุโบสถ ซ่อมลายปูนปั้นปิดทองที่ซุ้มประตูและหน้าต่าง ซ่อมพื้นระเบียงรอบพระอุโบสถ และซ่อมซุ้มเสนาทั้ง 8 ซุ้ม นอกจากนั้นยังมีการบูรณะพระปรางค์ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526

ผลการศึกษา :

สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม “โรงเรียนธรรมวิลาส”

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532, พ.ศ.2533, พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ซ่อมกุฏิคณะ 8 เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา ถือปูนทาสีใหม่ และซ่อมหอพระไตรปิฎก รวมทั้งหอสวดมนต์ หลังด้านทิศเหนือ นอกจากนี้ยังมีการซ่อมกุฏิคณะ 6 เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา โครงหลังคา พื้นคาน ผนังภายนอกภายใน ถือปูนทาสีใหม่

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดตรวจ, ขุดทดสอบ

ผลการศึกษา :

มีการขุดตรวจสอบทางโบราณคดี บริเวณหอพระไตรปิฎกหลังด้านทิศใต้ และกุฏิคณะ 5 เพื่อตรวจสอบลักษณะการวางตัวของฐานรากอาคาร และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ใน “โครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยประเพณี เพื่อการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก บริเวณกุฏิคณะ 5 วัดเทพธิดาราม” ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน จากการขุดค้นในวันที่ 18-29 มีนาคม พ.ศ.2552 พบฐานบัวของเสาหอไตร และพื้นใช้งานเดิมนอกอาคาร ในระดับที่ต่ำกว่าพื้นปัจจุบัน 40 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับพื้นใช้ภายในอาคาร ส่วนฐานรากอาคารหอไตรหลังด้านทิศใต้ พบว่าส่วนผนังของอาคารทั้งหลังรองรับด้วยอิฐ (วัดจากระดับพื้นปัจจุบันลงไปถึงอิฐก้อนสุดท้ายได้ประมาณ 93 เซนติเมตร) ไม่มีเข็มไม้ใดๆรองรับ โดยอิฐที่ใช้ก่อฐานรากอาคารมีขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตร และหนา 5 เซนติเมตร รวมทั้งใช้ดินเหนียวผสมเศษอิฐหักถมทับบ่อฐานรากอีกครั้งหนึ่ง ในระดับลึด 40 เซนติเมตรจากระดับพื้นปัจจุบัน ระดับลึกลงไปกว่านั้นถมด้วยดินเหนียวอัดแน่น โบราณวัตถุที่พบ พบในระดับลึกลงไป 15-65 เซนติเมตร จากระดับผิวดินปัจจุบัน พบเศษภาชนะดินเผา โดยเฉพาะเครื่องถ้วยที่มีอายุในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา จึงสันนิษฐานได้ว่า อาคารหอไตรหลังด้านทิศใต้นี้ เป็นอาคารที่ผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางเอกสาร

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

โครงการบูรณะวัดเทพธิดารามวรวิหาร ของสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร 1 ตุลาคม 2549-30 กันยายน 2550

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

โครงการบูรณะวัดเทพธิดารามวรวิหาร ของสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ระหว่าง 1 ตุลาคม 2552-30 กันยายน 2553

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

โครงการบูรณะวัดเทพธิดารามวรวิหาร ของสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร 1 ตุลาคม 2552-30 กันยายน 2553

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

โครงการบูรณะวัดเทพธิดารามวรวิหาร ของสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ระหว่าง 1 ตุลาคม 2552-30 กันยายน 2553

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553


ชื่อผู้ศึกษา : สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

บูรณะเสนาสนะภายในวัด โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

            วัดเทพธิดาราม เดิมชื่อ “วัดพระยาไกรสวนหลวง” (กรมศิลปากร 2525 : 18) เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร และเป็นพระอารามหลวงแรกที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น โดยสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2379 หลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ 12 ปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิลาส พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบาง เมื่อปี พ.ศ.2354 ทั้งยังทรงเป็นพระราชธิดาที่ทรงพระเมตตาโปรดปรานอย่างยิ่ง ทรงโปรดเกล้าฯให้รับราชการรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ตลอดมา ในปี พ.ศ.2381 ทรงสถาปนาพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิลาสเป็น กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ นับเป็นพระราชธิดาที่ได้รับพระราชอิสริยยศใหญ่ยิ่งเหนือกว่าพระราชธิดาทั้งปวง มีผู้คนยำเกรงอย่างมาก (กรมศิลปากร 2525 : 18)

            การก่อสร้างพระอารามแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์ (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็น กรมหมื่นภูมินทรภักดี) เป็นแม่กองอำนวยการสร้าง ที่ตำบลสวนหลวงพระยาไกร ขนานกับแนวคลองหลอด ช่วงเชื่อมต่อกับคลองรอบกรุง บริเวณกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออกของกรุงรัตนโกสินทร์ การสร้างวัดนี้ พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมในการก่อสร้างด้วย วัดเทพธิดาเข้าใจว่าสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2382 เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินผูกพัทธสีมาด้วยพระองค์เองในปีเดียวกันนั้นเอง และพระราชทานนามว่า “วัดเทพธิดาราม”

            ภายในพระอารามประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างต่างๆตามแบบแผนอันเป็นพื้นฐานภายใต้ความเคยชินตามคตินิยม อาคารสำคัญในวัดได้รับการก่อสร้างประดับประดาด้วยเบี้ยแก้และกระเบื้องจีน ตกแต่งบริเวณวัดด้วยประติมากรรมรูปผู้หญิงนุ่งห่มแบบประเพณีไทยห่อสไบ นุ่งโจงกระเบน อุ้มเด็กบ้าง จูงเด็กบ้าง รูปบุคคลลักษณะคล้ายขุนนางจีนบ้าง รูปผู้หญิงชาวจีนบ้าง ตลอดทั้งการประดับบริเวณด้วยประติมากรรมหินรูปสัตว์ตามคติความเชื่อแบบจีน

            วัดเทพธิดาราม ยังปรากฏถึงความสัมพันธ์กับยอดกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่สำคัญมากท่านหนึ่ง คือ พระศรีสุนทรโวหาร (ภู่) หรือ สุนทรภู่ ซึ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่ได้อุปสมบทและจำพรรษาที่พระอารามนี้ ระหว่าง พ.ศ.2368-2385 ระหว่างที่จำพรรษาอยู่นั้น สุนทรภู่ได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพตลอดมา สุนทรภู่ได้แต่งบทประพันธ์ไว้หลายเรื่องในขณะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดารามนี้ เช่น กาพย์พระสุริยา โคลงนิราศเมืองสุพรรณบุรี และมีเรื่องหนึ่งซึ่งกล่าวถึงวัดเทพธิดาราม คือ “รำพันพิลาป” ซึ่งกล่าวถึงลักษณะโดยทั่วไปของวัดและปูชนียวัตถุภายในวัดเทพธิดารามวรวิหารในสมัยนั้นด่้วย (สุนทรภู่ 2530 : 6-12) 

                        “....................................

                        ช่วยจูงไปไว้ที่วัดได้ทัศนา

                        พระศิลาขาวล้ำดั่งสำลี

                        ทั้งพระทองสององค์ล้วนทรงเครื่อง

                        แลเลื่อมเหลืองเรืองจำรัสรัศมี

                        ....................................

                        เคยเดินเล่นเย็นลมเลียบชมรอบ

                        ริมแขวงขอบเขตที่เจดีย์ฐาน

                        พระปรางค์มีสี่ทิศพิสดาร

                        โบสถ์วิหารการเปรียญล้วนเขียนทอง

                        มีหน้าบันปั้นอย่างเมืองกวางตุ้ง

                        ดูเรืองรุ่งรูปนกผกผยอง

                        กระเบื้องเคลือบเหลือบสลับเหลี่ยมรับรอง

                        ศาลาสองหน้ารอบขอบกำแพง

                        สิงโตจีนตีนตัวน่ากลัวกลอก

                        ขยับขยอกแยกเขี้ยวเสียวแสยง

                        ที่ตึกก่อช่อฟ้าใบระกาแดง

                        ริมกำแพงตะพานขวางเคียงข้างคลอง

                        เป็นพลับพลาพาไลข้างในเสด็จ

                        ....................................

                        เคยอยู่กินถิ่นที่กระฎีก่อ

                        เป็นตึกต่อต่างกำแพงฝากแฝงฝา

                        เป็นสองฝ่ายท้ายวัดวิปัสสนา

                        ข้างโบสถ์บาเรียนเรียงเคียงเคียงกัน

                        เป็นสี่แถวแนวทางเดินระหว่างกุฏิ์

                        มีสระขุดเขื่อนลงพระสงฆ์ฉัน

                        ข้างทิศใต้ในจงกรมพรหมจรรย์

                        มีพระคันธกุฎีที่บำเพ็ง

                        ศาลากลางทางเดินแลเพลินจิต

                        ประดับประดิษฐ์ดูดีเป็นที่เก๋ง

                        จะเริดร้างห่างแหสุดแลเล็ง

                        ยิ่งพิศเพ่งพาสลดกำสรดทรวง

                        หอระฆังดั่งทำนองหอกลองใหญ่

                        ทั้งหอไตรแกลทองเป็นของหลวง

                        ...................................”

            จากตำแหน่งที่ตั้งของวัดเทพธิดารามวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ภายในกำแพงพระนคร โดยอยู่ติดกับกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออกของกรุงรัตนโกสินทร์ และอยู่บนเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในสมัยนั้น กล่าวคือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริโปรดเกล้าฯให้สถาปนาวัดขึ้นใน พ.ศ.2379 โดยพระองค์ทรงเลือกที่สวนบริเวณริมคลองประชิดกับแนวริมกำแพงและป้อมปราการ (ป้อมมหากาฬ) ตรงช่วงติดกันกับคลองคูเมือง (คลองรอบกรุง) ด้านทิศตะวันออกซึ่งขุดขึ้นจากบางลำพู มาออกแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้ของพระนคร หน้าวัดสามปลื้มครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงย้ายราชธานีข้ามาจากฝั่งธนบุรีและคลองหลอด (คลองวัดเทพธิดา) ด้านทิศเหนือซึ่งเป็นคลองคูเมืองที่ขุดลัดเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ยังทรงดำรงพระยศเป็นพระยาจักรีในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นคลองซึ่งขุดเชื่อมระหว่างคลองคูเมืองชั้นใน เหนือคลองวัดเทพธิดาราม มีคลองใหญ่ที่ขุดจากคลองรอบกรุงไปทางทิศตะวันออกบริเวณวัดสระแก (วัดสระเกศ) เรียกว่า “คลองมหานาค” ซึ่งเป็นเส้นทางติดต่อกับชุมชนทางด้านทิศตะวันออกของพระนคร ระหว่างคลองคูเมืองกับคลองรอบกรุง ซึ่งคงเป็นเรือกสวนและทุ่งนา จัดให้เป็นที่อยู่ของพวกขุนนาง ข้าราชการ และราษฎรทั่วไป ดังนั้นบริเวณคลองวัดเทพธิดารามจึงเป็นเส้นทางที่สำคัญทางยุทธศาสตร์และการเดินทางเพื่อออกสู่นอกพระนครด้นทิศตะวันออก ตลอดจนเป็นแหล่งชุมชนและศูนย์กลางทางการค้าในบริเวณที่เป็นจุดเชื่อมต่อของคลองวัดเทพธิดา คลองรอบกรุง และคลองมหานาค

            พิจารณาจากสภาพแวดล้อมของวัดเทพธิดารามดังกล่าวแล้ว จึงน่าจะเป็นไปได้ว่า ชุมชนที่อาศัยตามริมแม่น้ำลำคลองต่างๆบริเวณโดยรอบวัด น่าจะเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น และเป็นชุมชนใหญ่ ซึ่งชุมชนดังกล่าวยังคงอาศัยพื้นที่บริเวณรอบๆ วัดเทพธิดารามเป็นที่อยู่อาศัยสืบต่อมา

            วัดเทพธิดารามวรวิหาร ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตามประกาศเรื่องจัดระเบียบพระอารามหลวง ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2458

ลักษณะและรูปแบบทางศิลปะสถาปัตยกรรม

            ในการสร้างวัดเทพธิดารามวรวิหาร ได้มีการกำหนดแผนผังพระอารามให้มีลักษณะค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขอบเขตพระอารามก่อเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน หันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออก เหนือกำแพงก่อเป็นเสมารูปสี่เหลี่ยมคล้ายกำแพงป้อมปราการ สลับกับประตูทางเข้าออกทางด้านหน้า (ทิศตะวันออก) 3 ช่องประตู กำแพงพระอารามด้านทิศตะวันออกจรดด้านทิศตะวันตก มีระยะ 172 เมตร ด้านทิศเหนือจรดด้านทิศใต้ยาวด้านละ 140 เมตร (ราชกิจจานุเบกษา 2520 : 5035) รวมเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 15 ไร่ 20 ตารางวา

วัดเทพธิดารามวรวิหาร ใช้พระอุโบสถเป็นประธานของวัด ตั้งอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยพระวิหารและการเปรียญ พระอุโบสถและพระวิหารสร้างคู่กัน ขนาดเท่ากัน และมีกำแพงด้านหนึ่งใช้ร่วมกัน ส่วนการเปรียญมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม น่าจะสร้างขึ้นพร้อมกัน เพราะทำให้เกิดความสมมาตร โดยมีพระอุโบสถเป็นแกนกลาง และมีประตูทางเข้าหลักด้านหน้าพระอุโบสถ ลักษณะการวางผังที่มีอาคาร 3 หลัง ได้แก่ พระอุโบสถ พระวิหาร และการเปรียญ เช่นนี้ปรากฏหลายแห่งในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่น วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร และวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร โดยทั้งหมดพระอุโบสถเป็นแกนกลาง วิหารกับการเปรียญอาจสลับตำแหน่งกันได้ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2548 : 38-39) 

ภายในวัดเทพธิดารามวรวิหาร จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนตามลักษณะของการใช้สอยแบบประเพณีนิยมอย่างที่ยึดปฏิบัติมาแต่ในอดีต แบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในออกเป็น 2 เขต โดยใช้ถนนภายในตัดผ่านกลาง แยกเขตทั้งสองออกจากกัน คือ เขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส

            เขตพุทธาวาส อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัด ประกอบด้วยอาคารสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การเปรียญ พระอุโบสถ และพระวิหาร ตั้งเรียงรายกันจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ โดยหันด้านหน้าอาคารทุกหลังไปทางทิศตะวันออก

            เขตพุทธาวาสด้านทิศตะวันออกช่วงติดกับกำแพงเมือง แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่ว่าง ใช้เป็นลานวัด หรือที่เรียกว่า “ลานพุทธาวาส” กล่าวกันว่า เดิมลานพุทธาวาสนี้ กว้างจรดกำแพงเมืองพระนคร ต่อมาภายหลังถูกร่นเข้ามาเพื่อตัดถนนมหาไชย

            นอกจากนี้ ในเขตพุทธาวาสยังมีการประดับบริเวณรอบพระอาราม โดยใช้ตุ๊กตาศิลาสลักของจีนประดับเฉพาะภายในส่วนพุทธาวาส มีทั้งที่เป็นรูปคนและสัตว์ ตุ๊กตารูปคนตั้งอยู่รายรอบภายในบริเวณลานพระอุโบสถ บางตัวแสดงการแต่งกายแบบไทย เช่น รูปสตรีนั่งพับเพียบเท้าแขนและสตรีอุ้มเด็ก เป็นต้น ตุ๊กตารูปสัตว์นั้นทำเป็นรูปสิงโตจีนตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ พระวิหาร และการเปรียญ ตุ๊กตารูปคนส่วนใหญ่ชำรุด บางตัวได้รับการซ่อมแซมบ้าง แต่ก็ผิดไปจากรูปแบบเดิม

            ส่วนเขตสังฆาวาสอยู่ด้านทิศตะวันตกของวัด ประกอบด้วยหอไตร หอสวดมนต์ และหมู่กุฏิก่ออิฐ ที่แบ่งออกเป็นคณะต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการแบ่งเป็นหมู่กุฏิสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระและฝ่ายคันถธุระอีกด้วย

            ลักษณะทางสถาปัตยกรรมโดยรวมของสิ่งก่อสร้างต่างๆภายในวัด แสดงให้เห็นถึงการรับเอาศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจีนเข้ามาผสมผสาน แบบที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “แบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือ “แบบนอกอย่าง” อันเป็นการผสมผสานระหว่างพุทธศิลปตามคติดั้งเดิมของไทยเป็นพื้นฐาน แต่ตัวอาคารเลียบแบบจีน

            รายละเอียดของสิ่งก่อสร้างภายในวัดเทพธิดารามวรวิหาร มีดังนี้

พระอุโบสถ

พระปรางค์

            พระปรางค์มี 4 องค์  ตั้งอยู่มุมกำแพงแก้วของพระอุโบสถทั้ง 4 มุม ตามทิศทั้ง 4 คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (อาคเนย์) ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (พายัพ) และทิศตะวันตกเฉียงใต้ (หรดี) ลักษณะของพระปรางค์ทั้ง 4 องค์ มีฐานทักษิณยกสูงทรงแปดเหลี่ยม มีบันไดขึ้นลงอยู่ทางพระอุโบสถ องค์ปรางค์สูงประมาณ 5 เมตร

            ส่วนฐานขององค์ปรางค์ ประกอบด้วยชุดฐานสิงห์ 3 ฐาน ในผังเพิ่มมุมไม้ 20 ส่วนกลางของปรางค์เป็นเรือนธาตุในผังเพิ่มมุมไม้ 20 มุมทุกมุมเท่ากัน ที่เรือนธาตุมีซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน แต่ละซุ้มมีประติมากรรมรูปท้าวจตุโลกบาลประจำรักษาทิศทั้งสี่ ได้แก่ ท้าวกุเวร หรือเวสสุวัณ (ประจำทิศใต้ ผู้ปกครองยักษ์) ท้าวธตรฐ (ประจำทิศตะวันออก ผู้ปกครองคนธรรพ์) ท้าววรุณหก หรือท้าววิรุฬ (ประจำทิศใต้ ผู้ปกครองกุมกัณฑ์) และท้าววิรูปักษ์ (ประจำทิศตะวันตก ผู้ปกครองนาค) ใต้องค์ปรางค์ทำเป็นห้องประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งได้ถูกโจรกรรมไป 3 องค์ เหลือแต่องค์ที่ประดิษฐานอยู่ในพระปรางค์ด้านทิศเหนือ

            ส่วนบนของปรางค์เหนือเรือนธาตุขึ้นไปเป็นชั้นยักษ์แบก 1 ชั้น (ประติมากรรมยักษ์อยู่ในอากัปกิริยาย่อเข่า สลับกับยักษ์ที่อยู่ในท่านั่งคุกเข่าข้างหนึ่ง ชันเข่าข้างหนึ่ง โดยในมือทั้งสองจับอยู่ที่ฐาน) รองรับส่วนบนด้วยเรือนชั้นซ้อน 5 ชั้น ยอดพระพุทธปรางค์เป็นนภศูลโลหะ

            สัดส่วนของปรางค์ที่สูงเพรียว เพิ่มมุม มุมทุกมุมมีขนาดเท่ากัน มีพัฒนาการเป็นปรางค์สมัยรัตนโกสินทร์อย่างแท้จริง คือการประดับกลีบขนุนปรางค์และบรรพ์แถลง แนบติดกับผนังในแต่ละชั้นแล้ว และที่สำคัญคือ ส่วนของบรรพ์แถลงได้รวมเป็นส่วนเดียวกับช่องวิมานและใบขนุนแล้ว จนเหลือเป็นเพียงใบขนุนที่แปะติดกับผนัง แสดงให้เห็นถึงความหมายและสัญลักษณ์เดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมขอม ช่องวิมาน บรรพ์แถลง และใบขนุนปิดช่องวิมานอันเป็นสัญลักษณ์ของปราสาทในแต่ละชั้นเทพเจ้านั้นได้หมดไปแล้ว

            หน้าพระปรางค์ทั้ง 4 องค์นี้ ยังมีเทียนศิลาสลักเป็นรูปมังกรพันรอบต้น ศิลปกรรมแบบจีน ทั้ง 4 ทิศ  ที่เรือนธาตุด้านบนพระปรางค์แต่ละองค์มีรูปท้าวจตุโลกบาล คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวกุเวร ประจำรักษาในทิศทั้ง ๔ หน้าพระปรางค์ทั้ง ๔ องค์นี้ ยังมีเทียนศิลาสลักเป็นรูปมังกรพันรอบต้น ทั้ง ๔ ทิศ แรกเริ่มที่ฐานของพระปรางค์แต่ละองค์ยังประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ แต่ต่อมาถูกจารกรรมไป ๓ องค์ เหลือแต่ที่ประดิษฐานอยู่ในพระปรางค์ด้านทิศเหนือ

พระวิหาร

เจดีย์ 

            เจดีย์มีทั้งหมด 14 องค์ ตั้งอยู่รอบพระวิหาร เจดีย์ทุกองค์มีลักษณะเหมือนกัน คือเป็นเจดีย์มีผังสี่เหลี่ยม ย่อมุม ชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียง 2 ชั้น ชุดฐานสิงห์และฐานบัว 2 ชุด ถัดขึ้นไปบัวคลุ่มและบัวปากระฆัง รองรับองค์ระฆังที่มีผังสี่เหลี่ยมย่อมุมเช่นเดียวกัน เหนือขึ้นไป

วิหารน้อย

            วิหารน้อยมีอยู่ 2 หลัง ตั้งอยู่มุมกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระวิหาร 1 หลัง และด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้อีก 1 หลัง โดยทั้ง 2 หลัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง 4.80 เมตร ยาว 7.50 เมตร ขนาด 4 ห้อง มีระเบียงที่ด้านยาวทั้ง 2 ด้าน (แต่วิหารน้อยหลังทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบันไม่มีระเบียงด้านทิศใต้แล้ว อาจเนื่องจากการก่อสร้างกำแพงวัดด้านทิศใต้ใหม่ ซึ่งแนวกำแพงด้านนี้ได้กินพื้นที่ระเบียงด้านทิศใต้ของวิหารน้อยหลังดังกล่าวเข้ามา จึงต้องก่ออิฐปิดระเบียง ทำให้ส่วนหนึ่งของวิหารน้อยอยู่นอกกำแพงวัด) ยกพื้นอาคารเล็กน้อย ผนังอาคารก่อทึบ 4 ด้าน เจาะเป็นช่องทางเข้าออกทางด้านสกัด 1 ช่องทาง ด้านข้างเจาะเป็นช่องหน้าต่าง 4 ช่อง บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำปิดทอง เสาระเบียงก่อเป็นเสาอิฐฉาบปูนสี่เหลี่ยม รองรับชายคาระเบียง (ในอดีตมีการเชื่อมต่อระหว่างเสาพนักระเบียงและกรุกระเบื้องปรุเคลือบสีแบบจีน แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว)

            หลังคาวิหารน้อยทำเป็นหลังคาทรงจั่วลด 2 ชั้น ชั้นหน้าบันวางเหนือแนวผนังด้านสกัด ซึ่งตรงกับแนวเสาต้นที่ 1 และต้นที่ 5 ชายหน้าบันตรงกับแนวผนังด้านยาว ต่อปีกหลังคาออกเป็นปีกนกทั้งสองข้างซ้าย/ขวา ข้างละ 1 ตับ มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผาแบบไทย ปั้นปูนทับสันหลังคาและชายกระเบื้อง ภายในอาคารประดิษฐานพระพุทธรูป และปัจจุบันในบางโอกาสยังใช้เป็นกุฏิสงฆ์

การเปรียญ

เจดีย์บรรจุอัฐิ

            เจดีย์บรรจุอัฐิ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงปราสาทยอดที่มีส่วนเรือนธาตุสูงใหญ่ ตั้งอยู่หน้าการเปรียญ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนฐานมีผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นฐานบัวที่มีท้องไม้ค่อนข้างสูง ถัดขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุสูงใหญ่ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูหลอกทั้ง 4 ด้าน ไว้สำหรับบรรจุอัฐิ เหนือขึ้นไปเป็นบัวหงายและหน้าจั่วปูนปั้นจำลอง ประดับด้วยปูนปั้นลายใบไม้ดอกไม้ ด้านหลังหน้าจั่วเป็นฐานเขียงผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ประดับด้วยพวงอุบะและดอกไม้ ฐานเขียงนี้รองรับเจดีย์ที่มีผังกลม โดยส่วนฐานของเจดีย์ประกอบไปด้วยฐานบัวลูกแก้ว มาลัยเถา องค์ระฆังที่ตั้งตรง เหนือขึ้นไปเป็นบัวคลุ่มและปลียอด เจดีย์บรรจุอัฐินี้ ไม่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากแผนผังวัดเทพธิดารามวรวิหาร ในปี พ.ศ.2450 ก็พบว่ามีเจดีย์นี้อยู่แล้ว

ศาลาราย

            ศาลาราย เป็นศาลาแบบคร่อมกำแพงแก้วฐานเตี้ยรอบพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 2 หลัง รวม 8 หลัง กล่าวคือ สร้างเป็นศาลาโถงก่ออิฐถือปูนคร่อมกำแพงพระอุโบสถ เพื่อใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านนอกและด้านใน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ศาลา 2 หน้า 

            ศาลาอีก 4 หลัง อยู่บริเวณด้านหน้าและด้านทิศใต้ของพระวิหาร ด้านละ 2 หลัง ทำเป็นศาลายกพื้นประชิดกำแพง และที่ทางออกด้านหลังพระวิหาร (ด้านทิศตะวันตก) ทำเป็นศาลาโถง หลังคาซ้อน 2 ชั้น คร่อมทางเข้าออก ซึ่งเป็นเส้นทางสู่เขตสังฆาวาส ที่กำแพงด้านทิศเหนือด้านการเปรียญทำเป็นศาลายกพื้นสูงที่มุมกำแพง 2 หลัง ในอดีตใช้เป็นที่พักบำเพ็ญบุญและเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณร

ศาลา

            ศาลามีอยู่ 4 หลัง โดยอยู่ด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออก) ของพระวิหาร 2 หลัง และด้านข้าง (ด้านทิศเหนือ) ของการเปรียญอีก 2 หลัง

            ศาลาบริเวณพระวิหาร

            บริเวณด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออก) ของพระวิหาร มีศาลาอยู่ทั้ง 2 ข้าง ซ้าย/ขวาของซุ้มประตูกำแพงแก้วหน้าพระวิหาร ข้างละ 1 หลัง (แบ่งเป็นหลังด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และหลังด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้) มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนคร่อมกำแพงแก้ว หันหน้าเข้าพระวิหาร อาคารยกพื้นชั้นบนสูง มีบันไดทางขึ้นอยู่ส่วนข้างของด้านหน้า ชั้นล่างทำเป็นห้องผนังก่ออิฐ มีการเจาะเป็นช่องหรือหน้าต่าง อาคารชั้นบนเป็นผนังไม้ 2 ห้อง มีชานระเบียงตามแนวยาวของอาคาร หลังคาเป็นหลังคาจั่วชั้นเดียว ทำเป็นหลังคาพาไลปีกนกลดระดับคลุมรอบชานระเบียง ปัจจุบันศาลาเหล่านี้ใช้เป็นกุฏิสงฆ์

            ศาลาบริเวณการเปรียญ

            บริเวณมุมกำแพงแก้วด้านข้าง (ด้านทิศเหนือ) ของการเปรียญ มีศาลาอยู่ 2 หลัง โดยอยู่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 1 หลัง และด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนืออีก 1 หลัง โดยทั้ง 2 หลัง มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนประชิดกำแพง หันหน้าเข้าการเปรียญ อาคารยกพื้นชั้นบนสูง บันไดทางขึ้นมีทั้งด้านยาวและด้านสกัด ชั้นล่างทำเป็นห้องผนังก่ออิฐ มีการเจาะเป็นช่องหรือหน้าต่าง อาคารชั้นบนผนังเป็นประตูบานเฟี้ยมไม้ มีขนาด 3 ห้อง มีชานระเบียงที่ด้านหน้าอาคาร หลังคาเป็นหลังคาจั่วชั้นเดียว ทำเป็นหลังคาปีกนกลดระดับคลุมรอบชานระเบียง รับน้ำหนักด้วยค้ำยันไม้ ปัจจุบันศาลาเหล่านี้ใช้เป็นกุฏิสงฆ์ 

กำแพงแก้ว

            กำแพงแก้วเป็นเครื่องแสดงขอบเขตของพระอุโบสถ รวมทั้งพระวิหารและการเปรียญ (กำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของการเปรียญ ใช้เป็นกำแพงวัดด้วย) มีลักษณะเป็นกำแพงทึบที่ไม่สูงมากนัก ก่ออิฐถือปูน สันกำแพงแก้วทำเป็นบัวหลังเจียด ต่ำลงมาเป็นหน้ากระดาน เส้นลวด บัวหงาย ตัวกำแพงด้านบนกรุกระเบื้องปรุเคลือบสีแบบจีน ถัดลงไปเป็นตัวกำแพงทึบ ส่วนที่เป็นฐานตามประวัติมีลักษณะเป็นฐานบัว โดยมีเส้นลวด บัวคว่ำ หน้ากระดาน แต่ปัจจุบันไม่เห็นฐานกำแพงแก้วแล้ว อาจเนื่องมาจากการถมที่ดินให้สูงขึ้น 

ซุ้มประตู (บริเวณกำแพงแก้ว)

            ซุ้มประตูบริเวณกำแพงแก้ว มีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละด้าน

            ซุ้มประตูยอดโค้งครึ่งวงกลม

            ซุ้มประตูด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออก) ของพระอุโบสถ พระวิหาร และการเปรียญ รวมทั้งซุ้มประตูด้านหลัง (ด้านทิศตะวันตก) ของพระอุโบสถ  การเปรียญ และประตูระหว่างพระอุโบสถกับการเปรียญ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกัน คือลักษณะเป็นซุ้มประตูยอดโค้งครึ่งวงกลมเหนือทับหลัง ประดับด้วยปูนปั้นรูปพวงมาลัย ดอกไม้ และใบไม้ เสาประตูและกรอบประตูตั้งตรง ปั้นลวดบัว ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับสถาปัตยกรรมตะวันตก

            ซุ้มประตูทรงกระโจม

            ซุ้มประตูระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร ลักษณะส่วนบนเป็นแบบศิลปกรรมตะวันตก โดยเป็นยอดซุ้มปูนปั้นเหลี่ยม เอนลาดเป็นแนวโค้งเข้าสู่ศูนย์กลาง คล้ายรูปร่างภาชนะ จัดว่าเป็นทรงปิรามิดหรือทรงซุ้มหรือทรงกระโจม บนส่วนยอดปั้นปูนประดับคล้ายยอดซุ้มเสมา

            ศาลาโถง

            ประตูทางเข้าออกด้านหลัง (ด้านทิศตะวันตก) ของพระวิหาร มีลักษณะเป็นศาลาโถงคร่อมกำแพง โดยใช้ด้านยาวคร่อมกำแพง หันด้านสกัดไปทางพระวิหารและทิศทางตรงข้าม หลังคาทรงจั่วชั้นเดียว ต่อเป็นหลังคาปีกนก 2 ข้าง ซ้ายและขวา หน้าบันเป็นปูนปั้นลวดลายใบไม้และดอกไม้ ภายในศาลาโถง            

หอไตร

            หอไตรเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ใต้ถุนสูง กว้าง 6.50 เมตร ยาว 6.50 เมตร สูง 10 เมตร หลังคาจั่วมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันปิดทองล่องชาด เป็นลายพรรณพฤกษา ประดับกระจกสี ทำเป็นหลังคาพาไลปีกนกลดระดับคลุมรอบชานระเบียง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบประเพณีนิยม สร้างไว้เพื่อเก็บรักษาพระคัมภีร์ใบลาน ซึ่งจารึกพระไตรปิฎกและพระคัมภีร์อื่นๆ หอไตรภายในวัดเทพธิดารามวรวิหารมีอยู่ 2 หลัง คือหลังด้านทิศใต้ (บริเวณคณะ 5) และหลังด้านทิศเหนือ (บริเวณคณะ 8)

            ในปี 2552 ด้วยหอพระไตรปิฎกหลังด้านทิศใต้ บริเวณกุฏิคณะ 5 วัดเทพธิดารามวรวิหาร มีสภาพชำรุดทรุดโทรม คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณีซึ่งแต่งตั้งโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำโครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยประเพณีขึ้นเพื่ออนุรักษ์หอพระไตรปิฎก บริเวณกุฏิคณะ 5 ในการอนุรักษ์ครั้งนี้มีการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อตรวจสอบฐานรากของอาคาร

            จากการทำงานพบพื้นเดิมบริเวณภายนอกหอพระไตรปิฎกปูด้วยอิฐ อิฐที่มีขนาดกว้าง 15.5x30.5x9 เซนติเมตร ระดับพื้นภายในและภายนอกอาคารอยู่ต่ำกว่าพื้นปัจจุบัน 40 เซนติเมตร อาคารหอพระไตรปิฎกใช้โครงสร้างแบบกำแพงรับน้ำหนัก โดยมีระบบการก่อสร้าง คือ เริ่มต้นด้วยการขุดหลุมขนาดใหญ่ แล้วจึงก่ออิฐเรียงต่อกันขึ้นไปเป็นผนัง อิฐที่ใช้มีขนาด 15x25x15 เซนติเมตร เมื่อเรียงอิฐเรียบร้อยแล้วใช้ดินเหนียวถมชั้นล่างสุด และใช้ดินเหนียวผสมเศษอิฐหักถมชั้นบนจนถึงระดับพื้นใช้งาน

            จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบที่ระดับ 15 - 65 เซนติเมตรจากผิวดิน โบราณวัตถุที่พบมาจากดินที่ใช้ถมคราวปรับพื้นที่เพื่อเตรียมก่อสร้าง และโบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่ คือ เศษภาชนะดินเผา ซึ่งมีรูปแบบไม่เหมือนกับภาชนะดินเผาเต็มใบที่ใช้ประดับตกแต่งตัวอาคารในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครื่องถ้วยที่มีอายุในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ทำให้เชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด รูปลักษณ์ภายนอกของอาคารที่เห็นในปัจจุบันเป็นอาคารที่ผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชกาลดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางเอกสารที่ระบุว่าหอพระไตรปิฎกมีการบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 5

หอระฆัง

            หอระฆังตั้งอยู่มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเขตพุทธาวาส สร้างเป็นหอก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง 4.70 เมตร ยาว 4.70 เมตร สูง 9 เมตร ชั้นล่างยกสูงโล่ง ระหว่างเสาทำเป็นซุ้มโค้งอย่างเดียวกับฐานพระปรางค์ทิศ ชั้นบนทำเป็นระเบียงเดินได้รอบ ประดับท้องพนักระเบียงด้วยกระเบื้องปรุ ตัวอาคารตรงกลางก่อเป็นซุ้มโล่งแขวนระฆังสำริด มีการปั้นลวดลายปูนปั้นลายใบไม้ ดอกไม้ และลายผ้า ประดับที่ซุ้มแขวนระฆัง

หอสวดมนต์

            หอสวดมนต์ในอดีตเป็นสถานที่สวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็น รวมทั้งท่องจำพระสูตร พระปริตร หอสวดมนต์ของวัดเทพธิดารามวรวิหารมีอยู่ 2 หลัง 

            หอสวดมนต์หลังด้านทิศเหนือ อยู่ภายในคณะ 8 ปัจจุบันใช้เป็นห้องสมุดของวัด ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว พื้นยกสูง มีบันไดทางขึ้นอยู่ตรงกลางด้านหน้า ใต้ถุนเตี้ยๆมีการเจาะช่องระบายอากาศและประดับด้วยกระเบื้องปรุแบบจีนสีเขียว ผนังอาคารในปัจจุบันเป็นบานประตูหน้าต่างไม้และกระจก เสาสี่เหลี่ยม รองรับหลังคาจั่ว   

            14/2 หอสวดมนต์หลังด้านทิศใต้ อยู่ภายในคณะ 5 ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว พื้นยกสูง มีบันไดทางขึ้นอยู่ตรงกลางด้านหน้า ใต้ถุนเตี้ยๆมีการเจาะช่องระบายอากาศ ผนังอาคารในปัจจุบันก่อทึบ เจาะช่องหน่าต่าง และใส่กระเบื้องโปร่งที่ตัวอาคารด้านบนเหนือช่องหน้าต่าง เสาสี่เหลี่ยมขนาดเล็กรองรับหลังคาจั่ว มีปีกนก หอสวดมนต์หลังนี้ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนเปลี่ยนแปลงไปจากของเดิมมาก

กุฏิคณะ 1

            ภายในคณะ 1 ประกอบด้วยอาคารกุฏิฝั่งด้านทิศตะวันออก (หันหน้าไปทางทิศตะวันตก) กุฏิฝั่งด้านทิศตะวันตก (หันหน้าไปทางทิศตะวันออก) และกุฏิที่มีขนาดเล็กกว่าตรงกลาง (อยู่ระหว่างกุฏิทั้ง 2 ฝั่ง) หันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือหันหน้าออกสู่คลองหลอดวัดเทพธิดา 

            กุฏิเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงตึกชั้นเดียว ยกพื้น ใต้ถุนก่อผนังทึบ หลังคาจั่วเครื่องไม้ มีบันไดทางขึ้นอยู่ตรงกลางด้านหน้า นอกจากนี้ภายในคณะ 1 ยังมีอาคารสร้างใหม่อีก 2 หลัง อยู่บริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของคณะ

กุฏิคณะ 2

            ภายในคณะ 2 ประกอบไปด้วยหมู่กุฏิที่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงตึกชั้นเดียว จำนวน 6 หลัง แบ่งเป็นด้านทิศตะวันออก 3 หลัง และทิศตะวันตก 3 หลัง หันหน้าเข้ามากัน อาคารกุฏิยกพื้น ใต้ถุนเตี้ยๆก่อผนังทึบ เจาะช่องระบายอากาศ หลังคาจั่วปีกนก มีปูนปั้นประดับที่มุมชายคาและชายจั่ว ตามลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3)

            กุฏิมีบันไดทางขึ้นอยู่ตรงกลางด้านหน้า เจาะช่องหน้าต่างทั้งด้านหน้า (ด้านยาว) และด้านข้าง (ด้านสกัด) แต่เดิมกุฏิแต่ละหลังแยกออกจากกัน แต่ปัจจุบันมีการก่อห้องฉนวนเชื่อมกุฏิแต่ละหลังเข้าด้วยกัน ส่วนห้องฉนวนนี้ ใช้เป็นห้องน้ำบ้าง หรือใช้เป็นห้องเก็บของบ้าง นอกจากนี้กุฏิหลังต่างๆยังมีการบูรณะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น มีการเจาะช่องหน้าต่างเพิ่ม เปลี่ยนบานประตู เป็นต้น

กุฏิคณะ 3

            ภายในคณะ 3 ประกอบไปด้วยหมู่กุฏิที่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงตึกชั้นเดียว เช่นเดียวกับหมู่กุฏิในคณะ 2 มีจำนวน 4 หลัง แบ่งเป็นด้านทิศตะวันออก 2 หลัง และทิศตะวันตก 2 หลัง หันหน้าเข้ามากัน อาคารกุฏิยกพื้น ใต้ถุนเตี้ยๆก่อผนังทึบ เจาะช่องระบายอากาศ หลังคาจั่วปีกนก มีปูนปั้นประดับที่มุมชายคาและชายจั่ว ตามลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3)

            กุฏิมีบันไดทางขึ้นอยู่ตรงกลางด้านหน้า เจาะช่องหน้าต่างทั้งด้านหน้า (ด้านยาว) และด้านข้าง (ด้านสกัด) แต่เดิมกุฏิแต่ละหลังแยกออกจากกัน แต่ปัจจุบันมีการก่อห้องฉนวนเชื่อมกุฏิแต่ละหลังเข้าด้วยกัน ส่วนห้องฉนวนนี้ ใช้เป็นห้องน้ำบ้าง หรือใช้เป็นห้องเก็บของบ้าง นอกจากนี้กุฏิหลังต่างๆยังมีการบูรณะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น มีการเจาะช่องหน้าต่างเพิ่ม เปลี่ยนบานประตู เป็นต้น

กุฏิคณะ 4

            ภายในคณะ 4 ประกอบไปด้วยหมู่กุฏิที่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงตึกชั้นเดียว เช่นเดียวกับหมู่กุฏิในคณะ 2 และ 3 มีจำนวน 6 หลัง แบ่งเป็นด้านทิศตะวันออก 3 หลัง และทิศตะวันตก 3 หลัง หันหน้าเข้ามากัน อาคารกุฏิยกพื้น ใต้ถุนเตี้ยๆก่อผนังทึบ เจาะช่องระบายอากาศ หลังคาจั่วปีกนก มีปูนปั้นประดับที่มุมชายคาและชายจั่ว ตามลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3)

            กุฏิมีบันไดทางขึ้นอยู่ตรงกลางด้านหน้า เจาะช่องหน้าต่างทั้งด้านหน้า (ด้านยาว) และด้านข้าง (ด้านสกัด) แต่เดิมกุฏิแต่ละหลังแยกออกจากกัน แต่ปัจจุบันมีการก่อห้องฉนวนเชื่อมกุฏิแต่ละหลังเข้าด้วยกัน ส่วนห้องฉนวนนี้ ใช้เป็นห้องน้ำบ้าง หรือใช้เป็นห้องสำหรับทำกิจกรรมอื่นๆ นอกจากนี้กุฏิหลังต่างๆยังมีการบูรณะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น มีการเจาะช่องหน้าต่างเพิ่ม ทุบผนังบางส่วนออกเพื่อเปลี่ยนเป็นประตู ขยายความกว้างของบันได เปลี่ยนบานประตู เป็นต้น

กุฏิคณะ 5

            ภายในคณะ 5 นอกจากจะมีหอไตรและหอสวดมนต์แล้ว ยังมีอาคารกุฏิอีกหลายหลัง อาจแบ่งได้เป็นฝั่งด้านทิศตะวันออก และฝั่งด้านทิศตะวันตก โดยมีทางเดินและหอสวดมนต์อยู่ตรงกลางอาคารกุฏิมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงตึก มีใต้ถุนที่ก่อผนังทึบ แต่มีการเจาะช่องระบายอากาศ เจาะช่องหน้าต่างที่ด้านยาวและด้านสกัด หลังคาจั่ว มีปูนปั้นประดับที่ริมชายคาและชายจั่ว กุฏิฝั่งด้านทิศตะวันออก มีการสร้างห้องฉนวน (สร้างสมัยหลัง) เพื่อเชื่อมระหว่างกุฏิแต่ละหลัง

กุฏิคณะ 6

            พื้นที่คณะ 6 มีความต่อเนื่องมาจากคณะ 5 โดยกุฏิคณะ 6 แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง มีทางเดินเป็นตัวแบ่ง ได้แก่ ฝั่งด้านทิศตะวันออก (หันหน้าไปทางทิศตะวันตก) และฝั่งด้านทิศตะวันตก (หันหน้าไปทางทิศตะวันออก) กุฏิทั้ง 2 ฝั่ง มีลักษณะเดียวกัน คือ ผังอาคาร 3 หลัง วางตัวต่อกันเป็นรูปตัว U ส่วนอีก 1 หลัง ตั้งอยู่ที่ตรงกลางระหว่างประตูทั้ง 2 ด้าน มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีใต้ถุนที่ก่อผนังทึบ แต่มีการเจาะช่องระบายอากาศและกรุกระเบื้องปรุ เจาะช่องหน้าต่างที่ด้านยาว หลังคาจั่ว มีปูนปั้นประดับที่ริมชายคาและชายจั่ว

กุฏิคณะ 7

            ลักษณะของผังอาคารของคณะ 7 เหมือนกับผังอาคารในคณะ 6 โดยกุฏิคณะ 7 แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ซึ่งคั่นด้วยทางเดินเช่นเดียวกัน โดยแบ่งออกเป็นฝั่งด้านทิศตะวันออก และฝั่งด้านทิศตะวันตก แต่ปัจจุบัน กุฏิฝั่งด้านทิศตะวันออก มีการกันและรักษาพื้นที่เอาไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่สุนทรภู่ กวีเอกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ครั้งเมื่อบวชเป็นพระ ได้มาจำพรรษา ณ ที่นี้ กุฏิคณะ 7 ที่ใช้เป็นกุฏิสงฆ์ปัจจุบันจึงเหลือเพียงฝั่งด้านทิศตะวันตก

            ผังอาคารกุฏิคณะ 7 มีลักษณะเช่นเดียวกับ คณะ 6 คือ อาคาร 3 หลัง วางตัวต่อกันเป็นรูปตัว U ส่วนอีก 1 หลัง ตั้งอยู่ที่ตรงกลางระหว่างประตูทั้ง 2 ด้าน มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีใต้ถุนที่ก่อผนังทึบ แต่มีการเจาะช่องระบายอากาศและกรุกระเบื้องปรุ เจาะช่องหน้าต่างที่ด้านยาว หลังคาจั่ว มีปูนปั้นประดับที่ริมชายคาและชายจั่ว

กุฏิสุนทรภู่

            กุฏิสุนทรภู่ อยู่ในอาณาบริเวณของกุฏิคณะ 7 โดยอยู่ทางฝั่งทิศตะวันออกของคณะ 7 เป็นกุฏิที่พระศรีสุนทรโวหาร (ภู่) หรือ สุนทรภู่ กวีเอกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เคยอยู่จำพรรษาขณะบวชเป็นพระภิกษุ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ยกย่องท่านเป็นกวีเอกของโลก ด้านผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2529    

            ภายในพื้นที่กุฏิสุนทรภู่ ประกอบไปด้วยอาคาร 4 อาคาร ล้อมรอบพื้นที่ว่างตรงกลาง ลักษณะกุฏิมีลักษณะก่ออิฐถือปูนทรงตึก (ยกเว้นอาคารด้านหน้า ที่เป็นอาคารโถง ไม่มีผนัง) มีใต้ถุน หลังคาจั่ว มีปูนปั้นประดับที่ริมชายคาและชายจั่ว เช่นเดียวกับกุฏิหลังอื่นๆ 

กุฏิคณะ 8

            นอกจากหอไตรและหอสวดมนต์แล้ว ภายในคณะ 8 ยังประกอบไปด้วยอาคารหลังต่างๆ ได้แก่ อาคารโรงเรียนพลอยวิจิตร์ปฏิสังขรณ์ กุฏิ 3 หลัง ด้านทิศตะวันออก 1 หลัง และด้านทิศตะวันตก 2 หลัง

            อาคารโรงเรียนพลอยวิจิตร์ปฏิสังขรณ์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูง ก่อกำแพงใต้ถุนทึบ มีบันไดทางขึ้นอยู่ตรงกลางด้านหน้า เจาะช่องหน้าต่างด้านละ 4 ช่อง หลังคาจั่วเครื่องไม้ ปีกนก มีปูนปั้นประดับมุมชายคา รับน้ำหนักชายคาด้วยค้ำยันไม้ เหนือประตูด้านนอก มีป้ายไม้ที่มีตัวอักษร “โรงเรียนพลอยวิจิตร์ปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ.2471” ปัจจุบันใช้เป็นกุฏิสงฆ์ สันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับกุฏิหลังอื่นๆ คือในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้รับการปฏิสังขรณ์เป็นโรงเรียนในปี พ.ศ.2471    

            อาคารกุฏิ 1 หลัง ด้านทิศตะวันออก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงตึก ยกพื้นสูง ก่อกำแพงใต้ถุนทึบ มีบันไดทางขึ้นอยู่ด้านหน้า 2 บันได เจาะช่องหน้าต่างที่ด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาจั่ว มีปูนปั้นประดับริมชายคาและชายจั่ว  

            อาคารกุฏิ 2 หลัง ด้านทิศตะวันตกของคณะ 8 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงตึกชั้นเดียว ยกพื้นสูง ใต้ถุนก่อผนังทึบ เจาะช่องระบายอากาศ ติดด้วยกระเบื้องปรุ มีบันไดทางขึ้นอยู่ตรงกลางด้านหน้า ขึ้นไปสู่ระเบียงที่เชื่อมระหว่างห้องด้านซ้ายกับห้องด้านขวา ที่ระเบียงมีเสาพาไลรองรับชายคา กุฏิทั้ง 2 หลัง เชื่อมกันด้วยฉนวน (ปัจจุบันใช้เป็นห้องน้ำ) หลังคาจั่วเครื่องไม้ยาวคลุมกุฏิทั้ง 2 หลัง รวมทั้งส่วนฉนวน มีปูนปั้นประดับที่มุมชายคาและชายจั่ว

กุฏิ 2 ชั้น

            กุฏิ 2 ชั้น ตั้งอยู่ด้านหลัง (ด้านทิศตะวันตก) ของการเปรียญ ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น มีคันทวยรองรับชายคา หลังคาเป็นหลังคาจั่ว มีหางหงส์ ที่ขอบจั่วทำเป็นปูนปั้นลวดลายดอกบัวและใบบัว หน้าบันมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บนดอกบัว (ปูน) ด้านล่างดอกบัวเป็นไม้ฉลุลายเทวดาและนางฟ้า ท่ามกลางลายกนก ด้านล่างสุดของหน้าบันติดแผ่นกระเบื้อง ทำเป็นลวดลายดอกไม้และพวงอุบะ กุฏิแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2520 เดิมพื้นที่บริเวณนี้มีอาคารชั้นเดียวตั้งอยู่

ศาลาจงพิพัฒนสุข

            ศาลาจงพิพัฒนสุข เป็นศาลาบำเพ็ญกุศล ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของวัด เป็นศาลาทรงไทยประยุกต์ กว้าง 9 เมตร ยาว 28 เมตร นาย ฉันท์ จงพิพัฒนสุข (สร้อยจั๊ว แซ่เตียว) และนาย เริงชัย จงพิพัฒนสุข และครอบครัว เป็นผู้สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์และอุทิศกุศลแด่คุณปู่ ลิปโป แซ่เตียว และคุณย่า ชิวกี แซ่โง้ว รวมถึงญาติผู้ล่วงลับ เมื่อปี พ.ศ.2519 ได้รับการบูรณะซ่อมแซมในปี พ.ศ.2544

โรงเรียนธรรมวิลาส

            โรงเรียนธรรมวิลาส เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์ 3 ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ.2526

กำแพงวัด

            กำแพงวัดราชนัดดารามวรวิหาร ที่ปรากฏในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆด้วยกัน

            กำแพงแบบปราการ

            กำแพงวัดด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออก) มีลักษณะเป็นกำแพงทึบ ด้านบนมีเสมาเหลี่ยม (หรือลูกป้อม) ขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายปราการของกำแพงเมือง และมีลักษณะเดียวกับกำแพงวัดราชนัดดารามวรวิหาร )

            กำแพงแบบตะวันตก

            กำแพงวัดด้านข้าง (ด้านทิศใต้) และด้านหลัง (ด้านทิศตะวันตก) มีลักษณะเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนทึบ สันกำแพงหนา ในอดีตไม่มีแนวกำแพงเหล่านี้[1] แต่จะใช้แนวอาคารต่างๆริมวัดแทน สันนิษฐานว่ากำแพงด้านข้างและด้านหลังของวัด สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่มีการขยายและปรับปรุงซอยสำราญราษฎร์ พร้อมๆกับซุ้มประตูวัดในด้านดังกล่าว คือราวปี พ.ศ.2493

            ส่วนกำแพงวัดด้านข้าง (ด้านทิศใต้) ของพระวิหาร (กำแพงวัดระหว่างวิหารน้อยทั้ง 2 หลัง) มีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากกำแพงส่วนอื่นๆ คือเป็นกำแพงก่อทึบ มีการเจาะช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กไว้เป็นแนวตลอดตัวกำแพง สำหรับบรรจุอัฐิ พื้นที่บริเวณนี้ แต่เดิมมีอาคารยาวตั้งอยู่ระหว่างวิหารน้อยทั้ง 2 หลังนี้ แต่ถูกรื้อออกไป และสร้างเป็นกำแพงดังกล่าวราวปี พ.ศ.2551-2552 

            ส่วนกำแพงวัดด้านทิศเหนือ ส่วนหนึ่ง (ส่วนที่เป็นเขตพุทธาวาส) ใช้กำแพงแก้วของการเปรียญ เป็นกำแพงวัด

ซุ้มประตู (บริเวณกำแพงวัด)

            ซุ้มประตูบริเวณกำแพงวัดมีอยู่ 5 ซุ้ม แบ่งเป็นการสร้าง 2 สมัยด้วยกัน

            ซุ้มประตูแบบตะวันตก เป็นซุ้มประตูที่สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งสร้างวัด มี 3 ประตู ได้แก่ ซุ้มประตูด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออก) ของวัด ตรงกับพระอุโบสถ พระวิหาร และการเปรียญ

            ซุ้มประตูวัดตรงกลาง ด้านหน้าวัด หรือซุ้มประตูที่ตรงกับพระอุโบสถ เป็นซุ้มประตูที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีลักษณะก่ออิฐถือปูน ด้านข้างมีเสาข้างละ 2 ต้น ด้านล่างของเสาทำเป็นบัวคว่ำและลูกแก้วอกไก่ ส่วนด้านบนของเสาเป็นลูกแก้วอกไก่และบัวหงาย รองรับซุ้มโค้ง ด้านบนของซุ้มโค้งเป็นหลังคาปูนปั้นเหลี่ยม เอนลาดเป็นแนวโค้งเข้าสู่ศูนย์กลาง ลักษณะทรงปิรามิดหรือทรงซุ้มหรือทรงกระโจม

            ซุ้มประตูด้านทิศเหนือของด้านหน้าวัด หรือซุ้มประตูวัดที่ตรงกับการเปรียญ มีลักษณะใกล้เคียงกับซุ้มประตูกลาง แต่มีขนาดที่เล็กกว่า โดยมีลักษณะก่ออิฐถือปูน ด้านข้างทำเป็นเสา ข้างละ 1 ต้น ส่วนล่างของเสาทำเป็นฐานบัว เสารองรับซุ้มโค้ง ด้านบนของซุ้มโค้งเป็นหลังคาปูนปั้นเซาะร่องปูนปั้นให้มีลักษณะหลังคาลอนกลม หลังคาเอนลาดเป็นแนวโค้งเข้าสู่ศูนย์กลาง ลักษณะทรงปิรามิดหรือทรงซุ้มหรือทรงกระโจม

            ซุ้มประตูด้านทิศใต้ของด้านหน้าวัด หรือซุ้มประตูวัดที่ตรงกับพระวิหาร มีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับซุ้มประตูวัดด้านทิศเหนือ โดยมีลักษณะก่ออิฐถือปูน ด้านข้างทำเป็นเสา ข้างละ 1 ต้น ส่วนล่างของเสาทำเป็นฐานบัว ส่วนบนของเสามีลวดบัว เสารองรับซุ้มโค้ง ด้านบนของซุ้มโค้งเป็นหลังคาปูนปั้นเหลี่ยมคล้ายลอนกระเบื้อวหลังคา หลังคาเอนลาดเป็นแนวโค้งเข้าสู่ศูนย์กลาง ลักษณะทรงปิรามิดหรือทรงซุ้มหรือทรงกระโจม มีปูนปั้นเล็กๆประดับที่ตำแหน่งของมุมเชิงชายหลังคา ฐานหลังคาทรงกระโจมมีการปั้นปูนตกแต่งเป็นลวดลายดอกไม้และใบไม้

ซุ้มประตูแบบเครื่องคอนกรีต

            ซุ้มประตูที่สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2493 พร้อมๆกับกำแพงวัดด้านทิศใต้และทิศตะวันตก  

            ซุ้มประตูด้านทิศใต้ มีลักษณะเป็นซุ้มหน้าจั่ว ก่ออิฐถือปูน ด้านข้างเป็นเสา ที่ทำส่วนฐานเป็นบัวคว่ำ และส่วนบนเป็นบัวหงาย เสารองรับหลังคาจั่วที่มีใบระกาและหางหงส์ ที่ส่วนหน้าบันมีปูนปั้นเป็นตัวหนังสือว่า “วัดเทพธิดาราม พ.ศ.2493” สถาปัตยกรรมโดยรวมของซุ้มประตูด้านนี้ เป็นแบบไทย “เครื่องคอนกรีต” ที่นิยมมากในช่วง พ.ศ.2485-2515 โดยจะเห็นได้ถึงลักษณะที่แสดงถึงความหนักแน่นแข็งแกร่ง เรียบง่าย ลดลักษณะความอ่อนช้อยลง ตัดทอนรายละเอียดลง โดยเฉพาะรายละเอียดในงานปูนปั้น ซึ่งแตกต่างไปจากสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีที่มีความประณีตและอ่อนช้อย แต่เค้าโครงโดยรวมของงานยังคงยึดหลักของสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี

            ส่วนซุ้มประตูด้านหลังวัด ข้างคณะ 1 (ด้านทิศตะวันตก) เป็นประตูขนาดเล็กสำหรับคนเดินผ่านได้คนเดียว สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นรุ่นราวคราวเดียวกับกำแพงวัดด้านนี้ ด้านข้างของซุ้มประตูมีลักษณะเป็นเสาสี่เหลี่ยม ด้านบนของเสาทำเป็นบัวหงาย (ส่วนล่างของเสาจมอยู่ใต้ดิน) รองรับปูนปั้นที่มีทำเป็นลักษณะผืนผ้าม้วนกลม ด้านบนของซุ้มประตูเป็นคานที่ปั้นปูนส่วนบนสุดเป็นลักษณะคดโค้ง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตอน 3 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2526.

กรมแผนที่ทหาร. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2431-2474. กรุงเทพฯ : กองบัญชาการทหารสูงสุด, 2542.

กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ : เอกสารวิชาการกองโบราณคดี หมายเลข 13/2532, 2537.

กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2538.

กรมศิลปากร. ศิลปวัฒนธรรม เล่ม 4 วัดสำคัญ กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

กรมศิลปากร. วัดสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณี. การขุดตรวจสอบทางโบราณคดี บริเวณหอพระไตรปิฎก กุฏิคณะ 5 วัดเทพธิดารามกรุงเทพมหานคร. โครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยประเพณี เพื่อการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก บริเวณกุฏิคณะ 5 วัดเทพธิดาราม. เอกสารอัดสำเนา, 2552.

คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี. ศิลปวัฒนธรรม เล่ม 4 วัดสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สหประชาพาณิชย์, 2525.

ณัฐวัตร จินรัตน์. “การออกแบบสถาปัตยกรรมตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 (ศึกษาเฉพาะเขตพุทธาวาสของพระอารามหลวงที่สร้างขึ้นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์)” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546.

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ. องค์ประกอบทางกายภาพ กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534.

บัณฑิต จุลาสัย, เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร และพีรศรี โพวาทอง. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450-2550. กรุงเทพฯ : สำนักผังเมือง กรุงเทพหานคร, 2550.

ปิยมาศ สุขพลับพลา. “การศึกษาเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมพระอารามหลวงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว : กรณีศึกษาวัดเทพธิดารามวรวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดเฉลิม  พระเกียรติวรวิหาร” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิยาลัยศิลปากร, 2546.

วงศ์ฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา. “การศึกษาสถาปัตยกรรมในเขตพุทธาวาสวัดเทพธิดารามวรวิหาร” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิยาลัยศิลปากร, 2538.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระราชศรัทธาปณิธานในการสถาปนาวัตถุสถานในพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548.

สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์. การขุดตรวจสอบทางโบราณคดี บริเวณหอพระไตรปิฎก กุฏิคณะ 5 วัดเทพธิดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร. ม.ป.ท., 2552.

สุนทรภู่. รำพันพิลาป. กรุงเทพฯ : วรรณศิลป์สโมสร, 2530.

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี