เขาแบนะ


โพสต์เมื่อ 15 ม.ค. 2022

ชื่ออื่น : เขาเจ้าไหม

ที่ตั้ง : อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา

ตำบล : ไม้ฝาด

อำเภอ : สิเกา

จังหวัด : ตรัง

พิกัด DD : 7.41311 N, 99.34238 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากจังหวัดตรังไปตามทางหลวงจังหวัดตรังหมายเลข 4046 (ตรัง – สิเกา) ถึงกิโลเมตรที่ 30 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4162 สู่หาดปากเมงเป็นระยะทาง ประมาณ 40 กิโลเมตร จากหาดปากเมงเลี้ยวซ้ายไปตามถนนเลียบชายหาดอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม รวมระยะทางทั้งสิ้น 47 กิโลเมตร แหล่งภาพเขียนสีอยู่บนหน้าผาของเขาแบนะ ภูเขาหินปูนที่ตั้งอยู่ติดชายฝั่ง ปลายแหลมสุดด้านทิศใต้ของหาดเจ้าไหม ติดกับที่ทำการอุทยาน 

ภาพเขียนสีอยู่ที่หน้าผาของเขาแบนะ ซึ่งตั้งอยู่กลางทะเล ติดกับชายฝั่งหาดเจ้าไหม ห่างจากหาดเจ้าไหมบริเวณหน้าอุทยาน 150 เมตร  ดังนั้น ผู้สนใจสามารถชมภาพเขียนสีเขาเจ้าไหม หรือภาพเขียนสีเขาแบนะ ได้ทุกวัน แต่หากชมในระยะใกล้ ต้องรอช่วงเวลาน้ำลง จึงจะสามารถเดินเท้าลงไปชมได้ แต่ถ้าในช่วงน้ำทะเลขึ้น การเข้าชมต้องว่ายน้ำหรือเดินลุยน้ำ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม 
     ที่อยู่ : เลขที่ 142/18 หมู่ 5 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง 92150
     โทรศัพท์ : 0 7582 9967 (ที่ทำการ), 08 0 647 2292 (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว)
     โทรสาร : 0 7582 9967
     E-mail : hatchaomai@hotmail.com
   อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท, ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา, ภูเขา

สภาพทั่วไป

เขาแบนะ ตั้งอยู่ปลายสุดด้านทิศใต้ของหาดเจ้าไหม เป็นภูเขาหินปูนลูกโดด มีลักษณะคล้ายกระโดงฉลามที่โดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ โดยบริเวณด้านบนมีความสูงประมาณ 100 กว่าเมตร ภาพเขียนสีอยู่บริเวณหน้าผาในฝั่งที่หันหน้าไปทางทิศเหนือ อยู่สูงจากพื้นหาดปัจจุบันประมาณ 3.5 เมตรขึ้นไป อยู่ห่างจากชายหาดเจ้าไหมบริเวณหน้าหาดที่ทำการอุทยาน ไปทางทิศเหนือประมาณ 150 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

0 เมตร

ทางน้ำ

ทะเลอันดามัน

สภาพธรณีวิทยา

เขาแบนะเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด อยู่ในกลุ่มหินราชบุรี (กรมศิลปากร 2550)

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งศิลปะถ้ำ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ภาพเขียนสีอยู่หน้าผาด้านทิศเหนือของเขาแบนะ หันหน้าออกสู่ทะเล ลักษณะเป็นภาพเขียนสีแดง หลายภาพ แต่ส่วนใหญ่มีสภาพลบเลือน ที่เห็นเด่นชัดชัดเป็นภาพปลา 2 ตัว ส่วนหัวและครีบหาง เขียงลงสีทึบ ลำตัวเขียนแบบลายเส้นโครงร่างภายใน มีการตกแต่งเป็นลาย ส่วนอีกภาพมีขนาดใหญ่ ระบายสีแดงทึบทั้งภาพ มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นภาพปลาขนาดใหญ่หรือเสือ?

กรมศิลปากรสำรวจพบหลักฐานโบราณวัตถุตลอดแนวเพิงผา ได้แก่ โบราณวัตถุประเภทหิน ซึ่งไม่มีลักษณะเครื่องมือที่ชัดเจน และโบราณวัตถุประเภทดินเผา โดยพบภาชนะดินเผา 4 ชิ้น ได้แก่ ส่วนปากภาชนะ 2 ชิ้น หนา 0.6-0.9 เซนติเมตร ด้านนอกผิวเรียบ ด้านในขัดมัน ขอบปากผายออก เน้อหยาบมีกรวดปน เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร จำนวน 1 ชิ้น อีกชิ้นหนึ่งผิวขัดมันทั้งด้านนอกและด้านใน ขอบปากกลมผายออก เนื้อหยาบ ไม่มีกรวดปน และส่วนลำตัวภาชนะ 2 ชิ้น หนา 0.5 เซนติเมตร เนื้อหยาบมีกรวดปน ใส้กลางดำทั้ง 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งผิวเรียบธรรมดา อีกชิ้นหนึ่งขัดมันทั้งด้านนอกและด้านใน (อัตถสิทธิ์ สุขขำ 2553)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจําแนกเขตเพื่อการจดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2550.

กรมศิลปากร. ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร 2533.

สุวิทย์ ชัยมงคล ยุภาวดี ชูเทียนธรรม และสุวิมล วัลย์เครือ. ก่อนประวัติศาสตร์ภาคใต้ ชุมพร ระนอง ตรัง สตูล. กรุงเทพฯ : เอกสารกองโบราณคดีหมายเลข 4/2534 กมศิลปากร, 2534 

อัตถสิทธิ์ สุขขำ. "การกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคใต้ของประเทศไทย." วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์), 2553.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี