ถ้ำเขากลาง


โพสต์เมื่อ 19 ก.ย. 2021

ชื่ออื่น : เขากลาง (ถ้ำพระ), เขากลาง, ถ้ำพระ, เขาถ้ำพระ

ที่ตั้ง : บ้านเขากลาง ม.13

ตำบล : ปันแต

อำเภอ : ควนขนุน

จังหวัด : พัทลุง

พิกัด DD : 7.760928 N, 100.068433 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลสาบสงขลา, อ่าวไทย

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองดอนศาลา, คลองกระถิน, คลองดอนนูด

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

การเดินทางไปยังแหล่งโบราณคดีเขากลาง (ถ้ำพระ) สามารถทำได้โดยการเดินทางจากวัดเขาอ้อ ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน ขึ้นไปทางทิศเหนือ ตามถนนของ อบจ.พัทลุง สาย ต.ปันแต-ต.มะกอกเหนือ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะพบเขากลางซึ่งแอป็นที่ตั้งของแหล่งทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ แต่แหล่งโบราณคดีที่ถูกบุกรุกทำลาย

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3694 วันที่ 8 มีนาคม 2478

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา

สภาพทั่วไป

เขากลางเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด บริเวณที่พบภาพเขียนสีมีลักษณะเป็นเพิงผาธรรมชาติ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขากลาง เพิงผาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีความยาวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ประมาณ 40 เมตร บริเวณด้านหน้าเพิงผมมีสภาพเป็นลานดินกว้างประมาณ 7 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

30 เมตร

ทางน้ำ

อ่าวไทย, ทะเลสาบสงขลา, คลองดอนศาลา, คลองกระถิน, คลองดอนนูด

สภาพธรณีวิทยา

เขากลางเป็นภูเขาหินปูนในหมวดหินไชยบุรี (TRch) ยุคไทรแอสซิก ประกอบด้วย หินปูน สีเทาถึงเทาอ่อน แสดงชั้นหินชัดเจน ชั้นหนาถึงไม่แสดงชั้น เนื้อหินตกผลึก หมวดหินนี้อายุ ประมาณ 245-210 ล้านปี (กรมทรัพยากรธรณี 2550)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียน

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กรมศิลปากรสำรวจ

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช สำรวจภาพจิตรกรรม

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

18 กรกฎาคม 2555 กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ดำเนินการสำรวจ

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน, แหล่งศิลปะถ้ำ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ และภาพเขียนสีสมัยอยุธยาที่เขียนเป็นภาพเรื่องพุทธประวัติและเรื่องราวในพุทธศาสนาและภาพประกอบพิธีกีรรม สีที่ใช้ในการวาด ได้แก่ สีแดงและสีดำ แบ่งเป็น 10 กลุ่ม ดังนี้

            กลุ่ม 1 อยู่ทางด้านทิศใต้ของผนังเพิงผา เขียนภาพพระพุทธรูปเรียงกันเป็นแนวเรียกว่า พระอันดับ จำนวน 23 องค์ ภาพเขียนกลุ่มนี้อยู่ในสภาพลบเลือนมาก ด้านล่างของภาพพระอันดับปรากฏคล้ายรูปบุคคล 2 คน นั่งอยู่บนเรือสำเภา เป็นกลุ่มภาพสมัยอยุธยา

            กลุ่ม 2 เป็นภาพบริเวณตรงกลางผนังหิน เป็นภาพที่เด่นที่สุดเขียนเป็นรูปักษ์แบกเจดีย์ ยักษ์นุ่งผ้าตาหมากรุกมีงูพันอยู่รอบกาย ทางด้านซ้ายและขวาของยักษ์เขียนเป็นรูปเจดีย์ขนาดเล็ก ด้านบนของเจดีย์องค์ซ้ายเขียนรูปนกเกาะอยู่บนกิ่งไม้ ใต้ภาพนกมีภาพชายมีหนวดเครา ถือเชือกจูงบุคคล 2 คน สันนิษฐานว่าเป็นภาพชูชกจูงกัณหาชาลี เป็นกลุ่มภาพสมัยอยุธยา

            กลุ่ม 3 อยู่ในภาพกลุ่ม 2 ส่วนล่างของเพิงผา เขียนภาพสัตว์ที่ไม่สามารถระบุชิดได้ อาจเป็นภาพยุคก่อนประวัติศาสตร์

            กลุ่ม 4 อยู่ถัดจากภาพกลุ่ม 3 ไปทางทิศเหนือ เขียนภาพบุคคลกำลังจับช้างหรือปราบช้าง เป็นกลุ่มภาพสมัยอยุธยา

            กลุ่ม 5 อยู่ถัดจากภาพกลุ่ม 4 ไปทางทิศเหนือ เป็นกลุ่มภาพขนาดใหญ่แต่ถูกเขม่าจับจนไม่สามารถระบบุลักษณะส่วนหญ่ของภาพได้ โดยบริเวณส่วนซ้ายของภาพจะเห็นภาพบุคคลจูงมือกัน เป็นกลุ่มภาพสมัยอยุธยา

            กลุ่ม 6 อยู่ถัดจากภาพกลุ่ม 5 ไปทางทิศเหนือ เขียนภาพช้างกำลังเดินหันหน้าไปทางทิศเหนือ เป็นกลุ่มภาพสมัยอยุธยา

            กลุ่ม 7 อยู่ถัดจากภาพกลุ่ม 6 ไปทางทิศเหนือ เขียนภาพคนแต่งชุดคล้ายชุดประกอบพิธีกรรม โดยด้านซ้ายของภาพเป็นภาพบุคคลสวมเครื่องประดับศีรษะคล้ายรูปเขาควาย น่าจะเป็นรูปของนักบบวชผู้ประกอบพิธีกรรม ถัดไปเป็นภาพบุคคลเดินเรียงเป็นแถว เป็นกลุ่มภาพยุคก่อนประวัติศาสตร์

            กลุ่ม 8 อยู่ถัดจากภาพกลุ่ม 7 ไปทาทิศเหนือ เขียนรูปอาคารลักษณะคล้ายปราสาทราชวัง 3 หลัง ภายในปราสาทหลังกลางเขียนเป็นรูปบุคคลนั่งอยู่ภายใน ลักษณะเหมือนเป็นลายเส้น เป็นกลุ่มภาพสมัยอยุธยา

            กลุ่ม 9 อยู่บนชะง่อนเฟิงผาเหนือภาพกลุ่ม 7 เขียนภาพพระไสยาสน์หันปลายพระบาทไปทางทิศเหนือ หันเศียรไปทางทิใต้ เป็นกลุ่มภาพสมัยอยุธยา

            กลุ่ม 10 อยู่บริเวณเหนือสุดของผนังเพิงผา เขียนภาพดอกไม้ ธรรมจักร และจุดวงกลม

 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

สารัท ชลอสันติสกุล, ชาคริต สิทธิฤทธิ์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

สารัท ชลอสันติสกุล และชาคริต สิทธิฤทธิ์. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์พัทลุง. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร, 2557.

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดพัทลุง. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2550.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี