ปราสาทตาเมือนโต๊ด


โพสต์เมื่อ 2 พ.ย. 2020

ชื่ออื่น : ปราสาทตาเมือนโตจ, ปราสาทตาเมือนโต๊จ

ที่ตั้ง : ม.8 บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์

ตำบล : ตาเมียง

อำเภอ : พนมดงรัก

จังหวัด : สุรินทร์

พิกัด DD : 14.354073 N, 103.261457 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ชี

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองตาโมง, คลองโอกรุ, ลำห้วยเสน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ออกจากตัวอำเภอพนมดงรักไปตามถนนสายชนบทไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร ไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 (สายอำเภอกาบเชิง-อำเภอบ้านกรวด) เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงบริเวณสามแยกทางเข้าหมู่บ้านหนองคันนา เลี้ยวซ้ายไปทางทิศใต้ตามทางหลวงแผ่นดินสายชนบทหมายเลข 2047 ทางทิศใต้ประมาณ 3.5 กิโลเมตรถึงปราสาทตาเมือน และประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงกลุ่มปราสาทตาเมือน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เวลาทำการ 9.00-15.00 น. ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่นักท่องเที่ยวต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อยืนยันการเป็นคนไทยไปแลกบัตรเข้าชมกับทหารผู้ดีแลพื้นที่ด้วยทุกครั้ง และไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีบัตรประชาชนรวมถึงชาวต่างชาติเข้าชม และเนื่องจากยังไม่มีรถโดยสารประจำทางมาถึง นักท่องเที่ยวสามารถนำรถมาเองได้

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, ทหารพรานกองร้อยจู่โจมที่ 961 กรมทหารพรานที่ 23 กองทัพภาค 2

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3712 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ

2. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106 ตอนที 220 วันที่ 14 ธันวาคม 2532 เรื่อง การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานระดับชาติ

ภูมิประเทศ

ภูเขา

สภาพทั่วไป

กลุ่มปราสาทตาเมือนตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นแนวเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา สภาพทั่วไปอยู่ในป่าทึบ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ และเป็นพื้นที่ควบคุมของทหาร โบราณสถานได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว

ปราสาทตาเมือนโต๊ด ตั้งอยู่ห่างจากปราสาทตาเมือน (บายกรีม) มาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 300 เมตร และตั้งอยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนธม มาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 700 เมตร  

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

215 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำชี, คลองตาโมง, คลองโอกรุ, ลำห้วยเสน 

สภาพธรณีวิทยา

สภาพธรณีวิทยา (กรมทรัพยากรธรณี 2553: 16) อยู่ในหมวดหินภูพาน (Kpp) กลุ่มหินโคราช ยุคครีเทเชียส (66.4-140 ล้านปีมาแล้ว) ลักษณะหิ้นเป็นหินทรายสีเทาขาว เหลืองจาง ขาวปนเหลืองส้ม ขนาดเมล็ดทรายหยาบถึงหยาบปานกลาง การคัดขนาดไม่ดี เม็ดทรายค่อนข้างเหลี่ยม เนื้อแน่น แข็ง แสดงชั้น และชั้นเฉียงระดับ และหินกรวดมน สีเทาขาว เหลืองจาง ขาวปนเหลืองส้ม ขนาดเมล็ดกรวดเล็กถึงปานกลาง วางตัวอย่างต่อเนื่องอยู่บนหมวดหินเสาขรัว

หมวดหินภูพานบริเวณช่องปราสาทตาเมือนนี้ สันนิษฐานว่าถูกใช้เป็นวัสดุในการสร้างปราสาทด้วย

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยบายน

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 18

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : มานิต วัลลิโภดม, จำรัส เกียรติก้อง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2502, พ.ศ.2503

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กองโบราณคดีและหน่วยศิลปากรที่ 6, กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

เป็นการสำรวจกลุ่มปราสาทตาเมือนครั้งแรก ได้พบหลักฐานทางสถาปัตยกรรม และพบจารึกอักษรขอมภาษาสันสกฤต ที่ปราสาทตาเมือนโต๊ด

ชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2510

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

สันนิษฐานว่าปราสาทตาเมือนธม น่าจะสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1600-1650

ชื่อผู้ศึกษา : ชะเอม แก้วคล้าย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

อ่านและแปลจารึกปราสาทตาเมือนโตจ เป็นจารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤต ได้ข้อมูลด้านการปกครองสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพบว่าเป็นจารึกแบบเดียวกับที่พบในโบราณสถานที่เรียกว่าอโรคยศาลา

ชื่อผู้ศึกษา : มานิต วัลลิโภดม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : ศึกษาการจัดการ/พัฒนาแหล่งโบราณคดี

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, กองทัพภาคที่ 2

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 6 ร่วมมือกับกองทัพภาคที่ 2 เปิดแหล่งโบราณคดีกลุ่มปราสาทตาเมือน มีการตัดถนนเข้าสู่แหล่งโบราณคดีนี้ โดยในปีเดียวกันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ได้เสด็จไปศึกษากลุ่มปราสาทตาเมือน

ชื่อผู้ศึกษา : ปราโมทย์ เงินไพโรจน์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

คณะสำรวจจากหน่วยศิลปากรที่ 6 ได้เข้าสำรวจทำผังบริเวณ และผังสภาพปัจจุบันของกลุ่มปราสาทตาเมือน และได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะกลุ่มปราสาทตาเมือนบางส่วนในปีงบประมาณ 2534

ชื่อผู้ศึกษา : อนงค์ หนูแป้น

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

อนงค์ หนูแป้น เสนอวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “การศึกษากลุ่มปราสาทตาเมือน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์”

ชื่อผู้ศึกษา : หจก.ปุราณรักษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9, กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ดำเนินการบูรณะปราสาทตาเมือนธม ด้วยวิธีอนัสติโลซิส โดยห้างฯได้บูรณะโคปุระ ระเบียงคดด้านทิศเหนือให้อยู่ในสภาพดี

ชื่อผู้ศึกษา : ก่องแก้ว วีระประจักษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

อ่านจารึกที่พบที่ปราสาทตาเมือนธม ทำให้ทราบว่าปราสาทตาเมือนธมมีการใช้งานเป็นศาสนสถาน 2 สมัย สมัยแรกก่อนสร้างตัวปราสาทราวพุทธศตวรรษที่ 12 และต่อมาคือระยะสร้างตัวปราสาทในพุทธศตวรรษที่ 16

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา บูรณะโบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน (ตาเมือนธม) จ. สุรินทร์

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา บูรณะโบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ปราสาทตาเมือนโต๊ค หรือตาเมือนโตจ มีแผนผังแบบเดียวกับศาสนสถานที่เรียกว่า อโรคยศาลา หรือศาสนสถานประจำอโรคยศาลา ประกอบด้วยปราสาทประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก และบรรณาลัยอยู่ในกำแพงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยม

ปราสาทประธานมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมก่อเป็นมุขยื่นออกมา ทางทิศใต้ของผนังมุข เจาะเป็นหน้าต่างหนึ่งช่อง ทางทิศเหนือก่อเป็นผนังทึบ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้นด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ค่อนข้างแคบและวางแลงเหลื่อมกันเล็กน้อย เนื่องจากรับกับชานชารูปกากบาท ซึ่งเชื่อมกับโคปุระด้านหน้า ภายในเรือนธาตุที่ก่อด้วยศิลาทรายนั้นปูด้วยศิลาแลง และพื้นที่ภายในค่อนข้างแคบ เครื่องบนหลังคาก่อด้วยศิลาแลงก่อลดหลั่นขึ้นไป 4 ชั้น จนถึงส่วนยอดสุด ซึ่งทำเป็นรูปดอกบัวสลักจากศิลาทรายเป็นรูปกลีบบัวหงาย และรูปดอกบัวตูม

สำหรับ บรรณาลัย ก่อด้วยศิลาแลง มีประตูทางเข้าอยู่ทางด้านหน้าคือทิศตะวันตกซึ่งหันหน้าเข้าหาปราสาทประธาน ทางด้านทิศตะวันออกทำเป็นประตูปลอมที่ยังสลักไม่เสร็จ ผนังด้านข้างทำเป็นช่องหน้าต่างหลอกมีกรอบหน้าต่างเป็นศิลาทราย

ปราสาทและบรรณาลัยมีกำแพงแก้วสร้างด้วยศิลาแลงล้อมรอบปราสาททั้ง 4 ด้าน กึ่งกลางของกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกมีโคปุระภายในมีชานชาลารูปกากบาทเชื่อมต่อโคปุระถึงปราสาทประธาน ภายนอกโคปุระมีชานชาลารูปกากบาทเช่นกัน ด้านหน้ามีบันไดทางขึ้น ทางด้านทิศเหนือขอชานชาลารูปกากบาทมีสระน้ำ 1 สระ ขอบสระกรุด้วยศิลาแลงเป็นบันไดขึ้นลง

ศิลาจารึกปราสาทตาเมือนโตจ พบ 1 หลัก ซึ่งได้มีการอ่านและแปลแล้ว เป็นจารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤต ขนาดกว้าง 35 ซ.ม. สูง 116 ซ.ม. หนา 27 ซ.ม. ข้อมูลที่ได้จากศิลาจารึกเป็นข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ กล่าวถึงพระเจ้าศรีชัยวรมัน ว่าเป็นโอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมัน เมื่อขึ้นครองราชย์ได้นำความเจริญมาสู่อาณาจักรสมัยพระองค์ ส่วนข้อมูลด้านการปกครองทำให้ทราบว่าสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้กระจายอำนาจการปกครองโดยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่มาจากส่วนกลาง การรักษาพยาบาลมีความเท่าเทียมกัน มีคำกล่าวที่ปรากฏในจารึกว่า “ทุกข์ของประชาชนเหมือนทุกข์ของพระราชา” ซึ่งข้อมูลด้านศาสนา ทำให้ทราบว่าโรงพยาบาลอยู่ภายใต้บารมีของพระพุทธเจ้าแพทย์ คือ พระพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา “เทพเจ้าผู้รักษาโรค ซึ่งประกอบด้วยไพฑูรย์แห่งส่องแสง” (ชะเอม แก้วคล้าย, 2528, 1-2.) จารึกที่พบที่ปราสาทตาเมือนโตจเป็นจารึกทีมีความสำคัญที่ทำให้สามารถสรุปได้ว่าโบราณสถานที่มีรูปแบบเช่นนี้เป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นเป็นศาสนสถานในโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นสำหรับประชาชนตามท้องถิ่นต่างๆในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ดังปรากฏหลักฐานในจารึกปราสาทตาพรหมว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างสถานพยาบาลจำนวน 102 แห่งทั่วพระราชอาณาจักร

สำหรับจารึกที่กล่าวถึงศาสนสถานประจำโรงพยาบาล คือ จารึกปราสาทตาพรหม ปี พ.ศ.1729 กล่าวถึงการสร้างโรงพยาบาล 102 แห่ง ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โบราณสถานเห่านี้มักพบจารึกด้วย โดยปราสาทตาเมือนโตจก็ได้พบจารึกที่ทำให้ทราบว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานประจำโรงพยาบาล และคงเคยประดิษฐานพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา (อนงค์ หนูแป้น, 2535 : 42) เทพเจ้าแห่งการรักษาโรค ทั้งนี้ตัวโรงพยาบาลคงสร้างด้วยไม้ จึงไม่หลงเหลือหลักฐานแล้ว

ในประเทศไทยพบโบราณสถานที่เป็นศาสนสถานประจำอโรคยศาลาแล้ว ได้แก่ กู่แก้ว จ.ขอนแก่น, กู่สันตรัตน์ และกู่มหาธาตุ จ.มหาสารคาม, ปราสาทหนองกู่ จ.ร้อยเอ็ด, ปรางค์กู่ จ.ชัยภูมิ, ปราสาทสระกำแพงน้อย ปราสาทบ้านสมอ จ.ศรีษะเกษ, ปราสาทตาเมือนโต๊จ ปราสาทเฉนียง ปราสาทบ้านช่างปี่ ปราสาทจอมพระ ปราสาทบ้านปราสาท จ.สุรินทร์, ปราสาทโคกปราสาท ปราสาทน้อย (กุฏิฤาษี) กุฏิฤาษีหนองบัวราย วัดโพธิ์ย้อย จ.บุรีรัมย์, ปราสาทกู่พราหมณ์จำศีล ปรางพลสงคราม ครบุรี เมืองเก่า และปาสารทนางรำ จ.นครราชสีมา

โดยสิ่งที่น่าสนใจของปราสาทตาเมือนโต๊จคือเรือนธาตุของปราสาทประธานสร้างจากศิลาทราย ส่วนยอดสร้างโดยใช้ศิลาแลง  การใช้หินทรายอาจเพราะอยู่ใกล้กับแหล่งตัดหินทราย หรืออยู่ใกล้เมืองพระนครอันเป็นเมืองหลวงของเขมรมากกว่าอโรคยศาลอื่นๆที่พบในประเทศไทย ดังนั้นความพิถีพิถันอาจมีมากกว่า (รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, 2548 : 157)

จากหลักฐานการพบที่พักคนเดินทาง หรือศาสนสถานประจำธรรมศาลา และอโรคยศาลาข้างต้น ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างขึ้นตามเมืองสำคัญต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนเขมรโบราณซึ่งเป็นฮินดูมาเป็นพุทธศาสนามหายาน และย่อมหมายถึงการเป็นที่ยอมรับของประเทศใกล้เคียง

การค้นพบปราสาทตาเมือน ซึ่งเป็นธรรมศาลา หรือศาสนสถานประจำที่พักคนเดินทางใกล้กับปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาเมือนโต๊จ ซึ่งเป็นอโรคยศาลา ทำให้ทราบว่าพื้นที่แห่งนี้นอกจากเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มาตั้งแต่อย่างน้อยราวพุทธศตวรรษที่ 12 เพราะเป็นที่ตั้งของสวยัมภูวลึงค์ ณ ปราสาทตาเมือนธมแล้ว ยังเป็นเส้นทางสำคัญระหว่างเมืองพระนครกับเมืองพิมาย ซึ่งสัมพันธ์กับร่องรอยแนวถนนโบราณที่พบบริเวณกลุ่มปราสาทตาเมือนด้วย การปรากฏศาสนสถานเขมรที่มีอายุสมัยต่างกันเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนในละแวกกลุ่มปราสาทตาเมือน คงมีขนาดใหญ่ มีความสำคัญ และอยู่ภายใต้วัฒนธรรมเขมรเป็นเวลายาวนาน

จารึกที่เกี่ยวข้อง : จารึกปราสาทตาเมือนธม หลักที่ 1, หลักที่ 2, หลักที่ 3, หลักที่ 4, หลักที่ 5, หลักที่ 6, จารึกปราสาทตาเมือนโตจ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล, ภาวิณี รัตนเสรีสุข

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดสุรินทร์. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2553.

กรมศิลปากร. แหล่งท่องเที่ยวอีสานล่าง. เอกสารกองโบราณคดี หมายเลข 8/2533. กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, 2533.

ก่องแก้ว วีระประจักษ์, “อารยธรรมที่ปราสาทตาเมือนธมจากหลักฐานจารึก.” ศิลปากร 51, 5 (กันยายน-ตุลาคม 2551: 74.

ไขศรี ศรีอรุณ และสันติ เล็กสุขุม [ผู้แปล], “อำนาจศูนย์รวมและสถาปัตยกรรมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในประเทศไทย”, การค้นคว้าวิจัยทางโบราณคดีในประเทศไทย. เอกสารการประชุมทางวิชาการฝรั่งเศส-ไทย ครั้งที่ 2. 9-11 ธันวาคม 2534, หน้า 116-117

ชะเอม แก้วคล้าย. จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2528.

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปุราณรักษ์. รายงานการบูรณะปราสาทตาเมือนธม บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์. เอกสารอัดสำเนา, 2542.

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย : ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. [ผู้แปล], “ที่พักคนเดินทางของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7.” ศิลปวัฒนธรรม 16, 2 (ธันวาคม 2537) : 106.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ถึง พ.ศ.2000. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี, 2522.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2547.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. “ศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7.” ศิลปากร 10, 2 (กรกฏาคม 2509) : 52-61.

สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, รายงานการศึกษาวิเคราะห์เส้นทางวัฒนธรรมจากโบราณสถานและจารึกพบที่อโรคยศาล. มปท., 2553.

องค์ หนูแป้น. “การศึกษากลุ่มปราสาทตาเมือน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์.” วิทยานิพนธ์   ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2535.

หอสมุดแห่งชาติ, จารึกในประเทศไทย เล่ม 4 : อักษรขอมพุทธศตวรรษที่ 17-18. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529. 

Lawrence Palmer Briggs. The Ancient Khmer Empire. Bangkok : White Lotus, 1999.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี