ปราสาทตาเมือน


โพสต์เมื่อ 26 เม.ย. 2021

ชื่ออื่น : ปราสาทบายกรีม

ที่ตั้ง : ม.8 บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์

อำเภอ : พนมดงรัก

จังหวัด : สุรินทร์

พิกัด DD : 14.355731 N, 103.258467 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ชี

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองตาโมง, คลองโอกรุ, ลำห้วยเสน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ออกจากตัวอำเภอพนมดงรักไปตามถนนสายชนบทไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร ไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 (สายอำเภอกาบเชิง-อำเภอบ้านกรวด) เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงบริเวณสามแยกทางเข้าหมู่บ้านหนองคันนา เลี้ยวซ้ายไปทางทิศใต้ตามทางหลวงแผ่นดินสายชนบทหมายเลข 2047 ทางทิศใต้ประมาณ 3.5 กิโลเมตรถึงปราสาทตาเมือน และประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงกลุ่มปราสาทตาเมือน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เวลาทำการ 9.00-15.00 น. ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่นักท่องเที่ยวต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อยืนยันการเป็นคนไทยไปแลกบัตรเข้าชมกับทหารผู้ดีแลพื้นที่ด้วยทุกครั้ง และไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีบัตรประชาชนรวมถึงชาวต่างชาติเข้าชม และเนื่องจากยังไม่มีรถโดยสารประจำทางมาถึง นักท่องเที่ยวสามารถนำรถมาเองได้

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, ทหารพรานกองร้อยจู่โจมที่ 961 กรมทหารพรานที่ 23 กองทัพภาค 2

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ภูเขา

สภาพทั่วไป

กลุ่มปราสาทตาเมือนตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นแนวเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา สภาพทั่วไปอยู่ในป่าทึบ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ และเป็นพื้นที่ควบคุมของทหาร โบราณสถานได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว

ปราสาทตาเมือน (บายกรีม) ตั้งอยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนโต๊ด มาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 300 เมตร และตั้งอยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนธม มาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 1 กิโลเมตร 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

215 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำชี, คลองตาโมง, คลองโอกรุ, ลำห้วยเสน 

สภาพธรณีวิทยา

สภาพธรณีวิทยา (กรมทรัพยากรธรณี 2553: 16) อยู่ในหมวดหินภูพาน (Kpp) กลุ่มหินโคราช ยุคครีเทเชียส (66.4-140 ล้านปีมาแล้ว) ลักษณะหิ้นเป็นหินทรายสีเทาขาว เหลืองจาง ขาวปนเหลืองส้ม ขนาดเมล็ดทรายหยาบถึงหยาบปานกลาง การคัดขนาดไม่ดี เม็ดทรายค่อนข้างเหลี่ยม เนื้อแน่น แข็ง แสดงชั้น และชั้นเฉียงระดับ และหินกรวดมน สีเทาขาว เหลืองจาง ขาวปนเหลืองส้ม ขนาดเมล็ดกรวดเล็กถึงปานกลาง วางตัวอย่างต่อเนื่องอยู่บนหมวดหินเสาขรัว

หมวดหินภูพานบริเวณช่องปราสาทตาเมือนนี้ สันนิษฐานว่าถูกใช้เป็นวัสดุในการสร้างปราสาทด้วย

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยบายน

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 18

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : มานิต วัลลิโภดม, จำรัส เกียรติก้อง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2502, พ.ศ.2503

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กองโบราณคดีและหน่วยศิลปากรที่ 6, กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

เป็นการสำรวจกลุ่มปราสาทตาเมือนครั้งแรก ได้พบหลักฐานทางสถาปัตยกรรม และพบจารึกอักษรขอมภาษาสันสกฤต ที่ปราสาทตาเมือนโต๊ด

ชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2510

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

สันนิษฐานว่าปราสาทตาเมือนธม น่าจะสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1600-1650

ชื่อผู้ศึกษา : ชะเอม แก้วคล้าย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

อ่านและแปลจารึกปราสาทตาเมือนโตจ เป็นจารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤต ได้ข้อมูลด้านการปกครองสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพบว่าเป็นจารึกแบบเดียวกับที่พบในโบราณสถานที่เรียกว่าอโรคยศาลา

ชื่อผู้ศึกษา : มานิต วัลลิโภดม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : ศึกษาการจัดการ/พัฒนาแหล่งโบราณคดี

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, กองทัพภาคที่ 2

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 6 ร่วมมือกับกองทัพภาคที่ 2 เปิดแหล่งโบราณคดีกลุ่มปราสาทตาเมือน มีการตัดถนนเข้าสู่แหล่งโบราณคดีนี้ โดยในปีเดียวกันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ได้เสด็จไปศึกษากลุ่มปราสาทตาเมือน

ชื่อผู้ศึกษา : ปราโมทย์ เงินไพโรจน์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

คณะสำรวจจากหน่วยศิลปากรที่ 6 ได้เข้าสำรวจทำผังบริเวณ และผังสภาพปัจจุบันของกลุ่มปราสาทตาเมือน และได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะกลุ่มปราสาทตาเมือนบางส่วนในปีงบประมาณ 2534

ชื่อผู้ศึกษา : อนงค์ หนูแป้น

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

อนงค์ หนูแป้น เสนอวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “การศึกษากลุ่มปราสาทตาเมือน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์”

ชื่อผู้ศึกษา : หจก.ปุราณรักษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9, กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ดำเนินการบูรณะปราสาทตาเมือนธม ด้วยวิธีอนัสติโลซิส โดยห้างฯได้บูรณะโคปุระ ระเบียงคดด้านทิศเหนือให้อยู่ในสภาพดี

ชื่อผู้ศึกษา : ก่องแก้ว วีระประจักษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

อ่านจารึกที่พบที่ปราสาทตาเมือนธม ทำให้ทราบว่าปราสาทตาเมือนธมมีการใช้งานเป็นศาสนสถาน 2 สมัย สมัยแรกก่อนสร้างตัวปราสาทราวพุทธศตวรรษที่ 12 และต่อมาคือระยะสร้างตัวปราสาทในพุทธศตวรรษที่ 16

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา บูรณะโบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน (ตาเมือนธม) จ. สุรินทร์

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา บูรณะโบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ปราสาทตาเมือน หรือปราสาทบายกรีม (ในภาษาเขมรแปลว่า ข้าวแห้งหรือข้าวตาก) ตั้งบนเขาหินทรายธรรมชาติอันเป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาพนมดงรัก เป็นปราสาทด้านตะวันตกของกลุ่มปราสาทตาเมือน ตั้งอยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนโต๊ด มาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 300 เมตร และตั้งอยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนธม มาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 1 กิโลเมตร 

รูปแบบของปราสาทตาเมือนเป็นลักษณะของโบราณสถานที่เรียกว่า ที่พักคนเดินทาง หรือ ธรรมศาลา หรือ  วหนิคฤหะ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างขึ้นตามเส้นทางจากเมืองพิมายสู่เมืองพระนคร

ปราสาทตาเมือนเป็นปราสาทหลังเดี่ยว ก่อด้วยศิลาแลง มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ที่ผนังทิศใต้เจาะช่องหน้าต่าง ขณะที่ผนังด้านทิศเหนือก่อทึบ ตัวปราสาทอาจแบ่งเป็นสองส่วนที่สำคัญ คือ ครรภคฤหะสำหรับประดิษฐานรูปเคารพประธาน อยู่ฝั่งตะวันตก ด้านบนจะทำเป็นหลังคาชั้นซ้อนทรงปราสาทมียอดเป็นดอกบัวตูมสูงกว่าอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อยื่นออกมาทางด้านหน้า

ส่วนฐานก่อเพิ่มมุมล้อกับเรือนธาตุด้านบน ทางด้านทิศตะวันออกที่เป็นด้านหน้ามีการก่อแลงเหลื่อมกันเล็กน้อยคล้ายเป็นบันไดทางเข้าปราสาท เมื่อพิจารณาสัดส่วนความสูงจากพื้นที่มีความสูงค่อนข้างมากนี้ คงเคยมีเครื่องไม้ต่อยื่นออกมาเป็นทางขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เช่นเดียวกับทางด้านทิศตะวันตกมีร่องรอยของการตกแต่งฐานแลงเป็นทรงกลมสำหรับรับสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยไม้ เหนือขึ้นไปที่ทั้งสองข้างของคานทับหลังก็มีร่องรอยของเครื่องไม้มาประกอบเข้ากับตัวปราสาทด้านนี้เช่นกัน

ได้พบแผ่นหินทรายจำหลักเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้วเรียงติดกัน 2-3 ชิ้น ลักษณะแบบเดียวกับทับหลังกำแพงที่นิยมในสมัยบายน สำหรับประติมากรรมพบที่ปราสาทตาเมือน ได้แก่ ทับหลังสลักรูปพระพุทธรูปประทับนั่งภายในซุ้มเหนือหน้ากาล พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ ครองจีวรห่มเฉียง สวมกุณฑลที่ข้อพระบาท พระเนตรเนตรปิด พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย หน้ากาลไม่มีริมฝีปากล่างและใช้มือจับเท้าสิงห์ไว้สองข้าง สิงห์อยู่ในท่าเอี้ยวตัว สิงห์ทั้งสองตัวใช้มือจับลายก้านขดไว้ เหนือสิงห์มีบุคคลนั่งชันเข่า ทำมือในท่าประคองอัญชลี ลายก้านขดหมุนม้วนสลับกัน ด้านข้างเป็นลายใบไม้ม้วนเข้า ด้านบนเป็นลายใบไม้ตั้งขึ้นและใบไม้หันเข้าหาจุดศูนย์กลางอันเป็นลายที่นิยมมากในศิลปะแบบบายน นอกจากนี้มีเสากรอบประตูแปดพบที่ทางเข้าทั้งสองด้านของประตู สลักเป็นเสาแปดเหลี่ยม สลักเป็นลายเส้นนูนที่บรรจุลายใบไม้ห้ากลีบ และลายกลีบบัว ระเบียบลายของเสาจัดอยู่ในศิลปะแบบบายน

หลักฐานและผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างขึ้นธรรมศาลา ตามเส้นทางจากเมืองพิมายสู่เมืองพระนคร เริ่มเมื่อในปี พ.ศ.2482 มีการพบจารึกปราสาทพระขรรค์ ณ ปราสาทพระขรรค์ บริเวณเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา กำหนดอายุจากรูปแบบตัวอักษรในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1761) (Lawrence Palmer Briggs, 1999 : 209) ต่อมา ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์แปลจารึกปราสาทพระขรรค์จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2484 ก่อนที่จะได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ในปี พ.ศ.2509 มีเนื้อความที่เกี่ยวข้องกับที่พักคนเดินทาง คือ

        “บนถนนจากเมืองยโศธรปุระไปยังราชธานีแห่งประเทศจัมปา (พระองค์ได้ทรงสร้าง) ที่พักคนเดินทางพร้อมด้วยไฟ 57 แห่ง”

        “จากราชธานี (เมืองยโศธรปุระ) ไปยังเมืองวิมาย (พิมาย) (มี) ที่พักคนเดินทางพร้อมด้วยไฟ 17 แห่ง จากราชธานี (เมืองยโศธรปุระ) ไปยังเมืองชัยวดี จากเมืองชัยวดีไปยังเมืองชัยสิงหวดี”

        “จากที่นั่นไปยังเมืองชัยวีรวดี จากเมืองชัยวีรวดีไปยังเมืองชัยราชคีรี จากชัยราชคีรี ไปยังเมืองศรีสุวีรปุรี”

        “จากเมืองนั้นไปยังเมืองยโศธรปุระ (ตามทาง) มีที่พักคนเดินทางพร้อมด้วยไฟ ๑๔ แห่ง มีที่พักคนเดินทางอีก 1 แห่ง ณ ศรีสูรยบรรพต”

        “ที่พักคนเดินทางแห่งหนึ่งที่ศรีวิชยาทิตยปุระ อีกแห่งหนึ่งที่กัลป์ยาณสิทธิกะ รวมทั้งหมดมี (ที่พักคนเดินทาง) 121 แห่ง (สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ., 2509) : 52-61)

เนื้อความจากจารึกข้างต้น สอดคล้องกับบันทึกของจิวตากวน นักเดินทางชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในเมืองพระนครในปี พ.ศ.1839-1840 อันเป็นช่วงหลังรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราว 100 ปี จิวตากวนกล่าวว่า “บนทางเดินสายใหญ่ๆมีที่สำหรับพักผ่อนเช่นเดียวกับที่พักม้าใช้ของเรา สถานที่เหล่านนั้นเรียกกันว่าเซนมู (senmu คือ สำนัก)” (สุภัทรดิศ ดิศกุล, 2522 : 217)

ผู้ทำการจำแนกลักษณะโบราณสถานในแนวเส้นทางจากนครธมไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก คือศาสตราจารย์ หลุยส์ ฟิโนต์ แล้วเสนอว่าปราสาทหินที่มีห้องยาวหันหน้าทางทิศตะวันออก มีขนาดความกว้างประมาณ 4-5 เมตร ยาว 14-15 เมตร มีอิฐก่อสูงเป็นยอดทางทิศตะวันตกของตัวอาคาร ผนังด้านทิศใต้มีช่องหน้าต่าง 5 ช่อง ผนังด้านทิศเหนือมีช่องหน้าต่างหลอกอีก 5 ช่องนั้น มิได้มีสถานะเป็นวัด แต่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้จาริกแสวงบุญ เรียกว่า “ธรรมศาลา” (dharmasalas) (Lawrence Palmer Briggs, 1999:  235)

บรูโน ดาแชงส์ กล่าวว่า ในเส้นทางจากเมืองพระนครไปยังหัวเมืองสำคัญ จะพบการสร้างศาสนสถานขนาดเล็กในรูปแบบของศาสนสถานและที่พักควบคู่กัน และในกลุ่มสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นมักพบอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งอาจเป็นที่ประดิษฐานของรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ไขศรี ศรีอรุณ และสันติ เล็กสุขุม, 2534 :  116-117) ซึ่งสอดคล้องกับศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่ทรงมีความเห็นว่า ที่พักคนเดินทางคงสร้างด้วยไม้ แต่มีปราสาทสร้างด้วยศิลาแลงตั้งอยู่เป็นที่สังเกต คือมีปราสาทประดิษฐานรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งทรงเป็นที่พึ่งของนักเดินทางอยู่ทางทิศตะวันตก ปราสาทนี้มีมุขค่อนข้างยาวออกไปทางทิศตะวันออก มีหน้าต่างหลายบานอยู่เฉพาะทางทิศใต้ของมุข อาคารศิลาแลงแห่งนี้ บางครั้งก็แสดงให้เห็นว่านำแท่งศิลาเก่ามาใช้ในการก่อสร้างใหม่ เพราะยังคงมีลวดลายเก่าสลักอยู่ และบางครั้งก็มีพระพุทธรูปปางสมาธิอยู่ในซุ้มหลายองค์ตั้งอยู่บนยอดหลังคาของมุขที่ยื่นออกมาทางทิศตะวันออก ไม่ปรากฏว่ามีกำแพงล้อมรอบ (สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. [ผู้แปล], 2537: 106)

สาเหตุของการปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญด้วยการสร้างธรรมศาลาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาจเป็นเพราะพระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาพุทธศาสนามหายานแทนที่ศาสนาฮินดูที่นับถือกันมาแต่เดิม ดังข้อความจากจารึกปราสาทพระขรรค์ ความว่า “พระองค์ทรงยินดีในอมฤต คือคำสั่งสอนของพระศรีศากยมุนี” และทรงนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นอย่างยิ่ง (สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2553 : 6)

พระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน ความศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นผลให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสถาปนาสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ข้อความในจารึกปราสาทพระขรรค์ หรือปราสาทชัยศรี ทำให้ทราบว่า พระองค์ทรงสร้างพระพุทธรูป 23 องค์ พระราชทานนามว่า ชัยพุทธมหานาถ และโปรดให้ประดิษฐานไว้ตามเมืองต่างๆ บางแห่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศไทย อาทิ ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และเมืองสิงห์ ทรงสร้างอโรคยศาล 102 แห่ง และทรงสร้างที่พักคนเดินทาง 121 แห่ง ดังที่กล่าวถึงข้างต้น

ปัจจุบันได้ค้นพบที่พักคนเดินทางจากเส้นทางโบราณจากเมืองพระนคร-เมืองพิมาย จำนวน 17 แห่ง ตามจารึกปราสาทพระขรรค์ ขนาดและลักษณะโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของที่พักคนเดินทางเหล่านี้คล้ายคลึงกัน สามารถเรียงลำดับได้ดังต่อไปนี้ ในประเทศไทย พบจำนวน 9 แห่ง คือปราสาทตาเมือน จังหวัดสุรินทร์, ปราสาททมอ จังหวัดบุรีรัมย์, ปราสาทบ้านบุ จังหวัดบุรีรัมย์, ปราสาทโคกปราสาท จังหวัดบุรีรัมย์, ปราสาทหนองปล่อง จังหวัดบุรีรัมย์, ปราสาทเทพสถิตย์ จังหวัดบุรีรัมย์, ปราสาทบ้านสำโรง จังหวัดบุรีรัมย์, ปราสาทห้วยแคน จังหวัดนครราชสีมา, ปราสาทกู่ศิลา จังหวัดนครราชสีมา สำหรับในประเทศกัมพูชา พบแล้วจำนวน 8 แห่ง

จารึกที่เกี่ยวข้อง : จารึกปราสาทตาเมือนธม หลักที่ 1, หลักที่ 2, หลักที่ 3, หลักที่ 4, หลักที่ 5, หลักที่ 6, จารึกปราสาทตาเมือนโตจ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดสุรินทร์. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2553.

กรมศิลปากร. แหล่งท่องเที่ยวอีสานล่าง. เอกสารกองโบราณคดี หมายเลข 8/2533. กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, 2533.

ก่องแก้ว วีระประจักษ์, “อารยธรรมที่ปราสาทตาเมือนธมจากหลักฐานจารึก.” ศิลปากร 51, 5 (กันยายน-ตุลาคม 2551) : 74.

ไขศรี ศรีอรุณ และสันติ เล็กสุขุม [ผู้แปล], “อำนาจศูนย์รวมและสถาปัตยกรรมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในประเทศไทย”, การค้นคว้าวิจัยทางโบราณคดีในประเทศไทย. เอกสารการประชุมทางวิชาการฝรั่งเศส-ไทย ครั้งที่ 2. 9-11 ธันวาคม 2534, หน้า 116-117

ชะเอม แก้วคล้าย. จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2528.

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปุราณรักษ์. รายงานการบูรณะปราสาทตาเมือนธม บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์. เอกสารอัดสำเนา, 2542.

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย : ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. [ผู้แปล], “ที่พักคนเดินทางของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7.” ศิลปวัฒนธรรม 16, 2 (ธันวาคม 2537) : 106.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ถึง พ.ศ.2000. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี, 2522.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2547.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. “ศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7.” ศิลปากร 10, 2 (กรกฏาคม 2509) : 52-61.

สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, รายงานการศึกษาวิเคราะห์เส้นทางวัฒนธรรมจากโบราณสถานและจารึกพบที่อโรคยศาล. มปท., 2553.

องค์ หนูแป้น. “การศึกษากลุ่มปราสาทตาเมือน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์.” วิทยานิพนธ์   ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2535.

หอสมุดแห่งชาติ, จารึกในประเทศไทย เล่ม 4 : อักษรขอมพุทธศตวรรษที่ 17-18. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529. 

Lawrence Palmer Briggs. The Ancient Khmer Empire. Bangkok : White Lotus, 1999.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี