วัดยอดแก้ว


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ม.4 บ้านเวียงคุก ต.เวียงคุก (เทศบาลตำบลเวียงคุก) อ.เมืองหนองคาย

ตำบล : เวียงคุก

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : หนองคาย

พิกัด DD : 17.801803 N, 102.658459 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยคุก

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดยอดแก้วตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงคุก โดยหากมาจากตัวจังหวัดหนองคายบริเวณใต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ให้ใช้ถนนแก้ววรวุฒิ (ทางหลวงหมายเลข 242) มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าตำบลเวียงคุก ซึ่งเป็นถนนเลียบแม่น้ำโขง ประมาณ 14.6 กิโลเมตร จะพบซอยเข้าสู่วัดทางขวามือ เลี้ยวขวาไปตามถนนประมาณ 180 เมตร ถึงวัดยอดแก้ว

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานโบราณวัตถุภายในวัดยอดแก้วได้รับการดัดแปลงเพื่อใช้งานในปัจจุบัน ทั้งซากวิหารเก่าที่มีการสร้างวิหารใหม่ครอบทับ หรือชิ้นส่วนเทวรูป/พระพุทธรูปเก่าที่ได้รับการดัดแปลงเสริมแต่งเพิ่มเติมให้เป็นพระพุทธรูปที่สมบูรณ์ โบราณปูชนียสถานวัตถุต่างๆ ของวัดยังคงได้รับการเคารพสักการะเป็นอย่างมากจากชาวเวียงคุกจนถึงปัจจุบัน

ผู้ที่สนใจเข้าสักการะและเยี่ยมชมวิหาร สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่หากต้องการสักการะพระพุทธรูปในศาลาการเปรียญ ควรติดต่อทางวัดล่วงหน้า เนื่องจากปกติจะล็อคประตู

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดยอดแก้ว

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดยอดแก้วตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงคุก ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองโบราณเวียงคุกในสมัยอดีต ลักษณะพื้นที่เป็นเนินดินบนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำโขงที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยด้านทิศเหนือของเวียงคุกอยู่ติดกับห้วยคุกและแม่น้ำโขงในส่วนคุ้งแม่น้ำ (ห้วยคุกที่ไหลผ่านด้านทิศเหนือของเมืองไหลขนานไปกับแม่น้ำโขงก่อนที่จะวกลงทิศใต้ที่ด้านตะวันตกของเมือง) ปัจจุบันบนเนินดินเวียงคุกเป็นชุมชนหนาแน่น พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำนาทำไร่ (ยกเว้นด้านทิศเหนือที่ติดกับแม่น้ำโขง)

วัดยอดแก้วตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของเวียงคุก ด้านทิศตะวันตกของวัดติดกับห้วยคุก ส่วนด้านอื่นๆ ปัจจุบันเป็นชุมชนบ้านเรือนราษฎรหนาแน่น ด้านเหนือห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ 300 เมตร ห่างจากห้วยคุกประมาณ 100 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

174 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง, ห้วยคุก

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่ทับถมด้วยตะกอนน้ำพาของแม่น้ำโขงในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยล้านช้าง, สมัยบายน

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 21-25, พุทธศตวรรษที่ 18

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดยอดแก้วตั้งอยู่ในพื้นที่เวียงคุก ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่พบหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เขมร และล้านช้าง

วัดยอดแก้ว เดิมชื่อ วัดควงคี หรือ วัดหัวข่วง ด้วยเหตุว่ามีบริเวณกว้างขว้าง เวลามีงานบุญประเพณีสำคัญก็จะจัดงานกันที่วัดแห่งนี้ ตามประวัติวัดระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1238 (?) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2532 ยังไม่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ ซากอาคารวิหารขนาดใหญ่และประติมากรรมโบราณภายในศาลาการเปรียญ

นอกจากนี้ วัดยอดแก้วยังอาจเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบางนานถึง 126 ปี ตามตำนานที่กล่าวว่าพระเจ้าฟ้างุ้มได้อัญเชิญพระบางมาประดิษฐานไว้ที่วิหารวัดเวียงคำ (นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าคือวัดยอดแก้ว) ต่อมาจึงอัญเชิญไปเมืองเชียงทอง แล้วจึงเปลี่ยนชื่อจากเชียงทองเป็นหลวงพระบาง

หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่ปรากฏอยู่ภายในวัด ได้แก่

ซากวิหารและพระพุทธรูปในวิหาร วิหารตั้งอยู่กลางวัด ลักษณะเป็นซากวิหารขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐ ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว 7-8 ห้อง (ยาวประมาณ 35-40 เมตร กว้างประมาณ 15 เมตร) หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปัจจุบันมีการก่อสร้างวิหารหลังใหม่ครอบทับ

ด้านข้างทั้ง 2 ข้าง (ด้านทิศเหนือและใต้) ของวิหารมีเสาศิลาแลงแปดเหลี่ยมเรียงเป็นแถว ปัจจุบันหลงเหลือเพียงด้านละ 4 ต้น และในวิหารอีก 1 ต้น จึงสันนิษฐานว่าวิหารเดิมมีเสาศิลาแลงข้างละ 2 แถว ไว้ เส้นผ่าศูนย์กลางเสาด้านนอกประมาณ 1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางเสาด้านในประมาณ 0.85 เมตร เสาแต่ละต้นมีช่องสำหรับเสียบองค์ประกอบเครื่องบนที่เป็นไม้ เสาบางต้นถูกผนังวิหารปัจจุบันก่อทับ นอกจากนี้ ที่ด้านหน้าวิหารยังปรากฏซากซุ้มประตูก่อด้วยอิฐ มีร่องรอยปูนฉาบและปูนปั้นประดับฐานซุ้มประตู สามารถกำหนดอายุวิหารหลังนี้ได้ราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2555)

พระประธานของวิหารเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ศิลปะแบบพื้นบ้าน ซึ่งน่าจะบูรณะขึ้นสมัยหลัง ราวพุทธศตวรรษที่ 24-25 เนื่องจากมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปเดิมตกอยู่ด้านหลังพระประธาน (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2555)

ชิ้นส่วนปรักหักพังของพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนพระเศียร พระอังสา และพระกร อยู่ในพื้นที่ในคล้ายบ่อสี่เหลี่ยม (ทำสมัยหลัง) สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระประธานองค์เดิม

ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2555) ระบุว่า เมื่อพิจารณาลักษณะพระเศียรที่มีพระขนงโก่ง หางพระเนตรปลายตวัด พระนาสิกงุ้มมีฐานพระนาสิกเรียบ มีเส้นเชื่อมระหว่างพระนาสิกกับมุมพระโอษฐ์ทั้งสองข้างชัดเจน ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะล้านช้าง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-23

ประติมากรรมโบราณ ประดิษฐานอยู่ภายในศาลาการเปรียญ ที่อยู่ติดกับวิหารด้านทิศใต้ (ขณะสำรวจทางวัดได้ปิดประตูศาลา และไม่พบพระสงฆ์ภายในวัด) ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่ามีอยู่ 2 องค์ คือ

องค์ที่ 1 เป็นประติมากรรมรูปบุคคลนั่งขัดสมาธิราบ สูงประมาณ 1 ฟุต ส่วนพระเศียรหายไป แต่ภายหลังมีการต่อพระเศียรของพระพุทธรูปเข้าไปและทาสีทองทับทั้งองค์ จากการศึกษาของนักวิชาการที่ผ่านมาพบว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปหินขนาดใหญ่ที่ระเบียงวัดพระธาตุหลวง กำแพงนครเวียงจันทน์ เป็นอย่างมาก สันนิษฐานว่าเดิมอาจเป็นพระพุทธรูปหรือแทวรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สมัยบายนแห่งอาณาจักรเขมร พุทธศตวรรษที่ 18 พบที่บ้านซายฟองหรือเมืองซายฟองในอดีต ประเทศลาว ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำโขงกับเวียงคุก (เรียกศิลปะเขมรที่พบในลาวว่า ศิลปะแบบซายฟอง) และคาดว่าลาวได้ดัดแปลงเป็นพระพุทธรูปในภายหลังเช่นเดียวกับที่วัดยอดแก้ว โดยพระพุทธรูปหินที่วัดยอดแก้ว (ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าที่พบที่เมืองซายฟอง) อาจเป็นประติมากรรมต้นแบบจากเขมรเพื่อทำมาสลักเป็นองค์ใหญ่กว่าที่เมืองซายฟอง               

องค์ที่ 2 เป็นประติมากรรมรูปบุคคลในท่าทางยืน สูงประมาณ 1 เมตร นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าอาจเป็นเทวรูปพระศิวะสมัยเมืองพระนคร (นครวัด-นครธม) แต่ภายหลังทางวัดนำมาพอกทับด้วยปูนและดัดแปลงเป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย มีการต่อเศียรและฐาน แล้วพ่นสีทองทับ จากการสำรวจในครั้งนี้พบพระพุทธรูปลักษณะดังกล่าว 2 องค์ จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นองค์ใด

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. [ออนไลน์] เข้าถึงเมื่อ 5 กันยายน 2557. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “พระธาตุโพนจิกเวียงงัว วัดป่าพระธาตุบุ.” ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. [ออนไลน์], 2555. เข้าถึงเมื่อ 5 กันยายน 2557. เข้าถึงจาก http://www.archae.su.ac.th/art_in_thailand/?q=node/508

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี