วัดเทพพลประดิษฐาราม


โพสต์เมื่อ 17 ม.ค. 2022

ชื่ออื่น : วัดสิริเทพพล, วัดทุ่ง, วัดเทพพล

ที่ตั้ง : เลขที่ 4 ถ.แก้ววรวุฒิ ม.2 บ้านเวียงคุก ต.เวียงคุก (เทศบาลตำบลเวียงคุก) อ.เมืองหนองคาย

ตำบล : เวียงคุก

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : หนองคาย

พิกัด DD : 17.798059 N, 102.669288 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยคุก

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดเทพพลประดิษฐารามตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงคุก โดยหากมาจากตัวจังหวัดหนองคายบริเวณใต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ให้ใช้ถนนแก้ววรวุฒิ (ทางหลวงหมายเลข 242) มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าตำบลเวียงคุก ซึ่งเป็นถนนเลียบแม่น้ำโขง ประมาณ 13.4 กิโลเมตร จะพบซอยเข้าสู่วัดทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนอีกประมาณ 100 เมตร จะพบวัดเทพพลประดิษฐาราม

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานภายในวัดเทพพลประดิษฐารามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และเสริมความมั่นคงจากกรมศิลปากรแล้ว ทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุภายในวัดยังคงใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน ได้รับการเคารพสักการะอย่างมากจากชาวเวียงคุกและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป สังเกตได้จากฐานธาตุเจดีย์ทั้ง 2 องค์มีเครื่องสักการะวางอยู่โดยรอบ และชิ้นส่วนปราสาทเขมรที่ถกนำมาดัดแปลงใช้เป็นเสมา นอกจากนี้ ภายในวัดยังเป็นที่ตั้งของหลักเมืองเวียงคุก

ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม มีป้ายบรรยายให้ข้อมูลติดตั้งอยู่ที่ด้านหน้าวิหาร

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดเทพพลประดิษฐาราม, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนพิเศษ 81ง วันที่ 15 กันยายน 2540 โบราณสถานสำคัญที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน ได้แก่ ธาตุเจดีย์ 2 องค์ (ธาตุเจดีย์หมายเลข 1 และ 2)

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดเทพพลประดิษฐารามตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงคุก ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองโบราณเวียงคุกในสมัยอดีต ลักษณะพื้นที่เป็นเนินดินบนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำโขงที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยด้านทิศเหนือของเวียงคุกอยู่ติดกับห้วยคุกและแม่น้ำโขงในส่วนคุ้งแม่น้ำ (ห้วยคุกที่ไหลผ่านด้านทิศเหนือของเมืองไหลขนานไปกับแม่น้ำโขงก่อนที่จะวกลงทิศใต้ที่ด้านตะวันตกของเมือง) ปัจจุบันบนเนินดินเวียงคุกเป็นชุมชนหนาแน่น พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำนาทำไร่ (ยกเว้นด้านทิศเหนือที่ติดกับแม่น้ำโขง)

วัดเทพพลประดิษฐารามตั้งอยู่ทางตอนกลางของเวียงคุก ปัจจุบันด้านทิศเหนือและตะวันตกของวัดเป็นบ้านเรือนราษฎรหนาแน่น ด้านทิศตะวันออกและใต้เป็นบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่เกษตรกรรม วัดตั้งอยู่ห่างจากห้วยคุกมาทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศใต้ประมาณ 350 เมตร และมีทางน้ำโบราณไหลผ่านทางทิศใต้ติดกับอาณาเขตของวัด

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

174 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง, ห้วยคุก

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่ทับถมด้วยตะกอนน้ำพาของแม่น้ำโขงในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยเขมร, สมัยล้านช้าง

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 16-18, พุทธศตวรรษที่ 21-22, พุทธศตวรรษที่ 25, พ.ศ.2460

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535, พ.ศ.2536

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, เสริมความมั่นคง

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2535-2536 กรมศิลปากรขุดแต่ง บูรณะ และเสริมความมั่นคงธาตุทั้ง 2 องค์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดเทพพลประดิษฐารามตั้งอยู่ในพื้นที่เวียงคุก ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่พบหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เขมร และล้านช้าง

วัดเทพพลประดิษฐาราม เดิมชื่อวัดสิริเทพพล หรือวัดทุ่ง ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตามประวัติวัดระบุว่าก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2460 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2553

ส่วนประวัติดั้งเดิมกล่าวว่าวัดแห่งนี้สร้างตั้งแต่ครั้งสมัยพระเจ้าอนุรุทธราช แห่งเมืองเวียงจันทน์ ต่อมาหมื่นกางโฮง เจ้าเมืองเวียงคุก ได้บูรณปฏิสังขรณ์ และหลังจากเมืองเวียงคุกถูกยุบเป็นหมู่บ้าน ก็ไม่ได้มีการบูรณะอีกจน พ.ศ.2460 ที่บูรณะวัดขึ้นใหม่เป็นวัดเทพพลประดิษฐาราม ส่วนชาวบ้านเรียก วัดทุ่ง

ในขณะที่นิทานปรัมปราของท้องถิ่นกล่าวว่า ในสมัยโบราณมีพญาองค์หนึ่งมีธิดา 2 คน ทั้ง 2 คนมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ทั้งยังมีจิตใจงดงาม มีความเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างมาก ได้สละทรัพย์ก่อสร้างพระธาตุขึ้นคนละองค์ พญาผู้เป็นบิดาเห็นความศรัทธาของธิดา จึงได้ให้ทองคำแก่ธิดาทั้งสอง เมื่อธิดาได้รับทองคำจากบิดาจึงเกิดความคิดว่า ควรนำทองคำเหล่านี้ไปถวายเป็นพุทธบูชา จึงให้ช่างนำทองไปทำเป็นนกยูงคนละ 1 ตัว และนำนกยูงทองไปบรรจุไว้ในพระธาตุ ดังนั้นพระธาตุทั้ง 2 จึงมีชื่อเรียกว่า “พระธาตุนกยูงทองคำ”

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในวัด คือ

ธาตุเจดีย์หมายเลข 1 ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอุโบสถและธาตุเจดีย์หมายเลข 2 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวิหาร

ธาตุเจดีย์ก่ออิฐ มีร่องรอยปูนฉาบและปูนปั้น มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานล่างกว้างด้านละ 11 เมตร เป็นฐานเขียงซ้อนกัน 3 ชั้น ต่อด้วยฐานบัวคว่ำและฐานปัทม์ย่อมุม (ชุดฐานเอนลาดลักษณะนี้เรียกว่า บัวเข่าพรหม) ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุที่ซ้อนกัน 2 ชั้น ย่อมุม มีซุ้มจระนำตื้นๆ ที่กึ่งกลางทุกด้าน ซ้อนกัน 2 ชั้นเช่นเดียวกับเรือนธาตุ ต่อด้วยองค์ระฆังและบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสอง (คล้ายทรงบัวเหลี่ยม) แล้วจึงเป็นยอดทรงกรวยแหลม

ทรวดทรงโดยรวมของธาตุเจดีย์ค่อนข้างเพรียวผอมมากกว่าธาตุเจดีย์หมายเลข 2 ที่อยู่ทางทิศใต้ กำหนดอายุสมัยในศิลปะล้านช้างที่ได้รับอิทธิพลจากล้านนา (พิจารณาจากลักษณะซุ้มจระนำ) และอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 22 (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)

ธาตุเจดีย์หมายเลข 2 ตั้งอยู่ด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกของอุโบสถ ทางทิศใต้ของธาตุเจดีย์หมายเลข 1 และวิหาร

ธาตุเจดีย์ก่ออิฐ มีร่องรอยปูนฉาบและปูนปั้น มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานล่างสุดกว้างด้านละประมาณ 9 เมตร เป็นฐานเขียงซ้อนกัน 3 ชั้น ฐานย่อมุม 1 ชั้น ชั้นบัวคว่ำ (ชุดฐานเอนลาดลักษณะนี้เรียกว่า บัวเข่าพรหม (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)) ต่อด้วยเรือนธาตุย่อมุมไม้สิบสอง เรือนธาตุแต่ละด้านเจาะช่องซุ้มจระนำเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปปางเปิดโลก (ปรากฏให้เห็นในซุ้มจระนำด้านทิศตะวันตกและใต้) ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุจำลองซ้อนขึ้นไปอีก 1 ชั้น เหนือเรือนธาตุเป็นองค์ระฆังย่อมุม (คล้ายทรงบัวเหลี่ยม) ต่อด้วยบัลลังก์และยอดทรงกรวยแหลม

จากรูปแบบเรือนธาตุที่มีซุ้มจระนำและมีชั้นซ้อนตามลักษณะข้างต้น เข้าใจว่าคงรับอิทธิพลจากศิลปะแบบล้านนาผสมผสานกับอิทธิพลอยุธยาและพื้นถิ่น กำหนดอายุสมัยในศิลปะล้านช้างที่ได้รับอิทธิพลจากล้านนาและอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 22 (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)

พระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนปางเปิดโลกที่ประดิษฐานในซุ้มจระนำของธาตุเจดีย์หมายเลข 2 ปัจจุบันเหลือปรากฏเพียงที่ด้านทิศตะวันตกและใต้ โดยองค์ด้านทิศตะวันตกมีสภาพชำรุด พระเศียร พระกรข้างขวา และส่วนตั้งแต่พระชานุลงไปหักหาย ครองจีวรห่มเฉียง ปลายสังฆาฏิเป็นแฉก ในขณะที่องค์ด้านทิศใต้สภาพสมบูรณ์ ครองจีวรห่มคลุม กำหนดอายุสมัยในศิลปะล้านช้างราวพุทธศตวรรษที่ 22  (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)

เสมา เสมาในตำแหน่งตรงกลางและเบื้องซ้าย-ขวาด้านหน้าของอุโบสถ (อุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก) เป็นประติมากรรมในโครงสร้างหลังคาของปราสาทหินในศิลปะเขมร รวม 3 ชิ้น โดยที่เบื้องซ้ายและขวาลักษณะเป็นชิ้นส่วนกลีบขนุนที่มีการสลักเป็นรูปบุคคลหรือเทวรูป ส่วนชิ้นตรงกลางด้านหน้าเป็นประติมากรรมรูปสลักรูปสัตว์ คล้ายพญานาค (ยังสลักไม่เสร็จ) คาดว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 16-18 ซึ่งเป็นการนำชิ้นส่วนปราสาทหินเก่าแก่กลับมาใช้ใหม่ในพุทธศาสนสถานรุ่นหลัง

นอกจากนี้ ในตำแหน่งเสมาตรงกลางด้านหลังอุโบสถ (ตั้งอยู่ระหว่างอุโบสถกับธาตุเจดีย์หมายเลข 2) ประดิษฐานพระพุทธรูปหินสลัก ไม่ทราบที่มาและอายุที่แน่ชัด

ภายในวัดยังมีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง ได้แก่

วิหาร อยู่ด้านข้างหรือด้านทิศเหนือของอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.2556 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ โครงหลังคาทำด้วยไม้ ศิลปะล้านนาล้านช้าง ภายในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ รอบวิหารประดับประติมากรรมเศียรพญานาคศิลปะขอมโบราณ ด้านหน้าวิหารจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในพื้นที่วัด โดยเฉพาะที่ได้จากการบูรณะธาตุเจดีย์องค์ที่ 2 เช่น เครื่องใช้ที่ทำด้วยดินเผา ภาชนะดินเผา เครื่องใช้สำริด และพระพุทธรูปไม้สลัก

อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนยกพื้น ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดขึ้นลงอยู่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออก ศิลปะโดยทั่วไปเป็นแบบผสมระหว่างภาคกลางกับท้องถิ่น ตัวลำยองและทวยสลักด้วยไม้ ตามประวัติกล่าวว่าเป็นอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่แทนหลังเดิมเมื่อราวกว่า 100 ปีก่อน (?) ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะพื้นเมืองล้านช้าง เสมารอบอุโบสถบางส่วนเป็นกลีบขนุนของปราสาทหินและพระพุทธรูปดังกล่าวข้างต้น  

ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านทิศเหนือของวัด เป็นศาลาโปร่งก่ออิฐถือปูนตามประวัติระบุว่าสร้างขึ้นใหม่แทนของเดิม เมื่อปี พ.ศ.2542 รอบศาลหลักเมืองมีชิ้นส่วนสิ่งก่อสร้างก่ออิฐถือปูนเป็นลักษณะกลม บางชิ้นมีลายปูนปั้นเป็นรูปดอกบัว บางชิ้นเป็นฐานปัทม์ สันนิษฐานว่าอาจเป็นชิ้นส่วนบัวของพระธาตุเก่า

บ่อน้ำโบราณ ลึกประมาณ 6 เมตร กรุด้วยไม้ท่อนเล็กๆ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมๆ กับสร้างวัด ชาวบ้านเชื่อว่าภายในบ่อมีฆ้องทองคำอยู่ เพราะน้ำในบ่อบางครั้งจะมีสีเหลืองเหมือนทอง ปัจจุบันปากบ่อก่ออิฐถือปูนไว้

สระน้ำ มี 2 สระ ทั้งสระเก่าและสระใหม่ ขุดเมื่อ พ.ศ.2521 เล่ากันว่าระหว่างขุดได้พบทองคำเป็นรูปครกและสาก หนักประมาณครึ่งกิโลกรัม กรรมการวัดได้นำไปขายเพื่อนำเงินมาสร้างกำแพงล้อมรอบโบสถ์

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “วัดเทพพลประดิษฐาราม.” ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 5 กันยายน 2557. เข้าถึงจาก http://www.archae.su.ac.th/art_in_thailand/?q=node/218

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี