วัดกุกุรัตนาราม


โพสต์เมื่อ 17 ม.ค. 2022

ชื่ออื่น : วัดไก่แก้ว

ที่ตั้ง : ม.6 บ้านไก่แก้ว ต.ปะโค (เทศบาลตำบลปะโค) อ.เมืองหนองคาย

ตำบล : ปะโค

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : หนองคาย

พิกัด DD : 17.810345 N, 102.697446 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดกุกุรัตนาราม ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลปะโค อำเภอเมืองหนองคาย โดยหากมาจากตัวจังหวัดหนองคายบริเวณใต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ให้ใช้ถนนแก้ววรวุฒิ (ทางหลวงหมายเลข 242) มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าตำบลปะโค ซึ่งเป็นถนนเลียบแม่น้ำโขง ประมาณ 10 กิโลเมตร จะพบวัดกุกุรัตนารามทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ทางวัดกุกุรัตนารามได้ดูแลและจัดการโบราณสถานคือซากฐานเจดีย์ค่อนข้างดี แม่ว่าจะไม่มีการบูรณะหรือเสริมความมั่นคง แต่ก็ไม่มีการรบกวนมากนัก ทั้งยังได้รับการสักการะจากพระและชาวบ้านเป็นอย่างดี

ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดกุกุรัตนาราม, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดกุกุรัตนารามและเวียงงัว ตั้งอยู่บนพื้นที่เนินริมแม่น้ำโขงที่เกิดการทับถมของตะกอนตะพักลำน้ำโขง ปัจจุบันบนเนินดินเป็นชุมชนในเขตเทศบาลตำบลปะโค มีบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างหนาแน่น ทางทิศใต้เป็นท้องนา ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาและห้วยพังพอน (เวียงงัวตั้งอยู่ระหว่างห้วยพังพอนกับแม่น้ำโขง)

ปัจจุบันวัดกุกุรัตนารามตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร และอยู่ห่างจากห้วยพังพอนมาทางทิศเหนือและทิศตะวันออกประมาณ 150 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

172 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่ทับถมด้วยตะกอนน้ำพาของแม่น้ำโขงในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยล้านช้าง

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 22-24, พุทธศตวรรษที่ 25

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดกุกุรัตนาราม หรือวัดไก่แก้ว เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตามประวัติระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.2466 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2536 ภายในวัดปรากฏซากโบราณสถานที่สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานของเมืองโบราณเวียงงัว

บริเวณหน้าอุโบสถของวัด หรือด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีซากเจดีย์ขนาดเล็กอยู่ 1 องค์ ชาวบ้านเรียกว่า “ธาตุไก่แก้ว” สภาพพังทลายเหลือเพียงเฉพาะส่วนฐาน ปัจจุบันทางวัดได้สร้างศาลาขนาดเล็กคลุมส่วนฐานนี้ไว้

ลักษณะของฐานเจดีย์มีฐานรูปแปดเหลี่ยม ก่อด้วยอิฐถือปูน กว้างประมาณ 1.5 เมตร ความสูงเท่าที่เหลืออยู่ในปัจจุบันประมาณ 1.5 เมตร ส่วนฐานดังกล่าวเป็นฐานปัทม์ 1 ชั้น ที่มุมของฐานเจดีย์ด้านหนึ่งมีลายปูนปั้นรูปกระจังคล้ายกลีบบัวคว่ำหลงเหลืออยู่ แสดงถึงอิทธิพลศิลปะล้านช้างได้เป็นอย่างดี ดังนั้นโบราณสถานแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 22-24 ด้านทิศเหนือติดกัเจดีย์มีการทำแท่นบูชา ก่อด้วยอิฐบล๊อก

เวียงงัว ปรากฏชื่อในตำนานพระอุรังคธาตุว่า พระรัตนเถระและจุลรัตนเถระได้นำพระบรมธาตุเขี้ยวฝาง 3 องค์ มาปะดิษฐานไว้ที่โพนจิกเวียงงัว ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่บริเวณบ้านโคกป่าฝาง ต.ปะโค อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย (คำว่า “งัว” และ “โค” ต่างก็มีความหมายเดียวกัน) เล่าสืบต่อกันมาถึงตำนานสำคัญของชุมชนโบราณแถบลุ่มแม่น้ำโขงในหนองคาย รวมทั้งภูพระบาทในจังหวัดอุดรธานี แม้กระทั่งเค้าเงื่อนจากนิทานเรื่องอุสา-บารส ก็มีว่า เมืองของท้าวบารสอยู่เมืองปะโค เวียงคุก และอาจสัมพันธ์กับเรื่องพระอุณรุทธ ที่เป็นหลานพระกฤษณะ (ปางหนึ่งของพระนารายณ์) ซึ่งสำเนียงในตำนานอีสานคือ พระกึดนารายณ์

นักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าพื้นที่เวียงงัวน่าจะเป็นเมืองเก่าตั้งแต่สมัยเจนละบกหรือในสมัยวัฒนธรรมเขมร เพราะปรากฏซากโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยปะโคและกุเลนหลายชิ้นภายในเมือง ทั้งเทวาลัย ภาพสลักหิน และประติมากรรมหิน รวมทั้งซากโบราณสถานในวัดโคกป่าฝาง (วัดพระธาตุโพนจิกเวียงงัว) แต่ปัจจุบันโบราณสถานถูกทำลายและปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปจนไม่เหลือเค้าเดิม บางวัดได้พอกปูนทับเทวรูปทำเป็นพระพุทธรูปไปแล้ว และเชื่อว่าอิทธิพลศิลปะเขมรบางส่วนส่งมาถึงพระธาตุโพนจิกเวียงงัว

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี