วัดโพธิ์ชัย


โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022

ชื่ออื่น : วัดโพธิชัย

ที่ตั้ง : ถ.หนองคาย-โนพิสัย (ทางหลวงหมายเลข 212) ต.ในเมือง (เทศบาลเมืองหนองคาย) อ.เมืองหนองคาย

ตำบล : ในเมือง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : หนองคาย

พิกัด DD : 17.884833 N, 102.757165 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดโพธิ์ชัยตั้งอยู่ภายในตัวจังหวัดหนองคาย ริมถนนหนองคาย-โพนพิสัย (ทางหลวงหมายเลข 212) ห่างจากแยกหนองคายมาทางทิศตะวันออก (มุ่งหน้าโพนพิสัย) ประมาณ 1.9 กิโลเมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดโพธิ์ชัยเป็นวัดหลวงคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย เช่นเดียวกับหลวงพ่อพระใสที่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหนองคาย เป็นที่สักการะของทั้งชาวไทยและชาวลาว

ช่วงวันสงกรานต์ของทุกปีจะมีการจัดงานสมโภช โดยในวันที่ 13 เมษายน มีพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใสแห่รอบอุโบสถ เวียนประทักษิณ 3 รอบ แล้วอัญเชิญขึ้นสู่ราชรถที่จัดเป็นริ้วขบวนสวยงามแห่ไปจนถึงศาลากลางจังหวัด แล้วกลับมายังวัดโพธิ์ชัย และนำไปประดิษฐานบนหอสรงเพื่อให้ประชาชนสักการะบูชาและสรงน้ำ

วันที่ 14 เมษายน มีการเทศน์มหาชาติที่วัดโพธิ์ชัย วันที่ 15 เมษายน มีการเวียนเทียนสมโภชหลวงพ่อพระใส วันที่ 16 เมษายน ประชาชนจะจัดอาหารและเครื่องไทยทาน พร้อมด้วยพานบายศรีมารวมกันที่วัดโพธิ์ชัย ทำพิธีบายศรีผูกข้อมือซึ่งกันและกัน ร่วมกันถวายภัตตาหารเพล จากนั้นทำการขอขมาหลวงพ่อพระใสแล้วจึงอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นภายในอุโบสถดังเดิม

งานบุญเดือน 6 หรือบุญบั้งไฟของชาวหนองคาย เรียกว่า “เบิกแถนบูชาไฟ” หน่วยงานราชการ พ่อค้า และประชาชน จะร่วมกันจัดงาน โดยให้ประชาชนตามคุ้มต่างๆ ทำบั้งไฟมาแข่งกันเพื่อบูชาหลวงพ่อพระใส ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 7 จะมีการแห่ขบวนบั้งไฟไปยังวัดโพธิ์ชัยในตอนบ่าย เพื่อแห่เวียนรอบองค์หลวงพ่อพระใส 3 รอบ ตอนเย็นจะมีการฟังเทศน์ เวียนเทียนสมโภชหลวงพ่อและฉลองบั้งไฟตลอดทั้งคืน จนถึงรุ่งเช้าขึ้น 15 ค่ำ จะทำการถวายภัตตาหารพระเณร จากนั้นจึงทำการแห่บั้งไฟรอบพระอุโบสถ แล้วเริ่มจุดบั้งไฟเวลา 7.00 น. เป็นต้นไป

ประเพณีเกี่ยวกับหลวงพ่อพระใสที่นิยมปฏิบัติกันมาแต่โบราณอีกประเพณีหนึ่งคือ ประเพณีขอฝน แต่จะทำเฉพาะในปีที่ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลเท่านั้น

พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าสักการะพระใสภายในพระอุโบสถได้ทุกวัน เวลาประมาณ 8.00-17.00 น.

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดโพธิ์ชัย

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 1527 วันที่ 27 กันยายน 2479 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดโพธิ์ชัยเป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในตัวจังหวัดหนองคาย ริมถนนหนองคาย-โพนพิสัย แวดล้อมไปด้วยชุมชนเมือง สภาพพื้นที่เป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำโขงที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา ปัจจุบันอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศใต้ประมาณ 450 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

174 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่ทับถมด้วยตะกอนน้ำพาของแม่น้ำโขงในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น, สมัยรัชกาลที่ 2

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2360

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดโพธิ์ชัยเป็นวัดหลวง สังกัดมหานิกาย ตามประวัติวัดระบุว่าเป็นวัดเก่าแก่ ไม่ทราบผู้ก่อตั้งที่แน่ชัด สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2360 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2522 และยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เดิมชื่อวัดผีผิว ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดโพธิ์ชัย

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญในวัด ได้แก่ พระใส เสมาหิน และพระธาตุอรหันต์

หลวงพ่อพระใสเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย ประดิษฐานอยู่ที่พระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย มีตำนานเล่าว่าพระราชธิดาของกษัตริย์ล้านช้าง (บ้างก็ว่าเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ประสูติแต่เจ้าจอมมณี บุตรีพระยาแสนสุรินทร์ เจ้าเมืองปากห้วยหลวง) พระนามว่า สุก เสริม ใส มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงได้ให้หล่อพระพุทธรูปประจำพระองค์และเรียกชื่อพระตามพระนามคือ พระสุก พระใส พระเสริม มีขนาดลดหลั่นกันไปตามลำดับ

แต่การหล่อทองในครั้งนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก ใช้เวลาหลอมทอง 7 วันแล้วยังไม่ละลาย ล่วงเข้าสู่เช้าวันที่ 8 ตอนใกล้เพล ขณะที่หลวงตาและสามเณรช่วยกันสูบลมหลอมทองอยู่นั้น ปรากฏว่ามีชีปะขาวคนหนึ่งอาสามาช่วยงาน ซึ่งพอดีกับที่หลวงตาและสามเณรหยุดพักเพื่อฉันเพลบนศาลา ชาวบ้านเขามาที่วัดมองเห็นชีปะขาวหลายคนช่วยกันเททองหล่อพระพุทธรูป แต่หลวงตาบอกว่าเห็นชีปะขาวคนเดียว

เมื่อฉันเพลเสร็จ หลวงตาและชาวบ้านจึงพากันลงมาดูก็พบว่าทองทั้งหมดถูกเทลองเบ้าเรียบร้อยแล้ว ส่วนชีปะขาวหายไป การหล่อพระพุทธรูปจึงสำเร็จและประดิษฐานอยู่ในเมืองเวียงจันทน์

ต่อมาเวียงจันทน์กับพระเจ้าตากสินมหาราชของไทยได้ทำสงครามกันใน พ.ศ.2321 พระเจ้าตากสินโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) เป็นแม่ทัพยกไปตีเวียงจันทน์ พระเจ้าธรรมเทววงศ์จึงอัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง 3 ไปประดิษฐานที่เมืองเชียงคำ จนกระทั่งสงครามสงบจึงอัญเชิญกลับมาประดิษฐานที่วัดโพนชัยเมืองเวียงจันทน์

ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ไทยรบกับเวียงจันทน์ ในเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ยกทัพมาปราเมืองเวียงจันทน์ในปี 2369-2371 เมื่อเหตุการณ์สงบ ทัพไทยได้คิดอัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ที่ขณะนั้นชาวบ้านได้นำไปซ่อนอยู่บริเวณภูเขาควาย ข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย

การอัญเชิญพระพุทธรูปที่อยู่ฝั่งลาวต่อล่องแม่น้ำงึมโดยทางแพ จากนั้นจึงลอยทวนน้ำขึ้นมายังหนองคาย ระหว่างเดินทางในช่วงแม่น้ำงึมเกิดพายุอย่างรุนแรงง ทำให้แท่นของพระสุกแหกแพลงน้ำงึม บริเวณนั้นจึงถูกเรียกว่า “เวินแท่น” จนบัดนี้ แต่ขบวนแพล่องมาถึงปากน้ำงึมจนพ้นสู่แม่น้ำโขงแล้ว พระสุกก็แหกแพจมแม่น้ำโขง แล้ววพลันท้องฟ้าก็เงียบ บริเวณนั้นจึงเรียกว่า “เวินสุก” หรือ “เวินพระสุก” (ปัจจุบันอยู่ที่บริเวณบ้านหนองกุ้ง ตำบลกุดบง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย) เมื่อขบวนแพถึงหนองคาย พระเสริมได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย และพระใส ได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ วัดหอก่อง (วัดประดิษฐธรรมคุณ)

ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปปรดฯ ให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น ข้าหลวง อัญเชิญพระเสริมและพระใสลงไปยังกรุงเทพฯ แต่ขบวนเกวียนของพระใสพอถึงวัดโพธิ์ชัยก็เกิดเหตุขัดข้อง ไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้จนเกวียนหัก แม้จะนำเกวียนมาเปลี่ยนใหม่ก็ไม่เป็นผล จึงตกลงกันว่าพระใสจะประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระเสริมอัญเชิญลงไปกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในวัด ได้แก่

หลวงพ่อพระใส ประดิษฐานเป็นประธานอยู่ในพระอุโบสถใหม่ซึ่งสร้างเมื่อปี พ.ศ.2520 ลักษณะเป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 80 เซนติเมตร สูงเฉพาะองค์ถึงยอดพระเมาลี 1.4 เมตร สูงรวมฐาน 2.2 เมตร ประทับบนฐานปัทม์ที่มีปลายมุมอ่อนโค้ง ลักษณะพระศกเป็นตุ่มกลมแหลมขนาดเล็ก มีไรพระศกที่พระนลาฏ ส่วนพระรัศมีเป็นของทำใหม่ (ทำขึ้นเมื่อราว 50 ปีก่อน เนื่องจากของเดิมถูกขโมยของเดิมไป ) พระกรรณยาวเกือบถึงพระศอ ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา ลักษณะพุทธศิลป์แบบล้านช้าง

ใบเสมาหินทราย วางอยู่บริเวณด้านหน้าเบื้องขวาของพระอุโบสถ บริเวณฐานเสมาปัจจุบัน ทำจากหินทรายสีแดง ส่วนปลายโค้งมน สันนิษฐานว่าอาจเป็นเสมาเก่าของวัดที่เคยปักไว้รอบสิมหรือพระอุโบสถหลังเดิม

พระธาตุอรหันต์ ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของพระอุโบสถ กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 ลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีฐานเขียงซ้อนกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวคว่ำและฐานปัทม์ ต่อด้วยเรือนธาตุสี่เหลี่ยมย่อมุม และฐานปัทม์อีก 1 ชั้น องค์ระฆังทรงบัวเหลี่ยมย่อมุม ส่วนยอดเป็นปลียอดแหลมสูง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี