เจดีย์ (ร้าง) ข้างตลาด


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : พระเจดีย์ (ร้าง) ข้างตลาด, ธาตุ (ร้าง) ข้างตลาด

ที่ตั้ง : ข้างตลาดสดเทศบาลตำบลเวียงคุก ถ.แก้ววรวุฒิ ม.4 บ้านเวียงคุกเหนือ ต.เวียงคุก อ.เมืองหนองคาย

ตำบล : เวียงคุก

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : หนองคาย

พิกัด DD : 17.79964 N, 102.666099 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองคุก

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เจดีย์ (ร้าง) ข้างตลาด ตั้งอยู่ข้างตลาดสดเทศบาลตำบลเวียงคุก ในเขตเทศบาลตำบลเวียงคุก โดยหากมาจากตัวจังหวัดหนองคายบริเวณใต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ให้ใช้ถนนแก้ววรวุฒิ (ทางหลวงหมายเลข 242) มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าตำบลเวียงคุก ซึ่งเป็นถนนเลียบแม่น้ำโขง ประมาณ 13.9 กิโลเมตร ถึงตลาดสดเทศบาลตำบลเวียงคุกและเจดีย์ร้างที่ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เจดีย์ (ร้าง) ข้างตลาด เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว มีการล้อมรั้วลวดหนามรอบโบราณสถานและป้ายให้ข้อมูล ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, เทศบาลเมืองเวียงคุก

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 29ง วันที่ 26 มีนาคม 2544

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เจดีย์ (ร้าง) ข้างตลาด เป็นโบราณสถานร้างตั้งอยู่ติดกับตลาดสดเทศบาลตำบลเวียงคุก ในเขตเทศบาลตำบลเวียงคุก อยู่ฝั่งทิศใต้ของถนนแก้ววรวุฒิ (ทางหลวงหมายเลข 242) ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศใต้ประมาณ 450 เมตร ห่างจากคลองคุกมาทางทิศใต้ประมาณ 300 เมตร

พื้นดินรอบเจดีย์มีร่องรายการขุดแต่งจนเป็นหลุมลึกลงไปจากพื้นใช้งานปัจจุบัน ทำให้เป็นบ่อขังน้ำในช่วงฤดูฝน มีการกั้นรั้วลวดหนามรอบหลุมขุดแต่งและโบราณสถาน

พื้นที่โดยรอบโบราณสถานเป็นชุมชนขนาดใหญ่และหนาแน่น สภาพพื้นที่เป็นที่ราบริมแม่น้ำโขงที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

174 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง, คลองคุก

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่ทับถมด้วยตะกอนน้ำพาของแม่น้ำโขงในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น, สมัยล้านช้าง

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 12-16, พุทธศตวรรษที่ 22-23

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, เสริมความมั่นคง


ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เจดีย์ (ร้าง) ข้างตลาด ตั้งอยู่ในเมืองโบราณเวียงคุก ไม่พบประวัติหรือตำนานที่กล่าวถึงเจดีย์แห่งนี้ แต่จากลักษณะของรูปทรงเจดีย์ อาจารย์ธวัช ปุณโณทก ได้กล่าวถึงในหนังสือศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว ว่า “….พระธาตุรูปลุ้ง (โกศ) ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของท้องถิ่นคือทำเป็นรูปทรงลุ้ง ( โกศ ) ใส่อัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งปกติทำด้วยไม้ พระธาตุนี้ได้จำลองรูปลุ้งอันเป็นศิลปะท้องถิ่น….”

ลักษณะโบราณสถานเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 5.5 เมตร สูง 8 เมตร ก่ออิฐสอดินฉาบปูน ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 6 ชั้น รองรับฐานบัวย่อมุมไม้ยี่สิบที่ท้องไม้ยืดสูงคาดลูกแก้วอกไก่สองเส้น เหนือขึ้นไปเป็นชุดฐานรองรับองค์ระฆังที่เป็นเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมเตี้ยๆ มียอดกรวยทรงสูง ประดับด้วยกลีบบัวปูนปั้นแปดกลีบและลูกแก้วกลม ยอดบนสุดหักหายไป

ส่วนองค์ระฆังน่าจะเคยถูกซ่อมแซม เดิมคงเป็นชุดฐานที่รองรับองค์ระฆังในผังกลม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 สมัยวัฒนธรรมล้านช้าง (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2557)

จากการประวัติการขุดแต่งเสริมความมั่นคงของกรมศิลปากรใน พ.ศ.2547 พบภาชนะทรงหม้อก้นกลมบรรจุพระพุทธรูปบุเงินบุทอง และภาชนะทรงไห กระปุก ตลับสำริดบรรจุกระดูก นอกจากนี้ยังพบใบเสมาหินทรายทางด้านทิศเหนือของเจดีย์ เหลือเพียงส่วนฐานล่างเล็กน้อย แต่ยังสังเกตเห็นรูปสลักสถูปจำลองหรือรูปหม้อน้ำตามแบบใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีทางภาคอีสาน

ด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือของเจดีย์ ปัจจุบันมีศาลเจ้าหรือหอผีตั้งอยู่ 1 ศาล โดยสร้างเป็นเรือนขนาดเล็กยกพื้นเสาสูงทาสีแดง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “เจดีย์ร้างข้างตลาด เวียงคุก.” ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 5 กันยายน 2557. เข้าถึงจาก http://www.archae.su.ac.th/art_in_thailand/?q=node/186

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี