พระเจดีย์ วัดราชบพิธ


โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022

ชื่ออื่น : พระมหาเจดีย์, วัดราชบพิธ, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

ที่ตั้ง : เลขที่ 2 ถนนเฟื่องนคร

ตำบล : วัดราชบพิธ

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.74915 N, 100.497339 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ตั้งอยู่ในแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ด้านเหนือจรดถนนราชบพิธ ด้านตะวันออกจรดถนนเฟื่องนคร ด้านตะวันตกจรดถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม ฝั่งตรงข้ามคลองเป็นสวนสราญรมย์และวัดราชประดิษฐ์ฯ ด้านใต้จรดคลองหลอดวัดราชบพิธ ติดกับกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดราชบพิธเปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศการกำหนดบัญชีโบราณวัตถุสถาน (โบราณวัตถุสถานในวัดราชบพิธ) ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 หน้า 5272 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

พระมหาเจดีย์หรือพระเจดีย์ วัดราชบพิธ เป็นสถาปัตยกรรมหลักของหมู่อาคารบนฐานไพที ภายในเขตพุทธาวาส อยู่ตำแหน่งกึ่งกลางของอาคารบนฐานไพที

วัดราชบพิธฯ เป็นวัดหลวงในพระพุทธศาสนา ธรรมยุติกนิกาย ที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันตั้งอยู่ในแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ ด้านเหนือจรดถนนราชบพิธ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ด้านตะวันออกจรดถนนเฟื่องนคร ด้านตะวันตกจรดถนนอัษฎางค์ ริมคูเมืองเดิม ด้านใต้จรดคลองหลอดวัดราชบพิธ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

1 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองคูเมืองเดิม, คลองหลอดวัดราชบพิธ

สภาพธรณีวิทยา

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 5

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2412

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พระมหาเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมหลักของหมู่อาคารบนฐานไพที ภายในเขตพุทธาวาส อยู่ตำแหน่งกึ่งกลางของอาคารบนฐานไพที ภายในวงล้อมของพระระเบียงกลมและพระวิหารทั้ง 4 ทิศ และนับเป็นสถาปัตยกรรมหลักของวัด สร้างขึ้นเพื่อเป็นหลักสำคัญในการเคารพบูชา

รูปแบบพระเจดีย์เป็นทรงระฆังกลมบนฐานทักษิณคูหา ทั้งองค์เจดีย์และฐานคูหาประดับกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์ทั้งองค์ ยอดเจดีย์สูงประมาณ 41.40 เมตร จากระดับพื้นใช้งานทั่วไปของวัด ฐานทักษิณวัดโดยรอบ 56.96 เมตร ฐานพระเจดีย์วัดโดยรอบ 45.85 เมตร (สุดจิต สนั่นไหว 2541 : 108)

เหนือฐานปัทม์ชั้นล่างของฐานทักษิณเจาะเป็นช่องคูหาประดับกระเบื้องเป็นกรอบซุ้มโดยรอบ 16 ซุ้ม โดยซุ้มด้านทิศเหนือและทิศใต้เจาะเป็นช่องทะลุถึงที่ว่างภายใน มีบันไดทางขึ้นจากพื้นลานรอบพระเจดีย์เข้าสู่ภายใน มีบานประตูไม้โปร่งปิดด้านละ 1 คู่ ซุ้มประตูด้านทิศตะวันอออกและทิศตะวันตก 2 ซุ้ม ทำเป็นซุ้มจรนำยื่นออกมาจากองค์พระเจดีย์ ประดิษฐานพระรูปอดีตเจ้าอาวาสของวัดที่เป็นพระสังฆราช และพระพุทธรูปศุ้มที่เหลืออีก 12 ซุ้ม เป็นคูหาธรรมดาประดิษฐานพระพุทธรูป โดยแต่ละคูหามีพระพุทธรูปและพระรูปประดิษฐานอยู่ดังนี้ (นับเวียนไปทางขวา) (สุดจิต สนั่นไหว 2541 : 108-109)

ซุ้มที่ 1 ซุ้มจรนำด้านทิศตะวันตก ตรงกับประตูวิหารทิศตะวันตก ประดิษฐานพระรูปหล่อของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และพระพุทธรูปยืนปางรำพึง

ซุ้มที่ 2 พระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ

ซุ้มที่ 3 พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามญาติ

ซุ้มที่ 4 พระพุทธยืนปางถวายเนตร

ซุ้มที่ 5 พระพุทธรูปยืนปางประทานพร

ซุ้มที่ 6 พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร

ซุ้มที่ 7 พระพุทธรูปลีลา

ซุ้มที่ 8 ซุ้มจรนำด้านทิศตะวันออก ประดิษฐานพระรูปหล่อของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก และพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร

ซุ้มที่ 9 พระพุทธรูปปางลีลา

ซุ้มที่ 10-12 พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติ

ซุ้มที่ 13 พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร

ซุ้มที่ 14 พระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ

เหนือซุ้มพระพุทธรูป มีชานและกำแพงแก้วสำหรับเดินรอบเจดีย์ โดยมีบันไดขึ้นจากข้างในองค์พระเจดีย์ บันไดทางเข้าด้านในอยู่ทางทิศเหนือด้านพระอุโบสถ ภายในองค์พระเจดีย์ตรงกลางพื้นมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปศิลานาคปรกรูปแบบศิลปะลพบุรี 2 องค์ ตั้งหันไปทางทิศเหนือ 1 องค์ และทางทิศใต้อีก 1 องค์ และพระพุทธรูปนาคปรกขนาดย่อมกว่าอีก 2 องค์ ตั้งหันไปทางทิศตะวันออก 1 องค์ ทางทิศตะวันตกอีก 1 องค์ และยังมีพระพุทธรูปขนาดเล็กประดิษฐานอยู่อีกหลายองค์ นอกจากนี้ ตามผนังด้านในยังมีช่องประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดย่อมอีก 6 ช่อง ทางผนังทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ ทิศละ 2 ช่อง และมีตู้พระไตรปิฎก 1 ตู้

ยอดพระเจดีย์ทำเป็นลูกแก้วกลม ลูกแก้วยอดพระเจดีย์นี้ครอบผอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 6,018 องค์ มีส่วนหนึ่งบรรจุอยู่ในตลับเงินกะไหล่ทองฝังพลอยสีแดง และอีกส่วนหนึ่งบรรจุในตลับเงิน ตลับทั้ง 2 ลูกนี้บรรจุอยู่ในโถเบญจรงค์ลายน้ำทอง การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ทางวัดเป็นผู้จัดงานขึ้นเมื่อวันที่ 10-19 พฤษภาคม พ.ศ.2492 พร้อมกับยกลูกแก้วสู่ยอดพระเจดีย์ที่ได้จัดทำขึ้นใหม่ด้วย ในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2528 พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร) ได้เสด็จพระราชดำเนิน ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐาน ณ ปลียอดพระเจดีย์

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พร้อมด้วยแผนผัง ภาพปูชนียวัตถุสถาน และภาวรวัตถุ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2513.

กรมศิลปากร. ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531(ก).

กรมศิลปากร. ศิลปกรรมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานฉลองครบรอบ 90 พรรษา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก, 2531(ข).

กรมศิลปากร. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ 150 ปี. กรุงเทพฯ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2553.

ชัชพล ไชยพร (บรรณาธิการ). ประมวลเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 เรื่องวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2553.

ตำนานมหาดเล็ก (คัดจากต้นฉบับเดิม โดย นายวรการบัญชา). หนังสือที่ระลึกเนื่องในงานราชวัลลภฯ ครอบรอบหนึ่งร้อยสามสิบหกปี กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 11 พฤศจิกายน 2547 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์. กรุงเทพฯ : กรีนแมคพาย, 2547.

ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2544.

พรชนก ตันรัตนพงศ์. “ศึกษารูปแบบงานศิลปกรรมวัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม ที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

พระธรรมจินดาภรณ์. ปาฐกถาเรื่องพระจอมเกล้าฯ เกี่ยวข้องกับพุทธศิลปะอย่างไร. ม.ป.ท., 2512.

พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) และคณะ. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามประจำรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : บริษัท แปลนพริ้นติ้ง จำกัด, 2555.

ยุทธนาวรากร แสงอร่าม. “การประดับตกแต่งส่วนสถาปัตยกรรมในพระพุทธศาสนาด้วยลายเครื่องราช อิสริยาภรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.

“เรื่องปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐ์และวัดราชบพิธ” เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงศึกษาธิการ, ร.7 ศ.9.1/1, กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, กรมศิลปากร.

วิทวัส เกตุใหม่. “การศึกษารูปแบบในการสร้างสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

ศุภชัย เสริมสุขเจริญชัย. “งานตกแต่งภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม : การปรับเปลี่ยนสู่ศิลปะตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.

สมคิด จิระทัศนกุล. พระอุโบสถและพระวิหารในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.

สมคิด จิระทัศนกุล. “พระอุโบสถและพระวิหารในสมัยพระบาทสมเด๋จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ. พระนคร : คุรุสภา, 2505.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่ม 2. พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา, 2425.

สมศิริ อรุโณทัย. งานวิจัยเรื่องการศึกษาวิเคราะห์กระเบื้องเคลือบเขียนสีที่ตกแต่งสถาปัตยกรรม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2546.

สุดจิด สนั่นไหว. การศึกษาเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานฉลองครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสมหาเถระ), 2541.

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554.

วิวัฒน์ เตมียพันธ์. “วัดราชบพิธ” ใน อาษา. 3, 3 (2517).

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี