วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร


โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022

ชื่ออื่น : วัดราชบพิธ, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ที่ตั้ง : เลขที่ 2 ถนนเฟื่องนคร

ตำบล : วัดราชบพิธ

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.749106 N, 100.497359 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ตั้งอยู่ในแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ด้านเหนือจรดถนนราชบพิธ ด้านตะวันออกจรดถนนเฟื่องนคร ด้านตะวันตกจรดถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม ฝั่งตรงข้ามคลองเป็นสวนสราญรมย์และวัดราชประดิษฐ์ฯ ด้านใต้จรดคลองหลอดวัดราชบพิธ ติดกับกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดเปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

พระอุโบสถจะเปิดเป็นเวลา โดยในวันธรรมดาจะเปิดช่วงพระทำวัตรเช้า-เย็น คือ 09.00-10.00 น. และ 17.00-18.00 น. วันพระและช่วงปีใหม่พระอุโบสถจะเปิดตั้งแต่เวลา 08.00-13.30 น. ส่วนพระวิหารจะเปิดเฉพาะเวลามีพิธีสำคัญ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ย.60 วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แจ้งเปิดให้ประชาชนเข้ากราบสักการะพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (เปิดพิเศษ) ให้เข้าชมทุกวัน แบ่งเป็นวันละ 2 รอบ คือ รอบแรก เวลา 08.00 น. - 10.00 น. รอบสอง เวลา 16.00 น. - 18.30 น. ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศการกำหนดบัญชีโบราณวัตถุสถาน (โบราณวัตถุสถานในวัดราชบพิธ) ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 หน้า 5272 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดราชบพิธฯ เป็นวัดหลวงในพระพุทธศาสนา ธรรมยุติกนิกาย ที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันตั้งอยู่ในแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ ด้านเหนือจรดถนนราชบพิธ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ด้านตะวันออกจรดถนนเฟื่องนคร ด้านตะวันตกจรดถนนอัษฎางค์ ริมคูเมืองเดิม ด้านใต้จรดคลองหลอดวัดราชบพิธ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

1 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองคูเมืองเดิม, คลองหลอดวัดราชบพิธ

สภาพธรณีวิทยา

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 5

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2412

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

ที่ตั้งของวัด

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ตั้งอยู่ในแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ด้านเหนือจรดถนนราชบพิธ ด้านตะวันออกจรดถนนเฟื่องนคร ด้านตะวันตกจรดถนนอัษฎางค์ ริมคูเมืองเดิม ด้านใต้จรดคลองหลอดวัดราชบพิธ

แต่เดิมบริเวณที่ตั้งของวัดราชบพิธเป็นพื้นที่วังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหรา กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ฑีฆชนม์เชษฐประยูร (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาคล้าย ซึ่งมีเชื้อสายเปอร์เซีย ประสูติ พ.ศ.2369 รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ทรงกำกับกรมพระอาลักษณ์ และทรงสถาปนาเป็น “กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ” ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็น “กรมขุนบดินทรไพศาลโสภณ” และโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกำกับกรมอักษรพิมพการ และกำกับศาลรับสั่งชำระความราชตระกูล แล้วทรงเลื่อนเป็น “กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ฑีฆชนม์เชษฐประยูร” สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2446 ทรงเป็นองค์ต้นราชสกุล “สิงหรา”) ทางทิศใต้ของวัดเป็นบ้านข้าราชการและราษฎร ส่วนทางทิศตะวันออกเดิมเป็นที่สัปบุษรประชุมทำบุญเทศนา มีบุตรหลานพระยาสิงหเทพเป็นเจ้าของ จากนั้นจึงถวายเป็นศาลาหลวง ภายหลังมีการโปรดให้รื้อสิ่งปลูกสร้างออก เพื่อนำพื้นที่มาสร้างวัด (วิวัฒน์ เตมียพันธ์ 2517 : 69) สถานที่ทั้งหมดนี้จึงทำให้ขนาดของวัดยาวไปด้านตะวันออกตามแนวถนนเฟื่องนคร 2 เส้น 19 วา 2 ศอก กว้างไปทางทิศใต้ตามคลองสะพานช้าง 2 เส้น 16 วา ยาวไปทางทิศตะวันตกตามแนวคลองหลอด 2 เส้น 19 วา 2 ศอก กว้างไปทางทิศเหนือตามถนนริมวังพระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมหมื่นผลพลูสวัสดิ์ 2 เส้น 8 วา กำหนดด้วยเสาศิลาทั้ง 8 ทิศเป็นสำคัญ ต่อมาภายหลังมีการขยายด้านทิศเหนือเพิ่มอีก 1 วา รวมกับที่เดิมตามด้านยาวทางทิศตะวันออกและตะวันตกและทิศใต้ 3 เส้น 6 ศอก เท่ากัน

มูลเหตุการสร้างวัด

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติในปลาย พ.ศ.2411 ซึ่งตามโบราณราชประเพณี เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจะต้องสร้างวัดหรือพระอารามหลวงประจำรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างและสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาล ใน พ.ศ.2412 และนับเป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างวัดประจำรัชกาลตามโบราณราชประเพณี เนื่องจากถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ไม่พบหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกาศสร้างวัดใดเป็นวัดประจำรัชกาล (สุดจิต สนั่นไหว 2541 : 41) หากแต่มีการสร้างโรงเรียนเพื่อจัดการศึกษาแก่ประชาชนขึ้นแทน โดยทรงเริ่มจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นอนุสรณ์ประจำรัชกาล

ทั้งนี้ วัดราชบพิธยังถูกเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยพระราชสรีรางคารของทั้งสองพระองค์ ได้รับการบรรจุอยู่ไว้ภายในถ้ำศิลาใต้ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส พระประธานประจำอุโบสถวัดราชบพิธ

หลักการออกแบบและวางผังวัด เป็นการสร้างตามวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดประจำรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นวัดธรรมยุติกนิกาย แบบมหาสีมา ชื่อวัดราชประดิษฐ์และวัดราชบพิธ แปลเหมือนกันว่า “วัดกษัตริย์สร้าง” รูปแบบที่เหมือนกันของทั้ง 2 วัด คือเขตพุทธาวาสของวัดมีการทำฐานไพที บนฐานไพทีมีพระมหาเจดีย์ทรงกลมเป็นหลักของวัดเหมือนกัน (กรมศิลปากร 2531(ก) : 17)

ความหมายนามวัด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามวัดว่า “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” นามวัดแบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่เป็นนามวัดได้แก่คำว่า “ราชบพิธ” แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง และตอนที่เป็นสร้อยนามของวัดได้แก่คำว่า “สถิตมหาสีมาราม” แปลว่า เป็นวัดที่มีมหาสีมาหรือสีมาใหญ่ตั้งอยู่ อันตรงตามมูลเหตุและลักษณะของวัดโดยตลอด กล่าวคือ วัดนี้เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง และเป็นวัดที่มีสีมาขนาดใหญ่ทำเป็นเสาศิลาจำหลักรูปสีมาธรรมจักรอยู่บนเสา ตั้งอยู่ที่กำแพงวัดทั้ง 8 ทิศ

วัดที่มีสีมาลักษณะดังกล่าวนี้มีอยู่ในไทยเพียง 3 วัดเท่านั้น คือ วัดราชบพิธ วัดราชประดิษฐ์ และวัดบรมนิวาส เหตุที่ตั้งสีมาหรือมหาสีมาในวัดเช่นนี้ ก็เพื่อเฉลี่ยลาภผลแก่สงฆ์ผู้อยู่ในสีมาเดียวกันโดยทั่วถึง และการทำสังฆกรรมในวัด อาจทำได้ภายในมหาสีมา เช่น การบวชพระ เป็นต้น แม้ไม่ทำในอุโบสถอย่างวัดอื่นๆ แต่ก็ทำในขอบเขตแห่งมหาสีมา ก็สามารถเป็นพระสงฆ์ได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เมื่อได้รับอนุมัติจากพระสงฆ์โดยพร้อมเพรียงกัน (กรมศิลปากร 2531(ก) : 19)

เรื่องชื่อสร้อยของวัดนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2505 : 94) ทรงอธิบายว่า “เนื่องสร้างวัดราชบพิธเจริญรอยตามวัดราชประดิษฐ์หมดทุกอย่างจนกระทั่งทำมหาสีมา และชื่อวัดให้คล้ายกันชะรอยจะคิดเปลี่ยนชื่อสร้อยชื่อวัดราชประดิษฐ์เป็นสถิตย์ธรรมยุติการาม เอาสร้อยเดิมของวัดราชประดิษฐ์ไปใช้วัดราชบพิธว่า สถิตย์มหาสีมารามจะเป็นเหตุนี้ดอกกระมัง”

การสร้างวัด

การก่อสร้างวัดเริ่มในปีมะเส็ง พ.ศ.2412 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินที่เป็นวังเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหรา กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ฑีฆชนม์เชษฐประยูร (ขณะนั้นดำรงพระยศเป็น กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ) บ้านเรือนข้าราชการและราษฎรบริเวณริมคลองสะพานถ่าน

ส่วนกระบวนการก่อสร้างวัดนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง การก่อสร้างถาวรวัตถุที่สำคัญในขั้นแรกไว้ในเรื่อง ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในหนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่มที่ 11 พ.ศ.2466 ดังนี้ (กรมศิลปากร 2531(ก) : 20)

            วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2412 (วันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือนอ้าย) ปีมะเส็ง เอกศก จ.ศ.1231 เป็นปีที่ 2 แห่งรัชกาลที่ 5 เวลาบ่าย 3 โมง โปรดให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ผู้เป็นแม่กองอำนวยการสร้างพระอาราม จัดการปักกรุยถาวรวัตถุที่จะสร้าง ใช้เวลาสำหรับการนี้เป็นเวลา 29 วันเสร็จ

            วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2413 (วันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือนยี่) ปีมะเส็ง เอกศก เป็นวันก่อพระฤกษ์

            วันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2413 (วันพุธ แรม 10 ค่ำ เดือนยี่) ปีมะเส็ง เอกศก เป็นวันเจริญพระพุทธมนต์ ในการทรงพระราชอุทิศ พระราชทานวิสุงคาม รุ่งขึ้นวันที่ 27 พระฉันเช้าแล้ว พระราชทานวิสุงคาม (ทำพอเป็นพิธีเท่านั้น เพราะมีพระบรมราชโองการประกาศพระบรมราชูทิศ พระราชทาน ลงวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2413 ปีมะเมีย โทศก จ.ศ.1232 ดังกล่าวมาแล้ว)

            วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2413 (วันอังคาร แรม 3 ค่ำเดือนหก) ปีมะเมีย โทศก จ.ศ.1232 เริ่มพระราชพิธีสวดมนต์ผูกสีมา 3 วัน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม (วันพฤหัสบดี แรม 5 ค่ำ เดือนหก) เวลายาม 1 กับ 30 นาที เป็นฤกษ์ผูกสีมาเต็มเนื้อที่วิสุงคามที่มีกำแพงตั้งสีมาศิลาทั้ง 8 ทิศ เป็นที่สังเกตสีมาของวัดนี้จึงเป็นมหาสีมา พระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรม ถอนมาก่อนประมาณ 32 วัน จึงเสร็จ

            วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2413 (วันเสาร์ แรม 7 ค่ำ เดือนหก) ปีมะเมีย โทศก ลงมือทำกุฏิหลังใหญ่อันจะเป็นตำหนักของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ทำอยู่ 40 วัน จึงเสร็จ

            วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2413 (วันอาทิตย์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนแปด) ปีมะเมีย โทศก โปรดให้แห่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร กับพระสงฆ์ 20 รูป จากวัดโสมนัสวิหารมาจำพรรษาอยู่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

            วันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2413 (วันพฤหัสบดี ขึ้น 10 ค่ำ เดือนสิบ) แห่พระพุทธอังคีรสซึ่งได้ตั้งฉลอง ณ ท้องสนามไชยมาครบ 3 วันแล้ว มาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ และมีมหรสพฉลองอีก

            วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2413 (วันพฤหัสบดี แรม 4 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด) ปีมะเมีย โทศก จ.ศ.1232 มีการแห่พระพุทธรูปสำคัญ คือ พระนิรันตราย มาประดิษฐานในพระอุโบสถ

            วันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2415 (วันพฤหัสบดี ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่) ปีวอก จัตวาศก ยกช่อฟ้าใบระกาพระอุโบสถ

            วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2417 (วันพฤหัสบดี แรม 11 ค่ำ เดือนแปด) ปีจอ ฉศก ยกแกนยอดพระเจดีย์องค์ใหญ่ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหารใหญ่

เมื่อมีพระบรมราชโองการพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ เป็นแม่กองอำนวยการสร้าง แต่ได้สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ เป็นแม่กองดำเนินการต่อ และสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2462 ในขณะที่การก่อสร้างวัดยังไม่แล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร  (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี) เป็นแม่กองอำนวยการก่อสร้างต่อมา (กรมศิลปากร 2531(ก) : 20)

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พ.ศ.2470 โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระยศในขณะนั้น) เป็นแม่กองอำนวยการปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงพระอุโบสถตามพระราชดำริ มีการลบภาพเขียนสีภายในพระอุโบสถออก และแก้ไขรูปแบบภายในพระอุโบสถบางส่วน เป็นตามแบบที่เห็นในปัจจุบัน

ประวัติการบูรณปฏิสังขรณ์

การปฏิสังขรณ์ ถือตามพระนิพนธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ซึ่งทรงแบ่งไว้เป็นยุคสมัยตามลำดับเจ้าอาวาส และเอกสารบางฉบับของกองจดหมายเหตุแห่งชาติ หลังการสร้างวัดเสร็จแล้วก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดมาโดยตลอด แต่ไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสถาปัตยกรรม มีเพียงการแก้ไของค์ประกอบอาคารบางส่วน (สุดจิต สนั่นไหว 2541 : 61) ในที่นี้จะกล่าวถึงงานบูรณะที่เป็นงานเกี่ยวกับหมู่อาคารบนฐานไพที ในเขตพุทธาวาส และส่วนสำคัญของวัด โดยอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ ประวัติราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ของกรมศิลปากร (2531)

ยุคที่ 1 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร (พ.ศ.2412 - 2444)

งานระยะแรกของยุคนี้เป็นก่อสร้างถาวรวัตถุ โดยงานก่อสร้างภายในวัดมีระยะเวลาประมาณ 20 ปี เนื่องจากงานก่อสร้างมีการหยุดบ้างทำบ้าง โดยระหว่างทำก็พบว่าเกิดการชำรุดและจำเป็นต้องปฏิสังขรณ์ งานบูรณะในช่วงนี้ยังอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2411-2453) มีการซ่อมฝาผนัง และบัวใต้หน้าต่างวิหารน้อยในส่วนที่ชำรุดแตกร้าวพังลง และปั้นซ่อมตามลายบัวรับหัวเสาและกรอบหน้าต่างประตูพระอุโบสถที่ชำรุด ปั้นแล้วปิดทองคำเปลวดังของเดิมกับโบกปูนใหม่

ยุคที่ 2 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (พ.ศ.2444 - 2480)

ใน พ.ศ.2449-2453 รายการซ่อมในระยะเวลาดังกล่าวนี้ เป็นรายการซ่อมที่สืบเนื่องมาจากรายการซ่อมใน พ.ศ.2448 เพราะการซ่อมครั้งนี้ถือกันว่าเป็นการซ่อมครั้งใหญ่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เวลามาก ยิ่งกว่านั้นเมื่อพบเห็นสิ่งใดชำรุดทรุดโทรมก็ซ่อมต่อเติมเรื่อยมา จนสิ้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ว่ายังอยู่ในยุคของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรวิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า คือ ยังนับว่าอยู่ในยุคที่ 2

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2453-2468) พ.ศ.2463 มีการซ่อมหน้าบันพระอุโบสถด้านหลัง แก้ช้างสามเศียรเป็นเจ็ดเศียร ต่อมา พ.ศ.2464 ได้สั่งซื้อกระเบื้องเคลือบจากประเทศจีน สำหรับใช้ประดับกำแพงแก้ว ฐานหอกลองและผนังวิหารในพระอาราม ต่อมา พ.ศ.2465 ซ่อมบานประตูและหน้าต่างประดับมุก นำมาติดแทนบานประตูสลักของพระอุโบสถ แล้วนำเอาบานประตูหน้าต่างเดิมมาติดที่พระวิหาร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2468-2477) พ.ศ.2469-2470 ติดกระเบื้องลายประดับพระมหาเจดีย์ที่หลุดจากเดิม แก้โพรงพระเจดีย์ที่รั่ว เปลี่ยนช่อฟ้า นาคสะดุ้ง และหางหงส์ ที่ปีกมุขเด็จพระอุโบสถด้านตะวันตก ต่อมาช่วงปี พ.ศ.2471-2472 สั่งซื้อกระเบื้องเคลือบสีจากประเทศจีนสำหรับประดับพระมหาเจดีย์ส่วนที่ผุ

อนึ่ง ระหว่าง พ.ศ.2470-2472 นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระยศขณะนั้น) อำนวยการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมแปลงพระอุโบสถ ดังมีหนังสือ ที่ 3/417 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2470 ณ พระที่นั่งอัมพรสถานว่า

            “ทูล สมเด็จเจ้าฟ้ากรมนริศรานุวัดติวงศ์ ด้วยหม่อมฉันมีความปรารถนาจะปฏิสังขรณ์ ซ่อมแปลงพระอุโบสถวัดราชบพิธให้งามขึ้น เห็นว่าผู้ที่จะทำได้ถูกใจก็มีแต่พระองค์ท่านจึงขอถวายอำนวยการนี้. ส่วนรูปที่เขียนไว้ตามผนังภายในพระอุโบสถก็อยากเขียนให้เสร็จแต่ให้เขียนเป็นลาย mosaic ไม่เขียนด้วยสีอย่างของเดิม และให้เขียนเป็นเรื่องพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ซึ่งกรมพระดำรงราชานุภาพรับว่าจะทรงคิดและประทานรูปให้ขอให้ทรงติดต่อกับกรมพระดำรงฯ. การปฏิสังขรณ์นี้ขอให้แล้วเสร็จทันงานฉลองพระชนม์พรรษาครบ 3 รอบ ซึ่งจะเป็นที่เฉลิมศรัทธาแก่หม่อมฉันยิ่งนัก.

                                                            (พระบรมนามาภิไธย) ประชาธิปก ปร.

เหตุที่โปรดเกล้าฯ ให้ทำโมเสกรูปพระราชประวัติแทนการเขียนสีของเดิมนั้นมีพระราชกระแสว่า เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงรับสนองพระราชประสงค์ดำเนินการซ่อมแปลงพระอุโบสถโดยแก้ไขรายละเอียดในบางส่วน เว้นแต่การทำโมเสกรูปพระราชประวัติ ซึ่งไม่อาจทรงทำถวายได้ และยังเว้นค้างไว้ดังปัจจุบัน โดยเหตุที่ไม่อาจทรงทำถวายได้นั้น ได้ทรงชี้แจงไว้ในหนังสือลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2470 ณ พระตำหนักปลายเนิน คลองเตย ถึงเจ้าพระยามหิธร กรมราชเลขาธิการ มีข้อความบางตอนดังนี้

            “ความวิตกของฉันนั้นหาได้วิตกในการทำโมเสกไม่ ถ้ามีตัวอย่างส่งไปเขาก็ทำส่งมาให้ดั่งประสงค์มิได้ยากเลย ซึ่งเป็นข้อวิตกอันหนักของฉัน

รูปชนิดนั้นของเราเวลานี้มีอยู่ 4 แผ่น คือ

            1. รูปพระเจ้านโปเลียนที่ 3 เสด็จออกรับราชทูตไทย เป็นของบรรณาการฝีมือเจโรม ช่างเอกเมืองฝรั่งเศสเป็นผู้เขียน ความยากอยู่ที่เขียนรูปพระราชประวัติที่สำหรับส่งไปเป็นตัวอย่างให้เขาทำโมเสกนั้น ซึ่งเป็นข้อวิตกอันหนักของฉัน

            2. ถัดมาก็รูประบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกรับราชทูตฝรั่งเศส รูปนี้ใครเป็นคนเขียนที่ไหนฉันไม่ทราบ แต่ผู้ดูก็ชมว่าดีเหมือนกัน

            3. รูปพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เสด็จออกรับราชทูตไทย เขียนถ่ายมาจากรูปครั้งเก่าครั้งโน้น ซึ่งอยู่ที่เมืองบาวาเรีย รูปนี้จะเขียนถ่ายมาเหมือน หรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่คนดูมิได้พูดว่ากระไรคงจัดได้ว่าเป็นรูปปานกลาง

            4. รูปพระราชินีวิกโตเรีย เสด็จออกรับราชทูตไทย รูปนี้ราชทูตสยามประจำเมืองอังกฤษจัดให้ช่างเขียนผูกขึ้น ใครเห็นก็ติว่าไม่ดีทุกคน จนมีเสียงถึงว่าควรเอาไปทิ้งน้ำเสีย เอาไว้ขายพระเกียรติยศ ต้องจัดว่ารูปแผ่นนี้เป็นอย่างเลว

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งพระราชหฤทัยที่จะทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดราชบพิธ ให้งามให้ดีเป็นที่เชิดชูพระปรมาภิไธยอยู่เป็นเกียรติยศชั่วกาลนาน ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในความสามารถของฉันที่จะทำการสนองพระเดชพระคุณได้สมพระราชประสงค์ อันนั้นเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ฉันก็ต้องตั้งใจสนองพระเดชพระคุณสุดกำลัง ที่จะไม่ให้ใครติเตียนอย่างเช่นกล่าวมาข้างต้นแล้วก็จะเป็นความผิดของฉันอย่างหนักทีเดียว เพราฉะนั้นเมื่อรู้สึกว่าไร้สิ่งพ้นความสามารถแห่งตนก็ต้องกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ...

            ...จริงอยู่ การงานที่ไม่จำเป็นฉันต้องลงมือ อาจบงการให้ช่างทำก็ได้ฉนั้นก็ดี แต่การบงการนั้นถ้าคำพูดไม่พอที่จะให้ช่างเข้าใจได้ ก็ต้องลงมือทำให้เห็นความคิด แท้จริงต้องเขียนความคิดให้ช่างเห็นก่อนเสมอ จึงจะทำไปได้สะดวก ก็การเขียนรูปประวัติฉันไม่ได้ฝึกตัวมา เขียนก็ไม่ได้ ทำอย่างไรจะดี ความคิดก็ไม่พอ ใครจะสามารถทำได้ก็แลไม่เห็น เมื่อเป็นอยู่ดังนั้นความสามารถที่จะบงการให้เป็นไปได้ด้วยดี จึงเป็นที่วิตกขัดข้องในใจต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

            ในสมัยนี้ มีคนหัดเขียนรูปคนอย่างที่เรียกว่าปอเตรตกันขึ้นมากประมาทไม่ได้ บางที่จะมีใครที่สามารถทำรูปโมเสกสนองพระเดชพระคุณขึ้นได้ก็เอามาติดเข้า หรือเป็นแต่เพียงผู้นั้นจะเขียนแบบขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระราชทานให้ฉันสั่งทำโมเสกมาติคก็ได้เหมือนกัน

การที่ไม่อาจสนองพระราชประสงค์ได้นั้นสมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเสนอว่า “ถ้าจะทำให้เป็นแล้วไว้ เพียงทาสีเขียนลวดลายประกอบตามสมควรก่อน ก็จะดีกว่าเป็นการค้าง” โดยการกำหนดรูปแบบพระราชประวัตินั้นเมื่อ สมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ ได้ทรงทราบว่ากรมพระนริศฯ ทรงขัดข้องในการที่จะทำเป็นรูปอันถ่ายให้เหมือนเช่นที่ที่เป็นจริง จึงได้คิดผูกพระคุณ 10 ประเภท เท่าช่องผนัง โดยการเสนอให้มีพระบรมรูปติดอยู่ในกรอบเป็นประธาน คิดภาพหรือลวดลายเข้ากับพระคุณเป็นเครื่องประกอบ แทนที่จะทำเรื่องพระราชประวัติ โดยมีรายละเอียดตามหนังสือลงวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 ณ วังวรดิศ ถึงสมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แต่จากหลักฐานการปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธของกองจดหมายเหตุแห่งชาติไม่ปรากฏความก้าวหน้า ในเรื่องของการทำกระเบื้องโมเสกแต่อย่างใด ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 พระราชวงศ์ที่เกี่ยวข้องในราชการต่างๆ บางพระองค์ต้องเสด็จไปอยู่ต่างประเทศ รวมทั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพด้วย จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้เรื่องนี้ยุติลง และไม่ปรากฏว่ามีการนำพระดำรินี้มาใช้เป็นแนวทางในการปฏิสังขรณ์ต่อในสมัยหลังแต่อย่างใด (สุดจิต สนั่นไหว 2542 : 53)

ส่วนการปฏิสังขรณ์ภายใต้การอำนวยการของสมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ที่ได้กระทำนั้นมีรายละเอียดโดยสรุปตามรายงานการปฏิสังขรณ์ ลงวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2472 ณ ราชบัณฑิตยสภาถึงเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ ดังนี้

งานภายนอกพระอุโบสถ ผนังภายในซุ้มประตูที่เป็นรูปเซี่ยวกาง แต่เดิมปิดทองหมดจนถึงขั้นบันได เมื่อเช็ดถูบันไดก็ถูกทองในที่ต่ำลอกไป ซ้ำถูกคนนั่งพิงทำให้เปรอะเปื้อนด้วย ทรงเห็นว่าถ้าทำตามแบบเก่าจะไม่ถาวรจำทำการเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยประดับกระเบื้องเคลือบสีเหลืองเป็นบัวเชิงผนังแทน นอกจากนี้ได้ซ่อมลายมุกโดยถมพื้นรักขัดใหม่ให้เรียบร้อยทุกบานและเขียนลายรดน้ำเชิงบานใหม่ด้วยเพราะว่าการขัดลายมุกที่เชิงบานทำให้ลายรดน้ำนั้นเสียไป

งานภายในพระอุโบสถ ผนังเบื้องบนพระอุโบสถทาสีฟ้า เขียนลายสีทองเป็นดอกมณฑาร่วง พื้นผนังเบื้องล่าง ทำลวดลายปูนติด ปิดทองทาสีเขียนลายประกอบ บัวหลังแนวหน้าต่างทำลายปูนเป็นกระจังติดเติมขึ้นทาสีปิดทองใหม่ และซ่อมสีที่ลายเก่าทั่วไปด้วย มีช่องว่างระหว่างลายเหนือหน้าต่างว่างอยู่ เดิมที่เห็นจะคิดบรรจุศิลาจารึกบอกเรื่องที่เขียนผนัง ได้เก็บเอาศิลาแตกที่คัดปูนออกเปลี่ยนใหม่ จากพระที่นั่งอนันตสมาคมมาตัดบรรจุเข้า ผนังด้านหลังได้ตัดบัวซึ่งขวางหลังพระประธานออกเสีย ก่อเป็นเสาในเบื้องล่าง ทำเป็นกรอบไว้เบื้องบน ปิดทองทาสีเขียนลายประกอบ ในช่องทาสีน้ำเงินแก่ เพื่อให้เห็นองค์พระประธานให้เด่นงาม ช่องหน้าต่างประตู ได้ทาสีธรณีบานแผละ และเพดานในช่องปิดทองลายฉลุใหม่ เพดานใหญ่นั้นได้ปั้นซ่อมดอกลายปูนปั้น ซ่อมสีซ่อมทองตามสมควร ฐานชุกชีของเดิมประดับศิลาไว้โดยทั่วแล้ว กับรอยที่ตัดอาสนสงฆ์ออกต้องประดับศิลาใหม่ ได้คัดเอาศิลาที่เสียแล้วจากพระที่นั่งอนันตสมาคมมาประดับให้สมบูรณ์ อาสนสงฆ์ที่ทำใหม่ด้วยไม้ทาสีปิดทอง ทำเป็น 2 ชั้นให้ยกรื้อเปลี่ยนแปลงได้ เวลาปกติทอดชั้นเดียวกลางพระอุโบสถแทนอาสนะปูนของเดิม เวลากฐินยักย้ายไปทอดริมฝาซ้อนกัน 2 ชั้น

ยุคที่ 3 พระศาสนโสภณ (ภา ภาณโก) (พ.ศ.2480 - 2489)

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมทรมหาอานันทมหิดล (ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2477-2489) มีการปฏิสังขรณ์แต่ไม่ได้แยกวันเดือนปี งานส่วนใหญ่เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมในส่วนสังฆาวาสและบริเวณสุสานหลวง ซึ่งเป็นการซ่อมแซมเกี่ยวกับไฟฟ้าและประปา การปรับสภาพแวดล้อมของวัดให้ดูดีขึ้น

ยุคที่ 4 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช

ส่วนใหญ่เป็นงานบูรณะซ่อมกำแพงและซุ้มประตูรอบวัด ซ่อมแซมประตูพระอุโบสถและพระวิหาร เปลี่ยนพื้นหินอ่อนใหม่ทั้งหมด ทำเสาใหม่เป็นแบบแท่งคอนกรีตเสริมเหล็ก ช่วงปี พ.ศ.2519-2520 บูรณปฏิสังขรณ์วิหารมุข ด้านทิศตะวันตก โดยกรมศิลปากรออกรูปแบบและรายการบูรณะ มีการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก ทำบัวหัวเสา ทำรักร้อย เขียนภาพบานประตูใหม่ทั้งหมด

พ.ศ.2522-2523 ซ่อมแซมและเขียนลายรดน้ำบานประตูหน้าต่างพระอุโบสถขึ้นใหม่ แทนของเดิมที่ลบหายไปจากการซ่อมแซมบานมุก รวมทั้งเขียนลายซ่อมแซมด้านหลังที่ลบเลือนเป็นบางส่วน

พ.ศ.2522-2523 บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ตามรูปแบบและรายการของกรมศิลปากร และจัดเปลี่ยนโคมไฟฟ้าแก้วเจียระไนทั้งหมด ของเก่าซ่อมแล้วนำไปติดที่พระวิหาร

พ.ศ.2523-2524 บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร ตามรูปแบบและรายการของกรมศิลปากร ซึ่งในการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารครั้งนี้ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) มีรับสั่งว่าสมควรจะได้ทำและเขียนลายดอกไม้ร่วง ตลอดถึงลายอักษรย่อพระปรมาภิไธย “จ” กับเครื่องหมายอุณาโลม ที่ผนังด้านล่าง มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์ ซึ่งได้ชำรุดทรุดโทรมเกิดการแตกร้าวเป็นบางส่วนและกระเบื้องสีบางส่วนประดับชำรุดแตกร้าวหลุดร่วง โดยกรมศิลปากรดำเนินการสำรวจออกรูปแบบและรายการบูรณปฏิสังขรณ์ ตลอดจนควบคุมงาน

ยุคที่ 5 สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร)

ทำซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาฯ (วาสมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราชฯ ที่ฐานทักษิณพระมหาเจดีย์ด้านตะวันออก

 

แผนผังวัด

แผนผังมหาสีมาของวัดราชบพิธจัดเป็รแผนผังมหาสีมาชนิดที่ผูกล้อมทั่วทั้งบริเวณวัด ลักษณะเดียวกับวัดราชประดิษฐ์ โดยกำหนดนิมิตมหาสีมาของวัดราชบพิธเป็นแท่งเสาศิลาสี่เหลี่ยมจัตุรัสสูงละเลียดไปกับความสูงของกำแพง ส่วนปลายสลักเป็นรูปใบเสมาชนิดแท่ง มีตำแหน่งอยู่บนแนวกำแพงสายนอกของวัดทั้ง 8 ทิศ (สุดจิต สนั่นไหว 2541 : 96)

แผนผังวัดราชบพิธประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 3 เขต (ภายในกำแพงล้อมรอบ) คือ เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง ซึ่งแบ่งแยกพื้นที่ออกจากกันอย่างชัดเจน

กำแพง สีมา และซุ้มประตูทางเข้าวัด

เขตพุทธาวาสและสังฆาวาส อยู่ภายในกำแพงทึบสูงระดับเหนือศีรษะล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน เหนือแนวกำแพงทำเป็นแท่งสีมาโปร่งติดอยู่เป็นแถว ที่มุมกำแพง และกึ่งกลางกำแพงทั้ง 8 ทิศ มีเสาศิลาจำหลักรูปเสมาธรรมจักรอยู่บนหัวเสา สำหรับใช้กำหนดตำแหน่งนิมิตสีมา อันแสดงว่าวัดนี้กำหนดเขตสังฆกรรมเป็นมหาสีมา หรือสีมาใหญ่ผูกล้อมทั้งบริเวณวัด ซึ่งวัดที่มีมหาสีมาแบบนี้มีเพียง 5 วัด ได้แก่ วัดราชบพิธ วัดราชประดิษฐ์ วัดบรมนิวาส วัดโสมนัสวิหาร และวัดมกุฏกษัตริยาราม การตั้งมหาสีมาในวัดเช่นนี้ก็เพื่อเฉลี่ยลาภผลแก่สงฆ์ผู้อยู่ในสีมาเดียวกันให้ทั่วถึง สามารถกระทำสังฆกรรมในวัดได้ทุกที่ โดยมีผลสมบูรณ์เหมือนกระทำในพระอุโบสถที่มีขัณฑสีมาหรือสีมาเล็กล้อมเหมือนเช่นวัดอื่นๆ (สุดจิต สนั่นไหว 2541 : 75)

กำแพงแต่ละด้านมีซุ้มประตูทางเข้าวัดด้านละ 2 ซุ้ม รวมรอบวัด 8 ซุ้ม ในระหว่างเขตพุทธาวาสกับเขตสังฆาวาสยังมีกำแพงแบบเดียวกันอีกแนวคั่น มีซุ้มประตูทางเข้าเช่นเดียวกันกับกำแพงรอบวัด แต่มีขนาดเล็กกว่าอีก 4 ซุ้ม รวมทั้งวัดเป็น 12 ซุ้มประตู

ลักษณะของซุ้มประตูทั้ง 12 ซุ้มจะเหมือนกันหมด คือเป็นซุ้มก่ออิฐถือปูนทรงบันแถลงย่อเหลี่ยมประดับด้วยลายปูนปั้น โดยเฉพาะตรงหน้าบันซุ้มด้านนอกและด้านในทำเป็นรูปพาน 2 ชั้น ประดิษฐานพระเกี้ยวเปล่งรัศมี กับมีราชสีห์คชสีห์ประคองฉัตร 5 ชั้น อยู่ข้างละตัว เดิมซุ้มประตูทางเข้าวัดนี้เคยตั้งอยู่สูงจากระดับพื้นภายนอกและภายในวัด เวลาเข้าออกต้องขึ้นลงบันได 3 ขั้น ปัจจุบันมีการปรับพื้นสูงขึ้น จนแทบไม่เหลือขั้นบันได (สุดจิต สนั่นไหว 2541 : 75)

ที่ซุ้มประตูทุกซุ้มมีประตูบานเปิดไม้ 1 คู่ ด้านหน้าแกะสลักเป็นภาพนูนต่ำรูปทหาร บานละ 1 คน สวมเครื่องแบบเหมือนกันทั้ง 2 บาน แต่ลักษณะเครื่องแบบของแต่ละซุ้มจะแตกต่างกัน ทหารยืนอยู่ใต้ต้นไม้ที่กำลังออกดอก ภายในกรอบสีเหลือง อกเลาบานประตูทาสีแดง นมอกเลาแกะเป็นลายดอกไม้ทาสีเหลือง ด้านหลังประตูทางสีแดง เหมือนกันทุกซุ้ม

รูปทหารเหล่านี้เข้าใจว่าเป็นทหารมหาดเล็กซึ่งจัดตั้งมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่มหาดเล็กเดิม 24 คนหรือที่เรียกว่า ทหารสองโหล และมาเป็นทหารมหาดเล็กหลวง 72 คน เรื่อยมาจนตั้งเป็นกรมทหารมหาดเล็กเป็นหลักฐานใน พ.ศ.2416 เมื่อตั้งกรมทหารมหาดเล็กจนถึง พ.ศ.2419 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบทหารมหาดเล็ก (ตำนานมหาดเล็ก 2547) ซึ่งรูปทหารมหาดเล็กที่ได้นำมาสลักไว้ที่บานประตูนี้อาจแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งตัวดังกล่าวก็เป็นได้  (กรมศิลปากร 2531(ก) : 50)

เขตพุทธาวาส

เป็นพื้นที่ที่ใช้ประกอบพิธีสังฆกรรม อยู่บริเวณพื้นที่ด้านเหนือของวัด มีอาคารสำคัญเช่น พระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ตั้งอยู่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวัดราชบพิธนั้น สามารถประกอบพิธีสังฆกรรมได้ทุกพื้นที่ เนื่องจากอาณาเขตวัดล้อมรอบด้วยสีมา จึงเรียกส่วนที่อยู่ภายในกำแพงทางด้านเหนือของวัด ซึ่งมีอาคารที่กล่าวมาว่าอยู่ในเขตพุทธาวาส โดยภายในเขตพุทธาวาสของพระอาราม มีหมู่อาคารและสิ่งก่อสร้างอยู่บนฐานไพที

แผนผังอาคารบนฐานไพที มีพระเจดีย์เป็นประธาน ตั้งตรงกลางโดยมีอาคารหลักทั้ง 4 อาคารล้อมรอบ โดยพระอุโบสถและพระวิหารตั้งอยู่ในแนวแกนเหนือ-ใต้ และวิหารทิศตั้งอยู่ในแกนตะวันออก-ตะวันตก มีศาลารายตั้งอยู่ทางซ้ายและขวาของอาคารหลักทุกหลัง รวมจำนวน 8 หลัง

เขตพุทธาวาสที่มีลักษณะการวางผังอาคาร 4 ทิศล้อมพระเจดีย์นี้ ปรากฏมาก่อนหน้านี้แล้วที่วัดพระปฐมเจดีย์ ต่างกันที่อาคารทั้ง 4 ทิศของวัดพระปฐมเจดีย์เป็นวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปทุกหลัง โดยมีพระอุโบสถแยกออกมาต่างหาก

การที่วัดราชบพิธมีการกำหนดผังที่สอดคล้องกันกับวัดพระปฐมเจดีย์นั้น เนื่องมาจากวัดพระปฐมเจดีย์เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นด้วยการสร้างพระมหาเจดีย์ครอบซากองค์พระเจดีย์เดิม ซึ่งพระองค์มีพระราชดำริว่าเป็นมหาสถูปแรกตั้งในพระพุทธศาสนาในประเทศไทย มีลักษณะเช่นเดียวกันกับพระสถูปถูปารามที่กรุงอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา โดยลักษณะของแผนผังสถูปถูปารามอยู่ในผังพื้นรูปวงกลม มีอาคารล้อมเป็นวง การถ่ายแบบแผนผังพื้นวงกลมและรูปทรงเจดีย์สถูปถูปาราม มาใช้ในองค์พระปฐมเจดีย์จึงเป็นเรื่องมีความสอดคล้องกัน (สุดจิต สนั่นไหว 2541 : 188-190)

การที่วัดราชบพิธสร้างหลังจากพระปฐมเจดีย์ก็มีผัง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พร้อมด้วยแผนผัง ภาพปูชนียวัตถุสถาน และภาวรวัตถุ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2513.

กรมศิลปากร. ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531(ก).

กรมศิลปากร. ศิลปกรรมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานฉลองครบรอบ 90 พรรษา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก, 2531(ข).

กรมศิลปากร. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ 150 ปี. กรุงเทพฯ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2553.

ชัชพล ไชยพร (บรรณาธิการ). ประมวลเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 เรื่องวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2553.

ตำนานมหาดเล็ก (คัดจากต้นฉบับเดิม โดย นายวรการบัญชา). หนังสือที่ระลึกเนื่องในงานราชวัลลภฯ ครอบรอบหนึ่งร้อยสามสิบหกปี กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 11 พฤศจิกายน 2547 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์. กรุงเทพฯ : กรีนแมคพาย, 2547.

ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2544.

พรชนก ตันรัตนพงศ์. “ศึกษารูปแบบงานศิลปกรรมวัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม ที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

พระธรรมจินดาภรณ์. ปาฐกถาเรื่องพระจอมเกล้าฯ เกี่ยวข้องกับพุทธศิลปะอย่างไร. ม.ป.ท., 2512.

พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) และคณะ. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามประจำรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : บริษัท แปลนพริ้นติ้ง จำกัด, 2555.

ยุทธนาวรากร แสงอร่าม. “การประดับตกแต่งส่วนสถาปัตยกรรมในพระพุทธศาสนาด้วยลายเครื่องราช อิสริยาภรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.

“เรื่องปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐ์และวัดราชบพิธ” เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงศึกษาธิการ, ร.7 ศ.9.1/1, กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, กรมศิลปากร.

วิทวัส เกตุใหม่. “การศึกษารูปแบบในการสร้างสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

วิวัฒน์ เตมียพันธ์. “วัดราชบพิธ” ใน อาษา. 3, 3 (2517).

ศุภชัย เสริมสุขเจริญชัย. “งานตกแต่งภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม : การปรับเปลี่ยนสู่ศิลปะตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.

สมคิด จิระทัศนกุล. พระอุโบสถและพระวิหารในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.

สมคิด จิระทัศนกุล. “พระอุโบสถและพระวิหารในสมัยพระบาทสมเด๋จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ. พระนคร : คุรุสภา, 2505.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่ม 2. พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา, 2425.

สมศิริ อรุโณทัย. งานวิจัยเรื่องการศึกษาวิเคราะห์กระเบื้องเคลือบเขียนสีที่ตกแต่งสถาปัตยกรรม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2546.

สุดจิด สนั่นไหว. การศึกษาเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานฉลองครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสมหาเถระ), 2541.

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี