วัดศรีนวล


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : พระพุทธรูปจากสิมเก่าวัดศรีนวล

ที่ตั้ง : เลขที่ 441 บ้านพระลับ ถ.หลังเมือง เทศบาลนครขอนแก่น ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น

ตำบล : ในเมือง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ขอนแก่น

พิกัด DD : 16.424454 N, 102.837237 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ชี

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดศรีนวลตั้งอยู่กลางเมืองขอนแก่นหรือกลางเขตเทศบาลนครขอนแก่น บริเวณถนนหลังเมืองตัดกับถนนรอบเมือง อยู่ห่างจากบึงแก่นนครไปทางทิศเหนือประมาณ 550 เมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดศรีนวลเป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองขอนแก่นวัดหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนในพื้นที่ให้การเคารพสักการะเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีโรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ศูนย์เผยแผ่ศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา ผู้สนใจเข้าสักการะศาสนสถาน ศาสนวัตถุ และเยี่ยมชมโบราณวัตถุภายในวัดได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับวัดศรีนวลได้ที่ โทร. 043-226-518 และ http://www.watsrinuan.com/

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดศรีนวล

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดศรีนวลเป็นศาสนสถานที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่กลางเมืองขอนแก่นหรือกลางเขตเทศบาลนครขอนแก่น บริเวณถนนหลังเมืองตัดกับถนนรอบเมือง สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบ (ที่ราบสูง) มีแม่น้ำชีไหลผ่านทางทิศตะวันออกของตัวเมืองขอนแก่น และมีลำน้ำสาขาไหลผ่านในพื้นที่อีกหลายสาย รวมทั้งสระน้ำหลายสระที่เกิดจากหลุมเกลือ ปัจจุบันภายในตัวเมืองมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมาก

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

160 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำชี

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะธรณีวิทยาของพื้นที่ตั้งแหล่งโบราณคดีจัดอยู่ในหมวดหินมหาสารคาม อายุประมาณ 93 ล้านปี ยุคครีเทเชียส ชั้นหินประกอบด้วย ชั้นเกลือหิน 3 ชั้น แทรกสลับกับหินโคลน หินทรายแป้ง สีน้ำตาลแดง สีแดงส้ม มีความหนารวมกันประมาณ 600-1,000 เมตร โดยมีชั้นแอนไฮไดร์ตรองรับอยู่ด้านล่าง บริเวณที่มีโครงสร้างของโดมเกลือใกล้ชั้นผิวดินมักส่งผลให้ดินเค็ม และการปรากฏคราบเกลือบนผิวดิน (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 20)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยรัตนโกสินทร์

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดศรีนวล เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตามประวัติวัดกล่าวว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2345 เดิมเรียกว่า  “วัดใน” เพราะตั้งอยู่ส่วนกลางของหมู่บ้านพระลับ คู่กับวัดศรีจันทร์ ที่เดิมเรียกว่า “วัดนอก” เนื่องจากตั้งอยู่ส่วนนอกของหมู่บ้านพระลับ (ตั้งขึ้นหลังวัดศรีนวล) ต่อมาจึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดศรีนวล”

อุโบสถหลังเก่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่จากตัวอักษรที่จารึกไว้หน้าแท่นพระประธานของอุโบสถหลังเก่าว่า “สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐” ระหว่างที่พระญาคูผาง ผคฺโค เป็นเจ้าอาวาส ส่วนอุโบสถหลังใหม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2512

ลำดับเจ้าอาวาสวัดศรีนวล มีดังนี้

     1. พระญาคูหลักคำ ประมาณ พ.ศ.2345-2369

     2. พระญาคูทิ ประมาณ พ.ศ.2370-2385

     3. พระญาคูพันธ์ ประมาณ พ.ศ.2386-2404

     4. พระญาคูปาน ประมาณ พ.ศ.2405-2420

     5. พระญาคูลูกแก้ว ประมาณ พ.ศ.2421-2437

     6. พระญาคูผาง ผคฺโค (หลวงปู่ผาง) ประมาณ พ.ศ.2438-2478

     7. พระราชสารธรรมมุนี (ปภัสสรมหาเถระ) พ.ศ.2479-2524

     8. พระกิตติญาณโสภณ (บัวผัน ปคุณธมฺโม) 1 กรกฎาคม 2524 ถึงปัจจุบัน

สิ่งสำคัญภายในวัดศรีนวล ได้แก่ พระพุทธรูปจากอุโบสถหรือสิมเก่า และเสมา 2 หลักที่หน้าอุโบสถ

            พระพุทธรูปจากอุโบสถเก่า

พระพุทธรูปจากอุโบสถเก่าปัจจุบันประดิษฐานเป็นประธานอยู่ภายในวิหารหลังใหม่ อยู่ด้านทิศตะวันตก พระกิตติญาณโสภณ เจ้าอาวาสวัดศรีนวล ถวายพระนามว่า “พระพุทธผัคครังสยานุสรณ์” ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปูน ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 1.56 เมตร สูง 2.40 เมตร ทาด้วยสีทอง (ปิดทอง?) เม็ดพระศก พระเกศา และเกตุมาลา ทาด้วยสีดำ หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ

            เสมา 2 หลักที่หน้าอุโบสถ

เสมาหินทราย 2 หลักประดิษฐานอยู่ด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออก) ของอุโบสถวัดศรีนวล โดยปักตั้งอยู่บนแท่นปูนปูกระเบื้องบริเวณ 2 ข้างซ้าย-ขวาของประตูกำแพงแก้วด้านนอก ด้านละ 1 หลัก

เสมาเบื้องซ้ายของอุโบสถ (ด้านทิศเหนือ) มีลักษณะเป็นแผ่นค่อนข้างหนา ยอดสอบแหลมเป็นรูปกลีบบัว ส่วนที่โผล่พ้นแท่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนล่างมีการทาด้วยสีทอง (โดยคนสมัยปัจจุบัน) ด้านหนึ่งของใบเสมา (ด้านทิศตะวันออก) มีลวดลายเป็นสันนูนตรงกลางตามแนวตั้ง ส่วนอีกด้านหนึ่งไม่ปรากฏลวดลายและมีสภาพค่อนข้างสึกกร่อน มีผ้าสีพันอยู่โดยรอบ ด้านหน้ามีเครื่องสักการะ พระพุทธรูป และรูปปั้นสงฆ์ 

เสมาเบื้องขวาของอุโบสถ (ด้านทิศใต้) มีลักษณะเป็นแผ่นหนา ยอดบนกลมมนและเซาะร่องเป็นเส้น 2 เส้นขนานกัน ส่วนที่โผล่พ้นแท่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนล่างมีการทาด้วยสีทอง (โดยคนสมัยปัจจุบัน) ไม่มีลวดลาย สภาพโดยทั่วไปค่อนข้างสึกกร่อน มีผ้าสีพันอยู่โดยรอบ

ตามประวัติแล้ว เสมา 2 หลักที่ประดิษฐานหน้าอุโบสถหลังใหม่หรือหลังปัจจุบัน ถูกเคลื่อนย้ายมาจากโนนเมือง อำเภอชุมแพ คราวเดียวกับหลักเมืองขอนแก่นและหลักเมืองชุมแพ โดยมีประวัติการค้นพบและเคลื่อนย้าย ดังนี้

            “เมื่อ พ.ศ.2498 ประมาณเดือน 4 ได้มีคนแก่มากราบเรียนท่านเจ้าคุณพระราชสารธรรมมุนี (หลวงพ่อกัณหา) วัดศรีนวล เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นในขณะนั้นว่า มีอยู่วันหนึ่งเขาได้ไปนอนพักที่โรงนาบริเวณโนนเมืองแล้วฝันประหลาดว่าเห็นคนแก่นุ่งห่มชุดขาวบ่นว่า"อยากจะไปอยู่ในเมือง" คืนที่สองฝันอีกว่า "อยากจะไปอยู่ในเมือง อยากจะไปอยู่เป็นมิ่งขวัญของเมือง" พอคืนที่สามก็ได้ฝันลักษณะเดิมอีก หลังจากตื่นขึ้นก็รู้สึกร้อนรนอยู่ไม่ได้นอนไม่ได้ จึงเดินทางเข้าเมืองเพื่อเล่าความฝันให้ท่านเจ้าคุณฟัง

            เมื่อท่านเจ้าคุณได้ฟังแล้วจึงถามว่า "ลักษณะตรงนั้นเป็นอย่างไร" คนแก่ตอบว่า "ลักษณะตรงนั้นเป็นกู่เก่า มีป่าขนาดใหญ่ต้นไม้ขึ้นหนาทึบมีเสาหิน และใบเสมาเป็นจำนวนมาก" ท่านเจ้าคุณจึงออกปากว่า "ถ้าเป็นมิ่งเป็นขวัญของเมือง ก็ต้องเป็นหลักเมือง" ประกอบกับจังหวัดขอนแก่นขณะนั้นยังไม่มีหลักเมือง ท่านเจ้าคุณจึงเรียนให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น คือ หลวงพินิจ และได้มอบหมายให้ฝ่ายพระมหาสุคนธ์และพระอีกจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งปลัดจังหวัดไปอัญเชิญหลักเมืองออกจากกู่

            ในขณะที่อัญเชิญเสาและเสมาหินออกจากกู่เกิดอาเพศฝนตกหนัก มีฟ้าผ่าลงมาโดนเสาหลักเมือง(ปัจจุบันเป็นเสาหลักเมืองอำเภอชุมแพ) รถเกิดติดหล่มไม่สามารถเดินทางต่อได้ ทางคณะจึงปรึกษากันว่า "เฮาเป็นผู้น้อย ผู้ใหญ่บ่ได้มาเพิ่นเลยบ่ไป" และได้อัญเชิญหลักเมืองลงไว้ที่วัดพระนอน (วัดป่าพระนอนพัฒนาราม) แล้วกลับมาเล่าเหตุการณ์ให้ท่านเจ้าคุณฟัง ท่านเจ้าคุณจึงเดินทางไปอัญเชิญด้วยตัวเอง และได้นำหมอลำ หนัง มาฉลองที่วัดพระนอน 1 คืน จากนั้นได้อัญเชิญเสาและเสมาออกมา 4 หลัก

                     หลักที่ 1 อยู่ที่ศาลหลักเมืองขอนแก่น

                     หลักที่ 2 อยู่ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชุมแพ

                     หลักที่ 3 และ 4 อยู่ที่หน้าอุโบสถวัดศรีนวล อำเภอเมืองขอนแก่น”

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดขอนแก่น. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2552.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี